Jesus before
C h r i s t i a n i t y
C h r i s t i a n i t y
บทที่ 11 ยุคใหม่
พระเยซูประกาศว่ายุคใหม่มาถึงแล้ว อาณาจักรพระเจ้าใกล้เข้ามาแล้ว (มก.๑,๑๕) ยุคใหม่ดังกล่าวนี้ต่างกับยุคของยอห์นแบปติสต์ แม้ว่าช่วงเวลาที่พระเยซูสอนกับช่วงเวลาที่ยอห์นสอนจะคาบกับอยู่บ้างก็ตาม มาร์โกและลูกาผู้เขียนพระวรสาร พยายามที่จะแยกให้เห็นชัด มาร์โกเขียนว่าพระเยซูไปแคว้นกาลิลีและเริ่มเทศน์สอน "หลังจากที่ยอห์นถูกจับแล้ว" (มก.๑,๑๔) สําหรับลูกา เนื่องจากลูกาถือว่าการรับพิธีล้างจากยอห์นเป็นจุดเริ่มงานของพระเยซู ลูกาจึงเล่าเรื่องเกี่ยวกับยอห์นให้หมดก่อน คือเล่าถึงการเทศน์สอนของยอห์น จนถึงยอห์นถูกจับขังคุก แล้วจึงพูดถึงพรเยซูไปรับพิธีล้างจากยอห์น (ลก.๓,๑๙-๒๒)
1. ยุคใหม่
ความแตกต่างระหว่างยุคของยอห์น กับยุคของพระเยซู แสดงออกมาได้ชัดเจนมากในเรื่องเปรียบเทียบที่ว่า "คนสมัยนี้เป็นเหมือนเด็กที่ร้องเล่นกันในลานสาธารณะว่า เราเป่าขลุ่ย เจ้าก็ไม่เต้นรํา เราร้องเพลงครํ่าครวญ เจ้าก็ไม่ร้องไห้ เมื่อยอห์นแบปติสต์มาถึง ยอห์นไม่กินปัง ไม่ดื่มเหล้าองุ่น ท่านก็ว่าผีสิง ครั้นเมื่อบุตรแห่งมนุษย์มาถึง ทั้งกินทั้งดื่ม ท่านก็ว่า นั่นอย่างไรเล่า นักกินนักดื่ม เพื่อนของคนเก็บภาษีและคนบาป"(ลก.๗,๓๑-๓๕=มธ.๑๑,๑๖-๑๙) อารมณ์ของยอห์นเปรียบเหมือนเพลงครํ่าครวญในงานศพ ส่วนอารมณ์ ของพระเยซูเปรียบเหมือนเพลงเต้นรําในงานสมรส พฤติกรรมเด่นของยอห์นคือการอดอาหาร แต่พฤติกรรมเด่นของพระเยซูคือการฉลอง แต่ทั้งสองบทบาทก็ไม่ขัดกัน เพราะสถานการณ์เป็นคนละยุคกัน
การกลับใจในยุคของยอห์น หมายถึงการอดอาหารทรมานตัว แต่การกลับใจในยุคของพระเยซู หมายถึงการตอบรับคําเชิญไปงานฉลอง (ลก.๑๔,๑๕-๑๗) หรือการพบขุมทรัพย์หรือไข่มุกลํ้าค่าซึ่งคนที่พบยินดีขายทุกอย่างที่มีเพื่อซื้อสิ่งประเสริฐนั้นไว้ (มธ.๑๓,๔๔-๔๖) ในยุคของยอห์น การอภัยเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นใน อนาคตถ้ารับพิธีล้าง ในยุคของพระเยซู การอภัยบาปเป็นเรื่องปัจจุบัน และพิธีล้างในแม่นํ้าจอร์แดนไม่ใช่สิ่งจําเป็นอีกต่อไป
เหล้าองุ่นใหม่จะเอาไปใส่ถุงหนังเก่าไม่ได้ หรือผ้าใหม่จะตัดไปปะผ้าเก่าไม่ได้ ฉันใดก็ฉันนั้น ยุคของพระ เยซูเป็นยุคใหม่ที่จะเอาไปเข้ากับแนวปฏิบัติเดิมไม่ได้ ยุคของยอห์นผ่านพ้นไปแล้ว
ยุคของยอห์นแบปติสต์ กับยุคของพระเยซูต่างกันมาก ทั้งนี้เพราะแต่ละยุคถูกกําหนดโดยเหตุการณ์อนาคตที่แตกต่างกัน เหตุการณ์เด่นที่มีอิทธิพลต่อยุคของยอห์นคือ "พระเจ้าปกครองและชําระความ" (judgement) ซึ่งยอห์นให้ความสําคัญมาก ส่วนเหตุการณ์เด่นที่มีอิทธิพลต่อยุคของพระเยซูคือ "ความรอดพ้นที่พระเจ้านํามาให้" (salvation) ยอห์นใช้เรื่องภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น มาเป็นหลักในการเทศน์สอน แต่พระเยซูใช้เรื่อง อาณาจักรพระเจ้ามาเป็นหลัก ยอห์นเป็นประกาศกแห่งความหายนะ แต่พระเยซูเป็นประกาศกแห่งข่าวดี
