Skip to main content

วิวัฒนาการของ "การศึกษาคาทอลิก"

ในประวัติศาสตร์โลก

อัครสาวทั้ง 12 คน Twelve Apostles

บทที่ 02 "พระศาสนจักรแรกเริ่มกับแนวคิดเรื่องการศึกษา"


ยอห์น เอลีแอส ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของการศึกษาแนวคริสต์ (A History of Christian Education by John L. Elias) ได้พยายามหาว่าแนวคิดเรื่องการศึกษาเริ่มต้น ณ จุดไหนของพระศาสนจักร ซึ่งพบได้ในจดหมายของเคลเมนต์แห่งโรม ที่เขียนประมาณก่อนคริสตศตวรรษแรก

เนื้อหาในจดหมายฉบับนี้เป็นคำสอนเตือนให้บรรดาพ่อแม่ของเด็กเอาใจใส่ในการศึกษาอบรมบุตรธิดาของตน ยอห์นเอลีแอสให้ข้อสังเกตว่า ในพระคัมภีร์ที่เขียนถึงพระเยซูเจ้าและบรรดาอัครสาวกไม่มีตอนใดเน้นบทบาทของบิดามารดาในเรื่องการศึกษา มีบ้างในกล่าวถึงความนบน้อมของบุตรธิดาต่อผู้ปกครอง (อฟ. 6:1) หรือหน้าที่ความรับผิดชอบต่อบุตรธิดาในเรื่องที่จำเป็นในการดำรงชีวิต (2 คร. 12:14) สิ่งที่เคลเมนต์แห่งโรมได้สอนในจดหมายของท่านจึงถือว่าได้เป็นแนวคิดใหม่ โดยเฉพาะในเรื่องการศึกษาของพระศาสนจักร เพราะในสมัยของท่าน คริสตชนที่กลับใจใหม่ก็จะได้รับการศึกษาเบื้องต้นอยู่แล้ว โดยทั่วไปพวกเขาจะเรียนหลักสูตรที่เรียกว่า “ไพเดียอา” (paideia) ซึ่งแปลว่าการสั่งสอนหรือหลักการตามปรัชญากรีก เคลเมนต์แห่งโรมจึงพยายามที่จะสอดแทรกคำสอนทางศาสนเข้าไปด้วย ท่านกล่าวว่า “จงให้บรรดาเด็กๆ มีส่วนร่วมในการศึกษากับองค์พระคริสต์ จงให้พวกเขาเรียนรู้ความสุขภาพถ่อมตนต่อหน้าพระผู้เป็นเจ้าเถิด” ท่านยังหยิบยืมแนวคิดของเหล่าสโตอิคเรื่องความคิดที่สอดคล้องกันกับกฎธรรมชาติ เช่นเดียวกับ การศึกษาอบรมและความเชื่อก็จำเป็นต้องสอดคล้องกับชีวิตกลุ่มคริสตชน (โดยเฉพาะในโครินทร์) ด้วยเช่นกัน และเป็นหน้าที่ของบิดามารดาที่ต้องให้การศึกษาแด่ลูกของตน เราจึงเห็นได้ว่าแนวคิดเรื่องการศึกษามีตั้งแต่แรกเริ่มของพระศาสนจักรในศตวรรษแรก

