Skip to main content

Jesus before
C h r i s t i a n i t y

บทที่ 02 ประกาศก ที่ชื่อ "ยอห์น"

Faith4Thai.com | | คริสตศาสน์

book

หนังสือ ๔ เล่มที่เราเรียกกันว่า "พระวรสาร" ไม่ใช่หนังสือชีวประวัติ ผู้เขียนไม่ได้ตั้งใจเขียนแบบนั้น จุดประสงค์ของผู้เขียนคือ ต้องการจะแสดงให้เห็นว่า พระเยซูเกี่ยวข้องอย่างไรกับคนที่อยู่นอกดินแดนปาเลสไตน์สมัยหลังความตายของพระเยซู ๑ หรือ ๒ ชั่วอายุคน คนที่เชื่อในพระเยซูหรือ "คริสตชน" รุ่นแรกไม่สนใจในชีวประวัติ แต่อยากเข้าใจว่าพระเยซูเกี่ยวข้องกับชีวิตของพวกตนอย่างไร

1. บรรยากาศสมัยพระเยซู

ทุกวันนี้ เราก็คงเป็นเหมือนคริสตชนรุ่นแรก เราไม่จําเป็นต้องรู้ชีวประวัติของพระเยซูมากเท่าไรนัก ที่สําคัญกว่ามากก็คือ เราอยากรู้ว่าพระเยซูมีบทบาทอะไรในชีวิตของเรา การสนใจในชื่อคน สถานที่ และวันเวลาอย่างถี่ถ้วน บางทีกลับทําให้ความเด่นของบุคคลสําคัญลดน้อยลงไป อย่างไรก็ตาม ถ้าเราอยากเห็นความหมายของพระเยซูอย่างเด่นชัด เราต้องเจาะลึกเข้าไปเบื้องหลังหนังสือ "พระวรสาร" ทั้ง ๔ เล่ม เพื่อจะได้ค้นพบด้วยตนเองว่า พระเยซูมีอะไรดีที่ได้เสนอให้ชาวปาเลสไตน์ในสมัยนั้น เราไม่จําเป็นต้องมีชีวประวัติ แต่เราต้องค้นหาความจริงทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพระเยซู

          ถ้าเราเปิดหนังสือพระวรสาร แล้วพยายามอ่านสิ่งที่ไม่ได้บันทึกอยู่ในนั้น (ไม่ใช่อ่านเพียงตัวหนังสือที่เห็น)และพยายามใช้ข้อมูลที่ได้มาจากแหล่งอื่น ๆ เกี่ยวกับสมัยนั้น เราจะค้นพบข้อมูลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพระเยซูอยู่มากทีเดียว ทั้งนี้เพราะว่า แม้ผู้เขียนพระวรสารจะเขียนสําหรับคนรุ่นหลัง แต่ก็ได้ใช้แหล่งข้อมูลที่ย้อนกลับไปถึงสมัยของพระเยซู ในหลาย ๆ จุดนักพระคัมภีร์สามารถบอกได้ว่าคําพูดไหนหลุดออมาจากปากของพระเยซู และบอกได้ว่าสิ่งไหนบ้างที่พระเยซูได้ทํากับมือจริง ๆ แต่สิ่งที่สําคัญกว่าคําพูดและการ กระทํา คือ ความตั้งใจหรือเจตนาของพระเยซู เมื่อเราอยากรู้เป้าหมายของพระเยซู อยากรู้ว่าพระเยซูต้องการอะไร สิ่งที่เราต้องค้นหาเป็นพิเศษคือ คนในสมัยพระเยซูมีความเป็นอยู่อย่างไร คิดอย่างไร มีปฏิกิริยาต่อพระเยซูอย่างไร การค้นพบว่าพระเยซูพูดคําไหน ทําสิ่งใด มีประโยชน์ก็ต่อเมื่อมันช่วยให้เราเข้าใจเจตนาของพระเยซูได้มากขึ้น พระเยซูตั้งใจจะทําอะไร ? มีเป้าหมายอะไร ? นี่แหละคือคําถาม

