Skip to main content

วิวัฒนาการของ "การศึกษาคาทอลิก"

ในประวัติศาสตร์โลก

พระเยซู รับไบ อาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่

บทที่ 01 "พระเยซูเจ้าและอัครสาวก ปฐมครูแห่งคริสตศาสนา"


คริสต์ศาสนาไม่ว่าจะเป็นคาทอลิกหรือโปรเตสแตนต์ต่างมีจุดเริ่มต้นมาจากบุคคลในประวัติศาสตร์ท่านหนึ่ง ที่มีนามว่า “เยซู” มีบันทึกในพระคัมภีร์ว่าผู้คนต่างเรียกขานเรียกพระองค์ว่า “รับบูนี หรือ ท่านอาจารย์”  

ในงานเขียนของท่านนักบุญยอห์นผู้นิพนธ์พระวรสารจงใจขนานนามนี้ถึงห้าสิบครั้งด้วยกัน ส่วนพระวรสารอื่นๆ ก็เขียนถึงพระเยซูว่าเป็นครูชั้นยอด เพราะพระองค์ไม่เพียงแต่สั่งสอนแต่พระองค์ปฏิบัติให้บรรดาสานุศิษย์ได้เห็น สิ่งนี้เป็นสายสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างศิษย์และอาจารย์ พระองค์เองก็มีพรสวรรค์ที่จะดึงดูดคนนับร้อยนับพันมาฟังและติดตามพระองค์ พระองค์เทศน์สอนท่ามกลางฝูงคน บางครั้งพระองค์ก็สอนเป็นปัจเจกบุคคล พระองค์และบรรดาศิษย์สัญจรเพื่อไปสอนตามที่ต่างๆ และเนื้อหาในการประกาศนี้คือพระอาณาจักรสวรรค์ มีบ้างที่พระองค์ทรงทำอัศจรรย์ หากแต่อัศจรรย์นี้ไม่ใช่สาระของพันธกิจ แต่เป็นเพียงเครื่องหมายภายนอกที่พระองค์ต้องการจะสื่อสารต่อผู้คนว่า นี้คือสัญลักษณ์แห่งการประทับอยู่ของพระบิดาเจ้าท่ามกลางมนุษย์ ที่มีความโศกเศร้าและสิ้นหวัง เป็นข่าวสารแห่งกำลังใจและเรียกร้องให้ทุกคนกลับใจ

ในมุมมองด้านกฎหมายและธรรมประเพณี พระเยซูสำแดงตนเองว่าอยู่เหนือกฎของโมเสสซึ่งเป็นกฎเก่าและพระธรรมเก่า พระองค์ยืนยันในข้อนี้ด้วยการเรียกตนเองว่า “บุตรแห่งมนุษย์” ผู้ที่มาเพื่อไม่ได้เป็นเจ้านายแต่มาเพื่อรับใช้ ด้วยเหตุนี้เองกลุ่มคริสตชนแรกเริ่มได้รับแรงบันดาลจากการประกาศของพระองค์ เพราะพระองค์ตำหนิและต่อต้านการใช้กฎระเบียบโดยลืมจิตวิญญาณแห่งการถือกฎเหล่านั้น หลายต่อหลายครั้งพระองค์อธิบายให้พวกนักกฎหมายและพารีสีให้สำนึกถึงน้ำพระทัยของพระบิดา ให้มากกว่าที่จะนำกฎบัญญัติมาใช้เพื่อเอารัดเอาเปรียบผู้คนอย่างอยุติธรรม

 บรรดาอัครสาวกพยายามที่จะสืบทอดหน้าที่การสอนและหน้าที่ประกาศกต่อจากพระอาจารย์ของพวกเขา ดั่งประโยคที่ว่า “แม้คนตายแต่จิตตารมย์ยังอยู่” แต่ในความเชื่อคริสตชน พระเยซูสิ้นพระชนม์กลับคืนชีพและเสด็จขึ้นสวรรค์ สำหรับอัครสาวกพวกเขาคิดอยู่เสมอว่าพระอาจารย์ประทับอยู่ท่ามกลางพวกเขา และพวกเขาก็พยายามนำจิตตารมย์เหล่านั้นมาปฏิบัติเป็นรูปธรรม อาทิเช่น ในการประกาศข่าวดี (kergygma) ในการสร้างกลุ่มคริสตชน (koinonia) ในการเป็นประจักษ์พยาน (maturion) และในการรับใช้ซึ่งกันและกัน (diakonia) กลุ่มคนเหล่านี้กลับกลายมาเป็นกลุ่มทางศาสนาใหม่ในท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างกฎเก่าและแนวทางใหม่ นั่นคือ ระหว่างวิถีชีวิตทางสังคมยิวและโรมันและวิถีชิวิตแห่งความเป็นคริสตชน เพราะกลุ่มคริสตชนแรกเริ่มได้พัฒนาธรรมประเพณีนี้ของตนเอง โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของคำสอนของอัครสาวก เพื่อเขาสืบทอดความเชื่อและศรัทธาในพิธีหักปัง ในพิธีกรรมนี้พวกเขาจะมาชุมนุมกันเพื่อระลึกถึงและเฉลิมฉลองความทรงจำต่อพระอาจารย์เจ้า ผู้อาวุโสจะแบ่งปันสอนและเล่าประสบการณ์แห่งความเชื่อ ซึ่งต่อมากลายมาเป็นคำสอนและข้อความเชื่อที่เกิดขึ้นในหมู่ชุมชนคริสตชนในที่ต่างๆ เห็นได้จากบันทึกที่หลงเหลืออยู่คือ “ดิดาเค” (Didache) ที่เราถือว่าเป็นหนังสือคำสอนเล่มแรกในคริสต์ศาสนา หนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับพิธีกรรมและศีลธรรมแห่งความเป็นคริสตชนโดยมีบรรทัดฐานอยู่ที่พระวรสารของนักบุญมัทธิวตามวิสัยทัศน์ของบทบนภูเขาของพระอาจารย์เจ้า

