Skip to main content

Jesus before
C h r i s t i a n i t y

บทที่ 17 พระเยซูคือใคร?

Faith4Thai.com | | คริสตศาสน์

book

โดยทั่วไป ทุกๆ ฝ่ายประเมินพระเยซูตํ่าเกินไป ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่ถือว่า พระเยซูเป็นเพียงครูสอนศาสนาคนหนึ่ง หรือฝ่ายที่เน้นมากว่าพระเยซูเป็นพระเจ้า จนถือว่าไม่เป็นมนุษย์เต็มที่ แต่เมื่อเรายอมปล่อยให้พระเยซูพูดเอง และพยายามเข้าใจพระเยซูในบริบทของยุค (คือเมื่อ ๒๐๐๐ ปีก่อน) และเมื่อเราพยายามฟังพระเยซูโดยวางตัวเป็นกลางแล้ว เราจะเห็นว่าพระเยซูคือคนคนหนึ่ง ที่มีความเป็นตัวของตัวเอง มีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว มีคุณธรรมโดดเด่น น่าเคารพนับถือ และมีความคิดความเข้าใจที่เฉียบคม ถ้าอ้างว่าพระเยซูไม่ใช่คน ก็เท่ากับตัดความ ยิ่งใหญ่ของพระเยซูออกไป

1. จุดเด่นของพระเยซู

          ในยุคของพระเยซู วิธีเดียวที่จะประกันความดีและความถูกต้อง ก็คือ คิดและทําตามกลุ่มของตน แต่พระเยซูกล้าคิดและกล้าทําแตกต่างออกไปจากคนอื่นอย่างไม่ลังเลใจ กล้าขัดแย้งอย่างไม่สะทกสะท้านกับพวกคัมภีราจารย์ ซึ่งถือกันว่ามีความรอบรู้เชี่ยวชาญในเรื่องพระคัมภีร์และขนบธรรมเนียม ไม่ว่าขนบธรรมเนียมจะถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์แค่ไหน พระเยซูก็กล้าเอาขึ้นมาทบทวนพิจารณาว่าถูกหรือผิด ไม่ว่าอํานาจใดจะยิ่งใหญ่แค่ไหน พระเยซูก็กล้าโต้แย้ง ไม่ว่าความเชื่อถือจะลงรากลึกและสําคัญแค่ไหน พระเยซูก็กล้าเปลี่ยนเสียใหม่

          ไม่มีตอนไหนในพระวรสารที่แสดงว่า พระเยซูขัดแย้งกับทุกคนเพียงเพราะอยากจะขัดแย้ง หรือเพราะมีความเกลียดชังสังคม แต่พระวรสารแสดงในเห็นตลอดเวลาว่า พระเยซูเป็นคนที่กล้าหาญอันเนื่องมาจากความเชื่อมั่น มีความคิดเป็นอิสระอันเนื่องมาจากความสามารถทางความคิดและความเข้าใจ ไม่มีตอนไหนที่แสดงว่าพระเยซูมีความหวาดกลัว พระเยซูไม่กลัวที่จะทําสิ่งที่ถูกต้องแม้ว่าผู้อื่นจะไม่ยอมรับสิ่งนั้น พระเยซูไม่กลัวเสียชื่อเสียง ไม่กลัวแม้แต่จะต้องตาย คนทางฝ่ายศาสนา(รวมทั้งยอห์นแบปติสต์เองด้วย) รู้สึกข้องใจที่เห็นพระเยซูคบหาสมาคมกับคนบาป ร่วมวงกับพวกเหล่านี้อย่างมีความสุข หละหลวมในเรื่องกฎบัญญัติ และดูเหมือนไม่ให้ความสําคัญกับเรื่องบาป นอกนั้นยังเป็นกันเองกับพระเจ้าเกินไป พฤติกรรมของพระเยซูทําให้ตัวเองได้ชื่อว่า "นักกินนักดื่ม" ซึ่งคนทั่วไปอาจเรียกว่าเป็นการเสียชื่อเสียง แต่พระเยซูก็มีอารมณ์ขันมากพอที่จะหยิบยกขึ้นมาอ้างอิง (มธ.๑๑,๑๖-๑๙) เมื่อพระเยซูร่วมวงกับคนบาป ตามหลักในสมัยนั้น ก็ต้องถือว่าพระเยซูกลายเป็นคนบาปคนหนึ่งไปด้วย (ยน.๙,๒๔) ในยุคนั้นการติดต่อฉันมิตรกับผู้หญิงนอกแวดวงครอบครัวของตน ถือได้สถานเดียวว่าเป็นเรื่องชู้สาว แต่พระเยซูก็ติดต่อเป็นมิตรกับผู้หญิงโดยทั่วไปและกับหญิงโสเภณีด้วย ถ้ายังมีชื่อเสียงหลงเหลืออยู่บ้าง ก็หมดไปพอดี (ลก.๗,๓๙;ยน.๔,๒๗) พระเยซูไม่เคยทําอะไรเพื่อหวังความนิยมชมชอบ ไม่เคยยอมอ่อนข้อประนีประนอมเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของคนอื่น

