Skip to main content

ปัญหาการอภิบาล แก่คาทอลิกที่หย่าร้างและแต่งงานใหม่

การแต่งงานคาทอลิก, บทความ, กฎหมายพระศาสนจักร

 oikonomia

1. คำนำ: ปัญหาของผู้หย่าร้างและแต่งงานใหม่ และจุดยืนของพระศาสนจักร

สำหรับคริสตชนแล้วการแต่งงานที่ถูกต้องตามกฎหมายของพระศาสนจักร ไม่ว่าจะเป็นระหว่างคาทอลิกด้วยกัน หรือ ต่างคนต่างถือศาสนา

ถ้าทำพิธีกรรมอย่างถูกต้องนั้นก็คือกฎอันศักดิ์สิทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้า (divine law) “ดังนั้นสิ่งที่พระเจ้าทรงรวมกันไว้ มนุษย์อย่าแยกเลย” (มก. 10:9) แต่ในช่วงเวลาที่ผ่านมานี้ มีคู่สมรสหลายคู่ที่ประสบปัญหาจนถึงขั้นหย่าร้างกัน และถ้าคริสตชนที่หย่าร้างไปแต่งงานใหม่ก็จะถือว่าเขาอยู่ในสถานะบาป แม้เขาสามารถร่วมพิธีกรรมได้แต่จะไม่สามารถรับศีลมหาสนิทได้


บรรดาผู้อภิบาล นักเทววิทยาและนักเทวศาสตร์ศีลธรรมต่างตระหนักถึงปัญหานี้เป็นอย่างดี มีการโต้แย้งและอภิปรายกันอย่างมาก ว่าเราควรจะมีแนวทางอภิบาลอย่างไรดีกับบรรดาผู้ประสบปัญหาเหล่านั้น ในปี 2005 พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ทรงแสดงจุดยืนที่พระศาสนจักรควรมีแก่ประเด็นการหย่าร้าง ในระหว่างการพบปะกับบรรดาสงฆ์แห่งออสตา พระองค์ทรงตรัสว่า


“คริสตศาสนจักรทางตะวันออกได้ผ่อนปรนการหย่าร้างง่ายเกินไป ซึ่งหลักการของบางสิ่งที่ลบล้างไม่ได้ (indissolubility) และความศักดิ์สิทธ์ของศีลสมรสได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง” [1]

สองปีต่อมาในปี 2007 พระองค์ทรงย้ำเน้นประเด็นนี้อีกครั้งหนึ่งในเอกสาร ซาคราเมนตูม คาริทัส (Sacramentum Caritas) ดังนี้

“โดยมีพื้นฐานที่พระคัมภีร์ (มก. 10:2-12) สมัชชาแห่งบรรดาพระสังฆราชได้ยืนยันแล้วว่า สิ่งพระศาสนจักรปฏิบัติโดยไม่อนุญาตให้ผู้หย่าร้างและแต่งงานใหม่สามารถรับศีลมหาสนิทได้นั้น เพราะสถานภาพของพวกเขามีความขัดแย้งกับความเป็นเอกภาพแห่งความรักระหว่างพระคริสตเจ้ากับพระศาสนจักรซึ่งปรากฏอยู่ในศีลมหาสนิท อย่าไรก็ดี พวกเขายังคงเป็นสมาชิกของพระศาสนจักร เราต้องเอาใจใส่แก่พวกเขาเป็นพิเศษ พวกเขายังสามารถดำเนินชีวิตตามแบบคริสตชน สามารถร่วมมิสซาได้ แม้ไม่สามารถรับศีลมหาสนิท พวกเขาสามารถฟังพระวาจาของพระเจ้า สักการะศีลฯ สวดภาวนา และเข้าร่วมกลุ่มคริสตชน ไปพบคุณพ่อวิญญาณ ประกอบกิจเมตตา ชดเชยบาป และอุทิตตนเพื่อการศึกษาของลูกหลานของตน” [2]

 

ในปี 2013 พระอัครสังฆราชเจอร์ฮาร์ด ลุกวิค มุนเลอร์ (Arcbishop Gerhard Luwing Muller) เจ้าสมณะกระทรวงแห่งความเชื่อ ขยายความในสิ่งที่พระสันตะปาปาองค์ก่อนทรงสอน แต่ครั้งนี้ได้ประณามหลักการ ออยโคโนเมีย (oikonomia) ของคริสตศาสนจักรตะวันออกโดยตรง

 

“ในคริสตศาสนจักรออร์โธด็อกซ์ทุกวันนี้ มีอยู่หลายเหตุผลที่การหย่าร้างสามารถกระทำได้ โดยส่วนใหญ่เรียกว่า ออยโคโนเมีย หรือแนวทางอภิบาลในกรณีที่มีความยากลำบาก หากสัตบุรุษมีความสำนึกถึงบาป พวกเขาสามารถแต่งงานได้อีกสองถึงสามครั้งเลยทีเดียว แต่แนวการปฏิบัติเช่นนี้ไม่เป็นไปตามน้ำพระทัยของพระเจ้า เพราะพระเยซูเจ้าทรงสอนเรื่องการแต่งงานที่ลบล้างไม่ได้ เช่นนี้แล้ว คำสอนของพระองค์จะมีความกำกวม อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้ยังเป็นอุปสรรค์ต่อความเป็นหนึ่งเดียวทางความเชื่อ (ecumenical movement) ซึ่งเราคงจะมองข้ามเสียมิได้” [3]

