Skip to main content

Jesus before
C h r i s t i a n i t y

บทที่ 18 พระเยซูถูกจับขึ้นศาล

book

พระวรสารตอนที่เล่าเหตุการณ์เกี่ยวกับการจับกุมพระเยซู การขึ้นศาล การตัดสินคดี ตลอดจนเหตุผลที่อยู่เบื้องหลัง มีความสับสนมาก และเรารู้สึกด้วยว่า บุคคลต่างๆ ที่อยู่ในเหตุการณ์เองก็สับสนมากด้วย

1. ข้อกล่าวหาพระเยซู

          เพื่อจะเห็นภาพชัดเจนขึ้นบ้าง เราต้องแยกองค์ประกอบสําคัญออกมา ๓ อย่าง อย่างแรกคือข้อกล่าวหาที่อาจจะนําขึ้นมาอ้างได้ อย่างที่สองคือข้อกล่าวหาที่ใช้จริงในการฟ้องศาล  และอย่างที่สามคือเหตุผลที่แท้จริงที่พระเยซูถูกกําจัด จริงๆแล้วผู้เขียนพระวรสารทั้ง ๔ ตระหนักถึงองค์ประกอบทั้งสามดังกล่าวอย่างชัดเจน เช่นพระเยซูอาจถูกตั้งข้อกล่าวหาว่า จงใจละเมิดวันพระเจ้า หรือใช้ไสยศาสตร์(ไล่ผีด้วยอํานาจของซาตาน) ในความเป็นจริงพระเยซูถูกตั้งข้อกล่าวหาอ้างตนเป็นเมสสิยาห์(กษัตริย์) และเหตุผลแท้จริงที่พระเยซูถูกกำจัดคือ ความอิจฉา (มก.๑๕,๑๐;มธ.๒๗,๑๘)  แต่เป้าหมายของการเขียนพระวรสารทําให้ผู้เขียนพระวรสารไม่แยกสามส่วนนี้ จึงมีการปะปนกันไปมา สิ่งที่อาจตั้งเป็นข้อกล่าวหา ได้กลายเป็นข้อกล่าวหาจริง (เช่นการพูดจาดูหมิ่นพระเจ้า มก.๑๔,๖๔) และข้อกล่าวหาที่ตั้งจริง กลายเป็นเหตุผลที่อยู่เบื้องหลัง (เช่นการอ้างตัวเป็นกษัตริย์  มก.๑๔,๖๒-๖๔)  ผลก็คือเกิดความสับสนเป็นอย่างยิ่ง

          อีกอย่างหนึ่งที่เราต้องแยกให้ชัดเจนก็คือ บทบาทของผู้นําชาวยิว และบทบาทของผู้ว่าราชการโรมัน ในขณะนั้นมีอยู่ ๒ ศาล คือสภาซันเฮดริน หรือศาลยิว อันประกอบด้วยเจ้าคณะสงฆ์ หัวหน้าสงฆ์ ๗๐ คน พวกผู้หลักผู้ใหญ่และคัมภีราจารย์ และศาลโรมัน อันมีผู้ว่าราชการปิลาตเป็นประธาน พระเยซูถูกจับขึ้นศาลโรมัน และถูกศาลโรมันตัดสินประหารชีวิต แต่ผู้เขียนพระวรสาร(และคริสตชนรุ่นแรกๆ) พยายามยํ้าให้เห็นชัดเจนว่า ถึงกระนั้นก็ดี พวกผู้นําชาวยิวมีความผิดมากกว่าพวกโรมัน เราเห็นว่าถูกต้อง แต่วิธีอธิบายของผู้เขียนพระวรสาร ทําให้ผู้อ่านงุนงงและสับสน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทําให้ผู้อ่านเข้าใจว่า ตอนที่ผู้นําชาวยิวสอบสวนพระเยซูเป็นตอนที่ขึ้นศาลจริง

