วิวัฒนาการของ "การศึกษาคาทอลิก"
ในประวัติศาสตร์โลก
Pius XII was Pope from 1939 to 1958
บทที่ 14 พระสันตะปาปาปีอุสที่ 12 และหลักการศึกษาคาทอลิกของท่าน
พระสันตะปาปาปีอุสที่ 12 (1876-1958) ทรงดำรงตำแหน่งสันตะปิดรในช่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นยุคสมัยแห่งความขัดแย้งทางการเมืองและสังคม ท่านจึงพยายามอย่างยิ่งยวดในการสร้างสันติและความปรองดองในสังคม และด้วยความปรีชาฉลาดและความเป็นผู้นำของพระสันตะปาปาปีอุสที่ 12 ท่านเตรียมพระศาสนจักรคาทอลิกเข้าสู่ยุคหลังสงครามโลก ท่านมีความเป็นครูอาจารย์ที่แท้จริง ยิ่งกว่าพระสันตะปาปาองค์ก่อนๆ เพราะมีการบันทึกคำสอนและคำปราศรัยของท่านกว่าพันครั้ง ท่านช่วยระดมทุนเพื่อการศึกษาของเด็กที่ยากจนในประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นความพยายามของท่านที่จะสนับสนุนการศึกษาคำสอนทางศาสนาให้เข้ากับยุคสมัยและวัฒนธรรม สำหรับท่านแล้วจุดยืนของพันธกิจของพระศาสนจักรคือ การเปิดโรงเรียนและด้านการศึกษา เราสามารถศึกษาแนวความคิดด้านการศึกษาของพระสันตะปาปาปีอูสที่ 12 ได้ในหนังสือ Pope Pius XII and Catholic Education (1957) เขียนโดย Vincent A. Yzermans
ศตวรรษที่ 20 ได้ชื่อว่าเป็นโลกยุคใหม่ที่ศาสตร์ทางมนุษยนิยมและวิทยาการทางสังคมเป็นหัวข้อสุดฮิตในบรรดานักวิชาการและนักปรัชญาเพื่อธำรงไว้ซึ่งความเป็นระเบียบของโลก ในทางตรงข้าม พระสันตะปาปาปีอุสที่ 12 ได้เตือนใจนักปรัชญาและนักเทวศาสตร์คาทอลิกว่า หลักการธรรมชาติ (natural law) ต้องดำรงอยู่ในพื้นฐานของ หลักมานุษยนิยมที่แท้จริง (true humanism) เพราะไม่ว่าเราจะมีมุมมองต่อมนุษย์หรือเรื่องทางโลกในด้านใด เราก็ควรจะมีมุมมองตามคำสอนของชาวคริสต์ ด้วยเหตุนี้เราควรจะต่อยอดการศึกษาด้านคำสอนของพระศาสนจักร โดยเฉพาะเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยการอ้างอิงกับหลักของกฎธรรมชาติ
พระสันตะปาปาปีอุสที่ 12 ได้กล่าวถึงสิทธิขั้นพื้นฐานนี้ว่า
“ในยามที่พระศาสนจักรพยายามที่จะเอาชนะและปกป้องเสรีภาพของตน เพื่อธำรงไว้ซึ่งอิสรภาพอย่างแท้จริง และเพื่อสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคล พระศาสนจักรรำลึกอยู่เสมอว่าสิ่งนี้เป็นแก่นของเรื่องสิทธิ์ ที่จะล่วงละเมิดโดยภาพรัฐเสียมิได้ แม้จะมีการอ้างถึงผลประโยชน์ส่วนรวม (common good) ก็ตาม... ทางภาครัฐสามารถออกกฎหมายใดๆเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมนี้ได้ตามต้องการ แต่ห้ามข้ามกำแพงนี้ นั้นก็คือสิทธิที่แตะต้องมิได้ของพระศาสนจักร เพราะสิทธินี้เองเป็นสมบัติอันล้ำค่าของประโยชน์ส่วนรวม”
