Jesus before
C h r i s t i a n i t y
C h r i s t i a n i t y
บทที่ 07 อาณาจักรกับเงินทอง
การแสวงหาเงินทอง เป็นเรื่องตรงข้ามกับการแสวงหาอาณาจักรพระเจ้า เจ้าแห่งเงินตราและพระเจ้า เป็นเจ้านายด้วยกันทั้งคู่ ถ้าท่านรักและปรนนิบัติเจ้านายคนหนึ่ง ก็จําเป็นต้องปฏิเสธเจ้านายอีกคนหนึ่ง (มธ. ๖,๒๔; มก.๔,๑๙) จะประนีประนอมไม่ได้
1. ผู้ที่จะเข้าสวรรค์
มักจะถือกันว่า คําพูดของพระเยซูเกี่ยวกับทรัพย์สินเงินทอง เป็นคําพูดที่แข็งที่สุดในพระวรสาร และคริสตชนโดยทั่วไปมักจะทําให้มันอ่อนลงไปบ้าง ข้อความที่สะดุดใจเรามากคือ อาณาจักรพระเจ้าเป็นอาณาจักรของคนจน หากคนรวยยังคงสภาพอยู่เช่นนั้น ก็ไม่มีส่วนในอาณาจักรพระเจ้า (ลก.๖,๒๐-๒๖) คนรวยเข้าสู่อาณาจักรพระเจ้าไม่ได้ เหมือนกับอูฐลอดรูเข็มไม่ได้(มก.๑๐,๒๕) มาร์โกบอกว่าแม้พวกสาวกก็ยังตะลึง นี่มันอาณาจักรอะไรกัน ? "ถ้าเช่นนั้นใครจะรอดได้? พวกเขาถามกันเอง พระเยซูจ้องมองพวกเขาแล้วพูดว่า สําหรับมนุษย์ก็เป็นไปไม่ได้ แต่สําหรับพระเจ้า ทุกอย่างเป็นไปได้" (มก.๑๐,๒๔-๒๗) พูดอีกนัยหนึ่งคือ ต้องมี "อัศจรรย์" คนรวยจึงจะเข้าอาณาจักรพระเจ้าได้ และอัศจรรย์นี้ไม่ใช่ทําให้คนรวยเข้าได้พร้อมกับทรัพย์สินเงินทอง แต่อัศจรรย์ทําให้คนรวยทิ้งทุกอย่างเพื่อเข้าอาณาจักรของคนจน พระเยซูเชิญหนุ่มเศรษฐี คนหนึ่งให้ทําเช่นนั้น (มก.๑๐,๑๗-๒๒) แต่เขามีความเชื่อในอาณาจักรพระเจ้าน้อยเกินไป และหวังพึ่งเงินทองมากเกินไป อัศจรรย์จึงไม่เกิดขึ้น
ไม่มีที่สําหรับคนรวยในอาณาจักรพระเจ้า ไม่มีรางวัลหรือความบรรเทาใจ (ลก.๖,๒๔-๒๖) ในนิทานเปรียบเทียบเรื่องเศรษฐีกับขอทานที่ชื่อลาซารัส เหตุผลที่เศรษฐีไม่ได้รับรางวัลก็คือเพราะเขาเป็นเศรษฐี และไม่ยอมแบ่งปันความรํ่ารวยให้แก่ขอทาน (ลก.๑๖,๑๙-๓๑) และแค่เรื่องเดียวนี้แหละที่เศรษฐีอยากให้ใครช่วยไปเตือนพี่น้องของตน แต่พี่น้องคนไหนจะไปเชื่อ?
