Skip to main content

คำสอน 
"การพิจารณาไตร่ตรอง"
(Catechesis on Discernment)

Discernment 03: ปัจจัยของการพิจารณาไตร่ตรอง ความคุ้นเคยกับองค์พระเจ้า

บทความ, ชีวิตฝ่ายจิต, Discernment

book

3. ปัจจัยของการพิจารณาไตร่ตรอง ความคุ้นเคยกับองค์พระเจ้า
(The Elements of Discernment. Familiarity with the Lord)

ปาฐกถาโดยพระสันตะปาปาฟรังซิส วันพุธที่ 28 สิงหาคม 2022

ถอดความโดย คพ. วรวุฒิ สารพันธุ์ C.Ss.R.



      อรุณสวัสดิ์ พี่น้องชายหญิงของพระผู้เป็นเจ้า 

     เรามาศึกษาร่วมกันต่อในคำสอนเรื่องการพิจารณาไตร่ตรอง การพิจารณาไตร่ตรองนั้นสำคัญเพราะทำให้ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นภายในตัวเรา เป็นการรับรู้ถึงความรู้สึกนึกคิด เราพิจารณาว่าสิ่งนี้มาจากไหนและจะพาเราไปที่ใด ในที่สุดเราจะตัดสินใจได้อย่างไร และวันนี้เองเราจะมุ่งเน้นเรื่องที่เป็นพื้นฐานที่สุดในสิ่งที่กล่าวมานี้ นั่นคือการอธิษฐานภาวนา การพิจารณาไตร่ตรองต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมนี้ นั่นคือสภาวะแห่งการภาวนา

     การอธิษฐานภาวนาเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการพิจารณาไตร่ตรองฝ่ายจิต โดยเฉพาะในมิติของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และพระเป็นเจ้า การภาวนานี้ช่วยให้เราเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้าโดยเรียบง่ายและอย่างคุ้นเคย ราวกับคุยกับเพื่อนสนิท ทำให้เราเรียนรู้ที่จะอยู่เหนือความคิดอ่าน เข้าใกล้และสนิทสัมพันธ์กับพระเป็นเจ้าโดยทันทีทันใด นี่คือความลับในชีวิตของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ พวกเขาคุ้นเคยและมีความมั่นใจในพระองค์ พวกเขาได้พัฒนาสิ่งนี้ และชีวิตของพวกเขาก็เติบโต เขาเรียนรู้ที่จะทำให้พระเจ้าทรงพอพระทัย การภาวนาที่แท้จริงคือความคุ้นเคยและความมั่นใจในองค์พระผู้เป็นเจ้า จงอย่าสวดภาวนาเหมือนนกแก้วนกขุนทอง พูดพร่ำทำเพลง อย่าทำเช่นนั้น เพราะการภาวนาที่แท้จริงคือความสนิทสัมพันธ์ทันทีทันใดกับพระผู้เป็นเจ้า ความคุ้นเคยนี้มีชัยชนะเหนือความหวาดกลัวและความสงสัยในชีวิต เพราะในบางครั้งการผจญล่อลวงเข้ามาในความคิดและจิตใจ ทำให้เราไม่สงบ ไม่มีความมั่นใจ หรือแม้กระทั่งรู้สึกขมขื่นในชีวิต แต่น้ำพระทัยของพระเจ้าเป็นประโยชน์แก่เราเสมอ

     อย่างไรก็ตาม แม้เราจะพิจารณาไตร่ตรองแล้ว ผลลัพธ์ก็อาจจะไม่แน่นอนเสมอไป เพราะเรื่องของชีวิตไม่ใช่สูตรทางเคมี บางทีชีวิตก็เอาแน่เอานอนไม่ได้ เพราะชีวิตมนุษย์มีหลายแง่หลายมุมที่อยู่เหนือเข้าใจของเรา แม้เราทราบอยู่แล้วว่าเราควรจะทำอะไร แต่เราก็ไม่ลงมือกระทำอย่างนั้น ดั่งเช่นอัครสาวกเปาโลได้กล่าวว่า “เพราะข้าพเจ้าไม่ทราบได้ว่าอะไรดีสำหรับข้าพเจ้า แต่ข้าพเจ้ากลับกระทำสิ่งชั่วร้าย ซึ่งเป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าไม่ปรารถนา” (โรม. 7,19) มนุษย์ไม่ได้กระทำตามหลักเหตุผล หรือเป็นเครื่องจักรที่เพียงทำตามคำสั่ง จึงไม่เป็นการเพียงพอที่จะบอกให้มนุษย์ทำอะไร  แต่เป็นหัวใจที่จะแสวงหาความสนิทสัมพันธ์กับพระเป็นเจ้าต่างหาก เป็นสิ่งแรกที่มนุษย์พึงกระทำ

