Skip to main content

Jesus before
C h r i s t i a n i t y

บทที่ 09 อาณาจักรกับการแยกกลุ่ม

Faith4Thai.com | | คริสตศาสน์

book

การรวมตัวเป็นกลุ่มและแยกตัวออกจากกลุ่มอื่น ๆ  เป็นความจริงพื้นฐานอย่างหนึ่งในสังคมชาวยิว ครอบครัว ตระกูล เผ่า หรือชาติ เป็นรูปแบบต่างๆ ของการรวมตัว  ซึ่งในบางครั้งแสดงตัวออกมาในตัวบุคคลหนึ่ง เช่น กษัตริย์ หรือบรรพบุรุษต้นตระกูล

1. การแบ่งกลุ่ม

          ความแตกต่างอีกอย่างหนึ่งระหว่างอาณาจักรพระเจ้ากับอาณาจักรมาร ก็คือทัศนคติเกี่ยวกับการแยกกลุ่ม

          นอกจากเกียรติยศชื่อเสียงและความรํ่ารวยแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สังคมสมัยพระเยซูถือกันมากคือการรวมตัวเป็นกลุ่ม ชาวยิวตั้งแต่โบราณมาจนถึงปัจจุบันแสดงออกถึงความภักดีต่อกลุ่มอย่างแจ้งชัด จะมีการร่วมมือและช่วยเหลือกันอย่างเหนียวแน่น เป็นต้นในยามคับขัน ในสมัยของพระเยซูมีการเน้นหนักที่ความเป็นยิวหรือผู้ถือศาสนายิว(Judaism) ซึ่งตั้งตัวเป็นปรปักษ์กับผู้ที่นับถือศาสนาอื่น(Gentiles) นอกนั้นยังเน้นหนักที่ความภักดีต่อกลุ่มย่อยภายในชาติอีกด้วย

          กลุ่มพื้นฐานก็คือครอบครัวและเครือญาติ ความสัมพันธ์ทางสายเลือดและทางการสมรสถือเป็นสิ่งที่สําคัญมาก ทุกคนในเครือญาตินับถือกันเป็นพ่อแม่พี่น้อง ถ้าสมาชิกคนหนึ่งได้รับทุกข์ สมาชิกอื่นๆ ทุกคนก็เจ็บไปด้วย  สมาชิกในครอบครัวคนหนึ่งสามารถพูดกับคนนอกครอบครัวได้ว่า "สิ่งที่ท่านทําต่อพี่น้องแม้ที่ตํ่าต้อยที่สุดของเรา ก็เท่ากับทําต่อเราเอง" หรืออาจจะพูดได้ว่า "ถ้าท่านต้อนรับญาติคนหนึ่งของเรา ก็เท่ากับว่าท่านได้ต้อนรับเรา" สมาชิกในครอบครัวสามารถพูดกับสมาชิกอีกคนหนึ่งได้ว่า "ใครต้อนรับท่านก็คือต้อนรับเราเอง และใครที่ไม่ยอมรับนับถือท่านก็คือไม่ยอมรับนับถือเรา" ที่จริงแล้ว คําพูดเหล่านี้ไม่ต้องพูดก็ได้ เพราะถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่รู้ๆ กันอยู่แล้ว

          ด้วยหลักการนี้ ถ้าญาติคนหนึ่งถูกสบประมาทหรือถูกฆาตกรรม สมาชิกอื่นๆในครอบครัวถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องแก้แค้นแทน การแก้แค้นหรือสงครามระหว่างตระกูลยังมีอยู่ในสมัยพระเยซู แม้ว่าความรุนแรงจะลดลงไปบ้างแล้ว หลักที่ว่า "ตาต่อตา ฟันต่อฟัน" ยังใช้กันอยู่ (มธ. ๕,๓๙) ในสมัยเรา ปัญหานี้ดูจะเป็นเรื่องห่างไกลจากเรา ทั้งนี้ก็เพราะปัจจุบันเราอยู่กันแบบตัวใครตัวมันเสียเป็นส่วนมาก นอกนั้น ในสมัยพระเยซูยังมีการรวมตัวเป็นกลุ่มเพื่อนฝูง กลุ่มอาชีพ กลุ่มสังคม กลุ่มของคนที่ถือตัวว่าเป็นชนชั้นเลือกสรรพิเศษ เช่นกลุ่มฟาริสี กลุ่มเอสซีน ฯลฯ สมัยนั้นไม่มีคําว่าตัวใครตัวมัน

