Skip to main content

Jesus before
C h r i s t i a n i t y

บทที่ 03 ทัศนคติของพระเยซู ต่อคนจน และ ความยากจน

book

ในตอนแรก พระเยซูคงจะได้เอาอย่างยอห์นแบปติสต์ในการทําพิธีล้างให้ประชาชนในแม่นํ้าจอร์แดน (ยน.๓,๒๒-๒๖) ถ้าทําเช่นนั้นจริงก็ทําอยู่ได้ไม่นานแล้วก็เลิก (ยน.๔,๑-๓) และไม่มีบอกอีกเลยว่าพระเยซูได้กลับไปทําพิธีเช่นนั้นอีก หรือได้ส่งใครให้ไปรับพิธีล้าง บางคนคิดว่าพระเยซูเป็นผู้มารับหน้าที่แทนยอห์น แต่สิ่งที่ปรากฏให้เห็นคือแทนที่จะทําพิธีล้าง พระเยซูเลือกออกไปตามหา "แกะแห่งชาติอิสราเอลที่หายไป" เพื่อช่วยและรับใช้

1. พระเยซู ตัดสินใจครั้งที่สอง

      ในจุดนี้ เราพบการตัดสินใจที่สําคัญอย่างที่สอง ซึ่งทําให้เราเข้าใจความคิดและเจตนาของพระเยซู พระเยซูคิดว่าการทําพิธีล้างให้ประชาชนที่กลับใจไม่ใช่วิธีของตน มีอย่างอื่นที่จําเป็นต้องทํามากกว่านั้น คือการตาม หาและช่วยเหลือคนจน คนบาปและคนเจ็บป่วย

      กลุ่มคนที่พระเยซูสนใจนั้น พระวรสารใช้ศัพท์หลายคํามาเรียก เช่น คนจน คนตาบอด คนง่อย คนพิการ คนโรคเรื้อน คนอดหยาก คนน่าสมเพท (คนร้องไห้) คนบาป โสเภณี คนเก็บภาษี คนผีสิง (คนจิตชั่วสิง) คนถูกเบียดเบียน คนถูกกดขี่ ผู้ถูกจองจํา ผู้ตรากตรําและแบกแอกหนัก คนถ่อยที่ไม่รู้จักพระบัญญัติ ฝูงชน เด็ก ๆ คนตํ่าต้อย คนสุดท้าย ทารก แกะแห่งชาติอิสราเอลที่หายไป  เมื่อเห็นคําเหล่านี้เราก็เห็นได้ชัดเจนว่าพระเยซูสนใจส่วนไหนของสังคม พระเยซูมักจะเรียกรวม ๆ ว่า คนจนและคนตํ่าต้อย ส่วนพวกฟาริสีจะเรียกว่า คนบาปและคนตํ่าช้าที่ไม่รู้จักพระบัญญัติ

      มีผู้ศึกษาค้นคว้ามากมายเกี่ยวกับสถานการณ์ทางประวัติศาสตร์ในสมัยพระเยซู และเหตุการณ์สําคัญต่างๆ อันนําไปสู่สถานการณ์ทางศาสนาและการเมือง  แต่ผลของการศึกษาดังกล่าวก็เหมือนตําราประวัติศาสตร์ทั่วไปที่พูดถึงแต่ "คนสําคัญ" เช่นกษัตริย์ ผู้มีอํานาจ คนมั่งคั่ง ผู้ยึดครองและกองทัพ คนเหล่านี้พูดอะไร ทําอะไร ประวัติศาสตร์แห่งมนุษยชาติที่แท้จริง คือประวัติศาสตร์แห่งการทนทุกข์ทรมานของประชาชน และสิ่งนี้พบน้อยที่สุดในหนังสือประวัติศาสตร์ เมื่อเขาพูดกันถึงชัยชนะอันยิ่งใหญ่ในสงคราม เขาพูดถึงความทุกข์เวทนาอันเกิดจากสงครามนั้นหรือไม่ ? เมื่อพูดถึงกษัตริย์ผู้เรืองอํานาจ เขาพูดถึงชาวบ้านจนๆที่ต้องถูกกดขี่ข่มเหงเป็นประจําทุกวันหรือไม่? เราอาจเข้าใจเกี่ยวกับจักรพรรดิ์นโปเลียนโดยไม่ต้องรู้เกี่ยวกับความทุกข์ทรมานของประชาชนได้  แต่เราจะไม่สามารถเข้าใจพระเยซู ถ้าเราไม่รู้เกี่ยวกับความทุกข์ทรมานของคนร่วมสมัย ฉะนั้นเราจําเป็นต้องศึกษาเกี่ยวกับโลกของคนจนและคนถูกกดขี่ในปาเลสไตน์ยุคศตวรรษที่ ๑

