Jesus before
C h r i s t i a n i t y
C h r i s t i a n i t y
บทที่ 08 อาณาจักรกับเกียรติยศ
ในสังคมสมัยพระเยซู เงินทองเป็นสิ่งสําคัญที่สองรองจากเกียรติยศชื่อเสียง มีผู้กล่าวว่าคนในตะวันออกกลางตั้งแต่โบราณมาถึงปัจจุบันถือว่าชื่อเสียงเป็นสิ่งที่สําคัญที่สุด และหลายคนพร้อมที่จะสละชีวิตตนเอง แต่ไม่ยอมสละชื่อเสียง
1.เกรียติยศและชื่อเสียง
โครงสร้างทางสังคมยึดเอาเกียรติยศชื่อเสียงเป็นเกณฑ์ ไม่ว่าจะพูดหรือทําอะไร จะต้องเอาฐานะหรือตําแหน่งของผู้เกี่ยวข้องเข้ามาพิจารณาด้วย การถูกด่าว่าหรือลบหลู่ดูหมิ่น ถ้ามาจากผู้ใหญ่ ก็เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ถ้ามาจากคนระดับเดียวกัน ก็เป็นสิ่งที่ทําให้อับอายขายหน้าจนแทบจะทนไม่ได้ แต่ถ้ามาจากคนระดับตํ่ากว่าตน ก็จะกลายเป็นเรื่องถึงโลกแตก คนทั่วไปต้องการให้เกียรติยศชื่อเสียงของตนเป็นที่ยอมรับนับถืออยู่เสมอ
ฐานะและเกียรติขึ้นอยู่กับตระกูล ความรํ่ารวย อํานาจหน้าที่ การศึกษาและคุณธรรม และต้องแสดงออกมาในการแต่งกาย ในการใช้สรรพนาม ในการคบค้าสมาคม ในการเชิญแขกกินเลี้ยง ในการเลือกที่นั่งเมื่อมีงานเลี้ยง หรือเมื่อเข้าไปสวดในศาลาธรรม
ฐานะและเกียรติเป็นส่วนหนึ่งของศาสนา และเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตสังคมด้วย แม้พวกยิวที่เคร่งศาสนาที่สุดเช่นชุมชนกุมรัน ก็ยังถือฐานะและขั้นซึ่งมีผลในการให้สิทธิพิเศษต่างๆ และแต่ละคนจะได้รับเกียรติมากน้อยสุดแล้วแต่ฐานะของตน
2. ทัศนคติของพระเยซู
พระเยซูต่อต้านระบบเช่นนี้ พระเยซูคิดว่ามันเป็นรากฐานอย่างหนึ่งของความชั่วร้ายในโลก และอยากเห็นอาณาจักรที่ไม่มีความแตกต่างกันในเรื่องฐานะและเกียรติยศ "เป็นบุญของท่านเมื่อคนเกลียดท่าน ขับไล่ท่าน ด่าว่าและกล่าวหาว่าท่านเป็นอาชญากร..."(ลก.๖,๒๒) "วิบัติจะเกิดแก่ท่านเมื่อโลกชมเชยสรรเสริญท่าน..." (ลก.๖,๒๖)
พระเยซูวิจารณ์พฤติกรรมของพวกฟาริสีและพวกคัมภีราจารย์ มากกว่าวิจารณ์คําสอนของพวกเขา (มธ.๒๓,๑-๓) เพราะพวกนี้สนใจแต่จะให้คนอื่นเคารพยกย่องให้เกียรติ "ไม่ว่าพวกนี้จะทําอะไรก็มุ่งแต่จะให้คนอื่นสนใจ...ชอบเลือกนั่งที่มีเกียรติในงานเลี้ยง และเลือกแถวหน้าในศาลาธรรม ชอบให้คนคารวะในสถานที่สาธารณะและชอบให้คนอื่นเรียกตนว่าอาจารย์" (มธ.๒๓,๕-๗; มก.๑๒,๓๘-๔๐; ลก.๑๑,๔๓;๑๔,๗-๑๑)
