Skip to main content

คำสอนพระสันตะปาปาฟรังซิสในเรื่องของปัญญาประดิษฐ์ (AI)

บทความ

pope ai

 

ปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ เป็นเทคโนโลยีใหม่ ที่มีความใกล้ตัวต่อชีวิตปัจจุบันของเรา เราไม่สามารถปฏิเสธถึงคุณประโยชน์ของการใช้เอไอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแพทย์ การศึกษา การเกษตร การพัฒนานวตกรรมต่างๆ ในสังคม ฯลฯ นี้อาจจะเป็นเหรียญเพียงด้านเดียว เอไอจะมีโทษต่อมนุษย์ หรือการใช่เอไออย่างไรไม่ให้ผิดต่อหลักการคำสอนของชาวคริสต์? สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสเองก็ได้ตระหนักถึงข้อนี้ได้เป็นอย่างดี ท่านได้กล่าวถึงเอไอในสุนทรพจน์ สมณลิขิต และเอกสารต่างๆ ถึงการใช้เอไออย่างมีจริยธรรม พระองค์ท่านทรงย้ำเสมอว่าเทคโนโลยีควรนำมาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวม เราความพิจารณาทางจริยธรรมควรอยู่ในลำดับแรกของการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ หรือเทคโนโลยีใดๆ ทรงเตือนถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากปัญญาประดิษฐ์หากไม่มีหลักการทางศีลธรรมและคุณค่าของมนุษย์เป็นแนวทาง ในที่สุด พระสันตะปาปาฟรานซิสเรียกร้องให้มีความสมดุลระหว่างความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีกับความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ โดยเน้นย้ำว่าเอไอ ควรเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมศักดิ์ศรีของมนุษย์และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ดังนั้น การให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ร่วมของมนุษยชาติมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัวในการพัฒนาเอไอ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เราต้องมั่นใจว่าเอไอจะรับใช้มนุษยชาติแทนที่จะเบียดเบียนและนำโทษมาสู่ชาวเรา

 

การพัฒนาที่เน้น “มนุษย์เป็นศูนย์กลาง” (หาใช่เครื่องจักรไม่)

เราต้องคุยกันอย่างจริงๆจังๆ เรื่องของการพัฒนาเอไอ

ถ้าจะถามว่า อะไรคือนิยามของ “ความเป็นมนุษย์?” แม้ว่าเราจะมีคำตอบในใจของเราอยู่บ้าง แต่สำหรับสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส แก่นแท้ของมนุษยชาติอยู่ที่การที่มนุษย์สื่อสารและเสวนากันอย่างลึกซึ้งและมีความหมาย โดยเฉพาะในเรื่องที่มีความสำคัญโดยรวม พระสันตะปาปาได้กล่าวว่า

"เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้า เราต้องให้มนุษย์เป็นศูนย์กลางของการถกเถียงและมั่นใจว่ามันจะเป็นประโยชน์ต่อความดีของมนุษยชาติ"

 "เราเชื่อมั่นว่าการสนทนาระหว่างผู้ที่เชื่อและผู้ที่ไม่เชื่อในคำถามพื้นฐานเกี่ยวกับจริยธรรม วิทยาศาสตร์ และศิลปะ รวมถึงการค้นหาความหมายของชีวิต เป็นเส้นทางสู่สันติภาพและการพัฒนามนุษย์อย่างครบถ้วน" [1]

ความเชื่อศรัทธา เชื้อชาติ หรืออุดมการณ์ใดๆที่อาจจะเป็นกำแพงหรืออุปสรรคใดๆต่อการเสวนานี้ เราควรที่จะหลีกหนีมัน พระสันตะปาปาได้เชิญชวนทั้งสมาชิกของพระศาสนจักรคาทอลิกและผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกให้ร่วมมือกันหาวิธีที่เทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญญาประดิษฐ์ สามารถนำไปใช้ในลักษณะที่แท้จริงเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติได้ เพราะพวกเขาทั้งหมดเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

ai control
มนุษย์จะควบคุมเอไอ หรือ จะปล่อยให้เอไอมาควบคุมมนุษย์?