พระสันตะปาปาปีอุสที่ 12 ไม่เห็นด้วยที่จะแยกการศาสนาออกจากโรงเรียน ท่านโต้แย้งว่า เป้าหมายของการศึกษา (goal of education) ประกอบไปด้วย ความร่วมมือกันกระหว่างพระหรรษทานอันศักดิ์สิทธิ์และการอบรมบ่มเพาะ (formation) เพื่อให้เป็นคริสตชนที่สมบูรณ์และแท้จริง และเพื่อบรรลุถึงวัตถุประสงค์นี้ ศาสนาจึงมีความจำเป็นสำหรับทุกๆโรงเรียน
ในหลักการ “พัฒนาทางด้านร่างกาย” พระสันตะปาปากล่าวในระหว่างสมัชชาที่ประเทศอิตาลีว่า
“ในการเผยแสดงของพระเจ้าได้สอนพวกเราข้อความจริงอันสูงส่งเกี่ยวกับร่างกายของมนุษย์ ที่แม้แต่วิทยาศาสต์ธรรชาติและศิลปะใดๆก็มิอาจค้นพบได้เลย ความจริงที่ว่านี้คือ ร่างกายนี้มีคุณค่าและมีศักดิ์ศรีที่ได้รับการยกขึ้นมา มีแรงผลักดันอันยิ่งใหญ่ขึ้นได้ ควรค่าการได้รับความเคารพ โดยแน่แท้ ในการกีฬาและยิมนาสติกจึงไม่มีอะไรที่เราต้องกลัวว่าจะผิดหลักของศาสนาหรือศีลธรรมอันใด ถ้าเราประยุกต์ใช้อย่างถูกต้อง... โดยพื้นฐานของร่างกายมนุษย์ เราไม่ได้มาจากโคลนตม แต่ร่างกายของมนุษย์มากจากจิตและวิญญาณ” (Pope Pius XII on Italian Congress on the Pedagogic and Hygienic Problems of Sports and Gymnastics,1952)
สำหรับชาวคริสต์ตราบใดที่คุณค่าทางศาสนายังคงอยู่ การพัฒนาทางร่างกายเป็นสิ่งที่ควรสนับสนุน และเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อพัฒนาด้านการศึกษาและอบรมบ่มเพาะ
ในหลักการ “พัฒนาด้านสติปัญญา” พระสันตะปาปาปีอุสที่ 12 เรียกร้องให้มีการเสวนาระหว่างศาสนาและวิทยาศาสตร์ (dialogue between science and religion) พร้อมไปกับการรวมกันระหว่างความเชื่อและเหตุผล ท่านได้ตื่นใจพวกเราไม่ให้มีองค์ความรู้อันตื้นเขิน ดังที่ท่านได้กล่าวแก่บรรดาคณาจารย์และนักศึกษาที่ฝรั่งเศสว่า
“ความหลงผิดที่คิดว่าตนรอบรู้ในทุกเรื่องนั้นทำให้เกิดความอวดดี พวกเขาขอบการยกยอปอปั้น มีความยินดีในความโง่เขลาของตนด้วยความทะเยอทะยาน ซึ่งให้ผลดีกับตนเองอันน้อยนิด กลับเป็นโทษยิ่งกว่า สำหรับผู้ที่ฟังและอ่านงานเขียนของคนพวกนี้... ผู้คนมักจะอ้างว่า ตนมีองค์ความรู้สำหรับสรรพสิ่ง เพราะในความเป็นจริงแล้ว พวกเขารู้เพียงงูๆปลาๆในหัวข้อต่างๆ และคิดว่าพวกเขาเป็นสัพพัญญูแล้ว”