          จุดประสงค์ของผู้เขียนพระวรสาร ไม่ใช่ต้องการจะบิดเบือนความจริงทางประวัติศาสตร์ แต่ต้องการทําให้ผู้อ่านเห็นชัดว่า แม้ภาพปรากฏภายนอกเป็นอย่างหนึ่ง แต่ความจริงเบื้องหลังเป็นอย่างไร ดูผิวเผินต้องโทษว่าพวกโรมัน แต่ในความเป็นจริงต้องโทษว่าพวกผู้นําชาวยิวมากกว่า ทั้งนี้ไม่ใช่เนื่องมาจากลัทธิต่อต้านยิว หรือเพราะความนิยมโรมัน แต่เป็นความรู้สึกผิดหวังของคริสตชนรุ่นแรกที่เห็นว่า ชาติยิวไม่น่าจะปฏิเสธและทําลายพระเยซูเลย(ซึ่งถ้าสมมุติพระเยซูไปเกิดในชาติอื่น ก็อาจเกิดเรื่องเช่นเดียวกัน ไม่ใช่จงใจอยากกล่าวหาชาติยิว)

2. เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงเป็นอย่างไร ?

          พระเยซูถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยข้อหาว่า อ้างตนเป็นเมสสิยาห์ หรือกษัตริย์ของชาวยิว ปิลาตถามพระเยซูเรื่องนี้เรื่องเดียว และป้ายแจ้งความผิดบนไม้กางเขนก็บอกแค่นี้ เรื่องอื่นเป็นเพียงความเป็นไปได้ สภาซันเฮดรินอาจตั้งข้อหาว่า พระเยซูเป็นอาจารย์เทียม เป็นประกาศกปลอม หรือพระเยซูจงใจละเมิดวันพระ หรือใช้ไสยศาสตร์ คริสตชนรุ่นแรกคิดว่า พวกยิวที่ไม่ยอมรับพระเยซู ได้กล่าวหาว่าพระเยซูดูหมิ่นพระเจ้าโดยอภัยบาป (มก.๒,๗) และโดยอ้างตัวเป็นเมสสิยาห์ อ้างตัวเป็นบุตรพระเจ้า(มก.๑๔,๖๑-๖๔) ซึ่งเป็นการตีตนเสมอพระเจ้า (ยน.๕,๑๘; ๑๐,๓๓; ๑๐,๓๖; ๑๙,๗)  คริสตชนรุ่นแรกคิดว่า   นี่เป็นข้อกล่าวหาที่ถูกนําขึ้นมาพิจารณาในสภาซันเฮดริน   หรือไม่ก็เป็นเหตุผลที่ขอให้ปิลาตประหารชีวิตพระเยซู (ยน. ๑๙,๗)

          ตามคําเล่าของลูกา พวกยิวกล่าวหาว่าพระเยซูเป็นกบฏ และยุยงประชาชนไม่ให้เสียภาษีแก่จักรพรรดิ์ซีซาร์ (ลก.๒๓,๒) ในแง่หนึ่งกิจกรรมและคําสอนของพระเยซู อาจถือได้ว่าเป็นการบั่นทอนความมั่นคงของข้อตกลงทางการเมือง เพราะพระเยซูต้องการเปลี่ยนสังคมตั้งแต่ยอดจรดฐาน ส่วนเรื่องเสียภาษีนั้น เราพูดมาแล้วข้างต้นว่าพระเยซูเลี่ยงไม่เข้าข้างใด เพราะมันไม่ใช่ปัญหา

          ถึงแม้จะมีข้อกล่าวหาที่เป็นไปได้หลายประการ ในความเป็นจริง สภาซันเฮดรินไม่ได้พิจารณาคดีนี้ และศาลโรมันได้ตัดสินคดีตามข้อหาว่า พระเยซูอ้างตนเป็นกษัตริย์ของชาวยิว ทําไมจึงเป็นเช่นนั้น ? และมีเหตุผลอะไรอยู่เบื้องหลัง ?

