คำสอน
"การพิจารณาไตร่ตรอง"
(Catechesis on Discernment)
"การพิจารณาไตร่ตรอง"
(Catechesis on Discernment)
Discernment 10: ความบรรเทาใจที่แท้จริง
10. ความบรรเทาใจที่แท้จริง
(The True Consolation)
ปาฐกถาโดยพระสันตะปาปาฟรังซิส วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน 2022
ถอดความโดย คพ. วรวุฒิ สารพันธุ์ C.Ss.R.
อรุณสวัสดิ์พี่น้องชายหญิงทุกท่าน
เรามาศึกษากันต่อในเรื่องการพิจารณาไตร่ตรอง โดยเฉพาะในหัวข้อของการฝึกฝนฝ่ายจิตคือ “ความบรรเทาใจ” พุธที่แล้วเราคุยกันว่าความบรรเทาใจใดเป็นความจริงแท้และแบบไหนที่เป็นสิ่งหลอกลวง นับเป็นคำถามที่สำคัญต่อการพิจารณาไตร่ตรอง
เราสามารถพบเงื่อนไขดังกล่าวได้จากจากข้อเขียนของนักบุญอิกญาซิโอ ในหนังสือการฝึกฝนชีวิตฝ่ายจิตของท่าน ท่านนักบุญได้เขียนไว้ว่า “เราควรที่จะพินิจถึงวิถีแห่งความคิดของเราออกเป็นสามช่วง ช่วงแรกเริ่ม ช่วงกลางๆ และในตอนท้ายๆ ถ้าวิถีแห่งความคิดนี้ยังคงงดงามและยังคงโน้มนำเราไปสู่คุณงามความดี นับได้ว่าเป็นสัญญาณที่มาจากทูตสวรรค์ฝ่ายดี ตรงข้ามวิถีแห่งความคิดที่พาเราไปสู่ความชั่วร้ายในตอนท้าย ทำให้เรารู้สึกสับสน หรือไม่เป็นคุณประโยชน์ใดๆต่อวิญญาณที่พึงจะได้รับ (คุณประโยชน์ที่ว่าคือชีวิตนิรันดรและความรอดฝ่ายวิญญาณ) แม้กระทั่งทำให้วิญญาณของเราอ่อนแรงลง ไม่สงบนิ่ง และไร้ซึ่งสันติภายในอย่างที่เคยเป็น สิ่งนี้เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่า มันเกิดจากจิตชั่วร้าย ผู้เป็นอริศัตรูของเรา” (ข้อที่ 333) ความจริงก็คือ มีทั้งความบรรเทาใจที่เป็นของแท้และของเทียม จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น ที่จะต้องทำความเข้าใจกระบวนการของความบรรเทาใจนี้ ว่ามาจากที่ใดและจะนำพวกเราไปสู่ที่ไหน? เพราะถ้ามันนำเราไปสู่ความผิดพลั้ง ก็นับว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี พูดได้เลยว่า มันเป็นความบรรเทาที่จอมปลอม
ที่พ่อได้กล่าวมาขั้นต้น คือตัวชี้วัดและเป็นข้อชี้แนะอย่างสั้นๆ แล้ว “ความโน้มเอียงไปสู่คุณงามความดี” นั้นหมายถึงอะไร? นักบุญอิกญาซิโอพยายามอธิบายความบรรเทาใจที่ดี ตัวอย่างเช่น ฉันปรารถนาที่สวดภาวนา และฉันระลึกได้ว่า การภาวนานำพาฉันไปสู่ความสนิทสัมพันธ์กับพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ เป็นผลทำให้ชีวิตของฉันมีความเมตตาและความรัก ในทางตรงข้าม หลังจากสวดภาวนาแล้ว ฉันเริ่มมีความคิดที่จะลีกหนีจากงานหรือความรับผิดชอบที่ฉันได้รับ ฉันอยากไปสวดมากกว่าที่จะไปล้างถ้วยชามหรือทำงานบ้าน พ่อพบว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นในบ้านนักบวช จงหมั่นสวดภาวนาและอย่าหนีจากหน้าที่การงานของตน เพราะการสวดภาวนาจะส่งเสริมหน้าที่การงานและความรับผิดชอบของเรา นี้เป็นเพียงช่วงเริ่มต้นเท่านั้น
