คำสอน
"การพิจารณาไตร่ตรอง"
(Catechesis on Discernment)
"การพิจารณาไตร่ตรอง"
(Catechesis on Discernment)
Discernment 14: สรุปบทสอนของพระสันตะปาปาฟรังซิส
1. ความหมายของการพิจารณาไตร่ตรอง
การพิจารณาไตร่ตรองคือการตัดสินใจซึ่งเกี่ยวข้องกับความหมายและวิถีของชีวิต ในพระวรสารพระเยซูเจ้าทรงใช้นิทานเปรียบเทียบเรื่องชาวประมงและพ่อค้า เพื่อชี้สอนให้เราเห็นความสำคัญของการเลือกอย่างชาญฉลาดเพื่อที่เราจะดำรงชีวิตตามน้ำพระทัยของพระเจ้า การพิจารณาไตร่ตรองที่แท้จริงเรียกร้องให้เราใช้ความรู้ที่อยู่ภายในและประสบการณ์ชีวิต รวมถึงปรีชาญาณของหัวใจ ความตั้งมั่น และความพยายามอย่างไม่หยุดหย่อน เป็นวิถีปฏิบัติแห่งเสรีภาพที่พระเจ้าทรงประทานให้เรา การพิจารณาไตร่ตรองฝ่ายจิตวิญญาณจะนำเราเข้าสู่แผนการของพระผู้สร้าง เพราะพระองค์ทรงเตรียมแผนการนี้ไว้ให้พวกเราแล้วในโลกใบนี้ ไม่ว่าเราจะเลือกกระทำสิ่งดีหรือชั่วร้ายย่อมส่งผลต่อโลก เราสามารถสร้างโลกใบนี้ให้เป็นสวนอันสวยงามหรือเป็นทะเลทรายอันไร้ชีวิต การพิจารณาไตรตรองที่แท้จริงยังเกิดขึ้นจากสายสัมพันธ์แห่งความรักที่มนุษย์มีต่อพระเจ้า และด้วยเจตจำนงนี้เราจึงมีความสุขลึกภายในและได้รับการเติมเต็มจากพระองค์ ให้เราวอนขององค์พระจิตเจ้าเพื่อแสงสว่างอันนี้ และทรงนำพาเราเข้าสู่ชีวิตอันศักดิ์สิทธิ์ในทุกๆวัน เปี่ยมด้วยพระปรีชาญาณ และความมั่นใจในพระวรสาร ที่มอบความรอดและความจริงให้กับพวกเรา
2. แบบอย่างของนักบุญอิกญาซิโอแห่งโลโยลา
ในยามที่ท่านนักบุญยังเป็นทหารหนุ่มท่านได้รับบาดเจ็บจากการรบในสงคราม ในช่วงของการพักฟื้น ท่านไม่สามารถอ่านหนังสือนิยายเกี่ยวกับการรบพุ่งและเรื่องราวของบรรดาวีรบุรุษได้ ท่านจึงจำใจอ่านแต่ประวัติชีวิตของบรรดานักบุญ แม้จะปรารถนาในช่วงแรก แต่ในยามที่ได้อ่านมัน ท่านกลับพบความสุขที่ยั่งยืนในใจของท่าน แม้เรื่องราวในนิยายจะสนุกเร้าใจ แต่กลับมีความแห้งแล้งและทิ้งไว้เพียงความว่างเปล่าในใจ ท่านนักบุญจึงได้ใช้ประสบการณ์นี้สอนเราเรื่องของการพิจารณาไตร่ตรองและการสวดภาวนาในวิถีของ “การฝึกจิตวิญญาณ” (Spiritual Exercise) อันมีชื่อเสียงของท่าน ท่านนักบุญพร่ำสอนให้เรารู้จักการแยกแยะระหว่างความคิดฝ่ายโลกและฝ่ายวิญญาณ การบ่มเพาะฝ่ายจิตวิญญาณทำให้เราเติบโตอย่างเป็นผู้ใหญ่ได้ในหัวใจของเรา ทั้งนี้ด้วยพระหรรษทานที่เราได้รับจากพระเจ้า และในช่วงเวลาแห่งวิถีทางอันนี้ เราจึงได้พิจารณาไตร่ตรองได้โดยการอธิฐานภาวนา และโดยไม่อาจคาดเดาได้ พระเจ้าจะทรงประทานสัญญาณของพระองค์แก่พวกเรา เพื่อนำเราสู่การกลับใจ และรับรู้ถึงน้ำพระทัยของพระองค์ในชีวิต
