โลกเสมือนจริง กับความท้าทายในความเชื่อ
บทความ
ภาพจาก Euronews.com
โลกเสมือนจริง หรือเวอร์ชวลเรียลลิตี้ (virtual reality) คืออะไร?
ถ้าอธิบายง่ายๆก็คือ การที่มนุษย์พยายามจำลองรูป รส กลิ่น สี กายสัมผัส
ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้เสมือนว่าสิ่งที่เราสัมผัสนั่นเป็นของจริง ตัวอย่างเช่น การฉายภาพยนตร์ปัจจุบันนี้มีทั้งแบบสองมิติและสามมิติ บางที่มีสี่หรือห้ามิติ เช่น มีการใส่แว่นครอบศีรษะทำให้เวลามองไปรอบๆเสมือนว่าเราเข้าไปอยู่ ณ ที่นั่นจริง ๆ บ้างมีการขยับเขยื้อนตามเนื้อเรื่องของภาพยนตร์ หรือมีลมพัด มีไอน้ำ มีกลิ่น ฯลฯ เดิมทีโลกเสมือนจริงเป็นแค่แนวคิดหรือนิยายทางวิทยาศาสตร์ แต่ด้วยความก้าวหน้าในยุคปัจจุบัน เทคโนโลยีโลกเสมือนจริงเข้าใกล้ชีวิตประจำวันของเรา
จนบางทีก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาอย่างที่สังคมตั้งรับไม่ทัน และตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือกรณีของเกมโปเกมอนโก ที่ผู้สร้างพยายามนำโลกเสมือนจริงรวมเข้ากับสิ่งแวดล้อมจริง (augmented reality หรือเทคโนโลยี AR) ที่ผู้เล่นต้องเดินไปสถานที่ต่างๆ เพื่อเล่นเกมในโลกเสมือนจริง ปรากฏการณ์เกมโปเกมอนโกนอกจากจะเป็นที่นิยมอย่างสูงแล้ว ก่อให้เกิดคำถามมากมายในสังคม อาทิเช่น ความปลอดภัยและพฤติกรรมการเล่นไม่เหมาะสม จนบางทีลืมกาลเทศะ ข้อมูลล่าสุดที่ขณะที่เขียนบทความนี้ ที่ญี่ปุ่นเองเปิดให้คนได้เล่นเกมส์นี้ได้เพียงสามวันก็มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นแล้วสามสิบหกกรณี ที่เขมรมีการห้ามเล่นเกมในบริเวณทุ่งสังหาร เพราะที่เป็นสถานที่นักท่องเที่ยวควรจะรำลึกถึงความโหดร้ายของสงครามและเพื่อไว้อาลัยแด่ผู้เสียชีวิต ตัวอย่างที่กล่าวมานี้เป็นเพียงปัญหาที่เกิดขึ้นโดยมีต้นเหตุจากกระแสของเกมนี้
แม้ผู้รู้บางท่านนำเสนอความเห็นว่า เกมนี้มันก็แค่เป็นกระแสนิยม เดี๋ยวสักพักก็หายไปเองตามกาลเวลา เฉกเช่นเกมต่างๆที่เคยโด่งดังในอดีต แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่แค่เป็นเรื่องของความฮิตของเกมเพียงเกมหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของเทคโนโลยีของโลกเสมือนจริง ที่จะค่อยๆมีอิทธิพลต่อชีวิตและสังคมของเรา เกมโปเกมอนโกเป็นเพียงการเริ่มต้นของสิ่งใหม่ เป็นสิ่งที่จะตอบสนองความใฝ่ฝัน (fantasy) ของมนุษย์ได้มากขึ้น เพราะเวอร์ชวลเรียลลิตี้สามารถนำมนุษย์เข้าไปสู่อีกโลกหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการจำลองความจริง (เช่นพาเราไปเที่ยวในสถานที่ต่างฯ) หรือเป็นสิ่งเหนือความเป็นจริง (เช่นพาเราไปท่องอวกาศ หรือโลกดึกดำบรรพท่ามกลางไดโนเสาร์) ดังนั้นคำถามที่สำคัญคือ แล้วเวอร์ชวลเรียลลิตี้จะพาสังคมโลกไปไหน? แล้วถ้ามนุษย์ยึดติดกับโลกเสมือนจริงจนลืมโลกแห่งความเป็นจริงแล้วไซ้ อะไรคือคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่จะหลงเหลืออยู่? แล้วเราจะตีความสิ่งที่เราสัมผัสในโลกเสมือนจริงให้สอดคล้องกับความจริง ที่มีความเชื่อ ความหวัง และความรัก-รับใช้ ที่เป็นคุณธรรมหลักของคริสตชนได้อย่างไร? ในท้ายที่สุด คริสต์ศาสนาควรมีคำสอนหรือทัศนคติกับเทคโนโลยีโลกเสมือนจริงนี้อย่างไร?
