Jesus before
C h r i s t i a n i t y
C h r i s t i a n i t y
บทที่ 14 เหตุการณ์ที่พระวิหาร
มีข้อมูลหลายอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า มีจุดหนึ่งในชีวิตพระเยซูที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ หนังสือพระวรสารทั้ง ๔ พูดถึงการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ครั้งสําคัญนี้ แม้ว่าจะเน้นที่ความหมายทางศาสนศาสตร์ มากกว่าทางประวัติศาสตร์ พระวรสารแต่ละฉบับต่างก็พยายามจะทําให้เราเข้าใจว่า เมื่อมาถึงจุดหนึ่ง การต่อต้านที่พวกผู้นําชาวยิวมีต่อพระเยซูมาถึงจุดสูงสุด ในเวลาเดียวกัน ความหวังของประชาชนจํานวนมากในเรื่องพระผู้ไถ่หันมาบรรจบที่พระเยซูอย่างชัดแจ้ง แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อมาถึงจุดนี้ พระเยซูถอยหลบออกไปในที่ห่างไกลฝูงชน และมุ่งสั่งสอนกลุ่มสาวกผู้ใกล้ชิดเป็นพิเศษ พร้อมกับเตรียมตัวเดินทางไปเยรูซาเลมเพื่อเผชิญกับความตาย
1. คำถามทางประวัติศาสตร์
ในทางประวัติศาสตร์ เหตุการณ์ดูไม่ต่อเนื่องและไม่สามารถอธิบายได้ว่า เรื่องของพระเยซูกลับดังและอื้อฉาวขึ้นมาอย่างกระทันหันได้อย่างไร จริงอยู่ กิจกรรมและคําสอนของพระเยซูมีลักษณะ "ไวไฟ" อยู่มาก แต่เราไม่เห็นว่ามีอะไรที่ทําให้พระเยซูกลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในระดับชาติ จนถึงขั้นที่ฝ่ายผู้มีอํานาจในบ้านเมืองต้องการจะจับกุม และฝ่ายประชาชนต้องการจะตั้งเป็นกษัตริย์ ทําไมพระเยซูจึงต้องเก็บตัวและลี้ภัยไปประเทศใกล้เคียง ? มีอะไรที่ทําให้พระเยซูแน่ใจว่าตนเองและพวกสาวกจะต้องตายอย่างน่าอนาถ ?
เราได้คําตอบมาจากนักพระคัมภีร์ผู้มีชื่อเสียง ชื่อเอเจียน ทรอกเม ท่านผู้นี้ได้ศึกษาค้นคว้าและยืนยันว่า เหตุการณ์ในพระวิหารไม่ได้เกิดขึ้นในสัปดาห์สุดท้ายของชีวิตพระเยซู แต่เกิดขึ้นเมื่อพระเยซูไปเมืองเยรูซาเลมครั้งก่อนหน้านั้น มาร์โกผู้เขียนพระวรสารคนแรกได้จัดเนื้อหาเป็นหมวดหมู่ และได้พูดถึงทุกอย่างที่เกิดขึ้นในแคว้นกาลิลีให้หมด ก่อนที่จะพูดถึงเหตุการณ์ในเมืองเยรูซาเลม การจัดแบบนี้ทําให้ผู้เขียนพระวรสารต่อมา คือลูกาและมัทธิว รวมทั้งนักศึกษาพระคัมภีร์ยุคหลังๆ ต่างก็ไขว้เขวไปหมด ส่วนยอห์นผู้เขียนพระวรสารเป็นคนสุดท้าย มีวิธีจัดเนื้อหาแบบรวมเหตุการณ์มาไว้ในแคว้นยูเดียและเมืองเยรูซาเลม ยอห์นพูดถึงเหตุการณ์ในพระวิหารในตอนต้นๆ (ยน.๒,๑๓-๒๒) การจัดเนื้อหาต่างกันสองแบบเช่นนี้ ทําให้เห็นว่า จริงๆ แล้วเหตุการณ์นี้ไม่จําเป็นจะต้องเกิดขึ้นในบั้นปลาย เมื่อพระเยซูไปเยรูซาเลมครั้งสุดท้าย