2. คนจน คนบาป

      "คนจน" หมายถึงคนที่ขัดสนในทางเศรษฐกิจ (แม้ว่าในบางกรณี มีความหมายกว้างกว่านั้น) คนจนพวกแรกก็คือคนขอทาน  พวกนี้ป่วยเป็นโรคหรือพิการและจําเป็นต้องขอทาน  เพราะไม่สามารถหางานทําและไม่มีญาติที่จะช่วยเหลือ สมัยนั้นไม่มีโรงพยาบาล ไม่มีสถานสงเคราะห์ มีทางเดียวคือขอทาน ฉะนั้นคนตาบอด คนใบ้หูหนวก คนง่อย คนพิการ คนโรคเรื้อน ต่างก็ต้องขอทานทั้งนั้น แม่ม่ายและเด็กกําพร้าเป็นคนที่ไม่มีใครหามาเลี้ยง และในสังคมสมัยนั้นไม่มีทางทํามาหากิน ต้องพึ่งคนใจบุญและคลังพระวิหาร กลุ่มอื่นๆที่จัดอยู่ในพวกคนจน มีพวกกรรมกรรับจ้างรายวัน พวกรับจ้างในงานเกษตร และทาส

      ที่จริงแล้วความทุกข์ทรมานของคนจนสมัยนั้น ไม่ถึงขั้นอดหยาก นอกจากว่าจะอยู่ในภาวะสงครามหรือยามกันดาร คนจนอาจจะอดหิวบ้างในบางครั้ง แต่มีน้อยรายที่อดตายเหมือนกับคนเป็นล้าน ๆ ในสมัยเรานี้ แต่สิ่งที่ทรมานคนจนมากกว่าความทุกข์ทางกายคือ ความอาย ไม่ว่าสมัยไหนก็เหมือนกัน คนจนทางเศรษฐกิจต้องพึ่งความเมตตาสงสารจากผู้อื่น และมันทําให้มีความรู้สึกขายหน้ามาก ในตะวันออกกลาง เกียรติและศักดิ์ศรีมีความสําคัญยิ่งกว่าอาหารเสียอีก เงินทองอํานาจและความรู้ทําให้คนมีเกียรติและฐานะ เพราะมันทําให้เขาสามารถทําอะไรเพื่อผู้อื่น ส่วนคนจนต้องพึ่งผู้อื่นและเป็นที่พึ่งของผู้อื่นไม่ได้ จึงถือว่าอยู่ในระดับตํ่าสุดในสังคม ไม่มีเกียรติและศักดิ์ศรี แทบจะไม่ถือว่าเป็นคน เพราะชีวิตไม่มีความหมาย

      เพราะเหตุนี้ คําว่า คนจน จึงรวมไปถึงพวกคนที่ถูกกดขี่ คนที่ต้องพึ่งความเมตตาของผู้อื่น และคําเดียวกันนี้นํามาใช้กับคนที่ต้องพึ่งความเมตตาจากพระเจ้า บางทีก็เรียกว่าผู้มีใจยากจน (มธ. ๕,๓)