          แม้สมัยเราจะอยู่แบบตัวใครตัวมัน และมีความภักดีต่อกลุ่มในระดับต่างๆน้อยกว่าสมัยก่อนมาก แต่กระนั้นก็ดี  เราก็ยังมีการสังกัดกลุ่ม และมีอคติระหว่างกลุ่มอยู่เหมือนกัน  มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่คน แล้วแต่วัฒนธรรม หลายต่อหลายคนในโลกปัจจุบันยังรังเกียจสีผิว ดูถูกชนชาติอื่น แบ่งพวกตามภาษาและวัฒนธรรม ถือชั้นวรรณะ แยกกลุ่มตามวัย (พวกคนแก่,พวกวัยรุ่น..)  สังกัดพรรคการเมือง หรือลัทธิทางศาสนา  ในบางกรณี ความรักและภักดีต่อกลุ่มของตน ก็ยังคงเหนียวแน่นไม่แพ้สมัยก่อน อคติและความขัดแย้งก็ยังคงรุนแรงไม่แพ้สมัยก่อนเช่นกัน

2. อาณาจักรพระเจ้าต่างกับอาณาจักรมาร

          สําหรับพระเยซู อาณาจักรมารต่างกับอาณาจักรพระเจ้าตรงที่ว่า อาณาจักรมารตั้งอยู่บนรากฐานแห่งความภักดีต่อกลุ่ม แบบจํากัดวงปิดตัวเองและเป็นปฏิปักษ์ต่อกลุ่มอื่นๆ ส่วนอาณาจักรพระเจ้าตั้งอยู่บนรากฐานแห่งความภักดีต่อมนุษยชาติ แบบอ้าแขนต้อนรับทุกคน "ท่านได้ยินคํากล่าวว่าจงรักเพื่อนพี่น้องและจงเกลียดศัตรู แต่เราขอบอกว่า จงรักศัตรูของท่าน" (มธ.๕,๔๓-๔๔)

          ในม้วนคัมภีร์ของชุมชนกุมรัน (พวกเอสซีน) และในวรรณกรรมคู่เคียงพระคัมภีร์ที่ชื่อว่า "ยูบีลี" มีคําสั่งอย่างชัดแจ้งว่าให้เกลียดศัตรู แม้ในพระคัมภีร์ตอนพันธสัญญาเดิม ไม่มีคําสั่งอย่างชัดแจ้ง แต่ก็เป็นที่เข้าใจกันอยู่แล้วว่า จงรักเพื่อนพี่น้อง หมายความว่าไม่รวมถึงศัตรู เพื่อนพี่น้องไม่ใช่เพื่อนมนุษย์โดยทั่วไปแต่หมายถึงญาติโยมหรือสมาชิกในกลุ่มของตน "เจ้าต้องไม่ด่าว่าคนเชื้อชาติเดียวกันกับเจ้า...เจ้าต้องไม่เกลียดชังพี่น้องของเจ้า...เจ้าต้องไม่แก้แค้นกับลูกหลานชนชาติของเจ้า เจ้าต้องรักเพื่อนบ้านของเจ้าเหมือนรักตัวเอง" (เลวี.๑๙,๑๖-๑๘) นี่คือความภักดีต่อกลุ่ม หรือความเป็นหนึ่งเดียวกันภายในกลุ่ม เฉพาะคนในครอบครัว คนในตระกูล หรือคนในชาติเท่านั้นที่ชาวยิวถือว่าเปรียบเหมือนตัวเองได้

          พระเยซูขยายวงพี่น้องเพื่อนบ้านให้กว้างออกไปครอบคลุมถึงศัตรูด้วย คําว่า"จงรักศัตรู" เป็นวิธีเรียกความสนใจของทุกคนให้เห็นอุดมการณ์ของพระเยซู  ที่อยากให้มนุษย์ทุกคนเข้ามารวมเป็นกลุ่มเดียวไม่มีการ จํากัดวง  ศัตรูกลายเป็นญาติมิตร คนนอกกลายเป็นคนใน  พระเยซูอธิบายเพิ่มเติมอย่างไม่ลังเลใจว่า "จงทําดีให้แก่คนที่เกลียดท่าน อวยพรคนที่สาบแช่งท่าน ภาวนาสําหรับผู้ที่ทําร้ายท่าน" (ลก.๖,๒๗-๒๘)

