Skip to main content

59    จิตภาวนา

จิตภาวนา 06 การรำพึงแบบจิตภาวนา

book

การรำพึงแบบจิตภาวนาประกอบด้วย 3 ส่วน คือ

(1)  การเตรียมตัว
(2)  การรำพึง
       และ (3)  การสรุป

I. การเตรียมตัว

            เริ่มต้นด้วยการจัดให้ร่างกายและจิตใจของท่านอยู่ในความสำรวม

             จะละทิ้งความคิดวุ่นวายต่าง ๆ ไว้ที่หน้าประตูก่อนที่ท่านจะเข้ามารำพึงภาวนา โดยกล่าวเช่นเดียวกับนักบุญเบอร์นาร์ดที่ว่า "โอ้ความคิดของฉัน จงรออยู่ที่นี่ก่อน ฉันรำพึงภาวนาเสร็จก่อน และเราค่อยคุยกันใหม่" จงระวังอย่าให้ความคิดล่องลอยไปตามที่มันต้องการ (หากว่าเกิดความคิดวอกแวกขึ้นมา ให้ทำตามคำแนะนำที่จะให้ในหัวข้อที่ 7)

            ท่าที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการภาวนาก็คือ การคุกเข่า แต่หากว่าการคุกเข่าทำให้รู้สึกไม่สะดวกและวอกแวก เราอาจจะนั่งรำพึงตามที่นักบุญยอห์น แห่งไม้กางเขน แนะนำไว้ก็ได้

            การเตรียมตัวมีองค์ประกอบสามส่วนด้วยกันคือ 1. การแสดงความเชื่อว่าพระเป็นเจ้าทรงประทับอยู่  2. การแสดงความสุภาพถ่อมตนและเป็นทุกข์ถึงบาป  3. วอนของความสว่างในการรำพึงภาวนา เราอาจจะกระทำทั้งสามขั้นตอนดังวิธีการต่อไปนี้ :

            การแสดงความเชื่อในการประทับอยู่ของพระเป็นเจ้าและการนมัสการพระองค์

            "พระเจ้าข้า ลูกเชื่อว่าพระองค์ทรงประทับอยู่ ณ ที่นี้ ลูกขอนมัสการพระองค์ด้วยสิ้นสุดจิตใจของลูก" ขอให้เราแสดงความเชื่อของเราอย่างจริงจัง เพราะด้วยความเชื่อมั่นในการประทับอยู่ของพระเป็นเจ้านี้ จะทำให้เราไม่วอกแวกได้โดยง่าย พระคาร์ดินัลคาร์เรกซิโอโล สังฆราชแห่งอเวอร์ซา กล่าวไว้ว่า ผู้ที่วอกแวกในขณะรำพึงภาวนา เป็นเพราะเขาไม่มีความเชื่อถึงการประทับอยู่ของพระเป็นเจ้าอย่างมั่นคงนั่นเอง

            การแสดงความสุภาพและเป็นทุกข์ถึงบาป

            "พระสวามีเจ้าข้า ลูกสมควรอยู่ในนรกเพราะบาปมากมายที่ลูกได้ทำผิดด่อพระองค์ ลูกเป็นทุกข์เสียใจในบาปที่ลูกได้ทำผิดต่อพระองค์ ขอพระองค์โปรดทรงเมตตาแก่ลูกด้วยเทอญ"

            การภาวนาวอนขอความสว่างในระหว่างรำพึงภาวนา

            "พระบิดาเจ้าข้า โดยอาศัยคำเสนอวิงวอนของพระเยซูเจ้าและแม่พระ ขอพระองค์โปรดทรงประทานความสว่างแก่ลูกในการรำพึงในครั้งนี้ เพื่อลูกจะได้รับผลประโยชน์มากมายจากการรำพึงนี้"

            จากนั้น เราจะต้องมอบตัวเราเองแด่แม่พระโดยการสวดบทวันทามารีอา แด่นักบุญโยเซฟ อารักขเทวดา และนักบุญองค์อุปถัมภ์ของเรา

            นักบุญฟรังซิส แห่งซาลส์ กล่าวว่า บทภาวนาเหล่านี้เราจะต้องภาวนาด้วยความร้อนรน แต่ไม่ต้องยืดยาวนัก จากนั้นให้เราเข้าสู่การรำพึงภาวนาเลย