นอกเหนือไปจากนั้น พระสังฆราชเจอร์ดฮาร์ดยังประณามหลักการออยโคโนเนีย ของคริสตศาสนจักรออร์โธด็อกซ์ว่า เป็นแนวทางเสรีนิยมมากเกินไป (liberal praxis and liberalizing tendencies) เพราะมันเป็นปฏิปักษ์กับข้อความเชื่อที่พระศาสนจักรได้พยายามปกปักษ์รักษาตั้งแต่สมัยพระสันตะปาปาเกรโกรีที่พระองค์ได้ทรงปฏิรูปพระศาสนาจักร [3] แม้ในทางปฏิบัติจะมีพระสงฆ์บางองค์ยามอะลุ่มอล่วยในบางกรณี เช่นอนุญาตให้รับศีลมหาสนิทในโอกาสสำศัญต่างๆ เช่น ปัสกาหรือคริสตสมภพ แต่ความจริงมีอยู่ประการเดียวคือ ผู้ที่หย่าร้างและแต่งงานใหม่สามารถรับศีลศักดิ์สิทธิ์อย่างถูกต้อง โดยอาศัยกระบวนการทางศาลของพระศาสนจักร ที่ประกาศว่าการแต่งงานครั้งแรกของเราเป็นโมฆะ รวมทั้งกระทำการแต่งงานใหม่ให้ถูกต้อง


ในปี 2014 พระสันตะปาปาฟรังซิส ยังทรงเคารพต่อสิ่งที่ประกาศก่อนหน้าท่าน หากแต่พระองค์ท่านทรงให้ความเห็นว่า “แนวทางแก้ไขปัญหาต้องมีความเป็นบูรณการ เพราะพวกเขาไม่ได้ถูกขับไล่ออกจากความเป็นหนึ่งเดียวกับพระศาสนจักร (excommunication)” [4] แล้วพระองค์ทรงตรัสว่าดังนี้

“แล้วถ้ามีนักการเมืองที่ทุจริตท่ามกลางพวกเรา พวกเขาคอรัปชั่นประชาชน แล้วคนเหล่านี้กลับกลายมาเป็นพ่อแม่ทูนหัวของลูกหลานเรา แล้วถ้าเขาเหล่านี้แต่งงานถูกต้องในพระศาสนจักร แล้วพวกเราจะยอมรับคนบาปเหล่านี้ไหม? การเป็นประจักษ์พยานในฐานะบุตราของพระเจ้าคืออะไร? หรือเราจะเป็นพยานถึงการคอรัปชั่น? บางสิ่งบางอย่างเราต้องเปลี่ยน บรรทัดฐาน (standards) บางอย่างต้องเปลี่ยน” [4]

 

พระดำรัสของพระองค์ชวนให้ฉุดคิดว่า “การเปลี่ยนแปลง” ที่พระองค์หมายถึงคืออะไร?

 

2. ออยโคโนเมีย (Oikonomia) ขุมทรัพย์ที่ถูกซ่อนไว้?

เมื่อกล่าวถึงขณะนี้แล้ว เราคาทอลิกคงเริ่มมีความสนใจแล้วว่าออยโคโนเมียคืออะไร? และมีแนวทางปฏิบัติอย่างในในคริสตศาสนจักรออร์โธด็อกซ์ สิ่งหนึ่งที่น่าแปลกใจคือ ผู้หลักผู้ใหญ่ของคาทอลิกต่างกล่าวถึงและประณามหลักการของออยโคโนเมีย เพราะนี้เป็นคำถามหลักของบรรดานักเทวศาสตร์ของพระศาสนจักรในประเด็นเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งมีผู้เสนอว่า ทำไมเราไม่ทำอย่างออร์โธด็อกซ์ล่ะ จะได้แก้ปัญหาได้ง่ายๆ คุณพ่อลาดิสลัส ออร์ซี (Ladislas Orsy) ก็เป็นหนึ่งในนั้น ท่านเป็นนักเทวศาสตร์และนักกฎหมายของพระศาสนจักรคนสำคัญของยุคนี้ ได้เขียนบทความ “In Search of the Meaning of Oikonomia: Report on a Convention” ท่านได้แสวงจุดยืนว่า เรานักเทววิทยาคาทอลิกควรที่จะเปิดใจรับหลักการออยโคโนเมีย โดยพ่อออร์ซีได้ตั้งคำถามว่า


“ออยโคโนเมียมิใช่เป็นขุมทรัพย์ที่ซ่อนอยู่ดอกหรือ? เพราะมันสามารถช่วยแก้ปัญหาที่เรามีกันอยู่ ดังเช่น ออยโคโนเมียยังช่วยสมานความแตกแยกของพระศาสนจักรคาทอลิกกับคริสตศาสนจักรอื่นๆ หรือ คริสตศาสนจักรที่มีศีลบรรพชาพระสังฆราช อาจมีการร่วมมือกันในงานอภิบาลสัตบุรุษในคริสตศาสนจักรที่ไม่มีศีลบวชนี้? หรือ เมื่อชีวิตแต่งงานล้มเหลวจริงๆ และไม่มีหนทางอันใดที่จะเยียวยาได้แล้ว โดยอาศัยออยโคโนเมีย พระคาสนจักรอาจจะอนุญาตให้เขาเหล่านั้นเป็นอิสระจากพันธะแต่งงาน เพื่อสามารถแต่งงานใหม่ได้อีกครั้งหนึ่ง เช่นกัน ถ้าชายหญิงอยู่กินด้วยกันแล้วแม้ไม่ถูกต้องตามกฎหมายพระศาสนจักร เราจะอนุญาตให้พวกเขารับศีลมหาสนิทได้ไหม โดยไม่ไปแยกพวกเขาออกจากกัน?” [5]


