เตรียมเผชิญ
ค ว า ม ต า ย
บทที่ 15 "ความอุกฉกรรจ์ของบาปหนัก"
โดย นักบุญอัลฟอนโซ มารีย์ เดอ ลีโกวรี
แปลโดย ผู้หว่าน
1. คนบาปทำร้ายพระเป็นเจ้า
ผู้ทำบาป ทำอะไร?- ทำร้ายพระเป็นเจ้า ดูถูกพระเป็นเจ้า และทำเจ็บใจพระเป็นเจ้า
ประการแรก บาปเป็นการทำร้ายพระเป็นเจ้า นักบุญโทมาสกล่าวว่า ความร้ายแรงของ จ่อมสุดแล้วแต่ผู้ถูกกระทำ ทำร้ายไพร่ เป็นความผิดทำร้ายเจ้านาย เป็นความผิดหนักขึ้น ทำร้ายในหลวง เป็นความผิดหนักขึ้นไปอีก
พระเป็นเจ้า เป็นผู้ใดเล่า?- “เป็นในหลวงแห่งในหลวงทั้งหลาย” (วว. 17, 14) พระเป็นเจ้าทรงไว้ซึ่งพระมหิทธศักดิ์ใหญ่หลวงจนไม่มีขอบเขต หากจะเอาเจ้านายทั้งสิ้นในโลก และเอานักบุญและเทวดาทั้งสิ้นในสวรรค์ มาเปรียบกับพระองค์ เขาเหล่านั้นก็ไม่เท่ากับทรายเม็ดหนึ่ง (อสย. 40, 15) ยิ่งกว่านั้นท่านประกาศกอิสิยาห์กล่าวต่อไปว่า: ถ้าจะเอาสัตว์โลกทั้งหลาย มาเทียบกับความยิ่งใหญ่ของพระเป็นเจ้า เขาก็เล็กนิดเดียว แทบจะเป็นความเปล่า (อสย. 40, 17) พระเป็นเจ้าทรงเป็นดังนี้แหละ! ส่วนมนุษย์เล่าเป็นอะไร?- นักบุญเบอร์นาร์ดว่า “เป็นถุงอุจจาระ เป็นเหยื่อหนอน” (1) ซึ่งจะขบกินเขาในไม่ช้าคนเราเป็นหนอนน่าทุเรศ ซึ่งทำอะไรไม่ได้ เป็นหนอนตาบอดซึ่งมองอะไรไม่เห็นเป็นหนอนยากจนและเปลือย ซึ่งไม่มีอะไรเลย (วว. 3, 17) แล้วก็หนอนพรรค์นี้บังอาจทำร้ายพระเป็นเจ้า! (2) จึงเป็นอันถูกต้องตามเหตุผลแล้วที่ท่านนักบุญโทมาส กล่าวว่า: บาปของมนุษย์ บรรจุความร้ายแรง เกือบจะปราศจากขอบเขต (3) ยิ่งกว่านั้นอะก นักบุญเอากุสตินเรียกบาปว่า เป็นความชั่วอันไม่มีขอบเขตตรงๆ เลย จึงเป็นอันว่า แม้มนุษย์ทุก ๆ คน แม้เทวดาทุก ๆ องค์ จะถวายตัวพร้อมกันยอมตาย และแม้ยอมกลายเป็นความเปล่าไป ก็ไม่เพียงพอสำหรับจะชดเชยบาปแม้แต่ประการเดียว พระเป็นเจ้าทรงลงโทษบาปหนัก ด้วยพระอาชญาอันสาหัสในนรก แม้พระอาชญานี้จะอุกฤษฏ์เพียงไรก็ตามทีผู้ใคร่ธรรมทั้งหลายลงความเห็นว่า ยังเบากว่าโทษ ที่บาปควรจะต้องรับเสียอีก (3 ซ้ำ)