          ปิลาตเป็นผู้ว่าราชการที่มีความโหดเหี้ยมมาก เขาเคยหาทางยั่วยุชาวยิว และเมื่อมีชาวยิวประท้วงหรือลุกฮือขึ้น เขาจะสั่งให้ทหารล้อมไว้แล้วฆ่าเสีย ชาวยิวบางคนที่ถูกจับในข้อหากบฏจะถูกฆ่าโดยไม่มีการขึ้นศาล นักปรัชญาชาวยิวร่วมสมัยพระเยซู ชื่อฟิโล บันทึกไว้ว่า ปิลาตเป็นคนที่ไม่มีการผ่อนปรน ตามใจตัวเองและก้าวร้าวดุดัน อาชญากรรมของปิลาตมีหลายอย่างเช่น รับสินบน เผด็จการ ปล้นสดม โหดร้ายรุนแรง หลอกลวง ประหารชีวิตนักโทษโดยไม่ขึ้นศาล และทําทารุณ

          ภาพพจน์นี้ ตรงกับที่ปรากฏในเหตุการณ์ ๓ อย่างที่นักประวัติศาสตร์ชาวยิวร่วมสมัยชื่อโจเซฟุสได้บันทึกไว้ เหตุการณ์แรกคือเรื่องตราจักรพรรดิ์โรมัน ซึ่งเป็นโลหะหล่อหรือแกะสลัก มีรูปของจักรพรรดิ์และสัญญลักษณ์อื่นๆ ประดับอยู่ปลายเสา ชาวยิวถือว่าตราแบบนี้ขัดกับพระบัญญัติที่ห้ามทํารูปปั้นหรือรูปแกะสลักต่างๆ  แต่ปิลาตก็ออกคําสั่งให้เอาตรานี้ไปประดิษฐานไว้ในเมืองเยรูซาเลม ทั้งๆที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ประชาชนประท้วงและขอให้ปิลาตเอาตรานี้กลับไป ปิลาตปฏิเสธ และสั่งให้ทหารล้อมไว้ พวกชาวยิวไม่ต่อสู้แต่พร้อมที่จะตายเพื่อศาสนา ปิลาตจึงไม่ได้สั่งให้ฆ่า เพราะถ้าฆ่าประชาชนที่ยืนสงบนิ่ง คงจะไม่เป็นผลดีทางการเมือง เหตุการณ์ที่สอง เป็นเรื่องที่ปิลาตสั่งให้ใช้เงินของพระวิหารไปสร้างทางส่งนํ้า ประชาชนไม่พอใจจึงเกิดการปะทะกัน ปิลาตให้ทหารล้อมประชาชนไว้แล้วสั่งให้ทุบตี หลายคนถูกฆ่าตาย และอีกจํานวนมากบาดเจ็บสาหัส เหตุการณ์ที่สาม คือเรื่องของชาวแคว้นสะมาเรียกลุ่มหนึ่ง ที่ขึ้นไปชุมนุมกันบนยอดเขาการิซิม เพื่อขุดค้นหาภาชนะศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเชื่อกันว่าโมเสสได้ซ่อนไว้ ไม่มีอะไรที่ส่อว่าเป็นเรื่องวุ่นวายหรือมีเจตนาร้าย แต่ปิลาตสั่งให้ทหารฆ่าตายหมด  เหตุการณ์ครั้งนี้ทําให้ปิลาตต้องถูกเรียกตัวกลับกรุงโรม

          ปิลาตกลัวการชุมนุมของชาวยิว ไม่ว่าชาวยิวหรือชาวสะมาเรีย ชุมนุมเพื่อทําอะไรบางอย่างร่วมกัน ปิลาตจะต้องสงสัยไว้ก่อนว่า อาจมีการก่อกบฏ ในพระวรสารมีพูดสั้น ๆ เกี่ยวกับปิลาตในภาพพจน์เช่นเดียวกันนี้"...ชาวแคว้นกาลิลีที่ปิลาตได้ให้เทเลือดผสมกับเลือดเครื่องบูชา" (ลก. ๑๓,๑)  ซึ่งหมายถึงฆาตกรรมหมู่ในพระวิหาร

