Skip to main content

salus

องค์สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสหรือโป๊ปฟรังซิส ทรงได้รับการขนานนามว่าเป็นผู้นำพระศาสนจักรที่ติดดินและมีความรักเมตตาต่อทุกคน

ท่านเป็นที่นิยมในหมู่คริสตชนร่วมทั้งไม่ใช่คริสตชน ท่านพยายามเข้าถึงคนรุ่นใหม่ด้วยการใช้สื่อและเทคโนโลยี อาทิเช่น เพียงแค่เราโหลดแอปของวาติกัน เราก็สามารถติดตามทวิตเตอร์ หรือ ปาฐากถาที่ท่านกล่าวยืนยันข้อคำสอนและคุณธรรมตามหลักของพระศาสนจักรคาทอลิก ที่มีต่อโลกในสถาณการณ์ที่เป็นปัจจุบันทันด่วน


สิ่งที่ยังครุกกรุ่นในบรรยากาศของเราชาวคาทอลิกคือ องค์พระสันตะปาปาได้ประกาศปีแห่งพระเมตตาของพระเจ้า ที่เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2015 จบในที่ 20 พฤศจิกายน 2016 อีกทั้งพระองค์ท่านยังประกาศเรื่องการจาริกแสวงบุญเพื่อรับพระคุณการุณย์ตามพระศาสนจักรท้องถิ่นตามสมควร (รวมทั้งอภิสิทธิ์แห่งพระคุณการุณย์ที่คณะพระมหาไถ่ได้รับเป็นพิเศษเช่นกัน ในโอกาสฉลองร้อยห้าสิบปีแห่งพระรูปพระมารดานิจจานุเคราะห์)


แต่มีสิ่งหนึ่งที่หลายคนยังไม่ทราบ หรือรับรู้ว่าพระองค์ท่านได้พยายามเปลี่ยนบางสิ่งบางอย่างในพระศาสนจักร นั่นคือการปรับปรุงขบวนการกฎหมายพระศาสนจักร ในเอกสาร “พระเยซูคริสต์เจ้า พระตุลาการผู้อ่อนหวาน” (Mitis iudex Dominus Iesus) ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับขบวนการการตัดสินการแต่งงานให้เป็นโมฆะ อาทิเช่น มีการลดขั้นตอนในการดำเนินเรื่องให้สั้นลง หรือพระสังฆราชมีส่วนเกี่ยวข้องมากขึ้น และพระศาสนจักรท้องถิ่น (ศาลระดับสังฆมณฑล) มีอำนาจในการวินิจฉัยคดีกว้างขึ้น (เดิมทีทำได้เฉพาะกรณีที่แต่งงานในเขตสังฆมณฑลนั้น เท่านั้น) ฯลฯ เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2015 ที่ผ่านมา


บทความนี้ผู้เขียนไม่ได้มีความประสงค์จะอธิบายข้อกฎหมายพระศาสนจักรที่กล่าวมาข้างต้น เพราะจะเป็นเรื่องค่อนข้างไปในทางเทคนิค ซึ่งหลายคนอาจจะหลับก่อนอ่านบทความนี้จบ หากแต่ผู้เขียนต้องการจะบอกว่า กฎหมายพระศาสนจักรเปรียบเสมือนจักรกลที่ขับเคลื่อนให้งานอภิบาลและงานแพร่ธรรมของพระศาสนจักรดำเนินต่อไปได้ จริงอยู่ที่พระศาสนจักรของเรามีภาพลักษณ์แห่งความเป็นสถาบัน แต่อีกมุมหนึ่งคือความเป็นสังคมมนุษย์ และทุกๆสังคมย่อมต้องการกฎเกณฑ์และข้อบังคับ เพื่อรักษาและดำรงไว้ซึ่งความสงบ ระเบียบเรียบร้อย ความยุติธรรม ฯลฯ แต่สิ่งที่กฎหมายของพระศานจักรมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าและแตกต่างจากกฎหมายของบ้านเมืองคือ “ความรอดของวิญญาณ” (Salus Animarum, Salvation of Souls) สำหรับคริสตชนแล้ว เราควรมีทัศนะคติหรือมีแนวทางการปฏิบัติและควรถือตามกฎหมายนี้อย่างไรในชีวิต?