          ตามพระวรสารโดยมาร์โก แม้แต่ฝ่ายตรงข้ามก็ยังยอมรับว่า พระเยซูเป็นคนซื่อสัตย์ตรงไปตรงมาและไม่กลัวสิ่งใด "เรารู้ว่าท่านเป็นคนตรงไปตรงมาและไม่กลัวใคร และยศศักดิ์ของใครก็ไม่มีความหมายสําหรับท่าน และท่านสอนหนทางของพระเจ้าด้วยความจริงใจ..." (มก.๑๒,๑๔) แม้ว่าการยอมรับนี้เป็นเพียงการพูดนําเพื่อหลอกถามเรื่องการเสียภาษี  แต่มันก็แสดงได้มากพอสมควรว่า คนทั่วไปรู้สึกอย่างไรต่อพระเยซู ญาติพี่น้องคิดว่าพระเยซูเสียสติ (มก.๓, ๒๑) พวกฟาริสีคิดว่าพระเยซูถูกผีสิง (มก.๓, ๒๒) บางคนกล่าวหาว่าพระเยซูเป็นนักกินนักดื่ม เป็นคนบาป เป็นคนพูดจาดูหมิ่นพระเจ้า แต่ไม่เคยมีใครคิดหรือกล่าวหาว่า พระเยซูไม่จริงใจหรือหน้าซื่อใจคด  ไม่มีใครคิดว่าพระเยซูกลัวคําวิพากวิจารณ์ หรือกลัวใครจองล้างจองผลาญ

          ความกล้าหาญและความเด็ดเดี่ยวของพระเยซู ทําให้คนถามอยู่บ่อยๆว่า "ชายผู้นี้คือใคร ?" เป็นที่น่าสังเกตว่าพระเยซูไม่เคยตอบคําถามนี้เลย ไม่มีปรากฏเลยว่า พระเยซูเรียกตัวเองด้วยชื่อหรือตําแหน่งที่สูงส่งต่างๆ ซึ่งคริสตศาสนิกชนใช้เรียกพระเยซูในภายหลัง

