Skip to main content

Jesus before
C h r i s t i a n i t y

บทที่ 01 "พระเยซู" คือใครกันแน่?

Faith4Thai.com | | คริสตศาสน์

book

มนุษย์หลายพันล้านคนนับถือชื่อ "พระเยซู" ตลอดช่วงเวลาร่วมสองพันปีมานี้ แต่คนที่เข้าใจเขานั้นมีน้อยและคนที่พยายามทําตามอุดมการณ์ของเขายิ่งมีน้อยไปกว่านั้นอีก คําพูดของเขาถูกดัดแปลงเพื่อเอาไปใช้อ้างอิงในทุกเรื่องสุดแล้วแต่ผู้ใช้จะปรานี บางคนเอาคําพูดของพระเยซูไปใช้สนับสนุนอาชญากรรม หรือเอาไปหลอกเด็กให้กลัว บางคนใช้คําพูดของพระเยซูไปปลุกใจคนมากมายให้ประกอบวีรกรรม ทั้งวีรกรรมที่มีสาระและไร้สาระ ในบางกรณีคนเข้าใจผิด กลับไปเคารพนับถือสิ่งที่พระเยซูไม่ได้สอน ที่ซํ้าร้ายก็คือหลายอย่างที่พระเยซูต่อต้าน กลับถูกนําไปเทศน์สอนและเผยแพร่ไปทั่วโลกในนามของพระเยซู

1. มีกี่คนที่รู้จักพระเยซูจริง ๆ

เราจะถือว่าพระเยซูกับคริสตศาสนาเป็นสิ่งเดียวกันไม่ได้ พระเยซูเป็นมากกว่าผู้ตั้งศาสนาที่ยิ่งใหญ่ศาสนาหนึ่ง อยู่เหนือคริสตศาสนา และคริสตศาสนาก็ไม่สามารถสงวนพระเยซูไว้สําหรับพวกตนเองเท่านั้น พระเยซูเป็นของมนุษย์ทุกคน

นั่นไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะตีความหมายเกี่ยวกับพระเยซูอย่างไรก็ได้ เราจะปั้นพระเยซูตามรสนิยมของตัวเองไม่ได้ ที่จริงพระเยซูนั้นถูกเอาไปใช้ได้ง่าย ทั้งในเรื่องดีและเรื่องชั่ว แต่เราต้องตระหนักว่า พระเยซูมีความเชื่อถือและอุดมการณ์ที่ชัดเจนมั่นคงจนกระทั่งยอมตายเพื่ออุดมการณ์นั้น จึงอยากจะขอให้เราให้โอกาสแก่พระเยซูอีกสักครั้งหนึ่ง ที่จะได้พูดยืนยันเกี่ยวกับตนเองให้คนสมัยเรานี้ฟัง ขอให้พระเยซูพูดเองอย่างชัดเจน เราอย่าไปตีความตามใจและบิดเบือนความจริง

ถ้าเช่นนั้น ความรู้ความคิดเกี่ยวกับพระเยซูที่มีอยู่แล้วเราก็ต้องวางเอาไว้ก่อน ในขั้นนี้เราจะถือว่าพระเยซูเป็นพระเจ้าหรือเป็นพระผู้ไถ่โลกไม่ได้ เราจะยังไม่ถือว่าพระเยซูเป็นคนดีคนซื่อตรง ในเวลาเดียวกัน ในขั้นนี้เราจะถือตรงกันข้ามกับที่ว่ามานี้ก็ไม่ได้ด้วย เรียกว่าต้องวางตัวเป็นกลางเสียก่อน ไม่ถือและไม่ปฏิเสธอะไรทั้งนั้น ภาพพจน์ของพระเยซูที่เรามีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นแนวอนุรักษ์หรือก้าวหน้า แนวศรัทธาหรือวิชาการ ต้องวางเอาไว้ก่อน ทั้งนี้เพื่อจะได้ฟังพระเยซูด้วยสมองที่เปิดกว้างและเป็นกลาง