พระสันตะปาปาปีอุสที่ 12 แนะนำว่า ผู้คนมักจะคิดว่ากฎศีลธรรมเป็นเรื่องของบุคคล หรือตามหัวข้อต่างๆ แต่ในความจริง กฎศีลธรรมควรที่จะครอบคลุมในทุกๆเรื่องที่เป็นสาธารณะ ในวิทยาศาสตร์ การเมือง และศิลปะ โดยมีพื้นฐานทางปรัชญา ด้วยเหตุนี้ กฎศีลธรรมจึงอยู่ในชีวิตที่เป็นสาธารณะของทุกคน สำหรับนักการศึกษาแล้ว พวกเขาให้พยายามสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เยาว์ ให้ห่างไกลจากโอกาสทำบาป ให้กำลังใจในยามที่พวกเขายากลำบาก สอนให้เขารู้จักการอุทิศตนในยามที่คุณธรรมนั้นเรียกร้อง และอย่าได้ตกในความประพฤติอันชั่วร้าย
สำหรับ “ความรู้สึกรับผิดชอบ” (sense of responsibility) ท่านได้อธิบายว่า อิสรภาพและเสรีภาพไม่ใช่สุดโต่ง หากแต่มีข้อจำกัดไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ประการแรก เป็นสิ่งที่อยู่ภายใน เป็นข้อกำหนดอันเหมาะสมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ประการที่สองเป็นสิ่งที่อยู่ภายนอก ที่จะเคารพสิทธิของผู้อื่นและของสังคมโดยทั่วไป และเพื่อจะเชื่อมโยงกับความรู้สึกผิดชอบนี้ ท่านเห็นว่าการสั่งสอนเรื่อง “มโนธรรมตามหลักคริสตศาสตร์” ควรเป็นหัวข้อในเรื่องนี้
“มโนธรรมเป็นเสมือนสิ่งที่อยู่ภายใน เป็นแก่นอันซ่อนอยู่ของมนุษย์ ในยามที่เขาปลีกวิเวกโดยใช้จิตวิญญาณและอยู่ในความสันโดษอย่างลึกซึ้ง เขาอยู่กับตนเอง อยู่อย่างสงบนิ่งกับพระเจ้า (ผู้ที่ทรงตรัสกับเขาผ่านทางมโนธรรม) และฟังเสียงของเขาเอง”
พระสันตะปาปาปีอุสที่ 12 ยังกล่าวถึงการศึกษาโดยทั่วไปว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เด็กและเยาวชน หรือแม้แต่ผู้ใหญ่สามารถติดสินใจตามมโนธรรมได้ตามหลักคริสตชน และเพื่อที่จะบ่มเพาะมโนธรรมอันดีนี้ พวกเขาต้องทำตามน้ำพระทัยขององค์พระคริสต์ ทำตามกฎและวิธีชีวิตของพระองค์ เพราะพระองค์เป็นบ่อเกิดของกฏแห่งศีลธรรมทั้งปวง ท่านอ้างถึงการสอนแบบดั้งเดิมของคริสตชนว่า กฎได้รับการเขียนไว้แล้วในหัวใจของมนุษย์ทุกผู้คน เป็นกฎธรรมชาติ เป็นการเผยแสดงที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นกฎขององค์พระคริสตเจ้า แต่อย่างไรก็ตาม เป็นหน้าที่ของพระศาสนจักรที่ต้องสอนกฎที่ว่านี้ให้กับทุกคน การบ่มเพาะมโนธรรมจึงไม่ใช่การบังคับให้ถือตามกฏของพระศาสนจักรเพียงอย่างเดียว การบ่มเพาะมโนธรรมของมนุษย์ต้องควบคู่กับการศึกษานั้นเอง
ถึงจุดนี้เราเห็นว่าแนวคิด หลักการ ภาษาที่พระสันตะปาปาปีอุสที่ 12 ใช้นั้นมีความละม้ายคล้ายกับหลักการศึกษาคาทอลิกในกฏหมายพระศาสนจักรที่เราใช้ในปัจจุบัน (Code of Canon Law 1983) โดยเฉพาะบรรพที่ 793-795 ดังนี้
