Skip to main content

คำสอน 
"การพิจารณาไตร่ตรอง"
(Catechesis on Discernment)

Discernment 05: ปัจจัยของการพิจารณาไตร่ตรอง ความปรารถนา

บทความ, ชีวิตฝ่ายจิต, Discernment

book

5. ปัจจัยของการพิจารณาไตร่ตรอง ความปรารถนา

(The elements of discernment. The desire)

ปาฐกถาโดยพระสันตะปาปาฟรังซิส วันพุธที่ 12 ตุลาคม 2022

ถอดความโดย คพ. วรวุฒิ สารพันธุ์ C.Ss.R.



อรุณสวัสดิ์พี่น้องชายหญิงของพระเป็นเจ้า

    เรากำลังอยู่ในการอธิบายถึงปัจจัยของการพิจารณาไตร่ตรอง นั่นคือ “การอธิษฐานภาวนา” และ “การรู้จักตัวเอง” วันนี้พ่ออยากจะแบ่งปันอีกประการที่สำคัญ นั่นคือ “ความปรารถนา” (desire) จริงๆแล้วการพิจารณาไตร่ตรองอยู่ในรูปแบบของการค้นหา เป็นความพยายามของเราที่จะค้นหาบางสิ่งบางอย่างที่เราขาดหายไปในชีวิต บางครั้งการค้นหานี้อยู่ในญานหยั่งรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่เรากำลังค้นหา

    ความปรารถนาใคร่รู้นี้คืออะไรกัน บรรดาอาจารย์ฝ่ายชีวิตจิตได้ให้นิยามถึง “ความปรารถนา” นี้ว่า สิ่งนี้ดำรงอยู่ในความคิด เป็นความคนึงถึงช่วงวันเก่าๆ ที่ตัวเราเองที่ยังไม่ได้ประสบความสมหวัง ความรู้สึกนี่แหละเป็นสัญญาณที่บอกเราว่า พระเป็นเจ้าทรงประทับอยู่กับเรา ความปรารถนานี้ไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วขณะหนึ่ง ในภาษาอิตาลี เดสซิเดริโอ (desiderio) ซึ่งมาจากภาษาละติน เดอซิดุส (de-sidus) มีความหมายแปลตรงตัวได้ว่า “ไร้ซึ่งดวงดาว” เปรียบดั่งบนท้องฟ้าที่ไร้ซึ่งดวงดาว ในยามที่เราดำเนินบนหนทางอันมืดมิดของชีวิต จะมีความทุกข์ยากและขาดแคลนไปบ้าง แต่กลับเป็นแรงผลักดันให้เรามุ่งเดินทางไปถึงสถานที่ที่ดีกว่า จึงเป็นความปรารถนาถึงสถานที่ที่เราคนึงถึงและอยากที่จะไขว่คว้าไว้ ความปรารถนานี้เป็นดั่งเข็มทิศที่ชี้นำว่าเราถึงจุดไหนแล้ว และเรากำลังมุ่งสู่ทิศทางใด เรากำลังหยุดอยู่กับที่หรือกำลังเคลื่อนไปข้างหน้า ด้วยเหตุนี้ คนที่ไม่มีความปรารถนาในชีวิต ก็คือคนที่หยุดนิ่งอยู่กับที่ พวกเขามีชีวิตอยู่ก็เหมือนไร้ชีวิต เป็นคำถามที่เราต้องถามตัวเองว่า เราตระหนักถึงเข็มทิศชีวิตนี้ได้อย่างไร?

