Skip to main content

1. คนบาปทำร้ายพระเป็นเจ้า

      ผู้ทำบาป ทำอะไร?- ทำร้ายพระเป็นเจ้า ดูถูกพระเป็นเจ้า และทำเจ็บใจพระเป็นเจ้า

      ประการแรก บาปเป็นการทำร้ายพระเป็นเจ้า นักบุญโทมาสกล่าวว่า ความร้ายแรงของ จ่อมสุดแล้วแต่ผู้ถูกกระทำ ทำร้ายไพร่ เป็นความผิดทำร้ายเจ้านาย เป็นความผิดหนักขึ้น ทำร้ายในหลวง เป็นความผิดหนักขึ้นไปอีก

      พระเป็นเจ้า เป็นผู้ใดเล่า?- “เป็นในหลวงแห่งในหลวงทั้งหลาย” (วว. 17, 14) พระเป็นเจ้าทรงไว้ซึ่งพระมหิทธศักดิ์ใหญ่หลวงจนไม่มีขอบเขต หากจะเอาเจ้านายทั้งสิ้นในโลก และเอานักบุญและเทวดาทั้งสิ้นในสวรรค์ มาเปรียบกับพระองค์ เขาเหล่านั้นก็ไม่เท่ากับทรายเม็ดหนึ่ง (อสย. 40, 15) ยิ่งกว่านั้นท่านประกาศกอิสิยาห์กล่าวต่อไปว่า: ถ้าจะเอาสัตว์โลกทั้งหลาย มาเทียบกับความยิ่งใหญ่ของพระเป็นเจ้า เขาก็เล็กนิดเดียว แทบจะเป็นความเปล่า (อสย. 40, 17) พระเป็นเจ้าทรงเป็นดังนี้แหละ! ส่วนมนุษย์เล่าเป็นอะไร?- นักบุญเบอร์นาร์ดว่า “เป็นถุงอุจจาระ เป็นเหยื่อหนอน” (1) ซึ่งจะขบกินเขาในไม่ช้าคนเราเป็นหนอนน่าทุเรศ ซึ่งทำอะไรไม่ได้ เป็นหนอนตาบอดซึ่งมองอะไรไม่เห็นเป็นหนอนยากจนและเปลือย ซึ่งไม่มีอะไรเลย (วว. 3, 17) แล้วก็หนอนพรรค์นี้บังอาจทำร้ายพระเป็นเจ้า! (2) จึงเป็นอันถูกต้องตามเหตุผลแล้วที่ท่านนักบุญโทมาส กล่าวว่า: บาปของมนุษย์ บรรจุความร้ายแรง เกือบจะปราศจากขอบเขต (3) ยิ่งกว่านั้นอะก นักบุญเอากุสตินเรียกบาปว่า เป็นความชั่วอันไม่มีขอบเขตตรงๆ เลย จึงเป็นอันว่า แม้มนุษย์ทุก ๆ คน แม้เทวดาทุก ๆ องค์ จะถวายตัวพร้อมกันยอมตาย และแม้ยอมกลายเป็นความเปล่าไป ก็ไม่เพียงพอสำหรับจะชดเชยบาปแม้แต่ประการเดียว พระเป็นเจ้าทรงลงโทษบาปหนัก ด้วยพระอาชญาอันสาหัสในนรก แม้พระอาชญานี้จะอุกฤษฏ์เพียงไรก็ตามทีผู้ใคร่ธรรมทั้งหลายลงความเห็นว่า ยังเบากว่าโทษ ที่บาปควรจะต้องรับเสียอีก (3 ซ้ำ)

      ก็อาชญาโทษอันไหนเล่าจะสาสมลงโทษแก่หนอน ซึ่งบังอาจต่อกรกับพระสวามีเจ้าของตน พะรเป็นเจ้าทรงเป็นพระเจ้าของทุกสิ่ง เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้สร้างสรรพสิ่งมา (แอสแธร์ 13, 9) อันที่จริง สัตว์โลกทั้งหลายต่างเชื่อฟังพระเป็นเจ้า: “ลมและทะเลก็เชื่อฟังพระองค์” (มธ. 8, 27) “ไฟ ลูกเห็บ หิมะ น้ำแข็งก็ปฏิบัติตามรับสั่งของพระองค์” (สดด. 148, 8) ส่วนมนุษย์เมื่อกระทำบาปทำอะไรเล่า? - เขาบอกกับพระเป็นเจ้าว่า “ฉันไม่ยอมรับใช้” (ยรม. 2, 20) พระสวามีเจ้าทรงบัญชาสั่งเขาว่า “เจ้าอย่าแก้แค้น” มนุษย์ตอบพระองค์ว่า “ฉันจะแก้แค้น” “เจ้าอย่าเอาของของเขา- ก็ฉันจะเอานี่” เจ้าอย่าหาความสนุกอันเลวทรามเช่นนั้น- ก็ฉันจะหานี่”...คนบาปทูลพระเป็นเจ้าเช่นเดียวกับพระเจ้าฟาโรห์คราวเมื่อโมเสสนำพระโองการของพระเป็นเจ้าไปแจ้งให้ปล่อยประชาชาติของพระองค์เป็นอิสระ ราชันย์บ้าบิ่นผู้นั้นตอบว่า “พระสวามีผู้นั้นเป็นใคร ข้าถึงจะต้องฟังเสียง? ข้าไม่รู้จักเขา (อพย. 5, 2) คนบาปก็พูดดังนี้ ว่า “พระเจ้าหรือ ฉันไม่รู้จักพระองค์ฉันชอบใจอะไร ฉันก็ทำอันนั้น....” พูดโอยสรุป คือ เราประมาทพระเป็นเจ้าซึ่งหน้าเราหันหลังให้พระองค์ บาปหนักเป็นดังนี้แหละ คือเป็นการหันหลังให้พระเป็นเจ้าพระเป็นเจ้าทรงต่อว่าคนบาปในเรื่องนี้ว่า “เจ้าใจดำ เจ้าได้ล่ทิ้งเรา ฝ่ายเรานี้ไม่เคยได้ละทิ้งเจ้า เจ้าหันหลังให้เรา” (ยรม. 15, 6)

      พระเป็นเจ้าได้ทรงประกาศว่า พระองค์ทรงเกลียดบาป เพราะฉะนั้นจะเป็นอย่างอื่นมิได้ พระองค์ต้องทรงเกลียดผู้กระทำบาปด้วย “ทั้งคนอธรรมทั้งความอธรรมของเขา เป็นที่พึงเกลียดของพระเป็นเจ้าดุจกัน” (ปชญ. 14, 9) เมื่อคนเราทำบาป คือ บังอาจประกาศตนเป็นศัตรูของพระเป็นเจ้า และกล้าสู้กับพระองค์ซึ่งหน้า “เขาชูกำปั้นให้พระ” (โยบ. 15, 25) ท่านคิดอย่างไรเมื่อไปเห็นมดตัวหนึ่งหาญสู้กับทหาร?    พระเป็นเจ้า  คือผู้ทรงฤทธิ์ ซึ่งได้ทรงสร้างฟ้าและดินมาแต่ความเปล่า เพียงด้วยทรงให้สำคัญอันเดียว พระเป็นเจ้าได้ทรงสร้างสิ่งเหล่านั้นมาจากความเปล่า” (2 มคบ. 7, 28) และก็คนบาปขณะปลงใจทำบาปเขาชูกำปั้นให้พระ เขายกหัวขึ้น ทนงตนมาด่าแช่งพระ (โยบ 15, 25) อาวุธของเขาคือ คออันอ้วนอูม อีกนัยหนึ่ง คือ ความโง่ (ไขมัน หมายความถึงความโง่) เขาทำอาการเหมือนจะพูดว่า: บาปที่ฉันทำมันจะเป็นภัยใหญ่โตอะไรนักหนา? พระเป็นเจ้าทรงพระทัยดี จะทรงกรุณาจกโทษคนบาป โอ! นี่มันเป็นการหมิ่นประจาน! เป็นความบ้าบิ่น เป็นความบอดมืดแค่ไหนหนอ!

      ข้าเตือนใจและคำภาวนา

     ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า นี่แน่ะคนกบฏ คนบ้าบิ่น ผู้ได้บังอาจทำร้ายต่อพระองค์ซึ่งหน้าหลายครั้งหลายหนมาแล้ว ทั้งได้หันหลังให้พระองค์ด้วย แต่บัดนี้มากราบอยู่แทบพระบาท ขอพึ่งพระกรุณา พระองค์ได้ตรัสว่า “เจ้าจงร้องหาเรา และเราจะฟังเสียงของเจ้า” (ยรม. 33, 3) บัดนี้ข้าพเจ้าทราบแล้วว่า นรกยังเป็นโทษไม่สาสมกับความผิดของข้าพเจ้า แต่ขอพระองค์โปรดทราบด้วยเถิดว่า ข้าพเจ้าเป็นทุกข์เพราะได้ทำเคืองพระทัยแล้ว โอ้ องค์ความใจดีที่ล้นพ้น ข้าพเจ้าเสียใจเป็นทุกข์ถึงบาปยิ่งกว่าได้เสียสมบัติของข้าพเจ้าทั้งสิ้น และยิ่งกว่าได้เสียชีวิตของข้าพเจ้าเองอีกอา! พระสวามีเจ้าข้า ขอทรงอภัยบาป และอย่าทรงปล่อยให้ข้าพเจ้าทำขุ่นหมองพระทัยอีกเลยพระเจ้าข้า พะรองค์ได้ทรงคอยข้าพเจ้าเข้ามาถวายพระพรแด่ความเมตตากรุณาของพระองค์ และได้ทรงคอยข้าพเจ้ามารักพระองค์ ก็บัดนี้ข้าพเจ้ามาถวายพระพร และมารักพระองค์แล้ว พระเจ้าข้า และด้วยเดชะพระบารมีมีแห่งพระเยซูคริสต์ ข้าพเจ้าหวังว่าจะไม่พรากจากความรักต่อพระองค์อีกเลย ความรักของพระองค์ได้ช่วยข้าพเจ้าให้พ้นนรกแล้ว ข้าพเจ้าก็ต้องการให้ความรักของพระองค์นี้เอง ช่วยข้าพเจ้าให้พ้นจากบาปต่อไปในภายหน้าด้วยพระสวามีเจ้าข้า ขอฉลองพระคุณที่ได้ทรงประทานให้ข้าพเจ้าได้รับแสงสว่างและควารมปรารถนาจะรักพระองค์เสมอดังนี้ โปรดเถิด โปรดครอบครองตัวข้าพเจ้าคือวิญญาณ ร่างกาย สมรรถภาพ ความรู้สึก เจตนา และอิสระภาพของข้าพเจ้า “ข้าพเจ้าเป็นของของพระองค์แล้ว โปรดช่วยข้าพเจ้าให้รอดเถิด” (สดด. 118, 94) พระองค์ผู้เดียว คือองค์ความดี พระองค์ผู้เดียว คือองค์ความน่ารัก ขอให้พระองค์แต่ผู้เดียวเท่านั้น จงเป็นความรักของข้าพเจ้าด้วยเถิด โปรดให้ข้าพเจ้าร้อนระอุอยู่ด้วยความรักต่อพระองค์ พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าได้กระทำผิดจำนวนมากมายต่อพระองค์ฉะนั้นจะให้ข้าพเจ้ารักพระองค์เฉย ๆ เท่านั้นยังไม่พอ ข้าพเจ้าต้องการรักพระองค์มาก ๆ เพื่อเป็นการชดเชยการหมิ่นประจานที่ข้าพเจ้าได้กระทำต่อพระองค์ ข้าพเจ้าหวังจะได้ตามที่วิงวอนขอมานี้ โดยพึ่งพระฤทธานุภาพของพระองค์พระเจ้าข้า

      พระแม่มารีอาเจ้าข้า ข้าพเจ้าไว้ใจจะได้ดังขอนี้ ด้วยอาศัยคำวิงวอนของท่านด้วย เพราะว่าคำวิงวอนของท่าน มีฤทธิ์ทุกประการเฉพาะพระพักตร์ของพระเป็นเจ้า


 

2. คนบาปดูถูกพระเป็นเจ้า

      คนบาป ใช่ว่าจะทำร้ายพระเป็นเจ้า แต่เขายังดูถูกพระองค์อีกด้วย (รม. 2, 23) ถูกแล้ว ทั้งนี้เพราะเขาละทิ้งพระหรรษทานของพระองค์ เขาเหยียบย่ำมิตรภาพของพระองค์ เพราะเห็นแก่ความสนุกอันเลว ๆ แม้ว่ามนุษย์เราจะยอมเสียมิตรภาพกับพระเป็นเจ้า เพื่อเห็นแก่อาณาจักรหนึ่งอาณาจักร หรือเพื่อจะได้ทั้งโลกจักรวาล ก็ยังต้องนับว่าได้กระทำผิดมาก เพราะมิตรภาพของพระเป็นเจ้ามีค่ามากกว่าโลกทั้งโลก และมากกว่าโลกพันโลกเป็นไหน ๆ แต่เมื่อคนบาปทำผิดต่อพระ เขาทำเพราะเห็นแก่อะไรเล่า? (สดด. 10, 13) เพราะเห็นแก่ดินก้อนหนึ่งความเดือดฟุ้งซ่านอันหนึ่ง ความสนุกประสาสัตว์เดรัจฉานประเดี๋ยวหนึ่ง ควันกลุ่มหนึ่ง อารมณ์ประเดี๋ยวหนึ่ง (อสค. 13, 19) เมื่อเวลาคนบาปยับยั้งชั่งใจดูว่าจะยินยอมทำบาปหรือไม่ทำ เมื่อนั้นเขามีอาการคล้ายจับตราชู และชั่งดูว่าอันไหนจะหนักกว่ากัน พระหรรษทานของพระเป็นเจ้า หรือตัณหาอันนั้น ควันกลุ่มนั้นความสนุกอันนั้น? และเมื่อเขาตกลงยินยอมก็เท่ากับเขาประกาศว่า: ตามราคาของมัน ตัณหาอันนั้น ความสนุกอันนั้น มีค่ามากกว่ามิตรภาพของพระเป็นเจ้า! นี่แหละ คนบาปทำให้พระเป็นเจ้าได้รับความอับอายด้วยประการฉะนี้!

      กษัตริย์ดาวิด ใคร่ครวญดูความยิ่งใหญ่ไพศาล และมหิทธิศักดิ์ของพระเป็นเจ้า ท่านจึงอุทานว่า “พระสวามีเจ้าข้า ใครหนอจะเสมอเหมือนพระองค์?” (สดด. 34, 10) แต่ เมื่อพระเป็นเจ้า ทรงเห็นคนบาปเอาพระองค์มาชั่งกับความสนุกอันสารเลว แล้วยังถือว่ามันดีกว่าพระองค์ พระองค์จึงตรัสบริภาษว่า “เจ้าเอาเราไปเปรียบกับอะไร? เจ้าถือว่าเราเท่าเสมอกับอะไร?” (อสย. 40, 25) ความสนุกสารเลวอันนั้น มีค่ามากกว่าพระหรรษทานของเรา กระนั้นหรือ? เจ้าจึงได้ละทิ้งเรา หันหลังให้เรา (อสค. 23, 35) หากว่าเจ้าจะต้องเสียมือข้างหนึ่งจะต้องเสียเงินสิบเหรียญ หรือบางทีน้อยกว่าอีก เจ้าก็คงจะไม่ได้ยอมกระทำบาปนั้น ๆ เพราะเหตุดังกล่าวนี้แกละ ท่านซาลวีอาโน จึงว่า “พระเป็นเจ้าผู้เดียวเท่านั้น ที่เป็นของเลวเฉพาะตาของเจ้า เลวจนถือกันว่า ความฟุ้งซ่านอันหนึ่งความได้สมใจอันชั่วช้าสามานย์อันหนึ่งดีกว่าพระองค์”

      อนึ่ง เมื่อคนบาปยอมทำผิดต่อพระเป็นเจ้า เพราะตัณหาอันใดอันหนึ่งตัณหาอันนั้นก็กลายเป็นพระเป็นเจ้าของเขาไป เพราะเหตุที่เขาถือมันเป็นจุดหมายปลายทางของเขา นักบุญฮีเอโรนีโม กล่าวว่า “ผู้ใดนมัสการสิ่งที่เขาปรารถนาสิ่งนั้นก็กลายเป็นพระเป็นเจ้าสำหรับเขา “พยศชั่วในใจ ก็คือ ปฏิมากรบนแท่น” (4)   และนักบุญโทมาส กล่าวว่า “หากเจ้ารักความปลาบปลื้ม ความปลาบปลื้มอันนั้นก็เป็นพระของเจ้า” (5) นักบุญชีปรีอาโนก็กล่าวเช่นเดียวกันว่า “ใครถืออะไรดีกว่าพระ คนนั้นก็ถืออันนั้นเป็พระของเขา” (6) คราวเมื่อกษัตริย์เยโรโบอัมทรยศต่อพระเป็นเจ้า และตั้งใจจะนำประชาราษฎรไปนับถือพระเท็จเทียมอย่างเดียวกับตน จึงเอารูปปฏิมากรออกแสดง แล้วพูดว่า “นี่แน่ะ อิสราแอล พระเป็นเจ้าข้องเจ้า” (1 พกษ. 12, 28) ปีศาจก็ทำเช่นนี้เหมือนกันมันนำเอาความสนุกอันนั้นมาแสดงแก่คนบาป พลางพูดว่า: ธุระอะไรกับพระเป็นเจ้า? พระเจ้าของเจ้า ก็คือความสนุกอันนี้ ตัณหาอันนี้ เอานี่ซิ ทิ้งพระเสียเถอะ! เมื่อคนบาปปลงใจทำบาป เขาก็ทำเช่นนี้จริง ๆ คือนมัสการความสนุกอันนั้นในใจของเขาแทนที่จะนมัสการพระเป็นเจ้า พยศชั่วภายในใจ ก็คือ ปฏิมากรบนแท่น”

      แต่เมื่อคนบาปดูถูกพระเป็นเจ้า เขาไม่ยอมทำดังนั้นเฉพาะพระพักตร์ของพระองค์ก็ยังไม่เป็นไร แต่มันหาเป็นเช่นนั้นไม่ เขาทำร้าย และดูถูกพระองค์ซึ่งหน้า ด้วยว่า พระเป็นเจ้าทรงสถิตอยู่ทุกแห่งหน (ยรม. 23, 34) เรื่อง นี้ คนบาปก็รู้ แต่เขายังบังอาจสบประมาทพระเป็นเจ้า เฉพาะพระพักตร์อีก (อสย. 65, 3)

      ข้อเตือนใจและคำภาวนา

     พระผู้เป็นเจ้า เจ้าข้า พระองค์คือองค์คุณงามความดีอันหาขอบเขตมิได้แต่ถึงกระนั้น หลายครั้งหลายคราวนักแล้ว ข้าพเจ้าได้นำพระองค์มาแลกกับความสนุกอันเลวทราม ซึ่งพอได้ลิ้มรสก็หายสูญไป แม้ข้าพเจ้าได้หมิ่นประมาทพระองค์ดังนี้ ถึงกระนั้น หากข้าพเจ้ายินยอม พระองค์ก็ทรงเตรียมพร้อมจะอภัยโทษให้ และหากข้าพเจ้าเป็นทุกข์เพราะความผิดที่ได้กระทำ พระองค์ก็ทรงสัญญาจะรับข้าพเจ้ากลับเข้าอยู่ในพระหรรษทานของพระองค์ดังเดิม โอ พระสวามีเจ้า แน่ทีเดียว ข้าพเจ้าเป็นทุกข์เพราะความผิดที่ได้ล่วงเกินเกินพระองค์ และข้าพเจ้าเกลียดชังบาปยิ่งกว่าความชั่วใด ๆ ทั้งสิ้น ณ กาละบัดนี้ ข้าพเจ้าได้สมความคาดหวังแล้ว ข้าพเจ้ากลับเข้ามาหาพระองค์ พระองค์ก็ทรงโปรดต้อนรับข้าพเจ้า และทรงสวมกอดข้าพเจ้าดังลูก โอ! องค์เจ้าพระคุณ ผู้ทรงพระทัยดีปราศจากขอบเขต ข้าพเจ้าขอฉลองพระมหากรุณาธิคุณ โปรดช่วยข้าพเจ้าต่อ ๆ ไปด้วยเถิด นับแต่นี้เป็นต้นไป ขออย่าทรงปล่อยให้ข้าพเจ้าขับไล่พระองค์ไปอีกเลย พระเจ้าข้า อย่างไรก็ดี นรกจะไม่หยุดยั้งมาประจญข้าพเจ้าอีก แต่พระองค์ทรงฤทธิ์มากกว่ามันมากนัก ข้าพเจ้าทราบว่า หากข้าพเจ้าฝากตนไว้กับพระองค์ ข้าพเจ้าก็จะไม่ต้องพรากจากพระองค์ไปอีกเลย ฉะนั้นพระหรรษทานที่ข้าพเจ้าต้องการให้พระองค์ประทานในเวลานี้ คือ ขอให้ข้าพเจ้าฝากตัวไว้กับพระองค์เสมอ ขอให้ข้าพเจ้าเฝ้าวิงวอนพระองค์เสมอ ดั่งเช่นข้าพเจ้ากระทำอยู่นี้ว่า “พระสวามีเจ้าข้า โปรดช่วยเหลือข้าพเจ้า โปรดประทานความสว่าง พระกำลัง ความคงเจริญในความดี และสวรรค์แก่ข้าพเจ้า แต่เฉพาะอย่างยิ่ง โปรดประทานให้ข้าพเจ้ารักพระองค์เถิด เพราะว่าความรักต่อพระองค์ คือ สวรรค์ของวิญญาณโดยแท้ องค์ความใจดีที่ล้นพ้น เจ้าข้า ข้าพเจ้ารักพระองค์ และใคร่จะรักพระองค์เสมอ โปรดอนุญาตตามคำวิงวอนของข้าพเจ้า โดยเห็นแก่ความรักของพระองค์ต่อพระเยซูคริสต์ ด้วยเถิด พระเจ้าข้า

      ข้าแต่พระนางมหามารีอา ที่หลบภัยของคนบาป กรุณาข่วยเหลือคนบาปผู้ปรารถนาจะรักพระเป็นเจ้าของท่าน ด้วยเถิด


 

3. คนบาปทำร้ายน้ำพระทัยพระเป็นเจ้า

      คนบาปทำร้ายพระเป็นเจ้า ดูถูกพระเป็นเจ้า ฉะนั้นจึงทำร้ายน้ำพระทัยพระเป็นเจ้าอย่างสาหัสฉกรรจ์อีกด้วย คนเราไม่รู้สึกเจ็บอะไรมากไปกว่า เมื่อเห็นบุคคลที่เรารัก และเราให้ความช่วยเหลือ กลับทำใจดำตอบแทนเรา คนบาปทำเช่นนี้กับใครเล่า? เขาทำร้ายพระเป็นเจ้า ผู้ทรงสร้างเขามา ผู้ทรงรักเขาจนทรง พลีพระชนม์ชีพและพระโลหิตเพื่อเขา และเพราะการทำบาปหนัก เขาขับไล่พระเป็นเจ้าออกจากดวงใจของเขา วิญญาณใดที่พระเป็นเจ้าทรงรัก พระองค์ก็เสด็จมาประทับอยู่ในวิญญาณนั้น “ผู้ใดรักเรา...พระบิดาของเราจะทรงรักผู้นั้น แบะเรา (พระบิดา พระบุตร พระจิต) จะมาหาเขา และจะประทับอยู่ในตัวเขา” (ยน. 14, 23) โปรดสังเกตคำว่า “ประทับอยู่” พระเป็นเจ้าเสด็จมาในวิญญาณ ก็เพื่อประทับประจำอยู่เรื่อยไป พระองค์ไม่ทรงยอมละวิญญาณนั้นหากเขาไม่ขับไล่พระองค์ออกไป ตามคำของสังคายนา แห่งเมืองเตรนท์ (7) แต่พระสวามีเจ้าข้า พระองค์ทรงทราบดีว่า ในไม่ช้า มนุษย์ไจดำผู้นั้นจะขับไล่พระองค์ออกไป เหตุไฉนไม่เสด้๗ออกไปเสียก่อนเล่า พระเจ้าข้า? พระองค์จะทรงคอยให้เขาขับไล่พระองค์ทีเดียวหรือ พระเจ้าข้า? ทิ้งเขาเสียเถิด โปรดเสด้๗ไปเสียก่อนที่เขาจะเหยียดหยามพระองค์เช่นนั้น พระเจ้าข้า แต่พระเป็นเจ้าตรัสตอบว่า: ไม่ใช่อย่างนั้น ตราบใดเขาไม่ขับไล่เราโดยตรง ตราบนั้น เราจะไม่ยอมออกห่างจากเขา

      เป็นอันว่า เมื่อคนบาปตกลงปลงใจทำบาป เขาก็พูดกับพระเป็นเจ้าว่า: พระสวามี ไปออกไปให้พ้น (โยบ. 21, 14) นักบุญเกรโกรี บอกว่า: เขาไม่พูดเช่นนี้ด้วยปาก แต่พูดด้วยกิจการ (8) คนบาปรู้ดีว่า พระเป็นเจ้าไม่สามารถประทับอยู่ร่วมกับบาป เขาเห็นว่า เมื่อตนทำบาป พระเป็นเจ้าก็จำเป็นต้องเสด็จออกไป เขาจึงพูดกับพระองค์ว่า: ไหน ๆ พระองค์จะอยู่ร่วมกับบาปของฉันไม่ได้ก็เชิญเสด็จไปเสียให้พ้น สวัสดี เมื่อได้ขับไล่พระเป็นเจ้าออกจากวิญญาณแล้วเขาก็เชิญปีศาจเข้ามาครองกรรมสิทธิ์แทนที่ทันที ศัตรูก็เข้ามาทางประตูที่พระเป็นเจ้าเสด็จออกไปนั้น “และเมื่อนั้นมันนำพวกพ้องของมันอีกเจ็ดตนที่ชั่วช้าสามานย์กว่ามันอีก ยกโขยงเข้ามาตั้งสำนักอยู่ในวิญญาณนั้น” (มธ. 12, 45) ในพิธีโปรดศีลล้างบาปแก่ทารก พระสงฆ์สั่งปีศาจว่า “เจ้าจงออกไป อ้ายจิตลามก จงให้ที่แด่พระจิตเจ้า” (9) เรื่องนี้เป็นจริง เพราะว่าเมื่อวิญญาณใดรับพระหรรษทาน วิญญาณนั้นก็กลายเป็นวิหารของพระเป็นเจ้า (1 คร. 3, 16) แต่เมื่อผู้ใดปลงใจทำบาป ผู้นั้นก็ทำตรงกันข้าม คือพูดกับพระเป็นเจ้า ซึ่งประทับอยู่ในใจของตนว่า: พระสวามี เชิญไปให้พ้นได้แล้ว ฉันจะให้ปีศาจมาอยู่ (10) พระสวามีเจ้าทรงแสดงความน้อยพระทัย ตรัสกับนักบุญปริยิด เรื่องที่พระองค์ถูกคนบาปขับไล่เหมือนกับกษัตริย์ถูกถอดจากราชสมบัติว่า: เราเป็นประหนึ่งพระราชาที่ถูกขับไล่ออกจากพระราชบัลลังก์ แล้วเขาเลือกเอาหัวหน้าโจรขึ้นมาแทนที่ของเรา” (11)

      ท่านจะรู้สึกแค้นใจแค่ไหน ถ้าคนที่ท่านได้ทำบุญคุณมากมายให้ กลับมาด่าว่าท่านให้เสียหาย? ก็ความแค้นใจดั่งนี้แหละ เมื่อท่านทำบาป ท่านก็ได้ทำต่อพระเป็นเจ้า พระองค์ซึ่งมีพระทัยดีรักท่าน จนทรงยอมพลีพระชนม์ชีพ เพื่อช่วยให้ท่านรอด เพราะความใจดำที่คนบาปแสดงต่อพระเป็นเจ้านี้เอง ดูเหมือนว่าพระองค์ทรงเรียกร้องให้ฟ้าและแผ่นดินมาร่วมทุกข์กับพระองค์ว่า “ฟังเถิดฟ้าเจ้าเอ๋ย เงี่ยเถิด แผ่นดินเจ้าเอ๋ย เราได้เลี้ยงลูก และอุ้มชูพวกลูกไว้ แต่เขากลับมาประมาทเรา” (อสย. 1, 2) สรุปความคือ เมื่อคนบาปทำบาป เขาทำร้ายน้ำพระทัยพระเป็นเจ้า (อาย. 63, 10) คุณพ่อเมดีนา กล่าวว่า: พระเป็นเจ้าทรงเจ็บปวดไม่ได้ แต่หากจะทรงเจ็บปวดได้บาปหนักแต่ประการเดียวเท่านั้นพอจะสังหารพระองค์ เพราะความแค้นใจอย่างเดียวเท่านั้นพอจะสังหารพระองค์ เพราะความแค้นใจอย่างเดียวเท่านั้น (12) เป็นอันว่าสมจริงตามที่นักบุญเบอร์นาร์ดกล่าวไว้: บาปในตัวมันเองเป็นเครื่องประหารพระเป็นเจ้า (13) ฉะนั้นจึงพูดได้ว่า: เมื่อคนบาปทำบาปหนักเขาวางยาพิษแก่พระเป็นเจ้าอย่างน้อย ในกิจการของเขา เขาทำกิจการซึ่งอันอาจปลิดพระชนม์ชีพของพระองค์ได้ (สดด. 10, 4) นักบุญเปาโลกล่าวว่า: เขาเหยียบย่ำพระบุตรของพระเป็นเจ้า (ฮบ. 10, 29) ทั้งนี้เพราะว่า เขาประมาททุกสิ่ง ที่พระเยซูคริสต์ได้ทรงบำเพ็ญ และทรงรับทน เพื่อชำระล้างบาปจากโลกนั่นเอง

      ข้อเตือนใจและคำภาวนา

     พระมหาไถ่เจ้าข้า เป็นอันว่า ทุกครั้งที่ข้าพเจ้ากระทำบาป ข้าพเจ้าก็ขับไล่พระองค์ออกจากวิญญาณ และทำร้ายด้วยความตั้งใจที่จะฆ่าพระองค์หากพระองค์ทรงมรณะได้! บัดนี้ ข้าพเจ้าได้ยินพระสุรเสียงของพระองค์ตรัสถามข้าพเจ้าว่า “เราได้ทำอะไรแก่เจ้า ได้ทำให้เจ้าน้อยเนื้อต่ำใจอย่างใดหรือ? ให้ตอบมาทีซิ” (14) พระสวามีเจ้าข้า พระองค์ทรงถามข้าพเจ้าว่า พระองค์ได้ทรงทำร้ายแก่ข้าพเจ้าอย่างใดหรือ? ที่ข้าพเจ้าเป็นอยู่บัดนี้ พระองค์เป็นผู้ประทานให้ พระองค์คือผู้ได้ทรงสิ้นพระชนม์เพื่อข้าพเจ้า: นี่แหละ การทำร้ายของพระองค์ต่อข้าพเจ้า! ข้าพเจ้าจะหาคำอันใดมาตอบพระองค์ พระเจ้าข้า? ขอสารภาพว่า ข้าพเจ้าสมจะไปนรกพันนรกแล้ว ยุติธรรมที่สุดแล้ว ที่พระองค์จะทรงลงโทษให้ข้าพเจ้าไปสู่นรก แต่ทรงพระกรุณาเถิด โปรดระลึกถึงความรักที่ได้บันดาลให้พระองค์ทรงสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนเพื่อข้าพเจ้า โปรดระลึกถึงพระโลหิตที่ได้ทรงหลั่ง เพราะทรงรักข้าพเจ้า และโปรดเอ็นดูสงสารข้าพเจ้าด้วยเถิด พระเจ้าข้า! ข้าพเจ้าทรงปรารถนาให้ข้าพเจ้าเสียใจ พระองค์กลับทรงบอกข้าพเจ้าว่า พระองค์อยู่เคียงประตูดวงใจที่ข้าพเจ้าขับไล่พระองค์ออกไปนั้นเอง และกำลังทรงโปรดพระหรรษทานเป็นอันมากดลใจข้าพเจ้า คล้ายกับทรงเคาะประตูนั้น เพราะทรงประสงค์จะเสด็จเข้ามาอีก และทรงเรียงร้องให้ข้าพเจ้าเปิดประตูดวงใจนั้นต้อนรับพระองค์ (วว. 3, 20) พระเยซูเจ้าข้า บัดนี้ข้าพเจ้าขับไล่บาปออกไปจากดวงใจแล้ว ข้าพเจ้าเสียใจเป็นอันมากที่ได้กระทำมัน ข้าพเจ้ารักพระองค์ยิ่งกว่าอะไร ๆ ทั้งหมดแล้วพระเจ้าข้า โปรดเสด็จเข้ามาเถิด องค์ความรักเจ้าข้า ประตูเปิดคอยรับพระองค์อยู่แล้ว โปรดเสด็จเข้ามา และขออย่าเสด็จออกไปอีกเลย พระเจ้าข้า โปรดผูกมัดข้าพเจ้าให้ติดแน่นกับความรักของพระองค์ และอย่าทรงปล่อยให้ข้าพเจ้าพรากจากพระองค์ได้อีกเลย (15) ไม่เอาแล้ว พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าไม่ยอมพรากจากพระองค์อีกแล้ว ขอสวมกอดพระองค์ และแนบพระองค์ไว้กับดวงใจ ขอประทานให้ข้าพเจ้ามีความคงเจริญในความดีตลอดไปเถิด พระเจ้าข้า

      พระนางมารีอา โปรดช่วยข้าพเจ้าเสมอ โปรดวิงวอนพระเยซูเพื่อข้าพเจ้า: ให้ข้าพเจ้ามีบุญ ไม่เสียพระหรรษทานของพระองค์อีกต่อไปเลย พระเจ้าข้า


(1) Saccus stercorum, cibus vermium (S. Bern. Medit c. 3)

(2) Tam tremendam Majestatem audit vilis pulvisculus irritare? (S. Bern.)

(3) Peccatum habet quondam infinitatem mlitiae ex infinitate divinae Majestatis. (S.Th.P.3 Q 2, C, 2 ad 2).

(3b) Citra condignum.

(4) Unusquisque quod cupit, si venerator, hoc illi Deus est, Vitium in corde est idolum in altari.

(5) Si amas delicias, deliciae dicuntur Deus tuus.

(6) Quidquid homo anteponit, Deum sibi facit.

(7) Non deserit, nisi deseratur.

(8) Recede, non verbis, sed moribus.

(9) Exi ad eo, immunde spiritus, et da locum Spiritui Sancto.

(10) Exi a me, Domine, da locum diabolo.

(11) Sum tamquam rex a proprio regno expulsus, et loco mei, latro pessimus electus est.

(12) Peccatum mortale, si possible esset, destrueret ipsum Deum, eo quod causa esset tristitiae in Deo infinitae (Satisf. 9, 1).

 (13) Peccatum quantum in se est Deum dirimit.

(14) Quid feci tibi aut quid molestus fui tibi? responde himi.

(15) Ne permittas me separarari a te.

ชาวยิวที่อยู่ในเขตปาเลสไตน์สมัยพระเยซู ภาวนาขอให้มีพระผู้ไถ่ (เมสสิยาห์) บทภาวนาที่ใช้สวดกันในศาลาธรรม(เพลงสดุดีของซาโลมอน และคําอวยพร ๑๘ ประการ) มีทํานองว่า เมสสิยาห์คือผู้ที่จะเป็นกษัตริย์ในตระกูลของกษัตริย์เดวิด เมสสิยาห์จะต้องเป็นผู้ปกครองที่มีอํานาจมาก และจะตีผู้นําที่ชั่วช้าให้แตกกระจาย และทุบให้แตกเป็นเสี่ยงด้วยท่อนเหล็ก และจะทําลายชนชาติที่ไร้พระเจ้าด้วยคําพูดจากปาก เมสสิยาห์จะใช้ท่อนเหล็กเพื่อทําให้ทุกคนมีความเกรงกลัวพระเจ้า และชี้นําให้ทุกคนทําความดี ชาวยิวโดยทั่วไปหวังจะให้มีกษัตริย์องค์หนึ่งที่มีอํานาจ ทางการเมืองและการทหาร เพื่อจะสร้างอาณาจักรอิสราเอลขึ้นมาใหม่

1.พระเยซูไม่เคยประกาศตัวเป็นพระเมสสิยาห์

          เมื่อเราเปรียบเทียบคำว่า“เมสสิยาห์”ตามความคิดของชาวยิว   กับ อาณาจักรที่พระเยซูประกาศสอน เราคงจะไม่แปลกใจที่เห็นว่า พระเยซูไม่เคยอ้างตัวเป็นเมสสิยาห์  ไม่ว่าอ้างตรงๆหรือโดยทางอ้อม นักพระคัมภีร์ส่วนใหญ่ในปัจจุบันยอมรับข้อเท็จจริงข้อนี้

          ในพระวรสารบางตอนดูเหมือนว่าพระเยซูอ้างตัวว่าเป็นเมสสิยาห์ แต่เห็นได้ชัดว่าเป็นผู้เขียนพระวรสารเองที่มั่นใจว่าพระเยซูคือเมสสิยาห์ กระนั้นก็ดี ผู้เขียนพระวรสารทั้ง ๔ ก็ซื่อสัตย์ต่อข้อมูลและมีความถี่ถ้วนทางประวัติศาสตร์มาก จึงไม่ได้ยืนยันว่าพระเยซูอ้างตนเป็นเมสสิยาห์ และไม่ได้เว้นที่จะบันทึกลงไปด้วยว่าพระเยซูห้ามมิให้เรียกเมสสิยาห์ ดูเหมือนพระเยซูถือว่า การที่คนอื่นเรียกตนว่าเป็นเมสสิยาห์ หรือที่คนอื่นรบเร้าให้พระเยซูรับเป็นเมสสิยาห์  เป็นการผจญล่อลวงของมาร (ซาตาน) ฉะนั้นจะยอมคล้อยตามไม่ได้

2. พระเยซูถูกประจญ

          ในระหว่างที่หลบภัยอยู่นี้  มีเหตุการณ์ ๒ อย่าง ที่เป็นจุดกําเนิดของเรื่องพระเยซูถูกมารประจญ ให้รับเป็นกษัตริย์ ซึ่งเราจะเรียกว่าการประจญ ๒ ครั้ง

. การประจญครั้งแรก

          การประจญครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อชายประมาณ ๔ ถึง ๕ พันคน(ไม่มีผู้หญิงและเด็ก)จากแคว้นกาลิลีออกไปตามเนินที่เปลี่ยวใกล้เมืองเบทไซดา เพื่อพบกับพระเยซูและพวกสาวก พวกเขาออกไปทําไม ? และทําไมจึงมีแต่ผู้ชาย ? ใครเป็นผู้จัดการพบปะครั้งนี้ ? และทําไมจึงมาพร้อมกันเป็นจํานวนมากเช่นนี้ได้ ? เราไม่สงสัยเลยว่าการชุมนุมครั้งนี้ได้เกิดขึ้นจริง เพราะพระวรสารทั้ง ๔ และแหล่งข้อมูลต่างๆ มีบันทึกเรื่องนี้ทั้งนั้น เพียงแต่ว่าความสนใจมุ่งไปสู่ความหมายของ "อัศจรรย์ทวีปังและปลา"

          ข้อความบางประโยคชี้นําให้เราเข้าใจว่าการชุมนุมครั้งนั้น เดิมทีเดียวมีจุดประสงค์ และมีความสําคัญอย่างไร มาร์โกบอกว่าพระเยซูรู้สึกเห็นใจฝูงชนหลายพันคนนั้น เพราะพวกเขา "เป็นเหมือนฝูงแกะที่ไม่มีชุมพาบาล" ดังนั้น "พระเยซูจึงสั่งสอนพวกเขาอย่างยืดยาว" (มก.๖,๓๔) เข้าใจว่าพระเยซูคงจะสอนว่าอาณาจักรพระเจ้าเป็นอย่างไร และดังที่เราได้พบมาแล้วในบทก่อนๆว่า พระเยซูสอนให้พวกเขารู้จักแบ่งปันอาหาร ตามคําเล่าของยอห์น เหตุการณ์ครั้งนี้จบลงโดยที่พวกเขาพูดกันว่า "นี่เป็นประกาศกที่ต้องมาในโลกนี้แน่ ฝ่ายพระเยซูเห็นว่าพวกเขากําลังจะจับตนและตั้งให้เป็นกษัตริย์ จึงถอยหนีขึ้นไปบนเนินเขาตามลําพัง" (ยน.๖,๑๔-๑๕) ตามคําเล่าของมาร์โก พระเยซูต้องบังคับให้พวกสาวกลงเรือและล่วงหน้าไปก่อน ขณะที่พระเยซูจัดการให้ฝูงชนกลับไป แล้วขึ้นไปสวดภาวนาบนเนินเขา (มก.๖,๔๕-๔๖; มธ.๑๔,๒๒-๒๓)

          เราไม่รู้ว่าใครเป็นผู้จัดชุมนุม แต่คงไม่ใช่พวกซีลอท เพราะความคิดและวิธีการเข้ากับพระเยซูไม่ได้แน่ดังที่เราเห็นมาแล้ว และในระยะนี้พวกซีลอทค่อนข้างจะเงียบอยู่ เนื่องจากไม่มีผู้นําที่เด่นๆ (ฝูงแกะที่ไม่มีชุมพาบาล) ตําแหน่งผู้นําของพวกซีลอทเป็นตําแหน่งแบบสืบสกุล คือจากพ่อไปถึงลูก เหมือนกับพวกผู้นํามัคคาบีในยุคก่อนนั้น พวกซีลอทไม่ใช่เป็นพวกชาตินิยมพวกเดียว มีกลุ่มอื่นๆอีกที่ต้องการล้มล้างอํานาจยึดครองของโรมันและต้องการตั้งราชอาณาจักรอิสราเอลแทน (นักเขียนบางคนเข้าใจว่า ชาวยิวทุกคนที่ใช้ความรุนแรงเพื่อปลดแอกโรมัน เรียกว่าพวกซีลอททั้งนั้น ที่จริงไม่ใช่ พวกซีลอทรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนมี เอกลักษณ์ของตนเฉพาะ ในตอนปลายเมื่อพวกซีลอทนําพรรคพวกก่อการกบฏ พวกยิวทุกคนที่พร้อมจะต่อสู้ก็ได้เข้าร่วมขบวนภายใต้การนําของพวกซีลอท)

          ชายชาวยิวผู้รักชาติประมาณ ๕ พันคนออกไปในที่เปลี่ยว เพื่อชักชวนพระเยซูให้เป็นผู้นํา พระเยซูเป็นคนแคว้นกาลิลี เป็นประกาศก ทําสิ่งที่น่าทึ่งได้หลายอย่าง มีพรสวรรค์ในการเป็นผู้นํา และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็ได้ประจัญหน้ากับพวกผู้มีอํานาจในเมืองเยรูซาเลมที่พระวิหาร นอกนั้นมีข่าวลือด้วยว่าพระเยซูมีเชื้อสายกษัตริย์เดวิด

          พระเยซูเห็นใจและเข้าใจความต้องการของพวกเขา ที่อยากได้ผู้นําสู่อิสรภาพ แต่พระเยซูพยายามจูงใจพวกเขาให้เห็นว่า วิธีของพระเจ้าไม่เหมือนกับวิธีของมนุษย์ และอาณาจักรพระเจ้าไม่เหมือนกับอาณาจักรของมนุษย์แบบที่เห็นๆ กันอยู่ พระเยซูคงจะได้เชิญชวนให้พวกเขาเปลี่ยนหัวใจและเชื่อในอาณาจักรพระเจ้า แต่คําสอนของพระเยซู รวมทั้งอัศจรรย์แห่งการแบ่งปัน ยิ่งทําให้พวกเขาแน่ใจมากขึ้นว่า พระเยซูคือเมสสิยาห์หรือผู้ที่พระเจ้าเลือกสรรให้เป็นกษัตริย์ ฉะนั้นก่อนที่สถานการณ์จะควบคุมไม่ได้ พระเยซูจึงบังคับให้พวกสาวกลงเรือแล้วพระเยซูก็สลายฝูงชน หลังจากนั้นพระเยซูรู้สึกตัวว่าต้องการความสงบเพื่อการรําพึงภาวนา

. การประจญครั้งที่สอง

          การประจญครั้งที่สองมาจากเปโตร ที่บริเวณซีซาริยา-ฟิลิปปี  ประชาชนทั่วไปนับถือพระเยซูเป็นประกาศก เหมือนกับยอห์นแบปติสต์ เอลิยาห์ เยเรมี หรือประกาศกอื่นๆ แต่เปโตรประกาศในนามของเพื่อนสาวกว่า ตนนับถือพระเยซูเป็นเมสสิยาห์ พระเยซูจึงห้ามพวกสาวกอย่างเด็ดขาดว่า ไม่ให้พูดให้คนอื่นฟัง แล้วเริ่มอธิบายว่าตนจะต้องถูกกําจัด แล้วนั้นเปโตรพาพระเยซูออกไปห่าง ๆ เพื่อตําหนิพระเยซู  ฝ่ายพระเยซูก็ตําหนิเปโตรบ้าง โดยพูดว่า "ถอยไปข้างหลัง ซาตาน! เจ้าไม่คิดแบบพระเจ้า แต่คิดแบบมนุษย์" (มก.๘,๒๘-๓๓)

          มันเป็นการขัดแย้งกันอย่างรุนแรง เปโตรรู้สึกโมโหที่พระเยซูพูดถึงการถูกกําจัดและความล้มเหลว  ในเมื่อกําลังมีโอกาสที่จะยึดอํานาจและรับเป็นเมสสิยาห์ ฝ่ายพระเยซูก็โกรธที่เห็นเปโตรสวมบทบาทซาตานมาล่อลวงให้คิดแบบมนุษย์ คือคิดใช้อํานาจในรูปของความรุนแรง

          และนี่ก็เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่มีความแน่นอนทางประวัติศาสตร์มาก ผู้เขียนพระวรสารและคริสตชนสมัยแรกคงไม่กล้าประดิษฐ์เรื่องเช่นนี้ขึ้นมา  เพราะเป็นเรื่องขัดแย้งกันและใช้ถ้อยคําค่อนข้างรุนแรง  แต่ผู้เขียนพระวรสารบันทึกเหตุการณ์นี้ไว้ เพราะสนใจในคํายืนยันของเปโตรที่ว่า พระเยซูเป็นเมสสิยาห์ และบันทึกในทํานองที่ว่า ความขัดแย้งนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับการถูกจับและการทรมานเท่านั้น ไม่ใช่เกี่ยวกับตำแหน่งเมสสิยาห์  เดิมเป็นเรื่องของการประจญให้พระเยซูรับเป็นเมสสิยาห์ แต่ต่อมากลายเป็นเรื่อง "การยืนยันความเชื่อ" ของคริสตชนรุ่นแรกว่าพระเยซูเป็นเมสสิยาห์

          การประจญ (การล่อลวง การชักชวน) เป็นเรื่องจริงจังสําหรับพระเยซู เราอ่านเกี่ยวกับการที่พระเยซูถูกประจญในรูปของคําสนทนาระหว่างพระเยซูกับมาร(ซาตาน)ในที่เปลี่ยว (ลก.๔,๕-๘;มธ.๔,๘-๑๐) การบรรยายในพระวรสารมุ่งที่จะทําให้เราเข้าใจว่า พระเยซูต้องดิ้นรนต่อสู้กับการประจญให้ยึดอํานาจ และให้รับตําแหน่งกษัตริย์เพื่อปกครองอาณาจักรทั้งหลายในโลก ซึ่งเป็นความคิดที่น่าสนใจไม่ใช่น้อย มันคงจะเป็นโอกาสที่จะได้ปลดปล่อยคนจนและคนถูกกดขี่  หลังจากที่ยึดอํานาจแล้ว ก็สามารถใช้อํานาจเพื่อรับใช้ทุกคนได้ และมันอาจจะทําให้ปลุกความเชื่อของประชาชนได้ง่ายขึ้น แล้วโลกก็จะถูกเปลี่ยนเป็นโลกใหม่ได้

3. พระเยซูยืนยันแนวคิดเดิม

          พระเยซูไม่เคยถือหลักการที่ว่า ห้ามใช้กําลังไม่ว่าด้วยเหตุผลใดหรือในสถานการณ์ใดๆทั้งสิ้น พระเยซูเองก็เคยใช้กำลัง(คงจะไม่มีการนองเลือด) เมื่อครั้งกวาดล้างพวกพ่อค้าที่ลานพระวิหาร และเมื่อถึงคราวจําเป็น พระเยซูก็บอกให้สาวกหามีดดาบไว้ป้องกันตัว ในกรณีเช่นนี้ พระเยซูไม่ได้บอกให้หันแก้มให้อีกข้างหนึ่ง การหันแก้มอีกข้างหนึ่งให้ และไม่ต่อสู้ความชั่วร้าย เป็นหลักการที่พระเยซูอ้าง เพื่อขัดแย้งกับหลักการที่ว่า ตาต่อตา ฟันต่อฟัน หรือการแก้แค้น (มธ.๕,๓๘-๓๙) พระเยซูบอกว่า อย่าแก้แค้น ไม่ได้บอกว่า อย่าใช้กําลังเมื่อถึงคราวจําเป็น

          อย่างไรก็ตาม พระเยซูเห็นว่าในสถานการณ์ขณะนั้น การใช้กําลังเข้ายึดอํานาจจะมีผลเสียหาย และเมื่อเป็นเช่นนั้นก็ขัดกับความประสงค์ของพระเจ้า ในกรณีนี้ พระเยซูเห็นเหมือนกับพวกฟาริสีและซัดดูสีว่า การใช้กําลังเข้ายึดอํานาจปกครองจากกองทัพโรมัน ก็จะเป็นเหมือนการฆ่าตัวตาย การคิดใช้กําลังที่ด้อยกว่าแล้วหวังพลังมหัศจรรย์ของพระเจ้ามาช่วย ก็เป็นการ "ทดลอง" พระเจ้า (ดู ลก.๔,๑๒) ถ้ารบกับกองทัพโรมัน ก็มีแต่จะถูกฆ่าทั้งชาติ และนี่แหละคือสิ่งที่พระเยซูกลัวว่าจะเกิดขึ้น แต่ถ้าทุกคนเปลี่ยนความคิดและเปลี่ยนหัวใจเสียใหม่ ก็จะหลีกเลี่ยงเหตุการณ์เช่นนี้ได้

          พระเยซูไม่ยอมใช้กําลังเข้ายึดอํานาจ ไม่ใช่เพราะกลัวภัยพิบัติจะเกิดแก่ประชาชนเท่านั้น มีเหตุผลที่ลึกซึ้งกว่านั้นอีก คือการรับเป็นกษัตริย์ปกครองมนุษย์ ที่ไม่ได้หันความจงรักภักดีมาสู่อาณาจักรพระเจ้า และนําพวกคนเหล่านี้ไปทําสงครามรบราฆ่าฟันกัน ก็จะเป็นเหมือนหลงกลมาร (มธ.๔,๘-๑๐) มันเป็นเหมือนการรับอํานาจจากมาร ให้ปกครองอาณาจักรที่ไม่ใช่อาณาจักรพระเจ้า แต่เป็นอาณาจักรมนุษย์ที่แก้ปัญหากันด้วยความรุนแรง

          เราไม่อาจรู้ได้ว่า ถ้าสถานการณ์เป็นอย่างอื่น พระเยซูจะทําอย่างไร แต่จากหลักการของพระเยซูที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เราพอจะคาดได้ว่า ถ้าไม่มีวิธีอื่นที่จะป้องกันคนจนและคนถูกกดขี่ และถ้าไม่มีแนวโน้มที่จะทําให้เกิดความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ความเมตตาสงสารของพระเยซู  คงจะผลักดันให้ใช้ความรุนแรงเท่าที่จําเป็นเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เราเห็นแล้วว่าพระเยซูใช้กําลังขับไล่พวกพ่อค้า และสั่งให้เตรียมพร้อมโดยมีดาบป้องกันตัว แต่ความรุนแรงก็เป็นมาตรการชั่วคราว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงที่หนักกว่าเท่านั้น

          อย่างไรก็ตาม อาณาจักรพระเจ้า ซึ่งเป็นอาณาจักรแห่งการปลดปล่อย  อาณาจักรแห่งอิสรภาพของมวลมนุษย์ จะเกิดขึ้นจากความรุนแรงไม่ได้ ความเชื่อเท่านั้นที่จะทําให้อาณาจักรพระเจ้ามาถึง

 

คำถาม
          1.ถ้าท่านเป็นพระเยซู ท่านจะรับตำแหน่งผู้นำทางการเมืองไหม ?
          2.การประจญคืออะไรสำหรับท่าน ?
          3.ท่านคิดอย่างไรกับ ”การใช้ความรุนแรงปราบความรุนแรง” ?

มุมมองทางประวัติศาสตร์ของวิวัฒนาการด้านการศึกษาคาทอลิก เป็นเครื่องไม้เครื่องมืออันดีที่จะช่วยเราให้มีความเข้าใจถึงแก่นหรือหลักการ แม้กระทั่งต้นกำเนิดของการศึกษาแบบคาทอลิก รวมไปถึงอัตลักษณ์ ที่นักการศึกษาคาทอลิกกล่าวถึงอย่างมากในยุคสหัสวรรษที่สามแห่งการแพร่ธรรม

หลังจากพระเยซูคริสต์ได้ลาจากบรรดาอัครสาวกแล้ว เป็นลูกศิษย์ลูกหาของพระอาจารย์ที่ช่วยกันก่อร่างสร้างกลุ่มคริสตชนผู้มีความเชื่อ จนกลายเป็นพระศาสนจักรเฉกเช่นทุกวันนี้ เราพบเห็นหน้าที่และพันธกิจของพระศาสนจักรที่จะต้องเผยแผ่พระศาสนา (Evangelization) และหน้าที่สั่งสอน (Pedagogical role) พระองค์ไม่ใช่แค่สั่งสอนพวกเขา แต่พวกเขาเป็นสานุศิษย์ติดตามพระองค์ กิน-อยู่-นอน-แพร่ธรรม ไปพร้อมกับพระอาจารย์ บรรดาศิษย์เองก็เรียกพระเยซูว่า “รับไบ” และพระองค์เป็นเจ้าชีวิตเหนือพวกเขา (rabbinic teacher and master of life) พวกเขาเรียนรู้จากชีวิตของพระองค์ และแม้พระองค์จากไป รูปแบบชีวิตและพันธกิจก็หาได้สูญหายไปจากความทรงจำและชีวิตประจำวันของพวกเขา พวกเขาสัมผัสได้ถึงพันธกิจแห่งความรอด (Salvafic mission) เป็นพระอาจารย์ที่ได้เตรียมพวกเขาสำหรับพันธกิจนี้ พวกเขาออกสู่นานาชาติ เพื่อที่จะส่งต่อข่าวสารแห่งความรอดพ้นนี้ ต่อมาพัฒนาไปเป็นรูปแบบของจารีตพิธีกรรมและศีลธรรม ดังที่เราพบได้ในคำสอนแรกเริ่มของพระศาสนจักร “ดิดาเค” (Didache)

อย่างไรก็ตาม ชีวิตทางศาสนาหาใช่ทุกสิ่งของความเป็นคริสตชน ในหมู่ชุมชนแห่งความเชื่อ (Christian faithful) พวกเขาจำต้องศึกษาเล่าเรียน โดยเฉพาะภาษากรีก ฮีบรู และภาษาโรมัน ประมาณศตวรรษที่ 2 เหล่าคริสตชนได้พัฒนารูปแบบของการศึกษาของพวกเขาเองที่เราเรียนว่า “วิชาคำสอน” (catechumenate) จริงๆแล้วก็คือการสอนศาสนาเพื่อให้คนกลับใจ หรือเป็นการส่งต่อความเชื่อจากรุ่นสู่รุ่น การศึกษาเล่าเรียนถึงมีอยู่สองส่วน (สองขั้ว) ที่พัฒนาควบคู่กัน ขั้วหนึ่งคือการศึกษาด้านภาษา (กรีก-ฮีบรู-โรมัน) ส่วนหนึ่งคือการศึกษาพระคัมภีร์และข้อความเชื่อ (Doctrine) ด้วยเหตุนี้เอง ปิตราจารย์บางท่าน อาทิเช่น บาซิลแห่งเซซาเรีย (Basil of Caesarea) มีความกังวลและเป็นห่วงว่าเหล่าคริสตชนจะเน้นศึกษาข้อเขียนในภาษากรีก มากกว่าความเชื่อในพระเยซูคริสตเจ้า แต่การศึกษาภาษาต่างๆ ก็มีความจำเป็นและเป็นพื้นฐานเพื่อที่เราจะสามารถอ่านพระธรรมคัมภีร์ได้

การก่อเกิดของชีวิตนักบวชผู้ถือพรต (monasticism) ในศตวรรษที่ 5 ก่อคุณประโยชน์ให้การศึกษาของคริสตชนมีระบบแบบแผนมากขึ้น โดยเฉพาะในหมู่นักบวชในรอบรั้วอารามพรตที่มีอยู่ทั่วไป การปฏิรูปชีวิตนักบวชมีขึ้นตามแบบอย่างของ “กฎของนักบุญเบเนดิกค์” (Rule of St. Benedict) การศึกษาและการถือกฎระเบียบและฝึกฝนตน (ascetical life) เป็นมาตรฐานของชีวิตนักพรต สำหรับบรรดานักบวช การศึกษาเป็นเรื่องรอง เพราะสิ่งสำคัญที่สุดของการเป็นหนึ่งเดียวกับองค์พระผู้เป็นเจ้า ซึ่งนับเป็นเป้าหมายอันสูงสุดในชีวิตของคริสตชนทุกคน

ในอาราม พวกเขายังศึกษาศาสตร์อื่นๆของโลก รูปแบบการศึกษาของพวกเขาถือเป็นอุดมคติของการศึกษาในสมัยนั้น ที่มีความผสมประสานกลมกลืนระหว่างการศึกษาฝ่ายโลกและทางธรรม สถาบันการศึกษาหลายแห่งในยุโรปพยายามเลียนแบบการจัดการศึกษาแบบพวกเขา ในศตวรรษที่ 11 องค์พระจักพรรคยังมีนโยบายให้บรรดาอาสนวิหารเป็นศูนย์กลางของการศึกษาตามหัวเมืองต่างๆ ของยุโรป เป็นสาธารณะประโยชน์แก่รัฐและพระศาสนจักร การจัดการศึกษาเช่นนี้ได้รับการแพร่หลายหลายร้อยปีจนถึงศตวรรษที่ 15

ราวศตวรรษที่ 13 พันธกิจแห่งการเผยแผ่พระศาสนา (missionary effort) ได้รับการฟื้นฟูโดยบรรดานักบวช อาทิเช่น เหล่าฟรัสซิสกันและดอมินิกัน สังคายานาแห่งลาเตรันครั้งที่ 4 (4th Lateran Council) ก็ได้มีสมณลิขิตให้มีการจัดการศึกษาให้เป็นมาตรฐานโดยเฉพาะในโรงเรียนของอาสนวิหาร แต่ในช่วงศตวรรษที่ 13-15 นี้เป็น กลุ่มมานุษยนิยมในยุคสมัยแห่งการฟื้นฟู (humanistic Renaissance) ได้ท้าทายและวิภาควิจารณ์การจัดการศึกษาแบบดั่งเดิมว่า เราควรจะเน้นในปัจเจกชน (individualism) และสอนให้มนุษย์พัฒนาความสมดุลระหว่าง ทางกาย สติปัญญา ชีวิตฝ่ายจิต และการฝึกฝนตน (balance of physical, intellectual, spiritual, and aesthetic development) พวกเขาพยายามปฏิรูปการศึกษารวมทั่งออกจากพระศาสนจักร (Protestant Reformation) เหตุนี้เอง จึงนำไปสู่การปฏิรูปพระศาสนจักรภายใน หลังจากสังคาฆนาแห่งเมืองเตรนต์ (Council of Trent) มีการแผ่แพร่วิชาหลักคำสอน (the Roman Catechism) และได้รับการแปลบ้างเป็นภาษาท้องถิ่น เช่น อิตาลี เยอรมัน ฝรั่งเศส และโปแลนด์ เราจะเห็นได้ว่าสำหรับพระศาสนจักรคาทอลิกแล้ว ความหมายของการศึกษาคาทอลิกในสมัยนั้นคือการ “เรียนคำสอน” และ “การเตรียมสามเณรเพื่อรับศีลบรรพชา”

เป็นกลุ่มนักบวชคณะเยซูอิตที่อุทิศตนเพื่องานธรรมทูตและงานอภิบาลด้านโรงเรียน (School apostolate) พวกเขาทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย โดยเฉพาะในการระดมทุนและการให้ความช่วยเหลือกันและกัน พวกเขาใช้คู่มือการจัดการศึกษาและระเบียบร่วมกันที่มีชื่อว่า ราชิโอ สตูดิโอรารูม (ratio studiorarum) นับเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่ช่วยให้พวกเขารักษามาตฐานของงานอภิบาลด้านโรงเรียน โดยไม่ละทิ้งจิตรารมณ์แห่งการฝึกฝนด้านชีวิตฝ่ายจิต (Spitirual exercise) ที่นักบุญอิกญาซิโอ ผู้ก่อตั้งคณะได้มอบไว้ ความสำเร็จของพวกเขาเป็นต้นแบบและแรงบรรดาใจให้นักบวชคณะอื่นๆที่อุทิศตนด้านการศึกษา อาทิเช่น คณะอุสุริน คณะออราตอเรียน คณะภารดาแห่งลาซาล ฯลฯ รูปแบบการจัดการศึกษาคาทอลิกจึงมีความเด่นชัดในงานอภิบาลด้านโรงเรียน ซึ่งเป็นพันธกิจต่อบรรดาเด็กๆ และเยาวชน

ในยุคสมัยที่เน้นการใช้เหตุผลทางวิทยาศาสตร์และปรัชญา เหนือกว่าความเชื่อทางศาสนา ส่งผลกระทบต่อรูปแบบการจัดการศึกษาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นักปรัชญาและนักการศึกษาในยุคเรืองปัญญา (Enlightenment) ต่างพากันปฏิเสธวิถีดั่งเดิมของการจัดการศึกษาแบบคริสต์และการสอนคำสอนในโรงเรียน พวกเขาจะเน้นปรัชญาการศึกษาและหลักจิตวิทยาเพื่อประยุกต์ใช้ในการจัดการศึกษาสำหรับเด็กเสียมากกว่า สำหรับนักการศึกษาที่มีแนวทางอนุรักษ์ พวกเขายังเน้นว่า การที่ครูบาอาจารย์และพ่อแม่เด็กจะดูแล สั่งสอน อบรมลูกๆ ในเรื่องชีวิตศาสนาและศีลธรรม ยังมีความจำเป็นเสมอไป อย่างไรก็ได้ บรรดานักการศึกษาชาวคริสต์ก็ได้รับแนวคิดทางด้านปรัชญาการศึกษาและจิตวิทยา พวกเขาคิดต่อยอดและพยายามพัฒนาเพื่อให้การจัดการศึกษาให้เหมาะสมสำหรับโลกในยุคใหม่

ในศตวรรษที่ 19-20 เป็นช่วงของแนวคิดการแบ่งแยกระหว่างพระศาสนจักร และอาณาจักร (separation of Church – State) ให้ความความชัดเจน เพื่อไม่ให้มีความข้องเกี่ยวกัน โดยเฉพาะในเรื่องของอำนาจทางการเมือง ทางอาณาจักรประกาศว่า การจัดการศึกษาสำหรับประชาชนเป็นหน้าที่ของภาครัฐ ไม่ใช่ของทางศาสนา พวกเขาจึงเข้ามาควบคุมและแทรกแซงการจัดการในโรงเรียนและตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งแต่ดั้งเดิมอาจจะเป็นของพระศาสนจักรท้องถิ่น เป็นพระสันตะปาปาปีโอที่ 9 (Pope Pius IX) ที่ออกมาต่อต้านว่า การใช้เหตุผลเพียงอย่างเดียวเป็นสิ่งที่ไม่ครบถ้วน พระองค์ยังทรงยืนยันถึงงานอภิบาลตามโรงเรียนว่าเป็นพันธกิจที่สำคัญของพระศาสนจักร ขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกาก็เกิดปัญหาความขัดแย้งในเรื่องนี้ ระหว่างบรรดาพระสังฆราชและภาครัฐ ที่จะเขามาก้าวก่ายงานในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยคาทอลิก เพื่อที่จะปกป้องความเชื่อและศีลธรรมตามครรลองคริสตชน จึงมีแนวทางปฏิบัติที่ว่า บรรดาสัตบุรุษต้องส่งลูกหลานเข้าโรงเรียนคาทอลิกเท่านั้น แต่กลับเป็นว่าโรงเรียนคาทอลิกกลับไม่มีที่เพียงพอสำหรับลูกหลานคาทอลิก ที่บ้างเป็นผู้อพยพจากประเทศไอแลนด์ จึงมีการผ่อนผันในเรื่องนี้โดยพระสังฆราชท้องถิ่น ดังที่เห็นในกฏหมายพระศาสนจักร ฉบับปี 1917 บรรพที่ 1374 ว่า

“ลูกหลานของคาทอลิกควรที่จะไม่อยู่ร่วมกับนักเรียนคนอื่นๆ ที่ไม่เป็นคาทอลิก หรือไปเรียนโรงเรียนอื่นๆ ที่อนุญาตให้เด็กต่างศาสนาเข้ามาเรียนด้วย เป็นพระสังฆราชท้องถิ่น (Local ordinary) ที่จะตัดสินใจ หรือสร้างกฎระเบียบตามสันตะสำนัก เพื่อตอบรับกับสถานการณ์ที่จะเป็นแนวคิด และการป้องกัน การเสียความเชื่อ หรือ ผ่อนผันตามโรงเรียนต่างๆ”

กฎหมายของพระศาสนจักรฉบับปี 1917 จึงเป็นการประกาศสิทธิของพระศาสนจักรที่จะจัดตั้งโรงเรียนเพื่อเป็นหลักประกันถึงการศึกษาคาทอลิกสำหรับลูกหลานของคริสตชนที่อยู่ในชุมชน

สมณลิขิตว่าด้วยการศึกษาที่มีชื่อเสียงในตอนนี้คือ ดิวินี อิลลิอูส มาจิสตรี (Divini Illius Magistri) ในปี 1929 ยืนยันถึงจุดยืนของพระศาสนจักรว่ามีสิทธิในการจัดการศึกษาและตั้งโรงเรียนคาทอลิกเพื่อบรรดาเด็กๆคาทอลิก เพราะนอกจากงานอภิบาลด้านโรงเรียนจะเป็นมรดกตกทอดในพระศาสนจักรแล้ว ยังเป็นพันธกิจที่สำคัญที่จะสำความรอดของวิญญาณไปสู่ปวงชนด้วยเช่นกัน พระศาสนจักรจึงมีคำสอนอย่างเป็นทางการ (magisterium) ในเรื่องการศึกษาคาทอลิกและการจัดตั้งโรงเรียน โดยการประยุกต์หลักมานุษยนิยมและการพัฒนาบุคคลทั้งครบ ดังนี้

“ด้วยเหตุผลชัดเจนแล้วว่า การศึกษาแนวคริสต์ต้องโอบรับหลักการ ชีวิตมนุษย์ ร่างกายและจิตวิญญาณ ความรอบรู้และศีลธรรม ปัจเจกบุคคล ความเป็นท้องถิ่นและสังคม หากได้ขาดตกสิ่งใด เพื่อต้องมีการยกระดับ เป็นระเบียบ และสมบูรณ์ได้ ตามแบบอย่างและคำสอนขององค์พระคริสต์” (Divini Illius Magistri §95)

ในสมัยของพระสันตะปาปาปีโอที่ 12 พระองค์ท่านได้ทำการประมวลหลักการศึกษาคาทอลิกได้ดังนี้

(1) การศึกษาคาทอลิกเป็นสิทธิของพระศาสนจักรและของพ่อแม่ผู้ปกครองในเรื่องของสิทธิเสรีภาพทางศาสนา

(2) การศึกษาศาสนาเป็นสิ่งจำเป็นในทุกๆโรงเรียน

(3) การพัฒนาทางร่างกายเป็นสิ่งจำเป็น และต้องระมัดระวังความผิดพลาด ที่จะส่งผลต่อการพัฒนาด้านสติปัญญา หลักปรัชญาและวิทยาศาสตร์ต้องเป็นหนึ่งเดียวกัน เฉกเช่นกับ การเสวนาระหว่างความเชื่อและเหตุผล ระหว่างคุณธรรมและมโนธรรม ความรู้สึกได้ถึงความรับผิดชอบและเสรีภาพของมนุษย์ รวมถึง ความรู้สึกเป็นสาธารณะและความมีส่วนร่วมในสังคมของบุคคล

ในกฎหมายพระศาสนจักรฉบับปัจจุบัน (1983) เราจะเห็นหลักการศึกษาคาทอลิกได้ทั้งหมดใน บรรพที่ 795 แต่เราจะไม่สามารถพบนิยาม (Definition) ของการศึกษาคาทอลิกได้ตรงๆ แต่กลับเป็นนิยามของการศึกษาโดยทั่วไป ที่เหล่าคริสต์จะพึงมี

“การศึกษาที่แท้จริงต้องพยายามแสวงหาความครบครับของอบรมบ่มเพาะบุคคล ให้เขาหรือเธอได้พบจุดหมายสุดท้าย (ความรอด) เช่นเดียวกัน ความดีส่วนรวมของสังคม เด็กและเยาวชนต้องได้รับการสนับสนุนให้เติบโตและพัฒนาทางร่างกาย ศีลธรรม และสติปัญญา พรสวรรค์ อย่างสดคล้องกัน เพื่อให้พวกเขามีความรู้สึกถึงความรับผิดชอบ การใช้เสรีภาพอย่างถูกต้อง และเตรียมพวกเขาให้ใช้ชีวิตในสังคมอย่างมีกระตือรือร้น”  (1983 CIC can. 795)

หรือนี้จะเป็นความหมายและแก่นแท้ของอัตตาลักษณ์ของการศึกษาคาทอลิก ที่พระศาสนจักรสอนว่า การศึกษาคาทอลิกไม่ใช่แค่อยู่ในโรงเรียนคาทอลิก แต่เป็นการศึกษาและพัฒนามนุษย์ทั้งครบ เพื่อให้มีความรับผิดชอบในสังคม เพื่อประโยชน์ของจิตใจ และเพื่อความรอดของวิญญาณ เป็นเครื่องหมายของพระอาณาจักรของพระเจ้าที่อยู่ในโลกนี้.

