Skip to main content

Jesus before
C h r i s t i a n i t y

บทที่ 04 รักษาโรค

book

ในสมัยนั้นมีหมออยู่บ้างเหมือนกัน แต่มีน้อยและหายาก หมอมีความรู้เรื่องโรคภัยไข้เจ็บจํากัดมากและคนจนไม่มีปัญญาหาเงินมาจ่ายค่าหมอได้ นอกนั้นยังมีหมอดูและหมอผีเข้ามาช่วยบรรเทาทุกข์บ้าง  หมอดูช่วย วินิจฉัยว่า บาปที่เป็นต้นเหตุของโรคภัยไข้เจ็บอยู่ที่ไหน ส่วนหมอผีบางทีก็ทําให้ดูเหมือนว่าสามารถไล่ผีออกจากคนป่วยได้จริง พวกหมอผีมักจะทําจารีตบางอย่างซึ่งประกอบด้วยคาถา ท่าทางที่เป็นสัญญลักษณ์ วัตถุบางอย่าง และเรียกชื่อผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า จารีตดังกล่าวก็เหมือนกับไสยศาตร์ทั่วไป

1. พระเยซูรักษาโรค

    พระเยซูไม่เคยทําอะไรแบบพวกหมอผี  จริงอยู่ พระเยซูเคยใช้นํ้าลาย ซึ่งคนเข้าใจกันว่ามีสรรพคุณทางยา(มก.๗,๓๓;๘,๒๓) แต่เจตนาของพระเยซูก็คือ มีการสัมผัสกับคนป่วยในแบบใดแบบหนึ่ง (มก.๑,๓๑;๑,๔๑; ๖,๕๖; ๘,  ๒๒-๒๕) พระเยซูแตะต้องคนป่วย จับมือคนป่วย วางมือบนหัวคนป่วย แต่พระเยซูไม่เคยใช้คาถาหรือเรียกชื่อผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า  อาจเป็นเพราะเหตุนี้ที่มีคนกล่าวหาว่าพระเยซูรักษาคนป่วย ด้วยอํานาจของเจ้าแห่งปิศาจ

     พระเยซูได้ใช้การภาวนาเหมือนกัน แต่ความคิดแตกต่างไปจากเรื่องราวในพระคัมภีร์ที่พูดถึงผู้ศักดิ์สิทธิ์บางท่านที่ภาวนาขอฝนหรือรักษาโรค ในกรณีเช่นนั้นผู้ภาวนาอาศัยความศักดิ์สิทธิ์ของตนวิงวอนขอจากพระเจ้าเพื่อผู้อื่น แต่สําหรับพระเยซูจุดสําคัญคือความเชื่อ ผู้ภาวนาคือผู้มีความเชื่อ และเป็นความเชื่อของตนที่ทําให้ตนหายจากโรค (มธ.๒๑,๒๒)

2. ความเชื่อเป็นเหมือนพระเจ้า

           พระเยซูบอกกับคนที่หายจากโรคเสมอว่า "ความเชื่อของเจ้าทําให้เจ้าหายจากโรค" คําพูดเช่นนี้เป็นเอกลักษณ์ของพระเยซู ทําให้พระเยซูไม่เหมือนใครทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นหมอ หมอผี หรือผู้ศักดิ์สิทธิ์ พระเยซูพูดเช่นนี้แสดงว่า ไม่ใช่พระเยซูที่รักษาโรค  ไม่ใช่เป็นเพราะพลังจิตของพระเยซู ไม่ใช่เส้นสายอะไรที่พระเยซูมีกับพระเจ้า ไม่ใช่คาถาอาคม ไม่ใช่ฤทธิ์ของนํ้าลายและที่น่าสังเกตคือ พระเยซูไม่ได้พูดตรง ๆ ว่าพระเจ้าทําให้หายโรค แต่พูดว่า "ความเชื่อของเจ้าทําให้เจ้าหายโรค"

      พระเยซูก็เป็นเหมือนชาวยิวโดยทั่วไป ที่เชื่อว่า "ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปได้สําหรับพระเจ้า" (มก.๑๐,๒๗) แต่ที่ต่างไปจากคนอื่นก็คือ พระเยซูเชื่อด้วยว่า "ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปได้สําหรับใครก็ตามที่มีความเชื่อ" (มก.๙,๒๓) คนที่มีความเชื่อกลับเป็นเหมือนพระเจ้าซึ่งมีอํานาจทุกอย่าง "ถ้าท่านมีความเชื่อเท่าเมล็ดมัสตาร์ด ไม่มีอะไรที่จะเป็นไปไม่ได้สําหรับท่าน ถ้าท่านสั่งภูเขานี้ว่า จงเคลื่อนออกไปมันก็จะเคลื่อนออกไป" (มธ๑๗,๒๐)