    เราลองพิจารณาและไตร่ตรองดูสิว่า ความปรารถนาที่แท้จริงเกิดจากสายสัมผัสแห่งตัวตนที่มีความกลมกลืนในชีวิตของเรา และการรับรู้ในสิ่งที่ฉันเป็น ความรู้สึกและความเข้าใจนี้จะไม่เลือนหายไปง่ายๆ แม้ในยามที่เราประสบปัญหาและอุปสรรค หรือในยามที่เราเพิกเฉยต่อชีวิต พ่อจะเปรียบความรู้สึกนี้กับอะไรดี คงเหมือนกับในตอนที่เรากระหายน้ำ ตราบใดที่เรายังหาอะไรมาดื่มไม่ได้ เราจะทุรนทุรายและพยายามหาต่อไป ในทางกลับกัน ยิ่งเราพยายามแสวงหาต่อไป ความกระหายหาก็จะยิ่งเพิ่มพูน ทั้งในความคิดและการกระทำ จนถึงจุดที่เรายอมทุกอย่างเพื่อจะได้ดื่มน้ำ แล้วดับความกระหายนี้ เราหมกมุ่นไปกับความปรารถนานี้ แม้จะมีอุปสรรคเพียงใด มันก็ไม่ได้ทำให้ความปรารถนานี้ลืนหายไป ความปรารถนาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเรา

    ความปรารถนาไม่ได้เป็นเพียงความรู้สึกนึกคิดชั่วประเดี๋ยวประด๋าว ความปรารถนาดำเนินอยู่ในกาลเวลา จากความปรารถนากลับกลายเป็นรูปธรรม เป็นสิ่งที่จับต้องได้ อาทิเช่น คนหนุ่มสาวที่ปรารถนาจะเป็นแพทย์ พวกเขาและเธอต้องเรียนและฝึกฝนอย่างหนักอยู่นานหลายปี พวกเขาต้องอุทิศตนทั้งชีวิต ต้องจัดลำดับความสำคัญในชีวิต โดยตัดกิจกรรมหรือความรู้อื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเรียน แม้จะมีหลายสิ่งที่ทำให้พวกเขาไขว่เขว หรือมีสิ่งในใจที่บอกให้พวกเขาเลือกหนทางอื่น อย่างไรก็ตามพวกเขาต้องยึดความปรารถนาที่จะเป็นแพทย์ให้ได้เพื่อที่จะให้ไปถึงจุดนั้น ตัวอย่างที่กล่าวมานี้ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเรารู้จักฟันฝ่าปัญหาและอุปสรรค ความปรารถนาทำให้เราเข้มแข็งและมีความกล้าหาญในชีวิต ทำให้เรามุ่งหน้าต่อไปถึงจุดที่ “หัวใจของเราปรารถนา”

    ผลที่เกิดขึ้นจากความปรารถจะมีคุณค่าสวยงามและสำเร็จได้โดยง่าย ถ้าสิ่งนี้เป็น “แรงจูงใจในชีวิต” ดังคำกล่าวที่ว่า “สิ่งที่สำคัญมากกว่าคุณงามความดี นั่นคือความปรารถนาที่จะทำความดี” สิ่งที่น่าดึงดูดใจในชีวิตมนุษย์คือการเป็นคนดี เราทุกคนปรารถนาที่จะมีชีวิตที่ดี แต่ถ้าจะถามว่า เรามีความใฝ่ฝันถึงคุณงามความดีบ้างหรือไม่? นั่นคืออีกเรื่องหนึ่ง