ก็อาชญาโทษอันไหนเล่าจะสาสมลงโทษแก่หนอน ซึ่งบังอาจต่อกรกับพระสวามีเจ้าของตน พะรเป็นเจ้าทรงเป็นพระเจ้าของทุกสิ่ง เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้สร้างสรรพสิ่งมา (แอสแธร์ 13, 9) อันที่จริง สัตว์โลกทั้งหลายต่างเชื่อฟังพระเป็นเจ้า: “ลมและทะเลก็เชื่อฟังพระองค์” (มธ. 8, 27) “ไฟ ลูกเห็บ หิมะ น้ำแข็งก็ปฏิบัติตามรับสั่งของพระองค์” (สดด. 148, 8) ส่วนมนุษย์เมื่อกระทำบาปทำอะไรเล่า? - เขาบอกกับพระเป็นเจ้าว่า “ฉันไม่ยอมรับใช้” (ยรม. 2, 20) พระสวามีเจ้าทรงบัญชาสั่งเขาว่า “เจ้าอย่าแก้แค้น” มนุษย์ตอบพระองค์ว่า “ฉันจะแก้แค้น” “เจ้าอย่าเอาของของเขา- ก็ฉันจะเอานี่” เจ้าอย่าหาความสนุกอันเลวทรามเช่นนั้น- ก็ฉันจะหานี่”...คนบาปทูลพระเป็นเจ้าเช่นเดียวกับพระเจ้าฟาโรห์คราวเมื่อโมเสสนำพระโองการของพระเป็นเจ้าไปแจ้งให้ปล่อยประชาชาติของพระองค์เป็นอิสระ ราชันย์บ้าบิ่นผู้นั้นตอบว่า “พระสวามีผู้นั้นเป็นใคร ข้าถึงจะต้องฟังเสียง? ข้าไม่รู้จักเขา (อพย. 5, 2) คนบาปก็พูดดังนี้ ว่า “พระเจ้าหรือ ฉันไม่รู้จักพระองค์ฉันชอบใจอะไร ฉันก็ทำอันนั้น....” พูดโอยสรุป คือ เราประมาทพระเป็นเจ้าซึ่งหน้าเราหันหลังให้พระองค์ บาปหนักเป็นดังนี้แหละ คือเป็นการหันหลังให้พระเป็นเจ้าพระเป็นเจ้าทรงต่อว่าคนบาปในเรื่องนี้ว่า “เจ้าใจดำ เจ้าได้ล่ทิ้งเรา ฝ่ายเรานี้ไม่เคยได้ละทิ้งเจ้า เจ้าหันหลังให้เรา” (ยรม. 15, 6)
พระเป็นเจ้าได้ทรงประกาศว่า พระองค์ทรงเกลียดบาป เพราะฉะนั้นจะเป็นอย่างอื่นมิได้ พระองค์ต้องทรงเกลียดผู้กระทำบาปด้วย “ทั้งคนอธรรมทั้งความอธรรมของเขา เป็นที่พึงเกลียดของพระเป็นเจ้าดุจกัน” (ปชญ. 14, 9) เมื่อคนเราทำบาป คือ บังอาจประกาศตนเป็นศัตรูของพระเป็นเจ้า และกล้าสู้กับพระองค์ซึ่งหน้า “เขาชูกำปั้นให้พระ” (โยบ. 15, 25) ท่านคิดอย่างไรเมื่อไปเห็นมดตัวหนึ่งหาญสู้กับทหาร? พระเป็นเจ้า คือผู้ทรงฤทธิ์ ซึ่งได้ทรงสร้างฟ้าและดินมาแต่ความเปล่า เพียงด้วยทรงให้สำคัญอันเดียว พระเป็นเจ้าได้ทรงสร้างสิ่งเหล่านั้นมาจากความเปล่า” (2 มคบ. 7, 28) และก็คนบาปขณะปลงใจทำบาปเขาชูกำปั้นให้พระ เขายกหัวขึ้น ทนงตนมาด่าแช่งพระ (โยบ 15, 25) อาวุธของเขาคือ คออันอ้วนอูม อีกนัยหนึ่ง คือ ความโง่ (ไขมัน หมายความถึงความโง่) เขาทำอาการเหมือนจะพูดว่า: บาปที่ฉันทำมันจะเป็นภัยใหญ่โตอะไรนักหนา? พระเป็นเจ้าทรงพระทัยดี จะทรงกรุณาจกโทษคนบาป โอ! นี่มันเป็นการหมิ่นประจาน! เป็นความบ้าบิ่น เป็นความบอดมืดแค่ไหนหนอ!