พอเข้าสู่ศตวรรษที่สอง เริ่มปรากฏแนวทางการอบรมที่ชัดเจนมากขึ้นสำหรับผู้ที่กำลังเข้าสู่ความเชื่อทางศาสนา (mode of religious formation) ซึ่งเราเรียกว่า เคทเทคคิวมีเนท (catechumenate) ผู้สนใจเข้าศาสนาจะได้รับการอบรมอย่างถูกต้องและเหมาะสมแต่แบบคริสตชน ในความจริงแล้ว วิธีการของคริสตชนมีแนวทางเช่นเดียวกับพิธีกรรมของชาวยิวสำหรับผู้กลับใจใหม่ ซึ่งมีลำดับดังนี้ (1) การพิจารณาความเหมาะสมของผู้สมัคร (2) การฝึกอ่านพระคัมภีร์ (3) การฝึกปฏิบัติตามพระวาจาที่ได้อ่าน (3) การตีความตามอรรถ์ของพระธรรมคำสอน และท้ายที่สุด (4) การดำเนินชีวิตตามครรลองของคุณค่าพระวรสาร อย่างไรก็ตามแนวทางการเตรียมตัวผู้กลับใจใหม่ยังต้องแสวงหาความสมดุลระหว่างการเรียนรู้ไพเดียอา (หลักความรู้ต่างๆ) และคำสอนตามแนวคริสต์ นอกจากนั้นบรรดาคริสตชนยังอยู่ในอิทธิพลของการศึกษาตามแนวกรีกและโรมัน (ที่เน้นปรัชญาและกฎหมายเป็นหลัก) จึงนับว่าเป็นสิ่งท้าทายไม่น้อยที่คนคนหนึ่งจะกลับใจ ละทิ้งความรู้และความเชื่อที่ตนได้รับการอบรมมา เพื่อจะได้มีส่วนร่วมในวิถีชาวคริสต์ในพิธีกรรมและชีวิตหมู่คณะ

ประมาณศตวรรษที่สี่และห้า การศึกษาแนวคริสต์เริ่มมีแนวทางที่เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ความรู้และคำสอนโดยหลักๆมีกำเนิดมาจากสองแห่งด้วยกัน หนึ่งคือข้อเขียนของบรรดาปิตาจารย์ทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก ประการที่สองคือการกำเนิดชีวิตนักพรต (monasticism) ดังเช่น บาซิลแห่งซีซาเรีย (329-379) ผู้ริเริ่มมอบกฎแด่บรรดานักพรตที่ได้รับการยึดถือปฏิบัติจนปัจจุบัน ท่านเน้นว่า สำหรับนักพรตของท่านนอกเหนือไปจากการปฏิบัติตามกฎเพื่อบรรลุถึงความศักดิ์สิทธิ์ พวกเขาต้องศึกษาเล่าเรียนด้วยเช่นกัน ในข้อเขียนของที่มีชื่อว่า “คำแนะนำสำหรับเด็กหนุ่มที่กำลังอ่านข้อเขียนกรีก” (Address to Young Men on Reading Greek Literature) ท่านเตือนให้ระมัดระวังเรื่องข้อเขียนกรีกที่บางทีขัดแย้งกับศีลธรรมของชาวคริสต์ แม้บาซิลแห่งซีซาเรียจะอนุญาตให้บรรดาลูกศิษย์อ่านบทประพันธ์กรีก แต่ท่านเตือนเสมอว่าการศึกษาแนวคริสต์ต้องมาเป็นอันดับแรก ความแตกฉานในภาษากรีกย่อมมีความจำเป็นในการอ่านพระธรรมใหม่ จึงเป็นการเตรียมตัวเราอย่างดีในการศึกษาพระธรรมคำสอนอื่นๆ เพื่อนำชีวิตของเราสู่ความรอดของวิญญาณ ท่านยังสอนบรรดาเหล่านักพรตว่า ให้เราแทนที่ตัวละครในบทประพันธ์กรีกด้วยตัวละครในพระคัมภีร์ ให้เขาเหล่านั้นเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตตามคุณค่าของพระวรสาร

ยอห์นคริสโตตมเป็นปิตาจารย์ฝ่ายตะวันออก (349-407) ก็ได้สอนเรื่องความสำคัญของการศึกษาสำหรับเด็กๆในงานเขียนของท่าน “คำแนะนำสำหรับเวนกลอรี และวิถีทางที่ถูกต้องสำหรับพ่อแม่ในการเลี้ยงดูบุตรธิดาของตน” (Address to Vainglory and the Right Way for Parents to Bring up their Children) ยอห์นคริสโตตมสอนว่า การศึกษาแนวคริสต์มีจุดศูนย์กลางที่พระคัมภีร์ แม้เราจะอ่านบทประพันธ์กรีก เราก็ควรปฏิเสธเหล่าฮีโร่เหล่านั้นและแทนที่ด้วยบุคคลในพระคัมภีร์ ท่านเห็นว่าถ้าหากคริสตชนหลงไปกับค่านิยมกรีกพวกเขาอาจจะเสียความเชื่อไปก็ได้