แม้ทุกวันนี้พระศาสนจักรคาทอลิกยังไม่มีคำสอนอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับโลกเสมือนจริง แต่พระศาสนจักรเองก็มีเอกสารที่เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำสอนเรื่องการสื่อสารทางสังคม (social communication) คำสอนดังกล่าวสามารถสรุปและพอที่จะประยุกต์ใช้เพื่อตอบคำถามข้างต้นได้ดังนี้
1. จงอย่ากลัวเทคโนโลยี
หัวข้อเรื่อง “ศาสนาและวิทยาศาสตร์” นับว่าเป็นเหล้าเก่าในถุงหนังใหม่ ที่ทุกวันนี้ผู้คนยังถามกันอยู่ว่า ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะเป็นปฏิปักษ์กับความเชื่อของพระศาสนจักรหรือไม่? ขอตอบในที่นี้เลยว่า “ไม่” เพราะพระศาสนจักรคาทอลิกเองมีท่าทีและทัศนคติที่เป็นมิตรต่อวิทยาศาสตร์และความก้าวหน้าของมนุษยชาติ ดังเช่นข้อความในเอกสารที่ว่า
“พระศาสนจักรมีความสนใจในอินเทอร์เน็ต เฉกเช่นที่มีความสนใจเป็นพิเศษต่อการสื่อสารสังคม เพราะสื่อดังกล่าวถือกำเนิดตามประวัติศาสตร์แห่งวิทยาการของมนุษย์ ที่ “มีความก้าวล้ำและพัฒนาการต่อไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะในการค้นพบทรัพยากรและคุณค่าที่ดำรงอยู่ในบรรดาสิ่งสร้าง” เช่นนี้แล้ว พระศาสนจักรจึงยึดถือถ้อยคำในสังคายนาวาติกันที่สองที่เห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็น “มหัศจรรย์แห่งการริเริ่มด้านเทคนิค” ที่พยายามจะตอบโจทย์ความต้องการของมนุษย์ และจะดำเนินและพัฒนาต่อไป... พระสันตะปาปาปีโอที่ 12 ทรงดำรัสว่า “พระศาสนจักรเห็นสื่อดังกล่าวเป็นดั่ง ‘พระพรของพระเจ้า’ ตามพระญาณส่อส่องที่พระประสงค์จะรวบรวมมนุษย์ทุกคนให้เป็นพี่น้องกัน เพื่อช่วยเหลือและร่วมมือในแผนการแห่งความรอด”
2. จงใช้เทคโนโลยีให้เป็นคุณ
พระศาสนจักรเสนอว่า เราสามารถใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีสมัยใหม่นี้ได้โดยการประยุกต์ใช้สื่ออินเทอร์เน็ตนี้เพื่อจุดประสงค์แห่งการประกาศพระวรสาร (พระศาสนจักรฯและอินเทอร์เน็ต ข้อ 5) และเพื่อคุณประโยชน์อื่นๆ อาทิเช่น เพื่องานด้านคำสอน การศึกษาเรียนรู้ และงานแพร่ธรรม พระศาสนจักรมีประสงค์ให้ผู้ใหญ่ของพระศาสนจักร บรรดาผู้แพร่ธรรม ครูคำสอน และนักการศึกษาให้สนใจใช้สื่อนี้อย่างมีประโยชน์และมีประสิทธิภาพในงานอภิบาลและงานอื่นๆของพระศาสนจักรเช่นกัน
สรุปได้ว่า พระศาสนจักรมีท่าทีที่เป็น “บวก” ต่อวิทยาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ตามคำกล่าวของเอกสารในข้อที่ 8 ที่ว่า “อย่ากลัวเทคโนโลยีสมัยใหม่ หากแต่จงใช้สิ่งเหล่านั้นอย่างรู้เท่าทัน เพราะเราไม่สามารถปิดกั้นความเจริญของมนุษย์ได้ เราเองต้องพัฒนาตนเองและสังคมอยู่เสมอ เพราะนี่คือพระพรของพระที่มอบสติปัญญาให้แด่มนุษย์เพื่อเขาสามารถที่จะคิดพัฒนาและสรรสร้างสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ”