ข้าเตือนใจและคำภาวนา
ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า นี่แน่ะคนกบฏ คนบ้าบิ่น ผู้ได้บังอาจทำร้ายต่อพระองค์ซึ่งหน้าหลายครั้งหลายหนมาแล้ว ทั้งได้หันหลังให้พระองค์ด้วย แต่บัดนี้มากราบอยู่แทบพระบาท ขอพึ่งพระกรุณา พระองค์ได้ตรัสว่า “เจ้าจงร้องหาเรา และเราจะฟังเสียงของเจ้า” (ยรม. 33, 3) บัดนี้ข้าพเจ้าทราบแล้วว่า นรกยังเป็นโทษไม่สาสมกับความผิดของข้าพเจ้า แต่ขอพระองค์โปรดทราบด้วยเถิดว่า ข้าพเจ้าเป็นทุกข์เพราะได้ทำเคืองพระทัยแล้ว โอ้ องค์ความใจดีที่ล้นพ้น ข้าพเจ้าเสียใจเป็นทุกข์ถึงบาปยิ่งกว่าได้เสียสมบัติของข้าพเจ้าทั้งสิ้น และยิ่งกว่าได้เสียชีวิตของข้าพเจ้าเองอีกอา! พระสวามีเจ้าข้า ขอทรงอภัยบาป และอย่าทรงปล่อยให้ข้าพเจ้าทำขุ่นหมองพระทัยอีกเลยพระเจ้าข้า พะรองค์ได้ทรงคอยข้าพเจ้าเข้ามาถวายพระพรแด่ความเมตตากรุณาของพระองค์ และได้ทรงคอยข้าพเจ้ามารักพระองค์ ก็บัดนี้ข้าพเจ้ามาถวายพระพร และมารักพระองค์แล้ว พระเจ้าข้า และด้วยเดชะพระบารมีมีแห่งพระเยซูคริสต์ ข้าพเจ้าหวังว่าจะไม่พรากจากความรักต่อพระองค์อีกเลย ความรักของพระองค์ได้ช่วยข้าพเจ้าให้พ้นนรกแล้ว ข้าพเจ้าก็ต้องการให้ความรักของพระองค์นี้เอง ช่วยข้าพเจ้าให้พ้นจากบาปต่อไปในภายหน้าด้วยพระสวามีเจ้าข้า ขอฉลองพระคุณที่ได้ทรงประทานให้ข้าพเจ้าได้รับแสงสว่างและควารมปรารถนาจะรักพระองค์เสมอดังนี้ โปรดเถิด โปรดครอบครองตัวข้าพเจ้าคือวิญญาณ ร่างกาย สมรรถภาพ ความรู้สึก เจตนา และอิสระภาพของข้าพเจ้า “ข้าพเจ้าเป็นของของพระองค์แล้ว โปรดช่วยข้าพเจ้าให้รอดเถิด” (สดด. 118, 94) พระองค์ผู้เดียว คือองค์ความดี พระองค์ผู้เดียว คือองค์ความน่ารัก ขอให้พระองค์แต่ผู้เดียวเท่านั้น จงเป็นความรักของข้าพเจ้าด้วยเถิด โปรดให้ข้าพเจ้าร้อนระอุอยู่ด้วยความรักต่อพระองค์ พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าได้กระทำผิดจำนวนมากมายต่อพระองค์ฉะนั้นจะให้ข้าพเจ้ารักพระองค์เฉย ๆ เท่านั้นยังไม่พอ ข้าพเจ้าต้องการรักพระองค์มาก ๆ เพื่อเป็นการชดเชยการหมิ่นประจานที่ข้าพเจ้าได้กระทำต่อพระองค์ ข้าพเจ้าหวังจะได้ตามที่วิงวอนขอมานี้ โดยพึ่งพระฤทธานุภาพของพระองค์พระเจ้าข้า
พระแม่มารีอาเจ้าข้า ข้าพเจ้าไว้ใจจะได้ดังขอนี้ ด้วยอาศัยคำวิงวอนของท่านด้วย เพราะว่าคำวิงวอนของท่าน มีฤทธิ์ทุกประการเฉพาะพระพักตร์ของพระเป็นเจ้า
2. คนบาปดูถูกพระเป็นเจ้า
คนบาป ใช่ว่าจะทำร้ายพระเป็นเจ้า แต่เขายังดูถูกพระองค์อีกด้วย (รม. 2, 23) ถูกแล้ว ทั้งนี้เพราะเขาละทิ้งพระหรรษทานของพระองค์ เขาเหยียบย่ำมิตรภาพของพระองค์ เพราะเห็นแก่ความสนุกอันเลว ๆ แม้ว่ามนุษย์เราจะยอมเสียมิตรภาพกับพระเป็นเจ้า เพื่อเห็นแก่อาณาจักรหนึ่งอาณาจักร หรือเพื่อจะได้ทั้งโลกจักรวาล ก็ยังต้องนับว่าได้กระทำผิดมาก เพราะมิตรภาพของพระเป็นเจ้ามีค่ามากกว่าโลกทั้งโลก และมากกว่าโลกพันโลกเป็นไหน ๆ แต่เมื่อคนบาปทำผิดต่อพระ เขาทำเพราะเห็นแก่อะไรเล่า? (สดด. 10, 13) เพราะเห็นแก่ดินก้อนหนึ่งความเดือดฟุ้งซ่านอันหนึ่ง ความสนุกประสาสัตว์เดรัจฉานประเดี๋ยวหนึ่ง ควันกลุ่มหนึ่ง อารมณ์ประเดี๋ยวหนึ่ง (อสค. 13, 19) เมื่อเวลาคนบาปยับยั้งชั่งใจดูว่าจะยินยอมทำบาปหรือไม่ทำ เมื่อนั้นเขามีอาการคล้ายจับตราชู และชั่งดูว่าอันไหนจะหนักกว่ากัน พระหรรษทานของพระเป็นเจ้า หรือตัณหาอันนั้น ควันกลุ่มนั้นความสนุกอันนั้น? และเมื่อเขาตกลงยินยอมก็เท่ากับเขาประกาศว่า: ตามราคาของมัน ตัณหาอันนั้น ความสนุกอันนั้น มีค่ามากกว่ามิตรภาพของพระเป็นเจ้า! นี่แหละ คนบาปทำให้พระเป็นเจ้าได้รับความอับอายด้วยประการฉะนี้!
