คำสอน
"การพิจารณาไตร่ตรอง"
(Catechesis on Discernment)
"การพิจารณาไตร่ตรอง"
(Catechesis on Discernment)
Discernment 06: ปัจจัยของการพิจารณาไตร่ตรอง หนังสือแห่งชีวิตของตน
6. ปัจจัยของการพิจารณาไตร่ตรอง หนังสือแห่งชีวิตของตน
(The elements of discernment. The book of one's own life)
ปาฐกถาโดยพระสันตะปาปาฟรังซิส วันพุธที่ 19 ตุลาคม 2022
ถอดความโดย คพ. วรวุฒิ สารพันธุ์ C.Ss.R.
สำหรับคำสอนในอาทิตย์นี้ เรามาเน้นสิ่งที่ต้องเตรียมก่อนทำการพิจารณาไตร่ตรองได้เป็นอย่างดี เพราะในชีวิตเรามีเรื่องที่ต้องตัดสินใจอยู่ตลอดเวลา เช่นในการเดินทาง เป็นหนทางของการพิจารณาไตร่ตรอง ในกิจกรรมต่างๆมักจะมีข้อแนะนำที่เราต้องเรียนรู้และปฏิบัติตาม เพื่อจะสามารถกระทำกิจกรรมนั้นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ วันนี้เองเรามาศึกษาส่วนประกอบที่ขาดไม่ได้เลยเกี่ยวกับการพิจารณาไตร่ตรอง นั่นก็คือ “เรื่องราวในชีวิตของตน” พูดได้เลยว่าการเรียนรู้เรื่องราวในชีวิตเป็นแก่นแท้ของการพิจารณาและไตร่ตรอง
เรื่องราวในชีวิตของตน นับเป็นหนังสืออันทรงคุณค่าที่พระเป็นเจ้าประทานให้ แต่น่าเสียดายที่หลายคนยังไม่ได้เปิดอ่านมัน หรือกว่าจะอ่านก็สายเสียแล้ว เพราะเขาเหล่านั้นกำลังจะลาจากโลกไป เรื่องราวในหนังสือแห่งชีวิตนี้เป็นเรื่องราวที่ตรงประเด็นและหาอ่านจากที่ไหนไม่ได้เลย นักบุญเอากุสตินผู้เป็นนักแสวงหาความจริงอันยิ่งใหญ่ ท่านกลับพบความจริงนี้ได้จากการอ่านทบทวนชีวิตของท่านเอง เรื่องราวเหล่านี้ ไม่มีอะไรที่เป็นความลับหรือถูกปิดบังไว้ แต่กลับมีความเฉียบคมและเป็นลำดับการณ์ ให้เราสามารถรับรู้ถึงการสัมผัสและประทับอยู่ของพระเป็นเจ้าในชีวิตได้ ท่านได้บันทึกในช่วงบั้นปลายของชีวิตไว้ว่า “ข้าแต่พระเจ้า พระองค์ทรงอยู่ภายในข้าฯ หากปราศจากการพบกับพระองค์ ข้าฯก็คงไร้ซึ่งความรักและไม่ใส่ใจความสวยงามที่พระองค์ทรงสร้าง พระองค์ประทับอยู่กับข้าฯ หากแต่ข้าฯ ไม่ได้ประทับอยู่กับพระองค์ (คำสารภาพบาป บทที่ 10, 27.38) ยิ่งไปกว่านั้นพระเจ้าทรงเชื้อเชิญให้เราเพาะบ่มชีวิตภายใน เพื่อแสวงหาในสิ่งที่มนุษย์พึงแสวงหา “จงกลับเข้ามาในตัวของเจ้าเอง เพราะมนุษย์ที่เดินทางเข้าสู่ชีวิตภายใน เขาจะดำรงอยู่กับความจริง” (จงกลับสู่ชีวิตภายใน บทที่ 39, 72) พ่ออยากเชิญชวนพวกลูก รวมทั้งตัวพ่อเองว่า “จงหวนกลับเข้าสู่ภายในของตนเอง อ่านเรื่องราวในชีวิต อ่านความเป็นตัวตนของท่าน แล้วการเดินทางจะเริ่มขึ้น ในความสงบเงียบ จงกลับเข้าสู่ภายในของท่านเอง”
