Skip to main content

Jesus before
C h r i s t i a n i t y

บทที่ 05 อภัยบาป

Faith4Thai.com | | คริสตศาสน์

book

    ยอห์นแบปติสต์เทศน์ให้คนบาป ผู้ศักดิ์สิทธิ์ชื่อ ฮันนีนา เบนโดซ ขับไล่จิตชั่วออกจากคนบาป ฝ่ายพระเยซูทําตัวเป็นหนึ่งในพวกคนบาป เข้าร่วมวงสมพงษ์กับคนขอทาน คนเก็บภาษีและหญิงโสเภณี

    ในสังคมที่มีกําแพงกั้นระหว่างชนชั้น เชื้อชาติหรือกลุ่ม วิธีรักษากําแพงให้คงอยู่ก็คือต้องห้ามการคบหาสมาคมกัน ไม่ว่าจะเป็นการกินอาหารหรือพูดคุยสนุกสนานเฮฮากับชนชั้นอื่นหรือกลุ่มอื่น ในแถบตะวันออกกลาง การกินอาหารด้วยกันเป็นการแสดงออกถึงความสัมพันธ์อันลึกซึ้งแน่นแฟ้นที่มีต่อกัน พวกเขาจะไม่ยอมร่วมโต๊ะอาหารกับชนชั้นตํ่ากว่าตน หรือกับกลุ่มชนที่ตนไม่นับถือ

1. พระเยซูอยู่ข้างคนจน คนบาป

    การที่พระเยซูเข้าร่วมวงกับพวกที่ถือกันว่าเป็นคนบาป ทําให้คนประหลาดใจมาก การทําเช่นนี้แสดงว่าพระเยซูยอมรับพวกคนบาป ให้ความเคารพนับถือ “เป็นเพื่อนกับคนเก็บภาษีและคนบาป” (มธ.๑๑,๑๙)  แต่สําหรับคนจนและคนน่าสงสารทั้งหลาย  การที่พระเยซูทำเช่นนี้มีผลน่าอัศจรรย์

    มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่แน่ชัดว่าพระเยซูเข้าร่วมสังคมกับคนบาป เป็นไปไม่ได้ที่ศิษย์รุ่นหลังจะแต่งเติมเรื่องราวอันน่าตําหนินี้ขึ้นมาภายหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อศิษย์รุ่นหลังส่วนใหญ่มีฐานะทางสังคมสูงกว่าคนที่ห้อมล้อมรอบข้างพระเยซู ตรงกันข้ามเราอาจจะต้องสงสัยว่า ศิษย์รุ่นหลังได้กลบเกลื่อนเรื่องราวประเภทนี้ไปมากน้อยแค่ไหน หลักฐานที่เรามีก็เพียงพอที่จะแสดงว่า พระเยซูเป็นเพื่อนร่วมโต๊ะกับคนบาป

    "พวกเขาพูดว่า ชายคนนี้เป็นเจ้าภาพเลี้ยงคนบาปและสังสรรค์กับพวกนั้น" (ลก.๑๕,๒) "พระเยซูกินเลี้ยงในบ้านของตน คนเก็บภาษีและคนบาปหลายคนก็มากินเลี้ยงกับพระเยซูและสาวก เพราะพวกนี้หลายคนมาเป็นสาวกของพระเยซู" (มก.๒,๑๕; มก.๙,๑๐; ลก.๕,๒๙)  "...แล้วพวกท่านก็ว่า นี่อย่างไรล่ะ นักกินนักดื่ม เพื่อนของคนเก็บภาษีและคนบาป" (ลก.๗, ๓๔; มธ.๑๑,๑๙) พระเยซูจัดเลี้ยงคนบาปในบ้านของตน โดยทั่วไปเรามักเข้าใจอย่างเถรตรงเกินไปว่าพระเยซูไม่มีที่จะนอน (มธ.๘,๒๐; ลก.๙,๕๘) เนื่องจากพระเยซูเดินทางเกือบตลอดเวลา ดังนั้นบ่อยครั้งที่ต้องหลับนอนตามสุมทุมพุ่มไม้หรือตามบ้านเพื่อนฝูง แต่พระเยซูมีบ้านของตนที่คาเปอร์นาอุม  อาจเป็นบ้านที่แบ่งส่วนกันอยู่กับเปโตรและอันดรู (มก.๑, ๒๑-๒๙-๓๕; ๒,๑; มธ.๔,๑๓) ใน มก.๒,๑๕ เมื่อพูดถึง "บ้านของเขา" อาจหมายถึงบ้านของเลวี ลูกาก็เข้าใจดังนั้น (ลก.๕,๒๙) แต่นักพระคัมภีร์หลายคนคิดว่าหมายถึงบ้านของพระเยซูจะถูกต้องมากกว่า เพราะว่าถ้าพระเยซูไม่มีบ้านอยู่ ก็ไม่รู้จะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงคนได้อย่างไร (ลก.๑๕,๒)