      เมล็ดมัสตาร์ดและการย้ายภูเขาเป็นเพียงคําเปรียบเทียบ ความเชื่อเปรียบเหมือนเมล็ดมัสตารด์  แม้จะดูเล็กและไม่มีความสําคัญ แต่สามารถทําให้เกิดสิ่งใหญ่โต แม้กระทั่งสิ่งที่เรียกว่าเป็นไปไม่ได้ ซึ่งเปรียบเหมือนการย้ายภูเขา หรือย้ายต้นไม้ สําหรับพระเยซู ความเชื่อเป็นพลังมหาศาล พลังที่สามารถบรรลุถึงสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ สําหรับพระเยซู ความเชื่อเท่านั้นที่จะทําให้หายจากโรคภัย ความเชื่อเท่านั้นที่จะช่วยชีวิต ความเชื่อเท่านั้นที่จะทําให้โลกอยู่รอด

      ความเชื่อที่ว่ามานี้ ไม่ใช่การยอมรับระบบความคิด (creed) ทฤษฎีทางศาสนา คําสอน (doctrines)หรือชุดข้อความเชื่อ (dogmas) คนป่วยมีความเชื่อ หมายความว่าเขาเชื่อมั่นว่าเขามีทางหายจากโรคได้และเขาจะต้องหายแน่นอน เมื่อความเชื่อมั่นนี้แรงพอ ก็เกิดการหายจากโรค ถ้าคนหนึ่งพูดด้วยความมั่นใจมากพอ โดยไม่มีความสงสัยแคลงใจเลย แต่เชื่อมั่นว่าสิ่งที่เขาพูดจะเกิดขี้น มันก็จะเกิดขึ้น (มก.๑๑,๒๓) และถ้าท่านภาวนาขอด้วยความมั่นใจว่าท่านได้รับมันแล้ว ท่านก็ได้รับจริง (มก.๑๑,๒๔) แต่ถ้าท่านสงสัยหรือลังเลใจ ก็จะไม่มีอะไรเกิดขึ้น ความคิดนี้แสดงออกมาในเรื่องเปโตรเดินบนผิวนํ้า พอเปโตรเริ่มไม่แน่ใจ เขาก็เริ่มจมลง (มธ.๑๔,๒๘-๓๑) เมื่อศิษย์ของพระเยซูเริ่ม "ขับไล่จิตชั่ว" นั้น ทําไม่สําเร็จเพราะความมั่นใจมีน้อยและลังเล พวกเขามีความเชื่อน้อยเกินไป (มธ.๑๗,๑๙-๒๐)

      ความเชื่อไม่ใช่เป็นเพียงพลังจิตที่มีอิทธิพลต่อร่างกาย มันเป็นอะไรมากกว่านั้น ความเชื่อเป็นความมั่นใจว่าจะมีอะไรบางอย่างเกิดขึ้น เพราะว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ดี เพราะว่าความดีจะชนะความชั่วร้าย ความเชื่อเป็นความมั่นใจว่าพระเจ้าดีต่อมนุษย์ และพระเจ้าจะมีชัยชนะเหนือความไม่ดีต่าง ๆ พลังแห่งความเชื่อ คือพลังแห่งความดี พลังแห่งความจริง นั่นคือพลังของพระเจ้า

      สิ่งที่ตรงข้ามกับความเชื่อคือ การปลง การปลงไม่ใช่ปรัชญาของสมัยใดสมัยหนึ่งหรือของพวกใดพวกหนึ่ง แต่อยู่ในใจคน ทุกแห่งหน ทุกยุคทุกสมัย และแสดงออกมาในคําพูดต่าง ๆ  เช่น  "แก้ไขอะไรไม่ได้หรอก" "คุณจะไปเปลี่ยนโลกนี้ได้อย่างไร"  "ลงมายืนอยู่บนดินดีกว่า" "ไม่มีหวัง" "ยอมรับความจริงดีกว่า" หรือ "ปลงเสียเถิด"  นี่เป็นคําพูดของคนที่ไม่เชื่อในพลังของพระเจ้า หรือไม่หวังในสิ่งที่พระเจ้าสัญญา