          แต่ในตอนที่พระเยซูถูกจับขึ้นศาลโรมัน พระวรสารไม่ได้วาดภาพปิลาตในลักษณะนี้เลย เห็นได้ชัดว่าในเหตุการณ์ครั้งนี้ ปิลาตถูก "ย้อมสี" เพื่อเน้นความจริงที่ว่าชาวยิวมีความผิดในกรณีที่พระเยซูถูกประหารชีวิต

3. ปิลาตน่าจะคิดอย่างไรเกี่ยวกับพระเยซู

          ให้เราพิจารณาผู้ว่าราชการโรมันคนอื่นๆ  ที่โหดเหี้ยมน้อยกว่าปิลาตก่อน  ดูว่าพวกเขาคิดอย่างไรเกี่ยวกับ  ประกาศกและผู้ที่มีลักษณะเป็นเมสสิยาห์ได้  ประมาณปี ๔๕ ก่อนคริสตกาล  ประกาศกคนหนึ่งชื่อ เทอุดัส ได้นําชาวยิวกลุ่มใหญ่ แบกสัมภาระลงไปที่แม่นํ้าจอร์แดน และสัญญาว่าจะทําเหมือนโมเสส คือจะแยกนํ้าออกและพาข้ามแม่นํ้าออกไปในที่เปลี่ยว ผู้ว่าราชการคุสปิอุส ฟาดุส ส่งกองทหารม้าไปจัดการ ส่วนหนึ่งถูกฆ่าตายและที่เหลือถูกจับขังคุก เทอุดัสถูกตัดศีรษะ ไม่มีอะไรยืนยันได้ว่า เทอุดัสเป็นพวกซีลอทหรือก่อการวุ่นวายใดๆ ในปี ค.ศ.๕๘ มีประกาศกชาวยิวจากอียิปต์คนหนึ่ง รวบรวมประชาชนกลุ่มหนึ่งที่เขาเกทเซมานี และสัญญาว่า  จะทําเหมือนโจชูอาในพระคัมภีร์   คือจะสั่งให้กําแพงเมืองเยรูซาเลมพังลงมา ผู้ว่าราชการ อันโตนิอุส เฟลิกซ์ สั่งให้ทหารจัดการทันที ชาวยิวหลายคนถูกฆ่าตาย ประกาศกหนีไปได้

          ถ้าปิลาตรู้เจตนาของพระเยซู รู้ว่าอาณาจักรที่พระเยซูพูดถึงมีลักษณะอย่างไร รู้ว่าพระเยซูพยายามปลุกความเชื่อในอาณาจักรนี้มากแค่ไหน ปิลาตต้องกําจัดพระเยซูอย่างแน่นอนที่สุด ปิลาตจะต้องถือว่าพระเยซูเป็นอันตรายต่อความมั่นคง แม้ว่าพระเยซูจะไม่ใช้วิธีรุนแรงก็ตาม (เช่นเดียวกับที่กษัตริย์เฮรอดถือว่า ยอห์นแบปติสต์เป็นอันตรายต่อความมั่นคง ทั้ง ๆ ที่ยอห์นแบปติสต์ไม่ได้ใช้ความรุนแรงอะไร) ชาวโรมันถือว่า อันตรายต่ออํานาจของตนไม่ใช่มาจากพวกกบฏติดอาวุธเท่านั้น แม้แต่ความเคลื่อนไหวของประชาชนที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลง ก็ถือว่าเป็นอันตรายด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีเหตุผลทางศาสนาหนุนหลัง

4. ปิลาตรู้เกี่ยวกับพระเยซูมาก่อนหรือไม่ ?