2. เหตุการณ์ในพระวิหาร
เป็นที่ยอมรับในวงการศึกษาพระคัมภีร์มานานแล้วว่า พระเยซูเคยเดินทางไปมาระหว่างกาลิลีและเยรูซาเลมบ่อยครั้ง (ไม่ใช่ไปเยรูซาเลมครั้งเดียวเมื่อตอนจบ ดังที่ปรากฏในพระวรสารโดยมาร์โก ลูกา และมัทธิว) และพระเยซูมีศิษย์หลายคนในเยรูซาเลม ในแคว้นยูเดีย เช่นเดียวกับที่มีศิษย์ในแคว้นกาลิลี และเมื่อศาสตราจารย์ทรอกเมชี้ให้เห็นว่า เหตุการณ์ในพระวิหารเกิดขึ้นเมื่อพระเยซูไปเยรูซาเลมครั้งใดครั้งหนึ่ง แต่ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ก็ทําให้เราเห็นได้ว่าเหตุการณ์มันต่อเนื่อง และทําให้เห็นชัดว่าทําไมพระเยซูจึงกลายเป็นคนเด่นดังขึ้นมา เป็นที่รู้จักและกล่าวขวัญถึงทั่วประเทศ
มีอะไรเกิดขึ้นที่พระวิหาร ? นักเขียนบางคนคิดว่า เหตุการณ์นี้เป็นการยึดอํานาจครอบครองพระวิหาร และเป็นขั้นแรกในแผนยึดเมืองเยรูซาเลม แต่ความเห็นนี้ไม่ถูกต้อง มันไม่เกี่ยวกับพิธีกรรมถวายบูชาที่ทํากันอยู่ในพระวิหาร และไม่เกี่ยวกับเรื่องที่ว่า พระผู้ไถ่จะมาชําระการนมัสการพระเจ้าให้บริสุทธิ์ ตามความเชื่อของชาวยิวหลายคน เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในลานพระวิหารส่วนที่เรียกว่า "ลานของคนต่างศาสนา" ไม่ใช่เกิดขึ้นในส่วนที่ถวายบูชาที่เรียกว่า"สถานศักดิ์สิทธิ์" พระเยซูไม่สนใจเรื่องยึดอํานาจ หรือการชําระพิธีกรรม แต่เหตุเกิดจากปัญหาพวกพ่อค้าและพวกแลกเปลี่ยนเงินตรา
ในลานพระวิหารมีการค้าขายสัตว์เพื่อการถวายบูชาอย่างคึกคัก เนื่องจากมีกฎทางศาสนาว่าสัตว์ที่จะใช้ ถวายบูชาต้องเป็นสัตว์ที่ "บริสุทธิ์" พวกพ่อค้าจึงฉวยโอกาสตั้งราคาสูงมาก ฝ่ายพวกแลกเงินตราก็ฉวยโอกาสเอากําไรเต็มที่ เพราะมีกําหนดว่าชาวยิวแต่ละคนต้องใช้จ่ายเงินในพระวิหารเป็นสัดส่วนกับรายได้ของตน และชาวยิวส่วนมากที่มานมัสการพระเจ้าที่พระวิหารนําเงินติดตัวมาเป็นเงินต่างประเทศ และตามกฎจําเป็นต้องแลกเป็นเงินตราที่ใช้ในพระวิหารเสียก่อน