2. ค่าของการเป็นศิษย์
ผู้ที่ปักใจอยู่กับอาณาจักรพระเจ้า และยอมรับค่านิยมของอาณาจักรนี้ ต้องทิ้งทรัพย์สินของตน (มธ.๖,๑๙-๒๑;ลก.๑๒,๓๓-๓๔; ๑๔, ๓๓) พระเยซูต้องการให้พวกศิษย์ทิ้งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ครอบครัวที่ดิน เรือ หรืออวนจับปลา(มก.๑,๑๘-๒๐; ๑๐,๒๘-๓๐; ลก.๕,๑๑) พระเยซูเตือนพวกเขาล่วงหน้าว่าให้นั่งคิดดูก่อนว่าจะไหวไหม (ลก.๑๔,๒๘-๓๓)
นี่มันเป็นอะไรที่มากกว่าการทําบุญทําทาน พระเยซูขอให้แบ่งปันทรัพย์สินทั้งหมด พระเยซูพยายามสอนให้คนรู้จักตัดใจจากทรัพย์สมบัติ ศิษย์ของพระเยซูต้องไม่เป็นห่วงว่า จะเอาอะไรกินเอาอะไรนุ่งห่ม (มธ.๖, ๒๕-๓๓) "ถ้ามีใครมาเอาเสื้อคลุมของท่านไป ก็อย่าหวงเสื้อยาว จงให้แก่ทุกคนที่ขอ และอย่าขอสิ่งที่เขาขโมยไปกลับคืนมา...จงให้ยืมโดยไม่ต้องหวังได้คืน" (ลก.๖,๒๙-๓๕) "เมื่อท่านจัดงานเลี้ยง จงเชิญคนจน คนพิการ คนง่อย คนตาบอด พวกเหล่านี้จะไม่สามารถตอบแทนท่านได้ เมื่อนั้นแหละท่านเป็นผู้มีบุญ..." (ลก.๑๔,๑๓-๑๔)
พระเยซูพยายามที่จะอบรมสั่งสอนให้ประชาชนรู้จักแบ่งปันสิ่งของกับทุก ๆ คน ความพยายามนี้แสดงออกมาได้ดีที่สุดในเรื่องอัศจรรย์ทวีปังและปลา (มก.๖,๓๕-๔๔) ผู้เขียนพระวรสารทั้ง ๔ และคริสตชนรุ่นแรกๆ ต่างก็ตีความหมายเหตุการณ์นี้ว่าเป็นอัศจรรย์แห่งการทวี แม้จะไม่ใช้คํานี้โดยตรงก็ตาม ตามปรกติพระวรสารจะดึงความสนใจของเราเข้าหาเรื่องอัศจรรย์โดยใช้คําพูดทํานองว่า ประชาชนต่างประหลาดใจ ตะลึง หรือรู้สึกทึ่ง แต่ในเรื่องนี้ไม่มีการพูดอะไรทํานองนี้เลย มีแต่พูดว่าพวกศิษย์ไม่เข้าใจ (มก.๖,๕๒;๘,๑๗-๑๘;๘,๒๑) เหตุการณ์นี้มีความหมายลึกกว่านั้น ไม่ใช่อัศจรรย์แห่งการทวี แต่เป็นตัวอย่างแห่งการแบ่งปัน
พระเยซูเทศน์สอนฝูงชนในที่เปลี่ยวแห่งหนึ่ง ถึงเวลาพักกินอาหารก็พบว่าบางคนนําอาหารติดตัวมาด้วย แต่บางคนไม่ได้นํามา พระเยซูกับสาวกมีปัง ๕ ก้อนกับปลา ๒ ตัว สาวกเสนอแนะว่าให้ปล่อยฝูงชนไปหาซื้อกินเอง แต่พระเยซูบอกว่าให้สาวกจัดหาให้ทุกคนกิน สาวกไม่เห็นด้วยแต่ก็ช่วยจัดคนให้นั่งเป็นกลุ่มๆ แล้วพระเยซูเอาปังกับปลาที่มีอยู่บอกให้สาวกเอาไปแบ่งให้คนอื่น พระเยซูอาจจะได้ชักชวนให้คนที่นําอาหารมาแบ่งให้คนที่ไม่มี หรือไม่เช่นนั้น พอคนที่มี เห็นพระเยซูแบ่งอาหารให้คนอื่น ก็ทําตามอย่าง
