Skip to main content

Jesus before
C h r i s t i a n i t y

บทที่ 16 ความทรมานและความตาย

book

การเบียดเบียนและความทุกข์ทรมานอยู่คู่กับประวัติศาสตร์ชาติยิวเสมอมา ตามทฤษฎี คนดีมักจะต้องทรมานเนื่องจากความดีของตน ชาวยิวผู้สัตย์ซื่อทุกคนยอมตายแต่ไม่ยอมละเมิดกฎบัญญัติ ในสมัยของมัคคา บี (๒ ศตวรรษก่อนพระเยซู) ชาวยิววัยฉกรรจ์หลายคนยอมทนทรมานและยอมตายเพื่อเห็นแก่กฎบัญญัติ เมื่อกองทัพโรมันยึดพระวิหารในปี ๖๓ ก่อนคริสตกาล สงฆ์ในพระวิหารยอมตายในหน้าที่ โดยถวายบูชาต่อไปจนถึงวาระสุดท้ายแทนที่จะหนี ในสมัยของพระเยซู พวกซีลอทยอมถูกทรมานแต่ไม่ยอมเรียกจักรพรรดิ์ซีซาร์เป็นเจ้านายและพวกนี้หลายพันคนถูกกองทัพโรมันจับตรึงกางเขน ในปี ค.ศ.๗๓ พวกนี้ฆ่าตัวตายในป้อมมาซาดา แทนที่จะยอมจํานนต่อศัตรูต่างศาสนา

          ฝ่ายพวกประกาศกก็ถูกผู้นําชาวยิวในเมืองเยรูซาเลมเบียดเบียน  เพราะในการประกาศสอน พวกประกาศกวิจารณ์ชาติและผู้นํา เมื่อถึงยุคพระเยซู ภาพพจน์ของประกาศกได้กลายเป็นภาพของผู้ต้องทนทุกข์ทรมาน จนกลายเป็นว่าประกาศกในอดีตต้องมีเรื่องถูกฆ่าหมดทุกคน (มธ. ๒๓,๒๙-๓๗; กิจการ.๗,๕๒) ความตายในกรณีต่างๆ ดังกล่าวมานี้ ชาวยิวถือว่าเป็นการชดเชยบาป บาปของเจ้าตัวเอง และบาปของคนอื่นด้วย ความเชื่อถือนี้ตกทอดเป็นมรดกไปถึงกลุ่มคริสตชนรุ่นแรก พระเยซูคิดอย่างไรเกี่ยวกับการทนทุกข์ทรมานและความตาย ?

1. การทนทุกข์ทรมาน

          คําสอนของพระเยซูเป็นเรื่องใหม่ และในตอนหนึ่ง พระเยซูพูดถึงการทรมานและความตายว่า มีความสัมพันธ์กับการมาถึงของอาณาจักรพระเจ้า "เป็นบุญของคนจน...เป็นบุญของผู้ที่ถูกเบียดเบียน...อาณาจักรพระเจ้าเป็นของพวกเขา เป็นบุญของพวกท่านเมื่อคนดูหมิ่นท่าน เบียดเบียนท่าน และว่าร้ายใส่ความท่าน...พวกเขาได้เบียดเบียนบรรดาประกาศกสมัยก่อนเช่นเดียวกัน" (มธ.๕,๓;๕,๑๐-๑๒) เนื่องจากบรรดาศิษย์ของพระเยซูมีความเมตตาสงสารต่อคนจน และเข้าร่วมวงเป็นหนึ่งเดียวกับพวกเขา ศิษย์ของพระเยซูจึงถูกเบียดเบียนกดขี่พร้อมกับคนจนทั่วไป  เพื่อจะเข้าสู่อาณาจักรพระเจ้าพร้อมกับคนจนและคนถูกกดขี่ เราต้องสละทรัพย์สินเงินทอง พร้อมที่จะจากครอบครัวและทิ้งอํานาจชื่อเสียง พูดง่ายๆคือ เราต้องสละตนเอง (มก.๘,๓๔) และพร้อมที่จะทนทรมาน

          มันเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกันในตัว ถ้าจะทําลายความทุกข์ ต้องยอมรับความทุกข์ พระเยซูมุ่งมั่นที่จะทําลายความทุกข์ทรมานในโลก ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์ทรมานของคนจน คนถูกเบียดเบียนและคนเจ็บป่วย หรือความทุกข์ทรมานที่จะเกิดขึ้นกับทุกคนหากภัยพิบัติมาถึง แต่วิธีเดียวที่จะทําลายความทุกข์ทรมานก็คือต้องทิ้งค่านิยมต่างๆ ที่ไม่ใช่ของอาณาจักรพระเจ้า และเมื่อการทิ้งค่านิยมดังกล่าวทําให้ลําบากหรือมีทุกข์ ก็ให้ยินดีรับความทุกข์ที่เกิดขึ้น ความเต็มใจที่จะรับทรมานเท่านั้นที่จะเอาชนะความทุกข์ทรมานในโลกได้ ความเมตตาสงสารทําลายความทุกข์ทรมานได้ โดยยอมรับความทุกข์ พร้อมกับ คนมีทุกข์ หรือโดยยอมรับความทุกข์แทนคนมีทุกข์  ถ้าเรามีความรู้สึกสงสารคนจน แต่ไม่พร้อมที่จะร่วมทุกข์กับคนจน มันก็เป็นเพียงความรู้สึกที่ไร้ค่า ถ้าเราแบ่งปันความทุกข์กับคนจน เราก็จะได้แบ่งปันพระพรกับคนจน

2. ชีวิตและความตาย

          ยิ่งกว่านั้น เรื่องความตายก็เป็นสิ่งที่ขัดแย้งในตัวด้วย พระเยซูพูดเกี่ยวกับชีวิตและความตาย โดยพูดเป็นคําคมที่มีความหมายเปรียบเทียบ แต่คําคมนี้ถ่ายทอดมาถึงเราโดยมีจุดผิดเพี้ยนแตกต่างกันไปบ้าง (มก.๘, ๓๕; มธ.๑๐,๓๙; ลก.๑๔,๒๖; ยน.๑๒,๒๕)   เมื่อเอามาเทียบกันแล้วน่าจะสรุปได้ว่า เดิมทีเดียว คําคมนั้นคือ "ใครรักษาชีวิตไว้ก็จะตาย ใครตายก็จะรักษาชีวิตไว้" แต่เราต้องจําไว้ว่ามันเป็นคําเปรียบเทียบ การเอาไปอธิบายในทํานองว่า ยอมเสียชีวิตในโลกนี้เพื่อจะได้รักษาชีวิตไว้ในโลกอื่น(เช่น ยน.๑๒,๒๕) ก็เป็นการถือว่าคําคมนี้ไม่ใช่คําเปรียบเทียบอีกต่อไป จริงๆ แล้วคําคมนี้หมายความว่าอะไร ?

          รักษาชีวิตไว้ หมายความว่า รักชีวิต เกาะยึดไว้แน่น และกลัวตาย ส่วนยอมตายหมายความว่า ปล่อยวาง ไม่เกาะติด และพร้อมที่จะตาย ความขัดแย้งในตัวก็คือ คนที่กลัวตายก็เหมือนกับตายแล้ว (ไม่ต้องทําอะไร หรือทําอะไรไม่ได้) และคนที่เลิกกลัวตายก็เริ่มมีชีวิต ถ้าอยากมีชีวิตที่แท้จริงและมีค่า ก็ต้องพร้อมที่จะยอมรับความตาย