2. สถานการณ์ปัจจุบันคล้ายกับสมัยพระเยซู

การมองอะไรก็ตาม ต้องมีมุมมอง เมื่อเรามองรูปปั้นจากมุมหนึ่ง อาจจะเห็นว่ามันสวยกว่ามองจากอีกมุมหนึ่ง พูดได้ว่ามีมุมที่ดีกว่ามุมอื่น ไม่ใช่ทุกมุมจะเหมือนกันและดีเท่ากัน เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ก็เช่นกัน แต่ละยุคสมัยก็เปรียบเหมือนแต่ละมุม เหตุการณ์อย่างหนึ่งในศตวรรษที่ ๑ มองด้วยสายตาของคนในศตวรรษที่ ๑๐ ย่อมไม่เหมือนกับมองด้วยสายตาของคนในศตวรรษที่ ๑๕ เพราะมองต่างมุมกัน ยุคสมัยหนึ่งจะมองเห็นได้ดีกว่าอีกยุคสมัยหนึ่ง

ไม่ใช่ว่าเราจะเลือกมุมมองได้มากมาย มุมมองของเรามีมุมเดียว คือยุคสมัยของเรานี้เอง และถ้าจากมุมของเรานี้ เรามองพระเยซูไม่เห็น ก็หมายความว่าเราจะไม่มีโอกาสเห็นอีกแล้ว

ยุคสมัยของเรานี้อาจจะไม่ดีไปกว่ายุคก่อนๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ทางประวัติศาสตร์ในยุคหนึ่งอาจมีความคล้ายคลึงกับอีกยุคหนึ่งในอดีตโดยบังเอิญ แม้ว่าจะมีระยะเวลาห่างกันมากก็ตาม ในกรณีเช่นนี้สถานการณ์ในอดีตนั้นกลับมีความหมายเด่นชัดในยุคหลัง ทั้งๆที่สถานการณ์ดังกล่าวเคยพร่ามัวมาเป็นเวลานาน

ผู้เขียนมองว่ายุคปัจจุบันของเรานี้ มีความคล้ายคลึงกับยุคสมัยของพระเยซูมากเป็นพิเศษ และเพราะเหตุนี้ยุคสมัยของเรามีมุมมองที่ได้เปรียบกว่ายุคสมัยที่ผ่านมาทุกยุค จากมุมมองของเรานี้ เราสามารถมองบุรุษที่มีชื่อว่า "เยซูแห่งนาซาเรท" ได้ชัดเจนกว่าบรรพบุรุษของเรา

ผู้เขียนจะตีความเอาเองก็ไม่ได้ เราต้องช่วยกันค้นหา ยังไม่แน่ว่าพระเยซูจะมีคําตอบสําหรับปัญหาทุกอย่างของเราหรือไม่ เราไม่สามารถฉุดลากพระเยซูเข้ามาในสถานการณ์ของเรา แต่สิ่งที่เราทําได้คือมองพระเยซูจากมุมมองของเราด้วยใจจดจ่อและเปิดกว้าง เราอาจจะเห็นอะไรบางอย่างก็ได้

จุดเริ่มต้นก็คือ วิกฤติกาลของโลกเราในขณะนี้ ซึ่งทําให้เราเห็นความจําเป็นรีบด่วนที่จะต้องทําอะไรบางอย่างลงไปทันที

ยุคสมัยของเรามีปัญหารีบด่วนที่เป็นเรื่องความเป็นความตาย ไม่ใช่เฉพาะเกี่ยวกับตัวบุคคล เกี่ยวกับบางประเทศหรือเชื้อชาติ หรือเกี่ยวกับบางวัฒนธรรมเท่านั้น มันเป็นเรื่องความเป็นความตายของมนุษยชาติทั้งมวล เราตระหนักดีว่า ปัญหาหนัก ๆ หลายอย่างกําลังขู่ที่จะทําลายโลกมนุษย์ให้หมดไปจากพื้นผิวโลกนี้ ที่ซํ้าร้ายไปกว่านั้น เรากลัวว่ามนุษย์ไม่สามารถควบคุมยับยั้งภัยพิบัติอันจะเกิดขึ้นได้เพราะสายไปเสียแล้ว

