Skip to main content

ผู้ใดรับฟังความจริง ผู้นั้นก็ฟังเสียงของเรา
(ยอห์น 18: 37)

ความจริงคือสิ่งไม่ตาย แต่ผู้ที่พูดความจริงอาจจะตายได้... นี้คือสิ่งที่พระเยซูเจ้าประสบ เพราะพระองค์มาเพื่อเป็นประจักษ์พยายานแก่ความจริง แล้ว “ความจริง” ที่ว่านี้หรืออะไรกันแน่?

ความจริงของบรรดาธรรมาจารย์และฟาริสี

ธรรมจารย์และฟาริสี คือผู้สอนพระคัมภีร์และหลักธรรมทางศาสนา แต่พวกเขากลับปฏิเสธที่จะสอน “ความจริง” ให้แก่ประชาชน เพราะแม้พวกเขาจะสอน “ความจริง” แต่พวกเขากลับไม่ฟังเสียงที่อยู่ในหัวใจ เป็นเสียงที่พระเป็นเจ้าทรงเรียกร้องให้พวกเขากลับใจ กลับใจจากความเคร่งคัดทางศาสนาและธรรมประเพณี จนหลงลืมความเมตตาและความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้แก่ผู้อยากไร้และด้อยโอกาสในสังคม พวกเขาตกอยู่ในกับดักแห่งเกียรติยศและศักดิ์ศรีของโลก เรียกตนเองว่าเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ เป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับพระเจ้า แต่ “ความจริง” แล้วใจของพวกเขายังห่างไกลจากพระเจ้ามากนัก จนในท้ายที่สุด พวกเขาปฏิเสธและเป็นผู้ประหาร “องค์แห่งความจริง” คือพระเยซูเจ้านั่นเอง

ความจริงของของปีลาส

ปีลาสถูกส่งมาจากจักรวรรดิโรมัน เพื่อมาปกครองชาวยิว เขาจึงต้องสร้างผลงานคือการรักษาความสงบด้วยการเร่งปราบปรามพวกที่ต่อต้านจักรวรรดิ ปีลาสจึงถามพระเยซู ถามแล้วถามอีกว่า “เจ้าเป็นกษัตริย์ของชาวยิวหรือ” ปีลาสไม่ต้องการจะรู้ว่าชาวยิวจะมีกษัตริย์สักอีกองค์ หรือใครที่จะผู้นำของชาวยิว เขาเพียงต้องการจะจับผิดในคำตอบของพระเยซูว่า พระองค์ทำตนเป็นกบฏ เพื่อจะได้ประหารพระองค์ให้แล้วๆ ไป เรื่องจะได้จบๆ อย่างสงบและเพื่อให้ฝูงชนรู้สึกพอใจ ไม่มีการก่อจารจล

สิ่งนี้คือข้อเท็จจริง แต่ “ความจริง” ก็คือ พระเยซูผู้นี้เป็นผู้บริสุทธิ์ และความผิดที่พระองค์ถูกกล่าวหานั้นก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรจนถึงกับต้องประหารชีวิตพระองค์

แต่สุดท้าย ปีลาสก็ล้างมือเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าเขาจะไม่ยุ่งกับเรื่องนี้ และยอมให้คนประหารชีวิตผู้บริสุทธิ์ผู้นี้ ท้ายที่สุดปีลาสก็ปฏิเสธ “ความจริง” ที่อยู่ในใจของเขาเอง

ความจริงของพระเยซูเจ้า

พระเยซูเจ้าทรงรู้ว่า พระองค์ต้องถูกคนใส่ร้าย ปรักปรำและพระองค์ต้องตาย นี้คือ “ความจริง” สำหรับพระองค์ และความจริงนี้คือ การทำตามน้ำพระทัยของพระบิดาสวรรค์ ด้วยเห็นนี้ พระองค์จึงได้ไถ่บาปมนุษย์ ด้วยการยอมรับชะตากรรมอันโหดร้ายนี้ และสิ่งนี้ทำให้พระองค์ทรงเป็น “หนทาง ความจริง และชีวิต” สำหรับพวกเรา

ความจริงของชาวเรา

ในความเป็นจริงของชีวิต บางทีการยอมรับ "ข้อเท็จจริง" ของชีวิตนั่น เป็นสิ่งที่โหดร้าย เพราะหลายต่อหลายครั้งเรามีประสบการณ์ของความรู้สึกที่ท้อแท้ ถูกกระทำ ถูกโกง ถูกทรยศ และถูกใส่ร้าย บางทีชีวิตดูเหมือนจะมืดมน มองไปที่ใดก็มีแต่ความมืด สำหรับบางคน เขาจะบอกว่า "ฉันถูกฝังทั้งเป็น" แต่สำหรับบางคนกลับบอกว่า "ฉันกำลังถูกเพาะปลูกอยู่" และสิ่งที่มืดมิดอยู่นี้เป็นเพียงใต้ดิน ที่สักวันหนึ่งฉันจะเติบโต เบ่งบานขึ้น และมีชีวิตที่ดีกว่าเดิม และสิ่งนี้คือ "ความจริงของชีวิต" เฉกเช่นกับชีวิตของพระเยซู ที่พระองค์ต้องถูกฝังลงดิน เพื่อพระองค์จะได้ทรงเปลี่ยนแปลง ในการกลับคืนชีพ เป็นชีวิตแห่งปัสกา เป็นชีวิตแห่งนิรันดร และเราจะไม่ต้องการมีส่วนร่วมกับ "ความจริง" ของชีวิตนี้เชียวหรือ?

 

 

pope ai

 

ปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ เป็นเทคโนโลยีใหม่ ที่มีความใกล้ตัวต่อชีวิตปัจจุบันของเรา เราไม่สามารถปฏิเสธถึงคุณประโยชน์ของการใช้เอไอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแพทย์ การศึกษา การเกษตร การพัฒนานวตกรรมต่างๆ ในสังคม ฯลฯ นี้อาจจะเป็นเหรียญเพียงด้านเดียว เอไอจะมีโทษต่อมนุษย์ หรือการใช่เอไออย่างไรไม่ให้ผิดต่อหลักการคำสอนของชาวคริสต์? สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสเองก็ได้ตระหนักถึงข้อนี้ได้เป็นอย่างดี ท่านได้กล่าวถึงเอไอในสุนทรพจน์ สมณลิขิต และเอกสารต่างๆ ถึงการใช้เอไออย่างมีจริยธรรม พระองค์ท่านทรงย้ำเสมอว่าเทคโนโลยีควรนำมาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวม เราความพิจารณาทางจริยธรรมควรอยู่ในลำดับแรกของการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ หรือเทคโนโลยีใดๆ ทรงเตือนถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากปัญญาประดิษฐ์หากไม่มีหลักการทางศีลธรรมและคุณค่าของมนุษย์เป็นแนวทาง ในที่สุด พระสันตะปาปาฟรานซิสเรียกร้องให้มีความสมดุลระหว่างความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีกับความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ โดยเน้นย้ำว่าเอไอ ควรเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมศักดิ์ศรีของมนุษย์และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ดังนั้น การให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ร่วมของมนุษยชาติมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัวในการพัฒนาเอไอ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เราต้องมั่นใจว่าเอไอจะรับใช้มนุษยชาติแทนที่จะเบียดเบียนและนำโทษมาสู่ชาวเรา

 

การพัฒนาที่เน้น “มนุษย์เป็นศูนย์กลาง” (หาใช่เครื่องจักรไม่)

เราต้องคุยกันอย่างจริงๆจังๆ เรื่องของการพัฒนาเอไอ

ถ้าจะถามว่า อะไรคือนิยามของ “ความเป็นมนุษย์?” แม้ว่าเราจะมีคำตอบในใจของเราอยู่บ้าง แต่สำหรับสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส แก่นแท้ของมนุษยชาติอยู่ที่การที่มนุษย์สื่อสารและเสวนากันอย่างลึกซึ้งและมีความหมาย โดยเฉพาะในเรื่องที่มีความสำคัญโดยรวม พระสันตะปาปาได้กล่าวว่า

"เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้า เราต้องให้มนุษย์เป็นศูนย์กลางของการถกเถียงและมั่นใจว่ามันจะเป็นประโยชน์ต่อความดีของมนุษยชาติ"

 "เราเชื่อมั่นว่าการสนทนาระหว่างผู้ที่เชื่อและผู้ที่ไม่เชื่อในคำถามพื้นฐานเกี่ยวกับจริยธรรม วิทยาศาสตร์ และศิลปะ รวมถึงการค้นหาความหมายของชีวิต เป็นเส้นทางสู่สันติภาพและการพัฒนามนุษย์อย่างครบถ้วน" [1]

ความเชื่อศรัทธา เชื้อชาติ หรืออุดมการณ์ใดๆที่อาจจะเป็นกำแพงหรืออุปสรรคใดๆต่อการเสวนานี้ เราควรที่จะหลีกหนีมัน พระสันตะปาปาได้เชิญชวนทั้งสมาชิกของพระศาสนจักรคาทอลิกและผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกให้ร่วมมือกันหาวิธีที่เทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญญาประดิษฐ์ สามารถนำไปใช้ในลักษณะที่แท้จริงเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติได้ เพราะพวกเขาทั้งหมดเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

ai control
มนุษย์จะควบคุมเอไอ หรือ จะปล่อยให้เอไอมาควบคุมมนุษย์?

 

เอไอหาใช่ศัตรูของมวลมนุษย์ไม่

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสได้ยอมรับถึงประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นจากปัญญาประดิษฐ์ ในขณะเดียวกันก็เน้นย้ำถึงความสำคัญของการพิจารณาด้านจริยธรรมในการพัฒนาและการใช้งานของมันด้วย

ในการกล่าวสุนทรพจน์ต่อผู้นำจีเจ็ด ทรงเน้นย้ำว่า ปัญญาประดิษฐ์เกิดจากศักยภาพสร้างสรรค์ที่พระเจ้าประทานให้แก่มนุษยชาติ ซึ่งชี้ให้เห็นว่ามันสามารถนำไปสู่ความก้าวหน้าที่ทำให้การเข้าถึงความรู้เป็นประชาธิปไตยและพัฒนาการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ได้ดีขึ้น ท่านได้กล่าวว่า

"ปัญญาประดิษฐ์อาจทำให้การเข้าถึงความรู้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น การพัฒนาทางวิทยาศาสตร์อย่างก้าวกระโดด และความเป็นไปได้ในการมอบงานที่ต้องการความพยายามและหนักหนาสาหัสให้กับเครื่องจักรเป็นผู้ดำเนินงาน(แทนมนุษย์)" [2].

พระสันตะปาปายังเน้นถึงผลกระทบเชิงบวกของปัญญาประดิษฐ์นั้นขึ้นอยู่กับการพัฒนาที่มีความรับผิดชอบและมีจริยธรรม ท่านกล่าวว่า

"การพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่องมีศักยภาพที่จะมีส่วนช่วยในทางบวกต่ออนาคตของมนุษยชาติ" แต่ยืนยันว่าศักยภาพนี้จะถูกนำมาใช้ได้จริงก็ต่อเมื่อมีความมุ่งมั่นต่อการปฏิบัติอย่างมีจริยธรรม [3].

จึงมีความจำเป็นที่ปัญญาประดิษฐ์จะต้องให้บริการผลประโยชน์ที่ดีที่สุดของมนุษยชาติ โดยกล่าวว่า

"ปัญญาประดิษฐ์ควรจะให้บริการศักยภาพที่ดีที่สุดของมนุษย์และความปรารถนาสูงสุดของเรา ไม่ใช่แข่งขันกับมัน" ท่านเรียกร้องให้มีกรอบการกำกับดูแลที่ส่งเสริมแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดและปกป้องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ประโยชน์ของเอไอจะต้องสอดคล้องกับผลประโยชน์ส่วนรวมและการแสวงหาสันติภาพ [4].

โดยภาพรวมแล้ว พระสันตะปาปาฟรานซิสมองว่า ปัญญาประดิษฐ์เป็นเครื่องมือที่มีศักยภาพในการสร้างประโยชน์อย่างมาก หากได้รับการพัฒนาและใช้งานโดยมีพื้นฐานทางจริยธรรมที่เข้มแข็ง ซึ่งให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีของมนุษย์และผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก

terminator
ภาพยนต์เรื่อง Terminator เมื่อเอไอกลายเป็นศัตรูกับมนุษยชาติ 

 

จริยธรรม และ การใช้เอไออย่างรับผิดชอบ

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสเน้นย้ำถึงการใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างมีจริยธรรมว่าเป็นด้านที่สำคัญต่อการพัฒนาและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนี้ ท่านได้ชี้แจงว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีต้องเคารพศักดิ์ศรีของมนุษย์และส่งเสริมประโยชน์ส่วนรวม โดยเน้นความจำเป็นในการมีกรอบจริยธรรมเพื่อชี้นำการบูรณาการของปัญญาประดิษฐ์เข้าสู่สังคม

ในข้อความของเขาสำหรับวันสันติภาพโลก ท่านกล่าวว่า "การพัฒนาเทคโนโลยีควรเกิดขึ้นอย่างมีจริยธรรมและรับผิดชอบ โดยเคารพความสำคัญของมนุษย์ ซึ่งไม่มีอะไรสามารถแทนที่ได้ไม่ว่าจะเป็นเพียงโค้ดคำสั่งโปรแกรม (algorithm) หรือเครื่องจักรใดๆ" [5]

สิ่งนี้เน้นย้ำความเชื่อที่ว่าเอไอควรเสริมสร้างชีวิตของมนุษย์ แทนที่จะมาแทนที่หรือทำให้ชีวิตลดน้อยลง

ผลกระทบของปัญญาประดิษฐ์ขึ้นอยู่กับการออกแบบไม่เพียงเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับเจตนาของผู้พัฒนาด้วย เขายืนยันว่า

"เราไม่สามารถสันนิษฐานล่วงหน้าได้ว่าการพัฒนานั้นจะมีส่วนช่วยที่เป็นประโยชน์ต่ออนาคตของมนุษยชาติและสันติภาพระหว่างประชาชน" [6].