3. การสละชีวิต

          คําถามที่ตามมาก็คือ เราจะยอมตายเพื่ออะไร? พวกนักรบมัคคาบี ยอมตายเพื่อกฎบัญญัติของพระเจ้า พวกซีลอทยอมตายเพื่ออาณาจักรอิสราเอล พวกอื่นๆยอมตายเพื่ออุดมการณ์ต่างๆ ของตน พระเยซูไม่ได้ยอมตายเพื่ออุดมการณ์ แต่ตามความคิดของพระเยซู เราต้องยอมสละชีวิตด้วยเหตุผลเดียวกับที่ยอมสละเงินทอง ชื่อเสียง อํานาจ ความภักดีต่อกลุ่ม ฯลฯ นั่นคือยอมสละเพื่ออาณาจักรพระเจ้าและเพื่อเพื่อนมนุษย์ ความรัก เมตตาผลักดันให้เราทําทุกอย่างเพื่อผู้อื่น แต่คนที่พูดว่าตนมีชีวิตเพื่อผู้อื่น แล้วไม่พร้อมที่จะรับความทุกข์และความตายเพื่อผู้อื่น ก็เป็นคนโกหก นั่นคือเขาตายแล้ว  พระเยซูมีชีวิตเต็มที่ เพราะพร้อมที่จะทรมานและตาย ไม่ใช่เพื่ออุดมการณ์ แต่เพื่อคน

          เราต้องเข้าใจเพิ่มเติมว่า ความพร้อมที่จะตายเพื่อคน ไม่ใช่เพียงแต่เพื่อบางคนเท่านั้น แต่เพื่อทุกคนหรือเพื่อมนุษยชาติ การยอมตายเพื่อบางคนก็คือความภักดีต่อกลุ่มเท่านั้นเอง แต่การยอมตายเพื่อทุกคนก็คือความรักแท้ในอาณาจักรพระเจ้า

          สําหรับพระเยซู ความพร้อมที่จะตายเพื่อทุกคน ก็คือการรับใช้ เหมือนกับการรับใช้ในรูปแบบอื่นๆ ที่พระเยซูเคยทํา "บุตรแห่งมนุษย์ไม่ได้มาเพื่อให้คนอื่นรับใช้ แต่มาเพื่อรับใช้คนอื่น และเพื่อมอบชีวิตเป็นค่าไถ่คนจํานวนมาก" (มก.๑๐,๔๕) ค่าไถ่คือสิ่งที่เราให้เพื่อแลกกับอิสรภาพของผู้อื่น มอบชีวิตเป็นค่าไถ่คือยอมตายเพื่อให้คนอื่นมีชีวิตต่อไป "เพื่อคนจํา นวนมาก" ในภาษาพระคัมภีร์โดยทั่วไปแปลว่า "เพื่อทุกคน" (เช่นเดียวกับใน มก.๑๔,๒๔; มธ.๒๖,๒๘)

          จนถึงเวลานี้เราพูดถึงแต่ความพร้อมของพระเยซูที่จะยอมตาย การยอมตายเพื่อมนุษยชาติคงเข้าใจได้ไม่ยากนัก แต่ตายอย่างไร หรือตายในกรณีไหน จึงเรียกว่าตายเพื่อมนุษยชาติ ? มีกรณีไหนบ้างที่คนคนหนึ่งรับใช้โลกมนุษย์ด้วยการตาย  ได้ผลดีกว่ารับใช้ด้วยการมีชีวิตอยู่ต่อไป ?

4. พระเยซูเผชิญกับทางสองแพ่ง

          พระเยซูรู้ตัวดีว่า สิ่งที่ตนกําลังทําและกําลังพูดอยู่นั้น เป็นอันตราย

สําหรับตนเอง  กษัตริย์เฮรอดได้ปิดปากยอห์นแบปติสต์ไปแล้ว  และมีข่าว

ว่ากำลังพยายามปิดปากพระเยซูด้วย (ลก.๑๓,๓๑) หลังจากเหตุการณ์ที่พระวิหาร ชีวิตของพระเยซูตกอยู่ในอันตราย จนถึงกับว่าจําเป็นต้องหลบซ่อน และในระหว่างที่หลบซ่อนอยู่นั้น มาถึงจุดหนึ่ง พระเยซูตัดสินใจที่จะไปตายที่เมืองเยรูซาเลม (มก.๘,๓๑; ลก.๙,๕๑; ๑๓,๓๓) ทําไมจึงตัดสินใจเช่นนั้น ?