     ยามที่พ่อคิดถึงอัศจรรย์แรกที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำ นั่นคือการไล่ผีปีศาจ (มก. 1,21-28) ในพระวรสารโดยนักบุญมาระโก ณ ศาลาธรรมที่เมืองคาเปอนาอูม พระองค์ทรงไล่ปีศาจออกจากชายผู้หนึ่ง ทรงปลดปล่อยเขาจากพระเท็จเทียม เพราะตั้งแต่แรกเริ่มแล้ว ซาตานพร่ำบอกเราเสมอว่าพระเจ้าไม่อยากให้มนุษย์มีความสุข ปีศาจมันรับรู้ว่าพระเยซูเป็นพระเจ้า มันจึงไม่อยากให้ชายผู้นั้นเชื่อในพระองค์ มันจึงพยายามกล่าวหาพระองค์ว่า “ท่านมาเพื่อทำลายพวกเราหรือ” (มก. 1, 24) 

     คริสตชนหลายคนอาจมีความคิดเช่นเดียวกัน แม้เขาจะเชื่อว่าพระเยซูเป็นพระบุตรพระเจ้า แต่เขากลับมีความสงสัยว่า พระเจ้าต้องการให้เรามีความสุขจริงๆหรือ หากเราปฏิบัติตามคำเชื้อเชิญของพระองค์ ชีวิตของเราอาจจะมีความยุ่งยากและจะประสบความหายนะ จนเราไม่สามารถทำตามความปรารถนาและความฝันใฝ่ในชีวิต ความคิดเช่นนี้ทำให้เราเกิดความหวั่นกลัวว่าพระเจ้าทรงเรียกร้องจากมนุษย์มากเกินไป และพระเจ้าไม่ได้รักเรามนุษย์อย่างแท้จริง

      ตรงข้าม ในยามที่เราประสบพบกับพระเป็นเจ้าเรากลับมีความเบิกบานใจ ยามที่ฉันพบกับพระองค์ในการอธิษฐานภาวนา ฉันมีความสุขอย่างยิ่งยวด เราแต่ละคนจะพบความสวยงามนี้ นั่นคือความยินดีเบิกบานใจ ความเศร้าและความกลัวเป็นสัญญาณของการที่เราห่างไกลจากพระองค์ “ถ้าท่านอยากเข้าสู่ชีวิตนิรันดร ก็จงปฏิบัติตามบทบัญญัติเถิด” (มธ. 19,17) นี่คือสิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงท้าทายเศรษฐีหนุ่มในพระวรสาร น่าเสียดายที่เขารู้สึกว่าการพบกันครั้งนี้เป็นปัญหาในชีวิต มีบางสิ่งทำให้เขาไม่สามารถทำตามความปรารถนาในหัวใจ ความปรารถนาที่จะติดตามพระอาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่และสามารถอยู่ใกล้ชิดกับพระองค์ได้ แม้เขาจะสนใจและดั้งด้นมาพบพระเยซูเจ้า แต่ความปรารถนาในหัวใจกลับถูกแบ่งเป็นสองภาค ในส่วนแรกคือความปรารถนาความร่ำรวย สำหรับเขาแล้วเป็นที่สิ่งสำคัญในชีวิต แม้พระเยซูเจ้าไม่ได้บังคับให้เขาตัดสินใจ แต่ตัวบทพระวรสารก็ได้บอกเราว่า เขาปลีกตัวห่างจากพระองค์ด้วย “ใบหน้าเศร้าหมอง” (มธ. 19,22) ใครก็ตามที่พยายามหนีห่างออกจากพระผู้เป็นเจ้าจะเป็นผู้ที่ไม่มีความสุข แม้เขาจะเต็มไปด้วยโภคทรัพย์ แม้เขาจะมีทุกอย่างตามใจปรารถนาในโลกนี้ พระเยซูเจ้าไม่เคยบังคับพวกเราให้ติดตามพระองค์ ไม่เคยเลย ตรงข้าม พระองค์แสดงน้ำพระทัยของพระองค์ในหัวใจของพวกเรา พระองค์ทำให้เรารับรู้ทุกสิ่ง แต่พระองค์ก็เลือกให้เรามีเสรีภาพที่จะตัดสินใจเอง สิ่งนี้คือสิ่งที่สวยงามที่สุดในการภาวนาแด่องค์พระเยซูเจ้า ยิ่งเราอธิษฐานหัวใจของเรายิ่งเป็นอิสระ ยิ่งเราเหินห่างจากพระองค์หัวใจของเราก็ยิ่งเศร้าหมอง และสิ่งที่น่าเกลียดน่าชังได้ก่อตัวในหัวใจของเรามนุษย์ หากว่าเราอยู่ห่างจากพระองค์