 สำหรับคนร่วมสมัยอย่างเยโรม (342-420) ผู้มีความเชี่ยวชาญทั้งภาษากรีกและละติน โลกรู้จักท่านจากผลงานการแปลพระคัมภีร์ทั้งหมดเป็นภาษาละติน (Vulgate Bible) ซึ่งเป็นภาษาอย่างเป็นทางการของอาณาจักรโรมัน ทั้งนี้เพื่อให้สามัญชนอ่านได้เข้าใจ (เดิมทีพระธรรมเก่าเขียนเป็นภาษาฮีบรูและพระธรรมใหม่เป็นภาษากรีก) ในจดหมายของท่าน “ถึงเลต้า ในเรื่องการศึกษาของลูกเธอ” (To Laeta, Concerning the Educatin of Her Daugther) เยโรมปรารถนาให้บรรดาเด็กหญิงได้รับการศึกษาด้วยเช่นกัน แต่ไม่ใช่ในทุกๆกรณี เฉพาะผู้ที่มีพระกระแสเรียกเพื่อเป็นการเตรียมตัวพวกเธอเหล่านั่นเข้าสู่รั้วอารมนักบวช ในจดหมายนี้เอง ท่านอยากให้บรรดาเด็กสาวศึกษาอักษรต่างๆ ไม่ใช่เพื่อที่จะสามารถอ่านโครงฉันท์กาบกลอนที่บางทีทำให้จิตใจฟุ้งซ่านได้ แต่เพื่อใช้ในการเข้าถึงบทประพันธ์ที่เป็นคลาสิคอย่างกรีกหรือโรมัน และสามารถอ่านพระคัมภีร์และข้อความเชื่อต่างๆได้ และหากบรรดาเด็กสาวสนใจเรื่องทางโลกมากเกินไป พวกเธอต้องได้รับการตักเตือน

ออกุสตินแห่งฮิปโป (353-430) มิได้หวั่นวิตกที่จะให้นักเรียนของท่านได้อ่านบทประพันธ์คลาสิกของกรีกและโรมัน ท่านได้ประยุกต์นับปรัชญาของเพลโต (ก่อน ค.ศ.427-346) มาใช้ในระบบการศึกษาของชาวคริสต์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้อเขียน แนวความคิด โดยเฉพาะในเรื่อง “เหตุผลและการเปลี่ยนแปลงอันสูงสุดของสรรพสิ่งที่มีความเป็นอยู่” (ultimate and transcendent cause of all existence) ถ้าจะอธิบายอย่างง่ายๆก็คือ ออกุสตินได้ประยุกต์ปรัชญากรีก โดยให้คำอธิบายว่า ทุกสิ่งล้วนมีปฐมเหตุจากพระเจ้า ทุกสิ่งสร้างในโลก (รวมทั้งมนุษย์) เปลี่ยนแปลงและมุ่งสู่สาเหตุอันสูงสุด นั่นก็คือองค์พระเจ้านั่นเอง ด้วยเหตุนี้ ในขบวนการศึกษาแนวคริสต์เราจึงจำเป็นต้องสอนทั้งความเชื่อ อธิบายให้เข้าใจ รับความเชื่อนั้นด้วยน้ำใจอิสระ และการสอนควรเน้นเรื่องบาป พระหรรษทานและความรักของพระเจ้า สำหรับท่านแล้ว “ความเชื่อย่อมสำคัญกว่าความเข้าใจ” เพราะความเข้าใจของมนุษย์มีจำกัด เนื่องด้วยสติปัญญาของแต่ละบุคคล แต่ทุกคนสามารมีความเชื่อและพระพรได้เท่าเสมอกัน ท่านยังกล่าวอีกว่า “จงอย่าแสวงหาความเข้าใจเพื่อท่านจะได้เชื่อ แต่จงเชื่อเพื่อจะได้เข้าใจ เพราะหากปราศจากความเชื่อในใจแล้ว ท่านจะเข้าใจได้อย่างไร”