II. การรำพึงภาวนา

            เมื่อเรารำพึงภาวนาเป็นการส่วนตัว เราอาจจะใช้หนังสือประกอบได้ อ่านเพียงสั้น ๆ และหยุดเมื่อรู้สึกว่าสะกิดใจในสิ่งที่อ่าน นักบุญฟรังซิส แห่งซาลส์ กล่าวว่า ให้ทำเหมือนกับผึ้งที่หยุดบนดอกไม้ดอกหนึ่ง ดูดน้ำหวานหมด แล้วจึงค่อยไปที่ดอกอื่น นักบุญเทเรซาใช้หนังสือช่วยในการรำพึงเป็นเวลาถึง 17 ปี ท่านจะอ่านสักเล็กน้อยก่อน จากนั้นก็รำพึงภาวนาในสิ่งที่ท่านได้อ่านมานั้น การรำพึงภาวนาด้วยวิธีเช่นนี้จะเป็นประโยชน์มาก เหมือนกับนกพิราบในขณะดื่มน้ำ เมื่อดื่มเสร็จจะแหงนคอมองขึ้นไปบนท้องฟ้า

            เมื่อเราทำจิตภาวนาเป็นกลุ่ม จะมีคนหนึ่งที่จะอ่านบทรำพึงโดยแบ่งออกเป็นสองตอน ตอนแรกจะอ่านเมื่อเริ่มรำพึงภาวนาภายหลังจากเสร็จภาคการ เตรียมตัว ส่วนบทรำพึงส่วนที่สอง จะอ่านหลังจากครึ่งชั่วโมงผ่านไป หรือหลังจากการเสกศีล หากว่าการรำพึงนั้นทำในระหว่างมิสซา ผู้อ่านบทรำพึงควรอ่านเสียงดัง ช้าและชัดเพื่อให้ทุกคนเข้าใจ

            ให้เราระลึกเสมอว่า ประโยชน์ของการรำพึงภาวนาไม่ได้อยู่ที่การพินิจรำพึง แต่อยู่ที่การแสดงความรู้สึกรัก การวอนขอและข้อตั้งใจ นี่คือผลที่เราจะได้รับจากการรำพึงภาวนา นักบุญเทเรซากล่าวว่า "ความก้าวหน้าทางวิญญาณไม่ได้อยู่ที่การพิจารณามาก แต่อยู่ที่การรักด้วยความร้อนรน และเพราะความรักนี้เองทำให้เราตั้งใจจะทำสิ่งต่าง ๆ มากมายเพื่อพระองค์" ผู้แนะนำวิญญาณหลายท่านกล่าวว่า สำหรับจิตภาวนา การพินิจรำพึงเปรียบได้กับเข็มที่สอยไว้ด้วยด้ายทองคำเพื่อจะร้อย ความรัก การวอนขอ และข้อตั้งใจต่าง ๆ ไว้ด้วยกัน ดังจะอธิบายต่อไปนี้

          1. ความรัก

            ในขณะที่ท่านพินิจรำพึงบทรำพึงและเกิดความรู้สึกที่ร้อนรน ขอให้ท่านยกจิตใจขึ้นหาพระเป็นเจ้าและภาวนาถึงพระองค์ด้วยความสุภาพ ความไว้ใจและขอบพระคุณพระองค์ แต่ที่สุด ขอให้ภาวนาด้ายความเป็นทุกข์ถึงบาปและด้วยความรัก