กษัตริย์ดาวิด ใคร่ครวญดูความยิ่งใหญ่ไพศาล และมหิทธิศักดิ์ของพระเป็นเจ้า ท่านจึงอุทานว่า “พระสวามีเจ้าข้า ใครหนอจะเสมอเหมือนพระองค์?” (สดด. 34, 10) แต่ เมื่อพระเป็นเจ้า ทรงเห็นคนบาปเอาพระองค์มาชั่งกับความสนุกอันสารเลว แล้วยังถือว่ามันดีกว่าพระองค์ พระองค์จึงตรัสบริภาษว่า “เจ้าเอาเราไปเปรียบกับอะไร? เจ้าถือว่าเราเท่าเสมอกับอะไร?” (อสย. 40, 25) ความสนุกสารเลวอันนั้น มีค่ามากกว่าพระหรรษทานของเรา กระนั้นหรือ? เจ้าจึงได้ละทิ้งเรา หันหลังให้เรา (อสค. 23, 35) หากว่าเจ้าจะต้องเสียมือข้างหนึ่งจะต้องเสียเงินสิบเหรียญ หรือบางทีน้อยกว่าอีก เจ้าก็คงจะไม่ได้ยอมกระทำบาปนั้น ๆ เพราะเหตุดังกล่าวนี้แกละ ท่านซาลวีอาโน จึงว่า “พระเป็นเจ้าผู้เดียวเท่านั้น ที่เป็นของเลวเฉพาะตาของเจ้า เลวจนถือกันว่า ความฟุ้งซ่านอันหนึ่งความได้สมใจอันชั่วช้าสามานย์อันหนึ่งดีกว่าพระองค์”
อนึ่ง เมื่อคนบาปยอมทำผิดต่อพระเป็นเจ้า เพราะตัณหาอันใดอันหนึ่งตัณหาอันนั้นก็กลายเป็นพระเป็นเจ้าของเขาไป เพราะเหตุที่เขาถือมันเป็นจุดหมายปลายทางของเขา นักบุญฮีเอโรนีโม กล่าวว่า “ผู้ใดนมัสการสิ่งที่เขาปรารถนาสิ่งนั้นก็กลายเป็นพระเป็นเจ้าสำหรับเขา “พยศชั่วในใจ ก็คือ ปฏิมากรบนแท่น” (4) และนักบุญโทมาส กล่าวว่า “หากเจ้ารักความปลาบปลื้ม ความปลาบปลื้มอันนั้นก็เป็นพระของเจ้า” (5) นักบุญชีปรีอาโนก็กล่าวเช่นเดียวกันว่า “ใครถืออะไรดีกว่าพระ คนนั้นก็ถืออันนั้นเป็พระของเขา” (6) คราวเมื่อกษัตริย์เยโรโบอัมทรยศต่อพระเป็นเจ้า และตั้งใจจะนำประชาราษฎรไปนับถือพระเท็จเทียมอย่างเดียวกับตน จึงเอารูปปฏิมากรออกแสดง แล้วพูดว่า “นี่แน่ะ อิสราแอล พระเป็นเจ้าข้องเจ้า” (1 พกษ. 12, 28) ปีศาจก็ทำเช่นนี้เหมือนกันมันนำเอาความสนุกอันนั้นมาแสดงแก่คนบาป พลางพูดว่า: ธุระอะไรกับพระเป็นเจ้า? พระเจ้าของเจ้า ก็คือความสนุกอันนี้ ตัณหาอันนี้ เอานี่ซิ ทิ้งพระเสียเถอะ! เมื่อคนบาปปลงใจทำบาป เขาก็ทำเช่นนี้จริง ๆ คือนมัสการความสนุกอันนั้นในใจของเขาแทนที่จะนมัสการพระเป็นเจ้า พยศชั่วภายในใจ ก็คือ ปฏิมากรบนแท่น”
แต่เมื่อคนบาปดูถูกพระเป็นเจ้า เขาไม่ยอมทำดังนั้นเฉพาะพระพักตร์ของพระองค์ก็ยังไม่เป็นไร แต่มันหาเป็นเช่นนั้นไม่ เขาทำร้าย และดูถูกพระองค์ซึ่งหน้า ด้วยว่า พระเป็นเจ้าทรงสถิตอยู่ทุกแห่งหน (ยรม. 23, 34) เรื่อง นี้ คนบาปก็รู้ แต่เขายังบังอาจสบประมาทพระเป็นเจ้า เฉพาะพระพักตร์อีก (อสย. 65, 3)
ข้อเตือนใจและคำภาวนา