การปฏิบัติศาสนกิจและการทําบุญให้ทานก็เช่นเดียวกัน พวกนี้ทําเพื่อจะได้รับคําชมเชย (มธ.๖,๑-๖;๖,๑๖-๑๘) พระเยซูถือว่านี่ไม่ใช่คุณธรรมแต่เป็นการหลอกลวง พระเยซูเปรียบพวกฟาริสีและคัมภีราจารย์ว่าเป็นเหมือนที่ฝังศพทาสีขาว ภายนอกก็ดูดีแต่ภายในมีซากศพ (มธ.๒๓, ๒๗-๒๘) พวกเขาถือพระบัญญัติเพียงภายนอก เจตนาที่แท้จริงคือหวังให้คนสรรเสริญ (ลก.๑๘,๙-๑๔)
คนหลอกลวงเช่นนี้ได้รับรางวัลแล้ว นั่นคือได้รับคํายกย่องและชื่อเสียง และพวกนี้จะไม่ได้เข้าสู่อาณาจักรพระเจ้า (มธ.๕,๒๐) คือจะเข้าร่วมขบวนการกับพระเยซูไม่ได้ ใครก็ตามที่สนใจแต่เกียรติและความยิ่งใหญ่ ก็ถือค่านิยมต่างไปจากที่พระเยซูตั้งไว้
3. ผู้ที่จะเป็นใหญ่ในอาณาจักรพระเจ้า
"พวกสาวกเข้ามาหาพระเยซูและถามว่า ใครจะเป็นใหญ่ที่สุดในอาณาจักรพระเจ้า? พระเยซูเรียกเด็กคนหนึ่งเข้ามายืนอยู่ต่อหน้าทุกคนแล้วพูดว่า เราขอประกาศว่า ถ้าพวกท่านไม่เปลี่ยนเป็นเหมือนเด็กๆ พวกท่านจะเข้าอาณาจักรพระเจ้าไม่ได้ ใครที่ทําตัวเป็นเหมือนเด็กเล็ก ๆ เช่นนี้จะเป็นใหญ่ที่สุดในอาณาจักรพระเจ้า" (มธ.๑๘,๑-๔)
เด็กคนนั้นเปรียบเหมือนความตํ่าต้อย ซึ่งตรงข้ามกับความยิ่งใหญ่ ความมีฐานะและเกียรติยศ เด็กๆในสมัยนั้น ไม่มีฐานะและไม่มีความหมายอะไรเลย แต่สําหรับพระเยซู เด็ก ๆ ก็เป็นคนเหมือนกันและมีความสําคัญด้วย เพราะเหตุนี้เมื่อพวกสาวกไล่เด็กๆให้ถอยไป พระเยซูจึงไม่พอใจ และเรียกให้เข้ามาใกล้แล้วโอบกอดพร้อมกับอวยพรให้โดยวางมือบนหัวเด็กๆด้วย "อาณาจักรพระเจ้าเป็นของคนที่เป็นเหมือนเด็กๆเช่นนี้" (มก. ๑๐,๑๔) เมื่อพูดถึงเด็กในที่นี้ไม่ได้หมายถึงความไร้เดียงสาหรือความไม่รู้จักรับผิดชอบตามประสาเด็ก แต่เด็กในที่นี้เป็นสัญญลักษณ์ของคนชั้นตํ่าสุดในสังคม คนจน คนถูกกดขี่ ขอทาน โสเภณี คนเก็บภาษี
พระเยซูไม่ต้องการให้คนตํ่าต้อยเหล่านี้ต้องถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม "ระวังอย่าดูหมิ่นคนตํ่าต้อยเหล่านี้" (มธ.๑๘,๑๐) พระเยซูเข้าใจดีว่าคนพวกนี้ต้องรู้สึกอายและมีปมด้อยมากขนาดไหน และเนื่องจากพระเยซูสงสาร พวกนี้มาก จึงถือว่าพวกเขามีความสําคัญอย่างยิ่ง พระเยซูปลอบใจพวกเขาว่า "ไม่ต้องกลัว ฝูงแกะน้อยๆเอ๋ย พระเจ้า พระบิดาของเจ้า พอใจที่จะยกอาณาจักรให้พวกเจ้า" (ลก.๑๒,๓๒) พระเยซูคิดว่าคนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เกิดจากสตรี นั่นคือยอห์นแบปติสต์ ยังไม่ยิ่งใหญ่เท่าคนตํ่าต้อยที่สุดในอาณาจักรพระเจ้า (มธ.๑๑,๑๑) นั่นคือพระเยซูถือว่าแม้แต่เกียรติยศและความเคารพนับถือที่ยอห์นได้รับก็ไม่มีค่าอะไรเลย
