Skip to main content

Jesus before
C h r i s t i a n i t y

บทที่ 13 การเมืองกับศาสนา

Faith4Thai.com | | คริสตศาสน์

book

ข้อมูลที่มีหลักฐานชัดเจนที่สุดเกี่ยวกับพระเยซูชาวนาซาเร็ทก็คือ พระเยซูถูกพอนทิอัส ปิลาต ผู้ว่าราชการชาวโรมันพิพากษาและตัดสินประหารชีวิต โทษฐานเป็นกบฏ แต่เหตุการณ์นี้ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกหรือโดดเด่นอะไร เพราะในช่วงนั้นชาวยิวที่คิดกบฏหลายพันคนก็ถูกทหารโรมันประหารชีวิตด้วยการตรึงกางเขนเช่นเดียวกัน ชาวยิวเกือบทั้งหมดต่อต้านการยึดครองโดยรัฐบาลโรม และหลายคนพยายามหาทางที่จะล้มล้างการยึดครองนี้และตั้งอาณาจักรอิสราเอลขึ้นมาใหม่ ฝ่ายโรมันตัดสินว่าพระเยซูมีความผิดฐานร่วมคิดกบฏ และประกาศตนเป็นกษัตริย์ที่ถูกต้องของชาวยิว หรือที่ชาวยิวเรียกกันว่า "พระผู้ไถ่" (เมสสิยาห์) "เราพบว่าชายคนนี้ปลุกปั่นประชาชนให้คิดกบฏ ต่อต้านการเสียภาษีให้จักรพรรดิ์ซีซาร์ และอ้างตนเป็นพระเมสสิยาห์ผู้เป็นกษัตริย์" (ลก.๒๓,๒) แผ่นป้ายระบุโทษที่ติดอยู่บนไม้กางเขน "กษัตริย์ของชาวยิว" ทําให้เราไม่ต้องสงสัยเลยว่าพระเยซูถูกกล่าวหาอะไร แต่พระเยซูผิดจริงตามที่กล่าวหาหรือไม่ ?

1. ปัญหาทางการเมือง

          คำถามที่ว่าพระเยซูผิดจริงตามที่กล่าวหาหรือไม่ ? ก็มีความเห็นแตกต่างกันไปคือ

          ฝ่ายหนึ่งบอกว่าผิดแน่(โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายโรมันผู้ยึดครอง) เพราะพระเยซูได้ประกาศตัวเป็นพระผู้ไถ่และต้องการผลักดันให้มีการลุกฮือขึ้นขับไล่กองทัพโรมัน ฝ่ายนี้จะอ้างว่าพระเยซูคลุกคลีกับการเมืองในสมัยนั้น และได้ริเริ่มขบวนการที่เกี่ยวพันกับศาสนาและการเมือง คล้ายกันกับพวกซีลอทมาก ในบรรดาสาวกผู้ใกล้ชิดพระเยซู ๑๒ คน คนหนึ่งมีชื่อว่า"ซีมอน แห่งกลุ่มซีลอท"(ลก.๖,๑๕) และบางครั้งก็ถือกันว่าเปโตร ยูดาส และลูกชายของเซบีดีก็เป็นพวกซีลอทเหมือนกัน

          ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งบอกว่าพระเยซูเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่มีความผิดทางการเมืองตามข้อกล่าวหาเลย พระเยซูไม่ได้คิดปลุกปั่นประชาชน พระเยซูบอกให้ประชาชนยอมเสียภาษี พระเยซูเป็นคนรักสงบ และพูดถึงตนเองว่าเป็น กษัตริย์"ทางใจ"ของชาวยิว ฝ่ายนี้อ้างว่าพระเยซูไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองใด ๆ ทั้งสิ้น  มีแต่เทศน์สอนทางศาสนา และข้อกล่าวหาเกี่ยวกับความผิดทางการเมืองเป็นเรื่องที่พวกผู้นําชาวยิวปั้นแต่งขึ้นเพื่อหาทางกําจัดพระเยซูเท่านั้น

          ความจริงไม่ใช่อยู่ตรงกลางระหว่าง ๒ ฝ่ายนี้  ความจริงก็คือทั้ง ๒ ฝ่ายผิดหมด เพราะว่าใช้วิธีคิดแบบปัจจุบันไปพิจารณาเรื่องของอดีต ซึ่ง ในกรณีนี้ทําให้เข้าใจไขว้เขว

