Skip to main content

คำสอน 
"การพิจารณาไตร่ตรอง"
(Catechesis on Discernment)

Discernment 04: ปัจจัยของการพิจารณาไตร่ตรอง การรู้จักตัวเอง

บทความ, ชีวิตฝ่ายจิต, Discernment

book

4. ปัจจัยของการพิจารณาไตร่ตรอง การรู้จักตนเอง
(The elements of discernment. Self-knowledge)

ปาฐกถาโดยพระสันตะปาปาฟรังซิส วันพุธที่ 5 ตุลาคม 2022

ถอดความโดย คพ. วรวุฒิ สารพันธุ์ C.Ss.R.



อรุณสวัสดิ์พี่น้องชายหญิงทุกท่าน

     เรามาเริ่มที่จะค้นหาธีมเรื่องของการพิจารณาไตร่ตรอง ครั้งที่แล้วเราพูดถึงเรื่องการอธิษฐานภาวนา เป็นความคุ้นเคยและความมั่นใจในองค์พระผู้เป็นเจ้า และเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดต่อการพิจารณาไตร่ตรองนี้ จงสวดภาวนาอย่าให้เหมือนนกแก้วนกขุนทอง แต่จงสนทนาอย่างคุ้นเคยและมั่นใจกับพระเจ้า เป็นดั่งคำพูดของเด็กน้อยสู่ผู้เป็นบิดา ด้วยหัวใจอันเปิดกว้าง นี่คือคำสอนที่พ่อได้แบ่งปันในครั้งที่แล้ว วันนี้พ่ออยากจะเพิ่มอะไรสักหน่อย วันนี้จะเน้นที่ “การรู้จักตัวเอง” เป็นสิ่งที่จะช่วยให้เราพิจารณาไตร่ตรองได้อย่างดี มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะรู้จักตนเอง เพราะการพิจารณาไตร่ตรองเกี่ยวข้องกับความเป็นมนุษย์ทั้งครบ คือ ความทรงจำ (memory)  สติปัญญา (intellect) เจตจำนงเสรี (will) และความชื่นชอบตามประสามนุษย์ (affection) หลายครั้งที่เราไม่สามารถที่จะพิจารณาไตร่ตรองได้เพราะเราไม่รู้จักตัวเองเพียงพอ เราได้ยินคนพูดอยู่บ่อยๆว่า “ทำไมคนนี้ไม่รู้จักจัดการกับเรื่องของตนเอง อาจเป็นเพราะเขาไม่รู้ว่าเขาต้องการอะไรในชีวิต?” แม้กรณีสุดโต่งนี้จะไม่เกิดขึ้นกับพวกเรา แต่บางครั้งเราก็ไม่รู้ว่าเราต้องการอะไร เพราะเราไม่รู้จักตัวเองอย่างเพียงพอ 

    บ่อยครั้งปัญหาเหล่านี้ก็เกิดขึ้น ความเคลือบแคลงฝ่ายวิญญาณและวิกฤตของกระแสเรียก อาจเป็นเพราะขาดจุดเชื่อมระหว่างชีวิตฝ่ายศาสนาและความเป็นมนุษย์ ขาดจุดเชื่อมระหว่างความนึกคิดและความต้องการตามประสามนุษย์ บรรดานักเขียนชีวิตฝ่ายจิตบอกพวกเราเสมอถึงปัญหาข้อนี้ โดยเฉพาะในเรื่องการพิจารณาไตร่ตรอง ข้าพเจ้ามาถึงจุดที่มั่นใจว่า อุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของการพิจารณาไตร่ตรอง (รวมไปถึงความเติบโตในชีวิตภาวนา) โดยแท้จริง ไม่ใช่เป็นเพราะมนุษย์เอื้อมไม่ถึงพระธรรมชาติพระเป็นเจ้า แต่เป็นเพราะพวกเขาไม่รู้จักตนเองอย่างเพียงพอ และพวกเขาก็ไม่ปรารถนาที่จะรู้ด้วยซ้ำไป ส่วนใหญ่พวกเราชอบที่จะปิดบังตนเองอยู่ภายใต้หน้ากาก ไม่ใช่เฉพาะยามที่เราอยู่ต่อหน้าคนอื่น แม้แต่ตอนที่เรามองตนเองในกระจก เราก็ยังใส่หน้ากากอยู่ (อ้างอิงจาก หนังสือ “ข้าวสาลีท่ามกลางข้าวละมาน” โดยโทมัส เอช. กรีน) เราถูกประจญให้ใส่หน้ากาก แม้กระทั่งยามที่ต้องเผชิญหน้ากับตนเอง

