Jesus before
C h r i s t i a n i t y
C h r i s t i a n i t y
บทที่ 10 อาณาจักรพระเจ้ากับอํานาจ
ความแตกต่างระหว่างอาณาจักรพระเจ้ากับอาณาจักรของมาร อีกประการหนึ่งคือค่านิยมเกี่ยวกับอํานาจ สังคมกับอํานาจเป็นของคู่กัน สังคมต้องมีโครงสร้าง และโครงสร้างจะอยู่ได้ก็ต้องมีอํานาจอะไรบางอย่าง อำนาจและโครงสร้างทางอํานาจ (ใครบังคับบัญชาใคร ใครตัดสินใจให้ใคร) ก็คือสิ่งที่เราเรียกในปัจจุบันนี้ว่า การเมือง
1. อำนาจ
ในสมัยพระเยซู การเมืองเป็นเรื่องเกี่ยวกับการได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ ความหมายแรกของอํานาจก็คือการเป็นกษัตริย์ในภาษาพระคัมภีร์อํานาจ ของกษัตริย์ และอาณาจักรของกษัตริย์ เป็นคําเดียวกัน ฉะนั้นบางกรณีต้องพูดถึงอาณาจักร บางกรณีต้องพูดถึงอํานาจปกครอง แต่โดยทั่วไป เราต้องหมายถึงทั้งอํานาจและอาณาจักรควบคู่กันไป
จนถึงเวลานี้ เราพูดถึงอาณาจักรพระเจ้าในแง่ที่เป็นสังคมหรือแผ่นดินโลกในอนาคต แต่เราต้องตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่า อาณาจักรพระเจ้ามาถึง ก็หมายความว่า อํานาจทางการเมืองของพระเจ้ามาถึงด้วย พระเยซูประกาศว่าอํานาจทางการเมืองในอนาคตจะอยู่ในมือของคนจนและคนตํ่าต้อย "เป็นบุญของคนจน เพราะว่าอาณาจักรพระเจ้าเป็นของท่าน"(ลก. ๖,๒๐) "ฝูงแกะน้อยๆเอ๋ย ไม่ต้องกลัว พระบิดาพอใจที่จะมอบอาณาจักรให้แก่พวกเจ้า" (ลก.๑๒,๓๒)
ทุกอย่างดูเหมือนจะกลับตาลปัตร "พระเจ้าจะปลดผู้มีอํานาจออกจากบัลลังก์และยกผู้ตํ่าต้อยให้สูงขึ้น คนอดหยากจะอิ่มหนําด้วยของดีๆ และคนรวยจะต้องกลับไปมือเปล่า" (ลก.๑,๕๒-๕๓) "เป็นบุญของคนจน ... วิบัติแก่เจ้าผู้รํ่ารวย" (ลก.๖,๒๐-๒๔) "ใครที่ยกตนเองขึ้น จะถูกกดให้ตํ่าลง และใครที่ถ่อมตนลง จะถูกยกให้สูงขึ้น" (ลก.๑๔,๑๑) นี่ไม่ใช่หมายความว่า ในโครงสร้างอํานาจของอาณาจักรพระเจ้า ผู้กดขี่กับผู้ถูกกดขี่จะเปลี่ยนที่กัน แล้วการกดขี่ก็จะดําเนินต่อไปเหมือนเดิม แต่ความหมายที่แท้จริงคือ ในอาณาจักรพระเจ้าความหมายของอํานาจจะกลับตาลปัตร ไม่เป็นเหมือนอํานาจในอาณาจักรของมาร
ในอาณาจักรมาร อํานาจคือการกดขี่ข่มเหง หาผลประโยชน์และเอารัดเอาเปรียบ แต่ในอาณาจักรพระเจ้า อํานาจคือการรับใช้
