Skip to main content

บทที่ 18 พระเยซูถูกจับขึ้นศาล

พระวรสารตอนที่เล่าเหตุการณ์เกี่ยวกับการจับกุมพระเยซู การขึ้นศาล การตัดสินคดี ตลอดจนเหตุผลที่อยู่เบื้องหลัง มีความสับสนมาก และเรารู้สึกด้วยว่า บุคคลต่างๆ ที่อยู่ในเหตุการณ์เองก็สับสนมากด้วย

1. ข้อกล่าวหาพระเยซู

          เพื่อจะเห็นภาพชัดเจนขึ้นบ้าง เราต้องแยกองค์ประกอบสําคัญออกมา ๓ อย่าง อย่างแรกคือข้อกล่าวหาที่อาจจะนําขึ้นมาอ้างได้ อย่างที่สองคือข้อกล่าวหาที่ใช้จริงในการฟ้องศาล  และอย่างที่สามคือเหตุผลที่แท้จริงที่พระเยซูถูกกําจัด จริงๆแล้วผู้เขียนพระวรสารทั้ง ๔ ตระหนักถึงองค์ประกอบทั้งสามดังกล่าวอย่างชัดเจน เช่นพระเยซูอาจถูกตั้งข้อกล่าวหาว่า จงใจละเมิดวันพระเจ้า หรือใช้ไสยศาสตร์(ไล่ผีด้วยอํานาจของซาตาน) ในความเป็นจริงพระเยซูถูกตั้งข้อกล่าวหาอ้างตนเป็นเมสสิยาห์(กษัตริย์) และเหตุผลแท้จริงที่พระเยซูถูกกำจัดคือ ความอิจฉา (มก.๑๕,๑๐;มธ.๒๗,๑๘)  แต่เป้าหมายของการเขียนพระวรสารทําให้ผู้เขียนพระวรสารไม่แยกสามส่วนนี้ จึงมีการปะปนกันไปมา สิ่งที่อาจตั้งเป็นข้อกล่าวหา ได้กลายเป็นข้อกล่าวหาจริง (เช่นการพูดจาดูหมิ่นพระเจ้า มก.๑๔,๖๔) และข้อกล่าวหาที่ตั้งจริง กลายเป็นเหตุผลที่อยู่เบื้องหลัง (เช่นการอ้างตัวเป็นกษัตริย์  มก.๑๔,๖๒-๖๔)  ผลก็คือเกิดความสับสนเป็นอย่างยิ่ง

          อีกอย่างหนึ่งที่เราต้องแยกให้ชัดเจนก็คือ บทบาทของผู้นําชาวยิว และบทบาทของผู้ว่าราชการโรมัน ในขณะนั้นมีอยู่ ๒ ศาล คือสภาซันเฮดริน หรือศาลยิว อันประกอบด้วยเจ้าคณะสงฆ์ หัวหน้าสงฆ์ ๗๐ คน พวกผู้หลักผู้ใหญ่และคัมภีราจารย์ และศาลโรมัน อันมีผู้ว่าราชการปิลาตเป็นประธาน พระเยซูถูกจับขึ้นศาลโรมัน และถูกศาลโรมันตัดสินประหารชีวิต แต่ผู้เขียนพระวรสาร(และคริสตชนรุ่นแรกๆ) พยายามยํ้าให้เห็นชัดเจนว่า ถึงกระนั้นก็ดี พวกผู้นําชาวยิวมีความผิดมากกว่าพวกโรมัน เราเห็นว่าถูกต้อง แต่วิธีอธิบายของผู้เขียนพระวรสาร ทําให้ผู้อ่านงุนงงและสับสน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทําให้ผู้อ่านเข้าใจว่า ตอนที่ผู้นําชาวยิวสอบสวนพระเยซูเป็นตอนที่ขึ้นศาลจริง

          จุดประสงค์ของผู้เขียนพระวรสาร ไม่ใช่ต้องการจะบิดเบือนความจริงทางประวัติศาสตร์ แต่ต้องการทําให้ผู้อ่านเห็นชัดว่า แม้ภาพปรากฏภายนอกเป็นอย่างหนึ่ง แต่ความจริงเบื้องหลังเป็นอย่างไร ดูผิวเผินต้องโทษว่าพวกโรมัน แต่ในความเป็นจริงต้องโทษว่าพวกผู้นําชาวยิวมากกว่า ทั้งนี้ไม่ใช่เนื่องมาจากลัทธิต่อต้านยิว หรือเพราะความนิยมโรมัน แต่เป็นความรู้สึกผิดหวังของคริสตชนรุ่นแรกที่เห็นว่า ชาติยิวไม่น่าจะปฏิเสธและทําลายพระเยซูเลย(ซึ่งถ้าสมมุติพระเยซูไปเกิดในชาติอื่น ก็อาจเกิดเรื่องเช่นเดียวกัน ไม่ใช่จงใจอยากกล่าวหาชาติยิว)

2. เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงเป็นอย่างไร ?

          พระเยซูถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยข้อหาว่า อ้างตนเป็นเมสสิยาห์ หรือกษัตริย์ของชาวยิว ปิลาตถามพระเยซูเรื่องนี้เรื่องเดียว และป้ายแจ้งความผิดบนไม้กางเขนก็บอกแค่นี้ เรื่องอื่นเป็นเพียงความเป็นไปได้ สภาซันเฮดรินอาจตั้งข้อหาว่า พระเยซูเป็นอาจารย์เทียม เป็นประกาศกปลอม หรือพระเยซูจงใจละเมิดวันพระ หรือใช้ไสยศาสตร์ คริสตชนรุ่นแรกคิดว่า พวกยิวที่ไม่ยอมรับพระเยซู ได้กล่าวหาว่าพระเยซูดูหมิ่นพระเจ้าโดยอภัยบาป (มก.๒,๗) และโดยอ้างตัวเป็นเมสสิยาห์ อ้างตัวเป็นบุตรพระเจ้า(มก.๑๔,๖๑-๖๔) ซึ่งเป็นการตีตนเสมอพระเจ้า (ยน.๕,๑๘; ๑๐,๓๓; ๑๐,๓๖; ๑๙,๗)  คริสตชนรุ่นแรกคิดว่า   นี่เป็นข้อกล่าวหาที่ถูกนําขึ้นมาพิจารณาในสภาซันเฮดริน   หรือไม่ก็เป็นเหตุผลที่ขอให้ปิลาตประหารชีวิตพระเยซู (ยน. ๑๙,๗)

          ตามคําเล่าของลูกา พวกยิวกล่าวหาว่าพระเยซูเป็นกบฏ และยุยงประชาชนไม่ให้เสียภาษีแก่จักรพรรดิ์ซีซาร์ (ลก.๒๓,๒) ในแง่หนึ่งกิจกรรมและคําสอนของพระเยซู อาจถือได้ว่าเป็นการบั่นทอนความมั่นคงของข้อตกลงทางการเมือง เพราะพระเยซูต้องการเปลี่ยนสังคมตั้งแต่ยอดจรดฐาน ส่วนเรื่องเสียภาษีนั้น เราพูดมาแล้วข้างต้นว่าพระเยซูเลี่ยงไม่เข้าข้างใด เพราะมันไม่ใช่ปัญหา

          ถึงแม้จะมีข้อกล่าวหาที่เป็นไปได้หลายประการ ในความเป็นจริง สภาซันเฮดรินไม่ได้พิจารณาคดีนี้ และศาลโรมันได้ตัดสินคดีตามข้อหาว่า พระเยซูอ้างตนเป็นกษัตริย์ของชาวยิว ทําไมจึงเป็นเช่นนั้น ? และมีเหตุผลอะไรอยู่เบื้องหลัง ?

          ปิลาตเป็นผู้ว่าราชการที่มีความโหดเหี้ยมมาก เขาเคยหาทางยั่วยุชาวยิว และเมื่อมีชาวยิวประท้วงหรือลุกฮือขึ้น เขาจะสั่งให้ทหารล้อมไว้แล้วฆ่าเสีย ชาวยิวบางคนที่ถูกจับในข้อหากบฏจะถูกฆ่าโดยไม่มีการขึ้นศาล นักปรัชญาชาวยิวร่วมสมัยพระเยซู ชื่อฟิโล บันทึกไว้ว่า ปิลาตเป็นคนที่ไม่มีการผ่อนปรน ตามใจตัวเองและก้าวร้าวดุดัน อาชญากรรมของปิลาตมีหลายอย่างเช่น รับสินบน เผด็จการ ปล้นสดม โหดร้ายรุนแรง หลอกลวง ประหารชีวิตนักโทษโดยไม่ขึ้นศาล และทําทารุณ

          ภาพพจน์นี้ ตรงกับที่ปรากฏในเหตุการณ์ ๓ อย่างที่นักประวัติศาสตร์ชาวยิวร่วมสมัยชื่อโจเซฟุสได้บันทึกไว้ เหตุการณ์แรกคือเรื่องตราจักรพรรดิ์โรมัน ซึ่งเป็นโลหะหล่อหรือแกะสลัก มีรูปของจักรพรรดิ์และสัญญลักษณ์อื่นๆ ประดับอยู่ปลายเสา ชาวยิวถือว่าตราแบบนี้ขัดกับพระบัญญัติที่ห้ามทํารูปปั้นหรือรูปแกะสลักต่างๆ  แต่ปิลาตก็ออกคําสั่งให้เอาตรานี้ไปประดิษฐานไว้ในเมืองเยรูซาเลม ทั้งๆที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ประชาชนประท้วงและขอให้ปิลาตเอาตรานี้กลับไป ปิลาตปฏิเสธ และสั่งให้ทหารล้อมไว้ พวกชาวยิวไม่ต่อสู้แต่พร้อมที่จะตายเพื่อศาสนา ปิลาตจึงไม่ได้สั่งให้ฆ่า เพราะถ้าฆ่าประชาชนที่ยืนสงบนิ่ง คงจะไม่เป็นผลดีทางการเมือง เหตุการณ์ที่สอง เป็นเรื่องที่ปิลาตสั่งให้ใช้เงินของพระวิหารไปสร้างทางส่งนํ้า ประชาชนไม่พอใจจึงเกิดการปะทะกัน ปิลาตให้ทหารล้อมประชาชนไว้แล้วสั่งให้ทุบตี หลายคนถูกฆ่าตาย และอีกจํานวนมากบาดเจ็บสาหัส เหตุการณ์ที่สาม คือเรื่องของชาวแคว้นสะมาเรียกลุ่มหนึ่ง ที่ขึ้นไปชุมนุมกันบนยอดเขาการิซิม เพื่อขุดค้นหาภาชนะศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเชื่อกันว่าโมเสสได้ซ่อนไว้ ไม่มีอะไรที่ส่อว่าเป็นเรื่องวุ่นวายหรือมีเจตนาร้าย แต่ปิลาตสั่งให้ทหารฆ่าตายหมด  เหตุการณ์ครั้งนี้ทําให้ปิลาตต้องถูกเรียกตัวกลับกรุงโรม

          ปิลาตกลัวการชุมนุมของชาวยิว ไม่ว่าชาวยิวหรือชาวสะมาเรีย ชุมนุมเพื่อทําอะไรบางอย่างร่วมกัน ปิลาตจะต้องสงสัยไว้ก่อนว่า อาจมีการก่อกบฏ ในพระวรสารมีพูดสั้น ๆ เกี่ยวกับปิลาตในภาพพจน์เช่นเดียวกันนี้"...ชาวแคว้นกาลิลีที่ปิลาตได้ให้เทเลือดผสมกับเลือดเครื่องบูชา" (ลก. ๑๓,๑)  ซึ่งหมายถึงฆาตกรรมหมู่ในพระวิหาร

          แต่ในตอนที่พระเยซูถูกจับขึ้นศาลโรมัน พระวรสารไม่ได้วาดภาพปิลาตในลักษณะนี้เลย เห็นได้ชัดว่าในเหตุการณ์ครั้งนี้ ปิลาตถูก "ย้อมสี" เพื่อเน้นความจริงที่ว่าชาวยิวมีความผิดในกรณีที่พระเยซูถูกประหารชีวิต

3. ปิลาตน่าจะคิดอย่างไรเกี่ยวกับพระเยซู

          ให้เราพิจารณาผู้ว่าราชการโรมันคนอื่นๆ  ที่โหดเหี้ยมน้อยกว่าปิลาตก่อน  ดูว่าพวกเขาคิดอย่างไรเกี่ยวกับ  ประกาศกและผู้ที่มีลักษณะเป็นเมสสิยาห์ได้  ประมาณปี ๔๕ ก่อนคริสตกาล  ประกาศกคนหนึ่งชื่อ เทอุดัส ได้นําชาวยิวกลุ่มใหญ่ แบกสัมภาระลงไปที่แม่นํ้าจอร์แดน และสัญญาว่าจะทําเหมือนโมเสส คือจะแยกนํ้าออกและพาข้ามแม่นํ้าออกไปในที่เปลี่ยว ผู้ว่าราชการคุสปิอุส ฟาดุส ส่งกองทหารม้าไปจัดการ ส่วนหนึ่งถูกฆ่าตายและที่เหลือถูกจับขังคุก เทอุดัสถูกตัดศีรษะ ไม่มีอะไรยืนยันได้ว่า เทอุดัสเป็นพวกซีลอทหรือก่อการวุ่นวายใดๆ ในปี ค.ศ.๕๘ มีประกาศกชาวยิวจากอียิปต์คนหนึ่ง รวบรวมประชาชนกลุ่มหนึ่งที่เขาเกทเซมานี และสัญญาว่า  จะทําเหมือนโจชูอาในพระคัมภีร์   คือจะสั่งให้กําแพงเมืองเยรูซาเลมพังลงมา ผู้ว่าราชการ อันโตนิอุส เฟลิกซ์ สั่งให้ทหารจัดการทันที ชาวยิวหลายคนถูกฆ่าตาย ประกาศกหนีไปได้

          ถ้าปิลาตรู้เจตนาของพระเยซู รู้ว่าอาณาจักรที่พระเยซูพูดถึงมีลักษณะอย่างไร รู้ว่าพระเยซูพยายามปลุกความเชื่อในอาณาจักรนี้มากแค่ไหน ปิลาตต้องกําจัดพระเยซูอย่างแน่นอนที่สุด ปิลาตจะต้องถือว่าพระเยซูเป็นอันตรายต่อความมั่นคง แม้ว่าพระเยซูจะไม่ใช้วิธีรุนแรงก็ตาม (เช่นเดียวกับที่กษัตริย์เฮรอดถือว่า ยอห์นแบปติสต์เป็นอันตรายต่อความมั่นคง ทั้ง ๆ ที่ยอห์นแบปติสต์ไม่ได้ใช้ความรุนแรงอะไร) ชาวโรมันถือว่า อันตรายต่ออํานาจของตนไม่ใช่มาจากพวกกบฏติดอาวุธเท่านั้น แม้แต่ความเคลื่อนไหวของประชาชนที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลง ก็ถือว่าเป็นอันตรายด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีเหตุผลทางศาสนาหนุนหลัง

4. ปิลาตรู้เกี่ยวกับพระเยซูมาก่อนหรือไม่ ?