กฎข้อสุดท้ายที่สุด คือ ข้อที่สำคัญที่สุด

กฎหมายของพระศาสนจักร มีอีกชื่อหนึ่งว่า คัลนันลอร์ (Canon Law) ฉบับล่าสุดคือปีค.ศ. 1983 สำหรับพระศาสนจักรโรมันคาทอลิก และปีค.ศ.2000 สำหรับพระศาสนจักรคาทอลิกตะวันออก ทางฝั่งโรมันคาทอลิกมีประมวลกฎหมายทั้งหมด 1752 มาตราด้วยกัน

เป็นที่รู้กันในหมู่นักเรียนคัลนันลอร์ว่า ถ้าไม่รู้จะเอามุกไหนมาตอบคำถามของอาจารย์ ก็อ้างข้อที่ 1752 ไว้ก่อนว่า


“ในกรณีการย้าย (พระสงฆ์) ให้นำข้อกำหนดของมาตรา 1747 มาปรับใช้ โดยคำนึงถึงความชอบธรรมของกฎหมายพระศาสนจักร และโดยคำนึงถึงความรอดของวิญญาณ ซึ่งเสมอไปต้องเป็นกฎหมายสูงสุดของพระศาสนจักร”
(“ประมวลกฎหมายพระศาสนจักร” http://www.catholic.or.th/archive/laws/)

สรุปคือ ความรอดของวิญญาณ คือ กฎหมายอันสูงสุดของพระศาสนจักรเสมอไป
ถ้าเราจะลองตั้งคำถามเล่นๆว่า “ศาสนาของเราไม่จำเป็นต้องมีกฎอะไรให้มันหยุมหยิมได้ไหม” หรือ “ในความเป็นคริสตชน ก็แค่นับถือพระเยซูแล้วเชื่อในพระคัมภีร์ก็พอแล้ว ไม่ต้องมีอะไรมากมาย” เพราะสุดท้ายที่สุด วิญญาณจะรอดหรือไม่ ก็เป็นพระเจ้าเองที่ทรงตัดสิน?

คำตอบที่ได้ก็คือ “ได้” และ “ไม่ได้” เช่นกัน เพราะมนุษย์เราไม่จำเป็นต้องมีกฎข้อบังคับได้ๆก็ได้ หากทุกคนรู้จักหน้าที่ มีความรับผิดชอบ มีความรักเอื้อเผื่อช่วยเหลือกันและกัน หรืออีกความหมายหนึ่ง ถ้าทุกคนมีมโนธรรมที่ดีงามรู้จักผิดชอบชั่วดี เราไม่มีความจำเป็นต้องพึ่งกฎหมายใดๆเลยก็ย่อมได้ อย่างไรก็ดี กฎหมายพระศาสนจักรมีมิติที่ลึกซึ้งกว่านั้น เพราะกฎแต่ละข้อมีพื้นฐานจากข้อความเชื่อ คำสอนและธรรมประเพณีของพระศาสนจักร ที่ผ่านการเผยแสดง การศึกษาไตร่ตรอง และเป็นที่ยอมรับมามากกว่าสองสหัสวรรษ กฎหมายพระศาสนจักรจึงไม่ใช่แค่ข้อบังคับให้เราปฏิบัติตาม แต่เป็นสิ่งช่วยสนับสนุนงานอภิบาลและการแพร่ธรรมของพระศาสนจักร และช่วยเสริมสร้างชีวิตคริสตชนในความเป็นหนึ่งเดียวกัน ในความเชื่อความศรัทธา กิจเมตตาและชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณ เพราะสุดท้ายที่สุด แม้ทางผู้ใหญ่ของพระศาสนจักรจะออกกฎข้อบังคับใดๆ พวกเขาต้องตระหนักถึงประโยชน์ของชีวิตคริสตชนและความรอดของวิญญาณเป็นที่ตั้งเสมอไป