เป็นสิ่งจำเป็นที่นักพัฒนาจะต้องปฏิบัติอย่างรับผิดชอบและมีจริยธรรม เพื่อให้มั่นใจว่าเอไอ จะสนับสนุนคุณค่าพื้นฐานของมนุษย์ เช่น การรวมกลุ่มไม่แบ่งแยก ความโปร่งใส และความเท่าเทียมกัน

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงเรียกร้องให้มีการจัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแลเพื่อจัดการกับปัญหาด้านจริยธรรมที่เกิดจากปัญญาประดิษฐ์ โดยกล่าวว่า

"มีความจำเป็นต้องเสริมสร้างหรือถ้าจำเป็นต้องจัดตั้งหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบปัญหาด้านจริยธรรมที่เกิดขึ้นในสาขานี้" ท่านเน้นย้ำว่าการพัฒนาเอไอ ควรมีทิศทางไปสู่การแสวงหาสันติภาพและประโยชน์ส่วนรวม โดยเตือนถึงอันตรายจากความเห็นแก่ตัวและความต้องการผลกำไรที่อาจนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นอันตราย” [7].

จึงมีความกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่เอไอ จะทำให้ปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมกันแย่ลงในสังคม ท่านได้กล่าวว่า

"การพัฒนาทางเทคโนโลยีที่ไม่ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของมนุษยชาติทุกคนดีขึ้น... ไม่สามารถถือเป็นความก้าวหน้าที่แท้จริงได้" [8].

สิ่งนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของเขาที่จะทำให้มั่นใจว่าเอไอ จะมีส่วนช่วยที่ดีต่อสังคมและไม่ทำให้ช่องว่างที่มีอยู่ลึกขึ้น.

โดยสรุป พระสันตะปาปาฟรานซิสสอนว่าการใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างมีจริยธรรมเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ซึ่งต้องการความมุ่งมั่นต่อศักดิ์ศรีของมนุษย์ การพัฒนาที่รับผิดชอบ และการควบคุมดูแลเพื่อให้เทคโนโลยีทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมและส่งเสริมสันติภาพ

 

"เรามีความมั่งคั่งในเทคโนโลยี แต่อยากไร้ในมนุษยธรรม"

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสได้ส่งสารสำหรับวันสื่อสารสังคมโลกครั้งที่ 58 โดยกล่าวถึงโอกาสและการใช้ปัญญาประดิษฐ์ที่อันตราย เขากล่าวว่า

"ในช่วงเวลานี้ของประวัติศาสตร์ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะร่ำรวยในด้านเทคโนโลยีแต่ยากจนในด้านมนุษยธรรม การสะท้อนความคิดของเราต้องเริ่มต้นจากหัวใจของมนุษย์" [9]

โดยการเปรียบเทียบศักยภาพในการสร้างความมั่งคั่งทางเทคโนโลยีกับความเสี่ยงที่จะทำให้มนุษยชาติลดน้อยลง เขาเน้นย้ำถึงความกังวลที่สำคัญ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่รวดเร็วของเราอาจแซงหน้าการพัฒนาทางศีลธรรมและจริยธรรมของเราได้ เขาแนะนำว่า หากเราไม่ให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์ร่วมกัน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของเราอาจนำไปสู่โลกที่ขาดความเห็นอกเห็นใจ ความเข้าใจ และการเชื่อมโยงที่แท้จริง
ข้อความของพระสันตะปาปาส่งเสริมให้เราปลูกฝังและให้ความสำคัญกับคุณค่าของมนุษย์ เช่น ความเห็นอกเห็นใจ ความยุติธรรม และการแสวงหาสิ่งที่ดีร่วมกัน ในการมีปฏิสัมพันธ์กับปัญญาประดิษฐ์และในการกำหนดพัฒนาการของมัน

 

บทสรุป

  • คำสอนของท่านสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ได้วางรากฐานของการพัฒนาและการใช้ประโยชน์ของปัญญาประดิษฐ์โด้ยมี "แนวทางที่มุ่งเน้นมนุษย์เป็นสำคัญ"
  • สำหรับผู้พัฒนาและการใช้ประโยชน์จากเอไอ เราต้องไม่เลือกการปฏิบัติและใช้เอไอเพื่อเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น โดยเฉพาะในกลุ่มคนเปราะบาง (ผู้เยาว์ ผู้ไร้การศึกษา ผู้ด้อยโอกาสในสังคม ฯลฯ)
  • การใช้เอไอต้องมีหลักจริยธรรมและความผิดชอบต่อสังคม 
  • ข้อความของพระสันตะปาปาเป็นการเตือนที่สำคัญและตอบโจทย์ทางสังคมว่า.. "ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี" จะต้องมีความสมดุลกับการรักษา "ศักดิ์ศรีของมนุษย์" รวมไปถึงการส่งเสริมความ "ยุติธรรมทางสังคม" และการสร้างสังคมที่มีความเห็นอกเห็นใจและรวมเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น
  • ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่ปราศจากศีลธรรม ก็จะเป็นวิทยาการที่อันตราย หากการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์กระทำโดยปราศจากกฏระเบียบ มุ่งเน้นแต่ความก้าวหน้า แต่กลับทำให้ผู้คนเดือดร้อนลำบาก ก็จะหาใช่การพัฒนาที่แท้จริงไม่ 
  • สุดท้ายที่สุด เอไอก็จะเป็นหุ่นยนต์ที่รับใช้มนุษย์อยู่วันยันค่ำ หากแต่ว่ามนุษย์จะรับใช้กันและกัน โดยให้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีหรือไม่นั่น คำตอบของคำถามขึ้นอยู่กับเราแต่ละคน

อ้างอิง

[1] Address of His Holiness Pope Francis - Minerva Dialogues https://www.vatican.va/content/francesco/en/speeches/2023/march/documents/20230327-minerva-dialogues.html

[2] The effects of artificial intelligence on the future of humanity (by Pope Francis)
https://zenit.org/2024/06/14/the-effects-of-artificial-intelligence-on-the-future-of-humanity-by-pope-francis)

[3] Address of His Holiness Pope Francis - Minerva Dialogues

[4] LVII World Day of Peace 2024 - Artificial Intelligence and Peace, 2 https://www.vatican.va/content/francesco/en/messages/peace/documents/20231208-messaggio-57giornatamondiale-pace2024.html

[4] LVII World Day of Peace 2024 - Artificial Intelligence and Peace, 8

[5] To members of the Diplomatic Corps accredited to the Holy See (8 January 2024) https://www.vatican.va/content/francesco/en/speeches/2024/january/documents/20240108-corpo-diplomatico.html

[6] LVII World Day of Peace 2024 - Artificial Intelligence and Peace, 2

[7] LVII World Day of Peace 2024 - Artificial Intelligence and Peace, 2

[8] LVII World Day of Peace 2024 - Artificial Intelligence and Peace, 2

[9] Message of the Holy Father Francis for the 58th World Day of Social Communications, (24 January 2024) https://press.vatican.va/content/salastampa/en/bollettino/pubblico/2024/01/24/240124b.html

 


 

ความเชื่อมั่นในตนเอง ดีไหม?

เรามักจะได้ยินประโยคที่กล่าวให้กำลังใจว่า "จงมีความเชื่อมั่นในตนเอง" (Believe in yourself) เป็นคำกล่าวที่มอบพลังชีวิต เพราะบางครั้งชีวิตอยู่ในความตกต่ำ ท้อแท้ และมืดมน การสร้างความเชื่อมั่นในตนเองคือการสั่งจิต เป็นคำกล่าวที่เปลี่ยนไปเป็นพลังจิต ที่จะสามารถทำให้เรามีไฟในการต่อสู้กับปัญหาและอุปสรรคอีกครั้งหนึ่ง เพราะยามใดที่เราล้มก็ต้องลุกให้เป็น พลาดก็ต้องแก้ไขได้ หรือแม้จะกระทำบาปผิดก็ต้องกลับใจได้เช่นกัน 

ความเชื่อมั่นใจ และ ความจองหอง (Self-confident VS Pride)

ความเชื่อมั่นเป็นพลังฝ่ายจิต เป็นส่วนหนึ่งของการเติญโตสู่ความเป็นผู้ใหญ่และผู้นำ พ่อแม่ควรที่จะสร้างเสริมความเชื่อมั่นให้กับเด็กๆ กัลยามิตรที่ดีควรที่จะให้กำลังใจแก่กันและกัน แต่ในบางครั้งความเชื่อมั่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีและมีประโยชน์ อาจจะแปลเปลี่ยนไปเป็นพลังลบของชีวิต ที่มีเชื่อว่า "ความจองหอง" 

สำหรับชาวคริสต์ ความจองหองคือบาป เป็นบาปต้นประการแรกที่เทวฑูตสวรรค์ ผู้ศักดิ์สิทธิ์ ผู้บริสุทธิ์ แต่กลับเพาะบ่มความจองหอง จนกลายไปเป็น "ซาตาน" ผู้ที่เป็นปฎิปักษ์ต่อต้านพระผู้เป็นเจ้า  ความเชื่อมั่นเป็นพระพรของพระเจ้า (Grace) แต่ความจองหองเป็นบาป

ความเชื่อมั่นในตนเอง เกิดการเรียนรู้ด้วยความสุขภาพถ่อมตน เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเติบโตของชีวิต แต่ความเชื่อมั่นในตนเองมากจนเกินไป คิดว่าตนเองถูก หรือความคิดของตนดีกว่าคนอื่นๆอยู่เสมอ ฉันเป็นหนึ่งในตองอู ฉันดีเลิศ ฉันเก่งที่สุด ซึ่งในความเป็นจริง เราก็อาจจะมีความเก่งหรือชำนาญการในทางใดทางหนึ่ง แต่ในความเป็นจริง ไม่มีใครสมบูรณ์แบบได้ในทุกๆเรื่อง ด้วยเห็นนี้คือมี "เส้นบางๆ" แบ่งแยกระหว่างความมั่นใจในตนเอง และความจองหอง จึงเป็นหน้าที่ของเราแต่ละคนที่จะต้องทำความรู้จักและคุ้นเคยกับ "เส้นแบ่งบางๆ" นี้ในชีวิตของเราแต่ละคน

 

Believe Video

ความเชื่อมั่นใจว่า "พระเจ้าทรงรักฉัน"

พลังแห่งความชั่วร้ายมักจะกระซิบข้างหูพวกเราว่า "เพราะเจ้าเป็นคนบาป เจ้าจะตกนรก... และไม่มีใครช่วยเจ้าได้ จงจมปลักอยู่กับความทุกข์ ความเศร้าเสียใจ ความทอแท้"  และสิ่งนี้นำใครต่อหลายคนสู่ความตาย ทั้งทางกายและวิญญาณ

จะมีบาปใดที่ยิ่งใหญ่เกินไปกว่าความเมตตาของพระเจ้า เป็นพระจิตเจ้าที่กระซิบข้างหูเราว่า "แม้ฉันจะเป็นคนบาป แม้ฉันจะไม่ดี แม้ไม่มีใครรักฉัน... แต่มีพระเยซูเจ้าทรงรักฉัน" 

จงมีความเชื่อมั่นในตนเอง และจงมีความเชื่อมั่นยิ่งไปกว่านั้นว่า "พระเจ้าทรงรักเรา" แล้วเราจะไม่ท้อแท้เลย แม้จะอยู่จุดที่ต่ำที่สุดของชีวิต เพียงแค่เราเปิดใจ พระเมตตารักของพระเจ้าที่ทรงสัมผัสและเยี่ยวยารักษาเราเสมอ.

Believe in yourself

 

Written by 
บาทหลวง วรวุฒิ สารพันธุ์ C.Ss.R. JCL


Catholic Priest & Canonist
Author & Administrator
Faith4Thai.com

*juris canonici licentiatus
หรือ JCL เป็นปริญญาทางกฏหมายพระศาสนจักร

Email: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
FaceBook: Worawut Saraphan
Iine ID: mcssrsp


 

"พระเป็นเจ้าทรงประทาน พระหรรษทานที่จำเป็น ในการปฏิบัติตามพระบัญญัติให้แก่ผู้ชอบธรรมทุกคน
และประทานพระหรรษทานแห่งการกลับใจให้แก่คนบาปทุกคน"

1.จิตภาวนาส่องสว่างจิตใจ

            ประการแรก หากปราศจากจิตภาวนา วิญญาณก็ปราศจากแสงสว่าง นักบุญออกัสตินกล่าวว่า ใครที่หลับตาจะมองไม่เห็นทาง ความจริงฝ่ายจิตนั้นเราไม่อาจจะมองเห็นได้ด้วยสายตาทางกาย  แต่มองเห็นได้ด้วยสายตาทางจิต  โดยอาศัยการรำพึงพิจารณา ดังนั้นใครที่ไม่ทำจิตภาวนาก็ไม่พบความจริง ทั้งไม่รู้ถึงความสำคัญของความรอดนิรันดรและหนทางที่จะได้รับความรอด  ความพินาศของวิญญาณมากมายเกิดจากการละเลยในการพิจารณาถึงหนทางแห่งความรอดและวิถีทางเพื่อจะได้รับความรอด "แผ่นดินทั้งสิ้นถูกทำให้ร้างเปล่า  และไม่มีผู้ใดเอาใจใส่เรื่องนั้น" (ยรม 12:11) พระสวามีเจ้าตรัสว่า ใครที่เฝ้ารำพึงถึงความจริงแห่งความเชื่ออยู่เสมอ กล่าวคือ รำพึงถึงความตาย การพิพากษา และความสุขหรือความทุกข์นิรันดรที่รอคอยเราอยู่นั้น เขาจะไม่ตกอยู่ในบาปเลย "ไม่ว่าจะทำสิ่งใด จงคิดถึงบั้นปลายชีวิต แล้วเจ้าจะไม่ทำบาปเลย" (บสร 7:36) กษัตริย์ดาวิดกล่าวว่า จงเข้าใกล้ชิดพระเป็นเจ้า แล้วพระองค์จะทรงโปรดให้ท่านมองเห็น "จงเข้ามาใกล้พระองค์ และพบความสว่าง" อีกตอนหนึ่งพระสวามีเจ้าตรัสว่า "ท่านทั้งหลายจงคาดเอวของท่านไว้ และให้ตะเกียงของท่านจุดอยู่" (ลก 7:35) นักบุญโบนาเวนตูราตีความว่า ตะเกียงนี้หมายถึงการทำจิตภาวนา เพราะพระเป็นเจ้าทรงตรัสกับเราในการภาวนา และทรงส่องสว่างเพื่อให้เราได้พบหนทางแห่งความรอด "พระวจนะของพระองค์เป็นโคมสำหรับเท้าของข้าพเจ้า" (สดด 119:105)

