Skip to main content

วิวัฒนาการของ "การศึกษาคาทอลิก"

ในประวัติศาสตร์โลก

อิราสมูส หาวิธีสอนและแสวงหา "ความรู้" เพื่อคุณประโยชน์ "ฝ่ายจิตวิญญาณ"

บทที่ 06 "ยุครุ่งเรืองแห่งมานุษยนิยม" (The Christian Humanistic Renaissance)


ต้นศตวรรษที่ 13 ถึงปลายศตวรรษที่ 15 ได้เกิดแนวคิดด้านการศึกษาแนวใหม่ขึ้นในฝั่งยุโรป เราคงเคยได้ยินคำว่า “เรเนอซองส์” (Renaissance) อยู่บ้างไม่มากก็น้อย แต่ความจริงแล้ว คำว่าเรเนอซองส์เป็นคำที่นักประวัติศาสตร์ของศตวรรษที่ 18 เริ่มใช้เรียกแนวความคิดของคนในยุคนี้ เพราะพวกเขาพยายามที่จะค้นความรู้ที่มีอยู่ในข้อเขียนของกรีกและละติน ส่วนหนึ่งเป็นความพยายามที่จะต่อต้านอิทธิพลทางศาสนาที่แผ่ขยายไปทั่วยุโรป ในยุคที่รุ่งเรืองแห่งเรเนซองส์นี้เอง พระศาสนจักรถูกท้ายทายโดยปัจเจกชน เพราะพวกเขามีความกล้าที่จะวิพากษ์วิจารณ์ต่อคำสอนอย่างเป็นทางการของพระศาสนจักร (magisterium) อย่างไรก็ความคิดในเรื่องมานุษยนิยมเองก็มีอิทธิพลต่อบรรดานักการศึกษาชาวคริสต์ ซึ่งเป็นเทรนด์ของยุคสมัยอยู่แล้ว ดังเช่น มีความเปลี่ยนแปลงในหัวข้อการศึกษาที่มีมาตั้งแต่ยุคกลาง ในเรื่องวิชาที่จะต้องเรียนภายในหัวข้อของทรีวิอูมและควาดรีอูม เปลี่ยนไปเป็นการพัฒนาความสมดุลของคน ซึ่งประกอบไปด้วยทางกายภาค สติปัญญา ชีวิตฝ่ายจิต และการฝึกตน (balance of physical, intellectual, spiritual and aesthetic development)  ในห้องเรียนจะมีการบรรยายน้อยลง แต่เป็นเรื่องของการถกเถียง การถามตอบ และอภิปรายหัวข้อต่างๆ ที่ประเด็นในทุกเรื่องราว แม้ในการศึกษาฝ่ายศาสนาเองก็มีเทรนด์การเรียนรู้ใหม่ เพราะในอดีตจะมีหัวข้อของการเรียนการสอนกว้างมาก โดยเฉพาะในเรื่องข้อความเชื่อและข้อเขียนทางเทววิทยา แต่เดี๋ยวนี้มีแค่เพียงการพยายามที่จะปฏิบัติกิจศรัทธาควบคู่ไปกับการศึกษาพระคัมภีร์เท่านั้น