ืืื    นับเป็นที่น่าสังเกตุในพระวรสาร ก่อนที่พระเยซูเจ้าจะทรงทำอัศจรรย์รักษาคนเจ็บไข้ พระองค์จะถามเขาและเธอว่า “ท่านปรารถนาให้เรารักษาหรือไม่?” ในสถานการณ์เช่นนั้น พระเยซูเจ้าทรงถามแม้คำตอบเป็นที่รู้กันอยู่แล้ว เพราะคนเหล่านั้นกำลังป่วยและต้องการความช่วยเหลือจากพระองค์ อีกตัวอย่างหนึ่ง พระองค์ทรงพบกับชายพิการที่บ่อน้ำเบเธสดา ชายผู้นี้นั่งประจำอยู่ที่นั่นมาหลายปีอยู่แล้วแต่ก็ไม่สามารถหาจังหวะไปชำระตัวในบ่อน้ำได้ แต่พระองค์ก็ยังถามเขาอีกว่า “ท่านต้องการให้เรารักษาท่านหรือไม่?” (ยน 5,6) แต่ถ้าเราสังเกตุดีๆในสถานการณ์นี้ เราอาจจะพบว่า เขาไม่ได้ปรารถนาให้พระองค์ช่วยรักษาเขา เขาเพียงเข้าใจว่าพระองค์ทรงตรัสกับเขาแปลกๆ แต่คำถามของพระเยซูชัดเจน เป็นคำเชิญชวนที่เข้าถึงหัวใจของเขา ว่าต่อไปนี้ท่านจะไม่ต้องพิกลพิการอีกต่อไป ท่านสามารถยืนหยัดด้วยตนเอง แม้ในใจของท่านจะเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งในคำพูดของเรา ในยามที่มนุษย์เริ่มสนทนากับองค์พระผู้เป็นเจ้าเราเรียนรู้ที่จะเข้าใจว่าเราต้องการอะไรจริงๆในชีวิต ด้วยเหตุนี้ชายพิการผู้นี้จึงเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับพวกเรา ในการตอบองค์พระผู้เป็นเจ้าว่า “ใช่ ใช่แล้วพระเจ้าข้า ลูกปรารถนา ลูกต้องการสิ่งนี้” แต่ในบางครั้งมนุษย์ก็กลับตอบว่า “ไม่ ไม่เลยพระเจ้าข้า ลูกไม่ต้องการ ลูกไม่ต้องการทำสิ่งใด” ความประสงค์ที่จะไม่กระทำสิ่งใดถือเป็นมายาคติ สิ่งนี้ทำให้เราไม่คิดจะก้าวหน้าในชีวิต เรื่องราวของชายพิการผู้นี้จึงมีมุมมองทั้งสองด้าน ด้านหนึ่งคือความปรารถนา และอีกด้านคือการปฏิเสธความช่วยเหลือจากพระเยซูเจ้า “ไม่เลย นายเจ้าข้า ยามที่น้ำในบ่อกระเพื่อม มันเป็นเวลาที่อัศจรรย์จะเกิดอะไรขึ้น นายท่านก็รู้ว่าคนที่เค้าแข็งแรงกว่าข้า พวกเขาต่างพยายามแย่งกันไปที่บ่อน้ำนั้น และข้าไม่เคยไปทันพวกเขาเลย” ชายพิการผู้นี้บ่นแล้วบ่นอีกต่อหน้าพระเยซู พวกเราจงระวังดีๆ การบ่นว่าเป็นเสมือนยาพิษที่ทำร้ายทั้งชีวิตและจิตวิญญาณ มันสกัดกั้นความเติบโต จงระวัง อย่าบ่นว่ากันและกันเลย ยามที่เราบ่นคนในครอบครัว ต่อคู่สมรส ต่อคนอื่นๆ มันเป็นเสมือนบาป เพราะมันเป็นอุปสรรคของการก้าวหน้าและการเติบโตในชีวิต

    เราจะความเข้าใจเรื่องความปรารถนานี้ได้ชัดเจนขึ้น เมื่อเราเปรียบเทียบระหว่าง การประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องยั่งยืน และความคิดทะเยอทะยานที่ดูดีสวยหรู แม้จะกล่าวว่า “งานนี้ฉลุย” “ใช่ พวกเราจะทำ พวกเราชอบที่จะทำมัน” แต่กลับไม่มีการลงมือกระทำสิ่งใดเลย เราอยู่ในยุคสมัยที่มีทางเลือกในชีวิตมากมาย แต่เรากลับใช้มันอย่างฟุ่มเฟือย แม้เราปรารถนาที่จะมีความสุขอย่างต่อเนื่อง แต่เรากลับตัดทอนมันออกไปจากชีวิต พึงระวัง อย่าใช้ความปรารถนาอย่างฟุ่มเฟือย เพราะหลายครั้ง ชีวิตเต็มไปด้วยข้อเสนอดีๆ ความเป็นไปได้ต่างๆ มาพร้อมกับความเสี่ยงที่ทำให้เราสับสน จนไม่สามารถนั่งลงและไตร่ตรองอย่างแท้จริงว่า เรามีความปรารถนาอะไรกันแน่? ยามที่เราสังเกตุคนหนุ่มคนสาว พวกเขาใช้โทรศัพท์มือถือค้นหาสิ่งต่างๆ แต่ถ้าถามว่า พวกเขาเคยที่จะหยุดคิดไตร่ตรองบ้างหรือไม่ ไม่เลย เพราะใจของพวกเขามุ่งมั่นไปในสิ่งต่างๆ นอกตัวเขามากกว่าการพิจารณาตนเอง สิ่งนี้นับเป็นอุปสรรค ต่อการพัฒนาความปรารถนาที่แท้จริงในชีวิต