            นักบุญโบนาเวนตูรากล่าวว่า จิตภาวนาเป็นดังกระจกเงาที่ส่องให้เราเห็นตำหนิในวิญญาณของเรา ในจดหมายถึงสังฆราชแห่งออสมา นักบุญเทเรซา เขียนว่า "โดยการภาวนา พระเป็นเจ้าทรงเผยให้เราเห็นความบกพร่องภายในวิญญาณของเราอย่างชัดเจน" ใครที่ไม่ทำจิตภาวนาก็ไม่รู้ข้อบกพร่องของตน ดังที่นักบุญเบอร์นาร์ดกล่าวว่า หากผู้ใดไม่ทำจิตภาวนา เขาจะไม่รู้เลยว่า อันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อความรอดนิรันดรมาสู่เขาแล้วและเขาไม่คิดแม้แต่จะหลบหนี  แต่ถ้าใครทำจิตภาวนาจะเห็นความผิดของตนทันที เขาจะเห็นอันตรายของความหายนะ พร้อมทั้งหนทางที่จะแก้ไขด้วย เมื่อกษัตริย์ดาวิดรำพึงถึงนิรันดรภาพ ท่านก็เร่งรีบในการฝึกปฏิบัติฤทธิ์กุศลและทำกิจใช้โทษบาปของตนอย่างร้อนรน "ข้าพเจ้าพิจารณาถึงสมัยก่อน ข้าพเจ้าจำปีที่นมนานแล้วได้....ข้าพเจ้าตรึกตรองและวิญญาณจิตข้าพเจ้าก็เสาะหา" (สดด 77:5-6) เจ้าสาวในบทเพลงซาโลมอนกล่าวว่า "ดอกไม้ต่าง ๆ นานากำลังปรากฏบนพื้นแผ่นดิน เวลาสำหรับวิหคร้องเพลงมาถึงแล้ว และเสียงคูของนกเขาก็ได้ยินอยู่ในแผ่นดินของเรา" (ซลม 2:12) เมื่อวิญญาณออกไปอยู่โดดเดี่ยวและสำรวมตนในการรำพึงและสนทนากับพระเป็นเจ้า  ดังเช่นนกเขาที่อยู่โดดเดี่ยว  เมื่อนั้นความตั้งใจดีก็จะผุดขึ้นมา ดังเช่นดอกไม้  เมื่อนั้นก็เป็นเวลาของการหักล้างถางพง คือการแก้ไขข้อบกพร่องที่เราได้พบเห็นในการทำจิตภาวนา นักบุญเบอร์นาร์ดกล่าวว่า "จงคิดถึงเวลาแห่งการหักล้างถางพงใกล้ที่ใกล้เข้ามา เมื่อเวลาแห่งการภาวนาได้สิ้นสุด" เพราะในการรำพึงด้วยความร้อนรนเสมอๆ นั้น เป็นเครื่องนำความประพฤติและแก้ไขข้อบกพร่องของเรา

 

2.  จิตภาวนานำวิญญาณไปสู่การฝึกปฏิบัติฤทธิ์กุศล

            หากปราศจากการรำพึงแล้ว เราจะไม่มีพละกำลังในการต่อสู้กับการ ประจญล่อลวง และฝึกหัดฤทธิ์กุศลแห่งพระวรสาร

            บุญราศีบาโธโลมิว มาริทิบุสกล่าวว่า การรำพึงเปรียบเช่นไฟที่เผาเหล็กให้ร้อน เพราะเหล็กที่เย็นนั้นแข็งและไม่อาจดัดแปลงให้เปลี่ยนไปตามต้องการได้ แต่หากนำไปเผาไฟ  เหล็กจะอ่อนตัวและทำให้เป็นรูปร่างต่างๆ ได้ตามต้องการ ในการปฏิบัติตามคำสอนและคำแนะนำของพระเป็นเจ้า เราต้องมีจิตใจที่อ่อนน้อม พร้อมรับฟังการดลใจจากพระเป็นเจ้าและปฏิบัติตาม สิ่งนี้เองที่กษัตริย์ซาโลมอนวอนขอต่อพระเป็นเจ้า "เพราะฉะนั้นขอพระองค์ทรงประทานความคิด ความเข้าใจแก่ผู้รับใช้ของพระองค์" (ซลม 2:12) บาปทำให้จิตใจเราแข็งกระด้าง ดื้อดึง โน้มเอียงไปในการแสวงหาความสุขฝ่ายเนื้อหนัง และต่อต้านกฎแห่งจิต ดังที่นักบุญเปาโลกล่าวว่า "แต่ข้าพเจ้าเห็นมีกฎอีกอย่างหนึ่งอยู่ในกายของข้าพเจ้า ซึ่งต่อสู้กับกฎแห่งจิตใจของข้าพเจ้า" (รม 7:23) มนุษย์จะมีจิตใจที่อ่อนน้อมและเชื่อฟังก็โดยอาศัยพระหรรษทานที่ได้รับจากการรำพึง  มนุษย์จะร้อนรนด้วยไฟแห่งความรักของพระเป็นเจ้า และมีจิตใจที่อ่อนน้อมเชื่อฟังการดลใจของพระเป็นเจ้า ก็โดยการรำพึงถึงความดีของพระเป็นเจ้า ความรักที่พระเป็นเจ้ามีต่อเขา และพระคุณต่างๆ ที่พระองค์ประทานให้มนุษย์ แต่หากปราศจากจิตภาวนาแล้ว จิตใจของมนุษย์จะดื้อกระด้างและไม่เชื่อฟังจนถึงแก่ความพินาศไปในที่สุด "ผู้มีใจดื้อดึงย่อมได้รับผลร้ายในบั้นปลาย" (บสร 3:25)  นักบุญเบอร์นาร์ดกล่าวเตือนพระสันตะปาปายูจีนน์ไม่ให้ละเลยการรำพึง เพราะการทำงานที่มากมาย "โอ้ ยูจีนน์ ข้าพเจ้ากลัวว่างานมากมายของท่านจะทำให้ท่านจิตใจแข็งกระด้าง โดยที่ท่านไม่ล่วงรู้หรือเกลียดชังมันเลย"

            บางคนอาจคิดว่า เวลานาน ๆ ที่ใช้ในการภาวนานั้น ควรเอามาทำงานจะเป็นประโยชน์กว่า เขาคิดว่าการสวดภาวนานาน ๆ เป็นการเสียเวลา แต่พวกเขาไม่รู้เลยว่า จิตภาวนาทำให้วิญญาณได้รับพละกำลังที่จะเอาชนะศัตรูและฝึกหัดฤทธิ์กุศล นักบุญเบอร์นาร์ดกล่าวว่า "จากเวลาที่ใช้ไปนี้เอง ทำให้เราได้รับพละกำลังมากมาย" พระสวามีเจ้าเองทรงรับสั่งแก่เจ้าสาวของพระองค์ว่า "เธอทั้งหลายจะไม่เร่งเร้าหรือไม่ปลุกความรักให้ตื่นกระพือขึ้น จนกว่าความรักจะจุใจแล้ว" (ซลม 3:5) ที่พระองค์ตรัสว่า "จนกว่าความรักจะจุใจ" เพราะการพักผ่อนนอนหลับของวิญญาณในจิตภาวนาเป็นไปด้วยความเต็มใจ ขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิตจิตด้วย ใครที่ไม่พักผ่อนก็ไม่มีพละกำลังในการทำงาน เขาจะเดินเซไปมา หมดเรี่ยวแรง วิญญาณไม่ได้รับพละกำลังและการพักผ่อนในการรำพึง ก็ไม่มีพละกำลังต่อสู้กับการประจญและโซเซไปมา เมื่อเราย้อนดูประวัติของบุญราศี ซิสเตอร์มารี แห่งพระผู้ถูกตรึงกางเขน ในขณะที่ภาวนา ท่านได้ยินปีศาจคุยโวว่า มันได้ทำให้ซิสเตอร์ท่านหนึ่งละเลยการรำพึงภาวนารวมกัน หลังจากนั้นมันก็พยายามล่อลวงซิสเตอร์ท่านนั้นให้ตกอยู่ในอันตรายของการทำบาปหนัก ผู้รับใช้ของพระเป็นเจ้าจึงวิ่งไปหาซิสเตอร์ท่านนั้น และโดยความช่วยเหลือของพระเป็นเจ้า ซิสเตอร์จึงไม่ตกในบาปหนัก จงดูอันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่วิญญาณที่ละเลยการทำจิตภาวนา นักบุญเทเรซากล่าวว่า ใครที่ละเลยจิตภาวนาก็ไม่จำเป็นต้องอาศัยปีศาจให้พาตัวเขาไปนรก แต่เขาจะพาตัวของเขาเองไปที่นั่น เจ้าอาวาสไดโอเคิลกล่าวว่า "ผู้ที่ละเลยจิตภาวนา ในไม่ช้าเขาจะเป็นเดียรฉานหรือไม่ก็ปีศาจ"

 

3.  จิตภาวนาช่วยให้เราภาวนาอย่างถูกต้อง

            หากปราศจากการวอนขอ พระเป็นเจ้าจะไม่ทรงประทานความช่วยเหลือแก่เรา และหากปราศจากความช่วยเหลือจากพระเป็นเจ้าแล้ว เราก็ไม่สามารถปฏิบัติตามพระบัญญัติได้  การภาวนาวอนขอมีความจำเป็นทีเดียวในการทำจิตภาวนา เพราะใครที่ละเลยการรำพึงและหลงใหลในสิ่งฝ่ายโลก จะไม่รู้ว่าวิญญาณของเขาขาดแคลนสิ่งใด อันตรายจะมาสู่ความรอดของเขา เขาจะไม่รู้วิธีเอาชนะการประจญล่อลวง หรือแม้แต่ความสำคัญของการภาวนาวอนขอ ในที่สุดเขาจะเลิกภาวนา เลิกวอนขอพระหรรษทานจากพระเป็นเจ้า และพินาศไปในที่สุด พระสังฆราชพาราฟอกให้หมายเหตุประกอบจดหมายของนักบุญเทเรซาไว้ว่า "ความรักจะสิ้นสุดไปได้อย่างไร หากพระเป็นเจ้าทรงประทานความพากเพียร? พระองค์ประทานความพากเพียรให้เราได้อย่างไร หากเราไม่วอนขอจากพระองค์? เราจะวอนขอจากพระองค์ได้อย่างไร หากปราศจากจิตภาวนา? หากปราศจากจิตภาวนา วิญญาณจะได้รับความช่วยเหลือจากพระเป็นเจ้าในการรักษาฤทธิ์กุศลได้อย่างไร?" คาร์ดินัลเบลามีนกล่าวว่า สำหรับท่านแล้ว ใครที่ละเลยจิตภาวนา เป็นไปไม่ได้เลยที่จะดำเนินชีวิตโดยปราศจากบาป

            บางคนกล่าวว่า "ถึงผมไม่ได้ทำจิตภาวนา แต่ผมก็ท่องบทสวดต่าง ๆ มากมาย" แต่เราก็ต้องรู้ถึงสิ่งที่นักบุญออกัสตินต้องการบอกเราว่า เพื่อจะได้รับพระหรรษทานจากพระเป็นเจ้า การภาวนาด้วยลิ้นเท่านั้นไม่เป็นการเพียงพอ เราจำเป็นต้องภาวนาด้วยหัวใจของเรา กษัตริย์ดาวิดกล่าวว่า "ข้าพเจ้าหลั่งคำคร่ำครวญของข้าพเจ้าออกมาต่อเบื้องพระพักตร์พระองค์"(สดด 142:2) นักบุญโทมัสกล่าวว่า "เสียงร้องคร่ำครวญนั้นไม่ใช่เสียงของเขาเอง (ไม่ใช่เสียงที่ออกมาจากวิญญาณ) นั่นเป็นเสียงของร่างกาย แต่ความคิดคำนึงของเขาตะหากที่เป็นเสียงร้องหาพระเจ้า เป็นเสียงจากภายใน ซึ่งพระองค์ทรงรับฟัง" นักบุญเปาโล พร่ำสอนว่า "จงขอโดยพระวิญญาณทุกเวลา"(อฟ 6:18) โดยทั่วไปแล้ว การท่องบทสวดด้วยความวอกแวกนั้น มาจากร่างกาย ไม่ใช่จิตใจ ยกตัวเอย่างเมื่อเราสวดนาน ๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ไม่เคยทำจิตภาวนา ดังนั้นพระเป็นเจ้าจึงไม่รับฟังเขา และไม่ประทานพระหรรษทานที่เขาวอนขอ หลายคนสวดสายประคำ สวดนพวารแม่พระ ทำกิจศรัทธาต่าง ๆ แต่ยังคงตกในบาป ส่วนผู้ที่ทำจิตภาวนา ย่อมเป็นไปไม่ได้เลยที่เขาจะตกในบาป  เขาอาจเลิกการรำพึงหรือไม่ก็เลิกทำบาป ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง  ผู้รับใช้ที่ยิ่งใหญ่ของพระเป็นเจ้าเคยกล่าวไว้ว่า จิตภาวนาและบาปไม่อาจอยู่ร่วมกันได้  เราเห็นได้จากประสบการณ์ของเราว่า ไม่ค่อยเห็นคนที่ทำจิตภาวนาจะเป็นศัตรูกับพระเป็นเจ้า และพวกเขาไม่โชคร้ายจนตกในบาป  อาศัยความพากเพียรในจิตภาวนา พวกเขาจะแลเห็นความน่าสมเพชของตนและหวนกลับไปหาพระเป็นเจ้า  นักบุญเทเรซากล่าวว่า วิญญาณที่ประมาทเอ๋ย หากเจ้าพากเพียรในจิตภาวนาแล้ว พระสวามีเจ้าจะนำเจ้ากลับไปสู่ความรอด

 

 

ในการที่จะได้รับความรอด

            นักบุญทุกองค์เป็นนักบุญได้ก็เพราะจิตภาวนา  จิตภาวนาเป็นดังเตาไฟอันศักดิ์สิทธิ์ที่วิญญาณจะถูกเผาผลาญไปด้วยไฟแห่งความรักของพระเป็นเจ้า กษัตริย์ดาวิดกล่าวว่า "ในการภาวนา จะมีเปลวเพลิงออกมา" นักบุญวินเซนต์ เดอ ปอลกล่าวว่า ต้องเป็นอัศจรรย์แน่หากคนบาปที่ฟังการเทศน์อบรมจิตใจ หรือทำการฝึกปฏิบัติทางจิตแล้วไม่กลับใจ สำหรับผู้ที่เทศน์และนำการฝึกปฏิบัติทางจิตนั้นเป็นเพียงแต่มนุษย์ แต่พระเป็นเจ้าทรงตรัสแก่เราในการรำพึงว่า "เราจะนำนางเข้าไปในถิ่นทุรกันดารและปลอบใจนาง"(ฮชย 2:14) นักบุญคาทารีน แห่งโบรอกนากล่าวว่า "ใครที่ไม่ทำจิตภาวนาก็ปล่อยตัวเองให้ห่างจากสายสัมพันธ์ที่ยึดเราให้สนิทกับพระเป็นเจ้า ดังนั้นเขาจะโดดเดี่ยว และปิศาจจะครอบครองเขาได้อย่างง่ายดาย" ท่านนักบุญต้องการบอกเราว่า "ดิฉันจะรู้ได้อย่างไรว่า เราจะพบความรักของพระเป็นเจ้าได้ในวิญญาณที่สนใจการภาวนาเพียงเล็กน้อย?"