    เนื่องจากมีการพูดถึงการเชิญแขกและ "เอนกาย" กินอาหาร แสดงว่าการกินที่พูดถึงในพระวรสาร หมายถึงการกินเลี้ยงหรือปาร์ตี้ การกินอาหารธรรมดาจะนั่งกิน แต่ถ้าเป็นการกินเลี้ยงก็มีธรรมเนียมเอนกายกิน(ครึ่งนั่งครึ่งนอน) ซึ่งมีเวลาพูดคุยกันยาวนาน การกินเลี้ยงของพระเยซูไม่ใช่ว่าจะต้องจัดอย่างสวยงาม    หรืออาหารดี ๆ มากมาย  (ลก.๑๐,๓๘-

๔๒) การสังสรรค์พูดคุยกันมีความสําคัญกว่ามาก แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากการกินเลี้ยงแบบนี้เป็นสิ่งธรรมดามากในชีวิตของพระเยซู จึงไม่ต้องแปลกใจที่ผู้ไม่หวังดีได้ขนานนามพระเยซูว่า "นักกินนักดื่ม"

    ครั้งหนึ่งพระเยซูบอกเจ้าภาพผู้หนึ่ง (คงจะเป็นชนชั้นกลาง) ว่าต้องเชิญคนจน คนพิการ คนง่อยเปลี้ยเสียขาและคนตาบอด แทนที่จะเชิญแต่เพื่อนฝูงญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านที่มีเงินมีทองเท่านั้น(ลก.๑๔,๑๒-๑๓) เราเชื่อได้ว่าพระเยซูต้องทําสิ่งที่ตนสอนคนอื่น ฉะนั้นเป็นที่แน่นอนว่า พระเยซูมักจะเชิญพวกคนเหล่านี้มากินเลี้ยงอยู่เสมอ

    นอกจากนี้พระเยซูคงจะได้เชิญพวกฟาริสีและพวก "ผู้น่านับถือ" มากินเลี้ยงด้วย พวกนี้เชิญพระเยซูไปกินที่บ้าน (ลก.๗,๓๖;๑๑,๓๗;๑๔,๑) พระเยซูก็ต้องเชิญตอบเช่นเดียวกัน แต่พวกฟาริสีจะมากินเลี้ยงที่บ้านพระเยซูร่วมกับพวกคนขอทานได้อย่างไร ถ้าพวกฟาริสียอมรับเชิญก็ต้องถือว่าตนเสียเกียรติเป็นแน่ คงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงแล้วกลายมาเป็นนิทานเปรียบเทียบ (ลก.๑๔,๑๕-๒๔) ผู้ได้รับเชิญคงจะเป็น "ผู้น่านับถือ" ที่หาข้อแก้ตัวไม่ไปร่วมงานเลี้ยง พระเยซูคงจะได้ส่งสาวกออกไปตามถนนและซอกซอยเพื่อเชิญคนจนคนง่อยคนตาบอด...และบังคับให้เข้ามา พวกขอทานคงจะไม่กล้าเข้า และคนบาปอื่น ๆ ก็คงจะลังเล จึงต้องมีการบังคับกันอยู่บ้าง และคนเหล่านี้ก็คงไม่กล้าเชิญพระเยซูไปกินที่บ้านของตนเป็นการตอบแทน เนื่องจากกฎทางสังคม พระเยซูจึงต้องเชิญตัวเองไปในบางครั้ง เช่นในกรณีของซัคเคียส (ลก.๑๙,๑-๑๐)

    ซัคเคียสไม่ใช่คนจนทางเศรษฐกิจ เขาเป็นคนเก็บภาษีระดับหัวหน้าในเมืองเยริโก และได้สะสมเงินทองไว้มากมาย แต่เขาก็ถูกตราหน้าว่าเป็นคนบาปและถูกเหยียดหยาม ไม่มี "ผู้น่านับถือ" ไหนจะยอมเข้าไปในบ้านของซัคเคียส แต่พระเยซูก็เจาะจงเชิญตัวเองไปกินเลี้ยงที่บ้านของซัคเคียสผู้มีสมญาว่าคนบาปหนาที่สุดในเยริโก ในไม่ช้าเมื่อคนเก็บภาษีและคนบาปอื่น ๆ รู้จักพระเยซูมากขึ้น ก็เริ่มหาโอกาสสังสรรค์กับพระเยซูและเชิญพระเยซูไปกินเลี้ยงที่บ้านของตนบ้าง (ลก.๑๕,๑)

