Skip to main content

วิวัฒนาการของ "การศึกษาคาทอลิก"

ในประวัติศาสตร์โลก

book

บทที่ 08 "คณะธรรมทูตเยสูอิตและคณะนักบวชต่างๆ" (The Jesuit Order and Other Religious Movements)

ราชิโอ สตูดิโอรุม (Ratio Studiorum 1599) คู่มือการเรียนการสอน ตามแบบฉบับคณะเยซูอิต

      คณะนักบวชหรือผู้ปฏิญาณตน มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้สมาชิกของคณะดำเนินตนในวิธีทางแห่งชีวิตคริสตชนอย่างเข้มข้น ภายใต้สินบนนักบวชทั้งสามประการ (Evangelical Counsels) ประกอบด้วย ความยากจน ความบริสุทธิ์ และความนอบนบ หรือเราเรียกว่าจิตตารมณ์ของคณะนั้นๆ และในบางครั้ง พวกเขาได้ทำภารกิจการแห่งแพร่ธรรมและได้เปลี่ยนแปลงพระศาสนจักรโดยรวมโดยเฉพาะในยามที่เกิดปัญหาหรือวิกฤติในพระศาสนจักร   การอุทิศตนและอุสาหะของพวกเขาสมควรที่จะได้รับการกล่าวถึงอยู่บ่อยๆ ในประวัติศาสตร์ของพระศาสนาจักร อิกญาสิโอ แห่งโลโยลา (Ignatius of Loyola) ได้ตั้งคณะนักบวชคณะใหม่ในปี ค.ศ. 1534 โดยที่สมาชิกรุ่นแรกทั้งหกทั้งได้ปฏิญาณตนที่ปารีส และในปี ค.ศ. 1540 พระสันตะปาปาพอลที่ 3 (Pope Paul III) ได้ทรงรับรองธรรมนูญของคณะและเวลานั้นพวกเขามีสมาชิกด้วยกัน 60 คน

      คณะเยซูอิตของนักบุญอิกญาซีโอมีเป้าหมายหลักคือ ความรอดพ้นของทั้งปัจเจกบุคคลและของมนุษยชาติ หากแต่พวกเขายังเน้นงานด้านการศึกษาแบบคริสตชน แม้แรกเริ่มผู้ตั้งคณะไม่ได้ประสงค์ให้บรรดาสมาชิกทำงานในด้านนี้ หากแต่เป็นความต้องการอย่างเร่งด่วนในการฟื้นฟูวิกฤติของพระศาสตจักรโดยรวม พวกเขาจึงได้พัฒนาเครื่องมือที่ทรงพลังในการแพร่ธรรมโดยอาศัยการศึกษาแบบคริสตชน สิ่งนี้เรียกว่า ราชิโอ สตูดิโอรุม (Ratio Studiorum 1599) เรียกได้ว่าเป็นคู่มือการเรียนการสอน มีรายละเอียดของกฎระเบียบและหลักสูตรอย่างชัดเจนสำหรับทุกโรงเรียนของคณะเยซูอิต เริ่มจากการศึกษามัธยมปลายถึงระดับมหาวิทยาลัย คู่มือดังกล่าวจึงเป็นศูนย์รวมความเป็นหนึ่งเดียวและการรวมมือกันระหว่างเครือข่ายของเยซูอิต ในรายละเอียด ราชิโอ สตูดิโอรุม ได้นำหลักมานุษยนิยมของมหาวิทยาลัยของกรุงปารีส มาปรับปรุงให้สอดคล้องกับการพัฒนาฝ่ายจิตวิญญาณ ตามแบบฉบับของ การฝึกปฏิบัติฝ่ายจิต (Spiritual Exercises) ตามคำสอนของผู้ก่อตั้งคณะ ดังเช่นที่เขียนวันในข้อที่ 1 ว่า

      “เป็นหลักที่สำคัญสำหรับคณะแห่งพระเยซูเจ้าที่มุ่งสอนเยาวชนให้มีความรู้ในทุกๆศาสตร์และสาขาวิชาต่างๆ ที่มีอยู่ในสถาบันนั้นๆ และหลักสูตรการศึกษานี้จะนำพวกเขาไปสู่ความรอบรู้และความรักต่อพระผู้สร้างและพระผู้ไถ่” (ราชิโอ สตูดิโอรุม ข้อที่ 1)

      งานของคณะเยซูอิตมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก ในปี ค.ศ. 1579 พวกเขาได้ตั้งโรงเรียนกินนอน กว่า 144 แห่ง ในปี 1749 มีจำนวนเพิ่มเป็น 669 แห่ง มีบ้านเณร 176 แห่ง มีบ้านสำหรับการศึกษาอื่นๆอีก 61 แห่ง รวมถึงมีมหาวิทยาลัย 24 แห่งด้วยกัน พวกเขาให้การศึกษาแก่เยาวชนและบุคคลทั่วไปนับราวๆสองแสนคน พวกเขายังช่วยสอนและเตรียมตัวผู้ฝึกหัดและสามเณรของสังฆมณฑลต่างๆ เป็นพวกเขาที่ได้ก่อตั้งบ้านเณรที่มีความทันสมัยและมีชื่อเสียงอย่างมาก คือ โรมันคอลเลจ หรือ มหาวิทยาลัยเกรกโกรี (Gregorian University) สิ่งที่พวกเขาได้ถือเป็นรากฐานแห่งการศึกษาคริสตชนในอีกหลายศตวรรษที่จะมาถึง จึงไม่แปลกที่นักประวัติศาสตร์จะเรียกพวกเขาว่า เป็นผู้เชี่ยวชาญการศึกษาแห่งยุโรปสมัยนั้น (schoolmasters of Europe)

คณะนักบวชคณะใหม่ และจิตตารมณ์ด้านการศึกษา (Other Religious Orders and the Charism for School Apostolate)

      วิสัยทัศน์ของงานอภิบาลในโรงเรียน (school apostolate) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมแห่งธรรมทูต (missionary activities) มีอยู่แล้วในจิตารมณ์ของบรรดาคณะนักบวช อาทิเช่น คณะเบเนดิกติน ฟรังซิสกัน และดอมินิกัน แต่เป็นคณะธรรมทูตแห่งพระเยซูเจ้า หรือเยซูอิต ที่ทำให้วิสัยทัศน์เข้มแข็งและเป็นรูปแบบของพันธกิจด้านการศึกษาคาทอลิกแก่บรรดาคณะนักบวชที่ก่อตั้งใหม่

      ดังเช่น อัญจลา เมอริซี (Angela Merici) ที่ได้ก่อตั้งคณะของนักบุญอุร์สุลา หรือคณะอุร์สุลินในปี ค.ศ. 1535 แม้ในแรกเริ่มเหล่าภคิณีนี้จะดำเนินชีวิตภายในรอบรั้วขอบอราม แต่จิตตารณ์ของสมาชิกคือให้การศึกษาแด่บรรดาเด็กผู้หญิง และงานของคณะก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะที่ฝรั่งเศส ราวต้นศตวรรษที่ 18 คณะมีบ้านถึง 350 แห่งและมีสมาชิกราวเก้าพันคน

      ฟิลิป เนรี (Philip Neri) ได้ตั้งสมาพันธ์แห่งออราตอรี (Confederation of Oratory) ที่โรมในปี ค.ศ. 1575 แต่เป็นปีแอ เดอ เบอรู (Pierre de Berulle) ได้ก่อตั้งเป็นคณะนักบวชในฝรั่งเศสเพื่องานด้านการศึกษา โรงเรียนแบบกินนอน (Collegium) แห่งแรกของเหล่าออราตอเรี่ยนมีขึ้นในปี ค.ศ. 1614 ถึงปลายศตวรรษที่ 17 พวกเขามีโรงเรียนกินนอนถึง 30 แห่ง รวมทั้งสถาบัน 2 แห่งสำหรับครูที่จะสอนในโรงเรียนอีกด้วย หลักสูตรของเหล่าคณะออราตอรีถือได้ว่านำสมัยมากกว่าของเยซูอิต เพราะมีการสอนครอบคลุมถึงวิชาต่างๆ เช่น ประวัติศาสตร์ คณิตศาสตร์ ธรรมชาติวิทยาและวิทยาศาสตร์ โดยมีการเรียนการสอนเป็นภาษาท้องถิ่น

คณะภราดาแห่งโรงเรียนคริสตชน (The Brothers of the Christain Schools) หรือในนาม คณะภราดาลาซาล (La Salle Brothers) ตั้งขึ้นโดยฌ็อง-บาติสต์ เดอ ลา ซาล (John Baptist de La Salle) ในปี ค.ศ. 1682 ท่านได้รวบรวมบรรดาครูที่สอนในโรงเรียนมาสอนหนังสือให้กับชุมชนระแวกแม่น้ำไรมส์ พวกเขามีชีวิตเป็นหมู่คณะ (community life) เหล่าภารดานี้ทำหน้าที่เป็นครูสอนหนังสือแก่เด็กๆที่ยากจน เป็นรูปแบบชีวิตนักบวชแบบใหม่สำหรับสมัยนั้น พวกเขาถือสินบนของนักบวชและมีจิตตารมณ์แห่งการสอนหนังสือเพื่อผู้ยากไร้ พวกเขาเองก็ได้สร้างคู่มือการเรียนการสอนในแบบฉบับของพวกเขาเองที่เรียกว่า La Conduite des Ecoles Chretiennes ในปี 1695 คู่มือดังกล่าวกำหนดบทบาทของครูในการดูแลนักเรียนจำนวนหนึ่งร้อยคนที่ยากจน ต่อหนึ่งห้องเรียน รวมถึงกฎระเบียบต่างๆที่พึ่งปฏิบัติ อาทิเช่น ระเบียบการขออนุญาตถามคำถาม การเอาใจใส่ดูแลเป็นพิเศษแก่เด็กที่ไม่เชื่อฟังและเรียนรู้ได้ช้า การให้รางวัลและการลงโทษเด็ก การประยุกต์การสอนคำสอนในชั้นเรียน ฯลฯ