            ในการรำพึง บรรดานักบุญได้รับความร้อนรนแห่งความรักของพระเป็นเจ้าจากที่ไหน? ก็โดยทางจิตภาวนานั่นเอง นักบุญเปโตรแห่งอัลคันตาราได้รับความร้อนรนจนถึงกับต้องทำให้ตนเองเย็นลง โดยการกระโดดลงไปในบ่อน้ำที่เป็นน้ำแข็ง และน้ำในบ่อนั้นก็เริ่มเดือดเหมือนกาน้ำที่ตั้งอยู่บนเตาไฟ ระหว่างการทำจิตภาวนา นักบุญฟิลลิป เนรี ร้อนรนขึ้น และร่างกายสั่นไปมาจนทำให้ทั้งห้องนั้นสั่นไปด้วย นักบุญอาลอยซีอุส กอนซากาถูกเผาด้วยความรักของพระเป็นเจ้าจนกระทั่งบนใบหน้าของท่านดูเหมือนว่ามีไฟลุกอยู่ และหัวใจของท่านเต้นแรงราวจะหลุดออกมาจากหน้าอกของท่าน

            นักบุญลอเรนซ์ จัสติเนียน กล่าวว่า "โดยอาศัยอำนาจของจิตภาวนา การประจญจะหายไป ความโศกเศร้าจะไม่มี ฤทธิ์กุศลที่สูญเสียไปจะกลับมาอีกครั้งความร้อนรนที่เย็นชาจะกลับลุกร้อนขึ้นอีก และเพลิงแห่งความรักของพระเป็นเจ้าจะร้อนแรงขึ้นอีก" ดังนั้นนักบุญอลอยซิอุสกล่าวไว้อย่าวถูกต้องทีเดียวว่า ใครก็ตามที่ไม่ทำจิตภาวนา ก็ไม่อาจก้าวไปสู่ความบริบูรณ์ได้

            กษัตริย์ดาวิดกล่าวว่า ผู้ที่ภาวนาอยู่เสมอเปรียบได้กับต้นไม้ที่ปลูกอยู่ริมลำธาร ซึ่งให้ดอกผลตามฤดูกาล และกิจการต่างๆ ของเขาก็เป็นที่พอพระทัยพระเป็นเจ้า "ความสุขเป็นของบุคคล...เขาภาวนาถึงพระธรรมของพระองค์ทั้งกลางวันและกลางคืน เขาเป็นเช่นต้นไม้ที่ปลูกไว้ริมธารน้ำ ซึ่งเกิดผลตามฤดูกาลและใบก็ไม่เหี่ยวแห้ง การทุกอย่างที่เขากระทำก็จำเริญขึ้น" (สดด 1:1-3) ให้เราสังเกตคำว่า "ตามฤดูกาล" หมายถึงเวลาที่เราจะต้องรับทนความทุกข์ เช่น การสบประมาท เป็นต้น

            นักบุญยอห์น คริสซอสโตมเปรียบจิตภาวนากับน้ำพุที่อยู่กลางสวน ดอกไม้และพืชพรรณนานาจะเขียวชอุ่มเพียงใด เมื่อภายในสวนนั้นได้รับความชุ่มชื่นตลอดเวลาจากน้ำพุที่ไม่มีวันเหือดแห้ง เช่นเดียวกัน สำหรับวิญญาณที่กอปรด้วยจิตภาวนา วิญญาณนั้นย่อมก้าวหน้าเสมอในความปรารถนาความดี และจะออกผลแห่งฤทธิ์กุศลมากมายตามมา เมื่อไหร่ที่วิญญาณจะได้รับพระคุณมากมาย? ก็จากการภาวนา ซึ่งนำความชุ่มชื่นมาสู่วิญญาณ "ผลผลิตของเธอดุจสวนทับทิมอีกทั้งผลไม้อันโอชาอื่นๆ....ตัวเธอประดุจดั่งน้ำพุในอุทยาน ประดุจบ่อน้ำไหล และประดุจลำธารไหลจากเลบานอน" (ซลม 4:13-15) หากน้ำพุปราศจากความชุ่มชื่นแก่สวนเสียแล้ว จงคิดดูเถิดว่าต้นไม้ดอกไม้จะเป็นเช่นไร? ตราบใดที่เรายืนหยัดอยู่ในจิตภาวนา เราจะมีความสำรวม สุภาพ ศรัทธาร้อนรนและอดทนในทุกสิ่ง แต่ลองให้เขาละทิ้งจิตภาวนาดูเถิด เราจะพบทันทีว่า เขาจะไม่สำรวมในการใช้สายตา คำพูดคำจาของเขาจะเต็มไปด้วยความจองหอง เย็นชา ไม่สนใจในการรับศีลมหาสนิทและศีลอภัยบาป เราจะพบว่า เขายึดติดกับสิ่งอนิจจัง การพูดคุยอันไร้สาระ และเสียเวลาไปในการแสวงหาความสุขฝ่ายโลก ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? เมื่อต้นไม้ขาดความชุ่มชื้น ไม่นานมันก็จะเหี่ยวเฉาไป "จิตใจของข้าฯกระหายหาพระองค์ อย่างแผ่นดินที่แห้งผาก และใจของข้าฯก็ฝ่อไปแล้ว" (สดด 143:7) วิญญาณที่ละเลยจิตภาวนาก็เปรียบกับสวนที่ขาดน้ำ และมีแต่จะแห้งเหี่ยวเฉาไป สำหรับนักบุญคริสซอสโตม วิญญาณที่ละเลยการภาวนาไม่เป็นเพียงคนป่วยไข้เท่านั้น แต่เป็นคนตายเลยทีเดียว "ใครที่ไม่ภาวนาหรือไม่พากเพียรในการภาวนาก็เท่ากับว่า เขาได้ตายเสียแล้ว วิญญาณที่ตายเช่นนี้ไม่อาจไปอยู่เฉพาะพระพักตร์พระเป็นเจ้าได้"

            นักบุญคริสซอสโตมยังกล่าวอีกว่า จิตภาวนาเป็นดั่งรากของเถาองุ่นที่อุดมไปด้วยผล นักบุญยอห์น คริมาคุสเขียนว่า "คำภาวนาเป็นดั่งปราการป้องกันความทุกข์ยาก เป็นสายธารแห่งฤทธิ์กุศลต่างๆ และเป็นผู้จัดหาพระหรรษทานให้แก่เรา" ลูฟินุสกล่าวย้ำว่า ความก้าวหน้าของวิญญาณมาจากจิตภาวนา เกอร์สัน กล่าวอีกว่า หากปราศจากอัศจรรย์แล้ว ผู้ที่ไม่รำพึงภาวนาย่อมไม่อาจดำเนินชีวิตคริสตชนได้เลย ประกาศกเยเรมีย์กล่าวถึงจิตภาวนาว่า "เขานั่งเงียบๆ อยู่แต่ลำพังเพราะพระองค์ทรงวางแอกให้นั่นเอง" (พคค 3:28) วิญญาณไม่อาจชื่นชมยินดีในพระเป็นเจ้าได้ หากเขาไม่ออกห่างจากสิ่งฝ่ายโลก หรือหยุดรำพึงถึงคุณความดี ความรักและความอ่อนหวานของพระเป็นเจ้า เมื่อวิญญาณรำพึงและสำรวมใจอยู่ วิญญาณนั้นจะละความคิดจากสิ่งฝ่ายโลกได้

            นักบุญอิกญาซิโอ แห่งโลโยลากล่าวว่า จิตภาวนาเป็นหนทางลัดสู่ความบริบูรณ์  ใครที่ก้าวหน้าในการรำพึงภาวนามากเท่าใด จะก้าวหน้าในความครบครันมากเท่านั้น ในการภาวนา วิญญาณนั้นจะเต็มไปด้วยความคิดอันศักดิ์สิทธิ์ ความรักอันศักดิ์สิทธิ์ ความปรารถนาและความตั้งใจดี พร้อมกับความรักที่มีต่อพระเป็นเจ้าในการภาวนา เราจะต้องเสียสละความสุขส่วนตัว ความผูกพันต่อสิ่งฝ่ายโลกและความเห็นแก่ตัวทั้งหมด ยิ่งกว่านั้นเรายังสามารถช่วยคนบาปมากมายโดยการภาวนาอุทิศให้แก่เขา ดังที่นักบุญมากมายได้ทำมาแล้ว เช่น นักบุญเทเรซา นักบุญมารี มักดาเลนาแห่งปัสซี และวิญญาณดวงอื่นที่ร้อนรนไปด้วยความรักต่อพระเป็นเจ้า พวกเขาไม่เคยลืมวิญญาณที่ขาดความเชื่อ มิจฉาทิฐิและคนบาปมากมายในการรำพึงภาวนาของเขาเลย ทั้งยังวอนขอต่อพระเป็นเจ้าได้ทรงประทานความร้อนรนให้แก่บรรดาพระสงฆ์ที่ทำงานในสวนองุ่นของพระเป็นเจ้า และทำให้คนบาปมากมายได้กลับใจ ในจิตภาวนา เราจะได้รับของประทานจากพระเป็นเจ้ามากมาย หากเพียงแต่เรามีความปรารถนาเท่านั้น เพราะในเมื่อพระองค์ทรงลงโทษผู้ที่ไม่ปรารถนาจะได้รับ แล้วใยพระองค์จะไม่ทรงประทานรางวัลแก่ผู้ที่มีความปรารถนาจะได้รับ

บทภาวนา

             พระเยซูเจ้าข้า พระองค์ทรงรักลูก แม้ในท่ามกลางความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมาน ลูกปรารถนาที่จะรักพระองค์ พระองค์ไม่ทรงเก็บสิ่งใดไว้สำหรับพระองค์เองเลย พระองค์ประทานแม้แต่พระกายและพระโลหิตของพระองค์  เพื่อจะได้รับความรักจากลูกเป็นการตอบแทน จนถึงขนาดนี้ ลูกยังจะใจเย็นเฉยต่อความรักของพระองค์ได้อีกหรือ โอ้องค์พระมหาไถ่ ลูกไม่ขอเป็นเช่นนั้นอีกแล้ว ความ อกตัญญูที่ลูกกระทำต่อพระองค์นั้นมากเกินไปเสียแล้ว ลูกขอถวายดวงใจของลูกแด่พระองค์ ลูกจะรักพระองค์เท่านั้น พระองค์เท่านั้นที่เป็นความปรารถนาแห่งความรักของลูก โอ้พระเจ้าข้า ในเมื่อพระองค์ทรงประสงค์ให้ลูกถวายตัวแด่พระองค์ทั้งครบ ขอพระองค์ทรงประทานพละกำลังให้ลูกรับใช้พระองค์ในโลกดังที่พระองค์สมควรจะได้รับ ขอพระองค์โปรดทรงยกโทษให้แก่ลูก ในความเย็นชาและการขาดความเชื่อ กี่ครั้งมาแล้วที่ลูกละเลยการภาวนาเพียงเพื่อสนองความปรารถนาของน้ำใจตนเอง อนิจจา กี่ครั้งแล้วที่ลูกสามารถทำตามน้ำพระทัยของพระองค์ได้ แต่ลูกกลับสลวนกับสิ่งฝ่ายโลก โอ้พระเจ้าข้า ขอให้วันเวลาที่เหลืออยู่นี้เป็นของพระองค์เท่านั้น โอ้องค์ความรักของลูก ลูกรักพระองค์ พระองค์เท่านั้นที่จะเป็นองค์แห่งความรักของลูก

            โอ้พระแม่มารี ขอพระแม่โปรดประทานพระหรรษทานให้ลูกรักพระบุตรของพระแม่ และใช้เวลาที่เหลืออยู่นี้ในความรักของพระองค์ พระแม่ได้รับทุกสิ่งทุกอย่างจากพระบุตรของพระแม่ โดยทางคำภาวนาของพระแม่ ลูกหวังจะได้รับพระหรรษทานประการนี้จากพระแม่

 

จุดมุ่งหมายของจิตภาวนา
เพื่อการฝึกหัดจิตภาวนา
หรือการรำพึงที่เกิดผลอย่างแท้จริงกับวิญญาณ
เราจะต้องเข้าใจถึงเป้าหมายของภาวนา

  

1. เพื่อความเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า

            เรารำพึงภาวนาเพื่อว่า เราจะได้รวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระเป็นเจ้า สติปัญญาของเราไม่อาจมีความปรารถนาที่จะทำความดี และเป็นหนึ่งเดียวกับพระเป็นเจ้าได้มากเท่ากับ ความปรารถนาที่จะทำความดี และความเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าที่เราจะมีได้ในขณะรำพึงภาวนา โดยเฉพาะความสุภาพ ความไว้ใจ ความเสียสละตนเอง ข้อตั้งใจต่าง ๆ ความรักและการเป็นทุกข์ถึงบาป นักบุญเทเรซากล่าวว่า การแสดงความรักจะมีอยู่ได้ก็เฉพาะในวิญญาณที่ร้อนรนด้วยความรักอันศักดิ์สิทธ์เท่านั้น

            ความบริบูรณ์แห่งความรักนี้ดำรงอยู่ได้ โดยการเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับพระเป็นเจ้า ดังที่ไดโอนีซีอุส เอโรพาไก กล่าวไว้ว่า ผลลัพธ์สำคัญของความรักคือการเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับผู้ที่ตนรัก เขาจะไม่เป็นสองอีกต่อไป แต่เป็นหนึ่งเดียวกัน นักบุญเทเรซากล่าวเช่นกันว่า "ทุกคนที่สวดภาวนาต้องมีเป้าหมายอยู่ที่การทำตามน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้า เขาต้องมั่นใจว่า ภายในความเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างสมบูรณ์นี้ เขาจะได้รับพระพรอันยิ่งใหญ่จากพระเป็นเจ้า และก้าวหน้าในชีวิตภายในอย่างรวดเร็ว"