2. พระเยซูมิได้ยกย่องตนเอง      

          นักพระคัมภีร์บางคนคิดว่า มีอยู่คําหนึ่งที่พระเยซูรับเป็นชื่อหรือตําแหน่งของตน คือ "บุตรแห่งมนุษย์" แต่ไม่เป็นความจริง แม้พระเยซูเคยใช้คํานี้ แต่คํานี้ไม่ใช่ชื่อเฉพาะหรือเป็นคํานําหน้า  มีนักพระคัมภีร์เด่น ๆ หลาย คนพยายามศึกษาคํานี้ ผลก็คือแต่ละคนสรุปไม่เหมือนกันเลย นอกจากเห็นพ้องกันว่า "บุตรแห่งมนุษย์" เป็น คํานําหน้าที่สําคัญมาก นี่แสดงให้เห็นว่าเข้าใจปัญหาไม่ถูกต้อง เราต้องถามก่อนว่า คําว่า "บุตรแห่งมนุษย์" เดิมทีเป็นคํานําหน้าหรือไม่ ? คํานี้ไม่ปรากฏในประมวลข้อความเชื่อของศาสนาคริสต์(confession of faith) ไม่เคยนําหน้าชื่อพระเยซู และไม่เคยนําหน้าชื่อใครทั้งนั้น ในพระวรสาร คําคํานี้ไม่ได้หลุดมาจากปากใครนอกจากพระเยซูผู้เดียว เมื่อพระเยซูใช้คํานี้ ไม่เคยมีใครโต้แย้งหรือมีปฏิกิริยาใดๆ นักพระคัมภีร์ชื่อเวิมส์ ได้สรุปเป็นที่ยอมรับได้ว่า คําที่พระเยซูใช้นี้เป็น คําในภาษาอาราไมอิคของแคว้นกาลิลี ซึ่งคนจะใช้เรียกตัวเอง โดยแฝงถึงความรู้สึกถ่อมตัว หรือสงวนท่าที หรือรู้สึกทึ่งต่อหน้าสิ่งที่ยิ่งใหญ่ แทนที่จะใช้คําว่า "ฉัน" ก็ใช้คําว่า "บุตรแห่งมนุษย์" นอกนั้นยังมีความหมายเหมือนกับคําว่า "คน" ด้วย มักจะใช้เพื่อเน้นความเป็นคน ต่างจากความเป็นสัตว์ (เทียบ ดาเนียล ๗,๓-๗; ๗, ๑๗-๒๖ กับ ๗,๑๓) อย่างไรก็ตาม นักพระคัมภีร์หลายคนเชื่อว่า ข้อความในพระวรสารบางตอนที่พูดถึงบุตรแห่งมนุษย์ ไม่ใช่เป็นคําพูดของพระเยซู แต่เกิดขึ้นภายหลัง

          พระเยซูใช้คําว่า"บุตรแห่งมนุษย์" ตามวิธีพูดธรรมดาในภาษาของตน หรือว่าพระเยซูใช้คํานี้โดยมีความหมายอะไรเป็นพิเศษด้วย ? จากพระวรสาร ดูเหมือนว่าพระเยซูให้ความสําคัญต่อคํานี้มากทีเดียว  ถ้าเราระลึกอยู่เสมอว่า พระเยซูให้ความสําคัญแก่ศักดิ์ศรีของคนในฐานะที่เป็นคน และให้ความสําคัญแก่ความเป็นหนึ่งเดียวกันในมนุษยชาติ เราก็คงจะคิดได้ว่า เมื่อพระเยซูใช้คําว่า "บุตรแห่งมนุษย์" พระเยซูหมายถึงคนในฐานะที่เป็นคน และพระเยซูรวมตัวเองเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับมนุษยชาติ

          ดังนั้นเมื่อพระเยซูพูดว่า "บุตรแห่งมนุษย์เป็นนายของวันพระ" (มก.๒,๒๘) ก็แปลว่า "วันพระมีไว้สําหรับคน ไม่ใช่คนมีไว้สําหรับวันพระ" (มก.๒,๒๗) เมื่อพูดว่า "บุตรแห่งมนุษย์มีพลังยกบาปในโลกนี้" (มธ.๙,๖) ก็คือคําสรรเสริญพระเจ้า ที่"พระเจ้าได้ให้พลังเช่นนี้แก่มนุษย์" (มธ.๙,๘) เมื่อพูดว่า "หมาจิ้งจอกมีรู และนกในอากาศมีรัง แต่บุตรแห่งมนุษย์ไม่มีที่วางศีรษะ" อาจจะแปลว่า เฮรอด(หมาจิ้งจอก) และพวกโรมัน(นกอินทรี) มีที่ในสังคม แต่คนในฐานะที่เป็นคนยังไม่มีที่เลย และเมื่อพูดว่า "บุตรแห่งมนุษย์จะถูกมอบไว้ในมือของคน" (มก.๙,๓๑) ก็อาจมีความหมายว่า คนที่ถือตัวว่าเป็นหนึ่งเดียวกันกับเพื่อนมนุษย์ ต้องทนทรมานเพราะเงื้อมมือของมนุษย์นั่นเอง