นักบุญอิกญาซิโอกล่าวไว้ว่า ในช่วงเริ่มแรก ช่วงกลางและในตอนท้ายของวิถีแห่งความคิดของเรา ทุกอย่างต้องดีงาม อาจจะเริ่มต้นด้วย... ฉันปรารถนาการสวดภาวนา แม้ฉันจะไม่อยากล้างถ้วยชามแต่ฉันจะทำมันพร้อมกับมีเวลาสวดภาวนาด้วยเช่นกัน ในช่วงกลาง... สิ่งที่เกิดขึ้นและตามมาจากตัวอย่างในช่วงเริ่มต้น เราอาจจะเป็นอย่างฟาริสีในพระวรสารของนักบุญลูกา (ลก. 12,9-14) ฉันรู้สึกพึงพอใจในตนเองและเริ่มที่จะดูถูกคนอื่นๆ วิญญาณดวงนี้อาจจะกำลังกริ้วกราดและมีความปวดร้าว ปีศาจใช้สิ่งนี้เป็นเสมือนกุญแจเข้ามาในจิตใจของฉัน ทำให้ฉันมีความรู้สึกแย่ๆ เพราะในยามที่ฉันสวดภาวนาและมักจะคิดเสมอว่า “ลูกขอบคุณพระองค์ เพราะในยามที่ลูกสวดภาวนา ลูกไม่เป็นเหมือนคนอื่นๆ พวกเขาไม่ยอมแสวงหาพระองค์ คนพวกนี้ไม่ยอมสวดภาวนาเหมือนลูก” คำภาวนาเช่นนี้จบอย่างไม่สวยงาม แม้เราจะได้รับความบรรเทาใจ รู้สึกอิ่มเอิบ แต่มันเป็นเสมือนนกยูงที่กำลังโอ้อวดรำแพงหางของมันต่อพระพักตร์ของพระเจ้า ช่วงกลางเช่นนี้ไม่ดีเลยจริงๆ
และในช่วงท้ายๆก็เช่นกัน เราควรถามตนเองอยู่บ่อยๆว่า ความคิดเช่นนี้มาจากไหนกัน? อาทิเช่น หลังที่ฉันสวดภาวนาเสร็จแล้ว ฉันมีความคิดเช่นไร? หรือ ฉันพยายามทำงานหนักเพื่อพิสูจน์ตนเองว่ามีคุณค่า ฉันมีงานยุ่งจนไม่มีเวลาสวดภาวนา ฉันกลับรู้สึกว่าตนเองมีความก้าวร้าวและมีอารมณ์ฉุนเฉียวอยู่ตลอดเวลา ฉันรู้สึกว่าภาระทุกอย่างตกอยู่ที่ฉัน ฉันเริ่มขาดความเชื่อมั่นต่อองค์พระเจ้า นี้คือสิ่งที่พ่อได้อธิบายอย่างชัดเจนแล้วว่า มันเป็นผลงานของผีปีศาจ ทำให้เราเกิดความคิดต่างๆนานา เช่น พอฉันเริ่มสวดภาวนาฉันรู้สึกว่าฉันมีสรรพานุภาพ อำนาจอยู่ในมือของฉัน เพราะฉันเป็นคนเดียวที่ทำทุกอย่างให้สำเร็จได้ ความคิดเช่นเป็นที่ชัดเจนว่า จิตแห่งความชั่วร้ายกำลังทำงานของมันอยู่ พวกเราต้องพิจารณาอย่างดีว่าอะไรคือวิถีแห่งความคิด อะไรคือเหตุผลของความรู้สึกที่ดี สิ่งใดคือความบรรเทาใจ และเราพึงกระทำสิ่งใด ไม่ว่าจะในช่วงเริ่มต้น ช่วงกลาง หรือในช่วงท้ายที่มีผลต่อการกระทำของเรา
อริศัตรูของเราคือผีปีศาจ มันมีอยู่จริงๆและอยู่ตรงนี้แล้ว และวิถีของมันก็คือการใช้เล่ห์กล มันจะปกปิดซ่อนเร้นตนเอง บางทีมันก็ทำให้เรารู้สึกสบายใจและได้รับความบรรเทาทุกข์ แต่ทีละเล็กทีละน้อยจิตใจของเราจะโน้มเอียงไปกับมัน มันมักจะเข้ามาอย่างเงียบๆ หากเราไม่ระวังแล้ว ความรู้สึกที่ละมุนละม่อมจะแปรเปลี่ยนไปเป็นความแข็งกระด้าง และวิถีแห่งความคิดก็จะถูกเปิดเผยในแบบที่มันเป็นจริงๆ นั่นคือความรุนแรงและความเกลียดชัง
นับเป็นสิ่งสำคัญที่จะสำรวจตนเองว่าวิญญาณของเราหลงไปหรือไม่? ไตร่ตรองดูว่าอะไรคือสาเหตุแห่งความคิด และอะไรคือความเป็นจริง เราต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต เพื่อจะไม่ทำผิดซ้ำอีก ยิ่งเรารู้จักตนเองมากเท่าไรเราก็จะเฝ้าระวังจิตชั่วร้ายได้เร็วเท่านั้น ปีศาจมักจะใช้สิ่งที่เรามีอยู่แล้ว นั่นคือความอ่อนไหว ใช้เป็น “รหัสลับ” เข้ามาในหัวใจของเรา ในอนาคตมันจะมาแน่ เพราะเราแต่ละคนล้วนมีจุดที่อ่อนไหวตามบุคลิกภาพของเรา ปีศาจมันจะโจมตีเราในจุดนี้และพาเราลงเหว ทำให้เราออกห่างจากวิถีแห่งความชอบธรรมและความจริง ฉันไปสวดภาวนาก็จริง แต่สิ่งนี้กลับนำฉันออกห่างจากชีวิตภาวนาด้วยเช่นกัน