          ความเป็นหนึ่งเดียวภายในกลุ่ม(หรือรักคนที่รักเรา) ไม่ใช่คุณธรรมอะไร พวกโจรรวมตัวเป็นนํ้าหนึ่งใจเดียวกันในกลุ่มมากกว่าใครอื่น  สิ่งที่พระเยซูเรียกร้องคือความเป็นหนึ่งเดียวกันของมนุษยชาติ ซึ่งไม่ปิดตัวเองอยู่ในกลุ่มเล็กๆ ไม่ใจแคบ แต่รักทุกคนโดยไม่หวังตอบแทน รักแม้แต่คนที่เกลียดเรา  ความเป็นหนึ่งเดียวกันของกลุ่มคริสตชนที่เปาโลพูดถึง (๑ เทส.๓,๑๒) ไม่ใช่เป็นการแยกกลุ่ม แต่เป็นชีวิตแห่งความเป็นพี่น้องกัน คริสตชนเปิดใจรักมนุษย์ทุกคนและแสดงออกมาโดยรักคริสตชนผู้อยู่รอบข้าง แต่ไม่มีการแยกตัวเองออกจากผู้ที่ไม่เป็นคริสตชน

3. ความรักต่อคนในครอบครัว

          ความเป็นหนึ่งเดียวกันของมนุษยชาติต้องมาเป็นอันดับแรก ก่อนที่จะมีความเป็นหนึ่งในกลุ่มย่อยลงไป ความรักต่อมนุษยชาติมาก่อนความรักอื่นใด  "ใครที่อยากตามเรามา แต่ไม่เกลียดพ่อแม่ ภรรยา ลูก พี่น้อง  ชายหญิง และแม้แต่ชีวิตของตัวเอง จะเป็นศิษย์ของเราไม่ได้"(ลก.๑๔,๒๖)  ผู้อธิบายพระคัมภีร์มักจะชี้แจงว่า เนื่องจากภาษาฮีบรูและอาราไมอิคที่ใช้ในสมัยนั้นมีคําไม่มาก  คําว่า "เกลียด" จึงนํามาใช้หมายถึงอะไรอื่นที่ไม่ใช่ "รัก" ตั้งแต่เกลียดลงมาถึงรู้สึกเฉย ๆ ในกรณีนี้เกลียดหมายถึงตัดใจจากพ่อแม่พี่น้อง การอธิบายเช่นนี้มีส่วนถูก แต่ไม่ตรงกับความคิดของพระเยซูทั้งหมด

          ถ้ารักหมายความว่า เป็นหนึ่งเดียวกัน เกลียดก็ต้องหมายความว่า ไม่เป็นหนึ่งเดียวกัน   พระเยซูต้องการให้  ความเป็นหนึ่งเดียวกันในครอบครัว ถูกแทนที่ด้วยความเป็นหนึ่งเดียวกันในมนุษยชาติ แต่นี่ก็ไม่ได้หมายความว่าตัดพ่อแม่พี่น้องออก พ่อแม่พี่น้องก็ต้องเข้ามาอยู่ในครอบครัวมนุษยชาติด้วยเพราะเป็นคนเหมือนกัน และนี่ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องรักพ่อแม่พี่น้องน้อยลงไป ต้องรักเหมือนเดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปก็คือเหตุผลหรือรากฐานแห่งความรัก เราต้องรักเขา ไม่ใช่เพราะว่าบังเอิญเป็นญาติพี่น้องกัน แต่เรารักเขาเพราะเขามีศักดิ์ศรีเป็นมนุษย์  เราต้องรักเขาด้วยความรักเดียวกันที่เราใช้รักเพื่อนมนุษย์ทุกคน  เป็นความรักที่เปิดกว้างไม่  จํากัดวง ผลที่ตามมาก็คือเรารักญาติพี่น้องมากกว่าเดิมเสียด้วยซํ้า เพราะเรารักด้วยความรักที่ลึกซึ้งกว่า