วิธีหนึ่งที่ดีที่สุดที่จะค้นหาเจตนาของพระเยซู คือพิจารณาการตัดสินใจ และการเลือกของพระเยซู ไปหาดูว่าพระเยซูตัดสินใจอย่างไร พระเยซูเลือกอะไร ถ้าเราค้นพบเหตุการณ์ที่แน่ชัดทางประวัติศาสตร์ว่าพระเยซูได้เลือกอะไรสักอย่างจากตัวเลือกที่มีให้หลายตัว นั่นก็แสดงว่าเราได้พบจุดนําไปสู่แนวคิดของพระเยซู ถ้ารู้ว่าพระเยซูเลือกอันไหน เราก็สามารถเจาะลึกลงไปได้ว่าพระเยซูคิดอย่างไร

          ในตอนต้นของพระวรสารทั้ง ๔ พระเยซูเลือกรับพิธีล้างจากยอห์นแบปติสต์ ไม่ว่าการรับพิธีล้างจะมีความหมายอื่นใดก็ตาม เราสนใจตรงที่ว่า พระเยซูได้เลือกเข้าข้างยอห์นแบปติสต์ และไม่ยอมร่วมกับขบวนการอื่น ๆ ที่มีอยู่ในเวลานั้น ถ้าเรารู้ว่ายอห์นแบปติสต์ต่างจากขบวนการอื่น ๆอย่างไร นั่นก็หมายความว่าเรารู้แนวคิดของพระเยซู โชคดีที่ประวัติศาสตร์ยุคนั้นบอกเราหลายอย่างในเรื่องนี้

          ชาวโรมันยึดดินแดนปาเลสไตน์เป็นเมืองขึ้นในปี ๖๓ ก่อนคริสตกาล และมีนโยบายปกครองด้วยการตั้งคนพื้นเมืองเป็นผู้นํา จึงได้ตั้งชาวยิวชื่อเฮรอดเป็นกษัตริย์ (เฮรอดมหาราช) และพระเยซูเกิดมาในสมัยของเฮรอดนี้เอง ในปีที่ ๔ ก่อนคริสตกาล (ตามวิธีคํานวณในปัจจุบัน) เฮรอดตาย และอาณาจักรก็ถูกแบ่งให้ลูกชาย ๓ คน เฮรอด อาเคเลาส์ ได้ดินแดนยูเดียและสะมาเรีย เฮรอด อันติปัส ได้ดินแดนกาลิลีและเปเรอา เฮรอด ฟิลิป ได้ดินแดนทางเหนือสุด เมื่ออาเคเลาส์ไม่สามารถจัดการกับความระสํ่าระสายของประชาชนได้ รัฐบาลโรมันจึงปลดอาเคเลาส์ออก แล้วตั้งผู้ว่าราชการชาวโรมันไปปกครองยูเดียและสะมาเรีย ขณะนั้นพระเยซูมีอายุ ๑๒ ปี ช่วงนั้นเป็นช่วงที่โรมันเข้าไปปกครองโดยตรง และเป็นช่วงที่ปั่นป่วนที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติยิว และเป็นช่วงสุดท้ายซึ่งจบลงด้วยการที่วิหารเมืองเยรูซาเลม และชาติยิวถูกทําลายในปี ค.ศ.๗๐ และถูกทําลายซํ้าจนสิ้นซากในปี

ค.ศ.๑๓๕ ช่วงดังกล่าวนี้เอง เป็นช่วงที่พระเยซูเกิดมาและตายไป และเป็นช่วงที่กลุ่มผู้เชื่อในพระเยซูรวมตัวเป็นกลุ่มก้อน