87
แปลจากส่วนหนึ่งของ ผลงานทางปริญญาทางกฎหมายพระศาสนจักร คาทอลิก

THE CHALLENGES OF SCHOOL APOSTOLATE OF THE THAI CHURCH ACCORDING TO CANON 795
(Master Thesis KATHOLIEKE UNIVERSITEIT LEUVEN, FACULTY OF CANON LAW)

 

การเบียดเบียนและความทุกข์ทรมานอยู่คู่กับประวัติศาสตร์ชาติยิวเสมอมา ตามทฤษฎี คนดีมักจะต้องทรมานเนื่องจากความดีของตน ชาวยิวผู้สัตย์ซื่อทุกคนยอมตายแต่ไม่ยอมละเมิดกฎบัญญัติ ในสมัยของมัคคา บี (๒ ศตวรรษก่อนพระเยซู) ชาวยิววัยฉกรรจ์หลายคนยอมทนทรมานและยอมตายเพื่อเห็นแก่กฎบัญญัติ เมื่อกองทัพโรมันยึดพระวิหารในปี ๖๓ ก่อนคริสตกาล สงฆ์ในพระวิหารยอมตายในหน้าที่ โดยถวายบูชาต่อไปจนถึงวาระสุดท้ายแทนที่จะหนี ในสมัยของพระเยซู พวกซีลอทยอมถูกทรมานแต่ไม่ยอมเรียกจักรพรรดิ์ซีซาร์เป็นเจ้านายและพวกนี้หลายพันคนถูกกองทัพโรมันจับตรึงกางเขน ในปี ค.ศ.๗๓ พวกนี้ฆ่าตัวตายในป้อมมาซาดา แทนที่จะยอมจํานนต่อศัตรูต่างศาสนา

          ฝ่ายพวกประกาศกก็ถูกผู้นําชาวยิวในเมืองเยรูซาเลมเบียดเบียน  เพราะในการประกาศสอน พวกประกาศกวิจารณ์ชาติและผู้นํา เมื่อถึงยุคพระเยซู ภาพพจน์ของประกาศกได้กลายเป็นภาพของผู้ต้องทนทุกข์ทรมาน จนกลายเป็นว่าประกาศกในอดีตต้องมีเรื่องถูกฆ่าหมดทุกคน (มธ. ๒๓,๒๙-๓๗; กิจการ.๗,๕๒) ความตายในกรณีต่างๆ ดังกล่าวมานี้ ชาวยิวถือว่าเป็นการชดเชยบาป บาปของเจ้าตัวเอง และบาปของคนอื่นด้วย ความเชื่อถือนี้ตกทอดเป็นมรดกไปถึงกลุ่มคริสตชนรุ่นแรก พระเยซูคิดอย่างไรเกี่ยวกับการทนทุกข์ทรมานและความตาย ?

1. การทนทุกข์ทรมาน

          คําสอนของพระเยซูเป็นเรื่องใหม่ และในตอนหนึ่ง พระเยซูพูดถึงการทรมานและความตายว่า มีความสัมพันธ์กับการมาถึงของอาณาจักรพระเจ้า "เป็นบุญของคนจน...เป็นบุญของผู้ที่ถูกเบียดเบียน...อาณาจักรพระเจ้าเป็นของพวกเขา เป็นบุญของพวกท่านเมื่อคนดูหมิ่นท่าน เบียดเบียนท่าน และว่าร้ายใส่ความท่าน...พวกเขาได้เบียดเบียนบรรดาประกาศกสมัยก่อนเช่นเดียวกัน" (มธ.๕,๓;๕,๑๐-๑๒) เนื่องจากบรรดาศิษย์ของพระเยซูมีความเมตตาสงสารต่อคนจน และเข้าร่วมวงเป็นหนึ่งเดียวกับพวกเขา ศิษย์ของพระเยซูจึงถูกเบียดเบียนกดขี่พร้อมกับคนจนทั่วไป  เพื่อจะเข้าสู่อาณาจักรพระเจ้าพร้อมกับคนจนและคนถูกกดขี่ เราต้องสละทรัพย์สินเงินทอง พร้อมที่จะจากครอบครัวและทิ้งอํานาจชื่อเสียง พูดง่ายๆคือ เราต้องสละตนเอง (มก.๘,๓๔) และพร้อมที่จะทนทรมาน

          มันเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกันในตัว ถ้าจะทําลายความทุกข์ ต้องยอมรับความทุกข์ พระเยซูมุ่งมั่นที่จะทําลายความทุกข์ทรมานในโลก ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์ทรมานของคนจน คนถูกเบียดเบียนและคนเจ็บป่วย หรือความทุกข์ทรมานที่จะเกิดขึ้นกับทุกคนหากภัยพิบัติมาถึง แต่วิธีเดียวที่จะทําลายความทุกข์ทรมานก็คือต้องทิ้งค่านิยมต่างๆ ที่ไม่ใช่ของอาณาจักรพระเจ้า และเมื่อการทิ้งค่านิยมดังกล่าวทําให้ลําบากหรือมีทุกข์ ก็ให้ยินดีรับความทุกข์ที่เกิดขึ้น ความเต็มใจที่จะรับทรมานเท่านั้นที่จะเอาชนะความทุกข์ทรมานในโลกได้ ความเมตตาสงสารทําลายความทุกข์ทรมานได้ โดยยอมรับความทุกข์ พร้อมกับ คนมีทุกข์ หรือโดยยอมรับความทุกข์แทนคนมีทุกข์  ถ้าเรามีความรู้สึกสงสารคนจน แต่ไม่พร้อมที่จะร่วมทุกข์กับคนจน มันก็เป็นเพียงความรู้สึกที่ไร้ค่า ถ้าเราแบ่งปันความทุกข์กับคนจน เราก็จะได้แบ่งปันพระพรกับคนจน

2. ชีวิตและความตาย

          ยิ่งกว่านั้น เรื่องความตายก็เป็นสิ่งที่ขัดแย้งในตัวด้วย พระเยซูพูดเกี่ยวกับชีวิตและความตาย โดยพูดเป็นคําคมที่มีความหมายเปรียบเทียบ แต่คําคมนี้ถ่ายทอดมาถึงเราโดยมีจุดผิดเพี้ยนแตกต่างกันไปบ้าง (มก.๘, ๓๕; มธ.๑๐,๓๙; ลก.๑๔,๒๖; ยน.๑๒,๒๕)   เมื่อเอามาเทียบกันแล้วน่าจะสรุปได้ว่า เดิมทีเดียว คําคมนั้นคือ "ใครรักษาชีวิตไว้ก็จะตาย ใครตายก็จะรักษาชีวิตไว้" แต่เราต้องจําไว้ว่ามันเป็นคําเปรียบเทียบ การเอาไปอธิบายในทํานองว่า ยอมเสียชีวิตในโลกนี้เพื่อจะได้รักษาชีวิตไว้ในโลกอื่น(เช่น ยน.๑๒,๒๕) ก็เป็นการถือว่าคําคมนี้ไม่ใช่คําเปรียบเทียบอีกต่อไป จริงๆ แล้วคําคมนี้หมายความว่าอะไร ?

          รักษาชีวิตไว้ หมายความว่า รักชีวิต เกาะยึดไว้แน่น และกลัวตาย ส่วนยอมตายหมายความว่า ปล่อยวาง ไม่เกาะติด และพร้อมที่จะตาย ความขัดแย้งในตัวก็คือ คนที่กลัวตายก็เหมือนกับตายแล้ว (ไม่ต้องทําอะไร หรือทําอะไรไม่ได้) และคนที่เลิกกลัวตายก็เริ่มมีชีวิต ถ้าอยากมีชีวิตที่แท้จริงและมีค่า ก็ต้องพร้อมที่จะยอมรับความตาย

3. การสละชีวิต

          คําถามที่ตามมาก็คือ เราจะยอมตายเพื่ออะไร? พวกนักรบมัคคาบี ยอมตายเพื่อกฎบัญญัติของพระเจ้า พวกซีลอทยอมตายเพื่ออาณาจักรอิสราเอล พวกอื่นๆยอมตายเพื่ออุดมการณ์ต่างๆ ของตน พระเยซูไม่ได้ยอมตายเพื่ออุดมการณ์ แต่ตามความคิดของพระเยซู เราต้องยอมสละชีวิตด้วยเหตุผลเดียวกับที่ยอมสละเงินทอง ชื่อเสียง อํานาจ ความภักดีต่อกลุ่ม ฯลฯ นั่นคือยอมสละเพื่ออาณาจักรพระเจ้าและเพื่อเพื่อนมนุษย์ ความรัก เมตตาผลักดันให้เราทําทุกอย่างเพื่อผู้อื่น แต่คนที่พูดว่าตนมีชีวิตเพื่อผู้อื่น แล้วไม่พร้อมที่จะรับความทุกข์และความตายเพื่อผู้อื่น ก็เป็นคนโกหก นั่นคือเขาตายแล้ว  พระเยซูมีชีวิตเต็มที่ เพราะพร้อมที่จะทรมานและตาย ไม่ใช่เพื่ออุดมการณ์ แต่เพื่อคน

          เราต้องเข้าใจเพิ่มเติมว่า ความพร้อมที่จะตายเพื่อคน ไม่ใช่เพียงแต่เพื่อบางคนเท่านั้น แต่เพื่อทุกคนหรือเพื่อมนุษยชาติ การยอมตายเพื่อบางคนก็คือความภักดีต่อกลุ่มเท่านั้นเอง แต่การยอมตายเพื่อทุกคนก็คือความรักแท้ในอาณาจักรพระเจ้า

          สําหรับพระเยซู ความพร้อมที่จะตายเพื่อทุกคน ก็คือการรับใช้ เหมือนกับการรับใช้ในรูปแบบอื่นๆ ที่พระเยซูเคยทํา "บุตรแห่งมนุษย์ไม่ได้มาเพื่อให้คนอื่นรับใช้ แต่มาเพื่อรับใช้คนอื่น และเพื่อมอบชีวิตเป็นค่าไถ่คนจํานวนมาก" (มก.๑๐,๔๕) ค่าไถ่คือสิ่งที่เราให้เพื่อแลกกับอิสรภาพของผู้อื่น มอบชีวิตเป็นค่าไถ่คือยอมตายเพื่อให้คนอื่นมีชีวิตต่อไป "เพื่อคนจํา นวนมาก" ในภาษาพระคัมภีร์โดยทั่วไปแปลว่า "เพื่อทุกคน" (เช่นเดียวกับใน มก.๑๔,๒๔; มธ.๒๖,๒๘)

          จนถึงเวลานี้เราพูดถึงแต่ความพร้อมของพระเยซูที่จะยอมตาย การยอมตายเพื่อมนุษยชาติคงเข้าใจได้ไม่ยากนัก แต่ตายอย่างไร หรือตายในกรณีไหน จึงเรียกว่าตายเพื่อมนุษยชาติ ? มีกรณีไหนบ้างที่คนคนหนึ่งรับใช้โลกมนุษย์ด้วยการตาย  ได้ผลดีกว่ารับใช้ด้วยการมีชีวิตอยู่ต่อไป ?

4. พระเยซูเผชิญกับทางสองแพ่ง

          พระเยซูรู้ตัวดีว่า สิ่งที่ตนกําลังทําและกําลังพูดอยู่นั้น เป็นอันตราย

สําหรับตนเอง  กษัตริย์เฮรอดได้ปิดปากยอห์นแบปติสต์ไปแล้ว  และมีข่าว

ว่ากำลังพยายามปิดปากพระเยซูด้วย (ลก.๑๓,๓๑) หลังจากเหตุการณ์ที่พระวิหาร ชีวิตของพระเยซูตกอยู่ในอันตราย จนถึงกับว่าจําเป็นต้องหลบซ่อน และในระหว่างที่หลบซ่อนอยู่นั้น มาถึงจุดหนึ่ง พระเยซูตัดสินใจที่จะไปตายที่เมืองเยรูซาเลม (มก.๘,๓๑; ลก.๙,๕๑; ๑๓,๓๓) ทําไมจึงตัดสินใจเช่นนั้น ?

          พระเยซูต้องเผชิญหน้ากับทางเลือก ๒ ทาง หลบซ่อนเพื่อมีชีวิตอยู่ต่อไป  หรือออกจากที่หลบซ่อนและเสี่ยงตาย  ชายฉกรรจ์ราว ๕ พันคน รวมทั้งเปโตรและสาวกทั้งหมดต้องการให้พระเยซูออกจากที่หลบซ่อน และก้าวออกไปในฐานะเมสสิยาห์ พร้อมกับนํากองทัพไปด้วย หรือแสดงพลังอย่างใดอย่างหนึ่ง  เพื่อเอาชนะศัตรูในเยรูซาเลม  แต่สําหรับพระเยซู ความเชื่อคืออาวุธ และเจตนาก็ยังคงเหมือนเดิม คือปลุกให้ประชาชนมีความเชื่อเกี่ยวกับอาณาจักรพระเจ้า ถ้าหลบซ่อนอยู่ จะทํางานนี้ไม่ได้ผล แต่ถ้าออกมาประกาศสอน ไม่เร็วก็ช้าจะต้องถูกจับได้และถูกปิดปาก เสียงปลุกความเชื่อก็จะเงียบไปด้วย นอกจากว่า ความตายจะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะปลุกความเชื่อเกี่ยวกับอาณาจักรพระเจ้าได้

          ตลอดชีวิต พระเยซูรับใช้คนจน คนเจ็บป่วย คนบาปและพวกสาวก ด้วยการปลุกให้มีความเชื่อในอาณาจักรพระเจ้า  และพยายามรับใช้พวกคัมภีราจารย์ พวกฟาริสี และพวกอื่นๆ ในทํานองเดียวกันนี้ด้วย ไม่มีวิธีอื่นที่จะช่วยคนให้พ้นจากบาป จากความทุกข์ หรือจากภัยพิบัติ ไม่มีวิธีอื่นที่จะทําให้อาณาจักรพระเจ้ามาถึงแทนภัยพิบัติ แต่เมื่อพระเยซูถูกกีดกันไม่ให้ทําหน้าที่ประกาศสอนและปลุกความเชื่อด้วยคําพูดและด้วยกิจการ มีอะไรอื่นอีกที่จะทําได้ ?

          พระเยซูไม่ยอมจํานนต่อการรบเร้าให้รับตําแหน่งเมสสิยาห์ และใช้กําลังเพื่อแก้ปัญหา และไม่ยอมปรับคําสอนและจุดยืนให้อ่อนลงเพื่อออมชอมกับพวกผู้มีอํานาจ(หากยังไม่สายเกินไป) เมื่อไม่ยอม ก็ไม่มีทางเลือกอื่นแล้วนอกจาก “ตาย” ในกรณีนี้ ความตายเป็นวิธีเดียวที่จะรับใช้มนุษยชาติต่อไป เป็นวิธีเดียวที่จะพูดกับโลกมนุษย์ (ยน.๗,๑-๔) เป็นวิธีเดียวที่จะยืนยันถึงอาณาจักรพระเจ้า การกระทําดังกว่าคําพูด แต่ความตายดังกว่าการกระทํา พระเยซูตายเพื่อให้อาณาจักรพระเจ้ามาถึง

5. พระเยซูสละชีวิต

          พระวรสารทุกฉบับแสดงให้เราเห็นว่า พระเยซูเดินหน้าไปสู่ความตาย โดยรู้ตัวและเต็มใจ แม้ว่าคําพูดที่ผู้เขียนพระวรสารใช้(เป็นต้นในตอนที่เรียกกันว่า "คําทํานายถึงความตาย") เป็นคําพูดที่สะท้อนความเชื่อ  และความเข้าใจของคริสตชนหลังความตายของพระเยซู แต่การที่พระเยซูเผชิญหน้ากับความตายโดยรู้ตัวและเต็มใจนี้ เป็นสิ่งที่เรายืนยันได้อย่างไม่มีข้อสงสัย

          สิ่งที่น่าสังเกตคือ พระเยซูพูดถึงความตายในช่วงที่หลบซ่อนอยู่ ครั้งแรกที่พูดถึง เป็นการตอบคําประกาศของเปโตรที่ว่าพระเยซูเป็นเมสสิยาห์  ทั้ง ๓ ครั้งที่พูดถึงความตาย พระเยซูจะพูดต่อไปถึงการสละตนเอง ความพร้อมยอมตาย การรับใช้ และสภาพที่ตํ่าต้อยที่สุด (มก.๘,๓๔-๓๗; ๙,๓๑-๓๗; ๑๐,๓๓-๔๕)

          เราไม่สามารถบอกได้ว่า พระเยซูคาดการณ์ล่วงหน้าเกี่ยวกับรายละเอียดของการถูกกําจัดได้มากแค่ไหน พวกสาวกจะถูกจับด้วยไหม หรือพระเยซูคนเดียว ? จะถูกทุ่มหินตาย (โดยพวกผู้นําชาวยิว) หรือจะถูกตรึงกางเขน(โดยพวกโรมัน) ? พวกเขาจะเข้าจับกุมระหว่างเทศกาลฉลองหรือหลังจากนั้น ? จะมีโอกาศสอนที่พระวิหารก่อนจะถูกจับไหม ? พระเยซูคงจะคาดการณ์ล่วงหน้าได้หลายอย่าง อย่างหนึ่งที่แน่คือ คาดว่ายูดาสจะทรยศ กรณีต่างๆ ที่เราตั้งคําถามมานี้ พระเยซูคงคาดไว้ได้ทั้งหมด โดยไม่ต้องมีตาทิพย์ หรือการเผยแสดงจากพระเจ้าเป็นพิเศษ เมื่อเราฟังนิทานเปรียบเทียบทั้งหลายที่พระเยซูเล่า เราก็รู้ทันทีว่า พระเยซูเป็นคนที่เข้าใจความคิดความรู้สึกและเจตนาของใจมนุษย์อย่างลึกซึ้ง จนถึงกับว่าสามารถบอกล่วงหน้าได้ว่าในกรณีเช่นนี้ คนจะคิดอย่างไรและจะทําอย่างไร

6. การกลับเป็นขึ้นมา

          แล้วพระเยซูรู้ล่วงหน้าเกี่ยวกับ "การกลับเป็นขึ้นมา" หรือไม่ ? ในการพูดเกี่ยวกับความตายบางครั้งมีสรุปว่า "หลังจากนั้น ๓ วัน บุตรแห่งมนุษย์จะกลับเป็นขึ้นมา" (มก.๘,๓๑; ๙,๓๑; ๑๐,๓๔; ๙,๙) พระเยซูอาจจะได้พูดเช่นนี้ล่วงหน้าก็เป็นไปได้ เพราะในภาษายิวและอาราไมอิค "หลังจาก ๓ วัน"  แปลว่า อีกไม่นาน พระเยซูอาจจะได้พูดล่วงหน้าว่าตายแล้วอีกไม่นานก็จะกลับเป็นขึ้นมา ชาวยิวส่วนใหญ่ในสมัยพระเยซู เชื่อว่าคนตายจะกลับเป็นขึ้นมาในวันสุดท้าย และในวันสุดท้ายผู้ที่จะกลับเป็นขึ้นมาอย่างแน่นอนที่สุดคือผู้ที่ได้ตายเพื่อชาติและศาสนายิว(martyrs) เป็นไปไม่ได้ที่พระเยซูจะพูดไว้ว่าตนเองจะกลับเป็นขึ้นมาก่อนวันสุดท้าย ถ้าได้พูดเช่นนั้นจริง ทําไมจึงมีความประหลาดใจ วุ่นวาย และสงสัยเมื่อพระวรสารพูดถึงพระเยซูกลับเป็นขึ้นมา ? "หลังจากนั้น ๓ วัน บุตรแห่งมนุษย์จะกลับเป็นขึ้นมา" ความหมายที่จะเข้าใจได้ก็คือ ในฐานะที่เป็นประกาศกและผู้สละชีวิต พระเยซูคาดว่าตัวเองจะต้องกลับเป็นขึ้นมาในวันสุดท้าย และอีกไม่นานก็จะถึงวันสุดท้ายแล้ว

          ความเข้าใจแบบนี้เป็นสิ่งที่ไม่ขัดกับความเชื่อถือของพระเยซู แต่มันไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่พระเยซูพยายามพูดพยายามทําในขณะนั้น พระเยซูคงจะเห็นด้วยกับพวกฟาริสี (และไม่เห็นด้วยกับพวกซัดดูสี) ในเรื่องการกลับเป็นขึ้นมา (มก.๑๒,๑๘-๒๗) แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า นอกจากกรณีที่พูดเกี่ยวกับความตายของตนแล้ว พระเยซูไม่เคยพูดเรื่องการกลับเป็นขึ้นมาเลย ยกเว้นครั้งเดียวที่เอ่ยถึง เมื่อพวกซัดดูสียกเรื่องนี้ขึ้นมาถาม พระเยซูไม่ได้ยกขึ้นมาพูดเอง เพราะมันไม่ใช่ส่วนสําคัญของสาร ที่พระเยซูต้องการจะประกาศแก่ชาวยิวในเวลานั้น และในสถานการณ์เช่นนั้น  ในเมื่อประชาชนกําลังทนทุกข์ทรมาน ภัยพิบัติกําลังจะมาถึง และมีหวังเป็นอย่างมากว่า อาณาจักรพระเจ้าอาจจะมาถึงในอีกไม่ช้าแทนที่จะเกิดภัยพิบัติ ในสถานการณ์เช่นนี้ใครจะไปพูดเรื่องการกลับเป็นขึ้นมา? ดังนั้นเราสงสัยว่า จริงๆ แล้วพระเยซูเคยพูดเรื่องการกลับเป็นขึ้นมาของตนหลังจากถูกศัตรูฆ่าหรือไม่  อาจจะเป็นการเสริมแต่งโดยพวกศิษย์ภายหลังจากเหตุการณ์ก็เป็นได้

          นี่ไม่ใช่แปลว่าพระเยซูไม่เชื่อเรื่องการกลับเป็นขึ้นมา เราไม่สงสัยเลยว่าพระเยซูเชื่อในเรื่องนี้ พร้อมกับเรื่องอื่นๆอีกหลายเรื่องที่ชาวยิวร่วมสมัยเชื่อกัน เช่นเดียวกับบรรดาประกาศกที่เชื่อในหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสารที่ตนต้องประกาศให้แก่ประชาชน สําหรับพระเยซูในขณะนั้น เรื่องการกลับเป็นขึ้นมาไม่ใช่ปัญหา การเสียภาษีให้จักรพรรดิ์ ซีซาร์ ไม่ใช่ปัญหา และการถวายบูชาในพระวิหารก็ไม่ใช่ปัญหาเช่นกัน

          แต่สถานการณ์หลังความตายของพระเยซูเปลี่ยนไปมาก  ตอนนั้นแหละที่เรื่องการกลับเป็นขึ้นมา กลายเป็น “ปัญหาหลัก” ดังที่เราจะได้ศึกษาต่อไป

คำถาม
1. พระเยซูสอนเกี่ยวกับ ความทุกข์ ชีวิตและความตายอย่างไร?
2. การสละชีวิตเพื่อคนอื่นมีความหมายอย่างไร ?
3. ท่านเข้าใจเกี่ยวกับการกลับคืนชีพอย่างไร ?

1. พระสวามีทรงคอยคนบาป

    ความดี เป็นสิ่งที่กระจายธรรมชาติของตนเอง หมายความว่าชอบเผื่อแผ่ความดีของตนไปสู่ผู้อื่น พระเป็นเจ้าทรงมีพระธรรมชาติ เป็นองค์คุณงามความดีอันปราศจากขอบเขต (1) ฉะนั้นเป็นธรรมดาอยู่เองที่ทรงปรารถนาจะแผ่ความสุขของพระองค์มาสู่ชาวเรา และน้ำใจของพระองค์นั้นไม่ชอบการลงพระอาชญา แต่ทรงเมตตากรุณา ต่อทุก ๆ คน อิสิยาห์ กล่าวว่า การลงอาชญา เป็นกิจการอันผิดกับพระอุปนิสัยของพระเป็นเจ้า “พระองค์ทรงพระพิโรธ เพื่อกระทำพระกิจการของพระองค์ พระราชกิจของพระองค์นั้นประหลาด” (อสย. 28, 21) เมื่อพระสวามีเจ้าทรงลงโทษในชีวิตนี้ ก็ทรงกระทำเพื่อจะทรงเมตตาในชีวิตหน้า (สดด. 59, 3) พระองค์ทรงแสดงขึ้นโกรธ เพื่อให้เราสำนึกตัว และเกลียดชังบาป (สดด. 59, 5) และหากพระองค์ทรงปล่อยให้เราถูกพระอาชญาบ้าง ทั้งนี้ก็เพราะทรงรักเราทรงใคร่ให้เราพ้นจากพระอาชญาโทษชั่วนิรันดรนั่นเอง (สดด. 59, 6)

            ใครเล่าจะสามารถสรรเสริญ และซร้องสาธุการความเมตตากรุณาของพระเป็นเจ้าต่อคนบาป จนสาสมได้?- พระองค์ทรงคอย ทรงเรียกหา และทรงต้อนรับคนบาป เมื่อเขากลับมาหาพระองค์!

            ประการแรก โอ้! ความเพียรของพระเป็นเจ้า เมื่อท่านทำเคืองพระทัยของพระเป็นเจ้าพระองค์จะทรงให้ท่านตายไปในขณะนั้นทันทีก็ได้ แต่พระองค์กลับทรงคอยทรงยับยั้งไม่ลงโทษ กลับทรงประทานพระคุณแก่ท่านนานัปการอีกเล่า ทรงรักษาชีวิตท่านไว้ โปรดจัดหาทุกสิ่งที่ท่านต้องการ ทรงทำเป็นแลไม่เห็นบาปของท่าน เพื่อจะให้ท่านสำนึกรู้ตัว (ปชญ. 11, 24) พระสวามีเจ้าข้า เป็นไปได้อย่างไร ที่พระองค์ไม่ทรงสามารถมองดูบาปได้แม้แต่ประการเดียว แต่นี่ทรงแลเห็นบาปจำนวนมากมายก่ายกอง และยังทรงนิ่งเฉยอยู่ได้เล่า พระเจ้าข้า? (ฮบก. 1, 13) พระองค์ทรงแลเห็นคนใจลามกผู้นั้น นักจองเวรคนนั้น คนปากร้ายแช่งด่าพระองค์คนนั้น ยิ่งวันยิ่งทำชอกช้ำน้ำพระทัยมากขึ้น ไฉนพระองค์ไม่ทรงลงพระอาชญา? ไฉนจึงทรงเพียรทนเขาถึงเพียงนี้เล่า?- ทั้งนี้ ก็เพราะว่าพระเป็นเจ้าทรงคอยคนบาป คอยให้เขากลับใจและดัดแปลงกิริยา (อสย. 30, 18) เพื่อจะได้ทรงอภัยบาปให้และช่วยให้เขารอด

            พระดำริกล่าวว่า: สัตว์โลกทั้งหลาย: ไฟ น้ำ ดิน อากาศ แสดงออกมาตามสัญชาติญาณแห่งธรรมชาติของมัน ต้องการจะเอาโทษคนบาป และแก้แค้นที่คนบาปกระทำอยุติธรรมต่อผู้สร้าง (2) แต่พระเป็นเจ้าทรงยับยั้งมันไว้ทั้งนี้เพราะทรงพระเมตตานั่นเอง พระสวามีเจ้าข้า พระองค์ทรงคอย เพื่อให้คนอธรรมสำนึกรู้ตัวมิใช่หรือ? พระสวามีเจ้าข้า พระองค์ทรงคอย เพื่อให้คนอธรรมสำนึกรู้ตัวมิใช่หรือ? พระองค์ก็ทรงแลเห็นอยู่มิใช่หรือว่า เขากลับใจดำนำความเมตตากรุณาของพระองค์นั้น มาใช้ทำชอกช้ำน้ำพระทัยของพระองค์หนักขึ้นอีกเล่า? (อสย. 26, 15) ไฉนจึงทรงเพียรทนถึงเพียงนี้หนอ? - ก็เพราะว่าพระเป็นเจ้าไม่ทรงต้องการให้คนบาปตาย แต่ให้เขากลับใจและเอาตัวรอด (อสค. 33, 11) โอ! พระเป็นเจ้าช่างเพียรทนเหลือพรรณนา! นักบุญเอากุสตินถึงกับกล้าทูลว่า: พระเจ้าข้า หากพระองค์ไม่ทรงเป็นพะรเป็นเจ้าแล้ว พระองค์จะทรงอยุติธรรมแท้ ๆ เพราะทรงทนคนบาปจนเกินขอบเขต! (3) อันการเพียรคอยคนที่บังอาจใช้ความเพียรของพระเป็นเจ้าเพื่อลามปามทะลึ่งอวดดีหนักขึ้นดูเหมือนว่าเป็นการเสื่อมเสียพระเกียรติศักดิ์ของพระเป็นเจ้า ท่านนักบุญกล่าวต่อไปว่า: เราทำบาป เราติดอยู่กับบาป (บางคนดำรงอยู่ในบาปอย่างสบาย ๆ นอนหลับทับบาปเป็นแรมเดือนแรมปี) เรายินดีในบาป (บางคนถึงกับเอาความชั่วของตนขึ้นอวดอ้าง) ส่วนพระองค์เล่า ทรงสงบนิ่งเฉยอยู่ได้? เราท้าทายให้พระองค์ทรงพิโรธ พะรองค์กลับทรงเรียกร้องให้เราเข้าหาพระกรุณา (4) ดูเหมือนว่า เรากับพระเป็นเจ้าทำการแข่งขันกัน เรายิงยัวพระองค์ให้ทรงลงโทษ พระองค์ยิ่งเรียกร้องให้เรากลับใจ!

       ข้อเตือนใจและคำภาวนา

           พระสวามีเจ้าข้า ถูกแล้ว บัดนี้ข้าพเจ้าน่าจะอยู่ในนรก (5) และเป็นพระมหากรุณาอันล้นเกล้าที่ไม่ได้อยู่ แต่อยู่ที่นี่ อยู่แทบพระบาทของพระองค์ กำลังได้ยินพระองค์ตรัสให้ข้าพเจ้ารักพระองค์ว่า “เจ้าจงรักพระสวามี พระเป็นเจ้าของเจ้า” (มธ. 22, 37) และกำลังตรัสแก่ข้าพเจ้าว่า ทรงปรารถนาจะอภัยบาปให้ หากข้าพเจ้าเป็นทุกข์เพราะได้ทำเคืองพระทัย พระผู้เป็นเจ้า เจ้าข้าคนอาภัพ คนกบฏเยี่ยงข้าพเจ้านี้ พระองค์ยังทรงพอพระทัยให้รักพระองค์อีกเล่า! แน่นอนละ ข้าพเจ้าขอรักพระองค์ด้วยสิ้นสุดจิตใจ ข้าพเจ้าเสียใจเพราะได้ล่วงเกินพะองค์ เสียใจยิ่งกว่าเพราะภัยใด ๆ ทั้งสิ้นที่ข้าพเจ้าอาจจะประสบ โปรดเถิดองค์ความดีที่ล้นพ้นเจ้าข้า โปรดให้ข้าพเจ้าตระหนักในความผิดที่ได้กระทำ ไม่เอาแล้ว ข้าพเจ้าไม่ยอมทำหูทวนลม ต่อคำเรียกร้องของพระองค์ ข้าพเจ้าไม่ยอมทำเจ็บช้ำน้ำใจของพระองค์ ผู้ทรงรักข้าพเจ้าถึงปานฉะนี้ ทั้งได้ทรงพระกรุณาอภัยโทษแก่ข้าพเจ้าเป็นหลายครั้งหนักหนาแล้ว พระเยซูเจ้าข้า ข้าพเจ้าเสียใจเพราะได้ทำเคืองพระทัยแล้ว โปรดอภัยโทษเถิด พระเจ้าข้า แต่บัดนี้เป็นต้นไปขอให้ข้าพเจ้ารักพระองค์ผู้เดียว ให้ข้าพเจ้าดำรงชีพเฉพาะเพื่อพระองค์ พระเป็นเจ้าผู้ได้ทรงสิ้นพระชนม์เพื่อข้าพเจ้า ขอโปรดให้ข้าพเจ้าทนความทุกข์ยากทุกอย่าง เพราะรักพระองค์ ตอบแทนที่พระองค์ได้ทรงรับทุกข์เวทนาเป็นอันมากเพราะความรักต่อข้าพเจ้า พระองค์ได้ทรงรักข้าพเจ้าทั้งนิรันดรภาพ ขอโปรดให้ข้าพเจ้ารักพระองค์ด้วยใจเร่าร้อน ตลอดนิรันดรภาพด้วยเถิด พระเจ้าข้าพระมหาไถ่เจ้าข้า ข้าพเจ้าไว้ใจจะได้ทุกสิ่งดั่งทูลวิงวอนมานี้ ด้วยเดชะพระบารมีของพระองค์ พระเจ้าข้า

            ข้าแต่พระแม่มารีอา ข้าพเจ้าวางใจในท่านด้วย โปรดรับธุระวิงวอนให้ข้าพเจ้ารอดด้วยเถิด

2. พระสวามีทรงเรียกหาคนบาป

            ประการสอง ท่านจงพิเคราห์ดูความเมตตากรุณาของพระเป็นเจ้า ในการเชื้อเชิญคนบาปให้กลับใจ เมื่ออาดัมได้ทรยศต่อพระสวามีเจ้าแล้ว ท่านได้หลบซ่อนตัวให้พ้นพระเนตร แต่พระเป็นเจ้าทรงเสียดายอาดัม ทรงตามหาและเรียกหาด้วยพระสำเนียงละห้อยว่า “อาดัม เจ้าอยู่ที่ไหน?” (ปฐก. 3, 9) คุณพ่อเปเรอีรา อธิบายว่า นี่แหละคือ วาจาของพ่อที่ตามหาลูกที่หายไป- พี่น้องที่รักพระเป็นเจ้าได้ทรงกระทำดังนี้ต่อท่านก็หลายครั้งแล้วมิใช่หรือ?

            ท่านได้หนีพระองค์ แต่พระองค์ทรงเรียกหาท่าน ด้วยการดลใจบ้าง ด้วยคำตำหนิติเตียนในมโนธรรมบ้าง ด้วยคำเทศนาบ้าง ด้วยความยากลำบากบ้าง ด้วยความตายของเพื่อนฝูงบ้าง ดูคล้ายกับพระเยซูตรัสกับท่านว่า “ลูกเอ๋ย เราเรียกร้องหาเจ้าจนแทบจะหมดเสียงอยู่แล้ว” (สดด. 68, 4) นักบุญเทเรซาเตือนว่า: คนบาปเจ้าเอ๋ย จงสำเหนียกให้ดี พระเป็นเจ้าผู้กำลังร้องเรียกหาเจ้านั้นพระองค์จะทรงเป็นผู้พิพากษาของเจ้าในวันหนึ่งข้างหน้าด้วย”

            คริสตชนที่รัก กี่ครั้งกี่หนแล้ว ท่านได้ยินพระองค์ตรัสเรียกท่าน และท่านทำหูทวนลม? ควรแล้ว ที่พระองค์จะไม่ทรงเรียกหาท่านต่อไป แต่ก็หาเป็นเช่นนั้นไม่ ทั้งนี้เพราะว่า พระเป็นเจ้าของท่านทรงใคร่คืนดีกับท่าน และใคร่ช่วยให้ท่านรอด ผู้ที่เรียกหาท่านเป็นใคร?- มิใช่เพื่ออะไรอื่น นอกจากเพื่อให้ท่านกลับมีชีวิตพระหรรษทานที่ท่านได้เสียไป “เจ้าจงกลับมาและมีชีวิตเถิด” (อสค. 18, 32) การที่จะได้รับพระหรรษทานของพระเป็นเจ้านั้น แม้เราจะต้องล่วงชีวิตทั้งชีวิตอยู่ในพงไพร ก็ยังหาเป็นการเพียงพอไม่ แต่พระเป็นเจ้าทรงโปรดให้ท่านมีทางจะรับพระหรรษทานของพระองค์ได้ในชั่วพริบตาเดียว คือโดยการเป็นทุกข์ถึงบาปและเท่านี้ ท่านก็ยังไม่ยอมทำอีกหรือ? แม้ท่านได้กระทำต่อพระเป็นเจ้าของท่านดังนี้แล้ว พระองค์ก็มิได้ทรงทอดทิ้งท่าน ทรงวิ่งตามท่านและตรัสแก่ท่าน ราวกับจะทรงพระกันแสงว่า “ลูกเอ๋ย ไฉนเจ้าจึงอยากจะถูกโทษนักเล่า?” (อสค. 18, 31)

            เมื่อใครทำบาปหนัก คนนั้นก็ขับไล่พระเป็นเจ้าออกจากวิญญาณของตนพลางพูดกับพระองค์ว่า “ออกไปให้พ้น” (โยบ. 21, 24) ฝ่ายพระเป็นเจ้า พระองค์ทรงทำอย่างไร?- ทรงไปยืนอยู่ที่ประตูวิญยาณของคนใจดำผู้นั้น (วว. 3, 20) ทำอาการเหมือนวิงวอนขอให้วิญยาณนั้นกลับรับพระองค์เข้าไปใหม่ (กันต์. 5, 2) ทรงวิงวอนอยู่จนเหนื่อย (ยรม. 15, 6) เป็นจริงดังนี้ นักบุญดีโอนีซีโอ อาเรโอปาซีตา (ขุนศาลกรีก) กล่าวว่า พระเป็นเจ้าทรงตามหาคนบาป ราวกับหาคู่รักที่ได้เลิกร้างไป ทรงอ้อนวอนเพื่อมิให้เขาต้องพินาศ (6) นักบุญเปาโลก็ตั้งใจจะกล่าวดังนี้เหมือนกัน เมื่อท่านเขียนจดหมายถึงพวกสานุศิษย์ของท่านว่า “โดยเห็นแก่พระคริสต์เราวิงวอนขอท่านโปรดกลับคืนดีกับพระเป็นเจ้าเสียเถิด” (2 คร. 5, 20) นักบุญยวง คริสซอมโตมเมื่ออธิบายความตอนนี้ ท่านกล่าวไว้อย่างน่าฟังว่า: เป็นพระคริสต์เองที่ทรงวิงวอนท่าน และพระองค์ทรงวิงวอนขออะไร? ทรงขอให้ท่านคืนดีกับพระเป็นเจ้า เพราะว่าไม่ใช่พระเป็นเจ้าหรอก ที่ทำพระองค์ให้เป็นศัตรูของท่านแต่ตัวท่านเองที่ทำตัวให้เป็นศัตรูกับพระองค์ (7)ตรงนี้ ท่านนักบุญใคร่จะบอกว่ามิใช่คนบาปต้องพยายามหันพระเจ้าให้มาคืนดีกับเขา แต่ตัวเขาเองจำเป็นจะต้องตัดสินใจเข้ามาคืนดีกับพระองค์ เหตุว่าเป็นตัวเขาเองที่ได้หนีมิตรภาพ หาใช่พระเป็นเจ้าไม่

            อนิจจา! พระสวามีผู้ทรงพระทัยดีเป็นที่ยิ่งนี้ ทรงวิ่งตามหาคนบาปจำนวนมากเรื่อยไป พระองค์ตรัสแก่เขาว่า: เจ้าพวกคนใจดำ เจ้าอย่าหนีเราไปอีก: บากให้เรารู้ทีซิ เพราะอะไรเจ้าจึงหนีเรา? เราต้องการให้เจ้าได้ดี เราไม่ประสงค์สิ่งใด นอกจากอยากให้เจ้าเป็นสุข ไฉนเจ้าจึงอยากจะพินาศไปเล่า?- พระสวามีเจ้าข้า พระองค์กำลังทำอะไร ไฉนจึงทรงเพียรทน และทรงรักอ้ายพวกคนทรยศได้ถึงเพียงนี้หนอ? พระองค์ทรงหวังจะได้ดีอะไรบ้าง พระเจ้าข้า? การที่ทรงแสดงความปฏิพัทธ์รัก ฝูงหนอนที่เลวทราม กำลังถอยหนีพระองค์นั้นดู ๆ ไม่เหมาะสมกับพระเกียรติศักดิ์ของพระองค์เลย! “มนุษย์เป็นอะไร พระเป็นเจ้าจึงทรงเอาพระทัยใส่ต่อเขาถึงปานฉะนี้? ไฉนจึงทรงมอบดวงพระทัยให้แก่เขาดังนั้นเล่า?” (โยบ. 7, 17)

        ข้อเตือนใจและคำภาวนา

           พระสวามีเจ้าข้า นี่แน่ะคนใจดำกำลังกราบอยู่แทบพระบาท ทูลพระองค์ว่า: พระบิดาเจ้าข้า ทรงพระกรุณาอภัยบาปแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด ที่ข้าพเจ้ากล้าทูลเรียกพระองค์ว่า บิดา ก็เพราะพระองค์เองทรงปรารถนาให้ข้าพเจ้าเรียกดังนั้นข้าพเจ้านี้ไม่สมให้พระองค์สงสาร เพราะว่ายิ่งพระองค์ทำพระทัยดีต่อข้าพเจ้าข้าพเจ้าก็ยิ่งทำใจดำต่อพระองค์โปรดเถิด พระเจ้าข้า คราวเมื่อข้าพเจ้าหนีพระองค์พระทัยดีของพระองค์นั่นเองปกปักไว้ ไม่ยอมทอดทิ้งข้าพเจ้า ขอให้พระทัยดีอันนี้โปรดต้อนรับข้าพเจ้า ในขณะที่ข้าพเจ้ากำลังกลับเข้ามาหาพระองค์ ณ บัดนี้เถิดพระเจ้าข้า พระเยซูเจ้าข้า โปรดบันดาลให้ข้าพเจ้าเป็นทุกข์ถึงบาปอย่างใหญ่หลวง และทรงพระกรุณาสวมกอดข้าพเจ้า เพื่อเป็นสำคัญว่าคืนดีกันแล้วเถิดพระเจ้าข้า ข้าพเจ้าเสียใจเพราะได้ทำผิดต่อพระองค์ มากกว่าเพราะสิ่งใดทั้งสิ้นข้าพเจ้าเกลียดบาป ข้าพเจ้าชังบาป และขอร่วมความรู้สึกเกลียดชังอันนี้กับพระองค์ พระแสกไถ่ของข้าพเจ้า คราวพระองค์ประทับอยู่ ณ สวนเกธเซมานีโปรดอภัยบาปแก่ข้าพเจ้า โดยเห็นแก่พระโลหิตที่พระองค์ได้ทรงหลั่งเพื่อข้าพเจ้า ณ สวนนั้นเถิด พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าขอตั้งสัตย์ผฏิญญาแน่วแน่ว่า จะไม่ยอมถอยห่างจากพระองค์อีก ทั้งจะกำจัดความรักทั้งหลาย ที่มิใช่เพื่อพระองค์ ให้ออกจากด้วงใจของข้าพเจ้าจนหมดสิ้น พระเยซู องค์ความรัก เจ้าข้า ข้าพเจ้ารักพระองค์ยิ่งกว่าอะไร ๆ ทั้งหมด ข้าพเจ้ารักพระองค์เสมอ และรักพระองค์ผู้เดียวเท่านั้น โปรดประทานพละกำลังให้ข้าพเจ้าปฏิบัติตามคำปฏิญญานี้เถิด และโปรดให้ข้าพเจ้าเป็นของของพระองค์จนหมดสิ้นด้วยเถิด พระเจ้าข้า

            ข้าแต่พระแม่มารีอา ที่วางไว้ใจของข้าพเจ้า ท่านคือแม่ผู้ใจเมตตากรุณา โปรดเอ็นดูสงสาร และภาวนาอุทิษแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด

3. พระสวามีทรงต้อนรับคนบาปด้วยพระทัยดี

            เจ้านายในโลกนี้ เมื่อราษฎรผู้คิดกบฏมากราบขอขมาดทษ เขาไม่ยอมมองดูหน้าเสียด้วย แต่พระเป็นเจ้าไม่ทรงกระทำดังนั้นแก่ชาวเรา “หากท่านกลับมาหาพระองค์ พระองค์จะทอดพระเนตตรดท่าน ด้วยพระทัยดี” (2 พกษ. 30, 9) พระเป็นเจ้าไม่ทรงรู้จักเบือนพระพักตร์หลบหนี ผู้ที่กลับมาหาพระองค์แน่นอนเพราะพระองค์เอง ทรงเป็นผู้เชื้อเชิญ และสัญญาจะทรงต้อนรับในทันทีเมื่อเขากลับมาหาพระองค์ “กลับมาหาเราเถิด และเราจะต้อนรับท่าน (ยรม. 3, 1) “หันมาหาเราเด และเราจะหันไปหาท่าน” (ศคย. 1, 3) โอ! เมื่อคนบาปกลับเข้ามาหาพระเป็นเจ้า พระองค์ทรงสวมกอดเขา ด้วยความรักเสน่หาเพียงไรหนอ! พระเยซูคริสต์ทรงใคร่จะให้เราเข้าใจดังนี้แน่ ฉะนั้นจึงได้ทรงเล่าอุปมา เรื่องแกะซึ่งเมื่อเจ้าของไปพบแล้ว “ได้อุ้มใส่บ่าแบกมา พลางร้องเชิญให้เพื่อนบ้านมาร่วมยินดีกับตน” นักบุญลูกายังเสริมว่า “ในสวรรค์ จะมีความยินดีเพราะคนบาปคนหนึ่งกลับใจ” (ลก. 15, 5)

            ยิ่งกว่านั้น พระมหาไถ่ยังทรงชี้ให้เห็นชัดกว่าอีก ในอุปมาเรื่องลูกสุรุ่ยสุร่าย โอยตรัสว่า พระองค์ คือ บิดาผู้นั้น ซึ่งแต่พอแลเห็นลูกคนที่เสียไปกลับมาก็วิ่งเข้าไปต้อนรับ ไม่ปล่อยให้ลูกมีโอกาสพูดได้ เข้าไปสวมกอดและจูบลูก คราวที่แนบลูกไว้กับทรวงนั้น บิกาก็แทบจะเป็นลม เพราะความรักตื้นตันใจ: ความยินดีของพระองค์มีมากเพียงนั้น! (ลก. 15, 20)

            พระสวามีเจ้า ทรงยืนยันว่า หากคนบาปเป็นทุกข์กลับใจ พระองค์จะทรงลืมบาปของเขา เหมือนกับว่า เขามิได้กระทำผิดต่อพระองค์เลย (อสค. 18, 21) พระองค์ยังทรงเสริมว่า “มาเถอะมา มาต่อว่าเรา หากว่าบาปของท่านซึ่งแดงก่ำดุจกำมะหยี่ จะไม่กลับขาวสกาวดุจหิมะ” (อสย. 1, 18) คล้าย ๆ กับพระองค์จะตรัสว่า: มาเถอะ คนบาป หากเราไม่ยกโทษให้ท่านละก็ ให้ท่านตำหนิติเตียนและหาว่าเราเสียสัตย์ แต่ที่แท้ไม่เป็นดังนั้น พระเป็นเจ้าไม่ทรงรู้จักประมาทดวงใจที่ถ่อมตนและเป็นทุกข์ “พระเป็นเจ้าจะไม่ทรงดูแคลนดวงใจที่ตรมตรอมและถ่อมตน” (สดด. 50, 19)

            พระสวามีเจ้าทรงถือเป็นเกียรติ ที่จะทรงพระกรุณาอภัยโทษแก่คนบาป (อสย. 30, 19) และพระองค์จะทรงอภัยโทษให้เมื่อไร? - ในทันที (อสย. 30, 10) พระเป็นเจ้าไม่ทรงกระทำต่อเรา ดังเช่นเรากระทำต่อพระองค์ เมื่อพระองค์ตรัสเรียก เราทำหูทวนลม แต่พระเป็นเจ้าเมื่อเป็นเช่นนั้น แต่พอเราเป็นทุกข์ขอโทษ พระองค์ก็ทรงตอบและทรงยกโทษให้ทันที

       ข้อเตือนใจและคำภาวนา

            ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าบังอาจต่อกรกับใคร? กับพระองค์ ผู้ทรงพระทัยดี ที่ได้ทรงสร้างข้าพเจ้ามา ได้ทรงสิ้นพระชนม์เพื่อข้าพเจ้า และแม้ข้าพเจ้าได้ทรยศต่อพระองค์เป็นหลายครั้งหลายหนแล้ว ก็ยังทรงเพียรคอยข้าพเจ้าเรื่อยมา! เพียงแต่มองดูความเพียรของพระองค์เท่านั้น ก็น่าจะทำให้ข้าพเจ้าดำรงชีพร้อนระอุอยู่ด้วยความรักต่อพระองค์แล้ว ข้าพเจ้าได้ทำชอกช้ำน้ำพระทัยครั้งแล้วครั้งเล่าใครหนอจะเพียรทนข้าพเจ้าได้นานอย่างพระองค์? มันจะเป็นกรรมของข้าพเจ้าโดยแท้ หากแต่บัดนี้ไป ข้าพเจ้ายังขืนกลับมาทำเคืองพระทัย และทำตนให้สมต้องโทษอีก! เพราะว่าการระลึกถึงความเมตตากรุณาของพระองค์ต่อข้าพเจ้านั้นเองจะเป็นนรกสำหรับข้าพเจ้า และร้ายแรงกว่าตัวนรกเองด้วย! พระมหาไถ่เจ้าข้าอย่าให้เป็นเช่นนั้นเลยขออย่าทรงปล่อยให้ข้าพเจ้าหันหลังให้พระองค์อีกเลยโปรดให้ข้าพเจ้าตายเสียดีกว่า พระเจ้าข้า ณ บัดนี้ข้าพเจ้ามองเห็นแล้วว่า ความเมตตากรุณาของพระองค์จะทนข้าพเจ้าต่อไปอีกไม่ไหวแล้ว! องค์คุณงามความดีที่ล้นพ้นเจ้าข้า ข้าพเจ้าเสียใจที่ได้ทำเคืองพระทัย ข้าพเจ้ารักพระองค์ด้วยสิ้นสุดดวงใจ และตั้งใจจะถวายชีวิตที่ข้าพเจ้ายังมีอยู่ทั้งหมดนี้เพื่อพระองค์ พระบิดาผู้สถิตสถาพรตลอดนิรันดร เจ้าข้า โปรดเห็นแก่พระบุญญาบารมีของพระเยซูคริสต์และโปรดสดับฟังคำวิงวอนของข้าพเจ้า ขอประทานความคงเจริญในความดี และความรักอันศักดิ์สิทธิ์ต่อพระองค์เถิด พระเจ้าข้า พระเยซูเจ้าข้า โปรดสดับฟังคำวิงวอนของข้าพเจ้า โดยเห็นแก่พระโลหิต ที่พระองค์ไดทรงหลั่งเพื่อข้าพเจ้าเถิด พระเจ้าข้า “TE ERGO QUAESUMUS TUIS FAMULIS SUBVENI, QUOS PRETIOSO SANGUINE REDEMISTI”

            ข้าแต่พระนางมารีอา โปรดเหลียวมองดูข้าพเจ้า: ILLOS TUOS MISERICORDES OCULOS AD ME CONVERTE, และโปรดฉุดรั้งข้าพเจ้าเข้าหาพระเป็นเจ้าด้วยเถิด

(1) Deus cujus natura est bonitas (S. Leo).

(2) Omnis creatura, tibi Factori deserviens, exardescit in tormentum adversus injustos.

(3) Deus, Deus meus, pace tua, dicam nisi quia Deus esses, injustus esses.

(4) Nos peccamus, inhoeremus peccato, gaudemus peccato, et tu placates es?

(5) Infernus domus mea est.

(6) Deus etiam a se aversos amatory sequitur, ne pereant.

(7) Ipse Christus vos obsecrat, Quid autem obsecrat? reconciliamini-Deo; non enim ipse inimcus gerit, sed

     vos.

1. พระเป็นเจ้าทรงเป็นผู้ยุติธรรมด้วย

   ในอุปมาเรื่องข้าวละมาน โดยนักบุญมัทธิว บทที่ 13 มีกล่าวว่า: เมื่อเห็นข้าวละมานขึ้นปะปนอยู่กับข้าวดี พวกคนใช้อยากจะถอนออก “ท่านประสงค์ให้พวกข้าพเจ้าถอนมันออกหรือไม่?” แต่เจ้าของตอบว่า “อย่าเลย ปล่อยให้มันขึ้นไปพลางก่อน ต่อภายหลังค่อยเก็บแล้วเอาเผาไฟเสีย” จากอุปมาเรื่องนี้นัยหนึ่งเราแลเห็นว่า พระเป็นเจ้าทรงมีความเพียรต่อคนบาป อีกนัยหนึ่ง เราก็แลเห็นว่าพระองค์ทรงเข้มงวดต่อคนใจกระด้าง นักบุญเอากุสติน กล่าวว่า ปีศาจหลอกลวงเรามนุษย์ด้วยกลยุทธ์สองวิธีคือ “ทำให้เสียใจ และทำให้ไว้ใจ” เมื่อคนบาปทำผิดไปแล้ว มันมาประจญให้เสียใจ โดยยั่วให้กลัวความยุติธรรมของพระเป็นเจ้าแต่เมื่อคนบาป ก่อนจะทำผิด มันยั่วให้เขาไว้ใจในความเมตตากรุณาของพระเป็นเจ้าฉะนั้น ท่านนักบุญจึงเตือนสติทุก ๆ คนว่า: เมื่อได้กระทำผิดแล้ว ให้วางใจในความเมตตากรุณาของพระเป็นเจ้าเถิด แต่เมื่อก่อนจะทำผิดให้กลัวพระยุติธรรมไว้ (1) ถูกแล้ว ต้องปฏิบัติดังกล่าวนี้ เหตุว่า บุคคลใดใช้ความเมตตากรุณาของพระเป็นเจ้า เพื่อทำผิดต่อพระองค์ บุคคลนั้นไม่สมจะได้รับความเมตตากรุณาความเมตตากรุณามีไว้สำหรับผู้ที่เกรงกลัวพระเป็นเจ้า หาใช่สำหรับผู้ที่บังอาจใช้ความเมตตากรุณา เพื่อไม่เกรางกลัวพระองค์ไม่ ท่านอังฟองโซ โคสตาต์ กล่าวว่า: บุคคลที่ทำผิดต่อความยุติธรรม ยังอาจพึ่งความเมตตากรุณาได้ แต่บุคคลที่ทำผิดต่อความเมตตากรุณา จะไปพึ่งอะไรเล่า?

            ยากมากจะพลคนบาปชนิดที่เสียใจ จนต้องการจะไปนรกเสียทีเดียวคนบาปทั่วไปย่อมทำบาป โดยยังมีหวังว่าจะเอาตัวรอด เขาทำบาป พลางพูดว่า: พระเป็นเจ้าทรงพระทัยกรุณา ฉันจะทำบาปประการนี้ แล้วก็จะแก้ไขต่อภายหลัง นักบุญเอากุสติน กล่าวว่า คนบาปชอบพูดทำนองนี้แหละ (2) แต่อนิจจา! คนที่ได้พูดอย่างนี้ จำนวนมาก บัดนี้ไปอยู่ในนรกเสียแล้ว!

            พระสวามีเจ้าตรัสว่า “เจ้าอย่าพูดว่า พระทัยเมตตากรุณาของพระสวามีเจ้านั้นยิ่งใหญ่ แม้ฉันจะทำบาปเท่าไร ๆ พอฉันเป็นทุกข์ถึงบาป ฉันก็จะได้รับอภัยโทษ” (บสร. 5, 6) ไฉนพระเป็นเจ้าจึงตรัสว่า “เจ้าอย่าพูดดังนี้?” “ก็เพราะว่าพระทัยเมตตากรุณา และ พระพิโรธ แล่นออกจากพระองค์ ตามติดกันมา และพระพิโรธของพระองค์เล็งไปทางคนบาป” (บสร. 5, 7) จริงอยู่ความเมตตากรุณาของพระเป็นเจ้าไม่มีขอบเขต แต่กิจการของความเมตตากรุณานั้น มีขอบเขตพระเป็นเจ้าทรงเมตตากรุณาก็จริง แต่พระองค์ยังทรงยุติธรรมด้วย วันหนึ่งพระสามีเจ้าได้ตรัสแก่นักบุญปริชดว่า “เรานี้ทรงยุติธรรม ทั้งทรงเมตตากรุณาแต่คนบาปคิดว่าเราทรงเมตตากรุณาเพียงด้านเดียว” (3) นักบุญบาซีลีโอ กล่าวว่า “คนบาปชอบพิจารณาดูพระเป็นเจ้าเพียงครึ่งเดียว แต่พระสวามี ทรงพระทัยดี ทั้งทรงยุติธรรมด้วย ชาวเราจึงไม่พอใจพิจารณาดูพระองค์เพียงครึงเดียวเท่านั้น” (4) ท่านยวงแห่งอาวีลากล่าวว่า “การอดทนบุคคลที่บังอาจใช้ความเมตตากรุณาของพระเป็นเจ้า เพื่อทำผิดต่อพระองค์ยิ่งขึ้นนั้น ไม่ใช่เป็นการกรุณา แต่เป็นการไร้ความยุติธรรม” ความเมตตากรุณานั้น พระเป็นเจ้าทรงสัญญาไว้แก่คนที่เกรงกลัวพระองค์ หาใช่แก่คนที่ล่วงเกินความเมตตากรุณาของพระองค์ไม่พระมารดาของพระเป็นเจ้าก็ได้ทรงร้อยกรองไว้ในบท “วิญญาณข้าพเจ้าขอเทอดพระเกียรติ” ว่า “พระทัยเมตตากรุณาของพระองค์ สำหรับผู้ที่เกรงกลัวพระองค์” พระเป็นเจ้าได้ทรงกำชับว่า จะทรงใช้ความยุติธรรม ต่อคนดื้อกระด้าง และนักบุญเอากุสตินเน้นว่า พระเป็นเจ้าไม่ทรงหลอกลวง เมื่อพระองค์ทรงสัญยาฉันใด พระองค์ก็ไม่ทรงหลอกลวง เพื่อพระองค์ทรงขู่ฉันนั้น (5)

            นักบุญยวง กลีมาโก เตือนว่า “ให้ระวังไว้จงดี เมื่อปีศาจ (ไม่ใช่พระเป็นเจ้า) สัญญาว่าพระเป็นเจ้าจะทรงแมตตา ทั้งนี้เพื่อจะชักชวนท่านให้ทำบาป (6) นักบุญเอากุสตินเสริมต่อว่า “วิบากกรรมแก่ผู้ที่ไว้ใจ เพื่อทำบาป!” (7)“โอ้! มีกี่คนแล้ว ท่านนักบุญพูดต่อไป ได้หลงและได้พินาศไปแล้วเพราะความไว้ใจอันบ้าบอนี้!” (8) น่าสังเวชแท้ คนที่เอาความเมตตากรุณาของพระเป็นเจ้ามาใช้ล่วงเกินพระองค์ยิ่งขึ้นไปอีก! นักบุญเบอร์นาร์ดกล่าวว่า: ที่พระเป็นเจ้าได้ทรงลงพระอาชญาแก่ลูชีแฟร์ในทันทีทันใด ก็เพราะมันได้คิดทรยศ โดยไว้ใจว่าจะไม่ถูกโทษ เป็นความจริง กษัตริย์มานัสแซสได้เป็นคนบาป แต่แล้วได้กลับใจพระเป็นเจ้าจึงได้ทรงอภัยบาปให้ แต่อัมมอนโอรสของมานัสแซส เห็นว่า บิดาได้รับอภัยบาปอย่างง่ายดายเข่นนี้ จึงได้ปล่อยตัวประพฤติชั่ว ไว้ใจว่าตัวเองก็จะได้รับอภัยบาปเหมือนกัน แต่แล้วสำหรับอัมมอน พระเป็นเจ้าหาได้ทรงพระเมตตาไม่ นักบุญยวง คริสซอสโตมยังกล่าวว่า : ยูดาสได้ฉิบหายไปในการทำบาปโดยหวังในความเอ็นดูปราณีของพระเยซูเจ้า (9)พูดรวบรัด แม้พระเป็นเจ้าทรงเพียรทนแต่พระองค์ก็ไม่ทรงพียรทนเสมอไป ถ้าพระองค์จะทรงเพียรทนเสมอไปแล้วคงจะไม่มีใครสักคนไปนรก แต่ตามความเห็นของคนส่วนมากมีว่า: คริสตังส่วนใหญ่ไปนรก นี่พูดถึงผู้มีอายุรู้ความแล้ว “ประตูและทางนำไปสู่ความพินาศนั้นกว้างขวาง และคนเป็นอันมากเดินเข้าไปทางนี้” (มธ. 7, 13)

            นักบุญเอากุสติน กล่าวว่า: คนที่ทำเคืองพระทัยของพะรเป็นเจ้า โดยหวังจะได้รับอภัยโทษ เขาล้อพระองค์เล่น หาใช่เป็นทุกข์จริงใจไม่ (10) และนักบุญเปาโลก็ได้กำชับว่า: พระเป็นเจ้าไม่ทรงปล่อยให้ล้อพระองค์เล่น “พระเป็นเจ้าจะล้อเล่นไม่ได้” (คาลัต. 6, 7) ต้องถือเป็นการล้อพระเป็นเจ้าเล่นเมื่อทำเคืองพระทัยของพระองค์เรื่อยไปแล้วยังอยากจะไปสวรรค์ ผู้ใดหว่านบาปไว้ ผู้นั้นมีแต่จะต้องคอยรับพระอาชญาและนรก: คนเราหว่านอะไรก็จะเก็บเกี่ยวผลอันนั้น (คาลัต. 6, 8) คริสตังแทบทุกคนที่บัดนี้อยู่ในนรกแล้ว เขาติดข่ายของปีศาจลากไปสู่นรกก็โดยที่มันหลอกลวงบอกแก่เขาว่า: ทำบาปเข้าไปเถิด ทำตามชอบใจ แม้จะมีบาปมากเท่ามาก ท่านก็จะเอาตัวรอดอยู่ดี แต่พระเป็นเจ้าทรงสาบแช่ง ผู้กระทำบาปโดยหวังว่าจะได้รับอภัย (11)  จริงอยู่ เมื่อเราทำบาปแล้ว หากเรามีความไว้ใจพร้อมทั้งเป็นทุกข์ถึงบาป ความไว้ใจเช่นนี้เป็นที่โปรดปรานของพระเป็นเจ้า แต่ความไว้ใจของคนดื้อกระด้าง เป็นสิ่งที่พระองค์ทรงสาปแช่ง (โยบ. 11, 20) ความไว้ใจดังกล่าว ยั่วให้พระเป็นเจ้าทรงลงโทษเหมือน ๆ กับคนใช้ที่เห็นว่านายใจดีจึงได้ล่วงเกิน การทำอย่างนี้มีแต่ยั่วให้นายลงโทษเท่านั้น

     ข้อเตือนใจและคำภาวนา

          ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าเป็นคนหนึ่งในจำนวนคนดังกล่าว ข้าพเจ้าได้กระทำเคืองพระทัยของพระองค์ เพราะเห็นว่าพระองค์ทรงพระทัยดีต่อข้าพเจ้า! อา! พระสวามีเจ้าข้า โปรดรอข้าพเจ้าก่อนเถิด ขออย่าเพิ่งทอดทิ้งข้าพเจ้าเลยข้าพเจ้าหวังว่า เดชะพระหรรษทานของพระองค์ช่วย ข้าพเจ้าจะไม่ยั่งพระองค์ให้ทรงทอดทิ้งข้าพเจ้าต่อไป องค์คุณงามความดีล้นพ้นเจ้าข้า ข้าพเจ้าเสียใจที่ได้ทำขัดเคืองพระทัย และที่ได้ล่วงเกินความเพียรของพระองค์เช่นนั้น ขอขอบพระคุณที่ได้โปรดช่วยข้าพเจ้าจนบัดนี้ แต่นี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าจะไม่ยอมทรยศต่อพระองค์ดังแต่ก่อน พระองค์ได้ทรงเพียรทนข้าพเจ้าเป็นเวลาช้านาน ก็โดยหวังว่าสักวันหนึ่งข้าพเจ้าจะกลับมาปฏิพัทธ์รักพระทัยดีของพระองค์ ข้าพเจ้าเชื่อว่าวันนั้นมาถึงแล้วเพราะว่าบัดนี้ข้าพเจ้ากำลังรักพระองค์ยิ่งกว่าสิ่งใด ๆ และข้าพเจ้ายิดมั่นว่า พระหรรษทานของพะรองค์ประเสริฐกว่าอาณาจักรทั้งสิ้นแห่งแผ่นดินกลบข้าพเจ้าพร้อมจะพลีชีพสักพันครั้ง ดีหว่าจะเสียพระหรรษทานของพระองค์อีกเลย พระเจ้าข้า

          ข้าแต่พระแม่มารีอา ท่านเป็นที่วางใจของพข้าพเจ้า โปรดให้ข้าพเจ้าได้รับความคงเจริญในความดี และข้าพเจ้าจะไม่พอใจในอะไรอีกแล้ว           

2. คนบาปที่ถูกกระเป็นเจ้าทอดทิ้ง

         บางคนจะว่า: ในเวลาที่ล่วงมาแล้วนั้น พระเป็นเจ้าได้ทรงกรุณาต่อฉันหลายครั้งกลายหนแล้วฉันใด ฉันก็หวังว่า พะรองค์จะทรงพระกรุณาต่อฉันต่อ ๆ ไปในภายหน้า ฉันนั้น ขอตอบว่า: เพราะเหตุที่พระเป็นเจ้าได้ทรงพระกรุณาต่อท่าน หลายครั้งหลายหนแล้ว เพราะหุนี้ ท่านจึงอยากจะทำเคืองพระทัยของพระองค์อีก กระนั้นหรือ? ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็สมจริงตามวาทะของนักบุญเปาโลที่ว่า: ท่านดูหมิ่นพระทัยดี และความเพียรของพระเป็นเจ้า! ท่านไม่รู้หรือว่าพระสวามีเจ้าได้ทรงเพียรทนต่อท่านจนถึงบัดนี้ ไม่ใช่เพื่อให้ท่านดื้อกระด้างทำเคืองพระทัยต่อไป แต่เพื่อให้ท่านร้องไห้คิดเสียดายความชั่วที่ได้กระทำมา? “นี่ท่านประมาทขุมคลังแห่งพระทัยดี และความอดทนของพระเป็นเจ้าหรือ? ท่านไม่ทราบหรือว่า พระทัยอารีของพระองค์นั้น ชักจูงให้ท่านเป็นทุกข์กลับใจ” (รม. 2, 4) หากว่าท่านวางใจในความเมตตากรุณาของพระเป็นเจ้า โดยไม่รู้จักจบสิ้นดังนั้น พระสวามีเจ้าเอง จะทรงเลิกและทำให้จบสิ้น “หากพวกเจ้าไม่กลับใจพระองค์จะทรงควงกระบี่” (สดด. 7, 13) “เป็นธุระของเราที่จะแก้แค้น ครั้นถึงเวลาของมัน เราจะกระทำตามยุติธรรม” (ฉธบ. 32, 35) พระเป็นเจ้าทรงรอคอยแต่เมื่อถึงเวลาแก้แค้น จะไม่ทรงรอคอยต่อไป แต่จะทรงเอาโทษ

           ที่พระเป็นเจ้าทรงรอคอยคนบาป ก็โดยมุ่งหวังให้เขาดัดแปลงกิริยา “พระสวามีทรงรอคอยท่าน ก็เพื่อจะทรงเอ็นดูกรุณาท่าน” (อสย. 30, 18) แต่เมื่อทรงเห็นว่า เวลาที่ทรงประทานแก่คนบาป เพื่อให้เขาร้องไห้เป็นทุกข์กลับใจนั้นเขากลับนำมาใช้ทำบาปยิ่งขึ้น พระองค์จะทรงเรียกเอาเวลานั้นเองมาใช้พิพากษาเขา (12) เป็นอันว่า เวลาที่ได้ทรงประทานให้นั้น ความเมตตาที่ได้ทรงให้นั้นจะทำให้คนบาปต้องรับโทษานุโทษเข้มงวดขึ้นและจะต้องถูกทอดทิ้งเร็วขึ้น “เราได้เยียวยากรุงบาบีโลน แต่มันไม่หาย ชาวเราจงทิ้งมันเสียเถิด” (ยรม. 51, 9) และพระเป็นเจ้าจะทรงละทิ้งเขา ด้วยวิธีใด?- พระองค์ทรงปล่อยให้ความตายมาหาเขา และให้เขาตายไปในบาป หรือว่าทรงปล่อยให้เขาขาดพระหรรษทานปล่อยให้เขาได้รับแต่เพียงพระหรรษทานชนิดพอดี ๆ จริงอยู่อาศัยพระหรรษทานชนิดหลังนี้ คนบาปอาจจะเอาตัวรอดได้ แต่ก็จะไม่รอด ดวงจิตรอันมืดมน ดวงใจอันกระด้าง นิสัยชั่วอันติดสันดานของเขา เหล่านั้น เมื่อพูดตามความประพฤติจะทำให้เขาเอาตัวรอดไม่ได้ และดังนั้น จึงว่าเขาถูกทอดทิ้ง ถ้าไม่ใช่โดยเด็ดขาดทีเดียว อย่างน้อยก็โดยความประพฤติ “เราจะถอนรั้วออก และสวนนั้นจะร้าง” (อสย. 5, 5) โอ นี่คือ พระอาชญาโทษอันร้ายแรง! เมื่อเจ้าของรื้อรั้วสวนองุ่นออก ก็หมายความว่า ปล่อยให้ใครอยากเข้าก็เข้าได้ ไม่ว่าคน หรือสัตว์ก็ตาม! นี่แปลว่าอะไร?- แปลว่า เขาทิ้งสวนนั้นแล้ว เมื่อพระเป็นเจ้าทรงทิ้งวิญญาณใดพระองค์ก็ทรงทำต่อวิญญาณนั้นดังนี้ คือ รื้อถอนความเกรงกลัว และความร้อนใจออกจากมโนธรรม ซึ่งเปรียบได้กับรั้วออกเสีย แล้วทรงปล่อยเขาให้อยู่ในความมืดมน เมื่อนั้นพยศชั่วชนิดต่าง ๆ ซึ่งเป็นดังสัตว์กาลี ก็พากันเข้ามาในวิญญาณ “พระองค์ได้ทรงวางความมืดลง แล้วก็กลายเป็นกลางคืน สัตว์ร้ายนานาชนิดของป่า ก็เดินเพ่นพ่านเข้าไปในนั้น” (สดด. 103, 20) ครั้งคนบาปถูกทอดทิ้งให้อยู่ในความมืดดังนี้แล้ว เขาจะประมาทต่อทุกสิ่ง ไม่ว่าพระหรรษทานสวรรค์ คำตักเตือน หรือพระอาชญาโทษ: เขาจะหวังเราได้ กระทั่งแม้การตกนรกของเขาเอง “เมื่อคนอธรรมเลยเถิดลงไปถึงก้นบึ้งแห่งกองบาปแล้วเขาก็ประมาทเนต่อทุกสิ่ง” (สภษ. 18, 3)

