Skip to main content

วิวัฒนาการของ "การศึกษาคาทอลิก"

ในประวัติศาสตร์โลก

book

บทที่ 09 "กำเนิดยุคเรืองปัญญา" (The Rise of the Enlightenment)

บรรยากาศยุค "เรืองปัญญา" Age of Enlightenment

ยุคเรืองปัญญาก่อกำเนิดมาจากแนวความคิดทางปรัชญาในราวศตวรรษที่ 17 โดยเริ่มต้นที่สหราชอาณาจักรอังกฤษ ดังเห็นได้จากแนวความคิดที่ปรากฏอยู่ในบรรดาข้อเขียนเชิงศาสนา จริยศาสตร์ และกฎแห่งธรรมชาติ กระแสแห่งยุคเรืองปัญญาแพร่หลายอย่างรวดเร็วในโลกตะวันตก ดุจดั่งเป็นตัวแทนของความคิดล้ำสมัย เริ่มที่อังกฤษสู่ฝรั่งเศสไปถึงทวีปอเมริกาเหนือ จากโปรตุเกสถึงสเปนและไปถึงทวีปอเมริกาใต้ หากจะอธิบายถึงวิถีแห่งยุคเรืองปัญญา นั้นหมายถึงการที่มนุษย์รู้จักใช้เหตุและผลเป็นบรรทัดฐานของวิชาความรู้ ภายใต้กรอบความคิดของระเบียบวิธีการทางวิทยศาสตร์ ได้จากการสังเกตการณ์และทดลอง หลักการสำคัญของยุคเรืองปัญญาที่ถูกประยุกต์ใช้ในด้านการศึกษา มีดังนี้ คือหนึ่ง การนำหลักมานุษยวิทยามาใช้ในวิชาปรัชญา และสอง ประยุกต์ใช้ในวิชาจิตวิทยาเรื่องพัฒนาการของเด็ก ต่อมาการศึกษาแบบคาทอลิกได้นำหลักทั้งสองประการนี้มาใช้ในงานด้านการศึกษาเช่นกัน

สำหรับนักการศึกษาแห่งยุคเรืองปัญญานี้ พวกเขาจะอธิบายหลักการศึกษาในกรอบของการบูรณการระหว่าง สติปัญญา อารมณ์ความรู้สึก และศีลธรรม เป็นแง่มุมด้านการพัฒนาการที่ประสมประสานกัน ดังที่ลอร์ตันและกอร์ดอน (Lawton & Gordon) ได้เขียนถึงหลักการศึกษาของยุคนี้ไว้ว่า

“เหนือสิ่งอื่นใด หลักการศึกษาของยุคเรืองปัญญานี้ได้ทำลายวิถีเดิมที่มีมาก่อนเก่า เช่น การบทจำบทเรียนหรือตำรับตำราต่างๆ ในยุคแห่งการใช้เหตุและผลนี้ เรียกร้องการให้มีการเรียนการสอนที่พัฒนาด้านพลังของจิตใจ ที่สามารถทำการวิเคราะห์ถึงสถานะภาพต่างๆ หรือ มีกระบวนการคิดอย่างมีเหตุผล อย่างไรก็ดี หากหลักปรัชญาใดๆที่เน้นความเป็นเหตุผลมากเกินไป ก็อาจจะมองข้ามพลังแห่งอารมณ์และความรู้สึกของมนุษย์ ซึ่งมีความสำคัญและจำเป็นต่อการเรียนรู้เช่นกัน จึงเป็นความจำเป็นที่ต้องมีหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับชาติ ที่มีความสมดุลระหว่างการเรียนการสอน และพัฒนาด้านของสติปัญญา การศึกษาด้านศีลธรรม และด้านอารมณ์และความรู้สึก”

ในยุคเรืองปัญญานี้ มีบรรดานักคิด นักเขียน นักปรัชญาอยู่จำนวนไม่น้อยที่เป็นพวกนอสติกนิยม (นิยมการใช้เหตุ-ผลแต่เพียงอย่างเดียว) พวกไม่เชื่อในพระเจ้า และพวกวัตถุนิยม คนพวกนี้คอยโจมตีความคิดเรื่องพลังเหนือธรรม อาทิเช่น เรื่องของศาสนาและความเชื่อ ดังเช่น โวแตร์ (Voltaire 1694-1778) ที่คอยวิพากษ์วิจารณ์พระศาสนจักรคาทอลิกอยู่ร่ำไป หรือแม้จะเป็น เดวิด ฮูม (David Hume 1711-1776) ที่ยอมรับว่าตนเป็นนอสติกนิยม เป็นผู้ปฏิเสธหลักเทวศาสตร์โดยสิ้นเชิง เขาไม่เชื่อในเรื่องของ “นามธรรมแห่งอภิปรัชญา” (the Abstract Metaphysics) ที่มีอยู่ในหมู่คริสตชน นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสคนอื่นๆ ได้แก่ เดย์โรท และ เฮลเวติยูส (Dierot and Helvetius) ที่อาจจะเรียกได้ว่าปฏิเสธการมีอยู่ของพระเจ้าอย่างสิ้นเชิง