    พระเยซูให้ความสำคัญแก่การชุมนุมแบบนี้ บางทีก็เช่าห้องอาหารที่โรงแรมเพื่อกินเลี้ยงกับสาวก  อาหารคํ่าครั้งสุดท้ายก็เป็นหนึ่งในโอกาสเช่นนี้ หลังจากความตายของพระเยซู พวกสาวกทําพิธีระลึกถึงโดยการกินเลี้ยง เพราะว่าพระเยซูอยากให้ระลึกถึงด้วยวิธีนี้ "จงทําดังนี้เพื่อระลึกถึงเราเถิด" (๑คร.๑๑,๒๔)

2. การร่วมรับประทานอาหารกับพระเยซู

    การที่พระเยซูไปร่วมกินอาหารกับพวกคนจนและคนบาป มีผลกระทบต่อพวกนี้อย่างมาก พระเยซูยอมรับพวกนี้มาเป็นเพื่อนเคียงบ่าเคียงไหล่ ทําให้พวกเขารู้สึกหายจากความอาย หายจากความรู้สึกถูกเหยียดหยามพระเยซูทําให้พวกเขารู้สึกว่าตนมีความสําคัญ มีศักดิ์ศรี มีความเป็นคนเหมือนผู้อื่นทั่วไป การที่พระเยซูสัมผัสกับพวกเขาทางกายโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง ทําให้รู้สึกว่าพวกเขาไม่ใช่ "คนมีมลทิน" ดังที่สังคมตราหน้าพวกเขาไว้ นอกนั้น เนื่องจากว่าคนจํานวนมากนับถือพระเยซูว่าเป็นคนของพระเจ้า หรือเป็นประกาศก พวกคนจนและคนบาปก็ถือว่าการที่พระเยซูเป็นมิตรกับตน ก็แสดงว่าพระเจ้าไม่ถือโทษโกรธเคืองตน พระเจ้า มองข้ามความบาป  ความโง่เขลา  ความมีมลทินของตน  พระเจ้ายอมรับตนแล้ว

    นักพระคัมภีร์หลายคนชี้ให้เห็นว่า การเป็นมิตรร่วมโต๊ะอาหารกับพระเยซูนี้ที่จริงแล้วก็คือการอภัยบาปนั่นเองแม้จะไม่ได้พูดตรงๆ เราจะเข้าใจข้อนี้ได้ถ้ารู้ว่า ในสมัยพระเยซู บาปและการอภัยหมายความว่าอย่างไร   

    สมัยนั้นถือกันว่า บาปคือการเป็นหนี้ต่อพระเจ้า (มธ.๖,๑๒;๑๘, ๒๓-๓๕) ตนเองก่อหนี้ขึ้นในอดีต หรือเป็นบรรพบุรุษที่ก่อหนี้ไว้ โดยการ ทําผิดต่อกฎทางศาสนา การทําผิดกฎดังกล่าวอาจทําผิดโดยตั้งใจหรือโดยบังเอิญ (ถือว่าเป็นบาปเหมือนกันหมด) การให้อภัยคือการยกหนี้ ทําให้หลุดพ้นสภาพเป็นหนี้ นั่นคือเป็นอิสระ การที่พระเจ้าให้อภัยแก่คนคนหนึ่ง เป็นการมองข้ามอดีตของเขา และทําให้เขาหลุดพ้นจากผลอันเนื่องมาจากบาป   

    เมื่อพระเยซูแสดงตัวเป็นมิตรกับคนบาป พระเยซูก็มีความคิดความรู้สึกเช่นนี้ พระเยซูมองข้ามอดีตของคนบาปและไม่ถือว่าเขามีผิดหรือต้องมีโทษอะไร พระเยซูถือว่าเขาไม่เคยมีบาป หรือถ้าเคยมี ก็ไม่มีอีกแล้ว ดังนี้เขาไม่ต้องรับโทษ ไม่ต้องถูกตัดขาดจากสังคมหรือถูกเหยียดหยามอีกต่อไป เขาได้รับอภัยแล้ว