ลองคิดถึงอาวุธนิวเคลียซึ่งชาติต่าง ๆ สะสมไว้ มันสามารถทําลายชีวิตทั้งหมดในโลกให้หมดไปได้หลายครั้งเพียงแค่กดปุ่มเดียวเท่านั้น สุดแล้วแต่ผู้มีอํานาจกดปุ่มจะกรุณาเรา เราจะแน่ใจได้ไหมว่าเขาจะไม่กล้ากดปุ่ม ลองนึกถึงผู้นําประเทศบางคนที่กระหายอํานาจในยุคของเรานี้ เราจะมีความปลอดภัยแค่ไหน

ขณะนี้ ความกลัวอาจจะลดน้อยถอยลงไปบ้าง เพราะชาติมหาอํานาจกําลังพยายามลดอาวุธนิวเคลียลงไปสงครามเย็นสงบลงไปบ้าง แต่ก็ดูเหมือน ว่าสถานการณ์อาจจะกลับเลวร้ายลงเมื่อไรก็ได้ ประเทศกําลังพัฒนาที่ยังล้าหลังในเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ถูกปกครองด้วยคณะบุคคลที่บ้าอํานาจและพร้อมที่จะใช้กําลังต่อสู้ประหัดประหารกัน และพยายามด้นดั้นแสวงหาอาวุธนิวเคลียมาไว้ในครอบครอง เราจะไว้ใจคนเหล่านี้ได้อย่างไร ?

บางทีความกลัวของคนเราลดน้อยลงไป เพราะระบบป้องกันตัวตามธรรมชาติของมนุษย์สร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาทําให้เราชินชาไปบ้าง เราจึงจะสามารถประทังชีวิตต่อไปได้ นั่นไม่ได้หมายความว่าอันตรายลดน้อยลงไป

ระเบิดอีกชนิดหนึ่งที่ร้ายแรงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าระเบิดนิวเคลีย ก็คือ "ระเบิดประชากร" ซึ่งสามารถทําลายมนุษยชาติได้อย่างแน่นอนเช่นกัน ผลที่ร้ายแรงของมันก็คือทรัพยากรธรรมชาติร่อยหรอหมดไป

สิ่งแวดล้อมถูกทําลายจนควบคุมไม่ได้ ความยากจนอันเกิดจากความขาดแคลน ทําให้คนต้องแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง ปัญหาเดียวในบรรดาปัญหาเหล่านี้ก็พอเพียงแล้วที่จะตัดอนาคตของเราให้สั้นลง และเมื่อถูกปัญหาเหล่านี้รุมพร้อมๆกัน นั่นก็คือจุดจบของมนุษยชาติ (เขาว่าประชากรโลกเพิ่มขึ้นปีละประมาณเกือบ ๑๐๐ ล้านคน เรียกว่าเพิ่มประเทศขนาดเท่าประเทศไทยขึ้นปีละเกือบ ๒ ประเทศ และเขาว่าที่สหรัฐอเมริกาหนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทม์ที่พิมพ์ออกมา ๑ วันต้องสิ้นเปลืองต้นไม้ทําเยื่อกระดาษประมาณเกือบ ๔๐๐ ไร่)

ปัญหาทั้งหมดนึ้แก้ไขได้ แต่จะต้องแก้กันแบบถอนรากถอนโคน ต้องเปลี่ยนค่านิยม ความคิด ความสนใจระดับการครองชีพ ที่ต้องแก้มากที่สุดก็คือประเทศที่รํ่ารวย และตรงจุดนี้เองที่หลายคนเชื่อว่าไม่มีหวัง เราจะยอมสูญเสียผลกําไรและต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายในการประหยัดทรัพยากรธรรมชาติและหาพลังงานธรรมชาติมาทดแทนไหม ? ถ้าต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นบ้างในการใช้วิธีคมนาคมและวิธีผลิตที่ไม่สร้างมลพิษจะยอมไหม ? คนที่มีการครองชีพอยู่ในระดับสูงจะยอมลดสิ่งที่ไม่จําเป็นและของฟุ่มเฟือยต่าง ๆ ลงได้ไหม ? (พร้อมทั้งลดการใช้กระดาษลงไปด้วย) การลดระดับการครองชีพไม่ใช่หมายความว่าลดคุณภาพชีวิต ตรงกันข้าม กลับจะเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตเสียอีก แต่เราจะสามารถทําให้คนเห็นความจําเป็นและยอมเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคนเช่นนี้หรือ ?

