Skip to main content

คำสอน 
"การพิจารณาไตร่ตรอง"
(Catechesis on Discernment)

Discernment 09: ความบรรเทาใจ

บทความ, ชีวิตฝ่ายจิต, Discernment

book

9. ความบรรเทาใจ

(Consolation)

ปาฐกถาโดยพระสันตะปาปาฟรังซิส วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน 2022

ถอดความโดย คพ. วรวุฒิ สารพันธุ์ C.Ss.R.

อรุณสวัสดิ์ พี่น้องชายหญิงที่รัก

เรามาเรียนคำสอนกันต่อในหัวข้อของการพิจารณาไตร่ตรองฝ่ายวิญญาณ และเราจะรับรู้สิ่งที่อยู่ในหัวใจและวิญญาณของเราได้อย่างไร? ครั้งที่แล้ว เราศึกษาร่วมกันในแง่มุมต่างๆของความเปล่าเปลี่ยวใจ ซึ่งเป็นด้านมืดของวิญญาณ วันนี้เราจะคุยอีกด้านหนึ่งซึ่งเป็นเสมือนแสงสว่าง นั่นคือความบรรเทาใจ ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญของการพิจารณาไตร่ตรองด้วยเช่นกัน เช่นเดียวกับความเปล่าเปลี่ยวใจ หากเราไม่พยายามทำความเข้าใจความบรรเทาใจนี้ เราก็จะไม่อาจที่จะเห็นคุณค่าของมันได้เลย 

อะไรคือความหมายของความบรรเทาฝ่ายวิญญาณ? เบื้องต้น สิ่งนี้คือประสบกาณ์ของความสุขที่อยู่ภายใน เป็นประสบการณ์อันต่อเนื่องที่เราสัมผัสกับพระเจ้าในทุกๆสิ่ง ความบรรเทาใจทำให้เราทวีความเชื่อและความหวังมากยิ่งขึ้น ทำให้เราสามารถประกอบคุณความดีได้ คนที่สัมผัสถึงความบรรเทาใจฝ่ายจิตวิญญาณ เขาและเธอจะไม่ย่อท้อต่อปัญหาและอุปสรรค เพราะพวกเขาจะมีใจที่เป็นสันติอยู่เสมอแม้จะถูกทดลอง เป็นพระหรรษทานที่วิเศษสุดเพื่อชีวิตฝ่ายจิต ทำให้เราดำรงชีวิตในทุกๆวันได้อย่างมีความสุข

ความบรรเทาใจเป็นการขับเคลื่อนที่อยู่ภายใน เป็นสัมผัสที่ลึกสุดใจ ไม่ใช่สิ่งฉาบฉวย แต่อ่อนโยนเช่นหยดน้ำที่ค่อยๆซึมซับลงในเนื้อของฟองน้ำ (อ้างจาก การฝึกฝนฝ่ายจิต โดย นักบุญอิกญาซิโอ 335) หากพระเจ้าได้ทรงโอบกอดผู้ใดแล้ว เขาและเธอจะสัมผัสถึงการประทับอยู่ของพระองค์ พวกเขาจะมีเสรีภาพ จะไม่รู้สึกผิดเพี้ยนไป ไม่ได้มีแค่อารมณ์เคลิบเคลิ้มที่ผ่านไป และไม่จำต้องฝืนใจของตนเอง  ในทางตรงข้าม แม้ในยามทุกข์ใจเพราะบาปของตน แต่พวกเขาก็จะได้รับความบรราเทาใจ