          ตอนต่างๆในพระวรสารที่พูดถึงครอบครัวก็ยืนยันถึงการตีความแบบนี้ พวกสาวก "จากบ้าน ภรรยา พี่น้อง พ่อแม่หรือลูก เพื่อเห็นแก่อาณาจักรพระเจ้า" (ลก.๑๘,๒๙)  พวกสาวกไม่ปล่อยให้ความผูกพันภายในครอบครัว มาขัดขวางความผูกพันแบบใหม่ในอาณาจักรพระเจ้า (ลก.๙, ๕๙-๖๒) การเปลี่ยนจากความสัมพันธ์แบบญาติพี่น้องมาเป็นความสัมพันธ์แบบบุคคลต่อบุคคล อาจทําให้บางครอบครัวต้องแตกแยก "ท่านคิดว่าเรานําสันติมาให้โลกหรือ? เปล่าเลย เรานําความแตกแยกมาให้ต่างหาก ตั้งแต่นี้ไป บ้านที่มี ๕ คนจะแบ่งออกเป็น ๓ ต่อ ๒ และ ๒ ต่อ ๓ พ่อจะแยกจากลูกชาย และลูกชายจะแยกจากพ่อ แม่จะแยกจากลูกสาว และลูกสาวจะแยกจากแม่ แม่ผัวจะแยกจากลูกสะใภ้ และลูกสะใภ้จะแยกจากแม่ผัว" (ลก.๑๒,๕๑-๕๓; เทียบกับ มธ.๑๐,๓๔-๓๖) ตอนหลังของข้อความนี้ยกมาจากหนังสือประกาศกมีคาห์ ตอนที่ท่านรําพันถึงความแตกแยกที่เกิดขึ้นในครอบครัวต่างๆนั้น ถือว่าเป็นบาปอย่างหนึ่งของชาติอิสราเอลในสมัยนั้น (มีคาห์ ๗,๖) การรวมตัวอย่างเหนียวแน่นในครอบครัวถือว่าเป็นคุณธรรม แต่พระเยซูเปลี่ยนค่านิยมใหม่ นั่นคือความเป็นหนึ่งเดียวกันในมนุษยชาติต้องอยู่เหนือความเป็นหนึ่งเดียวกันในครอบครัว

4. ความสัมพันธ์ของพระเยซูกับครอบครัว

          ความสัมพันธ์ของพระเยซูกับแม่และญาติพี่น้องของตน ตามที่เราพบในพระวรสาร  มีลักษณะตึงเครียด พวกญาติพี่น้องคิดว่าพระเยซูเสียสติ และในฐานะที่เป็นพี่น้องกัน ก็พยายามยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ(มก.๓, ๒๑) แม่ของพระเยซูอาจรวมอยู่ด้วยในโอกาสนั้น แต่ในอีกครั้งหนึ่งแม่ของพระเยซูไปกับญาติพี่น้องอื่นๆ เพื่อไปรับพระเยซูในขณะที่พระเยซูนั่งอยู่กับฝูงชน (มก.๓,๓๑-๓๒) บางทีในตอนนั้นแม่ของพระเยซูไม่เข้าใจว่าพระเยซูกําลังทําอะไรอยู่ เช่นเดียวกับที่ไม่เข้าใจตอนพระเยซูค้างอยู่ในวิหารเมื่ออายุ ๑๒ ปี (ลก.๓,๔๑-๕๐)

          พระเยซูไม่ต้องการให้คนเข้าใจว่าความรักที่พระเยซูมีต่อแม่และญาติพี่น้อง เป็นความรักอันเนื่องมาจากสายเลือด หรือมาจากความเป็นหนึ่งเดียวกันที่จํากัดอยู่ภายในครอบครัว "หญิงคนหนึ่งในฝูงชนพูดว่า หญิงที่ให้กําเนิดท่านและให้นมเลี้ยงท่าน เป็นคนที่มีบุญมาก แต่พระเยซูตอบว่า คนที่ฟังพระวาจาของพระเจ้าและปฏิบัติตาม เป็นคนที่มีบุญมากกว่านั้น"(ลก.๑๑,๒๗-๒๘) ความรักระหว่างพระเยซูกับแม่ต้องเนื่องมาจากแผนการของพระเจ้า (นั่นคือความเป็นหนึ่งเดียวกันของมนุษยชาติ)

