การแต่งงานที่เป็นโมฆะ ตามคำสอนคาทอลิก
การแต่งงานคาทอลิก, บทความ, กฎหมายพระศาสนจักร
เอกสารฉบับนี้เขียนขึ้นเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผู้ที่ต้องการดำเนินเรื่องการแต่งงานเป็นโมฆะตามหลักของคาทอลิก
ผลกระทบของครอบครัวที่แตกแยก
หากครอบครัวแตกแยก หรือความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวไม่ค่อยจะดีนัก ย่อมเกิดสิ่งที่เรียกว่าปัญหาครอบครัวและส่งผลต่อเป็นปัญหาของสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเครียด ภาวะซึมเศร้า เด็กที่มีปัญหา ส่งผลกระทบต่อการเรียนหรือการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าต้นเหตุของปัญหาเหล่านี้คือการขาดความอบอุ่นในครอบครัว อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่าคนที่มีครอบครัวแตกแยกนั้นจะเป็นคนไม่ดี แต่ความสัมพันธ์อันร้าวฉานในครอบครัวนั้นย่อมส่งผลกระทบต่อสังคมและพระศาสนจักร
และเราต้องเข้าใจว่าการที่คู่สมรสหย่ากัน มิได้หมายความว่าพวกเขาถูกตัดออกจากพระศาสนจักร (excommunication) เขาหรือเธอยังมีสิทธิ์รับศีลมหาสนิทได้ ตราบใดที่เขาและเธอยังไม่ไปแต่งงานใหม่ ฉะนั้นการประกาศการเป็นโมฆะของการแต่งงานครั้งแรกจึงมีความสำคัญที่จะอนุญาตให้เขาสามารถรับพระกายของพระคริสตเจ้าได้อย่างภาคภูมิใจอีกครั้งหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ก่อนที่คู่สมรสมีความประสงค์ดำเนินการทำการแต่งงานเป็นโมฆะ พวกเขาต้องหย่าในทางบ้านเมืองเสียก่อน และไม่มีความเป็นไปได้ที่เขาและเธอจะสามารถกลับมาสานความสัมพันธ์กันได้อีกครั้งหนึ่ง
ความหมายของการแต่งงานที่เป็นโมฆะ
นับว่าเป็นการเข้าใจผิดที่ว่า พระศาสนาจักรสามารถทำให้การแต่งงานเป็นโมฆะได้ เพราะพระศาสนจักรไม่มีอำนาจเช่นนั้น หากแต่เป็นศาลของพระศาสนจักรที่ตัดสินว่าการแต่งงานครั้งแรกของคู่สมรสนั้นมีปัญหาตั้งแต่แรกเริ่ม อาทิเช่น คำสัญญาที่คู่สมรสกล่าวอาจจะไม่ 100% หรือ ปัญหาอาจจะเกิดกับความตั้งใจที่จะไม่มีบุตรของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือ พวกเขาอาจจะแต่งงานกันเพราะความวิตกกังวลหรือความกลัวต่างๆ ตัวอย่างดังกล่าวเราสามารถนำมาพิจารณาในการประกาศการเป็นโมฆะของการแต่งงานได้
ฉะนั้นแทนที่เราจะใช้คำว่าพระศาสนา “ทำให้การแต่งงานเป็นโมฆะ” เราใช้คำว่า “การประกาศการเป็นโมฆะ” ของการแต่งงาน
การแต่งงานที่เป็นโมฆะจึงแตกต่างกับการหย่า การหย่าร้างคือการที่คู่สมรสตัดสินใจเลิกแล้วต่อกัน ส่วนการประกาศการเป็นโมฆะคือ การประกาศการแต่งงานที่ไม่ถูกต้องตั้งแต่ทีแรก เพราะการแต่งงานครั้งแรกอาจจะมีปัญหาและมีบางสิ่งบางอย่างไม่ถูกต้องก็เป็นได้