          สําหรับชาวยิว ไม่มีการแยกว่าอะไรคือการเมือง อะไรคือศาสนา ปัจจุบันเราแยกออกเป็นเรื่องทางการเมือง ทางสังคม ทางเศรษฐกิจ หรือทางศาสนา ทุกทางที่ว่ามานี้ชาวยิวคิดเป็นอย่างเดียว คือเป็นเรื่องของพระเจ้าและบัญญัติของพระองค์ ไม่มีอะไรที่ไม่เกี่ยวกับพระเจ้า

          อย่างไรก็ตาม ปัญหาบางอย่างในสมัยนั้นเราอาจเรียกด้วยภาษาสมัยใหม่ว่า”การเมือง” เพียงแต่ว่าเราต้องจําไว้เสมอว่าชาวยิวเห็นปัญหาทุกอย่างเกี่ยวข้องกับศาสนา เราอาจเรียกปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างชาติยิวกับอํานาจยึดครองของโรมว่าเป็นปัญหาทางการเมือง เกี่ยวกับปัญหานี้พระเยซูมีความเห็นแตกต่างจากพวกซีลอท ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะว่าพระเยซูไม่อยากเข้าไปเกี่ยวกับการเมือง พระเยซูมีความคิดเห็นและจุดยืนในเรื่องการเมือง เช่นเดียวกับที่มีความคิดเห็นและจุดยืนในเรื่องวันพระ เรื่องการจําศีล ฯลฯ (มก.๑๒,๑๓-๑๗)

2. แนวทางสู่การหลุดพ้นจากศัตรู

          พระเยซูอยากเห็นชาติยิวหลุดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของโรมมากพอ ๆ กับพวกซีลอท พวกฟาริสี พวกเอสซีน และทุกๆคนที่อยากให้เป็นเช่นนั้น แต่ผู้เขียนพระวรสารทั้ง ๔ ไม่สนใจปัญหานี้เท่าไรนัก เพราะว่าผู้เขียน พระวรสารมีจุดหมายจะสอนคนรุ่นหลัง ที่อยู่นอกดินแดนอิสราเอลหลังจากปี ค.ศ. ๗๐ คือหลังจากที่เมืองเยรูซาเลมถูกทําลายหมดแล้ว ฉะนั้นปัญหานี้จึงไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป แต่ในการเขียนพระวรสาร ลูกาค้นคว้าถอยหลังไปถึงแหล่งข้อมูลดั่งเดิม และใช้เอกสารฉบับหนึ่ง(Proto-Luke)  ซึ่งคงจะถูกเขียนขึ้นในเขตปาเลสไตน์ก่อนที่เยรูซาเลมถูกทําลาย และข้อความหลายตอนในพระวารสารโดยลูกา และในหนังสือกิจการอัครสาวก มาจากเอกสารดังกล่าว สิ่งที่น่าสนใจคือ ในเอกสารฉบับนี้มีพูดบ่อย ๆ ถึงการปลดปล่อยทางการเมืองของชาติอิสราเอล

          เมื่อพูดถึงการเกิดและวัยทารกของพระเยซู ประชาชนที่ถูกเอ่ยถึงคือ "ทุกคนที่รอคอยเวลาที่เยรูซาเลมจะถูกปลดปล่อย" (ลก.๒,๓๘) หรือรอคอย "ความบรรเทาสําหรับชาติอิสราเอล" (ลก.๒,๒๕) คําอธิษฐานของสัคคาริยาห์(Benedictus) ก็พูดถึงการที่พระเจ้าแห่งอิสราเอลจะนํา "การปลดปล่อยมาสู่ประชากรของพระองค์" (ลก.๑,๖๘) พูดถึง "ความรอดพ้นจากศัตรูของเรา และจากเงื้อมมือของพวกที่เกลียดชังเรา" (ลก.๑,๗๑) "ทําให้เราพ้นจากความหวาดกลัว ได้รับการช่วยให้รอดจากเงื้อมมือศัตรูของเรา" (ลก.๑,๗๔) และไม่ต้องสงสัยเลยว่า ศัตรูนั้นก็คือชาวโรมัน ความหวังของชาวยิวในขณะนั้นก็คือพระเยซู "จะเป็นผู้ทําให้อิสราเอลได้รับการปลดปล่อย" (ลก.๒๔,๒๑)