            มีหลายคนพูดว่า พวกเขาสวดภาวนาแล้วแต่ไม่พบพระเป็นเจ้า เหตุผลเพราะว่า พวกเขาสวดภาวนาด้วยจิตใจที่ยังเต็มไปด้วยความผูกพันฝ่ายโลก นักบุญเทเรซากล่าวว่า "จงตัดใจออกจากสิ่งฝ่ายโลก แสวงหาพระเป็นเจ้าแล้วจะพบ" "พระเจ้าทรงดีต่อคนทั้งปวงที่คอยท่าพระองค์อยู่"(พคค 3:25) ดังนั้นเพื่อเราจะได้พบพระเป็นเจ้าในการภาวนา เราต้องสลัดตัวเราออกจากสิ่งของฝ่ายโลก และพระเป็นเจ้าจะตรัสกับเรา "เราจะพานางเข้าไปในถิ่นทุรกันดารและปลอบใจนาง"  (ฮชย 2:14) นักบุญเกรโกรีกล่าวว่า เพื่อจะพบพระเป็นเจ้านั้น  ความสงบฝ่ายกายนั้นไม่เพียงพอ แต่ต้องมีความสงบฝ่ายจิตใจด้วย วันหนึ่งพระคริสตเจ้าทรงตรัสแก่นักบุญเทเรซาว่า "เราปรารถนาจะพูดกับวิญญาณมากมาย แต่โลกได้ทำเสียงดังภายในจิตใจของพวกเขา พวกเขาจึงไม่ได้ยินเสียงของเรา" นักบุญลอเรนซ์ จัสติเนียน กล่าวว่า เมื่อวิญญาณที่ตัดขาดจากโลกและสวดภาวนา พระเป็นเจ้าจะตรัสกับเขา ทำให้เขาเข้าใจในความรักที่พระองค์ทรงมีต่อเขา วิญญาณของเขาจะร้อนรนไปด้วยความรักของพระองค์ ภายในความสงบแห่งการภาวนา วิญญาณนั้นจะสนทนากับพระเป็นเจ้าอย่างไม่หยุดหย่อน

2. เพื่อจะได้รับพระหรรษทานจากพระเป็นเจ้า

            เราจะต้องรำพึงภาวนา เพื่อจะได้รับพระหรรษทานที่จำเป็นในการก้าวหน้าในหนทางศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อหลีกหนีบาป และเป็นหนทางนำเราสู่ความครบครัน

            ประโยชน์สูงสุดที่เราได้รับในการรำพึงภาวนาคือ การสวดภาวนา พระเป็นเจ้าจะไม่ทรงประทานพระหรรษทานแก่ผู้ใดที่ไม่ภาวนา นักบุญเกรโกรีกล่าวว่า "พระเป็นเจ้าประสงค์ให้เราวอนขอจากพระองค์ ให้เราบังคับพระองค์ และในที่สุดพระองค์จะพ่ายแพ้ต่อการรบเร้าวอนขอของเรา" พระเป็นเจ้าทรงพร้อมรับฟังเราเสมอ แต่ในขณะรำพึงภาวนา  เป็นเวลาที่พระเป็นเจ้าจะสนทนาอยู่กับเรา เวลานี้เองที่พระองค์ทรงปรารถนาจะประทานตามที่เราวอนขอ

            ในการรำพึงภาวนา เราต้องวอนขอความพากเพียรและความรักจากพระองค์ ความพากเพียรจนถึงที่สุดไม่ใช่พระหรรษทานประการเดียวโดด ๆ หากแต่เป็นสายโซ่แห่งพระหรรษทานที่ได้มาโดยการภาวนา หากเราหยุดภาวนาเมื่อใด พระเป็นเจ้าจะหยุดให้ความช่วยเหลือแก่เราเมื่อนั้น และเราจะต้องตาย ผู้ที่รำพึงภาวนาจะพบกับความยากลำบากในการพากเพียรในพระหรรษทานจนวาระสุดท้าย ให้เราระลึกคำกล่าวของพาราฟอกที่ว่า "พระเป็นเจ้าจะทรงประทานความพากเพียรแก่เราได้อย่างไร หากเราไม่วอนขอ?  เราจะวอนขอได้อย่างไรหากเราไม่รำพึงภาวนา? หากปราศจากการภาวนา  เราไม่อาจจะสนิท สัมพันธ์กับพระเป็นเจ้าได้เลย"

            อาศัยความกระตือรือร้นในการภาวนา เราจะได้รับความรักจากพระเป็นเจ้า นักบุญฟรังซิส เดอ ซาลส์ กล่าวว่า ฤทธิ์กุศลทุกประการมาจากความเป็นหนึ่งเดียวในความรักของพระเป็นเจ้า

            ดังนั้นให้เราภาวนาอยู่เสมอ เพื่อวอนขอความพากเพียรและความรัก เพื่อเราจะได้ภาวนาด้วยความวางใจยิ่งขึ้นไปอีก ให้เราระลึกถึงคำสัญญาที่พระคริสตเจ้าทรงให้ไว้แก่เราว่า สิ่งใดก็ตามที่เราวอนขอจากพระบิดาในนามของพระองค์ พระบิดาจะประทานสิ่งนั้นให้ ดังนั้นให้เราภาวนาเพื่อตัวเราเองและเพื่อเห็นแก่พระสิริรุ่งโรจน์ของพระเป็นเจ้า ให้เราภาวนาเพื่อผู้อื่นด้วย  พระเป็นเจ้าจะทรงพอพระทัยยิ่งนัก หากเราวิงวอนต่อพระองค์เพื่อคนบาปและผู้ที่ไม่เชื่อ "ข้าแต่พระเจ้า ขอชนชาติทั้งหลายสรรเสริญพระองค์ ให้ชนชาติทั้งหลายสรรเสริญพระองค์"(สสด 67.5) ให้เราพูดว่า พระเจ้าข้า จงทำให้พวกเขารู้จักพระองค์ เราได้อ่านในประวัติของนักบุญมารี มักดาเลนา แห่งปัสซี พระเป็นเจ้าทรงดลใจให้ท่านภาวนาเพื่อคนบาป และเมื่อภาวนาให้คนบาปแล้ว ก็ขอให้เราภาวนาเพื่อวิญญาณในไฟชำระด้วย

3. เราต้องไม่แสวงหาความบรรเทาฝ่ายวิญญาณในจิตภาวนา

            เราต้องไม่แสวงหาความบรรเทาฝ่ายวิญญาณในจิตภาวนา แต่เพียงเพื่อให้รู้ถึงน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้าเท่านั้น กษัตริย์ซามูเอลตรัสว่า "พระเจ้าข้าขอพระองค์ตรัสเถิด เพราะผู้รับใช้ของพระองค์คอยฟังอยู่" ( 1ซมอ 3:9) พระสวามีเจ้าข้า โปรดให้ข้าพเจ้าทราบถึงพระประสงค์ของพระองค์ เพื่อข้าพเจ้าจะได้กระทำสิ่งนั้น มีบางคนที่รำพึงภาวนาตราบเท่าที่เขาได้รับความบรรเทาฝ่ายวิญญาณ เมื่อใดที่เขาไม่ได้รับความบรรเทานี้ เขาก็หยุดรำพึงภาวนา พระเป็นเจ้าทรงปลอบประโลมวิญญาณที่พระองค์ทรงรักในการรำพึงภาวนาเสมอ ๆ และทรงโปรดให้วิญญาณนั้นได้ลิ้มรสความสุขที่พระองค์ทรงตระเตรียมให้ในสวรรค์เป็นการล่วงหน้า เพราะความรักที่พระองค์ทรงมีต่อเขา สิ่งนี้เป็นสิ่งที่คู่รักฝ่ายโลกไม่อาจเข้าใจได้ ใครที่มีเฉพาะความรักฝ่ายโลกนี้ จะไม่มีความปรารถนาความสุขในสวรรค์เลย หากว่าพวกเขาฉลาด พวกเขาคงจะละทิ้งความสุขสบายฝ่ายโลก และไปขังตัวเองอยู่ในอารามเพื่อสนทนากับพระเป็นเจ้าเป็นการส่วนตัว การรำพึงภาวนาคือการสนทนาระหว่างพระเป็นเจ้าและวิญญาณ ซึ่งวิญญาณจะเข้าหาพระเป็นเจ้าด้วยความรัก ความปรารถนา ความยำเกรง และการวอนขอ พระเป็นเจ้าจะสนทนากับเขาภายในจิตใจ ทำให้เขาล่วงรู้ถึงความดีของพระองค์ ความรักที่พระองค์ทรงมีต่อเขา และสิ่งที่เขาจะสามารถทำให้พระองค์พอพระทัยได้

            ความสุขเช่นนี้ใช่จะมีอยู่เสมอไป เพราะโดยส่วนมากแล้ว วิญญาณที่ศักดิ์สิทธิ์จะประสบกับความแห้งแล้งภายในจิตใจระหว่างรำพึงภาวนา นักบุญเทเรซากล่าวว่า " พระเป็นเจ้าทรงพิสูจน์ผู้ที่พระองค์ทรงรัก โดยอาศัยความแห้งแล้งและการประจญ" ท่านกล่าวเสริมอีกว่า  "ถึงแม้ความแห้งแล้งฝ่ายวิญญาณนี้จะมีอยู่จนตลอดชีวิตของเรา ก็ขออย่าได้ละทิ้งการภาวนา เพราะเมื่อเวลานั้นมาถึง เราจะได้รับรางวัล" ช่วงเวลาแห่งความแห้งแล้งเป็นเวลาที่เราจะได้รับรางวัลอย่างมากมาย และเมื่อเรารู้สึกว่า เราเย็นชาปราศจากความปรารถนาที่จะทำดี และไม่อาจทำความดีได้เลย ให้เราสุภาพถ่อมตนและมอบตัวเราแด่พระเป็นเจ้า และการรำพึงนี้จะนำผลประโยชน์มาให้อย่างมากมาย หากว่าเราไม่รู้ว่าจะภาวนาว่าอย่างไร อย่างน้อยให้เราภาวนาว่า "พระเจ้าข้า โปรดเมตตาข้าพเจ้าด้วย ขอทรงอย่าทอดทิ้งข้าพเจ้า" ให้เราวอนขอจากพระแม่มารี ผู้เป็นที่ลี้ภัยของเราด้วย ความสุขจะมีแก่ผู้ที่ไม่ละทิ้งการรำพึงภาวนาในขณะที่เขากำลังจะหมดหวัง

 

 

             พระจิตเจ้าทรงตรัสว่า "ไม่ว่าจะทำสิ่งใด จงคิดถึงบั้นปลายชีวิต แล้วเจ้าจะไม่ทำบาปเลย" (บสร 7:36) ใครที่รำพึงถึงเรื่องเหตุสุดท้าย คือ  ความตาย  การพิพากษา นรกและสวรรค์ เขาจะไม่ตกในบาปเลย ทว่าความจริงเกี่ยวกับเหตุสุดท้ายนี้ เราไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่จะเข้าใจได้โดยทางวิญญาณ หากวิญญาณใดไม่รำพึงถึงข้อความจริงเหล่านี้แล้ว เขาจะไม่สนใจในเรื่องเหล่านี้และจะยึดติดอยู่กับความสุขสบายฝ่ายเนื้อหนัง นี่เป็นเหตุให้เขาตกอยู่ในความชั่วร้ายและตกนรกในที่สุด คริสตชนทุกคนรู้ดีว่าเขาจะต้องตายและถูกนำไปพิพากษา แต่เป็นเพราะไม่เคยพิจารณาถึงสิ่งเหล่านี้ เขาจึงดำเนินชีวิตเหินห่างจากพระเป็นเจ้า

            ยิ่งกว่านั้น หากว่าเราไม่รำพึงภาวนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความรักที่เรามีต่อพระเป็นเจ้า ความบริบูรณ์ พระคุณต่าง ๆ ที่พระองค์ประทานให้แก่เรา และความรักที่พระองค์ทรงมีต่อเราแล้ว เราย่อมไม่อาจสลัดตนให้พ้นจากความรักต่อสิ่งสร้าง เพื่อไปยึดติดอยู่กับความรักของพระองค์ได้เลย ในขณะรำพึงภาวนา พระเป็นเจ้าทรงโปรดให้เราล่วงรู้ถึงความไร้ค่าของสิ่งฝ่ายโลกและคุณค่าของทรัพย์สมบัติฝ่ายสวรรค์ พระองค์จะทรงจุดดวงใจที่ไม่ดื้อด้านต่อพระองค์ให้ร้อนรนด้วยความรักของพระองค์

            ในที่สุด เราต้องรำพึงถึงเรื่องที่จะทำให้จิตใจเราร้อนรนและเป็นประโยชน์ต่อวิญญาณมากที่สุด หัวข้อรำพึงที่ทำให้เกิดควาปรารถนาที่จะก้าวสู่ความศักดิ์สิทธิ์ครบครันคือ พระมหาทรมานของพระคริสตเจ้า หลุยส์  โบรซีอุส อ้างอิงว่า พระเป็นเจ้าเองทรงเปิดเผยแก่นักบุญหลายองค์ เช่น นักบุญเกอร์ทรูด นักบุญ บริยิต นักบุญเมคมิลด์ เเละนักบุญแคธารีนแห่งซีเอนา พระองค์ตรัสว่า พระองค์ทรงโปรดปรานผู้ที่รำพึงถึงพระมหาทรมานของพระองค์ นักบุญฟรังซิส เดอ ซาลส์ กล่าวว่า  หัวข้อรำพึงที่เราควรรำพึงเป็นประจำก็คือเรื่องพระมหาทรมานขององค์พระมหาไถ่ โอ หนังสือแห่งพระมหาทรมานของพระเป็นเจ้า ในพระมหาทรมานของพระองค์ เราจะเข้าใจถึงความชั่วร้ายของบาป พระเมตตาและความรักของพระเป็นเจ้าที่มีต่อมนุษย์ สำหรับข้าพเจ้าเอง ข้าพเจ้ารู้สึกว่าพระ คริสตเจ้าทรงรับทรมานมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเฆี่ยนตี การสวมมงกุฎหนาม การตรึงกางเขนและอื่น ๆ  รหัสธรรมแห่งความทรมานเหล่านั้นอยู่ต่อหน้าเรา  ทำให้เรามีเรื่องมากมายที่จะรำพึงถึงพระมหาทรมานของพระองค์  เพื่อเราจะได้เร่าร้อนไปด้วยความรักและความกตัญญู