          พระเยซูต้องเผชิญหน้ากับทางเลือก ๒ ทาง หลบซ่อนเพื่อมีชีวิตอยู่ต่อไป  หรือออกจากที่หลบซ่อนและเสี่ยงตาย  ชายฉกรรจ์ราว ๕ พันคน รวมทั้งเปโตรและสาวกทั้งหมดต้องการให้พระเยซูออกจากที่หลบซ่อน และก้าวออกไปในฐานะเมสสิยาห์ พร้อมกับนํากองทัพไปด้วย หรือแสดงพลังอย่างใดอย่างหนึ่ง  เพื่อเอาชนะศัตรูในเยรูซาเลม  แต่สําหรับพระเยซู ความเชื่อคืออาวุธ และเจตนาก็ยังคงเหมือนเดิม คือปลุกให้ประชาชนมีความเชื่อเกี่ยวกับอาณาจักรพระเจ้า ถ้าหลบซ่อนอยู่ จะทํางานนี้ไม่ได้ผล แต่ถ้าออกมาประกาศสอน ไม่เร็วก็ช้าจะต้องถูกจับได้และถูกปิดปาก เสียงปลุกความเชื่อก็จะเงียบไปด้วย นอกจากว่า ความตายจะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะปลุกความเชื่อเกี่ยวกับอาณาจักรพระเจ้าได้

          ตลอดชีวิต พระเยซูรับใช้คนจน คนเจ็บป่วย คนบาปและพวกสาวก ด้วยการปลุกให้มีความเชื่อในอาณาจักรพระเจ้า  และพยายามรับใช้พวกคัมภีราจารย์ พวกฟาริสี และพวกอื่นๆ ในทํานองเดียวกันนี้ด้วย ไม่มีวิธีอื่นที่จะช่วยคนให้พ้นจากบาป จากความทุกข์ หรือจากภัยพิบัติ ไม่มีวิธีอื่นที่จะทําให้อาณาจักรพระเจ้ามาถึงแทนภัยพิบัติ แต่เมื่อพระเยซูถูกกีดกันไม่ให้ทําหน้าที่ประกาศสอนและปลุกความเชื่อด้วยคําพูดและด้วยกิจการ มีอะไรอื่นอีกที่จะทําได้ ?

          พระเยซูไม่ยอมจํานนต่อการรบเร้าให้รับตําแหน่งเมสสิยาห์ และใช้กําลังเพื่อแก้ปัญหา และไม่ยอมปรับคําสอนและจุดยืนให้อ่อนลงเพื่อออมชอมกับพวกผู้มีอํานาจ(หากยังไม่สายเกินไป) เมื่อไม่ยอม ก็ไม่มีทางเลือกอื่นแล้วนอกจาก “ตาย” ในกรณีนี้ ความตายเป็นวิธีเดียวที่จะรับใช้มนุษยชาติต่อไป เป็นวิธีเดียวที่จะพูดกับโลกมนุษย์ (ยน.๗,๑-๔) เป็นวิธีเดียวที่จะยืนยันถึงอาณาจักรพระเจ้า การกระทําดังกว่าคําพูด แต่ความตายดังกว่าการกระทํา พระเยซูตายเพื่อให้อาณาจักรพระเจ้ามาถึง

5. พระเยซูสละชีวิต

          พระวรสารทุกฉบับแสดงให้เราเห็นว่า พระเยซูเดินหน้าไปสู่ความตาย โดยรู้ตัวและเต็มใจ แม้ว่าคําพูดที่ผู้เขียนพระวรสารใช้(เป็นต้นในตอนที่เรียกกันว่า "คําทํานายถึงความตาย") เป็นคําพูดที่สะท้อนความเชื่อ  และความเข้าใจของคริสตชนหลังความตายของพระเยซู แต่การที่พระเยซูเผชิญหน้ากับความตายโดยรู้ตัวและเต็มใจนี้ เป็นสิ่งที่เรายืนยันได้อย่างไม่มีข้อสงสัย