          พระเป็นเจ้าจะทรงไว้ชีวิตเขา โดยไม่ลงพระอาชญา แต่การที่ไม่ทรงลงพระอาชญานั้น กลับเป็นพระอาชญาที่ร้ายแรงขึ้นอีก “ชาวเราจงสงสารคนอธรรมเถิด เขาจะไม่สำนึก และกลับมาประพฤติความดีหรอก” (อสย. 26, 10) เมื่อนักบุญเบอร์นาร์ดอธิบายพระคัมภีร์ตอนนี้ ท่านอุทานว่า “ขออย่าให้ข้าพเจ้าได้รับความกรุณาชนิดนี้เลย เพราะมันร้ายกว่าพระพิโรธทุกชนิดเสียอีก” (13) โอ้! มันช่างเป็นพระอาชญาโทษที่ใหญ่หลวงยิ่งนัก เมื่อพระเป็นเจ้าทรงทิ้งคนบาปให้อยู่ในอุ้งมือบาปของเขา และดูเหมือนว่าพระองค์ไม่ทรงเอาใจใส่อีกต่อไป! (สดด. 10, 4) มีพระอาการดังไม่ทรงขึ้นโกรธต่อไปแล้ว “เราจะไม่เอาใจใส่ต่อเขาอีก เราจะทำเฉย จะไม่โกรธอีก” (อสค. 16, 42) และดูเหมือนว่า พระองค์ทรงปล่อยให้เขาได้ตามความปรารถนาทุกอย่างในโลกนี้: “และเราจะปล่อยให้เขาได้สมปรารถนาของเขา” (สดด. 80, 13) เวรกรรมแท้! คนบาปที่มั่งคั่งเป็นสุขในชีวิตนี้! เพราะเป็นการแสดงให้เห็นว่า พระเป็นเจ้าทรงรอจะลงพระอาชญาโทษแก่เขาตามความยุติธรรมของพระองค์ในชีวิตชั่วนิรันดร ท่านประกาศกเยเรมีย์ถามว่า “เหตุไรทุกสิ่งจึงเป็นผลดีแก่คนอธรรม?” แล้วท่านตอบว่า “เพราะพระองค์ทรงรวมเขาไว้ ดังฝูงสัตว์สำหรับจะนำไปฆ่า” (ยรม. 13, 1-3) ไม่มีอะไรล้า จะเป็นพระอาชญาโทษที่ใหญ่ไปกว่าการที่พระเป็นเจ้าทรงปล่อยให้คนบาปทำบาปทับถมบาปยิ่งขึ้น มันเป็นไปตามพระราชนิพนธ์ของกษัตริย์ดาวิดว่า “โปรดเพิ่มความชั่วทับถมความชั่วของมันขึ้นอีก...ขอจงลบมันออกจากบัญชีผู้มีชีวิต” (สดด. 68, 28) ณ ที่นี้ท่านแบลลาร์มีโน กล่าวว่า “ไม่มีอะไรเป็นพระอาชญาโทษใหญ่เท่าบาปเป็นอาชญาโทษของบาปอีกต่อหนึ่ง” (14)ผู้เคระห์ร้ายดั่งนี้ หากจะถูกพระเป็นเจ้าปล่อยให้ตายไป เมื่อครั้งได้ทำบาปประการแรกก็ยังจะดีกว่า ด้วยว่าเมื่อตายไปทีหลัง จะต้องตกนรกมากเท่าจำนวนบาปที่เขาจะได้ประกอบขึ้นนั้นแล

        ข้อเตือนใจและทำภาวนา

           ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้านี้อยู่ในฐานะอันน่าสังเวชนั้น ฐานะอันสมควรที่จะไม่ได้รับพระหรรษทานและแสงสว่างจากพระองค์อีกต่อไป แต่เมื่อมองเห็นแสงสว่างอันพระองค์โปรดปรพทานให้ในขณะนี้ และได้ยินพระสุรเสียงของพระองค์ เชื้อเชิญให้ข้าพเจ้าเป็นทุกข์กลับใจ ก็ปรากฏชัดว่า พระองค์ยังมิได้ทรงทอดทิ้งข้าพเจ้า พระสวามีเจ้าข้า ไหน ๆ พระองค์ก็ยังมิได้ทรงทอดทิ้งข้าพเจ้าขอโปรดเพิ่มความเมตตากรุณาต่อวิญญาณของข้าพเจ้าด้วยเถิด โปรดเพิ่มความสว่าง ความปรารถนาในการปรนนิบัติ และรักใคร่พระองค์เถิด พระเจ้าข้า ข้าแต่พระเป็นเจ้า ผู้ทรงสรรพานุภาพ โปรดเปลี่ยนใจข้าพเจ้า จากคนทรยศ ให้กลับเป็นผู้ร้อนระอุอยู่ด้วยความรักต่อความเมตตากรุณาของพระองค์ เพี่อจะได้บรรลุถึงวิมานสวรรค์ในวันหนึ่ง จะได้ร้องสาธุการความเมตตากรุณาของพระองค์ตลอดทั้งนิรันดรภาพ แน่นอน พระองค์ทรงใคร่จะอภัยบาปแก่ข้าพเจ้า และข้าพเจ้าก็ไม่อย่ากได้อะไรนอกจากการอภัยบาป และความรักต่อพระองค์ พระเจ้าข้า องค์พระผู้ทรงทัยดีที่ล้นพ้น เจ้าข้า ข้าพเจ้าเป็นทุกข์ตรอมใจ เพราะที่ได้ทำเคืองพระทัย องค์คุณงามความดีที่ล้นพ้น เจ้าข้า ข้าพเจ้ารักพระองค์ เพราะพระองค์ทรงสั่งให้รัก ข้าพเจ้ารักพระองค์ เพราะพระองค์ทรงน่ารักหาที่สุดมิได้พระมหาไถ่ เจ้าข้า โปรดเห็นแก่พระบารมีแห่งพระโลหิตของพระองค์ และทรงช่วยคนบาปที่พระองค์ทรงรักมากและได้เพียรทนมาก เป็นเวลาช้านานหลายปีมาแล้วนี้ ให้เขาได้รักพระองค์ด้วยเถิด พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าหวังจะได้ทุกสิ่งดังทูลขอนี้ ด้วยเดชะ ความเอ็นดูปราณีของพระองค์ ข้าพเจ้าหวังว่านับแต่บัดนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าจะรักพระองค์เรื่อยไปจวบจนสิ้นชีวิต และตลอดทั้งนิรันดรภาพด้วย “ข้าพเจ้าจะซร้องสาธุการความเมตตากรุณาของพระองค์ตลอดทั้งนิรันดรภาพ” (สดด. 88, 1) แน่นอน พระเยซูเจ้าข้า ข้าพเจ้าจะซร้องสาธุการความเมตตากรุณาของพระองค์ทั้งชั่วนิรันดร พระเจ้าข้า

            พระแม่มารีอา เจ้าข้า ข้าพเจ้าจะสรรเสริญความเมตตากรุณาของท่านด้วย ท่านนี้แหละ เป็นผู้ช่วยให้ข้าพเจ้าได้รับพระหรรษทานมากต่อมาก พระหรรษทานทั้งหลายนี้ ข้าพเจ้าได้รับก็โดยอาศัยคำเสนอวิงวอนของท่าน พระสวมีเจ้าข้า โปรดช่วยข้าพเจ้าต่อ ๆ ไปเถิด ช่วยข้าพเจ้าเจริญในความดีเสมอเถิด

3. เร็วเข้า! รีบกลับใจเสียเถิด

            ในประวัจิของคุณพ่อหลุยส์ ลานูซา มีเรื่องเล่าว่า: วันหนึ่ง ที่นครปาแลร์โม มีเพื่อนสองคนกำลังเนเล่น คนหนึ่งชื่อ เซซาร์ มีอาชีพทางละครเขาผู้นี้ สังเกตเห็นเพื่อนของตนกำลังคิดครุนอะไรอยู่ในใจ จึงเอ่ยขึ้นว่า: นี่แน่ะ! ผมจับได้แล้ว คุณเพิ่งไปแก้บาปมาเมื่อไม่นานนี่ใช่ไหม? เพราะฉะนั้นนี่เล่าจึงไม่สบายใจ แล้วเขาพูดต่อ: ฟังให้ดีนะเพื่อน ครั้งหนึ่ง คุณพ่อลานูซา บอกกับผมว่า พระเป็นเจ้าทรงไว้ชีวิตผมอีก 12 ปี และถ้าผมไม่เปลี่ยนกิริยาในระยะนี้ผมจะต้องตายร้าย ตั้งแต่นั้นมา ผมได้ท่องเทียวไปตามถิ่นต่าง ๆ ได้เจ็บไข้ได้ป่วยก็หลายครั้ง มีครั้งหนึ่งจวนเจียนจะไม่รอดทีเดียว และก็ในเดือนนี้เองจะครบ 12 ปี ตามคำทำนาย แต่ผมรู้สึกว่า ไม่มีคราวใดในชีวิตที่ผมจะสบายดีเท่ากับขณะนี้ครั้นเล่าเรื่องจบแล้ว เขาก็เชิญเพื่อนคนนั้นให้ไปดูละคร เป็นบทใหม่ที่เขาเพิ่งประพันธ์ขึ้น ในวันเสาร์ที่จะถึง ซึ่งตกเป็นวันที่ 24 พฤศจิกายน 1668 วันนั้นเมื่อเขากำลังเตรียมตัวจะออกโรง ก็มีอันเป็น เป็นลม และตายไปอย่างปัจจุบันในอ้อมแขนของนางละครผู้ร่วมอาชีพ ละครของเขาจึงได้ลาโรงไป ด้วยประการฉะนี้

            บัดนี้ จงหันมาดูตัวของเราเองเถิด พี่น้อง ต่อไป เมื่อปีศาจจะมาชักชวนท่านให้ทำบาป หากท่านอยากไปนรก ก็ให้ทำตามความชอบใจเถิด แต่เมื่อนั้นท่านอย่าพูดว่า “ฉันอยากจะเอาตัวรอดก็แล้วกัน” เมื่อท่านอยากทำบาป ก็ให้ถือเสียว่า ตัวท่านตกนรกแล้ว และให้ท่านคิดเหมือนว่า พระเป็นเจ้ากำลังบันทึกคำตัดสินลงโทษท่าน และตรัสแก่ท่านว่า “เจ้าคนใจดำ มีอะไรที่เรายังไม่ได้ทำเพื่อเจ้า” (อสย. 5, 4) ไหน ๆ เจ้าอยากไปนรก ก็ไปเลย โทษของเจ้าเอง

            ท่านอาจจะว่า “แล้วก็ ความเมตตากรุณาของพระเป็นเจ้าอยู่ที่ไหนเล่า?”- อา! คนเคราะห์ร้าย! ท่านไม่เห็นหรือว่า เป็นความเมตตากรุณาของพระเป็นเจ้า ที่ได้ทรงทนท่านในกองบาป เป็นเวาหลายปีมานักแล้ว? ท่านน่ะน่าจะต้องก้มกราบ หน้าจรดกับพื้นดิน สมนาพระคุณของพระองค์เรื่อยไปว่า “ด้วยเดชะพระมหากรุณาธิคุณของพระสวามีเจ้า พวกข้าพเจ้าจึงไม่กลายเป็นเปล่าไป” เมื่อท่านได้ทำบาปแม้ประการเดียว ท่านก็ได้ทำอาชญากรรมร้ายแรงยิ่งกว่าได้ทำร้ายพระเจ้าแผ่นดินผู้สูงศักดิ์กว่าหมดในโลก แต่ท่านได้กระทำบาปจำนวนมากมายก่ายกอง จนว่าความผิดตามจำนวนที่ท่านได้กระทำต่อพระเป็นเจ้านั้น ถ้าท่านไปกระทำต่อพี่น้องในไส้ของท่านคนใดก็ตามเขาจะอดทนท่านไม่ไหวแน่ มีแต่พระเป็นเจ้าผู้เดียวเท่านั้น ที่ทรงคอยท่านเรียกร้องหาท่านหลายครั้งหลายหน และเชื้อเชิญท่านให้มารับอภัยโทษ “จะให้พระองค์ทรงทำอะไรยิ่งไปกว่านี้อีกเล่า?” สมมุติว่า หากเป็นไปได้ พระเป็นเจ้าทรงต้องการท่าน หรือว่าท่านได้ทำคุณต่อพระองค์มากมายเหลือล้น ก็ยังจะมีทางให้พระองค์ทรงเมตตาต่อท่านมากไปกว่านี้ได้อีกหรือ? หากท่านขืนดื้อ ทำเคืองพระทัยต่อไป ท่านก็จะทำให้ความเมตตากรุณาของพระองค์กลายเป็นพระพิโรธและอาชญาโทษสำหรับท่าน

            ต้นมะเดื่อเทศที่เจ้าของไปพบ ไม่มีผล และต่อเมื่อได้ให้เวลาอีกหนึ่งปีเพื่อบำรุงรักษามันแล้ว มันก็ไม่มีผลอีก ใครเล่าจะหวังว่า พระสวามีเจ้าจะทรงประทานเวลาให้อีกและจะทรงงดโทษ ไม่ตัดมันเสีย? ท่านพึงฟังคำตักเตือนของนักบุญเอากุสตินว่า “ต้นไม้ที่ไม่มีผล ได้รับเพียงการพักรอเวลาตัดไว้ ตัวท่านเองก็อย่านอนใจ จะต้องถูกตัดลง” นักบุญประสงค์จะเตือนสติว่า: อาชญาโทษสำหรับท่านได้รับการพักรอไว้ หาใช่ถูกยกเสียเลยไม่ หากท่านขืนละเมิดความเมตตากรุณาของพระองค์ทรงผลักท่านลงไปในขุมนรกหรือ? ก็เมื่อท่านไปนรกแล้ว ท่านก็ทราบดีอยู่ว่า ไม่มีทางจะแก้ไขสำหรับท่านอีกต่อไป พระสวามีเจ้าทรงนิ่งเฉย แต่จะไม่ทรงนิ่งเฉยเสมอไปหรอก เมื่อถึงเวลาแก้แค้น พระองค์จะไม่ทรงนิ่งต่อไป “เจ้าได้กระทำการเหล่านี้ และเราได้นิ่งเสีย เจ้าคนบาป เจ้าคิดว่าเราจะต้องเหมือนเจ้า! แต่เราจะทำให้เจ้าเห็นดำเห็นแดง เราจะแจงสี่เบี้ยทุกสิ่งทุกอย่างต่อหน้าต่อตาเจ้า” (สดด. 49, 21) พระองค์จะทรงเผยแลดงความเมตตากรุณาที่ได้ทรงมีต่อท่าน และจะทรงให้ความเมตตากรุณาเหล่านั้น พิพากษาและลงโทษท่าน

           

       ข้อเตือนใจและคำภาวนา

            อา! พระผู้เป็นเจ้า เจ้าข้า จะเป็นเวรกรรมของข้าพเจ้านักหนา หากเมื่อได้รับ แสงสว่างดั่งนี้แล้ว ยังไม่ประพฤติตนสัตย์ซื่อต่อพระองค์อีก ยังยังอาจคิดคดทรยศต่อพระองค์อีก! แสงสว่างอันข้าพเจ้าได้รับอยู่บัดนี้ แสดงว่าพระองค์ทรงใคร่จะอภัยบาปแก่ข้าพเจ้า โอ้! องค์คุณงามความดีที่ล้นพ้นเจ้าข้า ข้าพเจ้าเป็นทุกข์ถึงบาปที่ได้กระทำต่อพระองค์ทุก ๆ ประการ เพราะมันทำเจ็บช้ำน้ำพระทัยอันดีปราศจากขอบเขตของพระองค์ ข้าพเจ้าไว้ใจว่า ด้วยเดชะพระโลหิตของพระองค์ ข้าพเจ้าได้รับอภัยโทษแล้ว ข้าพเจ้าก็เห็นว่าตนสมจะไปนรกทีเดียว โอ้! พระผู้เป็นเจ้าแห่งวิญญาณของข้าพเจ้า ที่ข้าพเจ้าหวั่น ๆ อยู่ก็คือข้าพเจ้าอาจจะเสียพระหรรษทานของพระองค์ไปอีกก็ได้ ข้าพเจ้าคิดถึงคำมั่นสัญญา ที่ได้เคยให้แด่พระองค์เป็นหลายครั้งหลายหนแล้ว แล้วข้าพเจ้าก็ได้กลับคิดคดทรยศอีก อา! พระสวามีเจ้าข้า ขออย่าทรงปล่อยให้ข้าพเจ้าเป็นเข่นนั้นอีกเลย อย่าทรงปล่อยข้าพเจ้าไว้ในภัย อันจะทำให้ข้าพเจ้ากลายเป็นศัตรูของพระองค์อีก โปรดทำโทษข้าพเจ้าเถิด ทำโทษอย่างได ๆ ก็ตาม ขอแต่อย่าให้เป็นโทษอันนี้เท่านั้น พระเจ้าข้า โปรดอย่าปล่อยให้ข้าพเจ้าพรากจากพระองค์หากพระองค์ทรงเห็นว่า ข้าพเจ้าจะทำเคืองพระทัยอีก โปรดอย่าปล่อยให้ข้าพเจ้าพรากจากพระองค์หากพระองค์ทรงเห็นว่า ข้าพเจ้าจะทำเคืองพระทัยอีก โปรดให้ข้าพเจ้าตายเสียยังดีกว่า ข้าพเจ้ายินดีรับความตายทุกชนิดแม้ร้ายเท่าร้าย ยังดีกว่าจะต้องร้องไห้เพราะได้เสียพระหรรษทานของพระองค์ไป “ขออย่าทรงปล่อยให้ข้าพเจ้าพรากจากพระองค์” ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าขอย้ำทูลเช่นนี้ และขอโปรดให้ข้าพเจ้าย้ำทูลเรื่อย ๆ ไปด้วย: “ขออย่าทรงปล่อยให้ข้าพเจ้าพรากจากพระองค์” พระมหาไถ่ที่สุดเสน่หาเจ้าข้า ข้าพเจ้ารักพระองค์ ข้าพเจ้าไม่อยากพรากจากพระองค์เดชะพระบุญญาบารมีแห่งการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ โปรดให้ข้าพเจ้ามีความรักอันใหญ่หลวง ซึ่งผูกมัดข้าพเจ้าให้ผนึกแน่นกับพระองค์อย่างที่จะแยกออกจากพระองค์ไม่ได้อีกเลย พระเจ้าข้า

            โอ้ พระนางมารีอา พระแม่เจ้าข้า หากข้าพเจ้าจะกลับไปทำเคืองพระทัยของพระเป็นเจ้าอีก ก็น่ากลัวว่า ท่านเองก็จะทอดทิ้งข้าพเจ้าเสียด้วย ฉะนั้นโปรดภาวนาอุทิศแก่ข้าพเจ้า โปรดช่วยให้ข้าพเจ้าได้รับความคงเจริญในความดี และความรักต่อพระเยซูคริสต์ด้วยเถิด

(1) Post peccatum spera misericordiam: ante peccatum pertimesce justitiam.

(2) Bonus est Deus, faciam quod mihi placet (Tract. 32 in Jo.).

(3) Ego sum Justus et misericors, peccatores tantum misericordem me existimant.

(4) Bonus est Dominus, sed etiam Justus nolumus Deum eX dimidia parte cogitare.

(5) Qui verus est in promittendo, verus est in minando.

(6) Cave ne unquam canem illum suscipias. qui misericordiam Dei policetur. (Scala spir. gr. 6)

(7) Sperat ut pecccet; vae a perversa spe. (In Ps. 144)

(8) Dinumerari non possunt quantos haec inanis spei umbra deceperit.

(9) Fidit in lenitate Magistri.

(10) Irrisor est, non poenitens.

(11) Maledictus homo, qui peccat in spe.

(12) Vocavit adversum me tempus (Thren. 1, 15). Ipsum tempus ab judicandum venit. (S. Gregorius).

(13) Misericordiam hanc ego nolo; super omnem iram miseratio ista. (Serm. 42 in Cant.).

(14) Nulla poena major, quam peccatum est poena peccati.

โดยทั่วไป ทุกๆ ฝ่ายประเมินพระเยซูตํ่าเกินไป ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่ถือว่า พระเยซูเป็นเพียงครูสอนศาสนาคนหนึ่ง หรือฝ่ายที่เน้นมากว่าพระเยซูเป็นพระเจ้า จนถือว่าไม่เป็นมนุษย์เต็มที่ แต่เมื่อเรายอมปล่อยให้พระเยซูพูดเอง และพยายามเข้าใจพระเยซูในบริบทของยุค (คือเมื่อ ๒๐๐๐ ปีก่อน) และเมื่อเราพยายามฟังพระเยซูโดยวางตัวเป็นกลางแล้ว เราจะเห็นว่าพระเยซูคือคนคนหนึ่ง ที่มีความเป็นตัวของตัวเอง มีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว มีคุณธรรมโดดเด่น น่าเคารพนับถือ และมีความคิดความเข้าใจที่เฉียบคม ถ้าอ้างว่าพระเยซูไม่ใช่คน ก็เท่ากับตัดความ ยิ่งใหญ่ของพระเยซูออกไป

1. จุดเด่นของพระเยซู

          ในยุคของพระเยซู วิธีเดียวที่จะประกันความดีและความถูกต้อง ก็คือ คิดและทําตามกลุ่มของตน แต่พระเยซูกล้าคิดและกล้าทําแตกต่างออกไปจากคนอื่นอย่างไม่ลังเลใจ กล้าขัดแย้งอย่างไม่สะทกสะท้านกับพวกคัมภีราจารย์ ซึ่งถือกันว่ามีความรอบรู้เชี่ยวชาญในเรื่องพระคัมภีร์และขนบธรรมเนียม ไม่ว่าขนบธรรมเนียมจะถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์แค่ไหน พระเยซูก็กล้าเอาขึ้นมาทบทวนพิจารณาว่าถูกหรือผิด ไม่ว่าอํานาจใดจะยิ่งใหญ่แค่ไหน พระเยซูก็กล้าโต้แย้ง ไม่ว่าความเชื่อถือจะลงรากลึกและสําคัญแค่ไหน พระเยซูก็กล้าเปลี่ยนเสียใหม่

          ไม่มีตอนไหนในพระวรสารที่แสดงว่า พระเยซูขัดแย้งกับทุกคนเพียงเพราะอยากจะขัดแย้ง หรือเพราะมีความเกลียดชังสังคม แต่พระวรสารแสดงในเห็นตลอดเวลาว่า พระเยซูเป็นคนที่กล้าหาญอันเนื่องมาจากความเชื่อมั่น มีความคิดเป็นอิสระอันเนื่องมาจากความสามารถทางความคิดและความเข้าใจ ไม่มีตอนไหนที่แสดงว่าพระเยซูมีความหวาดกลัว พระเยซูไม่กลัวที่จะทําสิ่งที่ถูกต้องแม้ว่าผู้อื่นจะไม่ยอมรับสิ่งนั้น พระเยซูไม่กลัวเสียชื่อเสียง ไม่กลัวแม้แต่จะต้องตาย คนทางฝ่ายศาสนา(รวมทั้งยอห์นแบปติสต์เองด้วย) รู้สึกข้องใจที่เห็นพระเยซูคบหาสมาคมกับคนบาป ร่วมวงกับพวกเหล่านี้อย่างมีความสุข หละหลวมในเรื่องกฎบัญญัติ และดูเหมือนไม่ให้ความสําคัญกับเรื่องบาป นอกนั้นยังเป็นกันเองกับพระเจ้าเกินไป พฤติกรรมของพระเยซูทําให้ตัวเองได้ชื่อว่า "นักกินนักดื่ม" ซึ่งคนทั่วไปอาจเรียกว่าเป็นการเสียชื่อเสียง แต่พระเยซูก็มีอารมณ์ขันมากพอที่จะหยิบยกขึ้นมาอ้างอิง (มธ.๑๑,๑๖-๑๙) เมื่อพระเยซูร่วมวงกับคนบาป ตามหลักในสมัยนั้น ก็ต้องถือว่าพระเยซูกลายเป็นคนบาปคนหนึ่งไปด้วย (ยน.๙,๒๔) ในยุคนั้นการติดต่อฉันมิตรกับผู้หญิงนอกแวดวงครอบครัวของตน ถือได้สถานเดียวว่าเป็นเรื่องชู้สาว แต่พระเยซูก็ติดต่อเป็นมิตรกับผู้หญิงโดยทั่วไปและกับหญิงโสเภณีด้วย ถ้ายังมีชื่อเสียงหลงเหลืออยู่บ้าง ก็หมดไปพอดี (ลก.๗,๓๙;ยน.๔,๒๗) พระเยซูไม่เคยทําอะไรเพื่อหวังความนิยมชมชอบ ไม่เคยยอมอ่อนข้อประนีประนอมเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของคนอื่น

          ตามพระวรสารโดยมาร์โก แม้แต่ฝ่ายตรงข้ามก็ยังยอมรับว่า พระเยซูเป็นคนซื่อสัตย์ตรงไปตรงมาและไม่กลัวสิ่งใด "เรารู้ว่าท่านเป็นคนตรงไปตรงมาและไม่กลัวใคร และยศศักดิ์ของใครก็ไม่มีความหมายสําหรับท่าน และท่านสอนหนทางของพระเจ้าด้วยความจริงใจ..." (มก.๑๒,๑๔) แม้ว่าการยอมรับนี้เป็นเพียงการพูดนําเพื่อหลอกถามเรื่องการเสียภาษี  แต่มันก็แสดงได้มากพอสมควรว่า คนทั่วไปรู้สึกอย่างไรต่อพระเยซู ญาติพี่น้องคิดว่าพระเยซูเสียสติ (มก.๓, ๒๑) พวกฟาริสีคิดว่าพระเยซูถูกผีสิง (มก.๓, ๒๒) บางคนกล่าวหาว่าพระเยซูเป็นนักกินนักดื่ม เป็นคนบาป เป็นคนพูดจาดูหมิ่นพระเจ้า แต่ไม่เคยมีใครคิดหรือกล่าวหาว่า พระเยซูไม่จริงใจหรือหน้าซื่อใจคด  ไม่มีใครคิดว่าพระเยซูกลัวคําวิพากวิจารณ์ หรือกลัวใครจองล้างจองผลาญ

          ความกล้าหาญและความเด็ดเดี่ยวของพระเยซู ทําให้คนถามอยู่บ่อยๆว่า "ชายผู้นี้คือใคร ?" เป็นที่น่าสังเกตว่าพระเยซูไม่เคยตอบคําถามนี้เลย ไม่มีปรากฏเลยว่า พระเยซูเรียกตัวเองด้วยชื่อหรือตําแหน่งที่สูงส่งต่างๆ ซึ่งคริสตศาสนิกชนใช้เรียกพระเยซูในภายหลัง

2. พระเยซูมิได้ยกย่องตนเอง      

          นักพระคัมภีร์บางคนคิดว่า มีอยู่คําหนึ่งที่พระเยซูรับเป็นชื่อหรือตําแหน่งของตน คือ "บุตรแห่งมนุษย์" แต่ไม่เป็นความจริง แม้พระเยซูเคยใช้คํานี้ แต่คํานี้ไม่ใช่ชื่อเฉพาะหรือเป็นคํานําหน้า  มีนักพระคัมภีร์เด่น ๆ หลาย คนพยายามศึกษาคํานี้ ผลก็คือแต่ละคนสรุปไม่เหมือนกันเลย นอกจากเห็นพ้องกันว่า "บุตรแห่งมนุษย์" เป็น คํานําหน้าที่สําคัญมาก นี่แสดงให้เห็นว่าเข้าใจปัญหาไม่ถูกต้อง เราต้องถามก่อนว่า คําว่า "บุตรแห่งมนุษย์" เดิมทีเป็นคํานําหน้าหรือไม่ ? คํานี้ไม่ปรากฏในประมวลข้อความเชื่อของศาสนาคริสต์(confession of faith) ไม่เคยนําหน้าชื่อพระเยซู และไม่เคยนําหน้าชื่อใครทั้งนั้น ในพระวรสาร คําคํานี้ไม่ได้หลุดมาจากปากใครนอกจากพระเยซูผู้เดียว เมื่อพระเยซูใช้คํานี้ ไม่เคยมีใครโต้แย้งหรือมีปฏิกิริยาใดๆ นักพระคัมภีร์ชื่อเวิมส์ ได้สรุปเป็นที่ยอมรับได้ว่า คําที่พระเยซูใช้นี้เป็น คําในภาษาอาราไมอิคของแคว้นกาลิลี ซึ่งคนจะใช้เรียกตัวเอง โดยแฝงถึงความรู้สึกถ่อมตัว หรือสงวนท่าที หรือรู้สึกทึ่งต่อหน้าสิ่งที่ยิ่งใหญ่ แทนที่จะใช้คําว่า "ฉัน" ก็ใช้คําว่า "บุตรแห่งมนุษย์" นอกนั้นยังมีความหมายเหมือนกับคําว่า "คน" ด้วย มักจะใช้เพื่อเน้นความเป็นคน ต่างจากความเป็นสัตว์ (เทียบ ดาเนียล ๗,๓-๗; ๗, ๑๗-๒๖ กับ ๗,๑๓) อย่างไรก็ตาม นักพระคัมภีร์หลายคนเชื่อว่า ข้อความในพระวรสารบางตอนที่พูดถึงบุตรแห่งมนุษย์ ไม่ใช่เป็นคําพูดของพระเยซู แต่เกิดขึ้นภายหลัง

          พระเยซูใช้คําว่า"บุตรแห่งมนุษย์" ตามวิธีพูดธรรมดาในภาษาของตน หรือว่าพระเยซูใช้คํานี้โดยมีความหมายอะไรเป็นพิเศษด้วย ? จากพระวรสาร ดูเหมือนว่าพระเยซูให้ความสําคัญต่อคํานี้มากทีเดียว  ถ้าเราระลึกอยู่เสมอว่า พระเยซูให้ความสําคัญแก่ศักดิ์ศรีของคนในฐานะที่เป็นคน และให้ความสําคัญแก่ความเป็นหนึ่งเดียวกันในมนุษยชาติ เราก็คงจะคิดได้ว่า เมื่อพระเยซูใช้คําว่า "บุตรแห่งมนุษย์" พระเยซูหมายถึงคนในฐานะที่เป็นคน และพระเยซูรวมตัวเองเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับมนุษยชาติ

          ดังนั้นเมื่อพระเยซูพูดว่า "บุตรแห่งมนุษย์เป็นนายของวันพระ" (มก.๒,๒๘) ก็แปลว่า "วันพระมีไว้สําหรับคน ไม่ใช่คนมีไว้สําหรับวันพระ" (มก.๒,๒๗) เมื่อพูดว่า "บุตรแห่งมนุษย์มีพลังยกบาปในโลกนี้" (มธ.๙,๖) ก็คือคําสรรเสริญพระเจ้า ที่"พระเจ้าได้ให้พลังเช่นนี้แก่มนุษย์" (มธ.๙,๘) เมื่อพูดว่า "หมาจิ้งจอกมีรู และนกในอากาศมีรัง แต่บุตรแห่งมนุษย์ไม่มีที่วางศีรษะ" อาจจะแปลว่า เฮรอด(หมาจิ้งจอก) และพวกโรมัน(นกอินทรี) มีที่ในสังคม แต่คนในฐานะที่เป็นคนยังไม่มีที่เลย และเมื่อพูดว่า "บุตรแห่งมนุษย์จะถูกมอบไว้ในมือของคน" (มก.๙,๓๑) ก็อาจมีความหมายว่า คนที่ถือตัวว่าเป็นหนึ่งเดียวกันกับเพื่อนมนุษย์ ต้องทนทรมานเพราะเงื้อมมือของมนุษย์นั่นเอง

          นี่เป็นการตีความหมายเท่านั้น สิ่งเดียวที่พูดด้วยความแน่นอนได้ก็คือ เมื่อพระเยซูใช้คําว่า "บุตรแห่งมนุษย์" พระเยซูไม่ได้อ้างตัวเป็นผู้มีตําแหน่งหรือยศศักดิ์อะไร เรารู้แล้วว่าพระเยซูสอนอย่างไรเกี่ยวกับยศศักดิ์ชื่อเสียง เราจึงไม่แปลกใจเมื่อพระเยซูไม่ต้องการตําแหน่งหรือคํานําหน้าอะไรทั้งสิ้น "อย่าให้ใครเรียกท่านว่า อาจารย์ เพราะท่านมีอาจารย์แต่ผู้เดียว และพวกท่านเป็นพี่น้องกัน อย่าให้ใครในโลกนี้เรียกท่านว่า บิดา เพราะท่านมีบิดาคนเดียว ผู้สถิตในสวรรค์  อย่าให้ใครเรียกท่านว่า เจ้านาย  เพราะท่านมีเจ้านายคนเดียว(คือพระคริสต์) (มธ.๒๓,๘-๑๐) คําสุดท้ายในวงเล็บ เป็นคําที่มัทธิวหรือแหล่งข้อมูลของมัทธิวได้เปลี่ยนใส่เข้าไป พระเยซูเคยเลี่ยงคําว่า คริสต์ หรือ เมสสิยาห์ เสมอ นอกนั้นความหมายมันชัดเจนอยู่แล้วว่า พระเจ้าแต่ผู้เดียวเป็นอาจารย์ เป็นบิดา และเป็นเจ้านายของเรา

3. คนอื่นมองพระเยซู

          คนที่ติดต่อกับพระเยซู คงจะได้เรียกพระเยซูเป็นอาจารย์(rabbi) แต่ก็ไม่มีตรงไหนที่บันทึกไว้ว่า พระเยซูห้ามคนเรียกเช่นนั้น ทั้งนี้คงเป็นเพราะว่า บางคนเพียงแต่อยากแสดงความเคารพนับถือโดยใช้คําที่สุภาพเหมาะสมเท่านั้น ถ้าจะคอยห้ามปรามตลอดเวลาว่าอย่าเรียกเช่นนี้ คงจะน่ารําคาญ สิ่งที่ชัดเจนคือคนอยากจะเรียกพระเยซูเป็นอาจารย์ แต่พระเยซูอยากจะเป็นคนรับใช้ของผู้อื่น (ยน.๑๓,๑๒-๑๕)

          พระเยซูคงจะรู้ตัวว่าตนกําลังทําสิ่งที่พระคัมภีร์พูดถึงล่วงหน้าให้สําเร็จไป แต่สําหรับพระเยซู มันไม่สําคัญว่าใครเป็นคนทําให้สําเร็จ ขอให้มันสําเร็จก็แล้วกัน เมื่อสาวกของยอห์น แบปติสต์ไปถามพระเยซูว่า พระเยซูเป็นผู้ที่ต้องมา(ตามที่พระคัมภีร์พูดไว้)ใช่หรือไม่ พระเยซูไม่ตอบคําถามโดยตรง แต่ชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่กําลังเกิดขึ้นในขณะนั้น เป็นไปตามที่จารึกไว้ในพระคัมภีร์  "คนตาบอดกลับเห็นได้ คนง่อยกลับเดินได้ คนโรคเรื้อนกลับสะอาดหมดจด...คนจนได้รับฟังข่าวดี" (มธ.๑๑,๔-๕)

          พระเยซูไม่ได้บอกว่า ฉันเองเป็นคนทําให้คนตาบอดกลับมองเห็น ฯลฯ ที่สําคัญคือสิ่งที่เกิดขึ้น กล่าวคือ ประชาชนกําลังได้รับการปลดปล่อย ใครเป็นคนทําไม่ใช่สิ่งสําคัญ  พระเยซูให้พวกสาวกกระจายกันออกไป ทําสิ่งที่พระเยซูทํา และไม่เคยห้ามมิให้ใครทําเช่นเดียวกัน (มก.๙, ๓๘-๔๐)

4. พระเยซูเป็นผู้มีอำนาจ

          เรายืนยันได้ว่า พระเยซูไม่เคยอ้างตัวเป็นคนสําคัญ มีตําแหน่งหรือมีอํานาจ แต่นักเขียนผู้เชี่ยวชาญหลายคนมีความเห็นว่า พระเยซูอ้างอํานาจโดยทางอ้อม เพราะพระเยซูวางตัวไม่ขึ้นกับใคร และไม่อ้างอิงอํานาจใด "แต่เราขอบอกแก่ท่านว่า..." เป็นคําพูดที่แสดงถึงอํานาจ ในตัวผู้พูดเอง แต่เราสงสัยว่าพระเยซูอ้าง อํานาจของตัวเองอย่างนั้นจริงๆ หรือ ?  พระเยซูถือว่าการแสดงอํานาจ เป็นลักษณะของพวกคนที่ไม่มีพระเจ้า(มก. ๑๐,๔๒) และเราคิดว่าความยิ่งใหญ่ของพระเยซูอยู่ตรงที่ไม่ต้องใช้อํานาจ อะไรเลย

          อํานาจคือสิทธิที่จะได้รับความนบนอบจากคนอื่น การอ้างอํานาจก็คือการเรียกร้องสิทธิ เรียกร้องให้คนอื่นนบนอบตน  มาร์โกเข้าใจว่า คําพูดของพระเยซูมีอํานาจซึ่งบังคับให้นบนอบได้ (มก.๑,๒๒;๑,๒๗) แต่ผู้ที่ต้องนบนอบไม่ใช่คน แต่เป็นจิตชั่ว โรคภัยไข้เจ็บ บาป กฎบัญญัติ ลมและทะเล

          เราได้พูดแล้วว่า พระเยซูมีพลังเหนือจิตชั่วและความชั่วร้ายทั่วไป พลังนั้นคือพลังแห่งความเชื่อ ความเชื่อของพระเยซูสามารถทําให้หายจากความเจ็บไข้ได้ป่วย สามารถช่วยให้รอดพ้นความทุกข์ สามารถปลุกความเชื่อในตัวผู้คนที่อยู่รอบข้าง ความเชื่อนี้ ในพระวรสารถือว่าเป็นอํานาจ แบบหนึ่ง ในเรื่องอัศจรรย์ที่เกิดแก่คนรับใช้ของทหารโรมัน (มธ.๘,๕-๑๓; ลก.๗,๑-๑๐;ยน.๔,๔๖-๕๓) มีการเอาอํานาจและความนบนอบในทางทหาร มาเปรียบเทียบกับพลังของพระเยซูที่มีเหนือจิตชั่ว นายทหารคนนั้นตระหนักดีว่า อํานาจทางทหารโรมันใช้ได้ผลเพียงใด พลังความเชื่อของพระเยซูก็ต้องได้ผลเช่นกัน อํานาจอย่างเดียวที่พระเยซูใช้ ก็คืออํานาจ เหนือความชั่ว นั่นคือพลังความเชื่อ

          ถ้าไม่ใช้อํานาจหรืออ้างอํานาจใด แล้วพระเยซูสอนอย่างไร ? นิทานเปรียบเทียบที่พระเยซูเล่าเป็นประจํา เป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงถึงการสอนโดยไม่ต้องอ้างอํานาจใด จุดหมายของนิทานเปรียบเทียบคือเพื่อให้ผู้ฟังค้นพบความจริงด้วยตนเอง นิทานเปรียบเทียบเป็นผลงานทางศิลป์ ที่เผยความจริงแห่งชีวิต นิทานเปรียบเทียบช่วยปลุกความเชื่อในตัวผู้ฟัง เพื่อจะได้มองเห็นความจริงด้วยตัวเอง เพราะเหตุนี้ ส่วนมากนิทานเปรียบเทียบจะจบด้วยคําถามตรงๆ หรือคําถามทางอ้อม ซึ่งผู้ฟังจะต้องตอบเอง "ใน ๓ คนนี้ คนไหนแสดงตัวเป็นเพื่อนบ้าน ?" (ลก.๑๐, ๓๖) "คนไหนจะรักมากกว่า ?" (ลก.๗,๔๒) "ท่านคิดอย่างไร ลูกสองคนนี้ คนไหนที่ทําตามความต้องการของบิดา ?" (มธ.๒๑,๒๘-๓๑) "เจ้าของสวนองุ่นจะทําอย่างไรกับพวกนั้น ?" (ลก.๒๐,๑๖) นิทานเปรียบเทียบเรื่องแกะพลัดฝูง และเหรียญเงินที่หายไป เป็นรูปแบบคําถามเกือบตลอด (ลก.๑๕,๔-๑๐; มธ. ๑๘, ๑๒-๑๔)

          โดยทั่วไป พระเยซูเล่านิทานเปรียบเทียบสําหรับฝ่ายตรงข้าม ไม่ใช่สําหรับพวกคนจนและคนถูกกดขี่ และไม่ใช่สําหรับพวกสาวก พระเยซูต้องการจูงใจและทําให้ฝ่ายตรงข้ามรับความจริง โดยช่วยให้พวกเขาคิดเอาเอง ที่จริงแล้วพระเยซูต้องการให้ทุกคนคิดและตัดสินใจเอง รวมทั้งพวกสาวกและชาวบ้านทั่วไป (ลก.๑๒,๕๗) แต่วิธีสอนพวกสาวกและฝูงชนที่ยอมรับพระเยซู แตกต่างออกไปบ้าง เนื่องจากพระเยซูต้องการให้คนอื่นเห็นสิ่งที่ตนเห็น เชื่อสิ่งที่ตนเชื่อ และพระเยซูมีความมั่นใจในความจริงและความเชื่อเป็นอย่างมาก วิธีพูดสอนจึงค่อนข้างจะเป็นเหมือนใช้อํานาจ หรืออ้างอํานาจตนเอง "แต่เราบอกพวกท่านว่า..." พระเยซูประกาศความจริงอย่างแน่นอนชัดเจนโดยไม่มีความลังเลสงสัย ไม่ว่าจะใช้คําชักจูงที่อ่อนหวาน ใช้นิทานเปรียบเทียบ หรือใช้คําประกาศที่เด็ดขาด

          พระเยซูไม่อ้างอิงอํานาจใด ๆ ไม่ว่าจะจะเป็นอำนาจของตนหรือของผู้อื่น พวกคัมภีราจารย์อ้างอิงอํานาจของขนบธรรมเนียมและอ้างพระคัมภีร์ พวกประกาศกสมัยก่อนอ้างอํานาจ โดยตรงจากพระเจ้า แต่พระเยซูไม่อ้างอํานาจใด ๆ ทั้งสิ้น พระเยซูไม่เคยใช้คํานําที่ว่า "พระเจ้าตรัสดังนี้ว่า..." ดังที่พวกประกาศกเคยใช้อยู่เสมอ พระเยซูไม่ยอมแสดงเครื่องหมายอะไรให้ฝ่ายตรงข้ามเห็น เพื่อยืนยันว่าตนได้รับอํานาจจากพระเจ้า และเมื่อถูกถามว่ามีอํานาจอะไรจึงทําเช่นนี้ พระเยซูไม่ตอบ (มก.๑๑,๓๓)  เมื่อเห็นสิ่งที่พระเยซูทําหรือฟังสิ่งที่พระเยซูพูดแล้ว เราต้องเห็นความจริงในสิ่งนั้นๆ โดยไม่ต้องมีอํานาจใดมาสนับสนุน

5.ประสบการณ์ “อับบา”

          คําพูดของพระเยซูสร้างความประทับใจให้แก่คนทั่วไป ไม่ใช่เพราะได้อ้างอํานาจของใคร แต่โดยอาศัยพลังแห่งความจริง ซึ่งเป็นพลังของพระเจ้า

          การอ้างว่าตนเองพูดความจริง เป็นเรื่องสําคัญและยิ่งใหญ่กว่าการอ้างตําแหน่ง หรืออํานาจใดๆ มาสนับสนุน มีอะไรที่ทําให้พระเยซูกล้าอ้างเช่นนี้ ? มีอะไรที่ทําให้พระเยซูมั่นใจนักว่าตนเองถูกต้อง ? พระเยซูมีประสบการณ์ส่วนตัวที่ลึกซึ้งจนทําให้เห็นแจ้งและเข้าใจความจริง

          ปัญหาเรื่องประสบการณ์ส่วนตัวของพระเยซู เป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อน หลายคนที่พยายามศึกษาจิตวิทยาหรือสภาพจิตของพระเยซู ก็ได้แต่เดาหรือคาดคะเนเท่านั้น นักพระคัมภีร์ที่มีชื่อเสียงหลายคน ยืนยันได้แต่เพียงว่า ลึกลงไปในบุคลิกอันเร้นลับของพระเยซู มีประสบการณ์ส่วนตัวอย่างหนึ่งที่ลึกซึ้งแน่นแฟ้น ที่เรียกว่า "ประสบการณ์อับบา" (Abba-experience) ซึ่งเป็นความใกล้ชิดและเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าในฐานะที่พระเจ้าเป็นพ่อผู้มีใจรักเมตตา

          ประกาศกในอดีตถ่ายทอดพระวาจาของพระเจ้าให้แก่มนุษย์ และบางครั้งก็ถ่ายทอดความรู้สึกและอารมณ์ของพระเจ้าด้วย(พระเจ้าสั่งอะไร และรู้สึกอย่างไรต่อประชากรของพระองค์) ในกรณีของพระเยซู ความรักเมตตาของพระเจ้าสิงสถิตในพระเยซูอย่างท่วมท้น ทําให้พระเยซูมีความมั่นใจ ความเชื่อและความหวัง เนื่องจากพระเจ้ามีใจรักเมตตา ความดีจะต้องเอาชนะความชั่ว สิ่งที่เป็นไปไม่ได้จะเกิดขึ้น และจะมีความหวังสําหรับมนุษยชาติ

          ความรักเมตตาเป็นรากฐานของความจริง เราจะมีประสบการณ์ความรักเมตตา ก็ต่อเมื่อเรามีประสบการณ์ความทุกข์หรือความรู้สึกพร้อมกับคนอื่น มันทําให้เราร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับเพื่อนมนุษย์ กับธรรมชาติและกับพระเจ้า มันทําให้เราร่วมเป็นหนึ่งกับชีวิตและความเป็นจริง

          พระเยซูมีความคิดและความเข้าใจที่ผิดพลาดไม่ได้ และมีความมั่นใจที่แข็งแกร่ง ทั้งนี้เพราะพระเยซูมีประสบการณ์ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า กับมนุษย์และกับธรรมชาติ สิ่งนี้ทําให้พระเยซูเป็นคนมีอิสระที่แท้จริง มีความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว ปราศจากความหวาดกลัว เต็มไปด้วยความหวัง และตั้งมั่นอยู่ในความจริง

          เมื่อพระเยซูเป็นคนเช่นนี้ ทําไมจึงมีคนที่ต้องการกําจัดพระเยซู ? มีอะไรที่ทําให้พวกเขาต้องการจับกุมและดําเนินคดีกับพระเยซู ?

คำถาม
          1. ท่านคิดว่าพระเยซูเป็นคนอย่างไร ?
          2. คนสมัยนั้นมองพระเยซูอย่างไร ?
          3. อะไรทำให้พระเยซูดูเป็นผู้มีอำนาจ ?

1. พระเป็นเจ้าจะทรงนิ่งเฉยจนถึงเมื่อไร?

            หากว่าพระเป็นเจ้าจะได้ทรงลงโทษผู้ผิดในทันทีทันใด พระองค์คงจะไม่ได้ถูกล่วงเกินดั่งเช่นทุกวันนี้เป็นแน่แท้ แต่เพราะพระองค์ไม่ทรงลงโทษในทันที ทรงเพียรทน ฉะนั้นคนบาปจึงได้ใจทำบาปทวีขึ้น! ขอให้สำเหนียกไว้ว่าพระเป็นเจ้าทรงคอย ทรงเพียรทนก็จริง แต่พระองค์จะไม่ทรงคอยและเพียรทนเสมอไปไม่มีที่สิ้นสุด นักบุญปิตาจารย์จำนวนมากอาทิเช่น น.บาซีลีโอ น.ฮีเอโรนีโม น.อัมโบรส น.ชีริสโล ชาวกรุงอาเลกซันเดรีย น.ยวง คริสซอสโตม น.เอากุสตินฯลฯ มีความเห็นสอดคล้องกันว่า: พระเป็นเจ้าได้ทรงกำหนดจำนวนหนึ่งไว้สำหรับมนุษย์ทุกคน ในเรื่องอายุในหลั่นชั้นความศักดิ์สิทธิ์ และคุณวุฒิที่พระองค์ทรงใคร่จะประทานให้แก่แต่ละคน ด้วยว่า “พระองค์ทรงจัดให้ทุกสิ่งมีระเพียบ ได้สัดส่วน ได้จำนวน และน้ำหนัก” (ปชญ. 11, 21) ทั้งนี้ฉันใด ก็ฉันนั้นพระองค์ก็ทรงกำหนดให้ทุกคนมีบาปจำนวนหนึ่ง ที่ทรงใคร่จะอภัยโทษให้ และเมื่อครบจำนวนนั้นแล้ว จะไม่ทรงอภัยให้ต่อไป นี่เป็นวาทะของนักบุญเอากุสติน (1) นักบุญเอวเซบีโอ ชาวเซซาเรอา ก็พูดดังนี้เหมือนกัน (2) และบรรดานักบุญปิตาจารย์ ซึ่งได้ออกนามมาข้าบน ก็ได้กล่าวไว้ทำนองเดียวกัน

            ที่นักบุญปิตาจารย์กล่าวไว้ ท่านหาได้กล่าวไว้โดยบังเอิญไม่ แต่ท่านได้พบหลักฐานจากพระคัมภีร์ ในพระคัมภีร์ตอนหนึ่ง พระสวามีเจ้าตรัสว่า “พระองค์ทรงยั้งรอการทำลายชาวอามอร์เรโอไว้ ก็เพราะว่าจำนวนความผิดช่องเขายังไม่ครบถ้วน” (ปฐก. 35, 16) อีกแห่งหนึ่งพระองค์ตรัสว่า “เราจะไม่สมเพชอิสราแอลอีกต่อไป” (ฮชย. 1, 6) ตอนหนึ่งว่า “เขาได้ทดลองดูเราถึงสิบครั้งแล้ว...ฉะนั้นเขาจะไม่ได้แลเห็นแผ่นดินที่เราได้สัญญาไว้” (กดว. 14, 22) อีกตอนหนึ่งว่า “พระองค์ได้ทรงประทับตรา ในความผิดทั้งสิ้นของข้าพเจ้า คล้ายกับใส่ไว้ในถุง” (โยบ. 14, 17) คนบาปไม่เอาใจใส่ถึงบาป แต่พระเป็นเจ้าทรงเอาใจใส่ถึง และจะทรงเอาโทษ เมื่อถึงหน้าเกี่ยวข้าว กล่าวคือเมื่อครบจำนวนแล้ว (ยอล. 3, 4) อีกแห่งหนึ่ง พระเป็นเจ้าตรัสว่า “แม้บาปที่ได้รับอภัยแล้ว เจ้าก็อย่านอนใจ ทั้งอย่าทำบาปเพิ่มขึ้น” (บสร. 5, 5) ตรงนี้หมายความว่า: คนบาปเจ้าเอ๋ย เจ้ายังต้องกลัวแม้ด้วยบาปที่เจ้าได้รับอภัยโทษแล้วด้วยนะ เหตุว่า หากเจ้าทำบาปเพิ่มขึ้นอีกประการหนึ่ง อาจจะเป็นไปได้ ที่บาปใหม่ประการนี้ เมื่อนำไปบวกกับบาปเก่าที่ได้รับอภัยแล้ว มันจะพอดีครบจำนวนไป และเมื่อนั้นจะไม่มีความกรุณาสำหรับเจ้าต่อไป พระคัมภร์อีกตอนหนึ่ง กล่าวไว้ชัดเจนกว่านี้อีกว่า “พระสวามีเจ้าทรงเพียรคอย พระองค์จะทรงลงพระอาชญา ก็ต่อเมื่อถึงวันพิพากษา คราวเมื่อจำนวนบาปนั้นเต็มที่แล้ว” (2 มคบ. 6, 14) คือว่า พระเป็นเจ้าทรงคอยจนถึงวันที่บาปจะเต็มอัตรา แล้วเมื่อนั้นจึงจะทรงลงโทษ

            พระอาชญาดังกล่าว มีตัวอย่างเป็นอันมาก ที่สำคัญมีเรื่องพระเจ้าซาลอูเมื่อเขาได้ล่วงละเมิดพระบัญญัติของพระเป็นเจ้าครั้งสุดท้ายแล้ว พระองค์ก็ได้ทรงทอดทิ้งเขา แม้เขาจะได้ร้องขอ ซามูแอล ให้ช่วยวิงวอนเสนอต่อพระเป็นเจ้าช่วยเขาอย่างไร ๆ ก็ตาม “ขอท่านอดทนความผิดของข้าพเจ้าเถิด โปรดกลับมาอยู่กับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะเคารพนมัสการพระสวามีเจ้า” แต่ซามูแอลตอบว่า “ข้าพเจ้าไม่กลับมาอยู่กับท่าน เพราะท่านได้ละเมิดพระวาจาของพระสวามีเจ้าและพระองค์ก็ได้ทรงละทิ้งท่านแล้ว” (1 ซมอ. 15, 26) ยังมีตัวอย่างของพระเจ้าบัลทาซาร์ คราวเมื่อกำลังเสวยกระยาหาร และทำทุราจารต่อภาชนะศักดิ์สิทธิ์แห่งวิหารอยู่นั้น ได้แลเห็นมือประจักษ์มาเขียนหนังสือที่ฝาผนังว่า มาเน เธแชลฟาแรส” ดาเนียลอธิบายคำเหล่านี้ถวายว่า “ท่านได้ถูกวางลงบนตราชู และตัวท่านเบาไป” ทั้งนี้เพื่อชี้ให้เห็นว่ น้ำหนักแห่งบาปของเขาได้ถ่วงตราชู พระยุติธรรมของพระเป็นเจ้าให้ต่ำลง และตามเหตุการณ์ที่ได้เป็นมา เขาได้ถูกฆ่าตายในคืนนั้นเอง (ดนล. บท 5)

            โอ้! อนิจจา! กี่คนแล้วได้ประสบเคราะห์เช่นนี้! เขาดำรงชีพอยู่ในบาปเป็นเวลาหลายปี และเมื่อบาปครบจำนวนแล้ว เขาก็ตายไป และไปสู่นรก! “เขาล่วงวันเวลาในความสุข แล้วถึงขณะหนึ่ง เขาก็ลงไปในหลุม” (โยบ. 21, 13) บางคนตั้งหน้าค้นคว้าตรวจดูจำนวนดาว จำนวนเทวดา จำนวนอายุของคนละคนแต่ใครหนอจะสามารถค้นคว้าตรวจดูจำนวนบาป ซึ่งพระเป็นเจ้าทรงใคร่จะอภัยโทษให้แก่เราคนละคน? ฉะนั้น จึงเป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก พี่น้องที่รัก หากท่านจะเอาความสนุกอันไม่บังควรนั้นอีก ก็ใครจะไปรู้ว่า พระเป็นเจ้าจะทรงยกโทษให้ท่านอีก หรือไม่?

            ข้อเตือนใจและคำภาวนา

            ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าขอฉลองพระมหากรุณาธิคุณพระองค์กี่ครั้งนักแล้ว ที่ได้ทำบาปน้อยกว่าข้าพเจ้า แต่บัดนี้อยู่ในนรก และไม่มีทางจะได้รับอภัยไม่มีหวังอีกต่อไปแล้ว ส่วนข้าพเจ้ามีบุญ ยังมีชีวิตอยู่ ยังอยู่นอกนรก และหากข้าพเจ้าตั้งใจจริง ก็ยังมีหวังจะได้รับอภัย มีหวังจะได้ไปสวรรค์ด้วย พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าอยากได้รับอภัยโทษจริง ๆ ข้าพเจ้าเป็นทุกข์หนักหนา เพราะได้กระทำเคืองพระทัยของพระองค์ องค์คุณงามความดีอันหาขอบเขตมิได้ ข้าแต่พระบิดาผู้สถิตสถาพระตลอดนิรันดร โปรดทอดพระเนตรดูพระบุตรของพระองค์ ผู้มรณะบนไม้กางเขน โปรดเห็นแก่พระบุญญาบารมีของพระบุตรนี้ และทรงพระเมตตาต่อข้าพเจ้าเถิด พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าขอตั้งสัตย์ปฏิญญาว่า ขอตายดีกว่าจะทำเคืองพระทัยสืบไป เป็นความจริง เมื่อข้าพเจ้ามองดูบาปที่ได้กระทำ มองดูพระหรรษทานที่พระองค์ได้ทรงประทานให้ข้าพเจ้าให้รู้สึกกลัวว่า หากจะได้ทำบาปเพิ่มขึ้นอีกประการหนึ่ง มันอาจจะครบจำนวนที่พระองค์ทรงกำหนดไว้ และข้าพเจ้าจะต้องโทษ โปรดเถิด โปรดประทานพระหรรษทานช่วยข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไว้ใจว่าพระองค์จะทรงประทานความสว่างและพละกำลัง เพื่อข้าพเจ้าจะสามารถบำเพ็ญความสัตย์ซื่อต่อพระองค์เรื่อยไป แต่หากทรงเห็นว่ ข้าพเจ้ากำลังจะพลาดพลั้งไปอีกขอโปรดให้ข้าพเจ้าตายเสีย ณ บัดนี้ ที่ข้าพเจ้าเชื่อว่า ข้าพเจ้ากำลังอยู่ในพระหรรษทานของพระองค์เถิด พระเจ้าข้า พระผู้เป็นเจ้า เจ้าข้า ข้าพเจ้ารักพระองค์ยิ่งกว่าสิ่งใด ๆ ข้าพเจ้ากลัวจะเสียพระหรรษทานของพระองค์ ยิ่งกว่ากลัวความตาย ขออย่าทรงปล่อยให้มีอันเป็นเช่นนั้นอีกเลย พระเจ้าข้า

            ข้าแต่พระนางมารีอาโปรดช่วยเหลือข้าพเจ้าด้วย ช่วยเสนอให้ข้าพเจ้าคงเจริญอยู่ในความดีด้วยเถิด

 

2. ตัวท่านเป็นอย่างไรในตราชูของพระเป็นเจ้า?

 

            คนบาปจะว่า “พระเป็นเจ้า คือ องค์ความเมตตากรุณา!” ขอตอบว่า: เรื่องนี้ใครที่ไหนปฏิเสธ? กว่านั้นอีก ความเมตตากรุณาของพระเป็นเจ้า ไม่มีขอบเขตด้วย ถึงกระนั้น มีกี่คนแล้วที่ไปสู่นรก! พระเป็นเจ้าทรงพยาบาลรักษาบุคคลที่มีน้ำใจดี (อสย. 61, 1) พระองค์ทรงอภัยบาป แต่ไม่ทรงสามารถอภัยบาป แต่ไม่ทรงสามารถอภัยการตั้งใจทำบาป

            เขาจะคัดค้านว่า “ฉันยังหนุ่มยังสาวอยู่” อ้อ! ท่านยังหนุ่มยังสาวอยู่หรือ? พระเป็นเจ้าไม่ทรงนับวันเวลา แต่ทรงนับบาปต่างหาก และก็จำนวนบาปนั้นมันไม่เท่าเสมอกันสำหรับคนทุกคน บางคน พระองค์ทรงอภัยให้ถึงร้อย บางคนถึงพันแต่บางคน พอทำบาปครั้งที่สอง พระองค์ก็ทรงให้ไปนรกเสียแล้ว และก็มีกี่คนซึ่งพอได้ทำบาปประการแรกพระองค์ก็ให้ไปนรกเสียแล้ว? นักบุญเกรโกรีเล่าว่า เด็กชายอายุ 5 ขวบคนหนึ่งต้องไปสู่นรก เพราะได้กล่าวคำผรุสวาทพระนางพรหมจาริณี ได้แสดงให้ เบเนดิกตาชาวฟลอเธนส์ ข้าบริการของพระเป็นเจ้า ทราบว่า เด็กหญิง อายุ 12 ปีคนหนึ่ง พอได้ทำบาปประการแรกแล้ว ก็ได้ไปสู่นรก เด็กชาย อายุ 8 ขวบ อีกคนหนึ่งก็เช่นกัน เมื่อได้ทำบาปประการแรกแล้ว ก็ตายไปและสู่นรก

            พระวรสาร โดยนักบุญมัทธิว (บทที่21) เล่าว่า: เป็นครั้งแรกที่พระสวามีไปพบมะเดื่อต้นนั้นไม่มีผล พระองค์ก็ได้ทรงสาปแช่งว่า “แต่นี้ไป เจ้าจะไม่มีผลเป็นอันขาดแล้วมันก็ได้เหี่ยวแห้งไป” ในโบราณกาล พระสวามีเจ้าได้ตรัสว่า “เมื่อนครดามัสกัส ได้กระทำชั่วเป็นครั้งที่สามและที่สี่แล้ว เราจะไม่เรียกให้กลับใจอีก” (อมส. 1, 3) บางทีจะมีใครบังอาจสอดรู้เหตุผลของพระเป็นเจ้าว่าเหตุไรสำหรับบุคคลหนึ่ง พระองค์ทรงพอพระทัยยกบาปให้เพียง 3 และไม่ใช่ 4 ? เรื่องนี้เรามีแต่จะต้องกราบนมัสการคำตัดสินของพระเป็นเจ้า และกล่าวเช่นเดียวกับอัครสาวกว่า “โอ ความลึกซึ้งแห่งพระดำริ และความรู้ของพระเป็นเจ้า!” คำตัดสินของพระองค์ เป็นสิ่งที่เข้าใจไม่ถึง และวิถีทางของพระองค์ ไม่มีใครจะไปตรวจดูได้!” (รม. 11, 33) นักบุญเอากุสตินกล่าวว่า: พระเป็นเจ้าทรงทราบดีว่า พระองค์ทรงยกโทษให้ใคร และไม่ทรงยกโทษให้ใคร เมื่อทรงพระกรุณาต่อใคร ก็ทรงพระกรุณาให้เปล่าโดยพระทัยดี เมื่อไม่ทรงให้ใคร เมื่อทรงพระกรุณาต่อใคร ก็ทรงพระกรุณาให้เปล่าโดยพระทัยดี เมื่อไม่ทรงพระกรุณา ก็คือทรงกระทำตามพระยุติธรรมนั่นเอง (3)

            บางคนอาจจะดื้อด้านต่อว่า: ฉันได้ทำบาปมามากกี่ครั้ง พระเป็นเจ้าก็ได้ทรงยกโทษให้เท่านั้นครั้ง ฉะนั้นฉันจึงไว้ใจว่า พระองค์จะทรงยกโทษของบาปประการนี้เหมือนกัน ขอตอบว่า: เพราะที่พระเป็นเจ้ามิได้ทรงลงโทษท่านจนบัดนี้พระองค์จะทรงต้องไม่ลงโทษเรื่อยไป กระนั้นหรือ? เมื่อเครื่องตวงเต็มแล้วอาชญาโทษก็จะมาถึงแล้วน่ะ! ขณะที่แซมซันติดต่อกับนางดาลีลา เขาก็วางใจว่าจะพ้นเงื้อมือของพวกฟีลีสตินดังเช่นคราวก่อน ๆ (วนฉ. 16, 20) แต่ตกที่สุด เขาได้ถูกจับและเสียชีวิตไป! พระสวามีเจ้าทรงเตือนว่า: เจ้าอย่าว่าฉันได้ทำบาปเป็นอันมาก และพระเป็นเจ้าก็มิได้ทรงเอาโทษฉัน “เจ้าอย่าพูดว่า ไม่เคยเห็นมีภัยอะไรเป็นมาแก่ฉันเลย ทั้งนี้เพราะว่าพระเป็นเจ้าทรงความเพียร แต่ก็ทรงสนองตอบแทนเหมือนกันด้วย” (บสร. 5, 4) หมายความว่า เมื่อถึงเวลา ท่านจะต้องชดเชยใช้หนี้จนสิ้นเชิง ยิ่งท่านได้รับความกรุณามาก ท่านยิ่งจะต้องถูกโทษหนักมากนักบุญยวง คริสซอสโตม กล่าวว่า: ต้องกลัวพระเป็นเจ้าในเมื่อพระองค์ทรงทนคนบาปไจกระด้าง มากกว่าเมื่อพระองค์ทรงเอาโทษในทันทีทันใด (4) ทั้งนี้เป็นเพราะนักบุญเกรโกรี่เน้นว่าบุคคลที่พระเป็นเจ้าทรงเพียรคอย หากขืนทำใจดำ พระองค์จะทรงเอาโทษเขาเคร่งครัดยิ่งขึ้น (5) แล้วท่านเสริมว่า: บุคคลที่พระเป็นเจ้าทรงอดทนนาน มักจะตายปัจจุบัน ไม่ทันกลับใจ (6) เป็นต้น ยิ่งได้รับความสว่างจากพระเป็นเจ้ามาก ยิ่งจะบอดมืดมาก และใจจะยิ่งแข็งกระด้างอยู่ในบาป นักบุญเปโตรกล่าวว่า “สำหรับเขา ถ้าจะไม่รู้จักทางพระธรรมแล้ว ยังจะดีเสียกว่าเมื่อรู้แต่แล้วกลับถอยหลัง” (ปต. 2, 21) นักบุญเปาโลก็กล่าวว่า: เป็นไปไม่ได้ (พูดตามความประพฤติ) ที่วิญญาณที่ได้รับแสงสว่างครั้งหนึ่งแล้ว ไปทำบาปจะกลับใจอีก “เป็นไปไม่ได้ที่เขาผู้ได้รับแสงสว่างครั้งหนึ่งแล้ว ได้ลิ้มรสกระทั่งพระคุณแห่งสวรรค์ แล้วกลับกระโดดลงไป เขาจะกลับใจเป็นทุกข์ถึงบาปอีกครั้งหนึ่ง” (ฮบ. 6, 4-6)

            น่ากลัวแท้ พระโอวาทคำรามของพระสวามีเจ้า ต่อคนที่ทำหูทวนลมต่อการเชื้อเชิญของพระองค์ว่า “เราได้ร้องเรียกเจ้าแล้ว แต่เจ้าไม่อยากมา...เราก็เหมือนกัน เมื่อเจ้าจะพินาศ เราจะหัวเราะ จะเยาะให้” (สภษ. 1, 24-26) ขอให้สังเกตุคำว่า “เราก็เหมือนกัน” ซึ่งหมายความว่า คนบาปได้เยาะเย้ยพระเป็นเจ้าโดยการแก้บาปโดยการสัญญา แล้วกลับมาทรยศต่อพระองค์เรื่อยมาฉันใด พระองค์ก็จะทรงเยาะเย้ยเขาบ้าง เมื่อเวลาเขาจะตาย ฉันนั้น อนึ่งผู้ทรงดำริยังรจนาไว้ว่า “สุนัขที่กลับไปกินสิ่งที่มันอาเจียนออกมาแล้ว เป็นอย่างไร คนโว่ที่กลับตกในความโง่ของตนอีก ก็เป็นอย่างนั้น” (สภษ. 26, 11) ท่านดีโอนีซีโอ ฤษีชาร์เตรอส์ อธบายความตอนนี้ว่า: สุนัขที่กลับไปกินสิ่งที่มันสำรอกออกมาแล้ว เป็นสุนัขน่าเกลียด น่าอุจาดฉันใด คนที่กลับไปทำบาปที่ตนได้เกลียดชังมาแล้ว ก็น่ารังเกียรสำหรับพระเป็นเจ้า ฉันนั้น (7) 

            ข้อเตือนใจและคำภาวนา

           พระผู้เป็นเจ้า เจ้าข้า นี่แน่ะ ผู้ที่กราบอยู่แทบพระบาท คือสุนัขระยำตัวนั้นซึ่งได้กลับไปกินผลไม้อันต้องห้าม ที่ตัวเองได้เกลียดมาแล้ว และทั้งนี้ก็หลายครั้งหลายหน พระมหาไถ่เจ้าข้า ข้าพเจ้าไม่สมจะได้รับพระกรุณา แต่พระโลหิต ซึ่งพระองค์ได้ทรงหลั่งเพื่อข้าพเจ้านั้นเร้าให้ข้าพเจ้าไว้วางใจ ข้าพเจ้าได้กระทำเคืองพระทัยกี่ครั้งกี่หนแล้ว และพระองงค์ก็ได้ทรงอภัยโทษให้! ข้าพเจ้าได้สัญญากับพระองค์ว่า จะไม่กระทำเคืองพระทัยอีก แต่แล้วข้าพเจ้าก็กลับไปกินสิ่งที่ตนสำรอกออกมาแล้ว! พระองค์ก็ยังทรงยกโทษให้อีกเล่า! ข้าพเจ้าจะคอยอะไร? คอยให้พระองค์ทรงผลักข้าพเจ้าลงสู่ขุมนรกทีเดียวหรือ? หรือว่า จะคอยให้พระองค์ทรงทอดทิ้งไม่เอาธุระต่อข้าพเจ้า ปล่อยให้ตกอยู่ในเงื้อมมือบาปของข้าพเจ้าซึ่งเป็นพระอาชญาโทษร้ายแรงกว่านรกเองเสียอีก? ไม่เอาแล้ว พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าใคร่จะดัดแปลงกิริยา และเพื่อจะรักษาคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้แก่พระองค์นี้ข้าพเจ้าวางใจในพระองค์ผู้เดียว เมื่อจะถูกประจญล่อลวง ข้าพเจ้าตั้งใจจะวิ่งมาพึ่งพระองค์ในทันที และเสมอทุกครั้งไป ครั้งก่อน ข้าพเจ้าไว้ใจแต่ในคำมั่นสัญญาและในการตั้งใจดีของข้าพเจ้าเอง ได้เพิกเฉยไม่มาพึ่งพระองค์ ขณะถูกประจญจึงเป็นเหตุให้ข้าพเจ้าต้องพินาศไป แต่นับแต่บัดนี้ไป ขอพระองค์ทรงเป็นความวางใจ และเป็พละกำลังของข้าพเจ้า เข่นนั้น ข้าพเจ้าจะกระทำได้ทุกสิ่งทุกอย่าง “ข้าพเจ้าทำได้ทุสิ่ง โดยอาศัยผู้ค้ำชูกำลังของข้าพเจ้า” (ฟป. 4, 13) พระเยซูเจ้าข้า โปรดเห็นแก่พระบุญญาบารมีของพระองค์ ประทานพระหรรษทานให้ข้าพเจ้าวิงวอนขอพระองค์เสมอ ให้ข้าพเจ้าขอพึ่งพระองค์ ในคราวเมื่อต้องการพระเจ้าข้า องค์คุณงามความดีที่ล้นพ้นเจ้าข้า พระองค์น่ารักยิ่งกว่าสิ่งใด ๆ ทั้งหมด ข้าพเจ้ารักพระองค์ รักพระองค์ผู้เดียว แต่ต้องการให้พระองค์ทรงช่วยเหลือข้าพเจ้าด้วย พระเจ้าข้า

            ข้าแต่พระนางมารีอา ท่านก็เหมือนกัน ท่านต้องเสนอวิงวอนช่วยข้าพเจ้าด้วย โปรดรับข้าพเจ้าไว้ใต้ฉลองพระองค์ของท่าน และเมื่อข้าพเจ้าจะถูกประจญล่อลวง ก็ขอให้ข้าพเจ้าไม่ลืมเรียกร้องหาท่านเสมอ พระนามของพระแม่คืออาวุธป้องกันข้าพเจ้า

 

3. อย่าทำเล่นกับนิรันดรภาพ

            “ลูกเอ๋ย เจ้าได้กระทำบาปหรือ? จงอย่ากระทำต่อไป แต่ให้สวดเพราะบาปที่ได้กระทำ จะได้รับอภัยโทษ” (บสร. 21, 1) คริสตชนที่รัก พระสวามีผู้ทรงพระทัยดี ทรงปลุกใจท่านดังนี้ ก็เพราะทรงปรารถนาให้ท่านรอด: ลูกเอ๋ยอย่ากลับไปทำเคืองใจเราอีกเลย นับแต่บัดนี้ จงตั้งใจขอโทษ เพราะบาปที่ได้กระทำมาเถิด

            พี่น้องที่รัก ยิ่งท่านได้กระทำเคืองพระทัยของพระเป็นเจ้ามาก ท่านยิ่งจะต้องสะดุ้งกลัวมากขึ้น เมื่อจะทำเคืองพระทัยอีก เพราะว่า บาปอีกประการหนึ่งจะถ่วงตราชูพระยุติธรรมของพระเป็นเจ้าให้ตกลง แล้วท่านจะต้องพระอาชญาโทษ ณ ที่นี้ ข้าพเจ้าไม่ยืนยันอย่างเด็ดขาดว่า หากท่านทำบาปอีกประการหนึ่ง ท่านจะไม่ได้รับอภัยโทษต่อไป ทั้งนี้เพราะข้าพเจ้าไม่ทราบได้ แต่ข้าพเจ้าว่า ท่านอาจจะไม่ได้รับอภยบาปต่อไป ก็เป็นได้ เพราะฉะนั้น เมื่อท่านถูกประจญ ก็ให้ท่านพูดว่า: ใครจะไปรู้ พระเป็นเจ้าจะทรงยกโทษให้ฉันอีกหรือหาไม่ ฉันจะถูกโทษในคราวนี้หรือหาไม่? ขอให้ท่านบอกตรง ๆ เถิด หากในกับข้าวจานหนึ่ง ท่านสงสัยว่ามียาพิษ ท่านจะกินกับข้าวจานนั้นหรือไม่? หากท่านคาดว่า ตามทางสายหนึ่ง ศัตรูกำลังคอยปองร้ายท่าน และมีทางอื่นที่ปลอดภัยกว่า ท่านจะไปตามทางนั้นหรือไม่? ก็ตัวท่านมีความแน่ใจอย่างใด หรือที่ถูก ท่านมีเหตุผลอันใดหรือไม่เมื่อไปทำบาปใหม่อีก ท่านจะมีความทุข์อันจริงใจ และจะไม่กลับไปกินสิ่งที่ท่านได้สำรอกมาแล้ว หรือว่า เมื่อทำบาปนั้นแล้วพระเป็นเจ้าจะไม่ทรงปล่อยให้ท่านตายไปในขณะนั้นเอง หรือว่า หลังแต่ได้ทำบาปแล้ว พระองค์จะไม่ทรงทอดทิ้งท่าน?

