Skip to main content

คำสอน 
"การพิจารณาไตร่ตรอง"
(Catechesis on Discernment)

Discernment 13: พระวาจา และพระจิตเจ้า

บทความ, ชีวิตฝ่ายจิต, Discernment

book

13. พระวาจา และพระจิตเจ้า

ปาฐกถาโดยพระสันตะปาปาฟรังซิส วันพุธที่ 21 ธันวาคม 2022
ถอดความโดย คพ. วรวุฒิ สารพันธุ์ C.Ss.R.

อรุณสวัสดิ์พี่น้องชายหญิงที่รัก พ่อขอต้อนรับทุกท่าน

เรามาต่อกันเรื่องคำสอนการพิจารณาไตร่ตรอง และเรากำลังเข้าสู่บทสรุปของคำสอนนี้ สำหรับผู้ที่ติดตามเป็นประจำก็อาจจะบ่นว่าการพิจารณาไตร่ตรองนั่นมีขั้นมีตอนยุ่งยากเสียเหลือเกิน เป็นความจริงที่ว่า ชีวิตนั่นมีความยุ่งยากอยู่เสมอ แต่ถ้าเราไม่รู้จักเรียนรู้และจัดการกับความยุ่งยากนี้ เราเองก็จะเสี่ยงที่จะใช้ชีวิตอย่างไร้แก่นสาน และจบลงด้วยหัวใจวันว่างเปล่า

ในช่วงแรกๆที่พ่อได้แบ่งปันเรื่องนี้ พ่อได้ชี้ให้เราเห็นว่าการพิจารณาไตร่ตรองนั้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของเราอยู่แล้ว ไม่ว่าเราจะรับรู้หรือไม่ก็ตาม แต่ทุกครั้งที่เรารับประทานอาหาร อ่านหนังสือ ทำงาน สร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น หรือไม่ว่าจะอยู่ในกิจกรรมใด เราจำต้องตัดสินใจในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าเราเลือกโดยไม่ระมัดระวังแล้ว เราก็จะตกอยู่ในวิถีแห่งชีวิตที่เราไม่พึงปรารถนา

การพิจารณาไตร่ตรองก็เป็นอย่างหนึ่ง แต่ก็ยังมีตัวช่วยอีกหลายๆประการที่ขาดเสียไม่ได้ ซึ่งช่วยให้เราพิจารณาไตร่ตรองได้ถึงระดับจิตวิญญาณ ปัจจัยที่ว่ามานี้พ่อก็ได้อธิบายหมดแล้ว แต่ก็เป็นการดีที่พ่อจะสรุปให้เราฟัง จะช่วยได้มากเลยทีเดียว