เหล่าภารดาแห่งคณะลาซาลเป็นตัวอย่างที่ดีในการแพร่ธรรมต่อเด็กยากจนในรูปแบบของการศึกษาคริสตชน นอกเหนือไปจากงานโรงเรียนสำหรับเด็กยากจน พวกเขายังสอนเยาวชนในวันอาทิตย์ คนเหล่านี้อาจจะทำงานแล้ว แต่ไม่เคยได้รับการศึกษาเลย ยังมีสถาบันด้านการศึกษาแซงซูลปีส (Saint-Sulpice) ที่จอห์นเดอลาซาลได้ก่อตั้งขึ้น อาจจะถือได้ว่าเป็นวิทยลัยครูแห่งแรกก็ว่าได้ คงไม่เป็นการกล่าวเกินจริงแต่อย่างใด ที่คณะลาซาลได้รับการยกย่องว่าประสบความสำเร็จในงานด้านการศึกษามากที่สุดในยุคนั้น

อ้างอิงจาก

D. Dunkerley et al., "Ursulines," “New Catholic Encyclopedia, Second Edition, vol. 14 (Detroit: Thomson Gale, 2002)

John L. Elias, A History of Christian Education: Protestant, Catholic, and Orthodox Perspectives, 1 ed. (United States: Krieger Publishing Company, 2002)

Jose Mesa, "The International Apostolate of Jesuit Education: Recent Developments and Contemporary Challenges," International Studies in Catholic Education 5, no. 2 (2013)

J. F. Broderick and V. A. Lapomarda, “Jesuit”, “New Catholic Encyclopedia, Second Edition, vol. 7 (Detroit: Thomson Gale, 2002)

L. Salm, "Brothers of the Christian Schools, "New Catholic Encyclopedia, Second Edition, vol. 2 (Detroit: Thomson Gale, 2002)

บทที่ 08 "คณะธรรมทูตเยสูอิตและคณะนักบวชต่างๆ" (The Jesuit Order and Other Religious Movements)

◀️ บทที่ 07 "การตอบโต้ ผู้ปฏิรูปศาสนา" (Counter-Reform)

บทที่ 09 "กำเนิดยุคเรืองปัญญา" (The Rise of the Enlightenment) ▶️

Written by 
บาทหลวง วรวุฒิ สารพันธุ์ C.Ss.R. JCL


Catholic Priest & Canonist
Author & Administrator
Faith4Thai.com

*juris canonici licentiatus
หรือ JCL เป็นปริญญาทางกฏหมายพระศาสนจักร

Email: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
FaceBook: Worawut Saraphan
Iine ID: mcssrsp


book


วิวัฒนาการของ "การศึกษาคาทอลิก"

ในประวัติศาสตร์โลก

บทนำ

“เป็นที่ประจักษ์ในสังคมไทยว่าโรงเรียนคาทอลิกตัวแทนภาพลักษณ์ของงานอภิบาลและการแพร่ธรรมในประเทศไทย ผู้เขียนมีจุดประสงค์ที่จะนำเสนอมุมมองของงานด้านการศึกษาและอบรมคาทอลิก (Catholic education and formation) ที่ไม่ใช่แค่ในโรงเรียนคาทอลิก การศึกษาคาทอลิกมีจุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจจากชีวิตและงานขององค์พระเยซูเจ้าและสืบต่อทางบรรดาอัครสาวกและปิตาจารย์ พันธกิจนี้ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ผ่านกระแสธารแห่งกาลเวลา ไม่ว่าจะเป็นยุคแห่งความรุ่งเรือง หรือความท้าทายและความยากลำบาก จวบจนปัจจุบันพระศาสนจักรยังคงเห็นคุณค่าของงานด้านการศึกษาและอบรมคาทอลิก ทั้งนี้เพื่อจะเป็นเครื่องมือที่นำทุกผู้คนสู่หนทางแห่งความรอดพ้นแห่งวิญญาณ”