            อะไรกัน เมื่อท่านซื้อเรือน ท่านก็พยายามตกลงให้เรื่องมันแน่นอนเด็ดขาดลงไปจะได้ไม่เสียเงินเปล่าๆ ไม่ใช่หรือ? เมื่อท่านจะกินยา ท่านก็ต้องการจะทราบก่อนว่ายานั้นจะไม่ทำร้ายท่าน ไม่ใช่หรือ? เมื่อท่านจะข้ามห้วยข้ามละธารท่านก็ระวังกลัวตัวจะตกลงไป ไม่ใช่หรือ? แล้วเหตุไร เมื่อท่านต้องาการจะได้สมปรารถนาอันเลวทราม หรือเมื่อต้องการจะได้ความสนุกประสาสัตว์เพียรัจฉานท่านจึงยอมเสี่ยงกับความรอดตลอดนิรันดรของท่านและพูดว่า: แล้วฉันก็หวังว่าจะได้แก้บาปประการนั้น? ขอถามทีเถิดท่านจะไปแก้บาปเมื่อไร? ในวันอาทิตย์ก็ใตรสัญญากับท่านว่าท่านจะมีชีวิตต่อไปจนถึงวันอาทิตย์? ถ้าเข่นนั้น พรุ่งนี้ก็ใครสัญญากับท่านว่า ท่านจะอยู่ถึงวันพรุ่งนี้? นักบุญเอากุสตินกล่าวว่าต่อไปอีกหนึ่งชั่วโมง: ทำไมท่านจึงสัญญาแก่ตัวเองได้ว่า จะแก้บาปพรุ่งนี้ ในเมื่อท่านรู้ด้วยว่าท่านจะมีชีวิตต่อไปอีกหนึ่งชั่วโมงหรือไม่? (8)แล้วท่านเสริมต่อว่า: พระเป็นเจ้าได้ทรงสัญญาจะอภัยบาปแก่ผู้เป็นทุกข์กลับ แต่พระองค์มิได้ทรงสัญญาจะให้มีวันพรุ่งนี้ สำหรับผู้กระทำบาป หากท่านทำบาปในขณะนี้ บางทีพระเป็นเจ้าก็ทรงโปรดให้ท่านมีเวลากลับใจ และบางทีก็จะไม่ทรงโปรดให้ท่านมีเวลากลับใจ และบางทีก็จะไม่ทรงโปรดให้ท่านมีเวลา (9) และหากพระองค์ไม่โปรดให้ท่านมีเวลา ท่านจะเป็นอย่างไรตลอดทั้งนิรันดรภาพเล่า?

            เอาเถิด! เพราะความสนุกเลวๆ ท่านถึงกับยอมเสียวิญาณ หรือยอมเสี่ยงให้วิญญาณของท่านอยู่ในภัยจะต้องพินาศไปทั้งชั่วนิรันดร ขอถามว่า เพราะความสนุกเลว ๆ อันนั้น ท่านจะยอมเสียงภัยเสียเงินสักหนึ่งพันเหรียญหรือไม่? หรือพูดให้มากกว่าหน่อย: เพราะความสนุกชั่วแล่นอันนั้น ท่านจะยอมเสียหมดทุกสิ่งที่ท่านมี คือ เงินทอง บ้านช่อง ที่ดิน อิสระภาพ และชีวิตของท่านทีเดียวหรือ? แน่นอน ท่านไม่ยอมแน่ แล้วเหตุไฉนเพราะความสนุกอันอัปรีย์นั้น ท่านยอมเสียหมดทุกสิ่ง ในพริบตาเดียว ทั้งวิญญาณ สวรรค์และพระเป็นเจ้าเล่า? ขอถามอีกที่ว่า สวรรค์ นรก นิรันดรภาพ เป็นความจริง ที่ความเชื่อสอน หรือว่า เป็นนิยายกัน? ท่านเชื่อหรือไม่ว่า หากความตายมาตะครุบท่านขณะท่นอยู่ในบาป ท่านจะต้องพินาศไป? โอ มันเป็นการบ้าบิ่น เป็นการเสียจริตจริง ๆ ที่จะลงโทษตัวเองให้ต้องไปทนทุกข์ทรมานตลอดทั้งชั่วนิรันดร ด้วยการพูดว่า: แล้วหวังว่า ฉันจะแก้ไขมัน ในภายหลัง! นักบุญเอากุสตินกล่าวว่า “ไม่มีใครอยากป่วย เพื่อหวังจะหาย” (10) ไม่มีใครบ้า จนกินยาพิษเข้าไป พลางพูดว่า: เดี๋ยวกินยาแก้ ก็จะหายได้ ท่านก็เหมือนกัน ท่านลงโทษตัวเองให้ไปสู่ความตายชั่วนิรันดร พลางพูดว่า: แล้วฉันอาจเอาตัวรอดก็ได้! โอ้! อนิจจา! ความบ้าบัดซบเช่นนี้ ได้นำและกำลังนำวิญญาณมากหลายไปสู่ขุมนรก! มันเป็นไปตามที่พระสวามีเจ้าตรัสขู่ไว้ว่า “เจ้าได้กระทำบาปโดยเบาความวางใจในความเมตตากรุณาของพระเป็นเจ้าพระอาชญาโทษจะตามมาหาเจ้าอย่างกระทันหัน โดยที่เจ้าไม่รู้วามาจากไหน” (อสย. 47, 10)

            ข้อเตือนใจและคำภาวนา

           ข้าแต่พระสวามีเจ้า นี่เป็นคนหนึ่งในพวกคนบ้าที่ได้ทำลายวิญญาณของตน และพระหรรษทานของพระองค์ พลางไว้ใจว่า จะได้กลับคืนมา! โอ้! หากพระองค์จะได้ทรงปล่อยให้ข้าพเจ้าตายไปในขณะนั้น หรือในคืนนั้น ที่ข้าพเจ้ากำลังอยู่ในบาป ก็ข้าพเจ้าจะเป็นอย่างไรแล้วเล่า? ขอสมนาพระคุณที่ได้ทรงโปรดคอยข้าพเจ้าจนถึงบัดนี้ และได้ทรงโปรดให้ข้าพเจ้าสำนึกรู้ความบ้าบอของตนข้าพเจ้าแลเห็นแล้วว่า พระองค์ทรงปรารถนาให้ข้าพเจ้ารอด และตัวข้าพเจ้าเองก็อยากเอาตัวรอด องค์คุณงามความดีที่ล้นพ้นเจ้าข้า ข้าพเจ้าเสียใจ ที่ได้หันหลังให้พระองค์หลายครั้งหลายหนนั้นแล้ว ข้าพเจ้ารักพระองค์ด้วยสิ้นสุดดวงใจ พระเยซูเจ้าข้า เดชะพระบารมีแห่งพระมหาทรมานของพระองค์ ข้าพเจ้าไว้ใจว่า ข้าพเจ้าจะไม่ยอมเป็นบ้าดังเช่นแต่ก่อน โปรดเร่งอภัยบาปของข้าพเจ้า และโปรดรับข้าพเจ้าไว้ในพระหรรษทานของพระองค์ด้วยเถิด ข้าพเจ้าไม่ยอมละทิ้งพระองค์อีกแล้ว “พระสวามีเจ้าข้า ข้าพเจ้าวางใจในพระองค์ ข้าพเจ้าไม่มีวันจะต้องพินาศทั้งชั่วนิรันดร” อา! พระมหาไถ่ ข้าพเจ้าไว้ใจว่าต่อไปนี้ข้าพเจ้าจะไม่ต้องรับเคราะห์ไม่ต้องอับอายขายหน้า ที่จะแลเห็นตัวข้าพเจ้าไร้พระหรรษทาน ไร้ความรักต่อพระองค์อีกแล้ว ขอโปรดให้ข้าพเจ้าคงเจริญในความดี และให้ข้าพเจ้าเฝ้าวิงวอนพระองค์อยู่เสมอ เป็นต้น เมื่อจะถูกประจญล่อลวง ให้ข้าพเจ้าเรียกร้องออกพระนามของพระองค์ และพระนามของพระมารดาของพระองค์มาช่วยข้าพเจ้าว่า: พระเยซูเจ้าข้า โปรดช่วยข้าพเจ้าด้วย พระเจ้าข้า พระแม่มารีอาเจ้าข้า โปรดช่วยข้าพเจ้าด้วย เจ้าข้า

            ข้าแต่พระบรมราชินี ตราบใดข้าพเจ้าวิ่งมาพึ่งท่าน ตราบนั้นข้าพเจ้าจะไม่พ่ายแพ้ต่อการประจญเป็นอันขาด การประจญดันดื้ออยู่ตราบใด ก็ขอโปรดใหข้าพเจ้เฝ้าเรียกร้องให้ท่านมาช่วยข้าพเจ้าอยู่ตราบนั้น ด้วยเถิด

(1) IIIud sentire nos convenit, tamdiu unumquemque a Dei patientia sustineri, quo consummato, nullam

      ilil veniam reservari (De vita Christiana c. 3).

(2) Deus expectat usque ad certum numerum; et postea desert, (Lid. 8, c. 2).

(3) Novit ille cui parcat et cui non parcat. Quibus datur misericordia, gratis datur; guibus non datur, ec

      justitia non datur. (Lib. de corrrept)

(4) Plus timendum est cum tolerat, quam cum festinanter punit./c.5).

(5) Quos diutius expectat, durius damnat.

(6) Saepe qui diu tolerate sunt, subito morte rapiuntur ut nec flere ante mortem liceat.

(7) Sicut id, quod per vomitum est rejectum, resumere est valde abominabile acturpe,sic peccata deleta

      reiterare.

(8) Diem tenes, qui horam non tenes?

(9) Qui poenitenti veniam spopondit, peccanti diem crastinam non promisit; fortasse dabit, fortasse non

      dabit.

(10) Nemo sub spe salutis vult aegrotare.

 

พระวรสารตอนที่เล่าเหตุการณ์เกี่ยวกับการจับกุมพระเยซู การขึ้นศาล การตัดสินคดี ตลอดจนเหตุผลที่อยู่เบื้องหลัง มีความสับสนมาก และเรารู้สึกด้วยว่า บุคคลต่างๆ ที่อยู่ในเหตุการณ์เองก็สับสนมากด้วย

1. ข้อกล่าวหาพระเยซู

          เพื่อจะเห็นภาพชัดเจนขึ้นบ้าง เราต้องแยกองค์ประกอบสําคัญออกมา ๓ อย่าง อย่างแรกคือข้อกล่าวหาที่อาจจะนําขึ้นมาอ้างได้ อย่างที่สองคือข้อกล่าวหาที่ใช้จริงในการฟ้องศาล  และอย่างที่สามคือเหตุผลที่แท้จริงที่พระเยซูถูกกําจัด จริงๆแล้วผู้เขียนพระวรสารทั้ง ๔ ตระหนักถึงองค์ประกอบทั้งสามดังกล่าวอย่างชัดเจน เช่นพระเยซูอาจถูกตั้งข้อกล่าวหาว่า จงใจละเมิดวันพระเจ้า หรือใช้ไสยศาสตร์(ไล่ผีด้วยอํานาจของซาตาน) ในความเป็นจริงพระเยซูถูกตั้งข้อกล่าวหาอ้างตนเป็นเมสสิยาห์(กษัตริย์) และเหตุผลแท้จริงที่พระเยซูถูกกำจัดคือ ความอิจฉา (มก.๑๕,๑๐;มธ.๒๗,๑๘)  แต่เป้าหมายของการเขียนพระวรสารทําให้ผู้เขียนพระวรสารไม่แยกสามส่วนนี้ จึงมีการปะปนกันไปมา สิ่งที่อาจตั้งเป็นข้อกล่าวหา ได้กลายเป็นข้อกล่าวหาจริง (เช่นการพูดจาดูหมิ่นพระเจ้า มก.๑๔,๖๔) และข้อกล่าวหาที่ตั้งจริง กลายเป็นเหตุผลที่อยู่เบื้องหลัง (เช่นการอ้างตัวเป็นกษัตริย์  มก.๑๔,๖๒-๖๔)  ผลก็คือเกิดความสับสนเป็นอย่างยิ่ง

          อีกอย่างหนึ่งที่เราต้องแยกให้ชัดเจนก็คือ บทบาทของผู้นําชาวยิว และบทบาทของผู้ว่าราชการโรมัน ในขณะนั้นมีอยู่ ๒ ศาล คือสภาซันเฮดริน หรือศาลยิว อันประกอบด้วยเจ้าคณะสงฆ์ หัวหน้าสงฆ์ ๗๐ คน พวกผู้หลักผู้ใหญ่และคัมภีราจารย์ และศาลโรมัน อันมีผู้ว่าราชการปิลาตเป็นประธาน พระเยซูถูกจับขึ้นศาลโรมัน และถูกศาลโรมันตัดสินประหารชีวิต แต่ผู้เขียนพระวรสาร(และคริสตชนรุ่นแรกๆ) พยายามยํ้าให้เห็นชัดเจนว่า ถึงกระนั้นก็ดี พวกผู้นําชาวยิวมีความผิดมากกว่าพวกโรมัน เราเห็นว่าถูกต้อง แต่วิธีอธิบายของผู้เขียนพระวรสาร ทําให้ผู้อ่านงุนงงและสับสน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทําให้ผู้อ่านเข้าใจว่า ตอนที่ผู้นําชาวยิวสอบสวนพระเยซูเป็นตอนที่ขึ้นศาลจริง

          จุดประสงค์ของผู้เขียนพระวรสาร ไม่ใช่ต้องการจะบิดเบือนความจริงทางประวัติศาสตร์ แต่ต้องการทําให้ผู้อ่านเห็นชัดว่า แม้ภาพปรากฏภายนอกเป็นอย่างหนึ่ง แต่ความจริงเบื้องหลังเป็นอย่างไร ดูผิวเผินต้องโทษว่าพวกโรมัน แต่ในความเป็นจริงต้องโทษว่าพวกผู้นําชาวยิวมากกว่า ทั้งนี้ไม่ใช่เนื่องมาจากลัทธิต่อต้านยิว หรือเพราะความนิยมโรมัน แต่เป็นความรู้สึกผิดหวังของคริสตชนรุ่นแรกที่เห็นว่า ชาติยิวไม่น่าจะปฏิเสธและทําลายพระเยซูเลย(ซึ่งถ้าสมมุติพระเยซูไปเกิดในชาติอื่น ก็อาจเกิดเรื่องเช่นเดียวกัน ไม่ใช่จงใจอยากกล่าวหาชาติยิว)

2. เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงเป็นอย่างไร ?

          พระเยซูถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยข้อหาว่า อ้างตนเป็นเมสสิยาห์ หรือกษัตริย์ของชาวยิว ปิลาตถามพระเยซูเรื่องนี้เรื่องเดียว และป้ายแจ้งความผิดบนไม้กางเขนก็บอกแค่นี้ เรื่องอื่นเป็นเพียงความเป็นไปได้ สภาซันเฮดรินอาจตั้งข้อหาว่า พระเยซูเป็นอาจารย์เทียม เป็นประกาศกปลอม หรือพระเยซูจงใจละเมิดวันพระ หรือใช้ไสยศาสตร์ คริสตชนรุ่นแรกคิดว่า พวกยิวที่ไม่ยอมรับพระเยซู ได้กล่าวหาว่าพระเยซูดูหมิ่นพระเจ้าโดยอภัยบาป (มก.๒,๗) และโดยอ้างตัวเป็นเมสสิยาห์ อ้างตัวเป็นบุตรพระเจ้า(มก.๑๔,๖๑-๖๔) ซึ่งเป็นการตีตนเสมอพระเจ้า (ยน.๕,๑๘; ๑๐,๓๓; ๑๐,๓๖; ๑๙,๗)  คริสตชนรุ่นแรกคิดว่า   นี่เป็นข้อกล่าวหาที่ถูกนําขึ้นมาพิจารณาในสภาซันเฮดริน   หรือไม่ก็เป็นเหตุผลที่ขอให้ปิลาตประหารชีวิตพระเยซู (ยน. ๑๙,๗)

          ตามคําเล่าของลูกา พวกยิวกล่าวหาว่าพระเยซูเป็นกบฏ และยุยงประชาชนไม่ให้เสียภาษีแก่จักรพรรดิ์ซีซาร์ (ลก.๒๓,๒) ในแง่หนึ่งกิจกรรมและคําสอนของพระเยซู อาจถือได้ว่าเป็นการบั่นทอนความมั่นคงของข้อตกลงทางการเมือง เพราะพระเยซูต้องการเปลี่ยนสังคมตั้งแต่ยอดจรดฐาน ส่วนเรื่องเสียภาษีนั้น เราพูดมาแล้วข้างต้นว่าพระเยซูเลี่ยงไม่เข้าข้างใด เพราะมันไม่ใช่ปัญหา

          ถึงแม้จะมีข้อกล่าวหาที่เป็นไปได้หลายประการ ในความเป็นจริง สภาซันเฮดรินไม่ได้พิจารณาคดีนี้ และศาลโรมันได้ตัดสินคดีตามข้อหาว่า พระเยซูอ้างตนเป็นกษัตริย์ของชาวยิว ทําไมจึงเป็นเช่นนั้น ? และมีเหตุผลอะไรอยู่เบื้องหลัง ?

          ปิลาตเป็นผู้ว่าราชการที่มีความโหดเหี้ยมมาก เขาเคยหาทางยั่วยุชาวยิว และเมื่อมีชาวยิวประท้วงหรือลุกฮือขึ้น เขาจะสั่งให้ทหารล้อมไว้แล้วฆ่าเสีย ชาวยิวบางคนที่ถูกจับในข้อหากบฏจะถูกฆ่าโดยไม่มีการขึ้นศาล นักปรัชญาชาวยิวร่วมสมัยพระเยซู ชื่อฟิโล บันทึกไว้ว่า ปิลาตเป็นคนที่ไม่มีการผ่อนปรน ตามใจตัวเองและก้าวร้าวดุดัน อาชญากรรมของปิลาตมีหลายอย่างเช่น รับสินบน เผด็จการ ปล้นสดม โหดร้ายรุนแรง หลอกลวง ประหารชีวิตนักโทษโดยไม่ขึ้นศาล และทําทารุณ

          ภาพพจน์นี้ ตรงกับที่ปรากฏในเหตุการณ์ ๓ อย่างที่นักประวัติศาสตร์ชาวยิวร่วมสมัยชื่อโจเซฟุสได้บันทึกไว้ เหตุการณ์แรกคือเรื่องตราจักรพรรดิ์โรมัน ซึ่งเป็นโลหะหล่อหรือแกะสลัก มีรูปของจักรพรรดิ์และสัญญลักษณ์อื่นๆ ประดับอยู่ปลายเสา ชาวยิวถือว่าตราแบบนี้ขัดกับพระบัญญัติที่ห้ามทํารูปปั้นหรือรูปแกะสลักต่างๆ  แต่ปิลาตก็ออกคําสั่งให้เอาตรานี้ไปประดิษฐานไว้ในเมืองเยรูซาเลม ทั้งๆที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ประชาชนประท้วงและขอให้ปิลาตเอาตรานี้กลับไป ปิลาตปฏิเสธ และสั่งให้ทหารล้อมไว้ พวกชาวยิวไม่ต่อสู้แต่พร้อมที่จะตายเพื่อศาสนา ปิลาตจึงไม่ได้สั่งให้ฆ่า เพราะถ้าฆ่าประชาชนที่ยืนสงบนิ่ง คงจะไม่เป็นผลดีทางการเมือง เหตุการณ์ที่สอง เป็นเรื่องที่ปิลาตสั่งให้ใช้เงินของพระวิหารไปสร้างทางส่งนํ้า ประชาชนไม่พอใจจึงเกิดการปะทะกัน ปิลาตให้ทหารล้อมประชาชนไว้แล้วสั่งให้ทุบตี หลายคนถูกฆ่าตาย และอีกจํานวนมากบาดเจ็บสาหัส เหตุการณ์ที่สาม คือเรื่องของชาวแคว้นสะมาเรียกลุ่มหนึ่ง ที่ขึ้นไปชุมนุมกันบนยอดเขาการิซิม เพื่อขุดค้นหาภาชนะศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเชื่อกันว่าโมเสสได้ซ่อนไว้ ไม่มีอะไรที่ส่อว่าเป็นเรื่องวุ่นวายหรือมีเจตนาร้าย แต่ปิลาตสั่งให้ทหารฆ่าตายหมด  เหตุการณ์ครั้งนี้ทําให้ปิลาตต้องถูกเรียกตัวกลับกรุงโรม

          ปิลาตกลัวการชุมนุมของชาวยิว ไม่ว่าชาวยิวหรือชาวสะมาเรีย ชุมนุมเพื่อทําอะไรบางอย่างร่วมกัน ปิลาตจะต้องสงสัยไว้ก่อนว่า อาจมีการก่อกบฏ ในพระวรสารมีพูดสั้น ๆ เกี่ยวกับปิลาตในภาพพจน์เช่นเดียวกันนี้"...ชาวแคว้นกาลิลีที่ปิลาตได้ให้เทเลือดผสมกับเลือดเครื่องบูชา" (ลก. ๑๓,๑)  ซึ่งหมายถึงฆาตกรรมหมู่ในพระวิหาร

          แต่ในตอนที่พระเยซูถูกจับขึ้นศาลโรมัน พระวรสารไม่ได้วาดภาพปิลาตในลักษณะนี้เลย เห็นได้ชัดว่าในเหตุการณ์ครั้งนี้ ปิลาตถูก "ย้อมสี" เพื่อเน้นความจริงที่ว่าชาวยิวมีความผิดในกรณีที่พระเยซูถูกประหารชีวิต

3. ปิลาตน่าจะคิดอย่างไรเกี่ยวกับพระเยซู

          ให้เราพิจารณาผู้ว่าราชการโรมันคนอื่นๆ  ที่โหดเหี้ยมน้อยกว่าปิลาตก่อน  ดูว่าพวกเขาคิดอย่างไรเกี่ยวกับ  ประกาศกและผู้ที่มีลักษณะเป็นเมสสิยาห์ได้  ประมาณปี ๔๕ ก่อนคริสตกาล  ประกาศกคนหนึ่งชื่อ เทอุดัส ได้นําชาวยิวกลุ่มใหญ่ แบกสัมภาระลงไปที่แม่นํ้าจอร์แดน และสัญญาว่าจะทําเหมือนโมเสส คือจะแยกนํ้าออกและพาข้ามแม่นํ้าออกไปในที่เปลี่ยว ผู้ว่าราชการคุสปิอุส ฟาดุส ส่งกองทหารม้าไปจัดการ ส่วนหนึ่งถูกฆ่าตายและที่เหลือถูกจับขังคุก เทอุดัสถูกตัดศีรษะ ไม่มีอะไรยืนยันได้ว่า เทอุดัสเป็นพวกซีลอทหรือก่อการวุ่นวายใดๆ ในปี ค.ศ.๕๘ มีประกาศกชาวยิวจากอียิปต์คนหนึ่ง รวบรวมประชาชนกลุ่มหนึ่งที่เขาเกทเซมานี และสัญญาว่า  จะทําเหมือนโจชูอาในพระคัมภีร์   คือจะสั่งให้กําแพงเมืองเยรูซาเลมพังลงมา ผู้ว่าราชการ อันโตนิอุส เฟลิกซ์ สั่งให้ทหารจัดการทันที ชาวยิวหลายคนถูกฆ่าตาย ประกาศกหนีไปได้

          ถ้าปิลาตรู้เจตนาของพระเยซู รู้ว่าอาณาจักรที่พระเยซูพูดถึงมีลักษณะอย่างไร รู้ว่าพระเยซูพยายามปลุกความเชื่อในอาณาจักรนี้มากแค่ไหน ปิลาตต้องกําจัดพระเยซูอย่างแน่นอนที่สุด ปิลาตจะต้องถือว่าพระเยซูเป็นอันตรายต่อความมั่นคง แม้ว่าพระเยซูจะไม่ใช้วิธีรุนแรงก็ตาม (เช่นเดียวกับที่กษัตริย์เฮรอดถือว่า ยอห์นแบปติสต์เป็นอันตรายต่อความมั่นคง ทั้ง ๆ ที่ยอห์นแบปติสต์ไม่ได้ใช้ความรุนแรงอะไร) ชาวโรมันถือว่า อันตรายต่ออํานาจของตนไม่ใช่มาจากพวกกบฏติดอาวุธเท่านั้น แม้แต่ความเคลื่อนไหวของประชาชนที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลง ก็ถือว่าเป็นอันตรายด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีเหตุผลทางศาสนาหนุนหลัง

4. ปิลาตรู้เกี่ยวกับพระเยซูมาก่อนหรือไม่ ?

          เมื่อพระเยซูขับไล่พวกพ่อค้าในลานพระวิหาร พวกทหารโรมันเฝ้ามองดูจากป้อมที่อยู่ติดกับอาณาเขตพระวิหาร และอาจจะได้รายงานให้ปิลาตรู้ และแค่นี้ก็พอที่จะสงสัยเกี่ยวกับพฤติกรรมของพระเยซูแล้ว แต่ทหารอาจจะไม่ได้รายงานก็ได้ เมื่อปิลาตพิจารณาคดีพระเยซู อย่างน้อยที่สุดปิลาตก็ต้องรู้ว่า พระเยซูเป็นผู้นําที่มีอิทธิพลคนหนึ่ง และรู้ว่าสมัครพรรคพวก นับถือพระเยซูเป็นเมสสิยาห์หรือกษัตริย์ของชาวยิว แต่เราสนใจว่าปิลาตรู้จักพระเยซูก่อนที่พระเยซูถูกจับขึ้นศาลหรือไม่ ? ดูเหมือนว่ารู้

          ตามคําเล่าของยอห์น พระเยซูถูกจับโดยคนกลุ่มหนึ่งที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยชาวยิวและทหารโรมัน (ยน.๑๘,๓; ๑๘, ๑๒) แม้ยอห์นจะพยายามไม่ปรักปรําชาวโรมันในคดีนี้ แต่ก็บันทึกลงไว้ว่า กองทหารโรมันพร้อมกับนายร้อยมีส่วนร่วมจับกุมพระเยซู แสดงว่าเป็นเหตุการณ์ที่แน่นอนทางประวัติศาสตร์ชาวยิว (แม้แต่เจ้าคณะสงฆ์) ไม่มีสิทธิสั่งทหารโรมันให้จับกุมใครได้ คงเป็นปิลาตที่ออกคําสั่ง ซึ่งแปลว่าปิลาตต้องรู้เกี่ยวกับพระเยซูก่อนถูกจับ รู้จากเหตุการณ์ที่พระวิหาร หรือไม่ก็หลังจากนั้นไม่นาน

5. บทบาทพวกผู้นําชาวยิว

          เจ้าคณะสงฆ์ได้รับการแต่งตั้งจากผู้ว่าราชการโรมัน และมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ หน้าที่ทางศาสนาจะถูกควบคุม  โดยฝ่ายโรมันเป็นผู้เก็บรักษาชุดสําหรับพิธีกรรม ดังนั้นเจ้าคณะสงฆ์รวมทั้งหัวหน้าคณะสงฆ์เกี่ยวพันกับงานบริหารบ้านเมือง และอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ว่าราชการ หน้าที่หลักของเจ้าคณะสงฆ์คือรักษาความสงบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลทางศาสนา ซึ่งจะมีผู้คนล้นหลามในเมืองเยรูซาเลม

          เจ้าคณะสงฆ์และพรรคพวกรู้เกี่ยวกับพระเยซูมากน้อยแค่ไหน ?  คงจะรู้ไม่มากและไม่พอที่จะตั้งข้อหาใน  ศาลยิว(กรณีที่เคยคิดจับพระเยซูขึ้นศาลยิว) ที่แน่นอนคือ เจ้าคณะสงฆ์รู้ว่าพระเยซูกําลังปลุกปั่นประชาชน ให้เชื่อในอาณาจักรพระเจ้า และรู้ว่าประชาชนส่วนหนึ่งถือว่าพระเยซูเป็นเมสสิยาห์ เจ้าคณะสงฆ์คิดว่ากรณีเช่นนี้อาจสร้างปัญหาทางการเมืองได้ เพราะข้อตกลงสันติภาพระหว่างชาติยิวกับรัฐบาลโรมันนั้นเปราะบางมาก พวกคณะสงฆ์ระมัดระวังปัญหาทางการเมืองมากกว่าการเคารพความจริง

          ยอห์นบรรยายเกี่ยวกับการประชุมปรึกษาหารือของหัวหน้าคณะสงฆ์ก่อนที่พระเยซูถูกจับ "เราจะทําอย่างไรดี ? ถ้าเราปล่อยเขาไว้เช่นนี้ ทุกคนก็จะเชื่อเขา พวกโรมันก็จะเข้ามายึดที่ของเรา และยึดชาติของเราด้วย" ไกฟาสเจ้าคณะสงฆ์ในปีนั้นกล่าวว่า "...ให้คนหนึ่งตาย...ดีกว่าที่จะให้ทั้งชาติถูกทําลาย" (ยน.๑๑,๔๗-๕๐) จุดสําคัญคือปัญหาทางการเมือง พวกโรมันจะจัด การอย่างไรกับเรา ถ้าเราไม่จัดการกับชายคนนี้ ?  ให้ชายคนนี้ตายไปคนเดียวไม่ดีกว่าหรือ ?

6. ผู้นำชาวยิวทรยศพระเยซู 

          สถานการณ์อาจเป็นไปได้สองอย่าง สถานการณ์แรกคือ ไกฟาสมีความเห็นว่าการประกาศอาณาจักรใหม่ และการที่ประชาชนนับถือพระเยซูเป็นกษัตริย์ จะเป็นชนวนให้เกิดการปะทะกับกองทัพโรมัน ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจริง พวกโรมันก็จะเข้ามายึดที่ของเราและชาติของเรา นักพระคัมภีร์ชื่อ พอล วินเตอร์ อธิบายว่า "ที่ของเรา" ไม่ใช่หมายถึงสถานที่ศักดิ์สิทธิ์หรือพระวิหาร แต่หมายถึงตําแหน่งของเจ้าคณะสงฆ์และคณะที่ปรึกษา สิ่งหนึ่งที่ไกฟาสกลัวคือตัวเองจะสูญเสียอํานาจและตําแหน่ง หากละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ป้องกันจราจล และไม่รายงานให้ฝ่ายโรมันรู้ หรือไม่จับพระเยซูส่งให้ฝ่ายโรมันจัดการ

          สถานการณ์ที่สอง อาจเป็นไปได้ว่า ปิลาตได้สั่งแล้วว่าให้จับพระเยซูส่งให้ฝ่ายโรมัน กรณีเช่นนี้ การประชุมดังกล่าวก็เป็นการพิจารณาเรื่องการส่งตัวผู้ต้องสงสัย คําถามที่ต้องพิจารณาคือ ชาวยิวคนนี้ถูกคนต่างศาสนาตั้งข้อหาทางการเมือง สมควรที่จะจับกุมเขาและส่งตัวให้ตามที่ขอมาหรือไม่ ? คําตอบก็คือ ให้ไปตายคนเดียวดีกว่าต้องลําบากกันทุกคน

          ไม่ว่าจะเป็นกรณีหลีกเลี่ยงการปะทะกัน หรือเป็นกรณีส่งมอบตัวผู้ร้าย การตัดสินใจของเจ้าคณะสงฆ์ก็คือ ร่วมมือกับฝ่ายโรมัน ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของตนและของชาติยิว  ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า เป็นฝ่ายโรมันที่ต้องการกําจัดพระเยซู แม้เราไม่รู้แน่ว่า ที่ต้องการกําจัดพระเยซูนี้ เนื่องมาจากฝ่ายโรมันเองได้สืบทราบเรื่องราวของพระเยซู และต้องการให้ฝ่ายผู้นํายิวจับกุมและส่งตัวให้ หรือเนื่องมาจากไกฟาสได้รายงานหลังการประชุมกับพวกหัวหน้าคณะสงฆ์  การกําจัดพระเยซูในสถานการณ์เช่นนี้ เป็นไปตามนโยบายของปิลาตและผู้ว่าราชการโรมันคนอื่น ที่กําจัดประกาศกและบุคคลที่เข้าข่ายเป็น "เมสสิยาห์"

          พวกผู้นําชาวยิวตัดสินใจที่จะจับกุมพระเยซูและส่งตัวไปให้ปิลาต ไม่ว่าจะเป็นเพราะดําเนินการเอง หรือได้รับคําสั่งจากปิลาต ไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม เราพูดได้ว่าพวกผู้นําชาวยิว ทรยศพระเยซู ในภาษากรีกการส่งมอบตัวหรือการทรยศ เป็นคําคําเดียวกัน (มก.๙,๓๑; มธ.๒๖,๒) ดังนั้นจึงมีการทรยศ ๒ ครั้ง ครั้งแรก สาวกยูดาสทรยศพระเยซู(มอบตัวให้ผู้นําชาวยิว) ครั้งที่สอง ผู้นําชาวยิวทรยศพระเยซู(มอบตัวให้ผู้ว่าราชการโรมัน) (มก.๑๐,๓๓-๓๔) จากนั้นพระเยซูถูกพิจารณาคดีและตัดสินประหารชีวิตโดยศาลโรมัน

7. ที่ศาล

          สิ่งที่น่าสังเกตในการขึ้นศาลครั้งนี้คือ พระเยซูไม่ได้ป้องกันตนเอง ไม่ว่าใครจะกล่าวหาอย่างไร พระเยซูก็สงบนิ่ง (มก.๑๔,๖๐-๖๑; ๑๕,๔-๕; มธ.๒๖,๖๒-๖๓; ๒๗,๑๒-๑๔; ลก.๒๓,๙) และเมื่อเอ่ยปากพูดก็เป็นการเลี่ยงที่จะตอบเสียมากกว่า "ท่านเป็นคนพูดเอง" (มก.๑๕,๒; มธ.๒๖,๖๔; ๒๗,๑๑; ลก.๒๒,๗๐; ๒๓,๓) "ถ้าเราบอก ท่านก็จะไม่เชื่อ ถ้าเราถาม ท่านก็จะไม่ตอบ" (ลก.๒๒,๖๗; ดู ยน.๑๘,๒๐-๒๑) คําพูดเหล่านี้ผู้เขียนพระวรสารพยายามประกอบขึ้นมาใหม่ เพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างพระเยซูกับฝ่ายที่สอบสวน แต่เราคงต้องยึดคําบรรยายของมัทธิวเป็นหลักว่า พฤติกรรมของพระเยซูระหว่างขึ้นศาลนั้นเป็นอย่างไร "พระเยซูไม่ได้ตอบข้อกล่าวหาใดๆ เลย" (มธ.๒๗,๑๔) เพราะจริงๆ แล้วพระเยซูเคยวางตัวแบบนี้มาก่อน พระเยซูเคยปฏิเสธที่จะแสดงเครื่องหมายยืนยันอํานาจของตน พระเยซูไม่เคยถกเถียงกล่าวอ้างอํานาจของตน พระเยซูไม่เคยยอมตอบคําถามเกี่ยวกับเรื่องแบบนี้ มาบัดนี้ พระเยซูไม่ยอมป้องกันตัวเองหรือยืนยันความถูกต้องของตน

          พระเยซูยืนสงบนิ่งอยู่ที่นั่น นี่ไม่ใช่พระเยซูถูกจับขึ้นศาลเสียแล้ว เป็นการจับคนอื่นขึ้นศาลต่างหาก ความเงียบของพระเยซูทําให้คนอื่นทุกคนประหลาดใจและกระวนกระวาย ความเงียบของพระเยซูเป็นการสอบสวนและพิสูจน์ทุกคน คําพูดของทุกคนสะท้อนกลับไปถึงตนเองและกล่าวโทษตนเอง

          ปิลาตมีความผิด ความเงียบของพระเยซูทําให้ปิลาตประหลาดใจ (มธ.๒๗,๑๔) เขาอาจจะชงักไปชั่วครู่ แต่เนื่องจากเขาไม่เคยสนใจที่จะเคารพความจริงเลย เขาจึงดําเนินการต่อไปตามที่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์ทางการเมือง ปิลาตมีความผิดฐานละเลยที่จะแสวงหาและดำเนินการตามความจริง (ยน.๑๘,๓๗-๓๘)

          ไกฟาสและพวกหัวหน้าคณะสงฆ์มีความผิดมากกว่านั้นเสียอีก เรารู้ว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะตัดสินใจเลือก ระหว่างชีวิตของชายคนหนึ่งกับอนาคตของชาติ แต่พวกเขาน่าจะได้ทํามากกว่าปิลาตในการแสวงหาความจริงเกี่ยวกับพระเยซู พวกเขาน่าจะมีใจเปิดกว้างเพื่อดูว่าชายผู้นี้มีอะไรดีหรือไม่ แต่สมมุติว่าไกฟาสเปิดใจ รับความจริงและหันมาเชื่อพระเยซู เขาจะต้องทําอย่างไรจึงจะรักษาข้อตกลงสันติภาพกับพวกโรมันไว้ได้ ? เราอาจเสนอแนะว่า ไกฟาสน่าจะเสี่ยงชีวิตโดยลาออกจากตําแหน่งเจ้าคณะสงฆ์ เข้าร่วมกับพระเยซู และช่วยกันประกาศความเชื่อในอาณาจักรพระเจ้า แต่นั่นเป็นสิ่งพ้นวิสัย จะมีใครในตําแหน่งสูงๆ ที่รักความจริงและมีความจริงใจมากพอที่จะสละสิ่งอื่นๆ ได้  และอาจจะเป็นเพราะเหตุนี้แหละที่สังคมสมัยนั้นกําลังจะต้องประสบภัยพิบัติ ไกฟาสไม่สามารถรับคําท้าทายที่พระเยซูเสนอให้

          ความตายของพระเยซูเป็นการพิพากษาพวกคัมภีราจารย์ พวกฟาริสี และคนอื่นๆที่ปฏิเสธพระเยซูโดยรู้ตัวถ้าพวกเขาได้ยอมรับพระเยซู  และเชื่อในอาณาจักรพระเจ้า  อาณาจักรนั้นก็จะมาถึง แทนที่จะเกิดภัยพิบัติ พวกเขาไม่ต่างจากคนจํานวนมากในยุคเรานี้   แต่ในการขึ้นศาลครั้งนั้นเราถือว่าพวกเขามีความผิด

8. การทดลองใจ

          พวกสาวกได้ถูกทดลองใจ มันเป็นการทดลองใจที่หนักมาก พวกเขาถูกทดลองใจว่าพร้อมที่จะตายกับพระเยซูเพื่อเห็นแก่มนุษยชาติหรือไม่ สาวกยูดาสทรยศพระเยซู สาวกเปโตรปฏิเสธว่าไม่รู้จักพระเยซู ส่วนสาวกอื่นๆหนีไปหมด

          พระเยซูเองถูกทดลองใจอย่างหนักที่สุด จนกระทั่งเลือดไหลออกมาแทนเหงื่อ และบอกให้พวกสาวกภาวนา ขออย่าให้ถูกทดลองใจหนักเช่นนั้น (มก.๑๔,๓๒-๓๘) พระเยซูเคยสอน พวกสาวกเสมอว่า ให้ภาวนาขออย่าให้ต้องตกอยู่ในภาวะเช่นนี้เลย ขออย่าให้ต้องถูกทดลองใจ นี่คือความหมายของบทภาวนา "อย่านําเราไปสู่การประจญ" (มธ.๖,๑๓;ลก.๑๑, ๔) พระเยซูไม่อยากให้ใครถูกทดลองใจแบบนี้

          แต่วิกฤติกาลก็มาถึง  และการทดลองใจก็หนักมาก  พระเยซูคนเดียวที่สามารถรับการท้าทาย ซึ่งทําให้พระเยซู "ลอย" ขึ้นเหนือทุกคนในขณะที่ความเงียบของพระเยซูพิพากษามนุษย์ทุกคน พระเยซูตายคนเดียว ในฐานะที่เป็นคนเดียวที่สามารถผ่านการทดลอง คนอื่น ๆ ทุกคนไม่ผ่าน แต่ได้รับโอกาสอีกครั้งหนึ่ง คริสตชนคือผู้ที่เชื่อในพระเยซู และมีแรงบันดาลใจให้ตอบรับการท้าทาย ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง

คำถาม
          1.พระเยซูถูกประหารด้วยเหตุผลใด ?
          2.ใครต้องรับผิดชอบความตายของพระเยซู ?
          3.การประจญหรือการทดลองอะไรที่หนักที่สุดสำหรับท่าน ?

พระหรรษทานเป็นสิ่งมีค่าเพียงไร?
และ
การเสียพระหรรษทานเป็นภัยร้ายแรง 
เพียงใด?

1. พระหรรษทานเป็นทรัพย์มีค่าหาขอบเขตมิได้

 พระสวามีเจ้าตรัสว่า “หากว่าท่านจะแยกของดีออกจากของเลว ท่านจะเป็นดังโอษฐ์ของเรา” (15, 19) ผู้ใดรู้จักแยกแยะของมีค่าออกจากของเลว ผู้นั้นก็ละม้ายคล้ายกับพระเป็นเจ้า ผู้ทรงสาปแช่งความชั่ว และทรงเลือกเอาความดี บัดนี้ชาวเราจงพิจารณาดูว่า พระหรรษทานเป็นของมีค่าเพียงไร และการเสียพระหรรษทานประเสริฐสักเท่าไร “มนุษย์ไม่รู้จักคุณค่าของพระหรรษทาน” (โยบ. 28, 13)  ดังนั้นเอง เขาจึงนำเอาพระหรรษทานไปแลกกับความเปล่า กับควัน กับดินก้อนหนึ่ง กับความสนุกประสาสัตว์เดรัจฉาน แต่ที่แท้พระหรรษทานเป็นทรัพย์หาค่ามิได้ ซึ่งบันดาลให้ชาวเราสมเป็นมิตรของพระเป็นเจ้า (ปชญ. 7, 14) หมายความว่าวิญญาณใดประกอบด้วยพระหรรษทาน วิญญาณนั้นก็เป็นมิตรของพระเป็นเจ้า คนนอกพระศาสนาไม่มีแสงสว่างแห่งความเชื่อจึงถือว่า ที่สัตว์โลกจะเป็นมิตรกับพระเป็นเจ้านั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เขาพูดเช่นนี้ก็ถูกเหมือนกัน เพราะนักบุญฮีเอ โรนีโมกล่าวว่า: มิตรภาพบันดาลให้ผู้เป็นมิตรเท่าเสมอกัน (1) แต่พระเป็นเจ้าเองได้ทรงประกาศเป็นหลายครั้งหลายหนว่า หากชาวเราประพฤติตามพระบัญญัติของพระองค์โดยอาศัยพระหรรษทาน “หากท่านปฏิบัติตามที่เราบัญญัติสั่ง ท่านก็เป็นมิตรของเรา เราจะไม่เรียกท่านว่า เป็นทาสต่อไป แต่จะเรียกว่าเพื่อน” (ยน. 15, 14) ดังนั้นนักบุญเคร โครี่ จึงอุทานว่า “พระเป็นเจ้าช่างพระทัยดีจริงหนอ ! ชาวเราไม่สมจะได้ชื่อว่าเป็นทาสของพระองค์ด้วยซ้ำ พระองค์ทรงเรียกเราว่าเพื่อน!” (2)

            ผู้เคราะห์ดีได้ในหลวงเป็นเพื่อนของตน ผู้นั้นก็จะถือว่า ตนมีบุญวาสนาเพียงไรหนอ! แต่ ที่ข้าแผ่นดินจะอ้างตัวว่าเป็นมิตรกับพระเจ้าแผ่นดินนั้น ดูเป็นการทะเยอทะยานเกินฐานะไป แต่ฝ่ายวิญญาณที่จะอ้างว่าตนเป็นมิตรของพระเป็นเจ้าไม่เป็นการทะเยอทะยานเกินไปหรอก นักบุญเอากุสตินเล่าว่า ทีมหาดเล็กสองนายไปเที่ยวที่อารามฤษีแห่งหนึ่ง คนหนึ่งไปหยิบหนังสือประวัติของนักบุญอันตนเจ้าอธิการมาอ่าน ขณะที่อ่านนั้น ใจของเขาได้เปลี่ยนแปลง หมดเยื่อใยในโลก (3) เขาหันมาหาเพื่อน พูดว่า: “เพื่อนรัก เราทั้งสองช่างโง่เหลือเกิน! เรากำลังแสวงหาอะไร? การที่เรารับใช้พระจักรพรรดิ เราหวังจะได้อะไรมากกว่าได้เป็นสหายของพระองค์ท่าน และแม้เราจะได้ตามความปรารถนาดั่งนี้ มันก็ยิ่งจะเป็นภัยมากขึ้นสำหรับความรอดตลอดนิรันดรของเรา (4) อนึ่ง การที่จะได้เป็นสหายของจักรพรรดิมันเป็นการยากนักหนา ถึงกระนั้น หากผมต้องการเป็นสหายของพระเป็นเจ้าผมก็เป็นได้ในบัดนี้เอง” (5)

            จึงเห็นว่า ผู้ใดประกอบด้วยพระหรรษทาน ผู้นั้นก็กลายเป็นเพื่อนของพระเป็นเจ้า กว่านั้นอีกเขากลายเป็นลูกของพระองค์ “ท่านเป็นพระ เป็นบุตรของผู้ทรงศักดิ์สูงสุด” (สดด. 81, 6) นี่แหละคือวาสนาอันสูงส่ง ที่ความรักของพระเป็นเจ้านำมาให้แก่ชาวเรา โดยทางพระเยซูคริสต์ “ดูเถิด พระบิดาได้ทรงประทานความรักชนิดไหนแก่ชาวเรา จนเราได้ชื่อ ทั้งเป็นบุตรของพระเป็นเจ้า” (1 ยน. 3, 1) ยิ่งกว่านั้น วิญญาณที่ประกอบด้วยพระหรรษทานก็กลายเป็นภริยาของพระเป็นเจ้า “เราจะแต่งงานกับท่านโดยทางความเชื่อ” (ฮชย. 2, 20) เพราะฉะนั้น บิดาของลูกล้าผลาญ เมื่อลูกกลับมาแล้ว จึงสั่งให้นำแหวนอันเป็นเครื่องหมายของการแต่งงานมาสวมใส่ให้ลูก กล่าวว่า “จงใส่แหวนที่มือของเขา” (ลก. 15, 22) กว่านั้นอีกเขากลายเป็นวิหารของพระจิตเจ้า วันหนึ่ง ภคินี มารีอา ดอแญส (นักบุญอัวญี) ได้แลเห็นปีศาจตนหนึ่งออกจากทารกที่เพิ่งได้รับศีลล้างบาป และได้แลเห็นพระจิตเจ้าเสด็จเข้าไปในตัวเด็ก พร้อมกับบริวารของพระองค์ คือเทพนิกร

   ข้อเตือนใจและคำภาวนา

           ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า เมื่อวิญญาณของข้าพเจ้ามีบุญประกอบด้วยพระหรรษทานของพระองค์ก็เป็นมิตร เป็นธิดา เป็นภริยา และเป็นวิหาร แต่เมื่อไปทำบาปมันก็กลายเป็นศัตรูของพระองค์ เป็นขึ้ข้าของปีศาจ ข้าพเจ้าขอซร้องสาธุการพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงโปรดให้ข้าพเจ้ายังมีเวลาจะได้รับพระหรรษทานนั้นกลับคืนมา องค์คุณงามความดีที่ล้นพ้นเจ้าข้า ข้าพเจ้าเป็นทุกข์อย่างยิ่งที่ได้กระทำเคืองพระทัย ข้าพเจ้ารักพระองค์ยิ่งกว่าสิ่งใด ๆ แล้ว โปรดรับข้าพเจ้าไว้เป็นมิตรของพระองค์อีกครั้งหนึ่งเถิด พระเจ้าข้า โปรดอย่าทำเมินเฉยเลย ข้าพเจ้าทราบดีว่าข้าพเจ้าสมจะถูกขับไล่ไปให้พ้นพระพักตร์ของพระองค์ ถึงกระนั้น อาศัยพระบุญญาบารมีของพระเยซูคริสต์ หากข้าพเจ้าเป็นทุกข์กลับใจ ข้าพเจ้าก็สมให้พระองค์ทรงต้อนรับใหม่อีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้เป็นด้งบมหาบูชาที่พระองค์ได้ทรงพลีพระองค์เองเพื่อข้าพเจ้า “เมืองที่พระบิดาครอบครองนั้น ขอให้มาถึง” พระบิดาเจ้าข้า (ที่ข้าพเจ้ากล้าทูลพระองค์ว่า พระบิดา ทั้งนี้ก็เพราะพระบุตรของพระองค์เองได้ทรงสอนให้ข้าพเจ้ากราบทูลเช่นนี้) พระบิดาเจ้าข้า เชิญเสด็จมาพร้อมกับพระหรรษทานของพระองค์ เชิญเสด็จมาเสวยราชย์ในดวงใจของข้าพเจ้า โปรดบันดาลให้มันปรนนิบัติพระองค์ผู้เดียว ดำรงชีพเพื่อพระองค์ผู้เดียว รักพระองค์ผู้เดียวเถิด พระเจ้าข้า “ขอพระองค์อย่าปล่อยข้าพเจ้าในประจญล่อลวงประการใด” โปรดเถิด โปรดอย่าทรงปล่อยให้เหล่าศัตรูมาประจญ จนข้าพเจ้าต้องพ่ายแพ้มันเลย “แต่ว่าให้ข้าพเจ้าทั้งหลายพ้นจากอันตราย” โปรดให้ข้าพเจ้ารอดพ้นนรก หรือถูกกว่าโปรดให้ข้าพเจ้ารอดพ้นบาป ซึ่งเป็นสิ่งเดียวอันจะนำข้าพเจ้าไปสู่นรก พระเจ้าข้า

            ข้าแต่พระนางมารีอา ภาวนาอุทิศแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด โปรดให้ข้าพเจ้าพ้นมหันตภัย คือการทำบาป และการไร้พระหรรษทานของพระเป็นเจ้าของท่านและของพระเป็นเจ้าของข้าพเจ้า

 

2. พระหรรษทานเป็นต้นธารแห่งทรัพย์ทั้งหลาย

            นักบุญโทมัส อาไควนัส กล่าวว่า: พระหรรษทาน เป็นพระคุณอันเลอเลิศสูงกว่าพระคุณใด ๆ ที่เรามนุษย์อาจจะรับได้ ทั้งนี้เพราะได้รับพระหรรษานก็คือ ได้รับส่วนแบ่งปันในพระธรรมชาติของพระเป็นเจ้านั่นเอง (6) แท้จริงนักบุญเปโตร ก็ได้กล่าวไว้เช่นนี้ก่อนแล้ว ท่านว่า “โดยอาศัยพระหรรษทานท่านทั้งหลายกลายเป็นผู้มีส่วนอยู่ในพระธรรมชาติของพระเป็นเจ้า (ปต. 1, 4) พระเยซูคริสต์ได้ทรงโปรดให้เรามีบุญได้รับเกียรติศักดิ์อันสูงส่งนี้ ด้วยอาศัยพะรมหาทรมานของพระองค์ พระองค์ได้ทรงถ่ายเทรัศมีซึ่งทรงรับจากพระเป็นเจ้ามาให้แก่เรา: “เกียรติมงคล ซึ่งพระองค์ทรงประทานแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ให้แก่เขา” (ยน. 17, 2) สรุปความคือ ผู้ใดประกอบด้วยพระหรรษทาน ผู้นั้นก็เป็นอันเดียวกับพระเป็นเจ้า “ผู้ใดอยู่ร่วมกับพระสวามี ผู้นั้นก็เป็นอันเดียวกับพระองค์” (คร. 6, 17) พระมหาไถ่เอง ทรงยืนยันว่าวิญญาณได้รักพระเป็นเจ้า ทั้งพระตรีเอกานุภาพก็เสด็จมาประทับอยู่ในวิญญาณนั้น: “ผู้ใดรักเรา พระบิดาของเราก็ทรงรักเขา...และพวกเราจะมาหาเขาและสถิตอยู่กับเขา” (ยน. 14, 23)

            วิญญาณใดประกอบด้วยพระหรรษทาน วิญญาณนั้นก็งดงามเฉพาะพระพักตร์ของพระเป็นเจ้า พระองค์เองทรงกล่าวชมเชยว่า “เพื่อนรัก เจ้าช่างงามนักหนา” (กันต์. 4, 1) วิญญาณที่รักพระสวามีเจ้า ดูเหมือนว่าพระองค์ไม่ทรงรู้จักเบือนพระเนตรไปทางอื่น ไม่ทรงรู้จักหันพระกรรณ ไม่ฟังคำวิงวอนของเขา: “พระเนตรของพระสวามี ปักอยู่ที่ผู้ใคร่ธรรมและพระกรรณของพระองค์สดับฟังคำวิงวอนของเขา” (สดด. 33, 16) นักบุญบริยิต กล่าวว่า: ผู้ใดได้เห็นความงามของวิญญาณที่มีพระหรรษทาน ผู้นั้นจะตายเพราะความยินดีทีเดียวส่วนนักบุญคัทเธอรีนแห่งซีเอบา ผู้ได้แลเห็นวิญญาณของผู้ประกอบด้วยพะรหรรษทาน เธอยืนยันว่า เธอสมัครพลีชีพของเธอเอง เพื่อจะไม่ให้วิญญาณดวงนั้นเสียความงามไป เพราะเหตุนี้เอง เธอเคยจูบพื้นดิน ที่พระสงฆ์เดินผ่านไป โดยที่คิดว่า อาศัยพะรสงฆ์ วิญญาณจึงกลับได้รับพระหรรษทาน

            อนึ่ง วิญญาณผู้ประกอบด้วยพระหรรษทาน มีทางจะสะสมบุญกุศลได้มาก! ในทุกขณะ เขาอาจได้รับสิริมงคลชั่วนิรันดร นักบุญโทมัสกล่าวว่า: กิจการแสดงความรัก ที่วิญญาณสร้างขึ้น แต่ละอัน ๆ ทำให้เขาสมได้สวรรค์ (7) เช่นนั้น ทำไมเราจะต้องไปอิจฉาเจ้าใหญ่นายโตบนแผ่นดินนี้เล่า? หากเรามีพระหรรษทานของพระเป็นเจ้า เราก็สามารถหาความเป็นเจ้าใหญ่นายโต ในชั้นสูงกว่าเขาเสียอีก และจะคงได้อยู่เสมอไปในสวรรค์ด้วย คุณพ่อปาตรีญานีเล่าในบทสนทนาเดียวของท่านว่า: ภราดาประเภทรับใช้คณะเยสุอิตองค์หนึ่งเมื่อถึงแก่มรณะภาพแล้ว ได้ประจักษ์มาบอกว่า ตัวท่านได้รอดแล้ว พร้อมกับพระเจ้าฟิลิปที่ 2 กษัตริย์ของประเทศสเปญ ท่านทั้งสองได้รับสิริมงคลในสวรรค์ด้วยกันแล้วด้วย แต่เมื่ออยู่ในโลก ท่านมีฐานะต่ำกว่าพระเจ้าฟิลิปเพียงไร ในสวรรค์ท่านก็อยู่สูงกว่าพระเจ้าผิสิปเพียงนั้น

            ที่สุดวิญญาณผู้ประกอบด้วยพะรหรรษทานมีสันดิสุขเพียงไรบนแผ่นดินนี้ ไม่มีใครจะเข้าใจถึงได้ นอกจากตัวผู้ได้ลิ้มรสเอง “เชิญชิม ปละลองดูเถิดพระสวามรเจ้าทรงพระทัยดีเพียงไร!” (สดด. 33, 9) จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากเป็นไปตามที่พระสวามีเจ้ามีพระดำรัสไว้ “บรรดาผู้รักพระบัญญัติของพระองค์มีสันติสุขมาก” (สดด. 118, 165) สันติสุขอันผู้ร่วมสนิทกับพะรเป็นเจ้ามีนั้นเป็นสันติสุขยิ่งใหญ่กว่าความสนุกสุขสบายทั้งหลายที่เบญจประสาทและโลกจะอำนวยให้ได้ “สันติสุขของพระเป็นเจ้า...อยู่เหนือความรู้สึกทั้งหลาย” (ฟป. 4, 7)

     ข้อเตือนใจและคำภาวนา

           พระเยซูเจ้าข้า พระองค์คือชุมพาบาลผู้ใจดี ได้ทรงยอมมรณะเพื่อให้ข้าพเจ้าเหล่าลูกแกะได้รอด ครั้งเมื่อข้าพเจ้ากำลังถอยหนี พระองค์มิได้ทรงหยุดยั้งตามหาข้าพเจ้า บัดนี้ข้าพเจ้ากำลังกลับมาหาพระองค์และสำนึกรู้ตัวกราบอยู่แทบพระบาทแล้ว โปรดต้อนรับข้าพเจ้าด้วยเถิด โปรดประทานคืนพระหรรษทานที่ข้าพเจ้าได้ทำเสียไปเพราะความผิดของข้าพเจ้าเอง ข้าพเจ้าเสียใจจนแทบจะตรอมใจตาย เพราะที่ได้เคยหันหลังไห้พระองค์เป็นหลายครั้ง! โปรดเห็นแก่พระบารมีแห่งพระมรณธรรมอันฉกาจฉกรรจ์บนไม้กางเขน และทรงอภัยบาปแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด โปรดนำความรักอันอ่อนหวานของพระองค์ ผูกมัดล่ามข้าพเจ้าไว้อย่าให้หนีจากพระองค์ไปอีกเลย ขอประทานพละกำลังให้ข้าพเจ้าสามารถสู้ทนกางเขนทุกอันที่พระองค์จะทรงประทานให้ เพราะไหน ๆ ข้าพเจ้าก็สมจะต้องรับโทษทั้งชั่วนิรันดร แต่นานมาแล้ว โปรดเถิด โปรดให้ข้าพเจ้ามีกำลังใจสู้รับการสบประมาทต้าง ๆ จากมวลมนุษย์ เพราะเหตุที่ข้าพเจ้าสมจะต้องไปอยู่ใต้อำนาจปีศาจทั้งชั่วนิรันดรในนรกแต่นานมาแล้ว สรุปแล้วขอพระองค์โปรดให้ข้าพเจ้านอบน้อมตามคำดลใจของพระองค์ในทุกสิ่งทุกอย่าง ให้ข้าพเจ้าทำทุกสิ่งเพราะความรักต่อพระองค์ และไม่ยอมเห็นแก่หน้ามนุษย์ แต่บัดนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าตกลงใจจะรับใช้พระองค์แต่ผู้เดียว คนอื่นจะว่าอย่างไรข้าพเจ้าไม่กังวลถึง ข้าพเจ้าใคร่รักพระองค์ผู้เดียวเท่านั้น พระองค์คือผู้น่ารักหาที่สุดมิได้ข้าพเจ้าใคร่กระทำตามน้ำพระทัยของพระองค์ผู้เดียว โปรดประทานพละกำลังแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด มิฉะนั้นข้าพเจ้าจะทำอะไรไม่ได้ พระเยซูเจ้าข้า ข้าพเจ้ารักพระองค์ด้วยสิ้นสุดจิตใจ ข้าพเจ้าวางใจในพระโบหิตของพระองค์ พระเจ้าข้า

            ข้าแต่พระแม่มารีอา ความหวังของข้าพเจ้า ช่วยสวดอุทิศแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด ข้าพเจ้าภูมิใจในการเป็นข้าบริการของท่าน และท่านเองก็ภูมิใจ เพราะได้ช่วยคนบาปที่มาขอพึ่งให้รอด โปรดช่วย และบันดาลให้ข้าพเจ้ารอดด้วยเถิด

3. ผู้ปราศจากพระหรรษทานไร้ความสุข

            บัดนี้ ถึงเวลาที่ชาวเราจะต้องพิจารณาดูความอาภัพ ของผู้ปราศจากพระหรรษทาน เขาต้องพรากจากองค์คุณงามความดีที่ล้นที่พ้นของเขา กล่าวคือพระเป็นเจ้า “ความชั่วช้าของท่าน ทำให้ตัวท่านออกห่างจากพระเป็นเจ้าของท่าน” (อสย. 59, 2) จนกว่า เขาไม่เป็นของของพระต่อไป และพระเป็นเจ้าไม่ทรงเป็นของของเขาต่อไป “พวกเจ้าจะไม่ใช่ราษฎรของเราต่อไป และเราจะไม่ใช่พระเป็นเจ้าของพวกเจ้า” (ฮชย. 1, 9) มิใช่แต่ พระเป็นเจ้าไม่ทรงเป็นของของเขาต่อไปแต่พระองค์ทรงเกลียดชังเขา ทรงลงโษให้ไปสู่นรกด้วย แท้จริง พระสวามีเจ้าไม่ทรงเกลียดสัตว์โลกของพระองค์เลย แม้สัตว์ร้าย อสรพิษและคางคก พระองค์ก็ทรงเอ็นดู “พระองค์ทรงรักทุกสิ่งที่เป็นอยู่ และไม่ทรงเกลียดสิ่งใดเลยที่พระองค์ได้ทรงสร้างมา” (ปชญ. 11, 25) แต่พระเป็นเจ้าไม่ทรงสามารถที่จะไม่เกลียดไม่ทรงเกลียดเขานั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าเขาเป็นศัตรู ต่อสู้กับน้ำพระทัยของพระองค์ทีเดียว และเพราะที่ทรงเกลียดบาป จึงจำเป็นจะต้องทรงเกลียดผู้กระทำตนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับบาปด้วย “ทั้งคนอธรรม งความอธรรมของเขา เป็นที่พึงเกลียดของพระเป็นเจ้าดุจกัน” (ปชญ. 14, 9)

            กรรมแท้! ผู้ใดมีพระเจ้าแผ่นดินของตนเป็นศัตรู เขาคงนานไม่หลับแน่เพราะจะต้องกลัวตายอยู่ทุกเมื่อ ก็คนที่เป็นศัตรูของพระเป็นเจ้าเล่า จะมีความสุขได้อย่างไร? จะหลบหนีพิโรธของพระเจ้าแผ่นดินนั้น พอทำได้ เช่นไปซ่อนตัวอยู่ในป่า หรือหลบไปอยู่ในประเทศอื่น แต่ใครหนอ จะหลบหนีพระหัตถ์ของพระเป็นเจ้าไปได้? ดาวิตอุทานว่า “ข้าพเจ้าจะขึ้นสวรรค์ พระองค์ก็ประทับอยู่เหมือนกัน” (สดด. 138, 8) ข้าพเจ้าจะไปแห่งหนตำบลใด ก็ไม่พ้นพระหัตถ์ของพะรองค์ทั้งนั้น

            คนบาปอาภัพแท้ ๆ ! เขาถูกพระเป็นเจ้าสาปแช่ง ถูกนิกรเทวดาสาปแช่ง ถูกนักบุญสาปแช่ง แม้บนแผ่นดินนี้ ก็มีผู้สาปแช่งเขาทุก ๆ วัน คือ คณะสงฆ์และบรรดาฤษีออกคำสาปแช่ง เมื่อสวดตามหนังสือทำวัตรว่า “ผู้ที่ห่างเหินจากพระบัญญัติของพระองค์ จงถูกาปแช่ง” (สดด. 118, 21)

            อนึ่ง การเสียพระหรรษทานของพระเป็นเจ้า ยังทำร้ายบุญกุศลของตนทั้งหมด แม้จะได้สร้างบุญกุศล เท่าเสมอนักบุญฟรันซิสเซวียร์ผู้ทำให้คนกลับใจถึงสิบล้านเท่าเสมอนักบุญเปาโลอัครสาวก ซึ่งนักบุญฮีเอโรนีโม กล่าวว่า ได้สร้างบุญกุศลมากกว่าคณะอัครสาวกทั้งหลาย หากไปทำบาปหนักประการเดียว บุญกุศลเหล่านั้นก็ศูนย์เสียไปทั้งหมด “หากผู้ใคร่ธรรมห่างเหินจากความยุติธรรมของตน...ความยุติธรรมทั้งหลายที่เขาได้สร้างไว้ จะถูกลืมหมดสิ้น” (อสค. 18, 24)

            หายนะอันเนื่องมาจากการสูญเสียพระหรรษทาน มีดังต่อไปนี้: สมมุติว่า เทวดาร้องไห้ได้เมื่อท่านมาแลเห็นเคราะห์ร้าย ของวิญญาณที่ทำบาปหนัก และเสียพระหรรษทานไป ท่านจะสงสารจนน้ำตาไปล เป็นแน่แท้

            แต่ที่น่าสลดใจยิ่งนัก คือ หากเทวดาร้องไห้ได้ ท่านจะร้องไห้แน่ ส่วนคนบาปเล่ากลับไม่ร้องไห้ นักบุญเอากุสติน กล่าวว่า: คนเรา เมื่อเสียสัตว์เลี้ยงไปตัวหนึ่ง เช่นแกะตัวหนึ่ง ไม่กิน ไม่นอน และร้องไห้ แต่แล้ว เมื่อเสียพะรหรรษทานของพระเป็นเจ้า เขากินเขานอน เขาไม่ร้องไห้!

    ข้อเตือนใจและคำภาวนา

           พระมหาไถ่เจ้าข้า ข้าพเจ้านี้แหละได้นำตนไปสู่ฐานะอันน่าทุเรศดั่งกล่าว! พระองค์ได้ทรงอาบเหงื่อ และได้ทรงรับทุกข์ยากเป็นเวลาถึง 33 พระพรรษาทั้งนี้โดยมีพระประสงค์จะให้ข้าพเจ้ามีบุญได้รับพระหรรษทาน ส่านข้าพเจ้ากลับไปเห็นความสนุกอึดใจหนึ่งโดยดูหมิ่น ยอมเสียพระหรรษทานนั้นไปเปล่า ๆ ขอสมาพระคุณที่ยังทรงโปรดให้ข้าพเจ้ามีเวลา จะได้พระหรรษทานนั้นกลับคืนมา ในเมื่อข้าพเจ้าปรารถนาอยากได้ด้วยจริงใจ แน่นอน พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าตั้งใจจะทำทุกสิ่งทุกอย่าง จนสุดกำลังความสามารถเพื่อจะได้คืนมาซึ่งพระหรรษทานอันนั้นให้ได้แล้ว โปรดแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบเถิดว่า ข้าพเจ้าต้องทำอะไรบ้าง จึงจะได้รับอภัยบาป พระองค์ทรงปรารถนาให้ข้าพเจ้าเป็นทุกข์ถึงบาปหรือ? ข้าพเจ้าก็เป็นทุกข์ถึงบาปด้วยสิ้นสุดจิตใจ เพราะได้ทำเคืองพระทัยนั้นแล้ว พระองค์ทรงใคร่ให้ข้าพเจ้ารักพระองค์หรือ? ข้าพเจ้าก็รักปฏิพัทธ์พระองค์มากกว่าอะไร ๆ ทั้งหมด ครั้งก่อนข้าพเจ้าได้ใช้ดวงใจของข้าพเจ้าในทางที่ผิด คือ ใช้เพื่อรักสัตว์โลก และความฟุ้งเฟ้อโอ่อ่า แต่นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าใคร่จะดำรงชีพเพื่อพระองค์ผู้เดียว ข้าพเจ้าใคร่รักพระองค์ผู้เพียว พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า ขุมทรัพย์ของข้าพเจ้า ความหวังของข้าพเจ้า และพละกำลังของข้าพเจ้า (8) พระบุญญาบารมีของพระองค์, บาดแผลของพระองค์ เป็นสรณะที่พึ่งที่วางใจและเป็นพละกำลังของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่า พระองค์จะทรงประทานพละกำลังให้ข้าพเจ้ารักษาความสัตย์ซื่อต่อพระองค์ พระเจ้าข้า ข้าแต่พระมหาไถ่โปรดรับข้าพเจ้าไว้ในพระหรรษทานของพระองค์เถิด ขออย่าทรงปล่อยให้ข้าพเจ้าละทิ้งพระองค์ไปอีกเลย โปรดพรากข้าพเจ้าออกหากจากความรักต่อโลก และโปรดเผาดวงใจของข้าพเจ้าให้ร้อนระอุอยู่ด้วยความรักต่อพระองค์เถิด พระเจ้าข้า (9)

            ข้าแต่ พระนางมารีอา โปรดช่วยให้ข้าพเจ้าระอุร้อนอยู่ด้วยความรักต่อพระเป็นเจ้าเป็นนิจกาล ให้ละม้ายคล้ายกับท่านด้วยเถิด

(1) Amicitia pares aut accipit, aut6 facit,

(2) O mira divinae bonitatis dignatio ! Servi non sumus digne nominari et amici vocamur!

(3) Legebat et exuebatur mundo core jus.

(4) Quid quaerimus? majorne esse potest spes nostra, quam quod amici imperatoris simus, et per quot

      pericula ad majus periculum pervenitur? et quamdru hoc erit?

(5) Amicus autem Dei, si voluero, ecce nunc fio.

(6) Donum gratiae excedit omnem facultatem naturae creatae, cum sit participation divinae naturae.

(7) Quilibet actus caritatis meretur vitam aeternam.

(8) Diligam te, Deus, fortitude mea.

(9) Tui amoris in eo ignem accende.