          นี่เป็นการตีความหมายเท่านั้น สิ่งเดียวที่พูดด้วยความแน่นอนได้ก็คือ เมื่อพระเยซูใช้คําว่า "บุตรแห่งมนุษย์" พระเยซูไม่ได้อ้างตัวเป็นผู้มีตําแหน่งหรือยศศักดิ์อะไร เรารู้แล้วว่าพระเยซูสอนอย่างไรเกี่ยวกับยศศักดิ์ชื่อเสียง เราจึงไม่แปลกใจเมื่อพระเยซูไม่ต้องการตําแหน่งหรือคํานําหน้าอะไรทั้งสิ้น "อย่าให้ใครเรียกท่านว่า อาจารย์ เพราะท่านมีอาจารย์แต่ผู้เดียว และพวกท่านเป็นพี่น้องกัน อย่าให้ใครในโลกนี้เรียกท่านว่า บิดา เพราะท่านมีบิดาคนเดียว ผู้สถิตในสวรรค์  อย่าให้ใครเรียกท่านว่า เจ้านาย  เพราะท่านมีเจ้านายคนเดียว(คือพระคริสต์) (มธ.๒๓,๘-๑๐) คําสุดท้ายในวงเล็บ เป็นคําที่มัทธิวหรือแหล่งข้อมูลของมัทธิวได้เปลี่ยนใส่เข้าไป พระเยซูเคยเลี่ยงคําว่า คริสต์ หรือ เมสสิยาห์ เสมอ นอกนั้นความหมายมันชัดเจนอยู่แล้วว่า พระเจ้าแต่ผู้เดียวเป็นอาจารย์ เป็นบิดา และเป็นเจ้านายของเรา

3. คนอื่นมองพระเยซู

          คนที่ติดต่อกับพระเยซู คงจะได้เรียกพระเยซูเป็นอาจารย์(rabbi) แต่ก็ไม่มีตรงไหนที่บันทึกไว้ว่า พระเยซูห้ามคนเรียกเช่นนั้น ทั้งนี้คงเป็นเพราะว่า บางคนเพียงแต่อยากแสดงความเคารพนับถือโดยใช้คําที่สุภาพเหมาะสมเท่านั้น ถ้าจะคอยห้ามปรามตลอดเวลาว่าอย่าเรียกเช่นนี้ คงจะน่ารําคาญ สิ่งที่ชัดเจนคือคนอยากจะเรียกพระเยซูเป็นอาจารย์ แต่พระเยซูอยากจะเป็นคนรับใช้ของผู้อื่น (ยน.๑๓,๑๒-๑๕)

          พระเยซูคงจะรู้ตัวว่าตนกําลังทําสิ่งที่พระคัมภีร์พูดถึงล่วงหน้าให้สําเร็จไป แต่สําหรับพระเยซู มันไม่สําคัญว่าใครเป็นคนทําให้สําเร็จ ขอให้มันสําเร็จก็แล้วกัน เมื่อสาวกของยอห์น แบปติสต์ไปถามพระเยซูว่า พระเยซูเป็นผู้ที่ต้องมา(ตามที่พระคัมภีร์พูดไว้)ใช่หรือไม่ พระเยซูไม่ตอบคําถามโดยตรง แต่ชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่กําลังเกิดขึ้นในขณะนั้น เป็นไปตามที่จารึกไว้ในพระคัมภีร์  "คนตาบอดกลับเห็นได้ คนง่อยกลับเดินได้ คนโรคเรื้อนกลับสะอาดหมดจด...คนจนได้รับฟังข่าวดี" (มธ.๑๑,๔-๕)