อาณาจักรและชาติต่าง ๆ ในโลกปัจจุบัน ถูกปกครองด้วยอํานาจที่กดขี่และใช้กําลัง ในอาณาจักรพระเจ้า อํานาจจะแสดงออกมาในการรับใช้ซึ่งกันและกัน "ท่านก็รู้ดีว่า ผู้ปกครองในชาติต่างๆ (ที่ไม่มีพระเจ้า) ต่างก็วางตัวเป็นนาย และผู้มีอํานาจก็ใช้อํานาจเหนือผู้อื่น แต่สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นในระหว่างพวกท่าน ใครที่อยากเป็นใหญ่ต้องรับใช้พวกท่าน และใครที่อยากเป็นคนสําคัญ ต้องเป็นทาสของทุกคน เหตุว่าบุตรแห่งมนุษย์(พระเยซู)ไม่ได้มาให้คนเขารับใช้ แต่มาเพื่อรับใช้ทุกคน และมอบชีวิตเป็นค่าไถ่ของคนเป็นจำนวนมาก" (มก.๑๐,๔๒-๔๕;มก.๙,๓๕) ความแตกต่างระหว่าง การกดขี่เอาเปรียบกับการรับใช้ เห็นได้ชัดเจนอย่างไม่มีข้อสงสัย อํานาจในสังคมใหม่เป็นอํานาจที่ไม่เห็นแก่ตัว และพร้อมที่จะสละได้แม้แต่ชีวิตของตน
เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อพระเยซูพูดถึงการใช้อํานาจกดขี่ข่มเหงในชาติต่างๆ พระเยซูคงจะคิดถึงจักรพรรดิ์ซีซาร์ และผู้ว่าราชการพอนทิอัส ปิลาตแห่งอาณาจักรโรมันเป็นพิเศษ แต่พระเยซูก็คงจะตระหนักดีว่า พวกยิวเองก็ปกครองกันด้วยการกดขี่ข่มเหงเหมือนกัน แม้ในทฤษฎีมันไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น พระเยซูเรียกกษัตริย์ เฮรอด (เชื้อชาติยิวผสมเอโดม) ว่า "สุนัขจิ้งจอก" เพราะปกครองอย่างโหดเหี้ยม และผู้นําชาวยิวเกือบทั้งหมด คือพวกหัวหน้าคณะสงฆ์ ผู้หลักผู้ใหญ่ พวกคัมภีราจารย์และพวกฟาริสี ก็เป็นผู้นําที่ใช้อํานาจกดขี่ข่มเหง คนเหล่านี้แม้จะไม่มีอํานาจแบบกษัตริย์ แต่ก็ใช้อํานาจอันเนื่องมาจากกฎบัญญติในพระธรรมคัมภีร์เพื่อกดขี่ประชาชน
2. ทัศนคติของพระเยซูต่อกฎบัญญัติ
กฎหมายสําหรับชาวยิว คือกฎระเบียบต่างๆที่จารึกไว้ในพระคัมภีร์ และที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมาทางวาจาของพวกคัมภีราจารย์ กฎระเบียบที่ถ่ายทอดทางวาจานี้ พวกฟาริสีและอีกหลายพวกถือว่ามีนํ้าหนักบังคับเหมือนกับกฎบัญญัติที่จารึกไว้ในพระคัมภีร์ และเรียกกันว่า"โตราห์" ซึ่งแปลว่าคําสั่งของพระเจ้า กฎบัญญัติเหล่านี้เป็นกําหนดกฎเกณฑ์หยุมหยิมเกี่ยวกับชีวิตทุกลมหายใจของชาวยิว
พระเยซูไม่ได้ต่อต้านกฎบัญญัติ แต่ต่อต้านวิธีที่คนเอากฎบัญญัติมาใช้ และต่อต้านทัศนคติของคนส่วนมากที่มีต่อกฎบัญญัติ พวกฟาริสีและคัมภีราจารย์ ทํากฎบัญญัติให้กลายเป็นแอกหรือภาระหนัก ทั้งๆที่กฎบัญญัติต้องเป็นสิ่งที่ช่วยคน "พวกเขาเอาแอกหนักผูกไว้บนบ่าของคนอื่น แต่ตัวเองกลับไม่ยอมออกแรงแม้เพียงยกนิ้วมือ" (มธ.๒๓,๔) "วันสับบาโต (วันพระ)มีไว้เพื่อคน ไม่ใช่คนมีไว้เพื่อวันสับบาโต" (มก.๒,๒๗) พวกคัมภีราจารย์ทําให้กฎเกี่ยวกับวันพระ รวมทั้งกฎอื่นๆ ด้วย กลายเป็นภาระหนักจนบางครั้งคนทนรับไม่ไหว พวกเขาใช้กฎเพื่อกดขี่คน แทนที่จะใช้เพื่อช่วยคน