ฟรังเซสโก เพทราดช์ (Francisco Petrarch, 1304-1374) ได้รับการยกย่องในยุคนี้ว่าเป็นบิดาแห่งมานุษยนิยม ถ้าเรามองยุคสมัยนี้ ในมุมของนักประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักรคาทอลิก เราอาจจะพูดได้ว่า พระศาสนจักรกำลังที่ถูกคุกคามและถูกท้าทาย เกิดวิกฤติการณ์ต่างๆ อาทิเช่น มีการเผยแพร่คำสอนที่บิดเบือน (heretics) มีการปฏิบัติกิจศรัทธาและยึดถือความเชื่อที่งมงาย การทุจริตคอรัปชั่น และความสาระวนกับสิ่งอนิจจังของโลก ฟรังเซสโกพยายามที่จะฟื้นฟูความรู้คุณธรรมที่มีอยู่ในวรรณกรรมคลาสสิค ทั้งนี้เพื่อเป็นการฟื้นฟูคุณธรรมของสังคมเช่นกัน ดังนี้ท่านจึงเน้นว่าแนวทางการศึกษาที่มีชื่อว่า “การศึกษาแห่งความเป็นมนุษย์” (litterae humanae) ตัวท่านเองมีความแตกต่างกับนักการศึกษาคนอื่นๆ ที่ต่อต้านพระศาสนจักร (เช่น ลีโอนาโด ดาวินชี – Leonardo da Vinci, พลูชี – Pulci, และ มาเชียเวลลี – Machiavelli) ฟลังเซสโกสอนว่า เราสามารถพบความสมบูรณ์แบบได้ในองค์พระผู้เป็นเจ้า ในด้านการศึกษา หลักของศีลธรรมมีความสำคัญต่อชีวิตที่สมบูรณ์แบบในโลกนี้ ซึ่งเราเองสามารถมีความสมบูรณ์นี้ได้ โดยการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ ปรัชญา และบทกวีต่างๆ โดยเฉพาะในวรรณกรรมคลาสสิกของเพลโต้และชิเชโล (Plato & Cicero) มีความเหมาะสมต่อ “คริสตชนที่เป็นสุภาพชน” (Christian gentlemen) ความคิดของฟรังซิสโกมีอธิพลต่อนักมานุษยนิยม นักการศึกษา นักกฎหมายของพระศาสนจักร และนักการเมือง ดังเช่น เปียร์ เปาโล เวอเจอริโอ (Pier Paolo Vergerio, 1370-1444) ซึ่งท่านผู้นี้เป็นผู้สร้างทฤษฏีการศึกษาแห่งยุคเรเนอซองส์ที่อิตาลี งานเขียนของเปียร์ เปาโลที่สำคัญคือ “เกี่ยวกับความประพฤติของสุภาพชนและการศึกษาแนวเสรี” (De ingenuis moribus – On the Manners of a Gentlemen and Liberal Studies) ท่านเน้นเสมอว่า การศึกษาภาษาละตินเป็นแก่นของหลักสูตร จากนั้นเราควรศึกษาวรรณกรรมกรีกและวิชาตรรกศาสตร์ ส่วนวิชาอื่นๆเป็นรองเท่านั้น

นักการศึกษาชาวอิตาเลี่ยนเป็นผู้ที่รื้อฟื้นความสำคัญของวรรณกรรมคลาสสิค ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาของชาวคริสต์ หากแต่ยังมีผู้ใหญ่ของพระศาสนจักรที่ยังไม่ไว้ใจการศึกษาแนวมานุษยนิยมแบบใหม่นี้ เพราะท่านเหล่านั้นยังเห็นว่า สิ่งที่สำคัญยิ่งยวดของการศึกษาคือ การเรียนคำสอนและข้อความเชื่อ รวมไปถึงการค้นคว้าศึกษาธรรมประเพณีของชาวคริสต์ แม้จะมีความขัดแย้งในแนวความคิดด้านการศึกษากันอยู่บ้าง แต่นักการศึกษาทุกท่านมีความเห็นตรงกันว่า การศึกษาของมวลมนุษยชาติมีเป้าหมายเพียงอย่างเดียวคือ วิญญาณของเราควรแสวงหาความเป็นหนึ่งเดียวกับองค์พระผู้เป็นเจ้า

อิราสมูส (Erasmus, 1466-1536) เป็นผู้สอนอย่างชัดแจ้งว่า เราควรที่จะแสวงหาความรู้เพื่อคุณประโยชน์ฝ่ายจิตวิญญาณ ในหนังสือ เอนคริริดิออน มิลิทิส คริสติอานิ (Enchriridion militis christiani) กล่าวถึงความเป็นหนึ่งเดียวของชีวิตคริสตชนในจิตารมณ์ของพระวรสาร อิราสมูสเป็นแฟนพันธุ์แท้ของวรรณกรรมของปิตราจารย์กรีกและงานเขียนของออริเจน (Origen) ท่านเขียนความเชื่อมโยงของการศึกษาและชีวิตฝ่ายจิตในงานเขียน ด๊อกตา ปิเอ็ทตาส (docta pietas) ท่านเห็นว่า การใช้ชีวิตคริสตชนต้องมีศูนย์กลางอยู่ที่ “ปรัชญาขององค์พระคริสต์” (Philosophy of Christ) มากกว่าปรัชญาของเหล่าอัสมาจารย์ เราเองควรที่จะมีความเชื่ออย่างเรียบง่ายในพระคริสต์ อาทิเช่น ทุกๆคนควรที่จะสวดภาวนาควบคู่ไปกับการเรียนรู้ เพื่อที่จะเป็นเกราะป้องภัยจากสิ่งชั่วร้ายและสิ่งที่ผิดศีลธรรมอันดี สรุปง่ายๆก็คือ ความศรัทธาและการศึกษาต้องควบคู่กันไป สำหรับอิราสมูสแล้ว การศึกษาวรรณกรรมที่เป็นคลาสสิคก็มีความสำคัญ แต่ที่สำคัญกว่าคือความรู้ทางพระคัมภีร์