      "คนบาป" หมายถึงเดนสังคม ใครก็ตามที่ออกนอกทางแห่งพระบัญญัติและขนบธรรมเนียมของชนชั้นกลาง (ชนชั้นผู้รับการศึกษา คนเคร่งศาสนา คัมภีราจารย์และพวกฟาริสี)คนนั้นจะถูกถือว่าเป็นคนถ่อย จัดเข้าพวกชนชั้นตํ่า ระดับเดียวกันกับ "คนจน"  พวกที่ถูกรวมเรียกว่าคนบาป มีพวกโสเภณี พวกคนเก็บภาษี โจร คนเลี้ยงสัตว์ พวกปล่อยเงินกู้ พวกนักการพนัน คนเก็บภาษีถือว่าเป็นคนโกงเพราะเขาเป็นผู้กําหนดว่าจะเก็บภาษีเท่าไร และเอาส่วนแบ่งเท่าไร ส่วนมากก็ไม่ซื่อสัตย์ (นอกนั้นถือว่าบาปหนาเพราะเก็บเงินของพระเจ้าไปให้จักรพรรดิ์ต่างชาติ) พวกเลี้ยงสัตว์โดยทั่วไปจะนําสัตว์เข้าไปเลี้ยงในที่ของผู้อื่น  ยังยักยอกเอาผลประโยชน์จากฝูงสัตว์เลี้ยงอีกด้วย

      "คนบาป" ยังหมายถึงคนที่ไม่มีเงินจ่ายเป็นเงินทําบุญตามกําหนด ๑ ใน ๑๐ ของรายได้ คนที่ไม่ถือกฎเกี่ยวกับวันสับบาโต (วันพระ) คนที่ไม่ถือระเบียบพิธีกรรมชําระ เนื่องจากกฎและธรรมเนียมเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้สลับซับซ้อนมาก   คนที่ไร้การศึกษาย่อมไม่สามารถเข้าใจและถือตามได้   การศึกษาในสมัยนั้นหมายถึงศึกษาพระคัมภีร์ซึ่งมีภาคที่เน้นหนักทางกฎหมายและระเบียบปลีกย่อย  ฉะนั้นคนที่ไม่รู้หนังสือและไม่ได้รับการศึกษาก็คือผู้ที่ไม่รู้กฎหมายและไม่ปฏิบัติตาม นั่นคือเป็นคนบาป พวกฟาริสีถือว่าคนบาปไม่มีทางที่จะทําความดีและมีความศรัทธาในพระเจ้าได้

3. ทางที่จะหลุดพ้นจากสภาพคนบาป

      แม้ว่าในทางทฤษฎี คนบาปอาจหลุดจากสภาพคนบาปได้  แต่ในทางปฏิบัติเป็นไปไม่ได้ เช่นโสเภณีต้องละทิ้งอดีต และทําพิธีชําระและใช้โทษบาปซึ่งเป็นพิธีที่ละเอียดหยุมหยิม ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก และเงินที่หามาได้ก็เอามาใช้ในการนี้ไม่ได้เพราะถือว่าเป็นเงินสกปรก พวกคนเก็บภาษีต้องเลิกอาชีพแล้วต้องคืนเงินที่โกงเขาไปให้หมด แถมยังต้องชดเชยอีก ๑ ใน ๕  คนที่ไม่ได้รับการศึกษาต้องเข้าเรียนใหม่ซึ่งต้องใช้เวลาอันยาวนานกว่าจะได้เรียนรู้และจะได้กลายเป็นคน "สะอาด" ฉะนั้นคนที่ถูกตราว่าเป็นคนบาปแล้วก็ถือว่าตนมีบาปและพระเจ้าบันดาลให้ตนเป็นเช่นนั้น แก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว คนบาปจึงอยู่ในสภาพถูกจองจําหรือเป็นนักโทษ