ความจริงแล้ว เทคโนโลยีโลกเสมือนจริงเริ่มมีการประยุกต์ใช้เพื่อความบันเทิง ดังเช่นในเกมสมัยใหม่ และเพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้ เช่นใช้สอนฝึกนักบิน การแพทย์และพยาบาล ฯลฯ และในวงการกีฬา เช่น ใช้สอนการไดรฟกอล์ฟ ฯลฯ เทคโนโลยีโลกเสมือนจริง จึงยังเปิดโอกาสให้มีการต่อยอดเพื่อประโยชน์ของงานอภิบาล การแพร่ธรรม และใช้สอนคำสอน เรียนพระคัมภีร์ หรือใช้เพื่องานด้านสื่อสารสังคม เพื่อเชื่อมต่อกันและกันในประสบการณ์ด้านศาสนา เพื่อเพิ่มพูนความเชื่อศรัทธาในชีวิตคริสตชน ฯลฯ
3. จงอยู่กับโลกปัจจุบัน (actual reality) ให้มากกว่าโลกเสมือนจริง (virtual reality)
เวอร์ชวลเรียลลิตี้ ถือกำเนินมาจากสองคำในภาษาอังกฤษคือ เวอร์ชวล (Virtual) และ เรียลลิตี้ (Reality)
คำว่า “เวอร์ชวล” มาจากภาษาละติน virtualis หรือ virtus ซึ่งแปลว่า “คงไว้ซึ่งคุณค่า” แต่ในภาษาอังกฤษมีสองความหมายคือ ประการแรกเป็นศัพท์ที่ใช้โดยทั่วไปแปลว่า “ใกล้เคียงกับสิ่งที่อธิบายมา หรือแม้ไม่ใช่แต่ก็ใกล้เคียง” และประการที่สองเป็นศัพท์เฉพาะวงการคอมพิวเตอร์ แปลว่า “ทำให้เสมือนจริง”
หากเราศึกษาพันธกิจและชีวิตงานแพร่ธรรมของพระเยซูคริสตเจ้า เราจะเห็นได้ว่างานหลักของพระองค์คือการประกาศพระอาณาจักรสวรรค์ แม้พระองค์จะทรงกระทำอัศจรรย์บ้าง แต่อัศจรรย์เป็นเพียงเครื่องหมายภายนอกที่อธิบายและยืนยันเครื่องหมายภายในที่มองไม่เห็น แต่เราทุกคนสัมผัสได้คือ การประทับอยู่ของพระเจ้าท่ามกลางมนุษย์ เป็นดั่งพระอาณาจักรสวรรค์ที่มาถึงแล้ว แม้ยังไม่สำเร็จบริบูรณ์
พระเยซูเจ้าและคำสอนเรื่องพระอาณาจักรสวรรค์ ทำให้เราเห็นเป้าหมายของผู้มีความเชื่อ ที่ใกล้เคียงกับความจริงของชีวิตนิรันดร (virtual) พระเยซูเจ้ามักนำนิทานเปรียบเทียบมาอธิบายพระอาณาจักรสวรรค์อยู่เสมอ อาทิเช่น บ้านของพระบิดามีห้องมากมายสำหรับเรา การแยกแกะออกจากแพะ นิทานเรื่องผู้หว่าน ฯลฯ นิทานของพระองค์นำพาให้เราไปสู่จินตนาการ ราวกับเราเป็นส่วนหนึ่งในเรื่องราวในโลกที่พระองค์ทรงสร้างขึ้นมา แต่พระองค์นำเราทุกคนกลับมาที่โลกแห่งความเป็นจริงอยู่เสมอ เพราะในท้ายที่สุด พระองค์ทรงสอนว่าหากเราไม่ปฏิบัติต่อกันในความยุติธรรมและความรัก และให้อภัยแก่กัน เราก็ไม่สามารถมีส่วนในพระอาณาจักรสวรรค์ได้เลย หรือดังเช่นนักเทวศาสตร์มักกล่าวว่า “พระอาณาจักรอยู่ที่นี้แล้ว แต่ยังมาไม่ถึง” (God’s Kingdom is already but not yet) สรุปก็คือ คริสตชนไม่ใช่เป็นผู้ที่อยู่กับความฝันและจินตนาการ แต่เป็นผู้ที่อยู่กับสิ่งปัจจุบันทันด่วน เราไม่ต้องรอผลบุญหรือกรรมดีในชาติหน้า แต่ต้องทำความดี ณ บัดเดี๋ยวนี้ เพราะเรามีชีวิตอยู่แค่ชีวิตเดียว และเป็นชีวิตที่มีความศักดิ์สิทธิ์ เป็นการเดินทางสู่ชีวิตนิรันดร ดังนั้นคำสอนของพระเยซูเจ้าคือการสร้างโลกนี้ให้เป็นดั่งอาณาจักรสวรรค์ ที่มนุษย์ทุกคนปฏิบัติต่อกันด้วยความรัก ดั่งเช่นความรักขององค์พระบิดาเจ้า “จงดีพร้อม ดั่งเช่นพระบิดาของท่านดีพร้อม”