 

เอไอหาใช่ศัตรูของมวลมนุษย์ไม่

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสได้ยอมรับถึงประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นจากปัญญาประดิษฐ์ ในขณะเดียวกันก็เน้นย้ำถึงความสำคัญของการพิจารณาด้านจริยธรรมในการพัฒนาและการใช้งานของมันด้วย

ในการกล่าวสุนทรพจน์ต่อผู้นำจีเจ็ด ทรงเน้นย้ำว่า ปัญญาประดิษฐ์เกิดจากศักยภาพสร้างสรรค์ที่พระเจ้าประทานให้แก่มนุษยชาติ ซึ่งชี้ให้เห็นว่ามันสามารถนำไปสู่ความก้าวหน้าที่ทำให้การเข้าถึงความรู้เป็นประชาธิปไตยและพัฒนาการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ได้ดีขึ้น ท่านได้กล่าวว่า

"ปัญญาประดิษฐ์อาจทำให้การเข้าถึงความรู้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น การพัฒนาทางวิทยาศาสตร์อย่างก้าวกระโดด และความเป็นไปได้ในการมอบงานที่ต้องการความพยายามและหนักหนาสาหัสให้กับเครื่องจักรเป็นผู้ดำเนินงาน(แทนมนุษย์)" [2].

พระสันตะปาปายังเน้นถึงผลกระทบเชิงบวกของปัญญาประดิษฐ์นั้นขึ้นอยู่กับการพัฒนาที่มีความรับผิดชอบและมีจริยธรรม ท่านกล่าวว่า

"การพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่องมีศักยภาพที่จะมีส่วนช่วยในทางบวกต่ออนาคตของมนุษยชาติ" แต่ยืนยันว่าศักยภาพนี้จะถูกนำมาใช้ได้จริงก็ต่อเมื่อมีความมุ่งมั่นต่อการปฏิบัติอย่างมีจริยธรรม [3].

จึงมีความจำเป็นที่ปัญญาประดิษฐ์จะต้องให้บริการผลประโยชน์ที่ดีที่สุดของมนุษยชาติ โดยกล่าวว่า

"ปัญญาประดิษฐ์ควรจะให้บริการศักยภาพที่ดีที่สุดของมนุษย์และความปรารถนาสูงสุดของเรา ไม่ใช่แข่งขันกับมัน" ท่านเรียกร้องให้มีกรอบการกำกับดูแลที่ส่งเสริมแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดและปกป้องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ประโยชน์ของเอไอจะต้องสอดคล้องกับผลประโยชน์ส่วนรวมและการแสวงหาสันติภาพ [4].

โดยภาพรวมแล้ว พระสันตะปาปาฟรานซิสมองว่า ปัญญาประดิษฐ์เป็นเครื่องมือที่มีศักยภาพในการสร้างประโยชน์อย่างมาก หากได้รับการพัฒนาและใช้งานโดยมีพื้นฐานทางจริยธรรมที่เข้มแข็ง ซึ่งให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีของมนุษย์และผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก

terminator
ภาพยนต์เรื่อง Terminator เมื่อเอไอกลายเป็นศัตรูกับมนุษยชาติ 

 

จริยธรรม และ การใช้เอไออย่างรับผิดชอบ

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสเน้นย้ำถึงการใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างมีจริยธรรมว่าเป็นด้านที่สำคัญต่อการพัฒนาและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนี้ ท่านได้ชี้แจงว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีต้องเคารพศักดิ์ศรีของมนุษย์และส่งเสริมประโยชน์ส่วนรวม โดยเน้นความจำเป็นในการมีกรอบจริยธรรมเพื่อชี้นำการบูรณาการของปัญญาประดิษฐ์เข้าสู่สังคม

ในข้อความของเขาสำหรับวันสันติภาพโลก ท่านกล่าวว่า "การพัฒนาเทคโนโลยีควรเกิดขึ้นอย่างมีจริยธรรมและรับผิดชอบ โดยเคารพความสำคัญของมนุษย์ ซึ่งไม่มีอะไรสามารถแทนที่ได้ไม่ว่าจะเป็นเพียงโค้ดคำสั่งโปรแกรม (algorithm) หรือเครื่องจักรใดๆ" [5]