          เมื่อพระเยซูขับไล่พวกพ่อค้าในลานพระวิหาร พวกทหารโรมันเฝ้ามองดูจากป้อมที่อยู่ติดกับอาณาเขตพระวิหาร และอาจจะได้รายงานให้ปิลาตรู้ และแค่นี้ก็พอที่จะสงสัยเกี่ยวกับพฤติกรรมของพระเยซูแล้ว แต่ทหารอาจจะไม่ได้รายงานก็ได้ เมื่อปิลาตพิจารณาคดีพระเยซู อย่างน้อยที่สุดปิลาตก็ต้องรู้ว่า พระเยซูเป็นผู้นําที่มีอิทธิพลคนหนึ่ง และรู้ว่าสมัครพรรคพวก นับถือพระเยซูเป็นเมสสิยาห์หรือกษัตริย์ของชาวยิว แต่เราสนใจว่าปิลาตรู้จักพระเยซูก่อนที่พระเยซูถูกจับขึ้นศาลหรือไม่ ? ดูเหมือนว่ารู้

          ตามคําเล่าของยอห์น พระเยซูถูกจับโดยคนกลุ่มหนึ่งที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยชาวยิวและทหารโรมัน (ยน.๑๘,๓; ๑๘, ๑๒) แม้ยอห์นจะพยายามไม่ปรักปรําชาวโรมันในคดีนี้ แต่ก็บันทึกลงไว้ว่า กองทหารโรมันพร้อมกับนายร้อยมีส่วนร่วมจับกุมพระเยซู แสดงว่าเป็นเหตุการณ์ที่แน่นอนทางประวัติศาสตร์ชาวยิว (แม้แต่เจ้าคณะสงฆ์) ไม่มีสิทธิสั่งทหารโรมันให้จับกุมใครได้ คงเป็นปิลาตที่ออกคําสั่ง ซึ่งแปลว่าปิลาตต้องรู้เกี่ยวกับพระเยซูก่อนถูกจับ รู้จากเหตุการณ์ที่พระวิหาร หรือไม่ก็หลังจากนั้นไม่นาน

5. บทบาทพวกผู้นําชาวยิว

          เจ้าคณะสงฆ์ได้รับการแต่งตั้งจากผู้ว่าราชการโรมัน และมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ หน้าที่ทางศาสนาจะถูกควบคุม  โดยฝ่ายโรมันเป็นผู้เก็บรักษาชุดสําหรับพิธีกรรม ดังนั้นเจ้าคณะสงฆ์รวมทั้งหัวหน้าคณะสงฆ์เกี่ยวพันกับงานบริหารบ้านเมือง และอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ว่าราชการ หน้าที่หลักของเจ้าคณะสงฆ์คือรักษาความสงบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลทางศาสนา ซึ่งจะมีผู้คนล้นหลามในเมืองเยรูซาเลม

          เจ้าคณะสงฆ์และพรรคพวกรู้เกี่ยวกับพระเยซูมากน้อยแค่ไหน ?  คงจะรู้ไม่มากและไม่พอที่จะตั้งข้อหาใน  ศาลยิว(กรณีที่เคยคิดจับพระเยซูขึ้นศาลยิว) ที่แน่นอนคือ เจ้าคณะสงฆ์รู้ว่าพระเยซูกําลังปลุกปั่นประชาชน ให้เชื่อในอาณาจักรพระเจ้า และรู้ว่าประชาชนส่วนหนึ่งถือว่าพระเยซูเป็นเมสสิยาห์ เจ้าคณะสงฆ์คิดว่ากรณีเช่นนี้อาจสร้างปัญหาทางการเมืองได้ เพราะข้อตกลงสันติภาพระหว่างชาติยิวกับรัฐบาลโรมันนั้นเปราะบางมาก พวกคณะสงฆ์ระมัดระวังปัญหาทางการเมืองมากกว่าการเคารพความจริง

          ยอห์นบรรยายเกี่ยวกับการประชุมปรึกษาหารือของหัวหน้าคณะสงฆ์ก่อนที่พระเยซูถูกจับ "เราจะทําอย่างไรดี ? ถ้าเราปล่อยเขาไว้เช่นนี้ ทุกคนก็จะเชื่อเขา พวกโรมันก็จะเข้ามายึดที่ของเรา และยึดชาติของเราด้วย" ไกฟาสเจ้าคณะสงฆ์ในปีนั้นกล่าวว่า "...ให้คนหนึ่งตาย...ดีกว่าที่จะให้ทั้งชาติถูกทําลาย" (ยน.๑๑,๔๗-๕๐) จุดสําคัญคือปัญหาทางการเมือง พวกโรมันจะจัด การอย่างไรกับเรา ถ้าเราไม่จัดการกับชายคนนี้ ?  ให้ชายคนนี้ตายไปคนเดียวไม่ดีกว่าหรือ ?

6. ผู้นำชาวยิวทรยศพระเยซู 

          สถานการณ์อาจเป็นไปได้สองอย่าง สถานการณ์แรกคือ ไกฟาสมีความเห็นว่าการประกาศอาณาจักรใหม่ และการที่ประชาชนนับถือพระเยซูเป็นกษัตริย์ จะเป็นชนวนให้เกิดการปะทะกับกองทัพโรมัน ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจริง พวกโรมันก็จะเข้ามายึดที่ของเราและชาติของเรา นักพระคัมภีร์ชื่อ พอล วินเตอร์ อธิบายว่า "ที่ของเรา" ไม่ใช่หมายถึงสถานที่ศักดิ์สิทธิ์หรือพระวิหาร แต่หมายถึงตําแหน่งของเจ้าคณะสงฆ์และคณะที่ปรึกษา สิ่งหนึ่งที่ไกฟาสกลัวคือตัวเองจะสูญเสียอํานาจและตําแหน่ง หากละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ป้องกันจราจล และไม่รายงานให้ฝ่ายโรมันรู้ หรือไม่จับพระเยซูส่งให้ฝ่ายโรมันจัดการ

          สถานการณ์ที่สอง อาจเป็นไปได้ว่า ปิลาตได้สั่งแล้วว่าให้จับพระเยซูส่งให้ฝ่ายโรมัน กรณีเช่นนี้ การประชุมดังกล่าวก็เป็นการพิจารณาเรื่องการส่งตัวผู้ต้องสงสัย คําถามที่ต้องพิจารณาคือ ชาวยิวคนนี้ถูกคนต่างศาสนาตั้งข้อหาทางการเมือง สมควรที่จะจับกุมเขาและส่งตัวให้ตามที่ขอมาหรือไม่ ? คําตอบก็คือ ให้ไปตายคนเดียวดีกว่าต้องลําบากกันทุกคน

          ไม่ว่าจะเป็นกรณีหลีกเลี่ยงการปะทะกัน หรือเป็นกรณีส่งมอบตัวผู้ร้าย การตัดสินใจของเจ้าคณะสงฆ์ก็คือ ร่วมมือกับฝ่ายโรมัน ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของตนและของชาติยิว  ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า เป็นฝ่ายโรมันที่ต้องการกําจัดพระเยซู แม้เราไม่รู้แน่ว่า ที่ต้องการกําจัดพระเยซูนี้ เนื่องมาจากฝ่ายโรมันเองได้สืบทราบเรื่องราวของพระเยซู และต้องการให้ฝ่ายผู้นํายิวจับกุมและส่งตัวให้ หรือเนื่องมาจากไกฟาสได้รายงานหลังการประชุมกับพวกหัวหน้าคณะสงฆ์  การกําจัดพระเยซูในสถานการณ์เช่นนี้ เป็นไปตามนโยบายของปิลาตและผู้ว่าราชการโรมันคนอื่น ที่กําจัดประกาศกและบุคคลที่เข้าข่ายเป็น "เมสสิยาห์"

          พวกผู้นําชาวยิวตัดสินใจที่จะจับกุมพระเยซูและส่งตัวไปให้ปิลาต ไม่ว่าจะเป็นเพราะดําเนินการเอง หรือได้รับคําสั่งจากปิลาต ไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม เราพูดได้ว่าพวกผู้นําชาวยิว ทรยศพระเยซู ในภาษากรีกการส่งมอบตัวหรือการทรยศ เป็นคําคําเดียวกัน (มก.๙,๓๑; มธ.๒๖,๒) ดังนั้นจึงมีการทรยศ ๒ ครั้ง ครั้งแรก สาวกยูดาสทรยศพระเยซู(มอบตัวให้ผู้นําชาวยิว) ครั้งที่สอง ผู้นําชาวยิวทรยศพระเยซู(มอบตัวให้ผู้ว่าราชการโรมัน) (มก.๑๐,๓๓-๓๔) จากนั้นพระเยซูถูกพิจารณาคดีและตัดสินประหารชีวิตโดยศาลโรมัน

7. ที่ศาล

          สิ่งที่น่าสังเกตในการขึ้นศาลครั้งนี้คือ พระเยซูไม่ได้ป้องกันตนเอง ไม่ว่าใครจะกล่าวหาอย่างไร พระเยซูก็สงบนิ่ง (มก.๑๔,๖๐-๖๑; ๑๕,๔-๕; มธ.๒๖,๖๒-๖๓; ๒๗,๑๒-๑๔; ลก.๒๓,๙) และเมื่อเอ่ยปากพูดก็เป็นการเลี่ยงที่จะตอบเสียมากกว่า "ท่านเป็นคนพูดเอง" (มก.๑๕,๒; มธ.๒๖,๖๔; ๒๗,๑๑; ลก.๒๒,๗๐; ๒๓,๓) "ถ้าเราบอก ท่านก็จะไม่เชื่อ ถ้าเราถาม ท่านก็จะไม่ตอบ" (ลก.๒๒,๖๗; ดู ยน.๑๘,๒๐-๒๑) คําพูดเหล่านี้ผู้เขียนพระวรสารพยายามประกอบขึ้นมาใหม่ เพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างพระเยซูกับฝ่ายที่สอบสวน แต่เราคงต้องยึดคําบรรยายของมัทธิวเป็นหลักว่า พฤติกรรมของพระเยซูระหว่างขึ้นศาลนั้นเป็นอย่างไร "พระเยซูไม่ได้ตอบข้อกล่าวหาใดๆ เลย" (มธ.๒๗,๑๔) เพราะจริงๆ แล้วพระเยซูเคยวางตัวแบบนี้มาก่อน พระเยซูเคยปฏิเสธที่จะแสดงเครื่องหมายยืนยันอํานาจของตน พระเยซูไม่เคยถกเถียงกล่าวอ้างอํานาจของตน พระเยซูไม่เคยยอมตอบคําถามเกี่ยวกับเรื่องแบบนี้ มาบัดนี้ พระเยซูไม่ยอมป้องกันตัวเองหรือยืนยันความถูกต้องของตน

          พระเยซูยืนสงบนิ่งอยู่ที่นั่น นี่ไม่ใช่พระเยซูถูกจับขึ้นศาลเสียแล้ว เป็นการจับคนอื่นขึ้นศาลต่างหาก ความเงียบของพระเยซูทําให้คนอื่นทุกคนประหลาดใจและกระวนกระวาย ความเงียบของพระเยซูเป็นการสอบสวนและพิสูจน์ทุกคน คําพูดของทุกคนสะท้อนกลับไปถึงตนเองและกล่าวโทษตนเอง

          ปิลาตมีความผิด ความเงียบของพระเยซูทําให้ปิลาตประหลาดใจ (มธ.๒๗,๑๔) เขาอาจจะชงักไปชั่วครู่ แต่เนื่องจากเขาไม่เคยสนใจที่จะเคารพความจริงเลย เขาจึงดําเนินการต่อไปตามที่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์ทางการเมือง ปิลาตมีความผิดฐานละเลยที่จะแสวงหาและดำเนินการตามความจริง (ยน.๑๘,๓๗-๓๘)

          ไกฟาสและพวกหัวหน้าคณะสงฆ์มีความผิดมากกว่านั้นเสียอีก เรารู้ว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะตัดสินใจเลือก ระหว่างชีวิตของชายคนหนึ่งกับอนาคตของชาติ แต่พวกเขาน่าจะได้ทํามากกว่าปิลาตในการแสวงหาความจริงเกี่ยวกับพระเยซู พวกเขาน่าจะมีใจเปิดกว้างเพื่อดูว่าชายผู้นี้มีอะไรดีหรือไม่ แต่สมมุติว่าไกฟาสเปิดใจ รับความจริงและหันมาเชื่อพระเยซู เขาจะต้องทําอย่างไรจึงจะรักษาข้อตกลงสันติภาพกับพวกโรมันไว้ได้ ? เราอาจเสนอแนะว่า ไกฟาสน่าจะเสี่ยงชีวิตโดยลาออกจากตําแหน่งเจ้าคณะสงฆ์ เข้าร่วมกับพระเยซู และช่วยกันประกาศความเชื่อในอาณาจักรพระเจ้า แต่นั่นเป็นสิ่งพ้นวิสัย จะมีใครในตําแหน่งสูงๆ ที่รักความจริงและมีความจริงใจมากพอที่จะสละสิ่งอื่นๆ ได้  และอาจจะเป็นเพราะเหตุนี้แหละที่สังคมสมัยนั้นกําลังจะต้องประสบภัยพิบัติ ไกฟาสไม่สามารถรับคําท้าทายที่พระเยซูเสนอให้

          ความตายของพระเยซูเป็นการพิพากษาพวกคัมภีราจารย์ พวกฟาริสี และคนอื่นๆที่ปฏิเสธพระเยซูโดยรู้ตัวถ้าพวกเขาได้ยอมรับพระเยซู  และเชื่อในอาณาจักรพระเจ้า  อาณาจักรนั้นก็จะมาถึง แทนที่จะเกิดภัยพิบัติ พวกเขาไม่ต่างจากคนจํานวนมากในยุคเรานี้   แต่ในการขึ้นศาลครั้งนั้นเราถือว่าพวกเขามีความผิด

8. การทดลองใจ

          พวกสาวกได้ถูกทดลองใจ มันเป็นการทดลองใจที่หนักมาก พวกเขาถูกทดลองใจว่าพร้อมที่จะตายกับพระเยซูเพื่อเห็นแก่มนุษยชาติหรือไม่ สาวกยูดาสทรยศพระเยซู สาวกเปโตรปฏิเสธว่าไม่รู้จักพระเยซู ส่วนสาวกอื่นๆหนีไปหมด

          พระเยซูเองถูกทดลองใจอย่างหนักที่สุด จนกระทั่งเลือดไหลออกมาแทนเหงื่อ และบอกให้พวกสาวกภาวนา ขออย่าให้ถูกทดลองใจหนักเช่นนั้น (มก.๑๔,๓๒-๓๘) พระเยซูเคยสอน พวกสาวกเสมอว่า ให้ภาวนาขออย่าให้ต้องตกอยู่ในภาวะเช่นนี้เลย ขออย่าให้ต้องถูกทดลองใจ นี่คือความหมายของบทภาวนา "อย่านําเราไปสู่การประจญ" (มธ.๖,๑๓;ลก.๑๑, ๔) พระเยซูไม่อยากให้ใครถูกทดลองใจแบบนี้

          แต่วิกฤติกาลก็มาถึง  และการทดลองใจก็หนักมาก  พระเยซูคนเดียวที่สามารถรับการท้าทาย ซึ่งทําให้พระเยซู "ลอย" ขึ้นเหนือทุกคนในขณะที่ความเงียบของพระเยซูพิพากษามนุษย์ทุกคน พระเยซูตายคนเดียว ในฐานะที่เป็นคนเดียวที่สามารถผ่านการทดลอง คนอื่น ๆ ทุกคนไม่ผ่าน แต่ได้รับโอกาสอีกครั้งหนึ่ง คริสตชนคือผู้ที่เชื่อในพระเยซู และมีแรงบันดาลใจให้ตอบรับการท้าทาย ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง

คำถาม
          1.พระเยซูถูกประหารด้วยเหตุผลใด ?
          2.ใครต้องรับผิดชอบความตายของพระเยซู ?
          3.การประจญหรือการทดลองอะไรที่หนักที่สุดสำหรับท่าน ?