          เมื่อพระเยซูเริ่มงาน พระเยซูก็มุ่งสนองความปรารถนาของประชาชน แต่ไม่ใช่ด้วยวิธีที่ประชาชนคาดหวัง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่ใช่ด้วยวิธีที่พวกซีลอทใช้ พระเยซูเริ่มปลดปล่อยชาติยิวจากอํานาจโรมโดยการชักชวนให้ชาวยิวเปลี่ยนแปลงตนเอง หากไม่มีการเปลี่ยนจิตใจภายในชาติยิวก่อน การปลดปล่อยจากอํานาจยึดครองใดๆ ก็จะเป็นไปไม่ได้ ประกาศกก่อนหน้าพระเยซูก็เคยพูดทํานองนี้ และยอห์นแบปติสต์ก็พูดเช่นเดียวกันด้วย พระเยซูก็เป็นประกาศกและเกี่ยวข้องกับการเมืองด้วยวิธีเดียวกันกับประกาศกทั้งหลาย

          การเปลี่ยนแปลงที่พูดถึงนี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบไหน ที่จะสามารถปลดปล่อยชาติยิวได้ ? เอกสารแหล่งข้อมูลของลูกาชี้แจงได้มากในเรื่องนี้ พระเยซูพยายามแล้วพยายามเล่า ที่จะชักจูงให้เพื่อนร่วมชาติตระหนักว่า การมีปฏิกิริยาไม่พอใจและเคียดแค้นต่อชาวโรมันเป็นการฆ่าตัวตาย พระเยซูบอกให้ประชาชนอ่านสัญญาณแห่งกาลเวลา และให้ตัดสินด้วยตัวเอง (ลก.๑๒,๕๔-๕๗) อย่าฟังแต่พวกซีลอทหรือพวกใดพวกหนึ่ง ในกรณีนี้ สัญญาณดังกล่าวก็คือ ภัยพิบัติที่กําลังใกล้เข้ามาทุกเมื่อ "เมฆกําลังก่อตัวทางตะวันตก" (ลก.๑๒,๕๔) แหล่งข้อมูลของลูกาบรรยายเกี่ยวกับภัยพิบัติอย่างชัดเจนว่าเป็นผลของการแพ้สงคราม เยรูซาเลมจะถูกศัตรูล้อม (ลก.๑๙,๔๓) ศัตรูก็คือกองทัพ (ลก.๒๑,๒๐)

          การประเมินสถานการณ์และวิธีดําเนินการแบบพระเยซูนี้ ต่างกับพวกซีลอทเป็นอันมาก เพราะวิธีการของพวกซีลอท คือซ่องสุมกําลังและต่อสู้ด้วยอาวุธ "หากพวกท่านไม่เปลี่ยน พวกท่านจะถูกทําลาย" (ลก.๑๓,๓-๕)  เนื่องจากชาวยิวไม่มีทางที่จะใช้อาวุธเอาชนะกองทัพโรมันได้ วิธีเดียวที่สมเหตุสมผลก็คือเข้าดีกัน (ลก.๑๒,๕๘) พระเยซูเห็นว่าวิธีเดียวที่จะหลุดพ้นจากอํานาจของศัตรูก็คือ รักศัตรู ทําดีต่อผู้ที่เกลียดชังท่าน ภาวนาให้ผู้ที่เบียดเบียนท่าน (ลก.๖,๒๗-๒๘)

          นี่ไม่ใช่เป็นการยอมจํานนต่อชาวโรมันผู้กดขี่ข่มเหง แต่เป็นการแก้ปัญหาโดยเจาะลึกลงไปหารากแห่งการกดขี่ข่มเหง นั่นคือ ใจมนุษย์ขาดความเมตตาสงสาร ถ้าชาวยิวยังเป็นเหมือนเดิม คือยังไม่มีความเมตตาสงสารอยู่ในตัว การโค่นล้มอํานาจรัฐบาลโรมจะทําให้ชาติยิวเป็นอิสระมากขึ้นกว่าเดิมหรือ? ถ้าชาวยิวยังเกาะยึดอยู่กับค่านิยมเก่า คือ อํานาจ เงินทอง เกียรติยศชื่อเสียง การแบ่งแยกเป็นพรรคเป็นพวก การใช้อํานาจกดขี่ผู้อื่น ฯลฯ จะเอาแอกโรมันออกไป แล้วเอาแอกยิวเข้ามาแทนที่ มันจะมีประโยชน์อะไร?

