Skip to main content

นักบุญอัลฟอนโซ เด ลีโกวรี

Headline

พระสงฆ์ผู้ตั้งคณะพระมหาไถ่นักเทศน์ นักประพันธ์ พระสังฆราช นักบุญ นักปราชญ์ของพระศาสนาจักร นักเทวศาสตร์ศีลธรรม องค์อุปถัมภ์ของพระสงฆ์ผู้ฟังแก้บาป ทั้งหมดนี้เป็นเกียรติที่ท่านนักบุญได้รับใน 91 ปีแห่งประวัติศาสตร์ชีวิตของท่าน

ปฐมวัย

    อัลฟอนโซ เด  ลีโกวรี  เกิดเมื่อวันที่ 27 กันยายน ค.ศ. 1696 เมืองเนเปิลส์ ประเทศอิตาลี ท่านเป็นพี่ชายคนโตในจำนวนพี่น้อง 8 คน เป็นชาย 4 คน หญิง 4 คน บิดาของท่านคือ ดอน โจเซฟ ลีโกวรี    ขุนนางผู้เรืองนามแห่งราชนาวี  มารดาคือ มารีอา คาวารีแอรี สตรีใจศรัทธาซึ่งเป็นที่นับถือของคนทั่วไป

    บิดาของท่านออกจะเป็นคนเข้มงวด เพราะท่านได้รับการฝึกอันเข้มงวดทางทะเลตามหลักสูตรวิชาทหารเรือ ท่านมีนิสัยเด็ดขาดและเป็นคนที่ถือความเชื่อฟังเป็นเอก ในขณะเดียวกัน ท่านยังเป็นคาทอลิกที่มีจิตใจร้อนรนทางความเชื่อและทางปฏิบัติ ทั้งมีความศรัทธาอันแรงกล้าต่อพระมหาทรมานของพระเยซูเจ้าด้วย ดังนั้นท่านจึงเข้มงวดมากแม้กระทั่งในครอบครัวของท่านเอง

    บิดาและมารดาของอัลฟอนโซมีส่วนสำคัญในการขัดเกลานิสัยของอัลฟอนโซอยู่เป็นอันมาก และเนื่องจากอัลฟอนโซเป็นบุตรหัวปีจึงเป็นความหวังของบิดาที่จะเป็นที่เชิดหน้าชูตาของครอบครัว

    ด้านการศึกษาและสังคม   อัลฟอนโซได้รับปริญญาเอกทางกฎหมายพระศาสนจักรและกฎหมายบ้านเมือง แต่เนื่องด้วยสุขภาพของท่านไม่แข็งแรง เป็นโรคหืดเรื้อรัง และสายตาสั้นจึงไม่สามารถเจริญรอยตามบิดาของท่านในการเป็นทหาร  ดังนั้นบิดาของท่านจึงต้องการให้ท่านเป็นนักกฎหมาย และได้จัดหาคู่สมรสในท่าน แต่อัลฟอนโซได้ปฎิเสธทั้งสองสิ่งที่บิดาคาดหวังไว้ หลังจากแพ้ความคดีในศาล อัลฟอนโซเดินออกจากโรงศาลและประกาศว่า “โอ ! โลกเอ๋ย บัดนี้ข้ารู้จักเจ้าแล้ว”

    ภายใต้การแนะนำของคุณพ่อโทมัส ปากาโน คณะโอราตอรี่ คุณพ่อวิญญาณา-รักษ์ของมารดาของอัลฟอนโซ  ซึ่งภายหลัง ได้เป็นคุณพ่อวิญญาณารักษ์ของอัลฟอนโซ  ตลอดเวลา 30 ปี อัลฟอนโซเข้าร่วมเป็นสมาชิกคณะโอราตอรี่ในฐานะผู้สนใจ  ตลอดเวลา 1 ปีหลังจากท่านสำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ท่านได้เตรียมจิตใจของท่านโดยการเยี่ยมคนป่วยที่ไม่อาจรักษาให้หายได้ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง และเยี่ยมนักโทษในคุก อัลฟอนโซและบิดาของท่านมักจะไปเข้าเงียบร่วมกันที่อารามวินเซนต์เชียนและคณะเยซูอิตเป็นประจำทุกปี  ครั้งหนึ่งระหว่างการเข้าเงียบประจำปีที่อารามวินเซนต์เชียน ในปี 1722 อัลฟอนโซได้รับประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต ซึ่งในเวลานั้นท่านเป็นนักกฎหมายได้ละทิ้งชีวิตฆารวาสเข้าสู่ชีวิตสงฆ์ในขั้นต้น โดยการปฎิญาณตัวถือโสด