 

1. จำนวนคนบ้า

ท่านยวง แห่งอาวีลา อยากจะแบ่งโลกนี้ออกเป็นสองคุก คุกหนึ่งสำหรับพวกผู้ไม่มีความเชื่อ อีกคุกหนึ่งสำหรับพวกผู้มีความเชื่อ แต่ดำรงชีพอยู่ในบาปห่างเหินจากพระเป็นเจ้าท่านกล่าวว่า คนพวกหลังนี้ น่าจะขังไว้ในโรงพยาบาลคนโรคจิต คนอาภัพเหล่านี้ น่าสังเวชเหลือเกิน: เขาคิดว่าตนเป็นผู้มีปรีชา และเฉลียวฉลาด แต่ที่แท้ เป็นคนบ้า และโง่เง่าที่สุดในโลก! ซ้ำร้าย “จำนวนคนบ้า มีนับไม่ถ้วน” (ปญจ. 1, 15) ต้องนับอยู่ในพวกคนบ้า คนที่แสวงหารยศศักดิ์ ความสนุกสุขสบาย ข้าวของอันถ่อยต่ำสารเลวของแผ่นดิน ทั้งคนที่บังอาจเรียกนักบุญว่าเป็นคนบ้า เพราะเห็นท่านประมาทข้าวของของแผ่นดิน ด้วยต้องการจะเอาตัวรอด ด้วยหวังจะได้ของดีแท้ คือพระเป็นเจ้า พวกคนดังกล่าวถือว่า การอดความสนุกทางประสาท การบำเพ็ญตบะ การสละละยศศักดิ์ และทรัพย์สมบัติ การชอบอยู่สงบ การดำรงชีพอย่างสุภาพ และเก็บตัวเหล่านี้เป็นความบ้า อนิจจา! เขาช่างไม่สำเหนียกบ้างเลยว่า ที่พวกเขาถือว่า เป็นความปรีชาฉลาดนั้น พระสวามีเจ้าทรงเรียกว่าเป็นความบ้า “ความดำริปรีชาของโลกนี้คือ ความบ้าเฉพาะพระพักตร์ของพระเป็นเจ้า” (1 คส. 3, 19)

            อา! จะมีวันหนึ่งหรอกที่เขาจะยอมรับว่าตนเองนั่นแหละเป็นบ้า และเขาจะสำนึกรู้เช่นนี้เมื่อไร?- พระดำริกล่าวว่า: อนิจจา! พวกเราช่างเคราะห์ร้ายเหลือหลาย! เราเคยถือว่าพวกนักบุญเป็นคนบ้า แต่บัดนี้สิ เรากลับรู้ว่าตัวเราเองนั่นแหละเป็นบ้า นั่นอย่างไร! พวกเขาเข้าอยู่ในหมู่ผู้มีบุญ เป็นบุตรของพระเป็นเจ้า มีโชคชะตาอยู่ร่วมหมู่พวกนักบุญ และวาสนาของเขานี้ จะคงดำรงอยู่ตลอดนิรันดรภาพ เขาจะได้เป็นสุขอยู่ตลอดไป ส่วนพวกเราเล่าต้องตกเป็นขี้ข้าของปีศาจถูกโทษเผาไฟอยู่ในขุมทรมานตลอดทั้งชั่วนิรันดร!แล้วกัน! พวกเราหลงไปเสียแล้ว! นี่ก็เพราะเราได้ปิดตา ไม่มองดูแสงสว่างของพระเป็นเจ้านั่นเอง! (ปชญ. 5, 4-6) และที่เป็นเวรกรรมกันร้ายกาจสุดพรรณาของพวกเรา ก็คือ ไม่มีทาง และจะไม่มีทางแก้ไขได้เลย ตราบเท่าที่พระเป็นเจ้ายังคงเป็นพระเป็นเจ้า!

            เป็นอันว่า ต้องถือเป็นความบ้าบอหนักหนามิใช่หรือ การที่ยอมเสียพระหรรษทานของพระเป็นเจ้าเพราะเห็นแก่ผลประโยชน์อันเลวทราม เพราะเห็นแก่ควันหน่อยหนึ่ง เพราะเห็นแก่ความสนุกชั่วแล่นหนึ่ง! มีอะไรบ้างไหม ที่ข้าแผ่นดินจะไม่ยอมทำเพื่อได้ความชอบของพระเจ้าแผ่นดิน! อนิจจา! ไฉนเขาจึงยอมเสียองค์คุณงามความดีที่ล้นที่พ้น กล่าวคือ พระเป็นเจ้า ยอมเสียสวรรค์ ยอมเสียแม้สันติสุขในชีวิตนี้ โดยปล่อยให้บาปเข้ามาสิงอยู่ในวิญญาณ ซึ่งคอยทรมานวิญญาณด้วยเดือดร้อนเรื่อยไป ไฉนเขาจึงปลงใจลงโทษตัวเองให้ไปสู่มหันตทุข์อันดำรงอยู่ตลอดนิรันดร ทั้งนี้เพราะเห็นแก่ความสนุกถ่อยต่ำเลวทรามอันหนึ่งเล่า! ถามจริง ๆ : ท่านจะเอาความสนุกอันนั้นไหม หากเมื่อเอาแล้วมือข้างหนึ่งของท่านจะไหม้ไป หรือตัวท่านจะถูกขังอยู่ในหลุมหนึ่งปี? ท่านจะยอมทำบาปประการนั้นหรือไม หากเมื่อทำแล้วท่านจะต้องเสียเงินหนึ่งร้อยบาท? ท่านเป็นผู้มีความเชื่อ ท่านรู้อยู่ดีว่าเมื่อทำบาปท่านก็เสียสวรรค์ เสียพระเป็นเจ้าท่านถูกคาดดทษต้องเผาไฟเป็นนิจกาล แล้วไฉนท่านยังทำบาปได้อีกเล่า

ข้อเตือนใจและคำภาวนา

           ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าแห่งวิญญาณของข้าพเจ้า หากพระองค์มิได้ทรงพระเมตตาต่อข้าพเจ้าอย่างเหลือล้น บัดนี้ข้าพเจ้าจะเป็นอย่างไรไปแล้ว! แน่นอนจะต้องอยู่ในนรก ในคุกของพวกคนบ้า ซึ่งข้าพเจ้าก็เป็นคนหนึ่งในจำนวนนั้น! พระสวามีเจ้าข้า ขอสมนาพระคุณทั้งนี้ โปรดอย่าทรงปล่อยให้ข้าพเจ้าจมอยู่ในความบอดมืดนั้นเลย พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าสมแล้วจะถูกทอดทิ้ง ให้อดเห็นความสว่างของพระองค์ต่อไป แต่เดชะบุญ พระหรรษทานยังมิได้ทอดทิ้งข้าพเจ้า ข้าพเจ้ารู้สึกว่าพระหรรษทานของพระองค์กำลังเรียกหาข้าพเจ้าด้วยน้ำใจดี และกำลังเชื้อเชิญข้าพเจ้าให้มาขอขมาโทษต่อพระองค์ ทั้งยังช่วยให้ข้าพเจ้ามีหวังจะได้เกียรติศักดิ์อันสูงส่งอีกด้วย ทั้ง ๆ ที่ข้าพเจ้าได้กระทำเคืองพระทัยของพระองค์มากมายนักหนา เป็นความจริง พระมหาไถ่เจ้าข้า ข้าพเจ้าหวังว่าพระองค์จะทรงรับข้าพเจ้าเป็นบุตรอีกครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้าไม่สมจะได้ชื่อดังนั้น เพราะได้ดูหมิ่นพระองค์เป็นหลายครั้ง ซึ่ง ๆ หน้าทีเดียว! “คุณพ่อครับ ผมได้ผิดต่อสวรค์และต่อท่านด้วย ผมไม่สมจะได้ชื่อว่าเป็นบุตรของท่านต่อไปแล้ว” (ลก. 15, 18) แต่ข้าพเจ้าก็รู้สึกว่า พระองค์กำลังทรงตามหาลูกแกะที่หลงทาง ทั้งกำลังทรงชื่นชมยินดีสวมกอดลูกที่เสียคนไป พระบิดาที่สุดเสน่หา ข้าพเจ้าเสียใจที่ได้กระทำเคืองพระทัย ขอกราบลงจูบพระบาท ข้าพเจ้าจะไม่ยอมปล่อยพระองค์ไป ดุจดังยากอบจนกว่าพระองค์จะทรงอภัยบาป และทรงอำนวยพระพร (ชาดก 32, 26) พระบิดาเจ้าข้า โปรดอำนวยพระพร ให้ข้าพเจ้าเป็นทุกข์ถึงบาปอย่างใหญ่หลวง และให้ข้าพเจ้ารักพระองค์มาก ๆ พระบิดาเจ้าข้า ข้าพเจ้ารักพระองค์ รักพระองค์ด้วยสิ้นสุดดวงใจ โปรดอย่าทรงปล่อยให้ข้าพเจ้าห่างเหินจากพระองค์อีกเป็นอันขาด โปรดให้ข้าพเจ้าไร้ทุกสิ่งเถิด ขอเพียงอย่าให้ข้าพเจ้าไร้ความรักต่อพระองค์เท่านั้น พระเจ้าข้า

            ข้าแต่พระนางมารีอา พระเป็นเจ้าคือบิดาของข้าพเจ้า ท่านคือมารดาของข้าพเจ้าโปรดอำนวยพระพรแก่ข้าพเจ้าด้วย ข้าพเจ้าไม่สมเป็นบุตรของท่านแต่ขอท่านรับไว้ต่างคนใช้ก็แล้วกัน โปรดให้คนใช้คนนี้รักท่านจริง ๆ และวางใจในความอุปถัมภ์ของท่านเสมอเถิด

2. ความบ้าอันอุกฤษฎ์

            คนบาปน่าสงสารแท้! เขายอมเหนื่อยยาก เขาออกแรงสุดกำลัง เพื่อจะได้ความรู้ฝ่ายโลก จะได้วิชาอันเป็นทางจะได้มาซึ่งโภคสมบัติในชีวิตนี้ อันเป็นสมบัติซึ่งจะจบสิ้นในไม่ช้า แต่แล้ว เขาละเวยต่อทรัพย์สมบัติแห่งชีวิตหน้าซึ่งไม่รู้จะกจบสิ้น! เขาเสียสติ ไม่ใช่แต่ว่ากลายเป็นคนบ้า แต่กลายเป็นสัตว์เดียรัจฉานเองทีเดียว! ทำไม? เพราะว่าเขาครองชีพเยี่ยงสัตว์ เขาไม่คิดถึงอะไรดี อะไรชั่ว มีแต่ทำตามสัญชาติญาณทางประสาทอยางสัตว์เดียรัจฉาน เอาแต่ได้ในสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ชอบเนื้อชอบหนักของตนในปัจจุบันนี้ ไม่คำนึงถึงสิ่งที่ตนเสียหาย ไม่คำนึงถึงหายนะชั่วนิรันดร อันกำลังคอยท่านตนอยู่ ก็การกระทำดังกล่าวนี้ ไม่ใช่การกระทำอย่างมนุษย์ แต่เป็นการกระทำอย่างสัตว์เดียรัจฉาน นักบุญยวง คริสซอสโตมกล่าวว่า “ใครรักษาเค้าของมนุษย์ไว้เป็นอันดี เราก็เรียกเขาว่ามนุณย์ คือ เป็นสัตว์มีเหตุผล หมายความว่า เป็นผู้ปฏิบัติตามสติปัญญา ไม่ใช่ตามความใคร่ของประสาท หากพระเป็นเจ้าทรงโปรดให้สัตว์เดียรัจฉานใช้ปัญญาได้ และมันทำตามสติปัญญาแล้ว จะต้องเรียกว่า มันทำอย่างมนุษย์ ฉะนั้น เมื่อตรงกันข้ามมนุษย์ไปทำตามประสาท ทำขัดกับสติปัญญา จึงต้องเรียกว่า มนุษย์ทำอย่างสัตว์เดียรัจฉานดุจกัน!

            “โอ้! หากพวกเขาฉลาด พอจะเข้าใจ พอจะมองเห็นล่วงหน้า ซึ่งจุดหมายปลายทาง อันกำลังคอยตนอยู่” (ฉธบ. 32, 29) ผู้ที่ทำอะไรอย่างฉลาดทำตามสติปัญญาสอน ย่อมมองดูล่วงหน้าซึ่งอนาคตกาลของตน คือ มองดูสิ่งที่จะเป็นมาแก่เขาในปลายชีวิต กล่าวคือ มองดูความตาย การพิพากษา แล้วก็นรกหรือสวรรค์ โอ! คนบ้านนอก ที่เอาตัวรอดช่างเป็นคนฉลาดกว่าในหลวงที่ตกนรกเพียงไรหนอ! “เด็กคนจน แต่ฉลาด ยังดีกว่ากษัตริย์ผู้สูงอายุแต่โง่เง่า ไม่รู้จักคิดเผื่อข้างหน้า” (ปญจ. 4, 13)

            อย่างไรกัน! ใคร ๆ ก็ย่อมว่าเป็นคนบ้ามิใช่หรือ คนที่อยากจะได้หนึ่งสตางค์ในเดี๋ยวนี้ แล้วยอมเสี่ยงภัยจะเสียทรัพย์ที่ตนมีทั้งหมดทีเดียว? ก็คนที่เห็นแก่ความสนุกเพลิดเพลินประเดี๋ยวหนึ่ง แล้วยอมเสียวิญญาณ ยอมเสี่ยงภัยเสียวิญญาณเสมอไป ไม่นับว่า เป็นคนบ้าดอกหรือ? สิ่งที่เป็นเหตุให้วิญญาณจำนวนมาก พินาศไปในนรก ก็คือการเอาใจใส่ต่อเฉพาะทรัพย์สมบัติ และหายนะในปัจจุบัน แต่ไม่เอาใจใส่ต่อทรัพย์สมบัติ และหายนะ ตลอดทั้งชั่วนิรันดรนั่นเอง

            พระเป็นเจ้าทรงโปรดให้เราอยู่ในโลกนี้ มิใช่เพื่อหาความร่ำรวย เพื่อหายศศักดิ์หรือ เพื่อหาความสนุกสุขสบายทางประสาท แต่เพื่อให้หาชีวิตชั่วนิรันดรต่างหาก “จุดหมายปลายทางของท่าน คือ ชีวิตชั่วนิรันดร” (รม. 6, 22) สิ่งสำคัญของชาวเรา คือการได้มาซึ่งจุดหมายปลายทางอันนี้เท่านั้น “มีสิ่งเดียวที่จำเป็น” (ลก. 10, 42) แต่จุดหมายอันนี้เขาถือเป็นของถ่อยอย่างที่สุด เขาคิดถึงแต่ปัจจุบันกาล ส่วนตัวเขาก็กำลังเดินไปสู่ความตาย กำลังเข้าใกล้นิรันดรภาพแล้วเขาก็ไม่รู้ว่าตัวไปไหน นักบุญเอากุสติน ถามว่า “ท่านคิดเห็นอย่างไร เมื่อถามต้นหนว่า เขากำลังนำเรือไปไหน แต่เขาตอบว่า ไม่ทราบ? ใคร ๆ ก็ว่าเขากำลังนำเรือไปอับปาง” ท่านลงท่านว่า: คนที่ออกนอกทางที่ตนต้องเดิน ก็เป็นคนเช่นนี้เอง (2) เป็นดังนี้แหละ คนฉลาดของโลก ซึ่งรู้จักแต่หาเงินทอง หาความสนุกสบาย หาตำแหน่งยศศักดิ์ แต่ไม่รู้จักทำให้วิญญาณของตนรอด เศรษฐีใจดำก็เคยได้เป็นคนฉลาด ทางหาความร่ำรวย แต่แล้ว เมื่อตาไปก็ถูกฝังอยู่ในขุมนรก (ลก. 16. 22) พระเจ้าอาเลกซันเดอร์มหาราช ทรงเฉลียวฉลาดนักหนา ในการแผ่ราชอาณาจักร แต่ต่อมาไม่กี่ปี ก็ได้สิ้นพระชนม์ แล้วต้องโทษทั้งชั่วนิรันดร พระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ก็ชาญฉลาดในการครองราชบัลลังก์ แม้ต่อเมื่อได้ทรยศต่อพระศาสนาจักรแล้ว ที่สุดตัวเขาเองได้แลเห็นว่า ตนได้เสียไปทุกสิ่ง จึงยอมรับว่า “เราได้เสียทุกสิ่งหมด” มีกี่คนแล้วน่าทุเรศนักหนา ซึ่งบัดนี้กำลังร้องไห้ และตะเบ็งเสียงอยู่ในนรกว่า “ความเย่อหยิ่งอันนั้น มันทำประโยชน์อะไรให้แก่เรา? การอวดอ่างความมั่งมีอันนั้น มันให้ผลอะไรแก่เราบ้าง? ทุกสิ่งเหล่านั้น มันล่วงพ้นไปคล้ายกับเงาเสียแล้ว” (ปชญ. 5, 8)

            “ชีวิตและความตายตั้งอยู่ต่อหน้ามนุษย์ เขาเลือกเอาอันไหน ก็จะได้อันนั้น” (บสร. 15, 18) คริสตชนที่รัก ในโลกนี้ชีวิตและความตาย ตั้งอยู่ต่อหน้าท่านกล่าวคือการรอดความสนุกที่ต้องห้ามพร้อมกับการได้ชีวิตชั่วนิรันดร หรือว่าการเอาความสนุกที่ต้องห้ามพร้อมกับความตายชั่วนิรันดร ท่านตกลงใจอย่างไร? ท่านเลือกเอาตอนไหน?- จงเลือกเอาอย่างมนุษย์เถิด อย่าเลือกเอาอย่างสัตว์เดียรัจฉาน จงเลือกอย่างประสาคริสตังผู้มีความเชื่อ และให้พูดกับตนเองว่า “จะมีประโยชน์อะไรแก่มนุษย์ แม้เขาจะได้ทั้งโลกจักรวาลหากมาเสียวิญญาณไป” (มธ. 16, 26)

ข้อเตือนใจและคำภาวนา

           อา! พระผู้เป็นเจ้า เจ้าข้า พระองค์ได้ทรงประทานให้ข้าพเจ้ามีสติปัญญา และมีความสว่างแห่งความเชื่ออีกด้วย ถึงกระนั้นครั้งก่อนนี้ ข้าพเจ้าได้กระทำเยี่ยงสัตว์เดียรัจฉาน ยอมเสียพระหรรษทานของพระองค์ เพราะเห็นแก่ความสนุกทางประสาทอันเลวทราม และอันล่วงพ้นไปรวดเร็วราวกับลมพัดบัดนี้เหลืออะไร นอกแต่ ความกลัดกลุ้มในมโนธรรม และบัญชีอันจะต้องให้การต่อพระยุติธรรมของพระองค์! พระสวามีเจ้าข้า ขออย่าทรงพิพากษาตามที่ข้าพเจ้าสมควรได้รับนั้นเลย (สดด. 142, 2) แต่โปรดพิพากษาตามพระทัยเมตตากรุณาของพระองค์เถิด พระเจ้าข้า โปรดส่องสว่าง โปรดบันดาลให้ข้าพเจ้าเป็นทุกข์ เพราะได้ทำเคืองพระทัย โปรดอภัยบาปแก่ข้าพเจ้าเถิด พระเจ้าข้า ข้าพเจ้า คือ ลูกแกะที่ได้พลัดหายไป หากพระองค์ไม่ทรงตามหา ข้าพเจ้าก็จะต้องพินาศไปเป็นแน่แท้ (สดด. 118, 176) เดชะพระโลหิตที่ได้ทรงหลั่งเพราะทรงรักข้าพเจ้า ทรงพระเมตตาต่อข้าพเจ้าด้วยเถิด! องค์คุณงามความดีที่ล้นพ้นเจ้าข้าข้าพเจ้าเป็นตทุกข์เสียใจ เพราะได้ห่างเหินจากพระองค์ และได้ปลงใจสละละพระหรรษทาน ข้าพเจ้าใคร่จะตรอมใจตาย ทรงพระกรุณาบันดาลให้ข้าพเจ้าเป็นทุกข์ยิ่งขึ้นอีกเถิด ขอให้ข้าพเจ้ามีบุญได้บรรลุถึงสวรรค์ จะได้ซร้องสาธุการความเมตตากรุณาของพระองค์ พระเจ้าข้า

            ข้าแต่พระนางมารีอา ท่านคือที่กลบภัยของข้าพเจ้า โปรดวิงวอนพระเยซูเพื่อข้าพเจ้าด้วยเถิด วิงวอนให้พระองค์ทรงอภัยบาป และโปรดให้ข้าพเจ้าคงเจริญอยู่ในความดีจนถึงที่สุดเถิด

3. ผู้ฉลาดแท้ คือ พวกนักบุญเท่านั้น

            จงตระหนักให้ดีเถิด คนฉลาด คือ ผู้ที่รู้จักทำให้ตัวของตนได้มาซึ่งพระหรรษทานและสวรค์ ฉะนั้นชาวเราจงวิงวอนขอต่อพระสวามีเรื่อยไป ให้ทรงประทานให้เรามีวิชาความรู้เยี่ยงนักบุญ และผู้ใดขอ พระองค์ก็จะทรงประทานให้ (ปชญ. 10, 10) โอ! การรู้จักพระเป็นเจ้า และการรู้จักทำให้วิญญาณของตนรอด เป็นวิชาอันประเสริฐจริงหนอ! วิชาอันนี้อยู่ที่การเกินตามทางอันนำไปสู่ความรอด และอยู่ที่การใช้วิธีการอันทำให้เราบรรลุถึงความรอดนั่นเอง ความรู้ที่สอนวิธีทำให้วิญญาณรอด เป็นความรู้ที่จำเป็นกว่าความรู้อะไรอื่นทั้งหมด นักบุญเอากุสติน กล่าวว่า : แม้เราจะรู้อะไรต่ออะไรทุกสิ่งหมดหากไม่รู้จักเอาตัวรอด ก็ไม่มีประโยชน์อะไรแก่เราสักนิด เราจะต้องเป็นอยู่เช่นนี้เรื่อยไปตรงกันข้าม หากเรารู้จักพระเป็นเจ้า แม้นอกจากนี้ จะเป็นคนโง่ไม่รู้จักวิชาอะไรเลย เราก็ยังจะเป็นผู้มีบุญลาภเสมอไป (3) วันหนึ่ง ภราดาเอยีดีโอ พูดกับนักบุญบอนาแวนตูราว่า “คุณพ่อบอนาแวนตูราขอรับ คุณพ่อมีบุญมาก มีความรู้สูง ส่วนผมนี้ น่าสงสาร โง่เง่า ไม่รู้จักอะไรเลย คุณพ่อมีทางจะเป็นนักบุญใหญ่กว่าผมมากนัก!” ท่านนักบุญตอบว่า “ฟังนี่แน่ะ! แม้ยายแก่คนโง่ ๆ หากรู้จักรักพระเป็นเจ้ามากกว่าฉัน เขาก็จะเป็นนักบุญใหญ่กว่าฉัน” เมื่อได้ยินดังนั้น ภราดาเอยีดีโอ ก็ร้องตะโกนลั่นทั่วไปว่า “ฟังเถิด ยายแก่เอ๋ย ฟังเถิด หากท่านรู้จักรักพระเป็นเจ้า ท่านก็จะเป็นนักบุญใหญ่กว่าคุณพ่อบอนาแวนตูรา เสียอีก!”

            นักบุญบอนาแวนตูรา ยังกล่าวอีกว่า “มีคนโง่กี่คน ที่อ่านหนังสือไม่ออกแต่เขารู้จักรักพระเป็นเจ้า และได้เอาตัวรอดแล้ว” (4) แล้วก็มีนักปราชญ์ชาวโลกกี่คนที่ไปนรกแล้ว! พวกต้นนั่นแหละ เป็นคนฉลาดแท้ หาใช่พวกที่สองไม่ ผู้ที่จะออกนามต่อไปนี้ช่างเป็นคนฉลาดจริง ๆ คือคนเช่น นักบุญปาสกัล นักบุญเฟลิกษ์ ฤษีกาปูชิน นักบุญยวงแห่งพระเจ้า แม้ว่าท่านเหล่านี้เป็นคนโง่ทางวิชาฝ่ายโลก! ช่างฉลาดมากจริงหนอบรรดานักบุญผู้ได้สละละโลก ไปขังตัวอยู่ในพระอารามหรือไปดำรงชีพอยู่ในป่า เช่นนักบุญเบเนดิกโต นักบุญฟรังซีสอัสซีซี นักบุญหลุยแห่งตูลูสผู้ที่ได้ยอมถึงกับสละละราชสมบัติ! ช่างเป็นคนฉลาดจริงหนอพวกมาร์ตีร์พวกพราหมจาริณีผู้ได้สละละการแต่งงานอย่างมีเกียรติมีหน้ามีตา แล้วสมัครใจตายเพื่อพระเยซูคริสต์! ความจริงข้อนี้ แม้คนชาวโลกก็รู้ เมื่อเขาเห็นมีผู้ไปถวายตัวแด่พระเป็นเจ้า เขาก็อดชมไม่ได้ว่า “เขาเป็นคนมีบุญ เขาเลือกเอาทางที่ถูกแล้ว เขาคิดเอาวิญญาณของตนรอด” พูดโดยสรุปก็คือ คนที่สละละทรัพย์สมบัติฝ่ายแผ่นดิน เพื่อถวายตัวแด่พระเป็นเจ้า ได้ชื่อว่าเป็นคนฉบาด ฉะนั้นคนที่สละละพระเป็นเจ้าเพราะเห็นแก่ทรัพย์สมบัติฝ่ายแผ่นดินควรได้ชื่อว่าอย่างไรเล่า? ควรได้ชื่อว่าเป็นคนโง่ ไม่ใช่หรือ?

            พี่น้องที่รัก ท่านอยากสังกัดอยู่ในคนจำพวกไหน? เลือกเอาให้ดี นักบุญยวงคริสซอสโตม บอกว่า ให้ไปเยี่ยมสุสาน (5)หลุมฝังศพนั่นแหละเป็นโรงเรียนอันวิเศษ สอนให้รู้จักความฟุ้งเฟ้อแห่งทรัพย์สมบัติของโลกนี้ สอนให้รู้จักวิชาของนักบุญ นักบุญคริสซอสโตมยังเสริมอีกว่า: ช่วยบอกทีเถิด ที่หลุมนั้น ท่านจะแยกออกหรือไม่ว่า ใครได้เป็นในหลวง ใครได้เป็นขุนนาง และใครได้เป็นนักปราชญ์? สำหรับข้าพเจ้า นักบุญกล่าวต่อ ข้าพเจ้ามองเห็นแต่ความเปื่อยเน่ากระดูก และหมู่หนอน ทุก ๆ สิ่งแห่งโลกนี้จะจบสิ้นลงในไม่ช้า จะหมดไปราวกับละคร ความฝัน และเงา (6)

            คริสตชนที่รัก หากท่านอยากเป็นคนฉลาดจริง ที่จะรู้จักจุดหมายปลายทางของตนว่า เป็นสิ่งสำคัญเท่านั้น ยังหาเพียงพอไม่ ท่านยังต้องให้วิธีการ หรือเครื่องมือ ที่จะให้ท่านบรรลุถึงจุดหมายอันนั้นจงได้ ใคร ๆ ก็อยากเอาตัวรอดอยากเป็นนักบุญด้วยกันทั้งนั้น แต่เพราะเขาไม่ใช้วิธีการ เขาจึงอดเป็นนักบุญเขาจึงต้องไปสู่นรก จำเป็นจะต้องหนีท่าทางบาป ต้องแก้บาปรับศีลบ่อย ๆ ต้องสวดภาวนา และเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องจำใส่ใจไว้เสมอ ซึ่งคติพจน์ต่าง ๆ ของพระวรสาร เช่น “จะประโยชน์อะไรแก่มนุษย์ แม้จะได้ทั้งโลกจักวาล...” (มธ. 16, 26) “ผู้ใดรักวิญญาณของตน ผู้นั้นจงยแมเสียมันไป” (ยน. 12, 25) ซึ่งหมายความว่า สำหรับเอาวิญญาณรอด จำเป็นต้องยอมเสียสละ กระทั่งแม้ชีวิต “ผู้ใดพอใจตามเรามา ผู้นั้นต้องสละละตัวเอง” (มธ. 16, 24) เพื่อเดินตามพระเยซูเราต้องสละละความรักต่อตัวเอง ทั้งความสนุกสบายที่มันใฝ่ฝันหา ความรอดของเรา อยู่ที่การปฏิบัติตามน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้า (สดด. 29, 6) จงจำคติพจน์ดังกล่าว และอื่น ๆ ที่มีเนื้อความคล้ายคลึงกัน ใส่ใจไว้เสมอเถิด

ข้อเตือนใจและคำภาวนา

           ข้าแต่พระบิดา ผู้ทรงพระทัยเมตตากรุณาหาที่สุดมิได้ โปรดทอดพระเนตรดูความอาภัพของข้าพเจ้า และทรงสมเพชเถิด! โปรดส่องสว่าง และบันดาลให้ข้าพเจ้าสำนึกรู้จักความบ้าของข้าพเจ้าแต่หนหลัง จะได้ร้องไห้ตรอมใจโปรดบันดาลให้ข้าพเจ้ารู้จักความเมตตากรุณาอันหาขอบเขตมิได้ของพระองค์จะได้ปฏิพัทธ์รัก พระเยซูเจ้าข้า ไหน ๆ พระองค์ได้ทรงหลั่งพระโลหิตเพื่อให้ข้าพเจ้ารอดแล้ว โปรดอย่าทรงปล่อยให้ข้าพเจ้าตกเป็นขี้ข้าของปีศาจอย่างแต่ก่อนอีกเลย พระเจ้าข้า (7) องค์คุณงามความดีที่ล้นพ้น เจ้าข้า ข้าพเจ้าเสียใจที่ได้สละละพระองค์ ข้าพเจ้าสาปแช่งเวลาทุกขณะที่ข้าพเจ้าได้ปลงใจกระทำบาปนั้นบัดนี้ ข้าพเจ้าขอเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับน้ำพระทัยอันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ผู้ทรงมีแต่หวังดีต่อข้าพเจ้า ข้าแต่พระบิดา ผู้สถิตสถาพรตลอดนิรันดร โปรดเห็นแก่พระบารมีของพระมหาเยซูคริสต์ และประทานให้ข้าพเจ้ามีพละกำลังทำทุกสิ่งตามน้ำพระทัยของพระองค์อีก โปรดประทานพระหรรษทานให้ข้าพเจ้ารักเฉพาะพระองค์ผู้เดียว และให้ข้าพเจ้าปลีกตัวออกจากความรักอื่นทั้งหลาย ที่ไม่ใช่เพื่อพระองค์ พระเจ้าข้า โอ้ พระผู้เป็นเจ้าแห่งวิญญาณของข้าพเจ้า ข้าพเจ้ารักพระองค์ รักพระองค์ยิ่งกว่าอะไร ๆ ทั้งหมด และหวังจะได้รับพระราชทานพระคุณต่อไปนี้ คือ การอภัยบาป ความคงเจริญในความรักต่อพระองค์ เรื่อยไปและสวรรค์ ทั้งนี้เพื่อจะได้รักพระองค์ตลอดนิรันดรภาพ พระเจ้าข้า

            ข้าแต่พระแม่มารีอา โปรดช่วยเสนอให้ข้าพเจ้าได้รับพระคุณดังกล่าวมานี้ด้วยเถิด พระบุตรของท่าน จะไม่ทรงเมินเฉยต่อคำภาวนาของท่านเป็นแน่แท้ ท่านคือ ความหวังของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าวางใจในท่าน

(1) Hominem illum dicimus, qui imaginem hominis salvam retinet; quae autem est imago hominis?

      rationalem esse. (In Gen. Hom. 23).

(2) …et dicatur ei: Quo is ? et dicat nescio. Nonne iste navem ad naufragium perducet? Talis est qui currit

      praeter viam.

(3) Beatus qui te novit, etsi alia nescit.

(4) Surgunt indocti et rapiunt coelum.

(5) Proficiscamur ad sepulchral.

(6) Nihil video nosi putredinem, ossa et vermes. Omnia fibula, somnium, umbra.

(7) Ne tradas bestiis animas confidentes tibi.

 

1. บาป คือความทุกข์ทรมาน

 มนุษย์ทุกรูปทุกนามในโลกเรานี้ ต่างพยายามออกแรงเพื่อแสวงหาความสุข พ่อค้าคนนี้ ทหารคนนั้น คู่กรณีคนโน้น ต่างคนต่างออกแรง ทั้งนี้เพราะคิดว่า เพื่อได้กำไรเท่านั้น ได้ยศศักดิ์ขั้นนั้น ได้ชนะความเรื่องนั้น แล้วก็จะได้ลาภได้ความสุข แต่น่าสงสารชาวโลกแท้ ๆ ! เขาแสวงหาความสุขจากโลก ซึ่งไม่มีปัญญาจะให้ได้! มีแต่พระเป็นเจ้าผู้เดียวเท่านั้น จะประทานสันติสุขให้แก่เราได้พระศาสนจักรจึงวิงวอนว่า “โปรดประทานสันติสุขแก่ทาสของพระองค้ด้วยเถิดสันติสุขอันโลกให้ไม่ได้ (1) แน่นอนแม้โลกจะเอาทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งหมด มามอบไว้ในกำมือ ก็ไม่สามารถทำให้ดวงใจมนุษย์อิ่มไปได้ เหตุว่ามนุษย์ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อทรัพย์พรรค์นี้ แต่เพื่อพระเป็นเจ้าผู้เดียวต่างหาก ฉะนั้นจึงมีแต่พระเป็นเจ้าผู้เดียวเท่านั้นจะทรงทำให้ดวงใจของมนุษย์อิ่มหนำได้ สัตว์เดียรัจฉาน ถูกสร้างขึ้นเพื่อความสนุกทางประสาท ทรัพย์สมบัติฝ่ายแผ่นดิน จึงทำให้มันเป็นสุขได้: เชิญเอาหญ้าฟ่อนหนึ่งโยนให้ม้า เอาเนื้อก้อนหนึ่งโยนให้สุนัข เท่านี้มันก็อิ่มใจ ไม่อยากได้อะไรอีกแล้ว แต่วิญญาณของเรา ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อพระเป็นเจ้าเพื่อร่วมสนิทกับพระองค์ ความสนุกสบายทางประสาททั้งหลายของโลก ไม่อาจทำให้อิ่มได้หรอก พระเป็นเจ้าผู้เดียวเท่านั้น จะทรงทำให้วิญญาณอิ่มได้

            นักบุญลูกา (12, 19) บันทึกว่า: พระสวามีเจ้าตรัสถึงเศรษฐีผู้หนึ่งซึ่งเก็บเกี่ยวข้าวได้จำนวนมาก เขาได้พูดกับตนเองว่า “วิญญาณข้าเอ๋ยเจ้าได้สะสมทรัพย์สมบัติสำหรับใช้สอยได้เป็นเวลาหลายปีแล้ว เอ้า! พักเหนื่อยเสีย กินดื่มให้สบายเสียที” แต่เศรษฐีผู้นั้น ถูกขนานนามว่า เป็นคนบ้า นักบุญบาซีลีโอกล่าวว่า: มันก็ถูกต้องแล้วหรือ! ท่านกล่าวต่อ เจ้าคนอาภัพ เจ้ามีวิญญาญหมู (2) หรือวิญญาณสัตว์เดียรัจฉานตัวใดตัวหนึ่งกระนั้นกรือ? เจ้าจึงคิดว่า วิญญาณของเจ้าจะอิ่มไปได้ด้วยการขุน การกิน การดื่มและความสนุกทางประสาท? นักบุญเบอร์นาร์ด กล่าวว่า มนุษย์เราอาจจะพองโตไปด้วยทรัพยากรของโลกแต่จะให้อิ่มนั้นไม่ได้ (3) เมื่ออธิบายถึงพระวรสาร ตอนที่ว่า “นี่แน่ะ! พวกข้าพเจ้าได้สละละทิ้งทุกสิ่ง...” ท่านกล่าวว่า: ท่านได้แลเห็นคนโรคจิตกลุ่มหนึ่งเป็นบ้าต่างๆ กัน คนบ้าทุกคนหิวโซเหมือนกันหมด พวกหนึ่งกำลังกินดิน หมายถึงพวกคนตระหนี่งกเงิน อีกพวกหนึ่งกำลังลม หมายถึงพวกบ้ายศ บ้าศักดิ์ พวกหนึ่งกำลังนั่งอยู่รอบเตาไฟ อ้าปากกินเปลวไฟ ที่แลบออกมาจากเตา หมายถึงพวกมุทะลุขี้โมโหและที่สุดอีกพวกหนึ่ง กำลังนั่งอยู่ข้างบ่อน้ำโสโครกและกำลังดื่มน้ำครำ หมายถึงพวกใจลามก เห็นดังนั้น ท่านนักบุญจึงตะโกนบอกพวกนั้นว่า “อะไรกัน! เจ้าพวกคนบ้าเอ๊ย เจ้าไม่เห็นดอกหรือ ของเหล่านั้นมันไม่ดับความหิว แต่กลับทำให้หิวหนักขึ้น?” (4)

            ทรัพยากรของโลกนี้ เป็นเพียงทรัพย์ที่ลวงตา จึงไม่อาจทำให้มนุษย์อิ่มใจได้ (อัคเชโอ 1, 6) นักบุญเอากุสติน อธิบายว่า คนตระหนี่ยิ่งได้ก็ยิ่งโลภ (5) คนลามกยิ่งปล่อยตัวในปลักโสมม ก็ยิ่งจะเบื่อหน่าย และก็ยิ่งจะอยากยิ่งขึ้นอีกพร้อมกันไปในตัว ไฉนอุจจาระและสิ่งปฏิกูลทางเนื้อหนังจะทำให้อิ่มใจได้หนอ?- คนบ้ายศบ้าศักดิ์ก็เหมือนกัน อยากจะกินควันไห้อิ่ม คนพวกนี้ หาสิ่งที่ตนไม่มีมากกว่าสิ่งที่ตนมี พระเจ้าอาเลกซันเดอร์มหาราช แม้จะยกทัพไปตีประเทศต่าง ๆ ได้มาเป็นอันมากแล้ว ก็ยังร้องไห้เพราะว่ายังมิได้เป็นเจ้าของประเทศอื่น ๆ อีกสมมุติว่า ทรัพยากรในโลกนี้ อาจทำให้มนุษย์อิ่มใจได้ แน่นอน พวกเศรษฐีพวกกษัตริย์ จะเป็นผู้ที่บริสุทธิ์ด้วยความสุข แต่ตรงข้าม การประสบการณ์สอนเราว่า ไม่เป็นเช่นนั้น พระเจ้าซาโลมอน เคยอ้างว่าตัวท่านเองไม่เคยอดความสนุกทางเบญจประสาทสักอย่างเดียวเลย (ปญจ. 2, 10) แล้วท่านได้กล่าวว่าอย่างไร? ได้กล่าวว่า “ความฟุ่งเฟ้อแห่งความฟุ้งเฟ้อ สารพัดคือความฟุ้งเฟ้อ” (ปจญ. 1, 2) ท่านตั้งใจจะบอกเราว่า: ทุกสิ่งที่มีอยู่ในโลกนี้ ล้วนเป็นความฟุ้งเฟ้อ ความโกหกพกลม ความบ้าบอนั่นเอง

ข้อเตือนใจและคำภาวนา

           อา! พระผู้เป็นเจ้า เจ้าข้า เมื่อได้กระทำเคืองพระทัยของพระองค์แล้วข้าพเจ้าได้อะไรบ้างนอกจากความระทมทุกข์ความขมขื่นและบัตรไปนรก? บัดนี้ข้าพเจ้าก็กำลังรับความขมขื่น ข้าพเจ้าไม่น้อยใจเลย แต่กลับดีใจเสียอีกเพราะมันเป็นผลแห่งพระหรรษทานของพระองค์ พระองค์เองเป็นผู้บันดาลให้เกิดขึ้นในใจของข้าพเจ้า จึงเป็นทางให้ข้าพเจ้าวางใจได้ว่า พระองค์ทรงปรารุนาจะอภัยบาปแก่ข้าพเจ้า พระมหาไถ่เจ้าข้า สิ่งที่ทำให้ข้าพเจ้าเสียใจก็คือ ความขมขื่นที่ข้าพเจ้าได้กระทำต่อพระองค์ผู้ทรงรักข้าพเจ้าเป็นนักหนา พระสวามีเจ้าข้า ข้าพเจ้สมจะให้พระองค์ทรงทอดทิ้งข้าพเจ้า ในขณะนั้นแล้ว แต่แทนจะทรงทอดทิ้ง พระองค์กับทรงอภัยโทษแก่ข้าพเจ้ายิ่งกว่านั้นอีก พระองค์เอง ทรงขอคืนดีกับข้าพเจ้าก่อนด้วย เป็นความจริงใจ พระเยซูเจ้าข้า ข้าพเจ้าอยากคืนดี ข้าพเจ้าอยากได้พระหรรษทานของพระองค์ มากกว่าอะไร ๆ ทั้งหมด องค์ความใจดีปราศจากขอบเขตเจ้าข้า ข้าพเจ้าเสียใจที่ได้กระทำเคืองพระทัย ข้าพเจ้าเป็นทุกข์อยากจะตรอมใจตาย โปรดเถิด โปรดเห็นแก่ความรักอันใหญ่หลวง จนได้ทรงยอมมรณะบนไม้กางเขนเพื่อข้าพเจ้า ประทานอภัยบาปแก่ข้าพเจ้าเถิด และโปรดรับข้าพเจ้าไว้ในพระหฤทัยของพระองค์ โปรดเปลี่ยนดวงใจของข้าพเจ้า อย่างกลับหน้ามือเป็นหลังมือ ครั้งก่อนนี้มันได้ทำเคืองพระทัยของพระองค์เพียงไร ก็นับแต่บัดนี้ไป ขอให้ทำปต่ที่ชอบพระทัยเพียงนั้นเถิด พระเจ้าข้า ณ บัดนี้ เพื่อเป็นการแสดงความรักต่อพระองค์ ข้าพเจ้ายอมสละละความสนุกสุขสบายทั้งหลาย ที่โลกอาจนำมายื่นให้ ข้าพเจ้าตัดสินใจยอมตายดีกว่าจะเสียพระหรรษทานของพระองค์ โปรดแจ้งให้ข้าข้าพเจ้าทราบเถิดว่า พระองค์ทรงประสงค์สิ่งใด ข้าพเจ้ายินดีจะปฏิบัติตามทุกอย่าง ความสนุกสบาย? ยศศักดิ์? ความมั่งมี? ข้าพเจ้าไม่เอาแล้ว ไม่เอาทั้งนั้น ข้าพเจ้าต้องการแต่พระองค์ พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า ความอภิรมย์ยินดีของข้าพเจ้า เกียรติมงคลของข้าพเจ้า ทรัพยากรของข้าพเจ้า ชีวิตของข้าพเจ้าความรักของข้าพเจ้า และสรรพสิ่งของข้าพเจ้า พระสวามีเจ้าข้า โปรดให้ข้าพเจ้าซื่อสัตย์ต่อพระองค์ และให้ข้าพเจ้ารักพระองค์ผู้เดียว นอกนั้นจะทรงพอพระทัยกระทำแก่ข้าพเจ้าอย่างไร ก็สุดแล้วแต่จะทรงเห็นขอบเถิด พระเจ้าข้า

            ข้าแต่พระนางมารีอา รองแต่พระเยซูลงมา ท่านคือความหวังไว้ใจของข้าพเจ้า! โปรดรับข้าพจไว้ในความอารักขาของท่าน และโปรดให้ตัวข้าพเจ้าเป็นของของพระเป็นเจ้าทั้งหมดเถิด

2. ความเดือดร้อนในใจคนบาป

            ซาโลมอน มิได้กล่าวไว้เพียงว่า “ทรัพย์สมบัติแห่งโลกนี้ เป็นความฟุ้งเฟ้อ ไม่อิ่มใจเรา” แต่ท่านยังเสริมว่า “มันทรมานใจ” (ปญจ. 1, 14) อีกด้วย น่าสงสารคนบาปแท้ ๆ! เขาทำบาป ตังใจจะหาความสุข แต่แล้วเขาประสบแต่ความขมขื่น และความกลัดกลุ้มในมโนธรรม “วิถีทางของเขา มีแต่ความพินาศและความอาภัพ เขาไม่รู้จักทางนำไปสู่นันติสุข” (สดด. 13, 3) เขาหาสันติสุข หาความสุขหรือ? ไม่มีวัน จะได้พบ เพราะพระสวามีได้ตรัสไว้ว่า “ไม่มีสันติสุขสำหรับคนอธรรม” (อสย. 48, 22)

            ประการแรก บาปนำมาซึ่งความกลัวการแก้แค้นของพระเป็นเจ้า หากเรามีศัตรูเป็นผู้มีอำนาจ เราจะกิน จะนอนหลับให้สบายก็ไม่ได้ ประสาอะไร เมื่อเรามีพระเป็นเจ้าเป็นศัตรูเล่า เราจะอยู่สบายได้หรือ? “ผู้กระทำชั่ว ต้องมีความกลัว” (สภษ. 10, 29) ผู้อยู่ในบาป เมื่อเกิดแผ่นดินไหว หรือได้ยินเสียงฟ้าร้องฟ้าผ่า เขาก็ตัวสั่น! แม้เพียงใบได้ไหวกรอบแกรบ เขาก็ขนลุก: “ในหูของเขา มีเสียงบอกให้กลัวอยู่เสมอ” (โยบ. 15, 21) “เขาวิ่งหนีทั้ง ๆ ที่ไม่มีคนตาม” (สภษ. 28,1) ก็อะไรเล่าไล่ตามเขา? มันก็คือ บาปของเขานั่นเอง เมื่อกาอินได้ฆ่า อาแบลน้องชายแล้ว เขาคิดว่าใคร ๆ ก็ไล่ตามจะฆ่าเขา (ปฐก. 4, 14) และแม้พระเป็นเจ้าได้ทรงให้คำมั่นแก่กาอันว่า: ไม่มีใครจะทำร้ายเขา ถึงกระนั้น พระคัมภีร์เล่าว่ากาอินไม่วายหนีเรื่อยไป จากที่หนึ่ง ไปอีกที่หนึ่ง (ปฐก. 4, 15-16) ใครเล่าเป็นผู้ไล่ตามกาอิน ถ้ามิใช่บาปของเขาเอง?

            ประการสองบาปนำมาซึ่งความวุ่นวายในมโนธรรม ซึ่งเป็นประหนึ่งหนอนปราศจากความปราณี คอยชอนไชอยู่เรื่อยไป คนบาปจะไปดูละครไปเต้นรำ ไปกินเลี้ยง มโนธรรมก็ตามไปตะโกนบอกเขาว่า “เจ้าเป็นศัตรูของพระเป็นเจ้า หากเจ้าตายไป เจ้าจะไปไหน? ความกลัดกลุ้มมโนธรรมดังนี้ เป็นอาชญาโทษที่หนักอยู่ แม้เมื่อยังอยู่บนแผ่นดินนี้แล้ว จนบางคนเหลือจะอดกลั้นจึงไปฆ่าตัวตาย เพราะต้องการเลี่ยงให้พ้น ตัวอย่างที่เรารู้จักกันดีคือ ยูดาส เขาเสียใจจึงได้ไปผูกคอตาย เขาเล่าว่า มีคน ๆ หนึ่งไปฆ่าเด็กเพื่อแก้กลุ้มใจ จึงได้ไปสมัครเป็นฤษี แต่แม้เมื่ออยู่ในพระอาราม ก็ไม่เป็นสุขที่สุด จึงตัดสินใจไปสารภาพความผิดต่อผู้พิพากษา เลยเป็นเหตุให้ตัวเขาถูกประหารชีวิต ด้วยประการฉะนี้

            วิญญาณ ที่ไร้พระเป็นเจ้า เป็นอย่างไร?- พระจิตเจ้าตรัสว่า เป็นทะเลที่กำลังบ้าคลื่น “คนอธรรมเป็นดังทะเลกำลังบ้า ไม่รู้จักสงบ” (อสย. 57, 20) ขอถามทีเถิด ผู้ที่เมื่อไปฟังดนตรี ไปเต้นรำ ไปกินเลี้ยง แล้วถูกผูกเท้าแขวนขึ้นเอาหัวห้อยลง เขาผู้นั้นจะมีความสุขได้หรือ? ฉันใดก็ฉันนั้น ผู้มีมโนธรรมยุ่ง กลับหัวกลับท้าย แม้จะแหวกว่ายอยู่ในกองทรัพย์สมบัติ แต่เขาก็ไม่มีพระเป็นเจ้าเขาจะกิต จะดื่ม จะเต้นรำ จะแต่งตัวหรูหรา จะมีเกียรติยศแค่ไปน จะมีฐานะดีเพียงไร จะเป็นเจ้าของสิ่งใด ๆ ก็ตาม เขาจะไม่มีความสุขเป็นอันขาด “ไม่มีสันติสุข สำหรับคนอธรรม” (อสย. 48, 22) สันติสุขจะมีได้ก็แต่โดยทางพระเป็นเจ้าแต่พระองค์ทรงประทานให้เฉพาะแก่ผู้เป็นมิตรของพระองค์ และไม่ทรงประทานแก่ศัตรูของพระองค์

            นักบุญวินแชนซีโอ แฟร์รารีโอ กล่าวว่า “ทรัพย์สมบัติแห่งแผ่นดินนี้เป็นของภายนอก มันไม่เข้าไปข้างในใจ” (6)แม้คนบาปจะใส่เสื้อปักหรู ๆ จะสวมแหวนเพชรเม็ดงาม ๆ จะกินอยู่อย่างสบาย ดวงใจของเขาจะท่วมท้นไปด้วยรกหนาม และด้วยดินอันขมขื่นอยู่เสมอ ดังนั้น ท่านจึงเห็นว่า แม้เขาจะว่ายอยู่ในขุมทรัพย์ เงินทอง ความสนุกสบาย ความเพลิดเพลิน แต่เขาคงไม่สบายใจอยู่เสมอหากมีอะไรมาขัดใจหน่อย เขาก็โกรธ เดือดดาลคล้ายสุนัขบ้า! ส่วนผู้รักพระเป็นเจ้าเมื่อมีความยากลำบาก เขารู้จักนอบน้อมตามน้ำพระทัย เขาจึงไม่มีทางจะทำให้ตนสบายใจ น่าสังเวชแท้! เขาไปปรนนิบัติปีศาจ ซึ่งเป็นทรราช มันจึงมีปต่จะประทานความทุข์ร้อน ความขมขื่น เป็นรางวัลแก่เขา จะเป็นอย่างอื่นไปมิได้ นอกจากเป็นไปตามพระวจนะของพระเป็นเจ้าว่า “เพราะเจ้าไม่อยากปรนนิบัติพระสวามี พระเป็นเจ้าของพระเป็นเจ้าด้วยความอิ่มหนำยินดี...เจ้าจึงจะต้องปรนนิบัติศัตรูของเจ้าด้วยความอดหิว ความกระหาย เปลือยกาย และความแร้นแค้น” (ฉธบ. 28, 47) มีอะระบ้างที่คนพยาบาทจะไม่ต้องรับทนแม้เมื่อได้แก้แค้นสมหวังแล้ว? มีอะไรบ้า ที่ตนลามกไม่ต้องทนแม้เมื่อได้ตามความปรารถนาแล้ว? คนบ้ายศ! คนตระหนี่ก็เหมือนกัน! โอ้! หากคนเหล่านี้จะได้รับทนความยากลำบากเพราะเห็นแก่พระเป็นเจ้า เท่าที่เขาได้รับทนเพื่อความพินาศของตนเองแล้วมีกี่คนจะได้เป็นนักบุญใหญ่ในสวรรค์!

ข้อเตือนใจและคำภาวนา

            โอ้! น่าเสียดายชีวิต ที่ข้าพเจ้าได้เสียเปล่าไป! หากข้าพเจ้าจะได้ยอมรับทนทุกข์ในการปรนนิบัติพระเป็นเจ้า เท่าเสมอที่ได้ทนเพื่อทำบาปเคืองพระทัยของพระองค์นั้น ปานนี้ข้าพเจ้าจะมีบุญกุศลสำหรับสวรรค์มากมายเพียงไรหนอ! อา! พระสวามรเจ้าข้า ข้าพเจ้าได้สละละพระองค์ เพราะเหตุใด? ได้ยอมเสียพระหรรษทานของพระองค์ เพราะเหตุใด?- เพราะเห็นแก่ความสนุกอันมีพิษสงและอันเมื่อได้มา ก็อยู่ชั่วครู่สั้น ๆ พอได้ลิ้มรสแล้ว มันก็อันตรธารสูญไป เหลือไว้แต่รกหนาม และความขื่นขม เต็มปรี่อยู่ในดวงใจ! โอ้! บาปจัญไร ข้าชังน้ำหน้าข้าสาปแช่งเจ้าพันครั้ง! ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าขอถวายพระพรแด่ความเมตตากรุณาของพระองค์ ที่ทรงเอ็นดูสงสารข้าพเจ้าถึงเพียงนี้ ข้าพเจ้ารักพระองค์พระผู้สร้าง และพระมหาไถ่ ผู้ได้ทรงพลีพระชนม์ชีพเพื่อข้าพเจ้า ขณะนี้ข้าพจ้าเป็นทุกข์ตรอมใจเพราะความรักต่อพระองค์แล้ว พระเจ้าข้า พระผู้เป็นเจ้า พระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าได้ยอมเสียพระองค์ เพราะอะไร? ข้าพเจ้าได้เอาพระองค์ไปแลกกับอำไร? บัดนี้ข้าพเจ้าสำนึกรู้ความผิดแล้ว จึงตั้งใจจะสละละทุกสิ่ง แม้ชีวิตของข้าพเจ้า ดีกว่าจะเสียความรักต่อพระองค์อีก พระเจ้าข้า ข้าแต่พระบิดาผู้สถิตสถาพระตลอดนิรันดร ด้วยเดชะความรักของพระองค์ต่อพระเยซูคริสต์ โปรดประทานแสงสว่างแก่ข้าพเจ้า จะได้รู้จักพระองค์ องค์คุณงามความดีหาขอบเขตมิได้ และจะได้รู้จักความถ่อยเลวของทรัพย์สมบัติ ซึ่งปีศาจจะนำมาล่อหลอก เพื่อจะได้ให้ข้าพเจ้ายอมเสียพระหรรษทานของพระองค์ ข้าพเจ้ารักพระองค์ และตั้งใจจะรักพระองค์ยิ่ง ๆ ขึ้น พระองค์ผู้เดียวจะเป็นความคิดของข้าพเจ้า จะเป็นความปรารถนาของข้าพเจ้า จะเป็นความรักของข้าพเจ้า! ข้าพเจ้าหวังว่า จะได้ทุกสิ่งดั่งกล่าวมานี้ จากพระทัยดีของพระองค์ และหวังจะได้ ด้วยอาศัยพระบารมีแห่งพระบุตรของพระองค์ พระเจ้าข้า

            พระแม่มารีอา เดชะความรักของท่านต่อพระเยซูคริสต์ โปรดช่วยจัดหาให้ข้าพเจ้าได้รับความสว่าง และพละกำลังสำหรับการปรนนิบัติพระเป็นเจ้า และรักพระองค์ตราบจนชีวิตจุหาไม่ ด้วยเถิด

3. นักบุญเท่านั้นเป็นผู้มีความสุข

            ถูกแล้ว ทรัพยากรและความสนุกสุขสบายทั้งหลายฝ่ายแผ่นดิน ไม่อาจอิ่มใจมนุษย์ได้ ก็ใครเล้าจะทำให้มนุษย์อิ่มใจได้?- พระเป็นเจ้าผู้เดียวเท่านั้น “จงเอาพระสวามีเจ้า เป็นความยินดีของเจ้าเถิด และพระองค์จะทรงดลบันดาลให้ดวงใจของเจ้าได้สมความปรารถนาทุกอย่างทถกประการ” (สดด. 36, 4) ดวงใจของมนุษย์ย่อมแสวงหาทรัพย์ที่จะทำให้อิ่ม แม้เมื่อได้ทรัพย์สมบัติ ความสนุกสบายและยศศักดิ์แล้ว ก็ยังหาอิ่มใจไม่ เพราะของเหล่านี้มีขอบเขต แต่ดวงใจของมนุษย์ถูกสร้างขึ้นเพื่อทรัพย์อันไม่มีขอบ ต่อเมื่อมาพบพระเป็นเจ้าและได้ร่วมสนิทกับพระองค์แล้ว จึงอิ่มใจในทันที ไม่ปรารถนาอะไรอีกแล้ว ตลอดเวลาที่นักบุญเอากุสติน เที่ยวหาความสนุกทางเบญจประสาท ท่านก็มิได้พบความสุขเลย ครั้นเมื่อกลับใจมาถวายตัวแด่พระเป็นเจ้าแล้ว ท่านจึงรับ และทูลพระสวามีเจ้าว่า: พระเจ้าข้า บัดนี้ข้าพเจ้าทราบแล้ว: ทุกสิ่งเป็นแต่ความฟุ้งเฟ้อเป็นเครื่องทรมานทั้งนั้น มีแต่พระองค์ผู้เดียวเป็นความสุขแท้ของวิญญาณ (7) จากผลร้ายที่ได้รับท่านจึงสอนเราว่า: มนุษย์เอ๋ย เจ้าตามหาอะไร? หาทรัพย์ใช่ไหม? จงหาทรัพย์อันบรรจุทรัพย์ทั้งหลายเถิด (8) เมื่อกษัตริย์กาวิตได้ทำบาปแล้ว ท่านปล่อยตัวหาความสนุกต่าง ๆ นานาในการไล่เนื้อยิงนก เที่ยวชมสวนหลวง กินเลียงและความเพลิดเพลินอย่างอื่นกับข้าบริพาร แต่การกินเลี้ยงอุทยาน และสัตว์โลกอื่นทั้งหลายที่ท่านถือเอาว่าเป็นความสนุกเพลิดเพลินนั้นต่างก็บอกท่านว่า: ดาวิด ท่านต้องการให้พวกเราทำความอิ่มใจแก่ท่านหรือ? ไม่ได้ ไม่ได้ พวกเราไม่มีปัญญาทำความอิ่มใจแก่ท่าน ฉะนั้นถึงแม้ดาวิด จะแหวกว่ายท่ามกลางความเพลิดเพลินทุกอย่างท่านก็ไม่วายร้องไห้รำพรรณว่า “ข้าพเจ้าต้องกินแต่น้ำตาทั้งวันทั้งคืน ด้วยได้ยินเสียงแว่ว ๆ เรื่อยไปว่า: พระเป็นเจ้าของท่านอยู่ที่ไหน?” (สดด. 41, 3)

            โอ! ตรงข้าม พระเป็นเจ้าทรงรู้จักบันดาลให้วิญญาณที่รักพระองค์ได้อิ่มหนำสำราญเพียงไรหนอ! เมื่อนักบุญฟรันซิส อัสซีซี ได้สละละทุกสิ่งเพื่อพระองค์นั้น ท่านไม่มีรองเท้า มีแต่ผ้าขี้ริ้วผืนหนึ่งพันกาย ท่านต้องทนหนาวและอดหิวแทบตาย ถึงกระนั้น ท่านก็รู้สึกเหมือนอยู่สวรรค์ ทูลพระองค์ว่า “พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า พระองค์คือ สารพัดของข้าพเจ้า” เมื่อนักบุญฟรันซิสโก บอร์ยีอาเข้าเป็นฤษีแล้ว วันหนึ่งเมื่อกำลังเดินทาง ท่านต้องไปนอนบนกองฟาง แต่ท่านก็รู้สึกยินดีเป็นที่สุด จนนอนไม่หลับ นักบุญฟิลิปเนรีก็เหมือนกัน วันที่ได้สละละทุกสิ่งแล้ว เมื่อไปนอน พระเป็นเจ้าทรงบรรเทาใจของท่นมาก จนท่านต้องกลับทูลพระองค์ว่า “พอทีเถิดพระเยซูเจ้าข้า ปล่อยให้ข้าพเจ้านอนบ้างเถิด” คุณพ่อการ์โล ณ ลอร์แรน คณะเยสุอิต เป็นเจ้านายในตระกูล ลอร์แรน ครั้นมาถึงห้องเล็ก ๆ ของท่านในพระอาราม บางครั้งท่านก็ยินดีจนโลดเต้น นักบุญฟรันซิส เซเวียร์เมื่อทำงานเหนื่อยยากอยู่ในประเทศอินเดีย ท่านเปิดอก พลางทูลว่า “พระเจ้าข้าเรื่องความบรรเทานั้น พอทีเถิด” (9) ดวงใจของข้าพเจ้าทนไม่ไหวแล้ว นักบุญเทเราซากล่าวว่า “ความบรรเทาของโลกรวมกัน” แน่นอน ต้องเป็นไปตามคำมั่นสัญญาของพระผู้เป็นเจ้า ผู้ตรัสว่า พระองค์จะทรงปูนรางวันแก่ผู้สละละทรัพย์สมบัติฝ่ายโลกนี้เพื่อพระองค์ ให้เขามีความสุขความยินดีเป็นร้อยเท่าแม้ในชีวิตปัจจุบันนี้ด้วย: “ผู้ใดละบ้านช่อง ญาติพี่น้อง...เพราะเห็นแก่พระนามของเรา ผู้นั้นจะได้รับรางวัลร้อยเท่า และจะได้ชีวิตชั่วนิรันดร” (มธ. 19, 29)

            ก็ชาวเรากำลังแสวงหาอะไรเล่า? จงแสวงหาพระเยซูคริสต์กันเถิดพระองค์ตรัสเรียก และเชื้อเชิญเราว่า “มา ท่านทั้งหลาย บรรดาผู้เหนื่อยยากและแบกของหนัก จงมาหาเรา เราจะทุเลาบรรเทาใจท่าน” (มธ. 10, 28) วิญญาณที่รักพระเป็นเจ้า ได้รับความสุข อันอยู่เหนือความสุขสบายและความยินดีทั้งสิ้นซึ่งเบญจประสาทและโลกจะอำนวยให้ได้ (ฟป. 4, 7) จริงอยู่ ในชีวิตปัจจุบันนี้แม้ผู้เป็นนักบุญ ก็ยังต้องทนความยากลำบากแล้ว ก็จะสร้างบุญกุศลไม่ได้ ถึงกระนั้น นักบุญบอนาแวนตูรา กล่าวว่า: ความรักของพระผู้เป็นเจ้า คล้ายกับน้ำผึ้งซึ่งคลุกเคล้าทำให้ของขม กลายเป็นของหวาน และน่ากิน! ผู้ที่รักพระเป็นเจ้า ย่อมรักน้ำพระทัยของพระองค์ ฉะนั้นใจเขาจึงมีความยินดีได้ แม้กำลังอยู่ท่ามกลางความขื่นขม โดยที่เขาทราบว่าเมื่อตนนอบน้อมตามน้ำพระทัย ตนก็เป็นที่รักใคร่ชอบพอของพระผู้เป็นเจ้า อนิจจา! คนบาปไม่เคยลิ้มรสความสุขใจเช่นนี้ เขาจึงหมิ่นประมาทชีวิตฝ่ายจิตใจ! นักบุญเพอร์นาร์ด กล่าวว่า: เขามองเห็นแต่การบำเพ็ญตบะ อันผู้เป็นมิตรของพระผู้เป็นเจ้ารับทน มองเห็นแต่ความสนุกสบายที่ท่านเหล่านั้นยอมอด แต่เขามองไม่เห็นความแช่มชื่น ทางจิตใจ ที่พระสวามีเจ้าทรงทะนุถนอมไว้ให้ (10) โอ้! หากคนบาปจะได้ชิม ได้ลิ้มรสความสุข ที่วิญญาณผู้รักพระเป็นเจ้า ได้รับนั้น สักครั้งหนึ่งหนอ! ดาวิด กล่าวว่า “ลองชิมดูเถิด แล้วท่านจะทราบว่า พระสวามีเจ้าทรงหวานฉ่ำสักปานใด” (สดด. 33, 9)

            พี่น้องที่รัก ท่านจงเริ่มรำพึงภาวนาทุก ๆ วัน จงเริ่มรับศีลมหาสนิทบ่อย ๆ เริ่มไปสนทนากับพระเยซูเจ้าในศีลมหาสนิท เริ่มปลีกตัวออกห่างจากโลกแล้วผูกสัมพันธ์กับพระเป็นเจ้าเถิด และในชั่วเวลาสั้น ๆ ขณะท่านกำลังสนทนากับพระองค์นั้น ท่านจะเห็นว่า พระสวามีเจ้าทรงรู้จักบรรเทาใจท่าน ดีเสียกว่าที่ท่านเคยได้รับจากโลก และจากความสนุกสนานทั้งหลายของมันเป็นนักหนา “ลองชิมดูเถิด แล้วท่านจะเห็นด้วยตนเอง” ผู้ที่ไม่เคยชิม ไม่อาจจะเข้าใจได้ว่าพระเป็นเจ้าทรงรู้จักทำความอิ่มใจ แก่วิญญาณผู้รักพระองค์อย่างไร!

ข้อเตือนใจและคำภาวนา

           พระมหาไถ่ ที่สุดเสน่หาเจ้าข้า ไฉนหนอครั้งก่อนนี้ ข้าพเจ้าจึงได้ตาบอดมืด จนถึงกับได้ยอมสละละพระองค์ องค์คุณงามความดีปราศจากขอบเขต และต้นธารแห่งความทุเลาบรรเทา ไปแลกเปลี่ยนพระองค์กับความอาภัพน่าทุเรศและความสนุกสบายทางเบญจประสาทอันคงอยู่ชั่วครู่สั้น ๆ ! ข้าพเจ้าแปลกใจในความบอดมืดของตนเองแท้ ๆ แต่ข้าพเจ้างงงวยในความเมตตากรุณาของพระองค์ที่ทรงเพียรทนข้าพเจ้า มากกว่านั้นอีก! ขอสมนาพระคุณที่โปรดให้ข้าพเจ้าเข้าใจแจ้งในความบ้าของตนและรู้แท้แน่ชัดว่าจำเป็นที่จะต้องรักพระองค์ พระเยซูเจ้าข้า ข้าพเจ้ารักพระองค์ และตั้งใจรักพระองค์ยิ่ง ๆ ขึ้นอีก พระเจ้าข้า โอ้ ! พระผู้เป็นเจ้า ผู้น่ารักอย่างยิ่ง โปรดให้ข้าพเจ้ารักพระองค์ พระองค์ผู้ทรงรักข้าพเจ้าจนไม่ทรงรู้จะรักอย่างไรแล้ว ทั้งทรงประสงค์ให้ข้าพเจ้ารักพระองค์มาก ๆ ด้วย “หากทรงพอพระทัย พระองค์ก็โปรดให้ข้าพเจ้าบริสุทธิ์ไป” (มธ. 8, 2) โอ้! พระมหาไถ่ที่สุดเสน่หา โปรดชำระล้างดวงใจของข้าพเจ้าให้ปราศจากความรักอันไม่บริสุทธิ์ ซึ่งเป็นอุปสรรคมิให้ข้าพเจ้ารักพระองค์ สมความปรารถนาเถิดข้าพเจ้าไม่รู้แห่งจะทำอย่างไรให้ดวงใจของข้าพเจ้าทั้งหมด ระอุร้อนไปด้วยความรักต่อพระองค์ มันจึงจะไม่รักอะไรอื่น นอกจากรักพระองค์ มันจะเป็นไปได้ดังนี้ ก็โดยอาศัยพระหรรษทานของพระองค์เท่านั้น  เพราะว่าพระหรรษทานของพระองค์มีฤทธิ์จะทำอะไร ๆ ก็ได้ โปรดพรากดวงใจข้าพเจ้าให้ออกห่างจากทุกสิ่ง โปรดกำจัดให้ดวงใจข้าพเจ้าปราศจากความรู้สึกต่าง ๆ ที่มิใช่เพื่อพระองค์และบันดาลให้ตัวข้าพเจ้าทั้งหมดเป็นของของพระองค์เถิด พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าเสียใจเป็นอันมาก ที่ได้กระทำเคืองพระทัย และตั้งใจแน่วแน่ว่าจะให้ชีวิตที่ข้าพเจ้ายังมีอยู่นี้ เพื่อรักพระองค์เท่านั้น แต่จะสำเร็จเป็นไปดังนี้ ก็ต้องสุดแล้วแต่พระองค์โปรดเถิด พระเจ้าข้า โปรดให้เป็นไปดังนี้ ด้วยเห็นแก่พระโลหิตที่ได้ทรงหลั่งเพื่อข้าพเจ้า เห็นแก่พระมหาทรมาน และเห็นแก่ความรักอันใหญ่หลวงของพระองค์ต่อข้าพเจ้านั้นเถิด องค์คุณงามความดีที่ล้นพ้นเจ้าข้า เพื่อเป็นเกียรติมงคลแด่พระสรรพานุภาพของพระองค์ ขอดลบันดาลให้ดวงใจของข้าพเจ้า ซึ่งแต่ก่อนเต็มปรี่ด้วยความรักต่อโลก ให้มันลุกโชติช่วงด้วยความรักต่อพระองค์ ณ บัดนี้เถิด พระเจ้าข้า

            โอ้ พระชนนีแห่งความรักอันงาม โปรดช่วยเสนอให้ข้าพเจ้าเหมือนท่านคือ ให้ข้าพเจ้าระอุร้อนอยู่ด้วยความรักต่อพระเป็นเจ้าเถิด

(1) Da servis tuis illam, quam mundus dare non potest pacem

(2) Numquid porcinam habes?

(3) Inflari potest, satiari non potest.

(4) Magis famem haec provocant, quam extingunt.

(5) Maior pecunia avaritiae fauces non claudit, sed extendit.

(6) Sunt aquae quae non intrant illuc ubi sitis.

(7) Inquietum est cornostrum, donec requiescat in te. Dura sunt omnia et tu solus requies.

(8) Quid quaeris, homuncio, quaerendo bona? Ana unum bonum, in quo sunt onmia bona.

(9) Sat est, Domme.

(10) Vident crucem, sed non vident unctionem.