 

1. สถานที่ที่เหมาะแก่การรำพึงภาวนา

            เราสามารถรำพึงภาวนาได้ในทุก ๆ ที่ ไม่ว่าจะเป็นในบ้านหรือนอกบ้านไม่ว่าขณะทำงานหรือเดินทาง จะมีสักกี่คนที่ไม่สามารถทำสิ่งง่ายดายนี้ได้ เพียงแต่ยกจิตใจขึ้นหาพระเป็นเจ้าและรำพึงภาวนา ผู้ที่แสวงหาพระเป็นเจ้าจะพบพระองค์ได้ในทุกแห่งและทุกเวลา

            สิ่งสำคัญในการสนทนากับพระเป็นเจ้าคือ ความสำรวมภายในจิตใจเพราะหากปราศจากสิ่งนี้แล้ว  การรำพึงภาวนานั้นก็ไร้ค่า นักบุญเกรโกรีกล่าวว่า  เราอาจได้รับประโยชน์เพียงเล็กน้อยหรือไม่ได้รับเลย หากว่าเราภาวนาในสถานที่เงียบสงบ แต่ภายในจิตใจยังเต็มไปด้วยความสนใจและความผูกพันฝ่ายโลก ความสำรวมใจคือการที่จิตใจไม่จดจ่อกับสิ่งฝ่ายโลก ทะเลทรายและถ้ำก็ไม่เป็นสิ่งจำเป็นเลยสำหรับผู้ที่อยู่ในชุมนุมชน เมื่อใดก็ตามที่เขามีความสำรวมภายในจิตใจแล้ว ไม่ว่าจะเป็นตามถนนหนทางและสถานสาธารณะต่าง ๆ เขาก็ยังมีความสำรวมภายในจิตใจและร่วมสนทนากับพระเป็นเจ้าได้ ใครก็ตามที่เฝ้าทำตามน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้า เขาจะมีความสำรวมภายในจิตใจ นักบุญแคธารีนแห่งซีเอนาพบว่า พระเป็นเจ้าทรงอยู่กับท่านในขณะที่ท่านวุ่นวายอยู่กับงาน ในบ้านที่บิดามารดามอบแก่ท่านเพื่อทำให้ท่านไม่สามารถทำกิจศรัทธาได้ แต่ท่ามกลางความวุ่นวายนั้น ท่านเต็มไปด้วยความสำรวมภายในจิตใจ และท่านเรียกเวลาขณะนั้นว่า อารามของท่าน และยังคงสนทนากับพระเป็นเจ้าต่อไป

            หากเป็นไปได้ เราควรที่จะหาที่สงบเพื่อรำพึงภาวนา พระคริสตเจ้าเองทรงตรัสว่า "เมื่ออธิษฐานจงเข้าในห้องชั้นใน และเมื่อปิดประตูแล้ว จงอธิษฐานต่อพระบิดาของท่านผู้ทรงเห็นในที่ลี้ลับ" ( มธ 6:6) นักบุญเบอร์นาร์ดกล่าวว่า ความเงียบสงบชักนำวิญญาณให้คิดถึงสวรรค์

            สถานที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการภาวนาคือ วัด พระคริสตเจ้าทรงพอพระทัยยิ่งนักหากเรารำพึงภาวนาอยู่ต่อหน้าศีลมหาสนิท เพราะที่นั่นพระองค์ทรงประทานความสว่างและพระหรรษทานมากมายแก่ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมพระองค์ พระองค์ทรงประทับอยู่ในศีลมหาสนิทไม่เพียงแต่เพื่อเป็นอาหารเลี้ยงวิญญาณเราเท่านั้น แต่ยังเพื่อให้ทุกคนที่ต้องการพบพระองค์ จะสามารถเข้ามาได้ทุกเมื่อ อาจมีผู้แสวงบุญเดินทางไปถึงโลรีโต ซึ่งเป็นที่พระคริสตเจ้าเคยอยู่ และกรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งเป็นสถานที่พระองค์ทรงถูกตรึงกางเขน  แต่เราควรจะศรัทธามากเพียงใดต่อศีลมหาสนิท เมื่อเป็นพระองค์เองที่ประทับอยู่ ณ ที่นั้น  พระองค์ผู้ทรงประทับอยู่ท่ามกลางเราและสิ้นพระชนม์บนเนินกัลวาริโอเพื่อเรา สำหรับกษัตริย์ฝ่ายโลกไม่มีใครที่จะมีโอกาสได้อยู่สนทนาเป็นส่วนตัวได้ แต่พระคริสตเจ้า ผู้ทรงเป็นกษัตริย์เหนือกษัตริย์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นขุนนางหรือคนสามัญ คนร่ำรวยหรือยากจนต่างก็สามารถสนทนากับพระองค์ได้ตามที่ตนต้องการ และในศีลมหาสนิทนี้เองที่พระองค์พร้อมจะรับฟังและปลอบโยนทุกคน

2. เวลาที่เหมาะสมในการรำพึงภาวนา

            เราจะพิจารณาในเรื่องเวลาสองประการ คือ เวลาใดที่เหมาะในการรำพึงภาวนา และควรเวลานานเท่าไหร่ในการรำพึงภาวนา

        1. นักบุญโบนาเวนตูรากล่าวว่า ในตอนเช้าและตอนเย็นถือว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการรำพึงภาวนา แต่นักบุญเกรโกรี แห่งนีสซี กล่าวว่า ตอนเช้าเหมาะที่สุดสำหรับการภาวนา เพราะเมื่อเริ่มต้นกิจการต่างๆ ด้วยการรำพึงภาวนา บาปไม่อาจจะเข้ามาในวิญญาณของเราได้ บุญราศีชาร์ล คาราฟา ผู้ตั้งคณะกรรมกรผู้ศักดิ์สิทธิ์กล่าวไว้ว่า การแสดงออกซึ่งความรักที่ร้อนรนต่อพระเจ้า ในตอนเช้าระหว่างรำพึงภาวนาเพียงพอแล้วที่จะทำให้วิญญาณนั้นร้อนรนตลอดวัน นักบุญเยโรมเขียนไว้ว่า การรำพึงภาวนาในตอนค่ำจำเป็นมาก จงอย่าให้ร่างกายได้พักผ่อนจนกว่าวิญญาณจะชุ่มชื่นขึ้นโดยการรำพึงภาวนา แต่เราสามารถรำพึงภาวนาทุกเวลาและทุกสถานที่ เพียงแต่เรายกจิตใจขึ้นหาพระเป็นเจ้า และแสดงความรักต่อพระองค์

        2. บรรดานักบุญให้ระเบียบเกี่ยวกับเวลาที่เราจะใช้ในการรำพึงภาวนาไว้ว่า ให้เรารำพึงภาวนาทุกเวลาที่เราไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใส่ใจอยู่กับสิ่งจำเป็นในการดำเนินชีวิต นักบุญฟรังซิส บอเจีย ใช้เวลารำพึงภาวนาในวันหนึ่งๆถึงแปดชั่วโมง และอธิการของท่านไม่อนุญาตให้ท่านรำพึงภาวนามากกว่านี้และเมี่อเวลาแปดชั่วโมงนั้นหมดลง ท่านมักจะขออนุญาตให้ท่านได้รำพึงภาวนาต่อไปอีกสักเล็กน้อย ท่านกล่าวว่า "โปรดให้ผมภาวนาต่อสักครึ่งชั่วโมงเถิด" นักบุญฟิลิป เนรี มักจะใช้เวลาตลอดคืนในการรำพึงภาวนา นักบุญ แอนโทนีรำพึงภาวนาตลอดคืน และเมื่อพระอาทิตย์ขึ้น ซึ่งแสดงว่าท่านจะต้องหยุดภาวนา ท่านก็จะวอนขอให้พระอาทิตย์ขึ้นช้าสักหน่อย

        คุณพ่อบัลทาซาร์ อัลวาเรสกล่าวไว้ว่า เมื่อใดที่วิญญาณที่รักพระเป็นเจ้าไม่ได้ภาวนา ก็เหมือนกับเสาหินที่ไม่ได้อยู่ในที่ของมัน ช่างเป็นอันตรายเหลือเกิน ขอให้เราเลียนแบบบรรดานักบุญที่ทุ่มเทเวลาในการรำพึงภาวนาถึงพระเป็นเจ้าเถิด

        ให้เรามาพิจารณาถึงเวลาที่นักบวชควรจะใช้ในการรำพึงภาวนาเพื่อแสวงหาความครบครัน คุณพ่อทอเลสอธิบายว่า รำพึงภาวนาหนึ่งชั่วโมงในตอนเช้าอีกหนึ่งชั่วโมงในตอนกลางวัน และอีกครึ่งชั่วโมงในตอนเย็น แต่อาจจะลดลงได้หากเจ็บไข้ได้ป่วยหรือต้องทำหน้าที่เพราะความนบนอบ หากท่านรู้สึกว่าการรำพึงภาวนาเช่นนี้มากเกินไป ข้าพเจ้าขอแนะนำให้ท่านรำพึงภาวนาอย่างน้อยสองชั่งโมง การรำพึงภาวนาเพียงวันละครึ่งชั่วโมงย่อมไม่เพียงพอสำหรับการก้าวสู่ความครบครันแต่สำหรับผู้เริ่มต้นแล้ว อาจจะเพียงพอ

        ในบางครั้ง พระสวามีเจ้าทรงปรารถนาให้เราละการภาวนาเพื่อจะทำงานบางอย่างเพราะเห็นแก่ความรัก แต่ให้เราจำคำกล่าวของนักบุญลอเรนซ์ จัสติเนียน ที่ว่า "เมื่อความรักเรียกร้องเรา เจ้าสาวของพระคริสตเจ้าก็ออกไปรับใช้พี่น้อง แต่ในระหว่างนั้น เธอยังคงรอคอยให้ถึงเวลาที่จะกลับไปสนทนากับพระองค์ในที่สงัดอย่างเดิม" คุณพ่อวินเซนต์ คาราฟา มหาอธิการคณะเยซูอิต ใช้เวลาสั้น ๆ ในการรำพึงภาวนาเท่าที่ท่านจะทำได้

        การรำพึงภาวนาจะเป็นสิ่งที่น่าเบื่อหน่ายสำหรับผู้ที่ยึดติดอยู่กับโลก แต่จะไม่เป็นเช่นนี้สำหรับผู้ที่รักพระเป็นเจ้า โอ การสนทนากับพระเป็นเจ้าจะไม่เป็นที่ขมขื่นหรือเจ็บปวดเลยสำหรับผู้ที่รักพระองค์ "เมื่อสนทนากับพระองค์ ข้าพเจ้าจะไม่รู้สึกขมขื่นใจเลย เมื่ออยู่กับพระองค์ ข้าพเจ้าก็ปราศจากความทุกข์ระทม มีแต่ความยินดีและเกษมเปรมปรีดิ์เท่านั้น" (ปชญ 8: 16) นักบุญ ยอห์น คริมาคุส กล่าวว่า การรำพึงภาวนาคือการสนทนาอย่างสนิทสนมและเป็นหนึ่งเดียวกับพระเป็นเจ้า นักบุญคริสซอสโตมกล่าวว่า ในการรำพึงภาวนา วิญญาณจะพูดคุยกับพระเป็นเจ้า และพระเป็นเจ้าจะพูดคุยกับวิญญาณนั้น ชีวิตของผู้ศักดิ์สิทธิ์ที่รักการภาวนาและสลัดตนเองออกจากความสุขฝ่ายโลกทั้งมวล ชีวิตของเขาจะไม่มีความขมขื่นเลย หากไม่เชื่อก็ทดลองดูเถิด แล้วท่านจะพบว่า พระเป็นเจ้าทรงเมตตาแก่ผู้ที่ละทิ้งทุกอย่างเพื่อจะสนทนากับพระองค์เสมอ "ขอเชิญชิมดูแล้วจะเห็นว่า พระเจ้าประเสริฐ" (สดด 34:8) เราไม่ได้รำพึงภาวนาเพื่อจะได้รับความบรรเทาฝ่ายวิญญาณเท่านั้น แต่เพื่อเราจะได้รู้ว่าพระเป็นเจ้าทรงประสงค์อะไรจากเราและทำให้สละความเห็นแก่ตัว นักบุญยอห์น คริมาคุส กล่าวว่า "เพื่อที่จะเตรียมตัวในการรำพึงภาวนา จงสละน้ำใจของตัวเองเสียก่อน" เพื่อจะเตรียมตัวอย่างดีก่อนรำพึงภาวนา เราจะต้องเสียสละน้ำใจตนเองและกล่าวว่า "พระเจ้าข้า ขอพระองค์ตรัสเถิด เพราะผู้รับใช้ของพระองค์คอยฟังอยู่" (ซมอ 3:9) พระสวามีเจ้าข้า พระองค์ทรงประสงค์ให้ข้าพเจ้าทำสิ่งใด ข้าพเจ้าจะกระทำสิ่งนั้น เราจะต้องกล่าวเช่นนี้ด้วยความตั้งใจจริง เพราะหากปราศจากสิ่งนี้แล้ว พระองค์จะไม่ตรัสสิ่งใดแก่เราเลย

 

การรำพึงแบบจิตภาวนาประกอบด้วย 3 ส่วน คือ

(1)  การเตรียมตัว
(2)  การรำพึง
       และ (3)  การสรุป

I. การเตรียมตัว

            เริ่มต้นด้วยการจัดให้ร่างกายและจิตใจของท่านอยู่ในความสำรวม

             จะละทิ้งความคิดวุ่นวายต่าง ๆ ไว้ที่หน้าประตูก่อนที่ท่านจะเข้ามารำพึงภาวนา โดยกล่าวเช่นเดียวกับนักบุญเบอร์นาร์ดที่ว่า "โอ้ความคิดของฉัน จงรออยู่ที่นี่ก่อน ฉันรำพึงภาวนาเสร็จก่อน และเราค่อยคุยกันใหม่" จงระวังอย่าให้ความคิดล่องลอยไปตามที่มันต้องการ (หากว่าเกิดความคิดวอกแวกขึ้นมา ให้ทำตามคำแนะนำที่จะให้ในหัวข้อที่ 7)