อิราสมูสยังมีงานเขียนด้านการศึกษาคริสตชนตามแนวมานุษยนิยมอื่นๆ เช่น ในหนังสือ เพรส ออฟ โฟร์เล (Praise of Folly) ท่านได้ตำหนิบรรดาครูอาจารย์ที่สอนและตีความคริสต์ศาสนาแบบผิดๆ ในหนังสือ เดอ ราชิโอเน สตูดิอี (De Ratione Studii) เกี่ยวกับวิธิการสอนที่ถูกต้อง ท่านได้นำเสนอวิธีศึกษาอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะในการศึกษาวรรณกรรมคลาสสิค และในหนังสือ ออน เดอะ เอ็ดดูเคชั่น ออฟ บอยส์ (On the Education of Boys) กล่าวถึง การพัฒนาความมีเหตุผลเพื่อเป็นตัวจักรสำคัญต่อความสำเร็จทางการศึกษา และมันเป็นความบาปผิด หากผู้ปกครองละเลยต่อหน้าที่ที่ต้องให้บุตรของตนได้รับการศึกษา เป็นอิราสมูสที่เสนอว่า เด็กๆควรต้องได้รับการศึกษาครั้นแต่เยาว์วัย เฉกเช่นกับได้รับการปลูกฝังฤทธิ์กุศลควบคู่กันไป แต่ที่น่าสนใจก็คือ ท่านตะหนักถึงความไร้เดียงสาของบรรดาเด็ก ในห้องเรียนควรจะมีการละเล่น เกม การแข่งขัน ให้รางวัล เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเรียนรู้ของบรรดาเด็กๆ

แม้อิราสมูสได้เสนอความคิดด้านการศึกษาแนวมานุษยนิยม แต่ท่านหาได้มีโอกาสปฏิบัติจริง แต่เป็นเพื่อนผู้มั่งคั่งของท่านเป็นผู้นำสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม นั่นคือ จอห์น โคเล็ต (John Colet, 1466-1519) ตามประวัติแล้ว จอห์น โคเล็ตได้ลาออกจากตำแหน่งอธิบดีจากโรงเรียนของอาสนวิหารเซ็นต์ปอลเพื่อไปทดลองตั่งโรงเรียนของตนเอง โดยปราศจากการแทรกแซงของผู้มีอำนาจฝ่ายพระศาสนจักร แต่ท่านไม่ได้ละเลยที่จะสอนคำสอนและชีวิตฝ่ายจิตให้แก่บรรดานักเรียน โดยผ่านการภาวนาและกิจศรัทธา

นับจากอิราสมูสและจอห์น โคเล็ตแล้ว ยังมีบุคคลที่เป็นนักการศึกษาแนวมานุษยนิยมชาวอังกฤษอีกท่านหนึ่งคือ โทมัส มัวร์ (Thomas More, 1478-1535) ชื่อเสียงของท่านได้มาจากนิยามของมานุษยนิยมที่ข้องเกี่ยวกับเทวศาสตร์ นั่นคือ “การศึกษาเป็นการปูหนทางไปสู่เทวศาสตร์ โดยผ่านทางปรัชญาและศิลปศาสตร์” ในปี 1516 ท่านได้ตีพิมพ์หนังสือชื่อ ยูโทเปีย (Utopia) ที่เมืองเลอเวิน ประเทศเบลเยี่ยม เป็นการนำเสนอการศึกษาแนวคริสต์ในบริบทของเปลี่ยนแปลงการเมืองและสังคม ท่านกล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงทางสังคมสามารถเกิดขึ้นได้โดยผ่านทางการศึกษา แนวคิดดังกล่าวนับว่าล้ำสมัยมากในยุคของท่าน เพราะยูโทเบียคือสังคมที่ปราศจากสงคราม ความยากจน ไร้ซึ่งความแตกต่างของศาสนา และทรัพย์สินส่วนบุคคล แม้ความคิดในยูโทเบียจะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในหมู่นักปรัชญา นักการศึกษา นักสังคมและการเมืองการปกครองต่อมาอีกหลายศตวรรษ แต่ความพยายามที่จะนำบริบทด้านสังคมและมโนธรรมของมนุษย์ มาสู่ด้านการศึกษาแบบคริสต์ตามแนวมานุษยนิยมของท่าน เป็นเสมือนเพชรน้ำเอก ในยามที่เรากล่าวถึงยุคเรเนซองส์ของฝั่งอังกฤษ

ส่งท้าย...

