Skip to main content

เสียงเพรียก จากพระเจ้า

บทความ, ชีวิตฝ่ายจิต

godcalling

 

ซามูเอลจึงกลับไปนอนในที่ของตน องค์พระผู้เป็นเจ้าเสด็จมาประทับที่นั่น

ตรัสเรียกเช่นครั้งก่อนว่า “ซามูเอล ซามูเอล” ซามูเอลทูลตอบว่า “ตรัสมาเถิด ผู้รับใช้ของพระองค์กำลังฟังอยู่” (1 ซมอ 3:3-10,19)

คำสอนเรื่องเสียงเรียกจากพระเจ้า หรือ “พระกระแสเรียก” (vocation) หรือคำสอนหลักแห่งชีวิตคริสตชน เพราะสำหรับเราผู้มีความเชื่อ ความหมายของชีวิตคือ การแสวงหา เรียนรู้ และเข้าใจน้ำพระทัยของพระ ในทุกๆ ขณะจังหวะของชีวิต

ดังคำกล่าวที่ว่า “หากคว่ำแก้วน้ำไว้กลางสนามหญ้า แม้ฝนจะตกตลอดค่ำ น้ำก็มิสามารถถูกกักในแก้วน้ำนั้นได้” ซึ่งเปรียบได้กับใจของมนุษย์ หากเขามีใจที่ปิดกั้นต่อเสียงเรียกของพระ เขาก็มิอาจจะสดับรับพระวาจานั้นได้เลยในชีวิต

หากจะพิจารณาเรื่องของ “เสียง” (the voice) และ “การเพรียกร้องจากพระเจ้า” (the call) ดังนี้

 

เสียงทั้งสองระดับ

ระดับที่หนึ่ง คือเสียงจากภาพนอก (the external voice)
นั่นคือเสียงต่างๆ ที่เราสดับรับฟัง เสียงดังกล่าว อาจจะเรียบง่าย ตรงประเด็น อาทิเช่น ข้อความที่เรารู้สึกประทับใจจากการอ่านพระคัมภีร์ อ่านบทความที่สร้างแรงบันดาลใจ ฟังเพลงเพราะที่มีความหมาย เสียงดังกล่าวจึงเกิดจากการรับฟังจากใบหู แต่มันยังก้องในหัวใจ... ซึ่งเป็นอีกหนึ่งระดับ

 

ระดับที่สอง คือเสียงที่เกิดจากภายใน (the inner voice)
เสียงอาจจะผ่านมา เข้าหูซ้ายแล้วทะลุหูขวา เป็นเราเองที่เลือกที่จะใส่ใจกับมันหรือไม่ แต่มีบางเสียงที่เมื่อเรารับฟัง รับรู้ มันยังก้องอยู่ในใจของเรา และเสียงนี้เองคือสิ่งที่เรียกว่า เสียงภายใน... ความเปลี่ยนแปลงในชีวิต และพระกระแสเรียกที่เกิดขึ้น จำต้องเกิดจากภายนอกและภายใน แต่เป็นเสียงภายใน ที่กระตุ้นให้เราทำสิ่งที่ดีงาม หรือตัดสินใจที่จะปฏิบัติตน ตามน้ำพระทัยของพระเจ้า

 

 godcalling

 

 

เสียงเพรียกร้องจากพระเจ้า มีอยู่ด้วยกันสามระดับ


“การเพรียก” ต่างกับ “การเรียก” ตรงที่ การเพรียกคือเสียงที่ร้องเรียกอย่างไม่หยุดหย่อน เป็นพระเจ้าที่ทรงเพรียกร้องในหัวใจของเราอย่างไม่หยุดหยอนนั้นเอง

