คำสอน
"การพิจารณาไตร่ตรอง"
(Catechesis on Discernment)
"การพิจารณาไตร่ตรอง"
(Catechesis on Discernment)
Discernment 01: ความหมายของ “การพิจารณาไตร่ตรอง”
1. ความหมายของ “การพิจารณาไตร่ตรอง”
(What does it mean to discern?)
ปาฐกถาโดยพระสันตะปาปาฟรังซิส วันพุธที่ 31 สิงหาคม 2022
ถอดความโดย คพ. วรวุฒิ สารพันธุ์ C.Ss.R.
พี่น้องชายหญิงที่รัก ขอให้ท่านมีวันที่ดีในศีลในพรของพระเจ้า
วันนี้เราจะมาเริ่มซีรีส์เกี่ยวกับคำสอนใหม่ เราเพิ่งจบเกี่ยวกับคำสอนในช่วงเวลาที่ผ่านมา แต่ในวันนี้เราจะเริ่มคำสอนเกี่ยวกับ “การพิจารณาไตร่ตรอง” (Discernment) เป็นการกระทำที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับทุกคน เพราะการตัดสินใจเป็นแก่นสำคัญของชีวิต เราตัดสินใจพร้อมกับไตร่ตรอง ตัวอย่างเช่น เราเลือกที่จะรับประทานอาหาร เลือกเสื้อผ้านุ่งห่ม เลือกคอร์สที่จะเรียน เลือกอาชีพการงาน เลือกคนที่เราจะปฏิสัมพันธ์กับผู้คน เป็นโครงการของชีวิตที่เราตระหนักอยู่เสมอ แม้กระทั่งในเรื่องของความสัมพันธ์กับ พระเป็นเจ้าอย่างเป็นรูปธรรม
ในพระวรสาร พระเยซูเจ้าพูดถึงการพิจารณาไตร่ตรองจากนิทานเปรียบเทียบ อาทิเช่น พระองค์อธิบายถึงชาวประมงที่คัดปลาดีออกมาและทิ้งปลาที่ไม่ดีออกไป พระองค์พูดถึงพ่อค้าที่รู้จักแยกไข่มุกที่ดีออกจากไข่มุกอื่นๆ หรือคนที่กำลังขุดไถดินและพบขุมทรัพย์ที่อยู่ที่นั่น (มธ. 13,44-48)
จากตัวอย่างข้างต้น การพิจารณาไตร่ตรองหมายถึง การใช้สติปัญญา และเป็นทักษะของเจตจำนงที่เราเลือกที่จะฉวยโอกาสนั้นไว้ ดังนั้นการตัดสินใจที่ดีและถูกต้อง เป็นการใช้ทั้งสติปัญญาทักษะและเจตจำนง และเพื่อให้การตัดสินใจนั้นมีประสิทธิภาพ แต่เราเองจำต้องลงทุนลงแรงด้วยเช่นกัน เป็นดังชาวประมงที่ต้องทำงานหนัก พวกเขาหาปลาทั้งคืน แม้หาปลาได้แล้วก็ต้องทิ้งบางส่วนไป พวกเขากล้าที่จะยอมรับความเสี่ยง เพื่อที่จะแสวงหาปลาที่ดี สำหรับพ่อค้าที่ค้นพบไข่มุกเม็ดงามเขาไม่ลังเลเลยที่จะขายทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อระดมทุนและซื้อมัน และสำหรับคนที่ค้นพบขุมทรัพย์โดยบังเอิญในทุ่งนา มันเป็นช่วงเวลาแห่งหัวเลี้ยวหัวต่อสำหรับเขา ที่จะต้องตัดสินใจโดยทันทีทันใด
โดยไม่มีใครหยิบยื่นโอกาสให้ พวกเขาได้ตัดสินใจด้วยตัวเองอย่างเป็นผู้ใหญ่ เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่งแล้ว แม้เราจะฟังคำแนะนำจากใครต่อใครและแม้จะคิดทบทวนแล้ว เป็นตัวเราเองที่ต้องตัดสินใจ เราไม่สามารถพูดได้ว่า “เหตุที่ฉันสูญเสีย เป็นเพราะการตัดสินใจของสามี-ภรรยา หรือพี่น้องของฉัน” ไม่เลย เป็นเราเองที่ต้องตัดสินใจ เราแต่ละคนจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้การไตร่ตรอง เพื่อที่เราจะสามารถตัดสินใจ ได้อย่างดี และนี่เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งยวด