   บิดาของท่านไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง กับการกระทำของอัลฟอนโซ   ทำให้เกิดความตรึงเครียดระหว่างท่านกับบิดา ท่านและบิดาต่างก็ดื้อดึงที่จะไม่ยอมเปลี่ยนใจในสิ่งที่ตนได้มุ่งหวังไว้ ในที่สุดเวลาแห่งความแตกหักก็มาถึงเมื่ออัลฟอนโซประกาศว่าตนตัดสินใจที่จะเป็นนักบวช ท่านจะเข้าเป็นนักบวชคณะโอราตอรี่ แต่บิดาของท่านไม่ยอม อัลฟอนโซก็ยอมที่จะเป็นพระสงฆ์ของสังฆมณฑลและมาประจำอยู่ที่บ้าน หลังจากนั้น 2 ปี เมื่อได้รับศีลโกนแล้วท่านมั่นใจในตัวเองเกี่ยวกับงานแพร่ธรรมภายหลังจากการบวช ทันใดนั้นท่านเบนความสนใจในคณะธรรมทูตอัครสาวก

พระสงฆ์สังฆมณทล

   วันที่ 21 ธันวาคม 1726 ท่านได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ ท่านอาศัยอยู่ที่่บ้านตลอดเวลา 3 ปี หลังจากนั้นท่านไปอยู่ที่วิทยาลัยจีน ซึ่งเป็นสถาบันที่คุณพ่อมัทธิว ริปา ตั้งขึ้น คุณพ่ออัลฟอนโซอาศัยอยู่กับเพื่อนพระสงฆ์หนุ่มชื่อ เจนนาโร ซาร์เนลลี ในเวลานี้เองที่ท่านได้ปรับปรุงวิธีการอภิบาลในรูปแบบใหม่ เรียกว่า “สมาคมวัดน้อย” โดยคุณพ่ออัลฟอนโซ ร่วมกับเพื่อนนักบวชอีก 2-3 คน จัดประชุมฝึกสอนคำสอนแก่ฆราวาส และฆราวาสกลุ่มนี้ก็จะไปทำงานในชุมชนแออัด สอนคำสอนแก่คนจน คนพิการ และคนเร่ร่อนอยู่ตามถนนของเมืองเนเปิลส์

   แม้ว่าการทำงานของสมาคมวัดน้อยจะพบกับความยากลำบากมากมายแต่ท่านก็ทำงานด้วยความระมัดระวังและรอบคอบพิถีพิถัน ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้หน้าที่มิสชันนารีของคณะธรรมทูตอัครสาวกของท่านบกพร่องแต่อย่างใด  บ่อยครั้งท่านจะมีเวลาพักอยู่บ้างเล็กน้อยท่านจะไปพักผ่อนที่เชิงเขาเหนือฝั่งทะเลอมัลฟิ แม้ว่างานในชุมชนแออัดเมืองเนเปิลส์ดูเหมือนจะราบรื่น แต่ท่านต้องรู้สึกเสียใจและตกใจมากเมื่อทราบว่าชาวเขาละทิ้งความเชื่อ ท่านจึงเริ่มสอนคำสอนแก่พวกเขาในวัดเล็กๆชื่อว่า โบสถ์สันตะมารี แห่ง เทือกเขา หลังจากกลับสู่เนเปิลส์ท่านก็จะเป็นห่วงเป็นกังวลถึงวิญญาณที่น่าสงสารเหล่านั้นที่ไม่มีพระสงฆ์ที่คอยดูแล

ผู้ตั้งคณะพระมหาไถ่

   ถึงจุดนี้ผู้หญิงท่านหนึ่งได้เข้ามามีส่วนในชีวิตของท่านคือ ซิสเตอร์มารีอา เซเลส ครอสตาโรซา การพบกันครั้งนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม    ่ ซิสเตอร์เซเลสเป็นซิสเตอร์คาร์เมไลท์ที่สกาลา เธอได้รับการประจักษ์จากพระผู้เป็นเจ้าให้ตั้งคณะนักบวชหญิงขึ้น ซึ่งพระวินัย ของคณะเธอได้เขียนจากการไขแสดงและการดลใจจากพระเป็นเจ้า ข่าวการไขแสดงนี้ได้เล่าลือกันปากต่อปากที่เนเปิลส์ว่าเป็นการคิดฝันขึ้นมาเอง ข่าวการประจักษ์ครั้งนี้ท่านฟัลโกยา    ผู้เปรียบเสมือนคุณพ่อวิญญาณารักษ์ของคุณพ่ออัลฟอนโซ และซิสเตอร์เซเลสได้ต่อต้านทันทีโดยถือว่าเป็นการล่อลวงของปีศาจ ดังนั้นจะต้องมีการตรวจสอบถึงปัญหาในอารามโดยทันที