2. ความเชื่อถือของกลุ่มต่าง ๆ

ยุคนั้นเริ่มต้นโดยมีการกบฎ ปัญหาคือการเก็บภาษี รัฐบาลโรมันได้สํารวจสํามะโนครัวชาวยิวเพื่อจัดเก็บภาษี ชาวยิวต่อต้านโดยอ้างเหตุผลทางศาสนา และได้ลุกฮือขึ้นต่อสู้ ผู้นําการต่อสู้คือ ยูดาสแห่งกาลิลี เขาเป็นผู้ตั้งขบวนการนักรบกู้อิสรภาพ ทหารโรมันสามารถปราบกบฎได้ และเพื่อเป็นการเตือน ก็ได้ประหารชีวิตพวกกบฎกว่า ๒ พันคนด้วยการตรึงกางเขน ถึงกระนั้นก็ดี ขบวนการนี้ยังคงเคลื่อนไหวต่อไป กลุ่มนี้ชาวยิวเรียกว่า ซีลอท (ผู้รักชาติ) แต่ชาวโรมันเรียกว่า พวกโจร ขบวนการนี้ต่อสู้แบบกองโจรใต้ดิน รวมตัวกันอย่างหลวมๆ บางทีก็แตกแยกกันเอง บางส่วนก็ไปรวมตัวกับกลุ่มอื่นที่ตั้งขึ้นใหม่เช่นกลุ่มที่ชื่อว่า สิคารี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ชํานาญการลอบสังหารเป็นพิเศษ บางคนเข้าร่วมขบวนการเพราะความคึกคนอง แต่หลายคนเข้าร่วมเพราะความศรัทธาแรงกล้าในศาสนายิว และไม่เกรงกลัวการถูกจับทรมานและตรึงกางเขน ขบวนการนี้ก่อการกบฎหลายครั้งและซุ่มโจมตีทหารโรมันอยู่บ่อยๆ ขบวนการนี้ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆจนในปี ค.ศ.๖๖ คือประมาณ ๓๐ ปีหลังจากความตายของพระเยซู ก็สามารถขับไล่ชาวโรมันออกไปและขี้นปกครองประเทศเสียเอง แต่หลังจากนั้น ๔ ปี รัฐบาลโรมันส่งกองทัพขนาดใหญ่เข้าไปปราบนักรบกลุ่มสุดท้ายยึดที่มั่นอยู่ในป้อมปราการบนยอดเขามาซาดา จนถึงปี ค.ศ.๗๓ และในที่สุดนักรบที่เหลือเกือบพันคนได้ฆ่าตัวตายแทนที่จะยอมจํานนต่อทหารโรมัน

ขบวนการของพวกซีลอทนี้มีความเชื่อทางศาสนายิวเป็นแรงบันดาลใจ และมีเป้าหมายต่อสู้เพื่อศาสนา ชาวยิวส่วนใหญ่เชื่อว่าชาติของตนเป็นเทวาธิปไตย คือพระเจ้าเป็นผู้ปกครองสูงสุด ชาติยิวเป็นชาติที่พระเจ้าเลือกสรรไว้เป็นพิเศษ พระเจ้าเป็นกษัตริย์และเจ้านายแต่องค์เดียวของตน ดินแดนของชาติยิวและทรัพยากรทั้งหมดเป็นของพระเจ้า การยอมรับรัฐบาลโรมันเป็นเจ้านายย่อมหมายถึงทรยศต่อพระเจ้า การเสียภาษีให้จักรพรรดิ์โรมัน หมายถึงเอาของของพระเจ้าไปให้ผู้อื่น พวกซีลอทเป็นยิวที่จงรักภักดีต่อพระเจ้า ถือพระบัญญัติของศาสนาอย่างเคร่งครัด

พวกฟาริสี มีความเชื่อถือเหมือนกันกับพวกซีลอท พวกฟาริสี ๖ พันคนไม่ยอมให้สัตยาบันแสดงความภักดีต่อจักรพรรดิ์โรมัน (รัฐบาลโรมันจึงยกเว้นกฎหมายข้อนี้ให้ชาวยิว เพื่อลดแรงปะทะ) แต่พวกฟาริสีส่วนใหญ่เห็นว่าไม่ควรจับอาวุธขึ้นต่อสู้ เพราะโอกาสชนะมีน้อย และโอกาสเสี่ยงตายสูง พวกฟาริสีมุ่งปฏิรูปชาติยิวเองเสียมากกว่า เพราะเชื่อว่าที่ตกเป็นเมืองขึ้นของโรมก็เพราะชาวยิวทอดทิ้งพระบัญญัติและขนบธรรมเนียมของบรรพบุรุษ

พวกฟาริสีเสียภาษีให้รัฐบาลโรมโดยจํายอม ในเวลาเดียวกันก็แยกตนออกจากคนที่ไม่ยอมถือพระบัญญัติและขนบธรรมเนียมอย่างเคร่งครัด แล้วรวมตัวกันเป็นกลุ่มผู้สัตย์ซื่อแห่งอิสราเอล พวกฟาริสีถือกฎบัญญัติเป็นที่ตั้ง เถรตรงและเน้นคุณโทษ เชื่อว่าพระเจ้าจะรักและให้รางวัลแก่ผู้ถือพระบัญญัติอย่างเคร่งครัด และจะเกลียดพร้อมทั้งลงโทษผู้ละเมิด พวกฟาริสีเชื่อว่าคนเราตายแล้วจะกลับมีชีวิตอีก เชื่อว่าพระเจ้าจะส่งพระผู้ไถ่มากู้ชาติยิวให้เป็นอิสระจากชาวโรมัน