บทที่ 17 พระเยซูคือใคร?

โดยทั่วไป ทุกๆ ฝ่ายประเมินพระเยซูตํ่าเกินไป ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่ถือว่า พระเยซูเป็นเพียงครูสอนศาสนาคนหนึ่ง หรือฝ่ายที่เน้นมากว่าพระเยซูเป็นพระเจ้า จนถือว่าไม่เป็นมนุษย์เต็มที่ แต่เมื่อเรายอมปล่อยให้พระเยซูพูดเอง และพยายามเข้าใจพระเยซูในบริบทของยุค (คือเมื่อ ๒๐๐๐ ปีก่อน) และเมื่อเราพยายามฟังพระเยซูโดยวางตัวเป็นกลางแล้ว เราจะเห็นว่าพระเยซูคือคนคนหนึ่ง ที่มีความเป็นตัวของตัวเอง มีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว มีคุณธรรมโดดเด่น น่าเคารพนับถือ และมีความคิดความเข้าใจที่เฉียบคม ถ้าอ้างว่าพระเยซูไม่ใช่คน ก็เท่ากับตัดความ ยิ่งใหญ่ของพระเยซูออกไป

1. จุดเด่นของพระเยซู

          ในยุคของพระเยซู วิธีเดียวที่จะประกันความดีและความถูกต้อง ก็คือ คิดและทําตามกลุ่มของตน แต่พระเยซูกล้าคิดและกล้าทําแตกต่างออกไปจากคนอื่นอย่างไม่ลังเลใจ กล้าขัดแย้งอย่างไม่สะทกสะท้านกับพวกคัมภีราจารย์ ซึ่งถือกันว่ามีความรอบรู้เชี่ยวชาญในเรื่องพระคัมภีร์และขนบธรรมเนียม ไม่ว่าขนบธรรมเนียมจะถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์แค่ไหน พระเยซูก็กล้าเอาขึ้นมาทบทวนพิจารณาว่าถูกหรือผิด ไม่ว่าอํานาจใดจะยิ่งใหญ่แค่ไหน พระเยซูก็กล้าโต้แย้ง ไม่ว่าความเชื่อถือจะลงรากลึกและสําคัญแค่ไหน พระเยซูก็กล้าเปลี่ยนเสียใหม่

          ไม่มีตอนไหนในพระวรสารที่แสดงว่า พระเยซูขัดแย้งกับทุกคนเพียงเพราะอยากจะขัดแย้ง หรือเพราะมีความเกลียดชังสังคม แต่พระวรสารแสดงในเห็นตลอดเวลาว่า พระเยซูเป็นคนที่กล้าหาญอันเนื่องมาจากความเชื่อมั่น มีความคิดเป็นอิสระอันเนื่องมาจากความสามารถทางความคิดและความเข้าใจ ไม่มีตอนไหนที่แสดงว่าพระเยซูมีความหวาดกลัว พระเยซูไม่กลัวที่จะทําสิ่งที่ถูกต้องแม้ว่าผู้อื่นจะไม่ยอมรับสิ่งนั้น พระเยซูไม่กลัวเสียชื่อเสียง ไม่กลัวแม้แต่จะต้องตาย คนทางฝ่ายศาสนา(รวมทั้งยอห์นแบปติสต์เองด้วย) รู้สึกข้องใจที่เห็นพระเยซูคบหาสมาคมกับคนบาป ร่วมวงกับพวกเหล่านี้อย่างมีความสุข หละหลวมในเรื่องกฎบัญญัติ และดูเหมือนไม่ให้ความสําคัญกับเรื่องบาป นอกนั้นยังเป็นกันเองกับพระเจ้าเกินไป พฤติกรรมของพระเยซูทําให้ตัวเองได้ชื่อว่า "นักกินนักดื่ม" ซึ่งคนทั่วไปอาจเรียกว่าเป็นการเสียชื่อเสียง แต่พระเยซูก็มีอารมณ์ขันมากพอที่จะหยิบยกขึ้นมาอ้างอิง (มธ.๑๑,๑๖-๑๙) เมื่อพระเยซูร่วมวงกับคนบาป ตามหลักในสมัยนั้น ก็ต้องถือว่าพระเยซูกลายเป็นคนบาปคนหนึ่งไปด้วย (ยน.๙,๒๔) ในยุคนั้นการติดต่อฉันมิตรกับผู้หญิงนอกแวดวงครอบครัวของตน ถือได้สถานเดียวว่าเป็นเรื่องชู้สาว แต่พระเยซูก็ติดต่อเป็นมิตรกับผู้หญิงโดยทั่วไปและกับหญิงโสเภณีด้วย ถ้ายังมีชื่อเสียงหลงเหลืออยู่บ้าง ก็หมดไปพอดี (ลก.๗,๓๙;ยน.๔,๒๗) พระเยซูไม่เคยทําอะไรเพื่อหวังความนิยมชมชอบ ไม่เคยยอมอ่อนข้อประนีประนอมเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของคนอื่น

          ตามพระวรสารโดยมาร์โก แม้แต่ฝ่ายตรงข้ามก็ยังยอมรับว่า พระเยซูเป็นคนซื่อสัตย์ตรงไปตรงมาและไม่กลัวสิ่งใด "เรารู้ว่าท่านเป็นคนตรงไปตรงมาและไม่กลัวใคร และยศศักดิ์ของใครก็ไม่มีความหมายสําหรับท่าน และท่านสอนหนทางของพระเจ้าด้วยความจริงใจ..." (มก.๑๒,๑๔) แม้ว่าการยอมรับนี้เป็นเพียงการพูดนําเพื่อหลอกถามเรื่องการเสียภาษี  แต่มันก็แสดงได้มากพอสมควรว่า คนทั่วไปรู้สึกอย่างไรต่อพระเยซู ญาติพี่น้องคิดว่าพระเยซูเสียสติ (มก.๓, ๒๑) พวกฟาริสีคิดว่าพระเยซูถูกผีสิง (มก.๓, ๒๒) บางคนกล่าวหาว่าพระเยซูเป็นนักกินนักดื่ม เป็นคนบาป เป็นคนพูดจาดูหมิ่นพระเจ้า แต่ไม่เคยมีใครคิดหรือกล่าวหาว่า พระเยซูไม่จริงใจหรือหน้าซื่อใจคด  ไม่มีใครคิดว่าพระเยซูกลัวคําวิพากวิจารณ์ หรือกลัวใครจองล้างจองผลาญ

          ความกล้าหาญและความเด็ดเดี่ยวของพระเยซู ทําให้คนถามอยู่บ่อยๆว่า "ชายผู้นี้คือใคร ?" เป็นที่น่าสังเกตว่าพระเยซูไม่เคยตอบคําถามนี้เลย ไม่มีปรากฏเลยว่า พระเยซูเรียกตัวเองด้วยชื่อหรือตําแหน่งที่สูงส่งต่างๆ ซึ่งคริสตศาสนิกชนใช้เรียกพระเยซูในภายหลัง

2. พระเยซูมิได้ยกย่องตนเอง      

          นักพระคัมภีร์บางคนคิดว่า มีอยู่คําหนึ่งที่พระเยซูรับเป็นชื่อหรือตําแหน่งของตน คือ "บุตรแห่งมนุษย์" แต่ไม่เป็นความจริง แม้พระเยซูเคยใช้คํานี้ แต่คํานี้ไม่ใช่ชื่อเฉพาะหรือเป็นคํานําหน้า  มีนักพระคัมภีร์เด่น ๆ หลาย คนพยายามศึกษาคํานี้ ผลก็คือแต่ละคนสรุปไม่เหมือนกันเลย นอกจากเห็นพ้องกันว่า "บุตรแห่งมนุษย์" เป็น คํานําหน้าที่สําคัญมาก นี่แสดงให้เห็นว่าเข้าใจปัญหาไม่ถูกต้อง เราต้องถามก่อนว่า คําว่า "บุตรแห่งมนุษย์" เดิมทีเป็นคํานําหน้าหรือไม่ ? คํานี้ไม่ปรากฏในประมวลข้อความเชื่อของศาสนาคริสต์(confession of faith) ไม่เคยนําหน้าชื่อพระเยซู และไม่เคยนําหน้าชื่อใครทั้งนั้น ในพระวรสาร คําคํานี้ไม่ได้หลุดมาจากปากใครนอกจากพระเยซูผู้เดียว เมื่อพระเยซูใช้คํานี้ ไม่เคยมีใครโต้แย้งหรือมีปฏิกิริยาใดๆ นักพระคัมภีร์ชื่อเวิมส์ ได้สรุปเป็นที่ยอมรับได้ว่า คําที่พระเยซูใช้นี้เป็น คําในภาษาอาราไมอิคของแคว้นกาลิลี ซึ่งคนจะใช้เรียกตัวเอง โดยแฝงถึงความรู้สึกถ่อมตัว หรือสงวนท่าที หรือรู้สึกทึ่งต่อหน้าสิ่งที่ยิ่งใหญ่ แทนที่จะใช้คําว่า "ฉัน" ก็ใช้คําว่า "บุตรแห่งมนุษย์" นอกนั้นยังมีความหมายเหมือนกับคําว่า "คน" ด้วย มักจะใช้เพื่อเน้นความเป็นคน ต่างจากความเป็นสัตว์ (เทียบ ดาเนียล ๗,๓-๗; ๗, ๑๗-๒๖ กับ ๗,๑๓) อย่างไรก็ตาม นักพระคัมภีร์หลายคนเชื่อว่า ข้อความในพระวรสารบางตอนที่พูดถึงบุตรแห่งมนุษย์ ไม่ใช่เป็นคําพูดของพระเยซู แต่เกิดขึ้นภายหลัง

          พระเยซูใช้คําว่า"บุตรแห่งมนุษย์" ตามวิธีพูดธรรมดาในภาษาของตน หรือว่าพระเยซูใช้คํานี้โดยมีความหมายอะไรเป็นพิเศษด้วย ? จากพระวรสาร ดูเหมือนว่าพระเยซูให้ความสําคัญต่อคํานี้มากทีเดียว  ถ้าเราระลึกอยู่เสมอว่า พระเยซูให้ความสําคัญแก่ศักดิ์ศรีของคนในฐานะที่เป็นคน และให้ความสําคัญแก่ความเป็นหนึ่งเดียวกันในมนุษยชาติ เราก็คงจะคิดได้ว่า เมื่อพระเยซูใช้คําว่า "บุตรแห่งมนุษย์" พระเยซูหมายถึงคนในฐานะที่เป็นคน และพระเยซูรวมตัวเองเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับมนุษยชาติ

          ดังนั้นเมื่อพระเยซูพูดว่า "บุตรแห่งมนุษย์เป็นนายของวันพระ" (มก.๒,๒๘) ก็แปลว่า "วันพระมีไว้สําหรับคน ไม่ใช่คนมีไว้สําหรับวันพระ" (มก.๒,๒๗) เมื่อพูดว่า "บุตรแห่งมนุษย์มีพลังยกบาปในโลกนี้" (มธ.๙,๖) ก็คือคําสรรเสริญพระเจ้า ที่"พระเจ้าได้ให้พลังเช่นนี้แก่มนุษย์" (มธ.๙,๘) เมื่อพูดว่า "หมาจิ้งจอกมีรู และนกในอากาศมีรัง แต่บุตรแห่งมนุษย์ไม่มีที่วางศีรษะ" อาจจะแปลว่า เฮรอด(หมาจิ้งจอก) และพวกโรมัน(นกอินทรี) มีที่ในสังคม แต่คนในฐานะที่เป็นคนยังไม่มีที่เลย และเมื่อพูดว่า "บุตรแห่งมนุษย์จะถูกมอบไว้ในมือของคน" (มก.๙,๓๑) ก็อาจมีความหมายว่า คนที่ถือตัวว่าเป็นหนึ่งเดียวกันกับเพื่อนมนุษย์ ต้องทนทรมานเพราะเงื้อมมือของมนุษย์นั่นเอง

          นี่เป็นการตีความหมายเท่านั้น สิ่งเดียวที่พูดด้วยความแน่นอนได้ก็คือ เมื่อพระเยซูใช้คําว่า "บุตรแห่งมนุษย์" พระเยซูไม่ได้อ้างตัวเป็นผู้มีตําแหน่งหรือยศศักดิ์อะไร เรารู้แล้วว่าพระเยซูสอนอย่างไรเกี่ยวกับยศศักดิ์ชื่อเสียง เราจึงไม่แปลกใจเมื่อพระเยซูไม่ต้องการตําแหน่งหรือคํานําหน้าอะไรทั้งสิ้น "อย่าให้ใครเรียกท่านว่า อาจารย์ เพราะท่านมีอาจารย์แต่ผู้เดียว และพวกท่านเป็นพี่น้องกัน อย่าให้ใครในโลกนี้เรียกท่านว่า บิดา เพราะท่านมีบิดาคนเดียว ผู้สถิตในสวรรค์  อย่าให้ใครเรียกท่านว่า เจ้านาย  เพราะท่านมีเจ้านายคนเดียว(คือพระคริสต์) (มธ.๒๓,๘-๑๐) คําสุดท้ายในวงเล็บ เป็นคําที่มัทธิวหรือแหล่งข้อมูลของมัทธิวได้เปลี่ยนใส่เข้าไป พระเยซูเคยเลี่ยงคําว่า คริสต์ หรือ เมสสิยาห์ เสมอ นอกนั้นความหมายมันชัดเจนอยู่แล้วว่า พระเจ้าแต่ผู้เดียวเป็นอาจารย์ เป็นบิดา และเป็นเจ้านายของเรา

3. คนอื่นมองพระเยซู

          คนที่ติดต่อกับพระเยซู คงจะได้เรียกพระเยซูเป็นอาจารย์(rabbi) แต่ก็ไม่มีตรงไหนที่บันทึกไว้ว่า พระเยซูห้ามคนเรียกเช่นนั้น ทั้งนี้คงเป็นเพราะว่า บางคนเพียงแต่อยากแสดงความเคารพนับถือโดยใช้คําที่สุภาพเหมาะสมเท่านั้น ถ้าจะคอยห้ามปรามตลอดเวลาว่าอย่าเรียกเช่นนี้ คงจะน่ารําคาญ สิ่งที่ชัดเจนคือคนอยากจะเรียกพระเยซูเป็นอาจารย์ แต่พระเยซูอยากจะเป็นคนรับใช้ของผู้อื่น (ยน.๑๓,๑๒-๑๕)

          พระเยซูคงจะรู้ตัวว่าตนกําลังทําสิ่งที่พระคัมภีร์พูดถึงล่วงหน้าให้สําเร็จไป แต่สําหรับพระเยซู มันไม่สําคัญว่าใครเป็นคนทําให้สําเร็จ ขอให้มันสําเร็จก็แล้วกัน เมื่อสาวกของยอห์น แบปติสต์ไปถามพระเยซูว่า พระเยซูเป็นผู้ที่ต้องมา(ตามที่พระคัมภีร์พูดไว้)ใช่หรือไม่ พระเยซูไม่ตอบคําถามโดยตรง แต่ชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่กําลังเกิดขึ้นในขณะนั้น เป็นไปตามที่จารึกไว้ในพระคัมภีร์  "คนตาบอดกลับเห็นได้ คนง่อยกลับเดินได้ คนโรคเรื้อนกลับสะอาดหมดจด...คนจนได้รับฟังข่าวดี" (มธ.๑๑,๔-๕)