     ยามที่เราลืมนึกถึงการประทับอยู่ของพระเป็นเจ้าในชีวิต เป็นตัวเราเองที่โง่เขลาเบาปัญญา การปฏิเสธพระเจ้าก็คือการปฏิเสธตัวเราเอง รวมไปถึงการปฏิเสธที่มาของตัวตนและความปรารถนาส่วนลึกในจิตใจ 

    แม้การรู้จักตัวเองไม่ได้ยากเย็นนัก แต่เราต้องมีมานะบากบั่น เป็นความอดทนที่จะเสาะแสวงหาทางจิตวิญญาณ เราต้องเรียนรู้ที่จะหยุดพักบ้าง เลิกใช้ชีวิตใน "ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ" การรู้จักตัวเองนั้นเรียกร้องความตระหนักรู้ว่าเรากำลังทำอะไร เรากำลังรู้สึกอะไร อะไรคือความย้ำคิดซ้ำไปมาและเป็นตัวกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ในชีวิต แม้แต่ความพยายามที่จะเข้าใจถึงจิตใต้สำนึกของเรา เราต้องรู้จักแบ่งแยกระหว่างอารมณ์ความรู้สึกและฝ่ายจิตวิญญาณ เพราะยามที่เรากล่าวว่า “ฉันรู้สึก” ไม่ได้มีความหมายบ่งบอกถึง “ฉันมีความมั่นใจ” หรือประโยคที่ว่า “ฉันรู้สึกคลับคล้ายว่า” ไม่เหมือนกับ “ฉันมีความต้องการ” ด้วยเหตุนี้ เราจำเป็นต้องพยายามเข้าใจว่า อะไรคือความจริงและอะไรคือสิ่งที่บิดเบือนในชีวิต ความเข้าใจนี้คือพระหรรษทานจากพระเป็นเจ้า แม้ในบางครั้งความจริงก็ถูกบิดเบือนไป เพราะเหตุการณ์ในอดีตที่เกิดขึ้นยังมีผลกระทบต่อเราทุกวันนี้ มันจำกัดเสรีภาพแห่งการค้นหาสิ่งที่จำเป็นจริงๆในชีวิตของเรา

     ในยุคคอมพิวเตอร์นี้  มันสำคัญที่จะต้องจำรหัสผ่านเพื่อที่จะเข้าไปในโปรแกรมและข้อมูลส่วนบุคคล ชีวิตฝ่ายจิตก็เช่นกันจำต้องมีรหัสผ่าน นั่นคือถ้อยคำที่สัมผัสหัวใจของเรา อาจเป็นถ้อยคำที่ทำให้จิตใจของเราสั่นไหว ผีปีศาจมันรู้ดีว่าถ้อยคำอะไรที่สามารถสั่นคลอนหัวใจของเรา เป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องรู้รหัสผ่านเข้าหัวใจนี้ด้วยเช่นกัน เพราะเราไม่อยากตกอยู่ภายใต้การประจญ คำพูดที่ผจญล่อลวงอาจไม่ได้พาเราไปทำเรื่องเลวร้าย แต่เป็นเรื่องไร้สาระที่ทำให้ดูเหมือนเป็นสิ่งที่จำเป็นในชีวิต พวกมันสะกดจิตเราให้หลงใหลไปกับสิ่งกระตุ้น มันดูสวยงามแต่เป็นมายาคติ มันไม่เคยมอบสิ่งดีที่เคยสัญญาไว้ และจบลงด้วยความว่างเปล่าและเศร้าหมอง ความรู้สึกว่างเปล่าและเศร้าหมองนี้เป็นสัญญาณที่บอกว่า หนทางที่ผ่านมามันไม่ถูกต้อง เราหลงทางไป สิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นเรื่องของ ความสำเร็จด้วยปริญญาบัตร หน้าที่การงาน ความสนิทสัมพันธ์ ความปรารถนาที่เราอยากได้รับการยกย่องสรรเสริญในทุกสิ่ง แม้เราจะไม่มีเวลา แต่เราก็เสี่ยงที่จะแสวงหามัน เป็นความคาดหวังที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้จริง ตัวอย่างเช่น เราต้องการคนมายืนยันว่าเรามีค่าพอ หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง ยามที่เราคิดถึงว่าเรากำลังศึกษาอะไร เราพยายามคิดว่าอยากรับการเลื่อนตำแหน่ง เพื่อเป็นประโยชน์แก่เราเอง หรือจะเป็นประโยชน์เพื่อช่วยเหลือสังคม จริงอยู่เราแต่ละคนมีความคาดหวังในชีวิต แต่ถ้าเราเข้าใจอะไรผิดไป มันจะนำมาซึ่งความระทมทุกข์ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นหลักประกันถึงศักดิ์ศรีของพวกเรา 