เฉกเช่นกับประสบการณ์ของนักบุญออกุสติน บ่อยครั้งเราพบว่า เราถูกคุมขังด้วยความคิดที่แชเชือน บางทีเราคิดด้อยค่าตนเองอยู่บ่อยๆว่า “ฉันเป็นคนที่ไม่มีค่าอะไร” มีประโยคที่ทำให้เราหมดกำลังใจเช่น “ทำไมทุกสิ่งทุกอย่างมันผิดพลาดไปหมด” หรือ “ฉันไม่เคยประสบความสำเร็จอะไรเลยที่น่าจดจำในชีวิต” และบางทีชีวิตก็เป็นเช่นนี้ มีความคิดในเชิงลบที่ทำให้เรารู้สึกท้อถอยและหมดกำลังใจ การอ่านชีวิตของตน ทำให้เราระลึกถึงพิษร้ายในใจ แต่ในทางกลับกันเราจะเข้าใจชีวิตมากขึ้น จนสามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ เข้าใจถึงความซับซ้อนซ่อนเงื่อน และในที่สุด จะเข้าใจถึงวิถีทางของพระเป็นเจ้าที่ทรงกระทำอย่างเงียบๆในชีวิตของเรา ตัวพ่อเองเคยรู้จักคนๆนึง แม้เขาจะมีความสามารถมาก ถึงกับสมควรที่จะได้รับรางวัลโนเบล แต่เขากลับมีทัศนคติในเชิงลบมาก เขามองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเลวร้ายไปหมด ทุกสิ่งอย่างจริงๆ เขาชอบที่จะด้อยค่าตนเองอยู่เสมอ และมีความรู้สึกขื่นขมอยู่ตลอดเวลา ภายหลังชายผู้นี้เข้าไปหาคนที่จะปรึกษาด้วย ทุกๆครั้งที่เขาบ่นให้กับที่ปรึกษาคนนี้ ที่ปรึกษาก็จะตอบว่า “เอาล่ะ ถึงเวลาเชดเชยแล้ว! ไหนลองเล่าเกี่ยวกับสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นในตัวท่านบางสิ” แล้วชายคนนี้ก็จะตอบว่า “อืม ตัวฉันก็มีคุณสมบัติที่ดีเช่นกัน” และทีละเล็กทีละน้อย เขาก็ก้าวหน้าต่อไปหลุดพ้นจากความคิดแย่ๆของตน สำหรับพวกเราเอง ในยามที่เราอ่านเรื่องราวในชีวิตของตน เราควรที่จะมองชีวิตทั้งในแง่ร้ายและแง่ที่ดีควบคู่กันไป และในแง่ดีนี้แหละ เป็นเมล็ดพันธุ์ที่พระเจ้าทรงหว่านไว้ในชีวิตของเรา
การพิจารณาไตร่ตรองนั้น ต้องมีการเล่าเรื่องราวในชีวิต ไม่ใช่แค่การตัดสินใจเพียงอย่างเดียว หากแต่นำเรื่องราวของชีวิตเข้ามาสู่บริบทของการตัดสินใจด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ถามตนเองว่า ฉันมีความรู้สึกอะไรในขณะนี้ และความรู้สึกนี้มาจากไหนกัน? ฉันกำลังทำอะไรอยู่ และฉันกำลังคิดอะไร? ฉันเคยเป็นเช่นนี้มาก่อนหรือไหม? มีสิ่งใหม่ๆในความคิดของฉันไหม? หรือฉันเคยเป็นแบบนี้อยู่บ่อยๆ หรือเหล่า? ทำไมคนอื่นๆ ไม่เป็นแบบฉัน? เรื่องราวในชีวิตกำลังบอกอะไรกับฉันอยู่กันแน่?