      สิ่งที่ทรมานใจคนบาปก็คือความหมดหวัง พวกเขามีความกังวลและคิดอยู่ตลอดเวลาว่าตนมีความผิด หมดหวังเพราะรู้ว่าคนในสังคมจะไม่ยอมรับพวกตนอีกต่อไป ในขณะที่พวกตนอยากให้มีคนยอมรับและอยากมีเกียรติมีศักดิ์ศรีเหมือนคนทั่วไปบ้าง ที่ร้ายกว่านั้น "ท่านผู้รู้" ยังคอยตอกยํ้าลงมาว่าพวกตนไม่เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้า ผลตามมาก็คือเกิดความผิดปกติทางจิต  โทษตนเอง    ถือว่าตนไม่มีอะไรดีอีกแล้ว    หมดหวัง กังวล กลัวพระเจ้าลงโทษ

      คนจนและคนถูกกดขี่ มีโอกาสเจ็บป่วยเป็นโรคสูงมาก ทั้งนี้นอกจากสภาพอันน่าทุเรศทางกายแล้ว ยังมีสภาพจิตที่ทรุดโทรม หลายคนในพวกนี้เป็นโรคทางจิตอันนําไปสู่โรคทางกาย (psychosomatic) เช่นเป็นง่อยหรือใบ้ แต่ในที่นี้เราต้องละวิธีคิดทางจิตวิทยาสมัยใหม่ และพยายามเข้าใจเกี่ยวกับโรคและความเจ็บไข้ได้ป่วยต่าง ๆ ตามแบบที่ประชาชนในสมัยพระเยซูเข้าใจ

4. ความเชื่อเรื่องจิต

      ชาวยิวและชาวตะวันออกกลางอื่น ๆ ในสมัยนั้น   เข้าใจว่า ร่างกายเป็นที่อาศัยอยู่ของจิต เมื่อพระเจ้าเป่าจิตเข้าไปในตัวคนก็ทําให้เขามีชีวิต เมื่อจิตนั้นออกจากร่างเขาก็ตาย ระหว่างที่เขามีชีวิตอยู่ จิตอื่นจะเข้าไปอาศัยอยู่ด้วยก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นจิตที่ดี (จิตของพระเจ้า) หรือจิตชั่ว (มาร,ผี) ถ้าคนคนนั้นมีอาการผิดปกติ บังคับตัวไม่ได้ ก็แปลว่ามีจิตอะไรบางอย่างเข้าไปอยู่ในกายเพิ่ม และที่แสดงอาการออกมานี้ไม่ใช่จิตของเขาเอง ถ้าเป็นอาการที่น่านับถือเช่นเข้าฌาณ ก็ถือว่าจิตของพระเจ้าเข้าสิง ถ้าเป็นอาการที่น่าทุเรศหรือป่วยทางจิต ก็ถือว่าจิตชั่วเข้าสิง เด็กที่พระวรสารเรียกว่าผีสิง มีอาการทิ้งตัวลงบนพื้นดินหรือลงกองไฟ มีอาการหูหนวกและใบ้ชั่วขณะ อาเจียน ชักดิ้นชักงอ นํ้าลายฟูมฟาย เข้าลักษณะของลมบ้าหมู (มก.๙,๑๗-๒๗) คนสมัยนั้นสรุปอย่างมั่นใจว่ารายนี้มีจิตชั่วสิง ชายที่ว่ามีผีสิงแล้วดิ้นทุรนทุรายในศาลาธรรมก็คงเข้าลักษณะของลมบ้าหมูเช่นกัน (มก.๑,๒๓-๒๖)  คนผีสิงที่เยราซา อาศัยอยู่ตามที่ฝังศพ ถูกเขาเอาโซ่ล่ามแต่ก็กระชากโซ่ขาด คําราม เอาหินทุบตัวเอง (มก.๕,๓-๕) ใคร ๆ ก็ว่าเขามีจิตชั่วสิง (มก.๕,๒)   เราคิดว่านี่เป็นอาการของคนเสียสติที่อาละวาด

