Skip to main content

ผู้ใดรับฟังความจริง ผู้นั้นก็ฟังเสียงของเรา
(ยอห์น 18: 37)

ความจริงคือสิ่งไม่ตาย แต่ผู้ที่พูดความจริงอาจจะตายได้... นี้คือสิ่งที่พระเยซูเจ้าประสบ เพราะพระองค์มาเพื่อเป็นประจักษ์พยายานแก่ความจริง แล้ว “ความจริง” ที่ว่านี้หรืออะไรกันแน่?

ความจริงของบรรดาธรรมาจารย์และฟาริสี

ธรรมจารย์และฟาริสี คือผู้สอนพระคัมภีร์และหลักธรรมทางศาสนา แต่พวกเขากลับปฏิเสธที่จะสอน “ความจริง” ให้แก่ประชาชน เพราะแม้พวกเขาจะสอน “ความจริง” แต่พวกเขากลับไม่ฟังเสียงที่อยู่ในหัวใจ เป็นเสียงที่พระเป็นเจ้าทรงเรียกร้องให้พวกเขากลับใจ กลับใจจากความเคร่งคัดทางศาสนาและธรรมประเพณี จนหลงลืมความเมตตาและความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้แก่ผู้อยากไร้และด้อยโอกาสในสังคม พวกเขาตกอยู่ในกับดักแห่งเกียรติยศและศักดิ์ศรีของโลก เรียกตนเองว่าเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ เป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับพระเจ้า แต่ “ความจริง” แล้วใจของพวกเขายังห่างไกลจากพระเจ้ามากนัก จนในท้ายที่สุด พวกเขาปฏิเสธและเป็นผู้ประหาร “องค์แห่งความจริง” คือพระเยซูเจ้านั่นเอง

ความจริงของของปีลาส

ปีลาสถูกส่งมาจากจักรวรรดิโรมัน เพื่อมาปกครองชาวยิว เขาจึงต้องสร้างผลงานคือการรักษาความสงบด้วยการเร่งปราบปรามพวกที่ต่อต้านจักรวรรดิ ปีลาสจึงถามพระเยซู ถามแล้วถามอีกว่า “เจ้าเป็นกษัตริย์ของชาวยิวหรือ” ปีลาสไม่ต้องการจะรู้ว่าชาวยิวจะมีกษัตริย์สักอีกองค์ หรือใครที่จะผู้นำของชาวยิว เขาเพียงต้องการจะจับผิดในคำตอบของพระเยซูว่า พระองค์ทำตนเป็นกบฏ เพื่อจะได้ประหารพระองค์ให้แล้วๆ ไป เรื่องจะได้จบๆ อย่างสงบและเพื่อให้ฝูงชนรู้สึกพอใจ ไม่มีการก่อจารจล

สิ่งนี้คือข้อเท็จจริง แต่ “ความจริง” ก็คือ พระเยซูผู้นี้เป็นผู้บริสุทธิ์ และความผิดที่พระองค์ถูกกล่าวหานั้นก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรจนถึงกับต้องประหารชีวิตพระองค์

แต่สุดท้าย ปีลาสก็ล้างมือเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าเขาจะไม่ยุ่งกับเรื่องนี้ และยอมให้คนประหารชีวิตผู้บริสุทธิ์ผู้นี้ ท้ายที่สุดปีลาสก็ปฏิเสธ “ความจริง” ที่อยู่ในใจของเขาเอง

ความจริงของพระเยซูเจ้า

พระเยซูเจ้าทรงรู้ว่า พระองค์ต้องถูกคนใส่ร้าย ปรักปรำและพระองค์ต้องตาย นี้คือ “ความจริง” สำหรับพระองค์ และความจริงนี้คือ การทำตามน้ำพระทัยของพระบิดาสวรรค์ ด้วยเห็นนี้ พระองค์จึงได้ไถ่บาปมนุษย์ ด้วยการยอมรับชะตากรรมอันโหดร้ายนี้ และสิ่งนี้ทำให้พระองค์ทรงเป็น “หนทาง ความจริง และชีวิต” สำหรับพวกเรา

ความจริงของชาวเรา

ในความเป็นจริงของชีวิต บางทีการยอมรับ "ข้อเท็จจริง" ของชีวิตนั่น เป็นสิ่งที่โหดร้าย เพราะหลายต่อหลายครั้งเรามีประสบการณ์ของความรู้สึกที่ท้อแท้ ถูกกระทำ ถูกโกง ถูกทรยศ และถูกใส่ร้าย บางทีชีวิตดูเหมือนจะมืดมน มองไปที่ใดก็มีแต่ความมืด สำหรับบางคน เขาจะบอกว่า "ฉันถูกฝังทั้งเป็น" แต่สำหรับบางคนกลับบอกว่า "ฉันกำลังถูกเพาะปลูกอยู่" และสิ่งที่มืดมิดอยู่นี้เป็นเพียงใต้ดิน ที่สักวันหนึ่งฉันจะเติบโต เบ่งบานขึ้น และมีชีวิตที่ดีกว่าเดิม และสิ่งนี้คือ "ความจริงของชีวิต" เฉกเช่นกับชีวิตของพระเยซู ที่พระองค์ต้องถูกฝังลงดิน เพื่อพระองค์จะได้ทรงเปลี่ยนแปลง ในการกลับคืนชีพ เป็นชีวิตแห่งปัสกา เป็นชีวิตแห่งนิรันดร และเราจะไม่ต้องการมีส่วนร่วมกับ "ความจริง" ของชีวิตนี้เชียวหรือ?

 

 

ในสมัยนั้นมีหมออยู่บ้างเหมือนกัน แต่มีน้อยและหายาก หมอมีความรู้เรื่องโรคภัยไข้เจ็บจํากัดมากและคนจนไม่มีปัญญาหาเงินมาจ่ายค่าหมอได้ นอกนั้นยังมีหมอดูและหมอผีเข้ามาช่วยบรรเทาทุกข์บ้าง  หมอดูช่วย วินิจฉัยว่า บาปที่เป็นต้นเหตุของโรคภัยไข้เจ็บอยู่ที่ไหน ส่วนหมอผีบางทีก็ทําให้ดูเหมือนว่าสามารถไล่ผีออกจากคนป่วยได้จริง พวกหมอผีมักจะทําจารีตบางอย่างซึ่งประกอบด้วยคาถา ท่าทางที่เป็นสัญญลักษณ์ วัตถุบางอย่าง และเรียกชื่อผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า จารีตดังกล่าวก็เหมือนกับไสยศาตร์ทั่วไป

1. พระเยซูรักษาโรค

    พระเยซูไม่เคยทําอะไรแบบพวกหมอผี  จริงอยู่ พระเยซูเคยใช้นํ้าลาย ซึ่งคนเข้าใจกันว่ามีสรรพคุณทางยา(มก.๗,๓๓;๘,๒๓) แต่เจตนาของพระเยซูก็คือ มีการสัมผัสกับคนป่วยในแบบใดแบบหนึ่ง (มก.๑,๓๑;๑,๔๑; ๖,๕๖; ๘,  ๒๒-๒๕) พระเยซูแตะต้องคนป่วย จับมือคนป่วย วางมือบนหัวคนป่วย แต่พระเยซูไม่เคยใช้คาถาหรือเรียกชื่อผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า  อาจเป็นเพราะเหตุนี้ที่มีคนกล่าวหาว่าพระเยซูรักษาคนป่วย ด้วยอํานาจของเจ้าแห่งปิศาจ

     พระเยซูได้ใช้การภาวนาเหมือนกัน แต่ความคิดแตกต่างไปจากเรื่องราวในพระคัมภีร์ที่พูดถึงผู้ศักดิ์สิทธิ์บางท่านที่ภาวนาขอฝนหรือรักษาโรค ในกรณีเช่นนั้นผู้ภาวนาอาศัยความศักดิ์สิทธิ์ของตนวิงวอนขอจากพระเจ้าเพื่อผู้อื่น แต่สําหรับพระเยซูจุดสําคัญคือความเชื่อ ผู้ภาวนาคือผู้มีความเชื่อ และเป็นความเชื่อของตนที่ทําให้ตนหายจากโรค (มธ.๒๑,๒๒)

2. ความเชื่อเป็นเหมือนพระเจ้า

           พระเยซูบอกกับคนที่หายจากโรคเสมอว่า "ความเชื่อของเจ้าทําให้เจ้าหายจากโรค" คําพูดเช่นนี้เป็นเอกลักษณ์ของพระเยซู ทําให้พระเยซูไม่เหมือนใครทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นหมอ หมอผี หรือผู้ศักดิ์สิทธิ์ พระเยซูพูดเช่นนี้แสดงว่า ไม่ใช่พระเยซูที่รักษาโรค  ไม่ใช่เป็นเพราะพลังจิตของพระเยซู ไม่ใช่เส้นสายอะไรที่พระเยซูมีกับพระเจ้า ไม่ใช่คาถาอาคม ไม่ใช่ฤทธิ์ของนํ้าลายและที่น่าสังเกตคือ พระเยซูไม่ได้พูดตรง ๆ ว่าพระเจ้าทําให้หายโรค แต่พูดว่า "ความเชื่อของเจ้าทําให้เจ้าหายโรค"

      พระเยซูก็เป็นเหมือนชาวยิวโดยทั่วไป ที่เชื่อว่า "ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปได้สําหรับพระเจ้า" (มก.๑๐,๒๗) แต่ที่ต่างไปจากคนอื่นก็คือ พระเยซูเชื่อด้วยว่า "ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปได้สําหรับใครก็ตามที่มีความเชื่อ" (มก.๙,๒๓) คนที่มีความเชื่อกลับเป็นเหมือนพระเจ้าซึ่งมีอํานาจทุกอย่าง "ถ้าท่านมีความเชื่อเท่าเมล็ดมัสตาร์ด ไม่มีอะไรที่จะเป็นไปไม่ได้สําหรับท่าน ถ้าท่านสั่งภูเขานี้ว่า จงเคลื่อนออกไปมันก็จะเคลื่อนออกไป" (มธ๑๗,๒๐)

      เมล็ดมัสตาร์ดและการย้ายภูเขาเป็นเพียงคําเปรียบเทียบ ความเชื่อเปรียบเหมือนเมล็ดมัสตารด์  แม้จะดูเล็กและไม่มีความสําคัญ แต่สามารถทําให้เกิดสิ่งใหญ่โต แม้กระทั่งสิ่งที่เรียกว่าเป็นไปไม่ได้ ซึ่งเปรียบเหมือนการย้ายภูเขา หรือย้ายต้นไม้ สําหรับพระเยซู ความเชื่อเป็นพลังมหาศาล พลังที่สามารถบรรลุถึงสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ สําหรับพระเยซู ความเชื่อเท่านั้นที่จะทําให้หายจากโรคภัย ความเชื่อเท่านั้นที่จะช่วยชีวิต ความเชื่อเท่านั้นที่จะทําให้โลกอยู่รอด

      ความเชื่อที่ว่ามานี้ ไม่ใช่การยอมรับระบบความคิด (creed) ทฤษฎีทางศาสนา คําสอน (doctrines)หรือชุดข้อความเชื่อ (dogmas) คนป่วยมีความเชื่อ หมายความว่าเขาเชื่อมั่นว่าเขามีทางหายจากโรคได้และเขาจะต้องหายแน่นอน เมื่อความเชื่อมั่นนี้แรงพอ ก็เกิดการหายจากโรค ถ้าคนหนึ่งพูดด้วยความมั่นใจมากพอ โดยไม่มีความสงสัยแคลงใจเลย แต่เชื่อมั่นว่าสิ่งที่เขาพูดจะเกิดขี้น มันก็จะเกิดขึ้น (มก.๑๑,๒๓) และถ้าท่านภาวนาขอด้วยความมั่นใจว่าท่านได้รับมันแล้ว ท่านก็ได้รับจริง (มก.๑๑,๒๔) แต่ถ้าท่านสงสัยหรือลังเลใจ ก็จะไม่มีอะไรเกิดขึ้น ความคิดนี้แสดงออกมาในเรื่องเปโตรเดินบนผิวนํ้า พอเปโตรเริ่มไม่แน่ใจ เขาก็เริ่มจมลง (มธ.๑๔,๒๘-๓๑) เมื่อศิษย์ของพระเยซูเริ่ม "ขับไล่จิตชั่ว" นั้น ทําไม่สําเร็จเพราะความมั่นใจมีน้อยและลังเล พวกเขามีความเชื่อน้อยเกินไป (มธ.๑๗,๑๙-๒๐)

      ความเชื่อไม่ใช่เป็นเพียงพลังจิตที่มีอิทธิพลต่อร่างกาย มันเป็นอะไรมากกว่านั้น ความเชื่อเป็นความมั่นใจว่าจะมีอะไรบางอย่างเกิดขึ้น เพราะว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ดี เพราะว่าความดีจะชนะความชั่วร้าย ความเชื่อเป็นความมั่นใจว่าพระเจ้าดีต่อมนุษย์ และพระเจ้าจะมีชัยชนะเหนือความไม่ดีต่าง ๆ พลังแห่งความเชื่อ คือพลังแห่งความดี พลังแห่งความจริง นั่นคือพลังของพระเจ้า

      สิ่งที่ตรงข้ามกับความเชื่อคือ การปลง การปลงไม่ใช่ปรัชญาของสมัยใดสมัยหนึ่งหรือของพวกใดพวกหนึ่ง แต่อยู่ในใจคน ทุกแห่งหน ทุกยุคทุกสมัย และแสดงออกมาในคําพูดต่าง ๆ  เช่น  "แก้ไขอะไรไม่ได้หรอก" "คุณจะไปเปลี่ยนโลกนี้ได้อย่างไร"  "ลงมายืนอยู่บนดินดีกว่า" "ไม่มีหวัง" "ยอมรับความจริงดีกว่า" หรือ "ปลงเสียเถิด"  นี่เป็นคําพูดของคนที่ไม่เชื่อในพลังของพระเจ้า หรือไม่หวังในสิ่งที่พระเจ้าสัญญา

        ความเชื่อที่เราพูดถึงข้างต้นนี้เกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดกับความหวัง ตามความหมายในพระคัมภีร์ คําว่าความเชื่อเกือบจะแยกไม่ออกจากคําว่าความหวัง (ฮีบรู ๑๑,๑; โรม ๔,๑๘-๒๒) เราอาจพูดได้ว่าความเชื่อกับความหวังเป็นเหรียญอันหนึ่งที่มี ๒ ด้าน และการขาดความเชื่อกับการปลงเป็นเหรียญอีกอันหนึ่งที่มี ๒ ด้านเช่นกัน

3. การแพร่ความเชื่อ

      ในสมัยของพระเยซู คนจน คนบาป คนป่วย พูดได้คําเดียวว่า "ปลง" แต่การที่พระเยซูรักษาโรคกายโรคใจได้สําเร็จ ก็เป็นความเชื่อที่มีชัยชนะเหนือการปลง คนป่วยที่หมดหวังและทนอยู่กับความเจ็บป่วยได้รับการกระตุ้นเตือนให้เชื่อว่าเขาจะหายได้และจะต้องหาย  ความเชื่อของพระเยซูเองมั่นคงแข็งแรงมาก  และสามารถ ปลุกความเชื่อให้เกิดขึ้นในตัวผู้อื่นได้ เมื่อคนมาสัมผัสพระเยซู เขา "ติด" ความเชื่อไปจากพระเยซู มันเป็นเหมือนโรคติดต่อ ความเชื่อสอนกันไม่ได้ แต่ติดต่อกันได้ มีบางคนที่เข้าใจและร้องขอพระเยซูให้ช่วยเพิ่มความเชื่อให้ (ลก.๑๗,๕) หรือขอให้พระเยซูช่วยแก้การขาดความเชื่อ (มก.๙,๒๔) พระเยซูเป็นผู้ก่อให้เกิดความเชื่อ แต่เมื่อมันเกิดแล้วมันก็สามารถแพร่ต่อ ๆ กันไปได้ ความเชื่อของคนหนึ่งแพร่ไปให้อีกคนหนึ่งพระเยซูส่งพวกสาวกออกไปแพร่ความเชื่อให้ติดต่อไปยังคนอื่น  ๆ

      ในที่ใดที่บรรยากาศแห่งความเชื่อ เข้าแทนที่บรรยากาศแห่งการปลง   สิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ก็เกิดขึ้น  ที่นาซาเร็ทบ้านเกิดของพระเยซู มีบรรยากาศที่ขาดความเชื่อ จึงไม่มีอะไรน่าพิศวงเกิดขึ้น (มก.๖,๕-๖) ส่วนในที่อื่นๆในแคว้นกาลิลี คนจำนวนมากมายหายจากโรคภัยไข้เจ็บ คนถูกผีสิงก็กลับเป็นปกติ คนโรคเรื้อนก็หายขาด  อัศจรรย์แห่งการปลดปล่อยเริ่มต้นแล้ว

4. อัศจรรย์

      คําถามที่ตามมาก็คือ มันเป็น "อัศจรรย์" จริง ๆ หรือ ?  ทั้งผู้ที่เชื่อและไม่เชื่อเกี่ยวกับอัศจรรย์ ต่างก็เข้าใจเหมือนกันว่า คําว่า "อัศจรรย์" หมายถึงสิ่งที่ขัดกับกฎธรรมชาติ และอธิบายไม่ได้ด้วยหลักทางวิทยาศาสตร์และเหตุผล   แต่นักพระคัมภีร์บอกเราว่า ที่จริงแล้วในพระคัมภีร์ "อัศจรรย์" ไม่ได้หมายถึงสิ่งที่ขัดกับกฎธรรมชาติเลย "กฎธรรมชาติ" เป็นศัพท์วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ในพระคัมภีร์ไม่มีคําว่า "ธรรมชาติ" หรือ "กฎธรรมชาติ" โลกเป็นสิ่งสร้างของพระเจ้า และทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในโลก ไม่ว่าจะเป็นสิ่งธรรมดาสามัญ หรือสิ่งที่ผิดไปจากธรรมดา เป็นสิ่งที่พระเจ้าจัดสรรให้ทั้งนั้น พระคัมภีร์ไม่แยกว่าเหตุการณ์ใดเป็นธรรมชาติ เหตุการณ์ใดเหนือธรรมชาติ ทุกอย่างเนื่องมาจากพระเจ้าทั้งนั้น ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

      ในพระคัมภีร์ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นการกระทําของพระเจ้า และบางอย่างเป็น "อัศจรรย์" ของพระเจ้า ก็เพราะมันสามารถสร้างความพิศวงหรือความประหลาดใจให้แก่เรา โลกที่พระเจ้าสร้างมานี้เป็นอัศจรรย์ ต้นมัสตาดขนาดใหญ่เติบโตขึ้นมาจากเมล็ดเล็ก ๆ ก็เป็นอัศจรรย์ ชาวอิสราเอลหลุดพ้นจากการเป็นทาสในอียิปต์ก็เป็นอัศจรรย์  อาณาจักรของพระเจ้าก็เป็นอัศจรรย์    โลกนี้เต็มไปด้วยสิ่งอัศจรรย์สําหรับผู้ที่มีตามองเห็นอัศจรรย์ ถ้าเราไม่สามารถเห็นอะไรแล้วเกิดความรู้สึกพิศวงเลย นอกจากจะเห็นสิ่ง "ผิดธรรมชาติ" จึงจะรู้สึกตื่นเต้น ในกรณีนี้เราคงจะเป็นผู้น่าสงสารมาก

      กฎธรรมชาติเป็นทฤษฎี (สมมุติฐาน) ทางวิทยาศาสตร์ มันมีความสําคัญต่อมนุษย์เรามาก  แต่กฎธรรมชาติ ต้องได้รับการทบทวนอยู่ตลอดเวลาเมื่อมีการศึกษาค้นคว้าพบข้อเท็จจริงใหม่เพิ่มเติม ที่เคยถือกันว่าเป็นกฎธรรมชาติหลายข้อในศตวรรษ ๑๗ ปัจจุบันก็ถูกล้มล้างไปแล้ว นักวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือมักจะบอกเราว่าสมมุติฐานทางวิทยาศาสตร์ล่าสุด ก็ยังไม่ใช่สุดทีเดียว มันอาจเปลี่ยนไปได้ในอนาคตถ้ามีข้อมูลเพิ่มเติม นักวิทยาศาสตร์หลายคนกล้ารับว่า ในหลักการแล้ว สิ่งที่เรียกกันว่า "เหนือธรรมชาติ" จะถูกตัดออกไปเลยไม่ได้ ยังมีสิ่งเร้นลับอีกมากในโลกที่เรายังค้นไม่พบและยังไม่เข้าใจ

      ดังนั้น กฎธรรมชาติไม่ใช่เงื่อนไขที่จะตัดสินว่า อะไรเป็นอัศจรรย์ อะไรไม่ใช่ มีบางอย่างที่เห็นชัด ๆ ว่ามันขัดกับกฎธรรมชาติ แต่เราก็ไม่เรียกว่าเป็นอัศจรรย์หรือเป็นการกระทําของพระเจ้า เช่น การงอช้อนส้อมด้วยความคิด หรือกายกรรมของพวกโยคี ตรงกันข้ามบางอย่างแม้จะอธิบายได้ว่าเป็นไปตามธรรมชาติ แต่ก็ถือกันว่าเป็นอัศจรรย์  เช่น การข้ามทะเลแดงของพวกยิวไปสู่อิสรภาพ  (นักพระคัมภีร์ชี้แจงว่าที่จริงแล้วไม่ใช่ทะเล แต่เป็นบึง)  สําหรับชาวยิว เหตุการณ์นี้แสดงว่าพระโปรดแท้ ๆ จึงหลุดพ้นไปได้ และนี่ก็กลายเป็นอัศจรรย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในพระคัมภีร์(พันธสัญญาเดิม) ในการเล่าเรื่องนี้ให้ลูกหลานฟังทุกปี ก็มีการแต่งเติมให้เหตุการณ์นี้สวยงามระทึกใจเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพื่อยํ้าถึงความน่าพิศวงและพระคุณของพระเจ้า

      เราจึงต้องเข้าใจว่า ในพระคัมภีร์ อัศจรรย์คือการกระทําของพระเจ้าที่ค่อนข้างจะแปลกไปกว่าธรรมดาและทําให้คนรู้สึกพิศวงและเป็นที่ตื่นตาตื่นใจ ในกรณีเช่นนี้ก็ถือว่ามันเป็น "เครื่องหมาย " (sign) ที่แสดงถึงพลังของพระเจ้า แสดงถึงพระเมตตาของพระองค์ที่จะช่วยและปลดปล่อย

      แล้วเราจะต้องคิดอย่างไรกับ "อัศจรรย์" ของพระเยซูในหนังสือพระวรสาร ? ในวงการศึกษาพระคัมภีร์ มีทฤษฎีหนึ่งที่มีหลักฐานสนับสนุนมากพอ คือ มาร์โก ผู้เขียนพระวรสารฉบับแรกใน ๔ ฉบับ รู้สึกไม่พอใจที่ว่า ในกลุ่มคริสตชนของท่าน  ภาพพจน์เด่นของพระเยซู  คือเป็นอาจารย์ พวกที่ไม่เคยรู้จักพระเยซูโดยตรง ก็มารู้จักภายหลังโดยทางคําสอนและคําเปรียบเทียบ มาร์โกจึงอยากแก้ภาพพจน์นี้ให้สมดุลย์ จึงติดต่อกับชาวบ้านธรรมดาหลายคนที่เคยรู้จักพระเยซูในแคว้นกาลิลี และชาวบ้านเหล่านี้ ซึ่งหลายคนไม่ได้กลับเป็นคริสตชน ก็ได้เล่าเรื่องราวที่ประทับใจชาวบ้านจนๆ  เรื่องที่ประทับใจมากที่สุดก็คืออัศจรรย์  อัศจรรย์ย่อมน่าสนใจมาก กว่าคําสอนหรือความคิดต่างๆ  ยามผิงไฟตอนกลางคืนก็เอาขึ้นมาเล่าสู่กันฟัง เล่าไปเล่ามาก็มีการเพิ่มเติมให้น่าตื่นเต้นยิ่งขึ้น

      เรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับอัศจรรย์ของพระเยซูส่วนมากก็คงได้มาด้วยวิธีนี้ อาจมีอีกบางอย่างที่มาร์โกได้มาทางอัครสาวกเปโตรหรือสาวกอื่น ๆ   เรื่องทั้งหมดนี้ มาร์โกไม่ได้รวบรวมและบันทึกลงไปด้วยหลักการของนักประวัติศาสตร์สมัยใหม่ มาร์โกยึดแหล่งที่มาของเรื่องราวเหล่านี้อย่างเคร่งครัด (ไม่ใช่ฟังจากชาวบ้านมาแล้ววินัจฉัยกลั่นกรองข้อมูลตามวิธีสมัยใหม่) เพราะอย่างไรเสีย เรื่องราวอัศจรรย์เหล่านี้เป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดที่จะถ่ายทอดพระเยซูไปให้ผู้อ่าน "ภาษาอัศจรรย์" เป็นภาษาที่คนสมัยนั้นชอบและเข้าใจได้ง่าย   ผู้เขียนพระวรสารอีก ๒ คน คือ มัทธิวและลูกา คงจะได้เอาอย่างมาร์โก ส่วนยอห์นผู้เขียนคนที่ ๔ มีแหล่งข้อมูลทางอื่น (ยอห์นใช้คําว่า "เครื่องหมาย" หรือ "กิจการ" แทนที่จะใช้คําว่าอัศจรรย์)

      เป็นที่เชื่อได้ว่า  เรื่องราวอัศจรรย์ที่มาถึงมือเรานี้ ได้ผ่านการตกแต่งเพิ่มเติมให้สวยงามและยิ่งใหญ่ และนักพระคัมภีร์ยืนยันได้ว่า บางเรื่องก็เริ่มจากเป็นเหตุการณ์ธรรมดาสามัญ แต่มาถึงเรากลายเป็นเหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้น (เช่นการเดินบนนํ้า    การทวีขนมปัง   การสาบต้นมะเดื่อ    การเปลี่ยนนํ้าเป็น

เหล้าองุ่น)

      อย่างไรก็ตาม เป็นที่ยืนยันได้แน่ชัดทางประวัติศาสตร์ว่า พระเยซูได้ทําสิ่งอัศจรรย์จริง ได้ขับไล่ผี ได้รักษา คนเจ็บป่วยให้หาย ซึ่งได้สร้างความประหลาดใจให้กับคนที่เห็น แต่สิ่งที่น่าสังเกตมาก คือทั้งที่ผู้เขียนพระวรสารพยายามรวบรวมเรื่องราวที่ถือกันว่าเป็นอัศจรรย์ แต่ก็บันทึกลงอย่างตรงไปตรงมาด้วยว่า พระเยซูมีความลังเลใจเป็นอย่างมากในการทําอัศจรรย์

5. พระเยซูทำอัศจรรย์

      หลายครั้งพวกฟาริสีเรียกร้องให้พระเยซูทําอัศจรรย์ (ขอเครื่องหมายจากสวรรค์) แต่พระเยซูก็ปฏิเสธทุกครั้ง (มก.๘,๑๑-๑๓; ลก.๑๑,๑๖; ยน.๒, ๑๘; ยน.๔,๔๘; ยน.๖,๓๐) สิ่งที่พวกฟาริสีต้องการคือ ให้พระเยซูทําสิ่งที่ประหลาดอัศจรรย์ เพื่อยืนยันว่าตนมีอํานาจมาจากพระเจ้าจริง ถ้าไม่มีอัศจรรย์ยืนยัน จะเชื่อพระเยซูได้อย่างไร แต่พระเยซูก็ไม่ยอมทําเครื่องหมายอะไรให้เห็นทั้งนั้น และคิดว่าพวกที่อยากเห็นอัศจรรย์เพื่อเป็นการยืนยันอํานาจพระเจ้า เป็นพวกที่ชั่วช้า (ลก.๑๑-๒๙)

      พระเยซูไม่เหมือนกับผู้ศักดิ์สิทธิ์อื่นๆที่มีพูดถึงในพระคัมภีร์ พระเยซูถือว่า คนที่พยายามจะทําสิ่งอัศจรรย์เพื่อพิสูจน์ว่าตนมีอํานาจมาจากพระเจ้า เป็นคนที่ถูกมารหลอกลวง  เพราะเหตุนี้ จึงมีเล่าถึงการที่พระเยซูปฏิเสธไม่ยอมตามการล่อลวงให้กระโดดจากยอดพระวิหาร (ลก.๑๔,๑๒) ส่วนผู้ศักดิ์สิทธิ์สมัยก่อนพระเยซูเกือบทุกราย อดไม่ได้ที่จะต้องทําอะไรบางอย่างเพื่อพิสูจน์ตนเอง

      หลายคนเข้าใจผิดว่า  พระเยซูทําอัศจรรย์รักษาโรคภัยไข้เจ็บ  เพราะมีจุดประสงค์ที่จะพิสูจน์ตนเองว่า  เป็นพระผู้ไถ่  หรือเป็นบุตรพระเจ้า   ที่จริงแล้ว สาเหตุเดียวที่พระเยซูทําสิ่งอัศจรรย์ก็คือ ความสงสาร  พระเยซู  ต้องการช่วยประชาชนให้หลุดพ้นความทุกข์ทรมาน และหลุดจากความหมดหวังนั่งปลงในความทุกข์เวทนา พระเยซูเชื่อมั่นว่าสิ่งนี้เป็นไปได้ ต้องทําได้ และที่สําเร็จก็เพราะพลังแห่งความเชื่อนี้ พระเยซูไม่ถือว่าตัวเองเป็นคนเดียวที่มีเอกสิทธิ์ในความสงสาร ในความเชื่อและพลังมหัศจรรย์ พระเยซูพยายามทําให้คนรอบข้างเกิดมีความสงสารและความเชื่อเดียวกันนี้ เพื่อจะได้ให้พลังของพระเจ้าแสดงบทบาทในท่ามกลางประชาชน

      อย่างไรก็ตาม   แม้พระเยซูไม่ต้องการจะพิสูจน์อะไร  แต่สิ่งที่น่าอัศจรรย์ใจทั้งหลายที่เกิดขึ้น ก็แสดงให้เห็นว่าพระเจ้ากําลังช่วยประชาชนให้รอด โดยอาศัยความเชื่อที่พระเยซูก่อให้ลุกขึ้น

คำถาม

1. พระเยซูรักษาโรคด้วยวิธีใด ? 

2. “ความเชื่อเป็นเหมือนพระเจ้า”  มีความหมายต่อท่านอย่างไร ?

3. “การแพร่ธรรม” ในบริบทที่ท่านอ่านข้าบนนี้ คืออะไร ?

4. อัศจรรย์ในพระวรสารมีความหมายต่อท่านอย่างไร ?

    ยอห์นแบปติสต์เทศน์ให้คนบาป ผู้ศักดิ์สิทธิ์ชื่อ ฮันนีนา เบนโดซ ขับไล่จิตชั่วออกจากคนบาป ฝ่ายพระเยซูทําตัวเป็นหนึ่งในพวกคนบาป เข้าร่วมวงสมพงษ์กับคนขอทาน คนเก็บภาษีและหญิงโสเภณี

    ในสังคมที่มีกําแพงกั้นระหว่างชนชั้น เชื้อชาติหรือกลุ่ม วิธีรักษากําแพงให้คงอยู่ก็คือต้องห้ามการคบหาสมาคมกัน ไม่ว่าจะเป็นการกินอาหารหรือพูดคุยสนุกสนานเฮฮากับชนชั้นอื่นหรือกลุ่มอื่น ในแถบตะวันออกกลาง การกินอาหารด้วยกันเป็นการแสดงออกถึงความสัมพันธ์อันลึกซึ้งแน่นแฟ้นที่มีต่อกัน พวกเขาจะไม่ยอมร่วมโต๊ะอาหารกับชนชั้นตํ่ากว่าตน หรือกับกลุ่มชนที่ตนไม่นับถือ

1. พระเยซูอยู่ข้างคนจน คนบาป

    การที่พระเยซูเข้าร่วมวงกับพวกที่ถือกันว่าเป็นคนบาป ทําให้คนประหลาดใจมาก การทําเช่นนี้แสดงว่าพระเยซูยอมรับพวกคนบาป ให้ความเคารพนับถือ “เป็นเพื่อนกับคนเก็บภาษีและคนบาป” (มธ.๑๑,๑๙)  แต่สําหรับคนจนและคนน่าสงสารทั้งหลาย  การที่พระเยซูทำเช่นนี้มีผลน่าอัศจรรย์

    มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่แน่ชัดว่าพระเยซูเข้าร่วมสังคมกับคนบาป เป็นไปไม่ได้ที่ศิษย์รุ่นหลังจะแต่งเติมเรื่องราวอันน่าตําหนินี้ขึ้นมาภายหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อศิษย์รุ่นหลังส่วนใหญ่มีฐานะทางสังคมสูงกว่าคนที่ห้อมล้อมรอบข้างพระเยซู ตรงกันข้ามเราอาจจะต้องสงสัยว่า ศิษย์รุ่นหลังได้กลบเกลื่อนเรื่องราวประเภทนี้ไปมากน้อยแค่ไหน หลักฐานที่เรามีก็เพียงพอที่จะแสดงว่า พระเยซูเป็นเพื่อนร่วมโต๊ะกับคนบาป

    "พวกเขาพูดว่า ชายคนนี้เป็นเจ้าภาพเลี้ยงคนบาปและสังสรรค์กับพวกนั้น" (ลก.๑๕,๒) "พระเยซูกินเลี้ยงในบ้านของตน คนเก็บภาษีและคนบาปหลายคนก็มากินเลี้ยงกับพระเยซูและสาวก เพราะพวกนี้หลายคนมาเป็นสาวกของพระเยซู" (มก.๒,๑๕; มก.๙,๑๐; ลก.๕,๒๙)  "...แล้วพวกท่านก็ว่า นี่อย่างไรล่ะ นักกินนักดื่ม เพื่อนของคนเก็บภาษีและคนบาป" (ลก.๗, ๓๔; มธ.๑๑,๑๙) พระเยซูจัดเลี้ยงคนบาปในบ้านของตน โดยทั่วไปเรามักเข้าใจอย่างเถรตรงเกินไปว่าพระเยซูไม่มีที่จะนอน (มธ.๘,๒๐; ลก.๙,๕๘) เนื่องจากพระเยซูเดินทางเกือบตลอดเวลา ดังนั้นบ่อยครั้งที่ต้องหลับนอนตามสุมทุมพุ่มไม้หรือตามบ้านเพื่อนฝูง แต่พระเยซูมีบ้านของตนที่คาเปอร์นาอุม  อาจเป็นบ้านที่แบ่งส่วนกันอยู่กับเปโตรและอันดรู (มก.๑, ๒๑-๒๙-๓๕; ๒,๑; มธ.๔,๑๓) ใน มก.๒,๑๕ เมื่อพูดถึง "บ้านของเขา" อาจหมายถึงบ้านของเลวี ลูกาก็เข้าใจดังนั้น (ลก.๕,๒๙) แต่นักพระคัมภีร์หลายคนคิดว่าหมายถึงบ้านของพระเยซูจะถูกต้องมากกว่า เพราะว่าถ้าพระเยซูไม่มีบ้านอยู่ ก็ไม่รู้จะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงคนได้อย่างไร (ลก.๑๕,๒)

    เนื่องจากมีการพูดถึงการเชิญแขกและ "เอนกาย" กินอาหาร แสดงว่าการกินที่พูดถึงในพระวรสาร หมายถึงการกินเลี้ยงหรือปาร์ตี้ การกินอาหารธรรมดาจะนั่งกิน แต่ถ้าเป็นการกินเลี้ยงก็มีธรรมเนียมเอนกายกิน(ครึ่งนั่งครึ่งนอน) ซึ่งมีเวลาพูดคุยกันยาวนาน การกินเลี้ยงของพระเยซูไม่ใช่ว่าจะต้องจัดอย่างสวยงาม    หรืออาหารดี ๆ มากมาย  (ลก.๑๐,๓๘-

๔๒) การสังสรรค์พูดคุยกันมีความสําคัญกว่ามาก แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากการกินเลี้ยงแบบนี้เป็นสิ่งธรรมดามากในชีวิตของพระเยซู จึงไม่ต้องแปลกใจที่ผู้ไม่หวังดีได้ขนานนามพระเยซูว่า "นักกินนักดื่ม"

    ครั้งหนึ่งพระเยซูบอกเจ้าภาพผู้หนึ่ง (คงจะเป็นชนชั้นกลาง) ว่าต้องเชิญคนจน คนพิการ คนง่อยเปลี้ยเสียขาและคนตาบอด แทนที่จะเชิญแต่เพื่อนฝูงญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านที่มีเงินมีทองเท่านั้น(ลก.๑๔,๑๒-๑๓) เราเชื่อได้ว่าพระเยซูต้องทําสิ่งที่ตนสอนคนอื่น ฉะนั้นเป็นที่แน่นอนว่า พระเยซูมักจะเชิญพวกคนเหล่านี้มากินเลี้ยงอยู่เสมอ

    นอกจากนี้พระเยซูคงจะได้เชิญพวกฟาริสีและพวก "ผู้น่านับถือ" มากินเลี้ยงด้วย พวกนี้เชิญพระเยซูไปกินที่บ้าน (ลก.๗,๓๖;๑๑,๓๗;๑๔,๑) พระเยซูก็ต้องเชิญตอบเช่นเดียวกัน แต่พวกฟาริสีจะมากินเลี้ยงที่บ้านพระเยซูร่วมกับพวกคนขอทานได้อย่างไร ถ้าพวกฟาริสียอมรับเชิญก็ต้องถือว่าตนเสียเกียรติเป็นแน่ คงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงแล้วกลายมาเป็นนิทานเปรียบเทียบ (ลก.๑๔,๑๕-๒๔) ผู้ได้รับเชิญคงจะเป็น "ผู้น่านับถือ" ที่หาข้อแก้ตัวไม่ไปร่วมงานเลี้ยง พระเยซูคงจะได้ส่งสาวกออกไปตามถนนและซอกซอยเพื่อเชิญคนจนคนง่อยคนตาบอด...และบังคับให้เข้ามา พวกขอทานคงจะไม่กล้าเข้า และคนบาปอื่น ๆ ก็คงจะลังเล จึงต้องมีการบังคับกันอยู่บ้าง และคนเหล่านี้ก็คงไม่กล้าเชิญพระเยซูไปกินที่บ้านของตนเป็นการตอบแทน เนื่องจากกฎทางสังคม พระเยซูจึงต้องเชิญตัวเองไปในบางครั้ง เช่นในกรณีของซัคเคียส (ลก.๑๙,๑-๑๐)

    ซัคเคียสไม่ใช่คนจนทางเศรษฐกิจ เขาเป็นคนเก็บภาษีระดับหัวหน้าในเมืองเยริโก และได้สะสมเงินทองไว้มากมาย แต่เขาก็ถูกตราหน้าว่าเป็นคนบาปและถูกเหยียดหยาม ไม่มี "ผู้น่านับถือ" ไหนจะยอมเข้าไปในบ้านของซัคเคียส แต่พระเยซูก็เจาะจงเชิญตัวเองไปกินเลี้ยงที่บ้านของซัคเคียสผู้มีสมญาว่าคนบาปหนาที่สุดในเยริโก ในไม่ช้าเมื่อคนเก็บภาษีและคนบาปอื่น ๆ รู้จักพระเยซูมากขึ้น ก็เริ่มหาโอกาสสังสรรค์กับพระเยซูและเชิญพระเยซูไปกินเลี้ยงที่บ้านของตนบ้าง (ลก.๑๕,๑)

    พระเยซูให้ความสำคัญแก่การชุมนุมแบบนี้ บางทีก็เช่าห้องอาหารที่โรงแรมเพื่อกินเลี้ยงกับสาวก  อาหารคํ่าครั้งสุดท้ายก็เป็นหนึ่งในโอกาสเช่นนี้ หลังจากความตายของพระเยซู พวกสาวกทําพิธีระลึกถึงโดยการกินเลี้ยง เพราะว่าพระเยซูอยากให้ระลึกถึงด้วยวิธีนี้ "จงทําดังนี้เพื่อระลึกถึงเราเถิด" (๑คร.๑๑,๒๔)

2. การร่วมรับประทานอาหารกับพระเยซู

    การที่พระเยซูไปร่วมกินอาหารกับพวกคนจนและคนบาป มีผลกระทบต่อพวกนี้อย่างมาก พระเยซูยอมรับพวกนี้มาเป็นเพื่อนเคียงบ่าเคียงไหล่ ทําให้พวกเขารู้สึกหายจากความอาย หายจากความรู้สึกถูกเหยียดหยามพระเยซูทําให้พวกเขารู้สึกว่าตนมีความสําคัญ มีศักดิ์ศรี มีความเป็นคนเหมือนผู้อื่นทั่วไป การที่พระเยซูสัมผัสกับพวกเขาทางกายโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง ทําให้รู้สึกว่าพวกเขาไม่ใช่ "คนมีมลทิน" ดังที่สังคมตราหน้าพวกเขาไว้ นอกนั้น เนื่องจากว่าคนจํานวนมากนับถือพระเยซูว่าเป็นคนของพระเจ้า หรือเป็นประกาศก พวกคนจนและคนบาปก็ถือว่าการที่พระเยซูเป็นมิตรกับตน ก็แสดงว่าพระเจ้าไม่ถือโทษโกรธเคืองตน พระเจ้า มองข้ามความบาป  ความโง่เขลา  ความมีมลทินของตน  พระเจ้ายอมรับตนแล้ว

    นักพระคัมภีร์หลายคนชี้ให้เห็นว่า การเป็นมิตรร่วมโต๊ะอาหารกับพระเยซูนี้ที่จริงแล้วก็คือการอภัยบาปนั่นเองแม้จะไม่ได้พูดตรงๆ เราจะเข้าใจข้อนี้ได้ถ้ารู้ว่า ในสมัยพระเยซู บาปและการอภัยหมายความว่าอย่างไร   

    สมัยนั้นถือกันว่า บาปคือการเป็นหนี้ต่อพระเจ้า (มธ.๖,๑๒;๑๘, ๒๓-๓๕) ตนเองก่อหนี้ขึ้นในอดีต หรือเป็นบรรพบุรุษที่ก่อหนี้ไว้ โดยการ ทําผิดต่อกฎทางศาสนา การทําผิดกฎดังกล่าวอาจทําผิดโดยตั้งใจหรือโดยบังเอิญ (ถือว่าเป็นบาปเหมือนกันหมด) การให้อภัยคือการยกหนี้ ทําให้หลุดพ้นสภาพเป็นหนี้ นั่นคือเป็นอิสระ การที่พระเจ้าให้อภัยแก่คนคนหนึ่ง เป็นการมองข้ามอดีตของเขา และทําให้เขาหลุดพ้นจากผลอันเนื่องมาจากบาป   

    เมื่อพระเยซูแสดงตัวเป็นมิตรกับคนบาป พระเยซูก็มีความคิดความรู้สึกเช่นนี้ พระเยซูมองข้ามอดีตของคนบาปและไม่ถือว่าเขามีผิดหรือต้องมีโทษอะไร พระเยซูถือว่าเขาไม่เคยมีบาป หรือถ้าเคยมี ก็ไม่มีอีกแล้ว ดังนี้เขาไม่ต้องรับโทษ ไม่ต้องถูกตัดขาดจากสังคมหรือถูกเหยียดหยามอีกต่อไป เขาได้รับอภัยแล้ว

    พระเยซูไม่จําเป็นต้องเผยความจริงนี้ออกมาเป็นคําพูด เช่นเดียวกับในนิทานเรื่องลูกล้างผลาญ พ่อผู้รักลูกไม่ต้องพูดอะไรมากมายกับลูกเพื่อแสดงว่าลูกได้รับอภัยแล้ว การต้อนรับและการเลี้ยงฉลอง พูดได้ดังและชัดเจนมากกว่า

    เนื่องจากถือกันว่าความเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นผลอันเนื่องมาจากบาป การหายจากความเจ็บไข้ได้ป่วยก็ต้องเป็นผลอันเนื่องมาจากการพ้นจากบาปด้วย ถ้าคนหนึ่งหายจากความเจ็บป่วย ก็แปลว่าพระเจ้าได้ยกบาปของเขาแล้ว ความคิดเดียวกันนี้แสดงออกมาในเรื่องของคนง่อยในพระวรสาร (มก.๒,๑-๑๒) ถ้าชายคนนี้สามารถลุกขึ้นเดินได้ แสดงว่าเขาได้รับการยกบาปแล้ว ชายคนนี้อาจจะเป็นง่อยเนื่องมาจากสภาพจิตที่ถูกกดดันเพราะบาป พอได้ยินพระเยซูพูดว่าพระเจ้าได้ยกบาปเขาแล้ว เขาไม่ได้เป็นหนี้ต่อพระเจ้าอีกแล้ว ความกดดันดังกล่าวก็หายไป สภาพจิตกลับเป็นปกติ ร่างกายก็กลับเป็นปกติด้วย

    การสนทนาระหว่างพระเยซูกับพวกฟาริสีในเรื่องนี้ คงจะเขียนแต่งขึ้นภายหลังโดยมาร์โกหรือนักเทศน์สมัยหลังพระเยซู เพื่อสอนว่าการหายโรคอาจเป็นเครื่องหมายอย่างหนึ่งของการอภัยบาป แต่นี่ไม่ได้หมายความว่า พระเยซูตั้งใจที่จะรักษาโรคเพื่อพิสูจน์ว่าตนมีอํานาจยกบาป เหตุที่พระเยซูรักษาโรคก็เพราะความสงสารและเหตุที่พระเยซูให้ความมั่นใจแก่คนง่อยว่าพระเจ้าได้ยกบาปเขาแล้ว ก็เพราะความสงสารเช่นกัน พลังที่รักษาโรคคือพลังแห่งความเชื่อ พลังที่ยกบาปก็คือพลังแห่งความเชื่อด้วย พระวรสารพูดว่าฝูงชนรู้สึกพิศวงที่พระเจ้ามอบอํานาจนี้ให้แก่มนุษย์ ไม่ได้พูดว่าพระเจ้ามอบอํานาจให้พระเยซู

3. รักมาก ได้รับการอภัยมาก

    ในเรื่องหญิงคนบาปที่ไปล้างเท้าพระเยซู พระเยซูบอกเธอว่า "เธอได้รับการยกบาปแล้ว...ความเชื่อของเธอได้ทําให้เธอรอดพ้น จงไปเป็นสุขเถิด" (ลก.๗,๔๘-๕๐) ในที่นี้คําสนทนาชี้ชัดว่าเป็นความเชื่อของหญิงคนนั้นที่ทําให้เธอได้รับการอภัยจากพระเจ้า พระเยซูทําให้เธอมั่นใจว่า หนี้ถูกลบล้างไปหมดแล้ว และเวลานี้พระเจ้ายอมรับเธอ พอเธอเชื่อ มันก็เกิดผลและชีวิตของเธอก็เปลี่ยนไปทันที พระเยซูเชื่อว่าพระเจ้าให้อภัยแก่เราโดยไม่มีเงื่อนไข และพระเยซูก่อให้เกิดความเชื่อเช่นเดียวกันในตัวหญิงคนนั้น พระเยซูทําอย่างไรให้เกิดความเชื่อเราไม่รู้ คงจะเป็นการแสดงตัวเป็นมิตร ยอมรับ หรือเพียงแค่ยอมให้เธอล้างเท้าด้วยนํ้าตา พระเยซูไม่ได้ปฏิเสธที่จะติดต่อกับเธอ ไม่ได้ลงโทษ ไม่ได้ดุด่าว่ากล่าว ไม่ได้ถือว่าเธอมีมลทิน พระเยซูเป็นเหมือนพ่อในนิทานเปรียบเทียบเรื่องลูกล้างผลาญ ที่ไม่ได้ตั้งเงื่อนไข ไม่ได้มีข้อแม้ ไม่ได้กําหนดว่าต้องทําโน่นก่อนทํานี่ทีหลัง  ด้วยการแสดงออกอย่างง่ายๆนิดเดียว พระเยซูก็สามารถปลดปล่อยหญิงคนนี้ให้หลุดจากอดีตของเธอ ทั้งนี้โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น

    ผลที่ตามมาก็คือการหายจากโรคทางใจ หรือความรอดพ้น สําหรับหญิงคนนี้มันเป็นความรู้สึกโล่งอก ความยินดี ความกตัญญูและความรัก "ที่หญิงนี้แสดงความรักมากนั้น เป็นข้อพิสูจน์แล้วว่า นางได้รับการอภัยบาปที่มีอยู่มากมายจนหมดสิ้น" (ลก.๗,๔๗) ความรักและกตัญญูประกอบกับความยินดีสุดซึ้งเป็นเครื่องหมายแห่งการหลุดพ้นจากบาป ที่จริงแล้ว คนจนและคนถูกกดขี่ทุกประเภทที่มาสัมผัสกับพระเยซูต่างก็มีความรู้สึกเดียวกันคือมีความร่าเริงยินดี และหลายครั้งก็แสดงออกมาในการกินเลี้ยงสังสรรค์ พระเยซูอยากทําให้ทุกคนร่าเริงยินดี สิ่งนี้เองที่พวกฟาริสีรับไม่ได้ การร่วมวงเฮฮากับคนบาปเช่นนี้เป็นสิ่งที่น่าติเตียนที่สุด(ลก.๑๕,๑) และไม่มีคําไหนที่จะใช้ติเตียนพระเยซูได้ดีกว่าคําว่า "นักกินนักดื่ม" (ลก.๗,๓๔)

4. การกลับใจ

    เพื่อจะอธิบายถึงความร่าเริงยินดีและการเลี้ยงฉลองให้พวกฟาริสีเข้าใจ พระเยซูเล่านิทานเปรียบเทียบ ๓ เรื่อง เรื่องแกะพลัดฝูง เรื่องเหรียญที่หายไป และเรื่องลูกล้างผลาญ (ลก.๑๕,๑-๓๒) ทั้งสามเรื่องนี้สรุปว่าการได้สิ่งที่หายไปกลับคืนมา (การอภัย) เป็นเหตุแห่งความชื่นชมยินดีและการเฉลิมฉลอง

    ไม่ต้องสงสัยเลยว่าพระเยซูเป็นคนที่มีความร่าเริงยินดี และความร่าเริงยินดีนี้ก็เป็นเหมือนความเชื่อและความหวัง ซึ่งมีลักษณะติดต่อซึมซาบไปสู่คนรอบข้าง พระเยซูไม่เป็นเหมือนยอห์นแบปติสต์ พระเยซูเลี้ยงฉลอง ส่วนยอห์นแบปติสต์อดอาหาร (ลก.๗,๓๑-๓๔) การอดอาหารแสดงถึงความทุกข์โศกเศร้า คนจนและคนที่ถูกกดขี่ (รวมทั้งคนที่ไม่กลัวจะเสียเกียรติเหมือน"ผู้น่านับถือ"ทั้งหลาย) พบว่าการสัมผัสกับพระเยซูทําให้รู้สึกชื่นชมยินดีและรู้สึกเป็นอิสระ พระเยซูทําให้พวกเขารู้สึกปลอดภัย ไม่ต้องกลัวอะไรอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นจิตชั่ว คนชั่ว หรือพายุในทะเลสาบ ไม่ต้องเป็นห่วงอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเครื่องนุ่งห่มอาหารหรือโรคภัยไข้เจ็บ   พระเยซูเตือนใจ และให้กําลังใจอยู่เป็นประจําว่า "อย่ากลัว" "ไม่ต้องเป็นห่วง" "จงชื่นชมยินดีเถิด" นอกจากช่วยให้คนหายโรคและให้อภัยแล้ว พระเยซูยังช่วยขจัดความกลัวและความกังวลต่าง ๆ นานาอีกด้วย

 

คำถาม

    1.เอกลักษณ์เด่นของพระเยซูคืออะไร ?