     ด้วยเหตุนี้พี่น้องชายหญิงที่รัก เราจำเป็นต้องรู้จักรหัสผ่านเข้าสู่หัวใจของพวกเรา ว่าเป็นสิ่งใดที่ทำให้หัวใจของเรารู้สึกสั่นไหว เพื่อที่เราจะสามารถปกป้องตัวเองจากคนที่ใช้ความอ่อนไหวนี้มาชักจูงเรา และเป็นความจำเป็นที่จะรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญในชีวิต เพื่อแยกแยะว่าอะไรเป็นสิ่งที่ล่องลอยชั่วคราว หรือเป็นเพียงเป็นวาทะกรรมที่ผิวเผิน หลายครั้งสิ่งที่เราได้ยินจากโฆษณาทางทีวี เรารู้สึกประทับใจและถูกจูงใจไปง่ายๆ จงระวังสิ่งเหล่านี้ เตือนใจตนเองบ่อยๆว่า ฉันมีอิสระอย่างแท้จริงหรือเปล่า ถ้ามีสิ่งใดเข้ามากระตุ้น ฉันจะไม่หลงไปกับความรู้สึก ณ ขณะนั้นง่ายๆ 

    ตัวช่วยที่สำคัญก็คือการพิจารณามโนธรรม แต่พ่อไม่ได้พูดถึงการพิจารณาบาปที่ว่า “ลูกทำบาปอย่างโน้นอย่างนี้” ไม่ใช่เลย แต่เป็นการพิจารณามโนธรรมประจำวัน ในช่วงวันที่ผ่านมานี้ เกิดอะไรขึ้นในใจของฉัน “มีหลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นในเช้านี้” มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง? และสาเหตุมันคืออะไร? สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ส่งผลกระทบต่อจิตใจฉันอย่างไร? เราต้องฝึกการพิจารณามโนธรรมให้เป็นนิสัย เป็นทักษะของการอ่านเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน เรียนรู้ที่จะเข้าใจถึงการประเมินและตัวเลือกที่สำคัญที่สุด ว่าเรากำลังแสวงหาอะไร และหาไปทำไม และจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราพบสิ่งเหล่านี้แล้ว เหนือสิ่งอื่นใด จงเรียนรู้ที่ค้นพบว่าสิ่งใดที่ทำให้หัวใจได้รับการเติมเต็ม เพราะมีเพียงพระเจ้าที่จะมอบความมั่นใจให้แก่เรา ว่าเรามีค่าเพียงพอสำหรับพระองค์ พระองค์ตรัสกับเราทุกๆวันบนไม้กางเขน ทรงสิ้นพระชนม์เพื่อเรา ทำให้เรารับรู้ว่า เรามีค่าเพียงพอในสายพระเนตรของพระองค์ มีสิ่งใดหรือที่จะเป็นอุปสรรค ทำให้อ้อมกอดอันอบอุ่นของพระเจ้าผิดพลาดไป การพิจารณามโนธรรมนี้ช่วยเราอย่างแท้จริง ทำให้เราตระหนักได้ว่า ชีวิตที่ผ่านมานี้ไม่ได้ไร้ความหมายแต่อย่างใด ไม่เลย สิ่งที่ผ่านมาในวันนี้? สิ่งที่เกิดขึ้น? เราตอบสนองมันอย่างไร? อะไรที่ทำให้เราเศร้า? อะไรที่ทำให้มีความสุข? อะไรเลวร้าย? หรือฉันทำร้ายคนอื่นหรือเปล่า? ฉันรู้สึกอย่างไรในหนทางที่ฉันเลือกในวันนี้? อะไรที่ดึงดูดความสนใจของฉัน จงระลึกเสมอว่าสิ่งจำเป็นสำหรับการพิจารณาไตร่ตรอง คือคำภาวนาและการรู้จักตนเอง

     การอธิษฐานภาวนาและการรู้จักตัวเองช่วยให้เราสามารถเติบโตในเสรีภาพ ซึ่งเป็นพื้นฐานของความเป็นคริสตชน และเป็นสิ่งล้ำค่าต่อการมีตัวตนในชีวิต

    พ่อขอขอบคุณ 

 

book

Discernment 04: ปัจจัยของการพิจารณาไตร่ตรอง การรู้จักตัวเอง

◀️ Discernment 05: ปัจจัยของการพิจารณาไตร่ตรอง ความปรารถนา

Discernment 03: ปัจจัยของการพิจารณาไตร่ตรอง ความคุ้นเคยกับองค์พระเจ้า ▶️