แต่ก็ยังมีนักคิดในยุคเรืองปัญญานี้ที่ยังยึดมั่นในหลักของพลังเหนือธรรมชาติ แม้พวกเขาจะวิพากษ์วิจารณ์พระศาสนจักรคาทอลิกอยู่บ้างในเรื่องของคำสอนและข้อความเชื่อ อันมีรากฐานมาจากพระธรรมคัมภีร์และชีวิตขององค์พระเยซูคริสตเจ้า จีน ยากอป รูสโซ (Jean Jacques Rousseau) ได้เขียนหนังสือ สัญญาประชาคม (Social Contract) ในปี ค.ศ. 1762 เสนอให้รัฐตั้งศาสนาใหม่เพื่อคนในสังคม และที่เป็นศาสนาอะไรก็ได้ ที่ไม่ใช่ศาสนาที่เรามีอยู่ในปัจจุบันนี้

เอ็มมานูเอล คานท์ (Emmanuel Kant) ปกป้องความเชื่อในองค์พระผู้เป็นเจ้า เพราะหากไร้การมีอยู่ของพระเจ้า ก็ไม่จำเป็นที่มนุษย์จะมีหลักศีลธรรมในใจ ด้วยเหตุนี้ เราจำเป็นต้องมีพระเจ้า ซึ่งเป็นความคิดในเชิงนามธรรม และเป็นประโยชน์ต่อหลักศีลธรรมในสังคม อย่างไรก็ดี คานท์ไม่ได้พูดอะไรเกี่ยวกับความเชื่อหรือความศรัทธา แต่เป็นการอธิบายตามหลักสังคมศาสตร์ ที่สังคมมนุษย์พึงมีและจำเป็นต้องมีศาสนา

เหล่านักคิดในยุคเรืองปัญญาเองก็ไม่ได้มัวแต่วิพากษ์วิจารณ์คริสต์ศาสนา แต่พวกเขาเองก็ได้พยายามสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆในวงการศึกษา รูสโซได้เขียนหนังสือที่มีชื่อว่า “เอมิลี” (Emile) ในปี ค.ศ. 1792 แม้ว่าความคิดในหนังสือเล่มนี้จะมีอิทธิพลต่อทฤษฏีใหม่สมัยใหม่ในวงการศึกษา แต่กลับเป็นที่ขุ่นเขืองใจต่อพระศาสนจักรคาทอลิกอย่างยิ่ง พระสังฆราชแห่งกรุงปารีสได้ออกประณามอย่างเป็นทางการว่าเป็นหนังสือนอกรีต คณะเยซูอิตไม่อนุญาตให้มีหนังสือเล่มนี้อยู่ในมหาวิทยาลัยหรือโรงเรียนของพวกเขา ที่กรุงมาดริด ประเทศสเปน หลังจากที่ได้มีการประกอบพิธีมิสซาฯอย่างสง่า มีการจัดการเผาหนังสือนี้อย่างเป็นทางการ ในหนังสือเอมิลี่ มีการเล่าเรื่องที่แต่งขึ้นเกี่ยวกับผู้ปกครองคาทอลิกท่านหนึ่งที่ได้รับการแรงบันดาลใจจากยุคเรืองปัญญา ต่อมาตัวละครนี้ได้ประณามการศึกษาคาทอลิกว่า “ไม่ได้สร้างสรรค์วิสัยทัศน์แห่งความดีอะไรเลย กลับเต็มไปด้วยอคติ ว่างเปล่า โง่งม ได้แต่สอนเด็กให้เสียเวลาในชีวิต” คำกล่าวร้ายดังกล่าวเป็นความความคิดของรูโซที่สอดแทรกในตัวละครนี้ ที่ต้องการประณามวิชาคำสอนของพระศาสนจักรว่า เป็นดังมายาลวงตาและเป็นที่สะดุดต่อศักยภาพของมนุษย์ในการพัฒนาคุณธรรมต่างๆในชีวิต