ตัวอย่างเช่น ในกฎหมายการแต่งงานที่ว่า คู่สมรสต้องแต่งงาน อย่างน้อยในวัดที่ที่ฝ่ายเจ้าสาวหรือเจ้าบ่าวเป็นลูกวัดที่นั่น... หลายคนอยากจัดแต่งงานในโรงแรมหรูๆ ตามมาตรฐานโลก หรือริมทะเลแบบในหนังในละคร ในความเป็นจริงแล้วเราคริสตชนควรจัดพิธีสมรสที่วัดตามที่เราสังกัด ด้วยเหตุผลประการหลักคือรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของศีลสมรส เพราะวัดเป็นสถานที่รวมจิตใจของคริสตชนและเป็นสัญลักษณ์แห่งความเชื่อและศรัทธาที่เป็นหนึ่งเดียวกัน (communio) ของชุมชนคริสตชน และที่วัดนี้เองที่ญาติพี่น้องและบรรดาพี่น้องคริสตชนสามารถมาร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีอันศักดิ์สิทธิ์นี้ได้ เพราะในคำสอนคริสตชน การแต่งงานไม่ใช่เรื่องของคนสองคน แต่เป็นเรื่องของการสร้างครอบครัวใหม่ในหมู่คริสตชน คำปฏิญาณในพิธีคือพันธสัญญาอันศักดิ์สิทธิ์ ที่มีพระสงฆ์เป็นพยานว่าคู่บ่าวสาวที่จะรักและเกื้อกูลต่อกันในยามสุขและทุกข์ ตราบจนชีวิตจะหาไม่ อีกทั้งพวกเขาพร้อมรับบุตรที่จะเกิดมา ดูแล ทะนุบำรุง และสอนให้เขาได้มีความเชื่อและรู้จักความรักของพระเจ้า...

แต่ในบางกรณี คู่บ่าวสาวอาจจะขออนุญาตพิเศษที่จะจัดงานในที่แปลกๆได้เช่นกัน อาทิเช่น ประกอบพิธีสมรสใต้น้ำ (กรณีนี้พระสงฆ์ต้องดำน้ำเป็นด้วย) ก็อาจจะทำได้ แต่พวกเขาต้องมีเหตุผลสมควรและการกระทำดังกล่าวไม่เป็นที่สะดุดต่อพี่น้องคริสตชน พวกเขาต้องได้รับการอนุญาตที่เป็นลายลักษณ์อักษรจากพระสังฆราชท้องถิ่น (Dispensation) มิฉะนั้นตามกฎหมายฯ ถือว่าเป็นการแต่งงานนั้นๆเป็นโฆษะ (Lack of Canonical Form) และการให้อนุญาตพิเศษโดยผู้ใหญ่ของพระศาสนจักรนี้จะทำไม่ได้เลยถ้าเป็นการขัดต่อกฎอันศักดิ์สิทธิ์ที่มีพื้นฐานด้านคำสอน (Divine Law) อาทิเช่น คาทอลิกสามารถแต่งงานกับคนต่างศาสนาได้ แต่ต้องมีเงื่อนไขในการรับประกันว่าบุตรที่จะเกิดมาต้องได้รับศีลล้างบาปและได้เรียนคำสอนสู่ความเชื่อคริสตชน... การอนุญาตพิเศษนี้จึงไม่เป็นการทำลายร้างกฎหมาย แต่เป็นการผ่อนปรนกฎหมายนั่นเอง (Relaxation of Law) อีกตัวอย่างประการหนึ่ง... เป็นไปไม่ได้เลยที่จะอนุญาตให้ผู้รักร่วมเพศแต่งงานตามแบบคาทอลิกได้ เพราะเป็นการขัดต่อข้อความเชื่อและคำสอนเรื่องการสร้างครอบครัว เรื่องเพศ และการสืบเชื้อสายตามครรลองครองธรรมของธรรมชาติความเป็นมนุษย์ (Bonum Prolis, Procreation)