พ่อออร์ซีตั้งคำถามข้างต้นเพื่อที่ต้องการจะบอกว่า ออยโคโนเมียคือกุญแจที่จะปลดล็อคความขัดแย้งระหว่าง “การอ้างกฎ” (claim of law) และ “ข้อเรียกร้องของจิตตารมณ์คริสตชน” (call of the Christian spirit) ท่านยังให้กรณีตัวอย่างของบทลงโทษในกฎหมายพระศาสนจักร (penal law) เพราะเมื่อใดก็ตามที่กลุ่มคริสตชนมีความช้ำน้ำใจ ผู้หลักผู้ใหญ่ของพระศาสนจักรสามารถให้ออยโคโนเมียเพื่อเยี่ยวยาสัตบุรุษ เพราะออยโคโนเมียคือการที่พระเจ้าทรงแทรกแซงชีวิตมนุษย์ด้วยพระธรรมอันล้ำลึกของพระองค์ ด้วยพระวาจาพระเจ้าและการกระทำของพระจิตเจ้า แต่ไม่ใช่ทุกกรณีที่พระศาสนจักรจะประยุกต์ใช้ออยโคโนเมีย หากแต่ต้องจำกัด เช่น ไม่ขัดต่อข้อความเชื่อ ใช้ผิดวัตถุประสงค์ หรือ ใช้พร่ำเพรื่อจนเป็นที่สะดุด พระศาสนจักรควรใช้ออยโคโนเมียเป็นกรณีๆ ไป และต้องไม่ใช้เป็นกรณีศึกษาเพื่อจะประยุกต์ใช้ในอนาคต [5]

 

2.1 ออยโคโนเมีย ในธรรมประเพณีของคริสตศาสนจักรออร์โธด็อกซ์และพระศาสนจักรคาทอลิก

พ่อออร์ซีเสนอข้อปัญหาบางประเด็นว่า ในหมู่นักเทวศาสตร์ออร์โธด็อกซ์ บางคนพยายามเปลี่ยน ออยโคโนเมีย เป็น ออยโคโนมอส (oikonomos) ออยโคโนมอสคืออะไร? ออยโคโนมอสเป็นคำที่เกี่ยวกับฐานันดรของพระสังฆราชและอำนาจหน้าที่ของท่านเหล่านั้นเมื่อมารวมตัวกันเป็นองค์ประชุม (synod) ออยโคโนมอส จึงเกี่ยวข้องกับการบริหารและปกครองของท่านเหล่านั้นมากกว่า แต่ออยโคโนเมียเป็นของการเยี่ยวยารักษา และอยู่เหนือกฎหมาย กลับกัน พระศาสนจักรคาทอลิกกลับไม่มีคำสอนเกี่ยวกับออยโคโนเมีย แต่มีบางสิ่งบางอย่างคล้ายๆกัน (ซึ่งเราจะกล่าวถึงทีหลัง) ถ้าออยโคโนมอสคือเครื่องไม้เครื่องมือของกฏหมาย ออยโคโนเมียคือพระพรและการเยี่ยวยาของพระเจ้า หากเราจะใช้ออยโคโนเมียในพระศาสนจักรคาทอลิกของเราจริงๆ เราควรที่จะตระหนักคือหลักการทั้งสี่ประการนี้ หนึ่ง การประยุกต์ใช้ออยโคโนเมียต้องไม่ขัดต่อข้อความาเชื่อ สอง ต้องมีความสมดุลกันพระหว่าง ออยโคโนเมีย และ อคริเบียอา (akribeia) สาม ออยโคโนเมียต้องเป็นหลักการที่เป็นนามธรรมอยู่เสมอ ไม่ใช่เน้นที่หน้าที่ของตัวบุคคลเช่น อำนาจของพระสังฆราชตามระบบออยโคโนมอส และ สี่ มีการแทนที่ออยโคโนเมีย ด้วยระบบกฎหมายที่ชัดเจน จนทำให้ขาดมิติของธรรมล้ำลึกของพระพรของพระเจ้าไป ในที่สุดพ่อออร์ซีจึงสรุปว่า


“ออยโคโนเมียสามารถเป็นไปได้ในพระศาสนจักรของเรา ถ้าหากต้องมีความสมดุลกันระหว่าง “โลกของธรรมอันล้ำลึก” และ “โลกของกฎหมาย” เพราะกฎทุกกฎต้องรับใช้ธรรมล้ำลึก มิใช่โลกทั้งสองที่เผชิญหน้าและขัดแย้งกัน”[5]


พ่อออร์ซีกลับตั้งคำถามว่าเราได้ใช้กฎต่างๆเพื่อรับใช้ธรรมล้ำลึกเพื่อประโยชน์ของงานอภิบาลจริงหรือเหล่า? ทั้งนี้เพื่อธรรมล้ำลึกแห่งความเชื่อ ความไว้ใจ และความรัก เพราะพระศาสนจักรควรเอาแบบอย่างงานอภิบาลของพระคริสต์ที่พระองค์ทรงกระทำต่อคนบาป จริงอยู่ บรรดาผู้อภิบาลอาจจะมีความตะขิดตะขวงใจที่จะอภิบาลผู้ที่ถูกประณามว่าเป็นคนบาป อาจจะเป็นเพราะกฎหมายที่เรามีอยู่มีข้อจำกัด จนทำให้เราไม่สามารถประยุกต์ใช้ออยโคโนเมียในพระศาสนจักรคาทอลิก ดังเช่นในกรณีที่สัตบุรุษหย่าร้าง แต่งงานใหม่ และถูกห้ามไม่ให้รับศีลมหาสนิท แต่ศีลมหาสนิทคือพละกำลังและการเยี่ยวยาของพระเจ้าไม่ใช่หรือ พระศาสนจักรควรผ่อนปรนเพื่อกลุ่มคริสตชนจะได้สัมผัสถึงพลังแห่งการช่วยให้รอดของพระเจ้าได้มากกว่านี้ [5]