พระผู้เป็นเจ้า เจ้าข้า พระองค์คือองค์คุณงามความดีอันหาขอบเขตมิได้แต่ถึงกระนั้น หลายครั้งหลายคราวนักแล้ว ข้าพเจ้าได้นำพระองค์มาแลกกับความสนุกอันเลวทราม ซึ่งพอได้ลิ้มรสก็หายสูญไป แม้ข้าพเจ้าได้หมิ่นประมาทพระองค์ดังนี้ ถึงกระนั้น หากข้าพเจ้ายินยอม พระองค์ก็ทรงเตรียมพร้อมจะอภัยโทษให้ และหากข้าพเจ้าเป็นทุกข์เพราะความผิดที่ได้กระทำ พระองค์ก็ทรงสัญญาจะรับข้าพเจ้ากลับเข้าอยู่ในพระหรรษทานของพระองค์ดังเดิม โอ พระสวามีเจ้า แน่ทีเดียว ข้าพเจ้าเป็นทุกข์เพราะความผิดที่ได้ล่วงเกินเกินพระองค์ และข้าพเจ้าเกลียดชังบาปยิ่งกว่าความชั่วใด ๆ ทั้งสิ้น ณ กาละบัดนี้ ข้าพเจ้าได้สมความคาดหวังแล้ว ข้าพเจ้ากลับเข้ามาหาพระองค์ พระองค์ก็ทรงโปรดต้อนรับข้าพเจ้า และทรงสวมกอดข้าพเจ้าดังลูก โอ! องค์เจ้าพระคุณ ผู้ทรงพระทัยดีปราศจากขอบเขต ข้าพเจ้าขอฉลองพระมหากรุณาธิคุณ โปรดช่วยข้าพเจ้าต่อ ๆ ไปด้วยเถิด นับแต่นี้เป็นต้นไป ขออย่าทรงปล่อยให้ข้าพเจ้าขับไล่พระองค์ไปอีกเลย พระเจ้าข้า อย่างไรก็ดี นรกจะไม่หยุดยั้งมาประจญข้าพเจ้าอีก แต่พระองค์ทรงฤทธิ์มากกว่ามันมากนัก ข้าพเจ้าทราบว่า หากข้าพเจ้าฝากตนไว้กับพระองค์ ข้าพเจ้าก็จะไม่ต้องพรากจากพระองค์ไปอีกเลย ฉะนั้นพระหรรษทานที่ข้าพเจ้าต้องการให้พระองค์ประทานในเวลานี้ คือ ขอให้ข้าพเจ้าฝากตัวไว้กับพระองค์เสมอ ขอให้ข้าพเจ้าเฝ้าวิงวอนพระองค์เสมอ ดั่งเช่นข้าพเจ้ากระทำอยู่นี้ว่า “พระสวามีเจ้าข้า โปรดช่วยเหลือข้าพเจ้า โปรดประทานความสว่าง พระกำลัง ความคงเจริญในความดี และสวรรค์แก่ข้าพเจ้า แต่เฉพาะอย่างยิ่ง โปรดประทานให้ข้าพเจ้ารักพระองค์เถิด เพราะว่าความรักต่อพระองค์ คือ สวรรค์ของวิญญาณโดยแท้ องค์ความใจดีที่ล้นพ้น เจ้าข้า ข้าพเจ้ารักพระองค์ และใคร่จะรักพระองค์เสมอ โปรดอนุญาตตามคำวิงวอนของข้าพเจ้า โดยเห็นแก่ความรักของพระองค์ต่อพระเยซูคริสต์ ด้วยเถิด พระเจ้าข้า
ข้าแต่พระนางมหามารีอา ที่หลบภัยของคนบาป กรุณาข่วยเหลือคนบาปผู้ปรารถนาจะรักพระเป็นเจ้าของท่าน ด้วยเถิด
3. คนบาปทำร้ายน้ำพระทัยพระเป็นเจ้า
คนบาปทำร้ายพระเป็นเจ้า ดูถูกพระเป็นเจ้า ฉะนั้นจึงทำร้ายน้ำพระทัยพระเป็นเจ้าอย่างสาหัสฉกรรจ์อีกด้วย คนเราไม่รู้สึกเจ็บอะไรมากไปกว่า เมื่อเห็นบุคคลที่เรารัก และเราให้ความช่วยเหลือ กลับทำใจดำตอบแทนเรา คนบาปทำเช่นนี้กับใครเล่า? เขาทำร้ายพระเป็นเจ้า ผู้ทรงสร้างเขามา ผู้ทรงรักเขาจนทรง พลีพระชนม์ชีพและพระโลหิตเพื่อเขา และเพราะการทำบาปหนัก เขาขับไล่พระเป็นเจ้าออกจากดวงใจของเขา วิญญาณใดที่พระเป็นเจ้าทรงรัก พระองค์ก็เสด็จมาประทับอยู่ในวิญญาณนั้น “ผู้ใดรักเรา...