3. ปัจจัยการพิจารณาไตร่ตรอง “ความคุ้นเคยกับพระเจ้า”
ปัจจัยที่สำคัญนี้คือ “การภาวนา” การภาวนาไม่ใช่เป็นการฝึกเชาว์ปัญญาแต่อย่างเดียว แต่รวมไปถึงการใช้หัวใจและความรู้สึก โดยการอธิฐานภาวนาเราสามารถสนิทชิดใกล้ เป็นอย่างมิตรสหายกับองค์พระผู้เป็นเจ้า ทำให้เรามีความเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้น ทำให้เราเข้าใจและยอมรับน้ำพระทัยของพระองค์ เพราะมีเพียงน้ำพระทัยนี้แหละที่จะทำให้เรามีความสุขสันต์อย่างแท้จริง แต่การผจญล่อลวงและอุปสรรคของชีวิตฝ่ายจิตย่อมเกิดขึ้นได้จากความกลัวที่ว่า ถ้าเราปฏิบัติตามน้ำพระทัยนี้จะทำให้เราไร้ความสุขและไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต การภาวนาช่วยให้เราเอาชนะความกลัวนี้ได้ แม้ในยามที่เราอยู่ในความทุกข์ยากและถูกทดลอง หากสวดภาวนาแล้วหัวใจของเราก็จะมีความสุขลึกในระดับของวิญญาณ ผลของการอธิฐานภาวนาทำให้เราสามารถพิจารณาไตร่ตรองถึง “แสงอันอ่อนโยน” ที่ส่องเข้าในสติปัญญาและในหัวใจ ด้วยความสนิทสัมพันธ์กับองค์พระเจ้าในทุกๆวัน ทำให้เราเป็นธรรมชาติมากขึ้นต่อการปฏิบัติตามน้ำพระทัยของพระองค์ในชีวิต ทำให้เราเข้าสู่สันติและได้รับการเติมเต็มในชีวิตอย่างแท้จริง
4. ปัจจัยการพิจารณาไตร่ตรอง “การรู้จักตนเอง”
เราจำเป็นต้องรู้จักตนเองให้มากขึ้น แม้มันจะไม่ง่ายเลย เพราะเราต้องอาศัยความสัตย์ซื่อและความอดทนในการเดินทางเข้าสู่สวนลึกของหัวใจ แต่การรู้จักตนเองนี้กลับเป็นผลิตผลของพระหรรษทานของพระเจ้า ทำให้เราขจัดมายาคติต่างๆ ให้เรารับรู้ว่าเราเป็นใครจริงๆ จนสามารถโอบกอดสิ่งที่จะนำความสุขในชีวิตอย่างที่เป็นจริง ด้วยเหตุนี้ เราจำต้องเรียนรู้ “รหัสผ่าน” ของเราแต่ละคน ที่ช่วยเปิดประตูสู่ความลึกซึ้งของตัวตนของเรา เป็นเพียงหนทางเดียวที่จะนำความสุขสันต์และการเติมเต็ม เป็นการตอบต่อน้ำพระทัยของพระเจ้า การสวดภาวนาและการพิจารณาไตร่ตรองเป็นวิถีที่เราปฏิบัติมาแล้วอย่างเนิ่นนานของพระศาสนาจักร รวมไปถึงการพิจารณามโนธรรม และโดยการสวดอยู่ทุกวัน เราจะรับรู้เองได้ว่าพระเป็นเจ้าทรงมีแผนการอะไรสำหรับเรา สิ่งนี้คือความสุขสันต์ของศักดิ์ศรีแห่งความเป็นลูกรักของพระบิดาในสวรรค์ และเราก็มีอิสรภาพอย่างแท้จริง