ตัวช่วยที่เราจะขาดเสียไม่ได้คือ “พระวาจาพระเจ้า” และ “ข้อคำสอนของพระศาสนจักร” สิ่งสองประการนี้ทำให้เราสามารถอ่านหัวใจของเราได้ เราจะได้ยินเสียงของพระเจ้า แยกแยะเสียงของพระองค์ออกจากเสียงใดๆที่ทำให้เราไขว้เขวและสับสน ข้อความในพระคัมภีร์เตือนให้เราฟังเสียงของพระองค์ เป็นเสียงที่อยู่ในความเงียบสงัด ทำให้เราตั้งใจและรู้สึกสงบมากขึ้น ดังเช่นประกาศกเอลียาห์ในยามที่รับฟังพระวจนะของพระเจ้า พระองค์ไม่ทรงตรัสกับท่านในลมวายุพัดถล่มภูผา หรือในไฟกัมปนาท หรือในยามที่แผ่นดินสั่นไหว แต่พระองค์ตรัสกับท่านประกาศกในสายลมอันแผ่วเบา (อ้างถึง 1 พงษ์กษัตริย์ 19, 11-12) นี้คือภาพอันงดงามในยามที่เราสดับฟังเสียงของพระองค์ ไม่ใช่เสียงที่คะยั่นคะยอ แต่กลับสุขุมลุ่มลึกและน่าเคารพยกย่อง พ่อพูดเลยได้ว่า พระสุรเสียงของพระองค์นั้นเต็มเปี่ยมไปด้วยความสุภาพอ่อนโยน เพราะเหตุนี้เอง ก่อให้เกิดสันติสุขในใจ เป็นสันติที่นำพาเราเข้าสู่ตัวตนของเราอย่างลึกซึ้ง เข้าไปถึงแรงปรารถนาที่แท้จริงของหัวใจ แรงปรารถนานี้แหละที่พระเจ้าทรงวางฝากไว้ในใจของเรา การเข้าสู่สภาวะสันตินี้ดูจะเป็นเรื่องที่ยากเพราะพวกเราต่างวุ่นวายกับกิจกรรมต่างๆในแต่ละวัน แต่พ่อขอร้องให้พวกเราเรียนรู้ที่จะหยุดนิ่งนี้สักครู่ ดำดิ่งสู่หัวใจ อยู่กับตนเองสักสองสามนาที ให้สัมผัสถึงความรู้สึกนึกคิดของจิตใจ ขอให้ปฏิบัติสิ่งนี้เถิดพี่น้องชายหญิงที่รัก เพราะในช่วงแห่งความสงบนี้จะช่วยให้เราสดับรับฟังพระสุรเสียงของพระเจ้าที่ตรัสกับเราว่า “ดีมากลูกเอย จงพิศดูสิ่งนี้เถิด เพราะลูกกำลังทำสิ่งที่ดีอยู่...” จงอนุญาตให้พระสุรเสียงของพระองค์ก่อเกิดขึ้นจากความสงบอันนี้ เพราะพระองค์ทรงเฝ้ารอคอยพวกเราอยู่

สำหรับผู้มีความเชื่อแล้ว พระวาจาของพระเจ้าไม่เป็นเพียงแค่ข้อความที่เราได้อ่าน แต่พระวาจาของพระองค์ทรงชีวิต เป็นผลงานของพระจิตเจ้าที่ให้ความบรรเทาใจ สั่งสอน ส่องแสงสว่าง ประทานพลังกำลัง ให้ความบรรเทาใจ และเป็นความสุขสรรค์ของชีวิต การอ่านพระวาจาสักสองสามประโยค เป็นเสมือนแมสเสจที่พระองค์ทรงส่งตรงเข้าสู่จิตใจของพวกเราโดยทันทีทันใด พ่อคงไม่กล่าวเกินจริงว่า พระวจนะของพระองค์คือรสสัมผัสแห่งสวรรค์ดีๆนั่นเอง นักบุญอัมโบรสผู้อภิบาลผู้ยิ่งใหญ่พระสังฆราชแห่งมิลาน ท่านเข้าใจสิ่งนี้เป็นอย่างดี ท่านกล่าวว่า “ในยามที่ข้าพเจ้าอ่านพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นพระเจ้าทรงดำเนินอยู่ในสรวงสวรรค์” (จดหมายของท่าน 49,3) คำพูดนี้น่าสนใจทีเดียว เพราะเราสามารถการอ่านพระคัมภีร์เพื่อใช้เปิดประตูสู่พระเจ้า และเป็นพระองค์เองทรงร่วมดำเนินในวิถีทางนี้