สรุป

พระศาสนจักรแรกเริ่ม อาจจะกล่าวได้ว่าพวกเขาคือคริสตชนในกลุ่มต่างๆที่ต่อมาพัฒนาและขยายตัวจนกลายเป็นศาสนาประจำของจักรวรรดิโรมัน ช่วงนี้จึงเป็นการเปลี่ยนถ่ายของความเชื่อ วัฒนธรรม และระบบการศึกษาของประชาชน การศึกษาอบรมแนวคิดคริสต์มีจุดประสงค์หลักเพื่อให้คริสตชนที่กลับใจใหม่ได้รับความเชื่อและศรัทธา ไม่ว่าจะเป็นการร่วมพิธีกรรม อ่านพระคัมภีร์ และศึกษาข้อเขียนของบรรดาปิตาจารย์ ชาวคริสต์ไม่ได้คิดค้นวิธีการศึกษาอบรมสู่ความเชื่อขึ้นเอง หากแต่ประยุกษ์จากธรรมประเพณีของชาวยิวบ้าง ปรัชญากรีกบ้าง และวัฒนธรรมของโรมันบ้าง แต่สิ่งที่บรรดาปิตาจารย์ซึ่งเป็นทั้งครู อาจารย์และนักการศึกษา ยังมีความเป็นห่วงอยู่ว่าบทประพันธ์ที่มีความคลาสิกของกรีกและโรมันอาจจะทำให้บรรดาลูกศิษย์วอกแวกไปจากคุณธรรมและคำสอนของพระวรสาร และความเป็นห่วงนี้จะยังคงมีต่อไป และเป็นที่ถกเถียงกันอีกหลายศตวรรษข้างหน้า

         

อ่านและเขียนจาก

John L. Elias, A History of Christian Education: Protestant, Catholic, and Orthodox Perspectives, 1 ed. (United States: Krieger Publishing Company, 2002).

G. Howie, Educational Theory and Practice in St. Augustine (New York: Teachers College Press, 1969), 49-50.

Father M

Father M

Written by 
บาทหลวง วรวุฒิ สารพันธุ์ C.Ss.R. JCL


Catholic Priest & Canonist
Author & Administrator
Faith4Thai.com

*juris canonici licentiatus
หรือ JCL เป็นปริญญาทางกฏหมายพระศาสนจักร

Email: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
FaceBook: Worawut Saraphan
Iine ID: mcssrsp


book


วิวัฒนาการของ "การศึกษาคาทอลิก"

ในประวัติศาสตร์โลก

บทนำ

“เป็นที่ประจักษ์ในสังคมไทยว่าโรงเรียนคาทอลิกตัวแทนภาพลักษณ์ของงานอภิบาลและการแพร่ธรรมในประเทศไทย ผู้เขียนมีจุดประสงค์ที่จะนำเสนอมุมมองของงานด้านการศึกษาและอบรมคาทอลิก (Catholic education and formation) ที่ไม่ใช่แค่ในโรงเรียนคาทอลิก การศึกษาคาทอลิกมีจุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจจากชีวิตและงานขององค์พระเยซูเจ้าและสืบต่อทางบรรดาอัครสาวกและปิตาจารย์ พันธกิจนี้ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ผ่านกระแสธารแห่งกาลเวลา ไม่ว่าจะเป็นยุคแห่งความรุ่งเรือง หรือความท้าทายและความยากลำบาก จวบจนปัจจุบันพระศาสนจักรยังคงเห็นคุณค่าของงานด้านการศึกษาและอบรมคาทอลิก ทั้งนี้เพื่อจะเป็นเครื่องมือที่นำทุกผู้คนสู่หนทางแห่งความรอดพ้นแห่งวิญญาณ”