จิตภาวนา
โดย นักบุญอัลฟอนโซ
จิตภาวนา 05 สถานที่และเวลาที่เหมาะแก่การรำพึงภาวนา
1. สถานที่ที่เหมาะแก่การรำพึงภาวนา
เราสามารถรำพึงภาวนาได้ในทุก ๆ ที่ ไม่ว่าจะเป็นในบ้านหรือนอกบ้านไม่ว่าขณะทำงานหรือเดินทาง จะมีสักกี่คนที่ไม่สามารถทำสิ่งง่ายดายนี้ได้ เพียงแต่ยกจิตใจขึ้นหาพระเป็นเจ้าและรำพึงภาวนา ผู้ที่แสวงหาพระเป็นเจ้าจะพบพระองค์ได้ในทุกแห่งและทุกเวลา
สิ่งสำคัญในการสนทนากับพระเป็นเจ้าคือ ความสำรวมภายในจิตใจเพราะหากปราศจากสิ่งนี้แล้ว การรำพึงภาวนานั้นก็ไร้ค่า นักบุญเกรโกรีกล่าวว่า เราอาจได้รับประโยชน์เพียงเล็กน้อยหรือไม่ได้รับเลย หากว่าเราภาวนาในสถานที่เงียบสงบ แต่ภายในจิตใจยังเต็มไปด้วยความสนใจและความผูกพันฝ่ายโลก ความสำรวมใจคือการที่จิตใจไม่จดจ่อกับสิ่งฝ่ายโลก ทะเลทรายและถ้ำก็ไม่เป็นสิ่งจำเป็นเลยสำหรับผู้ที่อยู่ในชุมนุมชน เมื่อใดก็ตามที่เขามีความสำรวมภายในจิตใจแล้ว ไม่ว่าจะเป็นตามถนนหนทางและสถานสาธารณะต่าง ๆ เขาก็ยังมีความสำรวมภายในจิตใจและร่วมสนทนากับพระเป็นเจ้าได้ ใครก็ตามที่เฝ้าทำตามน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้า เขาจะมีความสำรวมภายในจิตใจ นักบุญแคธารีนแห่งซีเอนาพบว่า พระเป็นเจ้าทรงอยู่กับท่านในขณะที่ท่านวุ่นวายอยู่กับงาน ในบ้านที่บิดามารดามอบแก่ท่านเพื่อทำให้ท่านไม่สามารถทำกิจศรัทธาได้ แต่ท่ามกลางความวุ่นวายนั้น ท่านเต็มไปด้วยความสำรวมภายในจิตใจ และท่านเรียกเวลาขณะนั้นว่า อารามของท่าน และยังคงสนทนากับพระเป็นเจ้าต่อไป
หากเป็นไปได้ เราควรที่จะหาที่สงบเพื่อรำพึงภาวนา พระคริสตเจ้าเองทรงตรัสว่า "เมื่ออธิษฐานจงเข้าในห้องชั้นใน และเมื่อปิดประตูแล้ว จงอธิษฐานต่อพระบิดาของท่านผู้ทรงเห็นในที่ลี้ลับ" ( มธ 6:6) นักบุญเบอร์นาร์ดกล่าวว่า ความเงียบสงบชักนำวิญญาณให้คิดถึงสวรรค์
สถานที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการภาวนาคือ วัด พระคริสตเจ้าทรงพอพระทัยยิ่งนักหากเรารำพึงภาวนาอยู่ต่อหน้าศีลมหาสนิท เพราะที่นั่นพระองค์ทรงประทานความสว่างและพระหรรษทานมากมายแก่ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมพระองค์ พระองค์ทรงประทับอยู่ในศีลมหาสนิทไม่เพียงแต่เพื่อเป็นอาหารเลี้ยงวิญญาณเราเท่านั้น แต่ยังเพื่อให้ทุกคนที่ต้องการพบพระองค์ จะสามารถเข้ามาได้ทุกเมื่อ อาจมีผู้แสวงบุญเดินทางไปถึงโลรีโต ซึ่งเป็นที่พระคริสตเจ้าเคยอยู่ และกรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งเป็นสถานที่พระองค์ทรงถูกตรึงกางเขน แต่เราควรจะศรัทธามากเพียงใดต่อศีลมหาสนิท เมื่อเป็นพระองค์เองที่ประทับอยู่ ณ ที่นั้น พระองค์ผู้ทรงประทับอยู่ท่ามกลางเราและสิ้นพระชนม์บนเนินกัลวาริโอเพื่อเรา สำหรับกษัตริย์ฝ่ายโลกไม่มีใครที่จะมีโอกาสได้อยู่สนทนาเป็นส่วนตัวได้ แต่พระคริสตเจ้า ผู้ทรงเป็นกษัตริย์เหนือกษัตริย์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นขุนนางหรือคนสามัญ คนร่ำรวยหรือยากจนต่างก็สามารถสนทนากับพระองค์ได้ตามที่ตนต้องการ และในศีลมหาสนิทนี้เองที่พระองค์พร้อมจะรับฟังและปลอบโยนทุกคน
2. เวลาที่เหมาะสมในการรำพึงภาวนา
เราจะพิจารณาในเรื่องเวลาสองประการ คือ เวลาใดที่เหมาะในการรำพึงภาวนา และควรเวลานานเท่าไหร่ในการรำพึงภาวนา
1. นักบุญโบนาเวนตูรากล่าวว่า ในตอนเช้าและตอนเย็นถือว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการรำพึงภาวนา แต่นักบุญเกรโกรี แห่งนีสซี กล่าวว่า ตอนเช้าเหมาะที่สุดสำหรับการภาวนา เพราะเมื่อเริ่มต้นกิจการต่างๆ ด้วยการรำพึงภาวนา บาปไม่อาจจะเข้ามาในวิญญาณของเราได้ บุญราศีชาร์ล คาราฟา ผู้ตั้งคณะกรรมกรผู้ศักดิ์สิทธิ์กล่าวไว้ว่า การแสดงออกซึ่งความรักที่ร้อนรนต่อพระเจ้า ในตอนเช้าระหว่างรำพึงภาวนาเพียงพอแล้วที่จะทำให้วิญญาณนั้นร้อนรนตลอดวัน นักบุญเยโรมเขียนไว้ว่า การรำพึงภาวนาในตอนค่ำจำเป็นมาก จงอย่าให้ร่างกายได้พักผ่อนจนกว่าวิญญาณจะชุ่มชื่นขึ้นโดยการรำพึงภาวนา แต่เราสามารถรำพึงภาวนาทุกเวลาและทุกสถานที่ เพียงแต่เรายกจิตใจขึ้นหาพระเป็นเจ้า และแสดงความรักต่อพระองค์
2. บรรดานักบุญให้ระเบียบเกี่ยวกับเวลาที่เราจะใช้ในการรำพึงภาวนาไว้ว่า ให้เรารำพึงภาวนาทุกเวลาที่เราไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใส่ใจอยู่กับสิ่งจำเป็นในการดำเนินชีวิต นักบุญฟรังซิส บอเจีย ใช้เวลารำพึงภาวนาในวันหนึ่งๆถึงแปดชั่วโมง และอธิการของท่านไม่อนุญาตให้ท่านรำพึงภาวนามากกว่านี้และเมี่อเวลาแปดชั่วโมงนั้นหมดลง ท่านมักจะขออนุญาตให้ท่านได้รำพึงภาวนาต่อไปอีกสักเล็กน้อย ท่านกล่าวว่า "โปรดให้ผมภาวนาต่อสักครึ่งชั่วโมงเถิด" นักบุญฟิลิป เนรี มักจะใช้เวลาตลอดคืนในการรำพึงภาวนา นักบุญ แอนโทนีรำพึงภาวนาตลอดคืน และเมื่อพระอาทิตย์ขึ้น ซึ่งแสดงว่าท่านจะต้องหยุดภาวนา ท่านก็จะวอนขอให้พระอาทิตย์ขึ้นช้าสักหน่อย
คุณพ่อบัลทาซาร์ อัลวาเรสกล่าวไว้ว่า เมื่อใดที่วิญญาณที่รักพระเป็นเจ้าไม่ได้ภาวนา ก็เหมือนกับเสาหินที่ไม่ได้อยู่ในที่ของมัน ช่างเป็นอันตรายเหลือเกิน ขอให้เราเลียนแบบบรรดานักบุญที่ทุ่มเทเวลาในการรำพึงภาวนาถึงพระเป็นเจ้าเถิด