นี่คือภาพที่พระเยซูเห็นเมื่อเข้าไปในลานพระวิหาร และมันทําให้พระเยซูไม่พอใจเป็นอย่างมาก พระเยซูไม่รู้สึกประทับใจในความสวยงามของอาคารสถานที่ (มก.๑๓,๑-๒) พระเยซูไม่สนใจจารีตพิธีกรรมที่ทํากันอย่างพิถีพิถัน แต่พระเยซูสังเกตเห็นหญิงม่ายที่ทําบุญด้วยเงินเหรียญสุดท้าย (มก.๑๒,๔๑-๔๔) พระเยซูสังเกตเห็นการฉวยโอกาสเอารัดเอาเปรียบชาวบ้านที่มานมัสการพระเจ้าด้วยความศรัทธา พวกพ่อค้าและพวกแลกเงินตรานมัสการมัมมอน(เทพเจ้าแห่งเงินตรา) แทนที่จะนมัสการพระเจ้าเที่ยงแท้ และทําเช่นนี้โดยได้รับอนุญาตจากพวกหัวหน้าคณะสงฆ์ผู้จัดการพระวิหาร และคงจะมีการสมรู้ร่วมคิดแบ่งปันผลประโยชน์กันอย่างแน่นอน
พระเยซูทนดูภาพอย่างนี้ไม่ได้ ความรักเมตตาสงสารที่มีต่อคนจนและคนถูกกดขี่ ผลักดันให้พระเยซูต้องเดือดดาล และต้องทําอะไรลงไปสักอย่างเพื่อแก้ไข
ตามคําเล่าของมาร์โก ตอนที่พระเยซูเห็นสภาพของลานพระวิหารนี้ เป็นเวลาบ่าย และจะทําอะไรลงไปไม่ทันแล้ว (มก.๑๑,๑๑) ดังนั้นวันรุ่งขึ้นพระเยซูกลับไปที่ลานพระวิหารใหม่ และคงจะได้รวบรวมสมัครพรรคพวกพอสมควรไปช่วยด้วย พระเยซูคนเดียวจะไล่พวกพ่อค้าและพวกแลกเงินตราไม่ไหวแน่ นี่แสดงว่าการกระทําของพระเยซูไม่ใช่เกิดขึ้นเพราะความโกรธชั่ววูบ แต่พระเยซูได้มีเวลาคิดและพิจารณาเป็นอย่างดีแล้วว่าสมควรทํา พระเยซูและพรรคพวก ไล่พวกพ่อค้าและพวกแลกเงินตรา ออกไปนอกบริเวณลานพระวิหารพร้อมกับสินค้าและเงินตราทุกอย่าง ยอห์นเล่าว่าพระเยซูใช้แส้ด้วย(ยน.๒,๑๕) ส่วนพรรคพวกใช้แส้หรือจะใช้มีดดาบกวัดแกว่งไปด้วยหรือไม่เราไม่ทราบ พระเยซูคงจะได้วางยามเฝ้าประตูไว้เพื่อไม่ให้พวกนั้นกลับเข้ามา และเพื่อบังคับให้คนถือตามคําสั่งห้ามขนของผ่านลานพระวิหาร(มก.๑๑,๑๖) ลานพระวิหารนั้นคงเคยใช้เป็นทางลัด เพื่อขนส่งสินค้าจากมุมเมืองหนึ่งไปยังอีกมุมเมืองหนึ่ง
การกวาดล้างดังกล่าวคงได้ก่อให้เกิดความอลหม่านเป็นอย่างมาก หลายคนเคยตั้งคําถามว่าทําไมพวกเจ้าหน้าที่รักษาความสงบในพระวิหาร จึงไม่เข้าไปควบคุมสถานการณ์ ทั้งๆที่มีเจ้าหน้าที่ตระเวนอยู่ทั่วไป หรือทําไมพวกทหารโรมันซึ่งอยู่ในป้อมติดกับบริเวณพระวิหารเฝ้าดูจากป้อมเฉยๆ อาจเป็นได้ที่ทั้งสองพวกนี้กลัวว่าถ้าถืออาวุธเข้าควบคุมสถานการณ์ อาจเป็นชนวนก่อให้เกิดการจราจลได้ หรืออาจเป็นได้ที่มีการเข้าควบคุมสถานการณ์ มีนักเขียนที่กล้าแสดงความเห็นว่า พวกของพระเยซูคงจะได้เข้าปะทะกับเจ้าหน้าที่หรือพวกทหารโรมัน และยึดครองพื้นที่พระวิหารอยู่ขณะหนึ่ง แต่ความคิดนี้ไม่เป็นความจริง เพราะถ้าทําดังที่ว่านี้จริง การกระทําของพระเยซูก็จะไม่สอดคล้องกับสิ่งที่พระเยซูเคยพูดและเคยทํามาตลอดจนถึงเวลานี้ และไม่สอดคล้องกับเหตุการณ์ที่ตามมาในภายหลังด้วย นอกนั้นถ้ามีการปะทะกับเจ้าหน้าที่หรือทหารโรมันจริง นักประวัติศาสตร์ชาวยิวที่ชื่อโยเซฟัสคงจะได้บันทึกไว้แล้ว เพราะคงจะเป็นเรื่องที่มีความสําคัญทางการเมืองและการทหารเป็นอันมาก