เราเอยคงคุ้นกับประโยคที่ว่า “เงินทองเป็นของนอกกาย แต่ข้าวปลาเป็นของจริง” เปรียบได้กับโลกเสมือนจริงคือมายาภาพและเสียง (ณ ขณะปัจจุบันนี้ แต่ในอนาคตอาจโลกเสมือนจริงอาจจะมีผัสสะอื่นๆเช่น กลิ่นและกายสัมผัส) แต่ของสิ่งที่เป็นของจริงคือคนที่อยู่รอบข้างเรา สภาพสังคมและสิ่งแวดล้อม บางทีคำสอนทางพุทธศาสนาก็มีประโยชน์บ้าง โดยเฉพาะวิธีการการเจริญสติ โดยการตั้งจิตอยู่กับเป็นจริงทุกขณะของชีวิต แต่คำสอนของคริสต์ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงคุณประโยชน์ของการฝึกจิต แต่คริสต์ศาสนามีคำสอนให้เรามองและชื่นชมสิ่งสร้างของพระเจ้า โดยเฉพาะวิถีชีวิตของมนุษย์และความเป็นไปของธรรมชาติ ความเป็นจริงเหล่านอกจากจะมีความสวยงามเพียงใด ชีวิตมนุษย์และธรรมชาติยังเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ยังเป็นสิ่งลี้ลับที่รอให้เรามนุษย์ได้เรียนรู้และค้นพบ... การพยายามรับรู้และสัมผัสความเป็นจริง จนก่อให้เกิดความรู้สึกมหัศจรรย์ใจดังกล่าว สามารถแปลเปลี่ยนเป็นคำอธิฐานและการภาวนาถึงพระผู้ทรงยิ่งใหญ่และเป็นผู้สร้างสรรพสิ่งเพื่อมวลมนุษย์ ในทางตรงกันข้าม หากว่าถ้ามัวยึดมั่นในโลกเสมือนจริงที่มนุษย์สร้างขึ้น ประสบการณ์ดังกล่าวย่อมไม่มีทางเกิดขึ้น
4. โลกเสมือนจริง และความท้าทายด้านงานอภิบาล
ในข้อนี้ผู้เขียนขอมีความคิดฟุ้งซ่านแบบนิยายวิทยาศาสตร์ไปบ้าง... ถ้าในอนาคตอันใกล้ เทคโนโลยีโลกเสมือนจริงมีราคาถูกจนทุกคนจับต้องได้ และมันพัฒนาจนสามารถทำให้ผู้คนรู้สึกว่าเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นรูป รส กลิ่น เสียง และกายสัมผัส ผู้ในระหว่างโลกแห่งความฝันและความจริง คำถามคือ คนที่ใช้โลกเสมือนจริงจำเป็นต้องมีความรับผิดชอบกับพฤติกรรมในนั้นหรือไม่? ตัวอย่างเช่น ถ้ามาคนมาขอแก้บาปเกี่ยวกับความประพฤติทางเพศในโลกเสมือนจริง น้ำหนักความประพฤติของเขาจะเทียบเท่ากับความประพฤติของคนที่ดูรูปลามกหรือสื่ออื่นๆหรือไม่? หรือบางคนมาขอแก้บาปว่าได้ฆ่าคนตายในโลกเสมือนจริง แม้มันจะไม่ใช่ของจริงเพราะเขาไม่ได้ลงมือกระทำกับมนุษย์จริงๆ แต่เขากลับรู้สึกผิดเพราะโลกเสมือนจริงก่อให้เกิดประสบการณ์และเป็นภาพติดตาราวกับว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ เราควรถือว่าเป็นบาปหรือไม่? สิ่งนี้จึงเป็นคำถามทางเทวศาสตน์ด้านศีลธรรมที่พระศาสนจักรควรคิดใคร่ครวญก่อนปรากฏการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นจริง ในอนาคตอันใกล้
หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง ในบางสถานการณ์ที่พระสงฆ์ไม่สามารถไปเยี่ยมผู้ป่วยในโลกพยาบาลได้ และถ้ามีผู้ป่วยขอแก้บาปและรับศีลโดยผ่านทางโลกเสมือนจริงทำจะได้หรือไม่? หรือบางคนไม่สามารถไปร่วมมิสซาได้ แต่ขออนุญาตเข้าไปอยู่ในโลกเสมือนจริง จนราวกลับว่ามีประสบการณ์จริงของการร่วมมิสซาหรือรับศีลมหาสนิทเหมือนคนปกติ คำถามคืออะไรคือความจริงและความเป็นจริงสำหรับคนๆนั้น? อะไรคือความหมายของพระพรและมโนธรรมของมนุษย์ (forum internum) หรือโลกเสมือนจริงจะเปลี่ยนความหมายของพิธีกรรมของคริสตศาสนา ที่มีหลักการอยู่ในเรื่องเครื่องหมายและการแสดงออกของบรรดาสัตบุรุษ (forum externum)? อะไรคือความจริงของความเป็นศาสนิกชน แม้ในการปฏิบัติตามหลักพิธีกรรมในศาสนาอื่นๆ ดังเช่น มีข่าวที่วัดพุทธเขียนประกาศว่า “วัดเป็นเขตอภัยทาน ห้ามจับโปเกมอน” คำถามคือ แล้วการจับสัตว์ในโลกไซเบอร์ในเขตวัด... จะเป็นบาปหรือไม่?
ส่งท้าย...
เทคโนโลยีโลกเสมือนจริงสามารถนำมาใช้เพื่อประโยชน์ของการสื่อสารสังคม (social communication) ตามคำสอนของพระศาสนจักรเรื่องอินเทอร์เน็ต เพื่อใช้เป็นเครื่องมือนำไปสู่ความรู้และคลังสมบัติแห่งภูมิปัญญาของมวลมนุษย์ ในทางตรงข้ามกัน โลกเสมือนจริงก็สามารถนำมาใช้เพื่อแปลกแยกมนุษย์ออกจากสังคม (social alienation) เพื่อนำคนๆหนึ่งเข้าไปสู่จินตนาการและเติมเต็มความใฝ่ฝันที่บางทีโลกแห่งความจริงไม่สามารถมอบให้ได้ จริงอยู่ที่มนุษย์เราทุกคนย่อมมีความฝันและจินตนาการ และนับเป็นสิ่งสวยงามของวิญญาณ แต่ถ้าเรายึดติดกับมันจนกลายไปเป็นความฝันเพ้อ จนลืมหรือไม่อยากจะรับรู้ความเป็นไปของโลกปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่าคนผู้นั้นมีสภาพจิตใจอ่อนแอ และมีแนวโน้มถึงขั้นป่วยทางจิตได้
เทคโนโลยีโลกเสมือนจริงกำลังเข้าใกล้และมีอิทธิพลในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น จนกว่าเราจะรู้ตัว มันอาจจะเปลี่ยนวิธีชีวิตของเราและของโลกปัจจุบันไปแล้วก็เป็นไปได้ ต่อจากเกมโปเกมอนโกก็จะมีเกมใหม่ๆและเทคโนโลยีใหม่ๆเกิดขึ้นตามมาอย่างไม่ต้องสงสัย นอกจากสิ่งนี้จะดึงเราเข้าสู่โลกไซเบอร์มากขึ้น ความบันเทิงหรรษายามที่เราอยู่ในโลกเสมือนจริงก็นับได้ว่าเป็นสิ่งผจญอย่างหนึ่ง ในที่สุดมนุษย์อาจจะเบื่อหน่ายที่จะอยู่ในโลกแห่งความจริงที่ไม่ได้มีแต่ความสุขหรรษาเสมอไป เพราะในชีวิตจริงยอมมีสุขทุกข์ปะปนคลุกเคล้ากันไป แต่ในโลกเสมือนจริงเราสามารถเลือกใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและตื่นเต้นอย่างไร้ขีดจำกัดตามแต่จินตนาการของแต่ละบุคคล… อะไรคือขอบเขตของความสุขเหล่านั้น อะไรคือหลักของศีลธรรม และอะไรคือคุณค่าและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งที่พระศาสนจักรพร่ำสอนเสมอ? สิ่งเหล่านี้เป็นคำถามที่ยังรอคำตอบและเราต้องแสวงหากันต่อไปในเรื่องคำสอนของการใช้ชีวิตอยู่ในโลกเสมือนจริง