การจูงใจให้คนยอมเสียสละเพื่ออนาคตของตัวเขาเองก็ลําบากมากอยู่แล้ว นี่ยังต้องขอให้เขาเสียสละเพื่อมนุษย์ร่วมโลกอีกด้วยยิ่งลําบากมากขึ้นไปอีก และถ้าจะต้องขอให้เสียสละเพื่อเห็นแก่ลูกหลานในอนาคตด้วยแล้ว คงจะหมดหวัง

3. ระบบ

แต่ในโลกนี้ยังมีหญิงชายมากมายที่มีนํ้าใจดีและเข้าใจปัญหาแห่งความเป็นความตายนี้ และเป็นห่วง อยากร่วมมือกันในการขจัดปัญหาดังกล่าว แต่เขาจะช่วยได้อย่างไร ? มนุษย์ตัวน้อย ๆ อย่างฉัน หรือกลุ่มคนเพียงไม่กี่คนกลุ่มหนึ่ง จะแก้ปัญหาได้อย่างไร ? ไม่ใช่ว่าเรากําลังต่อสู้กับคน แต่เรากําลังต่อสู้กับ "ระบบ" ซึ่งเป็นพลังที่เรามองไม่เห็น จับตัวไม่อยู่ เรามักจะได้ยินคนบ่นว่า "โอ๊ย ทําอะไรไม่ได้หรอก ระบบมันเป็นอย่างนี้"

นี่คือหัวใจของปัญหา เราได้สร้างระบบทางการเมืองและเศรษฐกิจขึ้นมาให้มันตั้งอยู่บนค่านิยมบางอย่าง จนในที่สุดเราเห็นว่า ระบบนี้นอกจากจะไม่เป็นผลดีต่อเราแล้ว เรายังกลายเป็นทาสของมัน และมันกําลังนําเราไปสู่ความพินาศอีกด้วย ดูเหมือนว่าไม่มีใครสามารถเปลี่ยนหรือควบคุม "ระบบ" ได้ เมื่อเรารู้ตัวว่า ไม่มีมนุษย์คนไหนถือท้ายเรืออยู่ มันจะน่ากลัวขนาดไหน ?

"ระบบ" ที่เราสร้างขึ้นมา ไม่สามารถจัดการเกี่ยวกับปัญหาประชากรล้นแผ่นดิน ยกตัวอย่างเช่น ไม่มีกลไกทางการเมืองไหนที่จะจัดให้ชาวบังคลาเทศที่ต้องอยู่อย่างแออัด ไปตั้งรกรากในดินแดนว่างเปล่าที่กว้างใหญ่ไพศาลในทวีปออสเตรเลียได้ ระบบการเมืองที่ยึดเชื้อชาติเป็นหลักทําให้ความคิดดังกล่าวนี้เป็นไปไม่ได้