          พระเยซูสนใจ และจริงจังกับการปลดปล่อยมากกว่าพวกซีลอท พวกซีลอทต้องการให้เปลี่ยนผู้มีอํานาจ คือเปลี่ยนจากรัฐบาลโรมมาเป็นรัฐบาลยิว แต่พระเยซูต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง ลึกลงไปถึงใจมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นยิวหรือโรมัน พระเยซูอยากให้มีโลกใหม่ที่คุณภาพต่างกับโลกเก่า นั่นคืออาณาจักรพระเจ้า พระเยซูไม่พอใจที่จะให้มีแค่การเปลี่ยนเอาอาณาจักรหนึ่งออกไป แล้วให้อีกอาณาจักรหนึ่งเข้ามาแทนที่ นั่นไม่ใช่การปลดปล่อย  อาณาจักรที่เข้ามาแทนต้องเป็นอาณาจักรพระเจ้าเท่านั้น

3. พระเยซูเห็นปัญหาที่คนอื่นไม่เห็น

          พระเยซูเห็นสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็น นั่นคือมีการกดขี่ข่มเหงและเอารัดเอาเปรียบกันภายในสังคมยิว มากกว่าที่มาจากภายนอก  ชนชั้นกลางชาวยิวพยายามดิ้นรนต่อต้านอํานาจโรมัน แต่ตัวเองนั่นแหละที่กดขี่คนจนและคนไร้การศึกษา พวกคัมภีราจารย์ พวกฟาริสี พวกซัดดูสี และพวกซีลอท กดขี่ข่มเหง เอารัดเอาเปรียบประชาชนชาวยิวด้วยกัน มากกว่าที่ชาวโรมันทําเสียอีก การประท้วงต่อต้านอํานาจโรมันจึงเป็นเรื่องหน้าซื่อใจคด

          จริง ๆ แล้วการเข้ายึดครองก็หมายถึงการเข้าไปเก็บผลประโยชน์ในรูปภาษี ชาวยิวส่วนมากถือว่า การเสียภาษีให้รัฐบาลโรมเป็นการเอาทรัพย์สินของชาติยิวซึ่งเป็นทรัพย์สินของพระเจ้า ไปให้แก่จักรพรรดิ์ซีซาร์ แต่สําหรับพระเยซู นี่เป็นการอ้างเหตุผลเพื่อสนับสนุนความโลภของตนเท่านั้น เป็นความหน้าซื่อใจคด "การเสียภาษีให้ซีซาร์เป็นสิ่งที่ทําได้ไหม ? เราควรเสียภาษีหรือไม่ ? พระเยซูเห็นความหน้าซื่อใจคดของพวกเขา จึงตอบว่า ทําไมพวกท่านจึงพยายามหลอกจับผิดเรา ? จงเอาเหรียญเงินให้เราดูสักอันหนึ่งซิ พวกเขาจึงยื่นเหรียญเงินอันหนึ่งให้ พระเยซูถามว่า นี่หัวของใคร? นี่ชื่อของใคร? พวกเขาตอบว่า ของซีซาร์ พระเยซูจึงพูดกับพวกเขาว่า จงคืนของซีซาร์ให้แก่ซีซาร์ และจงคืนของพระเจ้าให้แก่พระเจ้า  คําตอบนี้ทําให้พวกเขาตะลึง" (มก.๑๒,๑๔-๑๗)

          คําตอบของพระเยซูจี้ใจคดของผู้ถาม ในเวลาเดียวกัน เจาะลึกถึงรากของปัญหาการเสียภาษี เรื่องของเรื่องก็คือความโลภ พวกที่ตั้งคําถามก็มีเหรียญของรัฐบาลโรม สมัยโบราณถือว่าเหรียญเงินเป็นทรัพย์สินของผู้ปกครองที่ผลิตเหรียญนั้นขึ้นมาใช้ ถ้าเหรียญนั้นมีรูปและชื่อของซีซาร์ ก็แปลว่ามันเป็นของซีซาร์ ไม่ใช่ของพระเจ้า  ท่านไม่ยอมจ่ายคืนให้แก่ซีซาร์ ก็เพราะท่านผูกพันอยู่กับเงินทอง ไม่ใช่เพราะอยากคืนให้พระเจ้า  ถ้าท่านอยากคืนของพระเจ้าให้แก่พระเจ้าจริง ก็จงขายสมบัติของท่านแล้วแจกจ่ายให้แก่คนจน