พ่อออร์ซีไม่ใช่คนแรกที่เห็นด้วยกับหลักการผ่อนปรนกฎต่างๆของพระศาสนจักร เพราะหากย้อนไปในศตวรรษที่ 18 นักบุญอัลฟอนโซ ผู้ตั้งคณะพระมหาไถ่และต่อมาในปี 1978 พ่อเบอร์นาร์ด แฮริ่ง สงฆ์คณะพระมหาไถ่เช่นกัน ได้เสนอสิ่งที่คล้ายๆกันคือ อีพิเคียอา (epikeia) หรือการผ่อนปรนข้อกฎหมายเป็นกรณีๆ ไป เช่น กรณีบางอย่างอยู่เหนือความคิดของผู้ออกกฎหมาย พ่อแฮริ่งกล่าวว่า “อีพิเคียอา ไม่ใช่เป็นแค่กฎมนุษย์ แต่เป็นกฎธรรมชาติ เพราะด้วยเหตุผลและปัจจัยหลายๆอย่าง อีพิเคียอาช่วยเราให้พ้นจากสิ่งชั่วร้าย” [6] ในปี 1966 ลอร์เลอ (Lawler) ได้เขียนและนำเสนอค่อนข้างชัดเจนว่า “พระศาสนจักรคาทอลิกควรประยุกต์ใช้ออยโคโนเมีย เพราะนับตั้งแต่สังคายนาเมืองเตรนต์ พระศาสนจักรคือผู้ประกาศพระวรสารในชื่อของบรรดาคริสตชน” [7] ในปี 1986 แวนเดอร์วิลต์ (VanderWilt) เห็นคุณประโยชน์ของออยโคโนเมีย ท่านได้กล่าวไว้ว่า


“ประการที่หนึ่ง เฉกเช่นกับออยโคโนเมีย เราต้องตระหนักถึงความลึกซึ้งของสถานการณ์ของงานอภิบาลนั้นๆ ประการที่สอง เฉกเช่น ออยโคโนเมีย งานอภิบาลของเราเกิดขึ้นจากความปรารถนาที่จะเอาอย่างพระเมตตาของพระเป็นเจ้า โดยการประยุกต์ใช้กฎหมายอย่างเอาใจใส่ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ที่บรรดาพี่น้องชายหญิงกำลับประสบอยู่” [8]


นักเทวศาสตร์ศีลธรรมเหล่านี้ตระหนักถึงความเป็นไปได้ที่จะประยุกต์ใช้ออยโคโนเมียในระบบกฎหมายพระศาสนจักรคาทอลิก แต่แล้วที่สุด ดูเหมือนว่าเอกสาร Sacramentum Caritas และคำประกาศจากสมณกระทรวงแห่งความเชื่อจะตอบข้อเสนอแนะของนักเทวศาตร์เหล่านั้นไปแล้ว โดยเฉพาะด้วยเหตุผลในงานอภิบาล ที่จะอนุญาตให้ผู้หย่าร้างและแต่งานใหม่อย่างไม่ถูกต้องได้แก้บาปรับศีลมหาสนิท จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเสียแล้ว

 

2.2 แล้วออยโคโนเมียคืออะไรกันแน่ ในคริสตศาสนจักรออร์โธด็อกซ์

เพื่อที่ผู้เขียนที่เป็นสงฆ์คาทอลิกจะพยายามทำความเข้าใจออยโคโนเมียตามธรรมประเพณีของคริสตศาสนจักรออร์โธด็อกซ์ จึงขออ้างอิงแนวความคิดและคำอธิบายต่างๆ ตามเอกสารโดยพระสังฆราชอเธนนากอรัส (Bishop Athenagoras) ท่านเป็นผู้นำฝ่ายจิตและนักเทวศาสตร์ของคริสตศาสนจักรออร์โธด็อกซ์ ในเอกสารที่นำเสนอเรื่อง “ออยโคโนเมียและข้อแนะนำในงานอภิบาล” (Economia and Pastoral Guidance) เนื่องในโอกาสการสัมมนา International Congress at Catholic University เมื่อวันที่ 18-20 เมษายน 2005 ที่ผ่านมา [9]

พระสังฆราชอเธนนากอรัสเริ่มต้นอธิบายความหมายของออยโคโนเมียว่ามีพื้นฐานมาจากพระวรสาร เพราะทั้งคาทอลิกและออร์โธด็อกซ์ต่างมีรากฐานความเชื่อทางเทววิทยาในเรื่องการแต่งงานตามหลักพระวรสาร รวมทั้งในบริบทของพระหรรษทานของพระเจ้า เป็นธรรมล้ำลึกและศีลศักดิ์สิทธิ์ ทั้งสองฝ่ายต่างมีความเห็นเหมือนกันว่า การแต่งงานเป็นการเฉลิมฉลองอันศักดิ์สิทธิ์ สถาปนาโดยพระพรของพระเจ้านับแต่การสร้างแรกเริ่ม (มก. 10:6-8) ให้เราคิดถึงเรื่องราวในหนังสือปฐมการ ที่บ่งบอกส่วนสำคัญของการแต่งงาน ไม่ว่าจะเป็น “เป็นการแสดงออกของน้ำพระทัยของพระเจ้า” “มีคุณลักษณะแห่งธรรมล้ำลึก” “ชายหญิงสองคนรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน” (ปฐม. 1:27, 2:21-24, 1:27-28) ทั้งนี้สิ่งที่นักบุญเปาโลไดเขียนถึงชาวเอเฟซูส ได้มอบรากฐานของการแต่งงานของคริสตชน ธรรมล้ำลึกนี้คือสายสัมพันธ์ระหว่างพระคริสต์เจ้าและพระศาสนจักร (อฟ. 5, 22-23) การแต่งงานจึงเป็นมากกว่าความสัมพันธ์ของชายหญิง หากแต่เป็นเอกภาพของพระศาสนจักรตราบจนวาระสุดท้าย เพราะในที่สุด เราก็จะเปลี่ยนเป็นคนใหม่ สิ่งสร้างใหม่ในศีลแต่งงาน ดังเช่นเมเยอร์ดรอฟ (Meyendorff) อธิบายว่า “เพราะสิ่งนี้เป็นธรรมล้ำลึกของพระอาณาจักรพระเจ้า ที่ให้มนุษย์ได้รู้จักความสุขและความรักที่เป็นนิรันดร์” [9]

 

2.3 การแต่งงานของคาทอลิกและออร์โธดอร์แตกต่างกันอย่างไร?

