Skip to main content

วิวัฒนาการของ "การศึกษาคาทอลิก"

ในประวัติศาสตร์โลก

สังคายนาแห่งเมืองเตรนท์ (Council of Trent: Fresco by Pasquale Cati da Iesi, 1588. Alltemps Chapel, Santa Maria in Trastevere, Rome)

บทที่ 07 "การตอบโต้ ผู้ปฏิรูปศาสนา" (Counter-Reform)


การปฏิรูปที่นำโดยมาร์ตินลูเธอร์ (Martin Luther 1483-1546) ส่วนหนึ่ง เป็นปฏิกิริยาต่อการใช้อำนาจอย่างอยุติธรรมของพระศาสนจักรในสมัยนั้น แต่การปฏิรูปนี้กลับนำมาซึ่งความแตกแยก ความขัดแย้ง โดยเฉพาะในเรื่องของข้อคำสอนและความเชื่อในพระศาสนจักร และทางพระศาสนจักรเองก็ได้ตอบโต้การกระแสของการปฏิรูปนี้โดยมีการจัดสังคายนาแห่งเมืองเตรนท์ ระหว่างปี ค.ศ. 1545 – 1563 (Council of Trent) หลักๆแล้ว เนื้อหาของสังคายนามีอยู่ด้วยกันสามเรื่องคือ ประการแรก เรื่องอำนาจของพระศาสนจักร ประการที่สอง เรื่องข้อขัดแย้งทางเทววิทยา และประการสุดท้าย เรื่องการศึกษาแบบคริสตชน ในส่วนเรื่องการศึกษา ช่วงการประชุมที่ยี่สิบสามของสังคายนา ได้มีการเรียกร้องให้จัดตั้งสถาบันเพื่อเตรียมตัวผู้เป็นพระสงฆ์ให้ถูกต้องเหมาะสม บรรดาผู้ร่วมประชุมได้อ้างอิงถึงรูปแบบการจัดการศึกษาของโรงเรียนอารามหลวง (cathedral schools) โดยเฉพาะที่เมืองเวอโรนา (Verona) และแกรนนาดา (Granada) ตามมติของบรรดาพระสังฆราชของประเทศอังกฤษ (English National Synod 1556) ซึ่งมีการระบุบไว้ว่า เป็นหน้าที่ของบรรดาพระสังฆราชที่จะต้องดูแลและให้ทุนการศึกษาแก่สถาบันสำหรับผู้ที่เตรียมตัวเป็นพระสงฆ์ ในเขตสังฆมณฑลของท่าน

      จากผลของการประชุมข้างต้น ได้ถือกำเนิดเอกสารสำคัญๆ คือ คำสอนของโรมันคาทอลิกและคู่มือ-ข้อแนะนำเพื่อใช้อ้างอิงสำหรับบรรดาผู้อภิบาลและเจ้าวัด (Catechismus ex decretis Concilii Tridentini ad Parochos or Catechismus Romanus, or the Roman Catechism, a manual and instruction) ชุดหนังสือดังกล่าวจัดพิมพ์เป็นดังกล่าวมีอยู่สองเวอร์ชั่นด้วยกัน แบบแรกเป็นภาษาละตินและแบบที่สองเป็นภาษาท้องถิ่น ภาษาละตินสำหรับสำหรับผู้ที่เตรียมตัวเป็นพระสงฆ์ และที่พิมพ์เป็นภาษาท้องถิ่นเพื่อให้คนทั่วไป และเพื่อใช้สอนบรรดาเด็กๆ แต่เป็นเวอร์ชันที่เป็นภาษาละตินจะมีความสมบูรณ์กว่ามาก ต่อมาในปี 1566 แต่พระสันตะปาปาปิอุสที่ห้าทรงดำรัสให้มีการแปลทั้งหมดเป็นภาษาอิตาลี สามปีต่อมาหนังสือชุดดังกล่าวก็ถูกแปลเป็นภาษาเยอรมัน ฝรั่งเศส และโปแลนด์ ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากสำหรับผู้อภิบาลและชาวบ้านสัตบุรุษทั่วไป และผลที่ตามมาคือบรรดาพระสังฆราชถูกกระตุ้นให้เอาใจใส่ดูแลงานด้านคำสอนในสังฆมณฑลของท่าน ต่อมาได้มีกลุ่มที่อุทิศตอนด้านการสอนคำสอนคือคณะภารดรภาพแห่งคำสอน (Confraternity of Christian Doctrine) ก่อตั้งโดยชาร์ล บอรโรเมโอ (Charles Borromeo) ในกรุงมิลานในปี ค.ศ. 1571 พระสันตะปาปาปิอุสที่ห้าได้ทรงรับรองสถาณภาพของคณะภารดรภาพนี้ พวกเขามีทั้งพระสงฆ์และสัตบุรุษที่อุทิศตนทำงานกันสมาชิกในครอบครัวเพื่อสอนคำสอนให้กับเด็กๆ งานด้านคำสอนนี้เป็นที่แพร่หลายเป็นอย่างมากโดยเฉพาะที่ฝรั่งเศสและเยอรมนี