พวกเอสซีน ถือเคร่งครัดมากกว่าพวกฟาริสีเสียอีก จนถึงกลับแยกตัวออกจากสังคมไปตั้งค่ายในที่กันดารอยู่กันเป็นกลุ่ม ทิ้งชีวิตครอบครัวและถือพรต พวกเอสซีนกลัวติดมลทินจากคนนอกกลุ่ม (ยิ่งกว่าที่พวกฟาริสีกลัว) จนถึงกับต้องมีพิธีกรรมชําระล้างทุกวัน ซึ่งเดิมเป็นพิธีสําหรับสงฆ์ก่อนการถวายบูชาที่วิหารเท่านั้น ใครก็ตามที่ไม่เข้ากลุ่มของตน พวกเอสซีนจะไม่ยอมรับและไม่ยอมติดต่อด้วย พวกเอสซีนถือว่ากลุ่มสงฆ์ในวิหารเยรูซาเลมเป็นพวกมีมลทิน ถือว่าชาวยิวอื่น ๆ ทั่วไปเป็นลูกหลานแห่งความมืด พวกเอสซีนรักนับถือเฉพาะคนในกลุ่ม พวกตนเท่านั้นคือลูกหลานแห่งความสว่าง เป็นกลุ่มผู้สัตย์ซื่อแห่งอิสราเอลที่แท้จริง

การที่พวกเอสซีนแยกตัวออกอย่างชัดเจน และถือชีวิตที่เคร่งครัดมาก สืบเนื่องมาจากความเชื่อที่ว่าโลกกําลังจะถึงจุดจบ พวกเอสซีนกําลังรอพระผู้ไถ่ที่จะมาถึง และเตรียมตัวทําสงครามบดขยี้ลูกหลานแห่งความมืดหรือที่เรียกว่ากองทัพมาร ศัตรูพวกแรกที่จะถูกทําลายก็คือพวกโรมัน

นี่ก็แสดงว่าพวกเอสซีนก็คิดจับอาวุธต่อสู้เหมือนกับพวกซีลอท เพียงแต่ว่าสําหรับพวกเอสซีนแล้ว ยังไม่ถึงเวลา ต้องรอพระผู้ไถ่ก่อน ประมาณปี ค.ศ.๖๖ เมื่อพวกซีลอทเริ่มมีชัยชนะเหนือทหารโรมัน ดูเหมือนว่าพวกเอสซีน ก็ได้เข้าร่วมต่อสู้ด้วย และในที่สุดก็พ่ายแพ้และถูกฆ่าตายหมดพร้อมกับพวกอื่น ๆ

พวกซัดดูสี เป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยม ยึดมั่นอยู่ในความเชื่อถือและธรรมเนียมโบราณ ไม่ยอมรับแนวควาคิดหรือพิธีกรรมใหม่ ๆ ความเชื่อถึงชีวิตหลังจากความตายก็ถือว่าเป็นความคิดแหวกแนวไปจากเดิม พวกซัดดูสีเชื่อว่าคุณโทษที่มนุษย์จะได้รับก็จะได้รับในชีวิตนี้ เพราะฉะนั้นพวกซัดดูสีจึงเป็นพวกที่เน้นผลประโยชน์ทันตาเห็น ไม่ต้องคิดมาก วิธีที่ดีที่สุดก็คือร่วมมือกับรัฐบาลโรมันผู้ยึดครอง และเจรจาหาข้อตกลงกัน

ส่วนมากพวกซัดดูสีเป็นชนชั้นสูง เป็นพวกหัวหน้าสงฆ์และพวกผู้หลักผู้ใหญ่ พวกหัวหน้าสงฆ์ทําหน้าที่ถวายบูชาเหมือนสงฆ์ทั่วไป นอกจากนั้นยังเป็นผู้จัดการวิหารแห่งกรุงเยรูซาเลมด้วย ส่วนพวกผู้หลักผู้ใหญ่เป็นฆราวาสที่มาจากครอบครัวชั้นสูงเก่าแก่ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินเกือบทั้งหมด