        ความเชื่อที่เราพูดถึงข้างต้นนี้เกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดกับความหวัง ตามความหมายในพระคัมภีร์ คําว่าความเชื่อเกือบจะแยกไม่ออกจากคําว่าความหวัง (ฮีบรู ๑๑,๑; โรม ๔,๑๘-๒๒) เราอาจพูดได้ว่าความเชื่อกับความหวังเป็นเหรียญอันหนึ่งที่มี ๒ ด้าน และการขาดความเชื่อกับการปลงเป็นเหรียญอีกอันหนึ่งที่มี ๒ ด้านเช่นกัน

3. การแพร่ความเชื่อ

      ในสมัยของพระเยซู คนจน คนบาป คนป่วย พูดได้คําเดียวว่า "ปลง" แต่การที่พระเยซูรักษาโรคกายโรคใจได้สําเร็จ ก็เป็นความเชื่อที่มีชัยชนะเหนือการปลง คนป่วยที่หมดหวังและทนอยู่กับความเจ็บป่วยได้รับการกระตุ้นเตือนให้เชื่อว่าเขาจะหายได้และจะต้องหาย  ความเชื่อของพระเยซูเองมั่นคงแข็งแรงมาก  และสามารถ ปลุกความเชื่อให้เกิดขึ้นในตัวผู้อื่นได้ เมื่อคนมาสัมผัสพระเยซู เขา "ติด" ความเชื่อไปจากพระเยซู มันเป็นเหมือนโรคติดต่อ ความเชื่อสอนกันไม่ได้ แต่ติดต่อกันได้ มีบางคนที่เข้าใจและร้องขอพระเยซูให้ช่วยเพิ่มความเชื่อให้ (ลก.๑๗,๕) หรือขอให้พระเยซูช่วยแก้การขาดความเชื่อ (มก.๙,๒๔) พระเยซูเป็นผู้ก่อให้เกิดความเชื่อ แต่เมื่อมันเกิดแล้วมันก็สามารถแพร่ต่อ ๆ กันไปได้ ความเชื่อของคนหนึ่งแพร่ไปให้อีกคนหนึ่งพระเยซูส่งพวกสาวกออกไปแพร่ความเชื่อให้ติดต่อไปยังคนอื่น  ๆ

      ในที่ใดที่บรรยากาศแห่งความเชื่อ เข้าแทนที่บรรยากาศแห่งการปลง   สิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ก็เกิดขึ้น  ที่นาซาเร็ทบ้านเกิดของพระเยซู มีบรรยากาศที่ขาดความเชื่อ จึงไม่มีอะไรน่าพิศวงเกิดขึ้น (มก.๖,๕-๖) ส่วนในที่อื่นๆในแคว้นกาลิลี คนจำนวนมากมายหายจากโรคภัยไข้เจ็บ คนถูกผีสิงก็กลับเป็นปกติ คนโรคเรื้อนก็หายขาด  อัศจรรย์แห่งการปลดปล่อยเริ่มต้นแล้ว

4. อัศจรรย์

      คําถามที่ตามมาก็คือ มันเป็น "อัศจรรย์" จริง ๆ หรือ ?  ทั้งผู้ที่เชื่อและไม่เชื่อเกี่ยวกับอัศจรรย์ ต่างก็เข้าใจเหมือนกันว่า คําว่า "อัศจรรย์" หมายถึงสิ่งที่ขัดกับกฎธรรมชาติ และอธิบายไม่ได้ด้วยหลักทางวิทยาศาสตร์และเหตุผล   แต่นักพระคัมภีร์บอกเราว่า ที่จริงแล้วในพระคัมภีร์ "อัศจรรย์" ไม่ได้หมายถึงสิ่งที่ขัดกับกฎธรรมชาติเลย "กฎธรรมชาติ" เป็นศัพท์วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ในพระคัมภีร์ไม่มีคําว่า "ธรรมชาติ" หรือ "กฎธรรมชาติ" โลกเป็นสิ่งสร้างของพระเจ้า และทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในโลก ไม่ว่าจะเป็นสิ่งธรรมดาสามัญ หรือสิ่งที่ผิดไปจากธรรมดา เป็นสิ่งที่พระเจ้าจัดสรรให้ทั้งนั้น พระคัมภีร์ไม่แยกว่าเหตุการณ์ใดเป็นธรรมชาติ เหตุการณ์ใดเหนือธรรมชาติ ทุกอย่างเนื่องมาจากพระเจ้าทั้งนั้น ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

