Skip to main content

วิวัฒนาการของ "การศึกษาคาทอลิก"

ในประวัติศาสตร์โลก

book

บทที่ 03 "ชีวิตในเขตพรตและการฟื้นฟูชีวิตนักบวช"

"นักบุญเบเนดิก สวดภาวนากับสมาชิกคณะนักบวช" Giovanni Antonio Bazzi Sodoma, St. Benedict of Nursia Prays with his Monks

ต่อมานักการศึกษาชาวคริสต์เริ่มเห็นความจำเป็นที่จะต้องแยกแยะระหว่างการศึกษาศาสตร์ทั่วไป (profane sciences) และการอบรมทางศาสนา (religious formation) อย่างชัดเจน เพราะการอบรมทางศาสนามีรากฐานอยู่ที่การศึกษาพระธรรมคัมภีร์และข้อความเชื่อ ประจวบกับราวคริสต์ศตวรรษที่ 6-8 ที่มีการปฏิรูปชีวิตในเขตพรตของบรรดานักบวช ดังเช่น เบเนดิคแห่งเนอร์เชีย (Benedict of Nursia, 480-547) ได้ทำการปฏิรูปชีวิตนักบวชในอาราม ที่เรารู้จักกันในนาม “กฎของนักบุญเบเนดิก” (Rule of St. Benedict) การอบรมทางศาสนาจึงแก่นกลางของการฝึกอบรมในบรรดานักพรตเหล่านั้น เพราะนอกจากที่พวกเขาจะสวดภาวนาและทำงาน พวกเขายังต้องเรียนพระคัมภีร์และคำสอนต่างๆ อาทิเช่น พวกเขาต้องจำบทสดุดีในพระธรรมเก่าให้ได้ พวกเขาต้องอ่านและรำพึงถึงข้อความเชื่อต่างๆ แนวทางการอบรมและศึกษาเช่นนี้การศึกษาของนักบวชในอารามจึงเป็นต้นแบบของการศึกษาคริสตชนโดยทั่วไปที่อยู่นอกรั้วอาราม หากแต่จะมีความแตกต่างในเรื่องของเนื้อหาวิชาและจุดประสงค์ของการเรียนการสอน อาทิเช่น การศึกษาสำหรับฆาราวาส หรือสำหรับพระสงฆ์สังฆมณฑลท้องถิ่นเท่านั้น

          คาซิโดรูสแห่งวิวาริอูม (Cassiodorus of Vivarium, 575) ได้แสดงทัศนคติของท่านต่อการศึกษาในรั้วอารามนี้ในหนังสือ “ข้อแนะนำสำหรับการอ่านข้อเขียนที่ศักดิ์สิทธิ์และบทประพันธ์ของมนุษย์” (Introduction to Divine and Human Reading) ท่านพยายามที่จะบอกพวกเราว่า การศึกษาสิ่งที่เป็นคลาสสิกและศาสนาต้องควบคู่กันไป ท่านอยากจะให้บรรดาศิษย์มีความแตกฉานในศาสตร์ทางโลกทั้งเจ็ดประการ (seven liberal arts) ได้แก่ วิชาไวยกรณ์ วาทศาสตร์ และวิพากษ์วิธี (ทั้งสามประการนี้เรียกว่า ทริวิอูม – trivium) และวิชาคณิตศาสตร์ เรขาคณิต ดาราศาสตร์ และคีตศิลป์ (สี่ประการหลังนี้มีชื่อว่า ควาดริวิอูม – quadrivium) ซึ่งศาสตร์ทั้งเจ็ดประการนี้ควรมีอยู่ในการอบรมบรรดานักพรตในอาราม

อิสิโดเร พระสังฆราชแห่งเซวิล (Isidore, Bishop of Seville, 570-636) ที่ได้รวบรวมสารานุกรมศาสตร์ต่างๆ ไว้ถึงยี่สิบเล่มเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นศาสตร์ทางโลกทั้งเจ็ด ภาษาศาสตร์ บทประพันธ์กรีกและโรมัน และสารานุกรมของเป็นที่นิยมเพื่อใช้อ้างอิงโดยประดานักวิชาการของยุคกลาง แต่สำหรับอิสิโดเรแล้ว ท่านกลับสอนว่า ศาสตร์ของโลกเป็นเพียงพื้นฐานเพื่อให้เราศึกษาพระธรรมคัมภีร์ ท่านอยากให้บรรดาพระสังฆราชและพระสงฆ์ได้ร่ำเรียนวิชาการต่างๆ ในสถาบันของพระศาสนจักร        เฉกเช่นกับบีด (673-735) ผู้ประพันธ์หนังสือประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักรและคริสตชนชาวอังกฤษ (History of the English Church and People) ท่านยังได้เขียนหนังสืออื่นๆอีกเช่น ไวยกรณ์ วิทยาศาสตร์ และบทกวี เพื่อให้ในการอบรมในอารามที่ประเทศอังกฤษ เพื่อที่บรรดานักพรตสามารอ่านออกเขียนได้ และมีความรวบรู้ในพระธรรมคำสอนและพระธรรมคัมภีร์