1. ความเคยชินในความชั่ว ทำจิตใจบอดมืด

หายนะอันร้ายแรงประการหนึ่ง ซึ่งบาปของอาดัม ก่อให้เกิดขึ้นในตัวเราคือความลำเอียงทางบาป นี่แหละที่ทำให้ท่านเกลียด: “ข้าพเจ้าเห็นว่า ในอวัยวะของข้าพเจ้ามีกฎอันหนึ่ง ซึ่งขัดกับกฎแห่งจิตใจของข้าพเจ้าและมันทำให้ข้าพเจ้าตกอยู่ใต้อำนาจกฎแห่งบาป” (รม. 7, 23) ก็ชาวเราติดอยู่กับตัณหาดังนี้แล้ว นอกนั้นยังมีศัตรูจำนวนมาก คอยยุแหย่ชักเราไปทางชั่วอีกด้วย จึงเป็นการยากมากจะบรรลุถึงปิตุภูมิอันแสนสุข โดยไม่กระทำบาปเลย เพราะเรามีความลำเอียงดั่งกล่าวมาแล้วนี้เอง จึงขอถามว่า ชาวเราจะต้องทำอย่างไร? ท่านคิดอย่างไร: คนที่จะต้องข้ามทะเลกำลังบ้าครื่น โดยให้เรือเก่า ๆ ผุ ๆ มิหนำซ้ำยังอยากจะบรรทุกของมาก ๆ มากเพียงที่แม้เมื่อไม่มีลมพายุและแม้เป็นเรือดีแข็งแรง ก็ยังพอจะจมไปได้? ท่านคะเนว่าชีวิตของคนผู้นั้นจะเป็นอย่างไร? เรื่องนี้อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้น สำหรับคนที่เคยตัวในบาป เหตุว่า เขาก็ต้องข้ามทะเลแห่งชีวิตนี้ (มันเป็นทะเลที่กำลังบ้าคลื่น และมีคนจำนวนมากแล้วได้พินาศไป) ด้วยเรือบอบบางและผุพัง หมายความถึง เนื้อหนังอันหุ้มห่อตัวเราอยู่นี้ นอกนั้นเขายังอยากบรรทุกบาปที่เคยชินไว้มาก ๆ อีกด้วย! เป็นการยากมากที่คนเช่นนี้จะเอาตัวรอด เพราะว่า ความเคยชินในความชั่วทำให้จิตใจบอดมืด ทำให้ดวงใจกระด้าง และเพราะฉะนั้นเขาจึงจะดื้อกระด้าง จนถึงเวลาตายได้อย่างง่ายดาย

            ประการแรก ความเคยชินในความชั่ว ทำให้บอดมืด เพราะอะไรพวกนักบุญจึงวิงวอนขอความสว่างจากพระเป็นเจ้าเสมอ ๆ? เพราะอะไร ท่านจึงกลัวว่าตนอาจจะกลายเป็นคนบาป ที่ชั่วช้ากว่าคนอื่นทั้งหมดในโลก? ก็เพราะว่า ท่านทราบดีว่า หากไม่ได้รับความสว่าง แม้เพียงชั่วครู่ท่านก็อาจจะกระทำความชั่วไม่ว่าชนิดใด ๆ ก็ได้ทั้งนั้นนั่นเอง พูดถึงด้านตรงข้าม เหตุใดคริสตังจำนวนมาก จึงดื้อกระด้างดำรงชีพอยู่ในบาป จนตกที่สุดเป็นเหตุให้เขาต้องโทษในนรกเล่า? เหตุว่า บาปทำให้เขาตาบอดมืด เขาจึงได้พินาศไป (ปชญ. 2, 21) บาปทุกประการ นำมาซึ่งความบอดมืด และยิ่งบาปมากความบอดมืดก็ยิ่งมาก พระเป็นเจ้าคือองค์ความสว่างของชาวเรา ฉะนั้นยิ่งวิญญาณใดถอยห่างจากพระองค์ วิญญาณนั้นยิ่งจะมองอะไรไม่เห็น “กระดูกของเขาเต็มปรี่ไปด้วยพยศชั่ว” (โยบ. 20, 11) ภาชนะที่เต็มปรี่ไปด้วยดิน แสงสว่างของดวงอาทิตย์ส่องเข้าไปไม่ถึงฉันใด วิญญาณก็ฉันนั้น หากเต็มปรี่ไปด้วยพยศชั่ว แสงสว่างของพระเป็นเจ้า ก็จะส่องเข้าไปไม่ถึง ฉะนั้น เราจึงแลเห็นคนบาปที่ปล่อยตัว บางคนหมดแสงสว่าง ยิ่งทียิ่งทำบาป และไม่คิดจะดัดแปลงกิริยาของตนอีกเลย (สดด. 11, 9) เมื่อพวกคนอาภัพจะอยู่ในขุมอันมืดมนนั้นแล้ว เขาจะไม่รู้จักทำอะไรนอกจากทำบาป เขาจะพูดแต่ถึงบาป คิดแต่ถึงบาป และแทบจะพูดได้ทีเดียวว่าเขาได้รู้ว่า บาปเป็นสิ่งชั่วเสียแล้ว นักบุญเอากุส   ตินกล่าวว่า: ความเคยชินในการทำชั่ว ไม่ปล่อยให้คนบาปแลเห็นความชั่วที่ตนทำ (1) เขาจึงครองชีพ เหมือนว่าเขาไม่เชื่อว่า มีพระเป็นเจ้า สวรรค์ นรก นิรันดรภาพ

            เป็นอันว่า บาปที่แต่ก่อยเขาเคยเกลียดเคยกลัว ต่อมาเพราะความเคยชินเขาไม่เกลียดไม่กลัวต่อไปแล้ว “โปรดให้เขาคล้ายกับลูกล้อ คล้ายกับฟางข้าวที่ถูกพายุพัดเถิด (สดด. 82, 14) นักบุญเกรโกรี อธิบายเพลงสาปแช่งนี้ว่า : ดูเถอะ! ฟางข้าวแม้เมื่อถูกลมเบาๆ พัด มันก็ปลิวไปได้อย่างง่ายดาย! ท่านก็จะเห็นว่าเป็น่นนี้สำหรับคนที่ที่แรก (ก่อนจะพ่ายแพ้) ได้ต่อสู้อย่างน้อยก็พักหนึ่งอย่างไรก็ดี เขาก็ได้ต่อกรกับการประจญ แต่ครั้งเมื่อเขาทำความชั่วจนเคยชินเสียแล้วเขาจะยอมแพ้ในทันทีและทุกอย่างไป แพ้ในทุกโอกาสที่จะพบในการทำบาปเหตุไรจึงเป็นเช่นนี้?- เหตุว่า ความเคยชินทำให้เขาตามืดมองไม่เห็นแสงสว่างนั่นเอง นักบุญอัลแซลมกล่าวว่า ปีศาจทำกับคนบาปบางคน คล้ายกับคนที่จับนกมาได้แล้ว เอาเชือกผูกไว้ แล้วปล่อยให้มันบินดู พอมันจะบินจริงๆ เขาก็กระตุกให้ตกดิน ท่านว่าคนที่เคยชินในบาป ก็มีอุปมาดังนี้แหละ (2)

            นักบุญแบร์นาร์ดีโน แห่งซีเอนาเสริมว่า: คนที่ทำบาปเรื่อย ๆ แม้เมื่อไม่มีทางจะทำก็เป็นเช่นนี้เหมือนกัน ท่านว่า: เขาเคยชินทางชั่วเขาก็คล้ายกับโรงสีลมมีลมเมื่อไรก็หมุนไปเมื่อนั้น (3) กว่านั้นอีก หมุนตะบันไป แม้เมื่อไม่มีข้าวจะสี แม้เมื่อเจ้าของไม่ต้องการให้หมุน เพราะเหตุนี้ ท่านจะแลเห็นคนที่เคยตัวในบาปเขาทำบาปด้วยความคิดแม้เมื่อไม่มีโอกาส แม้เมื่อไม่มีความสนุก และแม้เมื่อตัวเขาเองก็แทบ ๆ จะไม่พอใจเสียด้วย นักบุญยวง คริสซอสโตม บอกว่าฤทธิ์ของความเคยชิน มันไปถึงขั้นนี้ (4) จริงทีเดียว มันเป็นดังนี้ นักบุญเอากุสตินกล่าวว่า! ความเคยชินทางชั่วจะกลายเป็นความจำเป็นอย่างหนึ่ง ในไม่ช้า (5) และนักบุญแบร์นาร์ดีโนยังพูดว่า: ความเคยชินจะกลายเป็นธรรมชาติ (6) จนกระทั่งว่า คนเราจำเป็นต้องหายใจฉันใด คนที่เคยชินในทางชั่ว คนที่ตกเป็นทาสของบาปดูเหมือนว่าจำเป็นต้องทำบาปฉันนั้น ตรงนี้ข้าพเจ้าใช้คำว่า “ทาส” เพราะว่าคนใช้เป็นผู้รับใช้โดยมีค่าจ้าง แต่ทาสนั้นถูกบังคับให้รับใช้ โดยไม่มีค่าจ้างตอบแทนเลย ผู้อาภัพบางคน ตกอยู่ในฐานะอันน่าสังเวชดั่งนี้แหละ: เขาทำบาปแม้เมื่อไม่มีความสนุกอะไรเลย

            พระคัมภีร์บันทึกว่า “เมื่อคนอธรรมตกสู่ขุมบาปจนลึกแล้ว เขาก็ดูดาย” (สภษ. 18, 3) นักบุญยวง คริสซอสโตม อธิบายพาดพิงถึงคนที่เคยตัวในทางชั่วว่า: เมื่อเขาตกอยู่ในขุมแห่งความมืดมนนั้แล้ว เขาก็ประมาทคำตักเตือน คำเทศนา อาชญาโทษ นรก และทั้งพระเป็นเจ้าด้วย เขาประมาทหมดทุกสิ่ง เขากลายเป็นเหมือนนกแร้ง ซึ่งไม่ยอมห่างซากศพที่กำลังทิ้งอยู่ แม้พรานจะมายิงก็ยอมตายอยู่ที่นั้น! คุณพ่อเรกูปีโต เล่าว่า นักโทษผู้หนึ่ง ขณะเดินไปสู่ที่ประหารเผอิญเหลือบตาไปเห็นหญิงสาวเข้า เขาก็ได้ปลงใจคิดชั่วในทันที คุณพ่อชีซอลโฟเล่าเรื่องคล้ายคลึงกันนี้ว่า นักโทษคนหนึ่งปากร้าย ขณะที่เขานำไปแขวนคอ พอถึงที่บันได ก็กล่าวคำผรุสวาทออกมา นักบุญเบอร์นาร์ดถึงกับกล้าพูดว่า: ป่วยการเปล่า ที่จะสวดอุทั้ศให้คนที่เคยชินในบาป จงร้องไห้เหมือนว่า เขาตกนรกแล้วเถิด ก็คนเช่นนี้จะออกจากเหวอันนั้นได้อย่างไร ในเมื่อตาของเขาบอดมืดเสียแล้ว? ยังอาจกลับใจได้แต่ก็ต้องอาศัยพระหรรษทานของพระเป็นเจ้า ทำอัศจรรย์ อนิจจา! คนอาภัพอย่างนี้ จะเปิดตา ก็ต่อเมื่ออยู่ในนรกแล้ว ซึ่งเมื่อนั้น การเปิดตากลายเป็นสายเลือดไปเท่านั้น!

           

ข้อเตือนใจและคำภาวนา

           ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า พระองค์ได้ทรงเชิดชูข้าพเจ้า ด้วยทรงประทานพระคุณแก่ข้าพเจ้านานัปการมากกว่าใครๆ ส่วนข้าพเจ้าก็ขอเชิดชูพระองค์เหมือนกัน แต่โดยการกระทำผิด กระทำเคืองพระทัยของพระองค์มากกว่าได้กระทำต่อใคร ๆ ที่ข้าพเจ้าเคยรู้จักมา! พระหฤทัยอันแสนเศร้าแห่งพระมหาไถ่เจ้าข้า บนไม้กางเขน พระองค์ได้ทรงรับความปวดร้าวและความทรมานเพียงไรเพราะเห็นแก่บาปของข้าพเจ้า โปรดเถิด พระเจ้าข้า โปรดเห็นแก่พระบุญญาบารมีของพระองค์ และประทานให้ข้าพเจ้าสำนึกรู้ความผิดและเป็นทุกข์กลับใจด้วยจริงใจเถิด พระเจ้าข้า อา! พระเยซูเจ้าข้า ข้าพเจ้าเต็มไปด้วยพยศชั่ว แต่พระองค์ทรงฤทธิ์ทุกประการ ทรงดลบันดาลให้ข้าพเจ้าเปี่ยมด้วยความรักต่อพระองค์ก็ได้ ข้าพเจ้าวางใจในพระองค์ องค์ความดี องค์ความเมตตา กรุณาปราศฯจากขอบเขต องค์คุณงามความดีที่ล้นพ้นเจ้าข้า ข้าพเจ้าเสียใจเพราะได้ทำเคืองพะทัย! โปรดให้ข้าพเจ้าตายเสียเถิด ดีกว่าจะกลับมาทำเคืองพระทัยอีก พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าได้ลืมพระองค์ แต่พระองค์มิได้ทรงลืมข้าพเจ้า ทั้งนี้ปรากฏชัดโดยแสงสว่าง ที่พระองค์ทรงประทานแก่ข้าพเจ้า ณ กาละบัดนี้ ไหน ๆ พระองค์ก็ได้ทรงประทานความสว่างให้แล้ว ทรงพระกรุณาประทานพละกำลังแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด เพื่อข้าพเจ้าจะได้ดำรงชีพสัตย์ซื่อต่อพระองค์ พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าขอสัญญากับพระองค์ว่า จะยอมตายสักพันครั้งดีกว่าจะหันหลังให้พระองค์ต่อไป “พระสวามีเจ้าข้า ข้าพเจ้าวางใจในพระองค์ ข้าพเจ้าจะไม่ต้องอับอายทั้งชั่วนิรันดร” (สดด. 30, 2) พระเยซูเจ้าข้า ข้าพเจ้าวางใจในพระองค์ วางใจว่าอย่างไรเสียข้าพเจ้าจะไม่ต้องอับอายอยู่ในบาป และจะไม่ต้องปราศจากพระหรรษทานของพระองค์อีกเลย พระเจ้าข้า

            ข้าแต่พระแม่มารีอา ข้าพเจ้าหันมาขอพึ่งบารมีของท่านด้วย “ข้าพเจ้าวางใจในท่าน ข้าพเจ้าจะไม่ต้องอับอายทั้งชั่วนิรันดร” –โอ้! องค์ความหวังของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าวางใจในคำเสนอวิงวอนของท่าน อย่างไรเสียข้าพเจ้าก็จะไม่ต้องเป็นศัตรูแห่งพระบุตรของท่านต่อไป โปรดเถิด โปรดวิงวอนพระบุตรเจ้า ให้ข้าพเจ้าตายเสีย ดีกว่าที่พระองค์จะทรงปล่อยให้ข้าพเจ้าตกอยู่ในห้วงมหันตภัยแห่งความเคยชินในบาป

2. ความเคยชินในความชั่ว ทำให้ดวงใจแข็งกระด้าง

            ประการสอง ความเคยชินในความชั่วทำให้ใจดื้อกระด้าง (7) ยุติธรรมแล้ว ที่พระเป็นเจ้าจะทรงปล่อยให้เป็นดังนี้ เพื่อเป็นการลงพระอาชญาต่อการขัดขืนคำตักเตือนของพระองค์ ท่านอัครสาวกกล่าวว่า “พระสวามีทรงพระเมตตาต่อผู้ที่ทรงพอพระทัยเมตตา และทรงบันดาลให้กระด้างกระเดื่องในคนที่ทรงพระทัยให้กระด้างกระเดื่อง” (รม. 9, 18) นักบุญเอากุสติน อธิบายพระคัมภีร์ตอนนี้ว่า (8) ที่แท้ไม่ใช่พระเป็นเจ้าทรงบันดาลให้ผู้เคยชินในบาป กระด้างกระเดื่องแต่ทรงถอนพระหรรษทานออกจากเขาเป็นการลงโทษที่เขาใจดำไม่สนองพระคุณของพระองค์ ฉะนั้นดวงใจของเขาจึงแข็งราวกับหิน “ดวงใจของเขาแข็งเหมือนกับหิน ทนเหมือนกับทั่งตีเหล็ก” (โยบ. 41, 15) ดังนั้นเมื่อคนอื่นรู้สึกเสียใจร้องไห้เพราะได้ยินคำเทศนาเรื่องความเข้มงวดแห่งการพิพากษาของพระเป็นเจ้าเรื่องโทษานุโทษในนรก เรื่องพระมหาทรมานของพระเยซูคริสต์ แต่ผู้เคยชินในความชั่วไม่รู้สึกอะไรเลย เขาพูดเขาฟังเรื่องเหล่านี้ด้วยอาการเฉย ๆ คล้ายกับว่าไม่ทุกข์ร้อน ต่อมาเมื่อได้ยินบ่อยเข้า เขาก็ยิ่งใจแข็งเหมือน ๆกับทั่งที่ถูกค้อนทุบฉันนั้น แม้ความตายปัจจุบันทันด่วน แผ่นดินไหว ฟ้าร้อง ฟ้าผ่าก็ไม่ทำให้เขาตกใจแทนที่จะปลุกใจ มันกลับจะปิดตาของเขา ทำให้เขาหลับ หลับจนตายไป แต่เมื่อนั้นก็หมดหนทางจะแก้ไขเสียแล้ว “เมื่อได้ยินพระสุรเสียงคำรามของพระองค์เขาได้หลับไป” (สดด. 75, 7)

            ความเคยชินทางชั่ว ค่อย ๆ ดับเสียงมโนธรรม นักบุญเอากุสตินกล่าวว่าคนที่เคยชินในทางชั่ว แม้บาปจะใหญ่เท่าใหญ่ เขาก็ถือว่า ไม่สำคัญอะไรเลย (9) ตามปรกติ การทำชั่วทุกอย่างย่อมก่อให้เกิดความละอายชนิดหนึ่ง แต่นักบุญฮีเอโรนีโมกล่าวว่า คนที่เคยชินในบาปจะหมดความละอายในการกระทำบาป (10) นักบุญเปโตร เปรียบคนที่เคยชินในความชั่วว่าเป็นเหมือนสุกร ที่เกลือกกลิ้งตัวในปลักโสมม (ปต. 2, 22) สุกรเมื่อกลิ้งเกลือกอยู่ในโคลน มันไม่ได้กลิ่นเหม็นอะไรเลยฉันใด คนที่เคยตัวในบาป ก็ฉันนั้น ใคร ๆ ก็ได้กลิ่นเหม็นพยศชั่ว แต่เขาคนเดียวไม่ได้กลิ่น และยิ่งเมื่อโคลนไปปิดตาเขาด้วยแล้ว นักบุญแบร์นาร์ดีโน กล่าวว่า: จะแปลกอะไร แม้เมื่อพระเป็นเจ้าทรงลงพระอาชญา เขาก็ไม่สำนึกรู้ตัว? (11)

            เป็นอันว่า แทนที่เขาจะสำนึกเป็นทุกข์ที่ตนได้กระทำบาป เขาจะกลับยินดีหัวเราะ และนำบาปมาอวดเสียด้วย “เขาชอบใจที่ตนได้ทำชั่ว- เขาทำบาปเป็นว่าเล่น” (สภษ. 2. 14-10, 23) ความกระด้างทำนองนี้ หมายความว่าอะไร? นักบุญโทมัสแห่งวิลลา นอวา บอกว่า หมายความว่า เขาจะตรงไปนรกนั่นเอง (12)

            พี่น้องที่รัก ท่านจงกลัวไว้เถิด มันจะเป็นเช่นนี้แก่ท่านก็ได้ ฉะนั้นหากท่านเคยชิน ในทางชั่วอย่างใดแล้ว จงเร่งกำจัดมันเสียแต่บัดนี้ เพราะเป็นเวลาที่พระเป็นเจ้ากำลังทรงร้องเตือน และหากในบัดนี้ ท่านรู้สึกวุ่นวายในมโนธรรมก็ให้ยินดีเถิด นั่นเป็นสำคัญว่า พระเป็นเจ้ายังมิได้ทรงละทิ้งท่าน แต่ท่านต้องเร่งทำการแก้ไข ต้องเร่งกำจัดพยศชั่วเสีย มิฉะนั้นแล้ว แผลอันนั้นจะกลายเป็นบาดทะยัก แล้วตัวท่านจะต้องพินาศไป

ข้อเตือนใจและคำภาวนา

           โอ้พระสวามี ข้าพเจ้าจะทำไฉน จะสามารถสมนาคุณของพระองค์ให้สาสมได้ กี่ครั้งกี่หนแล้ว พระองค์ได้ทรงเรียกหา แต่ข้าพเจ้าได้ขัดขืน? แทนที่ข้าพเจ้าจะรู้ถึงพระคุณ และสนองตอบความรักของพระองค์ ผู้ทรงช่วยข้าพเจ้าให้พ้นจากนรก ผู้ทรงเรียกหาข้าพเจ้า ข้าพเจ้ากลับดื้อกระด้าง กลับยั่วพระองค์ให้ทรงพระพิโรธยิ่งขึ้น และกลับด่าว่าร้ายพระองค์อีกเล่า! อา! ไม่เอาแล้วพระเจ้าข้า ข้าพเจ้าไม่ยอมล่วงเกินความเพียรทนของพระองค์ต่อไป ข้าพเจ้าได้ทำเคืองพระทัยของพระองค์มากนักแล้ว พอเสียทีเถิด นี่ดีที่เป็นพระองค์ ผู้ทรงพระทัยดีปราศจากขอบเขต มิฉะนั้นใครเล่าจะเพียรทนข้าพเจ้าได้ถึงปานนี้ บัดนี้ข้าพเจ้าเข้าใจแล้วว่า พระองค์จะทรงเพียรข้าพเจ้าต่อไปไม่ไหว และก็ควรจะเป็นดังนี้ จริงแล้ว! ข้าแต่พระสวามีเจ้า และองค์คุณงามความดีที่ล้นพ้นเจ้าข้า ทรงพระกรุณาอภัยโทษแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด ข้าพเจ้าเป็นทุกข์ตรอมใจจริง ๆ แล้ว ทั้งตั้งใจจะไม่กระทำผิดต่อพระองค์อีกเลย พระเจ้าข้า ทำไม! ข้าพเจ้าจะบังอาจทำขัดเคืองพระทัยของพระองค์เรื่อยไป ทีเดียวหรือ? โปรดเถิด พระผู้เป็นเจ้าแห่งวิญญาณของข้าพเจ้า โปรดคืนดีกับข้าพเจ้า มิใช่เพราะเห็นแก่บุญกุศลของข้าพเจ้า แต่เพราะเห็นแก่พระบุญญาบารมีแห่งพระบุตรของพระองค์ และแห่งพระมหาไถ่ของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าวางใจในพระบารมีนั้น พระเจ้าข้า โปรดเห็นแก่ความรักของพระองค์ต่อพระเยซูคริสต์เถิด และโปรดรับข้าพเจ้าไว้ในพระหรรษทานของพระองค์ และให้ข้าพเจ้าคงเจริญอยู่ในความรักต่อพระองค์เถิด พระเจ้าข้า โปรดเชือดเฉือนข้าพเจ้าให้ขาดจากความรักอันไม่บริสุทธิ์ และโปรดดึงข้าพเจ้าให้เข้าหาพระองค์เถิด พระเจ้าข้า โอ้พระเจ้าผู้ทรงรักวิญญาณมนุษย์เป็นอย่างยิ่ง ข้าพเจ้ารักพระองค์ ผู้ทรงน่ารักหาที่สุดมิได้ พระเจ้าข้า

            ข้าแต่พระนางมารีอา ชีวิตที่ข้าพเจ้ายังเหลืออยู่นี้ โปรดอย่าปล่อยให้ข้าพเจ้านำไปใช้เพื่อทำเคืองพระทัยพระบุตรของท่านอ้างต่อไป แต่ให้ข้าพเจ้าใช้ เฉพาะเพื่อรักพระองค์ และเพื่อร้องไห้ เพราะความผิดที่ข้าพเจ้าได้กระทำต่อพระองค์เท่านั้นเถิด

3. การเคยชินในความชั่ว นำไปสู่การไม่ยอมกลับใจ

           ณ วาระสุดท้ายเมื่อคนบาปขาดแสงสว่าง และใจแข็งกระด้าง ก็เป็นธรรมดาอยู่เองเขาจะจบชีวิตไม่ดี และจะตาย กระด้างอยู่ในบาปนั้นเอง (ปญจ. 3, 27) บรรดาผู้ใคร่ธรรมเดินตามทางตรงต่อไป (อสย. 26, 7) แต่ตรงกันข้าม ผู้เคยชินทางชั่วเดินวกไปเวียนมาอยู่เสมอ (สดด. 11, 9) เขาทิ้งบาปประเดี๋ยวหนึ่ง แล้วกลับเวียนมาอีก นักบุญเบอร์นาร์ดกล่าวว่า คนจะพวกนี้จะวกไปลงนรก (13)

            แต่บางคนในพวกเขา จะอ้างว่า “ฉันก็อยากจะกลับใจก่อนตาย” แต่มันเป็นการยากนักหนาที่ผู้เคยชินทางชั่ว จนแก่ตัวแล้วจะกลับใจ พระจิตเจ้าตรัสว่า “คนหนุ่ม เมื่อเดินตามทางใดแล้ว เมื่อแก่ ก็จะใร่ถอยออกจากทางนั้น” (สภษ. 22, 6) นักบุญโทมัสแห่งวิลลา นอวา ให้เหตุผลว่า นี่ก็เป็นเพราะกำลังของเขาอ่อนแอเหมือนหยากไย่และสะเก็ดไฟ (อสย. 1, 31) ท่านกล่าวสืบไปว่า: ฉะนั้นจึงเป็นอันว่า วิญญาณที่ไร้พระหรรษทาน ไม่อาจทรงตัวอยู่ได้ โดยไม่กระทำบาปใหม่อีก (14) นอกนั้น ต้องถือว่าเป็นความบ้าชิดไหนหนอ คนที่ยอมเล่นการพนัน ยอมเสียข้าวของจนสิ้นเนื้อประดาตัว เพราะความหวังว่า จะชนะในตา (หรือเกม) สุดท้าย? ก็ต้องถือว่า เป็นความบ้าดุจกันคือ คนที่ดำรงชีพอยู่ในบาปเรือยไปและหวังว่า ตัวจะแก้มือได้หมดทุกอย่างในบั้นปลาย ท่านประกาศกเยเรมีย์ กล่าวว่า: ชาวเอธิโอเปียหรือ จะเปลี่ยนสีเนื้อ เสือหรือ จะหายลาย? ก็แล้วไฉนคนที่เคยชินในความชั่ว จะเปลี่ยนชีวิตที่ชั่วให้เป็นดีไปได้เล่า? (ยรม. 13, 23) เป็นอันว่า คนที่เคยชินในความชั่ว ในที่สุดเขาจะตกสู่ห้วงความเสียใจแล้วก็จะจบชีวิตของตนด้วยประการฉะนี้ “ผู้ใดใจกระด้าง ผู้นั้นจะกระโจนสู่ความพินาศ” (สภษ. 28, 14)

            โยบกล่าวว่า “เขาได้แทงข้าพเจ้าแล้ว แทงข้าพเจ้าเล่า เขาได้กระโจนใส่ข้าพเจ้าคล้ายกับยักษ์” (โยบ. 16, 15) คำพูดนี้ นักบุญเกรโกรี่ อธิบายว่า: เมื่อศัตรูกระดจนใส่ใคร ครั้นผู้นั้นได้รับบาดแผลแรก เขาก็ยังพอมีกำลังจะต่อสู้ได้แต่ต่อเมื่อได้รับบาดเจ็บมากขึ้นเท่าไร กำลังก็ยิ่งถอยน้อยลงเท่านั้น ตกที่สุดก็จะตายไป บาปก็มีอาการอย่างเดียวกันนี้ ในครั้งแรก ครั้งที่สอง คนบาปยังมีกำลังอยู่บ้าง (แน่นอน เขาต้องอาศัยพระหรรษทานช่วยเหลือ) แต่หากขืนทำบาปต่อไปอีก บาปก็จะกลายเป็นยักษ์ไป คนบาปเป็นผู้มีกำลังน้อยอยู่แล้ว ต่อมาบาดเจ็บมากยิ่งขึ้นอีก เขาจะเลี่ยงความตายพ้นได้อย่างไร? ประกาศก เยเรมีย์กล่าวว่า “บาปคล้ายกับหินผาที่ทับวิญญาณไว้” (เธรน. 3, 53) นักบุญเบอร์นาร์ดอธิบายว่า: ยากที่ผู้ชินในบาปจะลุกขึ้นกลับตัว เหมือนกับคนที่ถูกหินก้อนมหิมาทับไว้ เขาไม่มีกำลังจะเคลื่อนหินก้อนนั้น ให้หลุดพ้นใปจากตัวได้ (15)

            ผู้เคยชินในบาปจะกล่าวต่อไปว่า “อย่างนั้นฉันก็หมดหวังหรือ?”...หามิได้ หากท่านมีน้ำใจจะแก้ไขจริง ๆ ก็ยังไม่หมดหวังทีเดียว นักประพันธ์ผู้หนึ่งสอนไว้อย่างถูกต้องว่า “ไข้หนักก็ต้องรักษาด้วยยาแรง” (16) หากคนไข้หนักมีอาการน่ากลัวจะตาย แต่ไม่ยอมกินยา เพราะไม่ทราบว่าอาการของตนหนักหมอจะบอกเขาว่า “คุณ ถ้าไม่ยอมกินยา คุณจะตายแน่นะ” เขาจะว่าอย่างไร? เขาจะตอบหมอว่า “ครับ ผมยินดี ผมยอมกินยาทุกอย่าง ผมจนใจ เรื่องมันถึงแก่ชีวิต” คริสตชนที่รัก ข้าพเจ้าขอบอกแก่ท่านดุจกันว่า หากท่านเคยชินในบาปประการใด ท่านก็อยู่ในพวกคนไข้ที่จะหายได้ยาก นักบุญโทมัสแห่งวิลลา นอวาถึงกับบอกว่า: ท่านอยู่ที่ปากขุมนรกแล้ว อย่างไรก็ดี ถ้าท่านต้องการหายจริง ๆ ก็ยังมีทางแก้ไข ท่านอย่าคอยให้พระหรรษทานทำอัศจรรย์เลย ตัวท่านเอง ต้องออกแรงรื้อถอนท่าทางบาป ต้องหลีกเลี่ยงเพื่อนชั่ว และต้องออกแรงสู้รบ ทั้งเมื่อถูกประจญล่อลวง ให้ฝากตัวไว้กับพระเป็นเจ้า ท่านต้องให้วิธีการต่าง ๆ มีการไปแก้บาปบ่อย ๆ อ่านหนังสือศรัทธาทุกวัน มีความภักดีต่อพระนางมารีอาวิงวอนขอพระนางช่วยเหลือท่านเสมอ ๆ เพื่อจะได้มีกำลัง ไม่กลับตกไปในความผิดนั้นดีก ท่านต้องพยายามอย่างหนัก มิฉะนั้นจะต้องรับโทษตามที่พระสวามีเจ้าทรงคำรามคนใจกระด้างไว้ว่า “เจ้าจะตายในบาป” (ยน. 8, 21) หากท่านไม่แก้ตัวเสียในเวลานี้ เวลาที่พระเป็นเจ้ากำลังทรงประทานความสว่างให้ จะเป็นการยากมาก ที่จะแก้ตัวต่อภายหลัง จงฟังพระเป็นเจ้าเถิด พระองค์กำลังทรงเรียกท่านว่า “ลาซาโร ออกมาข้างนอก!” โอ้! คนบาปผู้น่าสงสาร และตายไปแล้วเจ้าเอ๋ย จงออกจากหลุมควมประพฤติชั่วของท่านเถิด เร็วเข้า! จงขานตอบพระองค์ จงมอบตัวของท่านไว้กับพระองค์ ท่านจงกลัวไว้เถิดว่า คำเรียกร้องตักเตือนของพระองค์ครั้งนี้ จะเป็นครั้งสุดท้ายสำหรับท่าน!

ข้อเตือนใจและคำภาวนา

           อา! พระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้ากำลังคอยอะไร? คอยให้พระองค์ทรงละทิ้งและทรงผลักข้าพเจ้าลงสู่นรกก่อนหรือ? อา! พระสวามีเจ้าข้า โปรดรอข้าพเจ้าอีกหน่อยหนึ่งเถิด ข้าพเจ้าต้องากรกลับใจ ข้าพเจ้าต้องการมอบตัวไว้กับพระองค์โปรดแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบว่า ข้าพเจ้าต้องทำอย่างไร ข้าพเจ้าจะปฏิบัติตามทุกอย่าง พระโลหิตของพระเยซูเจ้าข้า ช่วยข้าพเจ้าด้วย พระแม่มารีอาเจ้าข้าท่านคือผู้ช่วยเสนอแก่คนบาป โปรดพยุงข้าพเจ้าด้วย พระบิดาผู้สถิตสถาพรตลอดนิรันดรเจ้าข้า โปรดเห็นแก่พระบารมีของพระเยซูเจ้าและข้องพระแม่มารีอาทรงพระกรุณาต่อข้าพเจ้าด้วยเถิด ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพระทัยดีหาที่สุดมิได้ข้าพเจ้าเสียใจเพราะได้กระทำเคืองพระทัย ข้าพเจ้ารักพระองค์ยิ่งกว่าสิ่งใด ๆ แล้ว โปรดเป็นแก่ความรักของพระองค์ต่อพระเยซู อภัยบาปและโปรดให้ข้าพเจ้ารักพระองค์เถิด ขอดลบันดาลให้ข้าพเจ้ากลัวไว้มาก ๆ ว่า หากขืนทำเคืองพระทัยสืบไปข้าพเจ้าจะต้องพินาศ โปรดประทานความสว่างเถิดพระเจ้าข้า ข้าพเจ้าขอความสว่างและพละกำลัง ข้าพเจ้าไว้ใจว่าจะได้ทุกสิ่งตามที่ขอ เพราะพระองค์ทรงพระทัยกรุณาหาที่สุดมิได้ แม้ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังเหินห่างจากพระองค์ พระองค์ยังได้ทรงประทานพระหรรษทานแก่ข้าพจ้าเป็นอันมาก ก็ในบัดนี้ข้าพเจ้ากลับเข้ามาหาพระองค์แล้ว และตั้งใจจะไม่รักอะไรนอกจากรักพระองค์ ข้าพเจ้าจึงมีหวังมากขึ้นอีก ข้าพเจ้ารักพระองค์ พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า

            ข้าแต่พระแม่มารีอา ข้าพเจ้าก็รับท่านด้วย ขอมอบวิญญาณของข้าพเจ้าไว้กับท่าน โปรดช่วยปกปักรักษาไว้ อย่าให้เสียพระหรรษทานอีกเลย

(1) Ipsa consuetude mali non sinit peccatores videre malum puod faci unt.

(2) Pravo usu irretiti ab hoste tenentur, volantes in eadem vitia deiiciuntur (Ap. Edinor, in vita Lib. 2).

(3) Rotuntur omni vento (T. 4 Serm. 15).

(4) Dura res est consuetude, quae nonnunquam nolentes committere cogit lillicita.

(5) Dum consuetudini non resistitur, facta est necessitas.

(6) Usus vertitur in naturam.

(7) Cor durum efficit consuetude peccandi (Cornelius a Lapide).

(8) Induratio Dei est nolle misereri.

(9) Peccata quamvis horrenda, cum in consuetudinem veniunt, parum aut nulla esse videntur.

(10) Quid ne pudorem quidem habent in delictis.

(11) Cum populus immergit se in peccatis, sicut sus in volutabro luti; quid mirum is Deiflagellantis future

        iudicia non cognoscit? (S. Bern. pen. p.2 pag. 182)

(12) Induratio, damnationis indicium.

(13) Vae homini, qui sepuitur hune circuitum (Serm. 12 sup. Ps. 90).

(14) Quo fit, ut anima, gratia destitute, diu evadere ultuiora qeccata nou posit, (Con. 4 Dom. puadr. 1).

(15) Difficile surgit, quem moles malae consuetudinis permit.

(16) Praestat in magnis morbis a magnis auxiliis initium medendi sumere (Cardin. Meth. cap. 16).

1. แล้วฉันจะไปแก้บาป ก็เพราะฉันสู้ไม่ไหว

            สมมุติว่า หนุ่มคนหนึ่งทำบาปหนัก แล้วไปแก้บาป เขาจึงได้รับพะรหรรษทานคืนมา ต่อมาไม่ช้า ปีศาจมาล่อลวง หมายจะให้เขากลับตกในบาปอีกหนุ่มผู้นั้นต่อสู้ แต่แล้วก็รวนเร จะทำตามการหลอกลวงของปีศาจ พ่อหนุ่มเอ๋ยขอถามหน่อย ท่านอยากจะทำอะไร? พระหรรษทานที่ท่านเพิ่งได้รับมาเป็นของมีค่ามากกว่าโลกทั้งโลก ท่านจะยอมเสียไปในบัดนี้อีก เพราะความสนุกอันสารเลวนั้นหรือ? ท่านอยากจะเซ็นคำตัดสินลงโทษตัวเองให้ตายไปทั้งชั่วนิรันดรท่านอยากจะลงโทษตนเองไปสู่นรกอันไม่รู้จักจบสิ้น ดังนั้นหรือ? ท่านจะตอบว่า: หามิได้ ฉันไม่อยากลงโษตัวเองหรอก ฉันอยากจะเอาตัวรอด เพราะฉะนั้น เมื่อฉันทำบาปนี้แล้ว ฉันจะไปแก้บาป นี่แหละ อุบายเจ้าเล่ห์ของปีศาจ ทำไม! ท่านว่าทำแล้ว ท่านจะไปแก้บาปใช่ไหม?- แต่เวลานี้เอง ท่านก็ทำให้วิญญาณของท่านพินาศไปก่อนแล้ว ตอบให้จริงใจทีเถิด หากในมือของท่าน มีสร้อยราคาหนึ่งพันเหรียญทอง ท่านจะยอมขว้างมันลงในทะเล พลางพูดว่า แล้วฉันจะพยายามฉันหวังว่า จะได้มันกลับคืนมาใหม่ ท่านจะทำเช่นนี้หรือไม่? ในบัดนี้ ท่านก็มีเพชรหาค่ามิได้อยู่ในกำมือของท่านคือ วิญญาณของท่านนั่นเอง วิญญาณที่พระเยซูคริสต์ได้ทรงไถ่ด้วยพระโลหิตของพระองค์ แล้วท่านจะยอมขว้างวิญญาณนั้นลงนรกทีเดียวหรือ? (ที่ว่าขว้างลงนรก ก็เพราะว่า เมื่อทำบาปตามความยุติธรรมของพระในปัจจุบันนี้ ท่านก็ต้องโทษให้ไปสู่นรกแล้ว) ท่านจะทำเช่นนั้น พลางพูดว่า แล้วฉันหวังว่า จะได้วิญญาณคืนมาใหม่ โดยทางการแก้บาปหรือ? หากว่า ท่านไม่ได้คืนมาล่ะ จะว่าอย่างไร? สำหรับจะได้คืนมานั้น ท่านจำเป็นต้องมีความทุกข์ถึงบาปโดยแท้ ความทุกข์เช่นนี้ เป็นทานของพระเป็นเจ้า แล้วหากพระองค์ไม่ทรงประทานแก่ท่านล่ะ ท่านจะว่าอย่างไร? อีกข้อหนึ่งคือ หากท่านตายไป ก่อนจะได้แก้บาปเล่า จะเป็นอย่างไร?

            ท่านจะบอกว่า: ฉันจะไปแก้บาปในสัปดาห์นี้เอง ก็ใครสัญญากับท่านว่า ท่านจะมีเวลาตลอดสัปดาห์นี้? ท่านจะว่า: อย่างนั้นฉันจะไปแก้บาปในวันพรุ่งนี้ก็ใครเล่าสัญญาว่าท่านจะอยู่ถึงวันพรุ่งนี้? นักบุญเอากุสตินบากว่า วันพรุ่งนี้พระเป็นเจ้ามิได้ทรงสัญญาจะประทานแก่ท่าน บางทีก็จะประทานให้ บางทีก็จะไม่ประทานให้” (2) และก็มีคนจำนวนมากเหมือนกัน ที่พระองค์มิได้ประทานให้: เขาเข้านอนตอนค่ำ ยังสบายดี แต่ตอนเช้า ได้ตายอย่างปัจจุบันไปแล้วล้าก็มีกี่คน ที่พระสวามรเจ้าทรงปล่อยให้ตายไป ขณะทำบาปนั้นเองและให้ไปสู่นรก! แล้วหากพระสวามีทรงทำแก่ท่านเช่นนี้บ้าง ท่านจะทำอย่างไร สำหรับแก้ไขหายนะชั่วนิรันดรอันนั้น? ขอให้ท่านเชื่อเถิด อาศัยข้ออ้างที่ว่า “แล้วฉันจะไปแก้บาป” ปีศาจได้ลากคริสตังจำนวนหมื่นจะนวนแสนไปสู่นรกแล้ว เหตุว่าคนบาปมีจำนวนน้อยนักที่คลั่งอยากจะไปนรกตรง ๆ เมื่อทำบาป ใครๆ ก็ทำโดยหวังจะได้แก้บาปต่อภายหลัง แต่แล้วคนเคราะห์ร้าย ต้องไปสู่นรกเพราะบาปของเขาและบัดนี้ก็หมดหนทางจะแก้ไขเสียแล้ว!

            แต่ ท่านจะว่า: ขณะนี้ฉันไม่มีหวัง จะสู้กับประจญอันนั้นได้ นี่ก็เป็นอุบายของปีศาจอีกอันหนึ่ง มันแกล้งหลอกให้ท่านเห็นว่า ท่านไม่มีกำลังจะต่อสู้กับตัณหาในบัดนี้ ก่อนอื่นหมด ท่านพึงทราบคำสอนของนักบุญเปาโลที่ว่า: พระเป็นเจ้าทรงซื่อสัตย์ จะไม่ทรงปล่อยให้คนเราถูกประจญจนเกินกำลังของเราเป็นอันขาด “พระเป็นเจ้าทรงสัตย์ซื่อ และไม่ทรงปล่อยให้ท่านถูกประจญเกินกำลังของท่าน” (1 คร. 10, 13) ต่อจากนี้ ขอถามท่านว่า: ถ้าขณะนี้ ท่านไม่มีหวังจะต่อสู้ ภายหลังท่านจะต่อสู้ได้อย่างไร? เพราะภายหลัง ปีศาจจะมาโจมตีท่านให้ทำบาปอื่น ๆ อีก และเมื่อนั้นมันจะมีกำลังมากกว่าท่าน และตัวท่านก็จะอ่อนแอลงไปอีก! ฉะนั้น หากในบัดนี้ ท่านไม่มีหวังจะดับไฟ (ตัญหา) อันนั้นได้  ท่านจะมีหวังดับมันได้อย่างไร ในเมื่อมันได้ลุกเป็นไฟใหญ่เสียแล้ว? ท่านจะว่า “ก็พระเป็นเจ้าจะทรงช่วยฉันนะซิ” ก็ความช่วยเหลืออันนั้น พระเป็นเจ้าทรงประทานแก่ท่านอยู่บัดนี้แล้ว ทำไมท่านไม่นำมาใช่ต่อสู้เล่า? นี่บางทีท่านหวังว่า พระเป็นเจ้าจะทรงเพิ่มพูนความช่วยเหลือ และพระหรรษทานมากขึ้น ต่อเมื่อท่านได้สะสมบาปเป็นกองพะเนินแล้วกระมัง? อนึ่งหากว่า ท่านต้องการความช่วยเหลือ และกำลังมากขึ้นในเวลานี้ ทำไมท่านไม่วิงวอนขอพระเป็นเจ้าเล่า? ท่านสงสัยในความสัตย์ซื่อของพะรองค์หรือ? พระองค์เองได้ทรงสัญญาว่า จะทรงประทานทุกสิ่งที่เราวิงวอนขอ: “จงขอเถิด และท่านจะได้รับ” (มธ. 7, 7) พระเป็นเจ้าจะทรงผิดสัญญาไม่ได้ ฉะนั้นท่านจงวิ่งเข้ามาพึ่งพระองค์เถิด แล้วพระองค์จะประทานพละกำลังที่ท่านต้องการสำหรับทำการต่อสู้ เป็นแน่แท้ พระสังคายนาแห่งเมืองเทรนท์ สอนว่า “พระเป็นเจ้าไม่ทรงบัญชาสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เมื่อทรงบัญชาสิ่งใดพระองค์ก็ทรงเตือนให้เราทำสิ่งนั้นเท่าที่เราทำได้ โดยร่วมมือกับความช่วยเหลือของพระองค์ในปัจจุบัน หากการช่วยเหลือนั้นไม่เพียงพอสำหรับการต่อสู้ พระองค์ก็ทรงเตือนให้เราวิงวอนขอความช่วยเหลือที่มากกว่านั้น ครั้นได้วิงวอนขอแล้วพระองค์ก็จะทรงโปรดประทานให้” (3)

ข้อเตือนใจและคำภาวนา

           ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า เพราะที่พระองค์ทรงพระทัยดีต่อข้าพเจ้าดังนี้นี่เองข้าพเจ้าจึงได้ทำใจดำต่อพระองค์ถึงเพียงนั้น ข้าพเจ้าได้ทำการแข่งขันกับพระองค์ข้าพเจ้าวิ่งหนี พะรองค์ทรงไล่ตาม พระองค์ได้ทำดีต่อข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้แต่ทำร้ายต่อพระองค์! อา! พระสวามี แม้จะไม่มีเหตุอื่นใด เพียงพระทัยดีของพระองค์อย่างเดียวเท่านั้น ข้าพเจ้าก็น่าจะหฏิพัทธ์รักพระองค์แล้ว ด้วยว่า ถึงแม้ข้าพเจ้าจะได้กระทำบาปจำนวนมากเพียงไร พระองค์ก็ได้ทรงโปรดประทานพระหรรษทานแก่ข้าพเจ้ามากเพียงนั้น! แสงสว่างที่ข้าพเจ้ากำลังได้รับอยู่บัดนี้ ข้าพเจ้าสมควรจะได้รับหรือ? พระสวามีเจ้าข้า ขอสมนาพระคุณด้วยสิ้นสุดดวงใจ ข้าพเจ้าหวังว่า จะได้ฉลองพระมหากรุณาธิคณครั้งนี้ ตลอดนิรันดรในสวรรค์ เป็นความจริง ข้าพเจ้าไว้ใจว่า ข้าพเจ้าจะได้เอาตัวรอด ด้วยอาศัยพระโลหิตของพระองค์ที่ข้าพเจ้าไว้ใจดังนี้ ก็เพราะได้แลเห็นความกรุณาของพระองค์ต่อข้าพเจ้า จนถึงเพียงนี้! ข้าพเจ้าจึงยังไว้ใจว่าพระองค์จะทรงประทานพละกำลัง มิให้ข้าพเจ้าทรยศต่อพระองค์สืบไป เดชะพระหรรษทานช่วย ข้าพเจ้าตั้งใจแน่วแน่ว่า จะยอมตายสักพันครั้ง ดีกว่าจะกลับไปทำเคืองพระทัยอีก ข้าพเจ้าได้กระทำเคืองพระทัยมาเป็นจำนวนมากนัก พอเสียทีเถิด ขอให้ชีวิตที่ยังมีอยู่นี้ เพื่อรักพระองค์อย่างเดียวไฉนหนอ ข้าพเจ้าจะไม่รักพระองค์ พระเป็นเจ้าผู้ทรงมรณะเพื่อข้าพเจ้า ผู้ทรงเพียรทนข้าพเจ้าเหลือพรรณนา แม้ว่าข้าพเจ้าได้ด่าว่าร้ายพระองค์เหลือคณนามาแล้ว? ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าแห่งวิญญาณของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเสียใจเป็นที่สุด และใคร่จะตรอมใจตาย ครั้งก่อนโน้น ข้าพเจ้าได้หันหลังให้พระองค์ แต่บัดนี้ ข้าพเจ้ารักพระองค์ยิ่งกว่าอะไรทั้งหมดแล้ว รักพระองค์ยิ่งกว่าตัวของข้าพเจ้าเองด้วยข้าแต่พระบิดา ผู้สถิตสถาพรตลอดนิรันดร เดชะพระบุญญาบารมีของพระเยซูคริสต์ โปรดอุปถัมภ์คนบาปน่าสงสาร ผู้ใคร่รักพระองค์นี้ด้วยเถิด พระเจ้าข้า

            พระแม่มารีอา ความหวังของข้าพเจ้า โปรดช่วยข้าพเจ้าด้วย เมื่อปีศาจจะมาชักชวนให้ข้าพเจ้ากลับตกในบาป โปรดเถิด โปรดช่วยให้ข้าพเจ้าได้รับพระหรรษทาน เพื่อวิ่งเข้ามาพึ่งพระบุตรของท่าน และวิ่งเข้าไปพึ่งท่าน เสมอทุกครั้งไปเถิด

2. พระเป็นเจ้าจะกรุณาฉัน

            คนบาปจะว่า: พระเป็นเจ้าทรงเป็นผู้เมตตากรุณา นี่คือกลอุบายประการที่สามเป็นอุบายที่ใช้กันมาก ทั้งเป็นเหตุให้คนบาปจำนวนมากที่สุด ต้องพินาศไปแล้ว นักประพันธ์ผู้หนึ่งเขียนว่า: ความเมตตากรุณาของพระเป็นเจ้าทำให้คนตกนรก มากกว่า ความยุติธรรมของพระองค์เสียอีก ทั้งนี้เพราะพวกคนเคราะห์ร้ายเหล่านั้น วางใจในความเมตตากรุณาของพระเป็นเจ้า จึงไม่หยุดยั้งการกระทำบาป จึงต้องพินาศไป

            พระเป็นเจ้าทรงพระทัยเมตตากรุณา เรื่องนี้ไม่มีใครเถียง! ถึงกระนั้นในทุก ๆ วันพระองค์ก็ทรงลงโทษคนเป็นจำนวนมากให้ไปสู่นรก? พระองค์ทรงพระทัยเมตตาก็จริง แต่ยังทรงยุติธรรมด้วย ฉะนั้นจึงทรงลงพระอาชญาแก่ผู้ผิด พระเป็นเจ้าทรงเมตตาต่อใคร?- ต่อคนที่เกรงกลัวพระองค์ “พระทัยเมตตากรุณาของพระองค์สำหรับคนที่เกรงกลัวพระองค์...พระองค์ทรงสงสารคนที่กลัวพระองค์” (สดด. 102, 11, 13) แต่สำหรับคนที่ดูหมิ่นและใช้ความเมตตากรุณาของพระองค์ เพื่อดูหมิ่นพระองค์มากขึ้น พระองค์ก็ทรงใช้ความยุติธรรมต่อเขาจำต้องเป็นดังนี้ เหตุว่า พระเป็นเจ้าทรงอภัยบาปก็จริง แต่จะทรงอภัยการตั้งใจจะกระทำบาปไม่ได้ นักบุญเอากุสติน กล่าวว่า: ผู้ใดทำบาป โดยตั้งใจว่า เมื่อทำบาปแล้วจะเป็นทุกข์กลับใจ ผู้นั้นไม่เป็นทุกข์จริง แต่เป็นผู้ที่ล้อพระเป็นเจ้าเล่น (4) ก็ท่านอัครสาวกตักเตือนเราว่า “ท่านอย่าหลง พระเป็นเจ้าเราจะล้อเล่นไม่ได้” (กท. 6, 7) มันเป็นการล้อพระเป็นเจ้าเล่น เมื่อทำเคืองพระทัย ตามแต่ชอบใจและเท่าที่ชอบใจแล้วยังมีหน้ามาทวงสวรรค์อีก!

            แต่- เมื่อคราวก่อน ๆ พระเป็นเจ้าได้ทรงพระทัยเมตตากรุณาต่อฉันหลายครั้งหลายคราวแล้ว ฉันใด ฉันก็หวังว่าคราวต่อไป พระองค์จะทรงเมตตาต่อฉันอีก ฉันนั้น นี่คืออุบายประการที่สี่เพราะเหตุที่พระเป็นเจ้าได้ทรงสงสารท่าน ท่านจึงคิดว่า พระองค์จะทรงกรุณาต่อท่านเรื่อยไป พระองค์จะไม่ทรงลงพระอาชญาแก่ท่านเป็นอันขาด อย่างนั้นหรือ? ความจริงนั้น มันตรงข้าม ยิ่งพระองค์ได้ทรงพระทัยดีต่อท่านมาก ท่านก็ยิ่งต้องกลัวไว้ให้มากกว่า หากขืนทำเคืองพระทัยต่อไปพระองค์จะไม่ทรงอภัยให้อีก และจะทรงเอาโทษ หนังสือปรีชาญาณเตือนว่า: ท่านอย่าพูดว่า ฉันได้ทำบาป แต่ไม่เห็นถูกโทษอำรเลย เหตุว่า พระเป็นเจ้าทรงเพียรทนก็จริง แต่จะไม่ทรงเพียรทนเสมอไปหรอก เมื่อถึงเขตที่พระองค์ทรงกำหนดไว้ จะเมตตาต่อคนบาป เมื่อนั้น จะทรงเอาโทษบาปของเขา และคิดบัญชีรวมกันหมด “ท่านอย่าพูดว่า ฉันได้ทำบาป แต่ไม่เห็นเป็นอะไร เหตุว่า พระเจ้าทรงเพียรทน แต่ทรงสนองตอบด้วย” (บสร. 5, 4) นักบุญเกรโกรีเตือนว่า: ยิ่งพระเป็นเจ้าทรงเพียรทนนานเท่าใด ก็ยิ่งจะทรงเอาโทษหนักเท่านั้น (5)

            ฉะนั้น พี่น้องที่รัก หากท่านเห็นว่าท่านได้ทำเคืองพระทัยหลายครั้งมาแล้วและพระเป็นเจ้ามิได้ทรงให้ท่านไปนรก ท่านก็ต้องกราบทูลพระองค์ว่า: พระสวามีเจ้าข้า เป็นพระเดชพระคุณของพระองค์ ที่มีได้ทรงให้ข้าพเจ้าไปนรกตามโทษานุโทษของข้าพเจ้า “เดชะพระทัยเมตตากรุณาของพระสวามีเจ้า พวกข้าพเจ้าจึงมิได้พินาศ” (เธรน. 3, 22) ท่านจงคิดเถิดว่ามีคนบาปเท่าไรแล้ว ที่ได้ทำบาปน้อยกว่าท่าน แต่บัดนี้เขาต้องโทษในนรกแล้ว! ครั้นคิดดั่งนี้แล้ว ก็ให้ท่านพยายามทำการชดเชยใช้โทษความผิดที่ท่านได้กระทำต่อพระเป็นเจ้า ด้วยการเป็นทุกข์ถึงบาปและด้วยการสร้างบุญกุศลอย่างอื่น ๆ ตอบแทน ความเพียรที่พระเป็นเจ้าทรงมีต่อท่าน ควรแล้วจะปลุกใจท่าน ไม่ใช่เพื่อทำเคืองพระทัยต่อไป แต่เพื่อให้ท่านปรนนิบัติ และรักพระองค์มากขึ้น เพราะท่านก็มองเห็นแล้วว่าพระองค์ได้ทรงมีพระทัยดีต่อท่านมากกว่าต่อคนอื่น ๆ นั้นเอง

ข้อเตือนใจและคำภาวนา

           ข้าแต่พระเยซูผู้ตรึงอยู่บนไม้กางเขน พระมหาไถ่ และพระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า นี่แน่ะ คนทรยศกราบอยู่แทบพระบาท ข้าพเจ้าละอายแก่ใจเหลือเกินที่กำลังอยู่เฉพาะพระพักตร์ ข้าพเจ้าได้ล้อพระองค์เล่นกี่ครั้งกี่หนแล้ว  ข้าพเจ้าได้สัญญากับพระองค์กี่ครั้งกี่หนแล้วว่า จะไม่กระทำบาปอีก? คำสัญญาของข้าพเจ้าเป็นแต่การพูดปดทั้งนั้น: พอมีโอกาสข้าพเจ้าก็ลืมพระองค์ หันหลังให้พระองค์ทุกครั้งไป! ขอสมนาพระคุณที่มิได้ทรงให้ข้าพเจ้าอยู่ในนรก ณ ขณะนี้ แต่ให้มาอยู่แทบพระบาท ทั้งยังทรงประทานความสว่าง และเตือนใจข้าพเจ้าให้กลับมารักพระองค์อีก เป็นความสัตย์จริง พระมหาไถ่ และพระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าต้องการรักพระองค์และไม่ยอมดูหมิ่นพระองค์อีกแล้ว พระองค์ได้ทรงเพียรทนข้าพเจ้าเหลือคณนา ข้าพเจ้ามองเห็นว่าจะทรงเพียรทนต่อไปไม่ไหวแล้ว จะเป็นเคราะห์กรรมของข้าพเจ้าร้ายแรงเพียงไรหนอ หากว่าแม้ได้รับพระราชทานพระหรรษทานมากมายถึงเพียงนี้แล้ว ข้าพเจ้ายังดื้อทำเคืองพระทัยอีก! พระสวามีเจ้าข้า ข้าพเจ้าตั้งใจแน่ววแน่จะเปลี่ยนความประพฤติจริง ๆ แต่ก่อนข้าพเจ้าได้ขัดขืนพระทัยของพระองค์เท่านใด บัดนี้ข้าพเจ้าจะรักพระองค์เท่านั้น พระเจ้าข้า บุญของข้าพเจ้าแท้ ๆ ที่ข้าพเจ้าไปมีเรื่องกับพระองบค์ ผู้ทรงพระทัยดีปราศจากขอบเขต...! ข้าพเจ้าเป็นทุกข์ตรอมใจเพราะได้ดูหมิ่น พระองค์จนถึงเพียงนั้นแต่บัดนี้เป็นต้นไปขอมอบดวงใจของข้าพเจ้าทั้งหมดให้เป็นสิทธิ์ขาดแด่พระองค์ ขอให้เห็นแก่พระบารมีและพระมหาทรมานของพระองค์เถิด และโปรดอภัยบาปแก่ข้าพเจ้า โปรดลืมความชั่วช้าสามานย์ของข้าพเจ้าและโปรดประทานพละกำลังให้ข้าพเจ้ารักษาความสัตย์ซื่อต่อพระองค์เรื่อยไปจนวันตาย พระเจ้าข้า องค์คุณงามความดีที่ล้นพ้นเจ้าข้า ข้าพเจ้ารักพระองค์ และหวังจะรักพระองค์เสมอเป็นนิตย์ ข้าพเต่พระผู้เป็นเจ้าที่สุดเสน่หา ข้าพเจ้าไม่ยอนละ พระองค์ไปอีกแล้วพระเจ้าข้า

            โอ้พระมารดาของพระเป็นเจ้า พระนางมารีอา โปรดผูกมัดข้าพเจ้าติดกับพระเยซูคริสต์ และช่วยเสนอให้ข้าพเจ้าได้รับพระหรรษทาน เพื่อจะได้ไม่พรากจากพระบาทของพระองค์อีกเลย ข้าพเจ้าวางใจในท่าน

3. ฉันยังหนุ่มสาวอยู่ แล้วฉันจะเอาตัวรอดก็เป็นได้

            ภายหลังก็แล้วกัน ฉันยังหนุ่ม ยังสาวอยู่ พระเป็นเจ้าทรงเอ็นดูคนหนุ่มคนสาว เอาไว้ทีหลัง ฉันค่อยถวายตัวแด่พระองค์ก็แล้วกัน นี่คืออุบายประการที่ห้าท่านยังหนุ่มยังสาวอยู่หรือ? ท่านไม่ทราบดอกหรือว่า พระเป็นเจ้าไม่ทรงนับอายุแต่ทรงนับบาปของแต่ละคนต่างหาก? ท่านยังหนุ่มยังสาวอยู่ แต่ท่านได้ทำบาปมาเท่านไรแล้ว? มีคนแก่จำนวนมากที่ได้ทำบาปไม่เท่าหนึ่งในสิบของท่าน ท่านไม่ทราบหรือว่าพระสวามีเจ้าพระองค์เองทรงเป็นผู้กำหนดจำนวน และเครื่องตวงวัดบาปที่ทรงใคร่จะอภัยให้แก่แต่ละคน? พระคัมภีร์บันทึกว่า “พระสวามีเจ้าทรงเพียรคอยจะลงโทษเขา คอยจนถึงวันพิพากษาในเมื่อเครื่องตวงบาปของเขาจะเต็มเปี่ยมแล้ว” (2 มคบ. 6, 14) หมายความว่าพระองค์ทรงคอยจนถึงขีดถึงเขตแต่เมื่อใดเครื่องตวงเครื่องวัดบาปที่พระองค์ทรงกำหนดไว้จะอภัยโทษมันเต็มเปี่ยมมันถึงที่แล้ว เมื่อนั้นพระองค์จะไม่ทรงอภัยให้ต่อไป แต่จะลงพระอาชญาแก่คนบาป สถานหนึ่ง โดยให้เขาตายไปในทันทีทันใด ขณะที่อยู่ในบาปในฐานะต้องโทษในนรก หรืออีกสถานหนึ่งโดยปล่อยให้เขาจมอยู่ในบาป ฐานะอันนี้เป็นพระอาชญาร้ายแรงกว่าคนตายเสียอีก “เราจะรื้อถอนรั้วออกแล้ว (สวนองุ่น) ก็จะร้างไป” (อสย. 5, 5) สมมุติว่าท่านมีที่ดินแปลงหนึ่งท่านได้ทำรั้วหนามล้อมไว้ได้ลงแรงเพาะปลูกเป็นเวลาหลายปี ได้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายไปมาก แต่แล้วท่านมาเห็นว่า ที่ดินแปลงนั้นไม่ให้ผลอะไรเลย ท่านจะทำอย่างไร? ท่านจะรื้อรั้วออกแล้วทิ้งมันให้ร้างเสียเลย ท่านจงกลัวไว้เถิดว่า พระเป็นเจ้าจะทรงกระทำต่อท่านดังนี้ด้วย หากท่านขืนทำบาปต่อไป ท่านจะหมดเสียมโนธรรม ท่านจะไม่คิดถึงนิรันดรภาพ ไม่คิดถึงวิญญาณของท่านต่อไป ท่านแทบจะไม่แลเห็นแสงสว่างและหมดความกลัวเอาเสียทีเดียว นี่แหละคือการรื้อถอนรั้ว นี่แหละถึงแล้วซึ่งการทอดทิ้งของพระเป็นเจ้า!

            บัดนี้จะกล่าวถึงอุบายประการสุดท้าย ท่านจะว่า: จริงอยู่ เมื่อฉันทำบาปประการนี้ ฉันเสียพระหรรษทานของพระเป็นเจ้า และต้องโทษถึงนรก เป็นไปได้ที่เพราะบาปประการนี้ ฉันจะต้องโทษนรก แต่ก็ยังเป็นได้เหมือนกันว่า ฉันจะได้รับอภัยบาป และได้เอาตัวรอด ถูกของท่านแล้ว ข้าพเจ้ายอมรับว่า เป็นไปได้ที่ท่านยังจะเอาตัวรอดได้ เพราะว่า พูดกันตรง ๆ ข้าพเจ้าก็ไม่ใช่ผู้ทำนาย ฉะนั้นจึงไม่สามารถยืนยันแน่นอนทีเดียวว่า เมื่อได้กระทำบาปประการนี้แล้ว พระเป็นเจ้าจะไม่ทรงกรุณาท่านต่อไป กระนั้นก็ดี ท่านจะปฏิเสธหรือว่า เมื่อได้รับพระหรรษทานของพระเป็นเจ้ามากมายดังนี้แล้ว หากขณะนี้ท่านกลับไปทำเคืองพระทัยอีก มันน่ากลัวทีเดียว น่ากลัวนักหนา ที่ท่านจะต้องพินาศไปมิใช่หรือ? โปรดสดับฟังคำพระคัมภีร์เถิด: “ดวงใจที่ดื้อกระด้าง จะลงปลายร้าย” (บสร. 3, 27) “คนชั่ว (ในที่สุด) จะถูก (พระยุติธรรม) กำจัดเสีย” (สดด. 36, 9) ผู้ใดหว่านบาปไว้ที่สุดผู้นั้น จะเก็บเกี่ยวกับความลำบาก ความทุกข์ทรมาน “คนเราหว่านอะไรก็จะเก็บเกี่ยวผลอันนั้น” (กท. 6, 8) พระเป็นเจ้าตรัสว่า “เราได้ร้องเรียกเจ้า แต่เจ้าได้เยาะเราเล่น ส่วนเรานี้ เมื่อถึงคราวของมัน” (ฉธบ. 32, 35) พระคัมภีร์กล่าวถึงคนใจกระด้างดังกล่าวมา ความยุติธรรม และเหตุผล ก็ร้องขอให้เป็นดั่งนี้ด้วย! แต่ท่านจะรั้นค้านต่อไปอีกว่า: จะอย่างไรก็ตาม ยังเป็นได้ ที่ฉันจะเอาตัวรอดได้ ขอตอบว่า: ถูกของท่านแล้ว อาจเป็นไปได้ ที่ท่านยังจะเอาตัวรอด แต่ขอบอกท่านด้วยว่า มันเป็นการบ้าบัดซบอย่างวายร้ายที่สุด ที่จะเอาความรอดวิญญาณของตน ไปวางไว้บนคำว่า “อาจเป็นไปได้” และ “อาจเป็นไปได้” ชนิดที่ยากนักยากหนา! คิดดูให้ดี: การเอาวิญญาณรอดเป็นธุรกิจ ที่ชาวเราควรจะเลี่ยงให้อยู่ในมหันตภัยเช่นนั้นหรือ?

ข้อเตือนใจและคำภาวนา

           ข้าแต่พระมหาไถ่ที่สุดเสน่หา ข้าพเจ้ากราบอยู่แทบพระบาท ขอสมนาพระคุณที่แม้ข้าพเจ้าได้กระทำบาปมากมายเช่นนี้แล้ว พระองค์ยังมิได้ทรงละทิ้งข้าพเจ้า มีกี่คนที่ได้ทำบาปน้อยกว่าข้าพเจ้า แต่เขามิได้แลเห็นความสว่าง อย่างที่พระองค์ทรงประทานแก่ข้าพเจ้า ณ กาลบัดนี้! ข้าพเจ้ามองเห็นแล้วว่า พระองค์ต้องการให้ข้าพเจ้ารอดจริง ๆ ข้าพเจ้าเองก็ต้องการเอาตัวรอดด้วย ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามพระทัยปรารถนาของพระองค์ ข้าพเจ้าใคร่จะได้ไปสรรเสริญพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ต่อข้าพเจ้า ในสวรรค์เรื่อยไปตลอดนิรันดร ข้าพเจ้ไว้ใจว่าพระองค์ได้ทรงอภัยบาปแก่ข้าพเจ้าแล้วในขณะนี้ แต่หากข้าพเจ้ายังเป็นที่จงเกลียดจงชังของพระองค์ เพราะมิได้รู้จักเป็นทุกข์อย่างที่สมควร ก็ในบัดนี้เองข้าพเจ้ากำลังเป็นทุกข์ด้วยสิ้นสุดวิญญาณ ข้าพเจ้าเกลียดชังบาปยิ่งกว่าภยันตรายใด ๆ ขอทรงพระกรุณาอภัยบาปแก่ข้าพเจ้า ณ กาลบัดนี้ด้วยเถิด พระเจ้าข้า โปรดให้ข้าพเจ้าเป็นทุกข์ยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ไปเถิด พระเป็นเจ้าของข้าพเจ้า ผู้ทรงพระทัยดีต่อข้าพเจ้าจนถึงเพียงนี้! โปรดให้ข้าพเจ้าเป็นทุกข์ถึงบาป โปรดให้ข้าพเจ้ารักพระองค์เถิด พระเจ้าข้า ข้าพเจ้ารักพระองค์ยิ่งกว่าอะไร ๆ ทั้งหมด แต่ข้าพเจ้ายังรักพระองค์น้อยนัก ข้าพเจ้าต้องการจะรักพระองค์มาก ๆ จึงอ้อนวอนขอให้พระองค์ทรงโปรดให้ข้าพเจ้ารักพระองค์มาก ๆ และให้วางใจว่า พระองค์จะทรงประทานให้ดังที่ขอ พระเจ้าข้า พระเยซูเจ้าข้า โปรดสดับฟังคำวิงวอนของข้าพเจ้าด้วยเถิด ขอให้เห็นแก่คำมั่นสัญญา ที่พระองค์ได้ทรงให้ไว้แก่ผู้ที่วิงวอนขอพระองค์เถิด พระเจ้าข้า

            ข้าแต่พระมารดาของพระเป็นเจ้า พระนางมารีอา ไม่ว่าใครต่างยืนยันแก่ข้าพเจ้าว่า: ผู้ใดมาฝากตัวใว้กับท่าน ท่านไม่เคยปล่อยให้เขาต้องเสียใจกลับไปเลยโอ้ ที่พึ่งหวังของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าวิ่งมาพึ่งท่าน รองแต่พระเยซูลงมา ข้าพเจ้าวางใจในท่าน: โปรดช่วยฝากข้าพเจ้าไว้กับพระบุตรของท่าน และโปรดช่วยข้าพเจ้าให้รอดด้วยเถิด

(1) บทพิเคราะห์บทนี้  มีข้อความหลายกระทง กระจายอยู่ในบทอื่น ๆ ข้างต้น,  ที่ข้าพเจ้านำมารวมไว้แห่งเดียวในบทนี้ก็เพื่อ

     ประโยชน์ให้ผู้อ่านนำไปใช้ ต่อสู้กับกลอุบายซึ่งปีศาจมักนำมาล่อลวง ให้คนเราถลำตกในบาปอีกครั้งหนึ่ง

(2) Crastinum Deus non promisit, fortasse dabit, fortasse non dabit.

(3) Deus impossibilia non jubet, sed jubendo monet et facere quod possis, et petere quod non possis, et adjuvat ut possis.

(4) Irrisor est, non poenitens.

(5) Quos diutius exspectat, durius damnat.