            การภาวนาแสดงความรัก และแสดงความทุกข์เป็นดังสายโซ่ที่ผูกมัดวิญญาณนั้นไว้กับพระเป็นเจ้า และด้วยความรักอย่างบริบูรณ์นั้นเพียงพอที่จะทำให้บาปต่าง ๆ หมดสิ้นไป "ความรักลบล้างความผิดมากมายได้" (1ปต4:8) พระคริสตเจ้าทรงประกาศว่า พระองค์ไม่อาจจะเกลียดชังวิญญาณที่รักพระองค์ได้เลย "เรารักบรรดาผู้ที่รักเรา" (สภษ 8:17) ครั้งหนึ่งท่านบุญราศี มารี แห่งพระผู้ถูกตรึงกางเขน ได้เห็นภาพนิมิตเป็นรูปลูกโลกที่ล้อมไปด้วยเปลวเพลิง และมีเศษฟางที่ถูกโยนเข้าไปจะถูกเปลวไฟนั้นเผาไหม้จนหมดทันที จากภาพนิมิตนี้เองทำให้ท่านเข้าใจว่า วิญญาณที่รักพระเป็นเจ้าอย่างแท้จริง จะได้รับการยกโทษผิดต่างๆทั้งหมด นอกจากนี้ นักบุญโทมัสยังสอนอีกว่า โดยการแสดงความรักต่อพระเป็นเจ้า เราจะได้รับพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ยิ่งขึ้นไป "กิจการแห่งความรักต่อพระเป็นเจ้าทุกประการทำให้เราได้รับชีวิตนิรันดร์"

การแสดงความรักเราอาจจะภาวนาได้ดังต่อไปนี้

พระเจ้าข้า ลูกรักพระองค์เหนือสิ่งอื่นใด
ลูกรักพระองค์สิ้นสุดจิตใจ
ลูกชื่นชมยินดีในพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์
ลูกปรารถนายิ่งนักที่จะให้ทุกคนรักพระองค์
ลูกปรารถนาในสิ่งที่เป็นน้ำพระทัยของพระองค์
โปรดทำให้ลูกล่วงรู้ถึงน้ำพระทัยของพระองค์ พระองค์ทรงประสงค์ให้ลูกทำสิ่งใด ลูกจะกระทำสิ่งนั้น

โปรดกระทำแก่ลูกตามน้ำพระทัยของพระองค์เถิด

            ในการรำพึงภาวนา ไม่มีการแสดงความรักใดที่เป็นที่พอพระทัยพระเป็นเจ้า เท่ากับการชื่นชมยินดีในพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเป็นเจ้า ความสุขนี้เป็นความสุขที่พระเป็นเจ้าทรงประทานแก่เราในสวรรค์   ดังนั้นเราจึงมีโอกาสได้ชื่นชมในสิ่งที่เราหวังว่าเราจะได้รับในสวรรค์ตั้งแต่ที่เรายังอยู่ในโลกนี้แล้ว

            ให้เรามาพิจารณาถึงคำกล่าวของนักบุญออกัสตินที่ว่า ความทุกข์ทรมานไม่ได้ทำให้ผู้ที่รับทนเป็นมรณสักขี แต่เป็นเพราะเหตุผลที่เขายอมรับทนความทรมานต่างหากที่ทำให้เขาเป็น นักบุญโทมัสสอนว่า ความเป็นมรณสักขีไม่ได้อยู่ที่การรับทรมานและยอมตายเพื่อยืนหยัดในฤทธิ์กุศล เราจึงสรุปได้ว่า ไม่ใช่เฉพาะผู้ที่ยอมรับการทรมานและความตายเพื่อความเชื่อเท่านั้นที่จะเป็นมรณสักขี  แต่เป็นทุกคนที่ยอมตายเพื่อทำตามน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้า และเป็นที่สบพระทัยพระเป็นเจ้า ที่จะเป็นมรณสักขี เพราะการเสียสละตนเองเพื่อทำตามน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้า โดยเห็นแก่ความรักต่อพระองค์นั้น เป็นฤทธิ์กุศลที่น่าสรรเสริญสูงสุด ดังนั้นให้เรามีความตั้งใจที่จะทำตามน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้าเสมอ  ไม่ว่าจะเป็นการยอมรับความตายและความทุกข์ต่าง ๆ หากว่าสิ่งนั้นเป็นไปตามพระญาณสอดส่องของพระเป็นเจ้า ดังตัวอย่างของนักบุญ มักดาเลนา ทุกครั้งที่ท่านสวดบทสิริพึงมี ท่านจะก้มศีรษะลง เหมือนกับว่าพร้อมที่จะรับดาบของเพชฌฆาตเสมอ