พวกคัมภีราจารย์ (scribes) และพวกธรรมาจารย์ (rabbi) บางคนเป็นสมาชิกของพวกซัดดูสี แต่ส่วนใหญ่เป็นพวกฟาริสี พวกคัมภีราจารย์และพวกธรรมาจารย์เป็นปัญญาชน เป็นนักเทวศาสตร์ นักกฎหมาย และเป็นอาจารย์ในเวลาเดียวกัน แต่ไม่ใช่สงฆ์

ในหนังสือพระวรสารหลายตอน พวกซัดดูสีถูกเรียกว่า "พวกหัวหน้าสงฆ์ พวกผู้ใหญ่และพวกคัมภีราจารย์" บางทีก็เรียกว่า "พวกผู้นําประชาชน"

มีกลุ่มเล็ก ๆ อีกกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจ คือพวก นักเขียนนิรนาม ซึ่งเขียนวรรณกรรมที่เราเรียกกันว่า "วิวรณ์"(apocalyptic เกี่ยวข้องกับการสิ้นโลก) พวกนี้ทํานายอนาคต และเชื่อว่าตนได้ล่วงรู้ถึงแผนการของพระเจ้าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการสิ้นโลก นักเขียนเหล่านี้คงจะเป็นคัมภีราจารย์ที่เป็นสมาชิกของพวกฟาริสี หรือของพวกเอสซีน

3. แนวคิดของยอห์น แบปติสต์

เราเห็นว่ามีขบวนการทางการเมืองและทางศาสนามากมายหลายแบบ ซึ่งมีแนวคิดและความเชื่อถือแตกต่างกันไป แต่เราเห็นชายผู้หนึ่งที่ไม่เข้าพวกไหนเลย เขาคือ ยอห์น แบปติสต์ เขาไม่เหมือนกับพวกอื่น ก็เพราะเขาเป็น ประกาศก(prophet) และได้ชื่อว่าเป็นประกาศกแห่งความพินาศ เช่นเดียวกับประกาศกในสมัยก่อน ๆ อาจมีอะไรผิวเผินบางอย่างที่ทําให้หลงผิดว่ายอห์นเป็นพวกเอสซีนหรือพวกนักเขียนวรรณกรรมวิวรณ์ แต่จริง ๆ แล้ว ยอห์นแตกต่างจากทุกพวก ขณะที่ทุกคนพูดว่า "ยุคที่จะมาถึง" เป็นยุคที่ชาติยิวจะมีชัยชนะเหนือศัตรู ยอห์นกลับพูดถึงความพินาศของชาติยิว

ก่อนหน้ายอห์น ไม่มีประกาศกในชาติอิสราเอลมาเป็นเวลานานมาก คําประกาศของยอห์นคือ พระเจ้าโกรธเคืองประชาชนชาวยิวและกําลังจะลงโทษ พระเจ้ากําลังจะทําลายชาติยิว ยอห์นเปรียบการทําลายว่าเป็นเหมือนไฟป่าที่ลุกไหม้จนงูพิษต้องเลื้อยหนี (มธ.๓,๘) และเปรียบเหมือนต้นไม้และฟางถูกเผา (มธ.๓,๑๐-๑๒) ชาวยิวจะถูกชําระด้วยไฟ (มธ.๓,๑๑) ยอห์นใช้คําว่าขวานและเครื่องมือนวดข้าวเป็นคําเปรียบเทียบเช่นเดียวกับประกาศกยุคก่อน แต่ยอห์นไม่ได้วาดภาพพจน์ที่โลดโผนเหมือนกับนักเขียนวรรณกรรมวิวรณ์ ที่ยอห์นพูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความถึง "นรก" หลังความตาย หรือความพินาศของจักรวาล "ไฟป่า" เป็นภาพพจน์ของการทรมานบนพื้นผิวโลกเรานี้

ตามคําสอนของยอห์น พระเจ้าจะจัดการกับชาติยิวโดยอาศัยคนคนหนึ่ง ยอห์นเรียกคนนั้นว่า "ผู้ที่จะต้องมา" (มธ.๓,๑๑; มธ.๑๑,๓) คนคนนั้นกําลังยืนถือขวานและเครื่องมือนวดข้าวพร้อมอยู่แล้ว "เขาจะชําระพวกท่านด้วยไฟ" (มธ.๓,๑๑)