สิ่งนี้เน้นย้ำความเชื่อที่ว่าเอไอควรเสริมสร้างชีวิตของมนุษย์ แทนที่จะมาแทนที่หรือทำให้ชีวิตลดน้อยลง

ผลกระทบของปัญญาประดิษฐ์ขึ้นอยู่กับการออกแบบไม่เพียงเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับเจตนาของผู้พัฒนาด้วย เขายืนยันว่า

"เราไม่สามารถสันนิษฐานล่วงหน้าได้ว่าการพัฒนานั้นจะมีส่วนช่วยที่เป็นประโยชน์ต่ออนาคตของมนุษยชาติและสันติภาพระหว่างประชาชน" [6].

เป็นสิ่งจำเป็นที่นักพัฒนาจะต้องปฏิบัติอย่างรับผิดชอบและมีจริยธรรม เพื่อให้มั่นใจว่าเอไอ จะสนับสนุนคุณค่าพื้นฐานของมนุษย์ เช่น การรวมกลุ่มไม่แบ่งแยก ความโปร่งใส และความเท่าเทียมกัน

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงเรียกร้องให้มีการจัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแลเพื่อจัดการกับปัญหาด้านจริยธรรมที่เกิดจากปัญญาประดิษฐ์ โดยกล่าวว่า

"มีความจำเป็นต้องเสริมสร้างหรือถ้าจำเป็นต้องจัดตั้งหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบปัญหาด้านจริยธรรมที่เกิดขึ้นในสาขานี้" ท่านเน้นย้ำว่าการพัฒนาเอไอ ควรมีทิศทางไปสู่การแสวงหาสันติภาพและประโยชน์ส่วนรวม โดยเตือนถึงอันตรายจากความเห็นแก่ตัวและความต้องการผลกำไรที่อาจนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นอันตราย” [7].

จึงมีความกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่เอไอ จะทำให้ปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมกันแย่ลงในสังคม ท่านได้กล่าวว่า

"การพัฒนาทางเทคโนโลยีที่ไม่ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของมนุษยชาติทุกคนดีขึ้น... ไม่สามารถถือเป็นความก้าวหน้าที่แท้จริงได้" [8].

สิ่งนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของเขาที่จะทำให้มั่นใจว่าเอไอ จะมีส่วนช่วยที่ดีต่อสังคมและไม่ทำให้ช่องว่างที่มีอยู่ลึกขึ้น.

โดยสรุป พระสันตะปาปาฟรานซิสสอนว่าการใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างมีจริยธรรมเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ซึ่งต้องการความมุ่งมั่นต่อศักดิ์ศรีของมนุษย์ การพัฒนาที่รับผิดชอบ และการควบคุมดูแลเพื่อให้เทคโนโลยีทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมและส่งเสริมสันติภาพ

 

"เรามีความมั่งคั่งในเทคโนโลยี แต่อยากไร้ในมนุษยธรรม"

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสได้ส่งสารสำหรับวันสื่อสารสังคมโลกครั้งที่ 58 โดยกล่าวถึงโอกาสและการใช้ปัญญาประดิษฐ์ที่อันตราย เขากล่าวว่า

"ในช่วงเวลานี้ของประวัติศาสตร์ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะร่ำรวยในด้านเทคโนโลยีแต่ยากจนในด้านมนุษยธรรม การสะท้อนความคิดของเราต้องเริ่มต้นจากหัวใจของมนุษย์" [9]

โดยการเปรียบเทียบศักยภาพในการสร้างความมั่งคั่งทางเทคโนโลยีกับความเสี่ยงที่จะทำให้มนุษยชาติลดน้อยลง เขาเน้นย้ำถึงความกังวลที่สำคัญ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่รวดเร็วของเราอาจแซงหน้าการพัฒนาทางศีลธรรมและจริยธรรมของเราได้ เขาแนะนำว่า หากเราไม่ให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์ร่วมกัน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของเราอาจนำไปสู่โลกที่ขาดความเห็นอกเห็นใจ ความเข้าใจ และการเชื่อมโยงที่แท้จริง
ข้อความของพระสันตะปาปาส่งเสริมให้เราปลูกฝังและให้ความสำคัญกับคุณค่าของมนุษย์ เช่น ความเห็นอกเห็นใจ ความยุติธรรม และการแสวงหาสิ่งที่ดีร่วมกัน ในการมีปฏิสัมพันธ์กับปัญญาประดิษฐ์และในการกำหนดพัฒนาการของมัน