          พระเยซูไม่ได้บอกว่า ฉันเองเป็นคนทําให้คนตาบอดกลับมองเห็น ฯลฯ ที่สําคัญคือสิ่งที่เกิดขึ้น กล่าวคือ ประชาชนกําลังได้รับการปลดปล่อย ใครเป็นคนทําไม่ใช่สิ่งสําคัญ  พระเยซูให้พวกสาวกกระจายกันออกไป ทําสิ่งที่พระเยซูทํา และไม่เคยห้ามมิให้ใครทําเช่นเดียวกัน (มก.๙, ๓๘-๔๐)

4. พระเยซูเป็นผู้มีอำนาจ

          เรายืนยันได้ว่า พระเยซูไม่เคยอ้างตัวเป็นคนสําคัญ มีตําแหน่งหรือมีอํานาจ แต่นักเขียนผู้เชี่ยวชาญหลายคนมีความเห็นว่า พระเยซูอ้างอํานาจโดยทางอ้อม เพราะพระเยซูวางตัวไม่ขึ้นกับใคร และไม่อ้างอิงอํานาจใด "แต่เราขอบอกแก่ท่านว่า..." เป็นคําพูดที่แสดงถึงอํานาจ ในตัวผู้พูดเอง แต่เราสงสัยว่าพระเยซูอ้าง อํานาจของตัวเองอย่างนั้นจริงๆ หรือ ?  พระเยซูถือว่าการแสดงอํานาจ เป็นลักษณะของพวกคนที่ไม่มีพระเจ้า(มก. ๑๐,๔๒) และเราคิดว่าความยิ่งใหญ่ของพระเยซูอยู่ตรงที่ไม่ต้องใช้อํานาจ อะไรเลย

          อํานาจคือสิทธิที่จะได้รับความนบนอบจากคนอื่น การอ้างอํานาจก็คือการเรียกร้องสิทธิ เรียกร้องให้คนอื่นนบนอบตน  มาร์โกเข้าใจว่า คําพูดของพระเยซูมีอํานาจซึ่งบังคับให้นบนอบได้ (มก.๑,๒๒;๑,๒๗) แต่ผู้ที่ต้องนบนอบไม่ใช่คน แต่เป็นจิตชั่ว โรคภัยไข้เจ็บ บาป กฎบัญญัติ ลมและทะเล

          เราได้พูดแล้วว่า พระเยซูมีพลังเหนือจิตชั่วและความชั่วร้ายทั่วไป พลังนั้นคือพลังแห่งความเชื่อ ความเชื่อของพระเยซูสามารถทําให้หายจากความเจ็บไข้ได้ป่วย สามารถช่วยให้รอดพ้นความทุกข์ สามารถปลุกความเชื่อในตัวผู้คนที่อยู่รอบข้าง ความเชื่อนี้ ในพระวรสารถือว่าเป็นอํานาจ แบบหนึ่ง ในเรื่องอัศจรรย์ที่เกิดแก่คนรับใช้ของทหารโรมัน (มธ.๘,๕-๑๓; ลก.๗,๑-๑๐;ยน.๔,๔๖-๕๓) มีการเอาอํานาจและความนบนอบในทางทหาร มาเปรียบเทียบกับพลังของพระเยซูที่มีเหนือจิตชั่ว นายทหารคนนั้นตระหนักดีว่า อํานาจทางทหารโรมันใช้ได้ผลเพียงใด พลังความเชื่อของพระเยซูก็ต้องได้ผลเช่นกัน อํานาจอย่างเดียวที่พระเยซูใช้ ก็คืออํานาจ เหนือความชั่ว นั่นคือพลังความเชื่อ