สิ่งนี้ทำให้พ่อคิดถึง ในยามที่ท่านนักบุญเอากุสตินกล่าวแด่โมนิกามารดาของท่าน ท่านได้พรรณาถึงความสวยงามของชีวิตนิรันดร์ เช่นเดียวกับท่านนักบุญฟรังซิสในยามที่ต้องผจญกับความทุกข์เข็ญ ท่านกลับมีความสุขสรรที่บริบูรณ์ จงระลึกถึงบรรดานักบุญที่ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย ไม่ใช่เป็นเพราะความเก่งกล้าสามารถของพวกเขา หากแต่เป็นชัยชนะของความรักอันอ่อนหวานและสันติของพระเจ้า เป็นสันติที่นักบุญอิกญาซิโอได้ค้นพบในตัวของท่านเอง ในช่วงที่ท่านอ่านประวัติของบรรดานักบุญ ท่านได้รับความบรรเทาใจ เป็นสันติสุขขององค์พระเจ้า รับรู้ได้ว่าทุกสิ่งอยู่ในความดูแลของพระองค์ สรรพสิ่งชีวิตล้วนมีความสอดคล้อง นี่คือสิ่งที่อีดิธสไตน์ได้สัมผัสในยามที่เธอกลับใจ เธอได้เขียนไว้ว่า “ฉันได้ละทิ้งตอนเอง แต่จมดิ่งในความรู้สึกนี้ ทีละเล็กทีละน้อย ฉันได้รับการเติมเต็มด้วยชีวิตใหม่ แต่มันไม่ขัดกับเจตน์จำนงของฉันเลย มันขับคลื่นฉันไปสู่ความตระหนักรู้ใหม่ๆ ราวกลับว่าทุกกิจการและพลังของชีวิต ไม่ได้มาจากตัวฉันเอง สิ่งนี้ไม่ได้ทำร้ายฉันเลย มันมีชีวิตชีวาภายในตัวของฉัน" (Psicologia e scienze dello spirito, Città Nuova, 1996, 116).   เช่นนี้เอง สันติอันแท้จริงคือสิ่งที่อยู่ก้นบึ่งของอารณ์ความรู้สึกที่ดีงาม ยิ่งไปกว่านั้น ความบรรเทาใจส่งผลต่อคุณธรรมแห่งความหวัง ส่งผลต่ออนาคตในการเดินทางของเรา ทำให้เรามีความกล้าที่จะริเริ่มทำในสิ่งที่เราผลัดวันประกันพรุ่งมานาน ดังเช่นชีวิตของอีดิธสไตน์ที่เธอเลื่อนการรับศีลล้างบาปมาเนิ่นนาน

ความบรรเทาใจเป็นสันติสุขในอีกรู้แบบหนึ่ง ไม่ใช่แค่การนั่งนิ่งๆแล้วมีความสุขกับมัน ไม่เลย เป็นสันติที่นำพาเราไปสู่พระเจ้าและทำให้เราลงมือกระทำบางสิ่งบางอย่างที่ดีงาม ทุกครั้งที่เราได้รับความบรรเทาใจ เราปรารถนาที่จะประกอบสิ่งดีให้มากยิ่งขึ้น แต่ถ้าเรารู้สึกเปล่าเปลี่ยวอ้างว้างซึ่งจะทำให้เราไม่คิดทำอะไรเลย ความบรรเทาใจนี้แหละที่จะผลักดันให้เรารับใช้ผู้อื่น รวมถึงการรับใช้สังคม