      ความเจ็บป่วยทางกาย และความเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากสภาพทางจิต (psychosomatic) ก็ถือกันว่าเป็นผลของจิตชั่ว ลูกาพูดถึงหญิงง่อยคนหนึ่งว่า "ถูกจิตแห่งความอ่อนแอสิง" นั่นคือจิตที่ทําให้นางหมดแรง เนื่องจากนางมีอาการหลังค่อม ก็แปลว่านางถูกจิตชั่วผูกมัด (ลก.๑๓,๑๐-๑๗) นอกนั้นยังมีจิตใบ้จิตหูหนวกซึ่งปิดหูคนหูหนวกและผูกลิ้นคนใบ้ (มก.๙,๑๘,๒๕; มก.๗, ๓๕) สิ่งที่ทําให้แม่ยายของซีมอนเป็นไข้สูง แม้จะไม่เรียกชัดๆว่าเป็นจิตชั่วแต่ก็พูดว่า "พระเยซูขู่สําทับไข้แล้วไข้ก็จากนางไป"  (ลก.๔,๓๙)

      เป็นที่น่าสังเกตว่าโรคภัยไข้เจ็บที่กล่าวมาแล้วเป็นประเภทที่ทําให้ร่างกายไม่ทํางานตามปกติ ส่วนโรคที่แสดงออกมาทางผิวหนังถือว่าเป็นความบกพร่องของร่างกาย ไม่ใช่ผลของจิตที่เข้าสิงในร่าง คนที่มีโรคอะไรก็ตามที่ทําให้ภายนอกกายไม่สะอาด ถือว่าเป็นโรคเรื้อน ในสมัยโบราณโรคเรื้อนหมายถึงโรคผิวหนังทุกชนิดรวมไปถึงผดผื่นและแผลเปื่อย คนโรคเรื้อนไม่ถือว่าถูกจิตชั่วสิง แต่ก็ถือว่าเป็นผลของบาปด้วย

      ความเจ็บป่วยทุพพลภาพทุกชนิดถือว่าเป็นความชั่วร้าย เป็นพระเจ้าที่ลงโทษ เพราะบาปเป็นเหตุ อาจเป็นบาปของคนที่รับความทุกข์นั้นเอง หรือบาปของคนในครอบครัว หรือบาปของบรรพบุรษ "ใครทําบาป ชายคนนี้เอง หรือพ่อแม่ของเขา เขาจึงต้องเกิดมาตาบอดเช่นนี้ ?" (ยน.๙,๒; ลก.๑๓,๒-๔)  ชาวยิวไม่คิดว่าพระเจ้าลงโทษมนุษย์โดยพระองค์เอง  แต่มอบอํานาจให้มาร (โยบ ๑,๑๒)

      ชาวยิวสอนกันว่า บาปคือการไม่ถือพระบัญญัติและกฎเกณฑ์ แม้ว่าคนที่ละเมิดนั้นจะไม่รู้ไม่เข้าใจก็ตาม แปลว่าไม่ต้องตั้งใจเต็มใจทําบาปก็เป็นบาปได้  คนทําบาปโดยไม่รู้ตัวก็ได้  และบางทีก็ถือว่าทําบาปแม้ว่าจริง ๆ แล้วเป็นบาปของคนอื่น เช่นลูกหลานที่เกิดจากการผิดประเวณีนับไป ๑๐ ชั่วอายุคนถือว่าเป็นคนบาปหมด ชาวยิวที่ไม่ได้สืบสายเลือดยิวแท้ ๆ ก็ถือว่าเป็นคนบาป ใครที่ไม่สามารถสืบสาวบรรพบุรุษมายืนยันว่าเป็นสายเลือดยิวแท้ ๆ ก็คนบาปเหมือนกัน เพราะการที่คนยิวไปแต่งงานกับชาติอื่นถือว่าทําบาป บาปถูกคิดคํานวณใส่ให้โดยอัตโนมัติ การลงโทษและผลของบาปก็เช่นเดียวกัน