    คุณพ่ออัลฟอนโซ  และซิสเตอร์เซเลสลงความเห็นว่าเป็นแผนงานของพระเป็นเจ้าโดยแท้จริงและยังมีสิ่งที่เขายังไม่รู้ก็ได้ถูกเปิดเผยในอีกหนึ่งปีต่อมา    เมื่อซิสเตอร์เซเลสได้รับการไขแสดงให้ตั้งคณะนักบวชชายขึ้นโดยให้อัลฟอนโซเป็นผู้ตั้งคณะ แต่ท่านก็ไม่รีบร้อนตัดสินใจใดๆ ท่านได้ดำเนินการอย่างรอบคอบถี่ถ้วน คุณพ่ออัลฟอนโซได้สละเวลาตลอดหนึ่งปีในการปรึกษานักเทวศาสตร์ของเมืองเนเปิลส์สุดท้ายจึงได้รับการยอมรับและเชื่อว่าเป็นความจริง และบทบาทการตั้งคณะของคุณพ่ออัลฟอนโซในการตั้งคณะพระมหาไถ่ก็สำเร็จสมบูรณ์เมื่อวันที่ 9 พฤษจิกายน 1732  ซึ่งเป็นวันแต่งตั้งคณะอย่างเป็นทางการ

   คุณพ่ออัลฟอนโซ และซิสเตอร์เซเลสได้ผ่านวิกฤตการณ์หลายอย่างที่นำมาซึ่งความปวดร้าวในการตั้งคณะใหม่นี้  ในปี 1747 คณะมีสมาชิก ทั้งหมด 36 คนซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างมาก สำหรับพระศาสนจักร พวกเขามีชื่อเสียงมากในการเทศน์ การใกล้ชิดดูแลคนจน  ความเป็นปึกแผ่นสมัครสมานสามัคคีกันในกลุ่ม และความอ่อนโยนมีความเมตตากรุณาในการให้ความช่วยเหลือและอภิบาลสัตบุรุษรวมทั้งความเมตตากรุณาต่อผู้มาแก้บาปทุกคน 15  ปีต่อมาคณะได้เจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วมีสมาชิกถึง 150 คน

   ในเดือนเมษายน ปี 1733 ซิสเตอร์เซเลสถูกขับออกจากอารามที่สกาลาสาเหตุจากเธอไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของพระสังฆราชฟัลโกยาเพราะเธอเห็นว่ามันขัดต่อมโนธรรมของเธอที่ว่าเธอจะต้องรับท่านเป็นพระสงฆ์วิญญาณารักษ์ของเธอแต่ผู้เดียว  หลังจากถูกขับออกจากอารามที่สกาลาซิสเตอร์ได้ตั้งอารามภคินีคณะพระมหาไถ่ที่ฟ็อกเจีย และเธอได้ถึงแก่มรณภาพพร้อมกับชื่อเสียงอันสูงส่งในความศักดิ์สิทธิ์และความสุภาพถ่อมตนในปี 1755

   ตลอดเวลาที่คุณพ่ออัลฟอนโซดำรงตำแหน่งอธิการใหญ่ท่านได้เดินทางแพร่ธรรมไปในที่ต่าง ๆ ท่านได้พยายามต่อต้านระบบศีลธรรมที่เข้มงวด ซึ่งบางระบบก็หย่อนยานเกินไป คุณพ่ออัลฟอนโซได้หลีกเลี่ยงทั้งสองระบบนี้ ท่านได้สร้างระบบขึ้นใหม่เรียกว่า“เทวศาสตร์ศีลธรรม” ซึ่งมีชื่อเสียงมาก และเป็นวิธีการที่ดีในการนำมาใช้ในการโปรดศีลอภัยบาป และท่านมีชื่อเสียงมากในการฟังแก้บาป   ท่านได้ปกป้องความเชื่อของคริสตชน ด้วยเทวศาสตร์ศีลธรรมของท่าน และหลังจากท่านได้ถึงแก่มรณภาพท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นนักปราชญ์ของพระศาสนจักรและเป็นองค์อุปถัมภ์ของนักเทวศาสตร์