4. รากเง่าของการ  กดขี่  ข่มเหง

          ปัญหาที่แท้จริงก็คือการกดขี่ข่มเหง(ไม่ว่าใครจะกดขี่ข่มเหงใครก็    เหมือนกัน) สาเหตุของการกดขี่ข่มเหงก็คือ มนุษย์ไม่มีใจเมตตาสงสาร ชาวยิวที่ประท้วงการกดขี่ของชาวโรมัน ในเวลาเดียวกันลืมว่าตัวเองก็กําลังกดขี่เพื่อนร่วมชาติที่จนๆอยู่เหมือนกัน ชาวยิวเหล่านั้นขาดความเมตตาสงสารเช่นเดียวกับที่ชาวโรมันขาดความเมตตาสงสาร บางทีขาดมากกว่าชาวโรมันเสียอีก การเสียภาษีให้รัฐบาลโรมันเป็นความทุกข์อย่างหนึ่ง แต่มาเสียภาษีให้รัฐบาลยิวแทน ก็เป็นความทุกข์เหมือนกัน การที่ชาวโรมันมายึดครองประเทศยิว ก่อให้เกิดความทุกข์ทางใจอย่างหนึ่ง เพราะเป็นการลบหลู่ต่อศาสนาและอํานาจสูงสุดของพระเจ้า  แต่การที่พวก คัมภีราจารย์ พวกฟาริสี และพวกผู้นําชาวยิว นํากฎระเบียบทางศาสนามาบีบบังคับชาวบ้านและเบียดเบียนในรูปแบบต่างๆ นานา ก่อให้เกิดความทุกข์ทางใจและทางกายมากกว่าที่ชาวโรมันทําหลายเท่า

          พระเยซูอยากปลดปล่อยประชาชนจากความทุกข์ทั้งหมดดังกล่าว ไม่ว่าความทุกข์เกิดจากนํ้ามือของใครก็ตาม อย่างไรก็ดี พระเยซูมุ่งแก้ปัญหาอันเกิดจากการกระทําของพวกฟาริสี พวกซัดดูสี(รวมทั้งพวกซีลอทและพวกเอสซีน) มากกว่าที่จะแก้ปัญหาอันเกิดจากพวกโรมัน เพราะว่าปัญหาภายในมันรุนแรงกว่า ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะพระเยซูเลี่ยงปัญหาทางการเมือง การต่อต้านพฤติกรรมของพวกคัมภีราจารย์ พวกฟาริสีและพวกซัดดูสี เป็นเรื่องของการเมืองมากกว่าการต่อต้านอํานาจโรมันเสียด้วยซํ้า

          นอกนั้น การที่พวกซีลอทดิ้นรนเพื่อการปลดแอก ไม่ใช่เป็นการมุ่งสู่อิสรภาพที่แท้จริง พวกซีลอทต่อสู้เพื่อชาติยิว เพื่อเชื้อสายยิว เพื่อศาสนายิว การปลดแอกที่แท้จริงคือการต่อสู้เพื่อคนในฐานะที่เป็นคนด้วยกัน ต่อสู้เพื่อความรักและความเป็นหนึ่งเดียวกันในมนุษยชาติ

          การปฏิวัติที่พระเยซูอยากให้เกิดขึ้นนั้นเ ป็นเรื่องจริงจังมาก อย่างที่ว่าแม้พวกซีลอทหรือพวกใดๆ ก็ตามก็ยังคิดไม่ถึง ทุกแง่ทุกมุมของชีวิตไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมหรือศาสนา พระเยซูขุดคุ้ยขึ้นมาพิจารณาทั้งหมด หลายสิ่งที่ถือกันว่าถูกต้องและยุติธรรมในสังคมขณะนั้น พระเยซูชี้ให้เห็นว่าขัดกับความรัก เพราะฉะนั้นขัดกับความประสงค์ของพระเจ้า

          พระเยซูเล่านิทานเปรียบเทียบเรื่องคนงานสวนองุ่น (มธ.๒๐,๑-๑๕) คนงานที่ทํางานหนักและตากแดดทั้งวัน ไม่พอใจที่เห็นว่าคนที่ทํางานเพียงชั่วโมงเดียวได้รับค่าจ้างเท่ากับตัวเอง พวกเขาคิดว่าไม่ยุติธรรมเลย แต่คิดผิด เงิน ๑ เหรียญเป็นค่าจ้างสําหรับงาน ๑ วัน และได้ตกลงกันไว้อย่างนั้น แต่เจ้าของสวนทําเหมือนพระเจ้า คือมีความเมตตาสงสารอย่างแท้จริงต่อคนงานและครอบครัวของพวกเขา จึงได้จ้างไปทํางานแม้เหลือเวลาทํางานเพียงเล็กน้อยก็ตาม แล้วจ่ายค่าจ้างให้เต็มวัน แม้ค่าจ้างจะไม่สมดุลย์กับจํานวนชั่วโมงที่ทํางานก็ตาม แต่สมดุลย์กับความต้องการของคนงานและครอบครัว พวกคนงานที่ทํางานเต็มวันไม่มีความเมตตาสงสารเหมือนกับเจ้าของสวน จึงเกิดความไม่พอใจ ความยุติธรรมของพวกนี้เป็นเหมือนความยุติธรรม ของพวกซีลอทและพวกฟาริสี คือเป็นความยุติธรรมที่ปราศจากความรัก พวกเขาอิจฉาโชคดีของผู้อื่น และเป็นเหมือนโยนาห์ที่เสียใจเมื่อเห็นพระเจ้าเมตตาสงสารและใจดี