      ในพระคัมภีร์ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นการกระทําของพระเจ้า และบางอย่างเป็น "อัศจรรย์" ของพระเจ้า ก็เพราะมันสามารถสร้างความพิศวงหรือความประหลาดใจให้แก่เรา โลกที่พระเจ้าสร้างมานี้เป็นอัศจรรย์ ต้นมัสตาดขนาดใหญ่เติบโตขึ้นมาจากเมล็ดเล็ก ๆ ก็เป็นอัศจรรย์ ชาวอิสราเอลหลุดพ้นจากการเป็นทาสในอียิปต์ก็เป็นอัศจรรย์  อาณาจักรของพระเจ้าก็เป็นอัศจรรย์    โลกนี้เต็มไปด้วยสิ่งอัศจรรย์สําหรับผู้ที่มีตามองเห็นอัศจรรย์ ถ้าเราไม่สามารถเห็นอะไรแล้วเกิดความรู้สึกพิศวงเลย นอกจากจะเห็นสิ่ง "ผิดธรรมชาติ" จึงจะรู้สึกตื่นเต้น ในกรณีนี้เราคงจะเป็นผู้น่าสงสารมาก

      กฎธรรมชาติเป็นทฤษฎี (สมมุติฐาน) ทางวิทยาศาสตร์ มันมีความสําคัญต่อมนุษย์เรามาก  แต่กฎธรรมชาติ ต้องได้รับการทบทวนอยู่ตลอดเวลาเมื่อมีการศึกษาค้นคว้าพบข้อเท็จจริงใหม่เพิ่มเติม ที่เคยถือกันว่าเป็นกฎธรรมชาติหลายข้อในศตวรรษ ๑๗ ปัจจุบันก็ถูกล้มล้างไปแล้ว นักวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือมักจะบอกเราว่าสมมุติฐานทางวิทยาศาสตร์ล่าสุด ก็ยังไม่ใช่สุดทีเดียว มันอาจเปลี่ยนไปได้ในอนาคตถ้ามีข้อมูลเพิ่มเติม นักวิทยาศาสตร์หลายคนกล้ารับว่า ในหลักการแล้ว สิ่งที่เรียกกันว่า "เหนือธรรมชาติ" จะถูกตัดออกไปเลยไม่ได้ ยังมีสิ่งเร้นลับอีกมากในโลกที่เรายังค้นไม่พบและยังไม่เข้าใจ

      ดังนั้น กฎธรรมชาติไม่ใช่เงื่อนไขที่จะตัดสินว่า อะไรเป็นอัศจรรย์ อะไรไม่ใช่ มีบางอย่างที่เห็นชัด ๆ ว่ามันขัดกับกฎธรรมชาติ แต่เราก็ไม่เรียกว่าเป็นอัศจรรย์หรือเป็นการกระทําของพระเจ้า เช่น การงอช้อนส้อมด้วยความคิด หรือกายกรรมของพวกโยคี ตรงกันข้ามบางอย่างแม้จะอธิบายได้ว่าเป็นไปตามธรรมชาติ แต่ก็ถือกันว่าเป็นอัศจรรย์  เช่น การข้ามทะเลแดงของพวกยิวไปสู่อิสรภาพ  (นักพระคัมภีร์ชี้แจงว่าที่จริงแล้วไม่ใช่ทะเล แต่เป็นบึง)  สําหรับชาวยิว เหตุการณ์นี้แสดงว่าพระโปรดแท้ ๆ จึงหลุดพ้นไปได้ และนี่ก็กลายเป็นอัศจรรย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในพระคัมภีร์(พันธสัญญาเดิม) ในการเล่าเรื่องนี้ให้ลูกหลานฟังทุกปี ก็มีการแต่งเติมให้เหตุการณ์นี้สวยงามระทึกใจเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพื่อยํ้าถึงความน่าพิศวงและพระคุณของพระเจ้า

      เราจึงต้องเข้าใจว่า ในพระคัมภีร์ อัศจรรย์คือการกระทําของพระเจ้าที่ค่อนข้างจะแปลกไปกว่าธรรมดาและทําให้คนรู้สึกพิศวงและเป็นที่ตื่นตาตื่นใจ ในกรณีเช่นนี้ก็ถือว่ามันเป็น "เครื่องหมาย " (sign) ที่แสดงถึงพลังของพระเจ้า แสดงถึงพระเมตตาของพระองค์ที่จะช่วยและปลดปล่อย