          พระเยซูไม่ได้บอกว่า ฉันเองเป็นคนทําให้คนตาบอดกลับมองเห็น ฯลฯ ที่สําคัญคือสิ่งที่เกิดขึ้น กล่าวคือ ประชาชนกําลังได้รับการปลดปล่อย ใครเป็นคนทําไม่ใช่สิ่งสําคัญ  พระเยซูให้พวกสาวกกระจายกันออกไป ทําสิ่งที่พระเยซูทํา และไม่เคยห้ามมิให้ใครทําเช่นเดียวกัน (มก.๙, ๓๘-๔๐)

4. พระเยซูเป็นผู้มีอำนาจ

          เรายืนยันได้ว่า พระเยซูไม่เคยอ้างตัวเป็นคนสําคัญ มีตําแหน่งหรือมีอํานาจ แต่นักเขียนผู้เชี่ยวชาญหลายคนมีความเห็นว่า พระเยซูอ้างอํานาจโดยทางอ้อม เพราะพระเยซูวางตัวไม่ขึ้นกับใคร และไม่อ้างอิงอํานาจใด "แต่เราขอบอกแก่ท่านว่า..." เป็นคําพูดที่แสดงถึงอํานาจ ในตัวผู้พูดเอง แต่เราสงสัยว่าพระเยซูอ้าง อํานาจของตัวเองอย่างนั้นจริงๆ หรือ ?  พระเยซูถือว่าการแสดงอํานาจ เป็นลักษณะของพวกคนที่ไม่มีพระเจ้า(มก. ๑๐,๔๒) และเราคิดว่าความยิ่งใหญ่ของพระเยซูอยู่ตรงที่ไม่ต้องใช้อํานาจ อะไรเลย

          อํานาจคือสิทธิที่จะได้รับความนบนอบจากคนอื่น การอ้างอํานาจก็คือการเรียกร้องสิทธิ เรียกร้องให้คนอื่นนบนอบตน  มาร์โกเข้าใจว่า คําพูดของพระเยซูมีอํานาจซึ่งบังคับให้นบนอบได้ (มก.๑,๒๒;๑,๒๗) แต่ผู้ที่ต้องนบนอบไม่ใช่คน แต่เป็นจิตชั่ว โรคภัยไข้เจ็บ บาป กฎบัญญัติ ลมและทะเล

          เราได้พูดแล้วว่า พระเยซูมีพลังเหนือจิตชั่วและความชั่วร้ายทั่วไป พลังนั้นคือพลังแห่งความเชื่อ ความเชื่อของพระเยซูสามารถทําให้หายจากความเจ็บไข้ได้ป่วย สามารถช่วยให้รอดพ้นความทุกข์ สามารถปลุกความเชื่อในตัวผู้คนที่อยู่รอบข้าง ความเชื่อนี้ ในพระวรสารถือว่าเป็นอํานาจ แบบหนึ่ง ในเรื่องอัศจรรย์ที่เกิดแก่คนรับใช้ของทหารโรมัน (มธ.๘,๕-๑๓; ลก.๗,๑-๑๐;ยน.๔,๔๖-๕๓) มีการเอาอํานาจและความนบนอบในทางทหาร มาเปรียบเทียบกับพลังของพระเยซูที่มีเหนือจิตชั่ว นายทหารคนนั้นตระหนักดีว่า อํานาจทางทหารโรมันใช้ได้ผลเพียงใด พลังความเชื่อของพระเยซูก็ต้องได้ผลเช่นกัน อํานาจอย่างเดียวที่พระเยซูใช้ ก็คืออํานาจ เหนือความชั่ว นั่นคือพลังความเชื่อ

          ถ้าไม่ใช้อํานาจหรืออ้างอํานาจใด แล้วพระเยซูสอนอย่างไร ? นิทานเปรียบเทียบที่พระเยซูเล่าเป็นประจํา เป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงถึงการสอนโดยไม่ต้องอ้างอํานาจใด จุดหมายของนิทานเปรียบเทียบคือเพื่อให้ผู้ฟังค้นพบความจริงด้วยตนเอง นิทานเปรียบเทียบเป็นผลงานทางศิลป์ ที่เผยความจริงแห่งชีวิต นิทานเปรียบเทียบช่วยปลุกความเชื่อในตัวผู้ฟัง เพื่อจะได้มองเห็นความจริงด้วยตัวเอง เพราะเหตุนี้ ส่วนมากนิทานเปรียบเทียบจะจบด้วยคําถามตรงๆ หรือคําถามทางอ้อม ซึ่งผู้ฟังจะต้องตอบเอง "ใน ๓ คนนี้ คนไหนแสดงตัวเป็นเพื่อนบ้าน ?" (ลก.๑๐, ๓๖) "คนไหนจะรักมากกว่า ?" (ลก.๗,๔๒) "ท่านคิดอย่างไร ลูกสองคนนี้ คนไหนที่ทําตามความต้องการของบิดา ?" (มธ.๒๑,๒๘-๓๑) "เจ้าของสวนองุ่นจะทําอย่างไรกับพวกนั้น ?" (ลก.๒๐,๑๖) นิทานเปรียบเทียบเรื่องแกะพลัดฝูง และเหรียญเงินที่หายไป เป็นรูปแบบคําถามเกือบตลอด (ลก.๑๕,๔-๑๐; มธ. ๑๘, ๑๒-๑๔)

          โดยทั่วไป พระเยซูเล่านิทานเปรียบเทียบสําหรับฝ่ายตรงข้าม ไม่ใช่สําหรับพวกคนจนและคนถูกกดขี่ และไม่ใช่สําหรับพวกสาวก พระเยซูต้องการจูงใจและทําให้ฝ่ายตรงข้ามรับความจริง โดยช่วยให้พวกเขาคิดเอาเอง ที่จริงแล้วพระเยซูต้องการให้ทุกคนคิดและตัดสินใจเอง รวมทั้งพวกสาวกและชาวบ้านทั่วไป (ลก.๑๒,๕๗) แต่วิธีสอนพวกสาวกและฝูงชนที่ยอมรับพระเยซู แตกต่างออกไปบ้าง เนื่องจากพระเยซูต้องการให้คนอื่นเห็นสิ่งที่ตนเห็น เชื่อสิ่งที่ตนเชื่อ และพระเยซูมีความมั่นใจในความจริงและความเชื่อเป็นอย่างมาก วิธีพูดสอนจึงค่อนข้างจะเป็นเหมือนใช้อํานาจ หรืออ้างอํานาจตนเอง "แต่เราบอกพวกท่านว่า..." พระเยซูประกาศความจริงอย่างแน่นอนชัดเจนโดยไม่มีความลังเลสงสัย ไม่ว่าจะใช้คําชักจูงที่อ่อนหวาน ใช้นิทานเปรียบเทียบ หรือใช้คําประกาศที่เด็ดขาด

          พระเยซูไม่อ้างอิงอํานาจใด ๆ ไม่ว่าจะจะเป็นอำนาจของตนหรือของผู้อื่น พวกคัมภีราจารย์อ้างอิงอํานาจของขนบธรรมเนียมและอ้างพระคัมภีร์ พวกประกาศกสมัยก่อนอ้างอํานาจ โดยตรงจากพระเจ้า แต่พระเยซูไม่อ้างอํานาจใด ๆ ทั้งสิ้น พระเยซูไม่เคยใช้คํานําที่ว่า "พระเจ้าตรัสดังนี้ว่า..." ดังที่พวกประกาศกเคยใช้อยู่เสมอ พระเยซูไม่ยอมแสดงเครื่องหมายอะไรให้ฝ่ายตรงข้ามเห็น เพื่อยืนยันว่าตนได้รับอํานาจจากพระเจ้า และเมื่อถูกถามว่ามีอํานาจอะไรจึงทําเช่นนี้ พระเยซูไม่ตอบ (มก.๑๑,๓๓)  เมื่อเห็นสิ่งที่พระเยซูทําหรือฟังสิ่งที่พระเยซูพูดแล้ว เราต้องเห็นความจริงในสิ่งนั้นๆ โดยไม่ต้องมีอํานาจใดมาสนับสนุน

5.ประสบการณ์ “อับบา”

          คําพูดของพระเยซูสร้างความประทับใจให้แก่คนทั่วไป ไม่ใช่เพราะได้อ้างอํานาจของใคร แต่โดยอาศัยพลังแห่งความจริง ซึ่งเป็นพลังของพระเจ้า

          การอ้างว่าตนเองพูดความจริง เป็นเรื่องสําคัญและยิ่งใหญ่กว่าการอ้างตําแหน่ง หรืออํานาจใดๆ มาสนับสนุน มีอะไรที่ทําให้พระเยซูกล้าอ้างเช่นนี้ ? มีอะไรที่ทําให้พระเยซูมั่นใจนักว่าตนเองถูกต้อง ? พระเยซูมีประสบการณ์ส่วนตัวที่ลึกซึ้งจนทําให้เห็นแจ้งและเข้าใจความจริง

          ปัญหาเรื่องประสบการณ์ส่วนตัวของพระเยซู เป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อน หลายคนที่พยายามศึกษาจิตวิทยาหรือสภาพจิตของพระเยซู ก็ได้แต่เดาหรือคาดคะเนเท่านั้น นักพระคัมภีร์ที่มีชื่อเสียงหลายคน ยืนยันได้แต่เพียงว่า ลึกลงไปในบุคลิกอันเร้นลับของพระเยซู มีประสบการณ์ส่วนตัวอย่างหนึ่งที่ลึกซึ้งแน่นแฟ้น ที่เรียกว่า "ประสบการณ์อับบา" (Abba-experience) ซึ่งเป็นความใกล้ชิดและเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าในฐานะที่พระเจ้าเป็นพ่อผู้มีใจรักเมตตา

          ประกาศกในอดีตถ่ายทอดพระวาจาของพระเจ้าให้แก่มนุษย์ และบางครั้งก็ถ่ายทอดความรู้สึกและอารมณ์ของพระเจ้าด้วย(พระเจ้าสั่งอะไร และรู้สึกอย่างไรต่อประชากรของพระองค์) ในกรณีของพระเยซู ความรักเมตตาของพระเจ้าสิงสถิตในพระเยซูอย่างท่วมท้น ทําให้พระเยซูมีความมั่นใจ ความเชื่อและความหวัง เนื่องจากพระเจ้ามีใจรักเมตตา ความดีจะต้องเอาชนะความชั่ว สิ่งที่เป็นไปไม่ได้จะเกิดขึ้น และจะมีความหวังสําหรับมนุษยชาติ

          ความรักเมตตาเป็นรากฐานของความจริง เราจะมีประสบการณ์ความรักเมตตา ก็ต่อเมื่อเรามีประสบการณ์ความทุกข์หรือความรู้สึกพร้อมกับคนอื่น มันทําให้เราร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับเพื่อนมนุษย์ กับธรรมชาติและกับพระเจ้า มันทําให้เราร่วมเป็นหนึ่งกับชีวิตและความเป็นจริง

          พระเยซูมีความคิดและความเข้าใจที่ผิดพลาดไม่ได้ และมีความมั่นใจที่แข็งแกร่ง ทั้งนี้เพราะพระเยซูมีประสบการณ์ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า กับมนุษย์และกับธรรมชาติ สิ่งนี้ทําให้พระเยซูเป็นคนมีอิสระที่แท้จริง มีความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว ปราศจากความหวาดกลัว เต็มไปด้วยความหวัง และตั้งมั่นอยู่ในความจริง

          เมื่อพระเยซูเป็นคนเช่นนี้ ทําไมจึงมีคนที่ต้องการกําจัดพระเยซู ? มีอะไรที่ทําให้พวกเขาต้องการจับกุมและดําเนินคดีกับพระเยซู ?

คำถาม
          1. ท่านคิดว่าพระเยซูเป็นคนอย่างไร ?
          2. คนสมัยนั้นมองพระเยซูอย่างไร ?
          3. อะไรทำให้พระเยซูดูเป็นผู้มีอำนาจ ?

บทที่ 15 ความรุนแรง

ชาวยิวที่อยู่ในเขตปาเลสไตน์สมัยพระเยซู ภาวนาขอให้มีพระผู้ไถ่ (เมสสิยาห์) บทภาวนาที่ใช้สวดกันในศาลาธรรม(เพลงสดุดีของซาโลมอน และคําอวยพร ๑๘ ประการ) มีทํานองว่า เมสสิยาห์คือผู้ที่จะเป็นกษัตริย์ในตระกูลของกษัตริย์เดวิด เมสสิยาห์จะต้องเป็นผู้ปกครองที่มีอํานาจมาก และจะตีผู้นําที่ชั่วช้าให้แตกกระจาย และทุบให้แตกเป็นเสี่ยงด้วยท่อนเหล็ก และจะทําลายชนชาติที่ไร้พระเจ้าด้วยคําพูดจากปาก เมสสิยาห์จะใช้ท่อนเหล็กเพื่อทําให้ทุกคนมีความเกรงกลัวพระเจ้า และชี้นําให้ทุกคนทําความดี ชาวยิวโดยทั่วไปหวังจะให้มีกษัตริย์องค์หนึ่งที่มีอํานาจ ทางการเมืองและการทหาร เพื่อจะสร้างอาณาจักรอิสราเอลขึ้นมาใหม่

1.พระเยซูไม่เคยประกาศตัวเป็นพระเมสสิยาห์

          เมื่อเราเปรียบเทียบคำว่า“เมสสิยาห์”ตามความคิดของชาวยิว   กับ อาณาจักรที่พระเยซูประกาศสอน เราคงจะไม่แปลกใจที่เห็นว่า พระเยซูไม่เคยอ้างตัวเป็นเมสสิยาห์  ไม่ว่าอ้างตรงๆหรือโดยทางอ้อม นักพระคัมภีร์ส่วนใหญ่ในปัจจุบันยอมรับข้อเท็จจริงข้อนี้

          ในพระวรสารบางตอนดูเหมือนว่าพระเยซูอ้างตัวว่าเป็นเมสสิยาห์ แต่เห็นได้ชัดว่าเป็นผู้เขียนพระวรสารเองที่มั่นใจว่าพระเยซูคือเมสสิยาห์ กระนั้นก็ดี ผู้เขียนพระวรสารทั้ง ๔ ก็ซื่อสัตย์ต่อข้อมูลและมีความถี่ถ้วนทางประวัติศาสตร์มาก จึงไม่ได้ยืนยันว่าพระเยซูอ้างตนเป็นเมสสิยาห์ และไม่ได้เว้นที่จะบันทึกลงไปด้วยว่าพระเยซูห้ามมิให้เรียกเมสสิยาห์ ดูเหมือนพระเยซูถือว่า การที่คนอื่นเรียกตนว่าเป็นเมสสิยาห์ หรือที่คนอื่นรบเร้าให้พระเยซูรับเป็นเมสสิยาห์  เป็นการผจญล่อลวงของมาร (ซาตาน) ฉะนั้นจะยอมคล้อยตามไม่ได้

2. พระเยซูถูกประจญ

          ในระหว่างที่หลบภัยอยู่นี้  มีเหตุการณ์ ๒ อย่าง ที่เป็นจุดกําเนิดของเรื่องพระเยซูถูกมารประจญ ให้รับเป็นกษัตริย์ ซึ่งเราจะเรียกว่าการประจญ ๒ ครั้ง