ทำไมเราจำเป็นต้องประกาศการแต่งงานเป็นโมฆะ
ในคำสอนของคาทอลิกการแต่งงานเป็นพันธสัญญาที่มั่นคงถาวรและลบล้างไม่ได้ระหว่างคู่สมรส ฉะนั้นสายสัมพันธ์ของการแต่งงานนี้จึงมิอาจถูกลบล้างได้โดยอำนาจใดๆของมนุษย์ ฉะนั้นหากคู่สมรสล้างลากันไปแล้วและมีความปรารถนาจะเข้าสู่การสมรสครั้งใหม่ เขาหรือเธอจึงต้องการประกาศการเป็นโมฆะของการแต่งงานครั้งแรก เพื่อเขาจะไม่มีข้อผูกพันใดๆและสามารถเข้าสู่ความสัมพันธ์ใหม่ได้อย่างถูกต้อง
โดยเบื้องต้นแล้ว หากคู่สมรสที่หย่าร้างมีความสงสัยในการแต่งงานครั้งแรกพวกเขามีสิทธิ์ที่จะขอคุณพ่อเจ้าวัดทำเรื่องเพื่อที่จะพิจารณาในศาลของพระศาสนจักรท้องถิ่นต่อไป (อาทิเช่น ศาลของสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ราชบุรี จันทบุรี หรือศาลของ 4 สังฆมณฑลอีสาน ฯลฯ)
และในขณะเดียวกันคู่สมรสที่ยื่นเรื่องมีสิทธิ์ที่จะขอความช่วยเหลือจากพระสงฆ์หรือผู้ที่มีความเชียวชาญด้านกฎหมายของพระศาสนจักรคาทอลิก คล้ายๆกับการเป็นทนายในการดำเนินเรื่องดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม หากไม่มีมูลบทพื้นฐาน (ground of nullity) ที่บ่งบอกว่าการแต่งงานครั้งแรกนั้นไม่ถูกต้อง ศาลของพระศาสนจักรก็มีสิทธิ์ที่จะไม่ดำเนินเรื่องให้เช่นกัน
ศาลของพระศาสนจักรดำเนินงานอย่างไร
หน้าที่หลักของศาลพระศาสนาจักรคาทอลิกคือการสืบหาข้อมูลความจริง แต่ความจริงที่ว่านี้ไม่ใช่เป็นการพิสูจน์ที่ว่าใครคือผู้ร้าย เป็นถูกใครผิด แต่เป็นการหามูลบทพื้นฐานหรือความเป็นไปได้ที่ว่าการแต่งงานครั้งแรกนั้นไม่ถูกต้องและเป็นโมฆะ ฉะนั้นคู่สมรสต้องให้ความร่วมมือกับศาลของพระศาสนาจักรในการแบ่งปันเรื่องราวในชีวิต โดยเฉพาะในเรื่องความสัมพันธ์ในชีวิตคู่ที่ผ่านมา ว่าทั้งสองมีความสุขความทุกข์อุปสรรคและปัญหาอย่างไร เป็นเสมือนกับการมองกลับไปในชีวิตเพื่อพิจารณาว่าคําปฏิญาณในวันที่ทั้งสองแลกเปลี่ยนกันนั้นมีความหมายหรือไม่อย่างไรในชีวิต และอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ชีวิตสมรสล้มเหลว
เรื่องราวในชีวิตคู่ที่ผ่านมานี้เป็นข้อมูลชั้นดีและเป็นหลักฐานที่จะช่วยให้ศาลของพระศาสนจักรพิจารณาได้ว่าการแต่งงานของเขาทั้งสองนั้นมีข้อผิดพลาดอย่างไร และบางทีการที่เขาทั้งสองปฏิญาณกันอ่านไม่ถูกต้องก็ได้
โดยปกติแล้วศาลของพระศาสนจักรจะใช้เวลาในการรับเรื่องราวและสืบค้นคดีเป็นเวลา 1 ปีแต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพยานและหลักฐาน โดยเฉพาะพยานที่เป็นบุคคล พยานที่เป็นทั้งฝ่ายโจทก์ (ผู้ที่มาขอดำเนินการต่อศาลฯ) และฝ่ายจำเลย (คู่สมรส) ว่าพยานและหลักฐานเหล่านั้นสมเหตุสมผลและเป็นประโยชน์ต่อรูปคดีหรือไม่