    2.”การกินการดื่ม” ของพระเยซูมีความสำคัญอย่างไร ?

    3. ท่านเข้าใจ ”รักมาก อภัยมาก” อย่างไร ?

    4.ท่านเข้าใจเรื่อง “การกลับใจ” อย่างไร ?

พระเยซูคงจะได้ใช้ข้อความหลายตอนจากหนังสือประกาศกอิสยาห์  เพื่ออธิบายภารกิจแห่งการปลดปล่อยที่ตนกําลังทําเพื่อคนจนและคนถูกกดขี่ (ลก.๔,๑๖-๒๑;๗,๒๒;มธ.๑๐,๗-๘) แหล่งข้อมูลของลูกา มีการพูดถึงพระเยซูอ่านหนังสือประกาศกอิสยาห์ในศาลาธรรม ลูกาหยิบเรื่องนี้ขึ้นมา จัดข้อความจากประกาศกอิสยาห์ ตอนที่อธิบายงานของพระเยซูได้ดีที่สุดใส่เข้าไป แล้วเอาเรื่องนี้ไว้ในตอนแรกเริ่มภารกิจ เป็นเหมือนตั้งโครงการสําหรับงานที่พระเยซูกําลังจะทํา (ลก.๔,๑๖-๒๑) สมมุติว่าพระเยซูไม่ได้ลุกขึ้นอ่านพระคัมภีร์ตอนนี้จริงก็ไม่เป็นปัญหาสําหรับลูกา ที่สําคัญคือลูกาเห็นความสําคัญของข้อความเหล่านี้ ซึ่งจะนําเราให้เข้าใจงานของพระเยซูได้อย่างแท้จริง

1.โครงสร้างการปลดปล่อยของพระเยซู

ข้อความจากหนังสือประกาศกอิสยาห์ ที่เราต้องสนใจมี ๓ ตอน

          ในวันนั้น คนหูหนวก จะได้ยินถ้อยคําจากหนังสือ

          เงาและความมืดจะผ่านพ้นไป แล้ว คนตาบอด ก็จะมองเห็น

          คนตํ่าต้อย จะมีความชื่นชมในพระเจ้ามากขึ้น

          และ คนจนที่สุด จะเริงร่าในพระผู้ศักดิ์สิทธิ์แห่งอิสราเอล (๒๙,๑๘- ๑๙)

          เวลานั้น ตาของ คนตาบอด จะเปิดกว้าง

          หูของ คนหูหนวก จะเปิดออก

          คนง่อย จะกระโดดเหมือนกวาง

          ลิ้นของ คนใบ้ จะร้องเพลงด้วยความยินดี  (๓๕,๕-๖)

          ข้าพเจ้าได้รับจิตของพระเจ้า

          เหตุว่าพระองค์ได้เจิมข้าพเจ้า

          พระองค์ส่งข้าพเจ้าให้นําข่าวดีไปสู่ คนจน

          ให้ไปรักษาใจของ คนระทมทุกข์

          ให้ไปประกาศอิสรภาพแก่ ผู้ถูกจองจํา

          ประกาศเสรีภาพแก่ ผู้อยู่ในคุก

          ให้ไปประกาศปีแห่งความโปรดปรานของพระเจ้า  (๖๑,๑-๒)

2. การประกาศข่าวดี

          คนหูหนวก คนใบ้ คนตาบอด คนง่อย คนจน คนระทมทุกข์ คนถูกจองจํา คําเหล่านี้เป็นคําต่างๆ ที่ใช้เรียกคนจนและคนถูกกดขี่ และคํากริยาในแต่ละประโยคข้างต้นนี้ ก็เป็นคําต่างๆที่ใช้เรียกการกระทําที่พระเจ้าสัญญาว่าจะกระทําต่อคนจนและคนถูกกดขี่กล่าวคือคําว่า กลับได้ยิน กลับมองเห็น รักษาให้หาย นําความยินดี ประกาศอิสรภาพ นําข่าวดี เป็นคําต่างๆที่แสดงถึง การปลดปล่อย หรือช่วยให้รอดพ้น คําที่น่าสังเกตมากเป็นพิเศษคือ การประกาศหรือนําข่าวดี เป็นการปลดปล่อยหรือช่วยให้รอดในรูปแบบหนึ่ง การเทศน์สอนเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการปลดปล่อยที่พระเยซูกระทํา  การประกาศพระวรสารให้แก่คนจน หมายถึงการใช้คําพูดเพื่อช่วยพวกเขาให้รอดพ้น

          คําว่า "ข่าวดี" หมายถึงเนื้อหา หรือสารที่พระเยซูประกาศให้แก่คนจนและคนถูกกดขี่ "ข่าว" ก็คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่ ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ หรือที่เราแน่ใจว่ากําลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้ ถ้าเป็น "ข่าวดี" ก็หมายความว่าข่าวนั้นนําความหวังมาให้ ทําให้เรามีกําลังใจ และโดยทั่วไปทําให้คนมีความสุข ฉะนั้นข่าวดีสําหรับคนจนก็หมายความว่าข่าวนั้นนําความหวังและกําลังใจมาให้คนจน

          พระเยซูประกาศเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันจะนําความยินดีมาสู่คนจน อาณาจักรพระเจ้าจะมาถึงคนจนและคนถูกกดขี่ คําประกาศหลัก รวมอยู่ในข้อความตอนที่เรามักเรียกว่า "บุญลาภ"

          เป็นบุญของคนจน

          เพราะอาณาจักรพระเจ้าเป็นของท่าน

          เป็นบุญของท่านที่หิวโหยในเวลานี้

          เพราะท่านจะได้อิ่มหนํา

          เป็นบุญของท่านที่กําลังร้องไห้

          เพราะท่านจะได้หัวเราะ  (ลก.๖,๒๐-๒๑)

          ลูกาได้รักษาคําประกาศดังกล่าวในสภาพที่เหมือนเดิมมากกว่าผู้เขียนพระวรสารอื่นๆ เพราะมันเป็นคําพูดที่พระเยซูพูดกับคนที่อยู่รอบข้าง...พวกท่านคนจน คนหิวโหยและน่าสงสาร มัทธิวได้ดัดแปลงคําประกาศนี้ให้เหมาะกับกลุ่มผู้อ่าน ที่ไม่ใช่คนจนหรือน่าสงสารอะไร มัทธิวจึงขยายข่าวดีให้ครอบคลุมไปถึงคนที่มีใจยากจนหรือร่วมใจกับคนจน ไปถึงคนที่หิวกระหายความชอบธรรม ไปถึงคนที่พยายามทําตัวสุภาพอ่อนน้อมเหมือนคนจน ไปถึงคนที่โศรกเศร้าเสียใจ และคนที่ถูกเบียดเบียนเพราะเป็นศิษย์พระเยซู มัทธิวได้เปลี่ยนคําประกาศให้กลายเป็นคําเร้าใจ (มธ.๕,๑-๑๒)

3. อาณาจักรพระเจ้า มิใช่หลังความตาย

          สิ่งต่างๆที่พระเยซูกระทํามีผลทําให้พวกคนจนกลับมีความหวังเกี่ยวกับอนาคต ส่วนคําประกาศที่พูดถึงข้างต้นนี้ก็มีผลต่อคนจนมากเช่นเดียวกัน เดิมทีเดียวความหวังที่ว่านี้ ไม่เกี่ยวอะไรกับ "สวรรค์" ในความหมายที่เราใช้พูดถึงสถานที่แห่งความสุขหลังจากความตาย คําว่า "สวรรค์" ในสมัยพระเยซูเป็นอีกคําหนึ่งที่ใช้เรียกพระเจ้า เมื่อพูดว่า "อาณาจักรแห่งสวรรค์" ก็คือ"อาณาจักรแห่งพระเจ้า" ได้รางวัลในสวรรค์หรือมีสมบัติในสวรรค์ หมายความว่าเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้า คําว่า "สวรรค์" ตามตัวอักษรในภาษายิวหมายความว่าท้องฟ้า และชาวยิวเข้าใจกันว่าท้องฟ้าเป็นที่อยู่ของพระเจ้าและจิตอื่นๆ ชาวยิวไม่เคยพูดว่า คนตายแล้วขึ้นไปสวรรค์ แต่เชื่อว่าทุกคนที่ตายแล้วต้องลงไปใน"เชโอล"(sheol) ซึ่งอาจจะแปลว่าใต้พิภพหรือหลุมฝังศพนั่นเอง แม้สําหรับผู้ที่เชื่อเรื่องการรับคุณรับโทษหลังจากความตายก่อนที่จะกลับเป็นขึ้นมา ก็เชื่อว่าทั้งการรับคุณและรับโทษก็เกิดขึ้นในใต้พิภพนี้เอง เพียงแต่เป็นอย่างละแผนกกัน คนดีไปอยู่ในอ้อมอกของท่านอับบราฮัมในใต้พิภพ ส่วนคนชั่วต้องไปอยู่อีกฟากหนึ่งในใต้พิภพที่ถูกแยกออกด้วยหุบเหวหรือความว่างเปล่า (ลก.๑๖,๒๓-๒๖) ความเชื่อของคริสตศาสนิกชนเกี่ยวกับสวรรค์ดังที่หลายคนเชื่ออยู่ในปัจจุบันนี้ เกิดขึ้นหลังจากความตายของพระเยซู โดยที่บรรดาศิษย์เชื่อว่าพระเยซูถูกยกขึ้นสวรรค์หรือได้รับยกย่องประทับอยู่เบื้องขวาพระเจ้า

          แต่ข่าวดีที่พระเยซูประกาศ ข่าวดีแห่งอาณาจักรพระเจ้า เป็นข่าวดีเกี่ยวกับอนาคตของชีวิตมนุษย์บนโลกเรานี้ เป็นข่าวดีที่ว่าคนจนจะไม่จน คนหิวโหยจะอิ่มหนํา และคนที่ถูกกดขี่จะไม่ต้องทนทุกข์อีกต่อไป 

          ตลอดหลายศตวรรษในอดีต คริสตชนเข้าใจไม่ถูกเกี่ยวกับอาณาจักรพระเจ้า  เพราะมีการแปล  ลูกา ๑๗,๒๑  ผิดพลาด โดยแปลว่า "อาณาจักรพระเจ้าอยู่ในตัวท่าน"  ปัจจุบันนี้นักพระคัมภีร์เห็นพ้องกันว่า ที่ถูก ต้องแปลว่า "อาณาจักรพระเจ้าอยู่ท่ามกลางพวกท่าน" ประโยคนี้เป็นคําที่พระเยซูพูดตอบโต้กับพวกฟาริสี เมื่อพวกฟาริสีถามว่าอาณาจักรพระเจ้าจะมาถึงเมื่อใด ถ้าตอบว่า "อาณาจักรพระเจ้าอยู่ในตัวท่าน" ก็เท่ากับว่าพวกฟาริสียอมรับสิ่งที่พระเยซูกําลังประกาศอยู่ ซึ่งความจริงแล้วพวกฟาริสีไม่ยอมรับ

4. อาณาจักรพระเจ้า

          อาณาจักรพระเจ้าไม่ใช่อยู่ภายในตัวคน แต่คนมีชีวิตความเป็นอยู่ในอาณาจักรพระเจ้า พระเยซูมักจะวาดภาพพจน์อาณาจักรพระเจ้าเป็นสถานที่อะไรบางอย่างที่เข้าออกได้ (มก.๙,๔๗;๑๐,๑๕-๒๓-๒๕;มธ.๕,๒๐; ๗,๒๑; ๑๘,๓; ๒๑,๓๑; ๒๓,๑๓; ยน.๓,๕) กินอยู่ข้างในได้ (มก.๑๔,๒๕; มธ.๘,๑๑-๑๒;ลก.๒๒,๓๐) มีประตูเปิดปิดได้ (มธ.๗,๑๓-๑๔; ๗,๗-๘;๒๓, ๑๓; ๒๕,๑๐-๑๒; ลก.๑๓,๒๔-๒๕;๑๑,๕๒) คล้ายๆกับจะเปรียบเป็นบ้านหรือเมืองที่มีกําแพงล้อมรอบ

          เมื่อพูดถึงอาณาจักรแห่งมาร (ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามกับอาณาจักรพระเจ้า) พระเยซูจะพูดเปรียบเป็นบ้านหรือเมืองอย่างชัดเจน "มารจะขับไล่มารได้อย่างไร ถ้าอาณาจักรใดแตกแยกกันเอง อาณาจักรนั้นจะตั้งอยู่ไม่ได้ ถ้าบ้านใดแตกแยกกันเอง บ้านนั้นก็จะพังลง" (มก.๓,๒๓-๒๕) "ไม่มีใครสามารถทะลวงเข้าไปในบ้านของผู้ที่แข็งแรงกว่าเพื่อจะปล้นเอาสิ่งของ..."(มก.๓,๒๗) "อาณาจักรใดที่แตกแยกกันก็จะถูกทอดทิ้งให้รกร้าง ไม่มีบ้านหรือเมืองใดที่แตกแยกแล้วจะคงอยู่ได้" (มธ.๑๒,๒๕)

          นอกนั้นยังมีความเกี่ยวพันกันระหว่างคําว่า "อาณาจักร" กับ "พระวิหาร" พระวิหารที่พระเยซูบอกว่าจะสร้างขึ้นภายใน ๓ วัน (แปลว่าเร็วๆนี้) ไม่ใช่พระวิหารที่สร้างด้วยมือมนุษย์ (มก.๑๔,๕๘) แต่มันคือกลุ่มชนใหม่ ตามม้วนคัมภีร์ที่พบที่กุมรัน กลุ่มชนแห่งกุมรันเรียกตนเองว่าเป็นพระวิหารใหม่ หรือบ้านใหม่ของพระเจ้า เช่นเดียวกัน เมื่อพูดว่าจะสร้างพระวิหารใหม่ พระเยซูหมายถึงจะสร้างกลุ่มชนใหม่

          การที่พระเยซูวาดภาพพจน์อาณาจักรพระเจ้าเป็นบ้าน เป็นเมืองหรือเป็นกลุ่มชน ทําให้เราเห็นชัดว่าสําหรับพระเยซู อาณาจักรพระเจ้าหมายถึงสังคมมนุษย์บนแผ่นดินโลกเรานี้ เป็นอาณาจักรหรือสังคมที่มีโครงสร้างทางการเมือง มีกษัตริย์เป็นผู้ปกครอง "อาณาจักรของข้าพเจ้า ไม่ใช่เป็นของโลก" (ยน.๑๘,๓๖) ไม่ใช่หมายความว่าไม่อยู่ในโลกหรือไม่อยู่บนพื้นแผ่นดินนี้ เวลาพระวรสารโดยนักบุญยอห์นพูดถึงพระเยซูและศิษย์ว่า "อยู่ในโลกแต่ไม่เป็นของโลก" (ยน.๑๗,๑๑; ๑๗,๑๔-๑๖) ความหมายมันชัดเจน เราอยู่ในโลกแต่เราไม่ยึดมาตรฐานหรือค่านิยมของโลกมาเป็นหลักแห่งชีวิต ในเมื่อโลกยังถูกครอบงำด้วยอิทธิพลของมาร เมื่อพระเยซูพูดถึงอาณาจักรพระเจ้า ก็มีความหมายเช่นเดียวกัน กล่าวคือ ค่านิยมและอุดมการณ์ของอาณาจักรพระเจ้าไม่เหมือนกับค่านิยมและอุดมการณ์ของอาณาจักรอื่นๆในโลก พระเยซูไม่ได้หมายความว่าอาณาจักรพระเจ้า  ลอยอยู่ในอากาศ หรืออยู่เหนือแผ่นดินนี้ แต่หมายถึงความจริงที่จับต้องได้ เป็นองค์กรที่มีโครงสร้างทางสังคม และทางการเมือง

5. อาณาจักรพระเจ้าต่างจากอาณาจักรมาร

           อาณาจักรของพระเจ้า ต้องเกี่ยวข้องกับการเมืองและสังคม แต่การเมืองและสังคมในอาณาจักรพระเจ้า  ไม่เหมือนกับการเมืองและสังคมในอาณาจักรของมนุษย์กลุ่มต่างๆ ไม่เหมือนกับการเมืองและสังคมในอาณาจักรของมาร

          พระเยซูเข้าใจว่า มารกําลังปกครองโลก และเรียกยุคนั้นว่า "ยุคชั่วช้าอธรรม" (มก.๘,๓๘;มธ.๑๙-๓๕;๒๓,๓๓-๓๖) เป็นยุคที่มารหรือความชั่วเป็นใหญ่ เห็นได้ชัดจากการที่คนจนและคนถูกกดขี่ต้องทนทุกข์ทรมานและอยู่ภายใต้อํานาจของจิตชั่ว เห็นได้ชัดจากความหน้าซื่อใจคด ความใจจืดใจดําของพวกคัมภีราจารย์และพวกฟาริสี เห็นได้ชัดจากความโลภและการเอารัดเอาเปรียบของพวกชนชั้นผู้นํา นี่เป็นความจริงที่ไม่เพียงแต่เกิดขึ้นในยุคของพระเยซูเท่านั้น แต่เกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัย นี่แหละอาณาจักรต่างๆของโลกซึ่งตกอยู่ในมือของมาร และมารก็ใช้มนุษย์บางคนเป็นเครื่องมือในการปกครอง และมนุษย์เหล่านี้ต้องกราบไหว้นอบน้อมต่อมัน (มธ.๔, ๘-๑๐) และต้องปกครองตามนโยบายชั่วร้ายของมัน มารเป็นจิตชั่วที่ปกครองโดยทางอ้อม ซีซาร์ เฮรอด ไกฟาส หัวหน้าสงฆ์ พวกผู้หลักผู้ใหญ่ คัมภีราจารย์และฟาริสี ต่างก็เป็นหุ่นเชิดของมารทั้งนั้น พระเยซูประนามโครงสร้างทางสังคมและการเมืองทั้งหมดในสมัยนั้น เพราะมันชั่วร้ายและอยู่ใต้อํานาจมารทั้งสิ้น

          เมื่ออาณาจักรพระเจ้ามาถึง  พระเจ้าจะเข้าแทนที่มาร  พระเจ้าจะเข้าปกครองมนุษยชาติ และจะประทานอํานาจปกครองให้แก่ผู้ที่จะรับใช้พระเจ้าและทําให้แผนการของพระเจ้าสําเร็จไปในสังคมมนุษย์ ความชั่วร้ายจะถูกกําจัดให้หมดไป และประชาชนจะมีจิตของพระเจ้าสิงสถิตอยู่ด้วย

          ฉะนั้น ความแตกต่างระหว่าง อาณาจักรของมนุษย์(หรือของมาร)  กับ อาณาจักรของพระเจ้า อยู่ตรงที่อย่างแรกคือ สังคมมนุษย์ที่มีความชั่วครอบคลุม และอย่างหลังคือ สังคมมนุษย์ที่มีความดีโอบอุ้ม (ไม่ใช่ว่าอย่างแรกอยู่ในโลกนี้ อย่างหลังอยู่ในโลกอื่น)

          ปัญหาอยู่ที่อํานาจและโครงสร้างอํานาจ  ในโลกเรานี้มีคนดีอยู่มากมาย แต่ความชั่วยังเหนืออยู่ มารยังกุมอํานาจไว้ในมือ พระเยซูมองกิจกรรมปลดปล่อยที่ตนกําลังทําอยู่นั้นว่า เป็นการช่วงชิงอํานาจกับมาร เป็นสงครามต่อสู้กับมารในทุกรูปแบบ การที่พระเยซูรักษาโรค เป็นเหมือนการเข้าปล้นบ้านเมืองของมาร (มก.๓,๒๗) ที่เป็นไปได้ก็เพราะมีอะไรบางอย่างที่แข็งแรงกว่ามาร นั่นคือความดีแข็งแรงกว่าความชั่ว พระเยซูมั่นใจว่าในที่สุดอาณาจักรพระเจ้าก็จะมีชัยชนะเหนืออาณาจักรมาร และอาณาจักรที่จะคงเหลืออยู่ในโลกก็คืออาณาจักรของพระเจ้าเท่านั้น

          แล้วความพินาศที่ยอห์นและพระเยซูพูดถึงเล่า ? พระเยซูคิดว่าอาณาจักรพระเจ้าจะมาถึงหลังจากความพินาศของชาติยิว หรือว่าแทนที่จะมีความพินาศ จะมีอาณาจักรพระเจ้าแทน

          ก่อนที่จะตอบคําถามนี้ได้ เราต้องเข้าใจเกี่ยวกับอาณาจักรนี้ให้ละเอียดยิ่งขึ้นก่อน ต้องเข้าใจว่าในทางปฏิบัติจริง ความดีและความชั่วหมายถึงอะไร เราต้องดูว่า พระเยซูคิดอย่างไรเกี่ยวกับโครงสร้างของความชั่วในสังคมมนุษย์ พระเยซูคิดว่า ค่านิยมหลักในอาณาจักรพระเจ้าเป็นอย่างไร ค่านิยมในอาณาจักรพระเจ้าต่างกับค่านิยมในอาณาจักรของมารอย่างไร

 

คำถาม

          1. ข่าวดีคืออะไร ?

          2. ท่านเข้าใจอาณาจักรพระเจ้าอย่างไร ?

          3. อาณาจักรพระเจ้าอยู่ที่ไหน ?

          4. จะรู้ได้อย่างไรว่า บ้านนี้ เมืองนี้ เป็นอาณาจักรพระเเจ้าหรือของมาร?

           

การแสวงหาเงินทอง   เป็นเรื่องตรงข้ามกับการแสวงหาอาณาจักรพระเจ้า เจ้าแห่งเงินตราและพระเจ้า เป็นเจ้านายด้วยกันทั้งคู่ ถ้าท่านรักและปรนนิบัติเจ้านายคนหนึ่ง ก็จําเป็นต้องปฏิเสธเจ้านายอีกคนหนึ่ง (มธ. ๖,๒๔; มก.๔,๑๙) จะประนีประนอมไม่ได้

1. ผู้ที่จะเข้าสวรรค์

มักจะถือกันว่า คําพูดของพระเยซูเกี่ยวกับทรัพย์สินเงินทอง เป็นคําพูดที่แข็งที่สุดในพระวรสาร และคริสตชนโดยทั่วไปมักจะทําให้มันอ่อนลงไปบ้าง  ข้อความที่สะดุดใจเรามากคือ อาณาจักรพระเจ้าเป็นอาณาจักรของคนจน หากคนรวยยังคงสภาพอยู่เช่นนั้น ก็ไม่มีส่วนในอาณาจักรพระเจ้า (ลก.๖,๒๐-๒๖) คนรวยเข้าสู่อาณาจักรพระเจ้าไม่ได้ เหมือนกับอูฐลอดรูเข็มไม่ได้(มก.๑๐,๒๕) มาร์โกบอกว่าแม้พวกสาวกก็ยังตะลึง นี่มันอาณาจักรอะไรกัน ? "ถ้าเช่นนั้นใครจะรอดได้? พวกเขาถามกันเอง พระเยซูจ้องมองพวกเขาแล้วพูดว่า สําหรับมนุษย์ก็เป็นไปไม่ได้ แต่สําหรับพระเจ้า ทุกอย่างเป็นไปได้" (มก.๑๐,๒๔-๒๗) พูดอีกนัยหนึ่งคือ ต้องมี "อัศจรรย์" คนรวยจึงจะเข้าอาณาจักรพระเจ้าได้ และอัศจรรย์นี้ไม่ใช่ทําให้คนรวยเข้าได้พร้อมกับทรัพย์สินเงินทอง แต่อัศจรรย์ทําให้คนรวยทิ้งทุกอย่างเพื่อเข้าอาณาจักรของคนจน  พระเยซูเชิญหนุ่มเศรษฐี คนหนึ่งให้ทําเช่นนั้น (มก.๑๐,๑๗-๒๒) แต่เขามีความเชื่อในอาณาจักรพระเจ้าน้อยเกินไป และหวังพึ่งเงินทองมากเกินไป อัศจรรย์จึงไม่เกิดขึ้น

     ไม่มีที่สําหรับคนรวยในอาณาจักรพระเจ้า ไม่มีรางวัลหรือความบรรเทาใจ (ลก.๖,๒๔-๒๖) ในนิทานเปรียบเทียบเรื่องเศรษฐีกับขอทานที่ชื่อลาซารัส เหตุผลที่เศรษฐีไม่ได้รับรางวัลก็คือเพราะเขาเป็นเศรษฐี และไม่ยอมแบ่งปันความรํ่ารวยให้แก่ขอทาน (ลก.๑๖,๑๙-๓๑) และแค่เรื่องเดียวนี้แหละที่เศรษฐีอยากให้ใครช่วยไปเตือนพี่น้องของตน แต่พี่น้องคนไหนจะไปเชื่อ?

2. ค่าของการเป็นศิษย์

     ผู้ที่ปักใจอยู่กับอาณาจักรพระเจ้า และยอมรับค่านิยมของอาณาจักรนี้ ต้องทิ้งทรัพย์สินของตน (มธ.๖,๑๙-๒๑;ลก.๑๒,๓๓-๓๔; ๑๔, ๓๓) พระเยซูต้องการให้พวกศิษย์ทิ้งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ครอบครัวที่ดิน เรือ หรืออวนจับปลา(มก.๑,๑๘-๒๐; ๑๐,๒๘-๓๐; ลก.๕,๑๑) พระเยซูเตือนพวกเขาล่วงหน้าว่าให้นั่งคิดดูก่อนว่าจะไหวไหม (ลก.๑๔,๒๘-๓๓)

     นี่มันเป็นอะไรที่มากกว่าการทําบุญทําทาน พระเยซูขอให้แบ่งปันทรัพย์สินทั้งหมด พระเยซูพยายามสอนให้คนรู้จักตัดใจจากทรัพย์สมบัติ  ศิษย์ของพระเยซูต้องไม่เป็นห่วงว่า จะเอาอะไรกินเอาอะไรนุ่งห่ม (มธ.๖, ๒๕-๓๓)  "ถ้ามีใครมาเอาเสื้อคลุมของท่านไป ก็อย่าหวงเสื้อยาว  จงให้แก่ทุกคนที่ขอ  และอย่าขอสิ่งที่เขาขโมยไปกลับคืนมา...จงให้ยืมโดยไม่ต้องหวังได้คืน" (ลก.๖,๒๙-๓๕) "เมื่อท่านจัดงานเลี้ยง จงเชิญคนจน คนพิการ คนง่อย คนตาบอด พวกเหล่านี้จะไม่สามารถตอบแทนท่านได้ เมื่อนั้นแหละท่านเป็นผู้มีบุญ..." (ลก.๑๔,๑๓-๑๔)

     พระเยซูพยายามที่จะอบรมสั่งสอนให้ประชาชนรู้จักแบ่งปันสิ่งของกับทุก ๆ คน ความพยายามนี้แสดงออกมาได้ดีที่สุดในเรื่องอัศจรรย์ทวีปังและปลา (มก.๖,๓๕-๔๔) ผู้เขียนพระวรสารทั้ง ๔ และคริสตชนรุ่นแรกๆ ต่างก็ตีความหมายเหตุการณ์นี้ว่าเป็นอัศจรรย์แห่งการทวี แม้จะไม่ใช้คํานี้โดยตรงก็ตาม ตามปรกติพระวรสารจะดึงความสนใจของเราเข้าหาเรื่องอัศจรรย์โดยใช้คําพูดทํานองว่า ประชาชนต่างประหลาดใจ ตะลึง หรือรู้สึกทึ่ง แต่ในเรื่องนี้ไม่มีการพูดอะไรทํานองนี้เลย มีแต่พูดว่าพวกศิษย์ไม่เข้าใจ (มก.๖,๕๒;๘,๑๗-๑๘;๘,๒๑) เหตุการณ์นี้มีความหมายลึกกว่านั้น ไม่ใช่อัศจรรย์แห่งการทวี แต่เป็นตัวอย่างแห่งการแบ่งปัน

     พระเยซูเทศน์สอนฝูงชนในที่เปลี่ยวแห่งหนึ่ง ถึงเวลาพักกินอาหารก็พบว่าบางคนนําอาหารติดตัวมาด้วย แต่บางคนไม่ได้นํามา พระเยซูกับสาวกมีปัง ๕ ก้อนกับปลา ๒ ตัว สาวกเสนอแนะว่าให้ปล่อยฝูงชนไปหาซื้อกินเอง แต่พระเยซูบอกว่าให้สาวกจัดหาให้ทุกคนกิน สาวกไม่เห็นด้วยแต่ก็ช่วยจัดคนให้นั่งเป็นกลุ่มๆ แล้วพระเยซูเอาปังกับปลาที่มีอยู่บอกให้สาวกเอาไปแบ่งให้คนอื่น พระเยซูอาจจะได้ชักชวนให้คนที่นําอาหารมาแบ่งให้คนที่ไม่มี หรือไม่เช่นนั้น พอคนที่มี เห็นพระเยซูแบ่งอาหารให้คนอื่น ก็ทําตามอย่าง

     "อัศจรรย์" ก็คือ คนจํานวนมากเลิกเห็นแก่ตัว เลิกหวงสิ่งของที่ตนมี แล้วแบ่งปันด้วยใจกว้างขวาง แล้วทุกคนก็พบว่าอาหารมีเหลือเฟือเก็บเศษได้อีกตั้ง ๑๒ ตะกร้า ของที่เราเอามาแบ่งกัน มักจะดูว่ามัน "ทวีขึ้น"

3. คริสตชนกลุ่มแรก

     คริสตชนกลุ่มแรกในเยรูซาเลม  พบความจริงเดียวกันนี้ พวกเขาแบ่งปันข้าวของเงินทองให้สมาชิกทุกคนลูกาอาจจะได้วาดภาพกลุ่มคริสตชนกลุ่มนี้ให้เป็นภาพในอุดมคติ มากกว่าสภาพที่เป็นจริงเล็กน้อย แต่นั่นก็หมายความว่า คริสตชนในยุคเริ่มต้นได้เข้าใจเจตนารมณ์ของพระเยซูเป็นอย่างดี

     "พวกผู้เลื่อมใสเป็นเจ้าของทุกอย่างร่วมกัน พวกเขาขายทรัพย์สิ่งของที่มีแล้วแจกจ่ายเงินที่ได้มาให้แก่สมาชิกตามความจําเป็นของแต่ละคน...พวกเขาเลี้ยงอาหารกันด้วยความยินดีและใจกว้างขวาง"(กิจการ.๒, ๔๔-๔๖) นี่ไม่ได้หมายความว่าขายทุกสิ่งทุกอย่างจริงๆ อย่างน้อยก็ต้องเก็บเสื้อผ้าของใช้และบ้านที่อาศัยอยู่เอาไว้ จุดสําคัญคือ "ไม่มีใครอ้างตนเป็นเจ้าของสิ่งที่มีอยู่ แต่ถือว่าเป็นเจ้าของร่วมกัน" (กิจการ.๔,๓๒) "ผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดินหรือบ้าน จะขายเสีย แล้วนําเงินที่ได้มาให้แก่บรรดาอัครสาวก แล้วนั้นเงินก็จะถูกแจกจ่ายให้แก่สมาชิกที่ขัดสน" (กิจการ.๔,๓๔-๓๕) เห็นได้ชัดว่าพวกเขาไม่ได้ขายบ้านที่ตนอาศัยอยู่ ไม่ใช่ว่าทุกคนมาอยู่ในบ้านเดียวกัน แต่มีบอกว่าพวกเขาพบกันตามบ้านของคนนี้บ้างคนนั้นบ้าง (กิจการ ๒,๔๖) บ้านที่ขายไปก็คงจะเป็นบ้านที่ให้คนอื่นเช่า นั่นคือขายอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สินที่เป็นส่วนเกิน และไม่ใช่เป็นสิ่งที่จําเป็นเพื่อดําเนินชีวิตอยู่ได้

     ในเรื่องของซัคเคียสในพระวรสาร เมื่อซัคเคียสกลับใจ เขาบริจาคครึ่งหนึ่งของทรัพย์สินที่ตนมี และสัญญาจะชดใช้ ๔ เท่าของจํานวนที่ได้โกงผู้อื่น (ลก.๑๙,๘) ทําให้เราเข้าใจว่า การเก็บส่วนหนึ่งไว้เพื่อดํารงชีพก็เป็นของธรรมดา และนี่ก็คือความหมายของการ "ขายทุกสิ่งทุกอย่าง" คือสละทรัพย์สินส่วนเกิน และไม่มุ่งแสวงหาการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน ผลที่ตามมาก็คือ "ไม่มีใครในพวกเขาต้องขัดสน" (กิจการ.๔,๓๔)

4. ท่าทีของพระเยซูต่อคนจน

     พระเยซูไม่ได้ยกย่องเทิดเทินความยากจน ตรงกันข้าม พระเยซูพยายามยํ้าว่าอย่าปล่อยให้มีใครขัดสน และเพราะเหตุนี้พระเยซูจึงต่อต้านการหวงทรัพย์สินเงินทอง และแนะนําให้ทุกคนมีใจกว้างและแบ่งปันข้าวของที่มีให้คนอื่น สิ่งนี้เป็นไปได้ก็ต่อเมื่อมีการจัดการเป็นรูปชุมชนหรือกลุ่มชน (community) พระเยซูหวังที่จะให้มีอาณาจักรหรือชุมชนระดับโลกที่มีโครงสร้างและการจัดการแบบที่ว่าจะไม่มีคนจนหรือคนรวย

     แรงบันดาลใจของพระเยซูก็คือความสงสารคนจนและคนถูกกดขี่ เมื่อพระเยซูบอกให้หนุ่มเศรษฐีสละเงินทองทั้งหมดนั้น ไม่ใช่เพราะพระเยซูเคร่งครัดในหลักปรัชญาลอย ๆ อะไรบางอย่าง แต่เป็นเพราะพระเยซูสงสารคนจน ความจริงข้อนี้ชัดเจนมากในเรื่องหนุ่มเศรษฐี ที่มีเล่าในวรรณกรรมคู่เคียงพระวรสาร ที่มีชื่อว่า"พระวรสารของชาวฮีบรู" ตอนแรกก็เหมือนกับที่เล่าในพระวรสาร แต่ตอนปลายแตกต่างออกไป "...หนุ่มเศรษฐีเกาศีรษะ เพราะคําพูดนี้ไม่ถูกใจเขา พระเยซูพูดกับเขาต่อไปว่า เจ้าพูดได้อย่างไรว่าเจ้าถือตามพระบัญญัติและคําสอนของประกาศก ในเมื่อมีเขียนไว้ว่า เจ้าจงรักผู้อื่นเหมือนรักตนเอง มองดูซิ พี่น้องหลายคนของเจ้า ลูกหลานของอับบราฮัมด้วยกัน ต้องใช้ผ้าขี้ริ้วมานุ่งห่มและกําลังจะอดตาย ในขณะที่บ้านของเจ้าเต็มไปด้วย ของดีมากมาย และไม่มีอะไรตกไปถึงพวกเขาเหล่านั้นบ้างเลย"  (นักพระคัมภีร์ชื่อเจเรไมอัสยืนยันว่า วรรณ กรรมตอนนี้มีหลักฐานสนับสนุนว่าเป็นคําพูดของพระเยซูมากพอๆกับตอนอื่นๆในพระวรสารโดยทั่วไป)

    สรุปได้ว่า  สังคมไหนที่คนจนต้องทนทุกข์ทรมานในขณะที่คนรวยมีเหลือเฟือ สังคมนั้นเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรมาร  พระเยซูไม่ยอมรับผู้ที่ถือกันว่า เป็นคนดีหรือใฝ่ธรรมะแต่ไม่เด็ดขาดในการเลือกเอาพระเจ้าเหนือเจ้าแห่งเงินตรา "เมื่อพวกฟาริสีที่ชอบแต่เงินทองได้ยินสิ่งเหล่านี้ก็หัวเราะเยาะพระเยซู พระเยซูพูดกับพวกเขาว่า คนทั่วไปถือว่าพวกท่านเป็นคนดีมีคุณธรรม แต่พระเจ้าเห็นลึกลงไปในใจของพวกท่าน บางอย่างที่มนุษย์ยกย่อง กลับเป็นที่น่าขยะแขยงสําหรับพระเจ้า" (ลก.๑๖,๑๔-๑๕)

คำถาม

          1. อะไรทำให้คนเข้าสวรรค์ยาก ?

          2. เราควรมีท่าทีต่อเงินทองอย่างไร ?

          3. เราควรมีท่าทีต่อคนจนอย่างไร ?