ความคุ้นเคยกับการอ่านพระคัมภีร์ พระวรสาร พระวาจาของพระเจ้า เป็นความคุ้นเคยทำให้เรามีความสนิทสัมพันธ์กับองค์พระเยซูคริสต์ พระองค์จะตรัสกับเราว่า อย่ากลัวไปเลย เป็นพระดำรัสจากใจถึงใจ สิ่งนี้ทรงคุณค่าและหาอะไรมาเปรียบได้เลย จงอย่าดูแคลนและไม่เห็นคุณค่าของการอ่านพระวาจานี้ เพราะบางที มนุษย์อาจจะมีภาพของพระเจ้าที่บิดเบี้ยวไป พวกเขาอาจจะเข้าใจว่าพระองค์เป็นตุลาการที่เย็นชาไร้ความปราณี คอยแต่จะจ้องจับผิดมนุษย์ ตรงกันข้าม พระเยซูเจ้าทรงสำแดงให้เราเห็นว่าพระเจ้าเป็นผู้มีพระทัยเมตตาและทรงมีพระทัยอ่อนหวาน พร้อมที่จะสละชีวิตเพื่อเรา ดังเช่นบิดาผู้ใจดีในนิทานเปรียบเทียบเรื่องลูกล้างผลาญ (อ้างอิง ลก. 15,11-32) บางทีก็มีคนมากล่าวเปรยกับพ่อว่า “คับคลายคับคลาว่า แม่หรือยายของพวกเราบอกให้ถามพระเจ้า ในเวลาที่พวกเราสับสน ให้ฟังว่าเสียงของพระเจ้าว่า พระองค์ประสงค์ให้พวกเราทำอะไรบ้าง?” พ่อว่ามันเป็นคำแนะนำที่ดีเยี่ยมเลยทีเดียว เพราะพ่อจำได้ดี ครั้งหนึ่ง ในทุกๆปีจะมีกลุ่มเยาวชนมาแสวงบุญกันที่สักการสถานพระแม่แห่งลูจาน ประมาณ 70 กม. ห่างจากบูนอส ไอเรส ซึ่งใช้เวลาทั้งวันในการเดินทางแสวงบุญครั้งนี้ พ่อได้ไปฟังแก้บาปที่นั่นในตอนเย็น อยู่ๆก็มีเยาวชนหนุ่มอายุ 22 ปีเดินมาหาพ่อ... “โอ้วพระเจ้า” ในใจพ่อคิด “เค้าเป็นใครกัน (เพราะเขามีรอยสักอยู่เต็มไปหมด)” แล้วเขาก็พูดว่า “คุณพ่อทราบไหมครับ ว่าผมมาที่นี่เพราะผมมีปัญหาใหญ่เลยทีเดียว ผมได้เล่าให้แม่ฟัง แล้วแม่ก็บอกให้ผมมาหาแม่พระที่นี่เพื่อให้แม่พระทรงช่วย แล้วผมก็มา ผมได้สัมผัสถึงพระวาจาในพระคัมภีร์ ผมได้ฟังเสียงของพระเจ้า ซึ่งได้สัมผัสหัวใจของผม บอกผมว่าต้องทำอย่างนู้นอย่างนี้ ผมได้รับคำตอบแล้ว!” พระวาจาของพระเจ้าจะสัมผัสหัวใจของเราและทำการเปลี่ยนแปลงชีวิต พ่อเห็นเหตุการณ์เช่นนี้อยู่บ่อยครั้ง เพราะพระเจ้าไม่ทรงปรารถนาทำลายชีวิต หากแต่พระองค์ปรารถนาให้เรามีความเข้มแข็งและก้าวหน้ามากยิ่งๆขึ้น ในทุกๆวัน