ยังมีตัวอย่างอื่นๆอีกมากมาย ด้วยเหตุนี้ การพิจารณามโนธรรมในทุกๆวันจึงเป็นสิ่งจำเป็น ก่อนที่จะจบวัน จงหาเวลาหยุดเพื่อที่จะพิจารณว่าสิ่งใดได้เกิดขึ้นบ้าง ไม่ใช่เรื่องของข่าวสาร ไม่ใช่แค่เรื่องราวของชีวิต แต่บางสิ่งที่เกิดขึ้นในหัวใจ ใจของฉันกำลังคิดถึงอะไรอยู่? ฉันได้เติบโตอะไรบ้างในวันนี้? หรือมีบางสิ่งที่ฉันได้หลงลืมไป? อีกครั้งหนึ่ง หัวใจของฉันเป็นอย่างไร? การพิจารณานี้จำเป็นอย่างยิ่งยวด เพราเป็นสิ่งมีค่าที่เราจะอ่านทบทวนประสบการณ์ในอีกแง่มุมหนึ่ง เฝ้าสังเกตว่าอะไรมีความสำคัญ อะไรคือพระหรรษทานของพระเจ้าที่กำลังทำงานอยู่ในตัวของเราเอง อะไรที่ทำให้เราเติบโตด้วยใจอิสระเสรีและด้วยความตระหนักรู้ว่าเราไม่ได้อยู่อย่างเดียวดาย เป็นพระจิตเจ้าทรงสถิตอยู่กับเรา เรามาพิจารณาร่วมกันว่าสิ่งต่างๆมันเกิดขึ้นได้อย่างไร
ความบรรเทาใจที่แท้จริงคือการยืนยันถึงว่า เราได้ปฏิบัติตามน้ำพระทัยของพระเจ้าและเรากำลังเดินอยู่ในวิถีทางของพระองค์ เป็นหนทางแห่งชีวิต เป็นความสุขสันต์และมีสันติ แท้จริงแล้ว เราไม่ได้พิจารนาไตร่ตรองว่าสิ่งใดดีเท่านั้น แต่พิจารณาไตร่ตรองดูว่า อะไรดีและเหมาะสมสำหรับฉัน ณ ขณะนี้และเวลานี้ สิ่งนี้ทำให้ฉันจะเติบโตได้แค่ไหน เราไม่ได้คิดในเรื่องสัพเพเหระแม้จะเป็นเรื่องที่ดีก็ตาม แต่มันที่ไม่เกี่ยวกับชีวิตฝ่ายจิตของเรา
พี่น้องชายหญิงที่รัก เราต้องทำความเข้าใจเป็นอย่างดีว่าอะไรเกิดขึ้นในหัวใจของเรา จำเป็นที่เราต้องฝึกการพิจารณามโนธรรมเพื่อหาเหตุผล ของสิ่งที่เกิดขึ้นในตัวเราเองในทุกๆวัน “วันนี้ ฉันรู้สึกโมโห หรื ฉันไม่ได้กระทำสิ่งสิ่งนั้นสิ่งนี้...” แต่ทำไม? จงก้าวข้ามประโยคที่ว่า “ทำไม” แต่เจาะจงไปถึงต้นตอของปัญหาที่ทำให้เกิดความผิดพลาดไป “แต่ วันนี้ฉันมีความสุข แต่อีกแหละ ฉันยังรู้สึกเซ็งๆเพราะต้องฝืนตนไปช่วยคนอื่นๆ แต่นั่นแหละ ฉันกลับมีความสุขและรู้สึกได้รับการเติมเต็ม” นี้แหละคือองค์พระจิตเจ้า จงฝึกที่จะอ่านว่าอะไรเกิดขึ้นในระหว่างวัน ฝึกอ่านหนังสือแห่งหัวใจของเรา บางทีแค่ใช้เวลาสองสามนาทีเท่านั่นในแต่ละวัน พ่อรับประกันได้เลยว่า มันดีสำหรับลูกๆทุกคน
Discernment 10: ความบรรเทาใจที่แท้จริง
Discernment 11: สิ่งที่เป็นการยืนยันว่า เราได้ตัดสินใจได้อย่างดี
Discernment 09: ความบรรเทาใจ
- Discernment 01: ความหมายของ “การพิจารณาไตร่ตรอง”
- Discernment 02: แบบอย่างของนักบุญอิกญาซิโอ แห่งโลโยลา
- Discernment 03: ปัจจัยของการพิจารณาไตร่ตรอง ความคุ้นเคยกับองค์พระเจ้า
- Discernment 04: ปัจจัยของการพิจารณาไตร่ตรอง การรู้จักตัวเอง
- Discernment 05: ปัจจัยของการพิจารณาไตร่ตรอง ความปรารถนา
- Discernment 06: ปัจจัยของการพิจารณาไตร่ตรอง หนังสือแห่งชีวิตของตน
- Discernment 07: หัวข้อของการพิจารณาไตร่ตรอง ความเปล่าเปลี่ยวใจ