          เมื่อพระเยซูขับไล่พวกพ่อค้าในลานพระวิหาร พวกทหารโรมันเฝ้ามองดูจากป้อมที่อยู่ติดกับอาณาเขตพระวิหาร และอาจจะได้รายงานให้ปิลาตรู้ และแค่นี้ก็พอที่จะสงสัยเกี่ยวกับพฤติกรรมของพระเยซูแล้ว แต่ทหารอาจจะไม่ได้รายงานก็ได้ เมื่อปิลาตพิจารณาคดีพระเยซู อย่างน้อยที่สุดปิลาตก็ต้องรู้ว่า พระเยซูเป็นผู้นําที่มีอิทธิพลคนหนึ่ง และรู้ว่าสมัครพรรคพวก นับถือพระเยซูเป็นเมสสิยาห์หรือกษัตริย์ของชาวยิว แต่เราสนใจว่าปิลาตรู้จักพระเยซูก่อนที่พระเยซูถูกจับขึ้นศาลหรือไม่ ? ดูเหมือนว่ารู้

          ตามคําเล่าของยอห์น พระเยซูถูกจับโดยคนกลุ่มหนึ่งที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยชาวยิวและทหารโรมัน (ยน.๑๘,๓; ๑๘, ๑๒) แม้ยอห์นจะพยายามไม่ปรักปรําชาวโรมันในคดีนี้ แต่ก็บันทึกลงไว้ว่า กองทหารโรมันพร้อมกับนายร้อยมีส่วนร่วมจับกุมพระเยซู แสดงว่าเป็นเหตุการณ์ที่แน่นอนทางประวัติศาสตร์ชาวยิว (แม้แต่เจ้าคณะสงฆ์) ไม่มีสิทธิสั่งทหารโรมันให้จับกุมใครได้ คงเป็นปิลาตที่ออกคําสั่ง ซึ่งแปลว่าปิลาตต้องรู้เกี่ยวกับพระเยซูก่อนถูกจับ รู้จากเหตุการณ์ที่พระวิหาร หรือไม่ก็หลังจากนั้นไม่นาน

5. บทบาทพวกผู้นําชาวยิว

          เจ้าคณะสงฆ์ได้รับการแต่งตั้งจากผู้ว่าราชการโรมัน และมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ หน้าที่ทางศาสนาจะถูกควบคุม  โดยฝ่ายโรมันเป็นผู้เก็บรักษาชุดสําหรับพิธีกรรม ดังนั้นเจ้าคณะสงฆ์รวมทั้งหัวหน้าคณะสงฆ์เกี่ยวพันกับงานบริหารบ้านเมือง และอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ว่าราชการ หน้าที่หลักของเจ้าคณะสงฆ์คือรักษาความสงบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลทางศาสนา ซึ่งจะมีผู้คนล้นหลามในเมืองเยรูซาเลม

          เจ้าคณะสงฆ์และพรรคพวกรู้เกี่ยวกับพระเยซูมากน้อยแค่ไหน ?  คงจะรู้ไม่มากและไม่พอที่จะตั้งข้อหาใน  ศาลยิว(กรณีที่เคยคิดจับพระเยซูขึ้นศาลยิว) ที่แน่นอนคือ เจ้าคณะสงฆ์รู้ว่าพระเยซูกําลังปลุกปั่นประชาชน ให้เชื่อในอาณาจักรพระเจ้า และรู้ว่าประชาชนส่วนหนึ่งถือว่าพระเยซูเป็นเมสสิยาห์ เจ้าคณะสงฆ์คิดว่ากรณีเช่นนี้อาจสร้างปัญหาทางการเมืองได้ เพราะข้อตกลงสันติภาพระหว่างชาติยิวกับรัฐบาลโรมันนั้นเปราะบางมาก พวกคณะสงฆ์ระมัดระวังปัญหาทางการเมืองมากกว่าการเคารพความจริง

          ยอห์นบรรยายเกี่ยวกับการประชุมปรึกษาหารือของหัวหน้าคณะสงฆ์ก่อนที่พระเยซูถูกจับ "เราจะทําอย่างไรดี ? ถ้าเราปล่อยเขาไว้เช่นนี้ ทุกคนก็จะเชื่อเขา พวกโรมันก็จะเข้ามายึดที่ของเรา และยึดชาติของเราด้วย" ไกฟาสเจ้าคณะสงฆ์ในปีนั้นกล่าวว่า "...ให้คนหนึ่งตาย...ดีกว่าที่จะให้ทั้งชาติถูกทําลาย" (ยน.๑๑,๔๗-๕๐) จุดสําคัญคือปัญหาทางการเมือง พวกโรมันจะจัด การอย่างไรกับเรา ถ้าเราไม่จัดการกับชายคนนี้ ?  ให้ชายคนนี้ตายไปคนเดียวไม่ดีกว่าหรือ ?