  ในสังคมสมัยพระเยซู เงินทองเป็นสิ่งสําคัญที่สองรองจากเกียรติยศชื่อเสียง มีผู้กล่าวว่าคนในตะวันออกกลางตั้งแต่โบราณมาถึงปัจจุบันถือว่าชื่อเสียงเป็นสิ่งที่สําคัญที่สุด และหลายคนพร้อมที่จะสละชีวิตตนเอง  แต่ไม่ยอมสละชื่อเสียง

1.เกรียติยศและชื่อเสียง

          โครงสร้างทางสังคมยึดเอาเกียรติยศชื่อเสียงเป็นเกณฑ์ ไม่ว่าจะพูดหรือทําอะไร จะต้องเอาฐานะหรือตําแหน่งของผู้เกี่ยวข้องเข้ามาพิจารณาด้วย การถูกด่าว่าหรือลบหลู่ดูหมิ่น ถ้ามาจากผู้ใหญ่ ก็เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ถ้ามาจากคนระดับเดียวกัน ก็เป็นสิ่งที่ทําให้อับอายขายหน้าจนแทบจะทนไม่ได้ แต่ถ้ามาจากคนระดับตํ่ากว่าตน ก็จะกลายเป็นเรื่องถึงโลกแตก คนทั่วไปต้องการให้เกียรติยศชื่อเสียงของตนเป็นที่ยอมรับนับถืออยู่เสมอ

          ฐานะและเกียรติขึ้นอยู่กับตระกูล ความรํ่ารวย อํานาจหน้าที่ การศึกษาและคุณธรรม และต้องแสดงออกมาในการแต่งกาย ในการใช้สรรพนาม ในการคบค้าสมาคม ในการเชิญแขกกินเลี้ยง ในการเลือกที่นั่งเมื่อมีงานเลี้ยง หรือเมื่อเข้าไปสวดในศาลาธรรม

          ฐานะและเกียรติเป็นส่วนหนึ่งของศาสนา และเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตสังคมด้วย แม้พวกยิวที่เคร่งศาสนาที่สุดเช่นชุมชนกุมรัน ก็ยังถือฐานะและขั้นซึ่งมีผลในการให้สิทธิพิเศษต่างๆ และแต่ละคนจะได้รับเกียรติมากน้อยสุดแล้วแต่ฐานะของตน

2. ทัศนคติของพระเยซู

          พระเยซูต่อต้านระบบเช่นนี้ พระเยซูคิดว่ามันเป็นรากฐานอย่างหนึ่งของความชั่วร้ายในโลก และอยากเห็นอาณาจักรที่ไม่มีความแตกต่างกันในเรื่องฐานะและเกียรติยศ "เป็นบุญของท่านเมื่อคนเกลียดท่าน ขับไล่ท่าน ด่าว่าและกล่าวหาว่าท่านเป็นอาชญากร..."(ลก.๖,๒๒) "วิบัติจะเกิดแก่ท่านเมื่อโลกชมเชยสรรเสริญท่าน..." (ลก.๖,๒๖)

          พระเยซูวิจารณ์พฤติกรรมของพวกฟาริสีและพวกคัมภีราจารย์ มากกว่าวิจารณ์คําสอนของพวกเขา (มธ.๒๓,๑-๓) เพราะพวกนี้สนใจแต่จะให้คนอื่นเคารพยกย่องให้เกียรติ "ไม่ว่าพวกนี้จะทําอะไรก็มุ่งแต่จะให้คนอื่นสนใจ...ชอบเลือกนั่งที่มีเกียรติในงานเลี้ยง และเลือกแถวหน้าในศาลาธรรม ชอบให้คนคารวะในสถานที่สาธารณะและชอบให้คนอื่นเรียกตนว่าอาจารย์" (มธ.๒๓,๕-๗; มก.๑๒,๓๘-๔๐; ลก.๑๑,๔๓;๑๔,๗-๑๑)

          การปฏิบัติศาสนกิจและการทําบุญให้ทานก็เช่นเดียวกัน พวกนี้ทําเพื่อจะได้รับคําชมเชย (มธ.๖,๑-๖;๖,๑๖-๑๘) พระเยซูถือว่านี่ไม่ใช่คุณธรรมแต่เป็นการหลอกลวง  พระเยซูเปรียบพวกฟาริสีและคัมภีราจารย์ว่าเป็นเหมือนที่ฝังศพทาสีขาว ภายนอกก็ดูดีแต่ภายในมีซากศพ (มธ.๒๓, ๒๗-๒๘) พวกเขาถือพระบัญญัติเพียงภายนอก เจตนาที่แท้จริงคือหวังให้คนสรรเสริญ (ลก.๑๘,๙-๑๔)

          คนหลอกลวงเช่นนี้ได้รับรางวัลแล้ว  นั่นคือได้รับคํายกย่องและชื่อเสียง และพวกนี้จะไม่ได้เข้าสู่อาณาจักรพระเจ้า (มธ.๕,๒๐)  คือจะเข้าร่วมขบวนการกับพระเยซูไม่ได้ ใครก็ตามที่สนใจแต่เกียรติและความยิ่งใหญ่  ก็ถือค่านิยมต่างไปจากที่พระเยซูตั้งไว้

3. ผู้ที่จะเป็นใหญ่ในอาณาจักรพระเจ้า

          "พวกสาวกเข้ามาหาพระเยซูและถามว่า ใครจะเป็นใหญ่ที่สุดในอาณาจักรพระเจ้า? พระเยซูเรียกเด็กคนหนึ่งเข้ามายืนอยู่ต่อหน้าทุกคนแล้วพูดว่า เราขอประกาศว่า ถ้าพวกท่านไม่เปลี่ยนเป็นเหมือนเด็กๆ  พวกท่านจะเข้าอาณาจักรพระเจ้าไม่ได้ ใครที่ทําตัวเป็นเหมือนเด็กเล็ก ๆ เช่นนี้จะเป็นใหญ่ที่สุดในอาณาจักรพระเจ้า" (มธ.๑๘,๑-๔)

          เด็กคนนั้นเปรียบเหมือนความตํ่าต้อย ซึ่งตรงข้ามกับความยิ่งใหญ่ ความมีฐานะและเกียรติยศ เด็กๆในสมัยนั้น ไม่มีฐานะและไม่มีความหมายอะไรเลย แต่สําหรับพระเยซู  เด็ก ๆ ก็เป็นคนเหมือนกันและมีความสําคัญด้วย เพราะเหตุนี้เมื่อพวกสาวกไล่เด็กๆให้ถอยไป พระเยซูจึงไม่พอใจ และเรียกให้เข้ามาใกล้แล้วโอบกอดพร้อมกับอวยพรให้โดยวางมือบนหัวเด็กๆด้วย "อาณาจักรพระเจ้าเป็นของคนที่เป็นเหมือนเด็กๆเช่นนี้" (มก. ๑๐,๑๔) เมื่อพูดถึงเด็กในที่นี้ไม่ได้หมายถึงความไร้เดียงสาหรือความไม่รู้จักรับผิดชอบตามประสาเด็ก แต่เด็กในที่นี้เป็นสัญญลักษณ์ของคนชั้นตํ่าสุดในสังคม คนจน คนถูกกดขี่ ขอทาน โสเภณี คนเก็บภาษี

          พระเยซูไม่ต้องการให้คนตํ่าต้อยเหล่านี้ต้องถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม "ระวังอย่าดูหมิ่นคนตํ่าต้อยเหล่านี้" (มธ.๑๘,๑๐) พระเยซูเข้าใจดีว่าคนพวกนี้ต้องรู้สึกอายและมีปมด้อยมากขนาดไหน และเนื่องจากพระเยซูสงสาร  พวกนี้มาก จึงถือว่าพวกเขามีความสําคัญอย่างยิ่ง พระเยซูปลอบใจพวกเขาว่า "ไม่ต้องกลัว ฝูงแกะน้อยๆเอ๋ย พระเจ้า พระบิดาของเจ้า พอใจที่จะยกอาณาจักรให้พวกเจ้า" (ลก.๑๒,๓๒) พระเยซูคิดว่าคนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เกิดจากสตรี นั่นคือยอห์นแบปติสต์ ยังไม่ยิ่งใหญ่เท่าคนตํ่าต้อยที่สุดในอาณาจักรพระเจ้า (มธ.๑๑,๑๑) นั่นคือพระเยซูถือว่าแม้แต่เกียรติยศและความเคารพนับถือที่ยอห์นได้รับก็ไม่มีค่าอะไรเลย

          พระเยซูถึงกับเอาเด็กทารกมาเปรียบกับนักปราชญ์ (มธ.๑๑,๒๕) ฝ่ายหนึ่งมีพวกคัมภีราจารย์ซี่งมีเกียรติยศชื่อเสียงเป็นอย่างมากเพราะได้รับการศึกษาและมีความรอบรู้มาก มีแต่คนนับหน้าถือตา อีกฝ่ายหนึ่งมีเด็กทารก ซึ่งสําหรับพระเยซู เด็กทารกเป็นภาพพจน์ของคนโง่และไร้การศึกษา ผลปรากฏว่า เด็กทารก นั่นคือคนตํ่าต้อยไร้การศึกษา ได้รับการเปิดเผยและเข้าใจความจริงเกี่ยวกับอาณาจักรพระเจ้า ส่วนบรรดาผู้รอบรู้กลับไม่เข้าใจ และเพราะเหตุนี้แหละที่พระเยซูขอบคุณพระเจ้า

4. ผู้มีสิทธิ์เข้าอาณาจักรพระเจ้า

          นี่ไม่ได้หมายความว่าเฉพาะคนในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ที่จะเข้าอาณาจักรพระเจ้าได้ แต่ทุกคนมีสิทธิ หากว่าเขาพร้อมที่จะเปลี่ยนตัวเองให้เป็นเหมือนคนตํ่าต้อย หรือทําตัวเหมือนเด็ก ๆ (มธ.๑๘,๓-๔) "เขาจะต้องทําตัวเป็นคนสุดท้าย และเป็นผู้รับใช้ผู้อื่น" (มก.๙,๓๕) หมายความว่าเขาจะต้องเลิกพะวงถึงฐานะและเกียรติยศชื่อเสียง เช่นเดียวกับที่เขาต้องตัดใจจากทรัพย์สินเงินทอง

          ความรักของพระเยซูไม่ใช่เจาะจงและจํากัดอยู่กับพวกคนจนและคนถูกกดขี่เท่านั้น หลักการของพระเยซูคือสิ่งที่สําคัญที่สุดคือ ความเป็นคน ไม่ใช่เกียรติยศชื่อเสียง คนจนและคนถูกกดขี่ไม่มีอะไรจะมาสนับสนุน มีแต่ความเป็นคนและความทุกข์ทรมาน พระเยซูสนใจและห่วงไยชนชั้นกลางและชั้นสูงด้วย ไม่ใช่เพราะพวกเขาเป็นบุคคลสําคัญหรืออะไรอื่น แต่เป็นเพราะว่าพวกเขาก็มีความเป็นคนเหมือนกัน พระเยซูอยากให้พวกเขาทิ้งค่านิยมที่ผิด ทิ้งความรํ่ารวยและเกียรติ เหลือไว้แต่ความเป็นคนอย่างแท้จริง  พระเยซูอยากให้ทั้งค่านิยมของโลก ที่บูชาเกียรติยศชื่อเสียง และให้ทุกคนรับค่านิยมของ "พระเจ้า" ที่นับถือความเป็นคนของมนุษย์ทุกคน

5. ทัศนคติต่อสตรี   

          อีกสิ่งหนึ่งที่ชี้ให้เห็นชัดว่าพระเยซูให้คุณค่ากับความเป็นคน คือทัศนคติที่พระเยซูมีต่อสตรี ในสังคมสมัยนั้นการเกิดมาเป็นผู้หญิงเป็นข้อเสียเปรียบ บางคนถึงกับถือว่าพระเจ้าไม่ได้ฟังคําภาวนาของพ่อแม่ จึงได้ลูกสาว ผู้หญิง และเด็กไม่มีความหมาย   ผู้หญิงจะเป็นศิษย์ของพวกคัมภีราจารย์ หรือของพวกไหนๆ ก็ไม่ได้ บทบาทของสตรีมีเพียงแต่เพศและเลี้ยงลูกเท่านั้น

          พระเยซูไม่ถือเช่นนั้น พระเยซูไม่เห็นด้วยกับคนสมัยนั้นและไม่เห็นด้วยกับศิษย์รุ่นต่อๆมาเกือบทั้งหมด และไม่เห็นด้วยกับศิษย์รุ่นปัจจุบันนี้หลายคน พระเยซูตีคุณค่าผู้หญิงเท่ากับผู้ชายทุกประการ ถือว่ามีเกียรติและศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน พระเยซูเป็นห่วงแม่ม่ายบ้านนาอิม แม่ยายของเปโตร หญิงที่ตกโลหิต และหญิงชาวคานาอัน เหมือนกับที่เป็นห่วงคนอื่นๆที่ต้องการความช่วยเหลือ ผู้หญิงหลายคนเป็นเพื่อนและเป็นผู้ติดตามพระเยซู (มก.๑๕,๔๐-๔๑; ลก.๗,๓๖-๕๐; ๘,๒-๓; ยน.๑๑,๕; ๒๐,๑๑-๑๘) ผู้หญิงเป็นแม่และเป็นพี่น้องของพระเยซู (มก.๓,๓๔-๓๕) พระเยซูถือว่ามารีย์ ชาวเบธานีได้เลือกสิ่งที่ดีที่สุด โดยมานั่งฟังแทบเท้าพระเยซู แทนที่จะปล่อยให้พวกผู้ชายเท่านั้นที่ฟังแล้วตัวเองเข้าครัว (ลก.๑๐,๓๘-๔๒) พระเยซูไม่มีความกลัวหรือลําบากใจที่ต้องพูดคุยติดต่อกับหญิงโสเภณี (ลก.๗,๓๖-๕๐; มธ.๑๑,๑๙; ๒๑,๓๑-๓๒)หรือหญิงที่มีประวัติเสีย (ยน.๔, ๗-๒๗; ๘,๑๐-๑๑) คนก็คือคน และนี่คือสิ่งที่สําคัญที่สุด

          คําพูดของพระเยซูที่ว่า "ใครที่ถ่อมตนจะได้รับการยกย่อง" ไม่ใช่เป็นคําสัญญาว่าคนที่ไม่มีเกียรติ หรือที่สละเกียรติในเวลานี้ จะได้รับเกียรติยศชื่อเสียงในอนาคต แต่มันเป็นคําสัญญาว่าเขาจะไม่ถูกเหยียดหยามว่าตํ่าต้อย แต่จะเป็นที่ยอมรับในฐานะมนุษย์เต็มขั้น คนจนไม่ได้รับคําสัญญาว่าจะได้รํ่ารวย แต่จะได้มีอยู่มีกินอย่างไม่ขาดแคลน ฉันใดก็ฉันนั้น คนไร้เกียรติไม่ได้รับคําสัญญาว่าจะมีเกียรติยศชื่อเสียง แต่จะได้มีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นคนเท่าเทียมกับทุกคน เพื่อจะให้บรรลุถึงขั้นนี้จําเป็นจะต้องจัดโครงสร้างในสังคมใหม่อย่างถอนรากถอนโคน

          อาณาจักรพระเจ้าจะเป็นสังคมที่ไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะ ไม่มีการใช้ฐานะหรือเกียรติยศชื่อเสียงมาเป็นกฎเกณฑ์เงื่อนไข ไม่มีผู้ยิ่งใหญ่และผู้ตํ่าต้อย ทุกคนจะได้รับความรักและเคารพนับถือ เพราะว่าทุกคนเป็นคนเหมือนกัน ไม่ใช่เพราะเป็นคนมีการศึกษา เพราะความรํ่ารวย ตระกูล อํานาจหรือเพราะอะไรอื่น  หลายคนคงจะคิดไม่ออกว่าสภาพชีวิตในสังคมแบบนี้จะเป็นอย่างไร แต่สําหรับผู้ตํ่าต้อยที่ไม่เคยมีสิทธิหรือฐานะเหมือนกับคนอื่น และสําหรับผู้ที่ไม่ผูกพันกับเกียรติยศชื่อเสียง จะเข้าใจได้ไม่ยากว่า ชีวิตในสังคมเช่นนี้จะนําความพึงพอใจและความสุขมาให้ ใครก็ตามที่ไม่สามารถทําตัวเสมอเท่ากับคนขอทาน คนรับใช้  อดีตโสเภณี คนจน ผู้หญิงและเด็ก และใครก็ตามที่ไม่สามารถอยู่ได้โดยไม่ได้อยู่เหนือใครสักคน  ก็จะไม่สามารถอยู่ได้อย่างสบายใจในอาณาจักรพระเจ้า  พวกเขาคงอยากจะแยกตัวอยู่นอกอาณาจักรนี้

คำถาม

1. พระเยซูมีทัศนคติเรื่อง “เกียรติยศชื่อเสียง” อย่างไร ?
2.ใครจะเป็นประชากรในอาณาจักรพระเจ้าได้ ?
3. พระเยซูมีท่าทีต่อสตรีอย่างไร?

การรวมตัวเป็นกลุ่มและแยกตัวออกจากกลุ่มอื่น ๆ  เป็นความจริงพื้นฐานอย่างหนึ่งในสังคมชาวยิว ครอบครัว ตระกูล เผ่า หรือชาติ เป็นรูปแบบต่างๆ ของการรวมตัว  ซึ่งในบางครั้งแสดงตัวออกมาในตัวบุคคลหนึ่ง เช่น กษัตริย์ หรือบรรพบุรุษต้นตระกูล

1. การแบ่งกลุ่ม

          ความแตกต่างอีกอย่างหนึ่งระหว่างอาณาจักรพระเจ้ากับอาณาจักรมาร ก็คือทัศนคติเกี่ยวกับการแยกกลุ่ม

          นอกจากเกียรติยศชื่อเสียงและความรํ่ารวยแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สังคมสมัยพระเยซูถือกันมากคือการรวมตัวเป็นกลุ่ม ชาวยิวตั้งแต่โบราณมาจนถึงปัจจุบันแสดงออกถึงความภักดีต่อกลุ่มอย่างแจ้งชัด จะมีการร่วมมือและช่วยเหลือกันอย่างเหนียวแน่น เป็นต้นในยามคับขัน ในสมัยของพระเยซูมีการเน้นหนักที่ความเป็นยิวหรือผู้ถือศาสนายิว(Judaism) ซึ่งตั้งตัวเป็นปรปักษ์กับผู้ที่นับถือศาสนาอื่น(Gentiles) นอกนั้นยังเน้นหนักที่ความภักดีต่อกลุ่มย่อยภายในชาติอีกด้วย

          กลุ่มพื้นฐานก็คือครอบครัวและเครือญาติ ความสัมพันธ์ทางสายเลือดและทางการสมรสถือเป็นสิ่งที่สําคัญมาก ทุกคนในเครือญาตินับถือกันเป็นพ่อแม่พี่น้อง ถ้าสมาชิกคนหนึ่งได้รับทุกข์ สมาชิกอื่นๆ ทุกคนก็เจ็บไปด้วย  สมาชิกในครอบครัวคนหนึ่งสามารถพูดกับคนนอกครอบครัวได้ว่า "สิ่งที่ท่านทําต่อพี่น้องแม้ที่ตํ่าต้อยที่สุดของเรา ก็เท่ากับทําต่อเราเอง" หรืออาจจะพูดได้ว่า "ถ้าท่านต้อนรับญาติคนหนึ่งของเรา ก็เท่ากับว่าท่านได้ต้อนรับเรา" สมาชิกในครอบครัวสามารถพูดกับสมาชิกอีกคนหนึ่งได้ว่า "ใครต้อนรับท่านก็คือต้อนรับเราเอง และใครที่ไม่ยอมรับนับถือท่านก็คือไม่ยอมรับนับถือเรา" ที่จริงแล้ว คําพูดเหล่านี้ไม่ต้องพูดก็ได้ เพราะถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่รู้ๆ กันอยู่แล้ว

          ด้วยหลักการนี้ ถ้าญาติคนหนึ่งถูกสบประมาทหรือถูกฆาตกรรม สมาชิกอื่นๆในครอบครัวถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องแก้แค้นแทน การแก้แค้นหรือสงครามระหว่างตระกูลยังมีอยู่ในสมัยพระเยซู แม้ว่าความรุนแรงจะลดลงไปบ้างแล้ว หลักที่ว่า "ตาต่อตา ฟันต่อฟัน" ยังใช้กันอยู่ (มธ. ๕,๓๙) ในสมัยเรา ปัญหานี้ดูจะเป็นเรื่องห่างไกลจากเรา ทั้งนี้ก็เพราะปัจจุบันเราอยู่กันแบบตัวใครตัวมันเสียเป็นส่วนมาก นอกนั้น ในสมัยพระเยซูยังมีการรวมตัวเป็นกลุ่มเพื่อนฝูง กลุ่มอาชีพ กลุ่มสังคม กลุ่มของคนที่ถือตัวว่าเป็นชนชั้นเลือกสรรพิเศษ เช่นกลุ่มฟาริสี กลุ่มเอสซีน ฯลฯ สมัยนั้นไม่มีคําว่าตัวใครตัวมัน

          แม้สมัยเราจะอยู่แบบตัวใครตัวมัน และมีความภักดีต่อกลุ่มในระดับต่างๆน้อยกว่าสมัยก่อนมาก แต่กระนั้นก็ดี  เราก็ยังมีการสังกัดกลุ่ม และมีอคติระหว่างกลุ่มอยู่เหมือนกัน  มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่คน แล้วแต่วัฒนธรรม หลายต่อหลายคนในโลกปัจจุบันยังรังเกียจสีผิว ดูถูกชนชาติอื่น แบ่งพวกตามภาษาและวัฒนธรรม ถือชั้นวรรณะ แยกกลุ่มตามวัย (พวกคนแก่,พวกวัยรุ่น..)  สังกัดพรรคการเมือง หรือลัทธิทางศาสนา  ในบางกรณี ความรักและภักดีต่อกลุ่มของตน ก็ยังคงเหนียวแน่นไม่แพ้สมัยก่อน อคติและความขัดแย้งก็ยังคงรุนแรงไม่แพ้สมัยก่อนเช่นกัน

2. อาณาจักรพระเจ้าต่างกับอาณาจักรมาร

          สําหรับพระเยซู อาณาจักรมารต่างกับอาณาจักรพระเจ้าตรงที่ว่า อาณาจักรมารตั้งอยู่บนรากฐานแห่งความภักดีต่อกลุ่ม แบบจํากัดวงปิดตัวเองและเป็นปฏิปักษ์ต่อกลุ่มอื่นๆ ส่วนอาณาจักรพระเจ้าตั้งอยู่บนรากฐานแห่งความภักดีต่อมนุษยชาติ แบบอ้าแขนต้อนรับทุกคน "ท่านได้ยินคํากล่าวว่าจงรักเพื่อนพี่น้องและจงเกลียดศัตรู แต่เราขอบอกว่า จงรักศัตรูของท่าน" (มธ.๕,๔๓-๔๔)

          ในม้วนคัมภีร์ของชุมชนกุมรัน (พวกเอสซีน) และในวรรณกรรมคู่เคียงพระคัมภีร์ที่ชื่อว่า "ยูบีลี" มีคําสั่งอย่างชัดแจ้งว่าให้เกลียดศัตรู แม้ในพระคัมภีร์ตอนพันธสัญญาเดิม ไม่มีคําสั่งอย่างชัดแจ้ง แต่ก็เป็นที่เข้าใจกันอยู่แล้วว่า จงรักเพื่อนพี่น้อง หมายความว่าไม่รวมถึงศัตรู เพื่อนพี่น้องไม่ใช่เพื่อนมนุษย์โดยทั่วไปแต่หมายถึงญาติโยมหรือสมาชิกในกลุ่มของตน "เจ้าต้องไม่ด่าว่าคนเชื้อชาติเดียวกันกับเจ้า...เจ้าต้องไม่เกลียดชังพี่น้องของเจ้า...เจ้าต้องไม่แก้แค้นกับลูกหลานชนชาติของเจ้า เจ้าต้องรักเพื่อนบ้านของเจ้าเหมือนรักตัวเอง" (เลวี.๑๙,๑๖-๑๘) นี่คือความภักดีต่อกลุ่ม หรือความเป็นหนึ่งเดียวกันภายในกลุ่ม เฉพาะคนในครอบครัว คนในตระกูล หรือคนในชาติเท่านั้นที่ชาวยิวถือว่าเปรียบเหมือนตัวเองได้

          พระเยซูขยายวงพี่น้องเพื่อนบ้านให้กว้างออกไปครอบคลุมถึงศัตรูด้วย คําว่า"จงรักศัตรู" เป็นวิธีเรียกความสนใจของทุกคนให้เห็นอุดมการณ์ของพระเยซู  ที่อยากให้มนุษย์ทุกคนเข้ามารวมเป็นกลุ่มเดียวไม่มีการ จํากัดวง  ศัตรูกลายเป็นญาติมิตร คนนอกกลายเป็นคนใน  พระเยซูอธิบายเพิ่มเติมอย่างไม่ลังเลใจว่า "จงทําดีให้แก่คนที่เกลียดท่าน อวยพรคนที่สาบแช่งท่าน ภาวนาสําหรับผู้ที่ทําร้ายท่าน" (ลก.๖,๒๗-๒๘)

          ความเป็นหนึ่งเดียวภายในกลุ่ม(หรือรักคนที่รักเรา) ไม่ใช่คุณธรรมอะไร พวกโจรรวมตัวเป็นนํ้าหนึ่งใจเดียวกันในกลุ่มมากกว่าใครอื่น  สิ่งที่พระเยซูเรียกร้องคือความเป็นหนึ่งเดียวกันของมนุษยชาติ ซึ่งไม่ปิดตัวเองอยู่ในกลุ่มเล็กๆ ไม่ใจแคบ แต่รักทุกคนโดยไม่หวังตอบแทน รักแม้แต่คนที่เกลียดเรา  ความเป็นหนึ่งเดียวกันของกลุ่มคริสตชนที่เปาโลพูดถึง (๑ เทส.๓,๑๒) ไม่ใช่เป็นการแยกกลุ่ม แต่เป็นชีวิตแห่งความเป็นพี่น้องกัน คริสตชนเปิดใจรักมนุษย์ทุกคนและแสดงออกมาโดยรักคริสตชนผู้อยู่รอบข้าง แต่ไม่มีการแยกตัวเองออกจากผู้ที่ไม่เป็นคริสตชน

3. ความรักต่อคนในครอบครัว

          ความเป็นหนึ่งเดียวกันของมนุษยชาติต้องมาเป็นอันดับแรก ก่อนที่จะมีความเป็นหนึ่งในกลุ่มย่อยลงไป ความรักต่อมนุษยชาติมาก่อนความรักอื่นใด  "ใครที่อยากตามเรามา แต่ไม่เกลียดพ่อแม่ ภรรยา ลูก พี่น้อง  ชายหญิง และแม้แต่ชีวิตของตัวเอง จะเป็นศิษย์ของเราไม่ได้"(ลก.๑๔,๒๖)  ผู้อธิบายพระคัมภีร์มักจะชี้แจงว่า เนื่องจากภาษาฮีบรูและอาราไมอิคที่ใช้ในสมัยนั้นมีคําไม่มาก  คําว่า "เกลียด" จึงนํามาใช้หมายถึงอะไรอื่นที่ไม่ใช่ "รัก" ตั้งแต่เกลียดลงมาถึงรู้สึกเฉย ๆ ในกรณีนี้เกลียดหมายถึงตัดใจจากพ่อแม่พี่น้อง การอธิบายเช่นนี้มีส่วนถูก แต่ไม่ตรงกับความคิดของพระเยซูทั้งหมด

          ถ้ารักหมายความว่า เป็นหนึ่งเดียวกัน เกลียดก็ต้องหมายความว่า ไม่เป็นหนึ่งเดียวกัน   พระเยซูต้องการให้  ความเป็นหนึ่งเดียวกันในครอบครัว ถูกแทนที่ด้วยความเป็นหนึ่งเดียวกันในมนุษยชาติ แต่นี่ก็ไม่ได้หมายความว่าตัดพ่อแม่พี่น้องออก พ่อแม่พี่น้องก็ต้องเข้ามาอยู่ในครอบครัวมนุษยชาติด้วยเพราะเป็นคนเหมือนกัน และนี่ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องรักพ่อแม่พี่น้องน้อยลงไป ต้องรักเหมือนเดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปก็คือเหตุผลหรือรากฐานแห่งความรัก เราต้องรักเขา ไม่ใช่เพราะว่าบังเอิญเป็นญาติพี่น้องกัน แต่เรารักเขาเพราะเขามีศักดิ์ศรีเป็นมนุษย์  เราต้องรักเขาด้วยความรักเดียวกันที่เราใช้รักเพื่อนมนุษย์ทุกคน  เป็นความรักที่เปิดกว้างไม่  จํากัดวง ผลที่ตามมาก็คือเรารักญาติพี่น้องมากกว่าเดิมเสียด้วยซํ้า เพราะเรารักด้วยความรักที่ลึกซึ้งกว่า

          ตอนต่างๆในพระวรสารที่พูดถึงครอบครัวก็ยืนยันถึงการตีความแบบนี้ พวกสาวก "จากบ้าน ภรรยา พี่น้อง พ่อแม่หรือลูก เพื่อเห็นแก่อาณาจักรพระเจ้า" (ลก.๑๘,๒๙)  พวกสาวกไม่ปล่อยให้ความผูกพันภายในครอบครัว มาขัดขวางความผูกพันแบบใหม่ในอาณาจักรพระเจ้า (ลก.๙, ๕๙-๖๒) การเปลี่ยนจากความสัมพันธ์แบบญาติพี่น้องมาเป็นความสัมพันธ์แบบบุคคลต่อบุคคล อาจทําให้บางครอบครัวต้องแตกแยก "ท่านคิดว่าเรานําสันติมาให้โลกหรือ? เปล่าเลย เรานําความแตกแยกมาให้ต่างหาก ตั้งแต่นี้ไป บ้านที่มี ๕ คนจะแบ่งออกเป็น ๓ ต่อ ๒ และ ๒ ต่อ ๓ พ่อจะแยกจากลูกชาย และลูกชายจะแยกจากพ่อ แม่จะแยกจากลูกสาว และลูกสาวจะแยกจากแม่ แม่ผัวจะแยกจากลูกสะใภ้ และลูกสะใภ้จะแยกจากแม่ผัว" (ลก.๑๒,๕๑-๕๓; เทียบกับ มธ.๑๐,๓๔-๓๖) ตอนหลังของข้อความนี้ยกมาจากหนังสือประกาศกมีคาห์ ตอนที่ท่านรําพันถึงความแตกแยกที่เกิดขึ้นในครอบครัวต่างๆนั้น ถือว่าเป็นบาปอย่างหนึ่งของชาติอิสราเอลในสมัยนั้น (มีคาห์ ๗,๖) การรวมตัวอย่างเหนียวแน่นในครอบครัวถือว่าเป็นคุณธรรม แต่พระเยซูเปลี่ยนค่านิยมใหม่ นั่นคือความเป็นหนึ่งเดียวกันในมนุษยชาติต้องอยู่เหนือความเป็นหนึ่งเดียวกันในครอบครัว

4. ความสัมพันธ์ของพระเยซูกับครอบครัว

          ความสัมพันธ์ของพระเยซูกับแม่และญาติพี่น้องของตน ตามที่เราพบในพระวรสาร  มีลักษณะตึงเครียด พวกญาติพี่น้องคิดว่าพระเยซูเสียสติ และในฐานะที่เป็นพี่น้องกัน ก็พยายามยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ(มก.๓, ๒๑) แม่ของพระเยซูอาจรวมอยู่ด้วยในโอกาสนั้น แต่ในอีกครั้งหนึ่งแม่ของพระเยซูไปกับญาติพี่น้องอื่นๆ เพื่อไปรับพระเยซูในขณะที่พระเยซูนั่งอยู่กับฝูงชน (มก.๓,๓๑-๓๒) บางทีในตอนนั้นแม่ของพระเยซูไม่เข้าใจว่าพระเยซูกําลังทําอะไรอยู่ เช่นเดียวกับที่ไม่เข้าใจตอนพระเยซูค้างอยู่ในวิหารเมื่ออายุ ๑๒ ปี (ลก.๓,๔๑-๕๐)

          พระเยซูไม่ต้องการให้คนเข้าใจว่าความรักที่พระเยซูมีต่อแม่และญาติพี่น้อง เป็นความรักอันเนื่องมาจากสายเลือด หรือมาจากความเป็นหนึ่งเดียวกันที่จํากัดอยู่ภายในครอบครัว "หญิงคนหนึ่งในฝูงชนพูดว่า หญิงที่ให้กําเนิดท่านและให้นมเลี้ยงท่าน เป็นคนที่มีบุญมาก แต่พระเยซูตอบว่า คนที่ฟังพระวาจาของพระเจ้าและปฏิบัติตาม เป็นคนที่มีบุญมากกว่านั้น"(ลก.๑๑,๒๗-๒๘) ความรักระหว่างพระเยซูกับแม่ต้องเนื่องมาจากแผนการของพระเจ้า (นั่นคือความเป็นหนึ่งเดียวกันของมนุษยชาติ)

          พระเยซูทิ้งความผูกพันภายในครอบครัวของตน เพื่อทําให้ทุกคนที่อยู่รอบข้างเข้ามาเป็นพี่ เป็นน้อง เป็นแม่ของตน (มก.๓,๓๑-๓๕) และถ้าใครต้อนรับคนใดคนหนึ่งในพวกนี้ ก็เท่ากับต้อนรับพระเยซูเอง (มธ.๑๐, ๔๐) และใครทําอะไรต่อคนที่ตํ่าต้อยที่สุดในพวกนี้ ก็เหมือนกับทําต่อพระเยซูเองเช่นกัน (มธ.๒๕,๔๐-๔๕)

5. ข้อสงสัยในพระเยซู

          มีคนตั้งคําถามว่า ความเป็นหนึ่งเดียวในมนุษยชาติที่พระเยซูพูดถึงนี้ ครอบคลุมถึงทุกคนทั่วหน้าจริง ๆ หรือไม่? พระเยซูสอนให้รักศัตรูแล้วตัวเองรักศัตรูจริงๆ หรือเปล่า? นักเขียนชาวยิว (สมัยปัจจุบัน) ชื่อมอนเตฟิโอเร คิดว่าพระเยซูไม่ปฏิบัติสิ่งที่ตัวเองสอน เพราะว่าพระเยซูไม่รักศัตรูนั่นคือ พวกฟาริสีและคัมภีราจารย์ พระเยซูเข้าข้างพวกคนจนและคนถูกกดขี่ แล้วตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อชนชั้นสูงและชั้นกลาง ซึ่งรวมทั้งพวกฟาริสี และคัมภีราจารย์ด้วย นี่หรือคือความเป็นหนึ่งเดียวกันของมนุษยชาติ ?

          เราอาจตอบข้อสงสัยนี้โดยชี้แจงว่า ผู้เรียบเรียงพระวรสารอาจจะได้ใช้ถ้อยคํารุนแรงเกินกว่าที่พระเยซูได้พูดจริง ทั้งนี้เนื่องจากมีความตึงเครียดมากระหว่างคริสตชนรุ่นแรกกับพวกฟาริสี คําตอบนี้มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ยังไม่ได้ตอบคําถามที่ว่าพระเยซูรักพวกฟาริสีหรือไม่?

          คําว่า "รัก" เป็นคําเดียวกับคําว่า "เป็นหนึ่งเดียวกัน" ความโกรธและความไม่พอใจ ไม่ขัดกับความรักตรงข้าม ถ้าใครคนหนึ่งสนใจและเป็นห่วงถึงคนอื่นในฐานะที่เป็นคนเหมือนกัน คนคนนี้จะไม่สามารถทนนิ่งดูดายในขณะที่มีบางคนกําลังทรมานตัวเองและทรมานผู้อื่น คนคนนี้คงจะต้องโกรธและไม่พอใจและพยายาม  ทําอะไรบางอย่างเพื่อช่วยแก้ปัญหานั้น พระเยซูก็โกรธ และบางครั้งก็โกรธมากด้วย เมื่อเห็นว่ามีบางคนทําร้ายตัวเองและพยายามทําร้ายผู้อื่นด้วย เมื่อเห็นว่าพวกเขาไม่ยอมฟังและไม่ยอมเลิกการกระทําดังกล่าวและยังคงความหน้าซื่อใจคดต่อไป พระเยซูโกรธ ทั้งนี้เพราะหวังดีต่อพวกคนเหล่านี้และหวังดีต่อเพื่อนมนุษย์ทุกคน  สิ่งที่พิสูจน์ได้ดีที่สุดว่าพระเยซูรักเพื่อนมนุษย์ทุกคน ก็คือความโกรธและความไม่พอใจที่แสดง ออกมาอย่างชัดเจน ต่อคนที่ทําลายความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น และทําลายความเป็นมนุษย์ของตนเองด้วย

          ถ้าพระเยซูปฏิเสธไม่ยอมพูด ไม่ยอมถกเถียง ไม่ยอมกินเลี้ยงกับพวกฟาริสี นั่นจึงจะหมายความว่าพระเยซูไม่รักพวกฟาริสีและตัดพวกเขาออกจากวงสัมพันธ์ แต่เราเห็นว่าในพระวรสารมีพูดถึงอยู่เป็นประจําว่าพระเยซูติดต่อกับพวกฟาริสี และพยายามชักจูงให้เลิกพฤติกรรมเดิมเสีย แต่ส่วนมากไม่สําเร็จ และในที่สุดเป็นพวกฟาริสีที่ตัดพระเยซูออก ไม่ใช่ตรงกันข้าม

          เราปฏิเสธไม่ได้ว่าพระเยซูเข้าข้างคนจนและคนบาปเป็นพิเศษ  สําหรับพระเยซู ความเป็นหนึ่งเดียวกันของมนุษยชาติไม่ใช่เป็นอุดมการณ์ลอยๆที่ไม่มีตัวตน "การรักมนุษยชาติ" อาจจะแปลว่า "ไม่รักใครเลย" ก็ได้ ในหนังสือเล่มนี้เราจําเป็นต้องใช้คําที่แสดงความคิดรวม เช่น มนุษยชาติ มนุษย์ทุกคน ความเป็นคน ฯลฯ เพื่อแสดงถึงความรักความเป็นหนึ่งเดียวกันที่ไม่มีการจํากัดวง แต่พระเยซูไม่เคยใช้ศัพท์เหล่านี้เลย พระเยซูยินดีต้อนรับทุกคนที่พบเห็น ไม่รังเกียจใคร ไม่ตัดใครออก และรักทุกคนโดยไม่คํานึงถึงตระกูล เชื้อชาติ ชั้นวรรณะ การศึกษา ชีวิตส่วนตัว หรืออะไรอื่นทั้งสิ้น และด้วยการรักทีละคนทีละคนที่พบเห็นนี่แหละ ที่พระเยซูร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันกับมนุษยชาติทั้งมวล

          การเข้าร่วมวงกับคนจนและคนถูกกดขี่ อาจกลายเป็นการจํากัดวงในอีกรูปแบบหนึ่งก็ได้ หากว่าเป็นการปิดตัวไม่ยอมรับคนประเภทอื่นๆ  แต่พระเยซูไม่เคยปิดตัวเองอยู่เฉพาะในกลุ่มคนจนและคนบาปเลย

          มีข้อแย้งอยู่อีกประการหนึ่ง พระเยซูทําภาระกิจต่างๆในเขตอิสราเอลเท่านั้น และบอกให้พวกสาวกทําเช่นเดียวกัน "จงอย่าเข้าไปในเขตของชนต่างศาสนา (ชนชาติอื่นที่ไม่ใช่ยิว) และอย่าเข้าไปในแคว้นสะมาเรีย แต่จงไปหาแกะพลัดฝูงแห่งชาติอิสราเอล" (มธ.๑๐,๕-๖) นอกนั้นในเรื่องของหญิงชาวคานาอัน พระเยซูลังเลใจที่จะช่วยหญิงคนนั้น ซึ่งหมายถึงการทํางานออกนอกเขตอิสราเอล พระเยซูบอกหญิงนั้นว่า "เราถูกส่งมาหาแกะพลัดฝูงแห่งอิสราเอลเท่านั้น" (มธ.๑๕,๒๔) และคําพูดต่อมายิ่งทําให้เราแปลกใจมากขึ้นอีก "มันไม่ถูกที่จะเอาอาหารของลูกไปให้สุนัขกิน" คือเอาอาหารของอิสราเอลไปให้ชนต่างชาติ (มธ.๑๕,๒๖=มก.๗,๒๗) ในที่สุดพระเยซูก็ได้ช่วยหญิงชาวคานาอันคนนั้น ดังที่ได้ช่วยนายร้อยชาวโรมัน แต่ทําไมจึงต้องทําให้ลําบากกว่ากรณีคนน่าสงสารชาวยิว ทําไมต้องให้มีพวกผู้หลักผู้ใหญ่ชาวยิวมาช่วยขอให้นายร้อยชาวโรมัน(ลก.๗,๓-๕) ?

          แต่ในอีกด้านหนึ่ง พระเยซูวาดภาพอาณาจักรที่รวบรวมคนทุกชาติทุกศาสนาจากเหนือ ใต้ ตะวันออกและตะวันตกให้เข้ามาร่วมงานเลี้ยงกับอับราฮัม อิสอัคและยากอบ ในขณะที่ชาวยิวจํานวนมากจะไม่ยอมเข้าร่วมงาน (มธ.๘,๑๑-๑๒; ลก.๑๓,๒๘-๒๙; ๑๔,๑๕-๒๔)  ชาวนินะเวห์และราชินีแห่งทิศใต้จะทําให้ ชาวยิวต้องอับอาย (มธ.๑๒,๔๑-๔๒)

          ทัศนคติที่พระเยซูมีต่อชนต่างชาติต่างศาสนาดูจะสับสนอยู่มาก และนักพระคัมภีร์ก็เคยถกเถียงปัญหานี้มาเป็นเวลานาน จนกระทั่งนักพระคัมภีร์ที่มีชื่อเสียง(เชื้อสายยิว) ชื่อโยอากิม เยเรไมอัส ได้ศึกษาความคิดและความเชื่อถือของชนชาติยิวในสมัยพระเยซูจนสรุปได้ว่า  ชาวยิวเชื่อว่า ในอนาคต หลังจากที่อาณาจักรต่างๆ พินาศหมดแล้ว โลกจะมีพระเจ้าเที่ยงแท้เข้าปกครอง โดยจะรวมมนุษย์ทุกชาติทุกศาสนาเข้ามาด้วย  ประกาศกสมัยก่อนเคยพูดถึงกษัตริย์ต่างศาสนาทั้งหลายที่จะเดินทางจาริกไปวิหารกรุงเยรูซาเลมเพื่อนมัสการ พระเจ้าผู้ปกครองโลกแต่พระองค์เดียว โลกถูกปกครองโดยจักรวรรดิ์ต่างๆ จักรวรรดิ์ปัจจุบัน (ในขณะนั้น) คือจักรวรรดิ์โรมัน จะถูกแทนที่โดยจักรวรรดิ์อิสราเอล(ยิว) นั่นคือจักรวรรดิ์ของพระเจ้า เมื่อมีความเชื่อเช่นนี้ชาวยิวทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกฟาริสีและคัมภีราจารย์ ต่างก็พยายามเผยแพร่ศาสนาและความเชื่อของตน และเรื่องราวของพระเยซูก็เริ่มขึ้นพอดีกับช่วงเวลาแห่งความพยายามเผยแพร่นี้เอง

          พระเยซูแสดงความไม่พอใจกับความพยายามเผยแพร่ศาสนาของพวกฟาริสีและคัมภีราจารย์ "วิบัติแก่พวกเจ้าคัมภีราจารย์และฟาริสี หน้าซื่อใจคด พวกเจ้าไปทั้งทางนํ้าและทางบกเพื่อเสาะแสวงหาคนกลับใจมาเป็นศิษย์ เมื่อได้มาแล้วก็ทําให้ชั่วกว่าเจ้าถึงสองเท่า" (มธ.๒๓,๑๕) พระเยซูเห็นว่ามันเป็นเหมือนคนตาบอดจูงคนตาบอด ซึ่งจะตกหลุมทั้งคู่ (มธ. ๑๕,๑๔) พระเยซูคิดว่าชาวยิวต้องเปลี่ยนแปลงตนเองให้ดี ก่อนที่จะไปชักจูงคนอื่นให้เปลี่ยนแปลงด้วย และสิ่งนี้แหละที่พระเยซูพยายามจะทํา คือเปลี่ยนแปลงสังคมชาวยิวให้ดีก่อน และพระเยซูบอกให้สาวกมุ่งเน้นที่ชาติยิวเท่านั้น เพราะเวลามีน้อย (ความพินาศอันใหญ่หลวงกําลังจะมาถึง) และเพราะว่าชาติยิวได้รับการเตรียมตัวมาก่อนเป็นเวลานานในพันธสัญญาเดิม พระเยซูเชื่อว่าเป็นแผนการของพระเจ้าที่จะให้ชาติยิวกลับใจ ก่อนที่จะนําความอยู่รอดและความเป็นหนึ่งเดียวกันมาสู่มนุษยชาติ

          การมุ่งทําภาระกิจของพระเยซูในชาติยิว จึงเป็นเรื่องของขั้นตอนหรือยุทธวิธี ไม่ใช่การแยกพวกหรือการจํากัดวง คงจะต้องใช้เวลานานมากในการที่จะอธิบายเรื่องอาณาจักรพระเจ้าให้ชนชาติอื่นฟังก่อน พร้อมกับทําให้พวกเขามีความเชื่อมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงโลกนี้   ฉะนั้น เนื่องจากเวลามีจํากัด มันจึงไม่ถูกที่จะเอาอาหารที่ควรจะเลี้ยงชาติยิวก่อน ไปให้แก่ชาติอื่นซึ่งยังไม่พร้อมที่จะกินอาหารนั้น เพราะเหตุนี้พระเยซูจึงรู้สึกแปลกใจมากที่เห็นความเชื่ออันยิ่งใหญ่ของหญิงชาวคานาอัน (มธ.๑๕,๒๘) และแปลกใจที่เห็นนายร้อยชาวโรมันมีความเชื่อมากกว่าที่เคยพบเห็นในชาติยิว (มธ.๘,๑๐) พระเยซูไม่ได้คาดคิดมาก่อน แต่ถึงอย่างไรก็ตาม คนที่จะพร้อมแบบนี้ก็คงจะมีไม่กี่คน ขั้นตอนที่ถูกต้องสําหรับเวลานั้นก็คงจะต้องเริ่มจากชาติยิว พื่อเห็นแก่ผลประโยชน์ของชาติยิวและของมวลมนุษยชาติในเวลาเดียวกัน  แม้ว่าในที่สุดแล้ว ชาวยิวไม่ได้ตอบสนองมากเท่าที่พระเยซูคาดหวังไว้

6. สรุป

          จําเป็นต้องยํ้าอีกครั้งหนึ่งว่า รากฐานแห่งความรักหรือความเป็นหนึ่งเดียวกันในระหว่างมนุษย์ก็คือ ความเมตตาสงสาร (compassion) ซึ่งเป็นความรู้สึกที่สร้างความปั่นป่วนอยู่ภายในส่วนลึกของคนเมื่อเห็นเพื่อนมนุษย์ตกทุกข์ได้ยาก  นิทานเปรียบเทียบเรื่องชาวสะมาเรีย ผู้ใจดี เป็นคําตอบสําหรับคําถามที่ว่า  "เพื่อนมนุษย์คือใคร ?" (ลก.๑๐,๒๙-๓๗) คําตอบไม่ใช่ "ทุกคน" แม้ว่าที่จริงต้องเป็นเช่นนั้น แต่คําตอบที่พระเยซูให้คือ นิทานซึ่งนําเราไปสู่ความรู้สึกสะเทือนใจ และรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับคนน่าสงสารคนนั้นที่ถูกโจรทําร้าย เรารู้สึกผิดหวังเมื่อเห็นคนที่น่าจะช่วยได้ กลับไม่ยอมช่วยอะไรเลย เราสึกโล่งอกเมื่อเห็นชาวสะมาเรียมีความเมตตา

สงสาร ยอมฝ่าฝืนระเบียบสังคม (ที่แยกพวกยิวกับพวกสะมาเรีย) เพื่อยื่นมือเข้ามาช่วย

          ถ้าเรายอมปล่อยอารมณ์ให้อ่อนไหวไปตามนิทานเรื่องนี้ และปล่อยให้ความรู้สึกลึกๆนี้จูงเราไป เราคงจะไม่ต้องถามใครหรอกว่า "เพื่อนมนุษย์คือใคร ?" หรือ "ความรักหมายความว่าอะไร ?" เราคงจะไปทําเช่นเดียวกันกับชาวสะมาเรียคนนั้น ไม่ว่าจะมีอะไรมากีดขวางก็ตาม ความสงสารเดียวกันนี้ได้ทําให้พระเยซูสะเทือนใจ และผลักดันให้พระเยซูออกทําภาระกิจ  ความสงสารเดียวกันนี้จะสอนเราว่า ความเป็นหนึ่งเดียวกันของมนุษยชาติหมายความว่าอะไร   นี่แหละคืออาณาจักรพระเจ้า

คำถาม

1. พระเยซูมีทัศนคติในการแบ่งกลุ่มอย่างไร ?
2. เราจะรักคนในครอบครัวด้วยท่าทีอย่างไร ?
3. พระเยซูมีปัญหากับครอบครัวหรือ ?
4. พระเยซูลำเอียง รักชาวยิวด้วยกันมากกว่าคนต่างชาติหรือไม่ ?