          ถ้าไม่ใช้อํานาจหรืออ้างอํานาจใด แล้วพระเยซูสอนอย่างไร ? นิทานเปรียบเทียบที่พระเยซูเล่าเป็นประจํา เป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงถึงการสอนโดยไม่ต้องอ้างอํานาจใด จุดหมายของนิทานเปรียบเทียบคือเพื่อให้ผู้ฟังค้นพบความจริงด้วยตนเอง นิทานเปรียบเทียบเป็นผลงานทางศิลป์ ที่เผยความจริงแห่งชีวิต นิทานเปรียบเทียบช่วยปลุกความเชื่อในตัวผู้ฟัง เพื่อจะได้มองเห็นความจริงด้วยตัวเอง เพราะเหตุนี้ ส่วนมากนิทานเปรียบเทียบจะจบด้วยคําถามตรงๆ หรือคําถามทางอ้อม ซึ่งผู้ฟังจะต้องตอบเอง "ใน ๓ คนนี้ คนไหนแสดงตัวเป็นเพื่อนบ้าน ?" (ลก.๑๐, ๓๖) "คนไหนจะรักมากกว่า ?" (ลก.๗,๔๒) "ท่านคิดอย่างไร ลูกสองคนนี้ คนไหนที่ทําตามความต้องการของบิดา ?" (มธ.๒๑,๒๘-๓๑) "เจ้าของสวนองุ่นจะทําอย่างไรกับพวกนั้น ?" (ลก.๒๐,๑๖) นิทานเปรียบเทียบเรื่องแกะพลัดฝูง และเหรียญเงินที่หายไป เป็นรูปแบบคําถามเกือบตลอด (ลก.๑๕,๔-๑๐; มธ. ๑๘, ๑๒-๑๔)

          โดยทั่วไป พระเยซูเล่านิทานเปรียบเทียบสําหรับฝ่ายตรงข้าม ไม่ใช่สําหรับพวกคนจนและคนถูกกดขี่ และไม่ใช่สําหรับพวกสาวก พระเยซูต้องการจูงใจและทําให้ฝ่ายตรงข้ามรับความจริง โดยช่วยให้พวกเขาคิดเอาเอง ที่จริงแล้วพระเยซูต้องการให้ทุกคนคิดและตัดสินใจเอง รวมทั้งพวกสาวกและชาวบ้านทั่วไป (ลก.๑๒,๕๗) แต่วิธีสอนพวกสาวกและฝูงชนที่ยอมรับพระเยซู แตกต่างออกไปบ้าง เนื่องจากพระเยซูต้องการให้คนอื่นเห็นสิ่งที่ตนเห็น เชื่อสิ่งที่ตนเชื่อ และพระเยซูมีความมั่นใจในความจริงและความเชื่อเป็นอย่างมาก วิธีพูดสอนจึงค่อนข้างจะเป็นเหมือนใช้อํานาจ หรืออ้างอํานาจตนเอง "แต่เราบอกพวกท่านว่า..." พระเยซูประกาศความจริงอย่างแน่นอนชัดเจนโดยไม่มีความลังเลสงสัย ไม่ว่าจะใช้คําชักจูงที่อ่อนหวาน ใช้นิทานเปรียบเทียบ หรือใช้คําประกาศที่เด็ดขาด

          พระเยซูไม่อ้างอิงอํานาจใด ๆ ไม่ว่าจะจะเป็นอำนาจของตนหรือของผู้อื่น พวกคัมภีราจารย์อ้างอิงอํานาจของขนบธรรมเนียมและอ้างพระคัมภีร์ พวกประกาศกสมัยก่อนอ้างอํานาจ โดยตรงจากพระเจ้า แต่พระเยซูไม่อ้างอํานาจใด ๆ ทั้งสิ้น พระเยซูไม่เคยใช้คํานําที่ว่า "พระเจ้าตรัสดังนี้ว่า..." ดังที่พวกประกาศกเคยใช้อยู่เสมอ พระเยซูไม่ยอมแสดงเครื่องหมายอะไรให้ฝ่ายตรงข้ามเห็น เพื่อยืนยันว่าตนได้รับอํานาจจากพระเจ้า และเมื่อถูกถามว่ามีอํานาจอะไรจึงทําเช่นนี้ พระเยซูไม่ตอบ (มก.๑๑,๓๓)  เมื่อเห็นสิ่งที่พระเยซูทําหรือฟังสิ่งที่พระเยซูพูดแล้ว เราต้องเห็นความจริงในสิ่งนั้นๆ โดยไม่ต้องมีอํานาจใดมาสนับสนุน