6. ผู้นำชาวยิวทรยศพระเยซู 

          สถานการณ์อาจเป็นไปได้สองอย่าง สถานการณ์แรกคือ ไกฟาสมีความเห็นว่าการประกาศอาณาจักรใหม่ และการที่ประชาชนนับถือพระเยซูเป็นกษัตริย์ จะเป็นชนวนให้เกิดการปะทะกับกองทัพโรมัน ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจริง พวกโรมันก็จะเข้ามายึดที่ของเราและชาติของเรา นักพระคัมภีร์ชื่อ พอล วินเตอร์ อธิบายว่า "ที่ของเรา" ไม่ใช่หมายถึงสถานที่ศักดิ์สิทธิ์หรือพระวิหาร แต่หมายถึงตําแหน่งของเจ้าคณะสงฆ์และคณะที่ปรึกษา สิ่งหนึ่งที่ไกฟาสกลัวคือตัวเองจะสูญเสียอํานาจและตําแหน่ง หากละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ป้องกันจราจล และไม่รายงานให้ฝ่ายโรมันรู้ หรือไม่จับพระเยซูส่งให้ฝ่ายโรมันจัดการ

          สถานการณ์ที่สอง อาจเป็นไปได้ว่า ปิลาตได้สั่งแล้วว่าให้จับพระเยซูส่งให้ฝ่ายโรมัน กรณีเช่นนี้ การประชุมดังกล่าวก็เป็นการพิจารณาเรื่องการส่งตัวผู้ต้องสงสัย คําถามที่ต้องพิจารณาคือ ชาวยิวคนนี้ถูกคนต่างศาสนาตั้งข้อหาทางการเมือง สมควรที่จะจับกุมเขาและส่งตัวให้ตามที่ขอมาหรือไม่ ? คําตอบก็คือ ให้ไปตายคนเดียวดีกว่าต้องลําบากกันทุกคน

          ไม่ว่าจะเป็นกรณีหลีกเลี่ยงการปะทะกัน หรือเป็นกรณีส่งมอบตัวผู้ร้าย การตัดสินใจของเจ้าคณะสงฆ์ก็คือ ร่วมมือกับฝ่ายโรมัน ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของตนและของชาติยิว  ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า เป็นฝ่ายโรมันที่ต้องการกําจัดพระเยซู แม้เราไม่รู้แน่ว่า ที่ต้องการกําจัดพระเยซูนี้ เนื่องมาจากฝ่ายโรมันเองได้สืบทราบเรื่องราวของพระเยซู และต้องการให้ฝ่ายผู้นํายิวจับกุมและส่งตัวให้ หรือเนื่องมาจากไกฟาสได้รายงานหลังการประชุมกับพวกหัวหน้าคณะสงฆ์  การกําจัดพระเยซูในสถานการณ์เช่นนี้ เป็นไปตามนโยบายของปิลาตและผู้ว่าราชการโรมันคนอื่น ที่กําจัดประกาศกและบุคคลที่เข้าข่ายเป็น "เมสสิยาห์"

          พวกผู้นําชาวยิวตัดสินใจที่จะจับกุมพระเยซูและส่งตัวไปให้ปิลาต ไม่ว่าจะเป็นเพราะดําเนินการเอง หรือได้รับคําสั่งจากปิลาต ไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม เราพูดได้ว่าพวกผู้นําชาวยิว ทรยศพระเยซู ในภาษากรีกการส่งมอบตัวหรือการทรยศ เป็นคําคําเดียวกัน (มก.๙,๓๑; มธ.๒๖,๒) ดังนั้นจึงมีการทรยศ ๒ ครั้ง ครั้งแรก สาวกยูดาสทรยศพระเยซู(มอบตัวให้ผู้นําชาวยิว) ครั้งที่สอง ผู้นําชาวยิวทรยศพระเยซู(มอบตัวให้ผู้ว่าราชการโรมัน) (มก.๑๐,๓๓-๓๔) จากนั้นพระเยซูถูกพิจารณาคดีและตัดสินประหารชีวิตโดยศาลโรมัน