พระสังฆราชอเธนนากอลัสนำเสนอว่า ก่อนที่เราจะเสวนากันเรื่องศีลแต่งงาน เราควรเข้าใจความแตกต่างของกันและกันดังนี้

orthodox vs catholic

2.4 การประยุกต์ใช้ออยโคโนเมียสำหรับผู้ที่หย่าร้างและการแต่งงานใหม่

 

“การแต่งงานครั้งแรกนั้นถูกต้องตามกฎหมาย ครั้งที่สองอาจพอรับได้ แต่ครั้งที่สามเป็นการละเมิดกฎหมาย ชีวิตสกปกดังคอกหมู เป็นที่ชั่วร้ายเกินที่จะยกตัวอย่างให้ได้”
นักบุญเกรโกรี่ นักเทวศาสตร์ (บทเทศน์ 37.8) [10]

 

คริสตศาสนจักรออร์โธด็อกซ์อนุญาตให้มีการอย่าและแต่งงานใหม่ได้ หากแต่ต้องเป็นไปตามวิจารณญาณและเป็นพระสังฆราชที่อนุญาตให้กระทำได้ พระสังฆราชอเธนนากอรัสอธิบายว่า นับแต่คริสต์ศตวรรษแรกผู้คนหย่าร้างและมีความเจ็บปวด นี่คือความจริงของชีวิตมนุษย์ ดังนั้นคริสตศาสนจักรออร์โธด็อกซ์จึงพยายามเชื่อมสองสิ่งที่สำคัญไว้ด้วยกัน นั้นก็คือ “ความเป็นเอกเฉพาะของการแต่งงานที่ถูกต้องของคริสตชน (uniqueness) และพันธะอันถาวรของชีวิตคู่” เฉกเช่นคำสอนทางเทวศาสตร์ที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ของพระคริสต์และพระศาสนจักร ท่านเรียกการแต่งงานระหว่างชายหญิงว่า “พระศาสนจักรน้อยๆ” แต่การหย่าร้างเป็นความผิดพลาดและเป็นบาป มันเกินการเยียวยารักษาและทำให้ชีวิตคู่ได้ตายไป ดังเช่นพระคริสต์ได้ทรงตรัสไว้ “เราบอกท่านทั้งหลายว่า ผู้ใดหย่าร้างภรรยาและแต่งงานกับอีกคนหนึ่ง เขาก็ทำผิดประเวณี เว้นแต่ในกรณีแต่งงานไม่ถูกต้อง” (มธ. 19:9) พระสังฆราชคอลลิสตอส แวร์ (Kallistos Ware) ได้เสริมว่าเราได้ใช้ออยโคโนเมียในงานอภิบาลแก่คนบาป เพราะเราต้องการแสดงความเมตตาแก่พวกเขา ท่านมีความเห็นต่างกับคำสอนคาทอลิกที่ว่า พระคริสต์ทรงสถาปนาข้อความเชื่อเรื่องพันธะที่ทำลายไม่ได้ของการแต่งงาน (indissolubility) ตรงกันข้าม พระองค์ทรงเห็นบางสิ่งที่จะทำลายชีวิตคู่โดยเฉพาะในกรณีการผิดประเวณี การกระทำเช่นนี้เป็นการทำลายพันธะของการแต่งงาน ซีริลแห่งอเล็กซานเดรียก็เห็นเช่นเดียวกัน ท่านถึงกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “ใบหย่าไม่ได้ทำให้สายสัมพันธ์ของพระเจ้าในการแต่งงานเสื่อมเสียไป หากแต่พฤติกรรมที่ผิดพลาดของมนุษย์” [9]


สำหรับคริสตศาสนจักรออร์โธด็อกซ์แล้ว คนที่หย่าร้างและได้รับอนุญาตให้แต่งงานใหม่ได้เพราะความอ่อนแอของมนุษย์ แค่ในกรณีที่ออยโคโนเมียจะช่วยอภิบาลและบรรเทาความเจ็บปวดของสัตบุรุษ แต่คนที่จะแต่งงานใหม่ต้องมีสำนึกว่าเขาได้รับการผ่อนปรนจากพระสังฆราช แม้ท่านจะไม่ได้เต็มใจนัก การหย่าร้างไม่ได้ทำให้การแต่งงานใหม่นั้นถูกกฎหมาย หากแต่การะประยุกต์ใช้ออยโคโนเมียคือการอภิบาลมนุษย์ผู้อ่อนแอ ทำให้เขาเหล่านั้นมีโอกาสมีชีวิตใหม่อีกครั้งหนึ่ง [9]

 