          เช่นเดียวกัน ในนิทานเปรียบเทียบเรื่องลูกล้างผลาญ (ลก.๑๕,๑๑-๓๒) ลูกชายคนโตทํางานให้พ่ออย่างสัตย์ซื่อเป็นเวลาหลายปี และไม่เคยขัดคําสั่งพ่อเลยแม้แต่ครั้งเดียว (เหมือนพวกซีลอทและพวกฟาริสี) ลูกชาย

คนโตนี้ รู้สึกโกรธที่เห็นว่าพ่อสั่งให้คนใช้ฆ่าลูกวัวเพื่อเลี้ยงฉลองลูกชายคนเล็ก ที่เพิ่งกลับมาจากการล้างผลาญสมบัติพ่อ ลูกชายคนโตไม่มีความเมตตาสงสาร เหมือนที่พ่อเมตตาสงสารลูกชายที่หลงผิด   จึงคิดว่าพ่อไม่ยุติธรรม

          พวกซีลอทจะฆ่าชาวยิวด้วยกัน ถ้าจับได้ว่าชาวยิวนั้นทรยศชาติและศาสนายิว และพวกซีลอทจับอาวุธต่อสู้ชาวโรมันผู้ยึดครองที่เป็นพวกต่างศาสนา ทั้งนี้เพราะพวกซีลอทมีความศรัทธาอย่างแรงกล้าต่อกฎบัญญัติของพระเจ้า ถึงขั้นที่เราเรียกว่าคลั่งศาสนา ส่วนพวกฟาริสีเบียดเบียนและกดขี่ข่มเหงคนจนและคนบาปเพราะความคลั่งศาสนาเช่นเดียวกัน แต่ความศรัทธาของทั้งสองพวกนี้ เป็นความศรัทธาที่ปราศจากความรัก

          นิทานเปรียบเทียบเรื่องฟาริสีกับคนเก็บภาษี คงจะได้สร้างความงุนงงให้กับผู้ฟังเป็นอย่างมาก (ลก.๑๘,๙-๑๔) ฟาริสีในเรื่องนี้เป็นคนที่ถือเป็นเยี่ยงอย่างได้ในศาสนายิว เขาทํามากกว่าที่ศาสนาเรียกร้องเสียอีก เขาจําศีลถึงอาทิตย์ละ ๒ ครั้ง ไม่มีอะไรที่ชี้ว่าเขาเป็นคนหน้าซื่อใจคด เขาไม่ได้อวดเก่ง แต่ได้ขอบคุณพระเจ้าที่ช่วยให้เขามีคุณธรรม ส่วนคนเก็บภาษี แม้จะได้วิงวอนขอพระเมตตาจากพระเจ้า แต่ก็ไม่ได้แสดงความพร้อมที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิต และไม่ได้สัญญาว่าจะชดใช้สิ่งที่ได้โกงเขามา  แต่คําตัดสินของพระเยซูคือ พระเจ้าพอใจคนเก็บภาษี แต่ไม่พอใจฟาริสีคนนั้น ทั้งนี้เพราะฟาริสีถือตัวว่าดีกว่าผู้อื่น(ยกตนข่มท่าน) "ข้าพเจ้าไม่เป็นเหมือนคนอื่นๆ และไม่เป็นเหมือนคนเก็บภาษีคนนี้" ปัญหาไม่ได้อยู่ที่จองหองมากนัก แต่อยู่ที่ไม่มีความเมตตาสงสาร หากไม่มีความเมตตาสงสารแล้ว การปฏิบัติและความเชื่อทางศาสนาก็ไม่มีค่าอะไรทั้งสิ้น(๑โคริน ๑๓,๑-๓) หากไม่มีความเมตตาสงสารแล้ว การเมืองก็จะกลายเป็นการกดขี่ แม้แต่การปลดแอกก็จะกลายเป็นการกดขี่เช่นกัน