นักประวัติศาสตร์กล่าวถึงยุคเรเนซองส์ว่าเป็นการปูทางไปสู่การปฏิรูปของพระศาสนจักร (Reformation) อย่างไรก็ดี อิราสมูสไม่เคยที่จะแยกตัวเองออกจากพระศาสนจักรคาทอลิกเฉกเช่นกับ มาร์ติน ลูเธอร์ (Martin Luther 1483-1546) แม้อิราสมูสและพรรคพวกนักการศึกษาแนวมานุษยนิยม ต่างแสวงหาความเปลี่ยนแปลงและการปฏิรูป แต่พวกเขาเหล่านี้ยังอยู่กับคำสอนและข้อความเชื่อพระศาสนจักรที่เป็นดังมารดาของพวกท่านเหล่านั้นเสมอ...

อ้างอิงจาก

John L. Elias, A History of Christian Education: Protestant, Catholic, and Orthodox Perspectives, 1 ed. (United States: Krieger Publishing Company, 2002)

Gordon, Peter, and Denis Lawton. A History of Western Educational Ideas.  Portland, OR: Routledge Falmer, 2002.

K. Charlton, Education in Renaissance England (London: Routledge and Kegan Paul, 1965), 64.

R. Montano, "Francesco Petrarch," in New Catholic Encyclopedia, Second Edition, vol. 11  (Detroit: Thomson Gale, 2002), 213-4.

D. D. Mcgarry, "Pier Paolo Vergerio," in New Catholic Encyclopedia, Second Edition, vol. 14  (Detroit: Thomson Gale, 2002), 446.

Gilmore, M. P. "Desiderius Erasmus." In New Catholic Encyclopedia, Second Edition. Vol. 5, Detroit: Thomson Gale, 2002. 314.

บทที่ 06 "ยุครุ่งเรืองแห่งมานุษยนิยม" (The Christian Humanistic Renaissance)

บทที่ 05 "อัสสมาจารย์นิยม" (Scholasticism)

บทที่ 07 "การตอบโต้ ผู้ปฏิรูปศาสนา" (Counter-Reform)

Father M

Father M

Written by 
บาทหลวง วรวุฒิ สารพันธุ์ C.Ss.R. JCL


Catholic Priest & Canonist
Author & Administrator
Faith4Thai.com

*juris canonici licentiatus
หรือ JCL เป็นปริญญาทางกฏหมายพระศาสนจักร

Email: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
FaceBook: Worawut Saraphan
Iine ID: mcssrsp


book


วิวัฒนาการของ "การศึกษาคาทอลิก"

ในประวัติศาสตร์โลก

บทนำ

“เป็นที่ประจักษ์ในสังคมไทยว่าโรงเรียนคาทอลิกตัวแทนภาพลักษณ์ของงานอภิบาลและการแพร่ธรรมในประเทศไทย ผู้เขียนมีจุดประสงค์ที่จะนำเสนอมุมมองของงานด้านการศึกษาและอบรมคาทอลิก (Catholic education and formation) ที่ไม่ใช่แค่ในโรงเรียนคาทอลิก การศึกษาคาทอลิกมีจุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจจากชีวิตและงานขององค์พระเยซูเจ้าและสืบต่อทางบรรดาอัครสาวกและปิตาจารย์ พันธกิจนี้ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ผ่านกระแสธารแห่งกาลเวลา ไม่ว่าจะเป็นยุคแห่งความรุ่งเรือง หรือความท้าทายและความยากลำบาก จวบจนปัจจุบันพระศาสนจักรยังคงเห็นคุณค่าของงานด้านการศึกษาและอบรมคาทอลิก ทั้งนี้เพื่อจะเป็นเครื่องมือที่นำทุกผู้คนสู่หนทางแห่งความรอดพ้นแห่งวิญญาณ”