  ความแตกต่างระหว่างอาณาจักรพระเจ้ากับอาณาจักรของมาร อีกประการหนึ่งคือค่านิยมเกี่ยวกับอํานาจ สังคมกับอํานาจเป็นของคู่กัน   สังคมต้องมีโครงสร้าง และโครงสร้างจะอยู่ได้ก็ต้องมีอํานาจอะไรบางอย่าง   อำนาจและโครงสร้างทางอํานาจ (ใครบังคับบัญชาใคร ใครตัดสินใจให้ใคร) ก็คือสิ่งที่เราเรียกในปัจจุบันนี้ว่า การเมือง

1. อำนาจ

          ในสมัยพระเยซู การเมืองเป็นเรื่องเกี่ยวกับการได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ ความหมายแรกของอํานาจก็คือการเป็นกษัตริย์ในภาษาพระคัมภีร์อํานาจ ของกษัตริย์ และอาณาจักรของกษัตริย์ เป็นคําเดียวกัน ฉะนั้นบางกรณีต้องพูดถึงอาณาจักร บางกรณีต้องพูดถึงอํานาจปกครอง แต่โดยทั่วไป เราต้องหมายถึงทั้งอํานาจและอาณาจักรควบคู่กันไป

          จนถึงเวลานี้ เราพูดถึงอาณาจักรพระเจ้าในแง่ที่เป็นสังคมหรือแผ่นดินโลกในอนาคต แต่เราต้องตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่า อาณาจักรพระเจ้ามาถึง ก็หมายความว่า อํานาจทางการเมืองของพระเจ้ามาถึงด้วย พระเยซูประกาศว่าอํานาจทางการเมืองในอนาคตจะอยู่ในมือของคนจนและคนตํ่าต้อย "เป็นบุญของคนจน เพราะว่าอาณาจักรพระเจ้าเป็นของท่าน"(ลก. ๖,๒๐) "ฝูงแกะน้อยๆเอ๋ย ไม่ต้องกลัว พระบิดาพอใจที่จะมอบอาณาจักรให้แก่พวกเจ้า" (ลก.๑๒,๓๒)

          ทุกอย่างดูเหมือนจะกลับตาลปัตร "พระเจ้าจะปลดผู้มีอํานาจออกจากบัลลังก์และยกผู้ตํ่าต้อยให้สูงขึ้น คนอดหยากจะอิ่มหนําด้วยของดีๆ และคนรวยจะต้องกลับไปมือเปล่า" (ลก.๑,๕๒-๕๓) "เป็นบุญของคนจน... วิบัติแก่เจ้าผู้รํ่ารวย" (ลก.๖,๒๐-๒๔) "ใครที่ยกตนเองขึ้น จะถูกกดให้ตํ่าลง และใครที่ถ่อมตนลง จะถูกยกให้สูงขึ้น" (ลก.๑๔,๑๑) นี่ไม่ใช่หมายความว่า ในโครงสร้างอํานาจของอาณาจักรพระเจ้า ผู้กดขี่กับผู้ถูกกดขี่จะเปลี่ยนที่กัน แล้วการกดขี่ก็จะดําเนินต่อไปเหมือนเดิม แต่ความหมายที่แท้จริงคือ ในอาณาจักรพระเจ้าความหมายของอํานาจจะกลับตาลปัตร ไม่เป็นเหมือนอํานาจในอาณาจักรของมาร

          ในอาณาจักรมาร อํานาจคือการกดขี่ข่มเหง หาผลประโยชน์และเอารัดเอาเปรียบ แต่ในอาณาจักรพระเจ้า อํานาจคือการรับใช้

          อาณาจักรและชาติต่าง ๆ ในโลกปัจจุบัน ถูกปกครองด้วยอํานาจที่กดขี่และใช้กําลัง ในอาณาจักรพระเจ้า อํานาจจะแสดงออกมาในการรับใช้ซึ่งกันและกัน "ท่านก็รู้ดีว่า ผู้ปกครองในชาติต่างๆ (ที่ไม่มีพระเจ้า) ต่างก็วางตัวเป็นนาย และผู้มีอํานาจก็ใช้อํานาจเหนือผู้อื่น แต่สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นในระหว่างพวกท่าน  ใครที่อยากเป็นใหญ่ต้องรับใช้พวกท่าน และใครที่อยากเป็นคนสําคัญ ต้องเป็นทาสของทุกคน เหตุว่าบุตรแห่งมนุษย์(พระเยซู)ไม่ได้มาให้คนเขารับใช้ แต่มาเพื่อรับใช้ทุกคน และมอบชีวิตเป็นค่าไถ่ของคนเป็นจำนวนมาก" (มก.๑๐,๔๒-๔๕;มก.๙,๓๕) ความแตกต่างระหว่าง การกดขี่เอาเปรียบกับการรับใช้ เห็นได้ชัดเจนอย่างไม่มีข้อสงสัย อํานาจในสังคมใหม่เป็นอํานาจที่ไม่เห็นแก่ตัว และพร้อมที่จะสละได้แม้แต่ชีวิตของตน

          เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อพระเยซูพูดถึงการใช้อํานาจกดขี่ข่มเหงในชาติต่างๆ พระเยซูคงจะคิดถึงจักรพรรดิ์ซีซาร์ และผู้ว่าราชการพอนทิอัส ปิลาตแห่งอาณาจักรโรมันเป็นพิเศษ แต่พระเยซูก็คงจะตระหนักดีว่า พวกยิวเองก็ปกครองกันด้วยการกดขี่ข่มเหงเหมือนกัน แม้ในทฤษฎีมันไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น พระเยซูเรียกกษัตริย์ เฮรอด (เชื้อชาติยิวผสมเอโดม) ว่า "สุนัขจิ้งจอก" เพราะปกครองอย่างโหดเหี้ยม และผู้นําชาวยิวเกือบทั้งหมด คือพวกหัวหน้าคณะสงฆ์ ผู้หลักผู้ใหญ่ พวกคัมภีราจารย์และพวกฟาริสี ก็เป็นผู้นําที่ใช้อํานาจกดขี่ข่มเหง คนเหล่านี้แม้จะไม่มีอํานาจแบบกษัตริย์ แต่ก็ใช้อํานาจอันเนื่องมาจากกฎบัญญติในพระธรรมคัมภีร์เพื่อกดขี่ประชาชน

2. ทัศนคติของพระเยซูต่อกฎบัญญัติ      

          กฎหมายสําหรับชาวยิว คือกฎระเบียบต่างๆที่จารึกไว้ในพระคัมภีร์ และที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมาทางวาจาของพวกคัมภีราจารย์ กฎระเบียบที่ถ่ายทอดทางวาจานี้ พวกฟาริสีและอีกหลายพวกถือว่ามีนํ้าหนักบังคับเหมือนกับกฎบัญญัติที่จารึกไว้ในพระคัมภีร์ และเรียกกันว่า"โตราห์" ซึ่งแปลว่าคําสั่งของพระเจ้า กฎบัญญัติเหล่านี้เป็นกําหนดกฎเกณฑ์หยุมหยิมเกี่ยวกับชีวิตทุกลมหายใจของชาวยิว

          พระเยซูไม่ได้ต่อต้านกฎบัญญัติ แต่ต่อต้านวิธีที่คนเอากฎบัญญัติมาใช้ และต่อต้านทัศนคติของคนส่วนมากที่มีต่อกฎบัญญัติ พวกฟาริสีและคัมภีราจารย์ ทํากฎบัญญัติให้กลายเป็นแอกหรือภาระหนัก ทั้งๆที่กฎบัญญัติต้องเป็นสิ่งที่ช่วยคน  "พวกเขาเอาแอกหนักผูกไว้บนบ่าของคนอื่น แต่ตัวเองกลับไม่ยอมออกแรงแม้เพียงยกนิ้วมือ" (มธ.๒๓,๔) "วันสับบาโต (วันพระ)มีไว้เพื่อคน ไม่ใช่คนมีไว้เพื่อวันสับบาโต" (มก.๒,๒๗) พวกคัมภีราจารย์ทําให้กฎเกี่ยวกับวันพระ รวมทั้งกฎอื่นๆ ด้วย กลายเป็นภาระหนักจนบางครั้งคนทนรับไม่ไหว พวกเขาใช้กฎเพื่อกดขี่คน แทนที่จะใช้เพื่อช่วยคน

          พวกคัมภีราจารย์เข้าใจว่ากฎหมายต้องเป็นเหมือนแอก เป็นเครื่องมือสําหรับ "ใช้โทษบาป" เป็นมาตรการเพื่อปราบปราม แต่สําหรับพระเยซู กฎหมายต้องเป็นประโยชน์สําหรับมนุษย์ ต้องรับใช้ความต้องการและความดีที่แท้จริงของมนุษย์ นี่เป็นทัศนคติต่อกฎหมายที่แตกต่างกัน เมื่อเห็นวัตถุประสงค์ของกฎหมายต่างกัน ก็มีวิธีเอากฎหมายมาใช้ไม่เหมือนกันด้วย  ทัศนคติของพวกคัมภีราจารย์ นําไปสู่ปัญหาการตีความหยุมหยิม เถรตรง บ้ากฎหมาย หน้าซื่อใจคดและนําไปสู่ความทุกข์ทรมาน ทัศนคติของพระเยซูนําไปสู่การผ่อนปรนเมื่อการถือกฎหมายใดไม่ได้เป็นประโยชน์อะไร และนําไปสู่ความเคร่งครัดเมื่อการถือกฎหมายนั้นจะนําความดีที่แท้จริงมาสู่มนุษย์ กฎหมายมีไว้เพื่อคน ไม่ใช่คนมีไว้เพื่อเป็นทาสของกฎหมาย

          ตัวอย่างเช่น กฎวันสับบาโตมีไว้เพื่อปลดปล่อยคนให้หลุดพ้นจากภาระการงานเพื่อจะได้พักผ่อน มันไม่ได้มีไว้เพื่อห้ามคนทําความดี ห้ามคนช่วยผู้เจ็บป่วยให้หาย หรือห้ามช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ (มก.๓,๔; มธ.๑๒, ๑๑-๑๒; ลก.๑๓,๑๕-๑๖) มันไม่ได้มีไว้เพื่อห้ามคนกินอาหารเมื่อหิว (มก. ๒, ๒๓-๒๖) พระเยซูไม่ต้องการถกเถียงเกี่ยวกับรายละเอียดปลีกย่อยและการตีความกฎบัญญัติ พระเยซูไม่ต้องการถือแนวผ่อนปรนตามแบบที่แพร่หลายในแคว้นกาลิลีหรือตามแบบพวกยิวในต่างแดน พระเยซูไม่ปฏิเสธกฎบัญญัติที่ถ่ายทอดทางวาจา แต่พระเยซูต่อต้านการใช้กฎบัญญัติหรือการตีความกฎบัญญัติอย่างที่ว่ามันขัดกับประโยชน์  และความดีที่แท้จริงของคน

          พระเยซูไม่ได้คิดตั้งตัวเป็นผู้ออกกฎหมาย ไม่ได้คิดล้มล้างกฎหมายในพระคัมภีร์เพื่อไม่ให้มีกฎหมายอีกต่อไป หรือเพื่อออกกฎหมายใหม่ (มธ.๕,๑๗-๑๘) อีกทั้งไม่ได้คิดต่อเติมหรือตัดทอน พระเยซูอยากเห็นกฎหมายถูกนํามาใช้ตามความประสงค์ของพระเจ้า อยากเห็นกฎหมายบรรลุเป้าหมายที่แท้จริง อยากเห็นทุกคนถือตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ซึ่งได้แก่การรับใช้ ความเมตตาและความรัก พระเจ้าไม่ต้องการเครื่องบูชา แต่ต้องการความเมตตากรุณา (มธ.๙,๑๓; ๑๒,๗; มก.๑๒,๓๓)

          การหมกมุ่นตีความกฎหมายหยุมหยิม ทําลายเจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมาย ความสนใจในสิ่งปลีกย่อยมักจะทําให้มองไม่เห็นสิ่งที่ใหญ่กว่าและสําคัญกว่า สิ่งสําคัญในเรื่องกฎหมายก็คือ"ความยุติธรรม ความเมตตา และเจตนาบริสุทธิ์" (มธ.๒๓,๒๓) การถือกฎจุกจิกเกี่ยวกับความสะอาดของร่างกายและอาหาร ทําให้มองข้ามความสำคัญของเจตนาดีหรือชั่วในพฤติกรรมของคน กฎเกี่ยวกับการถวายบูชากลายเป็นทางเลี่ยงไม่ต้องถือหน้าที่ต่อบิดามารดา (มก.๗,๑-๑๓) พวกคัมภีราจารย์ลืมจุดหมายของบทบัญญัติต่างๆ หรือเจตนาที่จะลืม และผลที่ตามมาก็คือพวกเขาทําให้กฎบัญญัติกลายเป็นอํานาจมืดที่กดขี่ข่มเหงประชาชน

3. การถือบัญญัติเคร่งครัด

          ในสมัยพระเยซู ผู้นําและปัญญาชนทําตัวเป็นทาสของกฎบัญญัติ การทําตัวเช่นนี้ทําให้พวกเขามีเกียรติมากขึ้นในสังคม และในเวลาเดียวกันมีความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยมากขึ้นด้วย คนเรามักจะกลัวความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นคนอิสระ การปล่อยให้คนอื่นตัดสินใจให้เราจะง่ายกว่า การถือกฎบัญญัติตามตัวอักษรก็สบายกว่า เพราะไม่ต้องคิดเองให้ลําบาก หลายคนพอใจที่จะเป็นทาส

          เมื่อคนทําตัวเป็นทาสของกฎบัญญัติแล้ว ก็อยากเห็นคนอื่นเป็นทาสเหมือนกันด้วย จึงไม่ยอมปล่อยให้ใครมีอิสระ และพยายามบีบบังคับให้ทุกคนถือกฎระเบียบต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด จนกลายเป็นแอกหนัก(มธ. ๒๓,๔; ๒๓,๑๕) และคนที่ต้องรับกรรมมากที่สุดในกรณีเช่นนี้ก็คือ คนจนและคนที่น่าสงสารอยู่แล้วทั้งหลาย

          พระเยซูต้องการช่วยให้ทุกคน หลุดพ้นจากการเป็นทาสของกฎบัญญัติทุกชนิด พระเยซูไม่ได้ลบล้างหรือ เปลี่ยนแปลงกฎบัญญัติ แต่พระเยซูวางกฎบัญญัติในที่ที่เหมาะสมกว่า กฎบัญญัติต้องรับใช้คน ไม่ใช่เป็นนายเหนือคน (มก.๒,๒๗-๒๘) ดังนั้นคนเราต้องมีความรับผิดชอบและมีหน้าที่ควบคุมดูแลกฎบัญญัติ ซึ่งเป็นผู้รับใช้ของเรา เพื่อว่ากฎบัญญัติจะได้ทําหน้าที่รับใช้มนุษย์ สนองความต้องการและทําประโยชน์ให้แก่มนุษย์อย่างแท้จริง นี่ไม่ใช่ความหละหลวม ไม่ใช่ความมักง่าย ไม่ใช่การตามใจชอบ พระเยซูสอนให้ใช้กฎบัญญัติด้วยวิจารณญาณเพื่อให้กฎบัญญัติบรรลุจุดหมาย

          ดังนั้นในโครงสร้างทางการเมืองของอาณาจักรพระเจ้าพลังอํานาจ และกฎบัญญัติ จึงมีบทบาทที่จะรับใช้และทําประโยชน์ให้มนุษย์เท่านั้น แม้ว่าบทบาทหน้าที่ดังกล่าวอาจจะจําเป็นต้องจัดวางเป็นรูปร่าง มีผู้ปกครอง มีเจ้าหน้าที่ มีกฎระเบียบฯลฯ เพื่อให้ทําหน้าที่ได้ผลและจริงจัง แต่บทบาทที่จะรับใช้ต้องชัดเจนอยู่ตลอดเวลา และการกดขี่ทุกรูปแบบต้องหมดสิ้นไป  "เราขอบอกท่านว่า ถ้าความชอบธรรม(การถือกฎบัญญัติ)ของท่าน ไม่ดีไปกว่าของพวกคัมภีราจารย์และฟาริสีแล้ว ท่านจะเป็นสมาชิกอาณาจักรพระเจ้าไม่ได้" (มธ.๕,๒๐)

 

คำถาม

1. อำนาจในอาณาจักรพระเจ้าเป็นอย่างไร ?
2. พระเยซูมีทัศนคติเกี่ยวกับกฎบัญญัติอย่างไร ?
3. ทำไมบางคนชอบเป็นทาสของกฎบัญญัติ ?

พระเยซูประกาศว่ายุคใหม่มาถึงแล้ว อาณาจักรพระเจ้าใกล้เข้ามาแล้ว (มก.๑,๑๕) ยุคใหม่ดังกล่าวนี้ต่างกับยุคของยอห์นแบปติสต์ แม้ว่าช่วงเวลาที่พระเยซูสอนกับช่วงเวลาที่ยอห์นสอนจะคาบกับอยู่บ้างก็ตาม มาร์โกและลูกาผู้เขียนพระวรสาร พยายามที่จะแยกให้เห็นชัด มาร์โกเขียนว่าพระเยซูไปแคว้นกาลิลีและเริ่มเทศน์สอน "หลังจากที่ยอห์นถูกจับแล้ว" (มก.๑,๑๔) สําหรับลูกา เนื่องจากลูกาถือว่าการรับพิธีล้างจากยอห์นเป็นจุดเริ่มงานของพระเยซู ลูกาจึงเล่าเรื่องเกี่ยวกับยอห์นให้หมดก่อน คือเล่าถึงการเทศน์สอนของยอห์น จนถึงยอห์นถูกจับขังคุก แล้วจึงพูดถึงพรเยซูไปรับพิธีล้างจากยอห์น (ลก.๓,๑๙-๒๒)

1. ยุคใหม่

           ความแตกต่างระหว่างยุคของยอห์น กับยุคของพระเยซู แสดงออกมาได้ชัดเจนมากในเรื่องเปรียบเทียบที่ว่า   "คนสมัยนี้เป็นเหมือนเด็กที่ร้องเล่นกันในลานสาธารณะว่า เราเป่าขลุ่ย เจ้าก็ไม่เต้นรํา เราร้องเพลงครํ่าครวญ เจ้าก็ไม่ร้องไห้ เมื่อยอห์นแบปติสต์มาถึง ยอห์นไม่กินปัง ไม่ดื่มเหล้าองุ่น ท่านก็ว่าผีสิง ครั้นเมื่อบุตรแห่งมนุษย์มาถึง  ทั้งกินทั้งดื่ม  ท่านก็ว่า นั่นอย่างไรเล่า  นักกินนักดื่ม เพื่อนของคนเก็บภาษีและคนบาป"(ลก.๗,๓๑-๓๕=มธ.๑๑,๑๖-๑๙) อารมณ์ของยอห์นเปรียบเหมือนเพลงครํ่าครวญในงานศพ  ส่วนอารมณ์ ของพระเยซูเปรียบเหมือนเพลงเต้นรําในงานสมรส พฤติกรรมเด่นของยอห์นคือการอดอาหาร แต่พฤติกรรมเด่นของพระเยซูคือการฉลอง แต่ทั้งสองบทบาทก็ไม่ขัดกัน เพราะสถานการณ์เป็นคนละยุคกัน

            การกลับใจในยุคของยอห์น หมายถึงการอดอาหารทรมานตัว  แต่การกลับใจในยุคของพระเยซู หมายถึงการตอบรับคําเชิญไปงานฉลอง (ลก.๑๔,๑๕-๑๗) หรือการพบขุมทรัพย์หรือไข่มุกลํ้าค่าซึ่งคนที่พบยินดีขายทุกอย่างที่มีเพื่อซื้อสิ่งประเสริฐนั้นไว้ (มธ.๑๓,๔๔-๔๖) ในยุคของยอห์น การอภัยเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นใน  อนาคตถ้ารับพิธีล้าง ในยุคของพระเยซู การอภัยบาปเป็นเรื่องปัจจุบัน และพิธีล้างในแม่นํ้าจอร์แดนไม่ใช่สิ่งจําเป็นอีกต่อไป

            เหล้าองุ่นใหม่จะเอาไปใส่ถุงหนังเก่าไม่ได้ หรือผ้าใหม่จะตัดไปปะผ้าเก่าไม่ได้ ฉันใดก็ฉันนั้น ยุคของพระ  เยซูเป็นยุคใหม่ที่จะเอาไปเข้ากับแนวปฏิบัติเดิมไม่ได้ ยุคของยอห์นผ่านพ้นไปแล้ว

            ยุคของยอห์นแบปติสต์ กับยุคของพระเยซูต่างกันมาก ทั้งนี้เพราะแต่ละยุคถูกกําหนดโดยเหตุการณ์อนาคตที่แตกต่างกัน   เหตุการณ์เด่นที่มีอิทธิพลต่อยุคของยอห์นคือ "พระเจ้าปกครองและชําระความ" (judgement) ซึ่งยอห์นให้ความสําคัญมาก   ส่วนเหตุการณ์เด่นที่มีอิทธิพลต่อยุคของพระเยซูคือ "ความรอดพ้นที่พระเจ้านํามาให้" (salvation)   ยอห์นใช้เรื่องภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น มาเป็นหลักในการเทศน์สอน แต่พระเยซูใช้เรื่อง  อาณาจักรพระเจ้ามาเป็นหลัก ยอห์นเป็นประกาศกแห่งความหายนะ แต่พระเยซูเป็นประกาศกแห่งข่าวดี

            เหตุการณ์หรือสัญญาณหลายอย่าง  ( พระเยซูเรียกว่า "สัญญาณแห่งกาลเวลา" )  ทําให้พระเยซูมั่นใจว่า อาณาจักรพระเจ้ากําลังจะมาถึงแล้ว   สัญญาณนั้นก็คือ ความสําเร็จในการทํางานกับคนจนและคนถูกกดขี่ "ถ้าข้าพเจ้าสามารถขับไล่มารอาศัยอํานาจของพระเจ้า ก็จงรู้ไว้เถิดว่า อาณาจักรพระเจ้ามาถึงพวกท่านแล้ว" (ลก.๑๑,๒๐)

            ฤทธิ์อํานาจของพระเจ้าแสดงผลออกมาทางพระเยซูและทางพวกสาวก และทําให้กิจกรรมแห่งการปลดปล่อยที่กําลังทําอยู่นั้น ช่วยคนมากมายให้หลุดพ้นความทุกข์ทรมาน พระเยซูมั่นใจว่านี่แหละคือเจตนาของพระเจ้า พลังแห่งความเชื่อกําลังทําสิ่งที่ถือกันว่าเป็นไปไม่ได้ กองทัพของพระเจ้ากําลังมีชัยชนะเหนือกองทัพมาร ชัยชนะเด็ดขาดอยู่แค่เอื้อมแล้ว   อาณาจักรพระเจ้ากําลังตามมาติด ๆ  และกําลังจะนําหน้าแล้ว     อันที่จริงอาณาจักรพระเจ้ามาถึงพร้อมกับกิจกรรมแห่งการปลดปล่อยของพระเยซูนั่นเอง อาณาจักรในอนาคตมี    อิทธิพลต่อสถาณการณ์ปัจจุบัน อนาคตกับปัจจุบันแยกกันไม่ออก

            พวกฟาริสีต้องการให้พระเยซูแสดงสัญญาณจากท้องฟ้า เพื่อยืนยันว่าคําพูดและกิจกรรมของพระเยซูมาจากพระเจ้าจริง   พระเยซูปฏิเสธคําเรียกร้องนั้น แต่ชี้ให้ดูสัญญาณบนแผ่นดินแทน  (มธ.๑๖,๑-๔; ลก.๑๒,๕๔-๕๖) เมื่อยอห์นส่งลูกศิษย์ไปถามพระเยซู พระเยซูตอบว่า "กลับไปบอกยอห์นเกี่ยวกับสิ่งที่ท่านได้ยินและได้เห็น นั่นคือ คนตาบอดกลับมองเห็น คนง่อยกลับเดินได้ คนโรคเรื้อนกลับสะอาดบริสุทธิ์ และคนหูหนวกกลับได้ยิน..." (มธ.๑๑,๔-๕) นี่แหละสัญญาณ

2. พระเจ้าได้เปลี่ยนไป

            ความดีกําลังมีชัยเหนือความชั่ว พระเจ้าเปลี่ยนแผนการ พระเจ้าไม่คิดจะลงโทษประชากรของพระองค์อีกต่อไป พระเจ้าต้องการช่วยประชากรให้รอดพ้น กิจกรรมและคําพูดทั้งหลายของพระเยซูต่างก็ชี้บอกว่าพระเจ้าได้เปลี่ยนไปแล้ว และเห็นได้ชัดจากสัญญาณแห่งกาลเวลานี้แหละ

            มีหลายคนที่พูดว่าพระเยซูได้เปลี่ยนภาพพจน์ของพระเจ้าเสียใหม่ พระเจ้าของพระเยซู ต่างไปจากพระเจ้าในพระคัมภีร์ภาคแรก ต่างไปจากพระเจ้าของพวกฟาริสี และอาจพูดได้ด้วยว่า ต่างไปจากพระเจ้าที่คริสตศาสนิกชนทั่วไปนับถือ  ภาพพจน์ใหม่ของพระเจ้า เป็นรากฐานแห่งความคิดและการกระทําของพระเยซู

            การพูดเช่นนั้นเป็นความจริง เพียงแต่ว่าพระเยซูไม่ได้คิดว่าตนเองได้เปลี่ยนภาพพจน์ของพระเจ้า แต่คิดว่า พระเจ้าได้เปลี่ยนไป พระเจ้าของอับราฮัม ของอิสซัค ของยากอบ กําลังทําสิ่งใหม่ ๆ ที่ไม่เคยทํามาก่อน พระเจ้าเกิดมีความสงสารต่อชาติยิว หรือ "แกะพลัดฝูงแห่งอิสราเอล" และท่าทีใหม่ของพระเจ้าแสดงออกมาในนิทานเปรียบเทียบเรื่องแกะพลัดฝูง เรื่องเหรียญที่หายไป และในเรื่องลูกล้างผลาญ (ลก.๑๕,๑-๓๒) พระเยซูเล่านิทานเปรียบเทียบเหล่านี้เพื่อทําให้คนเห็นสัญญาณแห่งกาลเวลา และเพื่อให้คนเข้าใจว่าพระเจ้าได้เปลี่ยนไปแล้ว พระองค์มีความสงสารและต้องการทําให้มีสิ่งใหม่ ๆ เกิดขึ้น

            เรื่องที่เด่นชัดที่สุดก็คือเรื่องลูกล้างผลาญ (ซึ่งบางทีก็ตั้งชื่อกันว่า เรื่องบิดาผู้ใจดี) ตอนแรกของนิทานบรรยายเน้นถึงความบาปของลูกชายคนเล็ก และเน้นถึงความเสียหายที่เขาได้ก่อให้เกิดขึ้นต่อพ่อของตน จุดสุดยอดของเรื่องคือตอนที่ลูกชายกลับบ้าน สิ่งที่น่าแปลกคือผู้เป็นพ่อไม่ได้ไล่ลูกดังที่ลูกคาดว่าพ่อจะทํา ผู้เป็นพ่อไม่ได้เรียกร้องให้ลูกชดใช้ความเสียหายโดยให้ทํางานเป็นลูกจ้างดังที่ลูกเตรียมใจพร้อมที่จะทําอยู่แล้ว และผู้ฟังนิทานก็คงจะหวังเช่นนั้น ผู้เป็นพ่อไม่ลงโทษลูกเลยแม้แต่น้อย ผู้เป็นพ่อไม่ได้เรียกร้องให้ลูกกล่าวคําขอโทษ และพ่อเองก็ไม่ได้กล่าวคํายกโทษ เพราะไม่ถือว่ามีโทษอะไร สิ่งเดียวที่ผู้เป็นพ่อทําคือชื่นชมยินดี และสั่งให้จัดงานเลี้ยงฉลอง ทําไมจึงเป็นเช่นนั้น ? ก็เพราะว่าผู้เป็นบิดารู้สึกเสทือนใจเพราะความรักและสงสาร การได้ลูกกลับมาบ้านอย่างปลอดภัยมีความสําคัญยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด

            ปฏิกิริยาของลูกชายคนโตในนิทานสะท้อนถึงความรู้สึกโกรธแค้นของผู้ฟัง นั่นคือพวกฟาริสีและคัมภีราจารย์พวกเขาเชื่อว่าพระเจ้าจะไม่ทําเช่นผู้เป็นพ่อในนิทานเรื่องนี้เด็ดขาด

            แต่พระเยซูเชื่อมั่นว่า ไม่ว่าเดิมพระเจ้าจะเป็นอย่างไร มาบัดนี้พระเจ้ามีความรักและห่วงไยคนบาป พระเจ้าทําดีต่อผู้ที่เกลียดชังพระองค์ พระเจ้าอวยพรผู้ที่สาบแช่งพระองค์ "พระเจ้าเมตตาคนอกตัญญูและคนชั่ว" (ลก.๖,๒๗-๓๖) เพราะเหตุนี้ คนป่วยจึงได้รับการรักษาให้หาย คนบาปจึงได้รับการอภัยด้วยใจกว้างขวางและปราศจากเงื่อนไขใดๆ

3. พระเจ้ากลายเป็นพ่อ

            พระเจ้าสนใจมนุษย์และความต้องการของมนุษย์เป็นอย่างมาก พระเจ้าลงมาจากบัลลังก์เพื่อมาอยู่ใกล้ๆกับมนุษย์ และมนุษย์ก็สามารถเรียกพระเจ้าว่า "พ่อ" ("อับบา" ในภาษายิว) พระเยซูเรียกพระเจ้าว่าว่า "อับบา" และสอนให้คนอื่นๆเรียกเช่นเดียวกัน (ลก.๑๑,๒) ก่อนหน้านั้นไม่เคยมีใครกล้าทําเช่นนี้เลย  คําว่า "อับบา" เป็นคําที่ใช้เรียกพ่อ และเป็นคําที่แสดงความรู้สึกรัก สนิทสนม เป็นกันเอง และใช้เฉพาะในวงญาติใกล้ชิดเท่านั้น ความสัมพันธ์กับพระเจ้าในลักษณะนี้ ต่างจากวิธีปฏิบัติที่ทํากันอยู่อย่างหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะโดยทั่วไปมีธรรมเนียมที่กําหนดให้มนุษย์นับถือพระด้วยความกลัวและยําเกรง กําหนดให้พระเจ้าอยู่ห่างออกไปเนื่องจากความศักดิ์สิทธิ์และความน่าเคารพ

            ความสําเร็จในการรักษาโรคและช่วยปลดปล่อยคนถูกกดขี่มีทุกข์ ทําให้พระเยซูมั่นใจว่า พระเจ้าสงสารมนุษย์ที่ต้องทนทุกข์ทรมาน และพระเจ้าต้องการเข้ามาร่วมทุกข์ร่วมสุขในฐานะที่เป็นพ่อ และใช้ฤทธิ์อํานาจ  ของพระองค์เพื่อรับใช้มนุษย์

            เมื่อพวกฟาริสีไม่ยอมเชื่อ และเรียกร้องให้พระเยซูยืนยันด้วยสัญญาณบนท้องฟ้า พระเยซูกลับชี้ให้ดูอีกสัญญาณหนึ่ง นั่นคือประกาศกโยนาห์ นักพระคัมภีร์ปัจจุบันอธิบายว่า มัตธิวและลูกาไม่รู้ว่าพระเยซูหมายความว่าอะไร ต่างคนจึงต่างตีความเอาเอง มัตธิวอธิบายว่า เนื่องจากเรื่องของโยนาห์เล่าไว้ว่าโยนาห์อยู่ในท้องปลาวาฬสามวันสามคืน พระเยซูหมายความว่า "การกลับเป็นขึ้นมาในวันที่สาม" จะเป็นสัญญาณยืนยัน (มธ.๑๒,๔๐; ๑๖,๑-๔) ส่วนลูกาอธิบายว่า "โยนาห์เป็นสัญญาณสําหรับชาวเมืองนินะเวห์ฉันใด บุตรแห่งมนุษย์ (พระเยซู) ก็จะเป็นสัญญาณสําหรับคนในยุคนี้ฉันนั้น" (ลก.๑๑,๓๐) นักพระคัมภีร์เข้าใจว่า พระเยซูเอ่ยถึงโยนาห์ก็เพราะต้องการชี้ให้เห็นพฤติกรรมของโยนาห์เอง โยนาห์โกรธเมื่อเห็นว่าพระเจ้าเปลี่ยนใจ ยกเลิกการลงโทษชาวเมืองนินะเวห์ด้วยภัยพิบัติดังที่ได้ขู่เอาไว้ โยนาห์พูดว่า "ข้าพเจ้ารู้ว่าพระองค์เป็นพระเจ้าแห่งความอ่อนหวานและความเมตตา โกรธยาก สงสารง่าย..." แต่โยนาห์ (เช่นเดียวกับพวกฟาริสี) ไม่อยากเห็นพระเจ้าเมตตาสงสารคนบาป พระเจ้าพูดกับโยนาห์ว่า "ที่เจ้าโกรธนั้น ถูกต้องแล้วหรือ?...เราไม่ควรจะเมตตาสงสารชาวเมืองนินะเวห์ดอกหรือ?...คนเหล่านี้เป็นชาวบ้านธรรมดาที่ไม่รู้เสียด้วยซํ้าไปว่าข้างไหนมือซ้ายข้างไหนมือขวา..." (ดูโยนาห์ บทที่ ๓-๔)

            นี่แหละจะเป็นสัญญาณชี้ให้พวกฟาริสีเห็น สัญญาณก็คือ พระเจ้ากําลังเมตตาสงสารชาวบ้าน พระเจ้าได้เปลียนไป และเพราะเหตุนี้ ยุคเก่าก็ผ่านพ้นไป  ยุคใหม่เป็นยุคของคนจนและคนถูกกดขี่

            ถ้าเราพยายามอ่านสัญญาณแห่งกาลเวลาในปัจจุบัน เราจะเห็นว่ายุคของเราไม่ต่างไปจากยุคของพระเยซูเท่าไรนัก เราอาจจะกําลังพ้นจากยุคของยอห์นแบปติสต์ (ยุคที่เสี่ยงต่อความพินาศของมนุษยชาติ) และกําลังย่างเข้าสู่ยุคแห่งการปลดปล่อย  ยุคแห่งอาณาจักรพระเจ้า

            อย่างไรก็ตาม เราต้องพยายามศึกษาความคิดของพระเยซูเพิ่มเติมว่า อาณาจักรพระเจ้ากับภัยพิบัติเกี่ยวข้องกันอย่างไร

คำถาม
1. ท่านเข้าใจยุคเก่ายุคใหม่ในเนื้อเรื่องอย่างไร ?
2. พระเจ้าได้เปลี่ยนไปอย่างไร ?
3. ท่านรู้สึกอย่างไรเมื่อพูดว่า “พระเจ้ากลายเป็นพ่อ”

เท่าที่พูดมาจนถึงเวลานี้ อาจทําให้หลายคนคิดว่า อาณาจักรที่พระเยซูพูดถึงก็เป็นเหมือนอุดมการณ์ในสังคมที่ไม่มีพระเจ้า (secular) เข้าใจได้โดยไม่ต้องมีพระเจ้าเข้ามาเกี่ยวข้อง พระเยซูใช้ภาษาศาสนาตามธรรมเนียมในสมัยก่อนเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงพระเยซูเชื่อว่า อาณาจักรจะมาถึงและมนุษย์จะได้รับการปลดปล่อยอย่างสิ้นเชิงไม่ได้หากปราศจากความเชื่อในพระเจ้า

1. อาณาจักรพระเจ้าจะมาถึง

เนื่องจากค่านิยมและมาตรฐานในอาณาจักรที่พระเยซูพูดถึงนี้สูงส่งมาก เราอาจพูดได้ว่าเป็นไปไม่ได้ มันเป็นอุดมคติในอนาคตที่ไม่มีวันจะเป็นจริง อาณาจักรดังกล่าวจะมาถึงได้ก็ต้องเป็นเรื่องของ "อัศจรรย์" เท่านั้น แต่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้สําหรับมนุษย์ พระเจ้าทําได้ พระเยซูเชื่อและหวังว่า "อัศจรรย์" จะเกิดขึ้น

แม้ว่าบางครั้งพระเยซูจะพูดถึงอาณาจักรในทํานองเปรียบเหมือนบ้านหรือเมือง แต่พระเยซูก็ไม่เคยพูดว่า จะต้องสร้างอาณาจักรนี้ขึ้นมา มีแต่อาณาจักรจะมาถึงเท่านั้น นอกนั้นอาณาจักรดังกล่าวก็ไม่ใช่วิวัฒนาการหรือพัฒนาขึ้นมาจากอาณาจักรหรือสังคมอื่น ๆ ที่มีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะมีผู้นําที่เก่งกาจ มีอิทธิพลหรือมีคุณธรรมมากสักปานใด ก็ไม่สามารถสร้างอาณาจักรนี้ขึ้นมาได้ พลังต่างๆ ในโลกอาจจะช่วยมนุษย์ได้บ้าง แต่จะไม่สามารถนําการปลดปล่อยอย่างสิ้นเชิงมาให้ และไม่สามารถนําอิสรภาพอย่างแท้จริงมาให้ดังที่พระเยซูตั้งเป้าหมายไว้

อย่างไรก็ตาม มีพลังอย่างหนึ่งที่สามารถทําให้เกิด "อัศจรรย์" นี้เกิดขึ้นได้ แม้ว่าไม่ใช่พลังของตัวเรา แต่มันเป็นพลังในตัวเราที่ตัวเราเองเท่านั้นสามารถปล่อยออกมาได้ มันเป็นพลังสูงสุดที่อยู่เบื้องหลังพลังทั้งหลายในมนุษย์และในธรรมชาติ คนส่วนมากจะเรียกพลังนี้ว่า พระเจ้า แต่เราจะเรียกอย่างไรก็ได้ ในบางโอกาส พระเยซูก็เรียกพลังนี้ว่าพระเจ้าเหมือนกัน แต่บ่อยครั้งทีเดียวที่พระเยซูเรียกอย่างอื่น ประกาศกทั้งหลายพูดถึงพระเจ้าเท่านั้น (พระวาจาของพระเจ้า, พระสัญญาของพระเจ้า ฯลฯ) แต่คําพูดและนิทานเปรียบเทียบของพระเยซู มักจะเกี่ยวกับชีวิต และพลังที่แฝงอยู่ในชีวิตมนุษย์และในธรรมชาติ มีน้อยครั้งที่พระเยซูรู้สึกว่าจําเป็นต้องเอ่ยชื่อพระเจ้า พระเยซูเข้าใจเกี่ยวกับพลังสูงสุดนี้อย่างลึกซึ้ง

เราได้พบมาแล้วว่า สําหรับพระเยซู พลังมหาศาลที่สามารถทําให้เกิดสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เรียกว่า ความเชื่อ ความเชื่อปล่อยพลังเหนือมนุษย์ที่อยู่ในตัวเราออกมา ความเชื่อของคนป่วยทําให้พวกเขาหาย ความเชื่อของคนบาปทําให้พวกเขาหลุดพ้นจากบาป เช่นเดียวกัน ความเชื่อของมนุษย์จะทําให้อาณาจักรมาถึง

พระเยซูพยายามที่จะปลุกความเชื่อเกี่ยวกับอาณาจักรให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน (มก.๑,๑๕) โดยตระเวนไปทั่วเพื่อประกาศข่าวดี (มก.๑, ๓๘; ลก.๔,๔๓) และพระเยซูส่งพวกสาวกออกไปช่วยป่าวประกาศ เพื่อให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น (มก.๓,๑๔; ๖,๗; มธ.๑๐,๗; ลก.๙,๒; ๑๐,๙-๑๑) คริสตชนสมัยแรกเชื่อว่า เมื่อประกาศข่าวดีไปทั่วโลกเมื่อใด อาณาจักรพระเจ้าก็จะมาถึงเมื่อนั้น (มก.๑๓,๑๐) ถ้าไม่มีการป่าวประกาศ ความเชื่อก็จะไม่เกิดขึ้น (โรม.๑๐,๑๗) เมื่อความเชื่อในโลกมีความเข้มแข็งเพียงพอ อัศจรรย์จึงจะเกิดขึ้นได้ (อาณาจักรพระเจ้าจึงจะมาถึง)

2. ความเชื่อ

เมื่อพูดถึงความเชื่อเช่นนี้ อาจทําให้บางคนเทิดเทินความเชื่อจนเกินความจริง ความเชื่อไม่ใช่พลังทางไสยศาสตร์ ความเชื่อเป็นการตัดสินใจอย่างแน่วแน่ที่จะเลือกเอาอาณาจักรพระเจ้า การกลับใจ (metanoia) ที่ พระเยซูเทศน์สอนนั้น เป็นการเปลี่ยนใจ เปลี่ยนความคิด เปลี่ยนความจงรักภักดี จากสิ่งอื่นๆ จากอาณาจักรอื่นๆ มาสู่อาณาจักรพระเจ้า จงแสวงหาอาณาจักรพระเจ้าก่อนสิ่งอื่นใด และปักใจมั่นอยู่กับอาณาจักรนี้ (มธ.๖, ๓๓) จงสะสมทรัพย์สมบัติไว้กับพระเจ้าและอาณาจักรของพระองค์ เพราะสมบัติอยู่ที่ไหน หัวใจก็จะอยู่ที่นั่น (มธ.๖,๑๙-๒๑) จงทําให้อาณาจักรพระเจ้าเป็นสิ่งที่สําคัญอันดับหนึ่งในชีวิต และตั้งความหวังทั้งหมดไว้กับอาณาจักรนี้ มันเป็นเหมือนขุมทรัพย์ที่ซ่อนอยู่ หรือเป็นเหมือนไข่มุกลํ้าค่า จงทุ่มเททุกอย่างเพื่อให้ได้อาณาจักรนี้มา

ความเชื่อเป็นการตั้งทิศทางใหม่แห่งชีวิต มันเป็นเรื่องถอนรากถอนโคน ไม่มีการประนีประนอมหรือเอาเพียงครึ่งๆ จะรับใช้ทีเดียวสองนายไม่ได้ คุณจะรับเอาค่านิยมของอาณาจักรพระเจ้ามาเป็นแนวทางชีวิต หรือไม่ก็ไม่ต้องมาเกี่ยวข้องกันเลย ความเชื่อเป็นการตัดสินใจ ความลังเลใจหมายถึงการขาดความเชื่อหรือมีความเชื่อน้อยซึ่งไร้ค่า

แต่เราต้องตระหนักว่า พลังของความเชื่อไม่ใช่มาจากการตัดสินใจที่เด็ดเดี่ยว หรือมาจากความมั่นใจที่แข็งแกร่ง แต่พลังของความเชื่อเนื่องมาจากความจริงของสิ่งที่เราเชื่อและหวัง ถ้าอาณาจักรพระเจ้าเป็นเพียงภาพหลอน ความเชื่อของเราก็จะไม่มีพลัง และจะทําอะไรไม่ได้ ในโลกเรานี้มีความเชื่อที่เข้มแข็งหลาย ประการที่เป็นความเชื่อในสิ่งที่หลอกหลอน และความเชื่อประเภทนี้แหละที่เกือบทําให้โลกต้องพินาศ ถ้าอาณาจักรพระเจ้าที่พระเยซูเทศน์สอน เป็นเรื่องจริงเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ เกี่ยวกับความต้องการของมนุษย์ เป็นสิ่งเดียวที่สามารถนํามนุษย์ไปสู่เป้าหมายและความพึงพอใจ ถ้าเป็นเช่นนี้จริง ความเชื่อในอาณาจักรพระเจ้าสามารถเปลี่ยนแปลงโลกและทําให้เกิดในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ พลังของความเชื่อคือพลังของความจริง

เราไม่อาจจะมีความเชื่อที่แท้จริงได้ ถ้าเราไม่มีความเมตตาสงสาร อาณาจักรที่พระเยซูประกาศสอนเป็น อาณาจักรแห่งความรักและการรับใช้ เป็นอาณาจักรแห่งความเป็นพี่เป็นน้องกัน และในอาณาจักรนี้ทุกคนได้รับความรักและเคารพเพราะความเป็นคน ไม่มีใครสามารถเชื่อและหวังในอาณาจักรแบบนี้ หากว่าไม่เคยมีความรู้สึกเมตตาสงสารเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน พระเจ้าแสดงองค์เป็นพระเจ้าแห่งความเมตตา และพลังของพระเจ้าคือพลังแห่งความเมตตา ความเมตตาที่มนุษย์มีต่อกัน ปล่อยพลังของพระเจ้าออกมาในโลก และพลังนี้แหละเป็นพลังเดียวที่สามารถทําให้เกิดอัศจรรย์ คือทําให้อาณาจักรพระเจ้ามาถึง

สิ่งที่จะทําให้อาณาจักรพระเจ้ามาถึงก็คือความเมตตาสงสารที่มาจากใจ และความเชื่อที่เต็มไปด้วยความหวัง ความเชื่อ ความหวัง และความรักเมตตาของวันนี้ เป็นเมล็ดที่จะทําให้เกิดอาณาจักรในวันพรุ่งนี้ ความเชื่อดูเหมือนเป็นสิ่งเล็กน้อยไร้ความหมาย เหมือนกับเมล็ดซีนาปีส (มธ.๑๗,๒๐) แต่ถ้าไม่มีเมล็ดแห่งความเชื่อก็จะไม่มีต้นไม้แห่งอาณาจักร (มก.๔,๓๐-๓๒) เชื้อแป้งดูเหมือนไร้ค่า แต่มันทําให้แป้งทั้งถังฟูขึ้น (มธ. ๑๓,๓๓) ความเชื่อที่ไม่ถูกครอบงําโดยค่านิยมของมารและความกังวลต่างๆ จะเกิดผลร้อยเท่า (มก.๔,๓-๙)

3.เชื่อว่าอาณาจักรพระเจ้าจะมาถึง

อาณาจักรพระเจ้าจะมาถึงหรือไม่ สุดแล้วแต่ความเชื่อของมนุษย์ ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่ามนุษย์จะมีความเชื่อพอเพียงที่จะให้อาณาจักรมาถึง? จะมีเวลาพอที่จะช่วยกันปลุกความเชื่อทั่วไปในโลกไหม? ภัยพิบัติอาจมาถึงก่อนก็เป็นได้ และหากเกิดภัยพิบัติแล้ว คนที่อยู่รอดหลังจากนั้นส่วนมากจะมีความเชื่อเกี่ยวกับอาณาจักรที่พระเยซูประกาศสอนไหม?