          สาเหตุสําคัญประการหนึ่งที่ทําให้เกิดการกดขี่ การเอาเปรียบ และเกิดความทุกข์ทรมานในสังคม คือศาสนาของพวกฟาริสี พวกซัดดูสี พวกเอสซีนและพวกซีลอท เป็นศาสนาที่ไร้ความรัก  ไม่มีอะไรจะเปลี่ยนแปลงได้ยากเท่ากับความศรัทธาในศาสนาของตน คนที่มีความศรัทธาและทําหน้าที่ทางศาสนาทําให้ตนรู้สึกว่าอยู่ฝ่ายพระเจ้า ไม่มีความรู้สึกต้องการความเมตตาหรือการอภัย คนอื่นต่างหากที่ต้องการ ฝ่ายคนบาปรู้ตัวว่าต้องการความเมตตาสงสารจากพระเจ้า ต้องการให้พระเจ้าอภัยบาปของตน และรู้ตัวว่าต้องกลับใจเสียใหม่ เมื่อคนเช่นนี้ได้รับอภัย เขาย่อมจะรู้สึกซาบซึ้งในพระคุณเป็นอันมาก (ลก.๗,๔๑-๔๗)

          พระเยซูพบว่าอุปสรรคที่ขัดขวางไม่ให้อาณาจักรพระเจ้ามาถึง ไม่ใช่พวกคนบาปหรือพวกโรมันผู้นับถือสารพัดเทพเจ้า แต่อุปสรรคคือคนเคร่งครัดในศาสนายิวนั่นเอง พระเยซูคงจะเห็นตั้งแต่แรกเมื่อประชาชนเข้าไปหายอห์นแบปติสต์ บรรดาผู้นําทางศาสนาไม่ยอมรับว่าชาติยิวกําลังจะประสบหายนะ ทําไมพระเจ้าจะต้องลงโทษชาติยิว ? ต้องลงโทษพวกคนบาปและคนต่างศาสนาจึงจะถูก แต่พวกคนบาปแห่กันไปหายอห์นเพราะรู้ตัวว่าเป็นคนบาป และไม่สงสัยเลยว่าความหายนะใกล้เข้ามาแล้ว

          พวกคนที่ศรัทธาในศาสนาแต่ไร้ความรักนี้ พระเยซูเปรียบว่าเป็นเหมือนคนที่ตอบรับคําขานของพระเจ้าและสัญญาว่าจะทําตามคําสั่ง(มธ. ๒๑,๒๘-๓๑) แต่เมื่อถึงเวลาพวกเขาก็ไม่ยอมเข้าร่วมในอาณาจักรแห่งความรักเมตตา ไม่ยอมร่วมฉลองด้วย(เหมือนลูกชายคนโตในเรื่องลูกล้างผลาญ) แต่หาข้อแก้ตัวต่าง ๆ นานา (เหมือนแขกผู้ได้รับคําเชิญให้ไปร่วมงานเลี้ยง ลูกา ๑๔,๑๖-๒๔) ส่วนพวกโสเภณีและคนบาปอื่น ๆ ทีแรกก็ตอบปฏิเสธพระเจ้า แต่เมื่อถึงเวลาที่พระเยซูเผยแสดงความเมตตาของพระเจ้า พวกนี้ก็รีบตอบรับทันที

          พวกที่เคร่งครัดในศาสนา อันได้แก่พวกซีลอท พวกฟาริสี พวกเอสซีนและพวกซัดดูสี ปฏิเสธไม่ยอมเข้าอาณาจักรพระเจ้าอันเป็นอาณาจักรแห่งความรัก พระเยซูบอกพวกเขาว่า "คนเก็บภาษีและโสเภณีเดินนําหน้าพวกท่านเข้าสู่อาณาจักรพระเจ้า" (มธ.๒๑,๓๑) มันดูเหมือนจะผิดยุติธรรมที่บุตรแห่งอาณาจักรต้องถูกทิ้งอยู่ข้างนอก(มธ.๘,๑๒) ในขณะที่ศัตรูของพระเจ้า หรือคนบาปและคนต่างศาสนาวิ่งกรูกันเข้ามา "กฎบัญญัติและคําสอนของประกาศก ใช้เป็นเกณฑ์จนถึงยอห์นแบปติสต์ และตั้งแต่เวลานั้นเป็นต้นมา มีการประกาศอาณาจักรพระเจ้า  และทุกคนกำลัง