 

บทสรุป

  • คำสอนของท่านสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ได้วางรากฐานของการพัฒนาและการใช้ประโยชน์ของปัญญาประดิษฐ์โด้ยมี "แนวทางที่มุ่งเน้นมนุษย์เป็นสำคัญ"
  • สำหรับผู้พัฒนาและการใช้ประโยชน์จากเอไอ เราต้องไม่เลือกการปฏิบัติและใช้เอไอเพื่อเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น โดยเฉพาะในกลุ่มคนเปราะบาง (ผู้เยาว์ ผู้ไร้การศึกษา ผู้ด้อยโอกาสในสังคม ฯลฯ)
  • การใช้เอไอต้องมีหลักจริยธรรมและความผิดชอบต่อสังคม 
  • ข้อความของพระสันตะปาปาเป็นการเตือนที่สำคัญและตอบโจทย์ทางสังคมว่า.. "ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี" จะต้องมีความสมดุลกับการรักษา "ศักดิ์ศรีของมนุษย์" รวมไปถึงการส่งเสริมความ "ยุติธรรมทางสังคม" และการสร้างสังคมที่มีความเห็นอกเห็นใจและรวมเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น
  • ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่ปราศจากศีลธรรม ก็จะเป็นวิทยาการที่อันตราย หากการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์กระทำโดยปราศจากกฏระเบียบ มุ่งเน้นแต่ความก้าวหน้า แต่กลับทำให้ผู้คนเดือดร้อนลำบาก ก็จะหาใช่การพัฒนาที่แท้จริงไม่ 
  • สุดท้ายที่สุด เอไอก็จะเป็นหุ่นยนต์ที่รับใช้มนุษย์อยู่วันยันค่ำ หากแต่ว่ามนุษย์จะรับใช้กันและกัน โดยให้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีหรือไม่นั่น คำตอบของคำถามขึ้นอยู่กับเราแต่ละคน

อ้างอิง

[1] Address of His Holiness Pope Francis - Minerva Dialogues https://www.vatican.va/content/francesco/en/speeches/2023/march/documents/20230327-minerva-dialogues.html

[2] The effects of artificial intelligence on the future of humanity (by Pope Francis)
https://zenit.org/2024/06/14/the-effects-of-artificial-intelligence-on-the-future-of-humanity-by-pope-francis)

[3] Address of His Holiness Pope Francis - Minerva Dialogues

[4] LVII World Day of Peace 2024 - Artificial Intelligence and Peace, 2 https://www.vatican.va/content/francesco/en/messages/peace/documents/20231208-messaggio-57giornatamondiale-pace2024.html

[4] LVII World Day of Peace 2024 - Artificial Intelligence and Peace, 8

[5] To members of the Diplomatic Corps accredited to the Holy See (8 January 2024) https://www.vatican.va/content/francesco/en/speeches/2024/january/documents/20240108-corpo-diplomatico.html

[6] LVII World Day of Peace 2024 - Artificial Intelligence and Peace, 2

[7] LVII World Day of Peace 2024 - Artificial Intelligence and Peace, 2

[8] LVII World Day of Peace 2024 - Artificial Intelligence and Peace, 2

[9] Message of the Holy Father Francis for the 58th World Day of Social Communications, (24 January 2024) https://press.vatican.va/content/salastampa/en/bollettino/pubblico/2024/01/24/240124b.html

 

Written by 
บาทหลวง วรวุฒิ สารพันธุ์ C.Ss.R. JCL


Catholic Priest & Canonist
Author & Administrator
Faith4Thai.com

*juris canonici licentiatus
หรือ JCL เป็นปริญญาทางกฏหมายพระศาสนจักร

Email: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
FaceBook: Worawut Saraphan
Iine ID: mcssrsp


คำสอนพระสันตะปาปาฟรังซิสในเรื่องของปัญญาประดิษฐ์ (AI)

บทความที่เกี่ยวข้อง