"อัศจรรย์" ก็คือ คนจํานวนมากเลิกเห็นแก่ตัว เลิกหวงสิ่งของที่ตนมี แล้วแบ่งปันด้วยใจกว้างขวาง แล้วทุกคนก็พบว่าอาหารมีเหลือเฟือเก็บเศษได้อีกตั้ง ๑๒ ตะกร้า ของที่เราเอามาแบ่งกัน มักจะดูว่ามัน "ทวีขึ้น"
3. คริสตชนกลุ่มแรก
คริสตชนกลุ่มแรกในเยรูซาเลม พบความจริงเดียวกันนี้ พวกเขาแบ่งปันข้าวของเงินทองให้สมาชิกทุกคนลูกาอาจจะได้วาดภาพกลุ่มคริสตชนกลุ่มนี้ให้เป็นภาพในอุดมคติ มากกว่าสภาพที่เป็นจริงเล็กน้อย แต่นั่นก็หมายความว่า คริสตชนในยุคเริ่มต้นได้เข้าใจเจตนารมณ์ของพระเยซูเป็นอย่างดี
"พวกผู้เลื่อมใสเป็นเจ้าของทุกอย่างร่วมกัน พวกเขาขายทรัพย์สิ่งของที่มีแล้วแจกจ่ายเงินที่ได้มาให้แก่สมาชิกตามความจําเป็นของแต่ละคน...พวกเขาเลี้ยงอาหารกันด้วยความยินดีและใจกว้างขวาง"(กิจการ.๒, ๔๔-๔๖) นี่ไม่ได้หมายความว่าขายทุกสิ่งทุกอย่างจริงๆ อย่างน้อยก็ต้องเก็บเสื้อผ้าของใช้และบ้านที่อาศัยอยู่เอาไว้ จุดสําคัญคือ "ไม่มีใครอ้างตนเป็นเจ้าของสิ่งที่มีอยู่ แต่ถือว่าเป็นเจ้าของร่วมกัน" (กิจการ.๔,๓๒) "ผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดินหรือบ้าน จะขายเสีย แล้วนําเงินที่ได้มาให้แก่บรรดาอัครสาวก แล้วนั้นเงินก็จะถูกแจกจ่ายให้แก่สมาชิกที่ขัดสน" (กิจการ.๔,๓๔-๓๕) เห็นได้ชัดว่าพวกเขาไม่ได้ขายบ้านที่ตนอาศัยอยู่ ไม่ใช่ว่าทุกคนมาอยู่ในบ้านเดียวกัน แต่มีบอกว่าพวกเขาพบกันตามบ้านของคนนี้บ้างคนนั้นบ้าง (กิจการ ๒,๔๖) บ้านที่ขายไปก็คงจะเป็นบ้านที่ให้คนอื่นเช่า นั่นคือขายอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สินที่เป็นส่วนเกิน และไม่ใช่เป็นสิ่งที่จําเป็นเพื่อดําเนินชีวิตอยู่ได้
ในเรื่องของซัคเคียสในพระวรสาร เมื่อซัคเคียสกลับใจ เขาบริจาคครึ่งหนึ่งของทรัพย์สินที่ตนมี และสัญญาจะชดใช้ ๔ เท่าของจํานวนที่ได้โกงผู้อื่น (ลก.๑๙,๘) ทําให้เราเข้าใจว่า การเก็บส่วนหนึ่งไว้เพื่อดํารงชีพก็เป็นของธรรมดา และนี่ก็คือความหมายของการ "ขายทุกสิ่งทุกอย่าง" คือสละทรัพย์สินส่วนเกิน และไม่มุ่งแสวงหาการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน ผลที่ตามมาก็คือ "ไม่มีใครในพวกเขาต้องขัดสน" (กิจการ.๔,๓๔)