          พระเยซูทิ้งความผูกพันภายในครอบครัวของตน เพื่อทําให้ทุกคนที่อยู่รอบข้างเข้ามาเป็นพี่ เป็นน้อง เป็นแม่ของตน (มก.๓,๓๑-๓๕) และถ้าใครต้อนรับคนใดคนหนึ่งในพวกนี้ ก็เท่ากับต้อนรับพระเยซูเอง (มธ.๑๐, ๔๐) และใครทําอะไรต่อคนที่ตํ่าต้อยที่สุดในพวกนี้ ก็เหมือนกับทําต่อพระเยซูเองเช่นกัน (มธ.๒๕,๔๐-๔๕)

5. ข้อสงสัยในพระเยซู

          มีคนตั้งคําถามว่า ความเป็นหนึ่งเดียวในมนุษยชาติที่พระเยซูพูดถึงนี้ ครอบคลุมถึงทุกคนทั่วหน้าจริง ๆ หรือไม่? พระเยซูสอนให้รักศัตรูแล้วตัวเองรักศัตรูจริงๆ หรือเปล่า? นักเขียนชาวยิว (สมัยปัจจุบัน) ชื่อมอนเตฟิโอเร คิดว่าพระเยซูไม่ปฏิบัติสิ่งที่ตัวเองสอน เพราะว่าพระเยซูไม่รักศัตรูนั่นคือ พวกฟาริสีและคัมภีราจารย์ พระเยซูเข้าข้างพวกคนจนและคนถูกกดขี่ แล้วตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อชนชั้นสูงและชั้นกลาง ซึ่งรวมทั้งพวกฟาริสี และคัมภีราจารย์ด้วย นี่หรือคือความเป็นหนึ่งเดียวกันของมนุษยชาติ ?

          เราอาจตอบข้อสงสัยนี้โดยชี้แจงว่า ผู้เรียบเรียงพระวรสารอาจจะได้ใช้ถ้อยคํารุนแรงเกินกว่าที่พระเยซูได้พูดจริง ทั้งนี้เนื่องจากมีความตึงเครียดมากระหว่างคริสตชนรุ่นแรกกับพวกฟาริสี คําตอบนี้มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ยังไม่ได้ตอบคําถามที่ว่าพระเยซูรักพวกฟาริสีหรือไม่?

          คําว่า "รัก" เป็นคําเดียวกับคําว่า "เป็นหนึ่งเดียวกัน" ความโกรธและความไม่พอใจ ไม่ขัดกับความรักตรงข้าม ถ้าใครคนหนึ่งสนใจและเป็นห่วงถึงคนอื่นในฐานะที่เป็นคนเหมือนกัน คนคนนี้จะไม่สามารถทนนิ่งดูดายในขณะที่มีบางคนกําลังทรมานตัวเองและทรมานผู้อื่น คนคนนี้คงจะต้องโกรธและไม่พอใจและพยายาม  ทําอะไรบางอย่างเพื่อช่วยแก้ปัญหานั้น พระเยซูก็โกรธ และบางครั้งก็โกรธมากด้วย เมื่อเห็นว่ามีบางคนทําร้ายตัวเองและพยายามทําร้ายผู้อื่นด้วย เมื่อเห็นว่าพวกเขาไม่ยอมฟังและไม่ยอมเลิกการกระทําดังกล่าวและยังคงความหน้าซื่อใจคดต่อไป พระเยซูโกรธ ทั้งนี้เพราะหวังดีต่อพวกคนเหล่านี้และหวังดีต่อเพื่อนมนุษย์ทุกคน  สิ่งที่พิสูจน์ได้ดีที่สุดว่าพระเยซูรักเพื่อนมนุษย์ทุกคน ก็คือความโกรธและความไม่พอใจที่แสดง ออกมาอย่างชัดเจน ต่อคนที่ทําลายความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น และทําลายความเป็นมนุษย์ของตนเองด้วย

          ถ้าพระเยซูปฏิเสธไม่ยอมพูด ไม่ยอมถกเถียง ไม่ยอมกินเลี้ยงกับพวกฟาริสี นั่นจึงจะหมายความว่าพระเยซูไม่รักพวกฟาริสีและตัดพวกเขาออกจากวงสัมพันธ์ แต่เราเห็นว่าในพระวรสารมีพูดถึงอยู่เป็นประจําว่าพระเยซูติดต่อกับพวกฟาริสี และพยายามชักจูงให้เลิกพฤติกรรมเดิมเสีย แต่ส่วนมากไม่สําเร็จ และในที่สุดเป็นพวกฟาริสีที่ตัดพระเยซูออก ไม่ใช่ตรงกันข้าม

