คำสอน
"การพิจารณาไตร่ตรอง"
(Catechesis on Discernment)
"การพิจารณาไตร่ตรอง"
(Catechesis on Discernment)
Discernment 07: หัวข้อของการพิจารณาไตร่ตรอง ความเปล่าเปลี่ยวใจ
7. หัวข้อของการพิจารณาไตร่ตรอง ความเปล่าเปลี่ยวใจ
(The subject of discernment. The Desolation)
ปาฐกถาโดยพระสันตะปาปาฟรังซิส วันพุธที่ 26 ตุลาคม 2022
ถอดความโดย คพ. วรวุฒิ สารพันธุ์ C.Ss.R.
ตามที่เราเห็นในคำสอนที่ผ่านมา การพิจารณาไตร่ตรองไม่ใช่เป็นเพียงการใช้เหตุผล แต่เป็นการกระทำ เป็นการกระทำที่แฝงไปด้วยความรู้สึกนึกคิดอยู่เสมอ เราควรตระหนักถึงสิ่งนี้เพราะพระเป็นเจ้าทรงตรัสกับเราภายในหัวใจ ต่อไปนี้พ่อขอให้เราร่วมเดินทางเข้าสู่ความรู้สึกภายใน เพราะเป้าหมายของการพิจารณาและไตร่ตรองคือ ความเปล่าเปลี่ยวใจ แต่สิ่งนี้มันมีความหมายว่าอะไรกัน?
ความเปล่าเปลี่ยวใจ บางทีก็เรียกว่าความมืดของวิญญาณ นับเป็นสิ่งที่ไม่น่าอภิรมย์เลย ต่ำต้อยเรี่ยดิน ไม่สงบ ปั่นป่วนภายใน เต็มไปด้วยการผจญล่อลวง นำเราไปสู่ความปรารถนาและทะนงตน ไม่มีความหวัง ไร้ซึ่งความรัก ยามใดที่เรารู้สึกเกียจคร้าน เฉื่อยช้า เศร้าหมอง รู้สึกว่าตนอยู่ห่างไกลจากองค์พระผู้สร้าง พระเจ้าของเรา (นักบุญอิกญาซิโอ แห่งโลโยลา, “การฝึกฝนฝ่ายจิต”, 317) พ่อคิดว่าเราทุกคนล้วนมีประสบการณ์ของความเปล่าเปลี่ยวที่อยู่ในใจนี้ การทำความเข้าใจความรู้สึกนี้เป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะมันมีนัยยะบางอย่างที่แฝงอยู่ที่กำลังจะบอกแก่เรา แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า เราอยากจะขจัดมันโดยทันทีทันใด โดยที่ไม่รู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นในชีวิตของเรา
ใครบ้างที่ต้องการความรู้สึกที่เปล่าเปลี่ยวอ้างว้างนี้ เป็นความจริงที่ว่าเราชอบชีวิตที่มีความร่าเริงแจ่มใสและรู้สึกเติมเต็มในใจ แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะมีความรู้สึกอย่างนี้อยู่ตลอดเวลา บางทีชีวิตก็หันเหไปสู่พยศชั่ว เริ่มจากความรู้สึกเศร้าหมองและสำนึกผิดในสิ่งที่ตนได้กระทำ “ความสำนึกผิด” มาจากรากศัพท์ที่สวยงาม การสำนึกผิดของมโนธรรม ในภาษาอิตาลีหมายถึง เป็นมโนธรรมที่จิกกัด (mordere) ทำให้เราไม่สงบไร้สันติ อเล็กซานโตร แมนโซนิ อธิบายเป็นอย่างดีว่า การสำนึกผิดเป็นโอกาสทำให้ใครคนหนึ่งเปลี่ยนวิถีทางดำเนินชีวิต ดังเช่นบทสนทนาอันมีเชื่อเสียงระหว่างพระคาร์ดินัล เฟเดอริโก โบรโรเมโอและคนไร้นาม คนผู้นี้ประสบค่ำคืนอันเลวร้ายและได้วิ่งมาหาพระคาร์ดินัล พระคาร์ดินัลทักว่า “ท่านมีข่าวประเสริฐอะไรมามอบให้ฉันเหรือ? ทำไมมาหาฉันดึกดื่นเช่นนี้” “ข่าวประเสริฐงั้นเหรอ?” ชายไร้นามกล่าว “นรกในใจฉันน่ะสิ... ได้โปรดบอกฉันด้วยว่า สำหรับคนอย่างฉันแล้ว จะมีข่าวประเสริฐได้อย่างไรกัน?” พระคาร์ดินัลกล่าวตอบว่า “เป็นพระเจ้าที่จะทรงสัมผัสหัวใจของท่าน และจะทรงนำพาท่านไปสู่พระองค์” (บทที่ 23) พระเจ้าจะทรงสัมผัสหัวใจของท่าน แม้ท่านจะมีความเศร้าหมอง สำนึกความผิดบาป แต่กลับเป็นการเชิญชวนให้ท่านสู่หนทางใหม่ สำหรับผู้เป็นของพระองค์จะสังเกตุได้ว่า ชีวิตภายในของเขากำลังดำเนินไป
การทำความรู้จักกับอารณ์เศร้านั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ เราทุกคนรู้อยู่แล้วว่าความเศร้าคืออะไร แต่เรากลับไม่รู้จักตีความหมายและนัยยะของมัน ความเศร้าหมองที่ฉันมีในวันนี้ มันมีความหมายอะไรสำหรับฉัน? เรามักเข้าใจว่าความเศร้าคือความรู้สึกในแง่ลบ เราจะขจัดมันไม่โดยทางใดก็ทางหนึ่ง ในทางตรงข้าม มันเป็นสัญญาณเตือนใจ นำพาเราไปสำรวจลึกขึ้นในที่ที่มีความเปราะบาง ที่ที่เราหนีไม่พ้นและต้องเผชิญกับมัน
นักบุญโทมัสอไควนัสอธิบายถึงความเศร้าหมองนี้ว่า เป็นความเจ็บปวดฝ่ายจิต เฉกเช่นกันเส้นประสาทของร่างกาย กระตุ้นให้เรารับรู้ถึงภยันตรายต่างๆ (อ้างถึง Summa Theologica I-II, q.36, a.1) ด้วยเหตุนี้ อารมณ์เศร้าจึงเป็นสิ่งที่ตัดออกไม่ได้จากสุขภาวะทางอารมณ์ มันปกป้องเราจะสิ่งอันตรายต่อตัวเราเองและต่อผู้อื่น เราควรจะกังวลและเป็นอันตรายมากกว่าถ้าเราไม่รู้สึกเศร้าเลย เพราะในบางที ความเศร้าทำหน้าที่เป็นเสมือนสัญญาณไฟจารจรตืนว่า “จงหยุด เพราะเป็นสัญญาณไฟแดงแล้ว จงหยุดเถิด!”
แต่สำหรับบางคนที่ปรารถนาถึงคุณงามความดี ความเศร้านับเป็นอุปสรรคและการผจญทำให้เขาและเธอหมดกำลังใจ เช่นนี้แล้ว เราควรจะทำสิ่งที่ตรงข้ามกับมัน ด้วยการตั้งใจลงมือทำในสิ่งที่พึงกระทำ (อ้างจาก “การฝึกฝนฝ่ายจิต”, 318) โดยคะนึงถึงหน้าที่การงาน การสวดภาวนา ความมุ่งมั่นและรับผิดชอบ มิฉะนั้นแล้วจะเกิดความเบื่อหน่ายและความเศร้าหมอง โดยที่เราไม่สามารถทำอะไรสำเร็จได้เลย สิ่งนี้มักจะเกิดขึ้นกับผู้ที่ดำเนินชีวิตฝ่ายจิตในหนทางแห่งคุณความดี พระวรสารจึงเตือนใจเราว่า เป็นทางแคบและลาดชัน เราต้องบากบั่น เอาชนะใจตน ฉันเริ่มที่จะภาวนาและกระทำคุณงามความดี หากแต่มีสิ่งอื่นใดที่เร่งด่วน ฉันเลยไม่ได้ทำ เราทุกคนต่างมีประสบการณ์เช่นนี้ จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ที่รับใช้พระเจ้า เขาจะไม่หันเหไปด้วยความเปล่าเปลี่ยว “แต่ไม่เลย ฉันไม่ปรารถนาความเบื่อหน่าย” พึงระวังไว้ หลายคนละเลยที่จะสวดภาวนา ไม่ว่าจะเป็นบรรดานักบวชหรือฆารวาส พวกเขาอยู่ในความเปล่าเปลี่ยว พวกเขาไม่รู้จักหยุดนิ่งและพินิจความคิดความรู้สึก และโดยไม่มีใครคอยช่วยเหลือ กฎแห่งปรีชาญาณบอกไว้ว่า ยามที่เรารู้สึกเปล่าเปลี่ยว อย่ากระทำการหรือเปลี่ยนแปลงสิ่งใด หลังจากความรู้สึกนั้นพ้นผ่านไป ภายภาคหน้าเราค่อยตัดสินใจด้วยความดีงาม