5. ชีวิตสมัยนั้น

      โลกสมัยนั้นดูมืดมนและน่ากลัวมาก  ชาวบ้านธรรมดาต้องถูกห้อมล้อมด้วยจิตชั่ว และมนุษย์ที่ไม่เป็นมิตรเลย ชีวิตต้องขึ้นอยู่กับจิตชั่วซึ่งจะรุกรานเมื่อไรก็ได้ ชีวิตต้องแล้วแต่ผู้มีอํานาจ ซึ่งจะบังคับและกดขี่ข่มเหงได้ทุกรูปแบบ  แถมยังต้องเสียภาษีไม่มีเว้นอีกด้วย

      พวกคัมภีราจารย์เป็นผู้กําหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ มากมาย ซึ่งเป็นการวางภาระหนักบนบ่าคนจนและคนที่ถูกตราว่าเป็นคนบาป แต่ตัวเองกลับไม่ต้องแบกภาระใด ๆ (ลก.๑๑,๔๖) คนจนและคนบาปไม่มีสิทธิในสังคม  ไม่มีสิทธิรับตําแหน่งหน้าที่ ไม่มีสิทธิเป็นพยานในศาล และไม่มีสิทธิเข้าไปในศาลาธรรม นี่แหละคือโลกของ คนถูกกดขี่ คนถูกเบียดเบียน คนถูกจองจํา (ลก.๔,๑๘; มธ.๕, ๑๐)  และคนเหล่านี้คือคนส่วนใหญ่ของสังคมสมัยนั้น คนที่ในพระวรสารเรียกว่า "ฝูงชน"   ส่วน "ชนชั้นกลาง" และ "ชนชั้นสูง" มีอยู่น้อย

      คนที่มีอาชีพค้าขาย ช่างฝีมือเช่นช่างไม้ ชาวประมง ถือว่าเป็นชนชั้นกลาง และเป็นที่ยอมรับนับถือโดยทั่วไป  พวกฟาริสี พวกเอสซีน และพวกซีลอท เป็นชนชั้นกลางที่ได้รับการศึกษา ในพวกซีลอทอาจมีพวก "คนถ่อยที่ไม่รู้จักพระบัญญัติ" เข้าร่วมวงบ้าง แต่ปกติคนจนไม่มีส่วนในขบวนการและกลุ่มต่างๆทางศาสนาและทางการเมือง

      ชนชั้นสูงหรือชั้นปกครองมีชีวิตอย่างหรูหราสุขสบาย และสูงกว่าชนชั้นกลางอย่างมากชนิดที่ว่าเทียบไม่ได้เลย ในระดับสูงนี้มีเฮรอดและราชวงศ์ซึ่งมีรายได้จากภาษีอากร มีพวกหัวหน้าสงฆ์และครอบครัวซึ่งมีรายได้จากเงินทําบุญและภาษีที่ประชาชนต้องจ่ายให้พระวิหาร มีพวกผู้หลักผู้ใหญ่ฝ่ายฆราวาสซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินเกือบทั้งประเทศ

      พระเยซูเกิดมาเป็นชนชั้นกลาง ไม่ใช่คนจนหรือคนถูกกดขี่ พระเยซูไม่ถือสัญชาติโรมันเหมือนเปาโล จึงไม่มีสิทธิของชาวโรมัน  แต่นั่นก็ไม่ทําให้สภาพของพระเยซูด้อยลง    หรือเสียเปรียบแต่อย่างใด   แต่ในสังคมเมืองเยรูซาเลม พระเยซูอาจมีข้อเสียเปรียบอยู่เล็กน้อย  ตรงที่ว่า เป็นชาวแคว้นกาลิลี  พวกยิวผู้เคร่งครัดในเมืองเยรูซาเลมมักจะดูถูกชนชั้นกลางของแคว้นกาลิลี