ในแง่เศรษฐกิจ "ระบบ" สร้างความรํ่ารวย และสร้างความยากจนควบคู่กันไป คนรวยก็รวยขึ้น คนจนก็จนลง ประเทศกําลังพัฒนาพยายามถีบตัวให้สูงขึ้นเทียมเท่าประเทศพัฒนาแล้ว ยิ่งถีบตัวมากเท่าไรก็ยิ่งตกตํ่าลงมากเท่านั้น เพราะยึดเอา "ระบบ" เป็นกฎเกณฑ์ "ระบบ" บังคับให้แข่งขันแม้ว่าผู้เข้าแข่งขันเปรียบกันไม่ได้และไม่มีโอกาสเท่าเทียมกัน "ระบบ" กําหนดไว้ว่า คุณยิ่งมีมาก คุณยิ่งจะได้มาก และคุณยิ่งได้มากขึ้นเท่าไร คุณก็ยิ่งเหลือไว้ให้คนมีน้อยได้น้อยลงเท่านั้น นี่คือวงจรอุบาทว์ และคนจนคือผู้แพ้วันยังคํ่า กล่าวกันว่า คนกว่า ๒๐๐๐ ล้านคน หรือ ๒ ใน ๓ ของพลเมืองโลก มีชีวิตอยู่ในสภาพตํ่ากว่าสภาพที่สมควรแก่การเป็นมนุษย์ ขาดอาหาร เครื่องนุ่งห่มและที่อยู่อาศัย หลายร้อยล้านคนเกิดมาในโลกเพื่อพบกับความหิวและความทรมานเท่านั้น เราไม่สามารถนับจํานวนคนที่หิวตาย คิดถึงสภาพการณ์ในปัจจุบันแล้วน่าสยดสยอง อย่าเพิ่งไปคิดถึงสภาพที่จะตามมาในอนาคตเลย

"ระบบ" แก้ปัญหาให้เราไม่ได้ "ระบบ" ทําให้มนุษย์สามารถสร้างความมั่งคั่ง แต่ไม่สามารถกระจายความมั่งคั่งไปให้ทั่วถึง แม้แต่สิ่งจําเป็นพื้นฐานสําหรับมนุษย์ก็ยังกระจายไปได้ไม่ทั่ว ทั้งนี้เพราะ "ระบบ" มุ่งสู่ความมั่งมี ไม่ใช่มุ่งสู่คน "ระบบ" เป็นสัตว์ร้ายที่กินคนเพื่อจะได้สร้างความรํ่ารวย

ทุกวันนี้ "ระบบ" ยิ่งวันยิ่งพยายามบีบบังคับมนุษย์มากขึ้น และพยายามป้องกันตนเองด้วยอาวุธและความรุนแรงทวีขึ้น รัฐบาลที่ใช้ความรุนแรงก่อให้เกิดความอยุติธรรมและการกดขี่เอารัดเอาเปรียบ ทําให้มีการต่อต้านซึ่งก็ใช้กําลังเช่นกัน ยิ่งมีการต่อต้านก็ยิ่งมีการใช้กําลังปราบปราม เป็นวงจรที่ไม่มีสิ้นสุด (ลองคิดดูว่าในบรรดาประเทศที่กําลังพัฒนา มีกี่ประเทศที่มีรัฐบาลทหาร ซึ่งขึ้นสู่อํานาจด้วยกําลัง และปกครองด้วยอํานาจเผด็จการ) ถ้าเราไม่สามารถทําอะไรให้จริงจังในการแก้ปัญหาประชากร ความจน การศึกษา สิ่งแวดล้อมและการสูญเสียทรัพยากรแล้ว "ระบบ" นี่เองแหละจะนํามนุษย์ชาติไปสู่ความรุนแรง จนถึงขั้นมนุษย์ต้องทําลายซึ่งกันและกัน

จริงอยู่ เราไม่ต้องพูดเหมือนกับว่า โลกกําลังจะแตกอยู่แล้ว แต่เราก็ไม่ต้องทําเป็นทองไม่รู้ร้อนเช่นกัน คิดเสียว่าปัญหาไม่มี แล้วมันก็จะไม่มีปัญหา คิดเช่นนี้ถูกแล้วหรือ? เราไม่ต้องขยายปัญหาให้มันใหญ่เกินความเป็นจริง ในเวลาเดียวกันจะเฉยเมยไม่มองปัญหาก็ไม่ได้

สถาบันทางศาสนาช่วยแก้ปัญหาได้น้อยเหลือเกิน และในหลาย ๆ กรณี ศาสนาทําให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปเสียอีก บางกรณี ศาสนาเน้นให้คนสนใจ "โลกเหนือธรรมชาติ" จนกระทั่งไม่จําเป็นต้องสนใจอนาคตของโลกและอนาคตของมนุษยชาติ ในกรณีเช่นนั้นศาสนาสอนให้คนหนีปัญหา ซึ่งทําให้การแก้ไขปัญหายากขึ้นอีกมาก