พระเยซูถึงกับเอาเด็กทารกมาเปรียบกับนักปราชญ์ (มธ.๑๑,๒๕) ฝ่ายหนึ่งมีพวกคัมภีราจารย์ซี่งมีเกียรติยศชื่อเสียงเป็นอย่างมากเพราะได้รับการศึกษาและมีความรอบรู้มาก มีแต่คนนับหน้าถือตา อีกฝ่ายหนึ่งมีเด็กทารก ซึ่งสําหรับพระเยซู เด็กทารกเป็นภาพพจน์ของคนโง่และไร้การศึกษา ผลปรากฏว่า เด็กทารก นั่นคือคนตํ่าต้อยไร้การศึกษา ได้รับการเปิดเผยและเข้าใจความจริงเกี่ยวกับอาณาจักรพระเจ้า ส่วนบรรดาผู้รอบรู้กลับไม่เข้าใจ และเพราะเหตุนี้แหละที่พระเยซูขอบคุณพระเจ้า
4. ผู้มีสิทธิ์เข้าอาณาจักรพระเจ้า
นี่ไม่ได้หมายความว่าเฉพาะคนในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ที่จะเข้าอาณาจักรพระเจ้าได้ แต่ทุกคนมีสิทธิ หากว่าเขาพร้อมที่จะเปลี่ยนตัวเองให้เป็นเหมือนคนตํ่าต้อย หรือทําตัวเหมือนเด็ก ๆ (มธ.๑๘,๓-๔) "เขาจะต้องทําตัวเป็นคนสุดท้าย และเป็นผู้รับใช้ผู้อื่น" (มก.๙,๓๕) หมายความว่าเขาจะต้องเลิกพะวงถึงฐานะและเกียรติยศชื่อเสียง เช่นเดียวกับที่เขาต้องตัดใจจากทรัพย์สินเงินทอง
ความรักของพระเยซูไม่ใช่เจาะจงและจํากัดอยู่กับพวกคนจนและคนถูกกดขี่เท่านั้น หลักการของพระเยซูคือสิ่งที่สําคัญที่สุดคือ ความเป็นคน ไม่ใช่เกียรติยศชื่อเสียง คนจนและคนถูกกดขี่ไม่มีอะไรจะมาสนับสนุน มีแต่ความเป็นคนและความทุกข์ทรมาน พระเยซูสนใจและห่วงไยชนชั้นกลางและชั้นสูงด้วย ไม่ใช่เพราะพวกเขาเป็นบุคคลสําคัญหรืออะไรอื่น แต่เป็นเพราะว่าพวกเขาก็มีความเป็นคนเหมือนกัน พระเยซูอยากให้พวกเขาทิ้งค่านิยมที่ผิด ทิ้งความรํ่ารวยและเกียรติ เหลือไว้แต่ความเป็นคนอย่างแท้จริง พระเยซูอยากให้ทั้งค่านิยมของโลก ที่บูชาเกียรติยศชื่อเสียง และให้ทุกคนรับค่านิยมของ "พระเจ้า" ที่นับถือความเป็นคนของมนุษย์ทุกคน
5. ทัศนคติต่อสตรี
อีกสิ่งหนึ่งที่ชี้ให้เห็นชัดว่าพระเยซูให้คุณค่ากับความเป็นคน คือทัศนคติที่พระเยซูมีต่อสตรี ในสังคมสมัยนั้นการเกิดมาเป็นผู้หญิงเป็นข้อเสียเปรียบ บางคนถึงกับถือว่าพระเจ้าไม่ได้ฟังคําภาวนาของพ่อแม่ จึงได้ลูกสาว ผู้หญิง และเด็กไม่มีความหมาย ผู้หญิงจะเป็นศิษย์ของพวกคัมภีราจารย์ หรือของพวกไหนๆ ก็ไม่ได้ บทบาทของสตรีมีเพียงแต่เพศและเลี้ยงลูกเท่านั้น