4. ท่าทีของพระเยซูต่อคนจน
พระเยซูไม่ได้ยกย่องเทิดเทินความยากจน ตรงกันข้าม พระเยซูพยายามยํ้าว่าอย่าปล่อยให้มีใครขัดสน และเพราะเหตุนี้พระเยซูจึงต่อต้านการหวงทรัพย์สินเงินทอง และแนะนําให้ทุกคนมีใจกว้างและแบ่งปันข้าวของที่มีให้คนอื่น สิ่งนี้เป็นไปได้ก็ต่อเมื่อมีการจัดการเป็นรูปชุมชนหรือกลุ่มชน (community) พระเยซูหวังที่จะให้มีอาณาจักรหรือชุมชนระดับโลกที่มีโครงสร้างและการจัดการแบบที่ว่าจะไม่มีคนจนหรือคนรวย
แรงบันดาลใจของพระเยซูก็คือความสงสารคนจนและคนถูกกดขี่ เมื่อพระเยซูบอกให้หนุ่มเศรษฐีสละเงินทองทั้งหมดนั้น ไม่ใช่เพราะพระเยซูเคร่งครัดในหลักปรัชญาลอย ๆ อะไรบางอย่าง แต่เป็นเพราะพระเยซูสงสารคนจน ความจริงข้อนี้ชัดเจนมากในเรื่องหนุ่มเศรษฐี ที่มีเล่าในวรรณกรรมคู่เคียงพระวรสาร ที่มีชื่อว่า"พระวรสารของชาวฮีบรู" ตอนแรกก็เหมือนกับที่เล่าในพระวรสาร แต่ตอนปลายแตกต่างออกไป "...หนุ่มเศรษฐีเกาศีรษะ เพราะคําพูดนี้ไม่ถูกใจเขา พระเยซูพูดกับเขาต่อไปว่า เจ้าพูดได้อย่างไรว่าเจ้าถือตามพระบัญญัติและคําสอนของประกาศก ในเมื่อมีเขียนไว้ว่า เจ้าจงรักผู้อื่นเหมือนรักตนเอง มองดูซิ พี่น้องหลายคนของเจ้า ลูกหลานของอับบราฮัมด้วยกัน ต้องใช้ผ้าขี้ริ้วมานุ่งห่มและกําลังจะอดตาย ในขณะที่บ้านของเจ้าเต็มไปด้วย ของดีมากมาย และไม่มีอะไรตกไปถึงพวกเขาเหล่านั้นบ้างเลย" (นักพระคัมภีร์ชื่อเจเรไมอัสยืนยันว่า วรรณ กรรมตอนนี้มีหลักฐานสนับสนุนว่าเป็นคําพูดของพระเยซูมากพอๆกับตอนอื่นๆในพระวรสารโดยทั่วไป)
สรุปได้ว่า สังคมไหนที่คนจนต้องทนทุกข์ทรมานในขณะที่คนรวยมีเหลือเฟือ สังคมนั้นเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรมาร พระเยซูไม่ยอมรับผู้ที่ถือกันว่า เป็นคนดีหรือใฝ่ธรรมะแต่ไม่เด็ดขาดในการเลือกเอาพระเจ้าเหนือเจ้าแห่งเงินตรา "เมื่อพวกฟาริสีที่ชอบแต่เงินทองได้ยินสิ่งเหล่านี้ก็หัวเราะเยาะพระเยซู พระเยซูพูดกับพวกเขาว่า คนทั่วไปถือว่าพวกท่านเป็นคนดีมีคุณธรรม แต่พระเจ้าเห็นลึกลงไปในใจของพวกท่าน บางอย่างที่มนุษย์ยกย่อง กลับเป็นที่น่าขยะแขยงสําหรับพระเจ้า" (ลก.๑๖,๑๔-๑๕)
คำถาม
1. อะไรทำให้คนเข้าสวรรค์ยาก ?
2. เราควรมีท่าทีต่อเงินทองอย่างไร ?
3. เราควรมีท่าทีต่อคนจนอย่างไร ?