หากเรายอมมองข้ามในส่วนที่หนังสือเอมิลีโจมตีการศึกษาคาทอลิก ส่วนที่ดีๆที่รูสโซได้นำเสนอในวงการศึกษาคือ แนวคิดการเรียนการสอนที่ไม่ได้เน้นครูผู้สอน แต่เน้นเด็กเป็นศูนย์กลางของการเรียนการสอน (Child-centered approach) ครูไม่ได้มีหน้าที่สอนแต่อย่างเดียว แต่เป็นผู้อบรมบ่มเพราะให้เด็กนักเรียนได้เติบโต มีประสบการณ์ของการเรียนรู้ หนังสือเอมิลี่ (Emile de l’Education) แบ่งพัฒนาการการศึกษาของเด็กเป็นช่วงต่างๆ ดังนี้ 1. เด็กอ่อน (แรกเกิดถึงสองขวบ) 2. เยาว์วัย (2-12 ขวบ) 3. วัยรุ่นตนต้น (12-15 ขวบ) 4. วัยรุ่นตอนปลาย (15-20) และ 5. วัยผู้ใหญ่ถึงแต่งงาน (20 ปีขึ้นไป)

แม้โจฮัน ไฮน์ริค เพสตาลอซี่ (Johann Heinrich Pestalozzi, 1746-1827) จะได้รับแรงดลใจเรื่องทฤษฏีการศึกษาจากรูสโซ แต่ท่านได้ตำหนิหลักการนี้ว่ามีความสุดโต่งและเสรีนิยมมากเกินไป เพราะในเป็นความจริงแล้ว ในขบวนการเรียนการสอนในห้องเรียนควรจะมีความสมดุลระหว่างความเชื่อฟังและอิสรภาพของเด็ก โจฮันได้ยกตัวอย่างของความสมดุลระหว่า ศีรษะ ร่างกาย และจิตใจ (head, body, and heart) เป็นสัญลักษณ์สามประการของความเฉลียวฉลาด สุขภาพร่างกาย (รวมทั้งทักษะแห่งชีวิต) และศีลธรรม สำหรับโจฮันแล้ว สติปัญญาและความสมบูรณ์ทางร่างกายควรเสริมสร้างกันและกัน และนับมนุษย์ไปสู่การพัฒนาทางศีลธรรม ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของกระบวนการศึกษา

เหตุที่นักการศึกษาในยุคเรืองปัญญาได้เน้นเสรีภาพส่วนบุคคลและการใช้เหตุผลมากเกินไป จนพวกเขาได้ละทิ้งหลักการของคริสตศาสนา ที่เป็นทั้งธรรมประเพณีและการสอนชีวิตทางศาสนา ดังที่เอลีอัสได้กล่าวไว้ว่า

“ในทัศนะของนักการศึกษาในแวดวงของพระศาสนจักรหลายท่าน หลักการของยุคเรืองปัญญาอนุญาตให้เด็กมีเสรีภาพมากเกินควร จนขาดการควบคุมด้านหลักศีลธรรมและการสอนความเชื่อศรัทธาในศาสนา แม้จนถึงศตวรรษที่ยี่สิบ เรื่องนี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในหมู่นักการศึกษา ว่าอะไรคือการก้าวหน้าทางการศึกษาอย่างแท้จริง” 

      ความเชื่อหรือหลักข้อความเชื่อถูกละทิ้งไปในหมู่ผู้นิยมยุคเรืองปัญญา โดยลามไปถึงความคิดด้านการพัฒนาคุณค่าของมนุษย์และความคิดเกี่ยวกับสังคม แต่ถ้าหากพิจารณาอย่างดีแล้ว หากศาสนายังคงจำเป็นและมีอยู่ในสังคมมนุษย์ ศาสนาช่วยสร้างความเชื่อมั่นทางศีลธรรมและจริยศาสตร์ที่ถูกส่งต่อจากมนุษย์จากรุ่นสู่รุ่น และถ้าหากนักการศึกษาในยุคนี้มุ่งแต่จะเน้นการหลักใช้เหตุผลแต่เพียงอย่างเดียวโดยทิ้งหลักการของศาสนา ก็เป็นไปได้ว่าเรื่องของศีลธรรมหรือความรู้สึกผิดชอบชั่วดีทางสังคม ซึ่งได้รับการพัฒนาและต่อยอดมาจากหลักศีลธรรมและขนบธรรมเนียม สิ่งเหล่านี้อาจจะกลายเป็นแค่ความคิดตามหลักการ ท้ายที่สุดเราจะจบอยู่ที่หลักการที่ไม่มีเรื่องของศีลธรรมอยู่เลยก็เป็นไปได้

ส่งท้าย...