   ท่านได้เขียนหนังสือไว้มากมายไม่เฉพาะเรื่องเทวศาสตร์ศีลธรรมเท่านั้น งานเขียนของท่านเปรียบได้กับเป็นการเทศน์สอนของบรรดาอัครสาวก เป็นการเขียนแทนคำพูดดังนั้นจึงเข้าใจง่าย งานเขียนของท่านที่มีชื่อเสียงมีจำนวนถึง 111 เล่ม ซึ่งเหมาะสำหรับทุกชนชั้น ทั้งพระสังฆราช พระสงฆ์ นักบวช และฆารวาส ตัวอย่างผลงานของท่านเช่น แนวทางแห่งความรอด ความภักดีต่อพระคริสต์เจ้า เตรียมเผชิญความจาย คู่ชีวิต เฝ้าศีลมหาสนิท  สิริมงคลแด่แม่พระ  บทบาทและหน้าที่สงฆ์ในพระศาสนจักร

พระสังฆราชอัลฟอนโซ

    เดือนมีนาคม 1762 พระสันตะปาปา เคลเมนต์ ที่ 13 ได้แต่งตั้งคุณพ่ออัลฟอนโซเป็นพระสังฆราชปกครองสังฆมณฑล เซนต์ อากาทาแห่งก็อธ ตอนแรกท่านพยายามที่จะหลีกเลี่ยงตำแหน่งนี้ โดยยกเหตุผลมากมายขึ้นเสนอต่อสมเด็จพระสันตะปาปา แต่ก็ไร้ผล ที่สุดท่านต้องยอมรับตำแหน่งนี้ ก่อนหน้าที่ท่านจะมาปกครองนั้น สัตบุรุษมีความเชื่อน้อยมาก ท่านจำต้องลงมือแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ท่านได้จัดให้มีการอบรมสัตบุรุษทั่วทั้งสังฆมณฑล ท่านได้ออกไปเยี่ยมวัดต่างๆปรับปรุงระเบียบการสอนและการอบรมในบ้านเณรเสียใหม่ ท่านได้จัดให้มีการรื้อฟื้นชีวิตภายในของพระสงฆ์ในสังฆมณฑลเสียใหม่ จนที่สุดสังฆมณฑลของท่านได้กลายเป็นสังฆมณฑลตัวอย่างของความศักดิ์สิทธิ์แก่สังฆมณฑลอื่น ๆ ในอิตาลี

   แม้ว่าการงานจะได้ผล แต่นับวันสุขภาพของท่านก็แย่ลงจนถึงขั้นเป็นอัมพาต   ท่านได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งหลายครั้งแต่พระสันตะปาปาก็ปฏิเสธที่จะไห้ท่านลาออก โดยพระองค์ให้เหตุผลว่า แม้ว่าท่านจะไม่สามารถทำอะไรได้เลยก็ตาม แต่จากตัวอย่างการเป็นผู้ภาวนาของท่าน ก็เพียงพอแล้วสำหรับการปกครองสังฆมณฑล ที่สุดในปี 1775 พระสันตะปาปา ปิโอ ที่6ได้อนุมัติการลาออกของท่าน

ปีสุดท้ายของชีวิต

    คุณพ่ออัลฟอนโซกลับสู่บ้านที่ปากานี เพื่อเตรียมตัวที่จะสิ้นใจ ดังที่ท่านตั้งใจใว้ว่าจะขอสิ้นใจที่ปากานี  ณ ที่แห่งนี้ ยังมีความลำบากอันใหญ่หลวงที่สุดในชีวิตของท่านรออยู่ ท่านจะประสบความสำเร็จของเหตุการณ์ทั้งหลาย   ที่ได้นำความทุกข์มาสู่ท่านตลอดเวลาหลายปี  พระวินัยของคณะ   ซึ่งพระสันตะปาปา เบเนดิก ที่ 16 ได้ทรงรับรองเมื่อปี 1749 แต่ยังไม่ได้รับการรับรองจากพระมหากษัตริย์ ดังนั้นท่านจึงดำเนินการเพื่อที่จะให้คณะพ้นจากความล่อแหลมของความมั่นคงของคณะ ในปี 1779 ท่านได้มอบหมายให้สมาชิกของคณะ คือคุณพ่อมาโยเน และคุณพ่อซีมิโน ไปเจรจาเพื่อขอการรับรองของศาลหลวง ด้วยอายุ 83 ปีของคุณพ่ออัลฟอนโซ ท่านหูตึงฟังไม่ถนัด สายตาพร่ามัวมาก ไม่สามารถอ่านหรือเขียนหนังสือได้ ท่านให้ความไว้วางใจแก่ผู้แทนของท่านมาก แต่โชคไม่ดีที่พวกเขาได้เปลี่ยนแปลงพระวินัยของคณะมากมายเช่น ยกเลิกข้อปฏิญาณศีลบนความยากจน ความนบนอบ และความบริสุทธิ์เสีย  มีการริดรอนอำนาจของอธิการลงหลายข้อ เอกลักษณ์การมีชีวิตกลุ่มต้องยกเลิก  จะเห็นได้ว่า ทั้งหมดนี้เป็นการทำลายชีวิตของคณะพระมหาไถ่โดยสิ้นเชิง  และโดยอำนาจของพระสังฆราชท้องถิ่นจึงมีคำสั่งให้คณะถือตามพระวินัยใหม่นี้และให้ประชุมสมาชิกของทุกบ้านและอ่านคำสั่งนี้ต่อหน้าที่ประชุม