มูลเหตุพื้นฐานของการประกาศการแต่งงานเป็นโมฆะ (Grounds of nullity)
โดยทั่วไปแล้วการประกาศการเป็นโมฆะมีหลายกรณีตามหลักกฎหมายของพระศาสนจักร แต่เพื่อที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน จึงขอนำเสนอมูลบทพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อคู่สมรสที่ไม่สามารถอยู่ด้วยกันได้เพื่อใช้พิจารณาดังนี้
1. บุคคลที่บกพร่องอย่างมาก ในการตัดสินแยกแยะ (Grave lack of due discretion)
เป็นสถานการณ์ที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขาดการตัดสินใจเป็นอย่างดีหรือไม่เป็นผู้ใหญ่อย่างเพียงพอ ก่อนที่จะกล่าวคำปฏิญาณในวันแต่งงานต่อหน้าพระศาสนาจักร อาทิเช่น เจ้าสาวจำต้องแต่งงานเพราะตั้งครรภ์ หรือเธอต้องแต่งงานเพื่อให้ฝ่ายชายช่วยรับผิดชอบเด็กที่อยู่ในท้อง แต่หลังจากที่สมรสกันแล้ว ฝ่ายชายกลับไม่มีความรับผิดชอบ หรือไม่มีความตั้งใจที่จะเป็นหัวหน้าครอบครัวอย่างแท้จริง เป็นฝ่ายหญิงที่ต้องรับผิดชอบครอบครัวอยู่คนเดียว จนเธอรู้สึกว่าภาระหน้าที่นี้เกินกว่าที่เธอจะรับได้
2. ความไม่สามารถของบุคคลด้านจิตใจ (Psychological incapacity)
เป็นสถานการณ์ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มีความสามารถที่จะรับผิดชอบหน้าที่และภาระของชีวิตสมรสได้ สาเหตุอาจเป็นเพราะภาวะทางจิตใจเป็นไม่เป็นปกติ ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง เพราะในการแต่งงาน คู่สมรสต้องมีภาวะทางจิตที่เป็นปกติเพื่อที่จะรับผิดชอบชีวิตคู่ในครอบครัวได้เป็นอย่างดี ฉะนั้นหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขาดความสามารถดังกล่าว จึงส่งผลต่อคําปฏิญาณที่เขากล่าวในวันสมรสนั้น
แม้ ณ วินาทีที่คู่สมรสกล่าวคำปฏิญาณด้วยความเต็มใจและเข้าใจอย่างดีในธรรมชาติของการสมรสนี้ แต่เนื่องด้วยสภาวะทางจิตที่ไม่สมบูรณ์ จึงมีความเป็นไปได้ว่า คำสัญญานี้อาจเป็นโมฆะ ตัวอย่างเช่นความผิดปกติทางจิตใจ เขาและเธออาจมีพฤติกรรมเป็นปกติในวันแต่งงาน แต่ความผิดปกติทางจิตยังคงรุมเร้าและเป็นปัญหาต่อมาตลอดชีวิตคู่ และในที่สุดทั้งสองอยู่ด้วยกันไม่ได้
ความไม่สามารถของบุคคลด้านจิตใจ จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่แสดงว่า แม้ผู้บ่าวสาวจะกล่าวคำปฏิญาณแก่กันและกัน แต่เนื่องด้วยความผิดปกติทางจิต จึงทำให้เจตจำนงของคู่บ่าวสาวไม่ครบถ้วน และจึงเป็นสาเหตุ ทำให้ชีวิตสมรสมีปัญหาจำต้องล้างลากันไป