      ในมุมหนึ่งนักการศึกษายุคเรืองปัญญาบางท่านโจมตีและประกาศตนเป็นปรปักษ์กับพระศาสนจักรคาทอลิก นอกจากพวกเขาจะท้าทายอำนาจ พวกเขายังปฏิเสธหลักการที่พระศาสนจักรสั่งสอน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปรัชญา ข้อความเชื่อ หรือหลักการสอนเรื่องธรรมชาติ ในทางกลับกัน อี. เฮเกล (2002) กล่าวถึงคุณประโยชน์ที่พวกเขาได้กระทำต่อพระศาสนจักรคาทอลิก เพราะหลักการศึกษาทอลิกได้เปลี่ยนแนวคิดเดิมๆ จากข้อจำกัดหรือความเชื่อที่งมงาย ไปสู่หลักการสอนแบบกระตุ้นผู้เรียนและตามหลักจิตวิทยาของมนุษย์ พระศาสนจักรก็เห็นว่าควรจะมีพัฒนางานค้นคว้าวิจัยในการศึกษาเทววิทยาและพระคัมภีร์  ด้วยแรงกระตุ้นดังกล่าว งานด้านการศึกษาคาทอลิกจึงมีความก้าวหน้า ซึ่งเป็นรากฐานของการเรียนการสอนศาสตร์ต่างๆ (sacred science) ของพระศาสนจักรในศตวรรษ 19-20 ที่จะมาถึง ไม่ว่าจะเป็นวิชาปรัชญาศาสนา คำสอน เทวศาสตร์ กฎหมายพระศาสนจักร ฯลฯ

อ้างอิงจาก

John L. Elias, A History of Christian Education: Protestant, Catholic, and Orthodox Perspectives, 1 ed. (United States: Krieger Publishing Company, 2002)

Gordon, Peter, and Denis Lawton. A History of Western Educational Ideas.  Portland, OR: Routledge Falmer, 2002.

E. Hegel, "Enligtenment," in New Catholic Encyclopedia, Second Edition, vol. 5  (Detroit: Thomson Gale, 2002)

บทที่ 09 "กำเนิดยุคเรืองปัญญา" (The Rise of the Enlightenment)

◀️ บทที่ 08 "คณะธรรมทูตเยสูอิตและคณะนักบวชต่างๆ" (The Jesuit Order and Other Religious Movements)

Headline

Written by 
บาทหลวง วรวุฒิ สารพันธุ์ C.Ss.R. JCL


Catholic Priest & Canonist
Author & Administrator
Faith4Thai.com

*juris canonici licentiatus
หรือ JCL เป็นปริญญาทางกฏหมายพระศาสนจักร

Email: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
FaceBook: Worawut Saraphan
Iine ID: mcssrsp


book


วิวัฒนาการของ "การศึกษาคาทอลิก"

ในประวัติศาสตร์โลก

บทนำ

“เป็นที่ประจักษ์ในสังคมไทยว่าโรงเรียนคาทอลิกตัวแทนภาพลักษณ์ของงานอภิบาลและการแพร่ธรรมในประเทศไทย ผู้เขียนมีจุดประสงค์ที่จะนำเสนอมุมมองของงานด้านการศึกษาและอบรมคาทอลิก (Catholic education and formation) ที่ไม่ใช่แค่ในโรงเรียนคาทอลิก การศึกษาคาทอลิกมีจุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจจากชีวิตและงานขององค์พระเยซูเจ้าและสืบต่อทางบรรดาอัครสาวกและปิตาจารย์ พันธกิจนี้ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ผ่านกระแสธารแห่งกาลเวลา ไม่ว่าจะเป็นยุคแห่งความรุ่งเรือง หรือความท้าทายและความยากลำบาก จวบจนปัจจุบันพระศาสนจักรยังคงเห็นคุณค่าของงานด้านการศึกษาและอบรมคาทอลิก ทั้งนี้เพื่อจะเป็นเครื่องมือที่นำทุกผู้คนสู่หนทางแห่งความรอดพ้นแห่งวิญญาณ”