ผู้ใดก็ตามที่ “อยู่ต่อหน้าไม้กางเขน” เขาหรือเธอจะอยู่ในที่ที่เป็นสันติแห่งใหม่ของหัวใจ ผู้นั้นจะได้เรียนรู้และจะไม่รู้สึกหวาดกลัวต่อองค์พระเจ้า เพราะพระบุตรเองไม่ได้ทรงทำให้ผู้ใดหวาดกลัวพระองค์ บนไม้กางเขนเราเห็นภาพของพระเจ้าที่ทรงอ่อนแอที่สุด หากแต่เต็มไปด้วยความรัก พร้อมที่จะเผชิญทุกสิ่งเพื่อพวกเรามนุษย์ บรรดานักบุญเองก็ชอบอธิฐานภาวนาอยู่ต่อหน้าไม้กางเขน เพราะพระมหาทรมานของพระเจ้าเป็น “หนทางที่แน่นอนที่สุด” เพื่อที่จะเอาชนะความชั่วร้าย แม้จะเป็นความชั่วร้ายที่ยิ่งใหญ่สักเพียงใดก็ตาม ที่นั่นจะไม่มีการตัดสินลงโทษและไม่มีการถอยหนี จะมีแต่ลำแสงที่ส่องทะลุเข้ามาในจิตใจ เป็นแสงแห่งปัสกา แม้เราอยู่ในสถานการณ์ที่ร้ายกาจสักเพียงใด เราก็จะเห็นแผนการอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้า เพราะปัญหาหรืออุปสรรคใดๆเลยจะมายับยั้งแผนการของพระองค์ได้ พระวาจาของพระเจ้าทรงเปิดตาให้เราเห็นอีกมุมมองหนึ่งอยู่เสมอ จริงอยู่ไม้กางเขนอยู่ที่นั่น แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้น เราเห็นความหวังแห่งการกลับคืนชีพ พระวาจาพระเจ้าทรงเปิดประตูเพราะองค์พระคริสต์เองทรงเป็นประตู พ่อขอเชิญชวนให้พวกเรายิบพระวาจาขึ้นมาอ่านสัก 5 นาทีก็ยังดีเป็นอย่างน้อย นำพระวาจาติดตัวไว้ ควรมีพระคัมภีร์พกติดกระเป๋าอยู่เสมอ ยามเมื่อลูกต้องเดินทาง อ่านมันสักหน่อยในระหว่างวัน ให้พระวาจานี้นำพาหัวใจของเรา ถ้าลูกหัดทำมันลูกก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงในชีวิตด้วยพระวาจานี้ “ผมเห็นด้วยครับ แต่ผมก็ชอบอ่านประวัตินักบุญเช่นกัน” ดีมาก อ่านต่อไป แต่อย่าละเลยที่จะอ่านพระวาจาของพระเจ้าด้วยเช่นกัน นำพระวาจานี้พกติดตัวไว้ตลอดเวลา พยายามอ่านพระวาจานี้ แม้เพียงแค่นาทีเดียวก็ยังดี

สิ่งนี้ทำให้เราคิดถึงการช่วยเหลืออันยิ่งใหญ่ ด้วยพระหรรษทานแห่งพระจิตเจ้า พระองค์สถิตกับเราและทรงสั่งสอนเราอยู่เสมอ เป็นพระจิตเจ้าทรงทำให้พระวาจาของพระเจ้ามีชีวิตชีวาขึ้นมา ให้ความหมายใหม่ๆแก่เรา เปิดประตูใดๆที่ดูเหมือนว่าจะถูกปิดอยู่ สำแดงหนทางแม้ในยามที่ชีวิตจะมืดมนและสับสน พ่อจึงต้องถามลูกว่า ลูกได้ภาวนาต่อพระจิตเจ้าบ้างหรือไม่? เป็นพระเจ้าที่เราได้ละเลยไป จริงที่ว่าเราสวดภาวนาต่อพระบิดาเจ้า เราอธิฐานถึงพระเยซูเจ้า แต่บางทีเราลืมองค์พระจิต พ่อเคยถามเด็กๆในชั้นเรียนคำสอนว่า “ใครรู้บ้างว่าพระจิตเจ้าเป็นใครกัน?” แล้วก็มีหนูน้อยคนหนึ่งตอบว่า “หนูรู้ หนูรู้” - “ใครกับหรือ” – “คนพิการไงครับ (paralytic อ่านว่า ‘พาราเลติก)” เด็กชายนั่นตอบ เพราะเขาคับคล้ายคับคลากับคำที่เรียกพระจิตเจ้าว่า “พาราครีต (paraclete)” ซึ่งมันออกเสียงคล้ายๆกันในภาษาอังกฤษ อย่างไรก็ดี คำตอบของเด็กน้อยนี้ทำให้พ่อได้ฉุดคิด แม้เราจะไม่สัมผัสกับพระองค์เป็นตัวเป็นตน แต่พระองค์ทรงมอบชีวิตชีวาให้แก่วิญญาณมนุษย์ เราต้องเปิดรับพระองค์เข้ามาในชีวิตอยู่เสมอ เพราะยามใดที่เรากล่าวถึงพระบุคคลแห่งพระจิต เราก็กล่าวถึงพระบิดาและพระบุตร พระเจ้าหนึ่งเดียวแต่สามพระบุคคลแบ่งแยกไม่ได้เลย มิฉะนั้นก็จะขาดตกบกพร่องพิการไป