. การประจญครั้งแรก

          การประจญครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อชายประมาณ ๔ ถึง ๕ พันคน(ไม่มีผู้หญิงและเด็ก)จากแคว้นกาลิลีออกไปตามเนินที่เปลี่ยวใกล้เมืองเบทไซดา เพื่อพบกับพระเยซูและพวกสาวก พวกเขาออกไปทําไม ? และทําไมจึงมีแต่ผู้ชาย ? ใครเป็นผู้จัดการพบปะครั้งนี้ ? และทําไมจึงมาพร้อมกันเป็นจํานวนมากเช่นนี้ได้ ? เราไม่สงสัยเลยว่าการชุมนุมครั้งนี้ได้เกิดขึ้นจริง เพราะพระวรสารทั้ง ๔ และแหล่งข้อมูลต่างๆ มีบันทึกเรื่องนี้ทั้งนั้น เพียงแต่ว่าความสนใจมุ่งไปสู่ความหมายของ "อัศจรรย์ทวีปังและปลา"

          ข้อความบางประโยคชี้นําให้เราเข้าใจว่าการชุมนุมครั้งนั้น เดิมทีเดียวมีจุดประสงค์ และมีความสําคัญอย่างไร มาร์โกบอกว่าพระเยซูรู้สึกเห็นใจฝูงชนหลายพันคนนั้น เพราะพวกเขา "เป็นเหมือนฝูงแกะที่ไม่มีชุมพาบาล" ดังนั้น "พระเยซูจึงสั่งสอนพวกเขาอย่างยืดยาว" (มก.๖,๓๔) เข้าใจว่าพระเยซูคงจะสอนว่าอาณาจักรพระเจ้าเป็นอย่างไร และดังที่เราได้พบมาแล้วในบทก่อนๆว่า พระเยซูสอนให้พวกเขารู้จักแบ่งปันอาหาร ตามคําเล่าของยอห์น เหตุการณ์ครั้งนี้จบลงโดยที่พวกเขาพูดกันว่า "นี่เป็นประกาศกที่ต้องมาในโลกนี้แน่ ฝ่ายพระเยซูเห็นว่าพวกเขากําลังจะจับตนและตั้งให้เป็นกษัตริย์ จึงถอยหนีขึ้นไปบนเนินเขาตามลําพัง" (ยน.๖,๑๔-๑๕) ตามคําเล่าของมาร์โก พระเยซูต้องบังคับให้พวกสาวกลงเรือและล่วงหน้าไปก่อน ขณะที่พระเยซูจัดการให้ฝูงชนกลับไป แล้วขึ้นไปสวดภาวนาบนเนินเขา (มก.๖,๔๕-๔๖; มธ.๑๔,๒๒-๒๓)

          เราไม่รู้ว่าใครเป็นผู้จัดชุมนุม แต่คงไม่ใช่พวกซีลอท เพราะความคิดและวิธีการเข้ากับพระเยซูไม่ได้แน่ดังที่เราเห็นมาแล้ว และในระยะนี้พวกซีลอทค่อนข้างจะเงียบอยู่ เนื่องจากไม่มีผู้นําที่เด่นๆ (ฝูงแกะที่ไม่มีชุมพาบาล) ตําแหน่งผู้นําของพวกซีลอทเป็นตําแหน่งแบบสืบสกุล คือจากพ่อไปถึงลูก เหมือนกับพวกผู้นํามัคคาบีในยุคก่อนนั้น พวกซีลอทไม่ใช่เป็นพวกชาตินิยมพวกเดียว มีกลุ่มอื่นๆอีกที่ต้องการล้มล้างอํานาจยึดครองของโรมันและต้องการตั้งราชอาณาจักรอิสราเอลแทน (นักเขียนบางคนเข้าใจว่า ชาวยิวทุกคนที่ใช้ความรุนแรงเพื่อปลดแอกโรมัน เรียกว่าพวกซีลอททั้งนั้น ที่จริงไม่ใช่ พวกซีลอทรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนมี เอกลักษณ์ของตนเฉพาะ ในตอนปลายเมื่อพวกซีลอทนําพรรคพวกก่อการกบฏ พวกยิวทุกคนที่พร้อมจะต่อสู้ก็ได้เข้าร่วมขบวนภายใต้การนําของพวกซีลอท)

          ชายชาวยิวผู้รักชาติประมาณ ๕ พันคนออกไปในที่เปลี่ยว เพื่อชักชวนพระเยซูให้เป็นผู้นํา พระเยซูเป็นคนแคว้นกาลิลี เป็นประกาศก ทําสิ่งที่น่าทึ่งได้หลายอย่าง มีพรสวรรค์ในการเป็นผู้นํา และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็ได้ประจัญหน้ากับพวกผู้มีอํานาจในเมืองเยรูซาเลมที่พระวิหาร นอกนั้นมีข่าวลือด้วยว่าพระเยซูมีเชื้อสายกษัตริย์เดวิด

          พระเยซูเห็นใจและเข้าใจความต้องการของพวกเขา ที่อยากได้ผู้นําสู่อิสรภาพ แต่พระเยซูพยายามจูงใจพวกเขาให้เห็นว่า วิธีของพระเจ้าไม่เหมือนกับวิธีของมนุษย์ และอาณาจักรพระเจ้าไม่เหมือนกับอาณาจักรของมนุษย์แบบที่เห็นๆ กันอยู่ พระเยซูคงจะได้เชิญชวนให้พวกเขาเปลี่ยนหัวใจและเชื่อในอาณาจักรพระเจ้า แต่คําสอนของพระเยซู รวมทั้งอัศจรรย์แห่งการแบ่งปัน ยิ่งทําให้พวกเขาแน่ใจมากขึ้นว่า พระเยซูคือเมสสิยาห์หรือผู้ที่พระเจ้าเลือกสรรให้เป็นกษัตริย์ ฉะนั้นก่อนที่สถานการณ์จะควบคุมไม่ได้ พระเยซูจึงบังคับให้พวกสาวกลงเรือแล้วพระเยซูก็สลายฝูงชน หลังจากนั้นพระเยซูรู้สึกตัวว่าต้องการความสงบเพื่อการรําพึงภาวนา

. การประจญครั้งที่สอง

          การประจญครั้งที่สองมาจากเปโตร ที่บริเวณซีซาริยา-ฟิลิปปี  ประชาชนทั่วไปนับถือพระเยซูเป็นประกาศก เหมือนกับยอห์นแบปติสต์ เอลิยาห์ เยเรมี หรือประกาศกอื่นๆ แต่เปโตรประกาศในนามของเพื่อนสาวกว่า ตนนับถือพระเยซูเป็นเมสสิยาห์ พระเยซูจึงห้ามพวกสาวกอย่างเด็ดขาดว่า ไม่ให้พูดให้คนอื่นฟัง แล้วเริ่มอธิบายว่าตนจะต้องถูกกําจัด แล้วนั้นเปโตรพาพระเยซูออกไปห่าง ๆ เพื่อตําหนิพระเยซู  ฝ่ายพระเยซูก็ตําหนิเปโตรบ้าง โดยพูดว่า "ถอยไปข้างหลัง ซาตาน! เจ้าไม่คิดแบบพระเจ้า แต่คิดแบบมนุษย์" (มก.๘,๒๘-๓๓)

          มันเป็นการขัดแย้งกันอย่างรุนแรง เปโตรรู้สึกโมโหที่พระเยซูพูดถึงการถูกกําจัดและความล้มเหลว  ในเมื่อกําลังมีโอกาสที่จะยึดอํานาจและรับเป็นเมสสิยาห์ ฝ่ายพระเยซูก็โกรธที่เห็นเปโตรสวมบทบาทซาตานมาล่อลวงให้คิดแบบมนุษย์ คือคิดใช้อํานาจในรูปของความรุนแรง

          และนี่ก็เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่มีความแน่นอนทางประวัติศาสตร์มาก ผู้เขียนพระวรสารและคริสตชนสมัยแรกคงไม่กล้าประดิษฐ์เรื่องเช่นนี้ขึ้นมา  เพราะเป็นเรื่องขัดแย้งกันและใช้ถ้อยคําค่อนข้างรุนแรง  แต่ผู้เขียนพระวรสารบันทึกเหตุการณ์นี้ไว้ เพราะสนใจในคํายืนยันของเปโตรที่ว่า พระเยซูเป็นเมสสิยาห์ และบันทึกในทํานองที่ว่า ความขัดแย้งนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับการถูกจับและการทรมานเท่านั้น ไม่ใช่เกี่ยวกับตำแหน่งเมสสิยาห์  เดิมเป็นเรื่องของการประจญให้พระเยซูรับเป็นเมสสิยาห์ แต่ต่อมากลายเป็นเรื่อง "การยืนยันความเชื่อ" ของคริสตชนรุ่นแรกว่าพระเยซูเป็นเมสสิยาห์

          การประจญ (การล่อลวง การชักชวน) เป็นเรื่องจริงจังสําหรับพระเยซู เราอ่านเกี่ยวกับการที่พระเยซูถูกประจญในรูปของคําสนทนาระหว่างพระเยซูกับมาร(ซาตาน)ในที่เปลี่ยว (ลก.๔,๕-๘;มธ.๔,๘-๑๐) การบรรยายในพระวรสารมุ่งที่จะทําให้เราเข้าใจว่า พระเยซูต้องดิ้นรนต่อสู้กับการประจญให้ยึดอํานาจ และให้รับตําแหน่งกษัตริย์เพื่อปกครองอาณาจักรทั้งหลายในโลก ซึ่งเป็นความคิดที่น่าสนใจไม่ใช่น้อย มันคงจะเป็นโอกาสที่จะได้ปลดปล่อยคนจนและคนถูกกดขี่  หลังจากที่ยึดอํานาจแล้ว ก็สามารถใช้อํานาจเพื่อรับใช้ทุกคนได้ และมันอาจจะทําให้ปลุกความเชื่อของประชาชนได้ง่ายขึ้น แล้วโลกก็จะถูกเปลี่ยนเป็นโลกใหม่ได้

3. พระเยซูยืนยันแนวคิดเดิม

          พระเยซูไม่เคยถือหลักการที่ว่า ห้ามใช้กําลังไม่ว่าด้วยเหตุผลใดหรือในสถานการณ์ใดๆทั้งสิ้น พระเยซูเองก็เคยใช้กำลัง(คงจะไม่มีการนองเลือด) เมื่อครั้งกวาดล้างพวกพ่อค้าที่ลานพระวิหาร และเมื่อถึงคราวจําเป็น พระเยซูก็บอกให้สาวกหามีดดาบไว้ป้องกันตัว ในกรณีเช่นนี้ พระเยซูไม่ได้บอกให้หันแก้มให้อีกข้างหนึ่ง การหันแก้มอีกข้างหนึ่งให้ และไม่ต่อสู้ความชั่วร้าย เป็นหลักการที่พระเยซูอ้าง เพื่อขัดแย้งกับหลักการที่ว่า ตาต่อตา ฟันต่อฟัน หรือการแก้แค้น (มธ.๕,๓๘-๓๙) พระเยซูบอกว่า อย่าแก้แค้น ไม่ได้บอกว่า อย่าใช้กําลังเมื่อถึงคราวจําเป็น

          อย่างไรก็ตาม พระเยซูเห็นว่าในสถานการณ์ขณะนั้น การใช้กําลังเข้ายึดอํานาจจะมีผลเสียหาย และเมื่อเป็นเช่นนั้นก็ขัดกับความประสงค์ของพระเจ้า ในกรณีนี้ พระเยซูเห็นเหมือนกับพวกฟาริสีและซัดดูสีว่า การใช้กําลังเข้ายึดอํานาจปกครองจากกองทัพโรมัน ก็จะเป็นเหมือนการฆ่าตัวตาย การคิดใช้กําลังที่ด้อยกว่าแล้วหวังพลังมหัศจรรย์ของพระเจ้ามาช่วย ก็เป็นการ "ทดลอง" พระเจ้า (ดู ลก.๔,๑๒) ถ้ารบกับกองทัพโรมัน ก็มีแต่จะถูกฆ่าทั้งชาติ และนี่แหละคือสิ่งที่พระเยซูกลัวว่าจะเกิดขึ้น แต่ถ้าทุกคนเปลี่ยนความคิดและเปลี่ยนหัวใจเสียใหม่ ก็จะหลีกเลี่ยงเหตุการณ์เช่นนี้ได้

          พระเยซูไม่ยอมใช้กําลังเข้ายึดอํานาจ ไม่ใช่เพราะกลัวภัยพิบัติจะเกิดแก่ประชาชนเท่านั้น มีเหตุผลที่ลึกซึ้งกว่านั้นอีก คือการรับเป็นกษัตริย์ปกครองมนุษย์ ที่ไม่ได้หันความจงรักภักดีมาสู่อาณาจักรพระเจ้า และนําพวกคนเหล่านี้ไปทําสงครามรบราฆ่าฟันกัน ก็จะเป็นเหมือนหลงกลมาร (มธ.๔,๘-๑๐) มันเป็นเหมือนการรับอํานาจจากมาร ให้ปกครองอาณาจักรที่ไม่ใช่อาณาจักรพระเจ้า แต่เป็นอาณาจักรมนุษย์ที่แก้ปัญหากันด้วยความรุนแรง

          เราไม่อาจรู้ได้ว่า ถ้าสถานการณ์เป็นอย่างอื่น พระเยซูจะทําอย่างไร แต่จากหลักการของพระเยซูที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เราพอจะคาดได้ว่า ถ้าไม่มีวิธีอื่นที่จะป้องกันคนจนและคนถูกกดขี่ และถ้าไม่มีแนวโน้มที่จะทําให้เกิดความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ความเมตตาสงสารของพระเยซู  คงจะผลักดันให้ใช้ความรุนแรงเท่าที่จําเป็นเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เราเห็นแล้วว่าพระเยซูใช้กําลังขับไล่พวกพ่อค้า และสั่งให้เตรียมพร้อมโดยมีดาบป้องกันตัว แต่ความรุนแรงก็เป็นมาตรการชั่วคราว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงที่หนักกว่าเท่านั้น

          อย่างไรก็ตาม อาณาจักรพระเจ้า ซึ่งเป็นอาณาจักรแห่งการปลดปล่อย  อาณาจักรแห่งอิสรภาพของมวลมนุษย์ จะเกิดขึ้นจากความรุนแรงไม่ได้ ความเชื่อเท่านั้นที่จะทําให้อาณาจักรพระเจ้ามาถึง

 

คำถาม
          1.ถ้าท่านเป็นพระเยซู ท่านจะรับตำแหน่งผู้นำทางการเมืองไหม ?
          2.การประจญคืออะไรสำหรับท่าน ?
          3.ท่านคิดอย่างไรกับ ”การใช้ความรุนแรงปราบความรุนแรง” ?