แต่พระเยซูไม่เคยสงสัยเลย แม้ความไม่เชื่อของมนุษย์จะทําให้ล่าช้าไปบ้าง แต่ในที่สุดอาณาจักรพระเจ้าจะต้องมาถึง (ลก.๑๓,๖-๙) ภัยพิบัติอาจเกิดขึ้นก่อน แต่อาณาจักรพระเจ้าจะมีชัยในบั้นปลาย (มก.๑๓,๗-๘) อาณาจักรจะมาถึงแน่เพราะในที่สุดมนุษย์จะเชื่อ

ทําไมจึงเป็นเช่นนั้น? ก็เพราะว่ามีพระเจ้า เชื่อในพระเจ้าก็คือ เชื่อว่าความดีมีพลังมากกว่าความชั่ว และความจริงแข็งแกร่งกว่าความเท็จ เชื่อในพระเจ้าก็คือ เชื่อว่าในที่สุด ความดีและความจริงจะมีชัยชนะเหนือความชั่วและความผิดหลง พระเจ้าจะสยบมาร คนที่คิดว่าความชั่วจะชนะ หรือคิดว่าความดีกับความชั่วมีโอกาส ๕๐-๕๐ เราเรียกคนประเภทนี้ว่า อเทวนิยม เราเชื่อว่ามีพลังอย่างหนึ่งที่มุ่งสู่ความดีสิงสถิตอยู่ในโลก มันแสดงตัวออกมาในพลังส่วนลึกของมนุษย์ และแสดงตัวออกมาในธรรมชาติ เป็นพลังที่ไม่มีอะไรจะมาต้านไว้ได้ ถ้าพระเยซูไม่เชื่อเช่นนี้ ก็ไม่มีอะไรจะพูดอีกต่อไป

ฉะนั้น เชื่อในอาณาจักรพระเจ้า จึงไม่เป็นเพียงแต่ยอมรับค่านิยมของอาณาจักรนี้ และหวังอย่างลอย ๆ ว่า สักวันหนึ่งอาณาจักรคงจะมาถึง แต่เชื่อในอาณาจักรพระเจ้า คือมั่นใจว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น อาณาจักร พระเจ้าจะต้องมาถึงอย่างแน่นอน ความมั่นใจนี้แหละที่จะทําให้อาณาจักรมาถึง เพราะความมั่นใจนี้เป็นความจริง "ความจริงจะทําให้ท่านเป็นอิสระ" (ยน.๘,๓๒)

อย่างไรก็ตาม ไม่มีอะไรที่จะรับรองได้ว่า อาณาจักรจะมาถึงในเร็ว ๆ นี้ ความเชื่ออาจแพร่หลายอย่างรวดเร็วและทําให้อาณาจักรมาถึงทันทีทันใด หรืออาจจะแพร่หลายอย่างเชื่องช้าและอาณาจักรก็ไม่มาถึงสักที แต่พระเยซูเองคาดว่าจะมาถึงเร็ว "อาณาจักรพระเจ้าใกล้เข้ามาแล้ว" (มก.๑,๑๕;มธ.๔,๑๗;ลก.๑๐,๙-๑๑) พระเยซูถึงกับคาดว่าจะมาถึงในชั่วอายุคนสมัยนั้นเอง "...ก่อนที่คนยุคนี้จะตายจากไป" (มก.๑๓,๓๐) และดูเหมือนเป็นพระเยซูเองที่พูดว่า พวกสาวกจะตระเวนไปยังไม่ทั่วทุกเมืองในอิสราเอล "บุตรแห่งมนุษย์" ก็จะมาถึงแล้ว (มธ.๑๐,๒๓)

ถ้าเราพิจารณาหลายๆ อย่างรวมกัน รวมทั้งนิทานเปรียบเทียบที่พระเยซูเล่า ตลอดจนถึงความรีบเร่งในการเทศน์สอน เราจะต้องสรุปได้อย่างแน่นอนว่า พระเยซูคาดว่าในไม่ช้าจะมีอะไรบางอย่างที่สำคัญมากเกิดขึ้น แต่พระเยซูยืนยันว่าตัวเองก็ไม่รู้วันและเวลาที่อาณาจักรพระเจ้าจะมาถึง (มก.๑๓,๓๒) พระเยซูคิดว่ามันจะต้องมาถึงอย่างกะทันหันและไม่มีใครรู้ตัว เปรียบเหมือนโจรในยามกลางคืน หรือสายฟ้าแลบ (มก.๑๓, ๓๓-๓๗; มธ.๒๔,๔๒-๔๔; ๒๕,๑๓; ลก.๑๒,๓๕-๔๐; ๑๗,๒๔) เนื่องจากไม่มีใครรู้ล่วงหน้าจึงต้องคอยเฝ้าดูด้วยใจจดจ่อ แต่พระเยซูไม่เห็นด้วยกับการคาดคะเนจากเครื่องหมายหรือปรากฏการณ์ต่างๆ (ลก.๑๗,๒๐-๒๔)

4. อาณาจักรพระเจ้าจะมาถึงเร็ว

ทำไมพระเยซูจึงคาดว่าอาณาจักรพระเจ้าจะมาถึงในไม่ช้า?

. ความรู้สึกทั่ว ๆ ไป

เป็นความรู้สึกทั่วไปในสมัยของพระเยซูว่า พระเจ้ากําลังจะทําอะไรบางอย่างลงไปเพื่อช่วยชาติยิว ความคิดนี้ได้ผลักดันให้พวกเอสซีน

ออกไปตั้งชุมชนในที่เปลี่ยวเพื่อเตรียมตัว ความคิดนี้ช่วยให้กลุ่มนักเขียน วรรณกรรมวิวรณ์สร้างจินตนาการและคาดคะเนเหตุการณ์ต่าง ๆ ความคิดนี้ทําให้พวกซีลอทมั่นใจว่า พระเจ้ากําลังจะมาช่วยพวกยิวให้เอาชนะพวกโรมัน และจะได้ตั้งอาณาจักรพระเจ้าในชาติอิสราเอล เช่นเดียวกัน ยอห์นแบปติสต์เร่งเร้าให้ประชาชนกลับใจมารับพิธีล้าง ก็เพราะเชื่อว่าพระเจ้ากําลังจะทําสิ่งสําคัญ นั่นคือการชําระความกับชาติยิว ในสังคมชาวยิวขณะนั้น ความหวังและการรอคอยมีความเข้มข้นในระดับสูงสุด สถานการณ์กําลังเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วและไม่แน่นอน สงครามกับโรมันกําลังก่อตัว ชาว

ยิวจะชนะทหารโรมันได้หรือไม่? พระผู้ไถ่ที่ประชาชนรอคอยอยู่จะมาช่วยหรือไม่? โลกกําลังจะถึงจุดอวสานหรือไม่?

พระเยซูเชื่อเช่นเดียวกับยอห์นแบปติสต์ว่า ชาติยิวกําลังเดินหน้าสู่ความหายนะในอนาคตอันใกล้ เหตุการณ์ที่กําลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้าคือภัยพิบัติ

แต่ปฏิกิริยาของยอห์นเป็นไปในแง่ลบ ยอห์นพยายามทําให้ชาติยิวเบนเข็มทิศเพื่อไม่ต้องประสบหายนะ หรืออย่างน้อยก็ช่วยกู้อะไรไว้บ้าง แต่ปฏิกิริยาของพระเยซูเป็นไปในแง่บวก สําหรับพระเยซู มันเป็นโอกาสที่จะเผชิญหน้ากับความจริง โอกาสที่ภัยพิบัติกําลังคุกคามอยู่นี้ เป็นโอกาสเหมาะมากที่อาณาจักรพระเจ้าจะมาถึง ในขณะที่เผชิญหน้ากับความพินาศอันกําลังจะเกิดขึ้นนี้ พระเยซูเห็นโอกาสที่จะเชิญชวนให้ทุกคนกลับใจอย่างสิ้นเชิง "หากพวกท่านไม่เปลี่ยนใจ พวกท่านจะพินาศ” (ลก.๑๓,๓-๕) แต่หากท่านเปลี่ยนใจ และมีความเชื่ออาณาจักรพระเจ้าจะมาถึง แทนที่จะมีภัยพิบัติ

. ต้องตัดสินใจ

ในภาวะฉุกเฉินเช่นนี้ จะต้องเลือกเอาระหว่างภัยพิบัติ หรืออาณาจักรพระเจ้า คําสอนข้อนี้วนเวียนอยู่ใน นิทานเปรียบเทียบหลายเรื่องและในคําพูดหลายโอกาส ในเรื่องของผู้จัดการที่ฉ้อโกง เมื่อเขาต้องเผชิญหน้ากับการสูญเสียตําแหน่งและอนาคต เขาดําเนินการแก้ไขอย่างเฉียบขาดทันที และสามารถทําให้อนาคตของ ตนมีความมั่นคงได้ (ลก. ๑๖,๑-๘) ฝ่ายเศรษฐีเบาปัญญา มัวแต่คิดสร้างยุ้งฉางที่ใหญ่กว่าเดิม ในที่สุดต้องสูญเสียทุกอย่าง (ลก.๑๒,๑๖-๒๐) "จะมีประโยชน์อะไรถ้าคนหนึ่งจะได้ครอบครองโลกทั้งโลก แต่ต้องเสียชีวิตไป?" (มก.๘,๓๖) ถ้าประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกผู้นํา ไม่คํานึงถึงภัยพิบัติ แล้วรีบดําเนินการ ก็จะต้องพบกับความพินาศอย่างไม่รู้ตัว เหมือนกับเจ้าของบ้านที่นอนหลับขณะที่โจรบุกเข้ามาปล้น (มธ.๒๔,๔๓) หรือเหมือนกับคนที่บ้านถูกพายุฝนพัดถล่ม เพราะไม่ได้เตรียมตัวให้ดี พอใจเพียงแค่ปลูกบ้านอย่างง่าย ๆ บนดินทราย (มธ.๗,๒๔-๒๗) บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่จะต้องตัดสินใจและทําอะไรลงไปทันที ไม่ใช่เพียงเพื่อหลีกเลี่ยงภัยพิบัติเท่านั้น แต่โอกาสทองกําลังเปิดอยู่ต่อหน้าต่อตา นั่นคือ ขุมทรัพย์มหาศาล ไข่มุกลํ้าค่า งานเลี้ยงมโหฬาร (มธ.๑๓,๔๔-๔๖;ลก.๑๔,๑๕-๒๔) ถ้ารอช้าอาจพลาดโอกาสทองนี้ไปได้ พรุ่งนี้อาจจะสายเกินไปแล้ว

ที่ว่าอาณาจักรพระเจ้าอยู่ใกล้ ไม่ใช่เป็นเรื่องกําหนดแน่นอน แต่เป็นโอกาสที่เป็นไปได้ สิ่งที่แน่นอนสําหรับพระเยซูคือ ภัยพิบัติหรือ อาณาจักรพระเจ้า อย่างใดอย่างหนึ่งจะมาถึงในอนาคตอันใกล้ ฉะนั้นยุคของพระเยซูเป็นยุคที่จะต้องตัดสินใจและดําเนินการ เป็นโอกาสพิเศษที่ไม่เคยมีมาก่อน

. ต้องรีบให้อาณาจักรพระเจ้ามาถึงก่อนภัยพิบัติ

เมื่อพระเยซูปลอบใจคนจน พระเยซูไม่ได้บอกว่าอาณาจักรพระเจ้าใกล้จะมาถึงแล้ว แต่บอกว่าเมื่อมาถึง ไม่ว่าจะเป็นเมื่อไร อาณาจักรจะเป็นของคนจน ไม่มีใครรับรองได้ว่าใกล้จะมาถึง สิ่งที่จะมาถึงแน่ๆ ก่อนที่คนยุคนี้จะผ่านพ้นไปโดยไม่ได้กลับใจ ก็คือภัยพิบัติ (มก.๑๓,๒-๔; ๑๓,๓๐; ลก.๑๓,๓-๕) มีอยู่ไม่กี่ครั้งที่พระเยซูพูดว่าอาณาจักรใกล้เข้ามาแล้ว (มก.๑, ๑๕; ๙,๑; มธ.๔,๑๗; ลก.๑๐,๑๑) เมื่อพูดเช่นนั้น เป็นการเตือนภัย เตือนว่าภัยพิบัติหรืออาณาจักร อย่างใดอย่างหนึ่งกําลังจะมาถึง ฉะนั้นพระเยซูไม่ได้พูดว่า "จงยินดีเถิด อาณาจักรพระเจ้าใกล้เข้ามาแล้ว" แต่พูดว่า "จงกลับใจเถิด..."

อีกสิ่งหนึ่งที่แสดงถึงความไม่แน่นอน (ภัยพิบัติหรืออาณาจักรจะมาถึงก่อน) คือความรีบเร่งที่มีพูดถึงในพระวรสาร การประกาศสอนเรื่องอาณาจักรพระเจ้า ต้องทําอย่างรีบเร่ง จนถึงกับว่า ผู้ประกาศไม่มีเวลาแม้แต่จะหันไปมองข้างหลังเมื่อเริ่มงานแล้ว (ลก.๙,๖๒) ไม่มีเวลากลับไปฝังศพบิดา คือไปดูแลจนกว่าบิดาจะตาย (ลก.๙,๕๙-๖๐) ไม่มีเวลาที่จะแวะเยี่ยมเยียนญาติพี่น้องหรือเพื่อนฝูง (ลก.๙,๖๑;๑๐,๔) ผู้ประกาศจะต้องเดินทางรวดเร็วและไม่ต้องมีสัมภาระมาถ่วงให้เสียเวลา (ลก.๙,๓) ผู้ประกาศต้องรีบปฏิบัติหน้าที่ โดยทิ้งทุกอย่างทันทีและรีบตามพระเยซูไปเทศน์สอนเกี่ยวกับอาณาจักร (มก.๑,๒๐;๑๐,๒๘)

ทําไมจึงต้องเป็นเช่นนั้น? ก็เพราะว่าชาติยิวกําลังมุ่งสู่ความหายนะ ถ้าหากมีใครรับรองได้ว่าอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่และรุ่งเรืองกําลังจะมาถึงอยู่แล้วอย่างแน่นอน ก็คงจะไม่ต้องมีการรีบเร่งเทศน์สอนให้คนกลับใจเปลี่ยนชีวิต แต่ในความเป็นจริง ไม่มีเวลาที่จะเสียต่อไปอีกแล้ว เพราะในสถานการณ์เช่นนั้น วิธีเดียวที่จะป้องกันไม่ให้ชาติยิวพุ่งถลําลงสู่ความพินาศ ก็คือการเปลี่ยนใจ เปลี่ยนชีวิตอย่างสิ้นเชิง จนถึงกับว่าสามารถทําให้ อาณาจักรพระเจ้ามาถึงแทนภัยพิบัติ

5. นรกคือภัยพิบัติส่วนตัว

หากอาณาจักรพระเจ้ามาถึง แทนที่จะเกิดภัยพิบัติจริง คนที่ไม่ยอมรับอาณาจักรนี้ก็จะต้องประสบภัยพิบัติในระดับส่วนตัว พวกเขาจะพบว่าตัวเองตกค้างอยู่ในความมืดข้างนอก (มธ.๘,๑๒; ๒๒,๑๓; ๒๕,๓๐) ถูกปลดจากทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนหวงแหน ทั้งเงินทอง เกียรติยศชื่อเสียง พรรคพวกและอํานาจ เพราะไม่มีที่สําหรับสิ่งเหล่านี้ในอาณาจักรพระเจ้า พวกเขาจะพบว่า ตนเองสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยทําให้ชีวิตมีความหมาย พวกเขาจะพบว่า ชีวิตของตนถูกทําลายจนหมดสิ้น พวกเขาไม่ได้ถูกไล่ออกไป แต่พวกเขาแยกตัวเองออกไปต่างหาก

ภัยพิบัติเฉพาะคนดังกล่าว บางทีก็มีบรรยายในพระวรสารว่า เป็นเหมือนการอยู่ในความมืดภายนอก หรือเหมือนถูกโยนลงไปในกองไฟในเกเฮนนา (Gehenna) เกเฮนนาเป็นชื่อของหุบเขานอกเมืองเยรูซาเลม หลายศตวรรษก่อนสมัยพระเยซู หุบเขาเกเฮนนาเป็นที่ที่มีการฆ่าเด็กถวายบูชาเทพเจ้า จึงถือกันว่าเป็นสถานที่ชั่วช้ามีมลทินที่สุด และกลายเป็นกองขยะสาธารณะของเมืองเยรูซาเลม ของเน่าเสียทุกชนิดที่ถูกทิ้งลงไปก็ถูกหนอนรุมกิน และมีไฟลุกกรุ่นอยู่ตลอดเวลาเหมือนกับกองขยะทั่วไป หนอนและไฟเป็นตัวทําลายจนถึงสุดท้าย สิ่งที่น่ากลัวที่สุดก็คงจะเป็นการถูกโยนลงไปในเกเฮนนาให้หนอนและไฟช่วยกันรุมทําลายให้สิ้นซาก ทั้งคนและซากสิ่งของในเกเฮนนาตายหรือสลายไป คงมีแต่หนอนและไฟที่ทําหน้าที่ต่อไปเรื่อยอย่างไม่มีจบสิ้น และนี่คือจุดกําเนิดภาพพจน์ "นรก" ตามธรรมเนียมของศาสนายิวและศาสนาคริสต์ (เนื่องจากอิทธิพลของปรัชญากรีก ซึ่งถือว่าจิตหรือวิญญาณมนุษย์ไม่รู้ตาย คริสต์ศาสนิกชนส่วนหนึ่งจึงเข้าใจว่าเกเฮนนาหรือ "นรก" เป็นที่ทรมานตลอดไปสําหรับวิญญาณที่ไร้ร่างกาย)

เกเฮนนาเป็นภาพพจน์ของความตายและความพินาศ ตรงข้ามกับชีวิต หากพระเยซูเคยใช้ภาพพจน์นี้ ก็คงใช้ในทํานองนี้คือ "อย่ากลัวผู้ที่ฆ่าได้แต่กาย แต่ไม่อาจฆ่าจิตของท่านได้ แต่จงกลัวผู้ที่ทําลายทั้งกายและจิต

ของท่านในเกเฮนนา" (มธ.๑๐,๒๘) การทําลายจิตของคนก็คือทําลายความเป็นคน หรือสิ่งที่หนังสือวิวรณ์เรียกว่าความตายครั้งที่สอง (วิวรณ์ ๒,๑๑; ๒๐,๖; ๒๐,๑๔; ๒๑,๘) ในความหมายเช่นนี้ หลายคนก็ต้องถือว่าตายไปแล้ว "ปล่อยให้คนตายฝังคนตายเองเถิด" (มธ.๘,๒๒) อันได้แก่คนที่ไม่ยอมรับข่าวดีของพระเยซู แต่เกาะยึดอยู่กับวิถีชีวิตและค่านิยมเดิมของตน จนในที่สุดถูกมันทำลายทั้งกายและจิตมีน้อยคนที่มองเห็นทางที่พระเยซูสอน ซึ่งเป็นทางที่นำไปสู่ชีวิต ทางสายนี้มองเห็นได้ยาก เปรียบเสมือนประตูแคบ หรือทางรก (ดู มธ.๗,๑๓-๑๔) คนส่วนมากเลือกวิธีต่าง ๆ ที่เห็นชัดเจน หรือเห็นว่าง่ายในอันที่จะแก้ไขสถานการณ์ เช่นวิธีของพวกต่างๆ ในสมัยนั้น (ซัดดูสี ซีลอท ฯลฯ) แต่แล้ววิธีเหล่านั้นกลับเป็นทางที่นำไปสู่ความพ่ายแพ้และหายนะของชาติยิว

การที่พระเยซูเร่งงานประกาศอาณาจักรพระเจ้า ไม่ใช่เพราะเห็นแก่คนที่ทําตัวสมกับภัยพิบัติเฉพาะตัวเท่านั้น พระเยซูเป็นห่วงประชาชนทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวบ้านธรรมดาที่ไม่รู้เรื่องอะไร ในสถานการณ์ทางการเมืองและสังคมในขณะนั้น ถ้าภัยพิบัติเกิดขึ้น ทุกคนจะต้องทนทุกข์ ทั้งคนดีและคนผิด พระเยซูแนะนําว่าถ้าเกิดเรื่องก็ให้วิ่งหนีขึ้นเขาเพื่อเอาชีวิตรอด (มก.๑๓,๑๔-๒๐) ความรีบด่วนสูงสุดในขณะนั้นก็คือ ป้องกันไม่ให้เกิดหายนะ โดยเร่งเร้าให้ทุกคนเปลี่ยนชีวิตหันไปสู่อาณาจักรพระเจ้า

ดังที่เรารู้จากประวัติศาสตร์ว่า ในความเป็นจริง ภัยพิบัติได้เกิดขึ้น ก่อนที่อาณาจักรพระเจ้าจะมาถึง ในปี ค.ศ.๗๐ กองทัพโรมันทําลายเมืองเยรูซาเลมและพระวิหารของชาวยิว ในปี ค.ศ.๑๓๕ ชาติยิวถูกทําลายอย่างสิ้นซาก ชาวยิวจํานวนมากถูกฆ่าตายอย่างทารุณนองเลือด ส่วนที่เหลือก็ถูกไล่ออกจากดินแดนปาเลสไตน์จนหมด

6. ภารกิจของพระเยซูล้มเหลว?

พระเยซูคาดไว้ไม่มีผิด ภารกิจของพระองค์ล้มเหลว หรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องกว่านั้น ต้องพูดว่าประชาชนชาวยิวล้มเหลว ที่ได้ปล่อยให้โอกาสอันสําคัญยิ่งผ่านพ้นไป โดยไม่ได้ทําอะไรเพื่อแก้สถานการณ์ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม มันก็ยังไม่ใช่จุดจบ ยังจะมีโอกาสอีก เพราะว่า ในที่สุดแล้วอาณาจักรพระเจ้าจะต้องมาถึง พระเจ้าต้องมีชัยชนะ คริสตชนรุ่นหลังพยายามเอาการประกาศและคําสอนของพระเยซู ไปดัดแปลงเข้ากับสถานการณ์ใหม่ของตน

สารของพระเยซูก็เป็นเหมือนสารของประกาศกสมัยก่อนๆ คือเป็นสารที่เจาะจงสําหรับสมัยของตนหรือสถานการณ์ในเวลานั้น แต่อย่างไรก็ตาม สารนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างพระกับมนุษย์ ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานและเป็นความจริง สารนั้นจึงสามารถถ่ายทอดและแปลความหมายให้เข้ากับสมัยอื่น หรือสถานการณ์อื่นได้ หลังจากที่ภัยพิบัติได้เกิดแก่ชาติยิวแล้ว สารของพระเยซูก็ถูกนําไปปรับเข้ากับสังคมอื่นๆ และนี่ก็คือจุดประสงค์ของผู้เขียนพระวรสาร แต่เพื่อจะเข้าใจว่าพระเยซูพูดอะไร ทําอะไร มีความหมายอะไรสําหรับคนที่อยู่รอบข้าง (ก่อนที่จะมีศาสนาคริสต์เกิดขึ้น) เราจําเป็นต้องแยกแยะว่าในพระวรสาร อะไรเป็นเรื่องของสถานการณ์สมัยพระเยซู อะไรเป็นสิ่งที่ถูกปรับแปลงให้เข้ากับสถานการณ์สมัยหลัง

คำถาม
1.อาณาจักรพระเจ้าจะมาถึงได้อย่างไร?
2.ทำไมพระเยซูจึงรีบเร่งในการประกาศอาณาจักรพระเจ้า?
3.ท่านเข้าใจเรื่องนรกอย่างไร?
4.ภารกิจของพระเยซูล้มเหลวหรือไม่?

 

ข้อมูลที่มีหลักฐานชัดเจนที่สุดเกี่ยวกับพระเยซูชาวนาซาเร็ทก็คือ พระเยซูถูกพอนทิอัส ปิลาต ผู้ว่าราชการชาวโรมันพิพากษาและตัดสินประหารชีวิต โทษฐานเป็นกบฏ แต่เหตุการณ์นี้ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกหรือโดดเด่นอะไร เพราะในช่วงนั้นชาวยิวที่คิดกบฏหลายพันคนก็ถูกทหารโรมันประหารชีวิตด้วยการตรึงกางเขนเช่นเดียวกัน ชาวยิวเกือบทั้งหมดต่อต้านการยึดครองโดยรัฐบาลโรม และหลายคนพยายามหาทางที่จะล้มล้างการยึดครองนี้และตั้งอาณาจักรอิสราเอลขึ้นมาใหม่ ฝ่ายโรมันตัดสินว่าพระเยซูมีความผิดฐานร่วมคิดกบฏ และประกาศตนเป็นกษัตริย์ที่ถูกต้องของชาวยิว หรือที่ชาวยิวเรียกกันว่า "พระผู้ไถ่" (เมสสิยาห์) "เราพบว่าชายคนนี้ปลุกปั่นประชาชนให้คิดกบฏ ต่อต้านการเสียภาษีให้จักรพรรดิ์ซีซาร์ และอ้างตนเป็นพระเมสสิยาห์ผู้เป็นกษัตริย์" (ลก.๒๓,๒) แผ่นป้ายระบุโทษที่ติดอยู่บนไม้กางเขน "กษัตริย์ของชาวยิว" ทําให้เราไม่ต้องสงสัยเลยว่าพระเยซูถูกกล่าวหาอะไร แต่พระเยซูผิดจริงตามที่กล่าวหาหรือไม่ ?

1. ปัญหาทางการเมือง

          คำถามที่ว่าพระเยซูผิดจริงตามที่กล่าวหาหรือไม่ ? ก็มีความเห็นแตกต่างกันไปคือ

          ฝ่ายหนึ่งบอกว่าผิดแน่(โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายโรมันผู้ยึดครอง) เพราะพระเยซูได้ประกาศตัวเป็นพระผู้ไถ่และต้องการผลักดันให้มีการลุกฮือขึ้นขับไล่กองทัพโรมัน ฝ่ายนี้จะอ้างว่าพระเยซูคลุกคลีกับการเมืองในสมัยนั้น และได้ริเริ่มขบวนการที่เกี่ยวพันกับศาสนาและการเมือง คล้ายกันกับพวกซีลอทมาก ในบรรดาสาวกผู้ใกล้ชิดพระเยซู ๑๒ คน คนหนึ่งมีชื่อว่า"ซีมอน แห่งกลุ่มซีลอท"(ลก.๖,๑๕) และบางครั้งก็ถือกันว่าเปโตร ยูดาส และลูกชายของเซบีดีก็เป็นพวกซีลอทเหมือนกัน

          ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งบอกว่าพระเยซูเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่มีความผิดทางการเมืองตามข้อกล่าวหาเลย พระเยซูไม่ได้คิดปลุกปั่นประชาชน พระเยซูบอกให้ประชาชนยอมเสียภาษี พระเยซูเป็นคนรักสงบ และพูดถึงตนเองว่าเป็น กษัตริย์"ทางใจ"ของชาวยิว ฝ่ายนี้อ้างว่าพระเยซูไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองใด ๆ ทั้งสิ้น  มีแต่เทศน์สอนทางศาสนา และข้อกล่าวหาเกี่ยวกับความผิดทางการเมืองเป็นเรื่องที่พวกผู้นําชาวยิวปั้นแต่งขึ้นเพื่อหาทางกําจัดพระเยซูเท่านั้น

          ความจริงไม่ใช่อยู่ตรงกลางระหว่าง ๒ ฝ่ายนี้  ความจริงก็คือทั้ง ๒ ฝ่ายผิดหมด เพราะว่าใช้วิธีคิดแบบปัจจุบันไปพิจารณาเรื่องของอดีต ซึ่ง ในกรณีนี้ทําให้เข้าใจไขว้เขว

          สําหรับชาวยิว ไม่มีการแยกว่าอะไรคือการเมือง อะไรคือศาสนา ปัจจุบันเราแยกออกเป็นเรื่องทางการเมือง ทางสังคม ทางเศรษฐกิจ หรือทางศาสนา ทุกทางที่ว่ามานี้ชาวยิวคิดเป็นอย่างเดียว คือเป็นเรื่องของพระเจ้าและบัญญัติของพระองค์ ไม่มีอะไรที่ไม่เกี่ยวกับพระเจ้า

          อย่างไรก็ตาม ปัญหาบางอย่างในสมัยนั้นเราอาจเรียกด้วยภาษาสมัยใหม่ว่า”การเมือง” เพียงแต่ว่าเราต้องจําไว้เสมอว่าชาวยิวเห็นปัญหาทุกอย่างเกี่ยวข้องกับศาสนา เราอาจเรียกปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างชาติยิวกับอํานาจยึดครองของโรมว่าเป็นปัญหาทางการเมือง เกี่ยวกับปัญหานี้พระเยซูมีความเห็นแตกต่างจากพวกซีลอท ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะว่าพระเยซูไม่อยากเข้าไปเกี่ยวกับการเมือง พระเยซูมีความคิดเห็นและจุดยืนในเรื่องการเมือง เช่นเดียวกับที่มีความคิดเห็นและจุดยืนในเรื่องวันพระ เรื่องการจําศีล ฯลฯ (มก.๑๒,๑๓-๑๗)

2. แนวทางสู่การหลุดพ้นจากศัตรู

          พระเยซูอยากเห็นชาติยิวหลุดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของโรมมากพอ ๆ กับพวกซีลอท พวกฟาริสี พวกเอสซีน และทุกๆคนที่อยากให้เป็นเช่นนั้น แต่ผู้เขียนพระวรสารทั้ง ๔ ไม่สนใจปัญหานี้เท่าไรนัก เพราะว่าผู้เขียน พระวรสารมีจุดหมายจะสอนคนรุ่นหลัง ที่อยู่นอกดินแดนอิสราเอลหลังจากปี ค.ศ. ๗๐ คือหลังจากที่เมืองเยรูซาเลมถูกทําลายหมดแล้ว ฉะนั้นปัญหานี้จึงไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป แต่ในการเขียนพระวรสาร ลูกาค้นคว้าถอยหลังไปถึงแหล่งข้อมูลดั่งเดิม และใช้เอกสารฉบับหนึ่ง(Proto-Luke)  ซึ่งคงจะถูกเขียนขึ้นในเขตปาเลสไตน์ก่อนที่เยรูซาเลมถูกทําลาย และข้อความหลายตอนในพระวารสารโดยลูกา และในหนังสือกิจการอัครสาวก มาจากเอกสารดังกล่าว สิ่งที่น่าสนใจคือ ในเอกสารฉบับนี้มีพูดบ่อย ๆ ถึงการปลดปล่อยทางการเมืองของชาติอิสราเอล

          เมื่อพูดถึงการเกิดและวัยทารกของพระเยซู ประชาชนที่ถูกเอ่ยถึงคือ "ทุกคนที่รอคอยเวลาที่เยรูซาเลมจะถูกปลดปล่อย" (ลก.๒,๓๘) หรือรอคอย "ความบรรเทาสําหรับชาติอิสราเอล" (ลก.๒,๒๕) คําอธิษฐานของสัคคาริยาห์(Benedictus) ก็พูดถึงการที่พระเจ้าแห่งอิสราเอลจะนํา "การปลดปล่อยมาสู่ประชากรของพระองค์" (ลก.๑,๖๘) พูดถึง "ความรอดพ้นจากศัตรูของเรา และจากเงื้อมมือของพวกที่เกลียดชังเรา" (ลก.๑,๗๑) "ทําให้เราพ้นจากความหวาดกลัว ได้รับการช่วยให้รอดจากเงื้อมมือศัตรูของเรา" (ลก.๑,๗๔) และไม่ต้องสงสัยเลยว่า ศัตรูนั้นก็คือชาวโรมัน ความหวังของชาวยิวในขณะนั้นก็คือพระเยซู "จะเป็นผู้ทําให้อิสราเอลได้รับการปลดปล่อย" (ลก.๒๔,๒๑)

          เมื่อพระเยซูเริ่มงาน พระเยซูก็มุ่งสนองความปรารถนาของประชาชน แต่ไม่ใช่ด้วยวิธีที่ประชาชนคาดหวัง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่ใช่ด้วยวิธีที่พวกซีลอทใช้ พระเยซูเริ่มปลดปล่อยชาติยิวจากอํานาจโรมโดยการชักชวนให้ชาวยิวเปลี่ยนแปลงตนเอง หากไม่มีการเปลี่ยนจิตใจภายในชาติยิวก่อน การปลดปล่อยจากอํานาจยึดครองใดๆ ก็จะเป็นไปไม่ได้ ประกาศกก่อนหน้าพระเยซูก็เคยพูดทํานองนี้ และยอห์นแบปติสต์ก็พูดเช่นเดียวกันด้วย พระเยซูก็เป็นประกาศกและเกี่ยวข้องกับการเมืองด้วยวิธีเดียวกันกับประกาศกทั้งหลาย

          การเปลี่ยนแปลงที่พูดถึงนี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบไหน ที่จะสามารถปลดปล่อยชาติยิวได้ ? เอกสารแหล่งข้อมูลของลูกาชี้แจงได้มากในเรื่องนี้ พระเยซูพยายามแล้วพยายามเล่า ที่จะชักจูงให้เพื่อนร่วมชาติตระหนักว่า การมีปฏิกิริยาไม่พอใจและเคียดแค้นต่อชาวโรมันเป็นการฆ่าตัวตาย พระเยซูบอกให้ประชาชนอ่านสัญญาณแห่งกาลเวลา และให้ตัดสินด้วยตัวเอง (ลก.๑๒,๕๔-๕๗) อย่าฟังแต่พวกซีลอทหรือพวกใดพวกหนึ่ง ในกรณีนี้ สัญญาณดังกล่าวก็คือ ภัยพิบัติที่กําลังใกล้เข้ามาทุกเมื่อ "เมฆกําลังก่อตัวทางตะวันตก" (ลก.๑๒,๕๔) แหล่งข้อมูลของลูกาบรรยายเกี่ยวกับภัยพิบัติอย่างชัดเจนว่าเป็นผลของการแพ้สงคราม เยรูซาเลมจะถูกศัตรูล้อม (ลก.๑๙,๔๓) ศัตรูก็คือกองทัพ (ลก.๒๑,๒๐)

          การประเมินสถานการณ์และวิธีดําเนินการแบบพระเยซูนี้ ต่างกับพวกซีลอทเป็นอันมาก เพราะวิธีการของพวกซีลอท คือซ่องสุมกําลังและต่อสู้ด้วยอาวุธ "หากพวกท่านไม่เปลี่ยน พวกท่านจะถูกทําลาย" (ลก.๑๓,๓-๕)  เนื่องจากชาวยิวไม่มีทางที่จะใช้อาวุธเอาชนะกองทัพโรมันได้ วิธีเดียวที่สมเหตุสมผลก็คือเข้าดีกัน (ลก.๑๒,๕๘) พระเยซูเห็นว่าวิธีเดียวที่จะหลุดพ้นจากอํานาจของศัตรูก็คือ รักศัตรู ทําดีต่อผู้ที่เกลียดชังท่าน ภาวนาให้ผู้ที่เบียดเบียนท่าน (ลก.๖,๒๗-๒๘)

          นี่ไม่ใช่เป็นการยอมจํานนต่อชาวโรมันผู้กดขี่ข่มเหง แต่เป็นการแก้ปัญหาโดยเจาะลึกลงไปหารากแห่งการกดขี่ข่มเหง นั่นคือ ใจมนุษย์ขาดความเมตตาสงสาร ถ้าชาวยิวยังเป็นเหมือนเดิม คือยังไม่มีความเมตตาสงสารอยู่ในตัว การโค่นล้มอํานาจรัฐบาลโรมจะทําให้ชาติยิวเป็นอิสระมากขึ้นกว่าเดิมหรือ? ถ้าชาวยิวยังเกาะยึดอยู่กับค่านิยมเก่า คือ อํานาจ เงินทอง เกียรติยศชื่อเสียง การแบ่งแยกเป็นพรรคเป็นพวก การใช้อํานาจกดขี่ผู้อื่น ฯลฯ จะเอาแอกโรมันออกไป แล้วเอาแอกยิวเข้ามาแทนที่ มันจะมีประโยชน์อะไร?

          พระเยซูสนใจ และจริงจังกับการปลดปล่อยมากกว่าพวกซีลอท พวกซีลอทต้องการให้เปลี่ยนผู้มีอํานาจ คือเปลี่ยนจากรัฐบาลโรมมาเป็นรัฐบาลยิว แต่พระเยซูต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง ลึกลงไปถึงใจมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นยิวหรือโรมัน พระเยซูอยากให้มีโลกใหม่ที่คุณภาพต่างกับโลกเก่า นั่นคืออาณาจักรพระเจ้า พระเยซูไม่พอใจที่จะให้มีแค่การเปลี่ยนเอาอาณาจักรหนึ่งออกไป แล้วให้อีกอาณาจักรหนึ่งเข้ามาแทนที่ นั่นไม่ใช่การปลดปล่อย  อาณาจักรที่เข้ามาแทนต้องเป็นอาณาจักรพระเจ้าเท่านั้น

3. พระเยซูเห็นปัญหาที่คนอื่นไม่เห็น

          พระเยซูเห็นสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็น นั่นคือมีการกดขี่ข่มเหงและเอารัดเอาเปรียบกันภายในสังคมยิว มากกว่าที่มาจากภายนอก  ชนชั้นกลางชาวยิวพยายามดิ้นรนต่อต้านอํานาจโรมัน แต่ตัวเองนั่นแหละที่กดขี่คนจนและคนไร้การศึกษา พวกคัมภีราจารย์ พวกฟาริสี พวกซัดดูสี และพวกซีลอท กดขี่ข่มเหง เอารัดเอาเปรียบประชาชนชาวยิวด้วยกัน มากกว่าที่ชาวโรมันทําเสียอีก การประท้วงต่อต้านอํานาจโรมันจึงเป็นเรื่องหน้าซื่อใจคด

          จริง ๆ แล้วการเข้ายึดครองก็หมายถึงการเข้าไปเก็บผลประโยชน์ในรูปภาษี ชาวยิวส่วนมากถือว่า การเสียภาษีให้รัฐบาลโรมเป็นการเอาทรัพย์สินของชาติยิวซึ่งเป็นทรัพย์สินของพระเจ้า ไปให้แก่จักรพรรดิ์ซีซาร์ แต่สําหรับพระเยซู นี่เป็นการอ้างเหตุผลเพื่อสนับสนุนความโลภของตนเท่านั้น เป็นความหน้าซื่อใจคด "การเสียภาษีให้ซีซาร์เป็นสิ่งที่ทําได้ไหม ? เราควรเสียภาษีหรือไม่ ? พระเยซูเห็นความหน้าซื่อใจคดของพวกเขา จึงตอบว่า ทําไมพวกท่านจึงพยายามหลอกจับผิดเรา ? จงเอาเหรียญเงินให้เราดูสักอันหนึ่งซิ พวกเขาจึงยื่นเหรียญเงินอันหนึ่งให้ พระเยซูถามว่า นี่หัวของใคร? นี่ชื่อของใคร? พวกเขาตอบว่า ของซีซาร์ พระเยซูจึงพูดกับพวกเขาว่า จงคืนของซีซาร์ให้แก่ซีซาร์ และจงคืนของพระเจ้าให้แก่พระเจ้า  คําตอบนี้ทําให้พวกเขาตะลึง" (มก.๑๒,๑๔-๑๗)

          คําตอบของพระเยซูจี้ใจคดของผู้ถาม ในเวลาเดียวกัน เจาะลึกถึงรากของปัญหาการเสียภาษี เรื่องของเรื่องก็คือความโลภ พวกที่ตั้งคําถามก็มีเหรียญของรัฐบาลโรม สมัยโบราณถือว่าเหรียญเงินเป็นทรัพย์สินของผู้ปกครองที่ผลิตเหรียญนั้นขึ้นมาใช้ ถ้าเหรียญนั้นมีรูปและชื่อของซีซาร์ ก็แปลว่ามันเป็นของซีซาร์ ไม่ใช่ของพระเจ้า  ท่านไม่ยอมจ่ายคืนให้แก่ซีซาร์ ก็เพราะท่านผูกพันอยู่กับเงินทอง ไม่ใช่เพราะอยากคืนให้พระเจ้า  ถ้าท่านอยากคืนของพระเจ้าให้แก่พระเจ้าจริง ก็จงขายสมบัติของท่านแล้วแจกจ่ายให้แก่คนจน

4. รากเง่าของการ  กดขี่  ข่มเหง

          ปัญหาที่แท้จริงก็คือการกดขี่ข่มเหง(ไม่ว่าใครจะกดขี่ข่มเหงใครก็    เหมือนกัน) สาเหตุของการกดขี่ข่มเหงก็คือ มนุษย์ไม่มีใจเมตตาสงสาร ชาวยิวที่ประท้วงการกดขี่ของชาวโรมัน ในเวลาเดียวกันลืมว่าตัวเองก็กําลังกดขี่เพื่อนร่วมชาติที่จนๆอยู่เหมือนกัน ชาวยิวเหล่านั้นขาดความเมตตาสงสารเช่นเดียวกับที่ชาวโรมันขาดความเมตตาสงสาร บางทีขาดมากกว่าชาวโรมันเสียอีก การเสียภาษีให้รัฐบาลโรมันเป็นความทุกข์อย่างหนึ่ง แต่มาเสียภาษีให้รัฐบาลยิวแทน ก็เป็นความทุกข์เหมือนกัน การที่ชาวโรมันมายึดครองประเทศยิว ก่อให้เกิดความทุกข์ทางใจอย่างหนึ่ง เพราะเป็นการลบหลู่ต่อศาสนาและอํานาจสูงสุดของพระเจ้า  แต่การที่พวก คัมภีราจารย์ พวกฟาริสี และพวกผู้นําชาวยิว นํากฎระเบียบทางศาสนามาบีบบังคับชาวบ้านและเบียดเบียนในรูปแบบต่างๆ นานา ก่อให้เกิดความทุกข์ทางใจและทางกายมากกว่าที่ชาวโรมันทําหลายเท่า

          พระเยซูอยากปลดปล่อยประชาชนจากความทุกข์ทั้งหมดดังกล่าว ไม่ว่าความทุกข์เกิดจากนํ้ามือของใครก็ตาม อย่างไรก็ดี พระเยซูมุ่งแก้ปัญหาอันเกิดจากการกระทําของพวกฟาริสี พวกซัดดูสี(รวมทั้งพวกซีลอทและพวกเอสซีน) มากกว่าที่จะแก้ปัญหาอันเกิดจากพวกโรมัน เพราะว่าปัญหาภายในมันรุนแรงกว่า ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะพระเยซูเลี่ยงปัญหาทางการเมือง การต่อต้านพฤติกรรมของพวกคัมภีราจารย์ พวกฟาริสีและพวกซัดดูสี เป็นเรื่องของการเมืองมากกว่าการต่อต้านอํานาจโรมันเสียด้วยซํ้า

          นอกนั้น การที่พวกซีลอทดิ้นรนเพื่อการปลดแอก ไม่ใช่เป็นการมุ่งสู่อิสรภาพที่แท้จริง พวกซีลอทต่อสู้เพื่อชาติยิว เพื่อเชื้อสายยิว เพื่อศาสนายิว การปลดแอกที่แท้จริงคือการต่อสู้เพื่อคนในฐานะที่เป็นคนด้วยกัน ต่อสู้เพื่อความรักและความเป็นหนึ่งเดียวกันในมนุษยชาติ