ประกาศกไม่ได้กล่าวคําทํานายอนาคต แต่กล่าวคําเตือนหรือคําสัญญา ประกาศกเตือนชาติยิวให้ระวังพระลงโทษ และสัญญาว่าพระจะช่วยให้รอด ทั้งคําเตือนและคําสัญญาต่างก็มีเงื่อนไข สุดแล้วแต่การตอบสนองของประชาชน ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงชีวิตก็จะต้องเผชิญกับความพินาศ ถ้ายอมกลับใจก็จะได้รับพระพร จุดประสงค์ของประกาศกก็คือโน้มน้าวจิตใจของคนให้ละทิ้งความชั่วและกลับใจมาทําความดี

ยอห์นพูดกับประชาชนชาวยิวทุกกลุ่มทุกพวก และเตือนว่าอย่าคิดว่าตนเป็นลูกหลานของอับราฮัมแล้วจะได้รับการยกเว้นจากภัยพิบัติ (มธ.๓,๙) ถ้าไม่กลับใจก็ต้องพินาศทุกคนไม่ว่าจะเป็นชาติไหน ยอห์นพูดเตือนคนบาป โสเภณี คนเก็บภาษี ทหาร พวกคัมภีราจารย์และพวกฟาริสี ตลอดจนถึงกษัตริย์เฮรอด ยอห์นไม่ได้มุ่งรวบรวมสมัครพรรคพวกหรือตั้งกลุ่มใหม่ ยอห์นเน้นว่าทุกคนต้องกลับใจไม่ว่าจะเป็นพวกไหนก็ตาม

ประกาศกสมัยแรก ๆ เน้นการกลับใจทั้งชาติ คือให้กษัตริย์หรือพวกผู้นํากลับใจก็แปลว่ากลับใจทั้งหมด แต่ยอห์นสอนเหมือนประกาศกสมัยหลัง คือเน้นการกลับใจเป็นรายบุคคล แต่ละคนต้องเปลี่ยนใจ การทําพิธีล้างเป็นเครื่องหมายถึงการกลับใจเป็นรายบุคคล ไม่ว่าพวกอื่นจะทําพิธีล้างโดยมีความหมายอะไรก็ตาม แต่สําหรับยอห์นหมายถึงการที่คนคนหนึ่งทิ้งความชั่วแล้วหันเข้าหาพระ "พวกประชาชนสารภาพบาป" แล้วได้รับพิธีล้าง(มก.๑,๕)

ยอห์นสอนว่าการล้างนี้จะนําไปสู่การอภัย คือจะได้พ้นภัยพิบัติที่อาจจะมาถึง ถ้าชาวยิวทุกคน หรือส่วนมากกลับใจ พระเจ้าจะคลายโกรธและภัยพิบัติก็จะไม่เกิดขึ้น ตรงนี้เราอาจสงสัยว่าในความคิดของยอห์น ถ้าเกิดภัยพิบัติขึ้น คนที่ได้กลับใจแล้วจะต้องรับกรรมไหม ทั้งนี้เราไม่รู้ว่ายอห์นหมายถึงภัยพิบัติอะไร หมายถึง สงครามหรือไม่ ส่วนมากเมื่อประกาศกในอดีตพูดถึงภัยพิบัติก็หมายถึงการที่ชาติยิวพ่ายแพ้สงคราม ในกรณีเช่นนั้น คนบริสุทธิ์ก็ต้องร่วมรับกรรมด้วยเสมอ เราไม่รู้ข้อเท็จจริงพอที่จะตัดสินว่ายอห์นหมายถึงเรื่องนี้

การเปลี่ยนใจที่ยอห์นสอนนั้น ไม่เกี่ยวข้องกับจารีตชําระตนตามประเพณี ไม่เกี่ยวกับการถือกฎวันพระ และไม่เกี่ยวกับการเสียภาษีให้โรม สิ่งที่ยอห์นเรียกร้องจากประชาชนคือสิ่งที่เราเรียกว่าจริยธรรมสังคม "ถ้าใครมีเสื้อคลุมสองตัวก็จงแบ่งให้คนที่ไม่มี คนที่มีจะกินก็ต้องทําเช่นเดียวกัน...ยอห์น บอกพวกคนเก็บภาษีว่าอย่าเก็บภาษีเกินอัตรา...บอกพวกทหารว่าอย่าข่มขู่ อย่าขูดรีด จงพอใจในค่าจ้าง" (ลก.๓,๑๑-๑๔) ยอห์นตําหนิกษัตริย์ เฮรอดที่ได้หย่าภรรยาของตนแล้วเอาภรรยาของน้องชาย และตําหนิที่ได้ทําชั่วอื่น ๆ ด้วย (ลก.๓,๑๙) โจเซฟัส นักประวัติศาสตร์ชาวยิวสมัยเดียวกันนั้น ยืนยันว่าเฮรอดสั่งจับยอห์นด้วยเหตุผลทางการเมือง คือเพราะกลัวว่ายอห์นจะปลุกระดมประชาชนให้ต่อสู้กษัตริย์ ยอห์นถูกตัดหัวเพราะกล้าว่ากล่าวเฮรอด