พระบิดาของเราจะทรงรักผู้นั้น แบะเรา (พระบิดา พระบุตร พระจิต) จะมาหาเขา และจะประทับอยู่ในตัวเขา” (ยน. 14, 23) โปรดสังเกตคำว่า “ประทับอยู่” พระเป็นเจ้าเสด็จมาในวิญญาณ ก็เพื่อประทับประจำอยู่เรื่อยไป พระองค์ไม่ทรงยอมละวิญญาณนั้นหากเขาไม่ขับไล่พระองค์ออกไป ตามคำของสังคายนา แห่งเมืองเตรนท์ (7) แต่พระสวามีเจ้าข้า พระองค์ทรงทราบดีว่า ในไม่ช้า มนุษย์ไจดำผู้นั้นจะขับไล่พระองค์ออกไป เหตุไฉนไม่เสด้๗ออกไปเสียก่อนเล่า พระเจ้าข้า? พระองค์จะทรงคอยให้เขาขับไล่พระองค์ทีเดียวหรือ พระเจ้าข้า? ทิ้งเขาเสียเถิด โปรดเสด้๗ไปเสียก่อนที่เขาจะเหยียดหยามพระองค์เช่นนั้น พระเจ้าข้า แต่พระเป็นเจ้าตรัสตอบว่า: ไม่ใช่อย่างนั้น ตราบใดเขาไม่ขับไล่เราโดยตรง ตราบนั้น เราจะไม่ยอมออกห่างจากเขา
เป็นอันว่า เมื่อคนบาปตกลงปลงใจทำบาป เขาก็พูดกับพระเป็นเจ้าว่า: พระสวามี ไปออกไปให้พ้น (โยบ. 21, 14) นักบุญเกรโกรี บอกว่า: เขาไม่พูดเช่นนี้ด้วยปาก แต่พูดด้วยกิจการ (8) คนบาปรู้ดีว่า พระเป็นเจ้าไม่สามารถประทับอยู่ร่วมกับบาป เขาเห็นว่า เมื่อตนทำบาป พระเป็นเจ้าก็จำเป็นต้องเสด็จออกไป เขาจึงพูดกับพระองค์ว่า: ไหน ๆ พระองค์จะอยู่ร่วมกับบาปของฉันไม่ได้ก็เชิญเสด็จไปเสียให้พ้น สวัสดี เมื่อได้ขับไล่พระเป็นเจ้าออกจากวิญญาณแล้วเขาก็เชิญปีศาจเข้ามาครองกรรมสิทธิ์แทนที่ทันที ศัตรูก็เข้ามาทางประตูที่พระเป็นเจ้าเสด็จออกไปนั้น “และเมื่อนั้นมันนำพวกพ้องของมันอีกเจ็ดตนที่ชั่วช้าสามานย์กว่ามันอีก ยกโขยงเข้ามาตั้งสำนักอยู่ในวิญญาณนั้น” (มธ. 12, 45) ในพิธีโปรดศีลล้างบาปแก่ทารก พระสงฆ์สั่งปีศาจว่า “เจ้าจงออกไป อ้ายจิตลามก จงให้ที่แด่พระจิตเจ้า” (9) เรื่องนี้เป็นจริง เพราะว่าเมื่อวิญญาณใดรับพระหรรษทาน วิญญาณนั้นก็กลายเป็นวิหารของพระเป็นเจ้า (1 คร. 3, 16) แต่เมื่อผู้ใดปลงใจทำบาป ผู้นั้นก็ทำตรงกันข้าม คือพูดกับพระเป็นเจ้า ซึ่งประทับอยู่ในใจของตนว่า: พระสวามี เชิญไปให้พ้นได้แล้ว ฉันจะให้ปีศาจมาอยู่ (10) พระสวามีเจ้าทรงแสดงความน้อยพระทัย ตรัสกับนักบุญปริยิด เรื่องที่พระองค์ถูกคนบาปขับไล่เหมือนกับกษัตริย์ถูกถอดจากราชสมบัติว่า: เราเป็นประหนึ่งพระราชาที่ถูกขับไล่ออกจากพระราชบัลลังก์ แล้วเขาเลือกเอาหัวหน้าโจรขึ้นมาแทนที่ของเรา” (11)
ท่านจะรู้สึกแค้นใจแค่ไหน ถ้าคนที่ท่านได้ทำบุญคุณมากมายให้ กลับมาด่าว่าท่านให้เสียหาย? ก็ความแค้นใจดั่งนี้แหละ เมื่อท่านทำบาป ท่านก็ได้ทำต่อพระเป็นเจ้า พระองค์ซึ่งมีพระทัยดีรักท่าน จนทรงยอมพลีพระชนม์ชีพ เพื่อช่วยให้ท่านรอด เพราะความใจดำที่คนบาปแสดงต่อพระเป็นเจ้านี้เอง ดูเหมือนว่าพระองค์ทรงเรียกร้องให้ฟ้าและแผ่นดินมาร่วมทุกข์กับพระองค์ว่า “ฟังเถิดฟ้าเจ้าเอ๋ย เงี่ยเถิด แผ่นดินเจ้าเอ๋ย เราได้เลี้ยงลูก และอุ้มชูพวกลูกไว้ แต่เขากลับมาประมาทเรา” (อสย. 1, 2) สรุปความคือ เมื่อคนบาปทำบาป เขาทำร้ายน้ำพระทัยพระเป็นเจ้า (อาย. 63, 10) คุณพ่อเมดีนา กล่าวว่า: พระเป็นเจ้าทรงเจ็บปวดไม่ได้ แต่หากจะทรงเจ็บปวดได้บาปหนักแต่ประการเดียวเท่านั้นพอจะสังหารพระองค์ เพราะความแค้นใจอย่างเดียวเท่านั้นพอจะสังหารพระองค์ เพราะความแค้นใจอย่างเดียวเท่านั้น (12) เป็นอันว่าสมจริงตามที่นักบุญเบอร์นาร์ดกล่าวไว้: บาปในตัวมันเองเป็นเครื่องประหารพระเป็นเจ้า (13) ฉะนั้นจึงพูดได้ว่า: เมื่อคนบาปทำบาปหนักเขาวางยาพิษแก่พระเป็นเจ้าอย่างน้อย ในกิจการของเขา เขาทำกิจการซึ่งอันอาจปลิดพระชนม์ชีพของพระองค์ได้ (สดด. 10, 4) นักบุญเปาโลกล่าวว่า: เขาเหยียบย่ำพระบุตรของพระเป็นเจ้า (ฮบ. 10, 29) ทั้งนี้เพราะว่า เขาประมาททุกสิ่ง ที่พระเยซูคริสต์ได้ทรงบำเพ็ญ และทรงรับทน เพื่อชำระล้างบาปจากโลกนั่นเอง
ข้อเตือนใจและคำภาวนา
พระมหาไถ่เจ้าข้า เป็นอันว่า ทุกครั้งที่ข้าพเจ้ากระทำบาป ข้าพเจ้าก็ขับไล่พระองค์ออกจากวิญญาณ และทำร้ายด้วยความตั้งใจที่จะฆ่าพระองค์หากพระองค์ทรงมรณะได้! บัดนี้ ข้าพเจ้าได้ยินพระสุรเสียงของพระองค์ตรัสถามข้าพเจ้าว่า “เราได้ทำอะไรแก่เจ้า ได้ทำให้เจ้าน้อยเนื้อต่ำใจอย่างใดหรือ? ให้ตอบมาทีซิ” (14) พระสวามีเจ้าข้า พระองค์ทรงถามข้าพเจ้าว่า พระองค์ได้ทรงทำร้ายแก่ข้าพเจ้าอย่างใดหรือ? ที่ข้าพเจ้าเป็นอยู่บัดนี้ พระองค์เป็นผู้ประทานให้ พระองค์คือผู้ได้ทรงสิ้นพระชนม์เพื่อข้าพเจ้า: นี่แหละ การทำร้ายของพระองค์ต่อข้าพเจ้า! ข้าพเจ้าจะหาคำอันใดมาตอบพระองค์ พระเจ้าข้า? ขอสารภาพว่า ข้าพเจ้าสมจะไปนรกพันนรกแล้ว ยุติธรรมที่สุดแล้ว ที่พระองค์จะทรงลงโทษให้ข้าพเจ้าไปสู่นรก แต่ทรงพระกรุณาเถิด โปรดระลึกถึงความรักที่ได้บันดาลให้พระองค์ทรงสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนเพื่อข้าพเจ้า โปรดระลึกถึงพระโลหิตที่ได้ทรงหลั่ง เพราะทรงรักข้าพเจ้า และโปรดเอ็นดูสงสารข้าพเจ้าด้วยเถิด พระเจ้าข้า! ข้าพเจ้าทรงปรารถนาให้ข้าพเจ้าเสียใจ พระองค์กลับทรงบอกข้าพเจ้าว่า พระองค์อยู่เคียงประตูดวงใจที่ข้าพเจ้าขับไล่พระองค์ออกไปนั้นเอง และกำลังทรงโปรดพระหรรษทานเป็นอันมากดลใจข้าพเจ้า คล้ายกับทรงเคาะประตูนั้น เพราะทรงประสงค์จะเสด็จเข้ามาอีก และทรงเรียงร้องให้ข้าพเจ้าเปิดประตูดวงใจนั้นต้อนรับพระองค์ (วว. 3, 20) พระเยซูเจ้าข้า บัดนี้ข้าพเจ้าขับไล่บาปออกไปจากดวงใจแล้ว ข้าพเจ้าเสียใจเป็นอันมากที่ได้กระทำมัน ข้าพเจ้ารักพระองค์ยิ่งกว่าอะไร ๆ ทั้งหมดแล้วพระเจ้าข้า โปรดเสด็จเข้ามาเถิด องค์ความรักเจ้าข้า ประตูเปิดคอยรับพระองค์อยู่แล้ว โปรดเสด็จเข้ามา และขออย่าเสด็จออกไปอีกเลย พระเจ้าข้า โปรดผูกมัดข้าพเจ้าให้ติดแน่นกับความรักของพระองค์ และอย่าทรงปล่อยให้ข้าพเจ้าพรากจากพระองค์ได้อีกเลย (15) ไม่เอาแล้ว พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าไม่ยอมพรากจากพระองค์อีกแล้ว ขอสวมกอดพระองค์ และแนบพระองค์ไว้กับดวงใจ ขอประทานให้ข้าพเจ้ามีความคงเจริญในความดีตลอดไปเถิด พระเจ้าข้า