    พระเยซูไม่จําเป็นต้องเผยความจริงนี้ออกมาเป็นคําพูด เช่นเดียวกับในนิทานเรื่องลูกล้างผลาญ พ่อผู้รักลูกไม่ต้องพูดอะไรมากมายกับลูกเพื่อแสดงว่าลูกได้รับอภัยแล้ว การต้อนรับและการเลี้ยงฉลอง พูดได้ดังและชัดเจนมากกว่า

    เนื่องจากถือกันว่าความเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นผลอันเนื่องมาจากบาป การหายจากความเจ็บไข้ได้ป่วยก็ต้องเป็นผลอันเนื่องมาจากการพ้นจากบาปด้วย ถ้าคนหนึ่งหายจากความเจ็บป่วย ก็แปลว่าพระเจ้าได้ยกบาปของเขาแล้ว ความคิดเดียวกันนี้แสดงออกมาในเรื่องของคนง่อยในพระวรสาร (มก.๒,๑-๑๒) ถ้าชายคนนี้สามารถลุกขึ้นเดินได้ แสดงว่าเขาได้รับการยกบาปแล้ว ชายคนนี้อาจจะเป็นง่อยเนื่องมาจากสภาพจิตที่ถูกกดดันเพราะบาป พอได้ยินพระเยซูพูดว่าพระเจ้าได้ยกบาปเขาแล้ว เขาไม่ได้เป็นหนี้ต่อพระเจ้าอีกแล้ว ความกดดันดังกล่าวก็หายไป สภาพจิตกลับเป็นปกติ ร่างกายก็กลับเป็นปกติด้วย

    การสนทนาระหว่างพระเยซูกับพวกฟาริสีในเรื่องนี้ คงจะเขียนแต่งขึ้นภายหลังโดยมาร์โกหรือนักเทศน์สมัยหลังพระเยซู เพื่อสอนว่าการหายโรคอาจเป็นเครื่องหมายอย่างหนึ่งของการอภัยบาป แต่นี่ไม่ได้หมายความว่า พระเยซูตั้งใจที่จะรักษาโรคเพื่อพิสูจน์ว่าตนมีอํานาจยกบาป เหตุที่พระเยซูรักษาโรคก็เพราะความสงสารและเหตุที่พระเยซูให้ความมั่นใจแก่คนง่อยว่าพระเจ้าได้ยกบาปเขาแล้ว ก็เพราะความสงสารเช่นกัน พลังที่รักษาโรคคือพลังแห่งความเชื่อ พลังที่ยกบาปก็คือพลังแห่งความเชื่อด้วย พระวรสารพูดว่าฝูงชนรู้สึกพิศวงที่พระเจ้ามอบอํานาจนี้ให้แก่มนุษย์ ไม่ได้พูดว่าพระเจ้ามอบอํานาจให้พระเยซู

3. รักมาก ได้รับการอภัยมาก

    ในเรื่องหญิงคนบาปที่ไปล้างเท้าพระเยซู พระเยซูบอกเธอว่า "เธอได้รับการยกบาปแล้ว...ความเชื่อของเธอได้ทําให้เธอรอดพ้น จงไปเป็นสุขเถิด" (ลก.๗,๔๘-๕๐) ในที่นี้คําสนทนาชี้ชัดว่าเป็นความเชื่อของหญิงคนนั้นที่ทําให้เธอได้รับการอภัยจากพระเจ้า พระเยซูทําให้เธอมั่นใจว่า หนี้ถูกลบล้างไปหมดแล้ว และเวลานี้พระเจ้ายอมรับเธอ พอเธอเชื่อ มันก็เกิดผลและชีวิตของเธอก็เปลี่ยนไปทันที พระเยซูเชื่อว่าพระเจ้าให้อภัยแก่เราโดยไม่มีเงื่อนไข และพระเยซูก่อให้เกิดความเชื่อเช่นเดียวกันในตัวหญิงคนนั้น พระเยซูทําอย่างไรให้เกิดความเชื่อเราไม่รู้ คงจะเป็นการแสดงตัวเป็นมิตร ยอมรับ หรือเพียงแค่ยอมให้เธอล้างเท้าด้วยนํ้าตา พระเยซูไม่ได้ปฏิเสธที่จะติดต่อกับเธอ ไม่ได้ลงโทษ ไม่ได้ดุด่าว่ากล่าว ไม่ได้ถือว่าเธอมีมลทิน พระเยซูเป็นเหมือนพ่อในนิทานเปรียบเทียบเรื่องลูกล้างผลาญ ที่ไม่ได้ตั้งเงื่อนไข ไม่ได้มีข้อแม้ ไม่ได้กําหนดว่าต้องทําโน่นก่อนทํานี่ทีหลัง  ด้วยการแสดงออกอย่างง่ายๆนิดเดียว พระเยซูก็สามารถปลดปล่อยหญิงคนนี้ให้หลุดจากอดีตของเธอ ทั้งนี้โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น