ระดับที่หนึ่ง “เสียงเพรียกสู่การดำรงชีวิต” (a call to live)
พระเจ้าทรงเรียกเราให้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข แต่นิยามของความสุขแท้ และสุขจอมปลอมนั้นต่างกัน บางคนอาจจะมีเงินทองล้นฟ้า มีอำนาจบารมีล้นเหลือ หากแต่ในใจนั้นว่างเปล่าและปราศจากความสุขยิ่งนัก เสียงเพรียกสู่การดำรงชีวิต จึงเป็นพื้นฐานของชีวิตคริสตชน คือ การมีความสุขที่เกิดจากการทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้า ที่พระองค์ต้องการให้มนุษย์มีความสุข ในการเลือกที่จะใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า เพื่อตนเอง เพื่อคนอื่น เพื่อสังคมและโลก ความศักดิ์สิทธิ์ก็คือการใช้ชีวิตอย่างเป็นมนุษย์แท้ (อย่างพระเยซูเจ้าเป็นแบบอย่าง) หาใช่แสดงตนเป็นเทวดาเดินดิน... หากแต่เป็นคนบาป ที่พยายามปรับปรุงตนและสำนึกผิดอยู่เสมอ ดังนั้น ทุกกระแสเรียก ทุกสถานภาพ ทุกอาชีพ ต่างถูกเรียกให้ดำรงตนอย่างศักดิ์สิทธิ์

 

ระดับที่สอง “เสียงเพรียกสู่ความรักและให้อภัย” (a call to love and forgiving)
ในคุณธรรมของคริสตชน ความรักอยู่ควบคู่กับการให้อภัยอยู่เสมอ เป็นพระที่ทรงเรียกร้องในหัวใจของเราอยู่เสมอ อย่างไม่หยุดหย่อน ให้เรารักพระองค์และรักเพื่อนมนุษย์ หากแต่ความรักของมนุษย์เป็นรักที่มีเงื่อนไข เงื่อนไขของผลประโยชน์ เงื่อนไขที่จะได้รับความรักตอบแทน ฯลฯ ดังนั้นความรักและการให้อภัยอย่างไม่มีเงื่อนไข จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับชีวิตคริสตชนอย่างแท้จริง

ระดับที่สาม “เสียงเพรียกสู่สันติ” (a call to peace)
สันติเกิดจากผลของการปฏิบัติตามตามเสียงเรียกในระดับหนึ่งและสอง สันติที่ว่าไม่ใช่สันติที่อยู่ภายนอก แต่เป็นสันติแห่งมโนธรรมของเราแต่ละคน เพราะตราบใดโลกยังดำรงอยู่ในความสับสนวุ่นวายด้วยภาระ หน้าที่ ความรับผิดชอบ ชีวิตก็หามีสันติไม่ จะมีสิ่งที่ต้องทำและปัญหาที่ต้องแก้ไขอยู่เสมอ แต่ถ้าเราทำทุกอย่างตามมโนธรรมที่อยู่ในใจของเรา เลือกที่จะดำเนินชีวิตอย่างดี รับผิดชอบต่อหน้าที่ต่างๆ เท่าที่เราสามารถทำได้ (a call to live) พยายามที่จะนำความรักและการให้อภัยมาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในชีวิตประจำวัน (a call to love and forgiving) บางที พระจะประทานสันติสุขในจิตใจของเรา (a call to peace) เพราะมีเพียงสันตินิรันดรในสวรรค์เท่านั้น คือ สันติสุขที่แท้จริง แต่นั้นคือปลายทางแห่งเสียงเรียกของพระ ที่ประสงค์ให้มนุษย์ทุกคนกลับไปหาพระองค์… สู่สันติสุขนี้อันเป็นนิรันดร์

godcalling th

 

Written by 
บาทหลวง วรวุฒิ สารพันธุ์ C.Ss.R. JCL


Catholic Priest & Canonist
Author & Administrator
Faith4Thai.com

*juris canonici licentiatus
หรือ JCL เป็นปริญญาทางกฏหมายพระศาสนจักร

Email: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
FaceBook: Worawut Saraphan
Iine ID: mcssrsp


บทความที่เกี่ยวข้อง