1. บาปในที่พิพากษา

  ชาวเราจงพิเคราะห์ดู การปรากฏตัว การฟ้อง การไต่สวน และการตัดสิน ก่อนหมด จะกล่าวถึง การปรากฏตัวของวิญญาณ ต่หน้าพระตุลาการดาววิทยาทั้งหลาย เห็นพ้องกันว่า พอคนเราสิ้นใจ ก็จะถูกพิพากษาทีละคน ในทันทีและในสถานที่ที่วิญญาณแยกออกจากร่างกายนั้น วิญญาณจะถูกพระเยซูคริสต์พิพากษา พระองค์จะไม่ทรงใช้ผู้แทน แต่พระองค์เองจะเสด็จมาพิพากษา “ในเวลาที่ท่านไม่คิด พระบุตรมนุษย์จะเสด็จมา” (ลก. 12, 40) นักบุญ เอากุสตินกล่าวว่า “พระองค์จะเสด็จมา โดยนำความชื่นชมยินดีมาให้ สำหรับผู้ใคร่ธรรมแต่เสด็จมา นำความสดุ้งกลัวมาให้ สำหรับคนอธรรม” (1)โอ! ผู้ที่จะได้แลเห็นพระมหาไถ่เป็นครั้งแรกและจะได้เห็นพระองค์กำลังทรงพระพิโรธ จะสดุ้งตกใจกลัวเป็นกระไรหนอ! “ใครหนอ จะทรงตัวอยู่ได้เฉพาะพระพิโรธของพระองค์!” (นฮม. 1, 6) คุณพ่อหลุยส์ ดือปองต์ เมื่อคำนึงถึงเรื่องนี้ ท่านตัวสั่น จนห้องของท่านสั่นตามไปด้วย บุญราศี ยูเวนัล เมื่อได้ยินขับร้องบท “ดีแอส อีเร” (วันพระพิโรธ) ท่านคิดถึงความกลัวของวิญญาณ เมื่อจะไปปรากฏตัว ณ ที่พิพากษาท่านจึงได้ตกลงใจสละละโลก และก็ได้ทิ้งละโลกจริง ๆ การแลเห็นพระตุลาการทรงพิโรธ ใช่อื่นไกล คือ การจะต้องโทษนั่นเอง พระคัมภีร์กล่าวว่า “พระพิโรธของพระราชาเป็นเครื่องบอาความตาย” (สภษ. 16, 14) นักบุญเบอร์นาร์ด แสดงความเห็นว่า: เมื่อวิญญาณมองเห็นพระเยซูกำลังทรงพระพิโรธ เขาจะรับทุกข์มากกว่าอยู่ในนรกเสียอีก (2)

            ในโลกเรานี้ บางครั้ง เคยปรากฏว่า เมื่อจำเลยเข้าไปอยู่ต่อหน้าผู้พิพากษาบางคนถึงกับเหงื่อเย็นตก ปีซอง ต้องสวมเสื้อจำเลย ไปปรากฏตัวต่อหน้าวุฒิสภาเขารู้สึกละอายเหลือทน จนได้ไปฆ่าตัวตาย โอ เมื่อลูกจะได้เห็นพ่อ ข้าแผ่นดินจะได้แลเห็นพระราชา กำลังขึ้งโกรธจัด จะรู้สึกเจ็บใจกระไรหนอ! ก็วิญญาณจะรู้สึกเจ็บใจยิ่งกว่านี้มากนัก เมื่อจะได้แลเห็นพระเยซูคริสต์ ผู้ที่เขาได้หมิ่นประมาทในโลก! “เขาจะแลเห็นผู้ที่เขาได้ตอกตรึง” (ยน. 19, 37) พระชุมพาน้อยผู้นั้น ซึ่งได้ทรงอดกลั้นเพียรทนตลอดชีวิตของเขา เขาจะแลเห็นกำลังทรงพระพิโรธ และไม่มีทางจะระงับพระพิโรธของพระองค์ได้เลย หนังสือวิวรณ์ (6, 16) กล่าวว่า: การแลเห็นอันนั้นเอง จะทำให้เขาร้องบอก ภูผาให้มาทุ่มกับตัวเขา เพื่อจะได้พ้นจากพระพิโรธของพระชุมพาน้อย นักบุญลูกาบันทึกว่า “เมื่อนั้นแหละ เขาจะแลเห็นบุตรมนุษย์ (ลก. 21, 27)

            การแลเห็นพระตุลาการภายในรูปมนุษย์นั้น จะก่อให้เกิดความเจ็บช้ำใจแก่เขาเพียงไรหนอ! เพราะเขาจะได้แลเห็นมนุษย์ ผู้ที่ได้ทรงมรณะเพื่อช่วยให้เขารอด นี่เป็นการตำหนิที่เสียดแทงใจดำของเขาอย่างสุดซึ้ง ครั้งเมื่อพระมหาไถ่เสด็จไปสวรรค์ เทวทูตได้มาแจ้งแก่สานุศิษย์ว่า “พระเยซูองค์นี้ พวกท่านแลเห็นพระองค์เสด็จจากท่านไปสวรรค์ ฉันใด พระองค์นี้เอง ก็จะเสด็จมาอีกครั้งหนึ่งเหมือนกับที่ท่านเห็นนี้ แนนั้น” (กจ. 1, 11) ฉะนั้นพระตุลาการ เมื่อจะเสด็จมาพิพากษา ก็จะคงรักษาบาดแผลไว้นี้ จะทำความยินดีมากแก่ผู้ที่แลเห็น (คนดี) แต่จะทำความสดุ้งกลัวแก่ผู้ที่คอย (คนชั่ว) (3) ครั้นเมื่อ ยอแซฟแจ้งให้พวกพี่น้องทราบว่า “ฉันนี้ คือ ยอแซฟ ผู้ที่พวกท่านได้ขาย” พระคัมภีร์ เล่าว่าพวกพี่ ๆ ตกใจกลัว จนนิ่งอั้น พูดไม่ออก (ปฐก. 45, 3) ก็ขณะนั้นคนบาปจะเอาอะไรมาตอบพระเยซูคริสต์เล่า? เขายังจะบังอาจขอความกรุณาของหรือ? เพราะว่าประเด็นแรกที่เขาจะต้องให้การ ก็คือ การที่ได้ดูหมิ่นความกรุณาของพระองค์! (4) นักบุญเอากุสติน ถามว่า: เขาจะทำอะไร? เขาจะหนีไปข้างไหน? เมื่อข้างบน เขาเห็นพระตุลาการกำลังโกรธกริ้ว ข้างล่างขุมนรกกำลังเปิดอ้า ข้างหนึ่งกองบาปกำลังร้องฟ้อง อีกข้างหนึ่ง ฝูงปีศาจกำลังเตรียมพร้อมจะสำเร็จโทษ และภายในใจมโนธรรมก็กำลังตำหนิติเตียน? (5)

ข้อเตือนใจและคำภาวนา

           พระเยซูเจ้าข้า ข้าพเจ้าปรารถนาจะทูลเรียกพระองค์ว่า “พระเยซู” เสมอ พระนามของพระองค์นี้บันกาลความแช่มชื่นใจ บันดาลให้ข้าพเจ้ามีใจกล้าเพราะทำให้ระลึกว่า พระองค์คือพระมหาไถ่ของข้าพเจ้า พระผู้ที่ได้ทรงมรณะเพื่อให้ข้าพเจ้ารอด นี่แน่ะ! ข้าพเจ้ากราบอยู่แทบพระบาท ขอสารภาพว่า ข้าพเจ้าควรจะไปนรกมากครั้ง เท่าจำนวนบาปหนักที่ข้าพเจ้าได้กระทำนั้นแล้ว ข้าพเจ้าไม่สมจะได้รับอภัยโทษ แต่พระองค์ได้ทรงสิ้นพระชนม์ เพื่ออภัยบาปแก่ข้าพเจ้า “พระเยซู ผู้ทรงพระทัยปราณีเจ้าข้า โปรดระลึกว่า ข้าพเจ้าเป็นเหตุให้เสด็จมาเดินทางรับความยากลำบาก” พระเยซูเจ้าข้า โปรดเร่งอภัยบาปแก่ข้าพเจ้าก่อนที่พระองค์จะเสด็จมาพิพากษาเถิด เหตุว่า เมื่อถึงเวลานั้นแล้ว ข้าพเจ้าจะไม่สามารถร้องขอความกรุณาของพระองค์ต่อไป บัดนี้ข้าพเจ้ายังขอพระกรุณาได้และหวังจะได้รับพระกรุณาด้วย เมื่อนั้นบาดแผลของพระองค์มีแต่จะทำความสดุ้งกลัวแก่ข้าพเจ้า แต่บัดนี้กำลังทำความอุ่นใจ พระเจ้าข้า ข้าแต่พระมหาไถ่ที่สุดเสน่หาข้าพเจ้าเป็นทุกข์อย่างยิ่ง เพราะได้ทำเคืองพระทัยดีอันหาขอบเขตมิได้ชองพระองค์ข้าพเจ้าตั้งใจยินยอมรับความยากลำบากทุกอย่าง หายนะทุกประการ ดีกว่าจะเสียพระหรรษทานของพระองค์อีก พระเจ้าข้า ข้าพเจ้ารักพระองค์ด้วยสิ้นสุดดวงใจ ทรงพระกรุณาต่อข้าพเจ้าเถิด ทรงพระกรุณาต่อข้าพเจ้าเถิด พระเจ้าข้าทรงพระกรุณาด้วยพระเมตตาอันยิ่งใหญ่ของพระองค์”!

            โอ้พระนางมารีอา ชนนีแห่งความเมตตากรุณา ท่านคือผู้ปกป้องคนบาปโปรดช่วยให้ข้าพเจ้าเป็นทุกข์มาก ๆ ช่วยให้ข้าพเจ้าได้รับอภัยบาป และคงเจริญในความรักต่อพระเป็นเจ้าเสมอเถิด พระบรมราชินี เจ้าข้า ข้าพเจ้ารักท่าน ข้าพเจ้าวางใจในท่าน

2. การฟ้อง และการไต่สวน

            บัดนี้ เชิญพิเคราะห็เรื่อง การฟ้อง และการไต่สวนคดี การพิพากษาเริ่มขึ้นแล้ว หนังสือเปิดออก (ดนล. 8, 10) หนังสือนั้น มีอยู่สองเล่ม คือ พระวรสารและมโนธรรม พระวรสารแจ้งให้ทราบ ถึงสิ่งที่จำเลยควรจะกระทำ ส่วนมโนธรรมแจ้งให้ทราบถึงกิจการที่จำเลยได้กระนำมา (6) เมื่อนั้นตราชูอันเที่ยงธรรมของพระเป็นเจ้า จะไม่ชั่งดูทรัพย์สมบัติ เกียรติยศ และตระกูลของแต่ละคน แต่จะชั่งดูแต่กิจการของแต่ละคน ดาเนียลทูลกษัตริญ์บัลทาซาร์ว่า “ท่านถูกชั่งอยู่ในตราชูและท่านได้เบาไป” (ดนล. 5, 27) คุณพ่อซูอาแรส อธิบายความตอนนี้ว่า “สิ่งที่วางไว้บนตราชู ไม่ใช่ทองคำ ไม่ใช่ทรัพยากร แต่เป็นตัวกษัตริย์เอง” (7)

            เมื่อนั้นพวกโจทก์จะพากันเข้ามา ปีศาจเข้ามาก่อย นักบุญเอากุสตินกล่าวว่า: ปีศาจจะมายืนอยู่เฉพาะหน้าพระบัลลังก์ของพระคริสต์เจ้า และมันจะท่องคำพูดที่ท่านเคยได้กล่าวออกมา มันจะแจงสี่เบี้ย ทุกๆ สิ่งที่เราได้กระทำมันจะออกชื่อวันนั้น เวลานั้น ที่เราได้ทำบาป (8) มันจะท่องคำพูดที่ท่านกล่าวออกมา หมายความว่า มันจะดีแผ่คำมั่นสัญญาต้าง ๆ ของเรา และที่เรามิได้ปฏินัติตาม มันจะชี้ความผิดของเราทุก ๆ ข้อ ว่าได้กระทำในวันนั้น ๆ เวลานั้น ๆ แล้วมันจะทูลพระตุลาการ ตามวาทะของนักบุญ ชีปรีอาโนว่า: พระสวามี ข้าพเจ้าไม่ได้ลำบากอะไรสักนิด สำหรับจะเลยผู้นี้ (9) เขาเองได้ละทิ้งพระองค์ผู้สิ้นพระชนม์เพื่อให้เขารอด เขาเองได้สมัครใจมาเป็นทาสของข้าพเจ้า ฉะนั้นตัวเขาจึงตกเป็นของของข้าพเจ้า บรรดาอารักษ์เทวดาก็จะมาเป็นโจทก์ฟ้องเหมือนกัน ดังที่ท่านโอรีเชแนส กล่าวว่า: เทวดาทุก ๆ องค์จะมายืนยันว่า ท่านได้พยายามตักเตือน ตักเตือน เป็นเวลากี่ปี ๆ แต่เขาได้เมินเฉยเสีย (10) เป็นอันว่า แม้สหายของเขาทุกคน ก็จะกลายเป็นศัตรูไปหมด นอกนั้น กำแพง ฝาผนัง ที่ได้รู้เห็นเป็นพยานในการกระทำบาปของเขา ก็จะเป็นโจทก์ฟ้อง “หินผาจะส่งเสียงออกมาจากกำแพง” (ฮบก. 2, 11) กระทั่งมโนธรรมของเขาเอง ก็จะเป็นโจทก์ฟ้อง “แม้มโนธรรมของเขา ก็จะยืนยันเป็นพยาน...ในวันพิพากษา” (รม. 2, 15) เมื่อนั้นแม้บาปของเขา ตามคำกล่าวของนักบุญเพอร์นาร์ดจะพูด จะบอกว่า: ท่านได้ทำเราขึ้นมา เราเป็นกิจการของท่าน เราจะไม่ละท่านไปเป็นอันขาด” (11) ที่สุดบาดแผลของพระเยซูคริสต์ ตามวาทะของนักบุญคริสซอสโตม จะเป็นโจทก์ฟ้องด้วย “ตะปูจะบ่นว่าท่าน บาดแผลจะต่อขานท่าน กางเขนของพระคริสต์จะสรุปความกล่าวโทษท่าน” (12)

            ต่อนั้น ก็ถึงการไต่สวนคดี พระสวามีเจ้าตรัสว่า “เราจะเอาตะเกียงส่องกรุงเยรูซาแลม” ท่านแมนโดซาว่า ตะเกียงส่องให้เห็นทั่วทุกมุมบ้าน (13)คุณพ่อ กอร์เนลีโอ อาลาปิเด อธิบายคำว่า “เอาตะเกียงส่อง” ว่า: เมื่อนั้นพระเป็นเจ้าจะทรงตีแผ่ให้จำเลยแลเห็นแบบอย่างของพวกนักบุญ เห็นแสงสว่างและความดลใจทั้งสิ้นที่พระองค์ได้ทรงประทานให้, ตลอดจนชั่วเวลาที่พระองค์ได้ทรงประทานให้เพื่อสร้างความดี “พระองค์จะทรงเรียกเอาเวลามาเป็นข้อค้านข้าพเจ้า” เป็นอันว่า เมื่อนั้นจะเป็นไปตามที่นักบุญอัลแซลมกล่าวไว้ คือ ท่านจะต้องให้การ แม้ด้วยการกะพริบตาทุก ๆ ครั้ง (14) ช่างทองเอาไฟเผาทอง เพื่อจะเขี่ยฝุ่นผงออกฉันใด กิจการที่ดี การแก้บาปการรับศีลมหาสนิท ฯลฯ ก็จะต้องถูกตรวจสอบดูด้วยฉันนั้น “พระองค์จะทรงกวาดล้างพวกลูกของ เลวี จนบริสุทธิ์ และสุกดุจทองคำ” (มลค. 3, 3) “เมื่อถึงเวลา เราจะพิพากษาความยุตติธรรม” (สดด. 74, 3) พูดสั้น ๆ คือเป็นไปตามอย่างที่นักบุญเปโตรกล่าวไว้: ในการพิพากษานั้น แม้ผู้ใคร่ธรรมก็แทบจะเอาตัวไม่รอด “ก็ถ้าหากว่า ผู้ใคร่ธรรมเอาตัวรอดอย่างหวิด ๆ แล้วคนอธรรมและคนบาปจะไปปรากฏตัวอยู่ที่ไหน?” (ปต. 4, 18) นักบุญเกรโกรี ถามว่า: หาก แม้วาจาที่ไร้ประโยชน์ยังต้องให้การ ก็จะเป็นอย่างไร สำหรับความคิดชั่วที่ได้ปลงใจทำ สำหรับวาจาสามหาวจำนวนมากที่ได้พูดออกมา? (15) สำหรับผู้ที่ได้เป็นที่สะดุดต่อผู้อื่น และได้ลอบลักวิญญาณไปจากพระสวามีเจ้า พระองค์ได้ตรัสถึงเขาเป็นพิเศษว่า “เราจะรี่ใส่เขา, ดังแม่หมีที่ถูกขโมยลูก (ฮฮย. 13, 8) ด้วยกิจการต่าง ๆ พระตุลาการจะตรัสว่า: จงสนองต่อเขา ตามกิจากรที่เขาได้กระทำนั้นเถิด “ผลแห่งกิจการของเขา ก็จงให้แก่เขา” (สภษ. 31, 31)

ข้อเตือนใจและคำภาวนา

           อา! พระเยซู เจ้าขา หากพระองค์ใคร่จะสนองตามกิจการของข้าพเจ้า ณ กาลบัดนี้ นรกนั้นแหละจะตกเป็นของของข้าพเจ้า! อนิจจา! กี่ครั้งกี่หนแล้วข้าพเจ้าได้เซ็นคำตัดสินปรับโทษตนเองให้ไปสู่ที่ทุข์ทรมานอันนั้น! ขอสมนาพระคุณที่ได้ทรงเพียรทนข้าพเจ้า โอ้! พระผู้เป็นเจ้า หากข้าพเจ้าจะต้องไปยืนอยู่เฉพาะพระบัชชังก์ ณ กาลบัดนี้ ข้าพเจ้าจะให้การด้วยความประพฤติของข้าพเจ้าเป็นอย่างไร? พระสวามีเจ้าข้า, โปรดรอข้าพเจ้าอีกหน่อยหนึ่งเถิด โปรดอย่าเพิ่งพิพากษาข้าพเจ้าเลย (16) หากพระองค์ทรงต้องการจะพิพากษาข้าพเจ้า ณ บัดนี้ ข้าพเจ้าจะเป็นอย่างไรเล่า? โปรดรอก่อนเถิด พระเจ้าข้า ไหน ๆ พระองค์ก็ได้ทรงเมตตาต่อข้าพเจ้าเป็นหลายครั้งมาแล้ว โปรดทรงพระเมตตาต่อไปอีกครั้งหนึ่งเถิด โปรดให้ข้าพเจ้าเป็นทุกข์ถึงบาปมาก ๆ องค์คุณงามความดีที่ล้นพ้นเจ้าข้า ข้าพเจ้าเสียใจ ที่ได้หมิ่นประมาทพระองค์หลายครั้งหลายคราวนั้น ข้าพเจ้ารักพระองค์ยิ่งกว่าอะไร ๆ ทั้งหมดแล้ว ข้าแต่พระบิดา ผู้สถิตสถาพรตลอดนิรันดร โปรดอภัยบาปแก่ข้าพเจ้า โดยเห็นแก่พระเยซูคริสต์เถิด ขอประทานให้ข้าพเจ้าคงเจริญอยู่ในความดี เพราะเห็นแก่พระบุญญาบารมีของพระองค์เถิด พระเจ้าข้า พระเยซูเจ้าข้า ข้าพเจ้าไว้ใจว่าจะได้ทุกสิ่งที่วิงวอนมานี้ด้วยเดชะพระดลหิตของพระองค์เถิดพระเจ้าข้า

            ข้าแต่พระแม่มารีอา ผู้ศักดิ์สิทธิ์อย่างยิ่ง ข้าพเจ้าวางใจในท่าน “โอ้ ท่านผู้เป็นทนายของข้าพเจ้า โปรดทอดพระเนตรอันเมตตามายังข้าพเจ้าเถิด” โปรดเหลียวแลความอาภัพน่าสังเวชของข้าพเจ้าและทรงเมตตาเถิด

3. การตัดสินปรับโทษ

            กล่าวโดยสรุป วิญญาณใดจะรอดตลอดนิรันดร วิญญาณนั้นต้องอยู่ในฐานะได้ดำเนินชีวิตที่ละม้ายคลายคลึงกับพระชนม์ชีพของพระคริสต์ ในคราวเพื่อถูกพิพากษา “บรรดาผู้ที่พระองค์ทรงเห็นและจัดล่วงหน้า ให้ละม้ายคล้ายคลึงกับพระฉายาแห่งพระบุตรของพระองค์” (รม. 8, 29) นี่เอง ที่ทำให้โยบตัวสั่นพูดว่า “ข้าพเจ้าจะต้องทำอะไร, เมื่อพระเป็นเจ้าจะเสด็จลุกขึ้นพิพากษา? เมื่อพระองค์จะตรัสถาม ข้าพเจ้าจะตอบว่าอะไร?” (โยบ. 31, 14) วันหนึ่งมหาดเล็กของพระเจ้า ฟีลิปที่ 2 ได้กราบทูลความเท็จ พระราชาได้ตำหนิเขาเพียงว่า “เจ้าโกหกเราดังนี้หรือ?” เท่านี้ก็ทำให้มหาดเล็กเจ้ากรรมผู้นั้นกลับไปตรอมใจตายที่บ้าน แล้วคนบาปจะทำอะไร? จะตอบว่าอย่างไร แก่พระเยซูคริสต์ พระตุลาการ? อ้อ! เขาจะตอบอย่างบุรุษในพระวรสาร คนที่เข้ามาในงานเลี้ยงวิวาห์ และไม่ใส่เสื้อเฉพาะสำหรับงาน อย่างไรเล่า! คือ จะนิ่ง ไม่รู้ว่าจะตอบอย่างไร (มธ. 22, 12) บาปนั้นแหละจะปิดปากของเขา “ความชั่วจะปิดปากของเขา” (สดด. 106, 42) นักบุญบาซีลีโอ กล่าวว่า: เมื่อนั้นความอายจะทรมานคนบาป ยิ่งกว่าไฟนรกเสียอีก (17)

            ในที่สุดพระตุลาการ จะตรัสเป็นคำตัดสินเด็ดขาดว่า “จงไปให้พ้นเจ้าคนชั่ว ไปสู่ไฟชั่วนิรันดร” (มธ. 25, 41) ท่าน ดีโอนีซีโอ ฤษีชาร์เตรอส์อุทานว่า: โอ้! เสียงฟ้าผ่าอันนั้น จะกังวาลน่ากลัวเพียงไรหนอ?(18) นักบุญอัลแซลมกล่าวว่า: เมื่อได้ยินเสียงฟ้าผ่าดังนี้ คนที่ไม่ตัวสั่น ไม่ใช่เป็นคนที่นอนหลับ แต่เป็นคนที่ตายเสียแล้ว (19) ท่าน เอวเซบิโอ เสริม: เมื่อคนบาปได้ยินคำตัดสินปรับโทษ เขาจะสดุ้งกลัว จนว่าหากตายได้ จะตายไปอีกครั้งหนึ่ง (20)เมื่อนั้น นักบุญโทมัส แห่งวิลลา นอวา กล่าวต่อ ไม่มีทางจะขอความกรุณาไม่มีทางจะหาคนช่วย (21) ก็เขาจะวิ่งไปพึ่งใคร? ไปพึ่งพระเป็นเจ้า ผู้ที่เขาได้หมิ่นประมาท กระนั้นหรือ? (22) จะวิ่งไปพึ่งนักบุญหรือ พึ่งพระแม่มารีอาหรือ? ไม่ได้ทั้งนั้น เพราะว่าเมื่อนั้น ดาวดารา (คือบรรดานักบุญองค์อุปถัมภ์) จะตกลงมาจากฟ้า แล้ะวงจันทร์ (คือพระแม่มารีอา) จะอับแสง” (มธ. 24, 29) นักบุญเอากุสติน บอกว่า พระแม่แม่มารีอาจะทรงถอยห่างจากประตูสวรรค์ (23) 

            โอ้! อนิจจา! นักบุญโทมัส แห่งวิลลานอวา อุทาน เมื่อได้ยินพูดถึงการพิพากษา คนเราช่างดูดายทำเฉยอยู่ได้ คล้ายกับการพิพากษาตัดสินลงโทษนั้นไม่เดี่ยวข้องอะไรกับตัว! หรือคล้ายกับตัวไม่มีวันจะต้องถูกพิพากษา (24) ท่านนักบุญกล่าวสืบไปว่า: การทำเฉย ๆ ต่อหน้ามหันตรายใหญ่โตเช่นนี้ คือความบ้าโฉดเขลาอย่างวายร้าย! (25) พี่น้องที่รัก นักบุญเอากุสตินเตือนท่านว่า: ท่านอย่าพูดว่า อะไร! พระเป็นเจ้าจะทรงลงโทษให้ฉันไปสู่นรกทีเดียวหรือ? (26) จงอย่าพูดเช่นนี้เลย นักบุญกล่าว เหตุว่าแม้พวกฮีบรูเองก็ไม่ได้เคยเชื่อว่า ตนจะต้องพินาศ นักโทษในนรกจำนวนมากก็ไม่ได้เคยเชื่อเลยว่าพวกเขาจะต้องไปสู่นรก แต่แล้วบั้นปลายแห่งพระอาชญาก็มาถึง “ที่สุดมาถึงก็จบกัน...เราจะเอาพระพิโรธของเราสาดท่านและเราจะพิพากษาท่าน” (อสค. 7, 6) นักบุญเอากุสตินบอกว่า: มันจะเป็นเช่นนี้แก่ตัวท่านเหมือนกัน วันพิพากษาจะมาถึง แล้วท่านจะเห็นว่ามันเป็นจริงตามที่พระเป็นเจ้าได้ทรงคำรามไว้ (27)

            นักบุญเอลีชีโอบอกว่า: ขณะนี้เราจะเลือกเอาคำตัดสินอย่างไรก็ได้ตามความชอบใจของเราเอง (28) ก็ท่านอยากจะเลือกเอาอย่างไหนเล่า? จงจัดบัญชีของท่านให้เรียบร้องเถิด “ก่อนจะถูกพิพากษาจงจัดความยุติธรรมของท่านไว้ให้เรียบร้อย” (บสร. 18, 19) นักบุญบอนาแวนตูรา กล่าวว่า: พ่อค้าที่ฉลาดย่อมตรวจดูและงบบัญชีของตนบ่อย ๆ ทั้งนี้เพื่อกันมิให้ตนล่มจม นักบุญเอากุสตินก็พูดอย่างเดียวกันว่า: ก่อนจะถูกพิพากษา ชาวเรายังอาจเอาใจตุลาการได้ แต่เมื่อถึงคราวจะต้องพิพากษาแล้ว จะทำดั่งนี้ไม่ได้ต่อไป (29)ฉะนั้นชาวเราจงทูลพระสวามีอย่างนักบุญเบอร์นาร์ดว่า: เมื่อข้าพเจ้าจะไปปรากฏตัวเฉพาะพระพักตร์ ข้าพเจ้าใคร่ให้ตัวข้าพเจ้าถูกพิพากษามาก่อนแล้ว หาใช่ให้ถูกพิพากษาในขณะนั้นไม่ (30) ข้าแต่พระตุลาการ ข้าพเจ้าประสงค์จะให้พระองค์ทรงพิพากษาข้าพเจ้าขณะนี้ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ในโลก เพราะว่าขณะนี้เป็นเวลาที่กำลังทรงพระกรุณา แต่ขณะนั้น ขณะเมื่อตายไปแล้ว เป็นเวลาที่จะทรงแต่ความยุติธรรม

ข้อเตือนใจและคำภาวนา

           ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า หากในขณะนี้ข้าพเจ้าไม่ระงับพระพิโรธของพระองค์แล้ว ขณะนั้นข้าพเจ้าก็จะไม่มีทางระงับได้เลย ข้าพเจ้าจะต้องทำไฉนจึงจะระงับพระพิโรธของพระองค์ได้ ข้าพเจ้านี้ได้ดูหมิ่นมิตรภาพของพระองค์ ไปเห็นแก่ความสนุกอันเลวทรามประสาสัตว์ดิรัจฉานก็หลายครั้งหลายหนแล้ว? อ้อ! ข้าพเจ้าจะสนองความรักอันปราศจากขอบเขตของพระองค์ด้วยความกตัญญูแต่สัตว์โลกจะเอาอะไรมาชดเชยความผิดต่อพระผู้สร้างของตนให้สาสมได้? อา! พระสวามี พระองค์ยังทรงโปรดให้ข้าพเจ้ามีช่องทางระงับพระพิโรธได้ ขอสมนาพระคุณ! ข้าพเจ้าขอถวายพระโลหิตและการสิ้นพระชนม์แห่งพระบุตรของพระองค์นั่นแหละเป็นเครื่องระงับพระพิโรธ และขณะนี้ข้าพเจ้าก็มองเห็นว่าความยุติธรรมของพระองค์ได้รับการระงับและการชดเชยครบถ้วนแล้วทั้งยังเกินเลยไปอีกด้วย พระเจ้าข้า ถึงกระนั้นข้าพเจ้ายังต้องเป็นทุกข์ถึงบาปด้วย เป็นความจริง พระผู้เป็นเจ้าเจ้าข้า ข้าพเจ้าเป็นทุกข์ตรอมใจเพราะได้ทำเคืองพระทัยของพระองค์แล้ว พระมหาไถ่เจ้าข้า โปรดพิพากษาข้าพเจ้าเสีย ณ กาลบัดนี้เถิด! ข้าพเจ้าเกลียดชังความชั่วทุก ๆ ประการ และเกลียดอย่างที่สุดข้าพเจ้ารักพระองค์จริง ๆ รักด้วยสิ้นสุดใจและตั้งใจจะรักพระองค์เสมอ จะยอมตายดีกว่าจะทำเคืองพระทัยต่อไป พระองค์ได้ทรงสัญญาว่าจะทรงอภัยบาปแก่ผู้ที่เป็นทุกข์ ฉะนั้นโปรดพิพากษาข้าพเจ้าในบัดนี้เถิด และโปรดอภัยบาปแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด พระเจ้าข้า ข้าพเจ้ายินดีรับโทษานุโทษทุกประการ ขอแต่ให้ข้าพเจ้าได้กลับเข้าคืนสู่พระหรรษทานของพระองค์และให้ข้าพเจ้าคงอยู่ในพระหรรษทานดังนี้เรื่อยไปจนวันตายเท่านั้น ข้าพเจ้าหวังว่าพระองค์จะทรงดลบันดาลให้สำเร็จไปตามคำวิงวอนของข้าพเจ้านี้, พระเจ้าข้า

            โอ้ พระนางมารีอา ขอขอบคุณท่านที่ได้ช่วยเสนอให้ข้าพเจ้าได้รับความเอ็นดูปรานีเป็นอันมาก โปรดเถิด โปรดอุปถัมภ์รักษาข้าพเจ้าจนถึงที่สุดด้วย

 

 


(1) Veniet bonis in amore, impiis in tremore.

(2) Mallet esse in inferno.

(3) Grande gaudium intuentium, grandis timor exspectantium.

(4) Qua fronte misericordiam petes, primum de misericordiae contemptu judicandus? (Eus. Emiss).

(5) Superius erit judex iratus, inferius horrendum chaos, a dextris peccata accusantia, a sinistris daemonia ad supplicium

      trahentia, intus conscientia ruens: quo fugiet peccator sic comprehensus?

(6) Videbit unusquisque quod fecit (S. Hier.).

(7) Non aurum, non opes in stateram veniunt, solus rex appensus est.

(8) Praesto erit diabolus ante tribunal Christi, et recitabit verba professioni tuae. Obiicietnobis in facimus, in qua die, in

     qua hora peccavimus. (S Aug. Cont. Jud. tom. 6).

(9) Ego pro istis nec alapas, nec flagella sustinui

(10) Unusquisque angelorum testimonium perhibet, quot annis circa eum laboraverit, sed ille monita sprevit

(11) Et dicent: tu nos fecisti, opera tua sumus, non te deseremus. (Lib. medit Cap 2).

(12) Clavi de te conqueretur, cicatrices contra te loquentur, crux Christi contra te perorabit (Chrysost. hom. in Matth.).

(13) Lucerna omnes angulos permaneat.

(14) Exigetur a te usque ad ictum oculi.

(15) Si pro otioso verbo reddte unusquisque rationem, quanto magis pro verbis impuritatis?

(16) Non inters in judicium cum servo tuo.

(17) Horridior, quam ignis, erit pudor,

(18) Oquam terribiliter personabit tonitruum, illud!

(19) Qui non tremit ad tantum tornitruum, non dormit, sed mortuus est.

(20) Tantus terror invadet malos, cum viderint judicem sententiam proferentem ut nisi essent immortals iterum

        morerontur.

(21) Non ibi precandi locul, nullus intercessor assistet, non amicus, non pater

(22) Quis et eripiet? Deusne ille, quem contempsisti? (S. Basil. orat. 4 de poenit.).

(23) Fuget a janua paradise Maira (Serm. 3 ad Fratres).

(24) Heu quam secure haec dicimus et audimus, quasi non tangeret nos haec sentential, aut quasi dies ille nunquam esset

       venturus! (Conc. de judic.)

(25) Quae est ista stulta securitas in discrimine tanto!

(26) Numquid Deus vere damnaturus est?

(27) Veniet judicii dies, et invenies verum quod minatus est Deus.

(28) In potestate nostra datur qualeter judicamur.

 

(29) Judex ante judicium placari potest, in judicio non potest.

(30) Volo judicatus praesentari, non judicandus.

1. การกลับคืนชีพ

            ทุกวันนี้ หากเราพิจารณาให้ดี เราก็จะเห็นว่า ไม่มีใครเลยในโลก ที่จะถูกหมิ่นประมาทเท่าเสมอพระเยซูคริสต์ ถึงคนชาวบ้านนอก ก็ได้รับความเคารพนับถือมากกว่าพระเป็นเจ้า เหตุว่า ย่อมคิดกลัวกันว่า หากคนชาวบ้านนอกผู้นั้น แลเห็นว่าตนถูกเขาเหยียดหยามจนเหลือทน จะบันดาลโทษะ และจะแก้แค้นเอา แต่ สำหรับพระเป็นเจ้า เขาทำร้ายพระองค์ ทำแล้วทำเล่า ตามแต่ชอบใจ ดังว่า พระเป็นเจ้า แม้จะทรงปรารถถนาจะแก้แค้น แต่ก็ไม่ทรงมีทางจะทำอะไรเขาได้ “เขาถือเอาพระองค์ เป็นดังผู้ทรงฤทธิ์ทุกประการ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้เสียเลย” (โยบ. 22, 17) เพราะเหตุนี้เอง พระมหาไถ่จึงได้ทรงกำหนดวันไว้วันหนึ่ง วันพิพากษาประมวลพร้อม ที่พระคัมภีร์ตั้งชื่อไว้อย่างเหมาะสมทีเดียวว่า “วันของพระสวามีเจ้า” วัน ๆ นั้นแหละ พระเยซูคริสต์จะทรงแสดงให้ประจักษ์แจ้งชัดว่า พระองค์คือ พระสวามี พระเจ้าสูงสุด ตามที่ทรงเป็นจริง (เมื่อนั้นแหละ) “เขาจะรู้จักพระสวามีเจ้า ผู้จะทรงพิพากษา” (สดด. 9, 17) เป็นอันว่า วันนั้น จะไม่ได้ชื่อว่า “วันเมตตากรุณา วันอภัยบาป” แต่จะได้ชื่อว่า “วันพระพิโรธ วันความทรมาน วันความทุกข์ร้อน วันความพินาศ วันความอนาถ เพราะว่า วันนั้นเป็นวันที่พระสวามีเจ้าจะทรงเรียกร้องให้คนบาปที่ได้แย่งเกียรติมงคลของพระองค์ ไปคืนพระเกียรติมงคลนั้นแด่พระองค์จนครบถ้วน บัดนี้ ชาวเราจงมาคำนึงดูว่า การพิพากษาในวันสำคัญยิ่งนั้น จะเป็นมาอย่างไร

            ก่อนที่พระตุลาการ จะเสด็จมา จะมีไฟตกลงมาจากฟ้า “อัคคีจะนำหน้าพระองค์” (สดด. 96, 3) ซึ่งจะเผาผลาญแผ่นดิน และทุกสิ่งที่มีอยู่ในนั้น “แผ่นดินและทุกสิ่งที่มีอยู่ในแผ่นดิน จะถูกไฟเผาบรรลัยไปหมด” (2 ปต. 3, 10) เป็นอันว่าคฤหาสน์ วัดวาอาราม หมู่บ้าน หัวเมือง และประเทศทั้งหลายจะกลายเป็นกองเถ้าธุลีไป บ้านเรือน ที่ได้แปดเปื้อนไปด้วยบาปจะต้องถูกชำระด้วยไฟ ความมั่งคั่งสมบูรณ์ ความโอ่อ่าราศีและความสนุกสุขสบายของแผ่นดินโลกทั้งสิ้น จะลงปลายด้วยประการฉะนี้

            ครั้นมนุษย์ทุกคนได้ตายไปสิ้นแล้ว “จะได้ยินเสียงแตร และคนทถกคนจะกลับคืนชีพ” (1 คร. 15, 52) นักบุญฮีเอโรนีโม เล่าว่า “ข้าพเจ้าตัวสั่นทุกครั้งเมื่อพิเคราห์ดูวันพิพากษา รู้สึกทุกครั้งเหมือนว่า ได้ยินเสียงแตรนั้นก้องอยู่ในหู ประกาศว่า: ผู้ตายทั้งหลาย จงลุกขึ้นเถิด และมายังที่พิพากษา” (1) พอได้ยินเสียงแตร วิญญาณอันงามของบรรดาผู้มีบุญ ก็จะลงจากสวรรค์มาร่วมสนิทกับร่างกาย ที่ท่านได้ใช้ปรนนิบัติพระเป็นเจ้าในโลกนี้ ส่วนวิญญาณอันน่าเกลียดของเหล่านักโทษ ก็จะผลุดขึ้นจากขุมนรก มาร่วมสนิทกับร่างกายอัปรีย์ที่เขาได้ใช้ทำเคืองใจพระเป็นเจ้า

            อนิจจา! ร่างกายของผู้ต้องเลือกสรร และของนักโทษ จะแตกต่างกันเพียงไรหนอ! บรรดานักบุญจะมีรูปงดงาม ขาวสะอาด และ “สุกใสยิ่งกว่าดวงอาทิตย์” (มธ. 13, 43) โอ้คนมีบุญ คนที่ได้รู้จะกบังคับเนื้อหนังในโลกนี้ ไม่ยอมให้มันได้ความสนุกที่ต้องห้าม กว่านั้นอีก เพราะต้องการบังคับมันให้อยู่มือ ยังแถมไม่ยอมให้มันได้ความสนุกแม้ที่ไม่ต้องห้ามด้วย ได้บีบบังคับมันไว้เสมออย่างเช่นพวกนักบุญได้ปฏิบัติ! โอ! เมื่อนั้น เขาจะรู้สึกอิ่มเอิบยินดีเพียงไรหนอ! นักบุญเปโตร อัลกันตารา เมื่อถึงแก่มรณะแล้ว ได้ประจักษ์มาหานักบุญเทเรซา กล่าวว่า “โอ! การบำเพ็ญตบะใช้ใช้โทษบาป เป็นของดีวิเศษจริงบันดาลให้ข้าพเจ้าได้รับสิริมงคลมากถึงเพียงนี้!” (2)ตรงกันข้าม ร่างกายของนักโทษ จะมีรูปน่าเกลียด ทั้งดำทั้งเหม็น โอ้อนิจจา! เมื่อวิญญาณนักโทษจะต้องเข้าไปสู่ร่างกายของตน มันจะเป็นการทรมานเพียงไร? วิญญาณจะว่า: อ้ายร่างกายระยำเพราะตามใจแกนะซิ ข้าจึงต้องฉับหาย ฝ่ายร่างกายก็ถึยงว่า: ไอ้วิญญาณอัปรีย์ แกเป็นผู้มีปัญญา กลับเลือกเอาความสนุกเหล่านั้นทำไม? เลยเป็นเหตุให้ทั้งแกทั้งข้าต้องพินาศตลอดนิรันดรด้วยกัน!

ข้อเตือนใจและคำภาวนา

           อา! พระเยซู พระมหาไถ่ของข้าพเจ้า พระองค์จะทรงเป็นพระตุลาการของข้าพเจ้าในวันหนึ่ง โปรดอภัยบาปแก่ข้าพเจ้า ก่อนจะถึงวันนั้นเถิด พระเจ้าข้า “โปรดอย่าทรงเบือนพระพักตร์หนีจากข้าพเจ้าเลย” (สดด. 26, 9) บัดนี้ พระองค์ทรงเป็นพิดาของข้าพเจ้า โปรดต้อนรับลูก ผู้กลับใจมากราบอยู่แทบพระบาทในฐานะเป็นบิดาด้วยเถิด พระบิดาเจ้าข้า ข้าพเจ้าได้ผิดไปแล้ว ทำเคืองพระทัย ได้ผิดไปแล้ว ได้ละทิ้งพระองค์ ข้าพเจ้าไม่น่าจะทำดังนั้นต่อพระองค์เลย ข้าพเจ้าเสียใจ และเป็นทุกข์จริง ๆ แล้ว โปรดอภัยบาปแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด อย่าทรงเบือนพระพักตร์จากข้าพเจ้าเลย อย่าทรงขับไล่ข้าพเจ้า ดังที่ควรแล้วเลย พระเจ้าข้า โปรดระลึกถึงพระโลหิต ที่ได้ทรงหลั่งเพื่อข้าพเจ้าและเมตตาต่อข้าพเจ้าเถิด พระเยซูเจ้าข้า ข้าพเจ้าก็ไม่อยากให้ใครอื่นมาเป็นตุลาการของข้าพเจ้า นอกจากพระองค์ นักบุญโทมัส แห่งวิลลา นอวา กล่าวว่า “ข้าพเจ้ายินดีถูกพิพากษาโดยท่าน ที่ได้มรณะเพื่อข้าพเจ้า และโดยท่านที่เพราะไม่อยากลงโทษข้าพเจ้า จึงได้ยอมรับโทษบนไม้กางเขนเสียเอง” (3) แท้จริง นักบุญเปาโลได้กล่าวไว้ก่อนแล้วว่า “ใครหนอจะเป็นผู้ลงโทษ? พระเยซูคริสต์ ผู้ได้ทรงมรณะเพื่อเรา” (รม. 8, 34) พระบิดาเจ้าข้า, ข้าพเจ้ารักพระองค์ แต่บัดนี้ไป ข้าพเจ้าไม่ยอมออกห่างจากพระบาทของพระองค์ โปรดลืมความชั่วที่ข้าพเจ้าได้ประกอบนั้นเถิด และโปรดให้ข้าพเจ้ารักความใจดีของพระองค์มาก ๆ ข้าพเจ้าด้วยเถิดช่วยให้ข้าพเจ้าดำรงชีพ สนองตอบความรักของพระองค์ เพื่อว่า เมื่อจะถึงวันนั้นที่เหว (ยอซาฟัต) ข้าพเจ้าจะได้อยู่ ร่วมหมู่กับบรรดาผู้ที่รักพระองค์ พระเจ้าข้าโอ้พระนางมารีอา พระบรมราชินี และทนายของข้าพเจ้า โปรดช่วยข้าพเจ้าในบัดนี้เถิด เพราะว่า หากข้าพเจ้าต้องพินาศไปในวันนั้น ท่านจะช่วยข้าพเจ้าไม่ได้เสียแล้ว ท่านช่วยเสนออุทิศแก่ทุกคน ช่วยเสนออุทิศแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด ข้าพเจ้าภูมใจ ที่เป็นทาสผู้ภักดีต่อท่าน และวางใจในท่านเป็นอย่างยิ่ง

2. การแยกพวก

            แต่พอมนุษย์ทั้งหลายกลับคืนชีพแล้ว เทวดาจะบัญชาสั่งให้ทุกคนไปยังเหวยอซาฟัต เพื่อรับการพิพากษา: “ประชาชาติ ประชาชาติทั้งหลาย จงพากันไปยังเหวที่พิพากษา เพราะว่าใกล้วันของพระสวามีเจ้าแล้ว” (ยอล. 3, 14) ครั้นมนุษย์ไปประชุมที่นั้นพร้อมหน้ากันแล้ว “เทวดาจะมาแยกพวกคนชั่วออกจากพวกผู้ใคร่ธรรม” (มธ. 13, 49) พวกผู้ใคร่ธรรมจะคงอยู่ทางเบื้องขวา ส่วนพวกนักโทษจะถูกไล่ให้ไปอยู่เบื้องซ้าย

            โอ! คนเรา เมื่อถูกขับไล่ออกจากสังคม หรือ ถูกขับไล่ออกจากพระศาสนจักร ย่อมรู้สึกเจ็บใจเพียงไร! แต่ความเจ็บใจจะมากขึ้นอีกมากนักเมื่อจะถูกขับไล่ออกจากหมู่นักบุญ “คนอธรรมจะรู้สึกอับอายเพียงไร เมื่อจะถูกแยกออกจากหมู่ผู้ใคร่ธรรม แล้วต้องถูกทอดทิ้ง” (4)นักบุญครืสซอสโตมว่า “สมมุติว่า พวกนักโทษจะไม่ต้องโทษอย่างอื่นอีก ความอายอันนี้เท่านั้นก็เป็นนรกสำหรับเขาพอแล้ว” (5)ลูกจะแยกจากพ่อ ผัวจะแยกจากเมีย นายจะแยกจากบ่าว “คนหนึ่งจะถูกแยกออกไป อีกคนหนึ่งจะถูกทิ้งไว้” (มธ. 24, 40) พี่น้องที่รัก ลองบากทีเถิด ท่านคาดว่าวันนั้นท่านจะได้ไปอยู่ข้างไหน? ท่านอยากจะไปอยู่ข้าพขวาไม่ใช่หรือ?- ถ้าดังนั้น ท่านจงละความประพฤติอันจะนำท่านไปอยู่ข้างซ้ายเถิด

            ทุกวันนี้ ในแผ่นดินโลก คนเรามักถือกันว่า พวกเจ้านายและพวกเศรษฐีนั่นแหละเป็นผู้มีบุญ จึงพากันประมาทพวกนักบุญ ผู้ครองชีพอย่างแร้นแค้นและสุภาพ โอ้: บรรดาสัตบุรุษผู้รักพระเป็นเจ้า ท่านขงอย่าน้อยใจเลยที่ถูกเขาหมิ่นประมาทและที่ได้รับความทุกข์ร้อนในโลกนี้ “ความโศกเษร้าของท่านจะกลายเป็นความยินดี” (ยน. 16, 20) ในวันนั้นท่านจะได้ชื่อว่า เป็นผู้มีบุญแท้ท่านจะได้รับเกียรติยศถูกแต่งตั้งเป็นบริพารของพระเยซูคริสต์ โอ! วันนั้นจะเป็นผู้มีหน้ามีตาเพียงไรหนอ คนเช่น นักบุญเปดตร อัลกันตารา ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นอาโปสตาตา! คนเช่น นักบุญยวงแห่งพระเจ้า ซึ่งถูกหาว่าเป็นบ้า! คนเช่นนักบุญเปโตร เชแลสตีโน ซึ่งหลังแต่ได้สละละตำแหน่งพระสันตะปาปาแล้ว ได้สิ้นชีพในคุก! โอ! ในวันนั้น พวกมาร์ตีร์ซึ่งได้ถูกพวกเพชฌฆาตทำทารุณเข่นฆ่า จะได้รับเกียรติมงคลกระไรหนอ! “เมื่อนั้นต่างองค์ต่างจะได้รับคำชมเชยจากพระเป็นเจ้า” (1 คร. 4, 5) แต่อนิจจา! ตรงกันข้าม จะเสียหน้าเสียตาเพียงไรหนอ คนเช่น เฮรอด, ปีลาโต, เนโร และพวกผู้มีอำนาจราชศักดิ์ในโลก แต่ต้องกลายเป็นนักโทษ! พวกคนใจโลกทั้งหลาย ที่เหวนั้นข้าพเจ้าจะคอยดูท่าน แน่นอน เมื่อนั้น ท่านจะเปลี่ยนความคิดเมื่อนั้น ท่านจะร้องไห้เสียใจ เพราะเห็นว่าตนได้บ้าไป โอ้พวกคนอาภัพ เพราะท่านได้อยากจะฉวยตัวอวดบนเวทีแห่งโลกนี้ชั่วคราวหนึ่ง ในวันพิพากษา ท่านจึงจะต้องเล่นละครเป็นตัวนักโทษ ในโศกนาฏกรรม!

            เมื่อนั้น บรรดาผู้ต้องเลือกสรรจะอยู่ทางขวา กว่านั้นอีก ท่านได้รับเกียรติสูงกว่าอีก ท่านอัครสาวกกล่าวว่า: ท่านจะลอยขึ้นบนอากาศ เหนือกลีบเมฆ ร่วมหมู่กับนิกรเทวดา คอยรับเสด็จพระเยซูคริสต์ ซึ่งจะเสด็จมาจากสวรรค์ “เราจะถูกยกขึ้นไปร่วมกับพวกท่านในอากาศเหนือกลีบเมฆ เพื่อรับเสด็จพระสวามีเจ้า” (1 ธส. 4, 16) ส่วนพวกนักโทษจะเป็นดังฝูงแพะที่เขาเตรียมจะนำไปโรงฆ่าสัตว์ จะถูกจำกัดให้อยู่ทางซ้าย เพื่อคอยพระตุลาการผู้จะเสด็จมาประกาศคำตัดสินลงโทษศัตรูทั้งหลายของพระองค์

            บัดนี้ ท้องฟ้าเปิดออก เทพนิกรจะมาร่วมประชุมในการพิพากษานักบุญโทมัสบอกว่า: ท่านจะนำเอาเครื่องหมายแห่งพระมหาทรมานของพระเยซูคริสต์มาพร้อมด้วย (6) อาทิ คือ เครื่องหมายกางเขนจะปรากฏขึ้น “เมื่อนั้น สำคัญแห่งพระบุตรของมนุษย์จะปรากฏขึ้นในท้องฟ้า และประชาชาติทั้งหลายแห่งแผ่นดิน จะพากันร้องไห้” (มธ. 24, 30) ท่าน กอร์เนลีโอ อาลาปีเดอธิบายว่า: อนิจจา! เมื่อแลเห็นกางเขน คนบาปจะร้องไห้ เพราะเขามิได้เอาใจใส่เรื่องความรอดตลอดนิรันดรของตน ตลอดทั้งชีวิต ความรอด ซึ่งพระบุตรของพระเป็นเจ้าได้ทรงเสียสละพระองค์อย่างที่สุด เพื่อให้เขาบรรลุถึง นักบุญคริสซอสโตมกล่าวว่า: เมื่อนั้น “ตะปู จะบ่นว่าท่าน บาดแผลจะต่อว่าต่อขานท่านกางเขนของพระคริสต์เจ้า จะลงเอยกล่าวโทษท่าน” (7)

            เมื่อนั้น ยังจะมีผู้มารวมนั่งพิพากษา คือคณะอัครสาวก และผู้เจริญรอยตามแบบอย่างของท่าน ซึ่งจะเป็นผู้พิพากษานานาประเทศพร้อมกับพระเยซูคริสต์ “บรรดาผู้ใคร่ธรรมจะเปล่งรัศมี... จะพิพากษาประชาชาติ” ต่อนั้นพระนางพรหมจาริณี พระบรมราชินีแห่งนักบุญทั้งหลาย และแห่งเทพนิกรก็จะเสด็จมาประทับประจำพระที่นั่ง ที่สุดองค์พระตุลาการสูงสุด ผู้สถิตสถาพรตลอดนิรันดร จะเสด็จมาประทับบนพระราชบัลลังก์ ด้วยพระมหิทธิศักดิ์และพระรัศมีภาพ “เขาจะแลเห็นพระบุตรแห่งมนุษย์เสด็จมาจากสวรรค์ ประทับอยู่เหนือกลีบเมฆ ทรงสรรพานุภาพ และมหิทธิศักดิ์” (มธ. 24, 30) “เมื่อเสด็จมาถึง นานาชาติจะพากันตระหนกตกใจ” (ยอล. 2, 6) การแลเห็นพระคริสต์เจ้าจะบันดาลให้บรรดาผู้ต้องเลือกสรรอิ่มเอิบยินดี แต่สำหรับนักโทษ นักบุญคริสซอสโตมกล่าว จะร้ายยิ่งกว่าการตกนรกอีก (8) นักบุญเทเรซา จึงทูลว่า “พระเยซูเจ้าข้า ขอให้ข้าพเจ้าได้รับความทุกข์ยากลำบากทุก ๆ อย่างเถิด ขอเพียงอย่าให้ข้าพเจ้าได้แลพระพักตร์อันทรงพระพิโรธ ในวันนั้นเท่านั้น!” นักบุญบาซีลีโอ กล่าวว่า “ความละอาจอันนั้น จะร้ายกว่าโทษใด ๆ ทั้งสิ้น” (9) เมื่อนั้นแหละจะเป็นไปตามคำทำนายของนักบุญยวง: “พวกนักโทษจะร้องขอให้ภูผามาทุ่มทับตัวเขา เพื่อจะได้มองไม่เห็นพระตุลาการทรงพระพิโรธ” (วว. 6, 16)

ข้อเตือนใจและคำภาวนา

           โอ้พระมหาไถ่ที่สุดเสน่หา โอ้พระชุมพาน้อยของพระเป็นเจ้า พระองค์ได้เสด็จมายังโลก มิใช่เพื่อทรงอภัยบาป โปรดเถิดพระเจ้าข้า โปรดอภัยบาปของข้าพเจ้า ก่อนที่จะถึงวันพิพากษา โอ้พระชุมพาน้อยพระองค์ได้ทรงเพียรทนข้าพเจ้าเป็นนักหนา หากว่าในขณะนั้น ข้าพเจ้าจะต้องพินาศไป การที่จะได้แลเห็นพระองค์จะเป็นนรกแห่งนรกโดยแท้ สำหรับข้าพเจ้า! โปรดเถิด พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าขอย้ำทูล โปรดอภัยบาปของข้าพเจ้าในบัดนี้ โปรดยื่นพระหัตถ์อันเมตตา ล้วงข้าพเจ้าออกจากหลุม ที่ข้าพเจ้าได้ตกลงไป เพราะได้กระทำบาป องค์คุณงามความดีที่ล้นพ้นเจ้าข้า ข้าพเจ้าเสียใจ เพราะได้ทำชอกช้ำน้ำพระทัยของพระองค์เป็นอันมากมายนั้น ข้าแต่พระตุลาการ ข้าพเจ้ารักพระองค์ พระองค์ผู้ทรงเอ็นดูกรุณาข้าพเจ้าจนถึงเพียงนี้ กรุณาเถิด พระเจ้าข้า เดชะพระบุญญาบารมีและการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ กรุณาประทานพระหรรษทานอันใหญ่หลวงคือ เปลี่ยนใจข้าพเจ้าจากคนบาป กลับมาเป็นนักบุญ พระองค์ได้ทรงสัญญาจะสดับฟังคำภาวนาของผู้ร้องขอพระองค์ว่า “จงร้องหาเราเถิด และเราจะฟังเสียงเจ้า” (ยรม. 33, 3) ข้าพเจ้าไม่ขอทรัพย์สมบัติฝ่ายแผ่นดิน ขอแต่พระหรรษทาน และความรักต่อพระองค์เท่านั้น พระเจ้าข้า พระเยซู เจ้าข้า โปรดสดับฟังคำภาวนาของข้าพเจ้าโปรดเห็นแก่ความรักของพระองค์ต่อข้าพเจ้า จนได้ยอมสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนนั้นเถิด ข้าแต่พระตุลาการที่สุดเสน่หา ข้าพเจ้าเป็นจำเลยก็จริง แต่เป็นจำเลยที่รักพระองค์ มากกว่ารักตัวเอง ทรงพระกรุณาต่อข้าพเจ้าด้วยเถิดพระเจ้าข้า

            ข้าแต่พระนางมารีอา โปรดเร่งเสด็จมา ช่วยข้าพเจ้า ณ กาลบัดนี้ ซึ่งเป็นเวลาที่ท่านยังช่วยข้าพเจ้าได้ คราวก่อนแม้ข้าพเจ้าได้ดำรงชีพ ลืมท่าน ลืมพระเป็นเจ้า ท่านก็ยังมิได้ทอดทิ้งข้าพเจ้า บัดนี้ ข้าพเจ้ากำลังตั้งใจปรนนิบัติท่าน และตั้งใจไม่ทำเคืองพระทัยของพระสวามีเจ้าต่อไปแล้ว โปรดช่วยข้าพเจ้าด้วยเถิด พระแม่มารีอาเจ้าข้า ท่านคือสรณะที่ไว้วางใจของข้าพเจ้า

3. การตัดสินใจ

            บัดนี้ เปิดฉากการพิพากา “การพิพากษาเริ่มขึ้น และหนังสือก็เปิดอ้าออก” (ดนล. 7, 10) คดีความ กล่าวคือ มโนธรรมของคนละคน ก็คลี่ออกพยานพวกแรก ฝ่ายปฏิปักษ์ต่อนักโทษ ก็คือหมู่ปีศาจ มันจะทูล ตามที่นักบุญเอากุสติน รจนาไว้ว่า “ข้าแต่พระตุลาการผู้ทรงความเที่ยงธรรมหาเสมอเหมือนมิได้ โปรดตัดสินคนที่ไม่ยอมเป็นของของพระองค์ ให้ตกเป็นของของพวกข้าพเจ้าเถิด” (10) พยานปากที่สอง คือ มโนธรรมของคนละคน “มโนธรรมของเขาจะเป็นพยาน” (รม. 2, 15) ต่อนั้นฝาผนังกำแพงเรือนที่คนบาปได้ทำผิดท่ามกลางนั้น ก็จะเป็นพยานเรียกร้องให้ลงพระอาชญา “หินผาจะตะโกนส่งเสียงออกมาจากกำแพง” (ฮบก. 2, 15) ที่สุด องค์พระตุลาการเอง ก็จะทรงเป็นพยานทั้งนี้เพราะพระองค์ทรงประทับอยู่ทาหนทุกแห่ง ณ ที่ที่เราได้ทำบาป “เราคือผู้พิพากษาและพยาน” (ยรม. 29, 23) นักบุญเปาโล กล่าวว่า “เมื่อนั้น พระสวามีเจ้าจะทรงเอาไฟส่อง สิ่งที่ซ่อนอยู่ในที่มืด (1 คร. 4, 5) พระองค์จะทรงเผยแสดงให้มนุษย์ทุก ๆ คน แลเห็นบาปที่ซ่อนเร้นมิดชิดที่สุด และบาปอันน่าละอาย ซึ่งนักโทษได้ปิดซ่อนไว้ตลอดชีวิต และซึ่งเขาไม่ยอมบอกแม้แต่พระสงฆ์ในที่แก้บาป “เราจะเปิดโปงสิ่งน่าอับอาย ต่อหน้าต่อตาเจ้า” ส่วนบาปของผู้ต้องเลือกสรร ตามความเห็นของอาจารย์แห่งชีวิตภายใน (= เปโตร ชาวลมบาร์ด) และนักเทววิทยาอื่น ๆ จะไม่เปิดเผยออก แต่จะถูกปกปิดไว้ ทั้งนี้ตามวาทะของดาวิดว่า “ช่างมีบุญจริง บุคคลที่ความชั่วของเขาถูกยกออก และบาปของเขาถูกปกปิดไว้” (สดด. 31, 1) แต่นักบุญบาชีลีโอ กล่าวว่า: ตรงกันข้าม บาปของนักโทษทุก ๆ ประการ ขอเหลือบตาไปกระทบใคร ๆ ก็จะแลเห็น ดุจในรูปภาพ” (11) นักบุญโทมัส เตือนให้คำนึงว่า: หากที่สวน เล็ตเซมานี พระเยซูตรัสเพียงว่า “เป็นเรานี้เอง” เท่านี้ พวกที่มารจับกุมพระองค์ ก็ล้มลงกับพื้นดินแล้ว ก็จะเป็นอย่างไรเล่า เมื่อพระองค์จะประทับอยู่บนพระบัลลังก์ ในฐานะพระตุลาการจะตรัสว่า “เป็นเรานี้เองแหละ ที่เจ้าทั้งหลายดูถูกมากนัก! (12)

            ฟัง! ถึงเวลาตัดสินแล้ว พระเยซูจะทรงแปรพระพักตร์ไปทางผู้ต้องเลือกสรร และตรัสด้วยพระวาจาอันอ่อนโยนน่ารักว่า “มาเถิดมา บรรดาท่านผู้ที่ได้รับพระพรจากพระบิดาของเรา เชิญมารับพระราชัยแห่งสวรรค์ อันได้เตรียมไปต้อนรับท่าน ตั้งแต่สร้างโลกมา” (มธ. 25, 34) เมื่อพระเป็นเจ้าได้ทรงแสดงให้นักบุญฟรันซีส อัสซีซี ทราบว่า ตัวท่านอยู่ในจำนวนผู้ต้องเลือกสรรท่านนักบุญมีความยินดี ไม่รู้จะอดกลั้นไว้อย่างไร ก็ชาวเราจะตื่อนเต้นยินดีเพียงไรหนอ เมื่อจะได้ยินพระตุลาการเอง ตรัสว่า “มาเถิดมา ลูกที่ได้รับพระพรเชิญมาเสวยราชสมบัติ: ลูกจะไม่ต้องลำบาก ไม่ต้องกลัวอะไรต่อไปแล้ว บัดนี้ลูกรอด และจะรอดอยู่เสมอ เราอำนวยพระพรแด่พระโลหิตของเรา ซึ่งได้หลั่งเพื่อลูกทั้งหลาย เราอำนวยพระพร แก่น้ำตา ที่พวกลูกได้หลั่งออก เพื่อบาปของลูกเอง มา ไปสวรรค์กันเถิด ที่นั้น เราจะอยู่ด้วยกันเสมอ ตลอดนิรันดรภาพ พระแม่มารีอาก็เหมือนกัน, จะทรงอำนวยพรแก่บรรดาผู้ภักดีต่อท่าน และจะทรงเชื้อเชิญเขาให้เข้าไปสวรรค์พร้อมกับท่าน เมื่อนั้น บรรดาผู้ต้องเลือกสรรทั้งหลาย จะตั้งแถวเดินหน้าอย่างผู้มีชัย พลางขับร้อง อัลเลลูยา อัลเลลูยา ตรงเข้าไปสู่วิมานสวรรค์ เพื่อเข้าจับจอง เพื่อสรรเสริญ และเพื่อรักพระเป็นเจ้าตลอดทั้งชั่วนิรันดร

            ตรงข้าม ฝ่ายพวกนักโทษจะหันหน้าไปทางพระเยซูคริสต์ ทูลพระองค์ว่า: ส่วนพวกข้าพเจ้าคนอาภัพนี้เล่า จะเป็นอย่างไร? - พระตุลาการจะหันมาตรัสว่า: พวกเจ้าน่ะหรือ? พวกเจ้าได้ทิ้งเรา ได้ดูถูกพระหรรษทานของเรา ไป ไปให้พ้นหน้าเรา อ้ายพวกต้องแช่ง จงไปสู่ไฟชั่วนิรันดร (มธ. 25, 41) ไป ไปให้พ้น เราไม่อยากเห็น ไม่อยากได้ยินเจ้าต่อไปแล้ว ไป ไปให้พ้น เจ้าพวกต้องแช่ง เจ้าได้ดูหมิ่นพระพรของเรา พระสวามีเจ้าข้า พวกคนอาภัพเหล่านั้นจะต้องไปไหน พระเจ้าข้า? - ไปนรก ไปเผาไฟทั้งวิญญาณ ทั้งร่างกาย ตลอดเวลากี่ปี? กี่ศตวรรษ พระเจ้าข้า?- อะไรจะกี่ปี กี่ศตวรรษ? ทั้งชั่วนิรันดรตราบเท่าที่พระเป็นเจ้า ยังคงเป็นพระเป็นเจ้า

            จบคำตัดสินแล้ว นักบุญเอแฟรม ว่า: พวกนักโทษ จะอำลาเทวดานักบุญ พ่อแม่พี่น้อง และพระมารดาของพระเป็นเจ้าว่า “ลาก่อน บรรดาผู้ใคร่ธรรม ลาก่อน กางเขน ลาก่อน พ่อ ลูก เราจะไม่ได้แลเห็นกันต่อไปอีกแล้ว! ลาก่อนด้วย พระนางมารีอา พระมารดาของพระเป็นเจ้า” (13) เมื่อนั้นที่ตรงเหวนั้นเอง จะเปิดออกเป็นขุมมหึมา หมู่ปีศาจและเหล่านักโทษจะตกลงไปในนั้นพร้อมกัน บัดนั้น ข้างหลังพวกเขา, อนิจจา! จะได้ยินเสียงประตูปิดดังปังใหญ่ซึ่งไม่มีวันจะเปิด ไม่มีวันจะเปิดเลย ตลอดนิรันดรภาพ!-- โอ! อ้ายบาปอัปรีย์จัญไร! วันหนึ่ง เจ้าจะนำวิญญาณอาภัพจำนวนมาก มาสู่ปลายทางอันแสนจะทุเรศดังนี้! โอ้! น่าสงสารวิญญาณ ที่จะต้องไปสู่ปลายทางอันน่าโอดครวญดั่งนี้!

ข้อเตือนใจและคำภาวนา

           อา! พระมหาไถ่ และ พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า ในวันนั้นข้าพเจ้าจะถูกพระองค์ตัดสินประการใดหนอ? พระเยซูเจ้าข้า หากในขณะนี้พระองค์จะทรงไต่สวนข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะตอบพระองค์ว่าอย่างไร นอกจากจะรับว่า ข้าพเจ้าสมจะไปนรกพันนรก? ถูกแล้ว เป็นความจริงแล้ว พระมหาไถ่ที่สุดเสน่หา ข้าพเจ้าสมจะไปนรกพันนรก แต่ขอพระองค์โปรดทราบด้วยว่า ข้าพเจ้ารักพระองค์และรักพระองค์ยิ่งกว่าตัวข้าพเจ้าเอง ส่วนความผิดที่ข้าพเจ้าได้ทำต่อพระองค์นั้น ข้าพเจ้าก็เป็นทุกข์ จนกว่าข้าพเจ้ายินดีจะรับความยากลำบากภัยพิบัติทุก ๆ ประการ ดีกว่าจะทำเคืองพระทัยอีก พระเยซูเจ้าข้า พระองค์ทรงลงโทษแต่คนบาปที่มีใจกระด้าง แต่ไม่ทรงลงโทษคนที่เป็นทุกข์กลับใจ และคนที่อยากจะรักพระองค์ นี่แน่ะ ข้าพเจ้ากราบอยู่แทบพระบาท กำลังเป็นทุกข์ตรอมใจ โปรดแสดงให้ข้าพเจ้าทราบเถิดว่า พระองค์ทรงอภัยบาปแก่ข้าพเจ้าแล้ว แท้จริงพระองค์ก็ทรงโปรดให้ข้าพเจ้าทราบแล้วโดยวาทะของท่านประกาศว่า “จงหันมาหาเราเถิด และเราจะหันไปหาท่าน” (ศคย. 1, 3) ข้าพเจ้าละทุกสิ่ง สละความสนุกสบายทั้งหลาย และทรัพย์สมบัติทั้งสิ้นของแผ่นดิน ข้าพเจ้ากลับมา มาสวมกอดพระองค์ พระมหาไถ่ที่สุดเสน่หา โปรดเถิด โปรดรับข้าพเจ้าไว้ในพระหฤทัยของพระองค์ โปรดให้ไฟความรักอันศักดิ์สิทธิ์ของพระองคืสุมข้าพเจ้าอยู่ในนั้น เผาจนข้าพเจ้าไม่คิดจะเหินห่างจากพระองค์ต่อไปอีกเลยพระเยซูเจ้าข้า ช่วยให้ข้าพเจ้ารอดเถิด ให้ข้าพเจ้ารอด เพื่อรักพระองค์เสมอและเพื่อสรรเสริญความเมตตากรุณาของพระองค์เสมอ พระเจ้าข้า “ข้าพเจ้าจะซร้องสาธุการความเมตตากรุณาของพระสวามีเจ้า ตลอดนิรันดร” (สดด. 88, 1)

            ข้าแต่พระนางมารีอา ที่ไว้วางใจ ที่หลบภัย และแม่ของข้าพเจ้า โปรดช่วยข้าพเจ้าด้วย โปรดให้ข้าพเจ้าคงเจริญในความดีเรื่อยไปจนเวลาตายด้วยเถิด ไม่มีใครที่ได้มาขอพึ่งท่านแล้วต้องพินาศไปสักคนเดียว ข้าพเจ้าจึงวิ่งมาฝากตัวไว้กับท่าน กรุณาช่วยข้าพเจ้าด้วยเถิด

(1) Quoties diem judicii considero, contremisco; simper videtur illa tuba insonare auribus meis: Surgite, mortui, venite ad

      judicium. (in Mt. c, 5)

(2) O felix poenitentia, quae tantam mihi promeruit gloriam.

(3) Libenter illius judicium subeo, qui pro me nortuus est, et ne me damnaret, ad crucem se damnari permisit.

(4) Quomodo putas, impios confundendos, quando segregates justis, fuerint derelicti! (Aut. op. imperf. hom. 54).

(5) Et si nihil ulterius paterentur, ista sola verecundia sufficeret eis ad poenam (In Matth. c. 24).

(6) Veniente Domino ad judicium, signum cruces et alia passionis indicia demons strabuntur (Comp. theol. p.l c. 244).

(7) Clavi de te conquerentur, cicatrices contra te loquerentur, crux Christi contrite perorabit (Hom 20 in Matth).

(8) Damnatis melius esset inferni poenas, quam Domini praesentiam ferre.

(9) Superat omnem poenam confusion ista.

(10) Aequissime dues, judica esse meum, qui tuus esse noluit.

(11) Unico intuitu singular peccata velut in picturra noscentur. (Lib. de Ver. Virg.).

(12) Quid faciet judicatures, qui hoc fecit judicandus?

(13) Valete, justi; Vale, crux; vale, paradise, Valete, patres ac filii, nullum siquidem vestrum visuri sumus ultra.Vale, tu

       quoque, Dei genitrix, Maria. (S. Ephr. De variis form. inf.).

1. โทษทางประสาท

            เมื่อคนเราทำบาป ก็ทำความผิดสองประการคือ การละทิ้งพระเป็นเจ้าองค์คุณงามความดีที่ล้นพ้น และการหันไปหาสัตว์โลก “ประชากรของเราได้กระทำชั่วสองประการ คือ ได้ละทิ้งเราผู้เป็นธารน้ำอันทรงชีวิต และไปขุดบ่อ บ่ออันแตกระแหงที่ขังน้ำไม่อยู่” (ยรม. 2, 13) ในการทำเคืองพระทัยพระเป็นเจ้า คนบาปหันไปหาสัตว์โลกนี้เอง ฉะนั้นจึงยุติธรรมแล้วที่ในนรกสัตว์โลกเองจะทรมานเขา อาทิ ไฟ และปีศาจ นี่แหละที่เรียกว่า โทษทางประสาท แต่เพราะความผิดอันสำคัญ ที่ทำให้เป็นบาปนั้นอยู่ที่การหันหลังให้พระเป็นเจ้าฉะนั้นโทษของนรกที่ร้ายแรงกว่าหมดจึงเป็น โทษความสูญเสีย หมายความถึงโทษความสูญเสียพระเป็นเจ้านั่นเอง

            ณ ที่นี้ ชาวเราจะพิเคราะห์ดูโทษทางประสาทก่อน ความเชื่อสอนว่า นรกมีอยู่จริง ที่ในสะดือแผ่นดิน มีคุกสำหรับลงโทษผู้ที่คิดกบฏต่อพระเป็นเจ้านรกคืออะไร?- คือ “สถานแห่งการทรมาน” (ลก. 16, 28) ผู้ให้ชื่อดังนี้ คือเศรษฐีนักกินซึ่งได้ตกนรก นรกเป็นสถานแห่งการทรมาน เป็นที่ซึ่งประสาททุกอัน สมรรถภาพทุกอันของนักโทษ จะถูกโทษทนทุกข์ทรมานต่างหากโดยเฉพาะ และยิ่งใครได้ใช้ประสาทอันหนึ่งทำเคืองพระทัยของพระเป็นเจ้ามากประสาทอันนั้นก็ยิ่งจะถูกทรมานมากขึ้น “คนทุกคนจะถูกโทษ โดยสิ่งที่เขาได้ใช้ทำบาป” (ปชญ. 11, 17) “จงทรมานมัน เท่าที่มันได้ให้เกียรติยศและความสนุกสนานแก่เขา” (วว. 18, 7)

            ประสาทแห่งการเห็น จะถูกทรมานด้วยความมืด (โยบ. 10, 21) เรารู้สึกสงสารเหลือเกิน เมื่อได้ยิว่า ใครถูกขังอยู่ในหลุมมืดตลอดทั้งชีวิต เป็นเวลานานตั้ง 40-50 ปีมาแล้ว! นรก คือ ขุมอันปิดหมดทุกด้าน, ไม่มีแสงแดดหรือแสงอะไรเข้าไปเลย “เขาจะไม่แลเห็นแสงสว่างทั้งชั่วนิรันดร” (สดด. 48, 20) ไฟในโลกเรานี้มีแสงสว่าง แต่ไฟในนรก มืดตื้อทีเดียว ผู้นิพนธ์บทเพลงสดุดี รจนาไว้ว่า “พระสุรเสียงของพระเป็นเจ้า ทรงแยกเพลิงออกจากไฟ” (สดด. 28, 7) นักบุญบาซีลีโอ อธิบายความตอนนี้ว่า: พระสวามีทรงแยกไฟออกจากความสว่าง โดยว่า ไฟชนิดนั้น จะทำหน้าที่เยา และไม่ทำหน้าที่ให้ความสว่าง ส่วนท่านอัลแบร์โต มักโญ สาวกกล่าวอีกว่า “พระองค์ทรงแยกความสว่างออกจากความร้อน” (1) ควันที่ออกจากไฟนั้นเอง จะประกอบขึ้นเป็นกลุ่มเป็นความมืดมน ตามคำกล่าวของ นักบุญยูดา และจะทำให้ตาของพวกนักโทษบอดไป “ความมืดมน จะปกคลุมเขาไว้ตลอดนิรันดร” (ยด. 5, 13) นักบุญโทมัส แจ้งว่าพวกนักโทษจะมีแสงสว่างเฉพาะพอดี ๆ สำหรับจะทรมานเขาหนักขึ้น (2) อาศัยแสงสลัว ๆ นั้น เขาจะเห็นความน่าเกลียดน่าชังของพวกนักโทษ และของหมู่ปีศาจซึ่งจะมีรูปร่างน่าเกลียดน่ากลัว เป็นเหตุให้เขาขนลุก

            ประสาทแห่งการสูดดม จะถูกทรมาน หากเราถูกขังอยู่ในห้องที่มีศพกำลังเน่าเฟะ เราจะรู้สึกสะอิดสะเอียนเพียงไร? ก็นักโทษในนรกต้องรวมอยู่ด้วยกันเป็นจำนวนนับล้าน ๆ เขาเหล่านี้ มีชีวิตอยู่ก็เพื่อถูกทรมาน แต่เมื่อพูดถึงความเน่าเหม็นแล้ว ต้องว่า เขาเป็นศพโดยแท้ (อสย. 34, 3) นักบุญเบอนาแวนตูราบอกว่า: หากจะเอาร่างของนักโทษคนหนึ่งออกมาจากนรกและเอามาทิ้งไว้บนแผ่นดิน กลิ่นเหม็นของมัน ก็พอจะฆ่ามนุษย์หมดสิ้นโลก แต่ อนิจจา! คนบ้าบางคนยังพูดออกมาได้ว่า: ถึงจะไปนรก ฉันก็ไม่ไปคนเดียว: คนบ้าเจ้าเอ๋ย ยิ่งจะมีพวกมากในนรก เจ้าก็ยิ่งจะถูกทรมานมากขึ้น นักบุญโทมัส บันทึกว่า: การที่มีเพื่อนทนทุกข์ด้วยกันมาก ๆ ในนรก ไม่ลดความทุกข์เวทนาลงหรอก กลับทวีมากขึ้นอีกต่างหาก (3) นี่แน่ะ ข้าพเจ้าจะบอกให้: ท่านยิ่งจะต้องลำบากมากขึ้นเพราะกลิ่นเหม็น เพราะเสียงอึกทึก และเพราะการอัดแอยัดเยียดกัน นักโทษในนรกนั้นจะทับซ้อนกันคล้ายฝูงแกะในฤดูหนาว “ในนรกเขาจะทับกันดุจฝูงแกะ” (สดด. 48, 15) กว่านั้นอีก เขาจะคล้ายกับผลองุ่น ที่ถูกเครื่องหีบของพระเป็นเจ้าบีบ “พระองค์ทรงเหยียบเครื่องหีบผลองุ่นแห่งพระพิโรธ ของพระเจ้าผู้ทรงฤทธิ์ทุกประการ” (วว. 19, 15) เพราะการถูกบีบดังนี้เอง จึงเกิดมีโทษ ให้กระดุกกระดิกเคลื่อนที่ไม่ได้ “เขาจะไม่รู้จักเคลื่อนที่ ประดุจหินเผา” (อพย. 15, 16) ฉะนั้น ในวันสุดท้าย เมื่อนักโทษตกลงใปในนรก มีกิริยาการอยู่ในท่าใด ก็จะคงอยู่ในท่านั้น จะเปลี่ยนที่ จะกระดุกกระดิกมือเท้าไม่ได้ต่อไปต้องอยู่ดังนี้เรื่อยไป ตราบเท่าที่พระผู้เป็นเจ้า ยังคงเป็นพระผู้เป็นเจ้า

            ประสาทแห่งการได้ยิน จะถูกทรมาน ด้วยการได้ยินเสียงเห่าหอนและร้องไห้คร่ำครวญของพวกนักโทษน่าทุเรศ และพวกคนเสียใจเหล่านั้นเรื่อยๆ ไป นอกนั้นฝูงปีศาจจะทำอึกทึกหนวกหูเรื่อยไปอีกด้วย “หูของเขา จะก้องอยู่ด้วยเสียงที่ทำให้ตระหนกตกใจเรื่อยไป” (โยบ. 15, 21) เมื่อเราอยากจะนอนหากได้ยินเสียงคนเจ็บครวญคราง เสียงสุนัขเห่าหอน หรือเสียงเด็กร้องไห้เรื่อยไป ช่างน่าโมโห น่ารำคาญเหลือทนใช่ไหม? ก็น่าสงสารพวกนักโทษนักหนา เขาจะได้ยินแต่เสียงครวญคราง เสียงร้องเอ็ดตะโรของพวกนักโทษด้วยกันเรื่อยไปตลอดทั้งนิรันดรภาพ!