3. ความตั้งใจที่เป็นปฏิปักษ์กับความหมายและคำสอนของการแต่งงาน (Intention cases)
ในกรณีนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับความตั้งใจ (intention) ที่เป็นปฏิปักษ์ (ตรงกันข้าม) กับคำสัญญาในการแต่งงานแบบคาทอลิก ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 ประเภทดังนี้
3.1 ความตั้งใจว่าการแต่งงานนี้คงไม่มั่นคงถาวร (intention against permanence)
ตัวอย่างเช่น คู่สมรสอาจจะคิดว่าการแต่งงานนี้คงอยู่ได้ประมาณ 5 ปี 10 ปีแล้วแต่บุญวาสนา หากอยู่กันไม่ได้ก็คงแย่ทางกันไป ความคิดเช่นนี้เราเรียกว่าความตั้งใจที่จะหย่าร้างในอนาคต (divorce mentality)
3.2 ความตั้งใจที่จะไม่ถือซื่อสัตย์ต่อกัน (intention against fidelity)
เป็นความตั้งใจที่จะไม่ถือซื่อสัตย์ต่อสามีหรือภรรยาของตน และคิดเสมอว่าความสัมพันธ์ยังเปิดกว้างอยู่เสมอ ตัวอย่างเช่น การมีบ้านเล็กบ้านน้อย หรือการเที่ยวสำส่อน โดยไม่คิดถึงความรักและความรู้สึกที่มีต่อกัน
3.3 ความตั้งใจที่จะไม่ให้กำเนิดบุตร (intention against children)
กรณีเช่นนี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งปฏิเสธยังแข็งกร้าวที่จะร่วมมือกับคู่สมรสของตนในการมีบุตร และความตั้งใจนี้ปรากฏตั้งแต่หลังจากที่เขาทั้งสองสมรสกัน ตัวอย่างเช่น การคุมกำเนิด ไม่ว่าจะเป็นแบบธรรมชาติหรือแบบอื่นๆ หรือแม้กระทั่งฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดปฏิเสธการมีเพศสัมพันธ์ โดยไม่มีเหตุผลเพียงพอ
4. การถูกบังคับและความหวาดกลัว (Force and fear)
คำสัญญาของคู่บ่าวสาวจะไม่ถูกต้องเลย หากคำพูดดังกล่าวเกิดจากความกลัวและการถูกบังคับ และสาเหตุนี้ทำให้เขาทั้งสองอาจไม่มีทางเลือกนอกจากจะแต่งงานกันและกัน
5. การแต่งงานอย่างมีเงื่อนไขอื่นๆประกอบ (Conditional consent)
กรณีนี้พูดถึงทำสัญญาอื่นๆที่นอกเหนือจากการแต่งงาน อาจจะเป็นเรื่องของวัตถุสิ่งของและผลประโยชน์ ซึ่งเป็นความคาดหวังของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหลังจากพิธีแต่งงานเกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว
6. ผิดพลาดและการหลอกลวง (Error and fraud)
กรณีนี้เกี่ยวกับความผิดพลาดและการหลอกลวงจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ความผิดพลาดหรือการหลอกลวงนี้ต้องเป็นเรื่องหนักพอที่จะทำให้การแต่งงานเป็นโมฆะได้ ตัวอย่างเช่น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจจะกล่าวว่า “ถ้าฉันรู้ว่า เขา/เธอ เป็นอย่างนี้ ฉันคงไม่แต่งงานกับ เขา/เธอ อย่างแน่นอน”