“มนุษย์มีสติปัญญาและความรู้ จนสามารถเลียนแบบพระเจ้า” ประโยคที่กล่าวมานี้ไม่ใช่เป็นอะไรที่ใหม่ เพราะเป็นคำถามที่ต้องถูกถามอยู่เสมอๆ เฉพาะในยามที่เทคโนโลยีและพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ส่งผลกระทบต่อคำถามทางศีลธรรม อาทิเช่น คำถามเรื่องการตัดต่อพันธุกรรมหรือการโคลนนิ่งมนุษย์ ฯลฯ ปัญหาสำคัญคือ จริงอยู่ที่วิทยาการปัจจุบันเอื้อให้มนุษย์กระทำอะไรก็ได้ จนราวกลับว่ามนุษย์มีอำนาจของพระเจ้า อำนาจแห่งการสร้างชีวิตและการสร้างโลก (เสมือนจริง) แต่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นยังเป็นปริศนา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาจจะเป็นคุณประโยชน์หรือจะทำลาย ไม่ใช่แค่มวลมนุษยชาติแต่รวมถึงสภาพแวดล้อมและสิ่งสร้างอื่นๆของพระเจ้า เพราะหากมนุษย์สักแต่ว่าจะทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ แต่ไร้ความรับผิดชอบหรือปฏิเสธที่จะยึดตามหลักคำสอนของศาสนาแล้วไซ้ วิทยาศาสตร์ก็จะเห็นมนุษย์เป็นแค่ตัวแปรหนึ่งของสมาการและตัวเลข คุณค่าและศักดิ์ศรีความมนุษย์ก็จะถูกละเลยไป.. นี้เป็นคำสอนประการหลักที่พระศาสนจักรกำลังบอกให้กับโลกปัจจุบันของเรา.
อ้างอิงจาก
The Church and Internet, Pontifical Council for Social Communication, 2002
Oxford Advanced Leaner’s Dictionary 8th Edition
Father M
Written by
บาทหลวง วรวุฒิ สารพันธุ์ C.Ss.R. JCL
Catholic Priest & Canonist
Author & Administrator
Faith4Thai.com
*juris canonici licentiatus
หรือ JCL เป็นปริญญาทางกฏหมายพระศาสนจักร
Email:
FaceBook: Worawut Saraphan
Iine ID: mcssrsp
โลกเสมือนจริง กับความท้าทายในความเชื่อ
บทความที่เกี่ยวข้อง
- คำศัพท์คริสต์ ในภาพยนต์ต่างประเทศ
- คำสอนเรื่องแม่พระ ของมาร์ตินลูเธอร์
- การแต่งงานที่เป็นโมฆะ ตามคำสอนคาทอลิก
- เสียงเพรียก จากพระเจ้า
- กฎนี้เพื่อความรอดของวิญญาณ
- ปัญหาการอภิบาล แก่คาทอลิกที่หย่าร้างและแต่งงานใหม่
- ภาวนาแบบนักบุญอัลฟอนโซ
- 3P หัวใจของการภาวนา
- การสวดภาวนาสำคัญอย่างไร?
- การแต่งงานแบบคาทอลิก (ตามหลักกฎหมายพระศาสนจักรคาทอลิก)
- พระคัมภีร์ไบเบิ้ล ไม่ได้ตกจากสวรรค์
- แกะดำ
- พระเยซูก็เศร้าเป็น
- นพวารแด่ดวงพระหฤทัยของพระเยซูเจ้า
- คำสอนเรื่องดวงพระหฤทัยอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้า
- อย่าท้อแท้ที่จะทำความดี
- รักพระ ให้มากกว่าครอบครัว หมายถึงอะไร?
- Discernment 01: ความหมายของ “การพิจารณาไตร่ตรอง”
- Discernment 02: แบบอย่างของนักบุญอิกญาซิโอ แห่งโลโยลา
- Discernment 03: ปัจจัยของการพิจารณาไตร่ตรอง ความคุ้นเคยกับองค์พระเจ้า