            ท่าที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการภาวนาก็คือ การคุกเข่า แต่หากว่าการคุกเข่าทำให้รู้สึกไม่สะดวกและวอกแวก เราอาจจะนั่งรำพึงตามที่นักบุญยอห์น แห่งไม้กางเขน แนะนำไว้ก็ได้

            การเตรียมตัวมีองค์ประกอบสามส่วนด้วยกันคือ 1. การแสดงความเชื่อว่าพระเป็นเจ้าทรงประทับอยู่  2. การแสดงความสุภาพถ่อมตนและเป็นทุกข์ถึงบาป  3. วอนของความสว่างในการรำพึงภาวนา เราอาจจะกระทำทั้งสามขั้นตอนดังวิธีการต่อไปนี้ :

            การแสดงความเชื่อในการประทับอยู่ของพระเป็นเจ้าและการนมัสการพระองค์

            "พระเจ้าข้า ลูกเชื่อว่าพระองค์ทรงประทับอยู่ ณ ที่นี้ ลูกขอนมัสการพระองค์ด้วยสิ้นสุดจิตใจของลูก" ขอให้เราแสดงความเชื่อของเราอย่างจริงจัง เพราะด้วยความเชื่อมั่นในการประทับอยู่ของพระเป็นเจ้านี้ จะทำให้เราไม่วอกแวกได้โดยง่าย พระคาร์ดินัลคาร์เรกซิโอโล สังฆราชแห่งอเวอร์ซา กล่าวไว้ว่า ผู้ที่วอกแวกในขณะรำพึงภาวนา เป็นเพราะเขาไม่มีความเชื่อถึงการประทับอยู่ของพระเป็นเจ้าอย่างมั่นคงนั่นเอง

            การแสดงความสุภาพและเป็นทุกข์ถึงบาป

            "พระสวามีเจ้าข้า ลูกสมควรอยู่ในนรกเพราะบาปมากมายที่ลูกได้ทำผิดด่อพระองค์ ลูกเป็นทุกข์เสียใจในบาปที่ลูกได้ทำผิดต่อพระองค์ ขอพระองค์โปรดทรงเมตตาแก่ลูกด้วยเทอญ"

            การภาวนาวอนขอความสว่างในระหว่างรำพึงภาวนา

            "พระบิดาเจ้าข้า โดยอาศัยคำเสนอวิงวอนของพระเยซูเจ้าและแม่พระ ขอพระองค์โปรดทรงประทานความสว่างแก่ลูกในการรำพึงในครั้งนี้ เพื่อลูกจะได้รับผลประโยชน์มากมายจากการรำพึงนี้"

            จากนั้น เราจะต้องมอบตัวเราเองแด่แม่พระโดยการสวดบทวันทามารีอา แด่นักบุญโยเซฟ อารักขเทวดา และนักบุญองค์อุปถัมภ์ของเรา

            นักบุญฟรังซิส แห่งซาลส์ กล่าวว่า บทภาวนาเหล่านี้เราจะต้องภาวนาด้วยความร้อนรน แต่ไม่ต้องยืดยาวนัก จากนั้นให้เราเข้าสู่การรำพึงภาวนาเลย


II. การรำพึงภาวนา

            เมื่อเรารำพึงภาวนาเป็นการส่วนตัว เราอาจจะใช้หนังสือประกอบได้ อ่านเพียงสั้น ๆ และหยุดเมื่อรู้สึกว่าสะกิดใจในสิ่งที่อ่าน นักบุญฟรังซิส แห่งซาลส์ กล่าวว่า ให้ทำเหมือนกับผึ้งที่หยุดบนดอกไม้ดอกหนึ่ง ดูดน้ำหวานหมด แล้วจึงค่อยไปที่ดอกอื่น นักบุญเทเรซาใช้หนังสือช่วยในการรำพึงเป็นเวลาถึง 17 ปี ท่านจะอ่านสักเล็กน้อยก่อน จากนั้นก็รำพึงภาวนาในสิ่งที่ท่านได้อ่านมานั้น การรำพึงภาวนาด้วยวิธีเช่นนี้จะเป็นประโยชน์มาก เหมือนกับนกพิราบในขณะดื่มน้ำ เมื่อดื่มเสร็จจะแหงนคอมองขึ้นไปบนท้องฟ้า

            เมื่อเราทำจิตภาวนาเป็นกลุ่ม จะมีคนหนึ่งที่จะอ่านบทรำพึงโดยแบ่งออกเป็นสองตอน ตอนแรกจะอ่านเมื่อเริ่มรำพึงภาวนาภายหลังจากเสร็จภาคการ เตรียมตัว ส่วนบทรำพึงส่วนที่สอง จะอ่านหลังจากครึ่งชั่วโมงผ่านไป หรือหลังจากการเสกศีล หากว่าการรำพึงนั้นทำในระหว่างมิสซา ผู้อ่านบทรำพึงควรอ่านเสียงดัง ช้าและชัดเพื่อให้ทุกคนเข้าใจ

            ให้เราระลึกเสมอว่า ประโยชน์ของการรำพึงภาวนาไม่ได้อยู่ที่การพินิจรำพึง แต่อยู่ที่การแสดงความรู้สึกรัก การวอนขอและข้อตั้งใจ นี่คือผลที่เราจะได้รับจากการรำพึงภาวนา นักบุญเทเรซากล่าวว่า "ความก้าวหน้าทางวิญญาณไม่ได้อยู่ที่การพิจารณามาก แต่อยู่ที่การรักด้วยความร้อนรน และเพราะความรักนี้เองทำให้เราตั้งใจจะทำสิ่งต่าง ๆ มากมายเพื่อพระองค์" ผู้แนะนำวิญญาณหลายท่านกล่าวว่า สำหรับจิตภาวนา การพินิจรำพึงเปรียบได้กับเข็มที่สอยไว้ด้วยด้ายทองคำเพื่อจะร้อย ความรัก การวอนขอ และข้อตั้งใจต่าง ๆ ไว้ด้วยกัน ดังจะอธิบายต่อไปนี้

          1. ความรัก

            ในขณะที่ท่านพินิจรำพึงบทรำพึงและเกิดความรู้สึกที่ร้อนรน ขอให้ท่านยกจิตใจขึ้นหาพระเป็นเจ้าและภาวนาถึงพระองค์ด้วยความสุภาพ ความไว้ใจและขอบพระคุณพระองค์ แต่ที่สุด ขอให้ภาวนาด้ายความเป็นทุกข์ถึงบาปและด้วยความรัก

            การภาวนาแสดงความรัก และแสดงความทุกข์เป็นดังสายโซ่ที่ผูกมัดวิญญาณนั้นไว้กับพระเป็นเจ้า และด้วยความรักอย่างบริบูรณ์นั้นเพียงพอที่จะทำให้บาปต่าง ๆ หมดสิ้นไป "ความรักลบล้างความผิดมากมายได้" (1ปต4:8) พระคริสตเจ้าทรงประกาศว่า พระองค์ไม่อาจจะเกลียดชังวิญญาณที่รักพระองค์ได้เลย "เรารักบรรดาผู้ที่รักเรา" (สภษ 8:17) ครั้งหนึ่งท่านบุญราศี มารี แห่งพระผู้ถูกตรึงกางเขน ได้เห็นภาพนิมิตเป็นรูปลูกโลกที่ล้อมไปด้วยเปลวเพลิง และมีเศษฟางที่ถูกโยนเข้าไปจะถูกเปลวไฟนั้นเผาไหม้จนหมดทันที จากภาพนิมิตนี้เองทำให้ท่านเข้าใจว่า วิญญาณที่รักพระเป็นเจ้าอย่างแท้จริง จะได้รับการยกโทษผิดต่างๆทั้งหมด นอกจากนี้ นักบุญโทมัสยังสอนอีกว่า โดยการแสดงความรักต่อพระเป็นเจ้า เราจะได้รับพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ยิ่งขึ้นไป "กิจการแห่งความรักต่อพระเป็นเจ้าทุกประการทำให้เราได้รับชีวิตนิรันดร์"

การแสดงความรักเราอาจจะภาวนาได้ดังต่อไปนี้

พระเจ้าข้า ลูกรักพระองค์เหนือสิ่งอื่นใด
ลูกรักพระองค์สิ้นสุดจิตใจ
ลูกชื่นชมยินดีในพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์
ลูกปรารถนายิ่งนักที่จะให้ทุกคนรักพระองค์
ลูกปรารถนาในสิ่งที่เป็นน้ำพระทัยของพระองค์
โปรดทำให้ลูกล่วงรู้ถึงน้ำพระทัยของพระองค์ พระองค์ทรงประสงค์ให้ลูกทำสิ่งใด ลูกจะกระทำสิ่งนั้น

โปรดกระทำแก่ลูกตามน้ำพระทัยของพระองค์เถิด

            ในการรำพึงภาวนา ไม่มีการแสดงความรักใดที่เป็นที่พอพระทัยพระเป็นเจ้า เท่ากับการชื่นชมยินดีในพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเป็นเจ้า ความสุขนี้เป็นความสุขที่พระเป็นเจ้าทรงประทานแก่เราในสวรรค์   ดังนั้นเราจึงมีโอกาสได้ชื่นชมในสิ่งที่เราหวังว่าเราจะได้รับในสวรรค์ตั้งแต่ที่เรายังอยู่ในโลกนี้แล้ว

            ให้เรามาพิจารณาถึงคำกล่าวของนักบุญออกัสตินที่ว่า ความทุกข์ทรมานไม่ได้ทำให้ผู้ที่รับทนเป็นมรณสักขี แต่เป็นเพราะเหตุผลที่เขายอมรับทนความทรมานต่างหากที่ทำให้เขาเป็น นักบุญโทมัสสอนว่า ความเป็นมรณสักขีไม่ได้อยู่ที่การรับทรมานและยอมตายเพื่อยืนหยัดในฤทธิ์กุศล เราจึงสรุปได้ว่า ไม่ใช่เฉพาะผู้ที่ยอมรับการทรมานและความตายเพื่อความเชื่อเท่านั้นที่จะเป็นมรณสักขี  แต่เป็นทุกคนที่ยอมตายเพื่อทำตามน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้า และเป็นที่สบพระทัยพระเป็นเจ้า ที่จะเป็นมรณสักขี เพราะการเสียสละตนเองเพื่อทำตามน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้า โดยเห็นแก่ความรักต่อพระองค์นั้น เป็นฤทธิ์กุศลที่น่าสรรเสริญสูงสุด ดังนั้นให้เรามีความตั้งใจที่จะทำตามน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้าเสมอ  ไม่ว่าจะเป็นการยอมรับความตายและความทุกข์ต่าง ๆ หากว่าสิ่งนั้นเป็นไปตามพระญาณสอดส่องของพระเป็นเจ้า ดังตัวอย่างของนักบุญ มักดาเลนา ทุกครั้งที่ท่านสวดบทสิริพึงมี ท่านจะก้มศีรษะลง เหมือนกับว่าพร้อมที่จะรับดาบของเพชฌฆาตเสมอ

            จงระลึกอยู่เสมอว่า เรากำลังกล่าวถึงการรำพึงภาวนา ดังนั้นหากว่าใครที่รู้สึกว่า ในบางครั้งตนเองได้สนิทสัมพันธ์กับพระเป็นเจ้า ได้รับพระคุณพิเศษโดยไม่ได้พินิจรำพึงถึงข้อความเชื่อเลย เขาไม่ควรที่จะคิดสิ่งอื่น นอกจากลิ้มรสความสุขที่พระเป็นเจ้าทรงโปรดประทานให้แก่เขาเป็นพิเศษ เขาควรจะรวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระเป็นเจ้า และไม่จำเป็นที่จะต้องฝืนความรู้สึกเพื่อพินิจถึงข้อรำพึงอื่น ๆ อีกต่อไป เพื่อเขาจะได้ก้าวข้ามขั้นการพินิจรำพึง ไปสู่การแสดงความรักความรู้สึกต่อพระองค์ สำหรับผู้ที่คุ้นเคยกับการรำพึงภาวนาโดยจิตภาวนาแล้ว ควรที่จะอยู่ในอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าที่จะใช้การพินิจรำพึง


        2. การวอนขอ

            ในการรำพึงภาวนา การวอนขอสิ่งต่างๆ จากพระเป็นเจ้า จะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากที่สุดที่เราจะได้จากการรำพึงนั้น  ให้เราวอนขอพระหรรษทาน คือ ความสว่าง ข้อตั้งใจ ความพากเพียร และสิ่งอื่น ๆ จากพระเป็นเจ้า และเหนือสิ่งอื่นใด ให้เราวอนขอความรักอันศักดิ์สิทธิ์จากพระองค์ด้วยความสุภาพถ่อมตนและวางใจ นักบุญฟรังซิส แห่งซาลส์ กล่าวว่า หากเราได้รับความรักจากพระเป็นเจ้า เราก็ได้รับพระหรรษทานทุกประการ เพราะวิญญาณที่รักพระเป็นเจ้าด้วยสิ้นสุดจิตใจจะไม่ทำให้พระเป็นเจ้าเคืองพระทัยแม้แต่น้อย และจะทำให้พระองค์พอพระทัยตลอดเวลา

            เมื่อท่านมีความรู้สึกแห้งแล้งและมืดมนในขณะรำพึงภาวนา ไม่สามารถที่จะรำพึงภาวนาต่อไปได้เลย ขอให้ท่านภาวนาว่า

            "พระเยซูเจ้าข้า โปรดทรงเมตตาต่อข้าพเจ้า โปรดทรงเสด็จมาช่วยเหลือข้าพเจ้า" และการรำพึงภาวนาในสภาพการณ์เช่นนี้จะทำให้ท่านได้รับผลประโยชน์มากมาย

            บุญราศี ปอล เซจเนรี กล่าวไว้ว่า นับแต่ที่ท่านเรียนเทวศาสตร์มา ท่านใช้เวลาระหว่างรำพึงภาวนาในการพินิจรำพึงและแสดงความรักต่อพระเป็นเจ้าแต่ "พระเป็นเจ้าทรงเปิดตาของข้าพเจ้า และทำให้ข้าพเจ้ารู้ว่า ต้องภาวนาวอนขอพระองค์ และหากมีสิ่งใดที่เป็นคุณความดีในตัวข้าพเจ้า ข้าพเจ้าถือว่าสิ่งเหล่านั้นมาจากพระเป็นเจ้า" ท่านจะทำเช่นนี้หรือเปล่า? จงวอนขอพระหรรษทานจากพระเป็นเจ้า ในนามของพระคริสตเจ้า และท่านจะได้รับสิ่งที่ท่านปรารถนา พระสวามีเจ้าทรงสัญญาว่า "เราขอกล่าวแก่ท่านว่า หากท่านขอสิ่งใดจากพระบิดาเจ้า ในนามของเรา พระบิดาเจ้าจะทรงประทานให้ตามที่ท่านวอนขอ"