5. ปัจจัยการพิจารณาไตร่ตรอง “ความปรารถนา”
หัวใจของมนุษย์ทุกคนล้วนมีความปรารถนาถึงความสุขและการได้รับการเติมเต็ม สำหรับการฝึกฝนฝ่ายจิตตามธรรมเนียมคริสตชน ความปรารถนาในหัวใจ เป็นหลักฐานของส่วนลึกความโหยหาความสงบสุขจากองค์พระผู้เป็นเจ้า เพราะมีเพียงพระองค์ผู้เดียวที่สามารถประทานให้ได้ ความปรารถนาอันนี้นำเราสู่จุดหมายอันสูงสุด ที่จะแสวงหาและมีความเชื่อมั่นในพระสัญญาของพระองค์ เราจะพบกับความเข้มแข็งและความพากเพียรแม้อยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก เราสามารถเสียสละได้อย่างมีความสุข พึงกระทำทุกสิ่งตามน้ำพระทัยของพระองค์ ดั่งเช่นตัวอย่างในพระวรสารนักบุญมาระโก (มก. 10,51) พระเยซูจะทรงสอบถามเขาอยู่เสมอในยามที่พวกเขาร้องขออัศจรรย์จากพระองค์ การอธิฐานภาวนาควรจะเป็นเช่นการพูดคุยกับพระเจ้า แสดงถึงความปรารถนาจากส่วนลึกของจิตใจ เพื่อเราจะได้มีส่วนร่วมในชีวิตอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า มีชีวิตอย่างเปี่ยมสุขและได้รับการเติมเต็มอย่างเป็นนิรันดร์
6. ปัจจัยการพิจารณาไตร่ตรอง “หนังสือแห่งชีวิตของเรา”
การอ่านหนังสือแห่งชีวิตของเราทำให้เราสามารถตีความและเล็งเห็นแสงสว่างแห่งพยานสอดส่องของพระเจ้าได้ โดยการภาวนาและความเข้าใจฝ่ายจิต เราได้เรียนรรู้การพิจารณาไตร่ตรองถึงสายใยของพระหรรษทานที่เชื่อมต่อในชีวิตของเรา การขุดคุ้ยเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ส่วนตน ทำให้เราตระหนักถึงอคติเชิงลบที่อาจะเป็นอันตราจต่อการเติบโตของชีวิตฝ่ายใจ เช่นเดียวกัน เราได้เปิดตารับรู้ถึงบางสถานการณ์ที่ซ่อนอยู่ แต่กลับเป็นแผนการของความรักของพระเจ้าที่มีต่อเราสำหรับความสุขนิรันดร เฉกเช่นในประวัติของบรรดานักบุญ ในหนังสือ “คำสารภาพ” ของนักบุญอกุสติน ท่านได้แบ่งปันประสบการณ์นี้ ท่านเข้าใจอย่างทราบซึ้งถึงการทำงานของพระเจ้าที่โปรดนำท่านสู่ความจริง ท่านได้ค้นพบและโอบกอดมันไว้ เป็นความจริงที่ปลอบประโลมใจเติมเต็มความปรารถนาของส่วนลึกของหัวใจ นักบุญอิกญาซิโอก็เช่นกัน ด้วยการนำพาฝ่ายจิตวิญญาณ ท่านได้พบหนทางแห่งการกลับใจ และท่านเองได้สอนพวกเราให้รู้จักพิจารณาไตร่ตรองถึงพระสุรเสียงของพระเจ้า พระองค์ทรงตรัสในส่วนลึกในใจของเรา ทรงนำพวกเราทุกย่างก้าวของชีวิต และทรงเรียกเราให้มีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับพระองค์