เหตุการณ์หรือสัญญาณหลายอย่าง ( พระเยซูเรียกว่า "สัญญาณแห่งกาลเวลา" ) ทําให้พระเยซูมั่นใจว่า อาณาจักรพระเจ้ากําลังจะมาถึงแล้ว สัญญาณนั้นก็คือ ความสําเร็จในการทํางานกับคนจนและคนถูกกดขี่ "ถ้าข้าพเจ้าสามารถขับไล่มารอาศัยอํานาจของพระเจ้า ก็จงรู้ไว้เถิดว่า อาณาจักรพระเจ้ามาถึงพวกท่านแล้ว" (ลก.๑๑,๒๐)
ฤทธิ์อํานาจของพระเจ้าแสดงผลออกมาทางพระเยซูและทางพวกสาวก และทําให้กิจกรรมแห่งการปลดปล่อยที่กําลังทําอยู่นั้น ช่วยคนมากมายให้หลุดพ้นความทุกข์ทรมาน พระเยซูมั่นใจว่านี่แหละคือเจตนาของพระเจ้า พลังแห่งความเชื่อกําลังทําสิ่งที่ถือกันว่าเป็นไปไม่ได้ กองทัพของพระเจ้ากําลังมีชัยชนะเหนือกองทัพมาร ชัยชนะเด็ดขาดอยู่แค่เอื้อมแล้ว อาณาจักรพระเจ้ากําลังตามมาติด ๆ และกําลังจะนําหน้าแล้ว อันที่จริงอาณาจักรพระเจ้ามาถึงพร้อมกับกิจกรรมแห่งการปลดปล่อยของพระเยซูนั่นเอง อาณาจักรในอนาคตมี อิทธิพลต่อสถาณการณ์ปัจจุบัน อนาคตกับปัจจุบันแยกกันไม่ออก
พวกฟาริสีต้องการให้พระเยซูแสดงสัญญาณจากท้องฟ้า เพื่อยืนยันว่าคําพูดและกิจกรรมของพระเยซูมาจากพระเจ้าจริง พระเยซูปฏิเสธคําเรียกร้องนั้น แต่ชี้ให้ดูสัญญาณบนแผ่นดินแทน (มธ.๑๖,๑-๔; ลก.๑๒,๕๔-๕๖) เมื่อยอห์นส่งลูกศิษย์ไปถามพระเยซู พระเยซูตอบว่า "กลับไปบอกยอห์นเกี่ยวกับสิ่งที่ท่านได้ยินและได้เห็น นั่นคือ คนตาบอดกลับมองเห็น คนง่อยกลับเดินได้ คนโรคเรื้อนกลับสะอาดบริสุทธิ์ และคนหูหนวกกลับได้ยิน..." (มธ.๑๑,๔-๕) นี่แหละสัญญาณ
2. พระเจ้าได้เปลี่ยนไป
ความดีกําลังมีชัยเหนือความชั่ว พระเจ้าเปลี่ยนแผนการ พระเจ้าไม่คิดจะลงโทษประชากรของพระองค์อีกต่อไป พระเจ้าต้องการช่วยประชากรให้รอดพ้น กิจกรรมและคําพูดทั้งหลายของพระเยซูต่างก็ชี้บอกว่าพระเจ้าได้เปลี่ยนไปแล้ว และเห็นได้ชัดจากสัญญาณแห่งกาลเวลานี้แหละ
มีหลายคนที่พูดว่าพระเยซูได้เปลี่ยนภาพพจน์ของพระเจ้าเสียใหม่ พระเจ้าของพระเยซู ต่างไปจากพระเจ้าในพระคัมภีร์ภาคแรก ต่างไปจากพระเจ้าของพวกฟาริสี และอาจพูดได้ด้วยว่า ต่างไปจากพระเจ้าที่คริสตศาสนิกชนทั่วไปนับถือ ภาพพจน์ใหม่ของพระเจ้า เป็นรากฐานแห่งความคิดและการกระทําของพระเยซู