กฎหมายและจิตวิญญาณ

“สิ่งที่สำคัญคือ กฎหมายใหม่นี้ต้องได้นำไปใช้และต่อยอดให้ดีขึ้นเพื่อคุณประโยชน์และเพื่อจิตวิญญาณ โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานด้านศาลของพระศาสนจักร เพื่อพวกเขาจะได้เป็นผู้รับใช้แห่งความยุติธรรมและความรักในสถาบันครอบครัว เพราะยังมีคริสตชนอีกหลายคนที่ยังประสบทุกข์ในชีวิตคู่ ดังที่เราเห็นปัญหาในปัจจุบัน หรือพันธะแห่งการสมรสไม่ได้น้อมรับด้วยใจตั้งแต่แรกเริ่ม เราจำเป็นต้องช่วยพวกเขาในการดำเนินการให้เร็วขึ้น (ทำเรื่องการแต่งงานเป็นโมฆะ) และในหลักสูตรที่ลูกได้มาเข้าร่วมนี้ เราอยากจะสนับสนุนให้ลูกเก็บเกี่ยวสิ่งที่ได้เรียนมา เพื่อที่จะทำงานอย่างมุ่งมั่นโดยตั้งเป้าไว้ที่ความรอดของวิญญาณ ซึ่งเป็นกฎอันสูงสุดของพระศาสนจักร...
...พระศาสนจักรคือมารดรที่พยายามเผยพระพักตร์ของพระเป็นเจ้า ทรงไม่เปลี่ยนแปลงความรัก เมตตา และพร้อมเสมอที่จะฟื้นฟูพระพรแห่งพละกำลังและความหวัง... ในใจของเราเอง เรายังเป็นห่วงพี่น้องที่หย่าร้างและแต่งงานใหม่ในท่ามกลางหมู่คริสตชน ในขณะที่เราพยายามเยียวยารักษาแผลให้เขา เพราะพวกเขาต้องการความเชื่อมั่นที่ว่า ชีวิตคู่ของพวกเขาล้มเหลว ให้พวกเราช่วยพวกเรา แม้ในสถานการณ์ที่ยากที่สุด”


ประโยคข้างต้น เป็นโป๊ปพรังซิสทรงดำรัสแด่นักกฎหมายในเรื่องกระบวนการดำเนินเรื่องการแต่งงานให้เป็นโมฆะตามคำประกาศเปลี่ยนแปลงใหม่ พระองค์ทรงย้ำว่า กฎที่สำคัญที่สุดคือความรอดของวิญญาณ เราใช้กฎหมายเพื่อแสดงพระเมตตาของพระเจ้า ผู้ทรงมีความยุติธรรม และทรงมีความรักและเมตตา


สำหรับกฎหมายของพระศาสนจักรแล้ว สิ่งที่สำคัญคงไม่ใช้แค่การถือตามกฎนั้นๆ หากแต่เป็นการทำความเข้าใจถึงจิตวิญญาณแห่งกฎหมาย (Spirit of Law) หลายคนมักจะกล่าวว่า เราไม่จำเป็นต้องรู้กฎหมายก็มีชีวิตอยู่ได้ โดยเฉพาะกฎหมายของพระศาสนจักร แต่ถ้าหากมีปัญหาเกิดขึ้นมา อาทิเช่น เกิดความขัดแย้งในหมู่สงฆ์ หรือในสัตบุรุษ หรือมีปัญหาทางด้านอภิบาล หรือมีปัญหาความประพฤติของผู้อภิบาล ท้ายที่สุดกฎหมายของพระศาสนจักรก็เป็นคำตอบสุดท้ายของการตัดสินและแก้ไขปัญหาอยู่ดี สำหรับชีวิตคริสตชนแล้ว กฎหมายพระศาสนจักรจึงเปรียบเหมือนกลไกลที่มองไม่เห็น (หรือบางคนไม่อยากมองด้วยซ้ำไป) ที่ทำงานอยู่อย่างเงียบๆอย่างสัตย์ตรง (บางคนพยายามเลี่ยง อ้างเสมอว่าเคร่งเกินไป) และในบางสถานการณ์ต้องมีการตัดสินเพื่อที่จะแก้ปัญหาดั่งกล่าว กลไกลนี้ก็ยังทำงานได้ดีเสมอมา ดั่งที่เราได้เรียนรู้ในประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักรตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