พวกคัมภีราจารย์เข้าใจว่ากฎหมายต้องเป็นเหมือนแอก เป็นเครื่องมือสําหรับ "ใช้โทษบาป" เป็นมาตรการเพื่อปราบปราม แต่สําหรับพระเยซู กฎหมายต้องเป็นประโยชน์สําหรับมนุษย์ ต้องรับใช้ความต้องการและความดีที่แท้จริงของมนุษย์ นี่เป็นทัศนคติต่อกฎหมายที่แตกต่างกัน เมื่อเห็นวัตถุประสงค์ของกฎหมายต่างกัน ก็มีวิธีเอากฎหมายมาใช้ไม่เหมือนกันด้วย ทัศนคติของพวกคัมภีราจารย์ นําไปสู่ปัญหาการตีความหยุมหยิม เถรตรง บ้ากฎหมาย หน้าซื่อใจคดและนําไปสู่ความทุกข์ทรมาน ทัศนคติของพระเยซูนําไปสู่การผ่อนปรนเมื่อการถือกฎหมายใดไม่ได้เป็นประโยชน์อะไร และนําไปสู่ความเคร่งครัดเมื่อการถือกฎหมายนั้นจะนําความดีที่แท้จริงมาสู่มนุษย์ กฎหมายมีไว้เพื่อคน ไม่ใช่คนมีไว้เพื่อเป็นทาสของกฎหมาย
ตัวอย่างเช่น กฎวันสับบาโตมีไว้เพื่อปลดปล่อยคนให้หลุดพ้นจากภาระการงานเพื่อจะได้พักผ่อน มันไม่ได้มีไว้เพื่อห้ามคนทําความดี ห้ามคนช่วยผู้เจ็บป่วยให้หาย หรือห้ามช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ (มก.๓,๔; มธ.๑๒, ๑๑-๑๒; ลก.๑๓,๑๕-๑๖) มันไม่ได้มีไว้เพื่อห้ามคนกินอาหารเมื่อหิว (มก. ๒, ๒๓-๒๖) พระเยซูไม่ต้องการถกเถียงเกี่ยวกับรายละเอียดปลีกย่อยและการตีความกฎบัญญัติ พระเยซูไม่ต้องการถือแนวผ่อนปรนตามแบบที่แพร่หลายในแคว้นกาลิลีหรือตามแบบพวกยิวในต่างแดน พระเยซูไม่ปฏิเสธกฎบัญญัติที่ถ่ายทอดทางวาจา แต่พระเยซูต่อต้านการใช้กฎบัญญัติหรือการตีความกฎบัญญัติอย่างที่ว่ามันขัดกับประโยชน์ และความดีที่แท้จริงของคน
พระเยซูไม่ได้คิดตั้งตัวเป็นผู้ออกกฎหมาย ไม่ได้คิดล้มล้างกฎหมายในพระคัมภีร์เพื่อไม่ให้มีกฎหมายอีกต่อไป หรือเพื่อออกกฎหมายใหม่ (มธ.๕,๑๗-๑๘) อีกทั้งไม่ได้คิดต่อเติมหรือตัดทอน พระเยซูอยากเห็นกฎหมายถูกนํามาใช้ตามความประสงค์ของพระเจ้า อยากเห็นกฎหมายบรรลุเป้าหมายที่แท้จริง อยากเห็นทุกคนถือตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ซึ่งได้แก่การรับใช้ ความเมตตาและความรัก พระเจ้าไม่ต้องการเครื่องบูชา แต่ต้องการความเมตตากรุณา (มธ.๙,๑๓; ๑๒,๗; มก.๑๒,๓๓)
การหมกมุ่นตีความกฎหมายหยุมหยิม ทําลายเจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมาย ความสนใจในสิ่งปลีกย่อยมักจะทําให้มองไม่เห็นสิ่งที่ใหญ่กว่าและสําคัญกว่า สิ่งสําคัญในเรื่องกฎหมายก็คือ"ความยุติธรรม ความเมตตา และเจตนาบริสุทธิ์" (มธ.๒๓,๒๓) การถือกฎจุกจิกเกี่ยวกับความสะอาดของร่างกายและอาหาร ทําให้มองข้ามความสำคัญของเจตนาดีหรือชั่วในพฤติกรรมของคน กฎเกี่ยวกับการถวายบูชากลายเป็นทางเลี่ยงไม่ต้องถือหน้าที่ต่อบิดามารดา (มก.๗,๑-๑๓) พวกคัมภีราจารย์ลืมจุดหมายของบทบัญญัติต่างๆ หรือเจตนาที่จะลืม และผลที่ตามมาก็คือพวกเขาทําให้กฎบัญญัติกลายเป็นอํานาจมืดที่กดขี่ข่มเหงประชาชน