การพูดเช่นนั้นเป็นความจริง เพียงแต่ว่าพระเยซูไม่ได้คิดว่าตนเองได้เปลี่ยนภาพพจน์ของพระเจ้า แต่คิดว่า พระเจ้าได้เปลี่ยนไป พระเจ้าของอับราฮัม ของอิสซัค ของยากอบ กําลังทําสิ่งใหม่ ๆ ที่ไม่เคยทํามาก่อน พระเจ้าเกิดมีความสงสารต่อชาติยิว หรือ "แกะพลัดฝูงแห่งอิสราเอล" และท่าทีใหม่ของพระเจ้าแสดงออกมาในนิทานเปรียบเทียบเรื่องแกะพลัดฝูง เรื่องเหรียญที่หายไป และในเรื่องลูกล้างผลาญ (ลก.๑๕,๑-๓๒) พระเยซูเล่านิทานเปรียบเทียบเหล่านี้เพื่อทําให้คนเห็นสัญญาณแห่งกาลเวลา และเพื่อให้คนเข้าใจว่าพระเจ้าได้เปลี่ยนไปแล้ว พระองค์มีความสงสารและต้องการทําให้มีสิ่งใหม่ ๆ เกิดขึ้น
เรื่องที่เด่นชัดที่สุดก็คือเรื่องลูกล้างผลาญ (ซึ่งบางทีก็ตั้งชื่อกันว่า เรื่องบิดาผู้ใจดี) ตอนแรกของนิทานบรรยายเน้นถึงความบาปของลูกชายคนเล็ก และเน้นถึงความเสียหายที่เขาได้ก่อให้เกิดขึ้นต่อพ่อของตน จุดสุดยอดของเรื่องคือตอนที่ลูกชายกลับบ้าน สิ่งที่น่าแปลกคือผู้เป็นพ่อไม่ได้ไล่ลูกดังที่ลูกคาดว่าพ่อจะทํา ผู้เป็นพ่อไม่ได้เรียกร้องให้ลูกชดใช้ความเสียหายโดยให้ทํางานเป็นลูกจ้างดังที่ลูกเตรียมใจพร้อมที่จะทําอยู่แล้ว และผู้ฟังนิทานก็คงจะหวังเช่นนั้น ผู้เป็นพ่อไม่ลงโทษลูกเลยแม้แต่น้อย ผู้เป็นพ่อไม่ได้เรียกร้องให้ลูกกล่าวคําขอโทษ และพ่อเองก็ไม่ได้กล่าวคํายกโทษ เพราะไม่ถือว่ามีโทษอะไร สิ่งเดียวที่ผู้เป็นพ่อทําคือชื่นชมยินดี และสั่งให้จัดงานเลี้ยงฉลอง ทําไมจึงเป็นเช่นนั้น ? ก็เพราะว่าผู้เป็นบิดารู้สึกเสทือนใจเพราะความรักและสงสาร การได้ลูกกลับมาบ้านอย่างปลอดภัยมีความสําคัญยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด
ปฏิกิริยาของลูกชายคนโตในนิทานสะท้อนถึงความรู้สึกโกรธแค้นของผู้ฟัง นั่นคือพวกฟาริสีและคัมภีราจารย์พวกเขาเชื่อว่าพระเจ้าจะไม่ทําเช่นผู้เป็นพ่อในนิทานเรื่องนี้เด็ดขาด
แต่พระเยซูเชื่อมั่นว่า ไม่ว่าเดิมพระเจ้าจะเป็นอย่างไร มาบัดนี้พระเจ้ามีความรักและห่วงไยคนบาป พระเจ้าทําดีต่อผู้ที่เกลียดชังพระองค์ พระเจ้าอวยพรผู้ที่สาบแช่งพระองค์ "พระเจ้าเมตตาคนอกตัญญูและคนชั่ว" (ลก.๖,๒๗-๓๖) เพราะเหตุนี้ คนป่วยจึงได้รับการรักษาให้หาย คนบาปจึงได้รับการอภัยด้วยใจกว้างขวางและปราศจากเงื่อนไขใดๆ
3. พระเจ้ากลายเป็นพ่อ
พระเจ้าสนใจมนุษย์และความต้องการของมนุษย์เป็นอย่างมาก พระเจ้าลงมาจากบัลลังก์เพื่อมาอยู่ใกล้ๆกับมนุษย์ และมนุษย์ก็สามารถเรียกพระเจ้าว่า "พ่อ" ("อับบา" ในภาษายิว) พระเยซูเรียกพระเจ้าว่าว่า "อับบา" และสอนให้คนอื่นๆเรียกเช่นเดียวกัน (ลก.๑๑,๒) ก่อนหน้านั้นไม่เคยมีใครกล้าทําเช่นนี้เลย คําว่า "อับบา" เป็นคําที่ใช้เรียกพ่อ และเป็นคําที่แสดงความรู้สึกรัก สนิทสนม เป็นกันเอง และใช้เฉพาะในวงญาติใกล้ชิดเท่านั้น ความสัมพันธ์กับพระเจ้าในลักษณะนี้ ต่างจากวิธีปฏิบัติที่ทํากันอยู่อย่างหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะโดยทั่วไปมีธรรมเนียมที่กําหนดให้มนุษย์นับถือพระด้วยความกลัวและยําเกรง กําหนดให้พระเจ้าอยู่ห่างออกไปเนื่องจากความศักดิ์สิทธิ์และความน่าเคารพ