      แล้วเราจะต้องคิดอย่างไรกับ "อัศจรรย์" ของพระเยซูในหนังสือพระวรสาร ? ในวงการศึกษาพระคัมภีร์ มีทฤษฎีหนึ่งที่มีหลักฐานสนับสนุนมากพอ คือ มาร์โก ผู้เขียนพระวรสารฉบับแรกใน ๔ ฉบับ รู้สึกไม่พอใจที่ว่า ในกลุ่มคริสตชนของท่าน  ภาพพจน์เด่นของพระเยซู  คือเป็นอาจารย์ พวกที่ไม่เคยรู้จักพระเยซูโดยตรง ก็มารู้จักภายหลังโดยทางคําสอนและคําเปรียบเทียบ มาร์โกจึงอยากแก้ภาพพจน์นี้ให้สมดุลย์ จึงติดต่อกับชาวบ้านธรรมดาหลายคนที่เคยรู้จักพระเยซูในแคว้นกาลิลี และชาวบ้านเหล่านี้ ซึ่งหลายคนไม่ได้กลับเป็นคริสตชน ก็ได้เล่าเรื่องราวที่ประทับใจชาวบ้านจนๆ  เรื่องที่ประทับใจมากที่สุดก็คืออัศจรรย์  อัศจรรย์ย่อมน่าสนใจมาก กว่าคําสอนหรือความคิดต่างๆ  ยามผิงไฟตอนกลางคืนก็เอาขึ้นมาเล่าสู่กันฟัง เล่าไปเล่ามาก็มีการเพิ่มเติมให้น่าตื่นเต้นยิ่งขึ้น

      เรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับอัศจรรย์ของพระเยซูส่วนมากก็คงได้มาด้วยวิธีนี้ อาจมีอีกบางอย่างที่มาร์โกได้มาทางอัครสาวกเปโตรหรือสาวกอื่น ๆ   เรื่องทั้งหมดนี้ มาร์โกไม่ได้รวบรวมและบันทึกลงไปด้วยหลักการของนักประวัติศาสตร์สมัยใหม่ มาร์โกยึดแหล่งที่มาของเรื่องราวเหล่านี้อย่างเคร่งครัด (ไม่ใช่ฟังจากชาวบ้านมาแล้ววินัจฉัยกลั่นกรองข้อมูลตามวิธีสมัยใหม่) เพราะอย่างไรเสีย เรื่องราวอัศจรรย์เหล่านี้เป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดที่จะถ่ายทอดพระเยซูไปให้ผู้อ่าน "ภาษาอัศจรรย์" เป็นภาษาที่คนสมัยนั้นชอบและเข้าใจได้ง่าย   ผู้เขียนพระวรสารอีก ๒ คน คือ มัทธิวและลูกา คงจะได้เอาอย่างมาร์โก ส่วนยอห์นผู้เขียนคนที่ ๔ มีแหล่งข้อมูลทางอื่น (ยอห์นใช้คําว่า "เครื่องหมาย" หรือ "กิจการ" แทนที่จะใช้คําว่าอัศจรรย์)

      เป็นที่เชื่อได้ว่า  เรื่องราวอัศจรรย์ที่มาถึงมือเรานี้ ได้ผ่านการตกแต่งเพิ่มเติมให้สวยงามและยิ่งใหญ่ และนักพระคัมภีร์ยืนยันได้ว่า บางเรื่องก็เริ่มจากเป็นเหตุการณ์ธรรมดาสามัญ แต่มาถึงเรากลายเป็นเหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้น (เช่นการเดินบนนํ้า    การทวีขนมปัง   การสาบต้นมะเดื่อ    การเปลี่ยนนํ้าเป็น

เหล้าองุ่น)

      อย่างไรก็ตาม เป็นที่ยืนยันได้แน่ชัดทางประวัติศาสตร์ว่า พระเยซูได้ทําสิ่งอัศจรรย์จริง ได้ขับไล่ผี ได้รักษา คนเจ็บป่วยให้หาย ซึ่งได้สร้างความประหลาดใจให้กับคนที่เห็น แต่สิ่งที่น่าสังเกตมาก คือทั้งที่ผู้เขียนพระวรสารพยายามรวบรวมเรื่องราวที่ถือกันว่าเป็นอัศจรรย์ แต่ก็บันทึกลงอย่างตรงไปตรงมาด้วยว่า พระเยซูมีความลังเลใจเป็นอย่างมากในการทําอัศจรรย์