ความบรรเทาใจฝ่ายจิตไม่เป็นเช่นการ “ขับเครื่องยนต์” เราไม่สามารถบังคับให้เกิดขึ้นตามใจนึก หรือจะวางให้มันเป็นโปรแกรมของชีวิตได้ เพราะสิ่งนี้คือพระพรขององค์พระจิตเจ้า ที่ทรงขจัดความเหินห่างกับพระเจ้า ทำให้เรามีความคุ้นเคยกับพระองค์ ในคราวที่นักบุญเทเรซาแห่งพระกุมารเยซูมีอายุได้ 14 ปี เธอได้เดินทางไปแสวงบุญที่บาซิลิกาของานักบุญโครเซ ในเจรูซาเลมเม ณ กรุงโรม เธอได้แอบยื่นมือไปสัมผัสตะปูที่เป็นพระธาตุ เป็นตะปูที่เคยตรึงองค์พระเยซูเจ้า แม้จะแอบกระทำ เธอกลับรู้สึกถึงความกล้าหาญที่แปลเปลี่ยนไปเป็นความรักและความมั่นใจ เธอได้เขียนถึงเรื่องราวนี้ไว้ว่า “ฉันรู้สึกกล้ามากๆ แต่พระเจ้าทรงเห็นส่วนลึกในใจของดิฉัน พระองค์ทรงรับทราบว่า ฉันมีความบริสุทธิ์ใจเพียงใด... ฉันได้กระทำเช่นเด็กน้อยๆ ที่สามารถใช้ของทุกอย่างได้อย่างซุกซนเพราะมันเป็นสมบัติของบิดาเธอเอง” (อัตชีวประวัติที่เป็นลายมือของท่านนักบุญเอง, 183) ความบรรเทานั้นจะเกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด จะนำท่านตอบสนองในเหตุกาณ์ปัจจุบันอย่างทันดีทันใด เป็นดั่งเด็กน้อยที่พึงกระทำตามใจปรารถนาของตน ท่านจะมีรู้สึกอันอ่อนโยนเกิดขึ้นโดยทันทีทันใด และจะมีความสงบสุขอย่างลึกซึ้ง เราได้เห็นตัวอย่างของเด็กอายุ 14 ขวบที่ได้บรรยายถึงความบรรเทาใจฝ่ายจิตวิญญาณอย่างทรงเกียรติ เรารับรู้ถึงความอ่อนโยนที่พระเจ้าทรงประทานความกล้าหาญ เพื่อให้เราปรารถนาที่จะเป็นส่วนหนึ่งของพระองค์ พึงกระทำในสิ่งที่พอพระทัย จะทำให้เรามีความคุ้นเคยกับพระองค์มากยิ่งขึ้น และเราก็จะรับรู้ได้ว่าอาคารหลังนี้คือบ้านของเรา เราจะสัมผัสถึงความอบอุ่น ได้รับการต้อนรับอย่างดีด้วยความรัก และได้รับการกอบกู้จากพระองค์ ด้วยความบรรเทาใจอันนี้ เราจะไม่ยอมแพ้แม้จะต้องฟันฝ่าปัญหาและอุปสรรค เฉกเช่นกับนักบุญเทเรซาที่ต้องอาศัยความกล้าหาญ เธอไปการขออนุญาตพระสันตะปาปาเพื่อที่จะได้เข้าอารามก่อนที่อายุจะถึงเกณฑ์ และความปรารถนาของเธอก็เป็นจริงได้ สิ่งนี้มันหมายถึงอะไร? หรือความบรรเทาใจจะทำให้เรามีความกล้าหาญ โดยเฉพาะในช่วงเวลาแห่งความมืดมน ความเปล่าเปลี่ยวซึ่งเรามักจะคิดว่า “ฉันไม่ไหวแล้ว มันเกินความสามารถของฉันที่จะผ่านมันได้...” ความเปล่าเปลี่ยวใจมักนำพาเราไปสู่ความตกต่ำเพราะทุกอย่างมันมืดแปดด้านไปหมด “ไม่ ฉันไม่ทำมันแล้ว ฉันจะไม่ทำมัน” หากแต่ในยามที่เราได้รับความบรรเทา เราจะกล่าวว่า “ไม่ ฉันไปฟันฝ่ามัน ฉันจะลงมือกระทำ” “ฉันถามตนเองว่าฉันมั่นใจหรือเปล่า? ฉันรู้สึกว่าเป็นพละกำลังของพระเจ้าและฉันจะมุ่งมั่นต่อไป” ใช่แล้ว ความบรรเทาใจทำให้เรามุ่งมั่นต่อไปและกระทำในสิ่งที่เราคิดว่าเราไม่สามารถทำได้ ณ ช่วงเวลานั้นๆ ทำให้เราเริ่มย่างก้าวแรก ความบรรเทาใจนั้นเป็นสิ่งที่สวยงาม

แต่เราเองต้องรู้จักการแยกให้ออกระหว่าง "ความบรรเทาใจที่แท้จริง" ที่มาจากพระเจ้า และ "ความบรรเทาใจปลอมๆ" บางทีประสบการณ์ฝ่ายจิตวิญญาณเป็นเช่นเดียวกับการมีอยู่ของสินค้าในท้องตลาด ที่มีทั้งของจริงและของเลียนแบบ หากความบรรเทาใจที่แท้จริงเป็นดังหยดน้ำที่ค่อยๆซึมผ่านเข้าไปในฟองน้ำอย่างละมุนม่อม ความบรรเทาใจปลอมๆก็เป็นเสียงที่มีความดังและคงอยู่อย่างฉาบฉวย มันทำให้เรารู้สึกถึงความฮึกเหิม เป็นเพียงไฟไหม้ฟาง ประเดี๋ยวประด๋าว และก็หมดไป มันทำให้เรามุ่งความสนใจแต่กับตนเองและไม่ใส่ใจผู้อื่นใด ท้ายที่สุด ความบรรเทาใจปลอมนี้จะทิ้งไว้เพียงความรู้สึกอันว่างเปล่า และทำให้เราเหินห่างออกจากความเป็นตัวตนของเรา เพราะความสงบสุขและสันติภายในจะช่วยให้เราสามารถกระทำทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตได้ แต่อย่าสับสนไปกับสันติสุขใดๆที่ผ่านมาในวันนี้และทำให้เรารู้สึกฮึกเหิมแล้วมันก็หายไปในวันรุ่งขึ้น