            จงระลึกอยู่เสมอว่า เรากำลังกล่าวถึงการรำพึงภาวนา ดังนั้นหากว่าใครที่รู้สึกว่า ในบางครั้งตนเองได้สนิทสัมพันธ์กับพระเป็นเจ้า ได้รับพระคุณพิเศษโดยไม่ได้พินิจรำพึงถึงข้อความเชื่อเลย เขาไม่ควรที่จะคิดสิ่งอื่น นอกจากลิ้มรสความสุขที่พระเป็นเจ้าทรงโปรดประทานให้แก่เขาเป็นพิเศษ เขาควรจะรวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระเป็นเจ้า และไม่จำเป็นที่จะต้องฝืนความรู้สึกเพื่อพินิจถึงข้อรำพึงอื่น ๆ อีกต่อไป เพื่อเขาจะได้ก้าวข้ามขั้นการพินิจรำพึง ไปสู่การแสดงความรักความรู้สึกต่อพระองค์ สำหรับผู้ที่คุ้นเคยกับการรำพึงภาวนาโดยจิตภาวนาแล้ว ควรที่จะอยู่ในอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าที่จะใช้การพินิจรำพึง


        2. การวอนขอ

            ในการรำพึงภาวนา การวอนขอสิ่งต่างๆ จากพระเป็นเจ้า จะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากที่สุดที่เราจะได้จากการรำพึงนั้น  ให้เราวอนขอพระหรรษทาน คือ ความสว่าง ข้อตั้งใจ ความพากเพียร และสิ่งอื่น ๆ จากพระเป็นเจ้า และเหนือสิ่งอื่นใด ให้เราวอนขอความรักอันศักดิ์สิทธิ์จากพระองค์ด้วยความสุภาพถ่อมตนและวางใจ นักบุญฟรังซิส แห่งซาลส์ กล่าวว่า หากเราได้รับความรักจากพระเป็นเจ้า เราก็ได้รับพระหรรษทานทุกประการ เพราะวิญญาณที่รักพระเป็นเจ้าด้วยสิ้นสุดจิตใจจะไม่ทำให้พระเป็นเจ้าเคืองพระทัยแม้แต่น้อย และจะทำให้พระองค์พอพระทัยตลอดเวลา

            เมื่อท่านมีความรู้สึกแห้งแล้งและมืดมนในขณะรำพึงภาวนา ไม่สามารถที่จะรำพึงภาวนาต่อไปได้เลย ขอให้ท่านภาวนาว่า

            "พระเยซูเจ้าข้า โปรดทรงเมตตาต่อข้าพเจ้า โปรดทรงเสด็จมาช่วยเหลือข้าพเจ้า" และการรำพึงภาวนาในสภาพการณ์เช่นนี้จะทำให้ท่านได้รับผลประโยชน์มากมาย

            บุญราศี ปอล เซจเนรี กล่าวไว้ว่า นับแต่ที่ท่านเรียนเทวศาสตร์มา ท่านใช้เวลาระหว่างรำพึงภาวนาในการพินิจรำพึงและแสดงความรักต่อพระเป็นเจ้าแต่ "พระเป็นเจ้าทรงเปิดตาของข้าพเจ้า และทำให้ข้าพเจ้ารู้ว่า ต้องภาวนาวอนขอพระองค์ และหากมีสิ่งใดที่เป็นคุณความดีในตัวข้าพเจ้า ข้าพเจ้าถือว่าสิ่งเหล่านั้นมาจากพระเป็นเจ้า" ท่านจะทำเช่นนี้หรือเปล่า? จงวอนขอพระหรรษทานจากพระเป็นเจ้า ในนามของพระคริสตเจ้า และท่านจะได้รับสิ่งที่ท่านปรารถนา พระสวามีเจ้าทรงสัญญาว่า "เราขอกล่าวแก่ท่านว่า หากท่านขอสิ่งใดจากพระบิดาเจ้า ในนามของเรา พระบิดาเจ้าจะทรงประทานให้ตามที่ท่านวอนขอ"

            จิตภาวนานั้นจะต้องประกอบไปด้วยการภาวนาแสดงความรักและการวอนขอ ดังนั้น บุญราศีมารีแห่งพระผู้ถูกตรึงกางเขน ประกาศในขณะที่เข้าฌานอยู่ว่า จิตภาวนาเป็นดังการหายใจของวิญญาณ เมื่อหายใจเข้า ก็เหมือนกับเราวอนขอพระหรรษทานจากพระเป็นเจ้า และเมื่อเราแสดงความรักต่อพระองค์ก็เป็นดังการหายใจออก