7. บางกรณีที่เป็นสามารถประกาศความเป็นโมฆะได้ ด้วยขบวนการ (Administrative cases)
บางกรณีก็พิสูจน์ได้ง่ายๆว่าการแต่งงานเป็นโมฆะตั้งแต่ทีแรก และอาจจะไม่ซับซ้อน ไม่ต้องมีการสืบสวนอย่างกรณีข้างต้น ตัวอย่างเช่น มีหลักฐานและพยานอย่างชัดเจนแล้วว่า เขา/เธอ เข้าสู่พิธีสมรสมาก่อนที่จะเข้าพิธีแต่งงานตามแบบของคาทอลิก ฉะนั้น การแต่งงานครั้งที่สอง นี้ก็เป็นโมฆะไปโดยปริยาย
เช่นเดียวกัน หากฝ่ายคาทอลิกแต่งงานนอกโบสถ์ โดยไม่มีพระสงฆ์ หรือได้รับการอนุญาตจากผู้ใหญ่ของพระศาสนจักร การแต่งงานก็เป็นโมฆะ เพราะไม่มีคุณสมบัติครบถ้วน (lack of form) คุณสมบัติดังกล่าวอาทิเช่น คู่สมรสไม่ได้กล่าวคำสัญญาต่อหน้าพระสงฆ์/สังฆานุกร ไม่มีพยาน ไม่มีการอนุญาต ฯลฯ
กรณีดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อคู่สมรสที่ต้องการจะพิสูจน์ว่าการแต่งงานเช่นนี้ไม่ถูกต้องและเป็นโมฆะ
และฉันจะทำอย่างไรต่อไป ถ้ามีปัญหาเรื่องการแต่งงาน
โดยปกติแล้ว เป็นหน้าที่ของคุณพ่อเจ้าวัด หรือ สัตบุรุษทุกท่านที่จะช่วยกันเยียวยารักษา ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่เกิดขึ้นกับตัวท่านเอง หรือ คนที่ท่านรู้จัก ที่จะช่วยเขาให้เข้าสู่กระบวนการสืบหาความจริง อาทิเช่น หลังจากได้อ่านบทความนี้ แล้วรู้สึกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตรงกับข้อ 3.2 “ความตั้งใจที่จะไม่ถือซื่อสัตย์ต่อกัน” เราสามารถดำเนินการดังนี้
- ไปขอเอกสาร “คำร้อง” ที่สำนักมิสซาตามพระศาสนจักรท้องถิ่น
- กรอกเอกสาร อาทิเช่น ประวัติส่วนตัวและของคู่กรณี ประวัติชีวิตและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
- กรอกมูลเหตุที่มาขอพิจารณาการแต่งงานว่าเป็นโมฆะ อาทิเช่น “เหตุเพราะคู่กรณีไม่มีความตั้งใจที่จะถือซื่อสัตย์ในชีวิตคู่ ตามที่ได้ปฏิญาณในวันแต่งงาน”
ในข้อสุดท้ายนี้สำคัญมาก เพราะศาลพระศาสนจักรจะรับเรื่องหรือไม่ขึ้นอยู่กับมูลเหตุเบื้องต้นนี้ หากการแต่งงานเป็นปกติหรือไม่มีปัญหาประเด็นปัญหาแต่อย่างไร ทางศาลพระศาสนจักรก็จะมีความยากลำบากในการพิจารณาคดีด้วยเช่นกัน
ตัวอย่างใบคำร้อง ขอให้ศาลพระศาสนจักรพิจารณาว่า
"การแต่งงานเป็นโมฆะ"
ดาว์นโหลด PDF ไฟล์ บทความ "การแต่งงานที่เป็นโมฆะ ตามคำสอนคาทอลิก"
Father M
Written by
บาทหลวง วรวุฒิ สารพันธุ์ C.Ss.R. JCL
Catholic Priest & Canonist
Author & Administrator
Faith4Thai.com
*juris canonici licentiatus
หรือ JCL เป็นปริญญาทางกฏหมายพระศาสนจักร
Email:
FaceBook: Worawut Saraphan
Iine ID: mcssrsp