การหยุดทบทวนเหตุการณ์ต่างๆ ช่วยทำให้เราเห็นความแตกต่างและรายละเอียดที่ถูกเปิดเผยและเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ตัวอย่างเช่น การอ่านหนังสือ การช่วยเหลือผู้อื่น และการเผชิญหน้ากับตนเอง บางทีก็เป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน แต่พอผ่านไปเรื่อยๆ กลับทำให้เราประสบการณ์ของความสงบภายใน ซึ่งส่งผ่านความประสบสุขแห่งชีวิต และการสร้างสรรค์ในอนาคต จงหยุดบ้างเถอะและยอมรับว่า สิ่งนี้เป็นแก่นแท้ของชีวิต จงหยุดบ้างเถอะและยอมรับว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งจำเป็น สำหรับการพิจารณาไตร่ตรอง เป็นหน้าที่ของพวกเราที่จะต้องรวบรวมไข่มุก ที่พระเป็นเจ้าทรงหว่านไว้ภายใต้ผืนดินของเรา
สิ่งที่ดีงามมักจะถูกซ่อนเร้นไว้อยู่เสมอ เพราะความดีงามนั้นละเอียดอ่อน และถูกบิดบังไว้ ความดีงามมันหลบอยู่ในความเงียบงัน ค่อยๆ ถูกขุดขึ้นมาอย่างช้าๆ เป็นพระเป็นเจ้าที่ทรงกระทำอย่างรอบคอบ เป็นพระเจ้าที่เรามองไม่เห็น แต่พระองค์ทรงดำเนินแผนการของพระองค์อยู่เงียบๆ ภายใต้ดุลยพินิจของพระองค์ พระองค์ไม่ทรงปรารถนาที่จะยัดเยียดสิ่งใดให้เรามนุษย์ พระองค์เปรียบเสมือนอากาศที่เรากำลังหายใจอยู่ เป็นสิ่งที่มองไม่เห็นแต่จำเป็นต่อชีวิต เพราะเราจะคิดถึงมันในยามที่เราไม่มีอากาศหายใจเท่านั้น
การพบปะและทบทวนอ่านชีวิตของตน สอนให้เราเห็นภาพที่ใหญ่และชัดเจนขึ้น และสามารถรับรู้ถึงสิ่งน่าอัศจรรย์ที่พระเจ้าทรงกระทำต่อเราในทุกๆ วัน ยามที่เราคิดได้เช่นนี้แล้ว ทำให้เกิดรสชาดภายใน มีความเข้มแข็ง สันติ และความคิดสร้างสรรค์ ยิ่งไปกว่านั้น ทำให้เราเป็นอิสระมากขึ้นจากพิษร้ายต่างๆของชีวิต เป็นคำกล่าวอย่างปรีชาฉลาดที่ว่า มนุษย์ที่ไม่รู้จักวิถีทางเก่าของตน เขาก็จะทำมันซ้ำๆ น่าแปลกใจทีเดียว ถ้าเราไม่รู้ว่าเรากำลังดำเนินชีวิตอย่างไรและมันจะพาเราไปที่ไหน เราก็จะทำมันซ้ำๆอยู่ตลอดเรื่อยๆ เป็นวงกลม ใครก็ตามที่เดินวกไปวกมา เขาก็ไม่สามารถก้าวหน้าต่อไปได้ มันไม่ใช่การเดินทาง แต่เป็นเหมือนกับสุนัขที่ไล่กัดหางของตัวเอง วิ่งไปเรื่อยๆ และทำสิ่งซ้ำๆ
เราควรจะถามตัวเราเองว่า เราเคยคิดทบทวนชีวิตของเราร่วมกับคนอื่นบ้างหรือเปล่า นี่เป็นประสบการณ์ที่ดี ที่จะหาเพื่อนคุยอย่างจริงจัง เล่าเรื่องที่สำคัญในชีวิต นับเป็นการสื่อสารที่งดงามและปฎิสัมพันธ์ที่ดี การทบทวนชีวิตทำให้เราค้นพบสิ่งที่เราไม่เคยรู้มาก่อนตราบจนบัดนี้ บางทีก็เป็นสิ่งเล็กน้อยและเรียบง่าย ดังเช่นพระวรสารที่กล่าวไว้ว่า ในความเล็กน้อยนี้ สิ่งยิ่งใหญ่ได้บังเกิดขึ้นแล้ว (เทียบ ลก. 16,10)
ชีวิตของบรรดานักบุญได้สร้างบรรทัดฐานไว้ ว่าพระเป็นเจ้าได้ทรงช่วยเหลือและกระทำการอย่างไรในชีวิตของพวกเขา สิ่งนี้อนุญาตให้เรามีความคุ้นเคยกับการกระทำของพระองค์ แบบอย่างความประพฤติของบรรดานักบุญ เป็นความท้าทายและแสดงให้พวกเราเห็นถึงความหมายและโอกาสใหม่ๆ ตัวอย่างของนักบุญอิกญาซีโอ แห่งโลโยลา เมื่อท่านอธิบายถึงพื้นฐานของการค้นพบในชีวิตของท่าน ท่านอธิบายอย่างชัดเจนว่า บางความคิดที่หลงเหลืออยู่ในใจก็ทำให้ท่านเศร้าหมอง บ้างก็ทำให้มีความเบิกบานใจ แต่ทีละเล็กที่ละน้อย ท่านสามารถแยกแยะความคิดต่างๆ แยกแยะจิตวิญญาณ ว่าอะไรที่ทำให้ใจของท่านหวั่นไหว (เทียบ “อัตชีวประวัติ” ข้อที่ 8) จงรับรู้ว่าอะไรเกิดขึ้นภายในเรา จงรับรู้และตระหนักเถิด
การพิจารณาไตร่ตรอง คือการอ่านเรื่องเล่าของอุบัติการณ์ที่ดีและดำมืดในชีวิต เป็นความบรรเทาและความเปล่าเปลี่ยว เราทุกคนล้วนมีประสบการณ์อย่างที่กล่าวมานี้ ในระหว่างที่เราพิจารณาและไตร่ตรอง เป็นหัวใจของเราเองที่พูดเกี่ยวกับพระเป็นเจ้า เราต้องเรียนรู้ที่จะเข้าใจภาษานี้ก่อนที่วันนี้จะผ่านพ้นไป ตัวอย่างเช่น วันนี้เกิดอะไรขึ้นในใจของเรา? เป็นคล้ายๆกับการพิจารณามโนธรรม หรือการจดบันทึกความบาปที่เราได้กระทำ แม้เราจะทำอะไรต่างๆ มากมาย แต่อย่าลืมที่จะถามตัวเองว่า เกิดอะไรขึ้นกับฉัน? ฉันมีความสุขหรือเปล่า? อะไรทำให้ฉันมีความสุข? หรือฉันเศร้า? อะไรเป็นเหตุของความเศร้า? และโดยวิถีทางนี้ เราเรียนรู้ที่จะพิจารณาไตร่ตรอง สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต
Discernment 06: ปัจจัยของการพิจารณาไตร่ตรอง หนังสือแห่งชีวิตของตน
Discernment 07: หัวข้อของการพิจารณาไตร่ตรอง ความเปล่าเปลี่ยวใจ
Discernment 05: ปัจจัยของการพิจารณาไตร่ตรอง ความปรารถนา
- Discernment 01: ความหมายของ “การพิจารณาไตร่ตรอง”
- Discernment 02: แบบอย่างของนักบุญอิกญาซิโอ แห่งโลโยลา
- Discernment 03: ปัจจัยของการพิจารณาไตร่ตรอง ความคุ้นเคยกับองค์พระเจ้า
- Discernment 04: ปัจจัยของการพิจารณาไตร่ตรอง การรู้จักตัวเอง
- Discernment 05: ปัจจัยของการพิจารณาไตร่ตรอง ความปรารถนา
- Discernment 06: ปัจจัยของการพิจารณาไตร่ตรอง หนังสือแห่งชีวิตของตน
- Discernment 07: หัวข้อของการพิจารณาไตร่ตรอง ความเปล่าเปลี่ยวใจ