บทที่ 16 ความทรมานและความตาย

การเบียดเบียนและความทุกข์ทรมานอยู่คู่กับประวัติศาสตร์ชาติยิวเสมอมา ตามทฤษฎี คนดีมักจะต้องทรมานเนื่องจากความดีของตน ชาวยิวผู้สัตย์ซื่อทุกคนยอมตายแต่ไม่ยอมละเมิดกฎบัญญัติ ในสมัยของมัคคา บี (๒ ศตวรรษก่อนพระเยซู) ชาวยิววัยฉกรรจ์หลายคนยอมทนทรมานและยอมตายเพื่อเห็นแก่กฎบัญญัติ เมื่อกองทัพโรมันยึดพระวิหารในปี ๖๓ ก่อนคริสตกาล สงฆ์ในพระวิหารยอมตายในหน้าที่ โดยถวายบูชาต่อไปจนถึงวาระสุดท้ายแทนที่จะหนี ในสมัยของพระเยซู พวกซีลอทยอมถูกทรมานแต่ไม่ยอมเรียกจักรพรรดิ์ซีซาร์เป็นเจ้านายและพวกนี้หลายพันคนถูกกองทัพโรมันจับตรึงกางเขน ในปี ค.ศ.๗๓ พวกนี้ฆ่าตัวตายในป้อมมาซาดา แทนที่จะยอมจํานนต่อศัตรูต่างศาสนา

          ฝ่ายพวกประกาศกก็ถูกผู้นําชาวยิวในเมืองเยรูซาเลมเบียดเบียน  เพราะในการประกาศสอน พวกประกาศกวิจารณ์ชาติและผู้นํา เมื่อถึงยุคพระเยซู ภาพพจน์ของประกาศกได้กลายเป็นภาพของผู้ต้องทนทุกข์ทรมาน จนกลายเป็นว่าประกาศกในอดีตต้องมีเรื่องถูกฆ่าหมดทุกคน (มธ. ๒๓,๒๙-๓๗; กิจการ.๗,๕๒) ความตายในกรณีต่างๆ ดังกล่าวมานี้ ชาวยิวถือว่าเป็นการชดเชยบาป บาปของเจ้าตัวเอง และบาปของคนอื่นด้วย ความเชื่อถือนี้ตกทอดเป็นมรดกไปถึงกลุ่มคริสตชนรุ่นแรก พระเยซูคิดอย่างไรเกี่ยวกับการทนทุกข์ทรมานและความตาย ?

1. การทนทุกข์ทรมาน

          คําสอนของพระเยซูเป็นเรื่องใหม่ และในตอนหนึ่ง พระเยซูพูดถึงการทรมานและความตายว่า มีความสัมพันธ์กับการมาถึงของอาณาจักรพระเจ้า "เป็นบุญของคนจน...เป็นบุญของผู้ที่ถูกเบียดเบียน...อาณาจักรพระเจ้าเป็นของพวกเขา เป็นบุญของพวกท่านเมื่อคนดูหมิ่นท่าน เบียดเบียนท่าน และว่าร้ายใส่ความท่าน...พวกเขาได้เบียดเบียนบรรดาประกาศกสมัยก่อนเช่นเดียวกัน" (มธ.๕,๓;๕,๑๐-๑๒) เนื่องจากบรรดาศิษย์ของพระเยซูมีความเมตตาสงสารต่อคนจน และเข้าร่วมวงเป็นหนึ่งเดียวกับพวกเขา ศิษย์ของพระเยซูจึงถูกเบียดเบียนกดขี่พร้อมกับคนจนทั่วไป  เพื่อจะเข้าสู่อาณาจักรพระเจ้าพร้อมกับคนจนและคนถูกกดขี่ เราต้องสละทรัพย์สินเงินทอง พร้อมที่จะจากครอบครัวและทิ้งอํานาจชื่อเสียง พูดง่ายๆคือ เราต้องสละตนเอง (มก.๘,๓๔) และพร้อมที่จะทนทรมาน

          มันเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกันในตัว ถ้าจะทําลายความทุกข์ ต้องยอมรับความทุกข์ พระเยซูมุ่งมั่นที่จะทําลายความทุกข์ทรมานในโลก ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์ทรมานของคนจน คนถูกเบียดเบียนและคนเจ็บป่วย หรือความทุกข์ทรมานที่จะเกิดขึ้นกับทุกคนหากภัยพิบัติมาถึง แต่วิธีเดียวที่จะทําลายความทุกข์ทรมานก็คือต้องทิ้งค่านิยมต่างๆ ที่ไม่ใช่ของอาณาจักรพระเจ้า และเมื่อการทิ้งค่านิยมดังกล่าวทําให้ลําบากหรือมีทุกข์ ก็ให้ยินดีรับความทุกข์ที่เกิดขึ้น ความเต็มใจที่จะรับทรมานเท่านั้นที่จะเอาชนะความทุกข์ทรมานในโลกได้ ความเมตตาสงสารทําลายความทุกข์ทรมานได้ โดยยอมรับความทุกข์ พร้อมกับ คนมีทุกข์ หรือโดยยอมรับความทุกข์แทนคนมีทุกข์  ถ้าเรามีความรู้สึกสงสารคนจน แต่ไม่พร้อมที่จะร่วมทุกข์กับคนจน มันก็เป็นเพียงความรู้สึกที่ไร้ค่า ถ้าเราแบ่งปันความทุกข์กับคนจน เราก็จะได้แบ่งปันพระพรกับคนจน

2. ชีวิตและความตาย

          ยิ่งกว่านั้น เรื่องความตายก็เป็นสิ่งที่ขัดแย้งในตัวด้วย พระเยซูพูดเกี่ยวกับชีวิตและความตาย โดยพูดเป็นคําคมที่มีความหมายเปรียบเทียบ แต่คําคมนี้ถ่ายทอดมาถึงเราโดยมีจุดผิดเพี้ยนแตกต่างกันไปบ้าง (มก.๘, ๓๕; มธ.๑๐,๓๙; ลก.๑๔,๒๖; ยน.๑๒,๒๕)   เมื่อเอามาเทียบกันแล้วน่าจะสรุปได้ว่า เดิมทีเดียว คําคมนั้นคือ "ใครรักษาชีวิตไว้ก็จะตาย ใครตายก็จะรักษาชีวิตไว้" แต่เราต้องจําไว้ว่ามันเป็นคําเปรียบเทียบ การเอาไปอธิบายในทํานองว่า ยอมเสียชีวิตในโลกนี้เพื่อจะได้รักษาชีวิตไว้ในโลกอื่น(เช่น ยน.๑๒,๒๕) ก็เป็นการถือว่าคําคมนี้ไม่ใช่คําเปรียบเทียบอีกต่อไป จริงๆ แล้วคําคมนี้หมายความว่าอะไร ?

          รักษาชีวิตไว้ หมายความว่า รักชีวิต เกาะยึดไว้แน่น และกลัวตาย ส่วนยอมตายหมายความว่า ปล่อยวาง ไม่เกาะติด และพร้อมที่จะตาย ความขัดแย้งในตัวก็คือ คนที่กลัวตายก็เหมือนกับตายแล้ว (ไม่ต้องทําอะไร หรือทําอะไรไม่ได้) และคนที่เลิกกลัวตายก็เริ่มมีชีวิต ถ้าอยากมีชีวิตที่แท้จริงและมีค่า ก็ต้องพร้อมที่จะยอมรับความตาย

3. การสละชีวิต

          คําถามที่ตามมาก็คือ เราจะยอมตายเพื่ออะไร? พวกนักรบมัคคาบี ยอมตายเพื่อกฎบัญญัติของพระเจ้า พวกซีลอทยอมตายเพื่ออาณาจักรอิสราเอล พวกอื่นๆยอมตายเพื่ออุดมการณ์ต่างๆ ของตน พระเยซูไม่ได้ยอมตายเพื่ออุดมการณ์ แต่ตามความคิดของพระเยซู เราต้องยอมสละชีวิตด้วยเหตุผลเดียวกับที่ยอมสละเงินทอง ชื่อเสียง อํานาจ ความภักดีต่อกลุ่ม ฯลฯ นั่นคือยอมสละเพื่ออาณาจักรพระเจ้าและเพื่อเพื่อนมนุษย์ ความรัก เมตตาผลักดันให้เราทําทุกอย่างเพื่อผู้อื่น แต่คนที่พูดว่าตนมีชีวิตเพื่อผู้อื่น แล้วไม่พร้อมที่จะรับความทุกข์และความตายเพื่อผู้อื่น ก็เป็นคนโกหก นั่นคือเขาตายแล้ว  พระเยซูมีชีวิตเต็มที่ เพราะพร้อมที่จะทรมานและตาย ไม่ใช่เพื่ออุดมการณ์ แต่เพื่อคน

          เราต้องเข้าใจเพิ่มเติมว่า ความพร้อมที่จะตายเพื่อคน ไม่ใช่เพียงแต่เพื่อบางคนเท่านั้น แต่เพื่อทุกคนหรือเพื่อมนุษยชาติ การยอมตายเพื่อบางคนก็คือความภักดีต่อกลุ่มเท่านั้นเอง แต่การยอมตายเพื่อทุกคนก็คือความรักแท้ในอาณาจักรพระเจ้า

          สําหรับพระเยซู ความพร้อมที่จะตายเพื่อทุกคน ก็คือการรับใช้ เหมือนกับการรับใช้ในรูปแบบอื่นๆ ที่พระเยซูเคยทํา "บุตรแห่งมนุษย์ไม่ได้มาเพื่อให้คนอื่นรับใช้ แต่มาเพื่อรับใช้คนอื่น และเพื่อมอบชีวิตเป็นค่าไถ่คนจํานวนมาก" (มก.๑๐,๔๕) ค่าไถ่คือสิ่งที่เราให้เพื่อแลกกับอิสรภาพของผู้อื่น มอบชีวิตเป็นค่าไถ่คือยอมตายเพื่อให้คนอื่นมีชีวิตต่อไป "เพื่อคนจํา นวนมาก" ในภาษาพระคัมภีร์โดยทั่วไปแปลว่า "เพื่อทุกคน" (เช่นเดียวกับใน มก.๑๔,๒๔; มธ.๒๖,๒๘)

          จนถึงเวลานี้เราพูดถึงแต่ความพร้อมของพระเยซูที่จะยอมตาย การยอมตายเพื่อมนุษยชาติคงเข้าใจได้ไม่ยากนัก แต่ตายอย่างไร หรือตายในกรณีไหน จึงเรียกว่าตายเพื่อมนุษยชาติ ? มีกรณีไหนบ้างที่คนคนหนึ่งรับใช้โลกมนุษย์ด้วยการตาย  ได้ผลดีกว่ารับใช้ด้วยการมีชีวิตอยู่ต่อไป ?

4. พระเยซูเผชิญกับทางสองแพ่ง

          พระเยซูรู้ตัวดีว่า สิ่งที่ตนกําลังทําและกําลังพูดอยู่นั้น เป็นอันตราย

สําหรับตนเอง  กษัตริย์เฮรอดได้ปิดปากยอห์นแบปติสต์ไปแล้ว  และมีข่าว

ว่ากำลังพยายามปิดปากพระเยซูด้วย (ลก.๑๓,๓๑) หลังจากเหตุการณ์ที่พระวิหาร ชีวิตของพระเยซูตกอยู่ในอันตราย จนถึงกับว่าจําเป็นต้องหลบซ่อน และในระหว่างที่หลบซ่อนอยู่นั้น มาถึงจุดหนึ่ง พระเยซูตัดสินใจที่จะไปตายที่เมืองเยรูซาเลม (มก.๘,๓๑; ลก.๙,๕๑; ๑๓,๓๓) ทําไมจึงตัดสินใจเช่นนั้น ?

          พระเยซูต้องเผชิญหน้ากับทางเลือก ๒ ทาง หลบซ่อนเพื่อมีชีวิตอยู่ต่อไป  หรือออกจากที่หลบซ่อนและเสี่ยงตาย  ชายฉกรรจ์ราว ๕ พันคน รวมทั้งเปโตรและสาวกทั้งหมดต้องการให้พระเยซูออกจากที่หลบซ่อน และก้าวออกไปในฐานะเมสสิยาห์ พร้อมกับนํากองทัพไปด้วย หรือแสดงพลังอย่างใดอย่างหนึ่ง  เพื่อเอาชนะศัตรูในเยรูซาเลม  แต่สําหรับพระเยซู ความเชื่อคืออาวุธ และเจตนาก็ยังคงเหมือนเดิม คือปลุกให้ประชาชนมีความเชื่อเกี่ยวกับอาณาจักรพระเจ้า ถ้าหลบซ่อนอยู่ จะทํางานนี้ไม่ได้ผล แต่ถ้าออกมาประกาศสอน ไม่เร็วก็ช้าจะต้องถูกจับได้และถูกปิดปาก เสียงปลุกความเชื่อก็จะเงียบไปด้วย นอกจากว่า ความตายจะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะปลุกความเชื่อเกี่ยวกับอาณาจักรพระเจ้าได้

          ตลอดชีวิต พระเยซูรับใช้คนจน คนเจ็บป่วย คนบาปและพวกสาวก ด้วยการปลุกให้มีความเชื่อในอาณาจักรพระเจ้า  และพยายามรับใช้พวกคัมภีราจารย์ พวกฟาริสี และพวกอื่นๆ ในทํานองเดียวกันนี้ด้วย ไม่มีวิธีอื่นที่จะช่วยคนให้พ้นจากบาป จากความทุกข์ หรือจากภัยพิบัติ ไม่มีวิธีอื่นที่จะทําให้อาณาจักรพระเจ้ามาถึงแทนภัยพิบัติ แต่เมื่อพระเยซูถูกกีดกันไม่ให้ทําหน้าที่ประกาศสอนและปลุกความเชื่อด้วยคําพูดและด้วยกิจการ มีอะไรอื่นอีกที่จะทําได้ ?

          พระเยซูไม่ยอมจํานนต่อการรบเร้าให้รับตําแหน่งเมสสิยาห์ และใช้กําลังเพื่อแก้ปัญหา และไม่ยอมปรับคําสอนและจุดยืนให้อ่อนลงเพื่อออมชอมกับพวกผู้มีอํานาจ(หากยังไม่สายเกินไป) เมื่อไม่ยอม ก็ไม่มีทางเลือกอื่นแล้วนอกจาก “ตาย” ในกรณีนี้ ความตายเป็นวิธีเดียวที่จะรับใช้มนุษยชาติต่อไป เป็นวิธีเดียวที่จะพูดกับโลกมนุษย์ (ยน.๗,๑-๔) เป็นวิธีเดียวที่จะยืนยันถึงอาณาจักรพระเจ้า การกระทําดังกว่าคําพูด แต่ความตายดังกว่าการกระทํา พระเยซูตายเพื่อให้อาณาจักรพระเจ้ามาถึง

5. พระเยซูสละชีวิต

          พระวรสารทุกฉบับแสดงให้เราเห็นว่า พระเยซูเดินหน้าไปสู่ความตาย โดยรู้ตัวและเต็มใจ แม้ว่าคําพูดที่ผู้เขียนพระวรสารใช้(เป็นต้นในตอนที่เรียกกันว่า "คําทํานายถึงความตาย") เป็นคําพูดที่สะท้อนความเชื่อ  และความเข้าใจของคริสตชนหลังความตายของพระเยซู แต่การที่พระเยซูเผชิญหน้ากับความตายโดยรู้ตัวและเต็มใจนี้ เป็นสิ่งที่เรายืนยันได้อย่างไม่มีข้อสงสัย

          สิ่งที่น่าสังเกตคือ พระเยซูพูดถึงความตายในช่วงที่หลบซ่อนอยู่ ครั้งแรกที่พูดถึง เป็นการตอบคําประกาศของเปโตรที่ว่าพระเยซูเป็นเมสสิยาห์  ทั้ง ๓ ครั้งที่พูดถึงความตาย พระเยซูจะพูดต่อไปถึงการสละตนเอง ความพร้อมยอมตาย การรับใช้ และสภาพที่ตํ่าต้อยที่สุด (มก.๘,๓๔-๓๗; ๙,๓๑-๓๗; ๑๐,๓๓-๔๕)