          เราปฏิเสธไม่ได้ว่าพระเยซูเข้าข้างคนจนและคนบาปเป็นพิเศษ  สําหรับพระเยซู ความเป็นหนึ่งเดียวกันของมนุษยชาติไม่ใช่เป็นอุดมการณ์ลอยๆที่ไม่มีตัวตน "การรักมนุษยชาติ" อาจจะแปลว่า "ไม่รักใครเลย" ก็ได้ ในหนังสือเล่มนี้เราจําเป็นต้องใช้คําที่แสดงความคิดรวม เช่น มนุษยชาติ มนุษย์ทุกคน ความเป็นคน ฯลฯ เพื่อแสดงถึงความรักความเป็นหนึ่งเดียวกันที่ไม่มีการจํากัดวง แต่พระเยซูไม่เคยใช้ศัพท์เหล่านี้เลย พระเยซูยินดีต้อนรับทุกคนที่พบเห็น ไม่รังเกียจใคร ไม่ตัดใครออก และรักทุกคนโดยไม่คํานึงถึงตระกูล เชื้อชาติ ชั้นวรรณะ การศึกษา ชีวิตส่วนตัว หรืออะไรอื่นทั้งสิ้น และด้วยการรักทีละคนทีละคนที่พบเห็นนี่แหละ ที่พระเยซูร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันกับมนุษยชาติทั้งมวล

          การเข้าร่วมวงกับคนจนและคนถูกกดขี่ อาจกลายเป็นการจํากัดวงในอีกรูปแบบหนึ่งก็ได้ หากว่าเป็นการปิดตัวไม่ยอมรับคนประเภทอื่นๆ  แต่พระเยซูไม่เคยปิดตัวเองอยู่เฉพาะในกลุ่มคนจนและคนบาปเลย

          มีข้อแย้งอยู่อีกประการหนึ่ง พระเยซูทําภาระกิจต่างๆในเขตอิสราเอลเท่านั้น และบอกให้พวกสาวกทําเช่นเดียวกัน "จงอย่าเข้าไปในเขตของชนต่างศาสนา (ชนชาติอื่นที่ไม่ใช่ยิว) และอย่าเข้าไปในแคว้นสะมาเรีย แต่จงไปหาแกะพลัดฝูงแห่งชาติอิสราเอล" (มธ.๑๐,๕-๖) นอกนั้นในเรื่องของหญิงชาวคานาอัน พระเยซูลังเลใจที่จะช่วยหญิงคนนั้น ซึ่งหมายถึงการทํางานออกนอกเขตอิสราเอล พระเยซูบอกหญิงนั้นว่า "เราถูกส่งมาหาแกะพลัดฝูงแห่งอิสราเอลเท่านั้น" (มธ.๑๕,๒๔) และคําพูดต่อมายิ่งทําให้เราแปลกใจมากขึ้นอีก "มันไม่ถูกที่จะเอาอาหารของลูกไปให้สุนัขกิน" คือเอาอาหารของอิสราเอลไปให้ชนต่างชาติ (มธ.๑๕,๒๖=มก.๗,๒๗) ในที่สุดพระเยซูก็ได้ช่วยหญิงชาวคานาอันคนนั้น ดังที่ได้ช่วยนายร้อยชาวโรมัน แต่ทําไมจึงต้องทําให้ลําบากกว่ากรณีคนน่าสงสารชาวยิว ทําไมต้องให้มีพวกผู้หลักผู้ใหญ่ชาวยิวมาช่วยขอให้นายร้อยชาวโรมัน(ลก.๗,๓-๕) ?