    คุณพ่ออัลฟอนโซได้รับคำสั่งในเดือนมีนาคม ปี 1780 และโดยคำสั่งนี้ พระสันตะปาปาได้มีกฤษฎีกาแบ่งคณะออกเป็น 2 พวกคือ พวกที่อยู่ในเขตเนเปิลส์ที่ใช้พระวินัยใหม่(ความจริงไม่ใช่พระวินัยแล้ว) และพวกที่อยู่ในเขตการปกครองของพระสันตะปาปาที่ยังคงใช้พระวินัยเดิมอยู่   จากการแยกคณะออกเป็น 2 พวกนี้ คุณพ่ออัลฟอนโซในฐานะผู้เซ็นรับรองพระวินัยใหม่ รวมทั้งผู้ที่อยู่ในเขตเนเปิลส์จึงถูกขับออกจากคณะซึ่งท่านเป็นผู้ก่อตั้งขึ้นโดยปริยาย

    6 ปีหลังจากการแบ่งแยกของคณะ วันที่ 1 สิงหาคม ปี 1787    คุณพ่ออัลฟอนโซได้ถึงแก่มรณภาพที่ ปากานี ในฐานะผู้ที่อยู่นอกคณะที่ท่านได้ตั้งขึ้นหลังจากมรณภาพของท่านไม่นาน ได้มีการพิจารณาสอบสวนเพื่อที่จะแต่งตั้งท่านเป็นบุญราศีในปี 1807 ปี 1816 ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นบุญราศี ปี 1839 ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นนักบุญ เดือนมีนาคมปี 1871 พระสันตะปาปา ปีโอ ที่ 9 แต่งตั้งท่านเป็นนักปราชญ์ของพระศาสนจักร และในปี 1950   พระสันตะปาปา ปิโอ ที่12 แต่งตั้งท่านให้เป็นองค์อุปถัมภ์ของนักเทวศาสตร์และพระสงฆ์ผู้ฟังแก้บาป

A Short Biography  by Joseph W. Oppitz, C,Ss.R.

เกี่ยวกับผู้เขียน คุณพ่อโจแซฟ ออพพิทซ์ เป็นผู้เชี่ยวชาญในชีวประวัติและชีวิตฝ่ายจิตของนักบุญอัลฟอนโซ คุณพ่อเขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้หลายเล่ม(อนุทินของฉัน อัลฟอนโซ ซึ่งสำนักพิมพ์คณะพระมหาไถ่ได้จัดพิมพ์ไปแล้ว คือหนึ่งในจำนวนนั้น) ปัจจุบันคุณพ่อยังเดินทางไปทั่วโลก เพื่อให้คำบรรยายเกี่ยวกับเรื่องราวของนักบุญอัลฟอนโซ

IMG 3898
Carlow Cathedral St Alphonsus 2009 09 03
saint alfonso maria de liguori
Statua di SantAlfonso Maria de Liguori SantAgata De Goti-AA-933x445
DGH52mtXkAAsnGS
e0a76eb658504520f1786f04b43a4c14
50175408458 67d4d30960 b
St.-Alphonsus-Statue-750x350-c
RLALL 520df1a9-ac72-4962-834e-9f14038de575
MTkxMzQ1MTQ1NDQ5MjkzNDEw
Alphonsus-Liguori
9c2964 daf6c030ef3e4c809b34fd7ea69dcd66mv2