          การปฏิวัติที่พระเยซูอยากให้เกิดขึ้นนั้นเ ป็นเรื่องจริงจังมาก อย่างที่ว่าแม้พวกซีลอทหรือพวกใดๆ ก็ตามก็ยังคิดไม่ถึง ทุกแง่ทุกมุมของชีวิตไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมหรือศาสนา พระเยซูขุดคุ้ยขึ้นมาพิจารณาทั้งหมด หลายสิ่งที่ถือกันว่าถูกต้องและยุติธรรมในสังคมขณะนั้น พระเยซูชี้ให้เห็นว่าขัดกับความรัก เพราะฉะนั้นขัดกับความประสงค์ของพระเจ้า

          พระเยซูเล่านิทานเปรียบเทียบเรื่องคนงานสวนองุ่น (มธ.๒๐,๑-๑๕) คนงานที่ทํางานหนักและตากแดดทั้งวัน ไม่พอใจที่เห็นว่าคนที่ทํางานเพียงชั่วโมงเดียวได้รับค่าจ้างเท่ากับตัวเอง พวกเขาคิดว่าไม่ยุติธรรมเลย แต่คิดผิด เงิน ๑ เหรียญเป็นค่าจ้างสําหรับงาน ๑ วัน และได้ตกลงกันไว้อย่างนั้น แต่เจ้าของสวนทําเหมือนพระเจ้า คือมีความเมตตาสงสารอย่างแท้จริงต่อคนงานและครอบครัวของพวกเขา จึงได้จ้างไปทํางานแม้เหลือเวลาทํางานเพียงเล็กน้อยก็ตาม แล้วจ่ายค่าจ้างให้เต็มวัน แม้ค่าจ้างจะไม่สมดุลย์กับจํานวนชั่วโมงที่ทํางานก็ตาม แต่สมดุลย์กับความต้องการของคนงานและครอบครัว พวกคนงานที่ทํางานเต็มวันไม่มีความเมตตาสงสารเหมือนกับเจ้าของสวน จึงเกิดความไม่พอใจ ความยุติธรรมของพวกนี้เป็นเหมือนความยุติธรรม ของพวกซีลอทและพวกฟาริสี คือเป็นความยุติธรรมที่ปราศจากความรัก พวกเขาอิจฉาโชคดีของผู้อื่น และเป็นเหมือนโยนาห์ที่เสียใจเมื่อเห็นพระเจ้าเมตตาสงสารและใจดี

          เช่นเดียวกัน ในนิทานเปรียบเทียบเรื่องลูกล้างผลาญ (ลก.๑๕,๑๑-๓๒) ลูกชายคนโตทํางานให้พ่ออย่างสัตย์ซื่อเป็นเวลาหลายปี และไม่เคยขัดคําสั่งพ่อเลยแม้แต่ครั้งเดียว (เหมือนพวกซีลอทและพวกฟาริสี) ลูกชาย

คนโตนี้ รู้สึกโกรธที่เห็นว่าพ่อสั่งให้คนใช้ฆ่าลูกวัวเพื่อเลี้ยงฉลองลูกชายคนเล็ก ที่เพิ่งกลับมาจากการล้างผลาญสมบัติพ่อ ลูกชายคนโตไม่มีความเมตตาสงสาร เหมือนที่พ่อเมตตาสงสารลูกชายที่หลงผิด   จึงคิดว่าพ่อไม่ยุติธรรม

          พวกซีลอทจะฆ่าชาวยิวด้วยกัน ถ้าจับได้ว่าชาวยิวนั้นทรยศชาติและศาสนายิว และพวกซีลอทจับอาวุธต่อสู้ชาวโรมันผู้ยึดครองที่เป็นพวกต่างศาสนา ทั้งนี้เพราะพวกซีลอทมีความศรัทธาอย่างแรงกล้าต่อกฎบัญญัติของพระเจ้า ถึงขั้นที่เราเรียกว่าคลั่งศาสนา ส่วนพวกฟาริสีเบียดเบียนและกดขี่ข่มเหงคนจนและคนบาปเพราะความคลั่งศาสนาเช่นเดียวกัน แต่ความศรัทธาของทั้งสองพวกนี้ เป็นความศรัทธาที่ปราศจากความรัก

          นิทานเปรียบเทียบเรื่องฟาริสีกับคนเก็บภาษี คงจะได้สร้างความงุนงงให้กับผู้ฟังเป็นอย่างมาก (ลก.๑๘,๙-๑๔) ฟาริสีในเรื่องนี้เป็นคนที่ถือเป็นเยี่ยงอย่างได้ในศาสนายิว เขาทํามากกว่าที่ศาสนาเรียกร้องเสียอีก เขาจําศีลถึงอาทิตย์ละ ๒ ครั้ง ไม่มีอะไรที่ชี้ว่าเขาเป็นคนหน้าซื่อใจคด เขาไม่ได้อวดเก่ง แต่ได้ขอบคุณพระเจ้าที่ช่วยให้เขามีคุณธรรม ส่วนคนเก็บภาษี แม้จะได้วิงวอนขอพระเมตตาจากพระเจ้า แต่ก็ไม่ได้แสดงความพร้อมที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิต และไม่ได้สัญญาว่าจะชดใช้สิ่งที่ได้โกงเขามา  แต่คําตัดสินของพระเยซูคือ พระเจ้าพอใจคนเก็บภาษี แต่ไม่พอใจฟาริสีคนนั้น ทั้งนี้เพราะฟาริสีถือตัวว่าดีกว่าผู้อื่น(ยกตนข่มท่าน) "ข้าพเจ้าไม่เป็นเหมือนคนอื่นๆ และไม่เป็นเหมือนคนเก็บภาษีคนนี้" ปัญหาไม่ได้อยู่ที่จองหองมากนัก แต่อยู่ที่ไม่มีความเมตตาสงสาร หากไม่มีความเมตตาสงสารแล้ว การปฏิบัติและความเชื่อทางศาสนาก็ไม่มีค่าอะไรทั้งสิ้น(๑โคริน ๑๓,๑-๓) หากไม่มีความเมตตาสงสารแล้ว การเมืองก็จะกลายเป็นการกดขี่ แม้แต่การปลดแอกก็จะกลายเป็นการกดขี่เช่นกัน

          สาเหตุสําคัญประการหนึ่งที่ทําให้เกิดการกดขี่ การเอาเปรียบ และเกิดความทุกข์ทรมานในสังคม คือศาสนาของพวกฟาริสี พวกซัดดูสี พวกเอสซีนและพวกซีลอท เป็นศาสนาที่ไร้ความรัก  ไม่มีอะไรจะเปลี่ยนแปลงได้ยากเท่ากับความศรัทธาในศาสนาของตน คนที่มีความศรัทธาและทําหน้าที่ทางศาสนาทําให้ตนรู้สึกว่าอยู่ฝ่ายพระเจ้า ไม่มีความรู้สึกต้องการความเมตตาหรือการอภัย คนอื่นต่างหากที่ต้องการ ฝ่ายคนบาปรู้ตัวว่าต้องการความเมตตาสงสารจากพระเจ้า ต้องการให้พระเจ้าอภัยบาปของตน และรู้ตัวว่าต้องกลับใจเสียใหม่ เมื่อคนเช่นนี้ได้รับอภัย เขาย่อมจะรู้สึกซาบซึ้งในพระคุณเป็นอันมาก (ลก.๗,๔๑-๔๗)

          พระเยซูพบว่าอุปสรรคที่ขัดขวางไม่ให้อาณาจักรพระเจ้ามาถึง ไม่ใช่พวกคนบาปหรือพวกโรมันผู้นับถือสารพัดเทพเจ้า แต่อุปสรรคคือคนเคร่งครัดในศาสนายิวนั่นเอง พระเยซูคงจะเห็นตั้งแต่แรกเมื่อประชาชนเข้าไปหายอห์นแบปติสต์ บรรดาผู้นําทางศาสนาไม่ยอมรับว่าชาติยิวกําลังจะประสบหายนะ ทําไมพระเจ้าจะต้องลงโทษชาติยิว ? ต้องลงโทษพวกคนบาปและคนต่างศาสนาจึงจะถูก แต่พวกคนบาปแห่กันไปหายอห์นเพราะรู้ตัวว่าเป็นคนบาป และไม่สงสัยเลยว่าความหายนะใกล้เข้ามาแล้ว

          พวกคนที่ศรัทธาในศาสนาแต่ไร้ความรักนี้ พระเยซูเปรียบว่าเป็นเหมือนคนที่ตอบรับคําขานของพระเจ้าและสัญญาว่าจะทําตามคําสั่ง(มธ. ๒๑,๒๘-๓๑) แต่เมื่อถึงเวลาพวกเขาก็ไม่ยอมเข้าร่วมในอาณาจักรแห่งความรักเมตตา ไม่ยอมร่วมฉลองด้วย(เหมือนลูกชายคนโตในเรื่องลูกล้างผลาญ) แต่หาข้อแก้ตัวต่าง ๆ นานา (เหมือนแขกผู้ได้รับคําเชิญให้ไปร่วมงานเลี้ยง ลูกา ๑๔,๑๖-๒๔) ส่วนพวกโสเภณีและคนบาปอื่น ๆ ทีแรกก็ตอบปฏิเสธพระเจ้า แต่เมื่อถึงเวลาที่พระเยซูเผยแสดงความเมตตาของพระเจ้า พวกนี้ก็รีบตอบรับทันที

          พวกที่เคร่งครัดในศาสนา อันได้แก่พวกซีลอท พวกฟาริสี พวกเอสซีนและพวกซัดดูสี ปฏิเสธไม่ยอมเข้าอาณาจักรพระเจ้าอันเป็นอาณาจักรแห่งความรัก พระเยซูบอกพวกเขาว่า "คนเก็บภาษีและโสเภณีเดินนําหน้าพวกท่านเข้าสู่อาณาจักรพระเจ้า" (มธ.๒๑,๓๑) มันดูเหมือนจะผิดยุติธรรมที่บุตรแห่งอาณาจักรต้องถูกทิ้งอยู่ข้างนอก(มธ.๘,๑๒) ในขณะที่ศัตรูของพระเจ้า หรือคนบาปและคนต่างศาสนาวิ่งกรูกันเข้ามา "กฎบัญญัติและคําสอนของประกาศก ใช้เป็นเกณฑ์จนถึงยอห์นแบปติสต์ และตั้งแต่เวลานั้นเป็นต้นมา มีการประกาศอาณาจักรพระเจ้า  และทุกคนกำลัง

เข้าไปด้วยความรุนแรง" (ลก.๑๖,๑๖ เทียบกับ มธ.๑๑,๑๒) ข้อความนี้มีความหมายค่อนข้างลึกลับ แต่ในที่นี้เราเข้าใจได้ว่า หลักเกณฑ์หรือหนทางปกตินั้นคือกฎบัญญัติและคําสอนของประกาศก ซึ่งใช้ได้จนถึงสมัยของยอห์น แต่จากนั้นมาทุกคน(ใครก็ได้ที่อยาก) ก็แห่บุกเข้ามาในอาณาจักรพระเจ้า (ไม่ใช่ใช้ความรุนแรง แต่หมายความว่าเบียดเสียดแย่งกันเข้า) จนทําให้คนที่คิดว่าตนเป็นผู้มีสิทธิโดยชอบตามกฎหมาย(พวกฟาริสี) เห็นว่าการแห่เข้ามาแบบนี้ผิดกฎหมายและไม่ยุติธรรม

5. พระเยซูเจ้าเผชิญหน้ากับปัญหา

          เป็นไปไม่ได้ที่คนสมัยพระเยซูจะเห็นพระเยซูเป็นคนเคร่งศาสนา

ผู้หลีกเลี่ยงเรื่องการเมืองและการปฏิวัติ(ดังที่คริสตชนส่วนมากทุกวันนี้คิด) ตรงกันข้าม พวกเขาต้องเห็นว่า พระเยซูเป็นคนไร้ศาสนา พูดจาลบหลู่ดูหมิ่นพระเจ้า และอาศัยศาสนาเพื่อทําลายค่านิยมทางศาสนา ทางการเมือง ทางเศรษฐกิจและทางสังคมของชาติยิว  พระเยซูเป็นบุคคลที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคง

          ทางฝ่ายชาวโรมันผู้ยึดครองคิดเช่นนั้นด้วยหรือไม่ ? เป็นไปได้ไหมที่พวกโรมันจะคิดว่า คนพื้นเมืองในเขตยึดครองนี้มีความเห็นแตกต่างกันและทะเลาะกันเอง ? พวกโรมันสังเกตเห็นความเคลื่อนไหวต่าง ๆ เหล่านี้หรือไม่ ?

          เช่นเดียวกับชาวยิวทุกคน พระเยซูไม่เห็นด้วยกับการที่ชาวโรมันเข้ามากดขี่ประชาชน แม้ว่าเหตุผลของพระเยซูอาจต่างกับเหตุผลของคนอื่น พระเยซูไม่เห็นด้วยกับวิธีใช้อํานาจของพวกโรมันในการบีบบังคับ(มก. ๑๐,๔๒) แต่พระเยซูเชื่อว่าจะเปลี่ยนพวกโรมันได้ ก็โดยเริ่มเปลี่ยนชาวยิวก่อน  แล้วชาวยิวจะได้แสดงให้ชาวโรมันเห็นค่านิยมและอุดมคติของอาณา จักรพระเจ้าในภายหลัง   พระเยซูคิดว่าจะเผชิญหน้าโดยตรงกับชาวโรมัน ทันที ก็คงจะเปลี่ยนใจพวกเขาให้มีความเมตตาสงสารและความเชื่อไม่ได้

          อย่างไรก็ตาม ในไม่ช้าพระเยซูเริ่มรู้สึกว่า จําเป็นต้องเผชิญหน้ากับชาวยิวที่ร่วมมือกับรัฐบาลโรมัน นั่นคือพวกหัวหน้าคณะสงฆ์     พวกผู้

หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมือง และพวกผู้นําประชาชน ซึ่งเป็นสมาชิกพวกซัดดูสีจนถึงเวลานี้ พระเยซูได้เผชิญหน้ากับ "ฝ่ายศาสนา" โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพวกคัมภีราจารย์และพวกฟาริสี  บัดนี้พระเยซูต้องเผชิญหน้ากับ "ฝ่ายบ้านเมือง" คืออํานาจปกครองของชาวยิวในเมืองเยรูซาเลม เหตุผลที่ต้องเผชิญหน้ากับฝ่ายบ้านเมืองนี้ ไม่ใช่เพราะพวกนี้ร่วมมือกับรัฐบาลโรมัน แต่เพราะว่าพวกนี้ก็กดขี่ข่มเหงเอารัดเอาเปรียบคนจนด้วยเหมือนกัน ต่อไปนี้เราจะศึกษาเหตุการณ์การประจัญหน้า ซึ่งในที่สุดจะทําให้พระเยซูต้องตายอย่างน่าอนาถ

 

คำถาม
1. พระเยซูมีแนวคิดในการแกัปัญหาการเมืองอย่างไร ?
2. ปัญหาจริง ๆ ของชาวยิวคืออะไร ?
3. รากเง่าของการกดขี่คืออะไร ?

 

มีข้อมูลหลายอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า มีจุดหนึ่งในชีวิตพระเยซูที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ หนังสือพระวรสารทั้ง ๔ พูดถึงการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ครั้งสําคัญนี้    แม้ว่าจะเน้นที่ความหมายทางศาสนศาสตร์    มากกว่าทางประวัติศาสตร์ พระวรสารแต่ละฉบับต่างก็พยายามจะทําให้เราเข้าใจว่า เมื่อมาถึงจุดหนึ่ง การต่อต้านที่พวกผู้นําชาวยิวมีต่อพระเยซูมาถึงจุดสูงสุด ในเวลาเดียวกัน ความหวังของประชาชนจํานวนมากในเรื่องพระผู้ไถ่หันมาบรรจบที่พระเยซูอย่างชัดแจ้ง แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อมาถึงจุดนี้ พระเยซูถอยหลบออกไปในที่ห่างไกลฝูงชน และมุ่งสั่งสอนกลุ่มสาวกผู้ใกล้ชิดเป็นพิเศษ พร้อมกับเตรียมตัวเดินทางไปเยรูซาเลมเพื่อเผชิญกับความตาย

1. คำถามทางประวัติศาสตร์

          ในทางประวัติศาสตร์ เหตุการณ์ดูไม่ต่อเนื่องและไม่สามารถอธิบายได้ว่า เรื่องของพระเยซูกลับดังและอื้อฉาวขึ้นมาอย่างกระทันหันได้อย่างไร จริงอยู่ กิจกรรมและคําสอนของพระเยซูมีลักษณะ "ไวไฟ" อยู่มาก แต่เราไม่เห็นว่ามีอะไรที่ทําให้พระเยซูกลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในระดับชาติ จนถึงขั้นที่ฝ่ายผู้มีอํานาจในบ้านเมืองต้องการจะจับกุม และฝ่ายประชาชนต้องการจะตั้งเป็นกษัตริย์ ทําไมพระเยซูจึงต้องเก็บตัวและลี้ภัยไปประเทศใกล้เคียง ? มีอะไรที่ทําให้พระเยซูแน่ใจว่าตนเองและพวกสาวกจะต้องตายอย่างน่าอนาถ ?

          เราได้คําตอบมาจากนักพระคัมภีร์ผู้มีชื่อเสียง ชื่อเอเจียน ทรอกเม ท่านผู้นี้ได้ศึกษาค้นคว้าและยืนยันว่า เหตุการณ์ในพระวิหารไม่ได้เกิดขึ้นในสัปดาห์สุดท้ายของชีวิตพระเยซู แต่เกิดขึ้นเมื่อพระเยซูไปเมืองเยรูซาเลมครั้งก่อนหน้านั้น มาร์โกผู้เขียนพระวรสารคนแรกได้จัดเนื้อหาเป็นหมวดหมู่ และได้พูดถึงทุกอย่างที่เกิดขึ้นในแคว้นกาลิลีให้หมด ก่อนที่จะพูดถึงเหตุการณ์ในเมืองเยรูซาเลม   การจัดแบบนี้ทําให้ผู้เขียนพระวรสารต่อมา คือลูกาและมัทธิว รวมทั้งนักศึกษาพระคัมภีร์ยุคหลังๆ ต่างก็ไขว้เขวไปหมด  ส่วนยอห์นผู้เขียนพระวรสารเป็นคนสุดท้าย มีวิธีจัดเนื้อหาแบบรวมเหตุการณ์มาไว้ในแคว้นยูเดียและเมืองเยรูซาเลม ยอห์นพูดถึงเหตุการณ์ในพระวิหารในตอนต้นๆ (ยน.๒,๑๓-๒๒) การจัดเนื้อหาต่างกันสองแบบเช่นนี้ ทําให้เห็นว่า จริงๆ แล้วเหตุการณ์นี้ไม่จําเป็นจะต้องเกิดขึ้นในบั้นปลาย เมื่อพระเยซูไปเยรูซาเลมครั้งสุดท้าย

2.  เหตุการณ์ในพระวิหาร

          เป็นที่ยอมรับในวงการศึกษาพระคัมภีร์มานานแล้วว่า พระเยซูเคยเดินทางไปมาระหว่างกาลิลีและเยรูซาเลมบ่อยครั้ง (ไม่ใช่ไปเยรูซาเลมครั้งเดียวเมื่อตอนจบ ดังที่ปรากฏในพระวรสารโดยมาร์โก ลูกา และมัทธิว) และพระเยซูมีศิษย์หลายคนในเยรูซาเลม ในแคว้นยูเดีย เช่นเดียวกับที่มีศิษย์ในแคว้นกาลิลี และเมื่อศาสตราจารย์ทรอกเมชี้ให้เห็นว่า เหตุการณ์ในพระวิหารเกิดขึ้นเมื่อพระเยซูไปเยรูซาเลมครั้งใดครั้งหนึ่ง แต่ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ก็ทําให้เราเห็นได้ว่าเหตุการณ์มันต่อเนื่อง และทําให้เห็นชัดว่าทําไมพระเยซูจึงกลายเป็นคนเด่นดังขึ้นมา เป็นที่รู้จักและกล่าวขวัญถึงทั่วประเทศ

          มีอะไรเกิดขึ้นที่พระวิหาร ? นักเขียนบางคนคิดว่า เหตุการณ์นี้เป็นการยึดอํานาจครอบครองพระวิหาร และเป็นขั้นแรกในแผนยึดเมืองเยรูซาเลม แต่ความเห็นนี้ไม่ถูกต้อง มันไม่เกี่ยวกับพิธีกรรมถวายบูชาที่ทํากันอยู่ในพระวิหาร และไม่เกี่ยวกับเรื่องที่ว่า พระผู้ไถ่จะมาชําระการนมัสการพระเจ้าให้บริสุทธิ์ ตามความเชื่อของชาวยิวหลายคน เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในลานพระวิหารส่วนที่เรียกว่า "ลานของคนต่างศาสนา" ไม่ใช่เกิดขึ้นในส่วนที่ถวายบูชาที่เรียกว่า"สถานศักดิ์สิทธิ์" พระเยซูไม่สนใจเรื่องยึดอํานาจ หรือการชําระพิธีกรรม แต่เหตุเกิดจากปัญหาพวกพ่อค้าและพวกแลกเปลี่ยนเงินตรา

          ในลานพระวิหารมีการค้าขายสัตว์เพื่อการถวายบูชาอย่างคึกคัก เนื่องจากมีกฎทางศาสนาว่าสัตว์ที่จะใช้ ถวายบูชาต้องเป็นสัตว์ที่ "บริสุทธิ์" พวกพ่อค้าจึงฉวยโอกาสตั้งราคาสูงมาก ฝ่ายพวกแลกเงินตราก็ฉวยโอกาสเอากําไรเต็มที่ เพราะมีกําหนดว่าชาวยิวแต่ละคนต้องใช้จ่ายเงินในพระวิหารเป็นสัดส่วนกับรายได้ของตน และชาวยิวส่วนมากที่มานมัสการพระเจ้าที่พระวิหารนําเงินติดตัวมาเป็นเงินต่างประเทศ และตามกฎจําเป็นต้องแลกเป็นเงินตราที่ใช้ในพระวิหารเสียก่อน

          นี่คือภาพที่พระเยซูเห็นเมื่อเข้าไปในลานพระวิหาร และมันทําให้พระเยซูไม่พอใจเป็นอย่างมาก พระเยซูไม่รู้สึกประทับใจในความสวยงามของอาคารสถานที่ (มก.๑๓,๑-๒) พระเยซูไม่สนใจจารีตพิธีกรรมที่ทํากันอย่างพิถีพิถัน  แต่พระเยซูสังเกตเห็นหญิงม่ายที่ทําบุญด้วยเงินเหรียญสุดท้าย (มก.๑๒,๔๑-๔๔) พระเยซูสังเกตเห็นการฉวยโอกาสเอารัดเอาเปรียบชาวบ้านที่มานมัสการพระเจ้าด้วยความศรัทธา พวกพ่อค้าและพวกแลกเงินตรานมัสการมัมมอน(เทพเจ้าแห่งเงินตรา) แทนที่จะนมัสการพระเจ้าเที่ยงแท้ และทําเช่นนี้โดยได้รับอนุญาตจากพวกหัวหน้าคณะสงฆ์ผู้จัดการพระวิหาร และคงจะมีการสมรู้ร่วมคิดแบ่งปันผลประโยชน์กันอย่างแน่นอน

          พระเยซูทนดูภาพอย่างนี้ไม่ได้ ความรักเมตตาสงสารที่มีต่อคนจนและคนถูกกดขี่ ผลักดันให้พระเยซูต้องเดือดดาล และต้องทําอะไรลงไปสักอย่างเพื่อแก้ไข

          ตามคําเล่าของมาร์โก ตอนที่พระเยซูเห็นสภาพของลานพระวิหารนี้ เป็นเวลาบ่าย และจะทําอะไรลงไปไม่ทันแล้ว (มก.๑๑,๑๑) ดังนั้นวันรุ่งขึ้นพระเยซูกลับไปที่ลานพระวิหารใหม่ และคงจะได้รวบรวมสมัครพรรคพวกพอสมควรไปช่วยด้วย พระเยซูคนเดียวจะไล่พวกพ่อค้าและพวกแลกเงินตราไม่ไหวแน่ นี่แสดงว่าการกระทําของพระเยซูไม่ใช่เกิดขึ้นเพราะความโกรธชั่ววูบ แต่พระเยซูได้มีเวลาคิดและพิจารณาเป็นอย่างดีแล้วว่าสมควรทํา พระเยซูและพรรคพวก ไล่พวกพ่อค้าและพวกแลกเงินตรา ออกไปนอกบริเวณลานพระวิหารพร้อมกับสินค้าและเงินตราทุกอย่าง ยอห์นเล่าว่าพระเยซูใช้แส้ด้วย(ยน.๒,๑๕) ส่วนพรรคพวกใช้แส้หรือจะใช้มีดดาบกวัดแกว่งไปด้วยหรือไม่เราไม่ทราบ พระเยซูคงจะได้วางยามเฝ้าประตูไว้เพื่อไม่ให้พวกนั้นกลับเข้ามา   และเพื่อบังคับให้คนถือตามคําสั่งห้ามขนของผ่านลานพระวิหาร(มก.๑๑,๑๖) ลานพระวิหารนั้นคงเคยใช้เป็นทางลัด เพื่อขนส่งสินค้าจากมุมเมืองหนึ่งไปยังอีกมุมเมืองหนึ่ง

          การกวาดล้างดังกล่าวคงได้ก่อให้เกิดความอลหม่านเป็นอย่างมาก หลายคนเคยตั้งคําถามว่าทําไมพวกเจ้าหน้าที่รักษาความสงบในพระวิหาร จึงไม่เข้าไปควบคุมสถานการณ์ ทั้งๆที่มีเจ้าหน้าที่ตระเวนอยู่ทั่วไป หรือทําไมพวกทหารโรมันซึ่งอยู่ในป้อมติดกับบริเวณพระวิหารเฝ้าดูจากป้อมเฉยๆ อาจเป็นได้ที่ทั้งสองพวกนี้กลัวว่าถ้าถืออาวุธเข้าควบคุมสถานการณ์ อาจเป็นชนวนก่อให้เกิดการจราจลได้ หรืออาจเป็นได้ที่มีการเข้าควบคุมสถานการณ์ มีนักเขียนที่กล้าแสดงความเห็นว่า พวกของพระเยซูคงจะได้เข้าปะทะกับเจ้าหน้าที่หรือพวกทหารโรมัน และยึดครองพื้นที่พระวิหารอยู่ขณะหนึ่ง แต่ความคิดนี้ไม่เป็นความจริง เพราะถ้าทําดังที่ว่านี้จริง การกระทําของพระเยซูก็จะไม่สอดคล้องกับสิ่งที่พระเยซูเคยพูดและเคยทํามาตลอดจนถึงเวลานี้ และไม่สอดคล้องกับเหตุการณ์ที่ตามมาในภายหลังด้วย นอกนั้นถ้ามีการปะทะกับเจ้าหน้าที่หรือทหารโรมันจริง นักประวัติศาสตร์ชาวยิวที่ชื่อโยเซฟัสคงจะได้บันทึกไว้แล้ว เพราะคงจะเป็นเรื่องที่มีความสําคัญทางการเมืองและการทหารเป็นอันมาก

          ผู้เขียนมีความเห็นว่า เจ้าหน้าที่รักษาความสงบในพระวิหารคงจะได้เข้าควบคุมสถานการณ์ แต่เพียงเพื่อจะรักษาความสงบ จนกว่าพวกหัวหน้าคณะสงฆ์เข้ามาเจรจาหาทางยุติปัญหาอย่างสันติ พระเยซูไม่ได้ต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าหน้าที่ และพวกเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้บังคับให้ปล่อยพวกพ่อค้ากลับเข้ามาใหม่ ปัญหาที่ต้องเจรจากับพวกหัวหน้าคณะสงฆ์ก็คือสิทธิหรืออํานาจของพระเยซู "ท่านมีอํานาจอะไรที่จะมาทําเช่นนี้ ใครมอบอํานาจนี้ให้ท่าน ?" (มก.๑๑,๒๘) "ท่านจะแสดงเครื่องหมายอะไรให้เราเห็นว่าท่านมีสิทธิทําเช่นนี้ ?" (ยน.๒,๑๘)

          พระเยซูไม่มีอํานาจอะไรเป็นทางการ และไม่อ้างอํานาจของพระเจ้า ดังที่พวกประกาศกเคยอ้าง เนื่องจากพวกหัวหน้าคณะสงฆ์ไม่ยอมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาอํานาจของยอห์นแบปติสต์ พระเยซูจึงไม่ยอมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาอํานาจของตน  พระเยซูถือว่าสิ่งที่ตนทํานั้น จะตัดสินว่าถูกหรือผิดโดยอ้างอํานาจใดๆไม่ได้ ต้องตัดสินโดยพิจารณาสิ่งนั้นเองว่าดีหรือไม่ดี ไม่จําเป็นต้องมีเครื่องหมายอะไรมายืนยัน เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต (พระวิหารใหม่หรืออาณาจักรใหม่) จะยืนยันเองว่าพระเยซูทําถูกต้องแล้ว

          เมื่อพระเยซูสอนอยู่ในบริเวณพระวิหาร(จะเป็นโอกาสเดียวกันนี้หรือไม่ก็ตาม) พระเยซูพูดว่าเมื่อภัยพิบัติจะเกิดขึ้น เมืองเยรูซาเลมและพระวิหารจะถูกทําลาย และพูดถึงอาณาจักรพระเจ้าว่าเป็นพระวิหารแบบใหม่ สรุปแล้วพระเยซูก็สอนตามที่เคยพูดมาตลอดคือ มีความจําเป็นรีบด่วนที่จะต้องเปลี่ยนหัวใจใหม่ จะมีภัยพิบัติเกิดขึ้นในไม่ช้าหากไม่รีบกลับใจ ถ้าทุกคนยอมเปลี่ยนทันทีก็จะมีพระวิหารใหม่เกิดขึ้น(นั่นคือชุมชนใหม่หรืออาณาจักรใหม่) แต่ผู้ฟังก็เข้าใจผิดคิดว่าพระเยซูพูดดูหมิ่นพระวิหาร ดูหมิ่นประเทศชาติบ้านเมือง

          สิ่งที่ทําให้พวกผู้นําเป็นห่วงมากก็คือ ดูเหมือนว่าพระเยซูมีอิทธิพลต่อประชาชนจํานวนมาก ทั้งๆ ที่ส่วนหนึ่งไม่เคยได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับพระเยซูก่อนที่จะมีเหตุการณ์ในพระวิหารเลย พระเยซูกลายเป็นคนสําคัญระดับชาติอย่างทันทีทันใด จะเมินเฉยต่อไปไม่ได้ พวกผู้นําจึงต้องตัดสินใจดําเนินการอะไรบางอย่าง

          บันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ตั้งแต่จุดนี้ไปจนถึงการประหารชีวิตพระเยซู มีความสับสนอยู่มาก เราบอกได้เพียงแต่ว่า ในช่วงเวลาระหว่างเหตุการณ์ที่พระวิหารกับการจับกุมพระเยซู พวกผู้มีอํานาจในเมืองเยรูซาเลมได้รวมหัวกันและตัดสินใจที่จะกําจัดพระเยซู ยอห์นบรรยายถึงการประชุมวางแผนของคณะสงฆ์และฟาริสี (ยน.๑๑,๔๗-๕๒) และในตอนหนึ่ง ไกฟาสผู้เป็นหัวหน้าคณะสงฆ์ชี้แจงว่า "ให้คนหนึ่งตายดีกว่าที่จะปล่อยให้ทั้งชาติถูกทําลาย" แม้จะไม่มีรายละเอียดในแง่ของประวัติศาสตร์มากนัก แต่การประชุมในลักษณะนี้มีพูดถึงในพระวรสารอีกทั้ง ๓ ฉบับ (มก.๑๔,๑-๒;มธ.๒๖,๓-๕; ลก.๒๒,๒)

3. วิถีชีวิตของพระเยซูเปลี่ยนไป

          พระเยซูรู้ตัวว่าพวกที่ตั้งตนเป็นศัตรูพยายามหาทางจับกุม พระเยซูจึงหลบหนี (ยน.๘, ๕๙; ๑๐,๓๙; ๑๒,๓๖) ไม่ไปไหนมาไหนอย่างเปิดเผย (ยน.๑๑,๕๔) ต้องออกจากเยรูซาเลมและแคว้นยูเดีย (ยน.๗,๑) แต่อยู่ในแคว้นกาลิลีก็ไม่ปลอดภัยเช่นกัน เพราะกษัตริย์เฮรอดก็ต้องการ กําจัดพระเยซูเหมือนกัน (ลก.๑๓,๓๑; มก.๖,๑๔-๑๖) พระเยซูจึงต้องหลบไปอยู่นอกแคว้นกาลิลี เช่น ฟากตะวันออกของทะเลสาบ เขตเมืองไทระและไซดอน เขตที่เรียกว่าทศนคร และเขตเมืองซีซาริยา-ฟิลิปปี (มก.๗,๒๔;๗, ๓๑; ๘,๒๒; ๘,๒๗) แม้ว่าในทางภูมิศาสตร์ข้อมูลอาจจะไม่ค่อยถี่ถ้วน แต่เป็นเรื่องชัดเจนที่พระเยซูต้องลี้ภัยในต่างแดน

          ในที่สุดเมื่อพระเยซูต้องกลับสู่เมืองเยรูซาเลม พระเยซูก็หาทางหลบซ่อนและทําอะไรอย่างลับๆ  เมื่อพวกศิษย์ต้องจัดเตรียมพิธีเลี้ยงปัสกา พวกเขาต้องไปพบชายคนหนึ่งที่หิ้วถังนํ้า และตามชายคนนั้นไปถึงบ้านหลังหนึ่ง เจ้าของบ้านจะพาขึ้นไป...(มก.๑๔,๑๒-๑๖) เมื่อไปเยรูซาเลม พระเยซูต้องออกไปหาที่พักนอกเมือง เช่นที่หมู่บ้านเบธานี (มก. ๑๔,๓) หรือเอฟราอิม (ยน.๑๑,๕๔) หรือไม่ก็สวนเกทเซมานี (มก.๑๔,๓๒) กลางวันพระเยซูจะใช้ฝูงชนเป็นกําบังในลานพระวิหาร (ลก.๒๑,๓๗-๓๘) พระเยซูรู้ว่าพวกที่ปองร้ายไม่กล้าเข้าจับกุม เพราะอาจเกิดการจราจลได้ (มก.๑๔,๒;ลก.๒๐,๑๙)

4. พระเยซูสั่งเตรียมพร้อม

          เหตุการณ์ในพระวิหารได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของพระเยซูและพวกสาวก หลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่จําเป็นก็กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ "พระเยซูพูดกับพวกสาวกว่า เมื่อเราส่งพวกท่านออกไป (เพื่อประกาศข่าวดี) โดยไม่ได้มีถุงย่ามหรือรองเท้าไปด้วย พวกท่านขาดแคลนสิ่งใดหรือไม่ พวกเขาตอบว่า “ ไม่” พระเยซูพูดต่อไปว่า แต่บัดนี้ ถ้าท่านมีถุงก็เอาไปด้วย ถ้ามีย่ามก็เช่นกัน ถ้าไม่มีมีดดาบ ก็จงขายเสื้อคลุมแล้วซื้อมีดดาบไว้สักอัน"(ลก.๒๒,๓๕-๓๖) ทีแรกพระเยซูและสาวกอยู่ได้โดยอาศัยไมตรีจิตของ ชาวบ้านทั่วไป แต่มาถึงตอนนี้ มีอันตรายอยู่รอบข้าง และไม่รู้ว่าไว้ใจใครได้หรือไม่ อาจจะถูกจับได้ทุกเมื่อ จึงจําเป็นต้องเตรียมพร้อม มีดาบไว้เพื่อป้องกันตนเอง

5. พระเยซูสั่งสอนสาวกต่อเนื่อง

          เราไม่รู้ว่าพระเยซูต้องหลบซ่อนอยู่เช่นนี้เป็นเวลานานเท่าไร  เรารู้เพียงแต่ว่าในช่วงเวลานี้ พระเยซูพยายามอบรมสั่งสอนพวกสาวกอย่างถี่ถ้วนเกี่ยวกับความเร้นลับแห่งอาณาจักรพระเจ้า(มก.๔,๑๑;๙,๓๑) พระเยซูอาจจะได้พูดถึงแผนโครงสร้างของอาณาจักรที่จะมาถึงด้วย พระเจ้าจะเป็นกษัตริย์ พระเยซูจะมีตําแหน่งผู้นําแบบใดแบบหนึ่ง สาวกผู้ใกล้ชิด ๑๒ คนจะมีหน้าที่รับผิดชอบแผนกต่างๆ ในชุมชนอิสราเอล ตรงกับจํานวน ๑๒ ตระกูลตั้งแต่ดั้งเดิม "พวกท่านจะนั่งบน ๑๒ บัลลังก์ ปกครองตระกูลทั้ง ๑๒ ของชาติอิสราเอล" (มธ.๑๙,๒๘=ลก.๒๒,๓๐) (คําว่า judge ตามภาษาพระคัมภีร์แปลว่า ปกครอง)

          คงจะเป็นโอกาสนี้ที่พวกสาวกถกเถียงกันว่า ใครจะเป็นใหญ่ที่สุด และใครจะได้นั่งข้างซ้ายและข้างขวาของพระเยซู (มก.๙,๓๓-๓๗;๑๐,๓๕-๔๐) เรารู้ว่าพระเยซูตอบอย่างไร ใครที่มีตําแหน่งหรืออํานาจในอาณาจักรจะต้องใช้อํานาจนั้นเพื่อรับใช้ผู้อื่น (มก.๙,๓๕; ๑๐,๔๑-๔๕) และจะต้องทําตัวเป็นผู้น้อยเหมือนเด็ก (มธ.๑๘,๑-๔)

          เราไม่รู้แน่ว่าพระเยซูพูดเกี่ยวกับโครงสร้างของอาณาจักร ในระหว่างที่หลบภัยอยู่หรือในช่วงอื่น แต่มาร์โกรวบรวมเรื่องประเภทนี้ไว้ในช่วงที่พระเยซูเร่ร่อนหลบภัยไปนอกแคว้นกาลิลี หรือเมื่อหลบซ่อนอยู่ในแคว้นกาลิลี (มก.๗,๒๔; ๗,๓๑; ๘,๒๗; ๙,๓๐-๓๕; ๑๐,๓๕-๔๕) แต่เราแน่ใจได้ว่า ในช่วงเวลาที่หลบภัยอยู่นั้น พระเยซูถูกชักจูงให้คิดยึดอํานาจและประกาศตนเป็นพระผู้ไถ่หรือกษัตริย์ของชาวยิว 

 

คำถาม

          1. พระวรสารเป็นหนังสือประเภทใด ?
          2. ท่านคิดอย่างไรเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่พระวิหาร ?
          3. ท่านคิดอย่างไรเมื่อพระเยซูสั่งให้สาวกเตรียมพร้อม ?

ชาวยิวที่อยู่ในเขตปาเลสไตน์สมัยพระเยซู ภาวนาขอให้มีพระผู้ไถ่ (เมสสิยาห์) บทภาวนาที่ใช้สวดกันในศาลาธรรม(เพลงสดุดีของซาโลมอน และคําอวยพร ๑๘ ประการ) มีทํานองว่า เมสสิยาห์คือผู้ที่จะเป็นกษัตริย์ในตระกูลของกษัตริย์เดวิด เมสสิยาห์จะต้องเป็นผู้ปกครองที่มีอํานาจมาก และจะตีผู้นําที่ชั่วช้าให้แตกกระจาย และทุบให้แตกเป็นเสี่ยงด้วยท่อนเหล็ก และจะทําลายชนชาติที่ไร้พระเจ้าด้วยคําพูดจากปาก เมสสิยาห์จะใช้ท่อนเหล็กเพื่อทําให้ทุกคนมีความเกรงกลัวพระเจ้า และชี้นําให้ทุกคนทําความดี ชาวยิวโดยทั่วไปหวังจะให้มีกษัตริย์องค์หนึ่งที่มีอํานาจ ทางการเมืองและการทหาร เพื่อจะสร้างอาณาจักรอิสราเอลขึ้นมาใหม่

1.พระเยซูไม่เคยประกาศตัวเป็นพระเมสสิยาห์

          เมื่อเราเปรียบเทียบคำว่า“เมสสิยาห์”ตามความคิดของชาวยิว   กับ อาณาจักรที่พระเยซูประกาศสอน เราคงจะไม่แปลกใจที่เห็นว่า พระเยซูไม่เคยอ้างตัวเป็นเมสสิยาห์  ไม่ว่าอ้างตรงๆหรือโดยทางอ้อม นักพระคัมภีร์ส่วนใหญ่ในปัจจุบันยอมรับข้อเท็จจริงข้อนี้

          ในพระวรสารบางตอนดูเหมือนว่าพระเยซูอ้างตัวว่าเป็นเมสสิยาห์ แต่เห็นได้ชัดว่าเป็นผู้เขียนพระวรสารเองที่มั่นใจว่าพระเยซูคือเมสสิยาห์ กระนั้นก็ดี ผู้เขียนพระวรสารทั้ง ๔ ก็ซื่อสัตย์ต่อข้อมูลและมีความถี่ถ้วนทางประวัติศาสตร์มาก จึงไม่ได้ยืนยันว่าพระเยซูอ้างตนเป็นเมสสิยาห์ และไม่ได้เว้นที่จะบันทึกลงไปด้วยว่าพระเยซูห้ามมิให้เรียกเมสสิยาห์ ดูเหมือนพระเยซูถือว่า การที่คนอื่นเรียกตนว่าเป็นเมสสิยาห์ หรือที่คนอื่นรบเร้าให้พระเยซูรับเป็นเมสสิยาห์  เป็นการผจญล่อลวงของมาร (ซาตาน) ฉะนั้นจะยอมคล้อยตามไม่ได้

2. พระเยซูถูกประจญ

          ในระหว่างที่หลบภัยอยู่นี้  มีเหตุการณ์ ๒ อย่าง ที่เป็นจุดกําเนิดของเรื่องพระเยซูถูกมารประจญ ให้รับเป็นกษัตริย์ ซึ่งเราจะเรียกว่าการประจญ ๒ ครั้ง

. การประจญครั้งแรก

          การประจญครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อชายประมาณ ๔ ถึง ๕ พันคน(ไม่มีผู้หญิงและเด็ก)จากแคว้นกาลิลีออกไปตามเนินที่เปลี่ยวใกล้เมืองเบทไซดา เพื่อพบกับพระเยซูและพวกสาวก พวกเขาออกไปทําไม ? และทําไมจึงมีแต่ผู้ชาย ? ใครเป็นผู้จัดการพบปะครั้งนี้ ? และทําไมจึงมาพร้อมกันเป็นจํานวนมากเช่นนี้ได้ ? เราไม่สงสัยเลยว่าการชุมนุมครั้งนี้ได้เกิดขึ้นจริง เพราะพระวรสารทั้ง ๔ และแหล่งข้อมูลต่างๆ มีบันทึกเรื่องนี้ทั้งนั้น เพียงแต่ว่าความสนใจมุ่งไปสู่ความหมายของ "อัศจรรย์ทวีปังและปลา"

          ข้อความบางประโยคชี้นําให้เราเข้าใจว่าการชุมนุมครั้งนั้น เดิมทีเดียวมีจุดประสงค์ และมีความสําคัญอย่างไร มาร์โกบอกว่าพระเยซูรู้สึกเห็นใจฝูงชนหลายพันคนนั้น เพราะพวกเขา "เป็นเหมือนฝูงแกะที่ไม่มีชุมพาบาล" ดังนั้น "พระเยซูจึงสั่งสอนพวกเขาอย่างยืดยาว" (มก.๖,๓๔) เข้าใจว่าพระเยซูคงจะสอนว่าอาณาจักรพระเจ้าเป็นอย่างไร และดังที่เราได้พบมาแล้วในบทก่อนๆว่า พระเยซูสอนให้พวกเขารู้จักแบ่งปันอาหาร ตามคําเล่าของยอห์น เหตุการณ์ครั้งนี้จบลงโดยที่พวกเขาพูดกันว่า "นี่เป็นประกาศกที่ต้องมาในโลกนี้แน่ ฝ่ายพระเยซูเห็นว่าพวกเขากําลังจะจับตนและตั้งให้เป็นกษัตริย์ จึงถอยหนีขึ้นไปบนเนินเขาตามลําพัง" (ยน.๖,๑๔-๑๕) ตามคําเล่าของมาร์โก พระเยซูต้องบังคับให้พวกสาวกลงเรือและล่วงหน้าไปก่อน ขณะที่พระเยซูจัดการให้ฝูงชนกลับไป แล้วขึ้นไปสวดภาวนาบนเนินเขา (มก.๖,๔๕-๔๖; มธ.๑๔,๒๒-๒๓)

          เราไม่รู้ว่าใครเป็นผู้จัดชุมนุม แต่คงไม่ใช่พวกซีลอท เพราะความคิดและวิธีการเข้ากับพระเยซูไม่ได้แน่ดังที่เราเห็นมาแล้ว และในระยะนี้พวกซีลอทค่อนข้างจะเงียบอยู่ เนื่องจากไม่มีผู้นําที่เด่นๆ (ฝูงแกะที่ไม่มีชุมพาบาล) ตําแหน่งผู้นําของพวกซีลอทเป็นตําแหน่งแบบสืบสกุล คือจากพ่อไปถึงลูก เหมือนกับพวกผู้นํามัคคาบีในยุคก่อนนั้น พวกซีลอทไม่ใช่เป็นพวกชาตินิยมพวกเดียว มีกลุ่มอื่นๆอีกที่ต้องการล้มล้างอํานาจยึดครองของโรมันและต้องการตั้งราชอาณาจักรอิสราเอลแทน (นักเขียนบางคนเข้าใจว่า ชาวยิวทุกคนที่ใช้ความรุนแรงเพื่อปลดแอกโรมัน เรียกว่าพวกซีลอททั้งนั้น ที่จริงไม่ใช่ พวกซีลอทรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนมี เอกลักษณ์ของตนเฉพาะ ในตอนปลายเมื่อพวกซีลอทนําพรรคพวกก่อการกบฏ พวกยิวทุกคนที่พร้อมจะต่อสู้ก็ได้เข้าร่วมขบวนภายใต้การนําของพวกซีลอท)