4. หัวข้อของการพิจารณาไตร่ตรอง “ความเปล่าเปลี่ยวใจ”
บรรดาผู้นำฝ่ายจิตวิญญาณต่างเรียก “ความเปล่าเปลี่ยวใจ” ว่าเป็นช่วงเวลาที่เราสัมผัสกับความมืดมนฝ่ายจิตวิญญาณ ทำให้หัวใจของเราไม่สงบ รู้สึกว่าอยู่ห่างไกลจากพระเจ้า ไร้ซึ่งความบรรเทาแห่งความเชื่อศรัทธา แต่เราจำต้องเผชิญมืดมนฝ่ายจิตอันนี้ หากเราต้องการที่จะเติบโตในชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณ เพื่อที่เราจะได้พิจารณาไตร่ตรองได้ว่า พระเป็นเจ้าทรงปรารถนาตรัสสิ่งใดผ่านทางประสบการณ์นี้ ในเวลาแห่งความเปล่าเปลี่ยวใจนี้ แม้เราถูกฉุดจมลึกในบาปผิดของตน เราเองก็จะได้เปิดรับความรักและการให้อภัยจากพระเจ้าให้มากขึ้นเช่นกัน นักบุญโทมัสเปรียบเปรยว่า วิญญาณก็เป็นเช่นร่างกาย มีอาการเจ็บปวดได้เช่นกัน แต่ความเจ็บปวดนี้มีประโยชน์ต่อสุขภาวะของเราเองเช่นกัน และความเปล่าเปลี่ยวใจนี้ก็ดีต่อสุขภาวะของวิญญาณ ความเปล่าเปลี่ยวใจก็อาจส่งผลต่อการสวดภาวนาและวิถีชีวิตของคริสตชน บรรดาอาจารย์ฝ่ายจิตวิญญาณได้เตือนเราไม่ให้แพ้การประจญนี้ หากแต่จงมีความพากเพียร กอรปกับความเชื่อมั่นคงว่าเราจะฝ่ายบททดสอบนี้ไปได้ เพื่อเราจะได้เข้าใจแผนการของพระองค์ในชีวิตเขาเราได้ดียิ่งขึ้น เราเองก็จะมีพระหรรษทานแห่งความเชื่อ ความหวัง และความรักอันลึกซึ้งเช่นเดียวกัน
8. เหตุใดเราถึงต้องรู้สึกเปล่าเปลี่ยวใจ
ประสบการณ์ของความเปล่าเปลี่ยวใจทำให้หัวใจของเราไม่สงบและรู้สึกไม่พอใจ ความจริงแล้วสิ่งนี้เป็นความท้าทายของการเติบโตฝ่ายจิตวิญญาณ เป็นสิ่งจูงใจ รวมถึงความพึงพอใจที่เราจะประสบภายหลังบททดสอบนี้ เช่นเดียวกับนักบุญอกุสติน เพราะความไม่สงบภายในเช่นนี้ส่งต่อให้ท่านได้กลับใจด้วยสุดจิตสุดใจอย่างลึกซึ้ง ประสบการณ์แห่งความเปล่าเปลี่ยวใจนี้ได้เปิดตาของเราสู่โลกทัศน์ใหม่ ทำให้เราพอใจกับสิ่งที่เป็นที่มีอยู่ ซึ่งบางทีเราไม่เคยคุณค่าของมัน เป็นแรงกระตุ้นให้เราแสวงหาความสงบ ปรารถนาความสนิทสัมพันธ์กับองค์พระคริสต์มากขึ้น เพราะพระองค์ไม่ทรงประทานความบรรเทาใจแก่เราเท่านั้น พระองค์ยังทรงท้าทายให้เราติดต่อพระองค์อย่างเป็นผู้ใหญ่ ในฐานะสานุศิษย์ของพระองค์ ความเปล่าเปลี่ยวใจทำให้เรารู้สึกว่าต้องภาวนาให้มีความลึกซึ้งมากขึ้น ใกล้ชิดพระให้มากยิ่งขึ้น และมั่นใจในพระสัญญาของพระองค์ให้มากขึ้นเช่นกัน
9. ความบรรเทาใจ