เป็นพระจิตเจ้าที่ทรงประทานพลังกำลังที่เข้มแข็งให้แก่พระศาสนจักร ทรงทำให้เราก้าวไปข้างหน้า แม้เราจะผ่านการพิจารณาไตร่ตรองแล้วแต่เป็นพระจิตที่ทำให้เราลงมือกระทำ พระองค์เป็นประดุจของขวัญที่วิเศษสุดที่พระบิดาทรงประทานให้แก่ผู้วอนขอจากพระองค์ (อ้าง ลก. 11,13) แล้วพระบุตรตรัสถึงพระองค์ว่าอย่างไร? “พระหรรษทาน” – “พวกเขายังอยู่ที่กรุงเยรูซาเรมและรอคอยพระหรรษทานจากพระเจ้า” นั่นก็คือพระจิตเจ้า จงให้ชีวิตของเราเป็นเพื่อนกับพระจิตเจ้า เพราะพระองค์จะทรงเปลี่ยนท่านและทำให้ท่านได้เติบโตยิ่งขึ้น

ในยามที่เราสวดทำวัตรเรามักจะกล่าวว่า “ข้าแต่พระเจ้า โปรดเสด็จมาช่วยเหลือข้าพเจ้า โปรดเสด็จมาประทับอยู่กับข้าพเจ้า” การวอนขอถึงความรอดฝ่ายวิญญาณนั้น ไม่ได้ลอยมาจากก้นบึ้งภายในของเราเอง เพราะปราศจากพระองค์ เราไม่สามารถก้าวไปข้างหน้า ไม่สามารถรัก หรือดำเนินชีวิตได้เลย เป้าประสงค์ของการพิจารนาไตร่ตรองคือ การรับรู้ถึงความรอดพ้นที่พระเจ้าได้ทรงกระทำในชีวิตของพวกเรา เพราะค่าของความรอดนั้นสูงส่ง ขีวิตเลยต้องลำบากจำทนเราก็ไม่ได้อยู่อย่างเดียวดาย พระจิตเจ้าทรงอยู่กับพวกเราอยู่เสมอ ให้เรากล่าวว่า “ข้าแต่พระบิดาเจ้า เพราะลูกได้กระทำสิ่งชั่วช้า ลูกจำต้องไปรับศีลอภัยบาป มิฉะนั้นลูกจะทำอะไรไม่ได้เลย...” แม้บาปมันจะสาหัสสากรรจ์เพียงใด จงเอื้อนเอ่ยวาจาต่อพระจิตเจ้าผู้ทรงประทับอยู่กับท่านแล้ว ให้พูดว่า “โปรดช่วยลูกด้วย เพราะลูกได้กระทำสิ่งชั่วร้าย” จงอย่าหยุดที่จะพูดคุยและอธิฐานกับพระองค์ หรือจะพูดว่า “ข้าพเจ้าพระบิดา ลูกได้ทำบาปหนัก” จงอธิฐานต่อไป จงอย่าหยุดบทสนทนากับองค์พระจิต เพราะในความช่วยเหลือของพระเจ้า เราไม่ต้องหลาดกลัวอีกต่อไป จงก้าวหน้าต่อไป จงมีจิตใจที่เข้มแข็ง และจงรื่นเริงและหรรษทาน

 

book

Discernment 13: พระวาจา และพระจิตเจ้า

◀️ Discernment 14: สรุปบทสอนของพระสันตะปาปาฟรังซิส

Discernment 12: การตื่นเฝ้า ▶️