4. แนวทางของพระเยซู

          ยอห์นเป็นคนเดียวที่พระเยซูสนใจ นี่เป็นเสียงของพระเจ้าที่เตือนประชาชนให้ระวังภัยพิบัติที่กําลังจะมาถึง และให้แต่ละคนรีบกลับใจ พระเยซูเชื่อเช่นนั้นและยินดีร่วมมือกับผู้ที่ลงมือแก้ไขสถานการณ์ เพราะเหตุนี้พระเยซูจึงขอรับพิธีล้างจากยอห์น

แม้พระเยซูไม่เห็นด้วยกับยอห์นทุกอย่าง แต่การที่พระเยซูยินดีรับพิธีล้างจากยอห์น พิสูจน์ว่าพระเยซูเห็นด้วยกับคําประกาศหลักของยอห์นที่ว่า ชาติยิวกําลังมุ่งไปสู่ภัยพิบัติที่ไม่เคยมีมาก่อน และเมื่อเข้าเป็นฝ่ายยอห์นก็

แสดงว่าไม่เข้าฝ่ายอื่น นั่นคือพระเยซูไม่เห็นด้วยกับพวกซีลอท พวกฟาริสี พวกเอสซีน พวกซัดดูสี พวกคัมภีราจารย์และพวกนักเขียนวรรณกรรมวิวรณ์ เพราะกลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ยอมรับประกาศกที่พูดต่อต้านชาติยิวทั้งชาติ

จุดเริ่มของพระเยซู คือภัยพิบัติที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน กําลังจะมาถึงชาติยิว พระเยซูได้ประกาศอย่างแจ้งชัดในข้อนี้ซํ้าแล้วซํ้าอีก ในพระวรสารหลายตอน พระเยซูพูดชัดกว่ายอห์นมากเกี่ยวกับภัยพิบัติดังกล่าว "เวลานั้นจะมาถึง ศัตรูจะขุดสนามเพลาะล้อมเจ้า จะปิดเจ้าไว้ทุกด้าน เจ้าและลูก ๆ ที่อยู่ภายในกําแพงเมืองจะถูกศัตรูบดขยี้ติดพื้นดิน เขาจะทําลายจนกําแพงไม่มีหินซ้อนกันเลย เพราะเจ้าไม่รู้จักเวลาที่พระเจ้ามาช่วยเจ้า (ลก.๑๙,๔๓-๔๔) เมื่อเจ้าเห็นเมืองเยรูซาเลมถูกศัตรูล้อม ก็จงรู้ไว้ว่าอีกไม่ช้าเมืองก็จะถูกทําให้รกร้าง ใครอยู่ในเขตยูเดียต้องหนีขึ้นภูเขา พวกที่อยู่ในเมืองต้องหนีออกไป...มันเป็นเวลาแห่งการแก้แค้น น่าสงสารพวกหญิงมีครรภ์และพวกที่ต้องเลี้ยงลูกอ่อนเมื่อเวลานั้นมาถึง จะมีความทุกข์เวทนาอันใหญ่หลวง..." (ลก.๒๑,๒๐-๒๓) "พระเยซูพูดว่า ธิดาแห่งเยรูซาเลม อย่าร้องไห้สงสารเราเลย จงร้องไห้สงสารตัวเองและลูกๆ เถิด" (ลก.๒๓, ๒๘) "มีคนบอกพระเยซูถึงเรื่องชาวแคว้นกาลิลีที่ถูกผู้ว่าราชการปิลาตสั่งประหารชีวิตขณะที่กําลังถวายเครื่องบูชา พระเยซูจึงพูดว่า… หากพวกเจ้าไม่เปลี่ยนทางชีวิต พวกเจ้าก็ต้องตายเช่นเดียวกันกับพวกนั้น" (ลก.๑๓,๑-๓) ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ในที่นี้พระเยซูหมายถึงการที่เมืองเยรูซาเลมถูกทําลายในการสู้รบกับพวกโรมัน ในทํานองเดียวกันกับการป่าวประกาศของประกาศกยุคก่อน ๆ พระเยซูประกาศว่าชาติยิวจะพ่ายแพ้ทางทหาร จะมีการเข่นฆ่าอย่างทารุณโหดร้ายโดยทหารโรมัน ใครที่มีสติพอที่จะหนี ก็จะพ้นตาย (มก.๑๓,๑๔-๒๐) และนี่ก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในปี ค.ศ.๗๐