พระนางมารีอา โปรดช่วยข้าพเจ้าเสมอ โปรดวิงวอนพระเยซูเพื่อข้าพเจ้า: ให้ข้าพเจ้ามีบุญ ไม่เสียพระหรรษทานของพระองค์อีกต่อไปเลย พระเจ้าข้า
(1) Saccus stercorum, cibus vermium (S. Bern. Medit c. 3)
(2) Tam tremendam Majestatem audit vilis pulvisculus irritare? (S. Bern.)
(3) Peccatum habet quondam infinitatem mlitiae ex infinitate divinae Majestatis. (S.Th.P.3 Q 2, C, 2 ad 2).
(3b) Citra condignum.
(4) Unusquisque quod cupit, si venerator, hoc illi Deus est, Vitium in corde est idolum in altari.
(5) Si amas delicias, deliciae dicuntur Deus tuus.
(6) Quidquid homo anteponit, Deum sibi facit.
(7) Non deserit, nisi deseratur.
(8) Recede, non verbis, sed moribus.
(9) Exi ad eo, immunde spiritus, et da locum Spiritui Sancto.
(10) Exi a me, Domine, da locum diabolo.
(11) Sum tamquam rex a proprio regno expulsus, et loco mei, latro pessimus electus est.
(12) Peccatum mortale, si possible esset, destrueret ipsum Deum, eo quod causa esset tristitiae in Deo infinitae (Satisf. 9, 1).
(13) Peccatum quantum in se est Deum dirimit.
(14) Quid feci tibi aut quid molestus fui tibi? responde himi.
(15) Ne permittas me separarari a te.
- บทที่ 01 "ภาพของคนเพิ่งตาย"
- บทที่ 02 "เมื่อตาย ทุกสิ่งจบสิ้น"
- บทที่ 03 "ชีวิตมนุษย์ไม่ยืนนาน"
- บทที่ 04 "ความตายเป็นของแน่"
- บทที่ 05 "เวลาตายไม่แน่"
- บทที่ 06 "ความตายของคนบาป"
- บทที่ 07 "ความรู้สึกต่าง ๆ ของคนใกล้จะตาย"
- บทที่ 08 "ความตายของผู้ใคร่ธรรม"
- บทที่ 09 "สันติสุขของผู้ใคร่ธรรมเมื่อเวลาจะตาย"
- บทที่ 10 "วิธีการสำหรับ เตรียมรับความตาย"
- บทที่ 11 "ค่าของเวลา"
- บทที่ 12 "ความสำคัญของความรอด"
- บทที่ 13 "ความฟุ้งเฟ้อของโลก"
- บทที่ 14 "ชีวิตปัจจุบัน คือการเดินทางไปสู่นิรันดรภาพ"
- บทที่ 15 "ความอุกฉกรรจ์ของบาปหนัก"
- บทที่ 16 ความเมตตากรุณาของพระเป็นเจ้า
- บทที่ 17 การล่วงเกินความเมตตากรุณาของพระเป็นเจ้า
- บทที่ 18 จำนวนบาป
- บทที่ 19 พระหรรษทานเป็นสิ่งมีค่าเพียงไร?
- บทที่ 20 ความบ้าของคนบาป
- บทที่ 21 ชีวิตอันไม่เป็นสุขของคนบาป และชีวิตอันผาสุกของคนที่รักพระเป็นเจ้า
- บทที่ 22 ความเคยชินในความชั่ว
- บทที่ 23 กลอุบายที่ปีศาจนำมาใช้ล่อลวงคนบาป
- บทที่ 24 การพิพากษาทีละคน
- บทที่ 25 การพิพากษาประมวลพร้อม
- บทที่ 26 โทษานุโทษในนรก
- บทที่ 27 นิรันดรภาพของนรก