          3. ข้อตั้งใจ

            ก่อนที่จะจบการรำพึงภาวนา เราควรจะมีข้อตั้งใจ เช่นว่า เราจะหลีกเลี่ยงความผิดบกพร่องที่เราทำบ่อย ๆ หรือฝึกฤทธิ์กุศลใดฤทธิ์กุศลหนึ่ง เช่น การอดทนต่อการรบกวนของผู้อื่น การเชื่อฟังอธิการ หรือการทำพลีกรรมบางอย่าง เราจะต้องเสนอข้อตั้งใจนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก จนกว่าเราจะเห็นว่าเราได้ขจัดความบกพร่องประการนั้นหรือฝึกฤทธิ์กุศลประการนั้นได้แล้ว หลังจากกำหนดข้อตั้งใจแล้วให้หาโอกาสนำมาปฏิบัติทันที และก่อนที่จะจบการรำพึง เราควรจะรื้อฟื้นคำปฏิญาณหรือสัญญาที่ได้ทำไว้กับพระเป็นเจ้า การรื้อฟื้นนี้จะเป็นที่พอพระทัยของพระเป็นเจ้า ทำให้เราได้รับพระคุณ ทำให้เรามีความพากเพียรและก้าวหน้าในพระหรรษทาน


III. การลงท้ายการรำพึง

             การลงท้ายการรำพึงประกอบด้วยสามส่วนดังนี้

            1. ขอบคุณพระเป็นเจ้าสำหรับความสว่างที่พระองค์ทรงโปรดประทานให้

            2. แสดงความตั้งใจที่จะทำตามข้อตั้งใจให้สำเร็จ

            3. วอนขอพระหรรษทานจากพระเป็นเจ้า เพื่อเราจะมีความซื่อสัตย์ต่อพระองค์เสมอไป ให้เราวอนขอโดยอาศัยพระเยซูเจ้าและแม่พระ

             เมื่อจะจบการรำพึงภาวนา ขอให้เราอย่าลืมฝากวิญญาณในไฟชำระและคนบาปไว้ในการดูแลของพระเป็นเจ้า นักบุญยอห์น คริสซอสโตม กล่าวว่า ไม่มีสิ่งใดที่จะแสดงความรักที่เรามีต่อพระคริสตเจ้าได้ร้อนรน เท่ากับการฝากบรรดาพี่น้องของเราไว้ในความดูแลของพระองค์

นักบุญฟรังซิส แห่งซาลส์ กล่าวว่า เมื่อจะจบการรำพึงภาวนา ให้เรานำดอกไม้ติดตัวเราไปด้วย เพื่อเราจะได้กลิ่นดอกไม้นั้นตลอดวัน และเตือนให้เราระลึกถึงการรำพึงภาวนาของเรา เพื่อเราจะได้ร้อนรนตลอดวันนั้น

            บทอุทานสั้น ๆ ซึ่งพระเป็นเจ้าทรงพอพระทัยยิ่งนักก็คือ บทอุทานแห่งความรัก ความตั้งใจดีและการถวายตัวเราแด่พระองค์ ขอให้เราอย่าได้ลงมือทำการใดโดยไม่ได้มอบถวายกิจการนั้นแด่พระเป็นเจ้าก่อน และอย่าให้เวลาแม้สักสิบห้านาทีผ่านไปโดยที่เราไม่ได้ยกจิตใจขึ้นหาพระเป็นเจ้า นอกจากนั้น ในเวลาที่เราว่างจากการงาน เช่น ขณะที่รอนัด เดินเล่นในสวน หรือนอนป่วยอยู่บนเตียง ให้เราร่วมจิตใจของเราเป็นหนึ่งเดียวกับพระเป็นเจ้า ความเงียบสงบก็มีความจำเป็นมาก เราจะรักษาความรู้สึกที่ดีที่เราได้รับในระหว่างการรำพึงภาวนาได้ โดยอาศัยความเงียบสงบและการระลึกถึงการประทับอยู่ของพระเป็นเจ้า

 

book

จิตภาวนา 06 การรำพึงแบบจิตภาวนา