ความบรรเทาใจคือความรู้สึกอย่างลึกซึ้งถึงความสุขสันต์ภายใน เป็นพระหรรษทานของพระจิตเจ้าที่ทำให้เราสัมผัสถึงความปลอบโยนใจจากพระเจ้า สัมผัสถึงการประทับอยู่เสมอของพระองค์ในชีวิตของเรา พระองค์คอยปกป้องคุ้มครองเราในทุกๆสิ่ง แม้ในยามที่ยากลำบากและถูกทดลอง นักบุญอิกญาซิโอเปรียบเทียบความรู้สึกนี้เช่นหยดน้ำบนผิวของฟองน้ำ ที่ค่อยๆซึมลึกอย่างเงียบๆ พระเจ้าทรงเคารพต่อเสรีภาพของมนุษย์ พระองค์จะทรงยืนยันความเชื่อและความหวัง และความมั่นใจในความรักอันทรงชีวิตของพระองค์ เฉกเช่นนักบุญอิกญาซิโอ อีดิธสไตน์ และนักบุญเทเรซาแห่งพระกุมารเยซู พวกเขาได้รับความบรรเทาใจ ซึ่งไม่ใช่แค่สันติภาพในหรือความมั่นใจในชีวิต แต่พวกเขาได้รับพละกำลังในการกระทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ในชีวิต เพื่อเป็นการรับใช้องค์พระผู้เป็นเจ้า สิ่งที่ยืนยันว่าเราได้รับการบรรเทาใจที่แท้จริงจากองค์พระเจ้าคือความสงบสุข ผลิตผลที่ก่อเกิดในชีวิตและสันติสสุขอันยืนหยัดมั่นคง เราจำเป็นต้องแยกแยะระหว่างความบรรเทาใจที่เป็นของจริงและของปลอม ความรู้สึกปลอมๆนี้จะเป็นแบบผิวเผิน มันแค่ทำให้ความความรู้สึกพอใจ นักบุญเบอร์นาร์ดจึงเตือนเราว่า สำหรับเรามนุษย์ที่กำลังอยู่บนวิถีทางของชีวิตฝ่ายจิต เรามักจะแสวงหา “ความบรรเทาใจ” จากพระเจ้า แต่ละเลยที่จะแสวงหา “พระเจ้า” แห่งความบรรเทาใจ (เพราะอาจมีพระเท็จเทียมที่อาจจะทำให้เรารู้สึกสบายใจประเดี๋ยวประด่าว)
10. ความบรรเทาใจที่แท้จริง
ความบรรเทาใจคือความรู้สึกอย่างลึกซึ้งถึงความสุขสันต์ภายใน เป็นพระหรรษทานของพระจิตเจ้า ทำให้เราสัมผัสถึงความปลอบโยนใจจากพระเจ้าที่พระองค์ทรงประทับอยู่เสมอ และคอยปกป้องคุ้มครองเราในทุกๆสิ่ง แม้ในยามที่ยากลำบากและถูกทดลอง ความบรรเทาใจที่แท้จริงเป็นผลผลิตของพระหรรษทานศักดิ์สิทธิ์ นำพาเราเข้าสู่การเติบโตของความรักต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ ช่วยให้เราพิจารณาไตร่ตรองถึงน้ำพระทัยของพระเจ้าในชีวิตของเรา ยังช่วยให้เราดำเนินชีวิตฝ่ายจิตได้ต่อเนื่องร่วมไปถึงกิจการแห่งความรักต่อเพื่อนมนุษย์ นักบุญอิกญาซิโอได้กล่าวถึงการภาวนาที่แท้จริงว่าต้องผลิดอกออกผลในทุกๆช่วงตอนของชีวิต ในช่วงแรก ช่วงกลางและช่วงสุดท้าย และเพื่อที่จะเข้าใจถึงผลของการสวดภาวนา เราจำต้องระลึกถึงการประจญที่อาจแทรกเข้ามาอย่างที่เราไม่รู้ตัว มันจะคอยหลอกลวงเรา และพยายามด้อยค่าคุณงามความดีที่ยิ่งใหญ่กว่าของพระผู้เป็นเจ้า สิ่งที่จะช่วยให้เราไตร่ตรองถึงความบรรเทาใจที่แท้จริงคือ “การพิจารนามโนธรรมในทุกๆวัน” เพราะจะช่วยชำระหัวใจและความคิดของเราให้บริสุทธิ์ ช่วยเปิดใจของเราสู่น้ำพระทัยของพระเจ้าในชีวิต เพื่อให้เราได้เติบโตในความศักดิ์สิทธิ์และสนิทสัมพันธ์กับพระองค์ยิ่งๆขึ้น