เข้าไปด้วยความรุนแรง" (ลก.๑๖,๑๖ เทียบกับ มธ.๑๑,๑๒) ข้อความนี้มีความหมายค่อนข้างลึกลับ แต่ในที่นี้เราเข้าใจได้ว่า หลักเกณฑ์หรือหนทางปกตินั้นคือกฎบัญญัติและคําสอนของประกาศก ซึ่งใช้ได้จนถึงสมัยของยอห์น แต่จากนั้นมาทุกคน(ใครก็ได้ที่อยาก) ก็แห่บุกเข้ามาในอาณาจักรพระเจ้า (ไม่ใช่ใช้ความรุนแรง แต่หมายความว่าเบียดเสียดแย่งกันเข้า) จนทําให้คนที่คิดว่าตนเป็นผู้มีสิทธิโดยชอบตามกฎหมาย(พวกฟาริสี) เห็นว่าการแห่เข้ามาแบบนี้ผิดกฎหมายและไม่ยุติธรรม

5. พระเยซูเจ้าเผชิญหน้ากับปัญหา

          เป็นไปไม่ได้ที่คนสมัยพระเยซูจะเห็นพระเยซูเป็นคนเคร่งศาสนา

ผู้หลีกเลี่ยงเรื่องการเมืองและการปฏิวัติ(ดังที่คริสตชนส่วนมากทุกวันนี้คิด) ตรงกันข้าม พวกเขาต้องเห็นว่า พระเยซูเป็นคนไร้ศาสนา พูดจาลบหลู่ดูหมิ่นพระเจ้า และอาศัยศาสนาเพื่อทําลายค่านิยมทางศาสนา ทางการเมือง ทางเศรษฐกิจและทางสังคมของชาติยิว  พระเยซูเป็นบุคคลที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคง

          ทางฝ่ายชาวโรมันผู้ยึดครองคิดเช่นนั้นด้วยหรือไม่ ? เป็นไปได้ไหมที่พวกโรมันจะคิดว่า คนพื้นเมืองในเขตยึดครองนี้มีความเห็นแตกต่างกันและทะเลาะกันเอง ? พวกโรมันสังเกตเห็นความเคลื่อนไหวต่าง ๆ เหล่านี้หรือไม่ ?

          เช่นเดียวกับชาวยิวทุกคน พระเยซูไม่เห็นด้วยกับการที่ชาวโรมันเข้ามากดขี่ประชาชน แม้ว่าเหตุผลของพระเยซูอาจต่างกับเหตุผลของคนอื่น พระเยซูไม่เห็นด้วยกับวิธีใช้อํานาจของพวกโรมันในการบีบบังคับ(มก. ๑๐,๔๒) แต่พระเยซูเชื่อว่าจะเปลี่ยนพวกโรมันได้ ก็โดยเริ่มเปลี่ยนชาวยิวก่อน  แล้วชาวยิวจะได้แสดงให้ชาวโรมันเห็นค่านิยมและอุดมคติของอาณา จักรพระเจ้าในภายหลัง   พระเยซูคิดว่าจะเผชิญหน้าโดยตรงกับชาวโรมัน ทันที ก็คงจะเปลี่ยนใจพวกเขาให้มีความเมตตาสงสารและความเชื่อไม่ได้

          อย่างไรก็ตาม ในไม่ช้าพระเยซูเริ่มรู้สึกว่า จําเป็นต้องเผชิญหน้ากับชาวยิวที่ร่วมมือกับรัฐบาลโรมัน นั่นคือพวกหัวหน้าคณะสงฆ์     พวกผู้

หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมือง และพวกผู้นําประชาชน ซึ่งเป็นสมาชิกพวกซัดดูสีจนถึงเวลานี้ พระเยซูได้เผชิญหน้ากับ "ฝ่ายศาสนา" โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพวกคัมภีราจารย์และพวกฟาริสี  บัดนี้พระเยซูต้องเผชิญหน้ากับ "ฝ่ายบ้านเมือง" คืออํานาจปกครองของชาวยิวในเมืองเยรูซาเลม เหตุผลที่ต้องเผชิญหน้ากับฝ่ายบ้านเมืองนี้ ไม่ใช่เพราะพวกนี้ร่วมมือกับรัฐบาลโรมัน แต่เพราะว่าพวกนี้ก็กดขี่ข่มเหงเอารัดเอาเปรียบคนจนด้วยเหมือนกัน ต่อไปนี้เราจะศึกษาเหตุการณ์การประจัญหน้า ซึ่งในที่สุดจะทําให้พระเยซูต้องตายอย่างน่าอนาถ

 

คำถาม
1. พระเยซูมีแนวคิดในการแกัปัญหาการเมืองอย่างไร ?
2. ปัญหาจริง ๆ ของชาวยิวคืออะไร ?
3. รากเง่าของการกดขี่คืออะไร ?

 

book