    ผลที่ตามมาก็คือการหายจากโรคทางใจ หรือความรอดพ้น สําหรับหญิงคนนี้มันเป็นความรู้สึกโล่งอก ความยินดี ความกตัญญูและความรัก "ที่หญิงนี้แสดงความรักมากนั้น เป็นข้อพิสูจน์แล้วว่า นางได้รับการอภัยบาปที่มีอยู่มากมายจนหมดสิ้น" (ลก.๗,๔๗) ความรักและกตัญญูประกอบกับความยินดีสุดซึ้งเป็นเครื่องหมายแห่งการหลุดพ้นจากบาป ที่จริงแล้ว คนจนและคนถูกกดขี่ทุกประเภทที่มาสัมผัสกับพระเยซูต่างก็มีความรู้สึกเดียวกันคือมีความร่าเริงยินดี และหลายครั้งก็แสดงออกมาในการกินเลี้ยงสังสรรค์ พระเยซูอยากทําให้ทุกคนร่าเริงยินดี สิ่งนี้เองที่พวกฟาริสีรับไม่ได้ การร่วมวงเฮฮากับคนบาปเช่นนี้เป็นสิ่งที่น่าติเตียนที่สุด(ลก.๑๕,๑) และไม่มีคําไหนที่จะใช้ติเตียนพระเยซูได้ดีกว่าคําว่า "นักกินนักดื่ม" (ลก.๗,๓๔)

4. การกลับใจ

    เพื่อจะอธิบายถึงความร่าเริงยินดีและการเลี้ยงฉลองให้พวกฟาริสีเข้าใจ พระเยซูเล่านิทานเปรียบเทียบ ๓ เรื่อง เรื่องแกะพลัดฝูง เรื่องเหรียญที่หายไป และเรื่องลูกล้างผลาญ (ลก.๑๕,๑-๓๒) ทั้งสามเรื่องนี้สรุปว่าการได้สิ่งที่หายไปกลับคืนมา (การอภัย) เป็นเหตุแห่งความชื่นชมยินดีและการเฉลิมฉลอง

    ไม่ต้องสงสัยเลยว่าพระเยซูเป็นคนที่มีความร่าเริงยินดี และความร่าเริงยินดีนี้ก็เป็นเหมือนความเชื่อและความหวัง ซึ่งมีลักษณะติดต่อซึมซาบไปสู่คนรอบข้าง พระเยซูไม่เป็นเหมือนยอห์นแบปติสต์ พระเยซูเลี้ยงฉลอง ส่วนยอห์นแบปติสต์อดอาหาร (ลก.๗,๓๑-๓๔) การอดอาหารแสดงถึงความทุกข์โศกเศร้า คนจนและคนที่ถูกกดขี่ (รวมทั้งคนที่ไม่กลัวจะเสียเกียรติเหมือน"ผู้น่านับถือ"ทั้งหลาย) พบว่าการสัมผัสกับพระเยซูทําให้รู้สึกชื่นชมยินดีและรู้สึกเป็นอิสระ พระเยซูทําให้พวกเขารู้สึกปลอดภัย ไม่ต้องกลัวอะไรอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นจิตชั่ว คนชั่ว หรือพายุในทะเลสาบ ไม่ต้องเป็นห่วงอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเครื่องนุ่งห่มอาหารหรือโรคภัยไข้เจ็บ   พระเยซูเตือนใจ และให้กําลังใจอยู่เป็นประจําว่า "อย่ากลัว" "ไม่ต้องเป็นห่วง" "จงชื่นชมยินดีเถิด" นอกจากช่วยให้คนหายโรคและให้อภัยแล้ว พระเยซูยังช่วยขจัดความกลัวและความกังวลต่าง ๆ นานาอีกด้วย

 

คำถาม

    1.เอกลักษณ์เด่นของพระเยซูคืออะไร ?

    2.”การกินการดื่ม” ของพระเยซูมีความสำคัญอย่างไร ?

    3. ท่านเข้าใจ ”รักมาก อภัยมาก” อย่างไร ?

    4.ท่านเข้าใจเรื่อง “การกลับใจ” อย่างไร ?

book