6. ทางออกของพระเยซู

      จุดเด่นของพระเยซูคือ แม้จะเป็นชนชั้นกลาง   และไม่มีปมด้อยอะไรในสังคม แต่พระเยซูก็คบค้าสมาคมกับชนชั้นตํ่าสุดและเดนสังคม ถือว่าตนเป็นหนึ่งในพวกคนประเภทนี้ พระเยซูเลือกเข้าเป็นพวกชนชั้นตํ่า

      ทําไมพระเยซูจึงเลือกเช่นนั้น ? ทําไมคนระดับกลางคนนี้ จึงไปพูดคุยกับขอทาน และกินอยู่กับพวกคนจน ? ทําไมประกาศกคนนี้จึงไปร่วมวงกับพวกคนถ่อยผู้ไม่รู้จักพระบัญญัติ ? เรามีคําตอบที่ชัดเจนจากตอนต่าง ๆ ในพระวรสาร นั่นคือ ความสงสาร

      "พระเยซูมีความรู้สึกสงสารฝูงชนเป็นอันมาก จึงรักษาคนเจ็บป่วยให้หาย" (มธ.๑๔,๑๔) "พระเยซูเห็นฝูงชนก็มีความสงสาร เพราะพวกเขามีทุกข์และถูกทอดทิ้ง เหมือนฝูงแกะไร้ชุมพาบาล" (มธ.๙,๓๖; มก.๖,๓๔) พระเยซูเกิดความสงสาร เมื่อเห็นความทุกข์และนํ้าตาของหญิงม่ายชาวนาอิม พระเยซูพูดกับนางว่า "อย่าร้องไห้เลย" (ลก.๗,๑๓) พระเยซูสงสารคนโรคเรื้อนคนหนึ่ง (มก.๑,๔๑) สงสารคนตาบอด ๒ คน (มธ.๒๐,๓๔)  สงสารฝูงชนที่ไม่มีอะไรจะกิน (มก.๘,๒)

      ทั่วทั้งหนังสือพระวรสาร เราจะพบความรู้สึกสงสารของพระเยซูอยู่เสมอ แม้ว่าบางแห่งจะไม่ได้ใช้คํานี้โดยตรง พระเยซูพูดกับคนอยู่เป็นประจําว่า "อย่าร้องไห้ไปเลย ไม่ต้องเป็นห่วงหรอก อย่ากลัว" พระเยซูไม่มีความรู้สึกประทับใจในความสง่างามของพระวิหาร (มก.๑๓,๑-๒) แต่รู้สึกตื้นตันใจเมื่อเห็นหญิงม่ายจนๆ คนหนึ่งที่ทําบุญด้วยเงินเหรียญสุดท้ายที่นางมีอยู่ (มก.๑๒, ๔๑-๔๔) ขณะที่ทุกคนกําลังตื่นเต้นกับอัศจรรย์ ที่เกิดแก่ลูกสาวของไจรัส พระเยซูคิดว่าเด็กนั้นคงหิว จึงบอกให้คนเอาอาหารให้กิน (มก.๕,๔๒-๔๓)

      ในนิทานเปรียบเทียบที่พระเยซูเล่าให้ประชาชนฟัง สิ่งที่ทําให้ชาวสะมาเรียผู้ใจดีคนนั้นต่างไปจากคนอื่นก็คือความสงสารที่เขามีต่อชายผู้ถูกโจรทําร้าย (ลก.๑๐,๓๓) และสิ่งที่ทําให้พ่อของลูกล้างผลาญต่างไปจากคนอื่นก็คือความสงสารที่มีต่อลูกจนเรียกได้ว่าเกินเหตุเกินผล (ลก.๑๕, ๒๐)