2.5 ออยโคโนเมียไร้นิยามตามกฎหมาย

ผู้รู้บางท่านพยายามอธิบายว่า “ออยโคโนเมียคือภาพลักษณ์ของความศักดิ์สิทธิ์ ความรัก และความเมตตา” อโคดอนนิส อภิบายออยโคโนเมียว่าเป็นดัง “อภิสิทธิ์พิเศษและขุมทรัพย์อันมีค่าของพระคริสตศาสนจักร” แต่ท้ายที่สุดคริสตศาสนจักรออร์โธด็อกซ์ไม่ได้ให้คำนิยามออยโคโนเมียอย่างเป็นระบบหรือตามคำจำกัดความของกฏหมายของคริสตศาสนจักร (canonical system) เพราะในที่สุดเป็นพระสังฆราชที่สามารถผ่อนปรนความเคร่งครัดของกฏหมายของพระศาสนจักรในบางกรณี และโดยไม่ขัดต่อข้อความเชื่อ ต้องสมเหตุสมผล และไม่สามารถนำกรณีนี้ไปเป็นกรณีตัวอย่างเพื่อบังคับใช้ออยโคโนเมียในอนาคตได้ การใช้ออยโคโนเมียก็เพื่อความรอดของวิญญาณ ดังนั้นออยโคโนเมียจึงอยู่เหนือพื้นฐานของกฎหมาย แม้กฎหมายพระศาสนจักรและข้อปฏิบัติต่างๆจะถูกส่งผ่านมาสู่เราโดยบรรดาอัครสาวก บรรดาปิตาจารย์ และสังคายนาต่างๆ แต่เป็นบรรดาพระสังฆราชที่ดูแลปกครองบรรดาสัตบุรุษ พวกท่านสามารถมอบออยโคโนเมียเพื่อประโยชน์ของงานอภิบาลในเขตปกครองของท่าน จริงอยู่ในบางสถานการณ์เราต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด แต่ในบางกรณีที่เป็นกรณีเฉพาะ ต้องการความยืดหยุ่นและผ่อนปรน กฎหมายไม่อาจจะใช้บังคับได้ เมื่อนั้นแหละคือการใช้ออยโคโนเมีย เมื่อสัตบุรุษหย่าร้าง การแต่งงานของเขากลายเป็น “รักที่เป็นความตายฝ่ายจิต” คริสตศาสนจักรจึงต้องใช้ออยโคโนเมียเพื่อแสดงถึงความรักและเมตตาเพื่อมวลชน คริสตศาสนจักรไม่สมควรที่จะปฏิเสธคนบาป และขับไล่เขาเหล่านั้นออกจะกลุ่มคริสตชน ออยโคโนเมียไม่เหมือนการได้รับอนุญาตหรือผ่อนปรนกฎข้อบังคับจากพระสังฆราชตามระบบกฎหมายพระศาสนจักรคาทอลิก (dispensation) ผู้สั้นๆง่ายๆก็คือ ออยโคโนเมียอยู่เหนือความเคร่งครัดของกฎหมาย เป็นธรรมอันล้ำลึกและเป็นพระพรของพระเจ้าแก่ประชากรของพระองค์ [9]

 

3. ปัญหาการอภิบาลแก่คาทอลิกที่หย่าร้าง และแต่งงานใหม่

“บาปบางประการอาจไม่ผิดกฎหมายพระศาสนจักร แต่การผิดกฎหมายพระศาสนจักรถือเป็นบาป” (not all sins are delicts, or canonical crime, but all delicts are sin) ในระบบกฎหมายของพระศาสนจักร ผู้ที่ทำการหย่าร้างคนเหล่านี้คือคนบาป เพราะแม้พวกเขาจะไม่มีพันธะต่อกันตามกฎหมายบ้านเมือง แต่กลับเป็นสถานภาพแห่งบาปตามของกฎหมายพระศาสนจักร หนังสือคำสอนของพระศาสนจักรคาทอลิกได้อธิบายประเด็นนี้อย่างชัดแจ้ง

“การหย่าร้างคือการกระทำผิดต่อกฎธรรมชาติ (natural law) แม้การหย่าร้างดูเหมือนว่าจะทำลายพันธะของคู่สมรสที่มีต่อกัน จากน้ำใจอิสระที่จะอยู่ด้วยกันจนชีวิตจะหาไม่ แต่การหย่าร้างทำร้ายพันธสัญญาแห่งความรอดพ้น เพราะศีลสมรสคือเครื่องหมายอันศักดิ์สิทธิ์ การแต่งงานใหม่หรือมีความสัมพันธ์ใหม่ แม้ว่าจะถูกต้องตามกฎหมายบ้านเมือง ทำให้สถานภาพบาปหนักขึ้นไปอีก เพราะคราวนี้พวกเขาทำกระทำผิดประเวณีในที่สาธารณะและอย่างถาวร
หากแต่สามีแยกกันอยู่กับภรรยา ไปมีผู้หญิงคนใหม่ เขาผิดประเวณีและทำให้ผู้หญิงที่อยู่ร่วมกันเขาผิดประเวณีเช่นกัน เพราะเธอได้กระทำการแยกสามีคนอื่นมาเป็นของตนเอง” [11]

หนังสือคำสอนคาทอลิกได้สรุปใจความเรื่องการหย่าร้างและแต่งงานใหม่ว่าเป็นการผิดศีลธรรมโดยการผิดประเวณี และในสถานภาพบาปนี้ทำให้พวกเขาไม่สามารถรับแก้บาปและศีลมหาสนิทได้ และมีหนทางเดียวในการแก้ปัญหาคือการดำเนินการทางกฎหมายพระศาสนจักร คือการประกาศการแต่งงานในครั้งแรกเป็นโมฆะและได้รับการประกาศว่าการแต่งงานใหม่นั้นถูกต้อง