          แต่ในอีกด้านหนึ่ง พระเยซูวาดภาพอาณาจักรที่รวบรวมคนทุกชาติทุกศาสนาจากเหนือ ใต้ ตะวันออกและตะวันตกให้เข้ามาร่วมงานเลี้ยงกับอับราฮัม อิสอัคและยากอบ ในขณะที่ชาวยิวจํานวนมากจะไม่ยอมเข้าร่วมงาน (มธ.๘,๑๑-๑๒; ลก.๑๓,๒๘-๒๙; ๑๔,๑๕-๒๔)  ชาวนินะเวห์และราชินีแห่งทิศใต้จะทําให้ ชาวยิวต้องอับอาย (มธ.๑๒,๔๑-๔๒)

          ทัศนคติที่พระเยซูมีต่อชนต่างชาติต่างศาสนาดูจะสับสนอยู่มาก และนักพระคัมภีร์ก็เคยถกเถียงปัญหานี้มาเป็นเวลานาน จนกระทั่งนักพระคัมภีร์ที่มีชื่อเสียง(เชื้อสายยิว) ชื่อโยอากิม เยเรไมอัส ได้ศึกษาความคิดและความเชื่อถือของชนชาติยิวในสมัยพระเยซูจนสรุปได้ว่า  ชาวยิวเชื่อว่า ในอนาคต หลังจากที่อาณาจักรต่างๆ พินาศหมดแล้ว โลกจะมีพระเจ้าเที่ยงแท้เข้าปกครอง โดยจะรวมมนุษย์ทุกชาติทุกศาสนาเข้ามาด้วย  ประกาศกสมัยก่อนเคยพูดถึงกษัตริย์ต่างศาสนาทั้งหลายที่จะเดินทางจาริกไปวิหารกรุงเยรูซาเลมเพื่อนมัสการ พระเจ้าผู้ปกครองโลกแต่พระองค์เดียว โลกถูกปกครองโดยจักรวรรดิ์ต่างๆ จักรวรรดิ์ปัจจุบัน (ในขณะนั้น) คือจักรวรรดิ์โรมัน จะถูกแทนที่โดยจักรวรรดิ์อิสราเอล(ยิว) นั่นคือจักรวรรดิ์ของพระเจ้า เมื่อมีความเชื่อเช่นนี้ชาวยิวทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกฟาริสีและคัมภีราจารย์ ต่างก็พยายามเผยแพร่ศาสนาและความเชื่อของตน และเรื่องราวของพระเยซูก็เริ่มขึ้นพอดีกับช่วงเวลาแห่งความพยายามเผยแพร่นี้เอง

          พระเยซูแสดงความไม่พอใจกับความพยายามเผยแพร่ศาสนาของพวกฟาริสีและคัมภีราจารย์ "วิบัติแก่พวกเจ้าคัมภีราจารย์และฟาริสี หน้าซื่อใจคด พวกเจ้าไปทั้งทางนํ้าและทางบกเพื่อเสาะแสวงหาคนกลับใจมาเป็นศิษย์ เมื่อได้มาแล้วก็ทําให้ชั่วกว่าเจ้าถึงสองเท่า" (มธ.๒๓,๑๕) พระเยซูเห็นว่ามันเป็นเหมือนคนตาบอดจูงคนตาบอด ซึ่งจะตกหลุมทั้งคู่ (มธ. ๑๕,๑๔) พระเยซูคิดว่าชาวยิวต้องเปลี่ยนแปลงตนเองให้ดี ก่อนที่จะไปชักจูงคนอื่นให้เปลี่ยนแปลงด้วย และสิ่งนี้แหละที่พระเยซูพยายามจะทํา คือเปลี่ยนแปลงสังคมชาวยิวให้ดีก่อน และพระเยซูบอกให้สาวกมุ่งเน้นที่ชาติยิวเท่านั้น เพราะเวลามีน้อย (ความพินาศอันใหญ่หลวงกําลังจะมาถึง) และเพราะว่าชาติยิวได้รับการเตรียมตัวมาก่อนเป็นเวลานานในพันธสัญญาเดิม พระเยซูเชื่อว่าเป็นแผนการของพระเจ้าที่จะให้ชาติยิวกลับใจ ก่อนที่จะนําความอยู่รอดและความเป็นหนึ่งเดียวกันมาสู่มนุษยชาติ