            จิตภาวนานั้นจะต้องประกอบไปด้วยการภาวนาแสดงความรักและการวอนขอ ดังนั้น บุญราศีมารีแห่งพระผู้ถูกตรึงกางเขน ประกาศในขณะที่เข้าฌานอยู่ว่า จิตภาวนาเป็นดังการหายใจของวิญญาณ เมื่อหายใจเข้า ก็เหมือนกับเราวอนขอพระหรรษทานจากพระเป็นเจ้า และเมื่อเราแสดงความรักต่อพระองค์ก็เป็นดังการหายใจออก

          3. ข้อตั้งใจ

            ก่อนที่จะจบการรำพึงภาวนา เราควรจะมีข้อตั้งใจ เช่นว่า เราจะหลีกเลี่ยงความผิดบกพร่องที่เราทำบ่อย ๆ หรือฝึกฤทธิ์กุศลใดฤทธิ์กุศลหนึ่ง เช่น การอดทนต่อการรบกวนของผู้อื่น การเชื่อฟังอธิการ หรือการทำพลีกรรมบางอย่าง เราจะต้องเสนอข้อตั้งใจนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก จนกว่าเราจะเห็นว่าเราได้ขจัดความบกพร่องประการนั้นหรือฝึกฤทธิ์กุศลประการนั้นได้แล้ว หลังจากกำหนดข้อตั้งใจแล้วให้หาโอกาสนำมาปฏิบัติทันที และก่อนที่จะจบการรำพึง เราควรจะรื้อฟื้นคำปฏิญาณหรือสัญญาที่ได้ทำไว้กับพระเป็นเจ้า การรื้อฟื้นนี้จะเป็นที่พอพระทัยของพระเป็นเจ้า ทำให้เราได้รับพระคุณ ทำให้เรามีความพากเพียรและก้าวหน้าในพระหรรษทาน


III. การลงท้ายการรำพึง

             การลงท้ายการรำพึงประกอบด้วยสามส่วนดังนี้

            1. ขอบคุณพระเป็นเจ้าสำหรับความสว่างที่พระองค์ทรงโปรดประทานให้

            2. แสดงความตั้งใจที่จะทำตามข้อตั้งใจให้สำเร็จ

            3. วอนขอพระหรรษทานจากพระเป็นเจ้า เพื่อเราจะมีความซื่อสัตย์ต่อพระองค์เสมอไป ให้เราวอนขอโดยอาศัยพระเยซูเจ้าและแม่พระ

             เมื่อจะจบการรำพึงภาวนา ขอให้เราอย่าลืมฝากวิญญาณในไฟชำระและคนบาปไว้ในการดูแลของพระเป็นเจ้า นักบุญยอห์น คริสซอสโตม กล่าวว่า ไม่มีสิ่งใดที่จะแสดงความรักที่เรามีต่อพระคริสตเจ้าได้ร้อนรน เท่ากับการฝากบรรดาพี่น้องของเราไว้ในความดูแลของพระองค์

นักบุญฟรังซิส แห่งซาลส์ กล่าวว่า เมื่อจะจบการรำพึงภาวนา ให้เรานำดอกไม้ติดตัวเราไปด้วย เพื่อเราจะได้กลิ่นดอกไม้นั้นตลอดวัน และเตือนให้เราระลึกถึงการรำพึงภาวนาของเรา เพื่อเราจะได้ร้อนรนตลอดวันนั้น

            บทอุทานสั้น ๆ ซึ่งพระเป็นเจ้าทรงพอพระทัยยิ่งนักก็คือ บทอุทานแห่งความรัก ความตั้งใจดีและการถวายตัวเราแด่พระองค์ ขอให้เราอย่าได้ลงมือทำการใดโดยไม่ได้มอบถวายกิจการนั้นแด่พระเป็นเจ้าก่อน และอย่าให้เวลาแม้สักสิบห้านาทีผ่านไปโดยที่เราไม่ได้ยกจิตใจขึ้นหาพระเป็นเจ้า นอกจากนั้น ในเวลาที่เราว่างจากการงาน เช่น ขณะที่รอนัด เดินเล่นในสวน หรือนอนป่วยอยู่บนเตียง ให้เราร่วมจิตใจของเราเป็นหนึ่งเดียวกับพระเป็นเจ้า ความเงียบสงบก็มีความจำเป็นมาก เราจะรักษาความรู้สึกที่ดีที่เราได้รับในระหว่างการรำพึงภาวนาได้ โดยอาศัยความเงียบสงบและการระลึกถึงการประทับอยู่ของพระเป็นเจ้า

 

1. การวอกแวกในการภาวนา

            หลังจากที่เราเตรียมตัวสำหรับการรำพึงภาวนา ตามที่ได้แนะนำในข้างต้น หากเราวอกแวกเมื่อใด อย่าได้วุ่นวายใจ หรือพยายามที่จะขับไล่มันอย่างหุนหันพลันแล่น แต่ให้เราขจัดมันออกไปด้วยความสงบและหันกลับไปหาพระเป็นเจ้า

            เราจะระลึกอยู่เสมอว่า ปิศาจพยายามอย่างหนักในการรบกวนเราในขณะรำพึงภาวนาเพื่อให้เราละทิ้งการรำพึงภาวนา จงรู้ไว้เถิดว่า หากใครละทิ้งการภาวนาเพราะเกิดความวอกแวก เขาทำให้ปิศาจดีใจยิ่งนัก คัสเซียนกล่าวว่า เป็นไปไม่ได้ที่เราจะไม่วอกแวกเลยในระหว่างภาวนา แต่ไม่ว่าเราจะวอกแวกมากเพียงใดขอให้เราอย่าได้ละทิ้งการรำพึงภาวนา นักบุญฟรังซิส แห่งซาลส์ กล่าวว่า หากในระหว่างรำพึงภาวนา  เราไม่ได้ทำสิ่งใดเลย นอกจากพยายามขจัดความวอกแวกและการประจญ เราก็ได้รำพึงภาวนาอย่างดีแล้ว นักบุญโทมัสสอนว่า การวอกแวกโดยไม่ตั้งใจ ไม่ทำให้ผลประโยชน์ที่จะได้รับจากจิตภาวนาลดน้อยไปเลย  

            ในที่สุด เมื่อเรารู้ว่าเราวอกแวกไปโดยความตั้งใจ ขอให้เราหยุดความบกพร่องนั้น ขจัดความวอกแวกนั้นเสีย และรำพึงภาวนาต่อไป

2. ความแห้งแล้งในการภาวนา

            ความเจ็บปวดที่วิญญาณได้รับมากที่สุดในการภาวนาเกิดจาก การที่วิญญาณนั้นรู้สึกว่าตนเองไม่มีความร้อนรน เบื่อหน่ายและไม่มีความรู้สึกรักพระเป็นเจ้าเลย ความรู้สึกนี้จะทำให้เกิดความกลัวว่า ถูกพระเป็นเจ้าลงโทษเพราะบาปของตน พระเป็นเจ้าทรงทอดทิ้งเขา และปล่อยให้ตกอยู่ในความมืดมน เขาไม่รู้ว่าจะทำประการใดดี รู้สึกว่าไม่มีหนทางใดที่เขาจะแก้ไขได้เลย

            เมื่อวิญญาณหนึ่งปรารถนาที่จะก้าวหน้าในชีวิตภายใน พระเป็นเจ้าจะทรงประทานความบรรเทาใจมากมายแก่เขา เพื่อชักนำเขาให้ออกจากความสุขฝ่ายโลก แต่หลังจากนั้นเมื่อพระองค์เห็นว่าเขาอยู่ในหนทางแห่งชีวิตภายในดีแล้ว พระองค์จะปล่อยเขาลง เพื่อพิสูจน์ความรักของเขา และจะได้รู้ว่าเขารับใช้และรักพระเป็นเจ้าโดยไม่หวังผลตอบแทนหรือไม่ มีบางคนเมื่ออยู่ในสภาพความแห้งแล้งฝ่ายวิญญาณก็คิดว่าพระเป็นเจ้าทรงทอดทิ้งเขาแล้ว หรือคิดว่าตนไม่เหมาะที่จะดำเนินในหนทางแห่งชีวิตจิต จึงละทิ้งการรำพึงภาวนาและสูญเสียทุกสิ่งทุก อย่างที่ตนได้รับมา

            เพื่อจะรำพึงภาวนาต่อไป เราจะต้องต้านทานการประจญที่จะทำให้เราเพิกเฉยในการรำพึงภาวนาในยามที่เราเกิดความแห้งแล้งฝ่ายวิญญาณ นักบุญเทเรซาให้คำแนะนำที่ดีแก่เราในเรื่องนี้ว่า "ปิศาจรู้ดีว่า มันไม่อาจจะชนะวิญญาณที่พากเพียรในการรำพึงภาวนาได้" ท่านกล่าวอีกว่า "ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าพระสวามีเจ้าจะทรงนำวิญญาณที่พากเพียรในการรำพึงภาวนาไปสู่พระราชัยสวรรค์ ถึงแม้ว่าวิญญาณจะมีบาปมากมาย" และ "ใครที่ไม่หยุดรำพึงภาวนาจะสามารถไปสู่เป้าหมายของตนได้" ท่านนักบุญสรุปในตอนท้ายว่า "พระสวามีเจ้าทรงทดลองผู้ที่พระองค์ทรงรัก โดยอาศัยความแห้งแล้งฝ่ายวิญญาณและการประจญล่อลวง ถึงแม้ว่าเราจะรู้สึกแห้งแล้งฝ่ายวิญญาณจนตลอดชีวิต ก็ขออย่าได้หยุดรำพึงภาวนา และเมื่อเวลานั้นมาถึง เราจะได้รับรางวัลมากมาย"

            นักบุญโทมัสกล่าวว่า กิจศรัทธาไม่ได้อยู่ที่ความรู้สึก แต่อยู่ที่ความปรารถนาและความตั้งใจที่จะทำตามน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้า พระเยซูเจ้าทรงรำพึงภาวนาในสภาพของความแห้งแล้งและความเบื่อหน่ายฝ่ายวิญญาณเมื่ออยู่ในสวนมะกอก แต่เป็นการรำพึงภาวนาที่เต็มไปด้วยความร้อนรนและได้รับกุศลมากมายที่สุด "พระบิดาเจ้าข้า ขอให้ทุกอย่างเป็นไปตามน้ำพระทัยของพระองค์ไม่ใช่ของข้าพเจ้า"

            จงอย่าหยุดรำพึงภาวนาเมื่ออยู่ในสภาพความแห้งแล้งฝ่ายวิญญาณ ถึงแม้ว่าความแห้งแล้งฝ่ายวิญญาณจะยิ่งใหญ่สักปานใด จงวอนขอเสมอขณะรำพึงภาวนา  แม้จะดูเหมือนว่าเรากำลังรำพึงภาวนาโดยปราศจากความเชื่อและไร้ผลก็ตาม หากเพียงแต่ภาวนาว่า "พระเยซูเจ้าข้า โปรดทรงเมตตาต่อข้าพเจ้า" จงภาวนาและอย่าสงสัยว่า พระเป็นเจ้าจะทรงรับฟังหรือประทานตามที่ท่านขอหรือไม่

            จงอย่าได้แสวงหาความสุขหรือความพึงพอใจในการรำพึงภาวนา แต่รำพึงภาวนาเพื่อให้เป็นที่พอพระทัยและเรียนรู้ถึงน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้าเท่านั้น ดังนั้นจงรำพึงภาวนาอยู่เสมอ เพื่อท่านจะหยั่งรู้น้ำพระทัยของพระองค์ และพระองค์จะทรงประทานพละกำลังให้แก่ท่านในการทำตามน้ำพระทัยของพระองค์ ในการรำพึงภาวนา เราจะต้องแสวงหาแต่เพียงความสว่างเพื่อจะรู้ถึงน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้า และวอนขอพละกำลังเพื่อจะทำตามน้ำพระทัยนั้น

ภาวนา

            พระเยซูเจ้าข้า พระองค์ทรงทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้มนุษย์รักพระองค์  พระองค์ทรงลงมาบังเกิดเป็นมนุษย์ ดำเนินชีวิตที่เต็มไปด้วยความทุกข์ทรมานถึง 33 ปี และสิ้นพระชนม์อย่างน่าบัดสีที่สุด พระองค์ทรงปรารถนาที่จะประทับอยู่ในศีลมหาสนิท เพื่อเป็นอาหารเลี้ยงวิญญาณของข้าพเจ้าทั้งหลาย แต่พระองค์กลับได้รับแต่การหมิ่นประมาท แม้แต่จากคริสตชนเองก็ยังรักพระองค์น้อยเหลือเกิน ช่างน่าสมเพชเหลือเกินที่ข้าพเจ้าก็อยู่ในหมู่คนอกตัญญูเหล่านั้นด้วย ข้าพเจ้าเฝ้าแต่แสวงหาความสุขใส่ตัวโดยไม่คำนึงถึงพระองค์และความรักที่พระองค์ทรงมีต่อข้าพเจ้า ข้าพเจ้ามองเห็นบาปผิดอันมากมายของข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้ารักพระองค์ ข้าพเจ้าจะยอมตายสักร้อยครั้งเพื่อที่จะไม่หยุดรักพระองค์ ข้าพเจ้าขอขอบพระคุณสำหรับความสว่างที่พระองค์ทรงประทานให้แก่ข้าพเจ้า โปรดประทานพละกำลังแก่ข้าพเจ้า เพื่อข้าพเจ้าจะได้รักพระองค์เสมอไป ขอพระองค์โปรดทรงรับดวงใจที่น่าสมเพชนี้ที่รักพระองค์ ซึ่งเคยปฏิเสธพระองค์มาครั้งหนึ่ง แต่บัดนี้กลับร้อนรนในความรักของพระองค์

            โอ้พระแม่มารี พระมารดาพระเจ้า โปรดเสด็จมาช่วยเหลือข้าพเจ้า ข้าพเจ้าวางใจในคำวิงวอนของพระแม่