5.ประสบการณ์ “อับบา”

          คําพูดของพระเยซูสร้างความประทับใจให้แก่คนทั่วไป ไม่ใช่เพราะได้อ้างอํานาจของใคร แต่โดยอาศัยพลังแห่งความจริง ซึ่งเป็นพลังของพระเจ้า

          การอ้างว่าตนเองพูดความจริง เป็นเรื่องสําคัญและยิ่งใหญ่กว่าการอ้างตําแหน่ง หรืออํานาจใดๆ มาสนับสนุน มีอะไรที่ทําให้พระเยซูกล้าอ้างเช่นนี้ ? มีอะไรที่ทําให้พระเยซูมั่นใจนักว่าตนเองถูกต้อง ? พระเยซูมีประสบการณ์ส่วนตัวที่ลึกซึ้งจนทําให้เห็นแจ้งและเข้าใจความจริง

          ปัญหาเรื่องประสบการณ์ส่วนตัวของพระเยซู เป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อน หลายคนที่พยายามศึกษาจิตวิทยาหรือสภาพจิตของพระเยซู ก็ได้แต่เดาหรือคาดคะเนเท่านั้น นักพระคัมภีร์ที่มีชื่อเสียงหลายคน ยืนยันได้แต่เพียงว่า ลึกลงไปในบุคลิกอันเร้นลับของพระเยซู มีประสบการณ์ส่วนตัวอย่างหนึ่งที่ลึกซึ้งแน่นแฟ้น ที่เรียกว่า "ประสบการณ์อับบา" (Abba-experience) ซึ่งเป็นความใกล้ชิดและเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าในฐานะที่พระเจ้าเป็นพ่อผู้มีใจรักเมตตา

          ประกาศกในอดีตถ่ายทอดพระวาจาของพระเจ้าให้แก่มนุษย์ และบางครั้งก็ถ่ายทอดความรู้สึกและอารมณ์ของพระเจ้าด้วย(พระเจ้าสั่งอะไร และรู้สึกอย่างไรต่อประชากรของพระองค์) ในกรณีของพระเยซู ความรักเมตตาของพระเจ้าสิงสถิตในพระเยซูอย่างท่วมท้น ทําให้พระเยซูมีความมั่นใจ ความเชื่อและความหวัง เนื่องจากพระเจ้ามีใจรักเมตตา ความดีจะต้องเอาชนะความชั่ว สิ่งที่เป็นไปไม่ได้จะเกิดขึ้น และจะมีความหวังสําหรับมนุษยชาติ

          ความรักเมตตาเป็นรากฐานของความจริง เราจะมีประสบการณ์ความรักเมตตา ก็ต่อเมื่อเรามีประสบการณ์ความทุกข์หรือความรู้สึกพร้อมกับคนอื่น มันทําให้เราร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับเพื่อนมนุษย์ กับธรรมชาติและกับพระเจ้า มันทําให้เราร่วมเป็นหนึ่งกับชีวิตและความเป็นจริง

          พระเยซูมีความคิดและความเข้าใจที่ผิดพลาดไม่ได้ และมีความมั่นใจที่แข็งแกร่ง ทั้งนี้เพราะพระเยซูมีประสบการณ์ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า กับมนุษย์และกับธรรมชาติ สิ่งนี้ทําให้พระเยซูเป็นคนมีอิสระที่แท้จริง มีความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว ปราศจากความหวาดกลัว เต็มไปด้วยความหวัง และตั้งมั่นอยู่ในความจริง

          เมื่อพระเยซูเป็นคนเช่นนี้ ทําไมจึงมีคนที่ต้องการกําจัดพระเยซู ? มีอะไรที่ทําให้พวกเขาต้องการจับกุมและดําเนินคดีกับพระเยซู ?

คำถาม
          1. ท่านคิดว่าพระเยซูเป็นคนอย่างไร ?
          2. คนสมัยนั้นมองพระเยซูอย่างไร ?
          3. อะไรทำให้พระเยซูดูเป็นผู้มีอำนาจ ?

book