พระวรสารได้นำเสนอแนะมุมมองที่สำคัญเกี่ยวกับการพิจารณาไตร่ตรอง ซึ่งเป็นเรื่องของอารมณ์และความรู้สึก คนที่ค้นพบขุมทรัพย์แล้ว เขาจะไม่ลังเลเลยที่จะขายทุกสิ่งด้วยความเบิกบานใจ (มธ. 13,44) นักบุญมัทธิวได้ชี้ถึงความเบิกบานใจที่วิเศษสุดที่ไม่มีใครจะมอบให้ได้ และท่านนักบุญใช้ประโยคนี้บ่อยๆด้วยในพระวรสารของท่าน เป็นความยินดีที่ได้พบกับพระเป็นเจ้า เฉกเช่นกับบรรดาโหราจารย์ที่ได้เดินทางไกล มาด้วยความยากลำบาก เพื่อที่จะได้พบดวงดาวของพระผู้ไถ่ (มธ. 2,10) เป็นความยินดีของบรรดาสตรีที่กลับมาจากหลุมศพอันว่างเปล่า หลังจากที่พวกเธอได้ยินคำกล่าวของทูตสวรรค์เรื่องการกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้า (มธ 28,8) เป็นความยินดีที่พวกเราได้พบพระอาจารย์เจ้า การตัดสินใจที่ดีและถูกต้องจะนำเราไปสู่ความยินดีเสมอ แม้ในระหว่างทางนั้นเราอาจจะต้องทุกข์ใจ เพราะความรู้สึกที่ ไม่แน่นอน ทั้งในด้านความคิดและการแสวงหา แต่ในท้ายที่สุด การตัดสินใจที่ถูกต้องจะทำให้เราได้รับ การอวยพรแห่งความยินดีเบิกบานใจ
ในวันพิพากษาประมวลพร้อม พระเป็นเจ้าเองก็จะทรงใช้การพิจารณาไตร่ตรอง นี่เป็นการพิจารณาไตร่ตรองอันยิ่งใหญ่ของพระเป็นเจ้าสำหรับพวกเราแต่ละคน เรื่องอุปมาของชาวไร่ ชาวประมงและพ่อค้า เป็นตัวอย่างที่ดีของพระอาณาจักรสวรรค์ เป็นพระอาณาจักรที่แสดงให้เห็นธรรมชาติของมนุษย์ที่เราต้องยืนหยัดในชีวิตประจำวัน จึงมีความจำเป็นสำหรับพวกเรา ที่จะสามารถพิจารณาและไตร่ตรองเองได้ เพราะบางที การตัดสินใจที่ดีก็เกิดมาจากสถานการณ์ที่เราอาจไม่ได้ใส่ใจ แต่มันกลับกลายเป็นเรื่องหัวเลี้ยวหัวต่อในชีวิต ที่เราต้องตัดสินใจอย่างเด็ดขาด ดังเช่นตัวอย่างในพระวรสาร ในตอนที่แอนดรูว์และ ยอห์นพบกับพระเยซูเจ้า พวกเขาเริ่มถามพระองค์ด้วยประโยคง่ายๆว่า “พระองค์พำนักอยู่ที่ไหน” และพระเยซูทรงตอบว่า “มาดูเองเถิด” (ยน. 1,38-39) ด้วยการแลกเปลี่ยนคำพูด กลับกลายเป็นการเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ และเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของชีวิต สำหรับนักบุญยอห์นแล้ว ท่านระลึกถึงการพบพระเยซูเจ้าในครั้งนี้อยู่ตลอดเวลา เพราะชีวิตของท่านได้เปลี่ยนไปตลอดกาล ท่านจำได้ดีว่าเป็นเวลาสี่นาฬิกาในตอนบ่าย (ยน. 1, 4) เป็นช่วงเวลาสั้นๆแต่มีผลอยู่ตลอดนิรันดร เป็นเวลาที่ท่านนักบุญตัดสินใจได้ถูกต้อง เพราะเป็นเวลาที่น้ำพระทัยของพระเป็นเจ้าตรงกับน้ำใจของท่าน เป็นเวลาที่หนทางปัจจุบันนำสู่หนทางแห่งชีวิตนิรันดร เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องโดยผ่านการพิจารณาและไตร่ตรอง เป็นเวลาที่นำสู่นิรันดรภาพ
เพราะเหตุนี้เอง ความรู้ (knowledge) ประสบการณ์ (experience) อารมณ์ความรู้สึก (emotion) และเจตจำนงเสรี (will) เป็นองค์ประกอบที่ละเลยไม่ได้สำหรับการพิจารณาและไตร่ตรอง และในการสอนคำสอนแล้ว เราจะละเลยสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เลย
ตามที่พ่อได้กล่าวมาขั้นต้น เราต้องทำงานอย่างหนักเพื่อที่จะพิจารณาไตร่ตรองในเรื่องใดก็ตาม พระวรสารสอนให้พวกเรารู้จักการใช้ชีวิต เพื่อที่เราจะสามารถตัดสินใจได้อยู่ตลอดเวลา เพราะไม่มีสูตรสำเร็จในการตัดสินใจนี้ แต่ขึ้นอยู่กับความเป็นจริงที่เราเผชิญในชีวิต พระเป็นเจ้าเชิญชวนให้พวกเราทำ การประเมินและทำการเลือกอยู่เสมอ พระองค์สร้างให้เรามีอิสระที่จะทำตามน้ำใจของเรา ด้วยเหตุนี้ การพิจารณาและไตร่ตรองจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