          ชายชาวยิวผู้รักชาติประมาณ ๕ พันคนออกไปในที่เปลี่ยว เพื่อชักชวนพระเยซูให้เป็นผู้นํา พระเยซูเป็นคนแคว้นกาลิลี เป็นประกาศก ทําสิ่งที่น่าทึ่งได้หลายอย่าง มีพรสวรรค์ในการเป็นผู้นํา และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็ได้ประจัญหน้ากับพวกผู้มีอํานาจในเมืองเยรูซาเลมที่พระวิหาร นอกนั้นมีข่าวลือด้วยว่าพระเยซูมีเชื้อสายกษัตริย์เดวิด

          พระเยซูเห็นใจและเข้าใจความต้องการของพวกเขา ที่อยากได้ผู้นําสู่อิสรภาพ แต่พระเยซูพยายามจูงใจพวกเขาให้เห็นว่า วิธีของพระเจ้าไม่เหมือนกับวิธีของมนุษย์ และอาณาจักรพระเจ้าไม่เหมือนกับอาณาจักรของมนุษย์แบบที่เห็นๆ กันอยู่ พระเยซูคงจะได้เชิญชวนให้พวกเขาเปลี่ยนหัวใจและเชื่อในอาณาจักรพระเจ้า แต่คําสอนของพระเยซู รวมทั้งอัศจรรย์แห่งการแบ่งปัน ยิ่งทําให้พวกเขาแน่ใจมากขึ้นว่า พระเยซูคือเมสสิยาห์หรือผู้ที่พระเจ้าเลือกสรรให้เป็นกษัตริย์ ฉะนั้นก่อนที่สถานการณ์จะควบคุมไม่ได้ พระเยซูจึงบังคับให้พวกสาวกลงเรือแล้วพระเยซูก็สลายฝูงชน หลังจากนั้นพระเยซูรู้สึกตัวว่าต้องการความสงบเพื่อการรําพึงภาวนา

. การประจญครั้งที่สอง

          การประจญครั้งที่สองมาจากเปโตร ที่บริเวณซีซาริยา-ฟิลิปปี  ประชาชนทั่วไปนับถือพระเยซูเป็นประกาศก เหมือนกับยอห์นแบปติสต์ เอลิยาห์ เยเรมี หรือประกาศกอื่นๆ แต่เปโตรประกาศในนามของเพื่อนสาวกว่า ตนนับถือพระเยซูเป็นเมสสิยาห์ พระเยซูจึงห้ามพวกสาวกอย่างเด็ดขาดว่า ไม่ให้พูดให้คนอื่นฟัง แล้วเริ่มอธิบายว่าตนจะต้องถูกกําจัด แล้วนั้นเปโตรพาพระเยซูออกไปห่าง ๆ เพื่อตําหนิพระเยซู  ฝ่ายพระเยซูก็ตําหนิเปโตรบ้าง โดยพูดว่า "ถอยไปข้างหลัง ซาตาน! เจ้าไม่คิดแบบพระเจ้า แต่คิดแบบมนุษย์" (มก.๘,๒๘-๓๓)

          มันเป็นการขัดแย้งกันอย่างรุนแรง เปโตรรู้สึกโมโหที่พระเยซูพูดถึงการถูกกําจัดและความล้มเหลว  ในเมื่อกําลังมีโอกาสที่จะยึดอํานาจและรับเป็นเมสสิยาห์ ฝ่ายพระเยซูก็โกรธที่เห็นเปโตรสวมบทบาทซาตานมาล่อลวงให้คิดแบบมนุษย์ คือคิดใช้อํานาจในรูปของความรุนแรง

          และนี่ก็เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่มีความแน่นอนทางประวัติศาสตร์มาก ผู้เขียนพระวรสารและคริสตชนสมัยแรกคงไม่กล้าประดิษฐ์เรื่องเช่นนี้ขึ้นมา  เพราะเป็นเรื่องขัดแย้งกันและใช้ถ้อยคําค่อนข้างรุนแรง  แต่ผู้เขียนพระวรสารบันทึกเหตุการณ์นี้ไว้ เพราะสนใจในคํายืนยันของเปโตรที่ว่า พระเยซูเป็นเมสสิยาห์ และบันทึกในทํานองที่ว่า ความขัดแย้งนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับการถูกจับและการทรมานเท่านั้น ไม่ใช่เกี่ยวกับตำแหน่งเมสสิยาห์  เดิมเป็นเรื่องของการประจญให้พระเยซูรับเป็นเมสสิยาห์ แต่ต่อมากลายเป็นเรื่อง "การยืนยันความเชื่อ" ของคริสตชนรุ่นแรกว่าพระเยซูเป็นเมสสิยาห์

          การประจญ (การล่อลวง การชักชวน) เป็นเรื่องจริงจังสําหรับพระเยซู เราอ่านเกี่ยวกับการที่พระเยซูถูกประจญในรูปของคําสนทนาระหว่างพระเยซูกับมาร(ซาตาน)ในที่เปลี่ยว (ลก.๔,๕-๘;มธ.๔,๘-๑๐) การบรรยายในพระวรสารมุ่งที่จะทําให้เราเข้าใจว่า พระเยซูต้องดิ้นรนต่อสู้กับการประจญให้ยึดอํานาจ และให้รับตําแหน่งกษัตริย์เพื่อปกครองอาณาจักรทั้งหลายในโลก ซึ่งเป็นความคิดที่น่าสนใจไม่ใช่น้อย มันคงจะเป็นโอกาสที่จะได้ปลดปล่อยคนจนและคนถูกกดขี่  หลังจากที่ยึดอํานาจแล้ว ก็สามารถใช้อํานาจเพื่อรับใช้ทุกคนได้ และมันอาจจะทําให้ปลุกความเชื่อของประชาชนได้ง่ายขึ้น แล้วโลกก็จะถูกเปลี่ยนเป็นโลกใหม่ได้

3. พระเยซูยืนยันแนวคิดเดิม

          พระเยซูไม่เคยถือหลักการที่ว่า ห้ามใช้กําลังไม่ว่าด้วยเหตุผลใดหรือในสถานการณ์ใดๆทั้งสิ้น พระเยซูเองก็เคยใช้กำลัง(คงจะไม่มีการนองเลือด) เมื่อครั้งกวาดล้างพวกพ่อค้าที่ลานพระวิหาร และเมื่อถึงคราวจําเป็น พระเยซูก็บอกให้สาวกหามีดดาบไว้ป้องกันตัว ในกรณีเช่นนี้ พระเยซูไม่ได้บอกให้หันแก้มให้อีกข้างหนึ่ง การหันแก้มอีกข้างหนึ่งให้ และไม่ต่อสู้ความชั่วร้าย เป็นหลักการที่พระเยซูอ้าง เพื่อขัดแย้งกับหลักการที่ว่า ตาต่อตา ฟันต่อฟัน หรือการแก้แค้น (มธ.๕,๓๘-๓๙) พระเยซูบอกว่า อย่าแก้แค้น ไม่ได้บอกว่า อย่าใช้กําลังเมื่อถึงคราวจําเป็น

          อย่างไรก็ตาม พระเยซูเห็นว่าในสถานการณ์ขณะนั้น การใช้กําลังเข้ายึดอํานาจจะมีผลเสียหาย และเมื่อเป็นเช่นนั้นก็ขัดกับความประสงค์ของพระเจ้า ในกรณีนี้ พระเยซูเห็นเหมือนกับพวกฟาริสีและซัดดูสีว่า การใช้กําลังเข้ายึดอํานาจปกครองจากกองทัพโรมัน ก็จะเป็นเหมือนการฆ่าตัวตาย การคิดใช้กําลังที่ด้อยกว่าแล้วหวังพลังมหัศจรรย์ของพระเจ้ามาช่วย ก็เป็นการ "ทดลอง" พระเจ้า (ดู ลก.๔,๑๒) ถ้ารบกับกองทัพโรมัน ก็มีแต่จะถูกฆ่าทั้งชาติ และนี่แหละคือสิ่งที่พระเยซูกลัวว่าจะเกิดขึ้น แต่ถ้าทุกคนเปลี่ยนความคิดและเปลี่ยนหัวใจเสียใหม่ ก็จะหลีกเลี่ยงเหตุการณ์เช่นนี้ได้

          พระเยซูไม่ยอมใช้กําลังเข้ายึดอํานาจ ไม่ใช่เพราะกลัวภัยพิบัติจะเกิดแก่ประชาชนเท่านั้น มีเหตุผลที่ลึกซึ้งกว่านั้นอีก คือการรับเป็นกษัตริย์ปกครองมนุษย์ ที่ไม่ได้หันความจงรักภักดีมาสู่อาณาจักรพระเจ้า และนําพวกคนเหล่านี้ไปทําสงครามรบราฆ่าฟันกัน ก็จะเป็นเหมือนหลงกลมาร (มธ.๔,๘-๑๐) มันเป็นเหมือนการรับอํานาจจากมาร ให้ปกครองอาณาจักรที่ไม่ใช่อาณาจักรพระเจ้า แต่เป็นอาณาจักรมนุษย์ที่แก้ปัญหากันด้วยความรุนแรง

          เราไม่อาจรู้ได้ว่า ถ้าสถานการณ์เป็นอย่างอื่น พระเยซูจะทําอย่างไร แต่จากหลักการของพระเยซูที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เราพอจะคาดได้ว่า ถ้าไม่มีวิธีอื่นที่จะป้องกันคนจนและคนถูกกดขี่ และถ้าไม่มีแนวโน้มที่จะทําให้เกิดความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ความเมตตาสงสารของพระเยซู  คงจะผลักดันให้ใช้ความรุนแรงเท่าที่จําเป็นเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เราเห็นแล้วว่าพระเยซูใช้กําลังขับไล่พวกพ่อค้า และสั่งให้เตรียมพร้อมโดยมีดาบป้องกันตัว แต่ความรุนแรงก็เป็นมาตรการชั่วคราว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงที่หนักกว่าเท่านั้น

          อย่างไรก็ตาม อาณาจักรพระเจ้า ซึ่งเป็นอาณาจักรแห่งการปลดปล่อย  อาณาจักรแห่งอิสรภาพของมวลมนุษย์ จะเกิดขึ้นจากความรุนแรงไม่ได้ ความเชื่อเท่านั้นที่จะทําให้อาณาจักรพระเจ้ามาถึง

 

คำถาม
          1.ถ้าท่านเป็นพระเยซู ท่านจะรับตำแหน่งผู้นำทางการเมืองไหม ?
          2.การประจญคืออะไรสำหรับท่าน ?
          3.ท่านคิดอย่างไรกับ ”การใช้ความรุนแรงปราบความรุนแรง” ?

การเบียดเบียนและความทุกข์ทรมานอยู่คู่กับประวัติศาสตร์ชาติยิวเสมอมา ตามทฤษฎี คนดีมักจะต้องทรมานเนื่องจากความดีของตน ชาวยิวผู้สัตย์ซื่อทุกคนยอมตายแต่ไม่ยอมละเมิดกฎบัญญัติ ในสมัยของมัคคา บี (๒ ศตวรรษก่อนพระเยซู) ชาวยิววัยฉกรรจ์หลายคนยอมทนทรมานและยอมตายเพื่อเห็นแก่กฎบัญญัติ เมื่อกองทัพโรมันยึดพระวิหารในปี ๖๓ ก่อนคริสตกาล สงฆ์ในพระวิหารยอมตายในหน้าที่ โดยถวายบูชาต่อไปจนถึงวาระสุดท้ายแทนที่จะหนี ในสมัยของพระเยซู พวกซีลอทยอมถูกทรมานแต่ไม่ยอมเรียกจักรพรรดิ์ซีซาร์เป็นเจ้านายและพวกนี้หลายพันคนถูกกองทัพโรมันจับตรึงกางเขน ในปี ค.ศ.๗๓ พวกนี้ฆ่าตัวตายในป้อมมาซาดา แทนที่จะยอมจํานนต่อศัตรูต่างศาสนา

          ฝ่ายพวกประกาศกก็ถูกผู้นําชาวยิวในเมืองเยรูซาเลมเบียดเบียน  เพราะในการประกาศสอน พวกประกาศกวิจารณ์ชาติและผู้นํา เมื่อถึงยุคพระเยซู ภาพพจน์ของประกาศกได้กลายเป็นภาพของผู้ต้องทนทุกข์ทรมาน จนกลายเป็นว่าประกาศกในอดีตต้องมีเรื่องถูกฆ่าหมดทุกคน (มธ. ๒๓,๒๙-๓๗; กิจการ.๗,๕๒) ความตายในกรณีต่างๆ ดังกล่าวมานี้ ชาวยิวถือว่าเป็นการชดเชยบาป บาปของเจ้าตัวเอง และบาปของคนอื่นด้วย ความเชื่อถือนี้ตกทอดเป็นมรดกไปถึงกลุ่มคริสตชนรุ่นแรก พระเยซูคิดอย่างไรเกี่ยวกับการทนทุกข์ทรมานและความตาย ?

1. การทนทุกข์ทรมาน

          คําสอนของพระเยซูเป็นเรื่องใหม่ และในตอนหนึ่ง พระเยซูพูดถึงการทรมานและความตายว่า มีความสัมพันธ์กับการมาถึงของอาณาจักรพระเจ้า "เป็นบุญของคนจน...เป็นบุญของผู้ที่ถูกเบียดเบียน...อาณาจักรพระเจ้าเป็นของพวกเขา เป็นบุญของพวกท่านเมื่อคนดูหมิ่นท่าน เบียดเบียนท่าน และว่าร้ายใส่ความท่าน...พวกเขาได้เบียดเบียนบรรดาประกาศกสมัยก่อนเช่นเดียวกัน" (มธ.๕,๓;๕,๑๐-๑๒) เนื่องจากบรรดาศิษย์ของพระเยซูมีความเมตตาสงสารต่อคนจน และเข้าร่วมวงเป็นหนึ่งเดียวกับพวกเขา ศิษย์ของพระเยซูจึงถูกเบียดเบียนกดขี่พร้อมกับคนจนทั่วไป  เพื่อจะเข้าสู่อาณาจักรพระเจ้าพร้อมกับคนจนและคนถูกกดขี่ เราต้องสละทรัพย์สินเงินทอง พร้อมที่จะจากครอบครัวและทิ้งอํานาจชื่อเสียง พูดง่ายๆคือ เราต้องสละตนเอง (มก.๘,๓๔) และพร้อมที่จะทนทรมาน

          มันเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกันในตัว ถ้าจะทําลายความทุกข์ ต้องยอมรับความทุกข์ พระเยซูมุ่งมั่นที่จะทําลายความทุกข์ทรมานในโลก ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์ทรมานของคนจน คนถูกเบียดเบียนและคนเจ็บป่วย หรือความทุกข์ทรมานที่จะเกิดขึ้นกับทุกคนหากภัยพิบัติมาถึง แต่วิธีเดียวที่จะทําลายความทุกข์ทรมานก็คือต้องทิ้งค่านิยมต่างๆ ที่ไม่ใช่ของอาณาจักรพระเจ้า และเมื่อการทิ้งค่านิยมดังกล่าวทําให้ลําบากหรือมีทุกข์ ก็ให้ยินดีรับความทุกข์ที่เกิดขึ้น ความเต็มใจที่จะรับทรมานเท่านั้นที่จะเอาชนะความทุกข์ทรมานในโลกได้ ความเมตตาสงสารทําลายความทุกข์ทรมานได้ โดยยอมรับความทุกข์ พร้อมกับ คนมีทุกข์ หรือโดยยอมรับความทุกข์แทนคนมีทุกข์  ถ้าเรามีความรู้สึกสงสารคนจน แต่ไม่พร้อมที่จะร่วมทุกข์กับคนจน มันก็เป็นเพียงความรู้สึกที่ไร้ค่า ถ้าเราแบ่งปันความทุกข์กับคนจน เราก็จะได้แบ่งปันพระพรกับคนจน

2. ชีวิตและความตาย

          ยิ่งกว่านั้น เรื่องความตายก็เป็นสิ่งที่ขัดแย้งในตัวด้วย พระเยซูพูดเกี่ยวกับชีวิตและความตาย โดยพูดเป็นคําคมที่มีความหมายเปรียบเทียบ แต่คําคมนี้ถ่ายทอดมาถึงเราโดยมีจุดผิดเพี้ยนแตกต่างกันไปบ้าง (มก.๘, ๓๕; มธ.๑๐,๓๙; ลก.๑๔,๒๖; ยน.๑๒,๒๕)   เมื่อเอามาเทียบกันแล้วน่าจะสรุปได้ว่า เดิมทีเดียว คําคมนั้นคือ "ใครรักษาชีวิตไว้ก็จะตาย ใครตายก็จะรักษาชีวิตไว้" แต่เราต้องจําไว้ว่ามันเป็นคําเปรียบเทียบ การเอาไปอธิบายในทํานองว่า ยอมเสียชีวิตในโลกนี้เพื่อจะได้รักษาชีวิตไว้ในโลกอื่น(เช่น ยน.๑๒,๒๕) ก็เป็นการถือว่าคําคมนี้ไม่ใช่คําเปรียบเทียบอีกต่อไป จริงๆ แล้วคําคมนี้หมายความว่าอะไร ?

          รักษาชีวิตไว้ หมายความว่า รักชีวิต เกาะยึดไว้แน่น และกลัวตาย ส่วนยอมตายหมายความว่า ปล่อยวาง ไม่เกาะติด และพร้อมที่จะตาย ความขัดแย้งในตัวก็คือ คนที่กลัวตายก็เหมือนกับตายแล้ว (ไม่ต้องทําอะไร หรือทําอะไรไม่ได้) และคนที่เลิกกลัวตายก็เริ่มมีชีวิต ถ้าอยากมีชีวิตที่แท้จริงและมีค่า ก็ต้องพร้อมที่จะยอมรับความตาย

3. การสละชีวิต

          คําถามที่ตามมาก็คือ เราจะยอมตายเพื่ออะไร? พวกนักรบมัคคาบี ยอมตายเพื่อกฎบัญญัติของพระเจ้า พวกซีลอทยอมตายเพื่ออาณาจักรอิสราเอล พวกอื่นๆยอมตายเพื่ออุดมการณ์ต่างๆ ของตน พระเยซูไม่ได้ยอมตายเพื่ออุดมการณ์ แต่ตามความคิดของพระเยซู เราต้องยอมสละชีวิตด้วยเหตุผลเดียวกับที่ยอมสละเงินทอง ชื่อเสียง อํานาจ ความภักดีต่อกลุ่ม ฯลฯ นั่นคือยอมสละเพื่ออาณาจักรพระเจ้าและเพื่อเพื่อนมนุษย์ ความรัก เมตตาผลักดันให้เราทําทุกอย่างเพื่อผู้อื่น แต่คนที่พูดว่าตนมีชีวิตเพื่อผู้อื่น แล้วไม่พร้อมที่จะรับความทุกข์และความตายเพื่อผู้อื่น ก็เป็นคนโกหก นั่นคือเขาตายแล้ว  พระเยซูมีชีวิตเต็มที่ เพราะพร้อมที่จะทรมานและตาย ไม่ใช่เพื่ออุดมการณ์ แต่เพื่อคน

          เราต้องเข้าใจเพิ่มเติมว่า ความพร้อมที่จะตายเพื่อคน ไม่ใช่เพียงแต่เพื่อบางคนเท่านั้น แต่เพื่อทุกคนหรือเพื่อมนุษยชาติ การยอมตายเพื่อบางคนก็คือความภักดีต่อกลุ่มเท่านั้นเอง แต่การยอมตายเพื่อทุกคนก็คือความรักแท้ในอาณาจักรพระเจ้า

          สําหรับพระเยซู ความพร้อมที่จะตายเพื่อทุกคน ก็คือการรับใช้ เหมือนกับการรับใช้ในรูปแบบอื่นๆ ที่พระเยซูเคยทํา "บุตรแห่งมนุษย์ไม่ได้มาเพื่อให้คนอื่นรับใช้ แต่มาเพื่อรับใช้คนอื่น และเพื่อมอบชีวิตเป็นค่าไถ่คนจํานวนมาก" (มก.๑๐,๔๕) ค่าไถ่คือสิ่งที่เราให้เพื่อแลกกับอิสรภาพของผู้อื่น มอบชีวิตเป็นค่าไถ่คือยอมตายเพื่อให้คนอื่นมีชีวิตต่อไป "เพื่อคนจํา นวนมาก" ในภาษาพระคัมภีร์โดยทั่วไปแปลว่า "เพื่อทุกคน" (เช่นเดียวกับใน มก.๑๔,๒๔; มธ.๒๖,๒๘)

          จนถึงเวลานี้เราพูดถึงแต่ความพร้อมของพระเยซูที่จะยอมตาย การยอมตายเพื่อมนุษยชาติคงเข้าใจได้ไม่ยากนัก แต่ตายอย่างไร หรือตายในกรณีไหน จึงเรียกว่าตายเพื่อมนุษยชาติ ? มีกรณีไหนบ้างที่คนคนหนึ่งรับใช้โลกมนุษย์ด้วยการตาย  ได้ผลดีกว่ารับใช้ด้วยการมีชีวิตอยู่ต่อไป ?

4. พระเยซูเผชิญกับทางสองแพ่ง

          พระเยซูรู้ตัวดีว่า สิ่งที่ตนกําลังทําและกําลังพูดอยู่นั้น เป็นอันตราย

สําหรับตนเอง  กษัตริย์เฮรอดได้ปิดปากยอห์นแบปติสต์ไปแล้ว  และมีข่าว

ว่ากำลังพยายามปิดปากพระเยซูด้วย (ลก.๑๓,๓๑) หลังจากเหตุการณ์ที่พระวิหาร ชีวิตของพระเยซูตกอยู่ในอันตราย จนถึงกับว่าจําเป็นต้องหลบซ่อน และในระหว่างที่หลบซ่อนอยู่นั้น มาถึงจุดหนึ่ง พระเยซูตัดสินใจที่จะไปตายที่เมืองเยรูซาเลม (มก.๘,๓๑; ลก.๙,๕๑; ๑๓,๓๓) ทําไมจึงตัดสินใจเช่นนั้น ?

          พระเยซูต้องเผชิญหน้ากับทางเลือก ๒ ทาง หลบซ่อนเพื่อมีชีวิตอยู่ต่อไป  หรือออกจากที่หลบซ่อนและเสี่ยงตาย  ชายฉกรรจ์ราว ๕ พันคน รวมทั้งเปโตรและสาวกทั้งหมดต้องการให้พระเยซูออกจากที่หลบซ่อน และก้าวออกไปในฐานะเมสสิยาห์ พร้อมกับนํากองทัพไปด้วย หรือแสดงพลังอย่างใดอย่างหนึ่ง  เพื่อเอาชนะศัตรูในเยรูซาเลม  แต่สําหรับพระเยซู ความเชื่อคืออาวุธ และเจตนาก็ยังคงเหมือนเดิม คือปลุกให้ประชาชนมีความเชื่อเกี่ยวกับอาณาจักรพระเจ้า ถ้าหลบซ่อนอยู่ จะทํางานนี้ไม่ได้ผล แต่ถ้าออกมาประกาศสอน ไม่เร็วก็ช้าจะต้องถูกจับได้และถูกปิดปาก เสียงปลุกความเชื่อก็จะเงียบไปด้วย นอกจากว่า ความตายจะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะปลุกความเชื่อเกี่ยวกับอาณาจักรพระเจ้าได้

          ตลอดชีวิต พระเยซูรับใช้คนจน คนเจ็บป่วย คนบาปและพวกสาวก ด้วยการปลุกให้มีความเชื่อในอาณาจักรพระเจ้า  และพยายามรับใช้พวกคัมภีราจารย์ พวกฟาริสี และพวกอื่นๆ ในทํานองเดียวกันนี้ด้วย ไม่มีวิธีอื่นที่จะช่วยคนให้พ้นจากบาป จากความทุกข์ หรือจากภัยพิบัติ ไม่มีวิธีอื่นที่จะทําให้อาณาจักรพระเจ้ามาถึงแทนภัยพิบัติ แต่เมื่อพระเยซูถูกกีดกันไม่ให้ทําหน้าที่ประกาศสอนและปลุกความเชื่อด้วยคําพูดและด้วยกิจการ มีอะไรอื่นอีกที่จะทําได้ ?

          พระเยซูไม่ยอมจํานนต่อการรบเร้าให้รับตําแหน่งเมสสิยาห์ และใช้กําลังเพื่อแก้ปัญหา และไม่ยอมปรับคําสอนและจุดยืนให้อ่อนลงเพื่อออมชอมกับพวกผู้มีอํานาจ(หากยังไม่สายเกินไป) เมื่อไม่ยอม ก็ไม่มีทางเลือกอื่นแล้วนอกจาก “ตาย” ในกรณีนี้ ความตายเป็นวิธีเดียวที่จะรับใช้มนุษยชาติต่อไป เป็นวิธีเดียวที่จะพูดกับโลกมนุษย์ (ยน.๗,๑-๔) เป็นวิธีเดียวที่จะยืนยันถึงอาณาจักรพระเจ้า การกระทําดังกว่าคําพูด แต่ความตายดังกว่าการกระทํา พระเยซูตายเพื่อให้อาณาจักรพระเจ้ามาถึง

5. พระเยซูสละชีวิต

          พระวรสารทุกฉบับแสดงให้เราเห็นว่า พระเยซูเดินหน้าไปสู่ความตาย โดยรู้ตัวและเต็มใจ แม้ว่าคําพูดที่ผู้เขียนพระวรสารใช้(เป็นต้นในตอนที่เรียกกันว่า "คําทํานายถึงความตาย") เป็นคําพูดที่สะท้อนความเชื่อ  และความเข้าใจของคริสตชนหลังความตายของพระเยซู แต่การที่พระเยซูเผชิญหน้ากับความตายโดยรู้ตัวและเต็มใจนี้ เป็นสิ่งที่เรายืนยันได้อย่างไม่มีข้อสงสัย

          สิ่งที่น่าสังเกตคือ พระเยซูพูดถึงความตายในช่วงที่หลบซ่อนอยู่ ครั้งแรกที่พูดถึง เป็นการตอบคําประกาศของเปโตรที่ว่าพระเยซูเป็นเมสสิยาห์  ทั้ง ๓ ครั้งที่พูดถึงความตาย พระเยซูจะพูดต่อไปถึงการสละตนเอง ความพร้อมยอมตาย การรับใช้ และสภาพที่ตํ่าต้อยที่สุด (มก.๘,๓๔-๓๗; ๙,๓๑-๓๗; ๑๐,๓๓-๔๕)

          เราไม่สามารถบอกได้ว่า พระเยซูคาดการณ์ล่วงหน้าเกี่ยวกับรายละเอียดของการถูกกําจัดได้มากแค่ไหน พวกสาวกจะถูกจับด้วยไหม หรือพระเยซูคนเดียว ? จะถูกทุ่มหินตาย (โดยพวกผู้นําชาวยิว) หรือจะถูกตรึงกางเขน(โดยพวกโรมัน) ? พวกเขาจะเข้าจับกุมระหว่างเทศกาลฉลองหรือหลังจากนั้น ? จะมีโอกาศสอนที่พระวิหารก่อนจะถูกจับไหม ? พระเยซูคงจะคาดการณ์ล่วงหน้าได้หลายอย่าง อย่างหนึ่งที่แน่คือ คาดว่ายูดาสจะทรยศ กรณีต่างๆ ที่เราตั้งคําถามมานี้ พระเยซูคงคาดไว้ได้ทั้งหมด โดยไม่ต้องมีตาทิพย์ หรือการเผยแสดงจากพระเจ้าเป็นพิเศษ เมื่อเราฟังนิทานเปรียบเทียบทั้งหลายที่พระเยซูเล่า เราก็รู้ทันทีว่า พระเยซูเป็นคนที่เข้าใจความคิดความรู้สึกและเจตนาของใจมนุษย์อย่างลึกซึ้ง จนถึงกับว่าสามารถบอกล่วงหน้าได้ว่าในกรณีเช่นนี้ คนจะคิดอย่างไรและจะทําอย่างไร

6. การกลับเป็นขึ้นมา

          แล้วพระเยซูรู้ล่วงหน้าเกี่ยวกับ "การกลับเป็นขึ้นมา" หรือไม่ ? ในการพูดเกี่ยวกับความตายบางครั้งมีสรุปว่า "หลังจากนั้น ๓ วัน บุตรแห่งมนุษย์จะกลับเป็นขึ้นมา" (มก.๘,๓๑; ๙,๓๑; ๑๐,๓๔; ๙,๙) พระเยซูอาจจะได้พูดเช่นนี้ล่วงหน้าก็เป็นไปได้ เพราะในภาษายิวและอาราไมอิค "หลังจาก ๓ วัน"  แปลว่า อีกไม่นาน พระเยซูอาจจะได้พูดล่วงหน้าว่าตายแล้วอีกไม่นานก็จะกลับเป็นขึ้นมา ชาวยิวส่วนใหญ่ในสมัยพระเยซู เชื่อว่าคนตายจะกลับเป็นขึ้นมาในวันสุดท้าย และในวันสุดท้ายผู้ที่จะกลับเป็นขึ้นมาอย่างแน่นอนที่สุดคือผู้ที่ได้ตายเพื่อชาติและศาสนายิว(martyrs) เป็นไปไม่ได้ที่พระเยซูจะพูดไว้ว่าตนเองจะกลับเป็นขึ้นมาก่อนวันสุดท้าย ถ้าได้พูดเช่นนั้นจริง ทําไมจึงมีความประหลาดใจ วุ่นวาย และสงสัยเมื่อพระวรสารพูดถึงพระเยซูกลับเป็นขึ้นมา ? "หลังจากนั้น ๓ วัน บุตรแห่งมนุษย์จะกลับเป็นขึ้นมา" ความหมายที่จะเข้าใจได้ก็คือ ในฐานะที่เป็นประกาศกและผู้สละชีวิต พระเยซูคาดว่าตัวเองจะต้องกลับเป็นขึ้นมาในวันสุดท้าย และอีกไม่นานก็จะถึงวันสุดท้ายแล้ว

          ความเข้าใจแบบนี้เป็นสิ่งที่ไม่ขัดกับความเชื่อถือของพระเยซู แต่มันไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่พระเยซูพยายามพูดพยายามทําในขณะนั้น พระเยซูคงจะเห็นด้วยกับพวกฟาริสี (และไม่เห็นด้วยกับพวกซัดดูสี) ในเรื่องการกลับเป็นขึ้นมา (มก.๑๒,๑๘-๒๗) แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า นอกจากกรณีที่พูดเกี่ยวกับความตายของตนแล้ว พระเยซูไม่เคยพูดเรื่องการกลับเป็นขึ้นมาเลย ยกเว้นครั้งเดียวที่เอ่ยถึง เมื่อพวกซัดดูสียกเรื่องนี้ขึ้นมาถาม พระเยซูไม่ได้ยกขึ้นมาพูดเอง เพราะมันไม่ใช่ส่วนสําคัญของสาร ที่พระเยซูต้องการจะประกาศแก่ชาวยิวในเวลานั้น และในสถานการณ์เช่นนั้น  ในเมื่อประชาชนกําลังทนทุกข์ทรมาน ภัยพิบัติกําลังจะมาถึง และมีหวังเป็นอย่างมากว่า อาณาจักรพระเจ้าอาจจะมาถึงในอีกไม่ช้าแทนที่จะเกิดภัยพิบัติ ในสถานการณ์เช่นนี้ใครจะไปพูดเรื่องการกลับเป็นขึ้นมา? ดังนั้นเราสงสัยว่า จริงๆ แล้วพระเยซูเคยพูดเรื่องการกลับเป็นขึ้นมาของตนหลังจากถูกศัตรูฆ่าหรือไม่  อาจจะเป็นการเสริมแต่งโดยพวกศิษย์ภายหลังจากเหตุการณ์ก็เป็นได้

          นี่ไม่ใช่แปลว่าพระเยซูไม่เชื่อเรื่องการกลับเป็นขึ้นมา เราไม่สงสัยเลยว่าพระเยซูเชื่อในเรื่องนี้ พร้อมกับเรื่องอื่นๆอีกหลายเรื่องที่ชาวยิวร่วมสมัยเชื่อกัน เช่นเดียวกับบรรดาประกาศกที่เชื่อในหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสารที่ตนต้องประกาศให้แก่ประชาชน สําหรับพระเยซูในขณะนั้น เรื่องการกลับเป็นขึ้นมาไม่ใช่ปัญหา การเสียภาษีให้จักรพรรดิ์ ซีซาร์ ไม่ใช่ปัญหา และการถวายบูชาในพระวิหารก็ไม่ใช่ปัญหาเช่นกัน

          แต่สถานการณ์หลังความตายของพระเยซูเปลี่ยนไปมาก  ตอนนั้นแหละที่เรื่องการกลับเป็นขึ้นมา กลายเป็น “ปัญหาหลัก” ดังที่เราจะได้ศึกษาต่อไป

คำถาม
1. พระเยซูสอนเกี่ยวกับ ความทุกข์ ชีวิตและความตายอย่างไร?
2. การสละชีวิตเพื่อคนอื่นมีความหมายอย่างไร ?
3. ท่านเข้าใจเกี่ยวกับการกลับคืนชีพอย่างไร ?

โดยทั่วไป ทุกๆ ฝ่ายประเมินพระเยซูตํ่าเกินไป ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่ถือว่า พระเยซูเป็นเพียงครูสอนศาสนาคนหนึ่ง หรือฝ่ายที่เน้นมากว่าพระเยซูเป็นพระเจ้า จนถือว่าไม่เป็นมนุษย์เต็มที่ แต่เมื่อเรายอมปล่อยให้พระเยซูพูดเอง และพยายามเข้าใจพระเยซูในบริบทของยุค (คือเมื่อ ๒๐๐๐ ปีก่อน) และเมื่อเราพยายามฟังพระเยซูโดยวางตัวเป็นกลางแล้ว เราจะเห็นว่าพระเยซูคือคนคนหนึ่ง ที่มีความเป็นตัวของตัวเอง มีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว มีคุณธรรมโดดเด่น น่าเคารพนับถือ และมีความคิดความเข้าใจที่เฉียบคม ถ้าอ้างว่าพระเยซูไม่ใช่คน ก็เท่ากับตัดความ ยิ่งใหญ่ของพระเยซูออกไป

1. จุดเด่นของพระเยซู

          ในยุคของพระเยซู วิธีเดียวที่จะประกันความดีและความถูกต้อง ก็คือ คิดและทําตามกลุ่มของตน แต่พระเยซูกล้าคิดและกล้าทําแตกต่างออกไปจากคนอื่นอย่างไม่ลังเลใจ กล้าขัดแย้งอย่างไม่สะทกสะท้านกับพวกคัมภีราจารย์ ซึ่งถือกันว่ามีความรอบรู้เชี่ยวชาญในเรื่องพระคัมภีร์และขนบธรรมเนียม ไม่ว่าขนบธรรมเนียมจะถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์แค่ไหน พระเยซูก็กล้าเอาขึ้นมาทบทวนพิจารณาว่าถูกหรือผิด ไม่ว่าอํานาจใดจะยิ่งใหญ่แค่ไหน พระเยซูก็กล้าโต้แย้ง ไม่ว่าความเชื่อถือจะลงรากลึกและสําคัญแค่ไหน พระเยซูก็กล้าเปลี่ยนเสียใหม่

          ไม่มีตอนไหนในพระวรสารที่แสดงว่า พระเยซูขัดแย้งกับทุกคนเพียงเพราะอยากจะขัดแย้ง หรือเพราะมีความเกลียดชังสังคม แต่พระวรสารแสดงในเห็นตลอดเวลาว่า พระเยซูเป็นคนที่กล้าหาญอันเนื่องมาจากความเชื่อมั่น มีความคิดเป็นอิสระอันเนื่องมาจากความสามารถทางความคิดและความเข้าใจ ไม่มีตอนไหนที่แสดงว่าพระเยซูมีความหวาดกลัว พระเยซูไม่กลัวที่จะทําสิ่งที่ถูกต้องแม้ว่าผู้อื่นจะไม่ยอมรับสิ่งนั้น พระเยซูไม่กลัวเสียชื่อเสียง ไม่กลัวแม้แต่จะต้องตาย คนทางฝ่ายศาสนา(รวมทั้งยอห์นแบปติสต์เองด้วย) รู้สึกข้องใจที่เห็นพระเยซูคบหาสมาคมกับคนบาป ร่วมวงกับพวกเหล่านี้อย่างมีความสุข หละหลวมในเรื่องกฎบัญญัติ และดูเหมือนไม่ให้ความสําคัญกับเรื่องบาป นอกนั้นยังเป็นกันเองกับพระเจ้าเกินไป พฤติกรรมของพระเยซูทําให้ตัวเองได้ชื่อว่า "นักกินนักดื่ม" ซึ่งคนทั่วไปอาจเรียกว่าเป็นการเสียชื่อเสียง แต่พระเยซูก็มีอารมณ์ขันมากพอที่จะหยิบยกขึ้นมาอ้างอิง (มธ.๑๑,๑๖-๑๙) เมื่อพระเยซูร่วมวงกับคนบาป ตามหลักในสมัยนั้น ก็ต้องถือว่าพระเยซูกลายเป็นคนบาปคนหนึ่งไปด้วย (ยน.๙,๒๔) ในยุคนั้นการติดต่อฉันมิตรกับผู้หญิงนอกแวดวงครอบครัวของตน ถือได้สถานเดียวว่าเป็นเรื่องชู้สาว แต่พระเยซูก็ติดต่อเป็นมิตรกับผู้หญิงโดยทั่วไปและกับหญิงโสเภณีด้วย ถ้ายังมีชื่อเสียงหลงเหลืออยู่บ้าง ก็หมดไปพอดี (ลก.๗,๓๙;ยน.๔,๒๗) พระเยซูไม่เคยทําอะไรเพื่อหวังความนิยมชมชอบ ไม่เคยยอมอ่อนข้อประนีประนอมเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของคนอื่น

          ตามพระวรสารโดยมาร์โก แม้แต่ฝ่ายตรงข้ามก็ยังยอมรับว่า พระเยซูเป็นคนซื่อสัตย์ตรงไปตรงมาและไม่กลัวสิ่งใด "เรารู้ว่าท่านเป็นคนตรงไปตรงมาและไม่กลัวใคร และยศศักดิ์ของใครก็ไม่มีความหมายสําหรับท่าน และท่านสอนหนทางของพระเจ้าด้วยความจริงใจ..." (มก.๑๒,๑๔) แม้ว่าการยอมรับนี้เป็นเพียงการพูดนําเพื่อหลอกถามเรื่องการเสียภาษี  แต่มันก็แสดงได้มากพอสมควรว่า คนทั่วไปรู้สึกอย่างไรต่อพระเยซู ญาติพี่น้องคิดว่าพระเยซูเสียสติ (มก.๓, ๒๑) พวกฟาริสีคิดว่าพระเยซูถูกผีสิง (มก.๓, ๒๒) บางคนกล่าวหาว่าพระเยซูเป็นนักกินนักดื่ม เป็นคนบาป เป็นคนพูดจาดูหมิ่นพระเจ้า แต่ไม่เคยมีใครคิดหรือกล่าวหาว่า พระเยซูไม่จริงใจหรือหน้าซื่อใจคด  ไม่มีใครคิดว่าพระเยซูกลัวคําวิพากวิจารณ์ หรือกลัวใครจองล้างจองผลาญ

          ความกล้าหาญและความเด็ดเดี่ยวของพระเยซู ทําให้คนถามอยู่บ่อยๆว่า "ชายผู้นี้คือใคร ?" เป็นที่น่าสังเกตว่าพระเยซูไม่เคยตอบคําถามนี้เลย ไม่มีปรากฏเลยว่า พระเยซูเรียกตัวเองด้วยชื่อหรือตําแหน่งที่สูงส่งต่างๆ ซึ่งคริสตศาสนิกชนใช้เรียกพระเยซูในภายหลัง

2. พระเยซูมิได้ยกย่องตนเอง      

          นักพระคัมภีร์บางคนคิดว่า มีอยู่คําหนึ่งที่พระเยซูรับเป็นชื่อหรือตําแหน่งของตน คือ "บุตรแห่งมนุษย์" แต่ไม่เป็นความจริง แม้พระเยซูเคยใช้คํานี้ แต่คํานี้ไม่ใช่ชื่อเฉพาะหรือเป็นคํานําหน้า  มีนักพระคัมภีร์เด่น ๆ หลาย คนพยายามศึกษาคํานี้ ผลก็คือแต่ละคนสรุปไม่เหมือนกันเลย นอกจากเห็นพ้องกันว่า "บุตรแห่งมนุษย์" เป็น คํานําหน้าที่สําคัญมาก นี่แสดงให้เห็นว่าเข้าใจปัญหาไม่ถูกต้อง เราต้องถามก่อนว่า คําว่า "บุตรแห่งมนุษย์" เดิมทีเป็นคํานําหน้าหรือไม่ ? คํานี้ไม่ปรากฏในประมวลข้อความเชื่อของศาสนาคริสต์(confession of faith) ไม่เคยนําหน้าชื่อพระเยซู และไม่เคยนําหน้าชื่อใครทั้งนั้น ในพระวรสาร คําคํานี้ไม่ได้หลุดมาจากปากใครนอกจากพระเยซูผู้เดียว เมื่อพระเยซูใช้คํานี้ ไม่เคยมีใครโต้แย้งหรือมีปฏิกิริยาใดๆ นักพระคัมภีร์ชื่อเวิมส์ ได้สรุปเป็นที่ยอมรับได้ว่า คําที่พระเยซูใช้นี้เป็น คําในภาษาอาราไมอิคของแคว้นกาลิลี ซึ่งคนจะใช้เรียกตัวเอง โดยแฝงถึงความรู้สึกถ่อมตัว หรือสงวนท่าที หรือรู้สึกทึ่งต่อหน้าสิ่งที่ยิ่งใหญ่ แทนที่จะใช้คําว่า "ฉัน" ก็ใช้คําว่า "บุตรแห่งมนุษย์" นอกนั้นยังมีความหมายเหมือนกับคําว่า "คน" ด้วย มักจะใช้เพื่อเน้นความเป็นคน ต่างจากความเป็นสัตว์ (เทียบ ดาเนียล ๗,๓-๗; ๗, ๑๗-๒๖ กับ ๗,๑๓) อย่างไรก็ตาม นักพระคัมภีร์หลายคนเชื่อว่า ข้อความในพระวรสารบางตอนที่พูดถึงบุตรแห่งมนุษย์ ไม่ใช่เป็นคําพูดของพระเยซู แต่เกิดขึ้นภายหลัง

          พระเยซูใช้คําว่า"บุตรแห่งมนุษย์" ตามวิธีพูดธรรมดาในภาษาของตน หรือว่าพระเยซูใช้คํานี้โดยมีความหมายอะไรเป็นพิเศษด้วย ? จากพระวรสาร ดูเหมือนว่าพระเยซูให้ความสําคัญต่อคํานี้มากทีเดียว  ถ้าเราระลึกอยู่เสมอว่า พระเยซูให้ความสําคัญแก่ศักดิ์ศรีของคนในฐานะที่เป็นคน และให้ความสําคัญแก่ความเป็นหนึ่งเดียวกันในมนุษยชาติ เราก็คงจะคิดได้ว่า เมื่อพระเยซูใช้คําว่า "บุตรแห่งมนุษย์" พระเยซูหมายถึงคนในฐานะที่เป็นคน และพระเยซูรวมตัวเองเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับมนุษยชาติ

          ดังนั้นเมื่อพระเยซูพูดว่า "บุตรแห่งมนุษย์เป็นนายของวันพระ" (มก.๒,๒๘) ก็แปลว่า "วันพระมีไว้สําหรับคน ไม่ใช่คนมีไว้สําหรับวันพระ" (มก.๒,๒๗) เมื่อพูดว่า "บุตรแห่งมนุษย์มีพลังยกบาปในโลกนี้" (มธ.๙,๖) ก็คือคําสรรเสริญพระเจ้า ที่"พระเจ้าได้ให้พลังเช่นนี้แก่มนุษย์" (มธ.๙,๘) เมื่อพูดว่า "หมาจิ้งจอกมีรู และนกในอากาศมีรัง แต่บุตรแห่งมนุษย์ไม่มีที่วางศีรษะ" อาจจะแปลว่า เฮรอด(หมาจิ้งจอก) และพวกโรมัน(นกอินทรี) มีที่ในสังคม แต่คนในฐานะที่เป็นคนยังไม่มีที่เลย และเมื่อพูดว่า "บุตรแห่งมนุษย์จะถูกมอบไว้ในมือของคน" (มก.๙,๓๑) ก็อาจมีความหมายว่า คนที่ถือตัวว่าเป็นหนึ่งเดียวกันกับเพื่อนมนุษย์ ต้องทนทรมานเพราะเงื้อมมือของมนุษย์นั่นเอง