“บรรพที่ 793 วรรค 1 บิดามารดา รวมทั้งผู้ทำหน้าที่แทนพวกเขาด้วย มีพันธะและมีสิทธิให้การศึกษาอบรมแก่บุตรหลานของตน บิดามารดาคาทอลิกยังมีหน้าที่และสิทธิที่จะเลือกวิธีและสถาบันที่จะช่วยพวกเขาสามารถจัดให้บุตรหลานของตนได้รับการศึกษาแบบคาทอลิก ตามสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นได้อย่างดียิ่งขึ้น
วรรค 2 บิดามารดายังมีสิทธิที่จะใช้ประโยชน์จากความช่วยเหลือที่รัฐต้องจัดให้ ซึ่งพวกเขามีความต้องการเพื่อจัดให้บุตรหลานได้รับการศึกษาแบบคาทอลิกด้วย
บรรพที่ 794 วรรค 1 พระศาสนจักรมีหน้าที่และสิทธิให้การศึกษาด้วยเหตุผลพิเศษ เพราะพระศาสนจักรได้รับมอบพันธกิจช่วยเหลือมนุษย์จากพระเป็นเจ้า ให้สามารถบรรลุถึงความสมบูรณ์แห่งชีวิตคริสตชน
วรรค 2 ผู้อภิบาลวิญญาณมีหน้าที่จัดการทุกอย่าง เพื่อให้คริสตชนทุกคนได้รับการศึกษาแบบคาทอลิก
บรรพที่ 795 เนื่องจากการศึกษาที่แท้จริงต้องมุ่งให้การอบรมทั้งครบแก่บุคคลมนุษย์ กล่าวคือการอบรมที่มุ่งสู่จุดหมายสุดท้ายของบุคคล และขณะเดียวกันก็มุ่งสู่ความดีส่วนรวมของสังคม ดังนั้น เด็ก และเยาวชนจะต้องได้รับการอบรมเลี้ยงดูอย่างที่ว่า เขาสามารถพัฒนาสมรรถนะทางกาย ใจ และสติปัญญาของเขาได้อย่างกลมกลืนกัน มีจิตสำนึกในความรับผิดชอบที่ดีสมบูรณ์มากขึ้นและรู้จักใช้เสรีภาพอย่างถูกต้อง รวมทั้งได้รับการอบรมให้มีส่วนในชีวิตสังคมอย่างมีบทบาท”
ในความเป็นจริงแล้ว ก่อนเข้ารับสมณะสันตะปิดร พระสันตะปาปาปีอุสที่ 12 ได้รับเคยร่วมงานกับพระคาร์ดินัลกัสเปอรีในการร่างกฏหมายพระศาสนจักรฉบับปี 1917 จึงไม่น่าแปลกใจที่หลักการศึกษาคาทอลิกต่างๆที่อยู่ในเอกสารและงานเขียนของท่าน และจากสมณลิขิต “ครูผู้ศักดิ์สิทธิ์” (Divini Illius Magistri) ซึ่งมีอิทธิพลต่อกระบวนการร่างกฏหมายพระศาสนจักรฉบับปัจจุบันในปี 1983 เฉกเช่นที่เยอร์แมนส์ (Yzermans, 1957) ได้ให้ขอสังเกตุว่า พระสันตะปาปาปีอุสที่ 12 ไม่ได้เขียนหรือสร้างหลักการศึกษาคาทอลิกอะไรใหม่ขึ้นมา แต่ท่านเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างรากฐานและรวมองค์ความรู้ที่สำคัญต่อเอกสารของพระศาสนจักรในเรื่องการศึกษาคาทอลิกในทศวรรษต่อๆมา เป็นการร่วมรวมคำสอน หลักการ หลักปรัชญาและธรรมเนียมประเพณีของสันตะสำนักที่สืบเนื่องมากว่าหลายศตวรรษ
อ้างอิง
R. Leiber and R. Mcinerny, "Pope Pius XII," in New Catholic Encyclopedia, Second Edition, vol. 11 (Detroit: Thomson Gale, 2002), 398-9.