กว่าหลายสิบปีที่มีการถกเถียงกันถึงปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ว่าผู้อภิบาลควรจะดูแลสัตบุรุษที่อยู่ในสถานภาพนี้อย่างไรดี? หรือเราจะยึดกฎหมายพระศาสนจักร ตามหลักการของกฎหมายการลงโทษสามประการ (penal canon law) ที่ว่า “เพื่อเยี่ยวยาการเป็นที่สะดุด เพื่อผดุงความยุติธรรม และเพื่อฟื้นฟูผู้กระทำผิด” (กฎหมายพระศาสนจักร 1341, 1344 °2) ด้วยคนเหล่านี้อาจจะเป็นที่สะดุดแก่สัตบุรุษคนอื่นๆ (forum externum) เราจึงห้ามไม่ให้เขารับศีลมหาสนิทในที่สาธารณะ ในทางตรงข้าม ด้วยเหตุผลของความสงบของมโนธรรม (forum internum) บางครั้งที่บรรดาผู้อภิบาลใช้หลักวิจารณญาณเพื่อช่วยเหลือวิญญาณของคนเหล่านี้ อนุญาตให้รับศีลได้ในช่วยเทศกาลปัสกาหรือวันคริสตสมภพ แต่ทั้งพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 และทางกระทรวงแห่งความเชื่อก็ได้อธิบายแล้วว่า เป็นความเข้าใจที่ผิด (mistaken conviction) และจะกระทำเสียมิได้ (inadmissible) [12] แต่ถึงอย่างไรบรรดานักเทวศาสตร์และนักศีลธรรมของพระศาสนจักรยังไม่หยุดที่จะโต้เถียงในปัญหานี้ต่อไป

 

“ออยโคโนเมียมิใช่เป็นขุมทรัพย์ที่ซ่อนอยู่ดอกหรือ? เพราะมันสามารถช่วยแก้ปัญหาที่เรามีกันอยู่”
ลาสดิสลาส ออร์ซี

 

“คริสตศาสนจักรออร์โธด็อกซ์มีหลักการออยโคโนเมีย ที่อนุญาตให้มีการผ่อนปรนอย่างเป็นรูปธรรม แต่ทางคาทอลิกเองอาจพูดว่า เราไม่แน่ใจว่าเราจะนำหลักการนี้มาใช้ได้หรือเปล่า เพราะมันไม่ใช่ธรรมประเพณีของเรา แต่เราเองก็มีหลักการที่คล้ายๆกันคือ ‘อีพิเคียอา’ เพราะแม้เราจะยอมรับกฎโดยทั่วไป แต่การถือกฎก็ต้องแล้วแต่สถานการณ์และวิจารณญาณต่างๆ เรากำลังพูดกันเรื่องการวิธีการทางกฎหมาย (jurisprudence) ไม่ใช่ศาสตร์แห่งกฎหมาย (jurisscience) นักกฎหมายที่ดีต้องใช้กฎหมายให้ถูกที่ถูกเวลา ดังเช่นนักกฎหมายในยุคกลางที่ได้นำหลักอีพิเคียอามาใช้ เป็นกฎหมายที่ละมุนละหม่อมและเปี่ยมด้วยความเมตตา เราคาทอลิกสามารถเริ่มจากจุดนี้ได้ เพราะเราก็มีของดีของเราอยู่แล้ว”
พระคาดินัลวอลเตอร์ แคสเปอร์ [13]


ผู้เขียนได้ยกคำถามที่ท้าทายของพ่อออร์ซี ที่เห็นว่าคาทอลิกควรนำหลักออยโคโนเมียมาใช้ได้เสียที แต่พระคาดินัลวอลเตอร์กลับเห็นว่าเราคาทอลิกก็มีวิธีการผ่อนปรนข้อกฏหมายตามธรรมประเพณีของเราอยู่แล้ว ตัวท่านเองก็เป็นหนึ่งในนักเทวศาสตร์ที่สนับสนุนให้ผู้ที่หย่าร้างและแต่งงานใหม่สามารถรับศีลมหาสนิทได้ ท่านเป็นผู้แต่งหนังสือ Mercy: the Essence of the Gospel and the Key to Christian Life เป็นหนังสือที่พระสันตะปาปาทรงแนะนำให้ทุกคนควรอ่าน พระองค์ทรงตรัสส่วนหนึ่งของหนังสือในระหว่างการปราศรัยกับประชาชนว่า “ด้วยว่า ความเมตตาสามารถเปลี่ยนได้ทุกสิ่ง เปลี่ยนโลกที่เย็นเฉยให้ยุติธรรมมากยิ่งขึ้น”[13] พระคาดินัลวอลเตอร์แนะนำบรรดานักเทวศาสตร์คาทอลิกว่า เราควรรื้อฟื้นหลักอีพิเคียอาขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยการเน้นหลักคำสอนที่พระเมตตาของพระเจ้าเหนือกว่าความยุติธรรม (กฎหมาย) แม้เราไม่อาจทราบได้ว่าองค์พระสันตะปาปาทรงยอมรับหลักการของพระคาดินัลวอลเตอร์ในการเปลี่ยนแปลงในพระศาสนจักรคาทอลิก แต่พระองค์ทรงเรียกสมัชชาพระสังฆราชขึ้นในระหว่างวันที่ 5-19 ตุลาคม 2014 ในหัวข้อ “ความท้าทายของงานอภิบาลต่อครอบครัว ในบริบทของการแพร่ธรรม” (Pastoral Challenges to the Family in the Context of Evangelization) แม้สมัชชาจะจบไปในปีที่แล้ว แต่ดูเหมือนผลลัพธ์จะไม่ค่อยเป็นที่พอใจนัก ดังเห็นได้จากเอกสารของสมัชชา (Relatio synodi) ที่มีข้อเสนอให้มีการอภิบาลเป็นพิเศษแก่ผู้ที่หย่าร้างและแต่งงานใหม่ อนุญาตให้รับศีลมหาสนิทได้ ผลโหวตสองในสามให้ข้อเสนอนี้ตกไป (ในย่อหน้าที่ 51-3) [14] แต่สมัชชาใหม่ที่จะเกิดขึ้นในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ (2015) เชื่อแน่ว่าข้อเสนอนี้จะกลับมาอีกครั้งหนึ่ง เราคงต้องคอยติดตามกันต่อไปว่า พระศาสนจักรจะมีจุดยืนอย่างไรต่อประเด็นปัญหา และแนวทางในการอภิบาลคนเหล่านี้ต่อไปอย่างไร