พระเยซูไม่ถือเช่นนั้น พระเยซูไม่เห็นด้วยกับคนสมัยนั้นและไม่เห็นด้วยกับศิษย์รุ่นต่อๆมาเกือบทั้งหมด และไม่เห็นด้วยกับศิษย์รุ่นปัจจุบันนี้หลายคน พระเยซูตีคุณค่าผู้หญิงเท่ากับผู้ชายทุกประการ ถือว่ามีเกียรติและศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน พระเยซูเป็นห่วงแม่ม่ายบ้านนาอิม แม่ยายของเปโตร หญิงที่ตกโลหิต และหญิงชาวคานาอัน เหมือนกับที่เป็นห่วงคนอื่นๆที่ต้องการความช่วยเหลือ ผู้หญิงหลายคนเป็นเพื่อนและเป็นผู้ติดตามพระเยซู (มก.๑๕,๔๐-๔๑; ลก.๗,๓๖-๕๐; ๘,๒-๓; ยน.๑๑,๕; ๒๐,๑๑-๑๘) ผู้หญิงเป็นแม่และเป็นพี่น้องของพระเยซู (มก.๓,๓๔-๓๕) พระเยซูถือว่ามารีย์ ชาวเบธานีได้เลือกสิ่งที่ดีที่สุด โดยมานั่งฟังแทบเท้าพระเยซู แทนที่จะปล่อยให้พวกผู้ชายเท่านั้นที่ฟังแล้วตัวเองเข้าครัว (ลก.๑๐,๓๘-๔๒) พระเยซูไม่มีความกลัวหรือลําบากใจที่ต้องพูดคุยติดต่อกับหญิงโสเภณี (ลก.๗,๓๖-๕๐; มธ.๑๑,๑๙; ๒๑,๓๑-๓๒)หรือหญิงที่มีประวัติเสีย (ยน.๔, ๗-๒๗; ๘,๑๐-๑๑) คนก็คือคน และนี่คือสิ่งที่สําคัญที่สุด
คําพูดของพระเยซูที่ว่า "ใครที่ถ่อมตนจะได้รับการยกย่อง" ไม่ใช่เป็นคําสัญญาว่าคนที่ไม่มีเกียรติ หรือที่สละเกียรติในเวลานี้ จะได้รับเกียรติยศชื่อเสียงในอนาคต แต่มันเป็นคําสัญญาว่าเขาจะไม่ถูกเหยียดหยามว่าตํ่าต้อย แต่จะเป็นที่ยอมรับในฐานะมนุษย์เต็มขั้น คนจนไม่ได้รับคําสัญญาว่าจะได้รํ่ารวย แต่จะได้มีอยู่มีกินอย่างไม่ขาดแคลน ฉันใดก็ฉันนั้น คนไร้เกียรติไม่ได้รับคําสัญญาว่าจะมีเกียรติยศชื่อเสียง แต่จะได้มีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นคนเท่าเทียมกับทุกคน เพื่อจะให้บรรลุถึงขั้นนี้จําเป็นจะต้องจัดโครงสร้างในสังคมใหม่อย่างถอนรากถอนโคน
อาณาจักรพระเจ้าจะเป็นสังคมที่ไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะ ไม่มีการใช้ฐานะหรือเกียรติยศชื่อเสียงมาเป็นกฎเกณฑ์เงื่อนไข ไม่มีผู้ยิ่งใหญ่และผู้ตํ่าต้อย ทุกคนจะได้รับความรักและเคารพนับถือ เพราะว่าทุกคนเป็นคนเหมือนกัน ไม่ใช่เพราะเป็นคนมีการศึกษา เพราะความรํ่ารวย ตระกูล อํานาจหรือเพราะอะไรอื่น หลายคนคงจะคิดไม่ออกว่าสภาพชีวิตในสังคมแบบนี้จะเป็นอย่างไร แต่สําหรับผู้ตํ่าต้อยที่ไม่เคยมีสิทธิหรือฐานะเหมือนกับคนอื่น และสําหรับผู้ที่ไม่ผูกพันกับเกียรติยศชื่อเสียง จะเข้าใจได้ไม่ยากว่า ชีวิตในสังคมเช่นนี้จะนําความพึงพอใจและความสุขมาให้ ใครก็ตามที่ไม่สามารถทําตัวเสมอเท่ากับคนขอทาน คนรับใช้ อดีตโสเภณี คนจน ผู้หญิงและเด็ก และใครก็ตามที่ไม่สามารถอยู่ได้โดยไม่ได้อยู่เหนือใครสักคน ก็จะไม่สามารถอยู่ได้อย่างสบายใจในอาณาจักรพระเจ้า พวกเขาคงอยากจะแยกตัวอยู่นอกอาณาจักรนี้
คำถาม
1. พระเยซูมีทัศนคติเรื่อง “เกียรติยศชื่อเสียง” อย่างไร ?
2.ใครจะเป็นประชากรในอาณาจักรพระเจ้าได้ ?
3. พระเยซูมีท่าทีต่อสตรีอย่างไร?