พวกเราเองต้องมีความสามารถที่จะพิจารณาและไตร่ตรองให้ได้ แม้จะรู้สึกว่าได้รับความบรรเทาใจแล้ว เพราะความบรรเทาใจที่เป็นของปลอมนั้นเป็นสิ่งที่อันตราย เราจะชอบเสาะหาและหมกมุ่นไปกับมัน และจะกลายไปเป็นจุดจบของชีวิตฝ่ายจิต ทำให้เราหลงลืมพระเจ้า นักบุญเบอร์นาร์ดกล่าวไว้ว่า หากเราเพียงแค่เสาะหาความบรรเทาใจ ซึ่งเราคิดไปเองว่ามาจากพระเจ้า แต่เรากลับไม่แสวงหาพระองค์ เราจำเป็นต้องปรารถนาพระองค์ด้วย เพราะพระองค์เป็นผู้ประทานความบรรเทาใจให้แก่เรา ด้วยการประทับอยู่ของพระองค์ พระเจ้าจะเป็นผู้ประทานคำปรึกษาให้แก่เรา ทำให้เราก้าวหน้าต่อไปได้ จึงมิบังควร ที่เรามนุษย์ปรารถนาพระเจ้าเพราะผลประโยชน์แต่อย่างเดียว เราอยากได้ความบรรเทาใจจากพระองค์ นี้เป็นเจตนาที่แอบแฝง นับว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเอาเสียเลย เราเป็นดั่งเด็กน้อย (ที่พ่อเคยเล่าให้ฟังแล้ว) ที่เอาแต่ร้องหาพ่อแม่เพื่อที่จะได้รับประโยชน์ต่างๆ “พ่อครับ แม่ค่า” เด็กๆกระทำสิ่งนี้อยู่ตลอดเวลา พวกเขารู้ดีว่ากำลังเล่นอะไรอยู่ พวกเขาไปประจบพ่อทีแม่ที บางทีก็สร้างความแตกแยกกันระหว่างครอบครัวเพราะสิ่งนี้ ซึ่งมันไม่ดีเอาเสียเลย นี่ไม่ใช่ความบรรเทาใจ หากแต่เป็นผลประโยชน์ส่วนตน เราเองมักตกอยู่ในหลุมพรางของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า เป็นความสัมพันธ์แบบเด็กๆที่พึงแสวงหาแต่ผลประโยชน์ พระเจ้าเป็นเพียงจุดหมายที่เราได้ตักตวง จนลืมไปว่า การได้อยู่ใกล้ชิดกับพระองค์ก็เป็นพระพรอันประเสริฐเพียงใด พ่อเองอยากให้พวกเรามีความเข้าใจอันลึกซึ้ง ไม่ใช่แค่เข้าใจว่า ความบรรเทาใจมาจากพระเจ้า และความเปล่าเปลี่ยวมันมาจากบาปของโลก แต่พ่อปรารถนาให้เราสามารถแยกแยะระหว่างความบรรเทาใจที่พระเจ้าทรงประทานให้ ซึ่งทำให้เรามีสันติและความลึกซึ้งฝ่ายจิต แยกออกสิ่งนี้ให้ออกจากความรู้สึกฮึกเหิมที่มาผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ซึ่งมันไม่ดีเลย และมันไม่ได้มาจากพระองค์

 

 

book

Discernment 09: ความบรรเทาใจ

◀️ Discernment 10: ความบรรเทาใจที่แท้จริง

Discernment 08: เหตุใดเราถึงเปล่าเปลี่ยวใจ? ▶️