ผู้เขียนมีความเห็นว่า เจ้าหน้าที่รักษาความสงบในพระวิหารคงจะได้เข้าควบคุมสถานการณ์ แต่เพียงเพื่อจะรักษาความสงบ จนกว่าพวกหัวหน้าคณะสงฆ์เข้ามาเจรจาหาทางยุติปัญหาอย่างสันติ พระเยซูไม่ได้ต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าหน้าที่ และพวกเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้บังคับให้ปล่อยพวกพ่อค้ากลับเข้ามาใหม่ ปัญหาที่ต้องเจรจากับพวกหัวหน้าคณะสงฆ์ก็คือสิทธิหรืออํานาจของพระเยซู "ท่านมีอํานาจอะไรที่จะมาทําเช่นนี้ ใครมอบอํานาจนี้ให้ท่าน ?" (มก.๑๑,๒๘) "ท่านจะแสดงเครื่องหมายอะไรให้เราเห็นว่าท่านมีสิทธิทําเช่นนี้ ?" (ยน.๒,๑๘)
พระเยซูไม่มีอํานาจอะไรเป็นทางการ และไม่อ้างอํานาจของพระเจ้า ดังที่พวกประกาศกเคยอ้าง เนื่องจากพวกหัวหน้าคณะสงฆ์ไม่ยอมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาอํานาจของยอห์นแบปติสต์ พระเยซูจึงไม่ยอมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาอํานาจของตน พระเยซูถือว่าสิ่งที่ตนทํานั้น จะตัดสินว่าถูกหรือผิดโดยอ้างอํานาจใดๆไม่ได้ ต้องตัดสินโดยพิจารณาสิ่งนั้นเองว่าดีหรือไม่ดี ไม่จําเป็นต้องมีเครื่องหมายอะไรมายืนยัน เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต (พระวิหารใหม่หรืออาณาจักรใหม่) จะยืนยันเองว่าพระเยซูทําถูกต้องแล้ว
เมื่อพระเยซูสอนอยู่ในบริเวณพระวิหาร(จะเป็นโอกาสเดียวกันนี้หรือไม่ก็ตาม) พระเยซูพูดว่าเมื่อภัยพิบัติจะเกิดขึ้น เมืองเยรูซาเลมและพระวิหารจะถูกทําลาย และพูดถึงอาณาจักรพระเจ้าว่าเป็นพระวิหารแบบใหม่ สรุปแล้วพระเยซูก็สอนตามที่เคยพูดมาตลอดคือ มีความจําเป็นรีบด่วนที่จะต้องเปลี่ยนหัวใจใหม่ จะมีภัยพิบัติเกิดขึ้นในไม่ช้าหากไม่รีบกลับใจ ถ้าทุกคนยอมเปลี่ยนทันทีก็จะมีพระวิหารใหม่เกิดขึ้น(นั่นคือชุมชนใหม่หรืออาณาจักรใหม่) แต่ผู้ฟังก็เข้าใจผิดคิดว่าพระเยซูพูดดูหมิ่นพระวิหาร ดูหมิ่นประเทศชาติบ้านเมือง
สิ่งที่ทําให้พวกผู้นําเป็นห่วงมากก็คือ ดูเหมือนว่าพระเยซูมีอิทธิพลต่อประชาชนจํานวนมาก ทั้งๆ ที่ส่วนหนึ่งไม่เคยได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับพระเยซูก่อนที่จะมีเหตุการณ์ในพระวิหารเลย พระเยซูกลายเป็นคนสําคัญระดับชาติอย่างทันทีทันใด จะเมินเฉยต่อไปไม่ได้ พวกผู้นําจึงต้องตัดสินใจดําเนินการอะไรบางอย่าง
บันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ตั้งแต่จุดนี้ไปจนถึงการประหารชีวิตพระเยซู มีความสับสนอยู่มาก เราบอกได้เพียงแต่ว่า ในช่วงเวลาระหว่างเหตุการณ์ที่พระวิหารกับการจับกุมพระเยซู พวกผู้มีอํานาจในเมืองเยรูซาเลมได้รวมหัวกันและตัดสินใจที่จะกําจัดพระเยซู ยอห์นบรรยายถึงการประชุมวางแผนของคณะสงฆ์และฟาริสี (ยน.๑๑,๔๗-๕๒) และในตอนหนึ่ง ไกฟาสผู้เป็นหัวหน้าคณะสงฆ์ชี้แจงว่า "ให้คนหนึ่งตายดีกว่าที่จะปล่อยให้ทั้งชาติถูกทําลาย" แม้จะไม่มีรายละเอียดในแง่ของประวัติศาสตร์มากนัก แต่การประชุมในลักษณะนี้มีพูดถึงในพระวรสารอีกทั้ง ๓ ฉบับ (มก.๑๔,๑-๒;มธ.๒๖,๓-๕; ลก.๒๒,๒)
3. วิถีชีวิตของพระเยซูเปลี่ยนไป
พระเยซูรู้ตัวว่าพวกที่ตั้งตนเป็นศัตรูพยายามหาทางจับกุม พระเยซูจึงหลบหนี (ยน.๘, ๕๙; ๑๐,๓๙; ๑๒,๓๖) ไม่ไปไหนมาไหนอย่างเปิดเผย (ยน.๑๑,๕๔) ต้องออกจากเยรูซาเลมและแคว้นยูเดีย (ยน.๗,๑) แต่อยู่ในแคว้นกาลิลีก็ไม่ปลอดภัยเช่นกัน เพราะกษัตริย์เฮรอดก็ต้องการ กําจัดพระเยซูเหมือนกัน (ลก.๑๓,๓๑; มก.๖,๑๔-๑๖) พระเยซูจึงต้องหลบไปอยู่นอกแคว้นกาลิลี เช่น ฟากตะวันออกของทะเลสาบ เขตเมืองไทระและไซดอน เขตที่เรียกว่าทศนคร และเขตเมืองซีซาริยา-ฟิลิปปี (มก.๗,๒๔;๗, ๓๑; ๘,๒๒; ๘,๒๗) แม้ว่าในทางภูมิศาสตร์ข้อมูลอาจจะไม่ค่อยถี่ถ้วน แต่เป็นเรื่องชัดเจนที่พระเยซูต้องลี้ภัยในต่างแดน
ในที่สุดเมื่อพระเยซูต้องกลับสู่เมืองเยรูซาเลม พระเยซูก็หาทางหลบซ่อนและทําอะไรอย่างลับๆ เมื่อพวกศิษย์ต้องจัดเตรียมพิธีเลี้ยงปัสกา พวกเขาต้องไปพบชายคนหนึ่งที่หิ้วถังนํ้า และตามชายคนนั้นไปถึงบ้านหลังหนึ่ง เจ้าของบ้านจะพาขึ้นไป...(มก.๑๔,๑๒-๑๖) เมื่อไปเยรูซาเลม พระเยซูต้องออกไปหาที่พักนอกเมือง เช่นที่หมู่บ้านเบธานี (มก. ๑๔,๓) หรือเอฟราอิม (ยน.๑๑,๕๔) หรือไม่ก็สวนเกทเซมานี (มก.๑๔,๓๒) กลางวันพระเยซูจะใช้ฝูงชนเป็นกําบังในลานพระวิหาร (ลก.๒๑,๓๗-๓๘) พระเยซูรู้ว่าพวกที่ปองร้ายไม่กล้าเข้าจับกุม เพราะอาจเกิดการจราจลได้ (มก.๑๔,๒;ลก.๒๐,๑๙)
4. พระเยซูสั่งเตรียมพร้อม