บทสรุป

อาจกล่าวได้ว่า บทสรุปของเรื่องนี้คือยังไม่มีข้อสรุป ผู้เขียนตระหนักดีว่า ปัญหาของศาสนจักรในการอภิบาลผู้ที่หย่าร้างและแต่งงานใหม่อย่างไม่ถูกต้องเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะด้านหนึ่ง เป็นเรื่องของข้อความเชื่อของพระศาสนจักร และอีกด้านหนึ่งเป็นเรื่องของมโนธรรมและความรอดของวิญญาณของผู้ที่ถูกประณามว่าเป็นคนบาปของพระศาสนจักร แต่มีสิ่งหนึ่งที่ใครก็ปฏิเสธไม่ได้ คือความรักและความเมตตาของพระเจ้าอยู่เหนือสิ่งอื่นใด ความรักจนยอมตายบนไม้กางเขนคือข้อพิสูจน์ความรักที่ไม่มีเงื่อนไขของพระคริสต์เจ้า แม้คนบาปที่เลวร้ายที่สุดในโลก หากเขากลับใจ เขาสามารถกลับสู่อ้อมกอดของพระบิดาได้อยู่เสมอ ดังเช่นผู้ที่หย่าร้างและแต่งงานไม่ถูกต้อง บาปของเขามีถึงเพียงใด กลับเป็นอุปสรรคสำคัญที่กีดขวางความสัมพันธ์กับพระคริสต์ในศีลมหาสนิท นี่คือคำถามที่เราจะได้คำตอบหลังจากสมัชชาพระสงฆ์ที่จะเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม ปี 2015 นี้ ผู้เขียนหวังไว้เช่นนั้น

 

อ้างอิงจาก

1. Pope Benedict XVI. Speeches: Meeting with Diocesan Clergy of Aosta Address of His Holiness Benedict XVI. 2005 [cited 2015 Apirl 1]; Available from: http://w2.vatican.va/content/benedict-xvi/en/speeches/2005/july/documents/hf_ben-xvi_spe_20050725_diocesi-aosta.html.
2. Pope Benedict XVI. Apostolic Exhortations: Sacramentum Caritatis. 2007 [cited 2015 Apirl 1]; Available from: http://w2.vatican.va/content/benedict-xvi/en/apost_exhortations/documents/hf_ben-xvi_exh_20070222_sacramentum-caritatis.html.
3. Archbishop Gerhard Ludwig Müller. Testimony to the Power of Grace: on the Indissolubility of marriage and teh Debate Concerning the Civilly Remarried and the Sacraments. 2013 [cited 2015 Apirl 1]; Available from: http://www.vatican.va/roman_curia/congregations/cfaith/muller/rc_con_cfaith_20131023_divorziati-risposati-sacramenti_en.html.
4. Teahan, M. Communion Alone is ‘not the Solution’ for Divorced and Re-married Catholics, Says Pope Francis. 2014 [cited 2015 Apirl 1]; Available from: http://www.catholicherald.co.uk/news/2014/12/08/communion-not-the-solution-for-divorced-and-re-married-catholics-says-pope/.
5. Orsy, L.M., In Search of the Meaning of Oikonomia : Report on a Convention. Theological Studies, 1982. 43(2): p. 312-319.
6. Bohr, D., Catholic Moral Tradition. 1998, Huntington, Indiana: Our Sunday Visitor, Inc.
7. Lawler, M.G., Marriage and the Catholic Church: Disputed Questions. 1966, New York: American Press.
8. VanderWilt, J., Communion with Non-Catholic Christians. 1986, Washington, D.C.: United States Catholic Conference, Inc.
9. Bishop Athenagoras (Peckstadt) of Sinope. Economia and Pastoral Guidance. 2005 [cited 2015 Apirl 1]; Available from: http://www.orthodoxresearchinstitute.org/articles/liturgics/athenagoras_remarriage.htm.
10. Viscuso, P., Orthodox Canon Law: A Case for Study. 2006, Brookline, Massachusetts: Holy Cross Orthodox Press.
11. CCC 2384.
12. Ratzinger, J.C. Letter to the Bishops of the Catholic Church concerning the Reception of Holy Communion by the Divorced and Remarried Members of the Faithful. 1994 [cited 2015 Apirl 1]; Available from: http://w2.vatican.va/content/benedict-xvi/en/apost_exhortations/documents/hf_ben-xvi_exh_20070222_sacramentum-caritatis.html.
13. Boudway, M. and G. Gallicho. An Interview with Cardinal Walter Kasper. May 7, 2014 [cited 2015 April 10]; Available from: https://www.commonwealmagazine.org/interview-cardinal-walter-kasper.
14. Bishops, I.E.G.A.o.t.S.o. Relatio Synodi: Pastoral Challenges to the Family in the Context of Evangelization. 2014 [cited 2015 April 10]; Available from: http://press.vatican.va/content/salastampa/en/bollettino/pubblico/2014/10/18/0770/03044.html

 

Written by 
บาทหลวง วรวุฒิ สารพันธุ์ C.Ss.R. JCL


Catholic Priest & Canonist
Author & Administrator
Faith4Thai.com

*juris canonici licentiatus
หรือ JCL เป็นปริญญาทางกฏหมายพระศาสนจักร

Email: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
FaceBook: Worawut Saraphan
Iine ID: mcssrsp