3. การถือบัญญัติเคร่งครัด
ในสมัยพระเยซู ผู้นําและปัญญาชนทําตัวเป็นทาสของกฎบัญญัติ การทําตัวเช่นนี้ทําให้พวกเขามีเกียรติมากขึ้นในสังคม และในเวลาเดียวกันมีความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยมากขึ้นด้วย คนเรามักจะกลัวความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นคนอิสระ การปล่อยให้คนอื่นตัดสินใจให้เราจะง่ายกว่า การถือกฎบัญญัติตามตัวอักษรก็สบายกว่า เพราะไม่ต้องคิดเองให้ลําบาก หลายคนพอใจที่จะเป็นทาส
เมื่อคนทําตัวเป็นทาสของกฎบัญญัติแล้ว ก็อยากเห็นคนอื่นเป็นทาสเหมือนกันด้วย จึงไม่ยอมปล่อยให้ใครมีอิสระ และพยายามบีบบังคับให้ทุกคนถือกฎระเบียบต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด จนกลายเป็นแอกหนัก(มธ. ๒๓,๔; ๒๓,๑๕) และคนที่ต้องรับกรรมมากที่สุดในกรณีเช่นนี้ก็คือ คนจนและคนที่น่าสงสารอยู่แล้วทั้งหลาย
พระเยซูต้องการช่วยให้ทุกคน หลุดพ้นจากการเป็นทาสของกฎบัญญัติทุกชนิด พระเยซูไม่ได้ลบล้างหรือ เปลี่ยนแปลงกฎบัญญัติ แต่พระเยซูวางกฎบัญญัติในที่ที่เหมาะสมกว่า กฎบัญญัติต้องรับใช้คน ไม่ใช่เป็นนายเหนือคน (มก.๒,๒๗-๒๘) ดังนั้นคนเราต้องมีความรับผิดชอบและมีหน้าที่ควบคุมดูแลกฎบัญญัติ ซึ่งเป็นผู้รับใช้ของเรา เพื่อว่ากฎบัญญัติจะได้ทําหน้าที่รับใช้มนุษย์ สนองความต้องการและทําประโยชน์ให้แก่มนุษย์อย่างแท้จริง นี่ไม่ใช่ความหละหลวม ไม่ใช่ความมักง่าย ไม่ใช่การตามใจชอบ พระเยซูสอนให้ใช้กฎบัญญัติด้วยวิจารณญาณเพื่อให้กฎบัญญัติบรรลุจุดหมาย
ดังนั้นในโครงสร้างทางการเมืองของอาณาจักรพระเจ้าพลังอํานาจ และกฎบัญญัติ จึงมีบทบาทที่จะรับใช้และทําประโยชน์ให้มนุษย์เท่านั้น แม้ว่าบทบาทหน้าที่ดังกล่าวอาจจะจําเป็นต้องจัดวางเป็นรูปร่าง มีผู้ปกครอง มีเจ้าหน้าที่ มีกฎระเบียบฯลฯ เพื่อให้ทําหน้าที่ได้ผลและจริงจัง แต่บทบาทที่จะรับใช้ต้องชัดเจนอยู่ตลอดเวลา และการกดขี่ทุกรูปแบบต้องหมดสิ้นไป "เราขอบอกท่านว่า ถ้าความชอบธรรม(การถือกฎบัญญัติ)ของท่าน ไม่ดีไปกว่าของพวกคัมภีราจารย์และฟาริสีแล้ว ท่านจะเป็นสมาชิกอาณาจักรพระเจ้าไม่ได้" (มธ.๕,๒๐)
คำถาม
1. อำนาจในอาณาจักรพระเจ้าเป็นอย่างไร ?
2. พระเยซูมีทัศนคติเกี่ยวกับกฎบัญญัติอย่างไร ?
3. ทำไมบางคนชอบเป็นทาสของกฎบัญญัติ ?