Vicent A. Yzermans, Pope Pius XII and Catholic Education (St. Meinrad, Indiana: Grail Publications, 1957)
บทที่ 14 พระสันตะปาปาปีอุสที่ 12 และหลักการศึกษาคาทอลิกของท่าน
บทที่ 13 สมณลิขิตเรื่อง “ครูผู้ศักดิ์สิทธิ์” (Divini Illius Maagistri 1929)
Father M
Written by
บาทหลวง วรวุฒิ สารพันธุ์ C.Ss.R. JCL
Catholic Priest & Canonist
Author & Administrator
Faith4Thai.com
*juris canonici licentiatus
หรือ JCL เป็นปริญญาทางกฏหมายพระศาสนจักร
Email:
FaceBook: Worawut Saraphan
Iine ID: mcssrsp
- บทที่ 01 "พระเยซูเจ้าและอัครสาวก ปฐมครูแห่งคริสตศาสนา"
- บทที่ 02 "พระศาสนจักรแรกเริ่มกับแนวคิดเรื่องการศึกษา"
- บทที่ 03 "ชีวิตในเขตพรตและการฟื้นฟูชีวิตนักบวช"
- บทที่ 04 "โรงเรียนของวัดหลวง (อาสนวิหาร) และธรรมประเพณีของอาราม"
- บทที่ 05 "อัสสมาจารย์นิยม" (Scholasticism)
- บทที่ 06 "ยุครุ่งเรืองแห่งมานุษยนิยม" (The Christian Humanistic Renaissance)
- บทที่ 07 "การตอบโต้ ผู้ปฏิรูปศาสนา" (Counter-Reform)
- บทที่ 08 "คณะธรรมทูตเยสูอิตและคณะนักบวชต่างๆ" (The Jesuit Order and Other Religious Movements)
- บทที่ 09 "กำเนิดยุคเรืองปัญญา" (The Rise of the Enlightenment)
- บทที่ 10 สมณลิขิต "ประมวลการสอนที่ผิดพลาด ค.ศ. 1864" (Syllabus of Errors)
- บทที่ 11 การปกป้องโรงเรียนคาทอลิก ของสภาพระสังฆราชแห่งประเทศอเมริกา
- บทที่ 12 กฎหมายพระศาสนจักร ปี 1917
- บทที่ 13 สมณลิขิตเรื่อง “ครูผู้ศักดิ์สิทธิ์” (Divini Illius Maagistri 1929)
- บทที่ 14 พระสันตะปาปาปีอุสที่ 12 และหลักการศึกษาคาทอลิกของท่าน
- บทที่ 15 ภาพรวมของการศึกษาคาทอลิก จากมุมมองทางประวัติศาสตร์ (The Recollection of Catholic Education)
วิวัฒนาการของ "การศึกษาคาทอลิก"
ในประวัติศาสตร์โลก
บทนำ
“เป็นที่ประจักษ์ในสังคมไทยว่าโรงเรียนคาทอลิกตัวแทนภาพลักษณ์ของงานอภิบาลและการแพร่ธรรมในประเทศไทย ผู้เขียนมีจุดประสงค์ที่จะนำเสนอมุมมองของงานด้านการศึกษาและอบรมคาทอลิก (Catholic education and formation) ที่ไม่ใช่แค่ในโรงเรียนคาทอลิก การศึกษาคาทอลิกมีจุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจจากชีวิตและงานขององค์พระเยซูเจ้าและสืบต่อทางบรรดาอัครสาวกและปิตาจารย์ พันธกิจนี้ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ผ่านกระแสธารแห่งกาลเวลา ไม่ว่าจะเป็นยุคแห่งความรุ่งเรือง หรือความท้าทายและความยากลำบาก จวบจนปัจจุบันพระศาสนจักรยังคงเห็นคุณค่าของงานด้านการศึกษาและอบรมคาทอลิก ทั้งนี้เพื่อจะเป็นเครื่องมือที่นำทุกผู้คนสู่หนทางแห่งความรอดพ้นแห่งวิญญาณ”