บทสรุป

จากพระเยซูเจ้าถึงเหล่าอัครสาวก กลุ่มคริสตชนถือกำเนิดจากผลแห่งการประกาศพระวาจาและการส่งต่อธรรมประเพณีของอัครสาวก อะไรคือแนวทางแห่งการศึกษาและอบรมตามแบบฉบับพระเยซูเจ้าและอัคสาวก? พระเยซูไม่ได้เพียงเทศน์สอนสานุศิษย์ แต่พระองค์ทรงเตรียมพวกเขาสำหรับพันธกิจในอนาคต อาทิเช่น พวกเขาถูกส่งไปเป็นคู่ๆเพื่อพันธกิจนี้ สรุปได้ว่า พระศาสนจักรถือกำเนิดโดยกลุ่มของชุมนุมชนที่เรียกตนเองว่า “คริสตชน” (กจ. 11:26) พวกเขาคือผู้ติดตามพระเยซู ผู้ที่เป็นทั้งอาจารย์ เจ้านาย และเจ้าแห่งชีวิต เพราะสำหรับเราที่เป็นคริสตชนในยุคปัจจุบันนี้ จริงอยู่ที่ความรู้ทางพระคัมภีร์และข้อความเชื่อเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่เราต้องรับการอบรมและมีส่วนร่วมทางศาสนา ไม่ว่าจะเป็นชีวิตด้านพิธีกรรมกับพี่น้องคริสตชนอื่นๆ หรือประกอบกิจอันเป็นกุศลและสาธารณะประโยชน์แก่คนทั่วไป และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการมีประสบการณ์แห่งความรักของพระผู้เป็นเจ้าและการไถ่กู้ของพระองค์ในชีวิต เพราะสุดท้ายที่สุด ความรอดของวิญญาณคือสิ่งสำคัญที่สุด และเป็นเป้าหมายอันสูงสุดของงานอภิบาลด้านการศึกษาคาทอลิกของพระศาสนจักรอันเป็นที่รักของเรา

 

อ่านและเขียนจาก

Karl Heinrich Rengstorf, "Didaskalos in the NT.," in Theological Dictionary of the New Testament, ed. Geoffrey W. Bromiley, G. Kittel, and Gerhard Friedrich, vol. 2  (Grand Rapids, MI: Wm. B. Eerdmans Publishing Company, 2002)

Albert Nolan, Jesus before Christianity, 25th ed. (Maryknoll, New York: Orbis Books, 2011)

John L. Elias, A History of Christian Education: Protestant, Catholic, and Orthodox Perspectives, 1 ed. (United States: Krieger Publishing Company, 2002).

Father M

Father M

Written by 
บาทหลวง วรวุฒิ สารพันธุ์ C.Ss.R. JCL


Catholic Priest & Canonist
Author & Administrator
Faith4Thai.com

*juris canonici licentiatus
หรือ JCL เป็นปริญญาทางกฏหมายพระศาสนจักร

Email: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
FaceBook: Worawut Saraphan
Iine ID: mcssrsp


book


วิวัฒนาการของ "การศึกษาคาทอลิก"

ในประวัติศาสตร์โลก

บทนำ

“เป็นที่ประจักษ์ในสังคมไทยว่าโรงเรียนคาทอลิกตัวแทนภาพลักษณ์ของงานอภิบาลและการแพร่ธรรมในประเทศไทย ผู้เขียนมีจุดประสงค์ที่จะนำเสนอมุมมองของงานด้านการศึกษาและอบรมคาทอลิก (Catholic education and formation) ที่ไม่ใช่แค่ในโรงเรียนคาทอลิก การศึกษาคาทอลิกมีจุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจจากชีวิตและงานขององค์พระเยซูเจ้าและสืบต่อทางบรรดาอัครสาวกและปิตาจารย์ พันธกิจนี้ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ผ่านกระแสธารแห่งกาลเวลา ไม่ว่าจะเป็นยุคแห่งความรุ่งเรือง หรือความท้าทายและความยากลำบาก จวบจนปัจจุบันพระศาสนจักรยังคงเห็นคุณค่าของงานด้านการศึกษาและอบรมคาทอลิก ทั้งนี้เพื่อจะเป็นเครื่องมือที่นำทุกผู้คนสู่หนทางแห่งความรอดพ้นแห่งวิญญาณ”