5. พระเยซูทำอัศจรรย์

      หลายครั้งพวกฟาริสีเรียกร้องให้พระเยซูทําอัศจรรย์ (ขอเครื่องหมายจากสวรรค์) แต่พระเยซูก็ปฏิเสธทุกครั้ง (มก.๘,๑๑-๑๓; ลก.๑๑,๑๖; ยน.๒, ๑๘; ยน.๔,๔๘; ยน.๖,๓๐) สิ่งที่พวกฟาริสีต้องการคือ ให้พระเยซูทําสิ่งที่ประหลาดอัศจรรย์ เพื่อยืนยันว่าตนมีอํานาจมาจากพระเจ้าจริง ถ้าไม่มีอัศจรรย์ยืนยัน จะเชื่อพระเยซูได้อย่างไร แต่พระเยซูก็ไม่ยอมทําเครื่องหมายอะไรให้เห็นทั้งนั้น และคิดว่าพวกที่อยากเห็นอัศจรรย์เพื่อเป็นการยืนยันอํานาจพระเจ้า เป็นพวกที่ชั่วช้า (ลก.๑๑-๒๙)

      พระเยซูไม่เหมือนกับผู้ศักดิ์สิทธิ์อื่นๆที่มีพูดถึงในพระคัมภีร์ พระเยซูถือว่า คนที่พยายามจะทําสิ่งอัศจรรย์เพื่อพิสูจน์ว่าตนมีอํานาจมาจากพระเจ้า เป็นคนที่ถูกมารหลอกลวง  เพราะเหตุนี้ จึงมีเล่าถึงการที่พระเยซูปฏิเสธไม่ยอมตามการล่อลวงให้กระโดดจากยอดพระวิหาร (ลก.๑๔,๑๒) ส่วนผู้ศักดิ์สิทธิ์สมัยก่อนพระเยซูเกือบทุกราย อดไม่ได้ที่จะต้องทําอะไรบางอย่างเพื่อพิสูจน์ตนเอง

      หลายคนเข้าใจผิดว่า  พระเยซูทําอัศจรรย์รักษาโรคภัยไข้เจ็บ  เพราะมีจุดประสงค์ที่จะพิสูจน์ตนเองว่า  เป็นพระผู้ไถ่  หรือเป็นบุตรพระเจ้า   ที่จริงแล้ว สาเหตุเดียวที่พระเยซูทําสิ่งอัศจรรย์ก็คือ ความสงสาร  พระเยซู  ต้องการช่วยประชาชนให้หลุดพ้นความทุกข์ทรมาน และหลุดจากความหมดหวังนั่งปลงในความทุกข์เวทนา พระเยซูเชื่อมั่นว่าสิ่งนี้เป็นไปได้ ต้องทําได้ และที่สําเร็จก็เพราะพลังแห่งความเชื่อนี้ พระเยซูไม่ถือว่าตัวเองเป็นคนเดียวที่มีเอกสิทธิ์ในความสงสาร ในความเชื่อและพลังมหัศจรรย์ พระเยซูพยายามทําให้คนรอบข้างเกิดมีความสงสารและความเชื่อเดียวกันนี้ เพื่อจะได้ให้พลังของพระเจ้าแสดงบทบาทในท่ามกลางประชาชน

      อย่างไรก็ตาม   แม้พระเยซูไม่ต้องการจะพิสูจน์อะไร  แต่สิ่งที่น่าอัศจรรย์ใจทั้งหลายที่เกิดขึ้น ก็แสดงให้เห็นว่าพระเจ้ากําลังช่วยประชาชนให้รอด โดยอาศัยความเชื่อที่พระเยซูก่อให้ลุกขึ้น

คำถาม

1. พระเยซูรักษาโรคด้วยวิธีใด ? 

2. “ความเชื่อเป็นเหมือนพระเจ้า”  มีความหมายต่อท่านอย่างไร ?

3. “การแพร่ธรรม” ในบริบทที่ท่านอ่านข้าบนนี้ คืออะไร ?

4. อัศจรรย์ในพระวรสารมีความหมายต่อท่านอย่างไร ?

book