7. ที่ศาล

          สิ่งที่น่าสังเกตในการขึ้นศาลครั้งนี้คือ พระเยซูไม่ได้ป้องกันตนเอง ไม่ว่าใครจะกล่าวหาอย่างไร พระเยซูก็สงบนิ่ง (มก.๑๔,๖๐-๖๑; ๑๕,๔-๕; มธ.๒๖,๖๒-๖๓; ๒๗,๑๒-๑๔; ลก.๒๓,๙) และเมื่อเอ่ยปากพูดก็เป็นการเลี่ยงที่จะตอบเสียมากกว่า "ท่านเป็นคนพูดเอง" (มก.๑๕,๒; มธ.๒๖,๖๔; ๒๗,๑๑; ลก.๒๒,๗๐; ๒๓,๓) "ถ้าเราบอก ท่านก็จะไม่เชื่อ ถ้าเราถาม ท่านก็จะไม่ตอบ" (ลก.๒๒,๖๗; ดู ยน.๑๘,๒๐-๒๑) คําพูดเหล่านี้ผู้เขียนพระวรสารพยายามประกอบขึ้นมาใหม่ เพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างพระเยซูกับฝ่ายที่สอบสวน แต่เราคงต้องยึดคําบรรยายของมัทธิวเป็นหลักว่า พฤติกรรมของพระเยซูระหว่างขึ้นศาลนั้นเป็นอย่างไร "พระเยซูไม่ได้ตอบข้อกล่าวหาใดๆ เลย" (มธ.๒๗,๑๔) เพราะจริงๆ แล้วพระเยซูเคยวางตัวแบบนี้มาก่อน พระเยซูเคยปฏิเสธที่จะแสดงเครื่องหมายยืนยันอํานาจของตน พระเยซูไม่เคยถกเถียงกล่าวอ้างอํานาจของตน พระเยซูไม่เคยยอมตอบคําถามเกี่ยวกับเรื่องแบบนี้ มาบัดนี้ พระเยซูไม่ยอมป้องกันตัวเองหรือยืนยันความถูกต้องของตน

          พระเยซูยืนสงบนิ่งอยู่ที่นั่น นี่ไม่ใช่พระเยซูถูกจับขึ้นศาลเสียแล้ว เป็นการจับคนอื่นขึ้นศาลต่างหาก ความเงียบของพระเยซูทําให้คนอื่นทุกคนประหลาดใจและกระวนกระวาย ความเงียบของพระเยซูเป็นการสอบสวนและพิสูจน์ทุกคน คําพูดของทุกคนสะท้อนกลับไปถึงตนเองและกล่าวโทษตนเอง

          ปิลาตมีความผิด ความเงียบของพระเยซูทําให้ปิลาตประหลาดใจ (มธ.๒๗,๑๔) เขาอาจจะชงักไปชั่วครู่ แต่เนื่องจากเขาไม่เคยสนใจที่จะเคารพความจริงเลย เขาจึงดําเนินการต่อไปตามที่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์ทางการเมือง ปิลาตมีความผิดฐานละเลยที่จะแสวงหาและดำเนินการตามความจริง (ยน.๑๘,๓๗-๓๘)