      สิ่งที่ทําให้พระเยซูต่างจากคนอื่นก็คือ การมีความสงสารอย่างสุดซึ้งต่อคนจนและคนถูกกดขี่ นักพระคัมภีร์ชี้แจงว่า คําว่า "สงสาร" ที่เราใช้กันนี้ยังไม่สามารถแสดงความรู้สึกที่แท้จริงของพระเยซูได้  ศัพท์ภาษากรีกที่พระคัมภีร์ใช้ มาจากรากศัพท์ที่แปลว่า หัวใจ กระเพาะ ลําไส้ เครื่องใน  ซึ่งคนโบราณถือกันว่าเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์รุนแรง ฉะนั้นคําที่ใช้นี้แสดงถึงความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นภายในอย่างรุนแรง สภาพของคนที่พระเยซูพบเห็น สร้างปฏิกิริยาภายในตัวพระเยซูอย่างรุนแรง ผลักดันให้พระเยซูสะเทือนใจและมีอารมณ์ความรู้สึกมาก จนต้องทําอะไรออกมาบางอย่าง เราใช้คําว่า สงสาร เพราะไม่รู้จะมีคําอื่นที่แสดงความรู้สึกของพระเยซูได้ดีกว่านี้หรือไม่

      ถ้าไม่ใช่เป็นเพราะความสงสารสุดซึ้งที่พระเยซูรู้สึกต่อคนจนและคนถูกกดขี่ เราคงไม่สามารถเข้าใจหลายสิ่งหลายอย่างที่พระเยซูทําลงไป

      ถ้าความทุกข์ทรมานของคนจนและคนที่น่าสงสารที่พระเยซูพบเห็น   มีอิทธิพลต่ออารมณ์ความรู้สึกของพระเยซูมากถึงแค่นี้ แล้วความทุกข์ทรมานอันใหญ่หลวงที่พระเยซูคิดว่ากําลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า จะมีอิทธิพลต่อพระเยซูมากแค่ไหน พระเยซูคาดการณ์ว่าจะเกิดภัยพิบัติและการนองเลือดซึ่งจะสร้างความทรมานสุดโหดให้แก่ทุกคน รวมทั้งผู้หญิงและเด็กๆ และนี่แหละที่ทําให้พระเยซูทนต่อไปไม่ได้ "โอ น่าสงสารพวกหญิงที่มีท้อง และพวกแม่ลูกอ่อน เมื่อเหตุการณ์นั้นจะมาถึง" (ลก.๒๑,๒๓) "พวกเจ้าและพวกเด็กๆ จะถูกบดขยี้ติดดิน" (ลก.๑๙,๔๔)

      พระเยซูรู้สึกสะทือนใจถึงขั้นร้องไห้ เช่นเดียวกับประกาศกเยเรมี แต่จะช่วยได้อย่างไร ? การรู้สึกสงสารเห็นอกเห็นใจก็อย่างหนึ่ง  แต่การทําอะไรเพื่อป้องกันหรือแก้ไขก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง จะทําอะไรได้บ้างไหม ?

      ยอห์นแบปติสต์ใช้พิธีล้างเพื่อการกลับใจ แต่พระเยซูก้าวออกไปเพื่อทําให้ประชาชนหลุดพ้นจากความทุกข์ทรมานทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์ทรมานในปัจจุบันหรือในอนาคต  พระเยซูทําอย่างไร ?

คำถาม

      1. การตัดสินใจครั้งที่สองของพระเยซูสำคัญอย่างไร ?    

      2. ท่านเห็นการกดขี่ในสังคมสมัยพระเยซูอย่างไร ?

      3. ท่านเห็นรูปแบบการกดขี่ในครอบครัว  ศาสนา  สังคมของท่านอย่างไร ?

      4. ผลของการกดขี่คืออะไร ?

book