คำสอน
"การพิจารณาไตร่ตรอง"
(Catechesis on Discernment)
"การพิจารณาไตร่ตรอง"
(Catechesis on Discernment)
Discernment 02: แบบอย่างของนักบุญอิกญาซิโอ แห่งโลโยลา
2. แบบอย่างของนักบุญอิกญาซิโอ แห่งโลโยลา
(An example: Ignatius of Loyola)
ปาฐกถาโดยพระสันตะปาปาฟรังซิส วันพุธที่ 7 กันยายน 2022
ถอดความโดย คพ. วรวุฒิ สารพันธุ์ C.Ss.R.
อรุณสวัสดิ์ พี่น้องชายหญิงของพระเป็นเจ้า
เรากำลังเรียนรู้ร่วมกันในหัวข้อเรื่องการพิจารณาไตร่ตรอง และทุกๆวันพุธนี้ พ่อจะขอพูดเรื่องการพิจารณาไตร่ตรองฝ่ายจิต เพื่อเราจะสามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้นพ่อขอยกตัวอย่างชีวิตของท่านนักบุญอิกญาซิโอ แห่งโลโยลา เพราะท่านเป็นประจักษ์พยานในเรื่องนี้
นักบุญอิกญาซิโอ แห่งโลโยลาเป็นตัวอย่างที่ดี โดยเฉพาะในยามที่ท่านต้องตัดสินใจในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต ในช่วงสงคราม ท่านกลับบ้านมารักษาตัวเพราะได้รับบาดเจ็บที่ขา เพื่อไม่ให้ตัวเองเบื่อจนเกินไป ท่านขอให้พยาบาลนำหนังสือมาให้อ่านฆ่าเวลา อิกญาซิโอชอบที่จะอ่านเรื่องราวของสงคราม แต่หนังสือที่เขาให้มามีแต่ประวัติของบรรดานักบุญ ในตอนแรกท่านก็ไม่คิดจะอ่านมัน แต่เมื่อได้เริ่มอ่านท่านได้ค้นพบโลกใบใหม่ เป็นโลกที่มีชัยชนะเหนือกว่าบรรดาอัศวินในสงคราม ท่านใฝ่ฝันถึงภาพของนักบุญฟรังซิสและโดมินิคและอยากเลียนแบบพวกเขา ขณะที่ความคิดเรื่องชัยชนะในสงครามยังอยู่ในใจ แต่คติธรรมเรื่องความยิ่งใหญ่ของบรรดานักบุญก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าของพวกอัศวินเลย
อย่างไรก็ตามอิกนาซีโอเริ่มที่จะมีมุมมองใหม่ๆ มีผู้เขียนอัตชีวประวัติของท่านนักบุญกล่าวถึงท่านไว้ในบทที่ 8 ว่า “ในยามที่ท่านคิดถึงเรื่องฝ่ายโลกและชัยชนะในสงคราม ท่านไม่ปฏิเสธว่าท่านมีรู้สึกพึงพอใจอย่างยิ่ง แต่ท้ายที่สุดมันคงเหลือไว้เพียงความรู้สึกที่แห้งแล้งแล้วเศร้าหมองในจิตใจ แต่ในยามที่ท่านคิดถึงการเดินทางไปสู่กรุงเยรูซาเร็ม การรับประทานเฉพาะสมุนไพรและการบำเพ็ญพรต ท่านกลับมีความสุขใจ และความสุขนี้ไม่ได้มลายหายไปไหนเลย” และความคิดเช่นนี้แหละคงไว้ซึ่งความชื่นชมยินดีในที่สุด
เราเรียนรู้อะไรจากประสบการณ์ของท่านนักบุญ ประการแรก ความสุขตามประสาโลกนั้นน่าดึงดูดใจยิ่งนัก โดยเฉพาะในช่วงแรก แต่มันกลับไม่มั่นคงและเหลือไว้เพียงแค่ความว่างเปล่าและไร้แก่นสาร สิ่งเหล่านี้ดึงเราออกจากวิธีทางของพระเจ้าและทำให้เราต่อต้านพระองค์ ดังเช่นท่านนักบุญได้บ่นว่า “ฉันจะไม่อ่านเรื่องราวอันน่าเบื่อของบรรดานักบุญเหล่านี้” แต่ถ้าเราเปิดใจกับสิ่งที่ใจของเราต่อต้านนี้ เรากลับได้รับสันติอันยาวนาน