          ไกฟาสและพวกหัวหน้าคณะสงฆ์มีความผิดมากกว่านั้นเสียอีก เรารู้ว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะตัดสินใจเลือก ระหว่างชีวิตของชายคนหนึ่งกับอนาคตของชาติ แต่พวกเขาน่าจะได้ทํามากกว่าปิลาตในการแสวงหาความจริงเกี่ยวกับพระเยซู พวกเขาน่าจะมีใจเปิดกว้างเพื่อดูว่าชายผู้นี้มีอะไรดีหรือไม่ แต่สมมุติว่าไกฟาสเปิดใจ รับความจริงและหันมาเชื่อพระเยซู เขาจะต้องทําอย่างไรจึงจะรักษาข้อตกลงสันติภาพกับพวกโรมันไว้ได้ ? เราอาจเสนอแนะว่า ไกฟาสน่าจะเสี่ยงชีวิตโดยลาออกจากตําแหน่งเจ้าคณะสงฆ์ เข้าร่วมกับพระเยซู และช่วยกันประกาศความเชื่อในอาณาจักรพระเจ้า แต่นั่นเป็นสิ่งพ้นวิสัย จะมีใครในตําแหน่งสูงๆ ที่รักความจริงและมีความจริงใจมากพอที่จะสละสิ่งอื่นๆ ได้  และอาจจะเป็นเพราะเหตุนี้แหละที่สังคมสมัยนั้นกําลังจะต้องประสบภัยพิบัติ ไกฟาสไม่สามารถรับคําท้าทายที่พระเยซูเสนอให้

          ความตายของพระเยซูเป็นการพิพากษาพวกคัมภีราจารย์ พวกฟาริสี และคนอื่นๆที่ปฏิเสธพระเยซูโดยรู้ตัวถ้าพวกเขาได้ยอมรับพระเยซู  และเชื่อในอาณาจักรพระเจ้า  อาณาจักรนั้นก็จะมาถึง แทนที่จะเกิดภัยพิบัติ พวกเขาไม่ต่างจากคนจํานวนมากในยุคเรานี้   แต่ในการขึ้นศาลครั้งนั้นเราถือว่าพวกเขามีความผิด

8. การทดลองใจ

          พวกสาวกได้ถูกทดลองใจ มันเป็นการทดลองใจที่หนักมาก พวกเขาถูกทดลองใจว่าพร้อมที่จะตายกับพระเยซูเพื่อเห็นแก่มนุษยชาติหรือไม่ สาวกยูดาสทรยศพระเยซู สาวกเปโตรปฏิเสธว่าไม่รู้จักพระเยซู ส่วนสาวกอื่นๆหนีไปหมด

          พระเยซูเองถูกทดลองใจอย่างหนักที่สุด จนกระทั่งเลือดไหลออกมาแทนเหงื่อ และบอกให้พวกสาวกภาวนา ขออย่าให้ถูกทดลองใจหนักเช่นนั้น (มก.๑๔,๓๒-๓๘) พระเยซูเคยสอน พวกสาวกเสมอว่า ให้ภาวนาขออย่าให้ต้องตกอยู่ในภาวะเช่นนี้เลย ขออย่าให้ต้องถูกทดลองใจ นี่คือความหมายของบทภาวนา "อย่านําเราไปสู่การประจญ" (มธ.๖,๑๓;ลก.๑๑, ๔) พระเยซูไม่อยากให้ใครถูกทดลองใจแบบนี้

          แต่วิกฤติกาลก็มาถึง  และการทดลองใจก็หนักมาก  พระเยซูคนเดียวที่สามารถรับการท้าทาย ซึ่งทําให้พระเยซู "ลอย" ขึ้นเหนือทุกคนในขณะที่ความเงียบของพระเยซูพิพากษามนุษย์ทุกคน พระเยซูตายคนเดียว ในฐานะที่เป็นคนเดียวที่สามารถผ่านการทดลอง คนอื่น ๆ ทุกคนไม่ผ่าน แต่ได้รับโอกาสอีกครั้งหนึ่ง คริสตชนคือผู้ที่เชื่อในพระเยซู และมีแรงบันดาลใจให้ตอบรับการท้าทาย ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง

คำถาม
          1.พระเยซูถูกประหารด้วยเหตุผลใด ?
          2.ใครต้องรับผิดชอบความตายของพระเยซู ?
          3.การประจญหรือการทดลองอะไรที่หนักที่สุดสำหรับท่าน ?

book