ในวงการศึกษาพระคัมภีร์ ส่วนมากจะไม่ค่อยสนใจข้อความทํานองนี้ (มก.๑๓,๒; มธ.๒๓,๓๗-๓๙ =ลก.๑๓,๓๔-๓๕; ลก.๑๑,๔๙-๕๑; ลก.๑๗, ๒๖-๓๗) ข้อความเหล่านี้มักจะเข้าใจกันว่าถูกเพิ่มเติมเข้าหลังจากเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว แต่นักพระคัมภีร์สมัยหลัง ๆ นี้ทําการศึกษาค้นคว้าและสรุปว่าไม่ใช่เพิ่มเติมภายหลัง นักพระคัมภีร์ชื่อ ซี เอช ดอด ชี้แจงว่า ข้อความดังกล่าวมีลักษณะคล้ายเหตุการณ์เมื่อครั้งวิหารเมืองเยรูซาเลมถูกทําลายในปี ๕๖๘ ก่อนคริสตกาล และไม่พูดถึงรายละเอียดเด่น ๆ ของเหตุการณ์ปี ค.ศ.๗๐ เลย จึงสรุปได้ว่าตอนต่างๆจากพระวรสารที่คัดมาข้างบนนี้ ไม่ได้เพิ่มเติมเข้าภายหลังเหตุการณ์ปี ค.ศ.๗๐ อย่างแน่นอน พวกศิษย์อาจจะได้ตัดแต่งคําพูดของพระเยซูบ้าง และหากตัดแต่งจริงในกรณีนี้ ก็ต้องทําก่อนปี ค.ศ.๗๐ ลอยด์ แกสตัน นักพระคัมภีร์อีกผู้หนึ่งได้ศึกษาอย่างถี่ถ้วนเป็นเวลา ๑๐ ปี และได้ข้อสรุปเช่นเดียวกัน เราจึงแน่ใจได้ว่า พระเยซูเตือนประชาชนให้ระวังตัวไว้ว่าเมืองเยรูซาเลมจะถูกกองทัพโรมันทําลาย ยอห์นแบปติสต์เป็นคนแรกที่คาดการณ์ล่วงหน้าว่าจะเกิดภัยพิบัติ แต่เราไม่สามารถรู้ได้ว่ายอห์นคิดถึงภัยพิบัติอะไรแน่ ๆ พระเยซูมีความเห็นเช่นเดียวกับยอห์น และอ่าน "เครื่องหมายแห่งกาลเวลา" ได้อย่างชัดเจนว่าชาติยิวกําลังเดินในแนวที่จะปะทะกับรัฐบาลโรมัน ทั้งยอห์นและพระเยซูพูดถึงภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นโดยใช้คําว่า "พระเจ้าปกครอง" (divine judgement) เหมือนกับที่ประกาศกยุคก่อน ๆ ใช้

เพียงแค่คิดถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น พระเยซูก็ร้องไห้แล้ว (ลก.๑๙, ๔๑) หลายศตวรรษก่อนพระเยซูประกาศกเยเรมีย์ก็ร้องไห้เช่นเดียวกัน แล้วพระเยซูจะช่วยแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างไร ?

คำถาม

1. บรรยากาศสมัยพระเยซูเป็นอย่างไร ?

2. ความเชื่อถือของกลุ่มต่าง ๆ ในสมัยพระเยซู

 เป็นภาพสะท้อนวิถีชิวิตคริสตชนปัจจุบันอย่างไร ?

3. การรับพิธีล้างของพระเยซูสำคัญอย่างไร ?

4. พระเยซูเหมือนและต่างจากยอห์นอย่างไร ?

book