สรุป

แม้นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่จะวิจารณ์ถึงแนวทางการศึกษาในคริสตศตวรรษที่ 6-8 ว่าจำกัดอยู่เฉพาะในเขตพรตในรั้วอาราม ซึ่งเป็นการยากที่ประชาชนทั่วไปจะเข้าได้ถึง การศึกษาจึงจำกัดเฉพาะนักบวชและชนชั้นสูงในสังคมเท่านั้น หากแต่ปรัชญาแนวคิดการศึกษาระบบตะวันตกถือกำเนิดมาจากรอบรั้วเขตอาราม และบรรดานักการศึกษาและครูบาอาจารย์ก็มีความปรารถณาที่จะให้บรรดาลูกศิษย์มีความรอบรู้ในศาสตร์ต่างๆ แต่ทั้งนี้วิชาการเหล่านั้นเป็นเพียงพื้นฐานที่จะนำพวกเขาสู่การศึกษาพระธรรมคำสอนและพระคัมภีร์ เพื่อที่จะดำเนินชีวิตอย่างศักดิ์สิทธ์และเพื่อความรอดของวิญญาณ

  ปรัชญาการศึกษาแบบคริสต์จึงมีรากฐานอยู่ที่การอบรมทางศาสนาและการดำเนินชีวิตอย่างศักดิ์สิทธิ์ การแนวทางศึกษาเช่นนี้ก็ได้เป็นที่แพร่หลายหลายร้อยปีในหมู่อารามเขตพรต โรงเรียน วิทยาลัยและมหาวิทยาลัยในยุโรป จนถึงศตวรรษที่ 15 เลยทีเดียว

 

อ่านและเขียนจาก

John L. Elias, A History of Christian Education: Protestant, Catholic, and Orthodox Perspectives, 1 ed. (United States: Krieger Publishing Company, 2002).

บทที่ 03 "ชีวิตในเขตพรตและการฟื้นฟูชีวิตนักบวช"

◀️ บทที่ 02 "พระศาสนจักรแรกเริ่มกับแนวคิดเรื่องการศึกษา"

บทที่ 04 "โรงเรียนของวัดหลวง (อาสนวิหาร) และธรรมประเพณีของอาราม" ▶️

Written by 
บาทหลวง วรวุฒิ สารพันธุ์ C.Ss.R. JCL


Catholic Priest & Canonist
Author & Administrator
Faith4Thai.com

*juris canonici licentiatus
หรือ JCL เป็นปริญญาทางกฏหมายพระศาสนจักร

Email: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
FaceBook: Worawut Saraphan
Iine ID: mcssrsp


book


วิวัฒนาการของ "การศึกษาคาทอลิก"

ในประวัติศาสตร์โลก

บทนำ

“เป็นที่ประจักษ์ในสังคมไทยว่าโรงเรียนคาทอลิกตัวแทนภาพลักษณ์ของงานอภิบาลและการแพร่ธรรมในประเทศไทย ผู้เขียนมีจุดประสงค์ที่จะนำเสนอมุมมองของงานด้านการศึกษาและอบรมคาทอลิก (Catholic education and formation) ที่ไม่ใช่แค่ในโรงเรียนคาทอลิก การศึกษาคาทอลิกมีจุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจจากชีวิตและงานขององค์พระเยซูเจ้าและสืบต่อทางบรรดาอัครสาวกและปิตาจารย์ พันธกิจนี้ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ผ่านกระแสธารแห่งกาลเวลา ไม่ว่าจะเป็นยุคแห่งความรุ่งเรือง หรือความท้าทายและความยากลำบาก จวบจนปัจจุบันพระศาสนจักรยังคงเห็นคุณค่าของงานด้านการศึกษาและอบรมคาทอลิก ทั้งนี้เพื่อจะเป็นเครื่องมือที่นำทุกผู้คนสู่หนทางแห่งความรอดพ้นแห่งวิญญาณ”