เหตุการณ์ในพระวิหารได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของพระเยซูและพวกสาวก หลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่จําเป็นก็กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ "พระเยซูพูดกับพวกสาวกว่า เมื่อเราส่งพวกท่านออกไป (เพื่อประกาศข่าวดี) โดยไม่ได้มีถุงย่ามหรือรองเท้าไปด้วย พวกท่านขาดแคลนสิ่งใดหรือไม่ พวกเขาตอบว่า “ ไม่” พระเยซูพูดต่อไปว่า แต่บัดนี้ ถ้าท่านมีถุงก็เอาไปด้วย ถ้ามีย่ามก็เช่นกัน ถ้าไม่มีมีดดาบ ก็จงขายเสื้อคลุมแล้วซื้อมีดดาบไว้สักอัน"(ลก.๒๒,๓๕-๓๖) ทีแรกพระเยซูและสาวกอยู่ได้โดยอาศัยไมตรีจิตของ ชาวบ้านทั่วไป แต่มาถึงตอนนี้ มีอันตรายอยู่รอบข้าง และไม่รู้ว่าไว้ใจใครได้หรือไม่ อาจจะถูกจับได้ทุกเมื่อ จึงจําเป็นต้องเตรียมพร้อม มีดาบไว้เพื่อป้องกันตนเอง
5. พระเยซูสั่งสอนสาวกต่อเนื่อง
เราไม่รู้ว่าพระเยซูต้องหลบซ่อนอยู่เช่นนี้เป็นเวลานานเท่าไร เรารู้เพียงแต่ว่าในช่วงเวลานี้ พระเยซูพยายามอบรมสั่งสอนพวกสาวกอย่างถี่ถ้วนเกี่ยวกับความเร้นลับแห่งอาณาจักรพระเจ้า(มก.๔,๑๑;๙,๓๑) พระเยซูอาจจะได้พูดถึงแผนโครงสร้างของอาณาจักรที่จะมาถึงด้วย พระเจ้าจะเป็นกษัตริย์ พระเยซูจะมีตําแหน่งผู้นําแบบใดแบบหนึ่ง สาวกผู้ใกล้ชิด ๑๒ คนจะมีหน้าที่รับผิดชอบแผนกต่างๆ ในชุมชนอิสราเอล ตรงกับจํานวน ๑๒ ตระกูลตั้งแต่ดั้งเดิม "พวกท่านจะนั่งบน ๑๒ บัลลังก์ ปกครองตระกูลทั้ง ๑๒ ของชาติอิสราเอล" (มธ.๑๙,๒๘=ลก.๒๒,๓๐) (คําว่า judge ตามภาษาพระคัมภีร์แปลว่า ปกครอง)
คงจะเป็นโอกาสนี้ที่พวกสาวกถกเถียงกันว่า ใครจะเป็นใหญ่ที่สุด และใครจะได้นั่งข้างซ้ายและข้างขวาของพระเยซู (มก.๙,๓๓-๓๗;๑๐,๓๕-๔๐) เรารู้ว่าพระเยซูตอบอย่างไร ใครที่มีตําแหน่งหรืออํานาจในอาณาจักรจะต้องใช้อํานาจนั้นเพื่อรับใช้ผู้อื่น (มก.๙,๓๕; ๑๐,๔๑-๔๕) และจะต้องทําตัวเป็นผู้น้อยเหมือนเด็ก (มธ.๑๘,๑-๔)
เราไม่รู้แน่ว่าพระเยซูพูดเกี่ยวกับโครงสร้างของอาณาจักร ในระหว่างที่หลบภัยอยู่หรือในช่วงอื่น แต่มาร์โกรวบรวมเรื่องประเภทนี้ไว้ในช่วงที่พระเยซูเร่ร่อนหลบภัยไปนอกแคว้นกาลิลี หรือเมื่อหลบซ่อนอยู่ในแคว้นกาลิลี (มก.๗,๒๔; ๗,๓๑; ๘,๒๗; ๙,๓๐-๓๕; ๑๐,๓๕-๔๕) แต่เราแน่ใจได้ว่า ในช่วงเวลาที่หลบภัยอยู่นั้น พระเยซูถูกชักจูงให้คิดยึดอํานาจและประกาศตนเป็นพระผู้ไถ่หรือกษัตริย์ของชาวยิว
คำถาม
1. พระวรสารเป็นหนังสือประเภทใด ?
2. ท่านคิดอย่างไรเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่พระวิหาร ?
3. ท่านคิดอย่างไรเมื่อพระเยซูสั่งให้สาวกเตรียมพร้อม ?