ส่งท้าย...

      สังคายนาแห่งเตรนท์อาจถูกมองได้ว่าเป็นการตอบโต้ต่อฝ่ายปฏิรูปโดยพระศาสนจักรโรมันคาทอลิก แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง เนื้อหาของสังคายนาคือการประนีประนอมระหว่างแนวคิดเรื่องปฏิรูปอย่างสุดโต่งกับการสืบสานธรรมประเพณีของพระศาสนจักรคาทอลิก ผลที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเพียงการรวมกันศึกษาแนวคิดด้านเทววิทยาเท่านั้นแต่เพื่อประโยชน์ของงานอภิบาลด้วยเช่นกัน ดังที่บรรดาบิดาแห่งสังคายนาได้ช่วยกันรื้อฟื้นสิ่งที่จำเป็นต่องานอภิบาลโดยรวมของพระศาสนจักร นั้นคือการเน้นด้านการศึกษาสำหรับผู้ฝึกหัดเพื่อรับศีลบวชเป็นสงฆ์ และการสอนคำสอนให้กับสัตบุรุษและคนทั่วไป และผลพวงของการปฏิรูปภายในนี้เอง ทำให้เกิดจิตตารมณ์ใหม่ๆในพระศาสนจักรที่จะเผยแพร่พระศาสนา ทั้งงานด้านการสอนคำสอนและการศึกษาจากคณะนักบวชต่างๆ...

อ้างอิงจาก

John L. Elias, A History of Christian Education: Protestant, Catholic, and Orthodox Perspectives, 1 ed. (United States: Krieger Publishing Company, 2002)

Gordon, Peter, and Denis Lawton. A History of Western Educational Ideas.  Portland, OR: Routledge Falmer, 2002.

H. Jedin, "Council of Trent," in New Catholic Encyclopedia, Second Edition, vol. 14  (Detroit: Thomson Gale, 2002)

M. E. Jegen, "Catechesis III (Reformation)," in New Catholic Encyclopedia, Second Edition, vol. 3  (Detroit: Thomson Gale, 2002)

Father M

Father M

Written by 
บาทหลวง วรวุฒิ สารพันธุ์ C.Ss.R. JCL


Catholic Priest & Canonist
Author & Administrator
Faith4Thai.com

*juris canonici licentiatus
หรือ JCL เป็นปริญญาทางกฏหมายพระศาสนจักร

Email: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
FaceBook: Worawut Saraphan
Iine ID: mcssrsp


book


วิวัฒนาการของ "การศึกษาคาทอลิก"

ในประวัติศาสตร์โลก

บทนำ

“เป็นที่ประจักษ์ในสังคมไทยว่าโรงเรียนคาทอลิกตัวแทนภาพลักษณ์ของงานอภิบาลและการแพร่ธรรมในประเทศไทย ผู้เขียนมีจุดประสงค์ที่จะนำเสนอมุมมองของงานด้านการศึกษาและอบรมคาทอลิก (Catholic education and formation) ที่ไม่ใช่แค่ในโรงเรียนคาทอลิก การศึกษาคาทอลิกมีจุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจจากชีวิตและงานขององค์พระเยซูเจ้าและสืบต่อทางบรรดาอัครสาวกและปิตาจารย์ พันธกิจนี้ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ผ่านกระแสธารแห่งกาลเวลา ไม่ว่าจะเป็นยุคแห่งความรุ่งเรือง หรือความท้าทายและความยากลำบาก จวบจนปัจจุบันพระศาสนจักรยังคงเห็นคุณค่าของงานด้านการศึกษาและอบรมคาทอลิก ทั้งนี้เพื่อจะเป็นเครื่องมือที่นำทุกผู้คนสู่หนทางแห่งความรอดพ้นแห่งวิญญาณ”