4. การแก้ไขสถานการณ์

เราต้องจริงใจและยอมรับความจริง ถ้าทุกอย่างรอบตัวเรากําลังจะพังลงมาทับ เราจะมัวแต่หลอกตัวเองหรือกลัวจะเสียหน้าไม่ได้แล้ว ในสถาน การณ์คับขันเช่นนี้ ยังจะมัวแต่ถกเถียงทฤษฎีทางวิชาการ หรือทางศาสนา เหมือนที่ทํากันมาในอดีตอยู่อีกหรือ ? คนที่เผชิญหน้ากับวิกฤติกาลของโลกในขณะนี้ จะต้องรู้สึกหงุดหงิดต่อพวกที่สนใจแต่ปัญหาจุกจิก หรือปัญหาที่ไม่เป็นปัญหา (พวกดีดพิณขณะที่กรุงโรมถูกไฟเผาพินาศ)

บังเอิญ "เยซูแห่งนาซาเรท" อยู่ในสถานการณ์เช่นเดียวกับเราในปัจจุบัน แม้ว่าปัญหาจะมีสัดส่วนเล็กกว่าของเราก็ตาม พระเยซูอยู่ในยุคที่เชื่อกันว่าโลกกําลังจะพินาศ แม้ว่าต่างพวกต่างคิดไม่เหมือนกันว่าโลกจะสิ้นสุดลงเช่นไร แต่ทุกคนเชื่อว่าหายนะอันใหญ่หลวงกําลังจะมาถึง พระเยซูก็เชื่อเช่นนั้นตามความเข้าใจของตน และเนื่องจากมีความตระหนักถึงภัยพิบัตินี้ พระเยซูจึงเริ่มออกทําภาระกิจ พระเยซูมีจินตนาการสร้างสรรที่โดดเด่นไม่ซํ้าแบบใคร พระเยซูมองเห็นทางออก และไม่ใช่ทางออกเท่านั้น พระเยซูเห็นทางที่จะทําให้มนุษย์มีอิสระและบรรลุเป้าหมายแห่งการเป็นคน

ทุกวันนี้เรากําลังเผชิญหน้ากับภัยพิบัติอันใหญ่หลวงเช่นเดียวกันกับพระเยซู มันจึงทําให้เราเข้าใจดีว่า พระเยซูรู้สึกอย่างไรต่อสถานการณ์ในสมัยนั้น เราพูดไม่ได้ว่า "พระเยซูกับพวกเราอยู่กันคนละโลก" ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นว่า การมองปัญหาและวิธีแก้ปัญหาของพระเยซู เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ของโลกในขณะนี้ แน่นอนที่สุด เราคงไม่กล้าเหมาเอาว่าพระเยซูมีคําตอบทั้งหมด และแอบอ้างว่าเรารู้คําตอบนั้นแล้วด้วย แต่ในเวลาเดียวกัน เราก็คงจะไม่กล้าปฏิเสธไม่ยอมพิจารณาความคิดของพระเยซู สถานการณ์ของเราในขณะนี้ร้ายแรงมาก มีวิธีอะไรดีก็น่าจะลองดู เผื่อจะพบทางออก

ในวงการศึกษาพระคัมภีร์ยุคก่อนเรา ต่างก็งุนงงในเรื่องที่ว่าทําไมพระเยซูจึงเป็นห่วงเกี่ยวกับ "โลกาวินาศ" มากนัก และพยายามอธิบายกันไปต่างๆนานา มาบัดนี้ สถานการณ์ของโลกทําให้เราอยู่ในมุมมองที่เห็นได้ชัดเจนเกี่ยวกับความกังวลของพระเยซู และนี่แหละที่ทําให้พระเยซูน่าสนใจมากสําหรับเราในขณะนี้

 

คำถาม

1. คำสอนข้อใดที่บิดเบือนไปจากคำสอนพระเยซู ?

2. ระบบต่าง ๆ มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร ?

3. ปัญหาอะไรที่ดูเหมือนเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข ?

 และจะแก้อย่างไร ?

book