          สิ่งที่น่าสังเกตคือ พระเยซูพูดถึงความตายในช่วงที่หลบซ่อนอยู่ ครั้งแรกที่พูดถึง เป็นการตอบคําประกาศของเปโตรที่ว่าพระเยซูเป็นเมสสิยาห์  ทั้ง ๓ ครั้งที่พูดถึงความตาย พระเยซูจะพูดต่อไปถึงการสละตนเอง ความพร้อมยอมตาย การรับใช้ และสภาพที่ตํ่าต้อยที่สุด (มก.๘,๓๔-๓๗; ๙,๓๑-๓๗; ๑๐,๓๓-๔๕)

          เราไม่สามารถบอกได้ว่า พระเยซูคาดการณ์ล่วงหน้าเกี่ยวกับรายละเอียดของการถูกกําจัดได้มากแค่ไหน พวกสาวกจะถูกจับด้วยไหม หรือพระเยซูคนเดียว ? จะถูกทุ่มหินตาย (โดยพวกผู้นําชาวยิว) หรือจะถูกตรึงกางเขน(โดยพวกโรมัน) ? พวกเขาจะเข้าจับกุมระหว่างเทศกาลฉลองหรือหลังจากนั้น ? จะมีโอกาศสอนที่พระวิหารก่อนจะถูกจับไหม ? พระเยซูคงจะคาดการณ์ล่วงหน้าได้หลายอย่าง อย่างหนึ่งที่แน่คือ คาดว่ายูดาสจะทรยศ กรณีต่างๆ ที่เราตั้งคําถามมานี้ พระเยซูคงคาดไว้ได้ทั้งหมด โดยไม่ต้องมีตาทิพย์ หรือการเผยแสดงจากพระเจ้าเป็นพิเศษ เมื่อเราฟังนิทานเปรียบเทียบทั้งหลายที่พระเยซูเล่า เราก็รู้ทันทีว่า พระเยซูเป็นคนที่เข้าใจความคิดความรู้สึกและเจตนาของใจมนุษย์อย่างลึกซึ้ง จนถึงกับว่าสามารถบอกล่วงหน้าได้ว่าในกรณีเช่นนี้ คนจะคิดอย่างไรและจะทําอย่างไร

6. การกลับเป็นขึ้นมา

          แล้วพระเยซูรู้ล่วงหน้าเกี่ยวกับ "การกลับเป็นขึ้นมา" หรือไม่ ? ในการพูดเกี่ยวกับความตายบางครั้งมีสรุปว่า "หลังจากนั้น ๓ วัน บุตรแห่งมนุษย์จะกลับเป็นขึ้นมา" (มก.๘,๓๑; ๙,๓๑; ๑๐,๓๔; ๙,๙) พระเยซูอาจจะได้พูดเช่นนี้ล่วงหน้าก็เป็นไปได้ เพราะในภาษายิวและอาราไมอิค "หลังจาก ๓ วัน"  แปลว่า อีกไม่นาน พระเยซูอาจจะได้พูดล่วงหน้าว่าตายแล้วอีกไม่นานก็จะกลับเป็นขึ้นมา ชาวยิวส่วนใหญ่ในสมัยพระเยซู เชื่อว่าคนตายจะกลับเป็นขึ้นมาในวันสุดท้าย และในวันสุดท้ายผู้ที่จะกลับเป็นขึ้นมาอย่างแน่นอนที่สุดคือผู้ที่ได้ตายเพื่อชาติและศาสนายิว(martyrs) เป็นไปไม่ได้ที่พระเยซูจะพูดไว้ว่าตนเองจะกลับเป็นขึ้นมาก่อนวันสุดท้าย ถ้าได้พูดเช่นนั้นจริง ทําไมจึงมีความประหลาดใจ วุ่นวาย และสงสัยเมื่อพระวรสารพูดถึงพระเยซูกลับเป็นขึ้นมา ? "หลังจากนั้น ๓ วัน บุตรแห่งมนุษย์จะกลับเป็นขึ้นมา" ความหมายที่จะเข้าใจได้ก็คือ ในฐานะที่เป็นประกาศกและผู้สละชีวิต พระเยซูคาดว่าตัวเองจะต้องกลับเป็นขึ้นมาในวันสุดท้าย และอีกไม่นานก็จะถึงวันสุดท้ายแล้ว