สำหรับเราคริสตชน นอกจากการเรียนคำสอนและพระคัมภีร์แล้ว การศึกษากฎหมายพระศาสนจักรก็มีความน่าสนใจเช่นกัน อาทิเช่น ยามที่เรามีการเลือกตั้งพระสันตะปาปาหรือพระสังฆราชองค์ใหม่ แม้ขั้นตอนและกระบวนการจะเป็นความลับ แต่กลับมีเกร็ดความรู้น่าสนใจมากมายเลยทีเดียว หรืออีกตัวอย่างที่ถือว่าเป็นวิกฤติของพระศาสนจักรในปัญหาเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศของพระสงฆ์ จริงอยู่ที่ว่าการประโคมข่าวในสื่อต่างๆทำให้ภาพรวมของพระศาสนจักรขุ่นหมองไปด้วยปัญหาและคำถามมากมายเรื่องกระบวนความยุติธรรม แต่ท้ายที่สุด ในความเป็นสังคมมนุษย์ พระศาสนจักรก็ออกมายอมรับว่ามีความผิดพลาดจริง แต่จะนำความผิดพลาดนี้มาปรับปรุงแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการกำหนดนโยบายการทำงานกับเด็ก การศึกษาให้การอบรมของผู้อภิบาล และปรับปรุงกระบวนการการไตร่สวนคดีความและการเยี่ยวยาผู้ถูกล่วงละเมิดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ทุกอย่างต้องตั้งมั่นอยู่บนพื้นฐานของความรัก เมตตา และความยุติธรรม เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

กฎหมายของพระศาสนจักร มีไว้เพื่อความรอดของวิญญาณ แต่ไม่ได้หมายความว่า เราต้องถือกฎอย่างเคร่งครัด อย่างลืมหูลืมตา จนมองข้ามความต้องการของเพื่อนพี่น้อง ไร้ซึ่งความรักและเมตตา เพราะการถือกฎไม่ได้เป็นเครื่องรับประกันความรอดของวิญญาณ แต่กฎมีไว้เพื่อสิ่งเสริมให้เราทำตามมโนธรรมของเราอย่างถูกต้อง ตามที่พระเจ้าทรงเรียกเราตามแต่สถานะของบุคคล เพื่อเราเองสามารถที่จะนำพระวาจาทรงชีวิตมาปฏิบัติ ทั้งในชีวิตฝ่ายความเชื่อ ศรัทธา และกิจเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อชุมชุนแห่งผู้มีความเชื่อในหมู่คริสตชน และเพื่อพันธกิจต่อคนต่างความเชื่อ ที่อาจกำลังต้องการกำลังใจและความรักจากเรา

อ้างอิง
Pope Francis, ADDRESS OF HIS HOLINESS POPE FRANCIS TO PARTICIPANTS IN THE COURSE PROMOTED BY THE TRIBUNAL OF THE ROMAN ROTA, Paul VI Audience Hall Saturday, 12 March 2016
“ประมวลกฎหมายพระศาสนจักร,” http://www.catholic.or.th/archive/laws/

Written by 
บาทหลวง วรวุฒิ สารพันธุ์ C.Ss.R. JCL


Catholic Priest & Canonist
Author & Administrator
Faith4Thai.com

*juris canonici licentiatus
หรือ JCL เป็นปริญญาทางกฏหมายพระศาสนจักร

Email: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
FaceBook: Worawut Saraphan
Iine ID: mcssrsp