          เราไม่สามารถบอกได้ว่า พระเยซูคาดการณ์ล่วงหน้าเกี่ยวกับรายละเอียดของการถูกกําจัดได้มากแค่ไหน พวกสาวกจะถูกจับด้วยไหม หรือพระเยซูคนเดียว ? จะถูกทุ่มหินตาย (โดยพวกผู้นําชาวยิว) หรือจะถูกตรึงกางเขน(โดยพวกโรมัน) ? พวกเขาจะเข้าจับกุมระหว่างเทศกาลฉลองหรือหลังจากนั้น ? จะมีโอกาศสอนที่พระวิหารก่อนจะถูกจับไหม ? พระเยซูคงจะคาดการณ์ล่วงหน้าได้หลายอย่าง อย่างหนึ่งที่แน่คือ คาดว่ายูดาสจะทรยศ กรณีต่างๆ ที่เราตั้งคําถามมานี้ พระเยซูคงคาดไว้ได้ทั้งหมด โดยไม่ต้องมีตาทิพย์ หรือการเผยแสดงจากพระเจ้าเป็นพิเศษ เมื่อเราฟังนิทานเปรียบเทียบทั้งหลายที่พระเยซูเล่า เราก็รู้ทันทีว่า พระเยซูเป็นคนที่เข้าใจความคิดความรู้สึกและเจตนาของใจมนุษย์อย่างลึกซึ้ง จนถึงกับว่าสามารถบอกล่วงหน้าได้ว่าในกรณีเช่นนี้ คนจะคิดอย่างไรและจะทําอย่างไร

6. การกลับเป็นขึ้นมา

          แล้วพระเยซูรู้ล่วงหน้าเกี่ยวกับ "การกลับเป็นขึ้นมา" หรือไม่ ? ในการพูดเกี่ยวกับความตายบางครั้งมีสรุปว่า "หลังจากนั้น ๓ วัน บุตรแห่งมนุษย์จะกลับเป็นขึ้นมา" (มก.๘,๓๑; ๙,๓๑; ๑๐,๓๔; ๙,๙) พระเยซูอาจจะได้พูดเช่นนี้ล่วงหน้าก็เป็นไปได้ เพราะในภาษายิวและอาราไมอิค "หลังจาก ๓ วัน"  แปลว่า อีกไม่นาน พระเยซูอาจจะได้พูดล่วงหน้าว่าตายแล้วอีกไม่นานก็จะกลับเป็นขึ้นมา ชาวยิวส่วนใหญ่ในสมัยพระเยซู เชื่อว่าคนตายจะกลับเป็นขึ้นมาในวันสุดท้าย และในวันสุดท้ายผู้ที่จะกลับเป็นขึ้นมาอย่างแน่นอนที่สุดคือผู้ที่ได้ตายเพื่อชาติและศาสนายิว(martyrs) เป็นไปไม่ได้ที่พระเยซูจะพูดไว้ว่าตนเองจะกลับเป็นขึ้นมาก่อนวันสุดท้าย ถ้าได้พูดเช่นนั้นจริง ทําไมจึงมีความประหลาดใจ วุ่นวาย และสงสัยเมื่อพระวรสารพูดถึงพระเยซูกลับเป็นขึ้นมา ? "หลังจากนั้น ๓ วัน บุตรแห่งมนุษย์จะกลับเป็นขึ้นมา" ความหมายที่จะเข้าใจได้ก็คือ ในฐานะที่เป็นประกาศกและผู้สละชีวิต พระเยซูคาดว่าตัวเองจะต้องกลับเป็นขึ้นมาในวันสุดท้าย และอีกไม่นานก็จะถึงวันสุดท้ายแล้ว

          ความเข้าใจแบบนี้เป็นสิ่งที่ไม่ขัดกับความเชื่อถือของพระเยซู แต่มันไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่พระเยซูพยายามพูดพยายามทําในขณะนั้น พระเยซูคงจะเห็นด้วยกับพวกฟาริสี (และไม่เห็นด้วยกับพวกซัดดูสี) ในเรื่องการกลับเป็นขึ้นมา (มก.๑๒,๑๘-๒๗) แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า นอกจากกรณีที่พูดเกี่ยวกับความตายของตนแล้ว พระเยซูไม่เคยพูดเรื่องการกลับเป็นขึ้นมาเลย ยกเว้นครั้งเดียวที่เอ่ยถึง เมื่อพวกซัดดูสียกเรื่องนี้ขึ้นมาถาม พระเยซูไม่ได้ยกขึ้นมาพูดเอง เพราะมันไม่ใช่ส่วนสําคัญของสาร ที่พระเยซูต้องการจะประกาศแก่ชาวยิวในเวลานั้น และในสถานการณ์เช่นนั้น  ในเมื่อประชาชนกําลังทนทุกข์ทรมาน ภัยพิบัติกําลังจะมาถึง และมีหวังเป็นอย่างมากว่า อาณาจักรพระเจ้าอาจจะมาถึงในอีกไม่ช้าแทนที่จะเกิดภัยพิบัติ ในสถานการณ์เช่นนี้ใครจะไปพูดเรื่องการกลับเป็นขึ้นมา? ดังนั้นเราสงสัยว่า จริงๆ แล้วพระเยซูเคยพูดเรื่องการกลับเป็นขึ้นมาของตนหลังจากถูกศัตรูฆ่าหรือไม่  อาจจะเป็นการเสริมแต่งโดยพวกศิษย์ภายหลังจากเหตุการณ์ก็เป็นได้

          นี่ไม่ใช่แปลว่าพระเยซูไม่เชื่อเรื่องการกลับเป็นขึ้นมา เราไม่สงสัยเลยว่าพระเยซูเชื่อในเรื่องนี้ พร้อมกับเรื่องอื่นๆอีกหลายเรื่องที่ชาวยิวร่วมสมัยเชื่อกัน เช่นเดียวกับบรรดาประกาศกที่เชื่อในหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสารที่ตนต้องประกาศให้แก่ประชาชน สําหรับพระเยซูในขณะนั้น เรื่องการกลับเป็นขึ้นมาไม่ใช่ปัญหา การเสียภาษีให้จักรพรรดิ์ ซีซาร์ ไม่ใช่ปัญหา และการถวายบูชาในพระวิหารก็ไม่ใช่ปัญหาเช่นกัน

          แต่สถานการณ์หลังความตายของพระเยซูเปลี่ยนไปมาก  ตอนนั้นแหละที่เรื่องการกลับเป็นขึ้นมา กลายเป็น “ปัญหาหลัก” ดังที่เราจะได้ศึกษาต่อไป

คำถาม
1. พระเยซูสอนเกี่ยวกับ ความทุกข์ ชีวิตและความตายอย่างไร?
2. การสละชีวิตเพื่อคนอื่นมีความหมายอย่างไร ?
3. ท่านเข้าใจเกี่ยวกับการกลับคืนชีพอย่างไร ?

บทที่ 14 เหตุการณ์ที่พระวิหาร

มีข้อมูลหลายอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า มีจุดหนึ่งในชีวิตพระเยซูที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ หนังสือพระวรสารทั้ง ๔ พูดถึงการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ครั้งสําคัญนี้    แม้ว่าจะเน้นที่ความหมายทางศาสนศาสตร์    มากกว่าทางประวัติศาสตร์ พระวรสารแต่ละฉบับต่างก็พยายามจะทําให้เราเข้าใจว่า เมื่อมาถึงจุดหนึ่ง การต่อต้านที่พวกผู้นําชาวยิวมีต่อพระเยซูมาถึงจุดสูงสุด ในเวลาเดียวกัน ความหวังของประชาชนจํานวนมากในเรื่องพระผู้ไถ่หันมาบรรจบที่พระเยซูอย่างชัดแจ้ง แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อมาถึงจุดนี้ พระเยซูถอยหลบออกไปในที่ห่างไกลฝูงชน และมุ่งสั่งสอนกลุ่มสาวกผู้ใกล้ชิดเป็นพิเศษ พร้อมกับเตรียมตัวเดินทางไปเยรูซาเลมเพื่อเผชิญกับความตาย

1. คำถามทางประวัติศาสตร์

          ในทางประวัติศาสตร์ เหตุการณ์ดูไม่ต่อเนื่องและไม่สามารถอธิบายได้ว่า เรื่องของพระเยซูกลับดังและอื้อฉาวขึ้นมาอย่างกระทันหันได้อย่างไร จริงอยู่ กิจกรรมและคําสอนของพระเยซูมีลักษณะ "ไวไฟ" อยู่มาก แต่เราไม่เห็นว่ามีอะไรที่ทําให้พระเยซูกลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในระดับชาติ จนถึงขั้นที่ฝ่ายผู้มีอํานาจในบ้านเมืองต้องการจะจับกุม และฝ่ายประชาชนต้องการจะตั้งเป็นกษัตริย์ ทําไมพระเยซูจึงต้องเก็บตัวและลี้ภัยไปประเทศใกล้เคียง ? มีอะไรที่ทําให้พระเยซูแน่ใจว่าตนเองและพวกสาวกจะต้องตายอย่างน่าอนาถ ?

          เราได้คําตอบมาจากนักพระคัมภีร์ผู้มีชื่อเสียง ชื่อเอเจียน ทรอกเม ท่านผู้นี้ได้ศึกษาค้นคว้าและยืนยันว่า เหตุการณ์ในพระวิหารไม่ได้เกิดขึ้นในสัปดาห์สุดท้ายของชีวิตพระเยซู แต่เกิดขึ้นเมื่อพระเยซูไปเมืองเยรูซาเลมครั้งก่อนหน้านั้น มาร์โกผู้เขียนพระวรสารคนแรกได้จัดเนื้อหาเป็นหมวดหมู่ และได้พูดถึงทุกอย่างที่เกิดขึ้นในแคว้นกาลิลีให้หมด ก่อนที่จะพูดถึงเหตุการณ์ในเมืองเยรูซาเลม   การจัดแบบนี้ทําให้ผู้เขียนพระวรสารต่อมา คือลูกาและมัทธิว รวมทั้งนักศึกษาพระคัมภีร์ยุคหลังๆ ต่างก็ไขว้เขวไปหมด  ส่วนยอห์นผู้เขียนพระวรสารเป็นคนสุดท้าย มีวิธีจัดเนื้อหาแบบรวมเหตุการณ์มาไว้ในแคว้นยูเดียและเมืองเยรูซาเลม ยอห์นพูดถึงเหตุการณ์ในพระวิหารในตอนต้นๆ (ยน.๒,๑๓-๒๒) การจัดเนื้อหาต่างกันสองแบบเช่นนี้ ทําให้เห็นว่า จริงๆ แล้วเหตุการณ์นี้ไม่จําเป็นจะต้องเกิดขึ้นในบั้นปลาย เมื่อพระเยซูไปเยรูซาเลมครั้งสุดท้าย

2.  เหตุการณ์ในพระวิหาร

          เป็นที่ยอมรับในวงการศึกษาพระคัมภีร์มานานแล้วว่า พระเยซูเคยเดินทางไปมาระหว่างกาลิลีและเยรูซาเลมบ่อยครั้ง (ไม่ใช่ไปเยรูซาเลมครั้งเดียวเมื่อตอนจบ ดังที่ปรากฏในพระวรสารโดยมาร์โก ลูกา และมัทธิว) และพระเยซูมีศิษย์หลายคนในเยรูซาเลม ในแคว้นยูเดีย เช่นเดียวกับที่มีศิษย์ในแคว้นกาลิลี และเมื่อศาสตราจารย์ทรอกเมชี้ให้เห็นว่า เหตุการณ์ในพระวิหารเกิดขึ้นเมื่อพระเยซูไปเยรูซาเลมครั้งใดครั้งหนึ่ง แต่ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ก็ทําให้เราเห็นได้ว่าเหตุการณ์มันต่อเนื่อง และทําให้เห็นชัดว่าทําไมพระเยซูจึงกลายเป็นคนเด่นดังขึ้นมา เป็นที่รู้จักและกล่าวขวัญถึงทั่วประเทศ

          มีอะไรเกิดขึ้นที่พระวิหาร ? นักเขียนบางคนคิดว่า เหตุการณ์นี้เป็นการยึดอํานาจครอบครองพระวิหาร และเป็นขั้นแรกในแผนยึดเมืองเยรูซาเลม แต่ความเห็นนี้ไม่ถูกต้อง มันไม่เกี่ยวกับพิธีกรรมถวายบูชาที่ทํากันอยู่ในพระวิหาร และไม่เกี่ยวกับเรื่องที่ว่า พระผู้ไถ่จะมาชําระการนมัสการพระเจ้าให้บริสุทธิ์ ตามความเชื่อของชาวยิวหลายคน เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในลานพระวิหารส่วนที่เรียกว่า "ลานของคนต่างศาสนา" ไม่ใช่เกิดขึ้นในส่วนที่ถวายบูชาที่เรียกว่า"สถานศักดิ์สิทธิ์" พระเยซูไม่สนใจเรื่องยึดอํานาจ หรือการชําระพิธีกรรม แต่เหตุเกิดจากปัญหาพวกพ่อค้าและพวกแลกเปลี่ยนเงินตรา

          ในลานพระวิหารมีการค้าขายสัตว์เพื่อการถวายบูชาอย่างคึกคัก เนื่องจากมีกฎทางศาสนาว่าสัตว์ที่จะใช้ ถวายบูชาต้องเป็นสัตว์ที่ "บริสุทธิ์" พวกพ่อค้าจึงฉวยโอกาสตั้งราคาสูงมาก ฝ่ายพวกแลกเงินตราก็ฉวยโอกาสเอากําไรเต็มที่ เพราะมีกําหนดว่าชาวยิวแต่ละคนต้องใช้จ่ายเงินในพระวิหารเป็นสัดส่วนกับรายได้ของตน และชาวยิวส่วนมากที่มานมัสการพระเจ้าที่พระวิหารนําเงินติดตัวมาเป็นเงินต่างประเทศ และตามกฎจําเป็นต้องแลกเป็นเงินตราที่ใช้ในพระวิหารเสียก่อน

          นี่คือภาพที่พระเยซูเห็นเมื่อเข้าไปในลานพระวิหาร และมันทําให้พระเยซูไม่พอใจเป็นอย่างมาก พระเยซูไม่รู้สึกประทับใจในความสวยงามของอาคารสถานที่ (มก.๑๓,๑-๒) พระเยซูไม่สนใจจารีตพิธีกรรมที่ทํากันอย่างพิถีพิถัน  แต่พระเยซูสังเกตเห็นหญิงม่ายที่ทําบุญด้วยเงินเหรียญสุดท้าย (มก.๑๒,๔๑-๔๔) พระเยซูสังเกตเห็นการฉวยโอกาสเอารัดเอาเปรียบชาวบ้านที่มานมัสการพระเจ้าด้วยความศรัทธา พวกพ่อค้าและพวกแลกเงินตรานมัสการมัมมอน(เทพเจ้าแห่งเงินตรา) แทนที่จะนมัสการพระเจ้าเที่ยงแท้ และทําเช่นนี้โดยได้รับอนุญาตจากพวกหัวหน้าคณะสงฆ์ผู้จัดการพระวิหาร และคงจะมีการสมรู้ร่วมคิดแบ่งปันผลประโยชน์กันอย่างแน่นอน

          พระเยซูทนดูภาพอย่างนี้ไม่ได้ ความรักเมตตาสงสารที่มีต่อคนจนและคนถูกกดขี่ ผลักดันให้พระเยซูต้องเดือดดาล และต้องทําอะไรลงไปสักอย่างเพื่อแก้ไข