เรามนุษย์ล้วนมีประสบการณ์ชีวิตคล้ายกัน ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ดีหรือไม่ดีก็ตาม แม้เรารู้ว่าเป็นสิ่งที่ดีแต่เราก็ไม่เลือกมัน มนุษย์นั้นต่างจากสัตว์ เพราะบางครั้งเราก็เลือกทำผิด แม้เรารู้ว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกต้องแต่เราก็เลือกที่จะไม่ทำ ในพระคัมภีร์ปฐมกาล พระเป็นเจ้าได้ให้คำแนะนำอย่างชัดเจนแก่อาดัมและเอวาแล้วว่า ถ้าพวกเขาต้องการจะมีชีวิตอยู่และมีความสุข จงระลึกเสมอว่าพวกเจ้าเป็นสิ่งสร้างของพระเจ้า จึงไม่จำเป็นที่จะต้องตระหนักรู้ถึงความดีและความชั่ว และถ้าเจ้าเลือกที่จะทำตรงกันข้ามเจ้าก็จะรับผลของการกระทำ และผลของการกระทำนี้ จะส่งผลต่อผู้อื่นและโลกใบนี้ (ปฐก. 2,16-17) พวกเขาสามารถทำให้โลกนี้เป็นสวนแห่งสวรรค์อันสวยงาม หรือจะทำให้เป็นถิ่นทุรกันดารแห่งความตายก็ได้ ประเด็นไม่ใช่อยู่ที่บทสนทนาระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ แต่ประเด็นอยู่ที่ ถ้าพระเป็นเจ้าได้มอบพันธกิจให้กับมนุษย์ พวกเขาต้องทำตามพันธกิจนั้น พวกเขาต้องตัดสินใจในชีวิต เพราะการพิจารณาไตร่ตรองเป็นเรื่องของสติปัญญาและหัวใจที่ต้องทำงานร่วมกันก่อนที่จะต้องตัดสินใจ
การพิจารณาและไตร่ตรองจะเกิดขึ้นได้เมื่อเราได้ใช้ชีวิตอย่างแท้จริง ในการใช้ชีวิตนี้หมายถึง การรู้จักตัวเอง รู้จักว่าอะไรดีสำหรับเราในที่นี้และ ณ ขณะนี้ แต่เหนือสิ่งอื่นใด เราต้องการความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับพระเป็นเจ้า พระเจ้าพระบิดาไม่ได้ทิ้งพวกเราให้อยู่อย่างเดียวดาย พระองค์ปรารถนาที่จะให้คำแนะนำ ให้กำลังใจ พระองค์ไม่ทรงยัดเยียดน้ำพระทัยของพระองค์ให้กับพวกเรา ทำไมนะหรือ? เพราะพระองค์ทรงปรารถนาให้เรารักและไม่รู้สึกกลัวพระองค์ พระองค์เห็นเราเป็นลูกไม่ใช่ทาส เป็นลูกที่มีหัวใจอิสระที่จะรักและมีชีวิตอยู่อย่างเสรีภาพ เราต้องเรียนรู้ที่จะดำเนินชีวิตอยู่ในความรัก เพราะความรักเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพิจารณาไตร่ตรอง จงทำให้ชีวิตเป็นสัญลักษณ์ของความรักที่ยิ่งใหญ่ เป็นความรักแบบเป็นผู้ใหญ่ ให้พวกเราวอนขอพระจิตเจ้าทรงนำทางชีวิตของเรา ให้พระองค์อยู่กับพวกเราในทุกๆวัน โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เราเลือกตัดสินใจในชีวิต พ่อขอขอบคุณทุกท่านในวันนี้
Discernment 01: ความหมายของ “การพิจารณาไตร่ตรอง”
Discernment 02: แบบอย่างของนักบุญอิกญาซิโอ แห่งโลโยลา
- Discernment 01: ความหมายของ “การพิจารณาไตร่ตรอง”
- Discernment 02: แบบอย่างของนักบุญอิกญาซิโอ แห่งโลโยลา
- Discernment 03: ปัจจัยของการพิจารณาไตร่ตรอง ความคุ้นเคยกับองค์พระเจ้า
- Discernment 04: ปัจจัยของการพิจารณาไตร่ตรอง การรู้จักตัวเอง
- Discernment 05: ปัจจัยของการพิจารณาไตร่ตรอง ความปรารถนา
- Discernment 06: ปัจจัยของการพิจารณาไตร่ตรอง หนังสือแห่งชีวิตของตน
- Discernment 07: หัวข้อของการพิจารณาไตร่ตรอง ความเปล่าเปลี่ยวใจ