พึงระลึกไว้ว่าพระเยซูเจ้าทรงชนะการผจญล่อลวง ด้วยทัศนคติและการตัดสินใจที่หนักแน่มั่นคง (อ้างจาก มธ. 3:14-15; 4:1-11; 16; 21-23) ปีศาจมันชักแม่น้ำทั้งห้า แต่พระองค์ยังทรงมั่นคงที่จะปฏิบัติตามน้ำพระทัยของพระบิดา ปีศาจมันก็พ่ายแพ้ไป สำหรับชีวิตฝ่ายจิตแล้ว ประสบการณ์ของการถูกล่อลวงนับเป็นสิ่งสำคัญ บุตรสิรากล่าวไว้ว่า “ถ้าท่านมุ่งมั่นที่จะรับใช้พระเจ้า จงเตรียมตัวรับการผจญ” (บสร. 2,1) ถ้าเราเลือกที่จะเดินบนทางชอบธรรม จึงเตรียมตัวให้ดี เพราะหนทางนี้ย่อมมีอุปสรรคและการถูกประจญ จะมีช่วงเวลาที่เศร้าหมอง เป็นเสมือนอาจารย์กำลังสอบลูกศิษย์ แต่ถ้าอาจารย์เห็นว่าลูกศิษย์คนนี้มีความรู้ในวิชานั้นๆ เขาก็จะหยุดถามและลูกศิษย์ก็สอบผ่าน แต่ถึงอย่างไรเราก็ต้องผ่านมันไปให้ได้
ถ้าเราเรียนรู้ที่จะผ่านหนทางแห่งความโดดเดี่ยวและอ้างว้าง ด้วยการเปิดใจและตระหนักรู้ เราจะเต็มไปด้วยพละกำลังทั้งทางกายและวิญญาณ เพราะไม่มีการประจญล่อลวงใดหนักเกินไปกว่าความสามารถของเราที่จะเอาชนะได้ จงอย่าพยายามที่จะหลีกเลี่ยงมัน จงมองดูว่าบททดสอบนี้มีความหมายว่าอะไร? ความเศร้าของฉันมีนัยยะว่าอย่างไร? ช่วงเวลาที่ฉันรู้สึกเปล่าเปลี่ยวใจนี้ มีความหมายอะไรต่อฉัน? ทำมันฉันจึงผ่านพ้นช่วงเวลานี้ไปไม่ได้สักที? นักบุญเปาโลสอนใจเราว่า ไม่มีการประจญใดที่เกินไปกว่าความสามารถของเรา เพราะพระเจ้าไม่เคยทอดทิ้งเรา พระองค์ทรงอยู่ใกล้ และเราสามรถเอาชนะการประจญนี้ได้ (อ้างจาก 1คร. 10,13) ถ้าวันนี้ เรายังเอาชนะการประจญนี้ไม่ได้ ก็ตั้งใจใหม่ในวันรุ่งขึ้น เราจะทำได้แน่นอน แต่เราต้องไม่นิ่งเฉยหรือหยุดไปเพราะเหตุของอารมณ์เศร้าหมองหรือเพราะความรู้สึกที่เปล่าเปลี่ยวใจ จงมุ่งหน้าต่อไป ขอพระเจ้าอวยพรให้ลูกดำเนินบนหนทางแห่งความกล้าหาญในชีวิตฝ่ายจิต เป็นการเดินทางที่แท้จริง
Discernment 07: หัวข้อของการพิจารณาไตร่ตรอง ความเปล่าเปลี่ยวใจ
Discernment 08: เหตุใดเราถึงเปล่าเปลี่ยวใจ?
Discernment 06: ปัจจัยของการพิจารณาไตร่ตรอง หนังสือแห่งชีวิตของตน
- Discernment 01: ความหมายของ “การพิจารณาไตร่ตรอง”
- Discernment 02: แบบอย่างของนักบุญอิกญาซิโอ แห่งโลโยลา
- Discernment 03: ปัจจัยของการพิจารณาไตร่ตรอง ความคุ้นเคยกับองค์พระเจ้า
- Discernment 04: ปัจจัยของการพิจารณาไตร่ตรอง การรู้จักตัวเอง
- Discernment 05: ปัจจัยของการพิจารณาไตร่ตรอง ความปรารถนา
- Discernment 06: ปัจจัยของการพิจารณาไตร่ตรอง หนังสือแห่งชีวิตของตน
- Discernment 07: หัวข้อของการพิจารณาไตร่ตรอง ความเปล่าเปลี่ยวใจ