          นี่เป็นการตีความหมายเท่านั้น สิ่งเดียวที่พูดด้วยความแน่นอนได้ก็คือ เมื่อพระเยซูใช้คําว่า "บุตรแห่งมนุษย์" พระเยซูไม่ได้อ้างตัวเป็นผู้มีตําแหน่งหรือยศศักดิ์อะไร เรารู้แล้วว่าพระเยซูสอนอย่างไรเกี่ยวกับยศศักดิ์ชื่อเสียง เราจึงไม่แปลกใจเมื่อพระเยซูไม่ต้องการตําแหน่งหรือคํานําหน้าอะไรทั้งสิ้น "อย่าให้ใครเรียกท่านว่า อาจารย์ เพราะท่านมีอาจารย์แต่ผู้เดียว และพวกท่านเป็นพี่น้องกัน อย่าให้ใครในโลกนี้เรียกท่านว่า บิดา เพราะท่านมีบิดาคนเดียว ผู้สถิตในสวรรค์  อย่าให้ใครเรียกท่านว่า เจ้านาย  เพราะท่านมีเจ้านายคนเดียว(คือพระคริสต์) (มธ.๒๓,๘-๑๐) คําสุดท้ายในวงเล็บ เป็นคําที่มัทธิวหรือแหล่งข้อมูลของมัทธิวได้เปลี่ยนใส่เข้าไป พระเยซูเคยเลี่ยงคําว่า คริสต์ หรือ เมสสิยาห์ เสมอ นอกนั้นความหมายมันชัดเจนอยู่แล้วว่า พระเจ้าแต่ผู้เดียวเป็นอาจารย์ เป็นบิดา และเป็นเจ้านายของเรา

3. คนอื่นมองพระเยซู

          คนที่ติดต่อกับพระเยซู คงจะได้เรียกพระเยซูเป็นอาจารย์(rabbi) แต่ก็ไม่มีตรงไหนที่บันทึกไว้ว่า พระเยซูห้ามคนเรียกเช่นนั้น ทั้งนี้คงเป็นเพราะว่า บางคนเพียงแต่อยากแสดงความเคารพนับถือโดยใช้คําที่สุภาพเหมาะสมเท่านั้น ถ้าจะคอยห้ามปรามตลอดเวลาว่าอย่าเรียกเช่นนี้ คงจะน่ารําคาญ สิ่งที่ชัดเจนคือคนอยากจะเรียกพระเยซูเป็นอาจารย์ แต่พระเยซูอยากจะเป็นคนรับใช้ของผู้อื่น (ยน.๑๓,๑๒-๑๕)

          พระเยซูคงจะรู้ตัวว่าตนกําลังทําสิ่งที่พระคัมภีร์พูดถึงล่วงหน้าให้สําเร็จไป แต่สําหรับพระเยซู มันไม่สําคัญว่าใครเป็นคนทําให้สําเร็จ ขอให้มันสําเร็จก็แล้วกัน เมื่อสาวกของยอห์น แบปติสต์ไปถามพระเยซูว่า พระเยซูเป็นผู้ที่ต้องมา(ตามที่พระคัมภีร์พูดไว้)ใช่หรือไม่ พระเยซูไม่ตอบคําถามโดยตรง แต่ชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่กําลังเกิดขึ้นในขณะนั้น เป็นไปตามที่จารึกไว้ในพระคัมภีร์  "คนตาบอดกลับเห็นได้ คนง่อยกลับเดินได้ คนโรคเรื้อนกลับสะอาดหมดจด...คนจนได้รับฟังข่าวดี" (มธ.๑๑,๔-๕)

          พระเยซูไม่ได้บอกว่า ฉันเองเป็นคนทําให้คนตาบอดกลับมองเห็น ฯลฯ ที่สําคัญคือสิ่งที่เกิดขึ้น กล่าวคือ ประชาชนกําลังได้รับการปลดปล่อย ใครเป็นคนทําไม่ใช่สิ่งสําคัญ  พระเยซูให้พวกสาวกกระจายกันออกไป ทําสิ่งที่พระเยซูทํา และไม่เคยห้ามมิให้ใครทําเช่นเดียวกัน (มก.๙, ๓๘-๔๐)

4. พระเยซูเป็นผู้มีอำนาจ

          เรายืนยันได้ว่า พระเยซูไม่เคยอ้างตัวเป็นคนสําคัญ มีตําแหน่งหรือมีอํานาจ แต่นักเขียนผู้เชี่ยวชาญหลายคนมีความเห็นว่า พระเยซูอ้างอํานาจโดยทางอ้อม เพราะพระเยซูวางตัวไม่ขึ้นกับใคร และไม่อ้างอิงอํานาจใด "แต่เราขอบอกแก่ท่านว่า..." เป็นคําพูดที่แสดงถึงอํานาจ ในตัวผู้พูดเอง แต่เราสงสัยว่าพระเยซูอ้าง อํานาจของตัวเองอย่างนั้นจริงๆ หรือ ?  พระเยซูถือว่าการแสดงอํานาจ เป็นลักษณะของพวกคนที่ไม่มีพระเจ้า(มก. ๑๐,๔๒) และเราคิดว่าความยิ่งใหญ่ของพระเยซูอยู่ตรงที่ไม่ต้องใช้อํานาจ อะไรเลย

          อํานาจคือสิทธิที่จะได้รับความนบนอบจากคนอื่น การอ้างอํานาจก็คือการเรียกร้องสิทธิ เรียกร้องให้คนอื่นนบนอบตน  มาร์โกเข้าใจว่า คําพูดของพระเยซูมีอํานาจซึ่งบังคับให้นบนอบได้ (มก.๑,๒๒;๑,๒๗) แต่ผู้ที่ต้องนบนอบไม่ใช่คน แต่เป็นจิตชั่ว โรคภัยไข้เจ็บ บาป กฎบัญญัติ ลมและทะเล

          เราได้พูดแล้วว่า พระเยซูมีพลังเหนือจิตชั่วและความชั่วร้ายทั่วไป พลังนั้นคือพลังแห่งความเชื่อ ความเชื่อของพระเยซูสามารถทําให้หายจากความเจ็บไข้ได้ป่วย สามารถช่วยให้รอดพ้นความทุกข์ สามารถปลุกความเชื่อในตัวผู้คนที่อยู่รอบข้าง ความเชื่อนี้ ในพระวรสารถือว่าเป็นอํานาจ แบบหนึ่ง ในเรื่องอัศจรรย์ที่เกิดแก่คนรับใช้ของทหารโรมัน (มธ.๘,๕-๑๓; ลก.๗,๑-๑๐;ยน.๔,๔๖-๕๓) มีการเอาอํานาจและความนบนอบในทางทหาร มาเปรียบเทียบกับพลังของพระเยซูที่มีเหนือจิตชั่ว นายทหารคนนั้นตระหนักดีว่า อํานาจทางทหารโรมันใช้ได้ผลเพียงใด พลังความเชื่อของพระเยซูก็ต้องได้ผลเช่นกัน อํานาจอย่างเดียวที่พระเยซูใช้ ก็คืออํานาจ เหนือความชั่ว นั่นคือพลังความเชื่อ

          ถ้าไม่ใช้อํานาจหรืออ้างอํานาจใด แล้วพระเยซูสอนอย่างไร ? นิทานเปรียบเทียบที่พระเยซูเล่าเป็นประจํา เป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงถึงการสอนโดยไม่ต้องอ้างอํานาจใด จุดหมายของนิทานเปรียบเทียบคือเพื่อให้ผู้ฟังค้นพบความจริงด้วยตนเอง นิทานเปรียบเทียบเป็นผลงานทางศิลป์ ที่เผยความจริงแห่งชีวิต นิทานเปรียบเทียบช่วยปลุกความเชื่อในตัวผู้ฟัง เพื่อจะได้มองเห็นความจริงด้วยตัวเอง เพราะเหตุนี้ ส่วนมากนิทานเปรียบเทียบจะจบด้วยคําถามตรงๆ หรือคําถามทางอ้อม ซึ่งผู้ฟังจะต้องตอบเอง "ใน ๓ คนนี้ คนไหนแสดงตัวเป็นเพื่อนบ้าน ?" (ลก.๑๐, ๓๖) "คนไหนจะรักมากกว่า ?" (ลก.๗,๔๒) "ท่านคิดอย่างไร ลูกสองคนนี้ คนไหนที่ทําตามความต้องการของบิดา ?" (มธ.๒๑,๒๘-๓๑) "เจ้าของสวนองุ่นจะทําอย่างไรกับพวกนั้น ?" (ลก.๒๐,๑๖) นิทานเปรียบเทียบเรื่องแกะพลัดฝูง และเหรียญเงินที่หายไป เป็นรูปแบบคําถามเกือบตลอด (ลก.๑๕,๔-๑๐; มธ. ๑๘, ๑๒-๑๔)

          โดยทั่วไป พระเยซูเล่านิทานเปรียบเทียบสําหรับฝ่ายตรงข้าม ไม่ใช่สําหรับพวกคนจนและคนถูกกดขี่ และไม่ใช่สําหรับพวกสาวก พระเยซูต้องการจูงใจและทําให้ฝ่ายตรงข้ามรับความจริง โดยช่วยให้พวกเขาคิดเอาเอง ที่จริงแล้วพระเยซูต้องการให้ทุกคนคิดและตัดสินใจเอง รวมทั้งพวกสาวกและชาวบ้านทั่วไป (ลก.๑๒,๕๗) แต่วิธีสอนพวกสาวกและฝูงชนที่ยอมรับพระเยซู แตกต่างออกไปบ้าง เนื่องจากพระเยซูต้องการให้คนอื่นเห็นสิ่งที่ตนเห็น เชื่อสิ่งที่ตนเชื่อ และพระเยซูมีความมั่นใจในความจริงและความเชื่อเป็นอย่างมาก วิธีพูดสอนจึงค่อนข้างจะเป็นเหมือนใช้อํานาจ หรืออ้างอํานาจตนเอง "แต่เราบอกพวกท่านว่า..." พระเยซูประกาศความจริงอย่างแน่นอนชัดเจนโดยไม่มีความลังเลสงสัย ไม่ว่าจะใช้คําชักจูงที่อ่อนหวาน ใช้นิทานเปรียบเทียบ หรือใช้คําประกาศที่เด็ดขาด

          พระเยซูไม่อ้างอิงอํานาจใด ๆ ไม่ว่าจะจะเป็นอำนาจของตนหรือของผู้อื่น พวกคัมภีราจารย์อ้างอิงอํานาจของขนบธรรมเนียมและอ้างพระคัมภีร์ พวกประกาศกสมัยก่อนอ้างอํานาจ โดยตรงจากพระเจ้า แต่พระเยซูไม่อ้างอํานาจใด ๆ ทั้งสิ้น พระเยซูไม่เคยใช้คํานําที่ว่า "พระเจ้าตรัสดังนี้ว่า..." ดังที่พวกประกาศกเคยใช้อยู่เสมอ พระเยซูไม่ยอมแสดงเครื่องหมายอะไรให้ฝ่ายตรงข้ามเห็น เพื่อยืนยันว่าตนได้รับอํานาจจากพระเจ้า และเมื่อถูกถามว่ามีอํานาจอะไรจึงทําเช่นนี้ พระเยซูไม่ตอบ (มก.๑๑,๓๓)  เมื่อเห็นสิ่งที่พระเยซูทําหรือฟังสิ่งที่พระเยซูพูดแล้ว เราต้องเห็นความจริงในสิ่งนั้นๆ โดยไม่ต้องมีอํานาจใดมาสนับสนุน

5.ประสบการณ์ “อับบา”

          คําพูดของพระเยซูสร้างความประทับใจให้แก่คนทั่วไป ไม่ใช่เพราะได้อ้างอํานาจของใคร แต่โดยอาศัยพลังแห่งความจริง ซึ่งเป็นพลังของพระเจ้า

          การอ้างว่าตนเองพูดความจริง เป็นเรื่องสําคัญและยิ่งใหญ่กว่าการอ้างตําแหน่ง หรืออํานาจใดๆ มาสนับสนุน มีอะไรที่ทําให้พระเยซูกล้าอ้างเช่นนี้ ? มีอะไรที่ทําให้พระเยซูมั่นใจนักว่าตนเองถูกต้อง ? พระเยซูมีประสบการณ์ส่วนตัวที่ลึกซึ้งจนทําให้เห็นแจ้งและเข้าใจความจริง

          ปัญหาเรื่องประสบการณ์ส่วนตัวของพระเยซู เป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อน หลายคนที่พยายามศึกษาจิตวิทยาหรือสภาพจิตของพระเยซู ก็ได้แต่เดาหรือคาดคะเนเท่านั้น นักพระคัมภีร์ที่มีชื่อเสียงหลายคน ยืนยันได้แต่เพียงว่า ลึกลงไปในบุคลิกอันเร้นลับของพระเยซู มีประสบการณ์ส่วนตัวอย่างหนึ่งที่ลึกซึ้งแน่นแฟ้น ที่เรียกว่า "ประสบการณ์อับบา" (Abba-experience) ซึ่งเป็นความใกล้ชิดและเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าในฐานะที่พระเจ้าเป็นพ่อผู้มีใจรักเมตตา

          ประกาศกในอดีตถ่ายทอดพระวาจาของพระเจ้าให้แก่มนุษย์ และบางครั้งก็ถ่ายทอดความรู้สึกและอารมณ์ของพระเจ้าด้วย(พระเจ้าสั่งอะไร และรู้สึกอย่างไรต่อประชากรของพระองค์) ในกรณีของพระเยซู ความรักเมตตาของพระเจ้าสิงสถิตในพระเยซูอย่างท่วมท้น ทําให้พระเยซูมีความมั่นใจ ความเชื่อและความหวัง เนื่องจากพระเจ้ามีใจรักเมตตา ความดีจะต้องเอาชนะความชั่ว สิ่งที่เป็นไปไม่ได้จะเกิดขึ้น และจะมีความหวังสําหรับมนุษยชาติ

          ความรักเมตตาเป็นรากฐานของความจริง เราจะมีประสบการณ์ความรักเมตตา ก็ต่อเมื่อเรามีประสบการณ์ความทุกข์หรือความรู้สึกพร้อมกับคนอื่น มันทําให้เราร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับเพื่อนมนุษย์ กับธรรมชาติและกับพระเจ้า มันทําให้เราร่วมเป็นหนึ่งกับชีวิตและความเป็นจริง

          พระเยซูมีความคิดและความเข้าใจที่ผิดพลาดไม่ได้ และมีความมั่นใจที่แข็งแกร่ง ทั้งนี้เพราะพระเยซูมีประสบการณ์ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า กับมนุษย์และกับธรรมชาติ สิ่งนี้ทําให้พระเยซูเป็นคนมีอิสระที่แท้จริง มีความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว ปราศจากความหวาดกลัว เต็มไปด้วยความหวัง และตั้งมั่นอยู่ในความจริง

          เมื่อพระเยซูเป็นคนเช่นนี้ ทําไมจึงมีคนที่ต้องการกําจัดพระเยซู ? มีอะไรที่ทําให้พวกเขาต้องการจับกุมและดําเนินคดีกับพระเยซู ?

คำถาม
          1. ท่านคิดว่าพระเยซูเป็นคนอย่างไร ?
          2. คนสมัยนั้นมองพระเยซูอย่างไร ?
          3. อะไรทำให้พระเยซูดูเป็นผู้มีอำนาจ ?

พระวรสารตอนที่เล่าเหตุการณ์เกี่ยวกับการจับกุมพระเยซู การขึ้นศาล การตัดสินคดี ตลอดจนเหตุผลที่อยู่เบื้องหลัง มีความสับสนมาก และเรารู้สึกด้วยว่า บุคคลต่างๆ ที่อยู่ในเหตุการณ์เองก็สับสนมากด้วย

1. ข้อกล่าวหาพระเยซู

          เพื่อจะเห็นภาพชัดเจนขึ้นบ้าง เราต้องแยกองค์ประกอบสําคัญออกมา ๓ อย่าง อย่างแรกคือข้อกล่าวหาที่อาจจะนําขึ้นมาอ้างได้ อย่างที่สองคือข้อกล่าวหาที่ใช้จริงในการฟ้องศาล  และอย่างที่สามคือเหตุผลที่แท้จริงที่พระเยซูถูกกําจัด จริงๆแล้วผู้เขียนพระวรสารทั้ง ๔ ตระหนักถึงองค์ประกอบทั้งสามดังกล่าวอย่างชัดเจน เช่นพระเยซูอาจถูกตั้งข้อกล่าวหาว่า จงใจละเมิดวันพระเจ้า หรือใช้ไสยศาสตร์(ไล่ผีด้วยอํานาจของซาตาน) ในความเป็นจริงพระเยซูถูกตั้งข้อกล่าวหาอ้างตนเป็นเมสสิยาห์(กษัตริย์) และเหตุผลแท้จริงที่พระเยซูถูกกำจัดคือ ความอิจฉา (มก.๑๕,๑๐;มธ.๒๗,๑๘)  แต่เป้าหมายของการเขียนพระวรสารทําให้ผู้เขียนพระวรสารไม่แยกสามส่วนนี้ จึงมีการปะปนกันไปมา สิ่งที่อาจตั้งเป็นข้อกล่าวหา ได้กลายเป็นข้อกล่าวหาจริง (เช่นการพูดจาดูหมิ่นพระเจ้า มก.๑๔,๖๔) และข้อกล่าวหาที่ตั้งจริง กลายเป็นเหตุผลที่อยู่เบื้องหลัง (เช่นการอ้างตัวเป็นกษัตริย์  มก.๑๔,๖๒-๖๔)  ผลก็คือเกิดความสับสนเป็นอย่างยิ่ง

          อีกอย่างหนึ่งที่เราต้องแยกให้ชัดเจนก็คือ บทบาทของผู้นําชาวยิว และบทบาทของผู้ว่าราชการโรมัน ในขณะนั้นมีอยู่ ๒ ศาล คือสภาซันเฮดริน หรือศาลยิว อันประกอบด้วยเจ้าคณะสงฆ์ หัวหน้าสงฆ์ ๗๐ คน พวกผู้หลักผู้ใหญ่และคัมภีราจารย์ และศาลโรมัน อันมีผู้ว่าราชการปิลาตเป็นประธาน พระเยซูถูกจับขึ้นศาลโรมัน และถูกศาลโรมันตัดสินประหารชีวิต แต่ผู้เขียนพระวรสาร(และคริสตชนรุ่นแรกๆ) พยายามยํ้าให้เห็นชัดเจนว่า ถึงกระนั้นก็ดี พวกผู้นําชาวยิวมีความผิดมากกว่าพวกโรมัน เราเห็นว่าถูกต้อง แต่วิธีอธิบายของผู้เขียนพระวรสาร ทําให้ผู้อ่านงุนงงและสับสน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทําให้ผู้อ่านเข้าใจว่า ตอนที่ผู้นําชาวยิวสอบสวนพระเยซูเป็นตอนที่ขึ้นศาลจริง

          จุดประสงค์ของผู้เขียนพระวรสาร ไม่ใช่ต้องการจะบิดเบือนความจริงทางประวัติศาสตร์ แต่ต้องการทําให้ผู้อ่านเห็นชัดว่า แม้ภาพปรากฏภายนอกเป็นอย่างหนึ่ง แต่ความจริงเบื้องหลังเป็นอย่างไร ดูผิวเผินต้องโทษว่าพวกโรมัน แต่ในความเป็นจริงต้องโทษว่าพวกผู้นําชาวยิวมากกว่า ทั้งนี้ไม่ใช่เนื่องมาจากลัทธิต่อต้านยิว หรือเพราะความนิยมโรมัน แต่เป็นความรู้สึกผิดหวังของคริสตชนรุ่นแรกที่เห็นว่า ชาติยิวไม่น่าจะปฏิเสธและทําลายพระเยซูเลย(ซึ่งถ้าสมมุติพระเยซูไปเกิดในชาติอื่น ก็อาจเกิดเรื่องเช่นเดียวกัน ไม่ใช่จงใจอยากกล่าวหาชาติยิว)

2. เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงเป็นอย่างไร ?

          พระเยซูถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยข้อหาว่า อ้างตนเป็นเมสสิยาห์ หรือกษัตริย์ของชาวยิว ปิลาตถามพระเยซูเรื่องนี้เรื่องเดียว และป้ายแจ้งความผิดบนไม้กางเขนก็บอกแค่นี้ เรื่องอื่นเป็นเพียงความเป็นไปได้ สภาซันเฮดรินอาจตั้งข้อหาว่า พระเยซูเป็นอาจารย์เทียม เป็นประกาศกปลอม หรือพระเยซูจงใจละเมิดวันพระ หรือใช้ไสยศาสตร์ คริสตชนรุ่นแรกคิดว่า พวกยิวที่ไม่ยอมรับพระเยซู ได้กล่าวหาว่าพระเยซูดูหมิ่นพระเจ้าโดยอภัยบาป (มก.๒,๗) และโดยอ้างตัวเป็นเมสสิยาห์ อ้างตัวเป็นบุตรพระเจ้า(มก.๑๔,๖๑-๖๔) ซึ่งเป็นการตีตนเสมอพระเจ้า (ยน.๕,๑๘; ๑๐,๓๓; ๑๐,๓๖; ๑๙,๗)  คริสตชนรุ่นแรกคิดว่า   นี่เป็นข้อกล่าวหาที่ถูกนําขึ้นมาพิจารณาในสภาซันเฮดริน   หรือไม่ก็เป็นเหตุผลที่ขอให้ปิลาตประหารชีวิตพระเยซู (ยน. ๑๙,๗)

          ตามคําเล่าของลูกา พวกยิวกล่าวหาว่าพระเยซูเป็นกบฏ และยุยงประชาชนไม่ให้เสียภาษีแก่จักรพรรดิ์ซีซาร์ (ลก.๒๓,๒) ในแง่หนึ่งกิจกรรมและคําสอนของพระเยซู อาจถือได้ว่าเป็นการบั่นทอนความมั่นคงของข้อตกลงทางการเมือง เพราะพระเยซูต้องการเปลี่ยนสังคมตั้งแต่ยอดจรดฐาน ส่วนเรื่องเสียภาษีนั้น เราพูดมาแล้วข้างต้นว่าพระเยซูเลี่ยงไม่เข้าข้างใด เพราะมันไม่ใช่ปัญหา

          ถึงแม้จะมีข้อกล่าวหาที่เป็นไปได้หลายประการ ในความเป็นจริง สภาซันเฮดรินไม่ได้พิจารณาคดีนี้ และศาลโรมันได้ตัดสินคดีตามข้อหาว่า พระเยซูอ้างตนเป็นกษัตริย์ของชาวยิว ทําไมจึงเป็นเช่นนั้น ? และมีเหตุผลอะไรอยู่เบื้องหลัง ?

          ปิลาตเป็นผู้ว่าราชการที่มีความโหดเหี้ยมมาก เขาเคยหาทางยั่วยุชาวยิว และเมื่อมีชาวยิวประท้วงหรือลุกฮือขึ้น เขาจะสั่งให้ทหารล้อมไว้แล้วฆ่าเสีย ชาวยิวบางคนที่ถูกจับในข้อหากบฏจะถูกฆ่าโดยไม่มีการขึ้นศาล นักปรัชญาชาวยิวร่วมสมัยพระเยซู ชื่อฟิโล บันทึกไว้ว่า ปิลาตเป็นคนที่ไม่มีการผ่อนปรน ตามใจตัวเองและก้าวร้าวดุดัน อาชญากรรมของปิลาตมีหลายอย่างเช่น รับสินบน เผด็จการ ปล้นสดม โหดร้ายรุนแรง หลอกลวง ประหารชีวิตนักโทษโดยไม่ขึ้นศาล และทําทารุณ

          ภาพพจน์นี้ ตรงกับที่ปรากฏในเหตุการณ์ ๓ อย่างที่นักประวัติศาสตร์ชาวยิวร่วมสมัยชื่อโจเซฟุสได้บันทึกไว้ เหตุการณ์แรกคือเรื่องตราจักรพรรดิ์โรมัน ซึ่งเป็นโลหะหล่อหรือแกะสลัก มีรูปของจักรพรรดิ์และสัญญลักษณ์อื่นๆ ประดับอยู่ปลายเสา ชาวยิวถือว่าตราแบบนี้ขัดกับพระบัญญัติที่ห้ามทํารูปปั้นหรือรูปแกะสลักต่างๆ  แต่ปิลาตก็ออกคําสั่งให้เอาตรานี้ไปประดิษฐานไว้ในเมืองเยรูซาเลม ทั้งๆที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ประชาชนประท้วงและขอให้ปิลาตเอาตรานี้กลับไป ปิลาตปฏิเสธ และสั่งให้ทหารล้อมไว้ พวกชาวยิวไม่ต่อสู้แต่พร้อมที่จะตายเพื่อศาสนา ปิลาตจึงไม่ได้สั่งให้ฆ่า เพราะถ้าฆ่าประชาชนที่ยืนสงบนิ่ง คงจะไม่เป็นผลดีทางการเมือง เหตุการณ์ที่สอง เป็นเรื่องที่ปิลาตสั่งให้ใช้เงินของพระวิหารไปสร้างทางส่งนํ้า ประชาชนไม่พอใจจึงเกิดการปะทะกัน ปิลาตให้ทหารล้อมประชาชนไว้แล้วสั่งให้ทุบตี หลายคนถูกฆ่าตาย และอีกจํานวนมากบาดเจ็บสาหัส เหตุการณ์ที่สาม คือเรื่องของชาวแคว้นสะมาเรียกลุ่มหนึ่ง ที่ขึ้นไปชุมนุมกันบนยอดเขาการิซิม เพื่อขุดค้นหาภาชนะศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเชื่อกันว่าโมเสสได้ซ่อนไว้ ไม่มีอะไรที่ส่อว่าเป็นเรื่องวุ่นวายหรือมีเจตนาร้าย แต่ปิลาตสั่งให้ทหารฆ่าตายหมด  เหตุการณ์ครั้งนี้ทําให้ปิลาตต้องถูกเรียกตัวกลับกรุงโรม

          ปิลาตกลัวการชุมนุมของชาวยิว ไม่ว่าชาวยิวหรือชาวสะมาเรีย ชุมนุมเพื่อทําอะไรบางอย่างร่วมกัน ปิลาตจะต้องสงสัยไว้ก่อนว่า อาจมีการก่อกบฏ ในพระวรสารมีพูดสั้น ๆ เกี่ยวกับปิลาตในภาพพจน์เช่นเดียวกันนี้"...ชาวแคว้นกาลิลีที่ปิลาตได้ให้เทเลือดผสมกับเลือดเครื่องบูชา" (ลก. ๑๓,๑)  ซึ่งหมายถึงฆาตกรรมหมู่ในพระวิหาร

          แต่ในตอนที่พระเยซูถูกจับขึ้นศาลโรมัน พระวรสารไม่ได้วาดภาพปิลาตในลักษณะนี้เลย เห็นได้ชัดว่าในเหตุการณ์ครั้งนี้ ปิลาตถูก "ย้อมสี" เพื่อเน้นความจริงที่ว่าชาวยิวมีความผิดในกรณีที่พระเยซูถูกประหารชีวิต

3. ปิลาตน่าจะคิดอย่างไรเกี่ยวกับพระเยซู

          ให้เราพิจารณาผู้ว่าราชการโรมันคนอื่นๆ  ที่โหดเหี้ยมน้อยกว่าปิลาตก่อน  ดูว่าพวกเขาคิดอย่างไรเกี่ยวกับ  ประกาศกและผู้ที่มีลักษณะเป็นเมสสิยาห์ได้  ประมาณปี ๔๕ ก่อนคริสตกาล  ประกาศกคนหนึ่งชื่อ เทอุดัส ได้นําชาวยิวกลุ่มใหญ่ แบกสัมภาระลงไปที่แม่นํ้าจอร์แดน และสัญญาว่าจะทําเหมือนโมเสส คือจะแยกนํ้าออกและพาข้ามแม่นํ้าออกไปในที่เปลี่ยว ผู้ว่าราชการคุสปิอุส ฟาดุส ส่งกองทหารม้าไปจัดการ ส่วนหนึ่งถูกฆ่าตายและที่เหลือถูกจับขังคุก เทอุดัสถูกตัดศีรษะ ไม่มีอะไรยืนยันได้ว่า เทอุดัสเป็นพวกซีลอทหรือก่อการวุ่นวายใดๆ ในปี ค.ศ.๕๘ มีประกาศกชาวยิวจากอียิปต์คนหนึ่ง รวบรวมประชาชนกลุ่มหนึ่งที่เขาเกทเซมานี และสัญญาว่า  จะทําเหมือนโจชูอาในพระคัมภีร์   คือจะสั่งให้กําแพงเมืองเยรูซาเลมพังลงมา ผู้ว่าราชการ อันโตนิอุส เฟลิกซ์ สั่งให้ทหารจัดการทันที ชาวยิวหลายคนถูกฆ่าตาย ประกาศกหนีไปได้

          ถ้าปิลาตรู้เจตนาของพระเยซู รู้ว่าอาณาจักรที่พระเยซูพูดถึงมีลักษณะอย่างไร รู้ว่าพระเยซูพยายามปลุกความเชื่อในอาณาจักรนี้มากแค่ไหน ปิลาตต้องกําจัดพระเยซูอย่างแน่นอนที่สุด ปิลาตจะต้องถือว่าพระเยซูเป็นอันตรายต่อความมั่นคง แม้ว่าพระเยซูจะไม่ใช้วิธีรุนแรงก็ตาม (เช่นเดียวกับที่กษัตริย์เฮรอดถือว่า ยอห์นแบปติสต์เป็นอันตรายต่อความมั่นคง ทั้ง ๆ ที่ยอห์นแบปติสต์ไม่ได้ใช้ความรุนแรงอะไร) ชาวโรมันถือว่า อันตรายต่ออํานาจของตนไม่ใช่มาจากพวกกบฏติดอาวุธเท่านั้น แม้แต่ความเคลื่อนไหวของประชาชนที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลง ก็ถือว่าเป็นอันตรายด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีเหตุผลทางศาสนาหนุนหลัง

4. ปิลาตรู้เกี่ยวกับพระเยซูมาก่อนหรือไม่ ?

          เมื่อพระเยซูขับไล่พวกพ่อค้าในลานพระวิหาร พวกทหารโรมันเฝ้ามองดูจากป้อมที่อยู่ติดกับอาณาเขตพระวิหาร และอาจจะได้รายงานให้ปิลาตรู้ และแค่นี้ก็พอที่จะสงสัยเกี่ยวกับพฤติกรรมของพระเยซูแล้ว แต่ทหารอาจจะไม่ได้รายงานก็ได้ เมื่อปิลาตพิจารณาคดีพระเยซู อย่างน้อยที่สุดปิลาตก็ต้องรู้ว่า พระเยซูเป็นผู้นําที่มีอิทธิพลคนหนึ่ง และรู้ว่าสมัครพรรคพวก นับถือพระเยซูเป็นเมสสิยาห์หรือกษัตริย์ของชาวยิว แต่เราสนใจว่าปิลาตรู้จักพระเยซูก่อนที่พระเยซูถูกจับขึ้นศาลหรือไม่ ? ดูเหมือนว่ารู้

          ตามคําเล่าของยอห์น พระเยซูถูกจับโดยคนกลุ่มหนึ่งที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยชาวยิวและทหารโรมัน (ยน.๑๘,๓; ๑๘, ๑๒) แม้ยอห์นจะพยายามไม่ปรักปรําชาวโรมันในคดีนี้ แต่ก็บันทึกลงไว้ว่า กองทหารโรมันพร้อมกับนายร้อยมีส่วนร่วมจับกุมพระเยซู แสดงว่าเป็นเหตุการณ์ที่แน่นอนทางประวัติศาสตร์ชาวยิว (แม้แต่เจ้าคณะสงฆ์) ไม่มีสิทธิสั่งทหารโรมันให้จับกุมใครได้ คงเป็นปิลาตที่ออกคําสั่ง ซึ่งแปลว่าปิลาตต้องรู้เกี่ยวกับพระเยซูก่อนถูกจับ รู้จากเหตุการณ์ที่พระวิหาร หรือไม่ก็หลังจากนั้นไม่นาน

5. บทบาทพวกผู้นําชาวยิว

          เจ้าคณะสงฆ์ได้รับการแต่งตั้งจากผู้ว่าราชการโรมัน และมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ หน้าที่ทางศาสนาจะถูกควบคุม  โดยฝ่ายโรมันเป็นผู้เก็บรักษาชุดสําหรับพิธีกรรม ดังนั้นเจ้าคณะสงฆ์รวมทั้งหัวหน้าคณะสงฆ์เกี่ยวพันกับงานบริหารบ้านเมือง และอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ว่าราชการ หน้าที่หลักของเจ้าคณะสงฆ์คือรักษาความสงบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลทางศาสนา ซึ่งจะมีผู้คนล้นหลามในเมืองเยรูซาเลม

          เจ้าคณะสงฆ์และพรรคพวกรู้เกี่ยวกับพระเยซูมากน้อยแค่ไหน ?  คงจะรู้ไม่มากและไม่พอที่จะตั้งข้อหาใน  ศาลยิว(กรณีที่เคยคิดจับพระเยซูขึ้นศาลยิว) ที่แน่นอนคือ เจ้าคณะสงฆ์รู้ว่าพระเยซูกําลังปลุกปั่นประชาชน ให้เชื่อในอาณาจักรพระเจ้า และรู้ว่าประชาชนส่วนหนึ่งถือว่าพระเยซูเป็นเมสสิยาห์ เจ้าคณะสงฆ์คิดว่ากรณีเช่นนี้อาจสร้างปัญหาทางการเมืองได้ เพราะข้อตกลงสันติภาพระหว่างชาติยิวกับรัฐบาลโรมันนั้นเปราะบางมาก พวกคณะสงฆ์ระมัดระวังปัญหาทางการเมืองมากกว่าการเคารพความจริง

          ยอห์นบรรยายเกี่ยวกับการประชุมปรึกษาหารือของหัวหน้าคณะสงฆ์ก่อนที่พระเยซูถูกจับ "เราจะทําอย่างไรดี ? ถ้าเราปล่อยเขาไว้เช่นนี้ ทุกคนก็จะเชื่อเขา พวกโรมันก็จะเข้ามายึดที่ของเรา และยึดชาติของเราด้วย" ไกฟาสเจ้าคณะสงฆ์ในปีนั้นกล่าวว่า "...ให้คนหนึ่งตาย...ดีกว่าที่จะให้ทั้งชาติถูกทําลาย" (ยน.๑๑,๔๗-๕๐) จุดสําคัญคือปัญหาทางการเมือง พวกโรมันจะจัด การอย่างไรกับเรา ถ้าเราไม่จัดการกับชายคนนี้ ?  ให้ชายคนนี้ตายไปคนเดียวไม่ดีกว่าหรือ ?

6. ผู้นำชาวยิวทรยศพระเยซู 

          สถานการณ์อาจเป็นไปได้สองอย่าง สถานการณ์แรกคือ ไกฟาสมีความเห็นว่าการประกาศอาณาจักรใหม่ และการที่ประชาชนนับถือพระเยซูเป็นกษัตริย์ จะเป็นชนวนให้เกิดการปะทะกับกองทัพโรมัน ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจริง พวกโรมันก็จะเข้ามายึดที่ของเราและชาติของเรา นักพระคัมภีร์ชื่อ พอล วินเตอร์ อธิบายว่า "ที่ของเรา" ไม่ใช่หมายถึงสถานที่ศักดิ์สิทธิ์หรือพระวิหาร แต่หมายถึงตําแหน่งของเจ้าคณะสงฆ์และคณะที่ปรึกษา สิ่งหนึ่งที่ไกฟาสกลัวคือตัวเองจะสูญเสียอํานาจและตําแหน่ง หากละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ป้องกันจราจล และไม่รายงานให้ฝ่ายโรมันรู้ หรือไม่จับพระเยซูส่งให้ฝ่ายโรมันจัดการ

          สถานการณ์ที่สอง อาจเป็นไปได้ว่า ปิลาตได้สั่งแล้วว่าให้จับพระเยซูส่งให้ฝ่ายโรมัน กรณีเช่นนี้ การประชุมดังกล่าวก็เป็นการพิจารณาเรื่องการส่งตัวผู้ต้องสงสัย คําถามที่ต้องพิจารณาคือ ชาวยิวคนนี้ถูกคนต่างศาสนาตั้งข้อหาทางการเมือง สมควรที่จะจับกุมเขาและส่งตัวให้ตามที่ขอมาหรือไม่ ? คําตอบก็คือ ให้ไปตายคนเดียวดีกว่าต้องลําบากกันทุกคน

          ไม่ว่าจะเป็นกรณีหลีกเลี่ยงการปะทะกัน หรือเป็นกรณีส่งมอบตัวผู้ร้าย การตัดสินใจของเจ้าคณะสงฆ์ก็คือ ร่วมมือกับฝ่ายโรมัน ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของตนและของชาติยิว  ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า เป็นฝ่ายโรมันที่ต้องการกําจัดพระเยซู แม้เราไม่รู้แน่ว่า ที่ต้องการกําจัดพระเยซูนี้ เนื่องมาจากฝ่ายโรมันเองได้สืบทราบเรื่องราวของพระเยซู และต้องการให้ฝ่ายผู้นํายิวจับกุมและส่งตัวให้ หรือเนื่องมาจากไกฟาสได้รายงานหลังการประชุมกับพวกหัวหน้าคณะสงฆ์  การกําจัดพระเยซูในสถานการณ์เช่นนี้ เป็นไปตามนโยบายของปิลาตและผู้ว่าราชการโรมันคนอื่น ที่กําจัดประกาศกและบุคคลที่เข้าข่ายเป็น "เมสสิยาห์"

          พวกผู้นําชาวยิวตัดสินใจที่จะจับกุมพระเยซูและส่งตัวไปให้ปิลาต ไม่ว่าจะเป็นเพราะดําเนินการเอง หรือได้รับคําสั่งจากปิลาต ไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม เราพูดได้ว่าพวกผู้นําชาวยิว ทรยศพระเยซู ในภาษากรีกการส่งมอบตัวหรือการทรยศ เป็นคําคําเดียวกัน (มก.๙,๓๑; มธ.๒๖,๒) ดังนั้นจึงมีการทรยศ ๒ ครั้ง ครั้งแรก สาวกยูดาสทรยศพระเยซู(มอบตัวให้ผู้นําชาวยิว) ครั้งที่สอง ผู้นําชาวยิวทรยศพระเยซู(มอบตัวให้ผู้ว่าราชการโรมัน) (มก.๑๐,๓๓-๓๔) จากนั้นพระเยซูถูกพิจารณาคดีและตัดสินประหารชีวิตโดยศาลโรมัน

7. ที่ศาล

          สิ่งที่น่าสังเกตในการขึ้นศาลครั้งนี้คือ พระเยซูไม่ได้ป้องกันตนเอง ไม่ว่าใครจะกล่าวหาอย่างไร พระเยซูก็สงบนิ่ง (มก.๑๔,๖๐-๖๑; ๑๕,๔-๕; มธ.๒๖,๖๒-๖๓; ๒๗,๑๒-๑๔; ลก.๒๓,๙) และเมื่อเอ่ยปากพูดก็เป็นการเลี่ยงที่จะตอบเสียมากกว่า "ท่านเป็นคนพูดเอง" (มก.๑๕,๒; มธ.๒๖,๖๔; ๒๗,๑๑; ลก.๒๒,๗๐; ๒๓,๓) "ถ้าเราบอก ท่านก็จะไม่เชื่อ ถ้าเราถาม ท่านก็จะไม่ตอบ" (ลก.๒๒,๖๗; ดู ยน.๑๘,๒๐-๒๑) คําพูดเหล่านี้ผู้เขียนพระวรสารพยายามประกอบขึ้นมาใหม่ เพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างพระเยซูกับฝ่ายที่สอบสวน แต่เราคงต้องยึดคําบรรยายของมัทธิวเป็นหลักว่า พฤติกรรมของพระเยซูระหว่างขึ้นศาลนั้นเป็นอย่างไร "พระเยซูไม่ได้ตอบข้อกล่าวหาใดๆ เลย" (มธ.๒๗,๑๔) เพราะจริงๆ แล้วพระเยซูเคยวางตัวแบบนี้มาก่อน พระเยซูเคยปฏิเสธที่จะแสดงเครื่องหมายยืนยันอํานาจของตน พระเยซูไม่เคยถกเถียงกล่าวอ้างอํานาจของตน พระเยซูไม่เคยยอมตอบคําถามเกี่ยวกับเรื่องแบบนี้ มาบัดนี้ พระเยซูไม่ยอมป้องกันตัวเองหรือยืนยันความถูกต้องของตน

          พระเยซูยืนสงบนิ่งอยู่ที่นั่น นี่ไม่ใช่พระเยซูถูกจับขึ้นศาลเสียแล้ว เป็นการจับคนอื่นขึ้นศาลต่างหาก ความเงียบของพระเยซูทําให้คนอื่นทุกคนประหลาดใจและกระวนกระวาย ความเงียบของพระเยซูเป็นการสอบสวนและพิสูจน์ทุกคน คําพูดของทุกคนสะท้อนกลับไปถึงตนเองและกล่าวโทษตนเอง

          ปิลาตมีความผิด ความเงียบของพระเยซูทําให้ปิลาตประหลาดใจ (มธ.๒๗,๑๔) เขาอาจจะชงักไปชั่วครู่ แต่เนื่องจากเขาไม่เคยสนใจที่จะเคารพความจริงเลย เขาจึงดําเนินการต่อไปตามที่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์ทางการเมือง ปิลาตมีความผิดฐานละเลยที่จะแสวงหาและดำเนินการตามความจริง (ยน.๑๘,๓๗-๓๘)

          ไกฟาสและพวกหัวหน้าคณะสงฆ์มีความผิดมากกว่านั้นเสียอีก เรารู้ว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะตัดสินใจเลือก ระหว่างชีวิตของชายคนหนึ่งกับอนาคตของชาติ แต่พวกเขาน่าจะได้ทํามากกว่าปิลาตในการแสวงหาความจริงเกี่ยวกับพระเยซู พวกเขาน่าจะมีใจเปิดกว้างเพื่อดูว่าชายผู้นี้มีอะไรดีหรือไม่ แต่สมมุติว่าไกฟาสเปิดใจ รับความจริงและหันมาเชื่อพระเยซู เขาจะต้องทําอย่างไรจึงจะรักษาข้อตกลงสันติภาพกับพวกโรมันไว้ได้ ? เราอาจเสนอแนะว่า ไกฟาสน่าจะเสี่ยงชีวิตโดยลาออกจากตําแหน่งเจ้าคณะสงฆ์ เข้าร่วมกับพระเยซู และช่วยกันประกาศความเชื่อในอาณาจักรพระเจ้า แต่นั่นเป็นสิ่งพ้นวิสัย จะมีใครในตําแหน่งสูงๆ ที่รักความจริงและมีความจริงใจมากพอที่จะสละสิ่งอื่นๆ ได้  และอาจจะเป็นเพราะเหตุนี้แหละที่สังคมสมัยนั้นกําลังจะต้องประสบภัยพิบัติ ไกฟาสไม่สามารถรับคําท้าทายที่พระเยซูเสนอให้

          ความตายของพระเยซูเป็นการพิพากษาพวกคัมภีราจารย์ พวกฟาริสี และคนอื่นๆที่ปฏิเสธพระเยซูโดยรู้ตัวถ้าพวกเขาได้ยอมรับพระเยซู  และเชื่อในอาณาจักรพระเจ้า  อาณาจักรนั้นก็จะมาถึง แทนที่จะเกิดภัยพิบัติ พวกเขาไม่ต่างจากคนจํานวนมากในยุคเรานี้   แต่ในการขึ้นศาลครั้งนั้นเราถือว่าพวกเขามีความผิด

8. การทดลองใจ

          พวกสาวกได้ถูกทดลองใจ มันเป็นการทดลองใจที่หนักมาก พวกเขาถูกทดลองใจว่าพร้อมที่จะตายกับพระเยซูเพื่อเห็นแก่มนุษยชาติหรือไม่ สาวกยูดาสทรยศพระเยซู สาวกเปโตรปฏิเสธว่าไม่รู้จักพระเยซู ส่วนสาวกอื่นๆหนีไปหมด

          พระเยซูเองถูกทดลองใจอย่างหนักที่สุด จนกระทั่งเลือดไหลออกมาแทนเหงื่อ และบอกให้พวกสาวกภาวนา ขออย่าให้ถูกทดลองใจหนักเช่นนั้น (มก.๑๔,๓๒-๓๘) พระเยซูเคยสอน พวกสาวกเสมอว่า ให้ภาวนาขออย่าให้ต้องตกอยู่ในภาวะเช่นนี้เลย ขออย่าให้ต้องถูกทดลองใจ นี่คือความหมายของบทภาวนา "อย่านําเราไปสู่การประจญ" (มธ.๖,๑๓;ลก.๑๑, ๔) พระเยซูไม่อยากให้ใครถูกทดลองใจแบบนี้

          แต่วิกฤติกาลก็มาถึง  และการทดลองใจก็หนักมาก  พระเยซูคนเดียวที่สามารถรับการท้าทาย ซึ่งทําให้พระเยซู "ลอย" ขึ้นเหนือทุกคนในขณะที่ความเงียบของพระเยซูพิพากษามนุษย์ทุกคน พระเยซูตายคนเดียว ในฐานะที่เป็นคนเดียวที่สามารถผ่านการทดลอง คนอื่น ๆ ทุกคนไม่ผ่าน แต่ได้รับโอกาสอีกครั้งหนึ่ง คริสตชนคือผู้ที่เชื่อในพระเยซู และมีแรงบันดาลใจให้ตอบรับการท้าทาย ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง

คำถาม
          1.พระเยซูถูกประหารด้วยเหตุผลใด ?
          2.ใครต้องรับผิดชอบความตายของพระเยซู ?
          3.การประจญหรือการทดลองอะไรที่หนักที่สุดสำหรับท่าน ?