และในอีกมุมหนึ่ง โดยเฉพาะสถานการณ์ที่มีความคลุมเครือ ขบวนการพิจารณาไตร่ตรองได้เริ่มขึ้นแล้ว ตัวอย่างเช่น เราเริ่มเข้าใจแล้วว่าความดีและความชั่วไม่ได้เป็นนามธรรมเท่านั้น แต่เป็นการเดินทางของชีวิต ตามกฎของการพิจารณาและไตร่ตรอง สารตั้งต้นก็คือประสบการณ์ของชีวิต ท่านนักบุญอิกญาซิโอใช้ประสบการณ์ชีวิตของท่านเป็นสารตั้งต้น เพื่อเข้าสู่กระบวนการไตร่ตรองและก้าวหน้า “สำหรับคนที่ออกมาจากบาปหนัก หรือกำลังมุ่งไปสู่บาปหนัก ศัตรูของเรามักจะล่อลวงด้วยความพึงพอใจฝ่ายโลก” และเพื่อที่จะทำให้เรารู้สึกว่าทุกอย่างเป็นปกติ “พวกศัตรูทำให้เราจินตนาการไปถึงความพึงพอใจฝ่ายเนื้อหนัง ทำให้เรากระทำบาปตามกิเลสของเราเอง มากขึ้นเรื่อยๆ ในทางตรงข้าม พระจิตเจ้าจะเจาะผ่านและกระตุ้นมโนธรรมของเราด้วยกระบวนการทางเหตุและผล” (การฝึกฝึนชีวิตฝ่ายจิต หน้า 314)
นี่คือหน้าประวัติศาสตร์ของผู้ที่พยายามพิจารณาไตร่ตรองในชีวิต เป็นประสบการณ์จริงในชีวิต เพราะการพิจารณาไตร่ตรองไม่ใช่เป็นเรื่องของการทำนายอนาคตหรือทำนายความผิดพลาด หรือมาจากการลองผิดลองถูก หรือเสี่ยงโชคชะตา เพราะในชีวิต เรามักจะมีคำถามอยู่เสมอและเพื่อที่จะเข้าใจคำถามนั้น เราเองก็ต้องกลับมาย้อนถามตัวเราเองอยู่เสมอว่า ชีวิตของเราพัฒนาไปถึงไหนแล้ว “ทำไมฉันต้องเดินทางนี้ ฉันกำลังแสวงหาอะไร?” ด้วยคำถามนี่แหละเราเริ่มการพิจารณาและไตร่ตรองในชีวิตแล้ว บางทีในชีวิตเราค้นพบบาดแผลที่เกิดจากครอบครัวของเรา สำหรับนักบุญอิกญาซิโอ ท่านไม่เคยคิดถึงพระเป็นเจ้ามาก่อนเลย จนกระทั่งท่านเริ่มที่จะฟังเสียงในหัวใจของท่าน ท่านนักบุญอาจจะเริ่มจากการสงสัยและความขัดแย้งในตัวเอง เพราะสิ่งที่ท่านสนใจจริงๆแล้วคือการศึกสงครามซึ่งเป็นมายาคติ ในทางกลับกันเรื่องที่ดูเหมือนจะน่าเบื่อกลับนำสันติสุขอันยั่งยืนในจิตใจ เราเองก็เช่นกันที่มีความปรารถนาอยากจะอยู่กับความสุขฝ่ายโลก แต่ในที่สุดเราก็ผิดหวังกับมัน ในทางกลับกันถ้าเราดำเนินชีวิตในจิตกุศลและหมั่นทำความดี ความคิดที่ดีและความสุขก็จะมาหาเรา สิ่งนี้นับว่าเป็นความชื่นบานอย่างแท้จริง บางทีเราต้องใช้ประสบการณ์ทั้งชีวิตเพื่อที่จะเข้าใจสิ่งนี้ ท่านนักบุญอิกญาซิโอได้ฟังเสียงของหัวใจของท่าน ท่านปรารถนาที่จะรู้ว่า หนทางที่ตรงข้ามกับชีวิตเดิมของท่านจะนำไปสู่อะไร