ความสําเร็จในการรักษาโรคและช่วยปลดปล่อยคนถูกกดขี่มีทุกข์ ทําให้พระเยซูมั่นใจว่า พระเจ้าสงสารมนุษย์ที่ต้องทนทุกข์ทรมาน และพระเจ้าต้องการเข้ามาร่วมทุกข์ร่วมสุขในฐานะที่เป็นพ่อ และใช้ฤทธิ์อํานาจ ของพระองค์เพื่อรับใช้มนุษย์
เมื่อพวกฟาริสีไม่ยอมเชื่อ และเรียกร้องให้พระเยซูยืนยันด้วยสัญญาณบนท้องฟ้า พระเยซูกลับชี้ให้ดูอีกสัญญาณหนึ่ง นั่นคือประกาศกโยนาห์ นักพระคัมภีร์ปัจจุบันอธิบายว่า มัตธิวและลูกาไม่รู้ว่าพระเยซูหมายความว่าอะไร ต่างคนจึงต่างตีความเอาเอง มัตธิวอธิบายว่า เนื่องจากเรื่องของโยนาห์เล่าไว้ว่าโยนาห์อยู่ในท้องปลาวาฬสามวันสามคืน พระเยซูหมายความว่า "การกลับเป็นขึ้นมาในวันที่สาม" จะเป็นสัญญาณยืนยัน (มธ.๑๒,๔๐; ๑๖,๑-๔) ส่วนลูกาอธิบายว่า "โยนาห์เป็นสัญญาณสําหรับชาวเมืองนินะเวห์ฉันใด บุตรแห่งมนุษย์ (พระเยซู) ก็จะเป็นสัญญาณสําหรับคนในยุคนี้ฉันนั้น" (ลก.๑๑,๓๐) นักพระคัมภีร์เข้าใจว่า พระเยซูเอ่ยถึงโยนาห์ก็เพราะต้องการชี้ให้เห็นพฤติกรรมของโยนาห์เอง โยนาห์โกรธเมื่อเห็นว่าพระเจ้าเปลี่ยนใจ ยกเลิกการลงโทษชาวเมืองนินะเวห์ด้วยภัยพิบัติดังที่ได้ขู่เอาไว้ โยนาห์พูดว่า "ข้าพเจ้ารู้ว่าพระองค์เป็นพระเจ้าแห่งความอ่อนหวานและความเมตตา โกรธยาก สงสารง่าย..." แต่โยนาห์ (เช่นเดียวกับพวกฟาริสี) ไม่อยากเห็นพระเจ้าเมตตาสงสารคนบาป พระเจ้าพูดกับโยนาห์ว่า "ที่เจ้าโกรธนั้น ถูกต้องแล้วหรือ?...เราไม่ควรจะเมตตาสงสารชาวเมืองนินะเวห์ดอกหรือ? ...คนเหล่านี้เป็นชาวบ้านธรรมดาที่ไม่รู้เสียด้วยซํ้าไปว่าข้างไหนมือซ้ายข้างไหนมือขวา..." (ดูโยนาห์ บทที่ ๓-๔)
นี่แหละจะเป็นสัญญาณชี้ให้พวกฟาริสีเห็น สัญญาณก็คือ พระเจ้ากําลังเมตตาสงสารชาวบ้าน พระเจ้าได้เปลียนไป และเพราะเหตุนี้ ยุคเก่าก็ผ่านพ้นไป ยุคใหม่เป็นยุคของคนจนและคนถูกกดขี่
ถ้าเราพยายามอ่านสัญญาณแห่งกาลเวลาในปัจจุบัน เราจะเห็นว่ายุคของเราไม่ต่างไปจากยุคของพระเยซูเท่าไรนัก เราอาจจะกําลังพ้นจากยุคของยอห์นแบปติสต์ (ยุคที่เสี่ยงต่อความพินาศของมนุษยชาติ) และกําลังย่างเข้าสู่ยุคแห่งการปลดปล่อย ยุคแห่งอาณาจักรพระเจ้า
อย่างไรก็ตาม เราต้องพยายามศึกษาความคิดของพระเยซูเพิ่มเติมว่า อาณาจักรพระเจ้ากับภัยพิบัติเกี่ยวข้องกันอย่างไร
คำถาม
1. ท่านเข้าใจยุคเก่ายุคใหม่ในเนื้อเรื่องอย่างไร ?
2. พระเจ้าได้เปลี่ยนไปอย่างไร ?
3. ท่านรู้สึกอย่างไรเมื่อพูดว่า “พระเจ้ากลายเป็นพ่อ”