            ประสาทแห่งการลิ้มรส จะถูกทรมานด้วยความหิวโหย นักโทษ “จะหิวโซดุจสุนัข (สดด. 58, 15) แต่เขาจะไม่มีข้าวกิน แม้สักเม็ด เขาจะกระหายน้ำจนแม่น้ำทะเลทั้งหมดก็ยังจะไม่พอดื่ม แต่น้ำสักหยดก็จะหามีไม่ น้ำหยดหนึ่งนั้นเศรษฐีนักกินผู้นั้นได้อ้อนวอนขอแล้ว แต่ยังไม่ได้รับ ทั้งจะไม่ได้รับเป็นอันขาดทั้งนิรันดรภาพ!

ข้อเตือนใจและคำภาวนา

           พระสวามีเจ้าข้า ที่แทบพระบาท คือคนที่ไม่เอาใจใส่ต่อพระหรรษทานและต่อพระอาชญาโทษของพระองค์กำลังกราบอยู่ พระเยซูเจ้าข้า ข้าพเจ้าจะน่าสมเพชเพียงไร หากพระองค์มิได้ทรงพระเมตตา ข้าพเจ้าควรจงไปอยู่ในเตาไฟเน่าเหม็นนั้น แต่กี่ปีมาแล้ว! อนิจจา! คนอื่นเป็นอันมาก ที่คล้ายกับข้าพเจ้าเขาต้องไปอยู่ที่นั้นแล้ว! ดังนั้น พระมหาไถ่เจ้าข้า เมื่อข้าพเจ้าคิดถึงเรื่องนี้ไฉนข้าพเจ้าจึงไม่ระอุร้อนไปด้วยความรักต่อพระองค์หนอ! ข้าพเจ้ายังจะคิดทำเคืองพระทัยต่อไปข้างหน้าอีกหรือ? โปรดเถิด พระเยซูเจ้าข้า อย่าปล่อยให้เป็นเช่นนั้นเลย ให้ข้าพเจ้าตายเสียสักพันครั้งยังดีกว่า ไหน ๆ พระองค์ได้ทรงเริ่มลงมือแล้ว โปรดกระทำต่อไปจนสำเร็จเถิด: พระองค์ได้ทรงพระกรุณาลากข้าพเจ้าขึ้นจากกองขยะของบาป ทั้งยังเรียกร้องให้ข้าพเจ้ามารักพระองค์ด้วยความหวังดีเป็นที่ยิ่งแล้ว โปรดเถิด พระเจ้าข้า โปรดให้ข้าพเจ้าใช้เวลาที่พระองค์ยังทรงประทานให้นี้ทั้งหมดเพื่อพระองค์อย่างเดียวเท่านั้นพระเจ้าข้า โอ้ว่า! หากพวกนักโทษนรก จะมีเวลาสักหนึ่งวัน สุกหนึ่งชั่วโมง อย่างที่ทรงประทานแก่ข้าพเจ้า เขาจะดีใจเป็นอย่างมาก แล้วข้าพเจ้ายังสำคัญอะไรอยู่เล่า? ยังจะเสียเวลาไปในการทำบาปอีกหรือ?- ไม่เอาแล้ว พระเจ้าข้าอย่าทรงปล่อยให้เป็นดังนั้นเป็นอันขาด พระเจ้าข้า โปรดเห็นแก่พระบารมีและพระโลหิต ซึ่งพระองค์ได้ทรงหลั่ง เพื่อให้ข้าพเจ้าพ้นนรกมาจนบัดนี้เถิด โอ้องค์คุณงามความดีที่ล้นพ้น ข้าพเจ้ารักพระองค์ และเพราะรักพระองค์ ข้าพเจ้าจึงเสียใจที่ได้ทำเคืองพระทัย ข้าพเจ้าจะไม่ทำต่อไปเป็นอันขาด ข้าพเจ้าปรารถนาจะรักพระองค์เสมอไม่หยุดหย่อน พระเจ้าข้า

            ข้าแต่พระนางมารีอา พระบรมราชินี และมารดาของข้าพเจ้า โปรดวิงวอนพระเยซูเพื่อข้าพเจ้า โปรดช่วยให้ข้าพเจ้าได้รับความคงเจริญในความดีและความรักต่อพระเป็นเจ้าเสมอเถิด

2. ไฟ

            อาชญาโทษชนิดที่ทรมานประสาทอย่างร้ายแรงกว่าหมด ก็คือไฟของนรกอันเป็นเครื่องทรมานประสาทสัมผัส “ไฟจะลงโทษเนื้อหนังของคนอธรรม” (บสร. 7, 19) เพราะฉะนั้น พระสวามีเจ้าจึงทรงกล่าวถึงไฟเป็นพิเศษ เมื่อตรัสถึงการพิพากษาว่า “จงไปให้พ้น อ้ายพวกต้องแช่ง ไปสู่ไฟชั่วนิรันดร” (มธ. 25, 40) ในแผ่นดินเรานี้แม้การลงโทษด้วยไฟก็ร้ายกาจกว่าการลงโทษอย่างอื่นทั้งหลายแล้ว แต่ไฟของเราในโลกผิดกันไกลกับไปนรก นักบุญเอากุสตินกล่าวว่า: เปรียบกันก็คือไฟของเราเป็นไฟที่เขาวาดไว้ในภาพ (4) และนักบุญวินแชนซีโอ แฟร์รารีโอ กล่าวว่า เมื่อเปรียบกันไฟของเราเย็น ท่านให้เหตุผลว่า: ไฟของเรานั้นพระเป็นเจ้าทรงสร้างเฉพาะเพื่อทรมาน เป็นไปอย่างที่ท่านแตร์ดูเลี่ยน รจนาว่า: ไฟที่เป็นประโยชน์แก่มนุษย์ในโลกนี้ ผิดกันไกลกับไฟที่ความยุติธรรมของพระเป็นเจ้าใช้ (5) “พระพิโรธของพระเป็นเจ้านั่นแหละบันดาลให้เกิดมีไฟสำหรับแก้แค้นอันนั้น” (ยรม. 15, 14) ท่านประกาศกอิสยาห์จึงเรียกไฟนรกว่า: “จิตแห่งความร้อน” (อสย. 4, 4)

            นักโทษจะถูกทิ้งลงไป ไม่ใช่ที่ไฟ “จงไปให้พ้น เจ้าพวกต้องแช่ง ไปสู่ไฟชั่วนิรันดร” (มธ. 25, 41) เป็นอันว่า ผู้เคราะห์ร้ายนั้น จะถูกไฟล้อมรอบ เหมือนดั่งฟืนอยู่ในกองไฟ นักโทษจะอยู่ในขุม มีไฟอยู่ข้างล่างไฟอยู่ข้างบน และไฟอยู่รอบข้าง เมื่อเขาแตะต้อง เมื่อแลเห็น เมื่อหายใจ เขาก็แตะต้อง แลเห็นและหายใจก็เป็นไฟ เขาจมอยู่ในไฟ เหมือนปลาว่ายอยู่ในน้ำใช่ว่าไฟนั้นอยู่รอบตัวนักโทษด้านนอก แต่มันยังเข้าไปทรมานข้างในไส้พุงเขาด้วย ตัวเขาจะกลายเป็นไฟไปหมด ไปจะเผาไส้ในท้อง หัวใจในอก มันสมองในหัวเลือดในเส้น ไขมันในกระดูก นักโทษคนละคน จะกลายเป็นเตาไฟในตัวตนเอง “พระองค์จะทรงบันดาลให้เขากลายเป็นเตาไฟอันร้อนแรง” (สดด. 20, 10)

            เพียงแต่เดินตามทางที่ถูกแดดเผา อยู่ในห้องที่เขาเผาเหล็ก ถูกสะเก็ดที่หล่นจากไต้ เท่านี้ บางคนก็ทนไม่ไหวแล้ว ดังนั้นไฉนเขาจึงไม่กลัวไฟนรกที่ขบกินเล่า? ประกาศกอิสยาห์ กล่าวว่า “ใครในพวกท่าน จะทนอยู่ในไฟที่ขบกินได้” (อสย. 33, 14) สัตว์ร้ายขบกินนางเก้งฉันใด ไฟนรกก็ขบกินนักโทษฉันนั้นผิดกันแต่แม้ไฟนรกขบกิน มันก็ไม่ทำให้นักโทษตายไป นักบุญเปโตร ดามีอาโนเมื่อพูดถึงคนลามก ท่านว่า “ทำเข้าไปเถิด เจ้าคนบ้า ทำให้เนื้อหนังของเจ้าได้ความสนุกเข้าไปเถิด สักวันหนึ่งหรอก เจ้าจะแลเห็นความอุลามกของเจ้ากลายเป็นน้ำมันยางบรรจุอยู่ในไส้พุงของเจ้า สำหรับเป็นเชื้อให้ไฟนรกเผาและทรมานเจ้าหนักขึ้น!” (6) 

            นักบุญฮีเอโรโม เสริมว่า: ไฟนั้นจะทรมาน และก่อให้เกิดความเจ็บปวดทุกชนิดที่เราเคยเจ็บปวดบนแผ่นดินนี้: จะเจ็บปวดที่สีข้า ที่ศีรษะ ที่ไส้ และที่เส้นประสาท (7) ไฟนั้นยังจะทำโทษให้หนาวอีกด้วย ตามวาทะของยอบว่า “ออกจากน้ำหิมะ เขาจะไปสู่ความร้อนอันเหลือทน” (โยบ. 24, 19) เท่าที่บรรยายมานี้ นักบุญคริสซอสโตม เตือนให้สำเนียกว่า: โทษทั้งหลายบนแผ่นดินนั้ เมื่อนำมาเปรียบกับโทษในนรกแล้ว ก็เป็นแต่เพียงเงาเท่านั้น (8)

            สมรรถภาพของวิญญาณก็เช่นกัน จะต้องถูกโทษสำหรับแต่ละชนิดโดยเฉพาะ ความทรงจำจะถูกโทษ คือจะระลึกถึงเวลาที่ตนได้มีในโลก เพื่อทำให้ตนรอด แต่ตนกลับนำไปใช้ทำให้ตนพินาศ เขาจะระลึกถึงพระหรรษทานที่ตนได้รับจากพระเป็นเจ้า แต่ตนมิได้ยอมใช้ให้เป็นประโยชน์ สติปัญญาจะถูกโทษ คือจะคิดถึงทรัพย์อันแท้จริง ที่ตนได้ทำให้เสียไป จะคิดถึงสวรรค์และพระเป็นเจ้า และความเสียหายอันนั้น ไม่มีทางจะแก้ไขต่อไปแล้ว น้ำใจก็จะถูกโทษคือจะเห็นว่าตัวขออะไรก็ไม่ได้สักอย่างเดียวเลย “ความปรารถนาของคนบาปจะกลายเป็นควัน” (สดด. 111, 10) นักโทษเคราะห์ร้ายอยากจะได้อะไร ก็จะไม่ได้เลยสักอย่าง กลับจะได้สิ่งที่เขาเกลียดเป็นที่สุด คือความทุกข์ทรมานทั้งชั่วนิรันดร เขาอยากจะออกจากที่ทรมาน และได้ความสุขบ้าง แต่ก็จะถูกทรมานอยู่เรื่อย และไม่มีเวลาให้ความสุขเลย

ข้อเตือนใจและคำภาวนา

           พระเยซูเจ้าข้า พระโลหิตและการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ เป็นสรณะที่พึ่งของข้าพเจ้า พระองค์ได้ทรงสิ้นพระชนม์ เพื่อให้ข้าพเจ้าพ้นจากความตายชั่วนิรันดร โอ! พระสวามีเจ้า ใครหนอจะได้รับส่วนในพระบุญญาบารมี และพระมหาทรมานของพระองค์ มากไปกว่าข้าพเจ้าคนอาภัพ ซึ่งสมจะไปสู่นรกแต่หลายครั้งหลายคราวมาแล้ว? โปรดเถิด อย่าปล่อยให้ข้าพเจ้าดำรงชีพใจดำต่อพระหรรษทานอันมากมายของพระองค์ต่อไปเลย พระองค์ได้ทรงช่วยข้าพเจ้าให้พ้นนรก ก็เพราะทรงหวังจะมิให้ข้าพเจ้าต้องถูกเผาไฟอยู่ในที่ทรมานนั้นและทรงหวังจะให้ข้าพเจ้ากลับลุกโชติช่วงระอุร้อนด้วยไฟความรักอันอ่อนโยนของพระองค์ โปรดให้ข้าพเจ้าปฏิบัติตามความประสงค์ของพระองค์เถิด พระเจ้าข้า หากข้าพเจ้าอยู่ในนรกขณะนี้แล้ว ก็จะรักพระองค์ไม่ได้ต่อไป ข้าแต่องค์ความใจดีที่ล้นพ้น ข้าพเจ้ารักพระองค์ รักพระองค์ รักพระมหาไถ่ ผู้ได้ทรงรักข้าพเจ้าเหลือคณนา ครั้งก่อนโน้นเป็นไฉนข้าพเจ้าจึงได้ดำรงชีพลืมพระองค์เป็นเวลาช้านานได้หนอ? ขอขอบพระคุณที่มิได้ทรงลืมข้าพเจ้า หากพระองค์จะได้ทรงลืมข้าพเจ้าแล้ว ปานนี้ข้าพเจ้าคงจะอยู่ในนรกนั่นแหละ หรืออย่างน้อยข้าพเจ้าคงจะไม่รู้สึกเป็นทุกข์ถึงบาปดังนี้ ความเป็นทุกข์ถึงบาปที่ข้าพเจ้ากำลังรู้สึกอยู่นี้ทั้งความปรารถนาอยากรักพระองค์มาก ๆ ทั้งสองอย่างนี้ เป็นพระหรรษทานของพระองค์ ที่กำลังช่วยข้าพเจ้า พระเยซูเจ้าข้า ขอสมนาพระคุณ ข้าพเจ้าตั้งใจจะถวายชีวิตที่ข้าพเจ้ายังมีอยู่นี้ แด่พระองค์นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าสละละทุกสิ่ง ข้าพเจ้าปรารถนาสิ่งเดียวคือ ปรนนิบัติพระองค์และทำความชอบใจแด่พระองค์พระเจ้าข้า โปรดประทานให้ข้าพเจ้าระลึกอยู่เสมอมิได้ขาด ถึงนรกอันข้าพเจ้าควรจะไป และถึงพระหรรษทานที่ข้าพเจ้าได้รับจากพระองค์ ขออย่าทรงปล่อยให้ข้าพเจ้าหันหลังให้พระองค์อีกเลย ทั้งขออย่าให้ข้าพเจ้าลงโทษตัวเองให้ไปสู่ขุมแห่งความทรมานดังกล่าวมานั้นเลย พระเจ้าข้า

            ข้าแต่พระมารดาของพระเป็นเจ้า โปรดภาวนาอุทิศแก่ข้าพจเคนบาปนี้ด้วยเถิด คำเสนอวิงวอนของท่าน ได้ช่วยให้ข้าพเจ้าพ้นนรกมาจนบัดนี้ ขอโปรดเสนอวิงวอนต่อไปอีกเถิด คุณแม่ที่รัก เพื่อข้าพเจ้าจะได้พ้นจากบาปซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่จะทำให้ข้าพเจ้าต้องโทษไปสู่นรกนั้น

3. โทษความเสียหาย

 

            โทษานุโทษทั้งหลายเท่าที่ได้กล่าวมา หากเอามาเปรียบกับโทษความเสียหาย ก็เป็นแต่ความเปล่าทั้งสิ้น ความมืดมน กลิ่นเหม็น เสียงอึกทึก และไฟนั้นยังหาใช่สิ่งท่ำทให้เป็นนรกไม่ สิ่งที่ทำให้เป็นนรกนั้น คือ อาชญาโทษ ความเสียหายพระเป็นเจ้าต่างหาก นักบุญบรูโน กล่าวว่า “จะเอาการทรมานเพิ่มกับการทรมานเท่าไรก็ตามใจ ขอเพียงอย่าต้องให้เสียพระเป็นเจ้าก็แล้วกัน” (9) และนักบุญยวง คริสซอสโตม ว่า “ถึงท่านจะพูดว่า นรกพันนรก ก็เท่ากับว่า ท่านไม่ได้พูดว่าอะไรเลย ในเมื่อเอามาเปรียบกับความทุกข์อันนั้น” (10) นักบุญเอากุสติน เสริมว่า “สมมุติว่า นักโทษแลเห็นพระเป็นเจ้าได้ เขาก็จะไม่รู้สึกถึงความทุกข์แต่อย่างใดเลย ในเมื่อเอามาเปรียบกับความทุกจ์อันนั้น” (11) เพื่อช่วยให้ท่านเข้าใจถึงพระอาชญาโทษอันนี้บ้างเล็กน้อย ขอให้ท่านคิดดูว่า หากเราทำเพชรอันมีค่า 100 กะรัตหาย เราจะเสียใจมาก หากเพชรเม็ดนั้นมีค่า 200 กะรัต ความเสียใจจะทวีขึ้นเป็นสองเท่า และหากว่ามีค่า400 กะรัต ความเสียใจจะทวีขึ้นอีก สรุปความ ของที่เสียไปมีค่าเท่าไร ความเสียใจก็ทวีขึ้นเท่านั้น ก็ทรัพย์ที่นักโทษเสียไป คืออะไรเล่า?- เป็นทรัพย์สมบัติอันใหญ่ไม่มีขอบเขต กล่าวคือ พระเป็นเจ้านั่นเอง ฉะนั้น นักบุญโทมัส จึงลงความเห็นว่า “ผู้เสียต้องเสียใจอย่างไม่มีขอบเขต” (12)

            นักบุญเอากุสติน กล่าวว่า “ทุกวันนี้ในโลกมีแต่พวกนักบุญเท่านั้นที่กลัวพระอาชญาประการนี้” (13) นักบุญอิกญาซีโอแห่งโลโยลา ทูลว่า “พระสวามีเจ้าข้า ข้าพเจ้าขอรับพระอาชญาโทษทุก ๆ ประการ ขอแต่อย่าลงพระอาชญาให้ข้าพเจ้าต้องปราศจากพระองค์เท่านั้น พระเจ้าข้า” พวกคนบาปช่างไม่สนใจต่อพระอาชญาโทษนี้เสียเลย เขาดำรงชีพห่างเหินจากพระเป็นเจ้าได้เป็นเวลาเดือน ๆ ปี ๆ ทั้งนี้เพราะเขาคนอาภัพอยู่ในความมืดนั่นเอง ต่อเมื่อตายไปแล้วนั่นแหละจึงจะรู้หรอกว่าตนได้เสียทรัพย์อันมีค่าเพียงไรไป นักบุญอันโตนีโนกล่าวว่า “แต่พอวิญญาณออกจากชีวิตนี้บัดใดนั้นเองจะเข้าใจว่าตัวของตนได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อพระเป็นเจ้า” (14) เป็นอันว่าทันใดนั้นเองเขาจะพลุ่งตัวใคร่จะไปร่วมสนิทกับสิ่งวิเศษสูงสุดของเขา แต่เพราะตัวเขาอยู่ในบาปจึงจะถูกขับไล่ให้ออกห่างจากพระเป็นเจ้า สมมุติว่าใครเอาสุนัขมาล่ามไว้ แล้วเอากระต่ายตัวหนึ่งมาวางไว้ข้างหน้ามัน มันจะพยายามดิ้นรนดึงโซ่ให้ขาด เพื่อจะตะครุบสัตว์ที่มันชอบนั้นให้ได้ฉันใด วิญญาณของเราก็ฉันนั้น เมื่อพรากออกจากร่างกายนี้แล้ว เป็นธรรมดาอยู่เองจะถูกดึงดูดไปหาพระเป็นเจ้า แต่บาปแยกวิญญาณให้ห่างจากพระองค์และขับไล่ให้ห่างไกลไปสู่นรก “ความอสัจอธรรมของท่านได้แยกตัวท่านออกจากพระเป็นเจ้าของท่าน” (อสย. 49, 2) ฉะนั้นตัวนรกอยู่ที่คำตัดสินคำแรก “ไปให้พ้นจากเรา เจ้าพวกต้องแช่ง” (มธ. 25, 41) พระคริสต์เจ้าจะตรัสว่า “ไป ไปให้พ้นเราไม่อยากให้เจ้าเห็นหน้าเราต่อไป” แม้นรกสักพันนรกก็เปรียบกันไม่ได้กับพระอาชญาถูกพระคริสต์เจ้าเกลียดชัง (15) คราวเมื่อดาวิดลงโทษอับโซโลมห้ามไม่ให้มาให้เห็นหน้า อับโซโลมเสียใจพูดว่า: ช่วยบอกพระบิดาทีเถิด ของให้พระองค์ทรงอนุญาตให้ข้าพเจ้าได้เห็นหน้าพระองค์หรือมิฉะนั้นก็ขอให้พระองค์สั่งประหารข้าพเจ้าเสีย (2 ซมอ. 14, 32) วันหนึ่งพระเจ้าฟีลิปที่ 2 ทอดพระเนตรเห็นขุนนางผู้หนึ่งวางตนไม่เรียบร้อยในโบสถ์ จึงรับสั่งแก่เขาว่า: แต่นี้ต่อไปไม่ต้องมาให้เราเห็นหน้าอีก โทษเท่านี้ก็ทำให้ขุนนางผู้นั้นได้กลับไปตรอมใจตายที่บ้าน ก็จะเป็นอย่างไรหนอ เมื่อคนอธรรมตายไปแล้วและพระเป็นเจ้าจะตรัสแก่เขาว่า “ไปให้พ้น เราไม่อยากเห็นหน้าเจ้าต่อไป!”  “เราจะซ่อนหน้าของเรามิให้เขาเห็น และภัยพิบัติทั้งหลายจะตกลงถมทับเขา” (ฉธบ. 31, 17) พระเยซูเจ้าจะตรัสแก่พวกนักโทษให้วันสุดท้ายว่า: พวกเจ้าไม่ใช่พวกของเรา และเราก็มิใช่พวกของเจ้า “จงเรียกชื่อเขาว่า ไม่ใช่ประชากรของเรา เพราะว่าพวกเจ้าจะไม่ใช่ประชากรของเรา และเราจะไม่ใช่พระเจ้าของพวกเจ้า” (ฮชย. 1, 9)

            น่าสงสารลูกที่พ่อตายจากไป น่าสงสารเมียที่ผัวตายจากไป เมื่อได้ยินเขารำพรรณว่า โถ! คุณพ่อ ลูกจะมิได้เห็นหน้าคุณพ่อต่อไปแล้ว สามีที่รัก ดิฉันจะไม่ได้เห็นหน้าเธอต่อไปแล้ว! โอ้ อนิจจา! หากเราจะได้ยินเสียงวิญญาณในนรกร้องไห้คร่ำครวญ และเราจะถามเขาว่า: วิญญาณเอ๋ย ร้องไห้ทำไมถึงเพียงนั้นเล่า? เขาจะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า: ฉันร้องไห้ก็เพราะฉันได้เสียพระเป็นเจ้าไป และไม่มีวินจะได้แลเห็นพระองค์อีกแล้ว เอาเถิด! อย่างน้อยวิญญาณอาภัพในนรก ยังจะรัก ยังจะนอบน้อมตามน้ำใจของพระเป็นเจ้าได้ก็ยังดีแต่มันไม่เป็นเช่นนั้น เพราะว่า ถ้าเป็นไปได้ นรกก็จะไม่เป็นนรกต่อไป วิญญาณอัปลักษณ์เหล่านั้นไม่อาจจะนอบน้อมตามน้ำพระทัยได้ เพราะเขาได้กลายเป็นศัตรูกับน้ำพระทัยของพระองค์แล้ว ทั้งจะรักพระองค์ก็ไม่ไดด้วย มีแต่จะเกลียดชังพระองค์เรื่อยไป สิ่งที่ทำให้เป็นนรกของเขา ก็คือ การที่รู้ว่าพระเป็นเจ้าเป็นองค์คุณงามความดีอย่างที่สุด แล้วมามองเห็นว่าตัวเขาจำต้องเกลียดชังพระองค์ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าทรงน่ารักหาที่สุดมิได้! วันหนึ่งนักบุญกาธารีนา แห่งเชนอวา ถามปีศาจตนหนึ่งว่า มันเป็นใคร มันตอบว่า “ข้าคือผู้เสียสัตย์ปราศจากความรักพระ” นักโทษจะเกลียด จะแช่งด่าพระเป็นเจ้า และเมื่อแช่งด่าพระองค์เขาก็จะพลอยแช่งด่าพระคุณานุคุณที่เขาได้รับจากพระองค์ มีการสร้าง การไถ่บาปศีลศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้นศีลล้างบาป ศีลแก้บาป และเฉพาะอย่างยิ่งศีลมหาสนิทบนพระแท่น เขาจะเกลียดเทวดาและนักบุญทั้งหลาย เป็นต้นอารักษ์เทวดาและนักบุญองค์อุปถัมภ์ของเขา และเฉพาะอย่างยิ่ง เขาจะเกลียดพระมารดาของพระเป็นเจ้ามากกว่าใครอื่นหมด แต่ที่ร้ายกาจที่สุดคือ เขาจะแช่งด่าพระเป็นเจ้าทั้งสามพระองค์ และเป็นพิเศษจะแช่งพระบุตรของพระเป็นเจ้าผู้ซึ่งได้ทรงสิ้นพระชนม์เพื่อความรอดของเขา เขาจะด่าบาดแผล พระโลหิต พระมหาทรมาน และการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ด้วย!

ข้อเตือนใจและคำภาวนา

           ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า พระองค์นี้แหละ คือ คุณงามความดีที่ล้นพ้นของข้าพเจ้า คือ คุณงามความดีอันปราศจากขอบเขต แต่แล้วไฉนข้าพเจ้าจึงได้ยอมเสียพระองค์ไปได้เป็นหลายครั้งเล่า! ข้าพเจ้าทราบแล้วว่า การทำบาป คือการทำเจ็บใจพระองค์เป็นที่สุด และเป็นการเสียพระหรรษทานของพระองค์ถึงกระนั้นข้าพเจ้าก็ยังทำอีก! ข้าแต่พระบุตรของพระเป็นเจ้า เป็นความจริงหากข้าพเจ้ามิได้มองดูพระองค์ติดตรึงอยู่กับไม้กางเขน และสิ้นพระชนม์เพื่อข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าคงไม่บังอาจวิงวอนขอ และไม่อาจไว้ใจว่าพระองค์จะทรงอภัยบาปแก่ข้าพเจ้าต่อไปแล้ว ข้าแต่พระบิดา ผู้สถิตสถาพรนิรันดร ขออย่าทอดพระเนตรมองดูข้าพเจ้าเลย แต่โปรดทอดพระเนตรดูพระบุตรสุดสวาทของพระองค์ ผู้กำลังทรงวิงวอนขอความกรุณาเพื่อข้าพเจ้านั้นเถิด โปรดสดับฟังคำวิงวอนของพระองค์ และโปรดอภัยบาปแก่ข้าพเจ้าเถิด พระเจ้าข้า ข้าพเจ้านี้น่าจะต้องไปอยู่นรกแต่หลายปีมานักแล้ว ควรจะหมดหวังที่จะได้รับพระองค์ต่อไปหมดหวังที่จะได้รับพระหรรษทานคืนมาต่อไป ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าเสียใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ทำเคืองพระทัย ที่ได้สละละมิตรภาพของพระองค์ ที่ได้ดูหมิ่นความรักของพระองค์เพราะเห็นแก่ความสนุกอันสารเลวของแผ่นดินนี้  โอ! ให้ข้าพเจ้าตายเสียสักพันครั้งยังดีกว่า ไฉนหนอข้าพเจ้าจึงได้ตาบอดมืด เป็นบ้าไปเช่นนั้นเล่า! พระสวามีเจ้าข้า ขอขอบพระเดชพระคุณที่ได้ทรงโปรดให้ข้าพเจ้ามีเวลาจะแก้ไขความผิดที่ได้กระทำมานั้น ด้วยพระเมตตากรุณาของพระองค์นั่นเอง ข้าพเจ้าจึงยังอยู่นอกนรก และยังรักพระองค์ได้ ข้าพเจ้าจึงใคร่จะรักพระองค์ พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าไม่ยอมผลัดเพี้ยนการกลับใจมาหาพระองค์ต่อไปแล้ว โอ้องค์ความดีงามปราศจากขอบเขตเจ้าข้า ข้าพเจ้ารักพระองค์ ข้าพเจ้ารักพระองค์ ดวงชีวิตของข้าพเจ้า องค์ความรักของข้าพเจ้า สารพัดของข้าพเจ้าพระสวามีเจ้าข้า ขอโปรดให้ข้าพเจ้าจำใส่ใจไว้เสมอ ระลึกถึงความรักของพระองค์ต่อข้าพเจ้า และระลึกถึงนรกที่ข้าพเจ้าควรจะไปอยู่แต่นานมาแล้ว ทั้งนี้เพื่อความคิดถึงสิ่งเหล่านี้ จะได้ปลุกใจข้าพเจ้าให้รักพระองค์อยู่เสมอ และให้ทูลพระองค์บ่อย ๆ ว่า ข้าพเจ้ารักพระองค์ ข้าพเจ้ารักพระองค์ ข้าพเจ้ารักพระองค์ พระเจ้าข้า

            โอ้พระนางมารีอา พระบรมราชินี ความหวัง และแม่ของข้าพเจ้า หากข้าพเจ้าอยู่ในนรกแล้ว ข้าพเจ้าก็จะรักท่านต่อไปไม่ได้แล้ว คุณแม่เจ้าข้า ข้าพเจ้ารักท่าน และวางใจว่าท่านจะช่วยสงเคราะห์ไม่ให้ข้าพเจ้าเลิกรักท่าน และไม่ให้เลิกรักพระเป็นเจ้าของข้าพเจ้าเป็นอันขาด ช่วยวิงวอนพระเยซูเพื่อข้าพเจ้าด้วยเถิด

(1) Dividet a calore splendorem.
(2) Quantum sufficit ad videndum illa, quae torquere possunt (Suppl. q. 97, a 4)
(3) lbi miserorum societas miseriam non minuet, sed augebit. (S. T. Sup)
(4) In cujus comparatione noster hic ignis depictus est.
(5) Longe alius est ignis qui usui humano, alius qui Dei Justitiae deservit
(6) Veniet dies, imo nox, quando libido tua vertetur in picem, qua se nutriat perpetuus ignis in tuis visceribus (De Coeb. sac. c. 3).
(7) In uno igne omnia sentient in inferno peccatores (Epist. ad Pal.).
(8) Pone ignem, pone ferrum, quid nisi umbra ad illa tormenta?
(9) Addantur tormenta tormentis, ac Deo ne priventur.
(10) Si mille dixeris gehennas, nihil par dices illius dolori Rom, 48 ad Po)
(11) Nullam poenam sentiret, et infernos verteretur in paradisum (S Aug. c. 87, a. 4).
(12) Poena damnati est infinita, quia est amissio boni infiniti (S. T. 1, 2; Q. 4, de tripl. had.).
(13) Hic amantivus non contemnentibus poena est.
(14) Separata autem anima a corpore intelligit Deum summum bonum et ad ilum esse creatum.

 

(15) Si mille quis ponat gehennas, nihil tale dicturus est, quale est exosus Christo (Hom. 24 Matth. S. Chrys).

1. นิรันดรภาพของนรก

            หากนรกไม่คงอยู่ชั่วนิรันดร มันก็หาใช่นรกไม่ โทษที่ไม่คงอยู่นานมันก็มาใช่โทษใหญ่โตอะไร คนไข้ที่ถูกผ่าฝี คนป่วยที่ถูกตัดมะเร็ง ความปวดเจ็บของเขามาก แต่เพราะหมดสิ้นไปในชั่วเวลาสั้น ๆ มันจึงไม่ใช่การทรมานใหญ่โตอะไรนัก แต่หากการผ่าตัดนั้น จะยืดเยื้อกินเวลาตั้งสัปดาห์ ตั้งเดือน มันก็จะเป็นการทรมานมากอยู่!

            เมื่อความเจ็บปวดคงอยู่นาน ก็ทำให้เราทนไม่ไหว แม้ว่าการเจ็บปวดนั้นเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น เจ็บตา ปวดฟัน จะต้องไปพูดถึงเรื่องการเจ็บปวดทำไม? แม้ละคร แม้ดนตรีที่เล่นอยู่นานเหลือเกิน เช่น เล่นอยู่ตลอดทั้งวัน เราก็เบื่อแล้วและหากเขาจะเล่นอยู่ตลอดหนึ่งเดือนเล่า? หนึ่งปีเล่า?...ฉันนั้น นรกจะเป็นอย่างไรหนอ? มันไม่ใช่การดูละครเรื่องเดียวกันเรื่อย มันไม่ใช่การฟังดนตรีบทเดียวกันเรื่อย มันไม่ใช่เพียงแต่เจ็บตา หรือปวดฟุน มันไม่ใช่การถูกตัดผ่า หรือถูกเอาเหล็กแดงนาบ แต่มันเป็นการทรมาน และความเจ็บปวดทุกอย่างทุกประการรวมกัน และต้องทนอยู่นานเท่าไรเล่า?- ตลอดนิรันดรภาพนั้นแล “เขาจะถูกทรมานทั้งกลางวัน ทั้งกลางคืน ตลอดศควรรษต่อศตวรรษ (วว. 20, 10)

            นิรันดรภาพนี้ เป็นข้อความเชื่อ ไม่ใช่เป็นแต่ทฤษฎีความเห็น แต่เป็นความจริง ที่พระเป็นเจ้าเองทรงยืนยันไว้ในพระคัมภีร์หลายต่อหลายแห่ง เช่น “จงไปให้พ้น เจ้าพวกต้องแช่ง ไปสู่ไฟชั่วนิรันดร... และพวกเขาเหล่านั้น จะไปสู่ที่ทรมานชั่วนิรันดร” (มธ. 25, 41, 46) “เขาจะพินาศไปในพระอาชญาโทษชั่วนิรันดร” (1 ธส. 1, 9) “ทุก ๆ คนจะถูกดองด้วยไฟ” (มก. 9, 48) พระคัมภีร์ตอนนี้มีความหมายว่า: เกลือรักษาสิ่งต่าง ๆ ไม่ให้เน่า ไม่ให้เสียฉันใด ไฟนรกก็ฉันนั้น นอกจากทรมานนักโทษแล้ว ยังทำหน้าที่ดองเหมือนเกลือ คือ รักษาชีวิตของเขาไว้ นักบุญเบอร์นาร์ด กล่าวว่า “ไฟในนรกเผาผลาญเพื่อจะดองรักษาไว้เสมอ” (1)

            เราต้องถูกถือเป็นคนบ้าเพียงไร คนที่เลือกเอาความสนุกในวันหนึ่งแล้วยอมถูกโทษนำไปขังไว้ในหลุมตั้ง 20 ปี หรือ 30 ปี? สมมุติว่า นรกดำรงอยู่ชั่วเวละหนึ่งร้อยปี พูดอะไรถึงร้อยปี ต่อให้ดำรงอยู่เพียงไม่มากกว่า 2-3 ปีก็เถอะจะต้องถือเป็นความบ้าเหลือเกินแล้วมิใช่หรือ การที่ใครจะยอมเอาความสนุกอันเลวทรามอึดใจหนึ่ง แล้วยอมถูกโทษเผาไฟตั้ง 2 หรือ 3 ปี! แต่นี่มันไม่ใช่สามสิบปี ร้อยปี พันปี แสนปีหรอกนะ มันทั้งนิรันดรภาพ มันเป็นการทนทุกข์ทรมานอย่างเดียวกันเสมอไป ไม่รู้จักจบสิ้น ไม่รู้จักทุเลาเบาบางไปเลย ฉะนั้นพวกนักบุญจึงทำถูกต้องแล้ว ที่ขณะมีชีวิตอยู่ในโลกและกำลังอยู่ในฐานะจะพินาศไปได้ ท่านร้องไห้และกลัวจนตัวสั่น ท่านบุญราศีอิสิยาห์ แม้ขณะจำศีลอดอาหาร และบำเพ็ญตะบะชดใช้โทษบาปอยู่ในทะเลทราย ท่านก็ร้องไห้รำพรรณว่า “ข้าพเจ้าช่างอาภัพจริง ยังไม่แคล้วจากการที่จะตกนรกไปได้!”

ข้อเตือนใจและคำภาวนา

            ข้าพแต่พระผู้เป็นเจ้า สมมุติว่า พระองค์ได้ทรงผลักข้าพเจ้าไปสู่นรกอย่างที่ข้าพเจ้าออกมาจากนรกใหม่ ข้าพเจ้าจะรู้สึกว่าเป็นพระเดชพระคุณของพระองค์เพียงไรหนอ! ข้าพเจ้าคงจะตั้งหน้าบำเพ็ญตนเป็นนักบุญเป็นแน่แท้! ก็บัดนี้พระองค์ได้ทรงพระกรุณาต่อข้าพเจ้ามากกว่านั้นอีก ได้ทรงป้องกันข้าพเจ้ามิให้ตกนรก ก็ข้าพเจ้าควรจะทำประการใดเล่า? ข้าพเจ้ายังจะกลับทำเคืองพระทัย กลับยั่วพระพิโรธของพระองค์อีกหรือ? ข้าพเจ้าจะขอให้พระองค์ทรงผลักข้าพเจ้าให้ไปสู่คุกของพวกคนกบฏ ซึ่งขณะนี้มีจำนวนมากกำลังถูกเผาไฟอยู่ เพราะบาปน้อยกว่าของข้าพเจ้าเสียอีก เช่นนั้นหรือ? อนิจจา! ข้าพเจ้าได้กระทำเช่นนี้จริง ในอดีต แทนที่จะใช้เวลาที่พระองค์ประทานให้ เพื่อเป็นทุกข์ร้องไห้ ข้าพเจ้ากลับไปใช้มันยั่วพระพิโรธของพระองค์มากขึ้นอีก! ขอขอบพระคุณที่ทรงพระทัยดีหาขอบเขตมิได้ และเพียรทนข้าพเจ้าจนถึงปานนี้ หากพระทัยดีของพระองคามีขอบเขตแล้ว คงทนข้าพเจ้าไม่ไหวแน่! ขอสมนาพระคุณที่ได้ทรงเพียรทนข้าพเจ้าจนถึงบัดนี้ และขอขอบพระเดชพระคุณเป็นล้นพ้นที่ได้ทรงประทานความสว่างให้ในขณะนี้ ทำให้ข้าพเจ้าสำนึกเห็นความบ้าของตนและเห็นความชั่วที่ได้กระทำ ที่ได้ดูหมิ่นพระองค์ในการทำบาปจำนวนมากมายนั้น พระเยซูเจ้าข้า ข้าพเจ้าเกลียดชังบาป และเป็นทุกข์ตรมตรอมด้วยจริงใจแล้วทรงพระกรุณาอภัยบาปแก่ข้าพเจ้า โดยเห็นแก่พระมหาทรมานของพระองค์เถิดโปรดประทานพระหรรษทาน ช่วยข้าพเจ้ามิให้ทำบาปอีกต่อไปเลย พระเจ้าข้า ณ บัดนี้ ควรนักหนาที่ข้าพเจ้าจะต้องกลัวว่า หากกระทำบาปหนักอีกประการหนึ่งพระองค์จะทรงทอดทิ้งข้าพเจ้าเสีย อา! พระสวามีเจ้าข้า เมื่อปีศาจจะมาประจญให้ข้าพเจ้ากลับตกในบาป โปรดเอาความกลัวอันมีเหตุผลนี้ ตั้งไว้ต่อหนต้าต่อตาข้าพเจ้าเถิด ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้ารักพระองค์และไม่ยอมเสียพระองค์ไปอีกแล้ว โปรดประทานพระหรรษทานช่วยข้าพเจ้าด้วยเถิด พระเจ้าข้า

            ข้าแต่พระนางพรหมจาริณีผู้ศักดิ์สิทธิ์อย่างยิ่ง ขอช่วยข้าพเจ้าด้วยเถิดเมื่อข้าพเจ้าถูกประจญ โปรดให้ข้าพเจ้าวิ่งเข้ามาพึ่งท่าน จะได้ไม่เสียพระเป็นเจ้าต่อไป พระแม่มารีอาเจ้าข้า ท่านคือความหวังของข้าพเจ้า

2. น้ำหนักของนิรันดรภาพ

            ผู้ใดตกไปสู่นรกครั้งหนึ่งแล้ว ผู้นั้นไม่มีวันจะได้ออกมาทั้งชั่วนิรันดรความคิดอันนี้เองทำให้ ดาวิด ตัวสั่นทูลว่า “ขออย่าให้ข้าพเจ้าจมไปในคลื่น อย่าให้ (ทะเล) ลึกสูบข้าพเจ้าไว้ และอย่าให้ขุม (นรก) หุบปากกลืนข้าพเจ้าเลย” (สดด. 68, 16) แต่พอนักโทษตกลงไปในขุมที่ทรมานแล้ว ขุมนั้นก็จะปิดปากและไม่เปิดอีกเลย ท่าน เอวเซบีโอ ชาวเอเมโซ กล่าวว่า “นรกมีแต่ทางเข้าไม่มีทางออก” (2) ท่านอธิบายวาทะของดาวิดนั้นว่า: “ขออย่าให้นรกหุบปากเลยเหตุว่า เมื่อมันกลืนนักโทษคนใดเข้าไปแล้ว มันก็หุบท่อนบนและเหิดท่อนล่าง” (3) คนบาปยังมีชีวิตอยู่ในโลกตราบใด เขาก็ยังมีหวังจะแก้ตัวได้เสมออยู่ตราบนั้นแต่หากเขาตายไปในบาปแล้ว ก็หมดความหวังใด ๆ ทั้งสิ้น “แต่พอคนอธรรมตายไปแล้ว ก็ไม่มีความหวังต่อไป” (สภษ. 11, 7)

            สมมุติว่านักโทษนรกจะหลอกตนเองด้วยความหวังจอมปลอมอะไรได้บ้าง เขาก็คงจะพอมีความบรรเทาบ้าง! คนบาดเจ็บนอนแซ่วอยู่บนเตียง หมอไม่รับแล้ว เขาก็ยังพอจะหลอกตน และบรรเทาใจตนเองได้ว่า: ใครจะไปรู้บางทีจะมียาวิเศษรักษาฉันหายก็ได้กระมัง?- ผู้ถูกโทษต้องทำงานหนักตลอดชีวิต ยังอาจเบาใจได้บ้า เมื่อคิดว่า: ใครจะไปรู้ แจมีอันเป็นไป แล้วฉันก็จะหลุดจากโซ่ตรวนนี้ได้? ที่กล่าวมานี้ข้าพเจ้าประสงค์จะบอกว่าเอาเถิด อย่างน้อยถ้านักโทษนรกพูดกับตนเองได้ว่า: ใครจะไปรู้ บางทีฉันก็จะออกจากที่คุมขังนั้นได้ในวันหนึ่ง และหากเป็นดังนั้ได้ เขาก็ยังพอจะหลอกตนเองให้มีความหวังอะไรได้บ้าง แม้จะเป็นความหวังจอมปลอมอย่างไรก็ยังดี แต่ความจริงมันหาเป็นเช่นนั้นไม่ ในนรกไม่มีความหวังอันใดเลย ทั้งความหวังจริง ทั้งความหวังปลอมมันไม่มีคำว่า “ใครจะไปรู้” “เราจะตีแผ่ทุกสิ่งต่อหน้าต่อตาเจ้า” (สดด. 49, 21) นักโทษน่าทุเรศ จะมองเห็นคำตัดสินให้ตนต้องร้องไห้อยู่ในขุมทรมานนั้นเรื่อยไปต่อหน้าต่อตาเสมอ “พวกหนึ่งจะมองเห็นเพื่อได้ชีวิตชั่วนิรันดรเสมอ และอีกพวกหนึ่งจะมองเห็นเพื่อได้ความละอายอดสูอยู่เสมอ” (ดนล. 12, 2) จึงเป็นอันว่านักโทษนรก ไม่ใช่แต่ต้องรับโทษเพียงในทุกขณะของเวลาปัจจุบัน แต่ยังต้องรับโทษของนิรันดรภาพ ในชั่วทุกขณะของเวลาปัจจุบันอีกด้วย เขาจะพูดว่า: สิ่งที่ฉันทนอยู่เดี๋ยวนี้ฉันจะต้องทนมันเรื่อยไป นี่แหละที่ท่านแตร์ตูเลี่ยนบอกว่า “นักโทษถูกน้ำหนักของนิรันดรภาพถ่วง” (4)

            ฉะนั้น ชาวเราจงวิงวอนพระสวามีเจ้าอย่างนักบุญเอากุสิตนเถิด: พระเจ้าข้า “ณ โลกนี้ขอพระองค์ทรงเผา ทรงเข่นฆ่า อย่าทรงพระกรุณาเลยเพื่อจะได้ทรงพระกรุณาในนิรันดรภาพเถิด” (5) อาชญาโทษต่าง ๆ ในโลกเรานี้มันอาจล่วงพ้นไป “ลูกศรของพระองค์ผ่านไป (แต่) พระสุรเสียงฟ้าผ่าของพระองค์หมุนเป็นวงกลมไปตามอากาศ” (สดด. 36, 19) พระอาชญาโทษในโลกหน้าไม่รู้จักล่วงพ้นไป นี่แหละที่ชาวเราต้องกลัว ชาวเราจงกลัวเสียงฟ้าผ่าอันนั้นกล่าวคือ เสียงฟ้าผ่าประกาศลงพระอาชญาโทษชั่วนิรันดร อันจะออกจากโอษฐ์แห่งพระตุลาการในวันพิพากษา ซึ่งสาปแช่งนักโทษว่า “จงไปให้พ้น เจ้าพวกต้องแช่ง ไปสู่ไฟชั่วนิรันดร” และประกาศิตของพระองค์นี้หมุนเวียนเป็นวงกลม; วงกลมเป็นรูปหมายถึงนิรันดรภาพ เพราะว่ามันไม่มีต้น ไม่มีปลาย “เราได้ชักดาบออกจากฝัก และไม่มีวันจะใส่กลับคืน” (อสค. 21, 5) พระอาชญาโทษของนรกนั้นยิ่งใหญ่มาก แต่สิ่งที่เราจะต้องกลัวก็คือ มันเป็นอาชญาโทษของนรกนั้นยิ่งใหญ่มาก แต่สิ่งที่เราจะต้องกลัวก็คือ มันเป็นอาชญาโทษไม่มีวันถอนคืน

            แต่พวกไม่มีความเชื่อจะค้านว่า: อะไรกัน! มันยุติธรรมหรือ: เราทำบาปชั่วประเดี๋ยวหนึ่งปต่จะถูกโทษทั้งนิรันดรภาพ?- ขอตอบว่า: ก็เหตุไฉนคนบาปจึงกล้าทำผิดต่อพระมหิทธิศักดิ์อันปราศจากขอบเขต เพราะความสนุกชั่วประเดี๋ยวหนึ่งนั้นเล่า? นักบุญโทมัส บอกว่า: แม้ในศาลของมนุษย์โลกเขาก็ไม่ตัดสินลงโทษตามชั่วเวลาที่ได้ใช้กระทำผิด แต่เขาย่อมลงโทษตามลักษณะดอก” (6)สำหรับจะลงโทษบาปหนักข้อหนึ่งนั้นนรกยังน้อยไป นักบุญแบร์นาร์ดีโนแห่งซีเอนา กล่าวว่าความผิดต่อพระมหิทธิศักดิ์อันปราศจากขอบเขตด้วย ต้องมีโทษอันปราศจากขอบเขตด้วย อันว่า บาปหนักทุกประการ เป็นความผิดต่อพระเป็นเจ้าอย่างไม่มีขอบเขต และเมื่อเป็นความผิดอันไม่มีขอบเขต โทษของมันจึงต้องไม่มีของเขตด้วย (7) ท่านกล่าวต่อไปว่า “เพราะที่สัตว์โลกไม่สามารถจะทนโทษอันปราศจากขอบเขต ตามน้ำหนักของมันได้ จึงยุติธรรมแล้ว ที่พระเป็นเจ้าจะทรงเอาโทษอันไม่มีขอบเขตนั้นโดยการยืดเวลา”

            อนึ่งพระอาชญาโทษนั้นจำเป็นจะต้องคงอยู่ชั่วนิรันดร ประการแรกเพราะว่า นักโทษไม่สามารถจะลบล้างความผิดของเขาได้เลย ขณะกำลังมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ คนบาปที่เป็นทุกข์กลับใจ อาจชดเชยบาปของตนได้ ก็โดยการพึ่งอาศัยพระบุญญาบารมีของพระเยซูคริสต์ แต่พระบุญญาบารมีนี้ นักโทษนรกพึ่งไม่ได้แล้ว เขาจึงไม่มีทางจะระงับพระพิโรธของพระเป็นเจ้าได้ และเพราะที่บาปของเขาคงอยู่ชั่วนิรันดร โทษก็จำเป็นต้องคงอยู่ชั่วนิรันดรเหมือนกันด้วยทั้งชั่วนิรันดร” (สดด. 48, 8) ท่านวินเซนต์ แห่งโบแวส์ จึงกล่าวว่า “ในนรกบาปมีทางจะถูกโทษได้เสมอ แต่นม่มีทางลบล้าง” (8) นักบุญเอากุสติน ให้เหตุผลว่า “ทั้งนี้เพราะคนบาปในนรก เป็นทุกข์กลับใจไม่ได้” (9) และเพราะฉะนั้นพระสวามีเจ้าจึงทรงกริ้วโกรธต่อเขาอยู่เสมอ “เขาจะได้ชื่อว่า เป็นประชาชาติที่พระสวามีเจ้าทรงพระพิโรธตลอดนิรันดร” (มลค. 1, 4) อีกประการหนึ่ง เอาเถิดสมมุติว่า พระเป็นเจ้าจะมีพระทัยดียกโทษแก่นักโทษนรก แต่ตัวนักโทษเองกลับไม่ยอมให้พระองค์ทรงยกโทษ เพราะว่า เจตนาของเขาดื้อกระด้างและปักมั่นอยู่ในความเกลียดพระองค์แล้ว พระสันตะปาปา อินโนเซนต์ที่ 3 กล่าวว่า “นักโทษนรกไม่ยอมถ่อมตัวลง เขามีแต่จะยิ่งเกลียดพระเป็นเจ้าอุกฉกรรจ์ขึ้นไปอีก” (10) และนักบุญฮีเอโรนีโม กล่าวว่า “เขามีความปรารถนาจะทำบาปอยู่เรื่อยโดยไม่รู้จักอิ่ม” (11) ลงความได้ว่าความไข้ของนักโทษนรกเป็นโรคชนิดรักษาไม่หายและปผลของข้าพเจ้าเป็นแผลอันหมดหวัง” (ยรม. 15, 18)

ข้อเตือนใจและคำภาวนา

           ข้าแต่พระมหาไถ่ หากข้าพเจ้าจะถูกโทษในนรกขณะนี้ ตามที่ข้าพเจ้าสมจะได้รับ ข้าพเจ้าก็จะดื้อกระด้างอยู่ในความเกลียดชังพระองค์ พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า ผู้ได้ทรงมรณะเพื่อข้าพเจ้า! อนิจจา! อะไรกันนี่! มันเป็นนรกชนิดไหนหนอ ที่ข้าพเจ้าจำใจต้องเกลียดชังพระองค์ ผู้ทรงรักข้าพเจ้าเป็นอย่างยิ่ง เกลียดชังพระองค์ องค์ความงามปราศจากขอบเขต องค์ความดีปราศจากขอบเขตและองค์ความน่ารักปราศจากขอบเขต! เป็นอันว่า หากข้าพเจ้าอยู่ในนรก ขณะนี้ข้าพเจ้าจะจมอยู่ในฐานะอันอัปลักษณ์  ไม่ยอมรับการอภัยโทษ แม้ว่าพระองค์จะทรงประทานให้! พระเยซูเจ้าข้า ขอสมนาพระคุณที่ได้ทรงพระเมตตาต่อข้าพเจ้า และเพราะที่ในบัดนี้ ข้าพเจ้ายังรับอภัยบาปได้ ยักรักพระองค์ได้ ข้าพเจ้าจึงขอรับอภัยบาปและขอรักพระองค์ พระเจ้าข้า พระองค์ทรงกำลังยื่นการอภัยบาป ทั้งข้าพเจ้าเองก็วิงวอนขอ และหวังจะได้รับด้วยเดชะพระบารมีของพระองค์ข้าแต่พระทัยดี ข้าพเจ้าเสียใจที่ได้กระทำบาปทุก ๆ ประการ อภัยโทษแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด ข้าพเจ้ารักพระองค์ ด้วยสิ้นสุดวิญญาณแล้ว พระเจ้าข้า โอ! พระสวามีเจ้าข้า พระองค์ได้ทรงกระทำผิดต่อข้าพเจ้าอย่างใดหรือ? แล้วไฉนข้าพเจ้าจึงจะต้องเกลียดชังพระองค์ ดังว่าได้เคยเป็นศัตรูขับเคี่ยวกันอยู่เสมอมา? พระเยซูเจ้าข้า ข้าพเจ้ามีเพื่อนคนไหนบ้า ที่ได้เคยทำและเคยทนอะไรเพื่อข้าพเจ้าดุจเหมือนพระองค์ได้ทรงทำ และได้ทรงทนเพื่อข้าพเจ้า? ดปรดเถิด พระเจ้าข้า โปรดอย่าปล่อยให้ข้าพเจ้ากลับไปเป็นศัตรู และกลับเสียความรักต่อพระองค์เป็นอันขาด โปรดให้ข้าพเจ้าตายเสียเถิด ดีกว่าจะได้รับหายนะอันสูงสุดนั้นพระเจ้าข้า

            ข้าแต่พระแม่มารีอา กรุณาคลุมข้าพเจ้าไว้ด้วยอาภรณ์ของท่านเถิดอย่าปล่อยให้ข้าพเจ้าถอยออกไป ทรยศต่อพระเป็นเจ้า และต่อท่านอีกเลย

3. ความคงที่ของนิรันดรภาพ

            ในโลกเรานี้ คนบาปกลัวความตายมากกว่าอะไรที่อื่นหมด แต่ในนรกความตายจะเป็นสิ่งที่เขาอยากได้มากกว่าหมด “เขาหาความตาย แต่จะไม่พบเขาปรารถนาอยากจะตายจริง ๆ แต่ความตายจะถอยหนีจากเขา” (วว. 9, 6) ฉะนั้นนักบุญฮีเอโรนีโม จึงอุทานว่า “ความตายเจ้าเอ๋ย เจ้าช่างเป็นที่พึงปรารถนาของผู้ที่ได้เคยเกลียดชังเจ้าจริง ๆ” (12) ดาวิดกล่าวว่า: ความตายจะกินนักโทษนรก “เขาจะเป็นอาหารของความตาย” (สดด. 48, 15) นักบุญเบอร์นาร์ด อธิบายว่า: “ฝูงสัตว์ เมื่อกินหญ้า มันกินแต่ใบ ส่วนรากมันปล่อยเอาไว้ ฉันใด ก็ฉันนั้นความตายกินนักโทษนรก ฆ่าเขาทุกๆ ขณะ แต่ก็ยังปล่อยให้เขามีชีวิตอยู่ต่อไปจะได้ฆ่าได้เรื่อย ๆ เสมอ ไปตลอดทั้งนิรันดรภาพ” (13) ฉะนั้นนักบุญเกโกรี จึงพูดว่า “นักโทษในนรก ตายไปในทุกขณะ แต่ก็ไม่ตายไปสักที (14)

            เมื่อเราเห็นผู้ใดบาดเจ็บ และตายไป เราก็รู้สึกสงสาร เอาเถิด อย่างน้อยให้มีคนนึกสงสารนักโทษนรกบ้างก็ยังดี มันไม่เป็นเช่นนั้นสิ เขาปวดเจ็บและตายไปทุก ๆ ขณะ แต่ก็ไม่มีใคร และจำไม่มีใครนึกสงสารเขาเลย จักพรรดิ์เซโนถูกนำไปขังในหลุมมืด พระองค์ร้องขอความกรุณาเรื่อยว่า “โปรดช่วยเปิดหลุมให้ฉันทีเถิด” แต่ไม่มีใครยอมฟังเสียง ภายหลังเขาได้พบว่าท่านตายอย่างคนเสียใจ คือ ท่านกัดกินเนื้อที่แขนของท่านเอง นักบุญซีริล แห่งอาเลกซันเดรียกล่าวว่า “นักโทษร้องออกมาจากขุมนรก แต่ไม่มีใครมาช่วย ไม่มีใครนึกสงสารเขา” (15)

            และฐานะอันน่าทุเรศของเขานี้ จะอยู่คงอยู่ช้านานเท่าไรหนอ?- จะคงอยู่เสมอไป เสมอไป! ในหนังสือเทศนาของคุณพ่อ เซเญรี น้อย พิมพ์โฆษณาโดย มูราตอรี มีเรื่องเล่าว่า: วันหนึ่ง ณ กรุงโรม มีผู้ถามปีศาจที่สิงคนว่า มันจะต้องอยู่ในนรกนานเท่าไร? มันโกรธจัด เอามือทุบเก้าอี้ พลางตอบว่า: จะต้องอยู่เสมอไป! เสมอไป! ผู้ได้แลเห็นต่างตระหนกตกใจ จนแม้หนุ่มสามเณรแห่งสามเณราลัยโรมันหลายท่าน ซึ่งอยู่ที่นั้น ได้เร่งไปแก้บาปมูลและเปลี่ยนความประพฤติ เพราะคำเทศน์ของปีศาจสองคำนั้น “เสมอไป! เสมอไป!- น่าสมเพชยูดาสแท้ เขาอยู่ในนรกได้พันเก้าร้อยกว่าปีแล้ว แต่นรกของเขายังอยู่ในเบื้องต้นน่าสังเวชกาอินจริง! เขาอยู่ในนรกได้ห้าพันเก้าร้อยปีแล้ว แต่นรกของเขาเพิ่งจะเริ่ม!- มีผู้ถามปีศาจตนหนึ่งว่า: ท่านได้เข้าไปสู่นรกตั้งแต่เมื่อไร?- เขาตอบว่า: เมื่อวานนี้เอง- คนนั้นจึงท้วงว่า: อะไร? อย่างน้อยเจ้าคงได้อยู่มากว่าห้าพันปีแล้ว- เขาก็ตอบอีกว่า: โอ! หากท่านรู้จักนิรันดรภาพแล้ว ท่านจะเข้าใจดีว่า ห้าพันปีนั้น ไม่เท่าหนึ่งนาที!

            สมมุติว่า มีเทวทูตองค์หนึ่งมาแจ้งแก่พวกนักโทษนรกว่า: พวกเจ้าจะได้ออกจากนรก ในเมื่อล่วงไปเท่านั้น ๆ ศตวรรษ เมื่อจะมีน้ำเท่านั้น ๆ หยด มีใบไม้เท่านั้น ๆ ใบ มีทรายเท่านั้น ๆ เม็ด พวกนักโทษนรกจะพากันดีใจยิ่งกว่าคนขอทานเมื่อทราบว่า ถ้าจะถูกแต่งตั้งเป็นในหลวงเสียอีก เป็นความจริงแม้ศตวรรษเหล่านั้น จะล่วงไปแล้ว ล่วงไปอีก จนไม่มีที่สิ้นสุด นรกก็จะคงอยู่แต่เบื้องต้นอยู่เสมอ นักโทษนรกทุกคนคงปรารถนาจะทำการตกลงกับพระเป็นเจ้าว่า “ข้าแต่พระสวามี พระองค์จะทรงเพิ่มโทษานุโทษแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย อีกสักเท่รไร ๆ ก็ตามแต่จะทรงเห็นชอบเถิด พระองค์จะทรงปรารถนาให้โทษนั้นคงอยู่อีกช้านานเท่าไร ๆ ก็สุดแล้วแต่จะทรงเห็นควรเถิด ขออย่างเดียวให้มันจบสิ้นไปเสียสักที เท่านี้ก็พอใจข้าพเจ้าทั้งหลายแล้ว” แต่นรกหาเป็นเช่นนั้นไม่ มันไม่รู้จักจบสิ้นเลย แตรแห่งพระยุติธรรมจะก้องกังวาลในนรกเรื่อยไปว่า: เสมอไป! เสมอไป! ไม่รู้จบสิ้น! ไม่รู้จบสิ้น!

            นักโทษนรกจะถามปีศาจว่า “นายนี่กี่โมงแล้ว?” (อสย. 21, 11) เมื่อไรจะสิ้นคืนนี้? เมื่อไร ความมืด เสียงแตร เสียงอึกทึก กลิ่นเหม็นไฟ และการทรมานทั้งหลายเหล่านี้ จะหมดไปสักที? ปีศาจจะตอบว่า: ไม่รู้จักหมด! ไม่รู้จักหมด! ถ้าดังนั้น มันจะอยู่นานเท่าไรเล่า?- เสมอไป! เสมอไป!

            โอ้ พระผู้เป็นเจ้า ทรงพระกรุณาประทานความสว่างแก่คนตามืดจำนวนมากด้วยเถิด เมื่อเตือนสอนเขาว่า ให้ระวัง อย่าทำให้ตัวของตัวไปนรก เขาก็ตอบว่า: ช่างมันเถิด แม้ที่สุด ถึงจะตกนรก ก็ทรเอา อนิจจา! เพียงแต่ถูกความหนาวหน่อย เขาก็ทนไม่ไหว อยู่ในห้อยร้อนหน่อย ก็ทนไม่ได้ ถูกทุบกี ก็ว่าเจ็บเหลือทน แล้วไฉนหนอ เมื่อเขาจะต้องไปสู่มหาสมุทรไฟ เมื่อจะถูกหมู่ปีศาจเหยียบกระทืบ เมื่อจะถูกพระเป็นเจ้า และทุก ๆ คนทอดทิ้ง เขาจะทนไหว? และก็จำใจจะต้องทนดังนั้นเรื่อยไปตลอดทั้งนิรันดรภาพทีเดียว!

ข้อเตือนใจและคำภาวนา

           ข้าแต่พระบิดา ผู้ทรงพระทัยเมตตากรุณา พระองค์ไม่ทรงทอดทิ้งผู้ที่แสวงหาพระองค์ (สดด. 9, 11) ครั้งก่อนนี้ ข้าพเจ้าได้หันหลังให้พระองค์ เป็นหลายครั้งหลายคราว พระองค์ก็มิได้ทรงทอดทิ้งข้าพเจ้า แต่บัดนี้ข้าพเจ้าวิ่งตามหาพระองค์แล้ว โปรดอย่าทอดทิ้งข้าพเจ้าเลย พระเจ้าข้า ข้าแต่องค์คุณงามความดีที่ล้นพ้น ข้าพเจ้าเสียใจที่ได้ประมาทพระหรรษทานของพระองค์ที่ได้นำไปแลกกับความเปล่าแท้ ๆ ขอทรงทอดพระเนตรดูบาดแผลแห่งพระบุตรของพระองค์ และสดับฟังพระสุรเสียงที่ร่ำร้องขอให้อภัยบาปแก่ข้าพเจ้า และทรงพระเมตตาอภัยบาปนั้นแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด พระเจ้าข้า ส่วนพระองค์เล่า พระมหาไถ่ของข้าพเจ้า โปรดปลุกความทรงจำของข้าพเจ้าให้ตื่นอยู่เสมอ ให้ระลึกถึงความทุกข์ยากที่พระองค์ได้ทรงรับทนเพื่อข้าพเจ้า ให้ระลึกถึงความรักที่พระองค์ทรงมีต่อข้าพเจ้า และให้ระลึกถึงความอกตัญญูที่ทำให้ข้าพเจ้าสมจะไปนรกตั้งหลายครั้งหลายหนมาแล้ว ทั้งนี้เพื่อข้าพเจ้าจะได้ร้องไห้ เพราะความผิดที่กระทำมา และจะได้ดำรงชีพระอุร้อนอยู่ด้วยความรักต่อพระองค์เสมอ พระเจ้าข้า อา! พระเยซูเจ้าข้า ข้าพเจ้าจะไม่ลุกโชน ระอุร้อนอยู่ด้วยความรักต่อพระองค์อย่างไรได้เมื่อมาคิดถึงว่า หลายปีมาแล้ว ข้าพเจ้าควรที่จะต้องไปลุกโชนอยู่ในนรก และต้องอยู่ดังนั้นเรื่อยไป ตลอดทั้งนิรันดรภาพ เมื่อมาคิดว่า พระองค์ได้ทรงมรณะก็เพื่อช่วยให้ข้าพเจ้ารอดจากนรก และพระองค์ก็ได้ทรงช่วยให้ข้าพเจ้ารอดโดยความเมตตากรุณาอันใหญ่ยิ่งแล้ว? หากในขณะนี้ ข้าพเจ้าต้องอยู่ในนรกแล้วข้าพเจ้ก็จะเกลียดชังพระองค์ และจะต้องเกลียดชังพระองค์เรื่อยไป แต่บัดนี้ข้าพเจ้ารักพระองค์ และปรารถนาจะรักพระองค์เสมอ: ข้าพเจ้าหวังว่า จะได้รักพระองค์เสมอเป็นนิตย์ ด้วยเดชะพระโลหิตของพระองค์ พระเจ้าข้า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า พระองค์ทรงกัรข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็รักพระองค์เหมือนกัน และถ้าข้าพเจ้ารักพระองค์เสมอ พระองค์ก็จะทรงรักข้าพเจ้าเสมอด้ววย พระมหาไถ่ เจ้าข้าโปรดช่วยข้าพเจ้าให้พ้นจากภยันตราย ในการที่จะถูกพระองค์ทอดทิ้งอย่างเดียวเท่านั้น นอกนั้น พระองค์จะทรงกระทำอย่างไรต่อข้าพเจ้าก็สุดแต่เห็นดีเห็นควรเถิด พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าสมจะถูกโทษานุโทษทุกประการ และข้าพเจ้าก็ยินดีรับโทษานุโษททุกประการด้วย ขอแต่อย่างเดียว คือ ให้ข้าพเจ้ารอดพ้นจากมหันตโทษอันนั้น กล่าวคือ การปราศจากความรักต่อพระองค์เถิด พระเจ้าข้า

            ข้าแต่พระแม่มารีอา ที่หลบภัยของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้ลงโทษตัวเองให้ไปสู่นรก กี่ครั้งกี่หนแล้ว และท่านได้ฉุดข้าพเจ้าออกมาได้โปรดเถิด โปรดให้แต่นี้ต่อไป ข้าพเจ้าแคล้วจากบาปซึ่งเป็นสิ่งเดียว ที่อาจทำให้ข้าพเจ้าปราศจากพระหรรษทาน และเป็นทางนำข้าพเจ้าไปสู่นรก

 

(1) Ignis ibi consumit, ut simper reservet (Medit. c. 3).

(2) Descensus erit, ascensus non erit.

(3) Neque urgeat os suum; quia dum susceperet roes, claudetur sursum, et aperietur deorsum.

(4) Pondus aeternitatis sustinent.

(5) Hic ure, hic seea, hic non parkas, ut in aeternum parkas.

(6) Non quia homicidium in momento committitur, momentanea poena punitur. (S. T. 1, 2 q. 87, a. 4).

(7) In omni peccato nortali infinita Deo contumeliea irrogatur; infinitae autem injuriae infinita debetur poena.

(8) Culpa simper poterit ibi puniri, et nunquam poterit expiari. (Lid. 9 p. 3)

(9) Ibi peccator poenitere non potest.

(10) Non humiliabuntur reprobi. sed malignitas odii in illis excrescet (Lid. 3) de cont. mundi cap. 10).

(11) Insatialibes sunt in desiderio peccandi (In Prov. 27).

(12) O mors, quam dulcis esses, quibus tam amara fuisti (Ap.S.BonPol.).

(13) Sicut animalia depascunt herbis, sed remanent radices; sic miseri in inferno corrodentur a morte, sed iterum

        reservantur ad poenas.

(14) Flammis ultricibus traditus simper morietur (Mor. L. 15 c. 9).

(15) Lamentantur, et nullus eripit; plagunt et nemo compatitur.