          ตามคําเล่าของมาร์โก ตอนที่พระเยซูเห็นสภาพของลานพระวิหารนี้ เป็นเวลาบ่าย และจะทําอะไรลงไปไม่ทันแล้ว (มก.๑๑,๑๑) ดังนั้นวันรุ่งขึ้นพระเยซูกลับไปที่ลานพระวิหารใหม่ และคงจะได้รวบรวมสมัครพรรคพวกพอสมควรไปช่วยด้วย พระเยซูคนเดียวจะไล่พวกพ่อค้าและพวกแลกเงินตราไม่ไหวแน่ นี่แสดงว่าการกระทําของพระเยซูไม่ใช่เกิดขึ้นเพราะความโกรธชั่ววูบ แต่พระเยซูได้มีเวลาคิดและพิจารณาเป็นอย่างดีแล้วว่าสมควรทํา พระเยซูและพรรคพวก ไล่พวกพ่อค้าและพวกแลกเงินตรา ออกไปนอกบริเวณลานพระวิหารพร้อมกับสินค้าและเงินตราทุกอย่าง ยอห์นเล่าว่าพระเยซูใช้แส้ด้วย(ยน.๒,๑๕) ส่วนพรรคพวกใช้แส้หรือจะใช้มีดดาบกวัดแกว่งไปด้วยหรือไม่เราไม่ทราบ พระเยซูคงจะได้วางยามเฝ้าประตูไว้เพื่อไม่ให้พวกนั้นกลับเข้ามา   และเพื่อบังคับให้คนถือตามคําสั่งห้ามขนของผ่านลานพระวิหาร(มก.๑๑,๑๖) ลานพระวิหารนั้นคงเคยใช้เป็นทางลัด เพื่อขนส่งสินค้าจากมุมเมืองหนึ่งไปยังอีกมุมเมืองหนึ่ง

          การกวาดล้างดังกล่าวคงได้ก่อให้เกิดความอลหม่านเป็นอย่างมาก หลายคนเคยตั้งคําถามว่าทําไมพวกเจ้าหน้าที่รักษาความสงบในพระวิหาร จึงไม่เข้าไปควบคุมสถานการณ์ ทั้งๆที่มีเจ้าหน้าที่ตระเวนอยู่ทั่วไป หรือทําไมพวกทหารโรมันซึ่งอยู่ในป้อมติดกับบริเวณพระวิหารเฝ้าดูจากป้อมเฉยๆ อาจเป็นได้ที่ทั้งสองพวกนี้กลัวว่าถ้าถืออาวุธเข้าควบคุมสถานการณ์ อาจเป็นชนวนก่อให้เกิดการจราจลได้ หรืออาจเป็นได้ที่มีการเข้าควบคุมสถานการณ์ มีนักเขียนที่กล้าแสดงความเห็นว่า พวกของพระเยซูคงจะได้เข้าปะทะกับเจ้าหน้าที่หรือพวกทหารโรมัน และยึดครองพื้นที่พระวิหารอยู่ขณะหนึ่ง แต่ความคิดนี้ไม่เป็นความจริง เพราะถ้าทําดังที่ว่านี้จริง การกระทําของพระเยซูก็จะไม่สอดคล้องกับสิ่งที่พระเยซูเคยพูดและเคยทํามาตลอดจนถึงเวลานี้ และไม่สอดคล้องกับเหตุการณ์ที่ตามมาในภายหลังด้วย นอกนั้นถ้ามีการปะทะกับเจ้าหน้าที่หรือทหารโรมันจริง นักประวัติศาสตร์ชาวยิวที่ชื่อโยเซฟัสคงจะได้บันทึกไว้แล้ว เพราะคงจะเป็นเรื่องที่มีความสําคัญทางการเมืองและการทหารเป็นอันมาก

          ผู้เขียนมีความเห็นว่า เจ้าหน้าที่รักษาความสงบในพระวิหารคงจะได้เข้าควบคุมสถานการณ์ แต่เพียงเพื่อจะรักษาความสงบ จนกว่าพวกหัวหน้าคณะสงฆ์เข้ามาเจรจาหาทางยุติปัญหาอย่างสันติ พระเยซูไม่ได้ต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าหน้าที่ และพวกเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้บังคับให้ปล่อยพวกพ่อค้ากลับเข้ามาใหม่ ปัญหาที่ต้องเจรจากับพวกหัวหน้าคณะสงฆ์ก็คือสิทธิหรืออํานาจของพระเยซู "ท่านมีอํานาจอะไรที่จะมาทําเช่นนี้ ใครมอบอํานาจนี้ให้ท่าน ?" (มก.๑๑,๒๘) "ท่านจะแสดงเครื่องหมายอะไรให้เราเห็นว่าท่านมีสิทธิทําเช่นนี้ ?" (ยน.๒,๑๘)

          พระเยซูไม่มีอํานาจอะไรเป็นทางการ และไม่อ้างอํานาจของพระเจ้า ดังที่พวกประกาศกเคยอ้าง เนื่องจากพวกหัวหน้าคณะสงฆ์ไม่ยอมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาอํานาจของยอห์นแบปติสต์ พระเยซูจึงไม่ยอมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาอํานาจของตน  พระเยซูถือว่าสิ่งที่ตนทํานั้น จะตัดสินว่าถูกหรือผิดโดยอ้างอํานาจใดๆไม่ได้ ต้องตัดสินโดยพิจารณาสิ่งนั้นเองว่าดีหรือไม่ดี ไม่จําเป็นต้องมีเครื่องหมายอะไรมายืนยัน เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต (พระวิหารใหม่หรืออาณาจักรใหม่) จะยืนยันเองว่าพระเยซูทําถูกต้องแล้ว

          เมื่อพระเยซูสอนอยู่ในบริเวณพระวิหาร(จะเป็นโอกาสเดียวกันนี้หรือไม่ก็ตาม) พระเยซูพูดว่าเมื่อภัยพิบัติจะเกิดขึ้น เมืองเยรูซาเลมและพระวิหารจะถูกทําลาย และพูดถึงอาณาจักรพระเจ้าว่าเป็นพระวิหารแบบใหม่ สรุปแล้วพระเยซูก็สอนตามที่เคยพูดมาตลอดคือ มีความจําเป็นรีบด่วนที่จะต้องเปลี่ยนหัวใจใหม่ จะมีภัยพิบัติเกิดขึ้นในไม่ช้าหากไม่รีบกลับใจ ถ้าทุกคนยอมเปลี่ยนทันทีก็จะมีพระวิหารใหม่เกิดขึ้น(นั่นคือชุมชนใหม่หรืออาณาจักรใหม่) แต่ผู้ฟังก็เข้าใจผิดคิดว่าพระเยซูพูดดูหมิ่นพระวิหาร ดูหมิ่นประเทศชาติบ้านเมือง

          สิ่งที่ทําให้พวกผู้นําเป็นห่วงมากก็คือ ดูเหมือนว่าพระเยซูมีอิทธิพลต่อประชาชนจํานวนมาก ทั้งๆ ที่ส่วนหนึ่งไม่เคยได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับพระเยซูก่อนที่จะมีเหตุการณ์ในพระวิหารเลย พระเยซูกลายเป็นคนสําคัญระดับชาติอย่างทันทีทันใด จะเมินเฉยต่อไปไม่ได้ พวกผู้นําจึงต้องตัดสินใจดําเนินการอะไรบางอย่าง

          บันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ตั้งแต่จุดนี้ไปจนถึงการประหารชีวิตพระเยซู มีความสับสนอยู่มาก เราบอกได้เพียงแต่ว่า ในช่วงเวลาระหว่างเหตุการณ์ที่พระวิหารกับการจับกุมพระเยซู พวกผู้มีอํานาจในเมืองเยรูซาเลมได้รวมหัวกันและตัดสินใจที่จะกําจัดพระเยซู ยอห์นบรรยายถึงการประชุมวางแผนของคณะสงฆ์และฟาริสี (ยน.๑๑,๔๗-๕๒) และในตอนหนึ่ง ไกฟาสผู้เป็นหัวหน้าคณะสงฆ์ชี้แจงว่า "ให้คนหนึ่งตายดีกว่าที่จะปล่อยให้ทั้งชาติถูกทําลาย" แม้จะไม่มีรายละเอียดในแง่ของประวัติศาสตร์มากนัก แต่การประชุมในลักษณะนี้มีพูดถึงในพระวรสารอีกทั้ง ๓ ฉบับ (มก.๑๔,๑-๒;มธ.๒๖,๓-๕; ลก.๒๒,๒)

3. วิถีชีวิตของพระเยซูเปลี่ยนไป

          พระเยซูรู้ตัวว่าพวกที่ตั้งตนเป็นศัตรูพยายามหาทางจับกุม พระเยซูจึงหลบหนี (ยน.๘, ๕๙; ๑๐,๓๙; ๑๒,๓๖) ไม่ไปไหนมาไหนอย่างเปิดเผย (ยน.๑๑,๕๔) ต้องออกจากเยรูซาเลมและแคว้นยูเดีย (ยน.๗,๑) แต่อยู่ในแคว้นกาลิลีก็ไม่ปลอดภัยเช่นกัน เพราะกษัตริย์เฮรอดก็ต้องการ กําจัดพระเยซูเหมือนกัน (ลก.๑๓,๓๑; มก.๖,๑๔-๑๖) พระเยซูจึงต้องหลบไปอยู่นอกแคว้นกาลิลี เช่น ฟากตะวันออกของทะเลสาบ เขตเมืองไทระและไซดอน เขตที่เรียกว่าทศนคร และเขตเมืองซีซาริยา-ฟิลิปปี (มก.๗,๒๔;๗, ๓๑; ๘,๒๒; ๘,๒๗) แม้ว่าในทางภูมิศาสตร์ข้อมูลอาจจะไม่ค่อยถี่ถ้วน แต่เป็นเรื่องชัดเจนที่พระเยซูต้องลี้ภัยในต่างแดน

          ในที่สุดเมื่อพระเยซูต้องกลับสู่เมืองเยรูซาเลม พระเยซูก็หาทางหลบซ่อนและทําอะไรอย่างลับๆ  เมื่อพวกศิษย์ต้องจัดเตรียมพิธีเลี้ยงปัสกา พวกเขาต้องไปพบชายคนหนึ่งที่หิ้วถังนํ้า และตามชายคนนั้นไปถึงบ้านหลังหนึ่ง เจ้าของบ้านจะพาขึ้นไป...(มก.๑๔,๑๒-๑๖) เมื่อไปเยรูซาเลม พระเยซูต้องออกไปหาที่พักนอกเมือง เช่นที่หมู่บ้านเบธานี (มก. ๑๔,๓) หรือเอฟราอิม (ยน.๑๑,๕๔) หรือไม่ก็สวนเกทเซมานี (มก.๑๔,๓๒) กลางวันพระเยซูจะใช้ฝูงชนเป็นกําบังในลานพระวิหาร (ลก.๒๑,๓๗-๓๘) พระเยซูรู้ว่าพวกที่ปองร้ายไม่กล้าเข้าจับกุม เพราะอาจเกิดการจราจลได้ (มก.๑๔,๒;ลก.๒๐,๑๙)

4. พระเยซูสั่งเตรียมพร้อม

          เหตุการณ์ในพระวิหารได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของพระเยซูและพวกสาวก หลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่จําเป็นก็กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ "พระเยซูพูดกับพวกสาวกว่า เมื่อเราส่งพวกท่านออกไป (เพื่อประกาศข่าวดี) โดยไม่ได้มีถุงย่ามหรือรองเท้าไปด้วย พวกท่านขาดแคลนสิ่งใดหรือไม่ พวกเขาตอบว่า “ ไม่” พระเยซูพูดต่อไปว่า แต่บัดนี้ ถ้าท่านมีถุงก็เอาไปด้วย ถ้ามีย่ามก็เช่นกัน ถ้าไม่มีมีดดาบ ก็จงขายเสื้อคลุมแล้วซื้อมีดดาบไว้สักอัน"(ลก.๒๒,๓๕-๓๖) ทีแรกพระเยซูและสาวกอยู่ได้โดยอาศัยไมตรีจิตของ ชาวบ้านทั่วไป แต่มาถึงตอนนี้ มีอันตรายอยู่รอบข้าง และไม่รู้ว่าไว้ใจใครได้หรือไม่ อาจจะถูกจับได้ทุกเมื่อ จึงจําเป็นต้องเตรียมพร้อม มีดาบไว้เพื่อป้องกันตนเอง

5. พระเยซูสั่งสอนสาวกต่อเนื่อง

          เราไม่รู้ว่าพระเยซูต้องหลบซ่อนอยู่เช่นนี้เป็นเวลานานเท่าไร  เรารู้เพียงแต่ว่าในช่วงเวลานี้ พระเยซูพยายามอบรมสั่งสอนพวกสาวกอย่างถี่ถ้วนเกี่ยวกับความเร้นลับแห่งอาณาจักรพระเจ้า(มก.๔,๑๑;๙,๓๑) พระเยซูอาจจะได้พูดถึงแผนโครงสร้างของอาณาจักรที่จะมาถึงด้วย พระเจ้าจะเป็นกษัตริย์ พระเยซูจะมีตําแหน่งผู้นําแบบใดแบบหนึ่ง สาวกผู้ใกล้ชิด ๑๒ คนจะมีหน้าที่รับผิดชอบแผนกต่างๆ ในชุมชนอิสราเอล ตรงกับจํานวน ๑๒ ตระกูลตั้งแต่ดั้งเดิม "พวกท่านจะนั่งบน ๑๒ บัลลังก์ ปกครองตระกูลทั้ง ๑๒ ของชาติอิสราเอล" (มธ.๑๙,๒๘=ลก.๒๒,๓๐) (คําว่า judge ตามภาษาพระคัมภีร์แปลว่า ปกครอง)

          คงจะเป็นโอกาสนี้ที่พวกสาวกถกเถียงกันว่า ใครจะเป็นใหญ่ที่สุด และใครจะได้นั่งข้างซ้ายและข้างขวาของพระเยซู (มก.๙,๓๓-๓๗;๑๐,๓๕-๔๐) เรารู้ว่าพระเยซูตอบอย่างไร ใครที่มีตําแหน่งหรืออํานาจในอาณาจักรจะต้องใช้อํานาจนั้นเพื่อรับใช้ผู้อื่น (มก.๙,๓๕; ๑๐,๔๑-๔๕) และจะต้องทําตัวเป็นผู้น้อยเหมือนเด็ก (มธ.๑๘,๑-๔)

          เราไม่รู้แน่ว่าพระเยซูพูดเกี่ยวกับโครงสร้างของอาณาจักร ในระหว่างที่หลบภัยอยู่หรือในช่วงอื่น แต่มาร์โกรวบรวมเรื่องประเภทนี้ไว้ในช่วงที่พระเยซูเร่ร่อนหลบภัยไปนอกแคว้นกาลิลี หรือเมื่อหลบซ่อนอยู่ในแคว้นกาลิลี (มก.๗,๒๔; ๗,๓๑; ๘,๒๗; ๙,๓๐-๓๕; ๑๐,๓๕-๔๕) แต่เราแน่ใจได้ว่า ในช่วงเวลาที่หลบภัยอยู่นั้น พระเยซูถูกชักจูงให้คิดยึดอํานาจและประกาศตนเป็นพระผู้ไถ่หรือกษัตริย์ของชาวยิว 

 

คำถาม

          1. พระวรสารเป็นหนังสือประเภทใด ?
          2. ท่านคิดอย่างไรเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่พระวิหาร ?
          3. ท่านคิดอย่างไรเมื่อพระเยซูสั่งให้สาวกเตรียมพร้อม ?