          การมุ่งทําภาระกิจของพระเยซูในชาติยิว จึงเป็นเรื่องของขั้นตอนหรือยุทธวิธี ไม่ใช่การแยกพวกหรือการจํากัดวง คงจะต้องใช้เวลานานมากในการที่จะอธิบายเรื่องอาณาจักรพระเจ้าให้ชนชาติอื่นฟังก่อน พร้อมกับทําให้พวกเขามีความเชื่อมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงโลกนี้   ฉะนั้น เนื่องจากเวลามีจํากัด มันจึงไม่ถูกที่จะเอาอาหารที่ควรจะเลี้ยงชาติยิวก่อน ไปให้แก่ชาติอื่นซึ่งยังไม่พร้อมที่จะกินอาหารนั้น เพราะเหตุนี้พระเยซูจึงรู้สึกแปลกใจมากที่เห็นความเชื่ออันยิ่งใหญ่ของหญิงชาวคานาอัน (มธ.๑๕,๒๘) และแปลกใจที่เห็นนายร้อยชาวโรมันมีความเชื่อมากกว่าที่เคยพบเห็นในชาติยิว (มธ.๘,๑๐) พระเยซูไม่ได้คาดคิดมาก่อน แต่ถึงอย่างไรก็ตาม คนที่จะพร้อมแบบนี้ก็คงจะมีไม่กี่คน ขั้นตอนที่ถูกต้องสําหรับเวลานั้นก็คงจะต้องเริ่มจากชาติยิว พื่อเห็นแก่ผลประโยชน์ของชาติยิวและของมวลมนุษยชาติในเวลาเดียวกัน  แม้ว่าในที่สุดแล้ว ชาวยิวไม่ได้ตอบสนองมากเท่าที่พระเยซูคาดหวังไว้

6. สรุป

          จําเป็นต้องยํ้าอีกครั้งหนึ่งว่า รากฐานแห่งความรักหรือความเป็นหนึ่งเดียวกันในระหว่างมนุษย์ก็คือ ความเมตตาสงสาร (compassion) ซึ่งเป็นความรู้สึกที่สร้างความปั่นป่วนอยู่ภายในส่วนลึกของคนเมื่อเห็นเพื่อนมนุษย์ตกทุกข์ได้ยาก  นิทานเปรียบเทียบเรื่องชาวสะมาเรีย ผู้ใจดี เป็นคําตอบสําหรับคําถามที่ว่า  "เพื่อนมนุษย์คือใคร ?" (ลก.๑๐,๒๙-๓๗) คําตอบไม่ใช่ "ทุกคน" แม้ว่าที่จริงต้องเป็นเช่นนั้น แต่คําตอบที่พระเยซูให้คือ นิทานซึ่งนําเราไปสู่ความรู้สึกสะเทือนใจ และรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับคนน่าสงสารคนนั้นที่ถูกโจรทําร้าย เรารู้สึกผิดหวังเมื่อเห็นคนที่น่าจะช่วยได้ กลับไม่ยอมช่วยอะไรเลย เราสึกโล่งอกเมื่อเห็นชาวสะมาเรียมีความเมตตา

สงสาร ยอมฝ่าฝืนระเบียบสังคม (ที่แยกพวกยิวกับพวกสะมาเรีย) เพื่อยื่นมือเข้ามาช่วย

          ถ้าเรายอมปล่อยอารมณ์ให้อ่อนไหวไปตามนิทานเรื่องนี้ และปล่อยให้ความรู้สึกลึกๆนี้จูงเราไป เราคงจะไม่ต้องถามใครหรอกว่า "เพื่อนมนุษย์คือใคร ?" หรือ "ความรักหมายความว่าอะไร ?" เราคงจะไปทําเช่นเดียวกันกับชาวสะมาเรียคนนั้น ไม่ว่าจะมีอะไรมากีดขวางก็ตาม ความสงสารเดียวกันนี้ได้ทําให้พระเยซูสะเทือนใจ และผลักดันให้พระเยซูออกทําภาระกิจ  ความสงสารเดียวกันนี้จะสอนเราว่า ความเป็นหนึ่งเดียวกันของมนุษยชาติหมายความว่าอะไร   นี่แหละคืออาณาจักรพระเจ้า

คำถาม

1. พระเยซูมีทัศนคติในการแบ่งกลุ่มอย่างไร ?
2. เราจะรักคนในครอบครัวด้วยท่าทีอย่างไร ?
3. พระเยซูมีปัญหากับครอบครัวหรือ ?
4. พระเยซูลำเอียง รักชาวยิวด้วยกันมากกว่าคนต่างชาติหรือไม่ ?

book