11. สิ่งที่เป็นการยืนยันว่า เราได้ตัดสินใจได้อย่างดี
สิ่งใดคือสัญญาที่ยืนยันว่าเราได้ตัดสินใจได้อย่างชอบธรรมและถูกต้อง คำตอบประการหนึ่งที่สำคัญก็คือ ผลทดสอบแห่งกาลเวลา เพราะการติดสินใจที่สุขุมทำให้เรามีความสงบที่ยั่งยืนนาน ชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณจึงมีวัฏจักรเช่นนี้ การติดสินใจเป็นผลจากเสรีภาพภายใน เกิดจากหัวใจที่เปิดรับน้ำพระทัยของพระเจ้าซึ่งจะนำมาแต่คุณงามความดี ความสอดคล้องกลมกลืนในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงในหน้าที่การงานและความสัมผัสกับคนอื่นๆ แต่ยังมีสัญญาณที่สำคัญไปกว่านั้นที่บ่งบอกว่าเราได้ตัดสินใจได้อย่างถูกต้องแล้วก็คือ เราได้ทำการเลือกด้วยหัวใจอิสระอย่างแท้จริงในความรักต่อพระเจ้า กอปรกับความกตัญญูตาต่อพระหรรษทานของพระองค์ในชีวิต ยิ่งเราตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง เรายิ่งจะมีความสงบภายใน รู้สึกว่าชีวิตมีระเบียบและมีเป้าหมาย เราเห็นสิ่งนี้ได้จากบทสอนในพระคัมภีร์และในชีวิตของบรรดานักบุญ พวกเขาเป็นประจักพยานในความยำเกรงพระเจ้าและความเชื่อมั่นว่าชีวิตของพวกเขาอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ และเสรีภาพของมนุษย์จะได้รับการเติมเต็มอย่างที่สุดเมื่อพวกเราได้ไว้ความเชื่อฟังไว้ในน้ำพระทัยของพระองค์
12. การตื่นเฝ้า
ในคำสอนเรื่องการพิจารณาไตร่ตรอง เราได้คุยกันเรื่องปัจจัยต่างๆ เช่น การภาวนา การรู้จักตนเอง ประสบการณ์ฝ่ายจิตวิญญาณ และสัญญาณต่างๆ ที่ยืนยันว่าเราได้ตัดสินใจได้อย่างถูกต้องแล้ว ท่าทีเช่นนี้ที่จะช่วยนำทางเราตลอดกระบวนการพิจารณาไตร่ตรองอยู่เสมอ และเราต้องรักษามันไว้อยู่เสมอ การรักษาท่าทีเช่นนี้เรียกว่า “การตื่นเฝ้า” เป็นพระเยซูเจ้าเองที่ทรงเตือนลูกศิษย์ของพระองค์ให้เฝ้าระวังเหล่าศัตรูที่คอยทำให้เราไขว้เขวและคอยทำลายทุกสิ่งที่เราได้พยายามไปอย่างหมดสิ้น พระองค์ยกตัวอย่างของจิตชั่วร้ายที่เจ้าบ้านได้ขับไล่มันไป แต่มันกลับมาพบว่าบ้านนั้นว่างเปล่าและสะอาดเอี่ยมออง เพราะเจ้าของบ้านไม่อยู่ มันจึงพาพรรคพวกมาอีกเจ็ดตน เฉกเช่นกับเจ้าของบ้านที่ประมาทเลินเล่อ บางทีเราก็ละเลยที่จะเฝ้าระวังบ้านของเรา ไม่ได้ทำให้ใจของเราสะอาดเพียงพอเพื่อสำหรับพระหรรษทานของพระเจ้า เราคิดเออออไปเองว่าปลอดภัย เปิดประตูบ้านให้สิ่งชั่วร้ายเข้ามาสิงสู่ จนพบว่าสถานการณ์นี้ย่ำแย่ไปกว่าเดิม (เทียบ ลก. 12,45) ในการฝึกฝนการพิจารณาไตร่ตรองฝ่ายจิต เราต้องต้องมีท่าทีของการตื่นเฝ้า ท่าทีนี้คือสัญญาณของปรีชาญาณฝ่ายจิต เป็นหัวใจที่มีความสุภาพถ่อมตามแบบชีวิตคริสตชน
ส่งท้าย
เราได้มาถึงบทสรุปของคำสอนเรื่องการพิจารนาไตร่ตรองฝ่ายจิต เราได้ค้นพบตัวช่วยต่างๆเพื่อเราจะสามารถค้นพบน้ำพระทัยของพระเจ้าเพื่อการดำรงชีวิตและความสุข เราเริ่มด้วยการอ่านพระวาจาของพระเจ้า พร้อมไปกับคำสอนของพระศาสนจักร จงสวดภาวนาอย่างเงียบๆ เพื่อให้พระวาจานี้ช่วยเราให้สัมผัสถึงการประทับอยู่ของพระองค์ สดับรับฟังเสียงของพระ รับรู้ถึงความปรารถนาที่อยู่ส่วนลึกสุดใจของพวกเรา ด้วยวิธีการเช่นนี้ เราสามารถเติบโตในความรักและความสนิทกับพระเยซูเจ้า เป็นพระองค์เองที่มอบหลักประกันถึงความรักและเมตตาของพระบิดาเจ้า โดยการสิ้นพระชนม์พระองค์ทรงแสดงให้เราเห็นถึงพลังที่จะนำชีวิตให้แยกออกจากความตาย นำคุณงามความดีให้แยกออกจากความชั่วร้าย ความเป็นมิตรสหายกับพระเยซูคริสต์และความเชื่อมั่นในการนำของพระองค์นี้เป็นพระหรรษทานของพระจิตเจ้า พระจิตทรงดำรงอยู่ในหัวใจของเราและทรงช่วยเราให้พิจารนาไตร่ตรองในทุกๆขั้นตอน ทุกครั้งที่เราสวดทำวัตรเราจะขอองค์พระจริงทรงช่วยเรา ความเชื่อมั่นในความช่วยเหลือของพระองค์นี้ ทำให้เราสามารถที่จะเรียนรู้การพิจารนาไตร่ตรองได้อย่างสุขมรอบคอบ เพื่อที่จะเลือกหนทางที่นำเราไปสู่พระบิดาเจ้า และเพื่อตอบสนองต่อของพระประทานแห่งความรักของพระองค์ในทุกๆวัน นั่นก็คือความรอดนิรันดรนั่นเอง
Discernment 14: สรุปบทสอนของพระสันตะปาปาฟรังซิส
Discernment 13: พระวาจา และพระจิตเจ้า
- Discernment 01: ความหมายของ “การพิจารณาไตร่ตรอง”
- Discernment 02: แบบอย่างของนักบุญอิกญาซิโอ แห่งโลโยลา
- Discernment 03: ปัจจัยของการพิจารณาไตร่ตรอง ความคุ้นเคยกับองค์พระเจ้า
- Discernment 04: ปัจจัยของการพิจารณาไตร่ตรอง การรู้จักตัวเอง
- Discernment 05: ปัจจัยของการพิจารณาไตร่ตรอง ความปรารถนา
- Discernment 06: ปัจจัยของการพิจารณาไตร่ตรอง หนังสือแห่งชีวิตของตน
- Discernment 07: หัวข้อของการพิจารณาไตร่ตรอง ความเปล่าเปลี่ยวใจ