          ความเข้าใจแบบนี้เป็นสิ่งที่ไม่ขัดกับความเชื่อถือของพระเยซู แต่มันไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่พระเยซูพยายามพูดพยายามทําในขณะนั้น พระเยซูคงจะเห็นด้วยกับพวกฟาริสี (และไม่เห็นด้วยกับพวกซัดดูสี) ในเรื่องการกลับเป็นขึ้นมา (มก.๑๒,๑๘-๒๗) แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า นอกจากกรณีที่พูดเกี่ยวกับความตายของตนแล้ว พระเยซูไม่เคยพูดเรื่องการกลับเป็นขึ้นมาเลย ยกเว้นครั้งเดียวที่เอ่ยถึง เมื่อพวกซัดดูสียกเรื่องนี้ขึ้นมาถาม พระเยซูไม่ได้ยกขึ้นมาพูดเอง เพราะมันไม่ใช่ส่วนสําคัญของสาร ที่พระเยซูต้องการจะประกาศแก่ชาวยิวในเวลานั้น และในสถานการณ์เช่นนั้น  ในเมื่อประชาชนกําลังทนทุกข์ทรมาน ภัยพิบัติกําลังจะมาถึง และมีหวังเป็นอย่างมากว่า อาณาจักรพระเจ้าอาจจะมาถึงในอีกไม่ช้าแทนที่จะเกิดภัยพิบัติ ในสถานการณ์เช่นนี้ใครจะไปพูดเรื่องการกลับเป็นขึ้นมา? ดังนั้นเราสงสัยว่า จริงๆ แล้วพระเยซูเคยพูดเรื่องการกลับเป็นขึ้นมาของตนหลังจากถูกศัตรูฆ่าหรือไม่  อาจจะเป็นการเสริมแต่งโดยพวกศิษย์ภายหลังจากเหตุการณ์ก็เป็นได้

          นี่ไม่ใช่แปลว่าพระเยซูไม่เชื่อเรื่องการกลับเป็นขึ้นมา เราไม่สงสัยเลยว่าพระเยซูเชื่อในเรื่องนี้ พร้อมกับเรื่องอื่นๆอีกหลายเรื่องที่ชาวยิวร่วมสมัยเชื่อกัน เช่นเดียวกับบรรดาประกาศกที่เชื่อในหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสารที่ตนต้องประกาศให้แก่ประชาชน สําหรับพระเยซูในขณะนั้น เรื่องการกลับเป็นขึ้นมาไม่ใช่ปัญหา การเสียภาษีให้จักรพรรดิ์ ซีซาร์ ไม่ใช่ปัญหา และการถวายบูชาในพระวิหารก็ไม่ใช่ปัญหาเช่นกัน

          แต่สถานการณ์หลังความตายของพระเยซูเปลี่ยนไปมาก  ตอนนั้นแหละที่เรื่องการกลับเป็นขึ้นมา กลายเป็น “ปัญหาหลัก” ดังที่เราจะได้ศึกษาต่อไป

คำถาม
1. พระเยซูสอนเกี่ยวกับ ความทุกข์ ชีวิตและความตายอย่างไร?
2. การสละชีวิตเพื่อคนอื่นมีความหมายอย่างไร ?
3. ท่านเข้าใจเกี่ยวกับการกลับคืนชีพอย่างไร ?

book