     หลายต่อหลายคนเป็นผู้มีความทุกข์เพราะพวกเขาไม่ทราบว่าตนเองปรารถนาสิ่งใดในชีวิต อาจเป็นเพราะ พวกเขาไม่เคยสัมผัสถึงความปรารถนาอันแท้จริงที่อยู่ในส่วนลึกของหัวใจ พวกเขาไม่เคยถามตัวเองว่า “พวกท่านปรารถนาสิ่งใดในชีวิต?” – “ฉันไม่ทราบเลย” แม้พวกเขาจะพยายามลองผิดลองถูก ก็ไม่ได้ช่วยอะไรได้เลย พวกเขาเสียโอกาสในชีวิต เพราะความปรารถนาที่แท้จริงยังไม่ได้ถูกค้นพบ หลายสิ่งเป็นเพียงภาคทฤษฏีและแนวคิด พวกเขายังปรารถนาและยังรู้สึกว่าชีวิตยังมีอะไรที่ขาดหายไป

    ถ้าพระเป็นเจ้าทรงถามพวกเรา ณ ขณะนี้ เฉกเช่นพระเยซูเจ้าถามชายตาบอดที่เมืองเยริโค “ท่านปรารถนาให้เราทำสิ่งใดเพื่อท่าน” (มก. 10,51) เป็นคำถามเดียวกันที่พระเจ้าถามเราว่า “แล้วท่านแหละ ท่านอยากให้พระองค์ทำอะไรเพื่อท่าน” เราจะตอบพระองค์ว่าอย่างไร? หรือบางที เราปรารถนาให้พระองค์ช่วยไขแสดงให้เราเห็นถึงความปรารถนาในจิตใจของเราแต่ละคน “พระเจ้าข้า ลูกปรารถนาสิ่งนี้ ลูกปรารถนาที่จะเป็นผู้ที่มีความปรารถนาอันยิ่งใหญ่ในชีวิต” ขอพระเจ้าช่วยเราให้มีความเข้มแข็งในจิตใจ เพื่อความปรารถนานี้จะได้เป็นจริง เป็นพระหรรษทานที่เข้มข้น เหนือสิ่งใด ให้เราอนุญาตให้พระองค์ทรงกระทำอัศจรรย์ในชีวิตของเรา “พระเจ้าข้า โปรดมอบความปรารถนาให้กับพวกลูก เพื่อพวกลูกจะได้เติบโตในพระองค์”

    เพราะเป็นพระเจ้าเองที่ทรงมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าต่อเรามนุษย์ เป็นความปรารถนาที่จะแบ่งปันความสมบูรณ์พูนสุขในชีวิตของพวกเรา

    พ่อขอขอบคุณ

 

book

Discernment 05: ปัจจัยของการพิจารณาไตร่ตรอง ความปรารถนา

◀️ Discernment 06: ปัจจัยของการพิจารณาไตร่ตรอง หนังสือแห่งชีวิตของตน

Discernment 04: ปัจจัยของการพิจารณาไตร่ตรอง การรู้จักตัวเอง ▶️