นี่คือสิ่งที่เราต้องเรียนรู้จากท่านนักบุญว่า อะไรก็เกิดขึ้นได้ในชีวิต และเราต้องตัดสินใจอย่างไรในชีวิต โดยเฉพาะในสถานการณ์ต่างๆ เราต้องฟังเสียงของหัวใจของเรา ในยามที่เราดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุ หรือใช้โทรศัพท์มือถือ ดูเหมือนเราจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในการฟังกันอยู่แล้ว แต่วันนี้ พ่ออยากจะบอกให้พวกเราฟังเสียงของหัวใจของเรา ด้วยการถามตัวเองบ่อยๆว่า “ฉันมีความรู้สึกอะไรในใจของฉัน ฉันพึงพอใจจริงๆหรือเปล่า หรือฉันรู้สึกเศร้า หรือหัวใจของฉันกำลังเรียกร้องบางสิ่งบาง และสิ่งนี้มันคืออะไรกัน?” และเพื่อที่เราจะสามารถตัดสินใจได้อย่างดี เราต้องฟังเสียงของหัวใจของพวกเรา
ด้วยเหตุนี้เอง ท่านนักบุญอิกญาซิโอจึงแนะนำให้เราอ่านชีวประวัติของบรรดานักบุญ เพราะพวกเขาได้ใช้ชีวิตตามวิถีทางของพระเจ้า พวกเขาก็ไม่ได้แตกต่างจากพวกเรา พวกเขามีเลือดมีเนื้อ มีการกระทำและคำพูด เราเองก็สามารถทำความเข้าใจในเรื่องเล่าของบรรดานักบุญ แล้วเราจะสามารถเข้าใจชีวิตที่มีความหมายได้เช่นกัน
บทชีวิตที่สำคัญที่นักบุญอิกญาซิโอได้เรียนรู้เป็นความรู้สึก 2 ประการ ประการแรกเกิดขึ้นเมื่อท่านได้อ่านเรื่องราวของบรรดาอัศวินเหล่านั้นและประการที่สองจากชีวิตของบรรดานักบุญ ดังที่พ่อได้อธิบายเกี่ยวกับการพิจารณาไตร่ตรองว่า บางที ราวกับว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตจะเป็นความบังเอิญ โดยเฉพาะกับท่านนักบุญ เหตุการณ์เริ่มต้นจากการที่ท่านได้นั่งลง ณ จุดนั้น ไม่มีหนังสือเกี่ยวกับอัศวิน มีแต่ประวัตินักบุญ แต่การนั่งลงนี้แหละทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต โดยทีเล็กทีละน้อยขณะที่อ่านหนังสือศรัทธาเหล่านั้น ท่านทราบว่าตัวท่านเองต้องมุ่งความสนใจที่ไหน เพราะพระเป็นเจ้าทำงานในเหตุการณ์ที่เราไม่ได้คาดหวัง ราวกับว่ามันเกิดโดยความบังเอิญ แต่ความบังเอิญนี้ก็เกิดขึ้นในชีวิตของพวกเรา เราบังเอิญพบกับผู้คน เราบังเอิญได้ดูหนังเรื่องนี้ แม้เราไม่ได้วางแผนในชีวิต แต่ถ้าพระเป็นเจ้าทรงทำงานอยู่ พระองค์ทรงทำงานในขณะที่ท่านนั่งลงอ่านหนังสือ “ฉันคิดว่าฉันน่าจะไปเดินเล่น แต่เท้าของฉันกลับเจ็บ ฉันก็เลยไปไม่ได้” จงนั่งลง พระเจ้ากำลังพูดอะไรกับฉันเนี่ย? ฉันอยู่จุดไหนในชีวิตกัน? เราเห็นสิ่งเดียวกันนี้ในพระวรสารโดยนักบุญมัทธิว ขณะที่ชาวนากำลังไถนาแล้วก็ไปพบสมบัติในทุ่งนา เป็นเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน แต่ชาวนากลับระลึกได้ว่า ตัวเขาพบกับความโชคดี และสิ่งนี้จะทำให้ชีวิตของเขาเปลี่ยนแปลง ด้วยเหตุนี้ เขาจึงสามารถตัดสินใจได้ทันทีทันใด เขาไปขายทุกสิ่งและซื้อทุ่งนานี้ทันที (มธ. 13,44) พ่อจึงอยากจะให้คำแนะนำกับพวกเราคือ จงระวังในสิ่งที่ไม่คาดหวังในชีวิต สำหรับคนที่ชอบบ่นว่า “ฉันไม่เคยคิดเลยว่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้?” แล้วเหตุการณ์ในชีวิตกำลังพูดอะไรกับเรา เป็นพระเป็นเจ้าที่ทรงตรัสกับเราไม่ใช่หรือ หาใช่ปีศาจไม่ สิ่งเหล่านี้เราต้องพิจารณาไตร่ตรอง เราจะตอบสนองสิ่งที่ไม่คาดฝันในชีวิตนี้ได้อย่างไร เหมือนขณะที่ฉันกำลังนั่งเงียบๆที่บ้าน แล้วจู่ๆแม่ยายก็มาเยี่ยมโดยไม่บอกกล่าว แล้วฉันควรที่จะรู้สึกอย่างไรดี รู้สึกดีใจหรือรู้สึกอย่างอื่น? เราต้องพิจารณาไตร่ตรอง เหมือนฉันจะตอบสนองอย่างไรดี เมื่ออยู่ๆก็มีคนมายืมเงินของฉัน? เห็นไหม หลายครั้งในชีวิตมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น เราจะตอบสนองมันอย่างไรและเราจะเรียนรู้ที่จะฟังเสียงของหัวใจของเราได้อย่างไร?
การพิจารณาไตร่ตรองช่วยให้เราตระหนักถึงสัญญาณที่พระเป็นเจ้ากระทำในยามที่เราไม่คาดฝัน หรือแม้แต่ในสถานการณ์ที่เราไม่ชอบ เพราะถ้านักบุญอิกญาซิโอไม่บาดเจ็บที่ขา ชีวิตของท่านคงจะไม่เปลี่ยนแปลง สำหรับพวกเราการเปลี่ยนแปลงมีทั้งดีและไม่ดี เราไม่สามารถรับรู้ได้เลย แต่สิ่งที่เราทำได้คือจงสนใจกับมัน เพราะเรื่องราวอันสวยงามมักเกิดจากสิ่งที่ไม่คาดฝันในชีวิต เราควรถามตัวเองบ่อยๆว่า “ฉันควรที่จะตอบสนองสิ่งนี้ได้อย่างไร?” ขอพระเป็นเจ้าทรงช่วยเราให้ฟังเสียงของหัวใจให้เห็นว่าเป็นพระองค์ทรงอยู่ที่นั่น เป็นพระองค์ที่ทรงกระทำ ไม่ใช่ใครอื่นนอกจาก ทุกสิ่งล้วนมาจากพระองค์
Discernment 02: แบบอย่างของนักบุญอิกญาซิโอ แห่งโลโยลา
Discernment 03: ปัจจัยของการพิจารณาไตร่ตรอง ความคุ้นเคยกับองค์พระเจ้า
Discernment 01: ความหมายของ “การพิจารณาไตร่ตรอง”
- Discernment 01: ความหมายของ “การพิจารณาไตร่ตรอง”
- Discernment 02: แบบอย่างของนักบุญอิกญาซิโอ แห่งโลโยลา
- Discernment 03: ปัจจัยของการพิจารณาไตร่ตรอง ความคุ้นเคยกับองค์พระเจ้า
- Discernment 04: ปัจจัยของการพิจารณาไตร่ตรอง การรู้จักตัวเอง
- Discernment 05: ปัจจัยของการพิจารณาไตร่ตรอง ความปรารถนา
- Discernment 06: ปัจจัยของการพิจารณาไตร่ตรอง หนังสือแห่งชีวิตของตน
- Discernment 07: หัวข้อของการพิจารณาไตร่ตรอง ความเปล่าเปลี่ยวใจ