     นับว่าเป็นการยากพอควรที่เรามนุษย์จะใช้หัวใจพิจารณาไตร่ตรอง เพราะดูเหมือนว่าจะเป็นการหลอกลวงทางความคิดเท่านั้น แต่ความคุ้นเคยกับพระผู้เป็นเจ้าทำให้ความเคลือบแคลงสงสัยนี้มลายหายไปอย่างนุ่มนวล ชีวิตของเราเปิดรับ “แสงอันอบอุ่น” ดังเช่นนักบุญเฮรี่ นิวแมนอธิบายไว้อย่างสวยงามว่า บรรดานักบุญเปล่งแสงออกมาในอากัปกิริยาอันเรียบง่ายของพวกเขาในทุกๆวัน เป็นการแสดงความรักต่อพระผู้เป็นเจ้า ที่ทำให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้กลับเป็นไปได้ เฉกเช่นคู่สมรสที่ใช้ชีวิตคู่อย่างยาวนาน พวกเขารักกันและกันและในที่สุดชีวิตก็รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน หรือมีคำกล่าวคล้ายๆกันเกี่ยวกับการภาวนาแห่งความสัมพันธ์นี้ว่า เป็นแบบค่อยๆเป็นค่อยๆไป แต่กลับมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมชาติมาก ความสัมพันธ์นี้เป็นราวกับน้ำพุที่หลั่งไหลออกมาจากส่วนลึกของหัวใจ ในห้วงภาวนานี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องของการกล่าวพร่ำเพรื่อ ไม่เลย แต่เป็นเรื่องของการเปิดหัวใจหาพระเยซูเจ้า และทำให้ชีวิตใกล้ชิดกับพระองค์ อนุญาตให้พระองค์มาในจิตใจและสัมผัสถึงการประทับอยู่นี้ เราไม่สามารถพิจารณาไตร่ตรองได้หากไม่มีพระเยซูเจ้าเข้ามาในจิตใจและความคิด เราไม่สามารถทำตามสิ่งที่พระเยซูต้องการได้เลยหากไร้พระองค์

     จงสวดขอพระหรรษทานนี้ เพื่อเราจะได้สนิทสัมพันธ์และเป็นเพื่อนกับพระองค์ เป็นดั่งเพื่อนสนทนากับเพื่อน (อ้างอิง หนังสือการฝึกฝนฝ่ายจิต โดยนักบุญอิกญาซิโอ หน้า 53) 

     พ่อเองรู้จักภารดาท่านหนึ่ง ที่ทำหน้าที่เฝ้าประตูในหอนอนของโรงเรียน ทุกครั้งที่ท่านมีเวลา ท่านจะหาโอกาสไปที่วัดน้อยและกล่าวสั้นๆว่า “สวัสดีครับพระองค์” เพราะความสนิทกับพระเยซูเจ้า ท่านไม่ต้องสวดภาวนาพร่ำเพรื่อ ไม่เลย ท่านแค่กล่าวในใจว่า “สวัสดีครับพระองค์ ผมรู้ว่าอยู่ใกล้พระองค์และพระองค์ก็อยู่ใกล้ผม” นี่คือความสัมพันธ์ที่เราต้องมีในการอธิษฐานภาวนา เป็นความใกล้ชิด เป็นความสนิทสัมพันธ์ เฉกเช่นพี่น้องชายหญิงในครอบครัว เป็นความสัมพันธ์กับพระเยซูเจ้า รอยยิ้ม อากัปกิริยาที่เรียบง่าย ไม่จำเป็นต้องพูดอะไรมากเพราะมันไม่ได้มาจากหัวใจของเรา ดังที่พ่อได้กล่าวมา จงพูดกับพระเป็นเจ้าเฉกเช่นเราพูดกับเพื่อนสนิทของเรา

     นี่คือพระหรรษทานที่เราต้องสวดให้แก่กันและกัน เป็นพระหรรษทานที่ทำให้เราเห็นพระเยซูเจ้าเป็นเพื่อนสนิทของเรา เป็นเพื่อนผู้ยิ่งใหญ่ เป็นเพื่อนที่ซื่อสัตย์ เป็นคนที่ไม่คิดทรยศ หักหลัง หรือทอดทิ้งเราแม้เราจะทอดทิ้งเขา เพื่อนคนนี้อยู่ที่ประตูหัวใจของเราอยู่เสมอ “เพราะมีพระองค์อยู่ ลูกไม่ปรารถนาจะรับรู้สิ่งใดอีกเลย” แม้พระองค์จะนิ่งเงียบ แต่พระองค์ก็อยู่ใกล้ๆ เพราะพระองค์ทรงสัตย์ซื่อและประทับอยู่ในหัวใจของพวกเรา  จงสวดภาวนาเช่นนี้เถอะ “สวัสดีครับ สวัสดีคะพระองค์” เป็นคำทักทายที่ออกมาจากหัวใจและความสนิทสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระเป็นเจ้า จงภาวนาสั้นๆ และจงหมั่นที่จะทำคุณงามความดีในชีวิต

     พ่อขอขอบคุณ

 

book

Discernment 03: ปัจจัยของการพิจารณาไตร่ตรอง ความคุ้นเคยกับองค์พระเจ้า

◀️ Discernment 04: ปัจจัยของการพิจารณาไตร่ตรอง การรู้จักตัวเอง

Discernment 02: แบบอย่างของนักบุญอิกญาซิโอ แห่งโลโยลา ▶️