ให้เรามาพิจารณาถึงเวลาที่นักบวชควรจะใช้ในการรำพึงภาวนาเพื่อแสวงหาความครบครัน คุณพ่อทอเลสอธิบายว่า รำพึงภาวนาหนึ่งชั่วโมงในตอนเช้าอีกหนึ่งชั่วโมงในตอนกลางวัน และอีกครึ่งชั่วโมงในตอนเย็น แต่อาจจะลดลงได้หากเจ็บไข้ได้ป่วยหรือต้องทำหน้าที่เพราะความนบนอบ หากท่านรู้สึกว่าการรำพึงภาวนาเช่นนี้มากเกินไป ข้าพเจ้าขอแนะนำให้ท่านรำพึงภาวนาอย่างน้อยสองชั่งโมง การรำพึงภาวนาเพียงวันละครึ่งชั่วโมงย่อมไม่เพียงพอสำหรับการก้าวสู่ความครบครันแต่สำหรับผู้เริ่มต้นแล้ว อาจจะเพียงพอ
ในบางครั้ง พระสวามีเจ้าทรงปรารถนาให้เราละการภาวนาเพื่อจะทำงานบางอย่างเพราะเห็นแก่ความรัก แต่ให้เราจำคำกล่าวของนักบุญลอเรนซ์ จัสติเนียน ที่ว่า "เมื่อความรักเรียกร้องเรา เจ้าสาวของพระคริสตเจ้าก็ออกไปรับใช้พี่น้อง แต่ในระหว่างนั้น เธอยังคงรอคอยให้ถึงเวลาที่จะกลับไปสนทนากับพระองค์ในที่สงัดอย่างเดิม" คุณพ่อวินเซนต์ คาราฟา มหาอธิการคณะเยซูอิต ใช้เวลาสั้น ๆ ในการรำพึงภาวนาเท่าที่ท่านจะทำได้
การรำพึงภาวนาจะเป็นสิ่งที่น่าเบื่อหน่ายสำหรับผู้ที่ยึดติดอยู่กับโลก แต่จะไม่เป็นเช่นนี้สำหรับผู้ที่รักพระเป็นเจ้า โอ การสนทนากับพระเป็นเจ้าจะไม่เป็นที่ขมขื่นหรือเจ็บปวดเลยสำหรับผู้ที่รักพระองค์ "เมื่อสนทนากับพระองค์ ข้าพเจ้าจะไม่รู้สึกขมขื่นใจเลย เมื่ออยู่กับพระองค์ ข้าพเจ้าก็ปราศจากความทุกข์ระทม มีแต่ความยินดีและเกษมเปรมปรีดิ์เท่านั้น" (ปชญ 8: 16) นักบุญ ยอห์น คริมาคุส กล่าวว่า การรำพึงภาวนาคือการสนทนาอย่างสนิทสนมและเป็นหนึ่งเดียวกับพระเป็นเจ้า นักบุญคริสซอสโตมกล่าวว่า ในการรำพึงภาวนา วิญญาณจะพูดคุยกับพระเป็นเจ้า และพระเป็นเจ้าจะพูดคุยกับวิญญาณนั้น ชีวิตของผู้ศักดิ์สิทธิ์ที่รักการภาวนาและสลัดตนเองออกจากความสุขฝ่ายโลกทั้งมวล ชีวิตของเขาจะไม่มีความขมขื่นเลย หากไม่เชื่อก็ทดลองดูเถิด แล้วท่านจะพบว่า พระเป็นเจ้าทรงเมตตาแก่ผู้ที่ละทิ้งทุกอย่างเพื่อจะสนทนากับพระองค์เสมอ "ขอเชิญชิมดูแล้วจะเห็นว่า พระเจ้าประเสริฐ" (สดด 34:8) เราไม่ได้รำพึงภาวนาเพื่อจะได้รับความบรรเทาฝ่ายวิญญาณเท่านั้น แต่เพื่อเราจะได้รู้ว่าพระเป็นเจ้าทรงประสงค์อะไรจากเราและทำให้สละความเห็นแก่ตัว นักบุญยอห์น คริมาคุส กล่าวว่า "เพื่อที่จะเตรียมตัวในการรำพึงภาวนา จงสละน้ำใจของตัวเองเสียก่อน" เพื่อจะเตรียมตัวอย่างดีก่อนรำพึงภาวนา เราจะต้องเสียสละน้ำใจตนเองและกล่าวว่า "พระเจ้าข้า ขอพระองค์ตรัสเถิด เพราะผู้รับใช้ของพระองค์คอยฟังอยู่" (ซมอ 3:9) พระสวามีเจ้าข้า พระองค์ทรงประสงค์ให้ข้าพเจ้าทำสิ่งใด ข้าพเจ้าจะกระทำสิ่งนั้น เราจะต้องกล่าวเช่นนี้ด้วยความตั้งใจจริง เพราะหากปราศจากสิ่งนี้แล้ว พระองค์จะไม่ตรัสสิ่งใดแก่เราเลย